แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๕ ปีใหม่ให้มีชีวิตที่อยู่แต่กับปัจจุบัน ถ้าวันนี้ถูกต้อง พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องกลัวอะไร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันที่โลกสมมติว่า เป็นวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนศักราชใหม่ วันนี้ชาวโลกต่างพร้อมใจกันเฉลิมฉลองศักราชใหม่อย่างใหญ่โตมโหฬาร วันขึ้นปีใหม่ในทางพระพุทธศาสนาของเราไม่ค่อยกล่าวไว้เท่าไรนัก เพราะพระพุทธองค์ทรงถือว่า การที่ เรามีโอกาสลืมตามาดูโลกในทุกๆ เช้าวันใหม่นั้น นับเป็นโอกาสอันสุดวิเศษแล้ว ที่เราสามารถมีชีวิต รอดมาอีก ๑ วัน ฉะนั้นทุกวันจึงเป็นช่วงเวลาอันแสนประเสริฐ ที่จะเริ่มสั่งสมบุญ ปรารภความเพียร กันต่อไป แม้จะย่างเข้าสู่ปีใหม่ เรายังคงสร้างบารมีกันต่อไป และทำให้ยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา พระบรม ศาสดาทรงเน้นให้เรามีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เหมือนดังพุทธพจน์ที่ว่า “บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่ง ใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว สิ่งใดที่ยังมาไม่ถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง บุคคลใดเห็นแจ้งธรรม ปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับ มัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย”
กาลเวลากลืนกินสรรพสัตว์ เปลี่ยนแปลงสรรพสิ่ง สรรพชีวิตที่เกิดมาแล้ว ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ผู้คนมากมายได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่า เหตุเพราะไม่รู้จุดหมายปลายทางของชีวิตว่า เกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต เมื่อไม่รู้ความจริงของชีวิต จึงเวียนวนข้องเกี่ยวอยู่กับเบญจกามคุณทั้ง ๕ อันเป็นเหยื่อล่อของพญามาร ทำให้ข้องอยู่ในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วน การทำสมาธิเจริญภาวนา หมั่นฝึกฝนใจให้สะอาดบริสุทธิ์หยุดนิ่ง เป็นประจำสมํ่าเสมอ เป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะนำพานาวาชีวิตของเรา ให้หลุดพ้นจากวังวนแห่งสังสารวัฏอันยาวไกลนี้ ก้าวไปสู่พระนิพพานที่เป็นเอกันตบรมสุข
ความจริงของธรรมชาติเป็นเช่นนั้น กล่าวคือ ความจริงมันมีเฉพาะกลางวัน และกลางคืนเท่านั้น และกลางวันและกลางคืนมันก็เกิดเพราะพระอาทิตย์ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า แล้วตกไปในตอนเย็น เราเรียกว่าเป็นกลางวัน เมื่อพระอาทิตย์ลับโลกไปแล้ว จนพระอาทิตย์ทอแสงขึ้นมาใหม่ เราเรียกว่ากลางคืน มันเป็นไปอย่างนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเลย ดังนั้นสิ่งที่มีจริงก็คือวันและคืน ส่วนปีเดือนมนุษย์เรากำหนดกันขึ้นมาเอง เพื่อให้หมายรู้เรื่องวันเดือนปี ในการเป็นอยู่ของมนุษย์เราเท่านั้น แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า การสมมุติวันเดือนปีขึ้นมา มิใช่เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องมีสาระอย่างยิ่ง เป็นแต่ว่าบางคนในสมัยนี้นำเรื่องปีเก่าปีใหม่ ไปทำลายตนเองหนักเข้าไปอีก
แบบไหนที่เรียกว่า นำเทศกาลปีเก่าปีใหม่มาทำลายตนเอง? คือ โดยธรรมดาแล้ว ชีวิตคน อายุสัตว์มันจะกัดกินตัวมันเอง ให้หมดลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปหนึ่งปี ก็เท่ากับว่าอายุหมดไปแล้วหนึ่งปี นั่นคือเขาใกล้ความตายไปอีกแล้วหนึ่งปี เราจวนจะตายแล้ว แต่เพราะไม่มีใครรู้วันตายของตน แต่ละคนจึงประมาท สนุกไปเรื่อยทั้งๆ ที่ชีวิตกำลังเข้าหาความตายอยู่ทุกขณะจิต
ภาพของปุถุชนเรานั้น ปรากฏในสายตาของพระอริยะว่า เหมือนคนถูกไฟลุกโชนอยู่บนหัวแล้ว แต่ยังหาได้หาสำนึกไม่ยังสนุกอยู่ตลอด ด้วยประการฉะนี้ เราจึงมองเห็นภาพของนักดื่มทั้งหลาย ทำกิริยาดีใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถึงเทศกาลปีเก่าปีใหม่ พวกเขาชวนกันมาฉลองปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เหมือนพร้อมกับตะโกนกันด้วยความดีใจว่า พวกเรามากินเหล้าฉลองชัยที่พวกเราใกล้ความตายเข้าไปอีกหนึ่งปีแล้วเถิด !
กาลเวลาได้ผ่านพ้น ไปปีแล้วปีเล่า มันไม่ได้ผ่านไปเฉยๆ แต่คร่าเอาชีวิตของสรรพสัตว์ให้เหลือน้อยลงไปทุกที “กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา” แปลว่า เวลาย่อมกินซึ่งสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง หมายความว่า เวลาไม่ได้ล่วงไปเฉยๆ แต่เวลาย่อมกินสรรพสัตว์ให้ค่อยๆสิ้นไป พร้อมทั้งตัวเวลาเองด้วย
ในเมื่อเห็นว่าเวลาเป็นอย่างนั้นแล้ว มนุษย์จะต้องทำอย่างไร มีใจความว่า... เมื่อมองเห็นว่าเวลาล่วงไป มันกินสรรพสัตว์หมายความว่าทำให้ตาย เมื่อเห็นภัยในความตายจะทำอย่างไรดี?
มีคำตอบอยู่เป็น ๒ อย่าง คือ คนปุถุชนธรรมดาสามัญ แม้ที่สุดแต่พวกเทวดาก็ตอบว่า กยิราถ ปุญฺญานิ สุขาวหานิ ซึ่งแปลว่า เมื่อมองเห็นภัยในความตายแล้ว ควรรีบกระทำบุญ อันจะนำสุขมาให้
ส่วนพระพุทธเจ้าเมื่อได้ฟังพวกเทวดากล่าวดังนั้นท่านตรัสว่า เรายังไม่ถือว่าการกล่าวอย่างนั้นเป็นการกล่าวอย่างถูกต้อง แต่เรากล่าวว่า “เมื่อยิ่งเห็นภัยในความตายแล้ว พึงหวังความสงบ โดยละเหยื่อในโลกนี้เสีย”
ข้อความนี้ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือคนธรรมดาสามัญที่เป็นปุถุชนนั้น เมื่อกลัวตายก็รีบทำบุญ แต่พระอริยเจ้าผู้รู้จริงและเห็นจริงในสิ่งทั้งปวงนั้น กลับกล่าวว่าเมื่อเห็นภัยในความตายแล้ว ก็จงหวังนิพพานอันเป็นธรรมเครื่องให้สงบ โดยการละเหยื่อทั้งหลายในโลกนี้เสียซึ่งย่อมจะหมายความว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าบุญ ก็ยังจัดไว้ในพวกที่เป็นเหยื่ออยู่นั่นเอง เพราะเป็นเครื่องล่อให้บุคคลหลงใหล พอใจ ด้วยความอยาก หรือความต้องการ ว่าจะได้เกิดในสุคติ เป็นสุข สนุกสนานกันอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น จึงได้เรียกว่าเหยื่อ
ถ้าเห็นภัยอันตรายที่เกิดจากเวลา ที่เคี้ยวกินสรรพสัตว์กันจริงแล้ว ก็จะต้องทำให้ยิ่งไปกว่านั้น คือต้องหวังความสงบระงับจากการครอบงำของเวลา เพราะว่าไม่ต้องการเหยื่อนั่นเอง ดังนั้นพระพุทธองค์ตรัสจึงสรุปไว้ในขั้นสุดท้ายว่า...
“โย จ กาลฆโส ภูโต ส ภูตปจินึ ปจิ บุคคลใดเป็นผู้กลืนกินกาลเวลา บุคคลนั้นได้เผาตัณหาที่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ได้แล้ว”
เป็นของคู่กันว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ตามธรรมดานั้นย่อมถูกเวลากัดกิน แต่พระอริยเจ้าผู้กำจัดความอยากเสียได้นั้น กลับเป็นผู้กินซึ่งเวลา หมายความว่า กำจัดเวลาเสียได้นั่นเอง
การที่เราสามารถประคับประคองชีวิตให้อยู่รอดมาได้จนถึงวันที่ ๑ มกราคมนั้น นับว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐ ที่จะได้ประพฤติปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ปัจจุบันที่เราเป็นอยู่ คือ อนาคตของอดีต และกำลังจะก้าวไปสู่ความเป็นอดีต ของอนาคต เพราะฉะนั้นเมื่อ ปรารถนาอยากให้อนาคตสดใส ต้องเริ่มต้นปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สดใสกว่าเดิม ผู้มีปัญญาจึงเริ่มต้นหาบุญใส่ตัวให้มากที่สุด เพราะ อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนสำหรับชีวิต แต่ปัจจุบันที่เรามีชีวิตมาถึงวันปีใหม่จึงนับว่าเป็นวันที่ดีที่สุด ควรที่จะเริ่มต้นด้วยการทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเพิ่มเติมเสริมบารมี ให้สิ่งที่ดีมีสิริมงคลทั้งหลาย เกิดขึ้นกับตัวของเรา
ปีใหม่ทุกคนต้องตั้งใจใหม่ ให้เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม ส่วนใหญ่เราไม่เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ มันมีแต่เพิ่มความโง่ให้กับตัวเอง เพิ่มความหลงให้กับตัวเอง มันไม่ได้ มันผิด เอาใหม่!! เพราะทุกคนต้องมาแก้ไข้ ต้องมาเปลี่ยนแปลง เราเป็นผู้ประเสริฐเพราะเราตามพระพุทธเจ้า เดี๋ยวมันพัฒนาไปเอง เพราะมันอยู่ที่ปัจจุบัน อดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ มันต้องเอาความบกพร่องมาแก้ไข้ เอาความฉลาดมาเพิ่มความฉลาด เอาความอ่อนแอเพิ่มเป็นความเข้มแข็ง เอาศีล สมาธิ ปัญญา มาใช้มาปฏิบัติ เรียกว่ามีพระพุทธเจ้าในใจ มีพระธรรมในใจ มีพระอริยสงฆ์ในใจ อย่างนี้ก็พัฒนาเข้าถึงปัจจุบันธรรม เราถึงจะได้เปลี่ยนตัวเองไปในทางที่ดี เราอย่าไปหลงในอวิชชา เอาพระพุทธเจ้ามาใช้ เอาพระธรรมมาใช้ มันถึงจะไปได้ พวกอบายมุข อบายภูมิเราต้องหยุดหมด ขี้เกียจขี้คร้านเป็นอบายมุขอบายภูมิ กินเหล้า เมาเบียร์ พวกยาเสพติด เจ้าชู้ มันต้องไม่คิด มันต้องไม่พูด มันต้องไม่ทำ สมาธิเรามันต้องเข้มแข็ง เราเอาปัญญาเราออกมาใช้ เราต้องรู้ทุกข์ รู้อริยสัจ 4 ไม่ทำตามใจตามอารมณ์ตัวเอง เราต้องพัฒนาตัวเอง คนเรามันมีของดีๆ ต้องเอามาประพฤติมาปฏิบัติ เราทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เดี๋ยวเราก็เดินไปเรื่อยๆ ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันก็ฉลาดขึ้น ทุกคนก็จะมีความสุข เราจะได้มีพระพุทธศาสนา ทั้งเราทั้งครอบครัวเรา ลูกหลานเรา จะอบอุ่นมั่นคง จะไม่ได้เซ่อๆ เบลอๆ งงๆ
การปฏิบัติธรรมให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจนะ การปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่ทำตามใจของตัวเอง ตามความยึดมั่นถือมั่นของตัวเอง เรียกว่ามันเป็นสัญชาตญาณแห่งการเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นรากเหง้าของอวิชชา ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ อย่าได้เข้าใจผิดเห็นผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เมื่อทุกท่านทุกคนได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านตรัสไว้ดีแล้ว แม้ท่านจะเสด็จดับขันธ์ไปนานแล้ว พระธรรมคำสั่งสอนของท่านก็ยังเป็นอมตะอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา
ทุกๆ ท่านทุกคนให้พากันเข้าใจนะ อย่าพากันตกนรกทั้งเป็นไปมากกว่านี้ เดี๋ยวนี้นะ ประชากรของโลกเด็กยังไม่ถึงสิบขวบก็พากันเป็นโรคประสาทแล้ว เพราะสาเหตุมาจากพ่อแม่ที่มีความทุกข์เป็นโรคจิตโรคประสาท เด็กที่เกิดมาถึงได้รับกรรมพันธุ์จากพ่อแม่ ประเทศที่เค้าร่ำรวยมีระเบียบมีวินัย ทำตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อเอาหลักวิทยาศาสตร์มาพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อความสะดวกความสบายในการดำเนินชีวิต เขาพัฒนาตั้งแต่เทคโนโลยีทางวัตถุ ไม่ได้พัฒนาทางจิตใจไปพร้อม ๆ กัน เขาถึงพากันเป็นโรคจิตโรคประสาทมากกว่าประเทศของเราอีก ให้พากันเข้าใจนะ การประพฤติการปฏิบัติธรรมนี้ทำให้เรารวย ทำให้เราเฮง ทำให้เรามีคุณธรรม ทำให้เราไม่ต้องเป็นโรคจิตโรคประสาท คนเรามันจะจนได้อย่างไรเพราะเรามีความสุขในการทำงานในความขยัน เสียสละ รับผิดชอบ อดทน มีแต่ความสุขทั้งวันทั้งคืนในการคิดดีพูดดีปฏิบัติดี ซื่อสัตย์ ประหยัด กตัญญูกตเวที คนเรานะ เกิดมาสิ่งที่สำคัญที่สุดคือพ่อคือแม่ คือพระพุทธเจ้า และตัวเราเองประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้พากันเข้าใจนะ
การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องของเราอยู่กับตัวเรา ไม่ได้ไปหาที่ไหน ความสงบจะไปหาได้จากที่ไหน หาในป่า ป่านั้นมันก็ไม่ใช่ใจ บ้านก็ไม่ใช่ใจ มันไม่ใช่ใจ พระนิพพานอยู่ที่ใจของเราที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง แล้วไม่วุ่นวาย ไม่ปรุงแต่ง ใจของเราก็สงบ
เพราะเราทุกคนเป็นผู้ที่โชคดี เราจะได้พัฒนาทั้งฐานะครอบครัว พัฒนาธุรกิจหน้าที่การงาน พัฒนาทั้งใจ ทุกคนจะได้ปิดอบายมุขอบายภูมิของตัวเอง เราจะได้เข้าใจ จะได้ไม่ต้องวิ่งไปหาความสุขที่ไหน หาความสุขในภายในนี่แหละ
โลกภายนอก แปรผัน อย่าหวั่นไหว โลกภายใน ล้ำลึก ควรศึกษา
โลกภายนอก ย่อมเห็น เป็นธรรมดา โลกภายใน มีค่า...ถ้ารู้ธรรม
ใครเข้าใจ โลกนี้ จักมีสุข ยามมีทุกข์ ปลงได้ ไม่ตกต่ำ
ใครหลงโลก ไม่รู้ ดูมืดดำ หากถลำ ถอนยาก ลำบากลำบน
โลกภายนอก กว้างไกล ใครก็รู้ โลกภายใน ลึกซึ้งอยู่ ดูสับสน
โลกภายนอก แปรเปลี่ยน เวียนหมุนวน โลกภายใน ใจคน เกินพรรณนา
อยู่เหนือโลก ชนะได้ ในทุกสิ่ง จิตแน่วนิ่ง ชำระ ละ"ตัณหา"
รู้ปล่อยวาง ดี-ชั่ว ตัว "มายา" "สติปัญญา" หยิบใช้ ให้ทันกาล
ทุกท่านทุกคนให้มีจิตสำนึก รับผิดชอบชีวิตของตนที่ประเสริฐที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราทุกคนมาจากกรรมเก่า มาจากพลังงาน มาจากความหลง ที่เป็นพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เราทุกคนถึงได้พากันเป็นอย่างนี้ ได้พากันเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ซึ่งเป็นวงกลมแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เกิดแล้วเกิดอีก ไม่รู้กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านชาติ เพราะมาจากความไม่รู้ พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ประเสริฐท่านเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร บำเพ็ญบารมีมาหลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านได้มาบอกมาสอน มาบอกแนวทาง ที่หยุดการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏฏะสงสาร ทุกท่านทุกคนถึงต้องมีจิตสำนึกว่าชีวิตของเรานี้ ต้องพากันหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีอะไรที่จะประเสิรฐกว่าที่เราต้องหยุดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏด้วยความตั้งอก ด้วยความตั้งใจ ด้วยการหยุดพลังงาน หยุดให้อาหาร ทุกท่านทุกคนนั้นต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อยู่ที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง อยู่ที่ปัจจุบัน ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเรื่องหนทางอันประเสริฐ ๘ ประการที่สมบรูณ์ด้วยอัตถะและพยัญชนะ เราจะเป็นคนเก่ง คนฉลาด เป็นผู้มีปัญญา เป็นนักปรัชญานั้นไม่ได้ เราต้องก้าวไปไกลกว่านั้น คือต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าธรรมวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ ทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจ ต้องสมาทาน พร้อมทั้งประพฤติปฏิบัติ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ นี้คือไฟท์หยุดโลกหยุดวัฏฏะสงสารในปัจจุบัน เราทำเดี๋ยวนี้อย่างถูกต้อง พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องพูด เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มีในอนาคตก็ไม่มี ขึ้นอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเรา
ความสุข ความสะดวก ความสบายนี้มันเป็นมนุษย์สมบัติ พัฒนาไปเป็นสวรรค์สมบัติ ต่อไปก็เป็นพรหมสมบัติ เราต้องก้าวไปไกลกว่านั้น ระดับที่มีแค่คุณไม่มีโทษ เราต้องบริโภคทุกอย่างด้วยสติ ด้วยปัญญา พวกผัสสะทั้งหลายนี้ถือว่าให้เอามาเป็นเกณฑ์เป็นข้อวัตร ข้อปฏิบัติถึงจะเป็นไฟท์แห่งการประพฤติปฏิบัติ เราทุกท่านทุกคนต้องขอบพระคุณที่เรามีสังขารร่างกายที่ประเสริฐได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องเข้าใจอย่างนี้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนต้องมาประพฤติมาปฏิบัติ ความรู้ความเข้าใจนี้มันยังไม่เพียงพอ เราดูตัวอย่างแบบอย่างพระพุทธเจ้าท่านเสียสละทุกอย่างท่านถึงมีความสุข เป็นความสุขระดับสูง คือระดับพระอรหันต์ขีณาสพ ระดับพระพุทธเจ้า เราเป็นประชาชนก็เข้าถึงความเป็นพระได้ ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามี ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติย่อมได้ผลทุกคน เพราะมันเป็นอมตะ
เรารู้ที่ใจของเราทุกคนแล้วว่ารักอันไหน ชอบอันไหน เกลียดอันไหน เราต้องรู้จัก เราต้องตั้งใจต้องสมาทาน เพราะเราทุกคนมีสิทธิ์มีโอกาส กาลเวลามันผ่านมา เราถึงทำทั้งผิดทั้งถูก ทั้งดีทั้งชั่ว เราพากันเป็นได้แต่เพียงคน เรายังไม่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ทุกท่านทุกคนจะมาเอาอะไร เพราะทุกอย่างมันไม่ได้อะไร มันมีแต่ผ่านมาผ่านไป เราต้องพากันเข้าใจ เราจะได้ปฏิบัติตัวเองพัฒนาตัวเอง ความหลงนี้เรียกว่าไสยศาสตร์ หลงในตัวในตน ในความเอร็ดอร่อย ในลาภ ยศ สรรเสริญ เรียกว่าไสยศาสตร์ ยิ่งเราไปหลงในวัตถุเครื่องลางของขลังมันจะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเราหน่ะต้องพัฒนาให้ไปตามหลักเหตุ หลักผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ เราก็จะมีอยู่มีกินมีใช้ เหลือกินเหลือใช้ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ก็ถือว่าเรามีสัปปายะที่ประเสริฐแล้ว ธรรมะที่พระพุทธองค์แสดงก็เป็นธรรมะที่สัปปายะแล้ว เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนต้องรู้จักกาย รู้จักใจ เราจะว่ามีความทุกข์อย่างนู้น อย่างนี้มันไม่จริงหรอก อันนี้เป็นความหลงเฉยๆ เราจะมาหลงสุข มาหลงทุกข์ มันก็คืออันเดียวกัน คือความหลง คืออวิชชา อันนี้เป็นเพียงสังขารความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งมันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เราจะปล่อยให้ความหลง ปล่อยเวลา ปล่อยให้ความหลง ความเพลิดเพลิน เราต้องจัดการ เอาธุรกิจ เอาหน้าที่การงานเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ทุกคนก็ยอมรับได้ เพราะเราทุกคนก็มีความหลง หลงในพ่อในแม่ หลงในพี่ในน้อง เพราะทุกอย่างมันหลงไม่ได้อยู่แล้ว แม้แต่ร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา ฉันข้าวทานข้าวทุกวัน มันก็ยังแก่เจ็บตาย บรรพบุรุษเรามีที่ไหนที่ไม่ตาย ไม่พลัดพราก ทุกคนก็เกิดมาแต่ละคน ต้องขอบคุณความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ขอบใจสิ่งที่ยั่วยัว สิ่งที่ทำให้หลง จะได้ยกทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ เราจะได้เข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ ในชีวิตประจำวัน เราจะได้พาพี่พาน้องพาลูกพาหลานของเราไปสู่หนทางที่ประเสริฐ เราจะได้ส่งไม้ผลัด เราจะไม่ได้หลงขยะในชีวิต
ถ้ามีปัญญามองเห็นได้อย่างนี้ ก็นับว่าเป็นการเข้าใจถูกต้องขึ้นมาตามลำดับ อาจจะมองเห็นว่า การเป็นอิสระ ไม่ไปเที่ยวอยากโน่นอยากนี่ ไปตามอำนาจของความอยากนั่นและดูจะเป็นสิ่งที่น่าปรารถนากว่า คือไม่มีความทุกข์ มีแต่สติปัญญารู้ว่าควรทำอย่างไรควรทำอะไร หรือควรทำอย่างไร และควรทำเพียงไหนในวันหนึ่งๆ ก็ทำสิ่งเหล่านั้นไปตามที่ควรทำ ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นถึงกับเกิดความอยากหรือความหลง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ร้อน เพราะเวลาไม่เข้าข้างตนเพราะว่าเวลาไม่เข้าด้วยกับตน เวลาเป็นไปตามเรื่องของเวลา คนที่มีความปรารถนาจึงได้มีความทุกข์มากหรือทุกข์น้อยตามส่วนของความปรารถนานั่นเอง
ถ้ามีความปรารถนามาก...เวลาก็วิ่งไปเร็วมาก
ถ้ามีความปรารถนาน้อย...เวลาก็วิ่งไปช้าๆ
ถ้าไม่มีความปรารถนาเลย...เวลาก็หยุดสนิท ไม่วิ่งไป
ดังนั้น เราจึงเอาชนะเวลาได้ด้วยการทำลายความอยากเสียโดยประการทั้งปวง
สิ่งที่เรียกว่านิพพาน หมายถึง ภาวะที่ปราศจากความอยากโดยประการทั้งปวง ผู้บรรลุพระนิพพานคือพระอรหันต์ นั้นก็คือผู้ที่กำจัดความอยากเสียได้โดยประการทั้งปวง ดังนั้นเวลาจึงหยุดหมดสำหรับบุคคลเหล่านั้น เหมือนกับว่าไม่มีเลย ไม่ว่าในโลกนี้หรือในโลกไหน ไม่มีเวลาสำหรับบุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วไม่มีความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยประการทั้งปวง
เมื่อเราพิจารณาดูตามลำดับที่กล่าวมานี้ ก็พอจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตายตัวเสมอไปอย่างที่คนชาวโลกเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนอกศาสนา คือคนนอกพุทธศาสนาเขาคิดว่า เวลาเป็นสิ่งที่ตายตัว แล้วเขาก็กลัวเวลานี้มาก แข่งกับเวลามากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้นเท่านั้น
แต่ในพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เอาชนะเวลา เอาชนะเวลาให้ได้ จนเวลาหยุดสงบไปเหมือนกับไม่มี ซึ่งได้แก่ การหยุดเสียซึ่งความอยากในจิตใจของเรานั่นเอง “หยุดความอยากเสียได้เมื่อใด เวลาก็หมดความหมายเมื่อนั้น มีความอยากความต้องการเมื่อใด เวลาก็มีความหมายขึ้นมาเมื่อนั้น อยากมาก เวลาก็วิ่งไปเร็วอยากน้อย เวลาก็วิ่งไปช้า อยากถึงที่สุดจนขาดใจตายไป...เวลาก็วิ่งเร็วถึงที่สุดจนทำให้บุคคลนั้นตายไป นี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดดูให้ดีในเรื่องเกี่ยวกับเวลา
เรื่องปีใหม่ปีเก่านี้ก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเวลา ถ้าเราทำไม่ดี ทำไม่ถูก มันก็เป็นความโง่ความหลง ทำให้ปีใหม่เป็นทุกข์มากไปกว่าปีเก่าก็ยังได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสุปุพพัณหสูตรว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้น ก็เป็นเวลาดี ของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใด ประพฤติสุจริตด้วยกายด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น. กายกรรม วาจากรรม มโนกรรม ความปรารถนาของท่าน เป็นประทักษิณ เป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งเรืองดี ขณะดี ครู่ดี และเป็นการบูชาอย่างดีในพรหมจารีทั้งหลาย คนทำกรรมอันเป็นประทักษิณแล้ว ย่อมได้ประโยชน์อันเป็นประทักษิณ ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีประโยชน์อันได้แล้ว ถึงซึ่งความสุข งอกงามในพระพุทธศาสนา เป็นผู้หาโรคมิได้ สำราญกาย ใจ พร้อมด้วยญาติทั้งปวงเทอญ”
คนเราก็จะประสบความสำเร็จได้ก็เพราะความพากเพียรพยายาม ไม่ใช่เกิดจากฤกษ์ยาม ดวงชะตาหรือฟ้าลิขิตแต่อย่างใด ที่สำคัญการกระทำหรือพฤติกรรมของเราเองนั่นหละที่ลิขิตชีวิตของเรา ที่เรียกว่า "กรรมลิขิต" ดังคำกลอนที่ว่า
มิใช่เทวาจะมาอุ้มสม ไม่ใช่พระพรหมจะมาเสกสรร
ไม่ใช่ศุกร์เสาร์หรืออาทิตย์จันทร์ จะมาบันดาลให้เราชั่วดี
อันกรรมลิขิตชีวิตของคน ยากดีมีจนสุดแต่วิถี
กฎแห่งกรรมทำดีต้องได้ดี ถ้าทำชั่วก็มีแต่ไปอบาย
ชีวิตของเราจึงอยู่ในกำมือเรา ผิดพลาดอะไรมา อย่าไปโทษคนอื่น ให้โทษตัวเองจะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวของเรา เป็นการสอนให้มนุษย์มีความฉลาดเกิดสติปัญญา ไม่งอมือ งอเท้า ไม่รอโชควาสนาหรือราชรถมาเกย แต่ให้ลงมือทำความดีด้วยตนเอง และความดีจะส่งผลเอง การทำดีจึงเป็นหน้าที่ของคน ส่วนการให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม
เมื่อเราทำอะไร มุ่งมั่นทำจริง ไม่รอโชคชะตา ย่อมประสบความสำเร็จ น้ำมนต์หรือจะสู้หยาดเหงื่อแรงงาน ความสำเร็จต้องมาจากหยาดเหงื่อแรงกายของเราเอง น้ำมนต์เป็นเพียงกำลังใจ อย่าให้น้ำมนต์มีอิทธิพลเหนือจิตใจ
สิ่งที่จะทำให้งานสำเร็จ มิใช่น้ำมนต์จากพระสงฆ์ชื่อดังแต่เป็นน้ำพักน้ำแรงหยาดเหงื่อแรงงานของเราเอง ที่อดทนต่อสู้จนประสบความสำเร็จ ไม่ว่างานนั้นจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ เราจะได้ประสบการณ์ที่ล้ำค่า หากล้มเหลวเราจะไม่ทำมันอีกและถือเป็นบทเรียน
เมื่อจะให้ปีใหม่มีความสุขที่แท้จริงยิ่งกว่าปีเก่า ควรจะต้องจัดการกับสิ่งที่เรียกว่าเวลานี้ให้ดี ให้ถูกต้องยิ่งกว่าปีเก่า ไม่เพียงแต่ให้พรกันว่า ให้มีอะไรมากๆ ให้ได้อะไรมากๆ หรือว่าให้ยิ่งอยากอะไรมากๆ ซึ่งมีแต่จะทำให้เป็นทุกข์ยุ่งเหยิงขึ้นไปกว่าปีเก่า ถ้าจะให้ปีใหม่ขึ้นมาจริงๆ ไม่ซ้ำกับปีเก่า ก็ต้องจัดเรื่องเวลาให้ดี ปีใหม่ซ้ำกับปีเก่า บางทีจะไม่ซ้ำอย่างเดียว กลับจะซ้ำอย่างมาก คิดซ้ำแล้วยังกลับมีน้ำหนักมากกว่าปีเก่า ไม่ได้เป็นทุกข์เท่าๆกันกับปีเก่า แต่กลับมีความทุกข์มากยิ่งขึ้นไปกว่า
ใจความสำคัญทั้งหมดของพุทธศาสนาเรา ก็คือเรื่องเอาชนะเวลาให้ได้นั่นเอง เพราะว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเอาชนะความอยากคือตัณหาหรือกิเลส ตัณหา อุปาทานเสียให้ได้ จะต้องเอาชนะกรรมเสียให้ได้ทั้งหมด ทุกอย่างทุกประการ ถ้าเราไม่อยากอะไรเลยกรรมก็หมดไป เวลาก็หมดไป กรรมเก่าก็ไม่มี กรรมใหม่ก็ไม่มี ชาตินี้ก็ไม่มีชาติหน้าก็ไม่มี กรรมทั้งหลายหมดสิ้นไป เพราะการยกเลิกของเวลา ซึ่งยกเลิกได้ด้วยอำนาจที่กำจัดความอยากเสียได้ กำจัดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ว่าของตนเสียได้ ไม่มีความอยากสิ่งใดเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน ดังนี้ นี้คือใจความของพระพุทธศาสนาทั้งหมดซึ่งถ้านำเข้าเทียบในทางที่เกี่ยวกับเวลาแล้ว ก็พูดได้เหมือนกันว่าพุทธศาสนาสอนให้เราเอาชนะเวลาให้ได้โดยประการทั้งปวง
ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๖๖ นี้ ไม่ขอให้มีความสุขตลอดไป เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่...เมื่อต้องพบเจอความทุกข์ ก็ขอให้..."มีจิตที่สงบไม่เร่าร้อนไปกับทุกข์ที่ต้องเจอ"
ไม่ขอให้สุขภาพแข็งแรงตลอดไป เพราะความเป็นจริง สังขารร่างกายนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ แต่...เมื่อต้องพบเจอกับความเจ็บป่วย "ก็ขอให้ใจนั้นไม่ป่วยตาม"
ไม่ขอให้ร่ำรวย เพราะต้นทุนคือบุญกุศลที่เคยสร้างสมมาของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน แต่..."ขอให้มีความสุขกับสิ่งที่มีพอเพียง และอิ่มเต็มจากข้างในจิตใจ" แล้วเราก็จะรวยและสุขใจ เพราะไม่ทุรนทุรายร้องขอในสิ่งที่ไม่มี
ไม่ขอให้พบเจอแต่สิ่งดีๆ เพราะสิ่งดีๆ นั้น มีเป็นบางเวลา แต่..."ขอให้เข้าใจในความเป็นจริงว่า ทุกคนต้องประสบพบเจอความผิดหวัง" เพราะนี่คือ "สัจธรรมแห่งชีวิต"
หลวงปู่มั่นสอนว่า ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน ความยิ่งใหญ่คือความไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่คือชีวิตที่อยู่ด้วย ทาน ศีล เมตตาและกตัญญู ชีวิตที่มีความดีอาจมิใช่ความยิ่งใหญ่แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น
ไม่มีมิตรสหายใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า... "ความรู้"
ไม่มีศัตรูใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า... "ความเจ็บไข้ได้ป่วย"
ไม่มีความรักใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า... "ความรักของพ่อแม่"
ไม่มีอำนาจใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า... "กฏแห่งกรรม"
ไม่มีคุณงามความดีใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า... "ความกตัญญูกตเวทิตา"
ไม่มีความสุขใดใด จะยิ่งไปกว่า... "ความสงบ" (นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ)