แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๗ ให้อาหารกายถูกต้อง ให้อาหารใจถูกธรรม ให้สงบเย็นเป็นนิพพาน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
อาหารกายได้แก่ปัจจัย ๔ อาหารใจ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ความรู้ความเข้าใจนั้นเป็นพระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ สมบูรณ์ด้วยอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นการหยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่นี่ก็เป็นสิ่งที่ดีมากเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก ทุกคนต้องรู้จักคุณค่าอันประเสริฐที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ที่เราได้รับสัปปายะ เกิดเป็นความเป็นมนุษย์ เราได้รับสัปปายะคือธรรมะ ที่พระองค์ทรงตรัสสั่งสอน บอกแนวทางแห่งการประพฤติการปฏิบัติ เราต้องเข้าสู่ไฟท์แห่งการหยุดโลก หยุดวัฏฏะสงสาร เราทุกคนต้องมาดีท็อกซ์อวิชชา ดีท็อกซ์ความหลง ความโง่ที่มันอยู่ในใจภายใน ที่ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร
ทุกท่านทุกคนพากันปฏิบัติได้ ไม่เกี่ยวกับผู้หญิงผู้ชาย ไม่เกี่ยวกับคนหนุ่มคนสาว ไม่เกี่ยวกับสัญชาติภาษา นี่คืออาหารใจ ทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติอย่างนี้นะ การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏมันยากลำบากนะ เราต้องเห็นคุณเห็นประโยชน์ ให้มันมีฉันทะ มีความพอใจในการประพฤติในการปฏิบัติ อะไรก็ไม่ดี อะไรก็ไม่ยิ่งกว่าการประพฤติการปฏิบัติธรรม เราทุกท่านทุกคนอย่ามาหลงขยะ มาหลงสิ่งที่ไม่มีสาระ การที่เราให้อาหารกายก็เพื่อความดับทุกข์ทางร่างกาย ความเป็นพระมันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง มีการปฏิบัติถูกต้อง ทั้งฝ่ายคฤหัสทั้งฝ่ายบรรพชิตก็พากันปฏิบัติได้พอๆ กัน เพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่มันแทรกอยู่กับระบบความคิด ระบบการพูด ระบบการกระทำ ที่เอาธรรมเป็นหลักที่เอาธรรมเป็นใหญ่
เราให้ทั้งอาหารกายที่ไม่มีบาปไม่มีกรรม ให้อาหารใจทั้งที่บอกตัวเองสอนตัวเอง เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติเป็นไฟท์ที่อยู่ในปัจจุบัน เราต้องหนีด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ด้วยการประพฤติในการปฏิบัติ แต่ก่อนเราไม่รู้ เราก็ปฏิบัติมีแต่จะได้ มีแต่จะเอา มีแต่จะเป็น มันยิ่งเครียดมันยิ่งมีปัญหา เพราะเราทำไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีสัมมาทิฐิ มีควมเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องมีความปฏิบัติถูกตอง มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันเราต้องทำอย่างนี้ๆ แหละ ค่ำแล้วมีเวลา สำหรับประชาชนที่หยุดจากการงานแล้วถึงพากันไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิเพื่อเป็นอาหารเสริม เราต้องทำอย่างนี้ๆ แหละ ทุกคนถึงจะได้เข้าใจถึงความสุขความดับทุกข์ มันไม่ต้องไปหาไกลหรอก เราพัฒนาการงาน พร้อมทั้งพัฒนาใจไปพร้อมกัน
เรื่องมี sex ทางความคิด มี sex ทางอารมณ์ นี่สำคัญนะตัวนี้ ต้องละความอร่อยในกาม เพราะเรามีความจำเป็นที่ต้องเสียสละ พระพุทธเจ้าบอกว่า ไม่มีอะไรที่ทำให้เราเนิ่นช้า ไม่มีอะไรทำให้เราเสียเวลา นอกจากการ เพลิดเพลินในกาม ในความสนุก ความสะดวกความสบาย มนุษย์เรายิ่งพัฒนาเทคโนโลยีมันยิ่งติดยิ่งหลงนะ ถ้าเราไม่พัฒนาใจให้มันเหนือกามคุณ ถ้าเราเน้นในปัจจุบัน เราก็ยิ่งเก่งยิ่งฉลาด เราจะไปโทษใคร เราวิ่งอยู่ตลอดเวลา เราก็มาเหนื่อยๆ เราต้องรู้จักว่าเพียงแต่เรามีสัมมาสมาธิหยุดตัวเอง ตั้งมั่นในพระวินัย ตั้งมั่นในธรรม แล้วเราก็จะพัฒนาไปเรื่อย เราก็จะไม่คิดเหมือนสมัยก่อน ที่คิดว่าต้องบำเพ็ญยาก เพราะพระพุทธเจ้าไม่ให้เราคิดไกลขนาดนั้น เพราะพระนิพพานอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล อยู่ที่ใจของเรานี่เอง
ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ความรู้ความฉลาดไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในหนังสือ มันอยู่ในตัวเรา ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะเราต้องให้อาหารใจของเรา เราเดินทางเราไม่ได้ทานอาหารเราจะเดินทางได้อย่างไง ถ้าเราไม่เอาศีลไม่เอาสิกขาบทน้อยใหญ่เราจะไปได้อย่างไง เพราะว่า นี่เป็นอุปกรณ์เป็นเสบียงที่จะนำทางเราไป
การประพฤติปฏิบัติธรรมคือการพัฒนาตนเอง เปลี่ยนแปลงตนเองจากสิ่งที่มันไม่ดีก็ให้มันดี จากสิ่งที่ดีอยู่แล้วก็ให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะแก้ไขสิ่งภายนอกที่มันไม่ถูกใจเรา ชอบไปแก้ไขคนอื่นบุคคลอื่น ไปโทษสิ่งภายนอก ไปโทษคนอื่น ที่เรามีทุกข์เราก็คิดว่าสิ่งภายนอกเป็นเหตุ สิ่งภายนอกไม่เป็นใจ สิ่งภายนอกไม่อำนวยโอกาสให้เรา พระพุทธเจ้าท่านให้เราปฏิบัติธรรมเพื่อให้เราแก้ไขตัวเอง อย่าไปแก้ไขคนอื่น อย่าไปเอาดีเอาชั่วเอาผิดกับคนอื่น ให้กลับมาแก้ไขตัวเอง มาดูตัวเอง เพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้มันดีขึ้นทุกๆ วัน
ทำไมการปฏิบัติของเรามันไม่ก้าวหน้า เราก็ต้องกลับมาดูตัวเอง เป็นเพราะเรารักษาศีลไม่ดี ศีลของเราไม่สะอาดบริสุทธิ์ ศีลด่างศีลพร้อย ก็ให้เรามาดูความประพฤติของตัวเอง มันจะได้แก้ไข มันจะได้ปรับปรุง คนเราถ้าทำอย่างเก่า คิดอย่างเก่า ทำเหมือนเก่า มันก็ไม่มีอะไรจะดีขึ้น สมมุติว่าเราหาเงินได้วันละ ๑,๐๐๐ บาท เราไม่พออยู่พอกินเป็นหนี้เป็นสิน ถ้าเราทำอย่างเก่ามันก็เป็นหนี้อย่างเก่า ไม่มีทางหมดหนี้หมดสินได้ฉันใด เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ก็เนื่องมาจากปฏิปทาข้อวัตรข้อปฏิบัติ ด้วยความตั้งมั่นความหนักแน่น มีปฏิปทาที่ดีๆ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย อบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ ทุกๆ วันด้วยความไม่ประมาท ให้กลับมาดูตัวเอง ถ้าเราหมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่องที่เป็นบาปเป็นกรรม ให้ละให้ปล่อยวาง ให้เป็นคนละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป อย่าเป็นคนจิตใจบาป จิตใจสกปรก จิตใจเศร้าหมอง จิตใจก้าวร้าว คนเรามันเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แล้วจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
เราต้องเริ่มต้นที่การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ แล้วก็เปลี่ยนแปลงทางคำพูด ในการประพฤติปฏิบัติของเราในชีวิตประจำวัน ให้เรากลับมาดูตนเอง มันชอบมีปัญหาเรื่องคำพูดกับพ่อแม่ กับพี่น้อง กับผู้ใกล้ชิด เพราะเราเป็นคนปากไว ไร้สติ พูดจาเพ้อเจ้อ ขวานผ่าซาก ไม่มีปัญญาในเรื่องพูด ชอบพูดด้วยความสะใจ ถ้าเราพูดบ่อยๆ เราก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะว่ามันชำนาญแล้ว แต่คนอื่นเขาไม่ชอบใจเขารับไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้มันไม่ดี คนเราเรื่องพูดนี้สำคัญมาก ก่อนพูดเราเป็นเจ้านาย เมื่อพูดเสร็จเราก็เป็นบ่าวเป็นลูกน้อง ถ้าพูดดี พูดเพราะ พูดมีเมตตา พูดเกื้อกูลให้กำลังใจกันเพื่อให้เกิดความสามัคคี คนอื่นเขาก็รักก็ชอบเรา ตัวเราเองก็สงบ คำพูดนี้เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าเราพูดไม่ดีทำให้บรรยากาศสิ่งแวดล้อมเสียไปหมด ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้เผาไหม้ตัวเอง เผาไหม้คนอื่น เผาไหม้ครอบครัว ญาติพี่น้อง มันเผาทำลายไปหมด
“ถ้าเราทำดี พูดดี คิดดีแล้ว คนอื่นเขาว่า เราทำไม่ดี ก็ไม่เป็นไร...
เมื่อเราทำดีแล้ว คนอื่นว่าไม่ดี ... มันเป็นเรื่องของเขา
เราอย่าไปทิ้งความดีของเรา ความดีมันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่คนอื่นมอง
อย่าลืมว่ากรรมใคร ก็เป็นของคนนั้น อย่ายึดมั่นถือมั่น และ อย่าจับตาดูผู้อื่น” วิจารณ์คนอื่นทุกวัน...ใจต่ำลงทุกวัน วิจัยตัวเองทุกวัน...ใจสูงขึ้นทุกวัน
หลวงปู่ชา สุภัทโท สอนคนที่ชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่นว่า... อย่ายุ่งกับเรื่องของคนอื่น ภาวนามากๆ ดูตัวเองมากๆ หลวงปู่บอกว่า .. "ธรรมดาเราดูแต่คนอื่น 90% ดูตัวเองแค่ 10%" คือ คอยดูแต่ความผิดของคนอื่น เพ่งโทษคนอื่น คิดแต่จะแก้ไขคนอื่น กลับเสียใหม่นะ ดูคนอื่นเหลือไว้ 10% ดูเพื่อศึกษาว่า เมื่อเขาทำอย่างนั้น คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร เพื่อเอามาสอนตัวเองนั้นแหละ ดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง 90% จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่
ธรรมชาติของจิตใจมันเข้าข้างตัวเอง โบราณพูดว่า เรามักจะเห็น ความผิดของคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดของตนเองเท่ารูเข็ม มันเป็นความจริงอย่างนั้นด้วย เราต้องระวังความรูสึกนึกคิดของตัวเองให้มากๆ เห็นความผิดของคนอื่น ให้หารด้วย 10 เห็นความผิดของตนเอง ให้คูณด้วย 10 จึงจะใกล้เคียงกับความจริงและยุติธรรม เพราะเหตุนี้เราจะต้องพยายามมองแง่ดีของคนอื่นมากๆ และตำหนิติเตียนตัวเองมากๆ
แต่ถึงอย่างไรๆ เราก็ยังเข้าข้างตัวเองนั้นแหละ พยายามอย่าสนใจการกระทำ การปฏิบัติของคนอื่น ดูตัวเอง สนใจแก้ไขตัวเองนั้นแหละมากๆ
เช่น เข้าครัวเห็นเด็กทำอะไรไม่ถูกใจ แล้วเกิดอารมณ์ร้อนใจ ..ยังไม่ต้องบอกเขาให้แก้ไขอะไรหรอก รีบแก้ไข ระงับอารมณ์ร้อนใจของตัวเองเสียก่อน เห็นอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่าใจเย็นๆ ไว้ก่อน ความเห็น ความคิด ความรู้สึกก็ไม่แน่ใจ.. ไม่แน่..อาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้ เราอาจจะเปลี่ยนความเห็นก็ได้ สักแต่ว่า.. สักแต่ว่า.. ใจเย็นๆ ไว้ก่อน ยังไม่ต้องพูด
ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน เมื่อจิตสงบแล้ว เมื่อจิตปกติแล้ว จึงค่อยพูด จึงค่อยออกความคิดเห็น พูดด้วยเหตุ ด้วยผล ประกอบด้วยจิตเมตตากรุณา ขณะมีอารมณ์อย่าเพิ่งพูด ทำให้เสียความรู้สึกของผู้อื่น ทำให้เสียความรู้สึกของตนเอง ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร มักจะเสียประโยชน์ด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้น อยู่ที่ไหน อยู่ที่วัด อยู่ที่บ้าน ก็สงบๆๆ ไม่ต้องดูคนอื่นว่าเขาทำผิดๆๆ ดูแต่ตัวเรา ระวังความรูสึก ระวังอารมณ์ของเรามากๆ พยายามแก้ไข พัฒนาตัวเรา.. นั้นแหละ
เห็นอะไรชอบ ไม่ชอบ ปล่อยไว้ก่อน เรื่องของคนอื่น พยายามอย่าให้เข้ามาที่จิตใจเรา ถ้าไม่ระวัง ก็จะยุ่งแต่เรื่องของคนอื่นไปเรื่อยๆ หาเรื่องอยู่อย่างนั้น เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเราไปหมด มีแต่ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ ทั้งวัน อารมณ์มาก จิตไม่ปกติ ไม่สบาย ทั้งวันๆ ก็หมดแรง
ระวังนะ พยายามตามดูจิตของเรา รักษาจิตของเราให้ปกติให้มาก ใครจะเป็นอะไร ใครจะทำอะไร ดีหรือไม่ดี เรื่องของเขา แม้เขาจะทำกับเรา ว่าเรา.. ก็เป็นเรื่องของเขา อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา ดูใจเรานั้นแหละ พัฒนาตัวเองนั้นแหละ ทำใจเราให้ปกติ สบายๆ มากๆ หัด-ฝึก ปล่อยวาง นั้นเอง ไม่มีอะไรหรอก
ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการตามรักษาจิตของเรา คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข ธรรมะโดย หลวงปู่ชา สุภัทโท
คนอื่นเขาจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขา เขาจะเป็นคนดีหรือคนไม่ดี เห็นแก่ตัวก็ช่างเขา เราอย่าไปรับเอามาใส่ใจของเรา คนเราส่วนใหญ่มีทุกข์เพราะว่าไปรับเอาสิ่งภายนอกมาให้ตัวเองเป็นทุกข์ ทั้งที่เอามาคิดปวดหัว มันไม่มีอะไร สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ก็เอามาคิด ถ้าเราใจดีใจสบาย ใจมีความสุข เราไม่เครียด เรายังพอมีโอกาสที่จะแก้ปัญหาได้ นี่เรามันคนฟุ้งซ่าน คนไม่สงบ มันจะไปแก้ปัญหาอะไรได้ เราพยายามพัฒนาตัวเองแก้ไขตัวเอง เพิ่มความสุขให้ตนเอง เพิ่มความดับทุกข์ให้ตนเอง ให้ใจกับกายของเรามันอยู่ด้วยกัน ทำอะไรก็ให้ใจกับกายมันอยู่ด้วยกัน ทำความดีมากๆ มันจะได้มีความสุข มีอาหารใจ
หลวงพ่อพุทธทาส อธิบายว่า นักวัตถุนิยม เห็นกายเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละได้ทุกอย่าง เพื่อให้กายหรือโลกของตนอิ่มหมีพีมัน ส่วนนักจิตนิยม เห็นแก่จิตเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละได้ทุกอย่างเหมือนกัน เพื่อแลกเอาความสงบเยือกเย็นของจิต ผู้แสวงหาความสำราญทางกายนั้น การแสวงของเขา จำเป็นอยู่เองที่จะต้องกระทบกับผู้อื่น เพราะความสำราญกายนี้ เป็นของต้องเนื่องด้วยการเสียสละของผู้อื่น หรือการสนับสนุนของสิ่งอื่น ที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ เมื่อมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ก็ต้องมีการกระทบกันเป็นธรรมดา การสงคราม ก็มีการปะทะของคนหลายคน ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นแก่ตัว เพื่อความสำราญทางโลกียวิสัยนั้นเอง
สงครามโลกนั้นก็เป็นเพียงความเห็นแก่ตัว ของคนหลายชาติรวมกันเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกันเลย การแสวงหาความสุขทางฝ่ายจิตนั้น จะไม่กระทบกระทั่งใครเลยแม้แต่น้อย เพราะเหตุว่า มีอะไรๆ ให้แสวงหาอยู่ในตนผู้เดียวเสร็จ ไม่ต้องเนื่องด้วยผู้อื่น และมีแต่จะเสียสละให้ผู้อื่น การกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล หรือแม้การกระทบกระทั่งระหว่างส่วนรวม ซึ่งเรียกว่าสงครามก็ตาม ไม่สามารถเกิดจากผู้แสวงหาความสุขทางจิต เช่นเดียวกับที่ไฟไม่สามารถเกิดจากความเย็น การแสวงหาอาหารทางฝ่ายกาย ง่ายหรือตื้นเป็นต้นเหตุแห่งสงครามการแสวงหาอาหารทางฝ่ายใจ ยากหรือลึก และเป็นต้นเหตุแห่งสันติภาพ แต่กระนั้น มนุษย์ในโลกนี้ ส่วนมากก็ปล่อยตนไปตามสัญชาตญาณ หรือธรรมดาฝ่ายต่ำมากเกินไปจนเห็นมีแต่ผู้ถือลัทธิวัตถุนิยมกันเกลื่อนโลก ยิ่งนานวันเข้าเพียงใด วิธีแสงหาอาหารทางใจก็ยิ่งลบเลือนหายไปจากความทรงจำ และการเอาใจใส่ของมนุษย์มากขึ้นเพียงนั้น ในที่สุด ก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในมันสมองของมนุษย์ นอกจากความเป็นทาสกามหรือความเห็นแก่ตัวนั่นแหละคือสมัยที่ไฟประลัยกัลป์จะล้างโลก ผู้แสวงหาความสุขทางใจในโลกนี้มีอยู่เพียงไม่กี่คนก็ตาม ก็เป็นเหมือนลูกตุ้มที่ค่อยถ่วงโลก มิให้หมุนไปถึงยุคมิคสัญญี พินาศด้วย ไฟประลัยกัลป์เร็วเกินไปเพียงนั้น พวกแสวงหาสุขทางฝ่ายจิต ควรจะพูดกับผู้อื่นได้โดยชอบธรรมว่า “เรายอมรับว่า เป็นลูกตุ้มจริง แต่ว่าเป็นลูกตุ้มที่ถ่วง มิให้พวกท่าน วิ่งเข้าไปสู่กองไฟเร็วเกินไป ถ้าพวกข้าพเจ้า เป็นอย่างท่านไปเสียด้วย เชื่อแน่ว่าโลก คงจะแตกดับ เร็วกว่าที่พวกข้าพเจ้าจะแยกเป็นอยู่เช่นนี้”
พระพุทธองค์ ทรงเป็นนายกแห่งสมาคมผู้แสวงสุขทางใจเพียงพระองค์เดียวและสมัยเดียว ก็ชื่อว่าเป็นโลกนาถ ที่พึ่งของโลก หลายสมัย เพราะว่าเป็นอิทธิพลแห่งธรรมะ ที่พระองค์ทรงเปิดเผยไว้ในโลก ได้ถ่วงโลกไว้มิให้หมุนไปหาความแตกดับ จนแม้ที่สุด แต่คนที่ไม่เคยได้ยินชื่อของพระองค์ ก็ยังพลอยมีส่วนได้รับผลนั้นด้วย
เมื่อโลกละทิ้งการแสวงหาอาหารทางใจ มารับเอาแต่อาหารทางกายมากขึ้นเช่นทุกวันนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงช่วยอะไรไม่ได้ เพราะโลกเป็นฝ่ายที่ทิ้งหลักการของพระองค์เสียเอง ตราบใดที่พุทธบริษัททุกคน ยังภักดีต่อการแสวงหาความสุขทางใจกันอยู่ นับว่า ตระกูลของพระองค์ยังไม่ขาดทายาทเสียทีเดียว และจะยังเป็นเหมือนลูกตุ้มน้อยๆ ที่เหลืออยู่เพื่อความปลอดภัยของตัวมันเอง และเพื่อโลกด้วย แม้ขณะที่พวกอื่นเขาอาจกำลังจงเกลียดจงชังพวกนี้อยู่ พุทธบริษัทต้องถือว่ากายอยู่ในใจ อาหารใจสำคัญยิ่งกว่า อาหารทางกาย และยังคงภักดีต่อลัทธิแสวงสุขทางใจอยู่เสมอ การเป็นพุทธบริษัทต่อปากหรือพิธีนั้น ไม่ทำให้เป็นพุทธบริษัทได้เลย พุทธบริษัทที่แท้ จะกลายเป็นนักวัตถุนิยม หรือลัทธิหลงชาติ เพราะเห็นแก้วัตถุไปไม่ได้ พุทธบริษัทที่รีๆ ขวางๆ นั้น ยิ่งร้ายไปกว่า ผู้ที่ไม่ได้เป็นพุทธบริษัท เมื่อเกิดมิคสัญญี พุทธบริษัทที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะเป็นผู้เหลืออยู่ แม้นี้ก็เป็นอานิสงส์ แห่งการนิยมอาหารทางใจ โลกกับธรรม จะเป็นอันเดียวกันไม่ได้ โดยที่โลกเป็นฝ่ายวัตถุนิยม ธรรมเป็นฝ่ายนิยม “ความเป็นอิสระเหนือวัตถุ” และความเป็น อิสระเหนือวัตถุนี้เอง คือ..อาหารของดวงใจ การต้องการอาหารทางฝ่ายโลก ใจต้องการอาหารฝ่ายธรรม ผู้ที่เห็นว่าใจเป็นใหญ่ หรือเป็นสิ่งที่อิงอาศัยของกายย่อมแสวงหาอาหารให้กาย เพียงสักว่าให้มันเป็นอยู่ได้เท่านั้น
เวลานอกนั้นใช้เพื่อการแสวงหาอาหารให้แก้ใจอย่างเดียว อันความเป็นอิสระเหนือวัตถุนั้น เห็นได้ยาก ตรงที่ตามธรรมดา ก็ไม่มีใครนึกว่า ตนได้ตกเป็นทาสของวัตถุแต่อย่างใด ใครๆ ก็กำลังหาวัตถุมากินมาใช้ มาประดับเกียรติยศของตน และบำเรอคนที่ตนรัก และถือว่าทำอย่างนั้นตนได้เป็นนาย มีอิสระเหนือวัตถุแล้ว ส่วนความหม่นหมองใจที่เกิดขึ้น มากมายหลายประการนั้น หามีใครคิดไม่ว่า นั้นเป็นอิทธิพลของวัตถุ ที่มันกำลังครอบงำย่ำยีตนเล่นตามความพอใจของมัน ดวงใจได้เสียความสงบเย็น ที่ควรจะได้ไปจนหมด ก็เพราะความโง่เง่าของของเจ้าของเอง ที่ไปหลงบูชาวัตถุจนทำให้กลายเป็นของมีพิษขึ้นมา ดวงใจที่สงบเย็นแท้จริง ก็ไม่อาจฟักตัว เจริญงอกงามขึ้นมา เพราะขาดการบำรุงด้วยอาหาร โดยที่เจ้าของไม่เคยคิดว่า มันจะต้องการอาหารเป็นพิเศษยิ่งกว่ากาย
เมื่อใดขาดอาหารใจ แม้แต่ที่เป็นเบื้องต้นเสียเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมไม่งอกงามพอที่จะแจ่มใส ส่องแสงให้ผู้นั้นมองเห็น และถือเอาอุดมคติ แห่งความสุขทางใจ ได้ชีวิตเป็นของมือมนต้องร้องไห้ ทั้งที่ไม่รู้ว่ามีอะไรมาทำเอาเด็ก ๆ ที่เกิดมา ไม่อาจสำนึกได้เองในปริยายเช่นว่านี้ การศึกษาธรรมะเท่านั้นจะช่วยได้ในเบื้องต้น การศึกษาจนรู้ธรรมะทางฝ่ายหลักวิชา เป็นอาหารของดวงใจในขั้นแรก
ขั้นกลางคือการย่อยวิชาหลักนั้นๆ ออกด้วยมันสมองของตนเอง ครั้นได้ความโปร่งใจความเยือกเย็นอะไรมา นั่นเป็นอาหารขั้นปลาย เมื่อได้ส่งเสริมให้เจริญ จนสามารถทำพระนิพพานให้ปรากฏ จึงจะนับว่าถึงที่สุด
ปริยัติธรรมในส่วนหลักวิชานั้น ช่วยสะกิดใจให้รู้สึกในเบื้องต้นว่า เรามีกายสองซีก คือ ซีกรูปกายและธรรมกาย
รูปกาย...เจริญได้ด้วยการมีบิดามารดา เป็นแดนเกิดเติบโตขึ้นได้ด้วยปัจจัย เช่น ข้าวปลาอาหาร ส่วนธรรมกายนั้น มีกายวาจาใจ ที่สุจริตผ่องใส เป็นที่ตั้ง ที่ปรากฏ มีผลของความสุจริต อิสระ เป็นอาหารที่จะบำรุงให้เติบโตสืบไป ปริยัติธรรม ยังทำให้เรารู้สึก สืบไปเป็นลำดับว่า ถ้าบำรุงกันแต่รูปกายอย่างเดียว มันก็อ้วนพีแต่ซีกเดียว อีกซีกหนึ่ง ซึ่งเป็นซีกใจจะยังคงเหี่ยวแห้งอยู่ ผลที่ได้คือ ร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ใจเต็มไปด้วยความหม่นหมอง และผ่ายผอม
คนเราเมื่อยังเด็ก ความหม่นหมองมิปรากฏนักเพราะผู้เลี้ยงดูให้ และกายก็ยังมิได้ขยายตัวเต็มที่ จนสามารถรับความรู้สึกสุดขีด ได้ทุกอินทรีย์ (คือเต็มที่ทั้ง ทางตา ทางหู ฯลฯ ทางใจ) ครั้นเมื่อกายเจริญเต็มที่เข้า ความหม่นหมองก็เกิดมากขึ้น เพราะขาดดุลยภาพ กล่าวคือ ทางรูปกายโตใหญ่ขึ้น แต่ทางธรรม ไม่เจริญให้เสมอคู่เคียงกัน
โดยสรุปปริยัติธรรมช่วยให้เราทราบว่า เราจะต้องประพฤติธรรม เพื่อฝ่ายธรรมกายของเรา มิฉะนั้น เราจะตายด้านไปซีกหนึ่ง ปฏิบัติ คือ ตัว การปฏิบัติ นั้นได้แก่การบังคับอินทรีย์เพื่อเอาชนะอินทรีย์ ชนะได้เท่าใด ความเยือกเย็นพร้อมทั้งความรู้แจ้ง ก็เกิดขึ้นเท่านั้น ความเยือกเย็นเกิดจากความอินทรีย์สงบลง ความเห็นแจ้งความจริง ในตัวเองปรากฏ เพราะไม่ถูกม่านแห่งความกลัดกลุ้ม ทางอินทรย์ปิดบัง เช่นแต่ก่อน
วิธีเอาชนะอินทรีย์ ตามหลักแห่งพุทธศาสนาได้แก่ การบังคับตัวเองให้งดเว้นจากสิ่งชั่ว ให้ทำแต่สิ่งที่ดีเข้าแทน และต่อจากนั้น พยายามหาวิธีชำระจิต ให้เป็นอิสระจากต้นเหตุแห่งความหม่นหมอง ทั้งที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายๆ และที่ไม่ง่าย คือที่เคยชินอยู่ในสันดาน อันเป็นเหมือนเชื้อที่ก่อเกิดของกิเลสได้ทุกเวลา
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง วิธีเอาชนะอินทรีย์ ได้แก่การบังคับกายและวาจา ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า “ศีล” บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า “สมาธิ” และใช้จิตที่อยู่ในอำนาจแล้ว ให้เข้าถึงความจริงที่ยากที่ลึก จนปรากฏแจ่มแจ้งเรียกว่า “ปัญญา” กล่าวคือ ปัญญาชนิดที่ สามารถควบคุมอินทรีย์ ให้เป็นไปแต่ในทางถูกอย่างเดียว
การบังคับหรือควบคุมอินทรีย์ ทำให้ดวงใจได้รับความสะบักสะบอมน้อยลง วัตถุหรืออารมณ์ทั้งหลาย มีพิษสงน้อยเข้าหรือหมดไป เพราะค่าที่เราสามารถบังคับตัวเอง ไว้ในภาวะที่จะไม่หลงใหลไปตาม ทั้งในทางชอบและทางชัง เมื่อเราได้รับความพักผ่อนผาสุก เนื่องจาก การบังคับอินทรีย์ของเราเช่นนี้แล้ว เชื่อว่าเราได้รับอาหารของดวงใจ ในส่วนการปฏิบัติ อันเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับอาหารชั้นสูงสืบไป
ปฏิเวธธรรม หรือธรรมในส่วนการรู้แจ้งแทงตลอด ในสิ่งที่เคยหลงใหล ไม่รู้เท่าทันมาก่อน เป็นความรู้ชนิดที่จะตัดรากเหง้า ความหม่นหมองของดวงใจ เสียโดยประการทั้งปวง เช่น ความสงสัย ความเข้าใจผิด แล้วทำความโปร่งใจ เยือกเย็นใจ ให้เกิดขึ้น ในระดับสูงสุด
ปริยัติธรรม..เป็นเพียงการรู้อย่างคาดคะเนด้วยเหตุผลล่วงหน้าไปก่อน
ส่วนปฏิเวธธรรม..เป็นผลที่ปรากฏแก่ใจ สมจริง ตามที่เรียนรู้ทางหลักวิชา
ส่วนการปฏิบัติ..เป็นการแทงตลอดม่านอวิชชา คือ ความโง่หลง ซึ่งข้อนี้เป็นของเฉพาะตัวอย่างยิ่ง
เมื่อใจได้อาหารเป็นลำดับมา จนลุถึงพระนิพพาน คือการดับกิเลสสิ้นเชิงแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นใจที่มีรสของพระนิพพานเป็นอาหาร เมื่อเราอาบน้ำ เราได้รับความเย็นของน้ำ หรือรู้สึกเย็นเพราะน้ำ เมื่อใจจุดลุถึงพระนิพพาน มันย่อมเยือกเย็น เพราะความเย็นของ พระนิพพานนั่นเอง ความเยือกเย็นอันนี้ เป็นยอดอาหารชั้นพิเศษของดวงใจ
การให้อาหารใจ จิตใจนั้นมีความสำคัญมากกว่าร่างกาย เพราะจิตใจเป็นนายส่วนร่างกายเป็นบ่าว เมื่อจิตใจมีความสำคัญอย่างนี้ การดูแลสุขภาพจิตใจจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภาวะปกติของจิตใจมนุษย์จะ "ประภัสสรคือ สว่างไสวบริสุทธิ์" แต่เพราะมีกิเลสเข้ามาห่อหุ้มทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่สว่างไสว และไม่เข้มแข็ง เวลามีอะไรมากระทบใจเข้าหน่อยก็จะหวั่นไหวไปกับสิ่งนั้น เช่น ทำให้เกิดความโกรธบ้าง หรือบางครั้งก็เกิดความทุกข์เศร้าเสียใจในเรื่องต่างๆ จนเกินไป หรือมีความเครียดกับการทำงานบ้างสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เจ็บป่วยได้ทั้งสิ้น
การดูแลสุขภาพจิตใจให้กลับสู่ภาวะปกติคือบริสุทธิ์สว่างไสวนั้น ทำได้ด้วยการสั่งสมบุญด้วยการให้ทาน รักษาศีลสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา ฟังธรรม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกิจวัตรประจำวันของพุทธบริษัททั้ง 4 ที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว
บุญนั้นจะช่วยชำระล้างกิเลสในจิตใจให้เบาบางลงไปเรื่อยๆ ยิ่งกิเลสเบาบางลงไปมากเท่าไร ความบริสุทธิ์ของจิตใจก็มีมากเท่านั้นและจะกลับคืนสู่ภาวะปกติมากเท่านั้นเช่นกันโดยอาการแสดงออก คือความเป็นผู้มีใจนิ่ง หนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ จุดสูงสุดของภาวะปกติของจิตใจคือ การละกิเลสได้หรือหมดบรรลุเป็นพระอรหันต์นั่นเอง
อาหารกาย คือสสารที่ทานได้ อาหารใจ คืออารมณ์กลมกล่อมจิต
กิเลส คืออารมณ์ที่เป็นพิษ บั่นทอนกายและจิตเป็นพิษภัย
อารมณ์ดีใจย่อมดีมีความสุข อารมณ์ทุกข์ใจย่อมหมองครองวิสัย
ยิ่งยามโกรธเกรี้ยวกราดอาฆาตใคร ยิ่งโน้มนำจิตใจให้ต่ำลง
หากเมื่อใดใจต่ำถึงที่สุด กิเลสรุดฉุดรั้งดังประสงค์
ถึงได้ชื่อว่ามนุษย์ก็สุดปลง ด้วยจิตใจไม่สูงส่งดังพงศ์พันธ์
เมื่อจิตได้อารมณ์ที่ชมชื่น ต้นไม้กลับฟื้นคืนสุขสันต์
เพียงสายน้ำหยาดหยดรดลงครัน ทั่วกายใจย่อมผ่องพรรณดุจจันทร์เพ็ญ
คือสวรรค์เกิดในใจใช่แท้แล้ว หากทำจิตให้ผ่องแผ้วแน่วแน่เห็น
ตัดละโมบ โกรธ หลง ปลงให้เป็น กายร่มเย็นใจเป็นสุขทุกคืนวัน...