แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๖ ถึงจะทรงจำธรรมและสอนได้มาก หากประมาทไม่ปฏิบัติตาม ก็ย่อมไม่ได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การปฏิบัติธรรม ที่เราปฏิบัติไม่ถูก เพราะเราปฏิบัติธรรมเพื่อจะเอา ที่เราเวียนว่ายตายเกิด เพราะเราจะเอา การเรียนการศึกษาเพื่อจะเอา การทำงานก็เพื่อจะเอา และการปฏิบัติเราก็เพื่อจะเอา พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพื่อมาเสียสละ การให้ทานก็เพื่อมาเสียสละ การรักษาศีลก็เพื่อมาเสียสละ การทำสมาธิ ความตั้งมั่น ก็คือการเสียสละ การเจริญปัญญาก็เพื่อมาเสียสละ เพราะการเวียนว่ายตายเกิดนั้น มันเป็นพลังงาน แห่งอวิชชาแห่งความหลง มันมีความคิดมีความต้องการ ปัญญา ที่พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมีมา สิบทัศ ยี่สิบทัศ สามสิบทัศ ตรงกันข้ามโลก ทวนกระแสโลก
พุทธการกธรรมหรือบารมี ๑๐ ทัศที่ทำให้บุคคลได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอยู่ทั้งหมด ๑๐ ประการ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ซึ่งรายละเอียดของบารมีแต่ละอย่างมีดังนี้
๑. ทานบารมี คือ การให้ การบริจาคหรือสละสิ่งของต่างๆ ของตนแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นบารมีอันดับแรกที่จะต้องกระทำก่อนบารมีอย่างอื่น เพราะพระพุทธองค์มีความปรารถนาที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณและจะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นจากทะเลแห่งความทุกข์ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงเริ่มต้นทำทานบารมีเป็นอันดับแรก มีความยินดีในการบำเพ็ญทานเป็นเนืองนิตย์ ไม่ว่าจะกำเนิดเป็นอะไรก็ตาม ย่อมมีใจรักในการบริจาคทาน อุปมาเหมือนกับบุคคลควํ่าหม้อน้ำที่มีนํ้าอยู่เต็ม ให้นํ้าในหม้อไม่เหลือแม้สักหยดหนึ่งฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยินดีในการบริจาคทาน ฉันนั้น พระองค์สามารถให้ได้ทั้งหมดไม่มีเหลือทั้งทรัพย์ ยศ บุตรและภรรยาหรืออวัยวะน้อยใหญ่ ตลอดจนเลือดและชีวิต พระองค์ให้สิ่งที่เขาต้องการอยากได้ทั้งหมดแก่ยาจกผู้มาขอ
๒. ศีลบารมี คือ การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย สะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นบารมีอันดับที่ ๒ ที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องทำเป็นอันดับต่อไป เพราะเป็นการรักษาต้นทุนการเกิดเป็นมนุษย์ไว้ เพื่อจะได้สร้างบารมีได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นเมื่อมีเสบียงแล้ว ก็จำเป็นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะได้วนเวียนอยู่แต่ใน มนุสสภูมิ และเทวภูมิเท่านั้น เมื่อถึงเวลาก็ลงมาสร้างบารมีได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอนและไม่เสียเวลา แต่ถ้าหากศีลไม่บริสุทธิ์ อาจพลาดไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกายหรือสัตว์นรกได้ ทำให้หมดโอกาสในการสร้างบารมีอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ศีลยังเป็นเหมือนเกราะคุ้มกันภัย ที่จะทำกายวาจาและใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ทำให้ใจผ่องแผ้วมีสมาธิตั้งมั่นได้ง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงบำเพ็ญศีลบารมี สมาทานรักษาศีลอยู่เป็นวัตรให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่เสมอ ตลอดเวลาในทุกชาติที่เกิดมา สร้างบารมี โดยที่ไม่ให้ศีลของตนบกพร่องได้ แม้จะต้องเสียสละชีวิตเพื่อรักษาศีลของตนไว้ก็ยอม อุปมาเหมือนกับจามรี ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาขนหางของตน ฉันนั้น
๓. เนกขัมมบารมี คือ การออกบวช การหลีกออกจากกาม ซึ่งเป็นบารมีที่จะช่วยให้มีความอิสระในการสร้างบารมีอย่างอื่นได้สะดวก เพราะกามคุณ คือสิ่งที่ครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ติดในวัฏสงสาร แม้มีทรัพย์สมบัติมากและได้อัตภาพมนุษย์แล้ว แต่ถ้าเสียเวลาไปกับเรื่องกามคุณ ก็จะทำให้เสียเวลาและ เสียกำลังทรัพย์ที่หามาได้ไปกับกามคุณ นอกจากนี้ยังทำให้ใจเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องกามคุณ ทำให้สร้างบารมีได้ไม่เต็มที่และไม่สามารถที่จะหลุดออกจากคุกแห่งความทุกข์นี้ไปได้ ดังนั้น เพื่อความสะดวกสบายเป็นอิสระ และไม่ต้องมัวกังวลใจกับเรื่องกามคุณ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาและเสียกำลังทรัพย์ในการสร้างบารมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ย่อมพยายามแสวงหาทางออกจากกาม ออกจากชีวิตการครองเรือน โดยมุ่งบำเพ็ญเนกขัมมะ ประพฤติพรหมจรรย์ตลอดมา ทำให้ใจปรารถนาที่จะออกจากคุกแห่งความทุกข์ คือวัฏสงสารนี้ อุปมาเหมือนนักโทษที่ติดอยู่ในเรือนจำ ปรารถนาจะออกจากที่คุมขัง ฉันนั้น
๔. ปัญญาบารมี คือ ความรอบรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ความเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นบารมีที่สั่งสมความรู้ ตั้งแต่ความรู้จากการได้ยินได้ฟังที่เป็นสุตมยปัญญา จากสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ความรู้จากการพินิจพิจารณาไตร่ตรองทดลองด้วยตนเอง ซึ่งเป็นจินตมยปัญญารวมไปถึงความรู้แจ้ง คือ ภาวนามยปัญญา อันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา หลายภพหลายชาติ ความรู้เหล่านี้จะทำให้สามารถที่จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารไปได้ ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ย่อมฝึกฝนเพิ่มพูนปัญญาบารมีอยู่เสมอ โดยแสวงหาความรู้จากคนทุกชนชั้น เพื่อจะนำความรู้ที่ได้จากคนเหล่านั้นมากำจัดอาสวกิเลสได้ แม้จะต้องเอาชีวิตแลกเพื่อได้มาซึ่งความรู้ ก็ยินยอมโดยไม่เสียดายชีวิต อุปมาเหมือนกับพระภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ไม่เลือกว่าจะเป็นตระกูลสูง ตํ่า หรือปานกลาง ฉันนั้น
๕. วิริยบารมี คือ ความเพียร ความแกล้วกล้าไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามด้วยความอุตสาหะที่จะสร้างบารมีอย่างไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อแท้ ซึ่งเป็นบารมีที่จะทำให้เคยชินกับความดี ไม่รู้จักความชั่วเลย เพราะคำว่า วิริยะ มาจากคำว่า วีระ แปลว่า กล้า หมายถึง ความกล้าที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง สิ่งใดที่ไม่ดีเคยชินกับสิ่งนั้น ก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น และกล้าที่จะละเว้นหรือหลีกเลี่ยงความไม่ดีทั้งหลายที่เคยทำไว้ แล้วปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เพิ่มขึ้นไป ให้คิด พูด ทำในความดีล้วนๆ ไม่ว่าความดีนั้นจะยากแค่ไหน พระองค์ก็กล้าที่จะทำให้ได้จนสำเร็จ แม้จะแลกด้วยชีวิตก็ยอมทำโดยไม่กังวลเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น จึงทำความเพียรให้เพิ่มพูนอย่างยิ่งยวด มีความกล้าหาญที่จะประกอบกุศลกรรม ทำความดีทุกอย่าง อย่างไม่ลดละ เพื่อการบรรลุประโยชน์อันสูงสุดตามที่พระองค์ได้ปรารถนาไว้ คือ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ อุปมาเหมือนพญาราชสีห์ เป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในอิริยาบถทั้งปวง ฉันนั้น
๖. ขันติบารมี คือ ความอดทนอดกลั้นต่ออุปสรรคความยากลำบากต่างๆ ซึ่งเป็นบารมีที่จะทำให้มีกำลังใจต่อการสร้างบารมี ไม่ท้อถอยต่อเป้าหมายที่ปรารถนาได้ เพราะการสร้างบารมีไม่ใช่ว่าจะสะดวกสบายเสมอไป แต่บางครั้งอาจถูกเย้อหยันจากคนที่ไม่เข้าใจ หรืออาจถูกกลั่นแกล้งต่างๆ ซึ่งอาจทำให้หมดกำลังใจในการสร้างบารมีได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความอดทนในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจ เพื่อรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวในปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น อีกทั้ง ไม่หลงใหลในคำสรรเสริญเยินยออันจะเป็นเหตุให้ประมาท จะต้องมีความหนักแน่นทั้งนินทาและสรรเสริญ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงเพิ่มพูนความอดทนอย่างยิ่งยวด อดทนในการทำความดี ไม่กลัวต่อความลำบาก ตรากตรำจากดินฟ้าอากาศ อดทนต่อทุกขเวทนาคือความเจ็บป่วยไข้ อดทนต่อการกระทบกระทั่งสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อดทนต่อสิ่งเย้ายวนใจ โดยไม่ปล่อยใจให้ยินดียินร้ายไปตามกระแสแห่งกิเลส อุปมาเหมือนกับแผ่นดิน แม้บุคคลทั้งหลายจะทิ้งสิ่งของที่สกปรกลงแผ่นดิน แต่แผ่นดินไม่เคยขัดเคืองฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมอดทนต่อการสรรเสริญ และนินทาฉันนั้น
๗. สัจจบารมี คือ ความจริง พูดจริง ทำจริง ในสิ่งที่ตั้งใจไว้ และจริงใจ ไม่แปรผันจากความซื่อตรง ซึ่งเป็นบารมีที่เกิดจากการตั้งใจมั่น ตั้งใจจริงที่จะสร้างบารมีให้เต็มที่ ไม่โลเล เมื่อคิดสิ่งใดแล้วก็ต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จตามที่คิดหรือพูดเอาไว้ ไม่ยอมให้สิ่งใดมาขวางได้ ดังนั้น เมื่อมีลาภ ยศ สรรเสริญ คำยกย่องชมเชย หรือเจออุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่อาจเป็นเหตุให้ใจหวั่นไหวออกนอกเส้นทางความดีที่ได้ตั้งใจไว้ได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบำเพ็ญสัจจบารมี เพื่อไม่ให้ยอมออกนอกเส้นทาง แม้จะมีใครมาข่มเหงรังแกหรือจะฆ่า ก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมออกนอกเส้นทางที่ตนตั้งใจไว้ คือ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงเพิ่มพูนรักษาความสัตย์จริง มีความซื่อตรง เที่ยงตรง ไม่แปรผันยักย้าย จนกว่าทุกอย่างที่ได้กล่าวมา สำเร็จสมความปรารถนา ไม่ออกไปนอกทางสัจจะที่ได้เคยตั้งไว้ อุปมาเหมือนกับดาวประกายพรึก เมื่อเคยขึ้นประจำอยู่ทางทิศใด ก็ย่อมโคจรขึ้นประจำอยู่ในทิศนั้น ไม่ว่าฤดูกาลไหนๆ ก็ย่อมขึ้นเที่ยงตรงไม่เปลี่ยนแปลงฉันนั้น
๘. อธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่ ซึ่งเป็นบารมีที่เกิดจากการตั้งเป้าหมาย เพื่อจะได้ตั้งมั่นอยู่กับ เป้าหมายที่ตนได้ปรารถนาไว้ แม้จะมีอุปสรรคหรือปัญหาหรือมีบุคคลใดมาอิจฉาริษยา ขัดขวางต่อการทำความดี ก็ไม่หวั่นไหว แต่ตรงกันข้ามกลับมีมุทิตาจิตตอบ ไม่คิดทำร้ายใคร และตราบใดที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งความปรารถนาไว้ ก็ไม่ยอมล้มเลิกในการสร้างบารมี แม้อุปสรรคนั้นจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม ก็ไม่ยอมเลิกราเป็นอันขาด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีจิตใจที่มั่นคงแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวในการสร้างบารมี ย่อมตั้งจิตตอกยํ้าปรารถนาพุทธภูมิซํ้าแล้วซํ้าเล่า อุปมาเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบ ไม่หวั่นไหวโยกคลอนด้วยแรงลมที่พัดมาจากทิศทั้ง 4 ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ย่อมตั้งจิตอธิษฐานตอกยํ้าซํ้าแล้วซํ้าเล่า จนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมาย ฉันนั้น
๙. เมตตาบารมี คือ ความรักความปรารถนาดี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ ซึ่งเป็นบารมีที่ทำให้มีจิตใจที่เมตตา มีความรักและปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู เพราะคิดว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็ตกอยู่ในความทุกข์ ที่หวังพึ่งพิงอยากเข้าใกล้ ดังนั้นจึงต้องมีจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์ทุกชีวิต เป็นผู้มีมหากรุณา ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง แม้บุคคลใดที่คิดเบียดเบียนประทุษร้าย ท่านก็มีความเมตตาต่อบุคคลนั้น แผ่ความปรารถนาดีไปยังทุกที่ให้ได้รับความชุ่มชื่นเบิกบาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเพิ่มพูนสั่งสมเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ เพศ วัย หรือเผ่าพันธุ์ใดๆ ด้วยคิดว่าสัตวโลกคือ หมู่ญาติ โดยปรารถนาที่จะพาข้ามวัฏสงสารไปให้หมด อุปมาเหมือนกับนํ้าย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดีและคนเลวโดยเสมอกัน และสามารถชำระล้างมลทิน คือธุลีได้ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมมีจิตเมตตาสมํ่าเสมอในชนที่เกื้อกูล และไม่เกื้อกูลแก่ตนฉันนั้น
๑๐. อุเบกขาบารมี คือ การวางใจเป็นกลาง การวางใจสงบ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปตามความยินดียินร้ายหรือเกลียดชัง ซึ่งเป็นบารมีที่ทำให้จิตใจรักความยุติธรรมในสรรพสัตว์ และทำให้เป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่ลำเอียงด้วยอำนาจอคติต่างๆ ทั้งในเรื่องของคน สัตว์ สิ่งของ ต้องวางใจเป็นกลางในธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือเป็นความทุกข์ก็ตาม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีใจวางเฉย วางใจเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา มีสุข มีทุกข์ อุปมาเหมือนแผ่นดินที่คนทิ้งสิ่งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง แผ่นดินย่อมไม่แสดงอาการใดๆ มีเเต่นิ่งเฉยไม่หวั่นไหวฉันนั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลใดที่ได้ตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ อย่าได้ท้อแท้ หมดหวังหรือถอดถอนใจไปก่อน แต่ควรที่จะพยายามทำตามแผนที่ตั้งไว้ให้ได้จนกว่าจะสำเร็จ และแผนที่ตั้งไว้ต้องเป็นไปเพื่อการสร้างบารมี ซึ่งถ้ากล่าวบารมีโดยย่อ ก็คือ การละชั่ว ทำความดี และการทำใจให้ผ่องใส ที่ทุกคนต้องทำทุกวันสั่งสมไปเรื่อยๆ อย่างเต็มที่เต็มกำลังด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แล้วในที่สุดก็จะสำเร็จสมปรารถนาที่ตั้งใจไว้ เฉกเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงอดทนเพียรพยายามจนสามารถบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้
ผู้ปฏิบัติทั้งหลายต้องพากันเข้าใจ เราต้องหยุด ให้อาหารให้พลังงาน แห่งการเวียนว่ายตายเกิด เรียกว่าเสียสละ หยุด สิกขาบทน้อยใหญ่ ที่ให้เราปฏิบัติทางใจ เรียกได้ว่าคือการดำเนินพระศาสนา เพื่อหยุดกฎแห่งกรรม ที่นำเราเวียนว่ายตายเกิด ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี ถ้าเราอยู่สิ่งที่ จะมี สิ่งต่อไปมันถึงจะไม่มี พระนิพพานจึงเป็นที่สงบ ที่เย็น เหมือนเราเอาแกงหม้อ ที่หุงต้ม สุกแล้วเราก็วางลง ให้แกงนั้นสงบเย็น เรื่องกายของเรา ทุกท่านทุกคนต้องพากันรักษา เพราะเราจะเอาพลังงานจากการที่มีอายุขัยส่วนใหญ่ไม่เกิน 100 ปีก็ต้องจากโลกนี้ไป เราต้องให้อาหาร ให้ที่นอน ให้ทีพักผ่อน ให้ยารักษาโรค ให้สิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้กับเขา ความสุขที่เราได้ปฏิบัติในการเดินทางต้องเป็นไปตามกฎ ของหลักเหตุผลหลักวิทยาศาสตร์ เราต้องมีความสุข ในการทำงาน มีความสุขในการขยันรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน อาหาร ที่พัก ที่อยู่ ที่อาศัย ยารักษาโรคนั้น ต้องได้มาจากการไม่เบียดเบียน ที่เรียกว่าพรหมจรรย์ ศีล ๕ สำหรับประชาชน ผู้อยู่ครองบ้านครองเรือน สำหรับนักบวชนี้ ก็ได้มาจาก ที่เราบำเพ็ญสมณะธรรม อยู่ที่เราสมาทานเราตั้งใจ ให้ใจของเราเป็นพระธรรมเป็นพระวินัย
ผู้ที่มาบวชถึงละทุกสิ่งทุกอย่างหมด เราตัดสักกายทิฐิ ตัดตัวตัดตน เอาพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เป็นการดำเนินชีวิต ชีวิตของเราถึงจะเป็นพระธรรมเป็นพระวินัยกันทุกท่านทุกคน ผู้ที่ดำเนินตามพระพุทธเจ้าถึงพากันเสียสละหมด เราทุกท่านทุกคนต้องเอา พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่มาประพฤติมาปฏิบัติ ไม่มีข้อใดยกเว้น แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราก็มีสักกายทิฏฐิ มีตัวมีตน เราก็ไม่ใช่พระธรรมไม่ใช่พระวินัย เหมือนภิกษุสามเณรในสมัยปัจจุบัน พากันทิ้งพระธรรมพระวินัย พากันปฏิบัติตามอัธยาศัยอย่างนี้ไม่ใช่ มันไม่ถูกต้อง นี้ยังเป็นระบบตัวตนเป็นระบบครอบครัว ยังจะเอายังจะมี จะเป็น เราปฏิบัติอย่างนี้มันไม่สงบมันไม่เย็น ถ้าเราทิ้งพระธรรมพระวินัย ผู้ที่จะมาบรรพชาอุปสมบท ก็เป็นได้แค่เพียงผู้มีปัญญา เอาธรรมะมาสั่งสอนประชนชนก็เป็นได้แค่นักจิตวิทยา เหมือนแพทย์ เหมือนหมอจิตแพทย์ เพื่อได้ค่าตัว ผู้ที่บวชมาก็อยู่ในระดับเดียวกัน อย่างเราเทศน์เราสอนด้วยต้องการวัตถุต่างๆ ก็ชีวิตของผู้ที่มาบรรพชาอุปสมบทก็เป็นได้แต่เพียงนักจิตวิทยาเท่านั้น เหมือนคุณครูสอนลูกศิษย์ก็ได้เงินเดือน การบรรพชา อุปสมบทของผู้ที่ไม่เอามรรคผลพระนิพพานก็เป็นผู้ที่รับจ้าง ไม่ต่างกัน
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมี ประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้ว ไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้, เขาย่อมไม่ เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น, หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้, เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือในโลกหน้า, เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล”
พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้พวกเราเอาอะไร พวกเรานี้มีปัญญาน้อย คิดว่าถ้าไม่เอาเราจะอยู่ได้ยังไง มาบวชทุกวันนี้ก็มีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่าอะไรต่างๆ ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย มันตรงกันข้าม เพราะนี้เราไม่รู้จักความสุข ความดับทุกข์ ไม่รู้จักเรื่องพระนิพพาน เราเอาความสุขแบบมีครอบครัวมีตัวมีตน คือใจของเรามันมีตัว มีตน มีครอบครัว พระพุทธเจ้าถึงให้เราหยุดมีตัว มีตน หยุดการมีเพศสัมพันธ์ทางความคิด ทางอารมณ์ การบวช การประพฤติปฏิบัติถึงจะได้ผล ทุกวันนี้เรามาคิดดูศาสนาพุทธเรายังไม่ได้เข้าถึงศาสนาพุทธ เราเข้าถึงเพียงนักจิตวิทยา ทั้งวัดบ้าน วัดป่า หินยาน มหายาน เราต้องพากันคิดดูดีๆ นะ ว่าเราหลงเปลือก หลงกระพี้ หลงทาง การประพฤติปฏิบัติของเราไม่ได้ผล เรายังไม่ถึงระดับศาสนา ยังเป็นระดับครอบครัวอยู่ เป็นระบบการบ้าน การเมืองอยู่
ในดิถีแห่งปีใหม่นี้ ทุกท่านทุกคนต้องเปลี่ยนความคิด ความเห็น ความเข้าใจ และพากันประพฤติปฏิบัติ ทุกคนต้องพากันแก้ที่ตัวเองหมด ปฏิบัติที่ตัวเองหมด เราดูตัวอย่างแบบอย่าง พระมหาสิวะที่สอนลูกศิษย์ได้บรรลุธรรมเป็นหลายหมื่น แต่ตัวเองก็ไปไม่ได้ เพราะตัวเองอยู่ในระดับจิตวิทยา เรามาคิดดูๆ แล้ว เราก็สงสารตัวเอง สงสารคนอื่นว่า เข้าใจผิด ยังปฏิบัติผิด ทำให้เสียหายส่วนรวม มันก็ดีอยู่เพียงรูปแบบ ดีระดับศาสนาพิธี ดีระดับพวกหนัง พวกละคร ดีระดับนี้ มันยังไม่เข้าถึงเรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องเราจะหยุดวัฏฏะสงสารได้ เราปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติไปก็ไปถามคนอื่น ว่าถูกต้องไหม ถูกทางไหม นึกว่าการบรรลุธรรมมันคงเป็นเหมือนการทำธุรกิจ นี้มันตรงกันข้ามกับการทำธุรกิจทางโลกนะ เราต้องหยุดตัว หยุดตน หยุดมีกามคุณทางจิตใจ เราไม่ต้องไปยินดีกาม ในรถ ในวิหาร ในศาลา ซึ่งไม่ใช่ศาสนาเลย เป็นเพียงศาสนาวัตถุที่ให้คนกลุ่มนี้พากันอยู่ มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าเราไม่ได้พากันเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ที่ท่านบำเพ็ญพุทธบารมีมาหลายล้านชาติ มันก็สูญเปล่า เราให้กำลังใจกัน ให้ยศ ให้ตำแหน่ง สมณศักดิ์กัน แต่อันนี้มันไปทางระบบการบ้าน การเมือง ระบบครอบครัว ไม่ได้เสียสละ พากันเข้าใจกันนะ ตำแหน่งในพระศาสนานี้ มันไม่ใช่อย่างนั้น ตำแหน่งในพระศาสนาเราต้องพากันมาเสียสละ เข้าสู่ธรรมะ เข้าสู่พระวินัย เพื่อบ้านเรา เมืองเรา โลกเราจะได้มีพระอริยเจ้าเพิ่มมากขึ้น
พระไตรปิฎก ดีแล้วถูกต้องแล้ว แต่เราไม่ได้เอามาประพฤติปฏิบัติ เรามาประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะเอาเพื่อจะมีเพื่อจะเป็น เพื่อจะบรรลุนิพพานอย่างที่มีตัวมีตนมันไม่ถูกต้อง เราต้องปรับตัวปรับกาย เข้าสู่ธรรมวินัยสิกขาบทน้อย เพื่อให้เป็นพระศาสนา ด้วยการสมาทานด้วยการตั้งใจ และตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ มันถึงจะใช้ได้ เหมือนนักวิทยาศาสตร์พัฒนาการติดต่อเนื่อง นี่เราพากันหลงประเด็น เราจะพากันปฏิบัติธรรมก็เพื่อมาเพิ่มตัว เพิ่มตน เป็นคนรวยก็รวยอย่างไม่ฉลาด สิ่งเหล่านี้ก็กลับมามีโทษแก่เรา เราต้องขอบใจผัสสะ ขอบใจเวทนา ที่ให้เราได้พัฒนาใจ
พระภิกษุสามเณร หรือว่าประชาชนในเมืองไทย เห็นการรักษาศีลรักษาพระวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ นึกว่าไม่สำคัญ นึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ มันเป็นเรื่องที่จะจัดการกับตัวเอง เป็นเรื่องหยุดกรรมหยุดเวรหยุดภัยของตัวเอง ใจเราทุกคนมันเป็นใจนักปรัชญา มันเลยมองเห็นอย่างนั้น เพราะใจของเรามันหยาบมันสกปรก มนุษย์เราต้องพากันพัฒนาพระศาสนา พัฒนาเรื่องจิตเรื่องใจ ให้มากกว่านี้ ไม่น่าจะมาหลงงมงาย ในเรื่องไสยศาสตร์ มันหลงใหลในเรื่องกินเรื่องกาม เรื่องเหล้าเรื่องเบียร์ เรื่องท่องเที่ยว เรื่องคอนเสิร์ต เรื่องหรูหราฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือย มนุษย์เรานี้ทำถูกต้องแล้วที่พัฒนาวิทยาศาสตร์ มันไม่สมควรที่จะเอามาเป็นกับดัก ที่จะทำร้ายตัวเอง เพราะว่ามันเป็นคุก เป็นตาราง ที่ใหญ่ที่ขังผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดอย่างข้ามภพข้ามชาติ คุกตารางมีขังแค่ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ความเห็นผิด มันขังเรา ข้ามภพข้ามชาติ มันเป็นพลังงาน ทุกท่านทุกคนต้องพากันรู้จัก มันต้องมีความสุข ในการปฏิบัติธรรมปฏิบัติพระวินัย เน้นที่เรื่องจิตเรื่องใจเรื่องเจตนา เรื่องสมาทานเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ
การปฏิบัติอย่างนี้ มันไม่เครียด เพราะเราหยุด กระบวนการแห่งการปรุงแต่ง ใจของเรานั้นต้องอยู่กับปัจจุบันอยู่กับอริยมรรคมีองค์ ๘ ในปัจจุบันอยู่แล้ว ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ทุกท่านก็จะได้สัมผัสกับธรรมะเอง ผู้ที่มาบวชถึงจะได้มีธรรมะที่จะออกจากจิตจากใจ สอนประชาชน เหมือนหลวงพ่อชา เอาพระธรรมวินัย กล้าตัดสินใจ น่านับถือ ที่ดึงเอาพระธรรมวินัยเอาออกมา อย่างเจ้าคุณพุทธทาส เอาก้อนหินมาวางตรงนั้นๆ ก็สมมุติเป็นสีมา เอาความถูกต้อง เจ้าคุณพระพุทธทาส ในหลวงจะมาหา บอกว่าไม่ต้องมา เพราะว่ารักษาลำบาก เพราะสมัยก่อนมีคอมมิวนิสต์ เจ้าคุณพุทธทาสท่านมีความคิดที่เหนือมนุษย์ พูดธรรมมะมาให้เพื่อทุกศาสนารักกัน เหมือนกับอาจารย์ชา แต่ก่อนพระในประเทศไทยโกนหัวเดือนละครั้ง อาจารย์ชาบอกว่ามันยาวเกิน เอา 15 วันก็พอ ทำไมถึงทำแบบนั้น เพราะประเทศไทยมันยากจน มีดโกนดีๆ สมัยก่อนมันไม่มี มันต้องมีการพัฒนา อาจารย์ชาถึงได้ดึงพระวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ออกมาใช้เป็นหลัก เพื่อไม่ให้ศาสนาเป็นปรัชญา เป็นนักจิตวิทยา เพื่อเอามาเป็นพระธรรมวินัย เอามรรคผลพระนิพพาน เดี๋ยวนี้มันก็จะกลับไปเป็นนักจิตวิทยา เพราะว่ามันทิ้งไป มันหลงในกาม
หลวงพ่อกัณหา เป็นคนบ้านนอก บ้านนา พ่อแม่พาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เมื่อบวชมาได้มาศึกษาเกี่ยวกับเหว่ยลาง ว่าเขาทานอย่างนี้ เมื่อเราทานอย่างนี้มันก็ไม่บาป เราก็ไม่ได้ไปสู้กับใคร การรักษาธรรมวินัยเพื่อจะแก้ไขตัวเองไม่ได้แก้ไขคนอื่น ไม่เกี่ยวกับคนอื่น เราสมาทานที่จะแก้ไขตัวเอง มันก็ได้ผล ถ้าทำเพื่อจะให้เขานับถือเหมือนพระเทวทัต เราก็คิดไปว่าเราไม่ตั้งใจ ไม่สมาทาน ถ้าไม่เข้าใจ นึกว่ามันขลัง ศักดิ์สิทธิ์ รักษาศีลธรรมก็เพื่อขลังศักดิ์สิทธิ์ ไม่อย่างนั้นวัว ควาย มันก็ได้บรรลุหมด จิ้งจก ตุ๊กแตที่เกาะอยู่ที่ต้นศรีมหาโพธิ์ที่อินเดียก็ได้บรรลุหมด ผู้ที่ไม่ได้ไป ก็ยังได้บรรลุมากกว่าคนที่ไปไหว้ตั้งหลายรอบ มันต้องเข้าใจอย่างนี้ มันจะได้เข้าถึงศาสนา เพราะว่าเขาไม่เข้าใจเรื่องบรรลุธรรม จะเอาตัวเองเป็นโรคประสาท มันก็ไม่ได้บรรลุหรอก เพราะเราจะเอา จะมี จะเป็น
ทุกวันนี้ เราทุกคนไม่ได้พากันประพฤติปฏิบัติธรรม เราจึงพากันหลงในอารมณ์ของสวรรค์ ถึงต้องเวียนว่ายตายเกิด เท่ากับว่าเราเป็นคนรับจ้างมาเกิด อะไรเป็นค่าจ้างรางวัลของเรา...? ค่าจ้างได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ลาภ ยศ สรรเสริญ มันเป็นรางวัลจ้างให้เราต้องมาเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติสัมปชัญญะ เห็นโทษในการเวียนตายเกิด "ความสุขความดับทุกข์ของมนุษย์ นั้นคือจิตใจที่เข้าถึงพระนิพพาน จิตใจสงบ จิตใจที่มีพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เปิกบาน ไม่ตามอารมณ์ ไม่วิ่งตามอารมณ์" อารมณ์ คือความอยาก ความต้องการ มันเผาเราทุกคนน่ะให้เราตกนรกทั้งเป็นเลยนะ เรายังไม่ตายมันก็เผาเราอยู่อย่างนี้ทั้งวันทั้งคืนน่ะ
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราทุกคนนั้น รู้จัก 'อารมณ์' เมื่อเรารู้จักแล้ว เราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ จะได้สร้างบารมี มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ตามอะไรไป ชีวิตของเราที่เหลืออยู่นี้แหละ ถือว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่อบรมบ่มอินทรีย์ เป็นชีวิตที่ปฏิบัติตนเพื่อมรรคผลนิพพาน
เราทุกคนเกิดมาก็เกิดมาคนเดียว เวลาเราจากโลกนี้ไป เราก็ไปคนเดียวน่ะ เราจะมาห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงทรัพย์สมบัติไปทำไม แม้แต่ตัวเองก็ยังเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว เราแก่ เราเจ็บ เราตายนั้นไม่มี ใครช่วยเราได้
เราพากันมาตั้งสติ ตั้งสัมปชัญญะให้ดีๆ ยับยั้งชั่งใจของเราให้มันสงบน่ะ เราพยายามกลับมาแก้ใจของตัวเอง มาแก้การกระทำ คำพูด มาอดมาทน เพื่อให้ใจของเรามันสุขุมรอบคอบ มาทำใจของเราให้มันสบาย มาทำใจของเราไม่มีทุกข์ มาปล่อยวางเรื่องลูก เรื่องหลานเรื่องทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา เราต้องฝึกมาปล่อยมาวาง ออกจากจิตจากใจให้มันหมดมันสิ้น ก่อนเราจะหมดลมหายใจ
เราจะเอาใจของเราไปไว้ที่ไหน...? "เอาใจของเราไว้กับใจนี้แหละ"ใจของเรา ก็คือตัวผู้รู้ รู้ใจของเราให้มันชัดเจน ทิ้งอารมณ์ต่างๆ น่ะ ให้มันเห็นใจชัดเจน ใจของเราจะได้สงบ เราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราปลูกต้นไม้นี่แหละ เราปลูกต้นเล็กๆ แล้วก็ให้น้ำให้ปุ๋ยไป ต้นไม้มันก็จะค่อยๆ โตไปเรื่อยๆ การอบรมบ่มอินทรีย์ การสร้างอริยมรรค ก็เป็นอย่างนั้น เราต้องทำติดต่อกันไปทุกๆ วัน อย่าไปขี้เกียจ อย่าไปขี้คร้าน อย่าไปเผลอ อย่าไปประมาท
เรามีความสุข เราก็อย่าไปหลง มีสติสัมปชัญญะให้ดี เรามีความทุกข์ เราก็อย่าไปหลง มีสติสัมปชัญญะให้ดี ให้เรากลับมาหาตัวผู้รู้ คือใจของเรา สติสัมปชัญญะของเรามันต้องทำงานไปเรื่อย ๆ
'สติสัมปชัญญะ' นั่นแหละคือ 'ศีล สมาธิ ปัญญา' มันจะมารวมกันเป็นหนึ่ง คือใจของเรานี้มีสติสัมปชัญญะ เราพยายาม 'เจริญสติสัมปชัญญะ' เอาการงานมาสร้าง อินทรีย์บารมี เราทำงานเพื่องาน เราทำงานเพื่อเสียสละ เราทำงานเพื่อไม่มีตัวไม่มีตน เพราะตัวเรามันก็ไม่มี คนอื่นที่อยู่ร่วมกับเรานั้น ถือว่าไม่มีเหมือนกัน ทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้น ทุกอย่างล้วนแต่ตั้งอยู่ ทุกอย่างล้วนแต่ดับไป ไม่มีอะไรมีไม่มีอะไรเป็น มันมีแต่ธรรมะเท่านั้น
ถ้าเราไม่เอาใจของเราเข้าไปยึดเข้าไปถือ สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นธรรมะ ล้วนแต่เป็นพระนิพพาน เป็นอินทรีย์บารมีให้เราเจริญแก่กล้าไปเรื่อยๆ ...การประพฤติการปฏิบัติน่ะ มันต้องอาศัยกาล อาศัยเวลา มันถึงจะเป็นมรรค เป็นอริยผล ให้เราถือโอกาสถือเวลาว่าเราเป็นผู้ประเสริฐ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สามารถกระทำได้แต่สิ่งที่ดีๆ คือมาสร้างมรรคผลนิพพานให้กับตัวเอง การประพฤติการปฏิบัตินั่นน่ะ ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลาและสถานที่ เราปฏิบัติได้อยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนเราทุกคนต้องมาแก้ที่จิตที่ใจของเรา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ไม่ให้เราทุกคนประมาทน่ะ"