แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๔ ส่งท้ายปีเก่า ด้วยเรามาสำรวจดูตนเอง ว่าชีวิตก้าวหน้าสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้มากเพียงไร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การกำหนดปีใหม่ ปี เก่า เป็นเรื่องที่สมมติกันขึ้นมา อันที่จริงแล้วจะปีเก่าหรือปีใหม่ คือวันหนึ่งคืนหนึ่งนั่นเอง แต่ที่มีการ กล่าวถึงวันปีใหม่ ก็เพื่อสะดวกในการนับอายุ จะได้รู้ว่าคน สัตว์ สิ่งของในโลกนี้มีอายุเพิ่มขึ้นกัน เท่าไรแล้ว แต่ละปีที่ผ่านไปเป็นสิ่งสำคัญต่อตัวเรามาก เราควรสำรวจตรวจตราดูงบดุลชีวิตของเราว่า ชีวิตเราก้าวหน้าขึ้น พัฒนาขึ้น สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้มากเพียงไร เราได้กำไรชีวิตหรือว่า ขาดทุนชีวิต เหมือนพ่อค้านักธุรกิจที่ปิดบัญชี และคำนวณรายรับรายจ่ายประจำปีว่า ได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไร จากนั้นก็จะได้เริ่มต้นใหม่ในช่วงปีใหม่นี่แหละ
ในอดีตที่ผ่านมา วัน ปีใหม่ของแต่ละประเทศจะไม่ตรงกัน เช่น ชาวจีนก็กำหนดวันตรุษจีนเป็นวันปีใหม่ ชาวคริสต์กำหนด วันคริสต์มาส ส่วนชาวไทยแต่ดั้งเดิมได้กำหนดวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ แต่ในปัจจุบันชาวโลกได้กำหนดวันที่ ๑ มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะฉะนั้น เมื่อถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคมจึงเป็นวันสิ้นปี ซึ่งหมายถึงว่า โลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์มาครบ ๑ รอบแล้ว โดยใช้เวลา ๓๖๕ วัน คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมเป็นต้นมา
คนโบราณนั้นเก่งมาก จากการค่อยๆ สังเกต จึงพบว่าเดี๋ยวก็เข้าหน้าหนาว เดี๋ยวก็หน้าร้อน เดี๋ยวก็เป็นหน้าฝน ถ้าในเขตอบอุ่นก็ฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้ก็แตกใบออกมา เดี๋ยวก็หน้าร้อน แล้วก็ใบไม้ร่วง และเข้าฤดูหนาว หิมะตก หมดช่วงนั้นก็ใบไม้ผลิอีกแล้ว เป็นวงรอบ คนสมัยโบราณจึงมีความสนใจว่าวงรอบเหล่านี้ มันมีช่วงเวลาเท่าไหร่ และทำการทดสอบด้วยการเอาไม้มาปักกลางแจ้งแล้วสังเกตเงาแดดของต้นไม้ ก็จะเห็นว่ามันค่อยๆ หมุนวน ตรวจสอบเช่นนี้ เขาพบว่ามันครบหนึ่งวงรอบใช้เวลา 365 วันเศษๆ อีกอย่างที่คนสังเกตคือวงรอบของพระจันทร์ เดี๋ยวพระจันทร์ก็เต็มดวง เดี๋ยวก็ค่อยๆ แหว่งเป็นเสี้ยวแล้วค่อยๆ มืดหมด แล้วค่อยๆ เห็นใหม่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นข้างขึ้นข้างแรม เขาสังเกตเห็น 1 วงรอบราวๆ ประมาณสัก 28 วันบ้าง 30 วันบ้าง ถ้าถือพระจันทร์เป็นหลัก นับตามวงรอบของพระจันทร์ ก็เรียกว่าจันทรคติ
ถ้าถือตามพระอาทิตย์ ดูรอบปีเป็นหลัก เราเรียกว่าแบบสุริยคติ ซึ่งการนับแบบสุริยะคติจะได้รับความนิยมทางยุโรป คนนแรกที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายจริงจังคือ จูเลียส ซีซ่าร์ (Julius Caesar) จักรพรรดิแห่งโรม เอาความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์มา แล้วกำหนดให้ปีหนึ่งมี 365 วัน เศษที่ทีอยู่ประมาณจุดสองสี่ ก็คือเกือบ จุดสองห้า ก็ถือว่าทุกๆ 4 ปี ให้เพิ่ม 1 วันเป็น 366 วัน ใน 365 วันก็แบ่งเป็นเดือน ได้ 12 เดือน แต่ละเดือนมี 30 วันบ้าง 31 วันบ้าง มีอยู่ 1 เดือนพิเศษ คือเดือนกุมภาพันธ์ มี 28 วัน ส่วนที่มาว่าทำไมจึงมี 30 วันบ้าง 31 วันบ้าง หรือ 28 วันบ้าง ก็มีรายละเอียดอีก ทุก 4 ปีก็จะมี 29 วันในเดือนกุมภาพันธ์ เราจะรู้ว่าปีใดมี 29 วัน ถ้าในแง่ พ.ศ. ให้เอา 4 ไปหาร ถ้าเหลือเศษ 3 เมื่อไหร่แล้วล่ะก็ปีนั้นจะมีเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 29 วัน เช่น เอา 4 ไปหาร ปี 2559 จะเหลือเศษ 3 แต่ถ้าเป็นปี ค.ศ. คือเอา 4 ไปหารแล้วลงตัว ปีนั้นก็จะมีเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 29 วัน
ส่วนคติของไทย ไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย การนับเดือนนับปีจึงถือตามจันทรคติเป็นหลัก ซึ่งวันขึ้นปีใหม่จะตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เดือนอ้ายไม่ใช่เดือนมกราคม แต่จะประมาณเดือนธันวาคม ถ้าเป็นจันทรคติแต่ละเดือนจะมีการขยับขึ้นขยับลง เวลาจะเหลื่อมไปเหลื่อมมา เพราะพระจันทร์ไม่ได้หมุนหนึ่งรอบเต็มดวงใช้เวลาที่แน่นอน 30 วัน หรือ 31 วัน บางครั้งก็ 29 วันเป็นต้น ดังนั้นเวลาจึงไม่แน่นอน อย่างที่เราจำได้ วันเพ็ญเดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่ง นั่นก็คือ วันลอยกระทง ก็คือในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือเดือน 12 แต่ถ้าเป็นเดือนอ้ายคือ เดือนธันวาคม อย่างเร็วๆ บางครั้งปลายเดือนพฤศจิกายน
เมื่อมีคติพราหมณ์เข้ามา คนไทยจึงไปถือวันปีใหม่เป็นช่วงตรุษสงกรานต์ ก็คือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 อยู่ในช่วงเดือนเมษายน จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2432 ในปีนั้นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 1 เมษายนพอดี ท่านจึงกำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี ต่อมาจอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล เมื่อปี พ.ศ. 2484
กินเท่าไหร่ไม่หายอยาก นอนมากไม่รู้จักตื่น รักผู้อื่นยิ่งกว่ารักตัว ของควรกลัวกลับกล้า
ของสั้นสัญญาว่ายาว ปอกมะพร้าวเอาปากกัด อุ้มลูกอ่อนรัดไว้ไม่วาง หลงทางไม่ถามไถ่
หนีจระเข้ใหญ่ไพล่ลงน้ำ ต้องจองจำกลับยินดี สู้ไพรีไม่หาอาวุธ ไม่หยุดไม่ถึงพระ
กินเท่าไหร่ไม่หายอยาก การกินของคนเรา รวมกล่าวแล้วมี ๒ อย่าง ๑. กินเพราะหิว และ ๒. กินเพราะความอยาก
ความหิวและความต้องการของร่างกาย ร่างกายจะทรงอยู่ได้เพราะอาหาร มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงจะมีชีวิตอยู่ได้เพราะอาหาร การกินเพราะความหิวจึงเป็นการจำเป็น การกินเพราะความหิวมีเวลาอิ่มและเบื่อได้ ทั้งมีขีดจำกัด ตามขนาดกระเพาะของแต่ละบุคคล ความอยาก เป็นอาการของใจที่ประกอบด้วยตัณหา การกินด้วยความอยาก หามีอะไรเป็นขอบเขตจำกัดไม่ ยิ่งหามาสนองความอยากได้มากเท่าใด ก็ยิ่งจะเพิ่มความอยากให้มากขึ้นเท่านั้น ที่สุดของความอยากไม่มี ผู้ที่กินด้วยความอยาก ย่อมไม่มีเวลาอิ่มท้องจะต้องแตกตาย เหมือนตาชูชกผู้กินด้วยความอยาก หาใช่กินเฉพาะทางปากเท่านั้นไม่ บางคนยังสามารถกินสิ่งที่ไม่น่าจะกินได้ เช่น กินจอบ กินเสียม กินตึก กินถนนหนทาง และรถเรือนเป็นต้น ไฟไม่อิ่มเชื้อ ทะเลไม่อิ่มน้ำฉันใด คนที่มีโลภตัณหาก็ไม่อิ่มในสิ่งใดๆ ดังภาษิตโตปเทศว่า
ธรรมดาไฟย่อมไม่พักพอไม้เชื้อ ทะเลใหญ่ไม่ปรากฏว่าเบื่อน้ำ
มฤตยูไม่เคยอิ่มหนำประชาสัตว์ นางผู้งามจำรัสก็ไม่รู้สึกจุใจในผู้ชาย
ขอเปลี่ยนวรรคสุดท้ายเป็น “คนละโมภสมบัติก็ไม่รู้สึกจุใจในสิ่งใด” ด้วยเหตุนี้ ผู้กินด้วยความโลภตัณหา ชื่อว่า “กินเท่าไหร่ไม่หายอยาก”
นอนมากไม่รู้จักตื่น การตื่นมี ๒ อย่าง ตื่นจากหลับ และ ตื่นจากความมัวเมาด้วยกิเลส คนบางคนนอนขี้เซา นอนไม่รู้จักตื่น ไม่รู้จักเวลาที่ควรนอนและไม่ควรนอน ไม่ว่าเช้าหรือสาย ไม่ว่าบ่ายหรือเย็น ไม่ว่ากลางคืนหรือกลางวัน การนอนย่อมบอกลักษณะของบุคคลได้ดังคำโคลงโลกนิติบทหนึ่งว่า
บรรทมยามหนึ่งไซร์ ทรงฤทธิ์ หกทุ่มหมู่บัณฑิต ทั่วแท้
สองยามพวกพาลิต นรชาติ นอนสี่ยามนั่นแล้ เที่ยงแท้เดรัจฉาน
ผู้ที่รู้จักแบ่งเวลา ไม่เห็นแก่การนอนหลับนอนมากนัก ชื่อว่าผู้ตื่นจากหลับ ถ้ามีลักษณะตรงกันข้ามชื่อว่านอนมากไม่รู้จักตื่น
อีกประการหนึ่ง บางคนเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติคอยสำรวมระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมประพฤติชั่วทางกาย และทางวาจา แม้มีประมาณน้อย ก็คอยระวังโดยไม่รู้เท่าทันความจริงว่าของมากมาจากของน้อย ของน้อยนั่นเองเมื่อมารวมตัวมากเข้า สามารถทำความเสื่อมเสียให้ ดังคำบทหนึ่งว่า แม้ความชั่วทุจริตก็เช่นเดียวกัน ถึงมีประมาณน้อยก็ไม่ควรประมาท ผู้มีสติตื่นตัวอยู่เสมอ เช่นนี้ ชื่อว่าผู้ตื่นจากความมัวเมาประมาท ส่วนผู้ที่หลงใหลไร้สติ ปล่อยตัวให้จมอยู่ในความชั่ว ชื่อว่า “นอนมากไม่รู้จักตื่น” ผู้เช่นนี้แม้มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายแล้ว
รักผู้อื่นยิ่งกว่ารักตัว ความรักมี ๒ ชนิด คือ รักตัวเองและรักผู้อื่น
คนที่เอาใจใส่ต่อการศึกษาก็ดี คนขยันหมั่นเพียรในการทำมาหาเลี้ยงชีพก็ดี คนที่รู้จักป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ตนก็ดี ชื่อว่าผู้รักตัวเอง พ่อแม่รักลูกหรือลูกรักพ่อแม่ก็ดี อาจารย์รักศิษย์หรือ ศิษย์รักอาจารย์ก็ดี ตลอดถึงมิตรรักมิตรเป็นต้นก็ดี ชื่อว่ารักคนอื่น ความรักทั้งสองนี้ท่านกล่าวว่า “ไม่มีความรักอันใดยิ่งไปกว่าความรักตัว” ความหมายว่า ใครจะแสดงความรักออกมาโดยอาการใดก็ตาม ก็ล้วนแต่มุ่งผลขั้นสุดท้ายเพื่อตัวเอง เมื่อทำตัวให้ดีแล้วชื่อว่าทำทุกอย่างให้ดีตามไปด้วย
มีคนบางคน บางพวก แม้จะพูดว่ารักตัวเองหรือแสดงตัวเองว่ารักตัว แต่การกระทำของตัวนั้นเป็นไปเพื่อรักคนอื่น เช่น หนุ่มสาวบางคู่หลงรักกันและกัน ยอมทำความชั่วความผิดต่างๆ เป็นการรักษาน้ำใจคู่รัก การกระทำเช่นนี้ควรเรียกว่า ความรักทำให้คนตาบอดคือ มองไม่เห็นเหตุผลที่ถูกต้อง พ่อแม่บางคนเป็นห่วงลูก รักลูก กลัวลูกจะอด กลัวลูกจะไม่เทียมบ่าเทียมไหล่คนอื่นเขา สู้อุตส่าห์ตรากตรำทำงาน แม้จะผิดถูกอย่างไรไม่คำนึงถึง หรือคนแก่เฒ่าคนแก่บางคน มัวเมาห่วงลูกห่วงหลาน จะไปวัดไปวาหาความสงบบ้าง ก็หาโอกาสไม่ได้ตลอดชีวิต ทั้งหลงรัก หลงชัง หลงดี หลงชั่ว หลงลาภ หลงยศ หลงเขา หลงเรา มัวเมาไปด้วย ความหลงไม่มีเวลาสร่าง ไม่มีเวลาตื่นเหมือนกับคนนอนหลับ หาเวลาจักกลับตัวจากโมหะไม่ได้
ของควรกลัวกลับกล้า ความกลัวมี ๒ ชนิด คือกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ๑ กลัวในสิ่งควรกลัว ๑
ความกลัวย่อมเป็นของธรรมดาของมนุษย์และสัตว์ทั่วไป ยิ่งกว่านั้น สัตว์บางจำพวก และคนบางคนกล้าในสิ่งที่ไม่ควรกลัว เช่นที่เล่าว่า ไส้เดือนทั้งหลายกินดินเป็นอาหาร แต่ไม่กล้ากินมาก เพราะกลัวดินจะหมด นางนกต้อยติวิดนอนหงายทับไข่ของมันเพราะกลัวฟ้าจะตกทับ นกกะเรียนไม่กล้าเหยียบดินเต็มเท้า เพราะกลัวแผ่นดินจะไหว พวกพราหมณ์เที่ยวหาเมียสาว เพราะกลัววงศ์สกุลจะขาดตอน (ธรรมเนียมพราหมณ์อินเดียสมัยโบราณ) ทั้งสี่เหล่านี้ได้ชื่อว่า กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว
บางคนจะทำงานบางอย่างซึ่งเหมาะสมกับวิทยฐานะของตนแล้ว แต่กลัวจะต่ำต้อยน้อยหน้า ผลที่สุดกลายเป็นคนว่างงาน บางคนจะทำความดี เช่นจะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาหรือไปวัดฟังเทศน์ ฟังปาฐกถา ก็ไม่กล้าทำ บ่นว่าอายบ้าง อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่า กลัวต่อสิ่งที่ไม่ควร การทำความชั่วทุจริต ทั้งหลายเป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะมีผลเป็นความทุกข์ เดือดร้อน
พระพุทธองค์ได้ประทานโอวาทไว้ว่า “ถ้าเธอทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่พอใจของพวกเธอ ก็อย่าทำบาปกรรมทั้งหลายในที่ลับตาและที่แจ้ง” ในการทำความชั่วนั้นคนขลาดสรรเสริญ แต่นักปราชญ์ไม่สรรเสริญคนกล้าเลย สัตบุรุษทั้งหลายไม่ทำบาปเพราะกลัวต่อบาปนั่นเทียว ด้วยเหตุนี้ความชั่วทุจริตเป็นสิ่งที่ควรกลัว คนที่ทำความชั่วชื่อว่า “ของควรกลัวกลับกล้า”
ของสั้นสัญญาว่ายาว ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ชื่อว่าของสั้น เพราะจะเป็นอยู่ได้อย่างมากไม่เกินร้อยปี หากจะอยู่เกินนี้บ้างก็จะต้องตายเพราะชรา เมื่ออายุขัยแล้ว จะมีอันตรายของชีวิตมาตัดรอนหรือไม่ก็ตาม ชีวิตจะต้องแตกดับไปตามธรรมดาของมัน และในระหว่างความเป็นอยู่นั้น ชีวิตย่อมมีอันตรายรอบด้าน อาจจะแตกดับลงในขณะใดก็ได้ ท่านกล่าวว่า ชีวิตความเป็นอยู่ ๑ พยาธิความป่วยไข้ ๑ กาลเวลา ๑ ที่ทิ้งกาย ๑ คติวิถีชีวิตหรือภพชาติข้างหน้า ๑
ทั้ง ๕ นี้ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย จะให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้ คือ เราจะปรารถนาว่าจะมีชีวิตอยู่เท่านั้นเท่านี้ปี เวลาจะตายจะด้วยโรคภัยไข้เจ็บอย่างนั้นอย่างนี้ จะขอตายเวลานั้นเวลานี้ เดือนนั้นปีนี้ และจะปรารถนาว่าขอให้ตายที่นั่นที่นี่ ขอตายอยู่กับบ้านหลังนั้นที่เรือนหลังโน้น หรือดับชีพแล้วขอให้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นฟ้า หรือจะขออยู่กับคนโน้นคนนี้ เหล่านี้จะให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้ แล้วแต่กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้ ก็อะไรเล่าที่ทำให้ชีวิตล่วงไปหมดไป ท่านแสดงว่ากาลเวลาเป็นผู้ผลาญเป็นผู้ทำลาย กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวของมันเอง
ปอกมะพร้าวเอาปากกัด มะพร้าวเป็นผลไม้ที่มีลักษณะพิเศษกว่าผลไม้อื่นๆ คือเปลือกนอกมีกะลาแข็งหุ้มเนื้อและน้ำไว้ข้างใน การจะรับประทานน้ำมะพร้าวต้องปอก ต้องเจาะลงไปโดยลำดับ และการปอกการเจาะนั้นจะต้องใช้มีดใช้ขวาน เพียงแต่มือเปล่าหรือใช้ปากกัด ย่อมไม่อาจจะได้รับประทานเนื้อหรือน้ำมะพร้าวได้ ฉันใดก็ดี
คำว่ามะพร้าวนี้ท่านเปรียบเหมือนพระพุทธศาสนา นับแต่เวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วเป็นเวลา ๒๕๖๔ ปีพระพุทธศาสนาต้องผ่านอุปสรรคนานาประการ ย่อมจะมีเปลือกมีกะพี้ เข้าไปแทรกแซงอยู่เป็นธรรมดา ผู้นับถือศาสนาจะต้องเป็นคนหนักในเหตุผล ไม่เป็นคนเชื่อง่าย ถ้าไปยินอะไรที่เป็นเรื่องศาสนาแล้วเป็นคนเชื่อง่ายรับเอาๆ เหมือนคนเห็นมะพร้าวแล้วกระหาย อยากจะรับประทานน้ำ คว้ากัดเอาๆ ย่อมไม่ได้รับผล จะต้องพิจารณาหาเหตุผลให้ถ่องแท้แน่ใจ แล้วลงมือปฏิบัติตาม จึงจะได้รับผลสมปรารถนา
อีกประการหนึ่งเรื่องของพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องสักแต่ว่าพูดด้วยปาก หรือนับถือด้วยปากเท่านั้น เป็นเรื่องของการทำคือ การปฏิบัติ นักศึกษาศาสนา บางคนชอบค้นคว้าศึกษาในเรื่องศาสนา แต่ผลการศึกษาของเขาชอบข่มขู่คนอื่นด้วยโวหาร เรียนไว้เพื่อโต้ตอบ หาเรียนเพื่อนำไปปฏิบัติไม่ การนับถือศาสนาสำคัญอยู่ที่ลงมือปฏิบัติ การปฏิบัติเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา คนที่เชื่องมงายก็ตาม คนที่ดีแต่พูดก็ตาม ชื่อว่านับถือศาสนา ในข้อว่า “ปอกมะพร้าวเอาปากกัด”
อุ้มลูกอ่อนรัดไว้ไม่วาง คำว่า ลูกอ่อน หมายเอาลูกอ่อนตรงๆ ก็ได้ หรือหมายเอาอัตภาพทั่วไปของคนเราก็ได้ คำว่า อุ้ม หมายถึง การหลงรักจนผิดธรรมดาหรือเกินควร ความรักใดที่จะยิ่งกว่าความรักที่แม่ให้แก่ลูกเป็นอันไม่มี
ในมโหสถชาดกมีเรื่องเล่าว่า เทวดาตั้งปัญหาถามพระเจ้าวิเทหราชว่า “บุคคลประหารคนอื่นด้วยมือ ด้วยเท้า แต่กลับเป็นที่รักของผู้ถูกประหาร พระองค์เห็นใครเป็นที่รักของผู้ถูกประหาร”
มโหสถตอบแทนพระเจ้าวิเทหราชว่า ได้แก่ “บุตร” ยิ่งตบและยิ่งทึ้งผมบิดามารดา ก็ยิ่งเป็นที่รักของบิดามารดา
เทวดาถามว่า “ผู้ที่ชอบด่า แต่ไม่อยากให้ผู้ถูกด่าเดือดร้อน พระองค์ทรงเห็นว่าใครเป็นผู้ด่า” ตอบว่า ได้แก่ “บิดามารดา” คำว่าบุตรเท่าไร ก็ไม่อยากให้ประสบเหตุร้ายอย่างที่ตนด่า กลับทวีความรักในตัวบุตรยิ่งๆ ขึ้นไป
ตามความในปัญหา ๒ ข้อนี้ ชี้ให้เห็นว่า บิดามารดามีความรักในบุตรเพียงไร แต่ถ้าบิดามารดาใช้ความรักผิดคือ ตามใจบุตรจนเกินไป จะให้บุตรเล่าเรียน จะให้ทำงานก็กลัวบุตรจะลำบาก สู้อุตส่าห์ประคบประหงม แม้บุตรจะเจริญวัยใหญ่โตพอจะช่วยตนเองได้ ก็ไม่ยอมวางมือไม่วาย ที่จะเป็นห่วงอย่างนี้ เรียกว่ารักผิด โบราณท่านสอนว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี รักมีให้ค้า รักหน้าให้คิด รักมิตรให้เตือน” แปลว่ารักลูกจะต้องให้วิชาจรรยาแก่ลูก และสอนให้ลูกทำการงานเป็นด้วย นักปราชญ์ท่านสอนว่า “มีหลักที่ดีและถูกต้องข้อหนึ่งว่า ความช่วยเหลืออันดีที่สุด ที่พ่อแม่จะพึงให้แก่ลูกนั้น คือ สอนให้เขารู้จักช่วยตัวเอง”
ที่ว่า ลูกอ่อน หมายเอาอัตภาพร่างกายนั้น ขยายความว่า ร่างกายของเราแต่ละคนนั้น ไม่ผิดอะไรกับลูกอ่อน เราต้องบริหารรักษาอยู่ตลอดเวลา เริ่มแต่ตื่นนอนเป็นต้นไปคือ เราต้องล้างหน้า แปรงฟัน หวีผมแต่งตัว หาอาหารให้รับประทาน หาน้ำให้ดื่ม ถูกร้อนมากนักก็ไม่ได้ ถูกหนาวมากนักก็ไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังอันตรายนานาประการ ถ้าถึงคราวเจ็บไข้ได้ทุกข์ยิ่ง ต้องเพิ่มการบริหารยิ่งขึ้น อันการบริหารรักษาร่างกายนี้ ถ้าเป็นไปตามธรรมดาคือ บริหารรักษาพอให้ชีวิตเป็นอยู่ก็พอทำเนา บางคนทำด้วยความลุ่มหลงไม่พิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ มุ่งเพื่อความสวยงาม หรืออนุโลมตามสมัย ยิ่งกว่าความจำเป็นแก่ชีวิต
เช่น หนุ่มสาวสมัยใหม่บางคน อุตส่าห์หาเครื่องประดับให้ร่างกาย ไม่ว่าส่วนไหนของร่างกายตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ต้องเอาเครื่องวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยเพื่อตามสมัย เพื่อให้ทันฝรั่ง ไม่ต้องคำนึงถึงความหมดเปลือง และพิจารณาว่าจำเป็นแก่การครองชีพหรือไม่ ลักษณะอย่างนี้เป็นผลร้าย ยิ่งกว่ามารดาเลี้ยงลูกอ่อนเป็นไหนๆ ปัจจัยเครื่องอาศัยอันจำเป็นแก่ชีวิต ตามหลักทางพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ ๔ อย่าง คือเครื่องนุ่งห่ม ๑ อาหาร ๑ ที่อยู่อาศัย ๑ ยารักษาโรค ๑ ทั้ง ๔ อย่างนี้นับว่า จำเป็นที่สุดแก่ชีวิต นอกจากนี้ เป็นแต่เครื่องพิจารณา ให้รู้เท่าทันธรรมดาของมันคือ เป็นของไม่เที่ยงจะต้องสลายไปในที่สุด ไม่มีทุกข์ใดเสมอด้วยความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ด้วยเหตุนี้ ผู้เข้าใจผิดในขันธ์ ๕ ชื่อว่า “อุ้มลูกอ่อนรัดไว้ไม่วาง”
หลงทางไม่ถามไถ่ ทางกายเป็นสิ่งที่มองเห็นด้วยตา ไปด้วยเท้าหรือด้วยยานพาหนะเป็นต้น ทางใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไปด้วยความรู้สึกนึกคิด หรือด้วยความนับถือเชื่อถือ เป็นต้น การที่เราจะรู้ว่าทางไปทิศเหนือหรือทิศใต้และไปได้ใกล้ไกลแค่นั้นแค่นี้ ก็เพราะเราได้ยินได้ฟังจากคนอื่นหรือศึกษาจากตำรับตำราเป็นต้น เราจึงไปมาได้สะดวกไม่ผิดพลาด ถ้าเราไม่ทราบมาก่อน นึกอยากไปนั่นไปนี่ก็นึกเดาไปเอง อาจจะถึงจุดหมายปลายทางก็ได้ และขณะที่เดินทางก็ทำความไม่สะดวกใจ ทำความสงสัยให้ไม่รู้จักจบ
ถ้าสมมติว่าหลงทางมีคนพอที่เราจะถามได้ เราก็ไม่ถามอวดดื้อถือดี เดินไปตามความคิดเห็นของตนเอง ผลสุดท้าย ไม่ถึงจุดประสงค์ เราจะโทษทางหรือคนอื่นนั้นไม่ถูก มันเป็นความผิดของเราเอง ผิดตรงที่ว่า “หลงทางแล้วไม่ถาม” ทางกาย เราอาจหลงได้ฉันใด ทางใจก็ฉันนั้น และทางใจ ยังอาจหลงได้ง่าย และมีผลร้ายยิ่งกว่าทางกายเสียอีก ความหลงทางใจสำคัญกว่าความหลงทางกาย ความหลงทางกายก็เนื่องมาจากความเข้าใจผิดนั่นเอง
ความหลงทางใจนั้น เมื่อกล่าวโดยย่อมี ๓ คือ
บุคคลที่ตกอยู่ในความเห็นทั้ง ๓ นี้ชื่อว่า ผู้หลง ถ้าไม่ถามคือ ศึกษาหาความรู้และปฏิบัติแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีโอกาสประสบผลที่มุ่งหมายได้ นับวันแต่จะจมดิ่งลงไปสู่ความพินาศฉิบหายโดยลำดับ โอวาทคำสอนของท่านฟังแล้วพิจารณาเหตุผล ไม่เชื่ออย่างงมงาย เมื่อเห็นเหตุผลแล้วให้เริ่มลงมือปฏิบัติตามทันที ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเช่นนี้ถือว่า “หลงทางไม่ถามไถ่”
หนีจระเข้ใหญ่ไพล่ลงน้ำ หมายความว่า จระเข้เป็นสัตว์ประเภทดุร้าย และที่อยู่ของจระเข้ก็คือ น้ำ คนที่กลัวจระเข้ จะหนีจระเข้ แต่กลับวิ่งลงน้ำ เท่ากับวิ่งลงไปหาจระเข้อีก ไม่พ้นจระเข้ได้ฉันใด คนบางคน ก็ฉันนั้น
กล่าวคือ กลัวความทุกข์ ต้องการจะหนีความทุกข์ แต่ก็ยังก่อเหตุแห่งความทุกข์อยู่คือ ผู้ที่ไม่รู้จักเหตุแห่งความทุกข์นั่นเอง เช่น สำคัญความเกียจคร้าน ไม่ทำอะไรว่าเป็นความสุข สำคัญอบายมุขคือ กินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร ว่าเป็นทางแห่งความเพลิดเพลิน เป็นทางแห่งความเจริญ สำคัญการเบียดเบียนกันว่า เป็นทางแห่งความสุข เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์ ผู้สำคัญของที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ผู้สำคัญสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุขและผู้สำคัญสิ่งที่มิใช่ตัวตนว่า ตัวตนนั่นเอง
ต้องจองจำกลับยินดี โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เปรียบได้หลายอย่าง ที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็คือ โลกนี้เปรียบเหมือนโรงละครใหญ่ ความจริงโลกนี้คือ ตะรางที่สำหรับขังนักโทษอย่างใหญ่มหึมานั่นเอง แต่เหล่าหมู่มนุษย์สำคัญผิดคิดไปว่า การเกิดมาในโลกนี้เป็นความสุข พระพุทธองค์ตรัสว่า “โลกนี้ตั้งอยู่บนกองแห่งความทุกข์” โลกนี้เป็นสวรรค์สำหรับคนโง่ แต่มันเป็นนรกสำหรับคนที่รู้ความจริงของมัน แล้วคนที่เกิดมา ซึ่งเท่ากับตกอยู่ในกรงขังอันมหึมา และเต็มไปด้วยความทุกข์นานาประการ เช่น แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น
บางคนยังสร้างกรงและหาโซ่มาใส่ตัวเองอีก ถึงเช่นนั้นบางคนกลับพูดว่า “ดีเสียอีกที่เข้าอยู่ในคุกในตะราง บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ถ้าอยู่ตามธรรมดา ข้าวก็ต้องซื้อกิน บ้านก็จะต้องเช่าเขาอยู่ บางทีก็ยังหาไม่ได้เสียอีก” นี่เรียกว่า ต้องจองจำกลับยินดี อีกประการหนึ่งท่านกล่าวว่า การต้องจองจำด้วยเชือกโซ่เป็นต้น เป็นเครื่องจองจำภายนอกแก้ได้ง่ายและมีกำหนดเวลาพ้นโทษ ยังมีเครื่องจองจำภายในที่แก้ได้ยาก และไม่มีกำหนดพ้นโทษเมื่อไร เครื่องจองจำนั้นคือ ความรักความติดในทรัพย์สมบัติ ในบุตรภรรยาสามี ดังคำโคลงในโลกนิติว่า
มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ รึงรัดมือนา สามบ่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร
สู้ไพรีไม่หาอาวุธ ผู้ที่เป็นคู่เวรหรือเป็นข้าศึกศัตรูต่อกัน คอยหาโอกาส ทำลายล้างผลาญกัน ชื่อว่า ไพรี การที่บุคคลคิดจะสู้ไพรี เพื่อชัยชนะ แต่ไม่หาอาวุธหรือเครื่องมือไว้ป้องกันตัว จะเอาชนะไพรีได้อย่างไร ท่านกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า มีบุคคลมี ๔ คือ • ไม่บำเพ็ญประโยชน์แต่ริหากัลยาณมิตร • ไม่มีพรรคพวกยังต้องการเดินทางกันดาร
ความหวังของคน ๔ จำพวกนี้ นอกจากไม่อาจสมปรารถนา ยังกลับจะเป็นผลร้ายแก่ตนเองเสียอีก การสู้รบกับข้าศึกศัตรูภายนอกจะต้องเตรียมอาวุธไว้ฉันใด การปฏิบัติธรรมเพื่อนำชัยชนะมาสู่ตัว ก็ต้องเตรียมอาวุธไว้ฉันนั้น ทางธรรมท่านกล่าวว่า สัตว์โลกถูกรุมด้วยศัตรู ๔ เหล่า คือ • ถูกตัณหาก่อสร้างขึ้น • ถูกความตายสกัดขัดขวาง • ตั้งอยู่บนกองทุกข์ • ถูกชราห้อมล้อมไว้
รวมความว่า สัตว์โลกอยู่ในอำนาจของศัตรู ๒ จำพวก กล่าวคือ กิเลสคอยก่อกวนความสงบสุข ทำให้เร่าร้อนอยู่เสมอ ๑ ศัตรูคือ ความเจ็บและความตายคอยเบียดเบียนขัดขวางและตัดรอนทอนกำลังอยู่เสมอ ๑ อาวุธที่จะนำมาสู้รบกับศัตรู ๒ จำพวกนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้หลายอย่าง แต่ที่เป็นสาธารณะทั่วไปคือ ปัญญา ท่านทั้งหลายพึงรบมารด้วยอาวุธคือ ปัญญา ดังนี้ ด้วยเหตุนี้ ผู้จะรบศัตรู หรือมารในทางธรรมปฏิบัติ พึงเตรียมอาวุธ คือ ปัญญาไว้
ปัญญาที่จะได้มานั้นมีอยู่ ๓ ทาง คือ เกิดจากการได้ยิน ได้ฟัง หรือการศึกษาเล่าเรียน ๑ เกิดจากการคิดพิจารณา ๑ เกิดจากการอบรมคือ การทดลอง หรือปฏิบัติตามที่ได้ยิน ได้ฟัง และคิดพิจารณาแล้ว ๑ ผู้ที่จะเอาชนะกิเลสแต่ไม่แสวงหาปัญญาไว้ ชื่อว่า “สู้ไพรีไม่หาอาวุธ”
ไม่หยุดไม่ถึงพระ บรรดาปริศนาธรรมทั้ง ๑๒ ข้อสุดท้ายนับว่าเป็นข้อสำคัญ หรือเป็นหัวใจของปัญหาทั้ง ๑๑ ข้อนั้นก็ได้ เพราะปัญหาทั้ง ๑๒ ข้อที่กล่าวมาแล้ว โดยความมุ่งหมายก็เพื่อเป็นคติเตือนใจให้บุคคลละความชั่ว ให้ทำความดีหรือรวมความว่าให้หยุดจากความชั่วให้เข้าถึงพระ คำว่าพระในที่นี้หมายถึง พระธรรมพระวินัย อันเป็นตัวของ “พระพุทธศาสนา” นั่นเอง
ท่านแสดงเปรียบเทียบพระพุทธศาสนาว่า น้ำมหาสมุทรมาจากแม่น้ำสายต่างๆ แต่เมื่อว่าโดยรสแล้วมีรสอยู่รสเดียวคือ “รสเค็ม” เท่านั้น ฉันใดพระพุทธศาสนา เมื่อว่าโดยลักษณะคำสอนแล้ว ย่อมมีลักษณะวิธีต่างๆ แต่เมื่อว่าโดยรสแล้วมี “วิมุตติ” ความหลุดพ้นจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง ผู้ใดเข้าถึงขั้นหลุดพ้นโดยปริยายคือ โดยสิ้นเชิงไม่มีกิเลสที่จะก่อกวนให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นอีก นั่นคือ ความสงบ และนั่นคือ จุดหมายขั้นสุดท้ายของพระพุทธศาสนา ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ย่อมจะได้รับความสงบสุขอย่างแท้จริง ไม่กลับกลายเป็นความทุกข์อีก ผู้นั้นชื่อว่าเข้าถึงพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ ตรงกันข้ามกับผู้ที่กล่าวว่า นับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่หยุดคือ ไม่ละเว้นความชั่ว ผู้นั้นหาได้ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนา หรือเข้าถึงพระแล้วไม่พึงเห็นพระองคุลีมาล เป็นตัวอย่าง
มหาโจรองคุลีมาลฆ่ามนุษย์เสียมากต่อมาก จนจำไม่ได้ว่าจำนวนเท่าใด ต้องตัดเอานิ้วร้อย เป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่ออย่างนั้น วันหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จไปโปรด พอองคุลีมาลเห็นนึกแปลกใจ ที่พระสมณโคดมเสด็จมาแต่ลำพัง และนึกดีใจที่จะได้นิ้วมนุษย์มาร้อยเป็นพวงมาลัยเพิ่มขึ้นอีก จึงเดินรี่เข้าไปหา แม้จะพยายามก้าวเท่าไรก็ไม่ทัน ถึงกับวิ่งก็ยังไม่ทันอยู่อีก จึงได้ร้องตะโกนไปว่า “สมณะหยุดก่อน”
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากยังไม่หยุด” องคุลิมาลไม่เข้าใจ จึงทูลถามไปว่า “ท่านกำลังเดินอยู่แต่กล่าวว่าหยุดแล้ว ส่วนข้าพเจ้า ผู้หยุดแล้วแต่กลับกลายว่าไม่หยุด ท่านหมายความว่าอย่างไร”
พระองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนองคุลีมาล เราเลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายแล้ว เราวางศาสตราวุธแล้ว ส่วนท่านสิไม่สำรวมในสัตว์ เที่ยวเบียดเบียนล้างผลาญชีวิตสัตว์ เราจึงชื่อว่าหยุดแล้ว ท่านชื่อว่ายังไม่หยุด”
ทุกท่านทุกคนให้มีจิตสำนึก รับผิดชอบชีวิตของตนที่ประเสริฐที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราทุกคนมาจากกรรมเก่า มาจากพลังงาน มาจากความหลง ที่เป็นพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เราทุกคนถึงได้พากันเป็นอย่างนี้ ได้พากันเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ซึ่งเป็นวงกลมแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เกิดแล้วเกิดอีก ไม่รู้กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านชาติ เพราะมาจากความไม่รู้ พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ประเสริฐท่านเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร บำเพ็ญบารมีมาหลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านได้มาบอกมาสอน มาบอกแนวทาง ที่หยุดการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏฏะสงสาร ทุกท่านทุกคนถึงต้องมีจิตสำนึกว่าชีวิตของเรานี้ ต้องพากันหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีอะไรที่จะประเสิรฐกว่าที่เราต้องหยุดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏด้วยความตั้งอก ด้วยความตั้งใจ ด้วยการหยุดพลังงาน หยุดให้อาหาร
ทุกท่านทุกคนนั้นต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อยู่ที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง อยู่ที่ปัจจุบัน ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเรื่องหนทางอันประเสริฐ ๘ ประการที่สมบรูณ์ด้วยอัตถะและพยัญชนะ เราจะเป็นคนเก่ง คนฉลาด เป็นผู้มีปัญญา เป็นนักปรัชญานั้นไม่ได้ เราต้องก้าวไปไกลกว่านั้น คือต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าธรรมวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ ทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจ ต้องสมาทาน พร้อมทั้งประพฤติปฏิบัติ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ นี้คือไฟท์หยุดโลกหยุดวัฏฏะสงสารในปัจจุบัน เราทำเดี๋ยวนี้อย่างถูกต้อง พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องพูด เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มีในอนาคตก็ไม่มี ขึ้นอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติของเรา
ความสุข ความสะดวก ความสบายนี้มันเป็นมนุษย์สมบัติ พัฒนาไปเป็นสวรรค์สมบัติ ต่อไปก็เป็นพรหมสมบัติ เราต้องก้าวไปไกลกว่านั้น ระดับที่มีแค่คุณไม่มีโทษ เราต้องบริโภคทุกอย่างด้วยสติ ด้วยปัญญา พวกผัสสะทั้งหลายนี้ถือว่าให้เอามาเป็นเกณฑ์เป็นข้อวัตร ข้อปฏิบัติถึงจะเป็นไฟท์แห่งการประพฤติปฏิบัติ เราทุกท่านทุกคนต้องขอบพระคุณที่เรามีสังขารร่างกายที่ประเสริฐได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องเข้าใจอย่างนี้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนต้องมาประพฤติมาปฏิบัติ ความรู้ความเข้าใจนี้มันยังไม่เพียงพอ เราดูตัวอย่างแบบอย่างพระพุทธเจ้าท่านเสียสละทุกอย่างท่านถึงมีความสุข เป็นความสุขระดับสูง คือระดับพระอรหันต์ขีณาสพ ระดับพระพุทธเจ้า เราเป็นประชาชนก็เข้าถึงความเป็นพระได้ ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามี ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติย่อมได้ผลทุกคน เพราะมันเป็นอมตะ
เรารู้ที่ใจของเราทุกคนแล้วว่ารักอันไหน ชอบอันไหน เกลียดอันไหน เราต้องรู้จัก เราต้องตั้งใจต้องสมาทาน เพราะเราทุกคนมีสิทธิ์มีโอกาส กาลเวลามันผ่านมา เราถึงทำทั้งผิดทั้งถูก ทั้งดีทั้งชั่ว เราพากันเป็นได้แต่เพียงคน เรายังไม่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ทุกท่านทุกคนจะมาเอาอะไร เพราะทุกอย่างมันไม่ได้อะไร มันมีแต่ผ่านมาผ่านไป เราต้องพากันเข้าใจ เราจะได้ปฏิบัติตัวเองพัฒนาตัวเอง ความหลงนี้เรียกว่าไสยศาสตร์ หลงในตัวในตน ในความเอร็ดอร่อย ในลาภ ยศ สรรเสริญ เรียกว่าไสยศาสตร์ ยิ่งเราไปหลงในวัตถุเครื่องลางของขลังมันจะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเราหน่ะต้องพัฒนาให้ไปตามหลักเหตุ หลักผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ เราก็จะมีอยู่มีกินมีใช้ เหลือกินเหลือใช้ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ก็ถือว่าเรามีสัปปายะที่ประเสริฐแล้ว ธรรมะที่พระพุทธองค์แสดงก็เป็นธรรมะที่สัปปายะแล้ว เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนต้องรู้จักกาย รู้จักใจ เราจะว่ามีความทุกข์อย่างนู้น อย่างนี้มันไม่จริงหรอก อันนี้เป็นความหลงเฉยๆ เราจะมาหลงสุข มาหลงทุกข์ มันก็คืออันเดียวกัน คือความหลง คืออวิชชา อันนี้เป็นเพียงสังขาร ความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งมันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
มรรค ผล นิพพาน คือ สิ่งที่สูงที่สุด สิ่งที่ยอดที่สุด สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ที่ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องทำให้ได้ ไปให้ถึง เราอย่าพากันโง่ไปนาน มันไม่ดีเลย จะเสียโอกาสทองไป ให้พวกเรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติขัดเกลาเพื่อมุ่งมรรค ผล นิพพาน จะได้ไม่เสียโอกาสที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาชาติหนึ่ง เราต้องเข้าใจว่า ในอดีตที่ผ่านมาในการเวียนว่ายตายเกิด เคยเป็นมาทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเกิดเป็นผู้เป็นใหญ่ เกิดเป็นคนต่ำต้อย เกิดเป็นสัตว์ เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม เกิดแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเราจะมาเป็นอีก จะมาทำเพื่อสิ่งเหล่านั้นอีก ที่มันไม่ยั่งยืนเพื่ออะไร ต้องมาทำสิ่งที่เป็นแล้ว ถึงแล้ว ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป จบภพจบชาติ จบวัฏสงสารได้ นั่นคือพระนิพพาน ให้พวกเราเอาชีวิตที่เหลือนี้ในการมุ่งประพฤติปฏิบัติขัดเกลาเพื่อพระนิพพานจริงๆ จึงจะได้ไม่เสียโอกาสที่ได้เป็นมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง