แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๓ ผู้มีสติเท่าทันในปัจจุบันขณะ ย่อมไม่ถูกเวลากลืนกิน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์เราเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานจุดมุ่งหมายของมนุษย์คือพระนิพพานเรามาเดินตามรอยพระพุทธเจ้า เราจะไปตามใจของตัวเองไม่ได้ตามอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ตามความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ พวกท่านทุกคนต้องพากันสมาทานให้เอาธรรมะเป็นใหญ่ ธรรมะเป็นหลัก สมาทานไว้ในใจเลยว่าอันนี้เราจะไม่คิด อันนี้เราจะไม่พูด เราจะไม่ทำ คนเราต้องสมาทานตั้งใจตั้งเจตนาแล้ว ก็มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเอาธรรมเป็นใหญ่แบบนี้เขาเรียกว่า มีศีล มีธรรม มีปัญญา มีความสุขตั้งแต่เช้าจนถึงนอนหลับ
ความเคยชินของเราทุกๆคนนั้นมันมีมาตั้งหลายพบหลายชาติ เราตื่นมาก็ยังถือว่ามีลมปราณอยู่ยังมีลมหายใจ เราก็ยังมีโอกาสมีบุญมีวาสนาที่จะต้องได้ประพฤติได้ปฏิบัติ วันคืนที่ผ่านไปเป็นสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้ เพราะว่าเป็นอดีต อนาคตที่ยังมาไม่ถึงเราไม่สามารถปฏิบัติได้ ปัจจุบันนี้ชีวิตเราต้องมีแต่ศีลสมาธิมีแต่ปัญญา กราบพระไหว้พระสวมมนต์ ฝึกใจเรา ฝึกอานาปานสติ ฝึกหายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย ทำทุกอิริยาบถให้มีสมาธิ เราไปทำงานก็มีความสุขในการทำงาน เราปฏิบัติให้เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 เราเอาพระศาสนาเป็นที่ตั้ง ศาสนาก็คือพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์
ทุกคนจะเข้าถึงความเป็นพระ แล้วประชาชนก็จะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบันไปถึงพระอนาคามี พระภิกษุก็เป็นพระอรหันต์ เราก็เอาใหม่ปีนี้ปีนี้ตั้งใจจะให้ดี ปฏิบัติให้มันกระชับเข้ามาอีก เพราะว่าไม่มีใครประพฤติปฏิบัติให้เรา การประพฤติการปฏิบัติธรรมคืออาชีพอันเดียวกัน เราพัฒนาทั้งใจพัฒนาทั้งธุรกิจการงานไปพร้อมๆ กัน ลูกหลานญาติพี่น้องทุกคนต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน หายใจให้กันละกันไม่ได้เพราะพ่อแม่ก็เลี้ยงเราได้เพียงร่างกายทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติธรรมะจะได้ไม่มีปัญหา หยุดปัญหา อบายมุขอบายภูมิ ทุกคนต้องพากันรู้ให้ชัดๆ เพราะพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างแบบอย่าง เพราะพ่อแม่ทางร่างกายต้องเป็นแบบอย่าง ส่วนพ่อแม่ทางจิตใจต้องเป็นพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างแบบอย่าง
กาลเวลาที่เราทั้งหลายต้องประสบพบอยู่ตลอดเวลานี้ มีทั้งคุณและโทษ โดยขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง เหมือนกระจกเงาที่มี ๒ หน้า หน้าหนึ่งใส สะท้อนภาพได้ อีกหน้าหนึ่งทึบ กาลเวลาก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์สำหรับผู้ที่รู้จักคุณค่า และบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา โดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนาภาวนาซึ่งเหมือนกับเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งมรรคผลต่อไป
ส่วนคนที่ปล่อยกาลเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ มิได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน กาลเวลาก็เปรียบเสมือนพยัคฆ์ร้ายที่กลืนกินเขาไปทุกๆ ขณะ วินาทีกินนาที นาทีกินชั่วโมง ชั่วโมงกินวัน วันกินเดือน เดือนกินปี บุคคลที่หลุดพ้นจากการกลืนกินของกาลเวลาได้ มีเพียงพระอรหันต์เท่านั้น ผู้กระทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่พึงกระทำเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านจึงหลุดพ้นจากข้อจำกัดของกาลเวลา
พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ในมูลปริยายชาดกชาดก ว่า
“กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา โย จ กาลฆโส ภูโต ส ภูตปจินึ ปจิ. กาลเวลาย่อมกลืนกินเหล่าสัตว์ พร้อมทั้งตนเองโดยแท้ บุคคลใดเป็นผู้กลืนกินกาลเวลา บุคคลนั้นได้เผาตัณหาที่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ได้แล้ว”
ในสมัยหนึ่งมีสองสามีภรรยาต้องการจะเดินทางไปเยี่ยมญาติในต่างหมู่บ้าน จึงออกจากบ้านเดินทางไป พวกเขามิได้นำเสบียงกรังติดตัวไปเพราะคิดว่า จะเดินทางไปถึงในเวลาเช้า ในระหว่างทางพบทางสองแพร่ง จึงเดินไปทางแยกด้านซ้ายมือ พวกเขาเดินทางผิดอย่างนี้จึงหลงทางอยู่ในป่า ทั้งหิวกระหาย ทั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า สักครู่หนึ่งพบต้นไม้จึงไปนั่งพัก บังเอิญผลไม้หล่นมา พวกเขาไม่รู้ว่าต้นไม้นี้ชื่ออะไร ผลไม้เป็นอย่างไร คิดว่าจะเอาผลไม้เป็นเสบียงในระหว่างทาง พอพักหายเมื่อยแล้วจึงออกเดินทางต่อ คนหนึ่งเอาผลไม้ทูนหัวเดินไป คนหนึ่งแบกขึ้นบ่าไป เมื่อเดินสักระยะหนึ่งก็หิว จึงทุบผ่าผลไม้ แต่พบเพียงเปลือกหนา ไม่มีเนื้อหรือน้ำเลย ยิ่งเดินไปเรื่อยๆ แดดร้อนมากขึ้น พวกเขาเห็นพยับแดดก็สำคัญว่าเป็นน้ำ เมื่อวิ่งไปหาก็ไม่พบอะไร ตกค่ำลงได้ยินเสียงคำรามพวกเขาไม่ทราบว่าเป็นสัตว์อะไร ก็พบว่าเป็นเสือร้ายในที่สุดทั้งสองคนถูกเสือกิน ไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้สำเร็จ
ผู้ที่เดินทางอยู่ในสังสารวัฏบางคนก็เหมือนกับสามีภรรยาคู่นี้ คือ มิได้สะสมเสบียงคือทานในการเดินทางไกลอย่างเพียงพอ และเดินทางผิดที่เหมือนกับการไม่ประพฤติศีลอย่างหมดจด การไปพักใต้ต้นไม้ที่ไม่รู้จักชื่อ ก็เหมือนการเกิดในภพที่ตนเองไม่รู้จัก ไม่รู้คุณค่าของภพที่สั่งสมบารมีได้ ผลไม้ที่มีแต่เปลือกที่คู่สามีภรรยาทั้งแบกทั้งหามเป็นเวลานานเหมือนทรัพย์สมบัติและเกียรติคุณที่ชาวโลกยกย่องให้ความสำคัญ
เมื่อถึงเวลาใกล้ตายจึงรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แก่นสารในชีวิตของเรา เพราะติดตามไปสู่ภพหน้าไม่ได้ ส่วนการพบกับเสือร้ายเหมือนกับการตกไปในอบายภูมิอันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ได้รับความทุกข์ทรมานในภพเหล่านั้นเพราะการไม่ให้ทาน ไม่รักษาศีล และสำคัญสิ่งที่ไม่มีแก่นสารว่ามีแก่นสาร
กาลมีความหมายอย่างไร ตามที่ว่า กาลกินสรรพสัตว์ "พญายักษ์ตนหนึ่งนา มีตา ๒ ข้าง ข้างหนึ่งสว่าง ข้างหนึ่งริบหรี่ มีปาก ๑๒ ปาก มีฟันไม่มากปากละ ๓๐ ซี่ เคี้ยวกินสัตว์ทั่วปฐพี พญายักษ์ตนนี้คือ พระกาฬ"
ความจริงแล้ว พระกาฬที่บรรยายมานี้ เมื่อดูลักษณะทางกายภาพก็คือ กาล นั่นเอง เพราะตา ๒ ข้าง ข้างที่สว่างก็คือข้างขึ้น (สุกกปักข์/ศุกรปักษ์) ข้างที่ริบหรี่ก็คือข้างแรม (กาฬปักข์/กาลปักษ์) ปาก ๑๒ ปากก็คือ เดือน ๑๒ เดือน ฟันปากละ ๓๐ ซื่ คือ วัน ๓๐ วันของแต่ละเดือน
ความหมายของ กาล ที่แท้จริงคืออะไร ภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีธาตุคือรากคำ การทำความเข้าใจรากคำ จึงทำให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงได้
๑.๑ กาล มาจากรากศัพท์ กลุ (kal) มีความหมายว่า
ก. ทำให้เกิดการนับ หมายความว่า กาล คือ สภาพที่เป็นเหตุให้เกิดการนับจำนวนอายุ คือ ระยะเวลาแห่งการดำรงชีวิตอยู่ของสรรพสิ่ง โดยนับเริ่มจากขณะเป็นวินาที นาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน และปี
ข. ทำให้สิ้นไป หมายความว่า กาล คือ สภาพที่เป็นเหตุให้อายุหรือชีวิตของสัตว์สิ้นไป หรือทำอายุหรือชีวิตให้น้อยลงๆ ทุกวันๆ"
๑.๒ กาล มาจาก การ (kar) แปลว่า ทำ หมายถึง ทำให้เกิดการแบ่งเป็นกาลย่อย เช่น จากขณะเป็นวินาที นาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน และปี ดังกล่าวมาแล้ว และในแต่ละกาลย่อยนั้น ยังแบ่ง อดีต (ผ่านไปแล้ว) ปัจจุบัน (กำลังเกิดขึ้น) และอนาคต (ยังมาไม่ถึง) และกาลนั้นยังทำร่างกาย (หรือสิ่งที่เป็นรูปร่างตัวตน) ให้สิ้นสุดลงคือตายหรือแตกดับ"
๒. กินอย่างไร ในอรรถกถามูลปริยายชาดกมีกล่าวถึงการกินของกาลเวลาไว้ว่า " 'กาล' ได้แก่ กาล เช่น กาลก่อนกินข้าว กาลหลังกินข้าว กาลเหล่านี้ กิน สรรพสัตว์โดยไม่ได้ถอนอวัยวะในร่างกาย เช่น หนังเนื้อของสัตว์ทั้งหลายให้หลุด แต่กินโดยวิธีทำอายุ วรรณะ (ผิวพรรณ) และพละ (กำลัง, ความแข็งแรง) ของสัตว์เหล่านั้นให้สิ้นไป เหยียบย่ำความเป็นหนุ่มสาว ทำลายความไม่มีโรคให้กลายเป็นมีโรค" และยังสอดคล้องกับความหมายของ "เวลา" ที่มาจาก "วินาสํ ลาติ" แปลว่า "พาไปสู่ความพินาศ" ซึ่งขยายความว่า เวลาที่เดินหน้าล้วนไปหาความแตกดับหรือจุดจบของสถานการณ์
ใครกินกาลเวลาได้ พระพุทธโฆสะอธิบายว่า พระอรหันต์กินกาลเวลา โดยการทำกาลเวลาที่สัมพันธ์กับการเกิดใหม่ต่อไปให้จบสิ้นลงด้วยอริยมรรค" ก็หมายความว่า การกินของท่านก็คือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ จนกระทั่งเกิดวิปัสสนาญาณคือความเห็นตามความเป็นจริงไปตามลำดับขั้นว่าสรรพสัตว์ไม่เที่ยง ถูกความเกิดความตายบีบคั้นจนเกินวิสัยที่จะบังคับได้ จนกระทั่งเกิดมัคคญาณคือญาณละกิเลส และผลญาณคือญาณที่เป็นผลของมัคคญาณ การเกิดมัคคญาณคือการกินกาลเวลาอย่างสมบูรณ์ เพราะเป็นการทำลายได้หมดสิ้นซึ่งกิเลสที่เป็นต้นเหตุแห่งการเกิดใหม่ ผู้ที่กินกาลเวลา คือ พระอรหันต์ เพราะเมื่อละกิเลสคือตัณหาได้ ก็ละการเกิดใหม่ได้ เมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่มีกาลเวลามาผูกพัน พระอรหันต์เท่านั้นที่ทำได้อย่างนี้ ท่านจึงถือว่าเป็นผู้ที่กินกาลเวลา เป็นการตีกลับกาลเวลาที่กินสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง
พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนพระสาวกว่า "ขณะอย่าผ่านเลยเธอทั้งหลายไปเลย" และทรงอธิบายให้เห็นภาพว่า "มีผู้ที่ปล่อยให้ขณะผ่านเลยไปต่างเสียใจอัดแน่นกันอยู่ในนรก" ซึ่งก็ตีความได้ว่าพระองค์ไม่ต้องการให้พระสาวกของพระองค์ประมาทหรือขาดสติแม้ชั่วขณะเดียว เพราะการขาดสติแม้ชั่วขณะเดียวนั้นก็อาจเสียความดีได้ เนื่องจากเป็นช่องทางให้กิเลสและอกุศลจิตเกิดจู่โจมได้แม้ชั่ววูบ (อย่างที่เรามักได้ยินคนทำผิดชอบพูดเสมอว่า "เกิดอารมณ์ชั่ววูบ") ขณะมีความสำคัญในฐานะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างเกิดกับตาย เพราะสัมพันธ์อยู่กับจิต เป็นขณะของจิต และขณะจิตก็ยังสัมพันธ์กับชีวิต ขณะจิตมีเกิดและดับ เมื่อขณะจิตเกิดก็เท่ากับชีวิตเกิด เมื่อขณะจิตดับก็เท่ากับชีวิตดับ นี่แสดงว่า ขณะจิตแต่ละขณะคือขณะของชีวิต พระสารีบุตรพระสาวกรูปสำคัญของพระพุทธเจ้าเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตร่างกายสุขและทุกข์ทั้งมวลล้วนขึ้นอยู่กับขณะจิตเดียว ขณะย่อมผ่านไปเร็ว"
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ขณะซึ่งเป็นส่วนย่อยสุดของกาลเวลานั้นที่ผ่านเลยไปก็ทำลายชีวิตของสัตว์ไปด้วย แต่ทำลายแบบไม่ให้รู้ตัวคือปล่อยให้ปัจจัยที่ประชุมกันเป็นรูปธาตุนั้นดำเนินไปจนเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ ผลสุดท้ายแม้เราจะมองไม่เห็นตัวกาลเวลาในรูปของขณะที่กล่าวว่าเป็นผู้ฆ่าหรือทำลาย แต่ก็มีร่องรอยปรากฎให้เห็นทางรูปธาตุเป็นรูปธรรมคือความแก่กับความตาย แม้พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า "ความแก่และความตายไล่ต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลาย คล้ายนายโคบาลใช้ไม้ตีไล่ต้อนฝูงโคไปยังที่หากิน" ผู้
เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าต่างจากทรัพย์สินเงินทองตรงที่ว่า ทรัพย์สินที่สูญหายหรือหมดไปยังพอหาใหม่ทดแทนได้ แต่เวลาล่วงเลยไปไม่อาจนำกลับคืนมา ดังคำประพันธ์ที่ว่า
เวลาและวารี มิได้มีที่คอยใคร เรือเมล์และรถไฟ ก็ต้องไปตามเวลา
โอ้เอ้และอืดอาด มักจะพลาดปรารถนา พลาดแล้วจะโศกา อนิจจาเราช้าเอง
ผู้ที่ปล่อยเวลาล่วงเลยผ่านไปโดยไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ ถือว่าตกอยู่ในความประมาท เพราะไม่ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทที่สอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่า กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ แปลความว่า วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ บุคคลผู้ประมาทคือผู้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากสติ คำว่า สติ หมายถึงความระลึกรู้ ก่อนทำก่อนพูดและก่อนคิด หรือขณะทำ ขณะพูด และขณะคิด ผู้ประมาทปราศจากสติ แม้มีชีวิตก็เหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ พระพุทธองค์จึงเปรียบเทียบชีวิตของเขาว่าเหมือนคนที่ตายแล้ว ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า เย ปมตฺตา ยถา มตา แปลความว่า ผู้ประมาท เหมือนคนตายแล้ว
พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง กาลเวลาว่าสัมพันธ์อยู่กับสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งทั้งหมดไม่ว่าสิ่งที่ถูกปรุงแต่งนั้นจะเป็นอะไร เล็กหรือใหญ่ สวยงามหรือไม่สวยงาม มีค่าน้อยหรือมีค่ามาก เป็นของมนุษย์หรือของเทวดา ความสัมพันธ์เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ถูกปรุงแต่งนั้นเกิดขึ้นมา แต่อาจยังไม่ชัด จะชัดก็ต่อเมื่อสิ่งที่ถูกปรุงแต่งนั้นมีความแก่ ความเสื่อมสลาย และความแตกดับปรากฏ ซึ่งแสดงว่าได้เกิดและดำรงอยู่มานาน กาลเวลายังถูกใช้ไปในการกำหนดขอบเขตการดำรงอยู่ของสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งให้ออกมาในรูปของเท่านั้น ขณะเท่านั้น วินาทีเท่านั้น นาทีเท่านั้น วันเท่านั้น เดือนเท่านั้น และปีเท่านั้น โดยมีคืนและวันเป็นกรอบใหญ่ สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งครอบคลุมถึงสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง กาลเวลาไม่มีรูปร่างตัวตน
แต่เมื่อถูกมองว่ากินสรรพสัตว์และสรรพสิ่งได้จึงถูกสร้างให้เป็นรูปธรรม มีตัวตนอย่างที่พบในคติความเชื่อของศาสนาฮินดู แต่พระพุทธศาสนาก็อธิบายได้ชัดเจนว่ากาลเวลาที่ไม่มีตัวตนแต่กินสรรพสัตว์และสรรพสิ่งด้วยการปล่อยให้ทั้งสรรพสัตว์และสรรพสิ่งค่อยๆ เสื่อมสลายไปและแตกดับไปในที่สุด หลังจากสรรพสัตว์และสรรพสิ่งแตกดับแล้ว กาลเวลาก็ยังดำเนินและสัมพันธ์กับสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งใหม่ๆ ต่อไปไม่รู้จบ โลกนี้จึงยังมีขณะ วินาที นาที ตลอดไปถึง วัน เดือน ปี ไม่มีที่สิ้นสุด
สรรพสัตว์และสรรพสิ่งเมื่อเกิดมาในโลกนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าย่อมพบกับความสิ้นสุดตามกาลเวลา เพราะการเกิดทำให้ตกอยู่ในกรอบของกาลเวลา ดังนั้น กาลเวลาจึงเป็นตัวกำหนดลักษณะของสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งทั้งหมด ในพระพุทธศาสนา มีคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า อกาลิโกอันเป็นคุณศัพท์บทหนึ่งของคำว่า ธัมโม แปลว่า ธรรมหรือความจริงที่ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา และอธิบายว่า ธรรมดังกล่าว คือ มรรคผลนิพพาน ซึ่งก็หมายความว่า การบรรลุหรือการเกิดของมรรคผลนิพพานในจิตของผู้เข้าถึงความจริงไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลาคือ เช้าสายบ่ายเย็น กลางวัน หรือกลางคืน ทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ กาลเวลาเหล่านี้ไม่มีอิทธิพลมาตีกรอบการเกิดของธรรมดังกล่าว หากองค์ประกอบที่สนับสนุนการบรรลุพร้อมเมื่อใด การบรรลุธรรมดังกล่าวก็เกิดได้เมื่อนั้น หรือหากจะกล่าวว่ากาลเวลามามีส่วนสัมพันธ์ ก็สัมพันธ์อยู่กับตอนที่สั่งสมบ่มเพาะองค์ประกอบเหล่านั้นก่อนที่จะบรรลุอย่างที่เรียกว่าบำเพ็ญบารมีเท่านั้น ซึ่งอาจจะกินเวลาเป็นกัปหรือเป็นอสงไขยกัป แต่เมื่อถึงขั้นของการบรรลุแล้ว กาลเวลาก็ไม่สามารถมามีอิทธิพลได้
อนึ่งยังมีกล่าวถึงนิพพานว่าเป็น กาลวิมุต แปลว่า พ้นจากกาลเวลา ซึ่งก็หมายความว่า สภาวะของนิพพานเองไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลาในด้านต่างๆ ไม่มีขณะวินาที นาทีที่ดำเนินต่อไปเป็นชั่วโมง วันเดือนปีในสภาวะนั้นไม่มีสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งเกิดปรากฏ จึงไม่มีเกิดแก่เจ็บตาย ท้ายสุดก็คือ ไม่มีอะไรนอกจากความว่างเปล่า และผู้ที่บรรลุมรรคผลนิพพานนี้แหละที่จัดเป็นผู้กินกาลเวลา
แต่ถ้ายังบรรลุไม่ได้ก็จะถูกกาลเวลาฆ่าร่ำไปไม่สิ้นสุด เพราะกาลเวลาคือนักฆ่าผู้ยิ่งใหญ่อย่างที่กล่าวมาแล้ว
แม้เราจะต้องยอมจำนนกับกาลเวลามาตลอด แต่ก็คงมีหลายท่านที่ต้องการชนะกาลเวลา จริงอยู่ทางกายภาพเราเอาชนะไม่ได้เพราะธาตุ ๔ ที่มาประกอบเป็นร่างกายของเราถูกกาลเวลากำหนดให้มีอายุจำกัด แต่เราสามารถเอาชนะทางใจได้โดยฝึกใจให้เกิดมรรคผลตามทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ และสัมมาสติเป็นมรรคสำคัญข้อหนึ่งสำหรับการเริ่มต้นจะกินหรือเอาชนะกาลเวลา เมื่อสติจับขณะปัจจุบันจนกระทั่งเกิดปัญญาละกิเลสได้ก็จะมีแต่ขณะปัจจุบันให้เราใช้ชีวิตอยู่
ชีวิตเรามีแต่รู้ทันปัจจุบัน อันเป็นการรู้ทันที่ครอบคลุมทั้งอดีต อนาคต โดยไม่ต้องโหยหาอดีต ไม่ต้องไขว่คว้าอนาคต เพราะไม่มีกิเลสเข้าปรุงแต่ง อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ปฏิบัติตามดูกาย...เวทนา...จิต...ธรรม อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรเผากิเลสจนกระทั่งละความยินดียินร้ายในโลกได้" และว่า ผู้ปฏิบัติตามดูกาย...เวทนา...จิต...ธรรม ทั้งภายในตนและนอกตน (ของตัวเองและของคนอื่น) จนเห็นทันความเกิดดับ มีสติ (รู้ทันขณะปัจจุบัน) ตั้งมั่นว่า กาย...เวทนา...จิต...ธรรม มีอยู่ แต่ก็ตั้งมั่นเพียงเพื่อรู้ เพื่อระลึกทันเขาอยู่โดยไม่ให้ตัณหา (ความอยาก) และทิฏฐิ (ความเห็นผิด) อาศัยและไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก"
นี้แหละคือวิธีฆ่ากาลเวลา ส่วนท่านผู้บรรลุมรรคผลนิพพานตามวิธีนี้แหละคือผู้ฆ่ากาลเวลา.
ทุกท่านทุกคนเป็นผู้ที่ประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเราปล่อยไปตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกของตัวเอง ก็จะเป็นได้แต่เพียงคน หลงไปเรื่อย ที่เรามีปัญหาก็เพราะปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ไม่สมบูรณ์ มรรค ๘ ที่ไม่สมบูรณ์ก็เหมือนกับร่างกายของมนุษย์ที่ไม่ครบอาการ ๓๒ มรรค ๘ ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่เห็นความสำคัญในอริยมรรคแต่ละข้อในการประพฤติปฏิบัติ รู้ว่าอันนี้ไม่ดี ก็อย่าไปคิด รู้ว่าคำนี้ไม่ดี ก็อย่าไปพูด รู้ว่ากรรมนี้ไม่ดี ก็อย่าไปทำ นี่คือยังประมาทอยู่ เพลิดเพลินอยู่ ยังตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก นี่แหละคือ ยังประมาทเพลิดเพลิน ตัตระ ตัตราภินันทินี คือ เพลิดเพลินกับความเคยชินกับความหลงที่กรรมเก่าทำซ้ำๆ กันมาจนเคยชิน อริยมรรคของเรา ถ้าไม่ครบถ้วน มันก็จะไปแก้แต่ปัญหาภายนอก แก้ไขแต่ปัจจัย ๔ ไปแก้ไขแต่คนอื่น ไม่ได้แก้ไขตนเอง
ความเป็นจริง เราต้องขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ โลกก็เป็นอย่างนี้แหละ มีทั้งหนาว ทั้งร้อน มีทั้งฝน มีทั้งแล้ง มีทั้งคนดีคนชั่ว มีทั้งคนเก่งคนฉลาด มีสารพัดปัญหา สารพัดอย่าง เราเกิดมาเพื่อมารู้จักรู้แจ้ง เพื่อแก้ไขใจตนเอง เพื่อประพฤติปฏิบัติให้มรรคสมบูรณ์
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ปฏิบัติถูกต้อง ไปพร้อมๆ กัน ความผิดถูก มันก็เป็นครูเป็นผู้สอนให้แก่เรา ปัจจุบันเราจึงต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ชีวิตเราไม่มีคำว่าสาย เราอย่าไปเจ็บปวด ให้เป็นบทเรียน บทศึกษา ต้องกลับมาแก้ไขกลับมาประพฤติปฏิบัติ เราต้องเห็นความสำคัญ ความประเสริฐของการปฏิบัติ เน้นความสุข เน้นฉันทะความพอใจในการปฏิบัติในปัจจุบัน
ต้องให้อวิชชาคือความหลงมันทำงานไม่ได้ แล้วจะมีทุกข์จากไหน ต้องกลับมาหาสัมมาสติสัมมาสมาธิ ที่เป็นปัจจุบัน เราทุกคนถึงมีความสุข ถึงความดับทุกข์ในท่ามกลางความขัดแย้ง ความวุ่นวาย ปัญหามากมาย ในสังสารวัฏ ทั้งในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก อะไรมีความสุข? ใจมีความสุข ใจที่ไม่วุ่นวาย ใจที่ไม่ปรุงแต่ง จึงมีความสุขอย่างยิ่ง
โลกนี้ก็เหมือนกับการเดินหมากชีวิต ดังที่ว่า จะเดินหมากรุกยังต้องคิด เดินหมากชีวิตจะไม่คิดได้อย่างไร เหมือนเขาโยนฟุตบอลมาให้เรา ถ้าเราไม่เตะก็เล่นไม่ได้ ก็ทำงานไม่ได้ อายตนะภายนอกอายตนะภายในมาสัมผัสกระทบกัน ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง กลิ่นได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มชิมรส กายถูกต้องสัมผัส และใจรับรู้อารมณ์ต่างๆ เราต้องรู้แจ้งด้วยปัญญา แล้วไม่ต้องวุ่นวายไปกับมัน คนเราน่ะ ปรบมือข้างเดียวมันไม่ดังหรอก หากเรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เข้ามากระทบ อารมณ์เหล่านั้นก็ทำอะไรเราไม่ได้ เหมือนตบมือข้างเดียวที่ไม่ดัง แต่ถ้าไปมีส่วนร่วมไปผสมโรง ไปคิดปรุงแต่งไหลไปกับมัน ก็เหมือนกับการปรบมือสองข้าง
เราเกิดมาเพื่อมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์อยู่ในใจ จะได้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น เราดูโลกภายนอกสิ ที่เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ที่คิดว่า การจะได้ทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกมันเป็นสุดยอด มันเหมือนกับแมลงเม่า ที่ชอบใจในแสง ในสี แต่หารู้ไม่ว่าภายหลังแสงสีนั้นคือความร้อนที่ต้องเผามันตาย เหมือนกับคนที่ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ แล้ววิ่งเข้าไปหาอบายมุข วิ่งเข้าไปหาความสุขที่ไม่ถูกต้อง สุดท้ายก็ต้องโดนเผาผลาญ แผดเผาให้ตายอยู่ในวัฏสงสารเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ เหมือนทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ คนโลภคนหลงก็ไม่อิ่มเต็มด้วยตัณหา คือ ความทะยานอยาก
ดังนั้นเราจะไปทำตามใจตนเองได้อย่างไรกัน? ทุกคนต้องมาเสียสละปล่อยวางกลับมาหาความสงบ นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสุขใดๆ ก็ไม่สู้ความสงบระงับด้วยปัญญาในปัจจุบัน นี่แหละคือ พรหมจรรย์ของเรา นี่แหละคือ การประพฤติปฏิบัติของเรา
เราทุกคนต้องมีความสุขมีความพอใจ มีศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นให้เราพัฒนาจิตใจให้มีปัญญา เมื่อเรามีปัญญาแล้วเราทุกคนก็จะมีความสุข ถ้ามีความสุขแล้วก็ต้องมีปัญญาเพื่อเราจะไม่หลง ไม่เพลิดเพลิน ตั้งอยู่ในความประมาท การประพฤติการปฏิบัติธรรม เราต้องปฏิบัติทั้งวันทั้งคืนนะ เหมือนกับเราหายใจเข้าหายใจออก เราต้องหายใจเข้าหายใจออกทั้งวันทั้งคืน เราถึงจะมีชีวิตอยู่ เราถึงจะไม่ตาย การปฏิบัติธรรมกับการทำงาน ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชีวิตของเรานั้นนะทุกอย่างคือการปฏิบัติธรรม ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจอย่างนี้ เราเกิดมาเพื่อมีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในความขยัน รับผิดชอบ มีความสุขในความอดทน มีความสุขในการไม่ทำตามใจตามอารมณ์ เราทำทุกอย่างปฏิบัติทุกอย่าง เราต้องมีความสุขมีปัญญาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่านี้คืออริยมรรคมีองค์แปดประการ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ต้องมีอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปดเท่านั้น สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้แก่ พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์
ที่เราทำวัตรเช้าวัตรเย็นนั่งสมาธิวิปัสสนานั้นมันยังไม่เพียงพอ เราต้องเอาการประพฤติการปฏิบัติมาแทรกเข้าในธุรกิจหน้าที่การงาน เพื่อการดำเนินชีวิตของเรานั้นจะได้สมบูรณ์แบบ มันจะได้เป็นปัญญาธรรมชาติ สมาธิธรรมชาติ ความขยันธรรมชาติ ความอดทนธรรมชาติ ที่เราไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนาตอนเช้าตอนค่ำมันเป็นการเสริมให้การประพฤติการปฏิบัติของเรานั้นหนักแน่น แข็งแรง มีสติปัญญาแหลมคม ชัดเจนขึ้น แต่การประพฤติการปฏิบัติของเรานั้นต้องปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน
ถามว่า ปฏิบัติทั้งวันทั้งคืนมันจะไม่เป็นโรคเครียดโรคจิตโรคประสาทเหรอ? เพราะเราไม่ได้กินไม่ได้เล่นไม่ได้เที่ยวน่ะ
ตอบ... ไม่เป็นโรคประสาทนะ เพราะเรามีความสุขใจมีความสบายใจทั้งวันทั้งคืนมันจะเป็นโรคประสาทได้อย่างไร ยิ่งเราประพฤติปฏิบัติไปทั้งวันทั้งคืนเราก็ยิ่งชำนิชำนาญ จิตใจของเราก็เบิกบาน มีความสุขตลอดกาลตลอดเวลา เหมือนพระพุทธเจ้าน่ะ พระพุทธเจ้านั้นท่านมีความสุขท่านมีปัญญา ตั้งแต่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจนเสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพาน ท่านเข้าถึงวิมุตติสุขทั้งวันทั้งคืน คนเรานะ ถ้ามีปัญญา เราถึงจะมีความสุข มีความสุขถึงจะมีปัญญา ถ้าใจของเรามีความสุขมีปัญญาแล้วมันจะหล่อเลี้ยงสมองเรา หล่อเลี้ยงสรีระร่างกายของเรา มันจะได้ซ่อมแซมสมอง ซ่อมแซมร่างกายไม่ให้สึกหรอเร็ว ถ้าเรามีความสุขน่ะ โรคภัยไข้เจ็บมันก็ไม่มี ร่างกายก็แข็งแรง อายุก็ยืน ทำอะไรก็เจริญก็รวยก็เฮง
จะเห็นได้ว่าการเกิดเป็นมนุษย์ได้พบกับพระพุทธศาสนามีคุณค่าเป็นอันมาก ทำให้เรามีสติรู้จักคุณประโยชน์ของกาลเวลา และสามารถประพฤติปฏิบัติธรรม คือ ทาน ศีล และภาวนา อันเปรียบเหมือนร่มใหญ่ที่กางกั้นน้ำฝนในฤดูฝน ทำให้ไม่เปียกน้ำได้รับความทุกข์ในขณะฝนตก
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ฉตฺตํ มหนฺตํ ยถ วสฺสกาเล
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี.
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ดุจร่มใหญ่ในฤดูฝน ข้อนี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ