แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๒ พัฒนาสติให้เจริญขึ้นโดยลำดับ เพื่อหยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกๆ คนนั้นย่อมรู้ตัวเอง ตัวเองหนาว ตัวเองร้อน ตัวเองสุข ตัวเองทุกข์ ตัวเองชอบ ตัวเองไม่ชอบ ตัวเองดีใจ ตัวเองเสียใจ เมื่อรู้ตัวเองแล้ว พระพุทธเจ้าให้เราแก้ตัวเอง เพราะเราไม่ต้องไปแก้ที่คนอื่น การจะแก้ตัวเองนั้น ต้องตั้งใจ ต้องสมาทาน สมาทานแล้วเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าศีล มีความตั้งมั่นหนักแน่นไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยเรามีปัญญา มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ว่าเราต้องเสียสละ ว่าเราต้องหยุด เพราะว่ามันเป็นพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ทุกท่านทุกคนต้องพากันรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คนเราต้องเข้าสู่การสมาทาน เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ต้องใช้เวลาหลายเดือน ไก่ฟักไข่นั้นใช้เวลา ๓ อาทิตย์ถึงจะออกลูกมาเป็นตัว เราสมาทานเราต้องใช้เวลานับแรมเดือน พระพุทธเจ้าบอกว่า ผู้ที่เร็วนั้น ๗ วัน ผู้ที่กลางนั้น ๗ เดือน ผู้ที่ช้าสุดนั้นไม่เกิน ๗ ปี ทุกท่านทุกคนนั้นต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกท่านทุกคนอย่าไปอาลัยอาวรณ์ อย่าไปสีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีล ข้อวัตร ข้อปฏิบัติ เราจะได้เป็นผู้งามในเบื้องต้นคือศีล งามในท่ามกลางคือความตั้งมั่น คือสมาธิ งามที่สุดคือปัญญา ชีวิตของเรานั้นเจริญงอกงามด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก มันเศร้าหมอง มันไม่สง่างาม พระพุทธเจ้าบอกว่าผู้มีศีล คือผู้ที่สง่างาม ผู้ที่มีสมาธิมีความตั้งมั่น คือผู้ที่สง่างามยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้ที่มีปัญญา เสียสละ สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ ที่ดีใจ เสียใจ สุขทุกข์ ไม่เข้าไปปรุงแต่ง ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้ ถ้านอกจากนี้มันเป็นอบายมุข อบายภูมิ
เรานี้ประเสริฐขนาดไหนที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์หน่ะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้บำเพ็ญพุทธบารมีมาหลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ธรรมะมันก็สัปปายะอยู่แล้ว การประพฤติการปฏิบัติเรียกว่าหนทางเดินคืออริยมรรค ทุกท่านทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ประสบกาณ์ที่ผ่านมา เราก็รู้จักว่าตัวเองมันติดอันไหน มันหลงอันไหน เราเป็นคนจริตยังไง ทุกท่านทุกคนต้องพากันไปแก้ที่ตัวเอง เรามาเอาความสุขในกาม รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่เราทำตามหลักวิทยาศาสตร์นี้มันก็ไม่เกินร้อยปี เราก็ต้องจากโลกนี้ไป พระพุทธเจ้าถึงให้เราพัฒนาทางสายกลาง พัฒนาวิทยาศาสตร์ และพัฒนาใจไปพร้อมกัน สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทุกท่าน ทุกคนต้องพากันแก้ที่ตัวเองนะ ไม่มีใครแก้ให้เรา ไม่มีใครประพฤติปฏิบัติให้เรา
เวลาปัจจุบันนี้มีค่า มีราคาสำคัญมากที่สุด มันเป็นไฟท์แห่งการหยุดวัฏฏะสงสาร ไฟท์แห่งการหยุดโลก ทุกท่านทุกคนก็จะมีแต่ความสุข มีแต่ความดับทุกข์ ไม่มีใครมาจนให้เรา มารวยให้เรา ไม่มีใครมาให้เราบรรลุธรรมหรือตกนรกให้เรา ทุกอย่างมันอยู่ที่เราเอง เราต้องพากันมาประพฤติปฏิบัติ เราจะได้มีแต่ความสุข ความดับทุกข์ เราจะได้ไม่มาหลงในขยะ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ อาหารสิ่งที่มันอร่อยต้องเสียสละ เราต้องขอบใจสิ่งต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เราได้ฝึกใจ พัฒนาใจ ให้เราได้สมาทาน ให้เราได้ตั้งมั่น ได้ประพฤติปฏิบัติ
ทุกท่านทุกคนต้องรู้จัก พากันจัดการตัวเอง ถึงจะทุกข์ยากลำบาก สิ่งที่ว่ายากลำบากมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา มันคืออวิชชา ความหลง มันติด มันยึด มันถือ มันไม่อยากละ ไม่อยากปล่อย ไม่อยากวาง เราต้องรู้จักว่า เราต้องอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา สิกขาบทน้อยใหญ่ เราไม่ใช่เป็นมนุษย์ฉลาดอย่างเดียว เราต้องเป็นมนุษย์ที่เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เราจะได้เข้าถึงศาสนา ศาสนาทุกศาสนามันก็คืออันเดียวกัน คือธรรมะ คือกฎแห่งกรรม กฎแห่งเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี เป็นภาษาบาลีเรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา
ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจ ต้องพากันปฏิบัติอย่างนี้ เราอย่ามาถือแบรนด์เนมความเป็นมนุษย์นะ เราไม่ได้เป็นมนุษย์เป็นได้แต่เพียงคนนะ ทำทั้งดีทั้งชั่วทั้งผิดทั้งถูก อันนี้มันวนไปวนมาเขาเรียกว่ามันเป็นวงกลม มันไปไม่ได้ เรียกว่า “วัฏฏะ” พระพุทธเจ้าถึงให้เราสงสารตัวเอง ถ้าเราไม่สงสารตัวเอง ใครจะมาสงสาร เราต้องเข้าใจ ถ้าเราไม่กรุณาตัวเองใครจะกรุณา เราต้องนำตัวเองเข้าสู่ความดับทุกข์นะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้ทำที่สุดแห่งความทุกข์ เรียกว่า พรหมจรรย์ เราพากันใช้ศัพท์ว่า ความสุขๆ เพราะเราติดในความสุข ที่แท้จริงคือที่สุดแห่งความทุกข์นะ เราต้องมาหยุดความทุกข์ของเรา ความดับทุกข์ของเรา เราต้องเข้าใจ
เมื่อวานมีการบวชพระ บวชพระนี้มันดีที่สุด ทำไมถึงดีที่สุด เพราะว่าเราต้องสมาทาน เราติดอันไหน เราก็ต้องสมาทาน สมาทานยังไม่พอ ต้องประพฤติปฏิบัติ ให้มันติดต่อต่อเนื่อง เพราะเราทุกคนมันติดสุข ติดสบาย พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ถึงเป็นการช่วยเราเพื่อให้เราเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ไม่ใช่รู้แค่ปัญญาอย่างนี้ เราก็เข้าใจว่าบวช คือ หยุดตัวเอง อบรมบ่มอินทรีย์ตัวเองเพื่ออันนี้ไม่ดีไม่คิด อันนี้ไม่ดีไม่พูด อันนี้ไม่ดีไม่ทำ เรียกว่าเราหยุดมีเซ็กส์ทางความคิด มีเซ็กส์ทางอารมณ์ เราจะได้บวชทั้งกายและบวชทั้งใจ บวชอันนี้ถึงเป็นบุญใหญ่เป็นอานิสงส์ใหญ่ การให้ทานอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องภายนอก การประพฤติปฏิบัติ การหยุดใจ ไม่คิด ไม่ตาม เขาเรียกว่าหยุด เพราะการคิดไปอย่างนี้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างน้อยก็เป็นอาบัติทุกกฎ อย่างมากจะลามปามไปอาบัติใหญ่ขึ้นอีกจนคุมตัวเองไม่อยู่ จนขาดจากความเป็นพระ ทุกท่านทุกคนต้องรู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ เราจะได้หยุดใจของตัวเอง หยุดอารมณ์ของตัวเอง
ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ประการหนึ่ง ไม่รู้เพราะโมหะ เพราะติดความอร่อยในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องปรับใจเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เรียกว่า พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ พระพุทธเจ้าดีมาก ท่านช่วยเราทุกอย่าง เหมือนที่เราเห็นพระที่อยู่ในประเทศไทยของเรา หรืออยู่ทุกประเทศ มันไปไม่ได้เพราะไม่ได้สมาทาน สิกขาบทน้อยใหญ่และไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทำให้เสียเศรษฐกิจ การบวชถึงเป็นสิ่งที่ดีมาก บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ เขาเอาของมาให้แล้วยังมากราบมาไหว้ พระพุทธเจ้าถึงให้เราเสียสละหมด ไม่ให้เก็บข้าวของ เงินทอง ไม่เก็บอะไร ไม่กักตุนอะไร ต้องเสียสละให้มันเป็นศูนย์ ให้มันไม่มีอะไร เราถึงจะเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เราถึงจะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา
ทุกท่านทุกคนอย่าไปใจอ่อน ต้องพากันเสียสละ เพราะความขี้เกียจ ขี้คร้าน มันมีกับเรา ครูบาอาจารย์ถึงให้เราพากันตื่นตั้งแต่ตี ๒ เพื่อละความขี้เกียจ ขี้คร้าน ละตัวละตน ทำข้อวัตรเพื่อฝึกใจของเราเป็นผู้ที่เสียสละ เราดูแล้วพระพุทธเจ้านี้ดีมาก ประเสริฐมากเพื่อให้เราฝึกละตัวละตน เพราะความขี้เกียจขี้คร้านกับตัวตนนี้มันอันเดียวกัน เราจะมาเดินกางท้อง กางพุงไม่ได้ เรามาตามอัธยาศัยไม่ได้ เพราะคนเราจะพูดอะไรก็มองหน้ากัน กลัวจะกระทบกระเทือนใจกันเพราะทุกคนไม่อยากแตะต้องกิเลสของตัวเอง ไม่อยากแตะต้องกิเลสของคนอื่น มันไม่ถูกต้องนะ ทุกท่านทุกคนต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด จึงต้องพากันเสียสละ
ทุกคนก็ทานอาหารทุกวัน ฉันอาหารทุกวันก็พากันแก่ขึ้นทุกวัน เราจะไปเอาอะไรอีก บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราก็ตายหมด บางคนแก่แล้วก็เตรียมตัวตายแล้ว ทุกคนจะไปก๋าไปกร่างไม่ได้ เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติ เพราะทุกท่านทุกคนต้องพากันจัดการตัวเอง คนที่เรียนหนังสือไม่เก่งก็ต้องอ่านหลายรอบ คนที่ขี้เกียจ ขี้คร้านก็ต้องขยัน ทวนกระแสมันต้องคิดนะ เราอย่าไปว่าอันไหนก็ทำแต่อันเก่า ก็อันเก่ามันยังไม่ลุล่วง ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่ได้เป็นพระขีณาสพก็ต้องทำเหมือนเก่านี้แหละ ถ้ามันหมดกิเลสแล้ว มันก็ไม่มีปัญหา นอกจากว่า สั่งสอนคนอื่น เราต้องทำอย่างนี้ เราอย่าไปเบื่อ เบื่อมันก็เป็นความคิด เป็นอารมณ์ เป็นอวิชชา เป็นความหลง เราต้องเสียสละ ให้เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม
เป้าหมายชีวิตของมนุษย์ มักจะมีผู้สงสัยและตั้งคำถามกันว่า "คนเราเกิดมาทำไม" แต่เมื่อถามคำถามนี้ออกไปแล้ว ก็ไม่สามารถหาคำตอบ ที่ทำให้รู้สึกพอใจได้ ในที่สุดก็มักจะมีคำตอบในทำนองว่า ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะถามคำถามที่เป็นอจินไตย (คำถามที่พ้นความคิด หรือที่ไม่ควรคิด) ทั้งที่เรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบไว้อย่างชัดเจนแล้วในสามัญญผลสูตร สรุปเป้าหมายชีวิตมนุษย์ได้ ๓ ระดับ คือ ๑. เป้าหมายระดับต้น ๒. เป้าหมายระดับกลาง ๓. เป้าหมายระดับสูงสุด
๑. เป้าหมายระดับต้น ได้แก่ เป้าหมายชีวิตที่ปุถุชน (ผู้ที่ยังมีกิเลสหนา) โดยทั่วไปคิดและปฏิบัติกันอยู่ เป้าหมายระดับต้นนี้ อาจเรียกง่ายๆ ว่า "เป้าหมายบนดินคือมนุษย์สมบัติ" เป็นการตั้งเป้าหมายของคนที่มุ่งแสวงหาความสุขสบายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ตามความคิดของแต่ละคน ดังที่พระเจ้าอชาตศัตรูทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ผู้คนทั่วไปต่างก็อาศัยความรู้ความสามารถของตน ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวรวมทั้งบำรุงบิดามารดาให้เป็นสุข."
จากข้อความที่ยกมานี้ จะเห็นว่าสอดคล้องกับความคิดของคนในสังคมโดยทั่วไปที่มองว่าเงิน คืออำนาจ ยิ่งรวยเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเท่านั้น เพราะมีความคิดทำนองนี้ จึงเห็นคนในสังคมทุกยุคทุกสมัยทุ่มเทชีวิตทำมาหากิน เพื่อหวังความมั่งคั่งร่ำรวย อันจะเป็นพื้นฐานไปสู่การมีอำนาจและบริวารมากมาย เมื่อประกอบอาชีพสุจริตไม่รวย บางคนก็หันไปประกอบอาชีพทุจริต ยอมเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ
บุคคลที่มีเป้าหมายบนดิน ก็อาจจะประสบทั้งสุขและทุกข์ระคนกันไปตามประสาปุถุชน ที่แน่นอนก็คือ ผู้ที่บรรลุ "เป้าหมายบนดิน" ย่อมประสบความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน และอาจมีอำนาจ มีเกียรติยศ ชื่อเสียงในสังคมด้วย
บุคคลที่มีเป้าหมายจำกัดอยู่เพียงในระดับนี้ มักไม่สนใจเรื่องการสั่งสมบุญบารมี อาจไม่มีความละอาย หรือเกรงกลัวบาปเท่าที่ควร ครั้นตั้งหน้าตั้งตากอบโกยแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย อำนาจและบริวารไปเรื่อยๆ ก็มักจะไม่สามารถสอนใจตนเองได้ว่า จะต้องมีมากเท่าไรจึงจะพอ เมื่อไม่รู้ปริมาณที่ควรจะพอก็ย่อมจะเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่นต่อๆ ไปไม่รู้จบ
เบียดเบียนตนเอง หมายความว่า คิดแต่จะแสวงหาทรัพย์แม้ในทางไม่ชอบ จนกลายเป็นความโลภ เมื่อพบอุปสรรค หรือคู่แข่งก็เกิดความโกรธ มุ่งแสวงหาอำนาจก็คือความหลง
เบียดเบียนผู้อื่น หมายความว่า แก่งแย่งผู้อื่นโดยรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติด้วย ทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เหล่านี้คือวิสัยของ "มิจฉาทิฏฐิบุคคล"
ดังนั้น ผู้ที่ตั้งเป้าหมายบนดินเท่านั้น จึงนับว่าดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่เสี่ยงอันตราย มีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายอย่างยิ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เอตํ โลกามิสํ โฆรํ เอตฺถ โลโก วิมุจฺฉิโต
เอตญฺจ สมติกฺกมฺม สโต พุทฺธสฺส สาวโก มารเธยฺยมติกฺกมฺม อาทิจฺโจ ว วิโรจตีติ.
รูป เสียง เป็นต้นนั้น เป็นโลกามิสที่มีโทษร้ายแรง เป็นที่หมกหมุ่นจมอยู่แห่งชาวโลก พระสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติก้าวล่วงโลกามิสนั้นเสียได้ ก้าวล่วงมารเธยยะ คือ แดนเป็นที่ตั้งของมารเสียได้ ย่อมรุ่งโรจน์สว่างไสว ดังดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นกำจัดมืดให้หมดไป ฉะนั้น
นี้เป็นเนื้อความในพระพุทธภาษิต ในพระพุทธภาษิตนี้ ทรงแสดงโลกามิส อามิสของโลก ว่ามีโทษมีพิษมีภัย เป็นที่จมติดหมกมุ่นอยู่ของชาวโลก พระสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติก้าวล่วงได้ ผู้ก้าวล่วงโลกามิสได้ ก็ก้าวล่วงภูมิเป็นที่ตั้งที่อยู่ของมาร ย่อมไพโรจน์ชัชวาล เหมือนดวงอาทิตย์อันอุทัยขึ้น กำจัดมืดให้หมดไปฉะนั้น โดยพระพุทธภาษิตนี้ยกให้โลกามิส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๕ อย่างหรือจะรวมธรรมารมณ์ด้วยก็ได้ รวมเป็น ๖ อย่าง แต่ที่ท่านว่าเพียง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นก็เพราะเหตุว่าธรรมารมณ์นั้นเป็นส่วนภายใน และก็เกิดจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นเอง
เพราะฉะนั้น คำว่า โลกามิส ท่านจึงกล่าวแต่เพียง ๕ ตั้งแต่รูปจนถึงโผฏฐัพพะ เพราะธรรมารมณ์ ก็คือ เชื้อสายที่ตกตะกอนมาจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นเอง ๕ อย่างนี้ เรียกว่า “โลกามิส” อามิสในโลก อามิสประจำโลก เรียกว่า “มารพันธนะ” เครื่องผูกของมารก็ได้ เรียกว่า “มารปาสะ” บ่วงสำหรับดักคนของมารก็ได้ โดยทั่วไปเรียกว่า “เบญจพิธกามคุณ” แปลว่า กามคุณมีอย่าง ๕ หรือ ๕ อย่าง เพราะทั้ง ๕ อย่างนี้เป็น อิฏฐํ น่าปรารถนา กนฺตํ น่าใคร่ มนาปํ ยังใจให้เอิบอาบ ปิยํ เป็นที่รัก มโนรมํ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ปิยรูปํ เป็นรูป เป็นที่รัก สาตรูปํ เป็นรูปเป็นที่ติดใจหวานสนิทใจ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า เบญจพิธกามคุณ กามคุณ ๕ อย่าง
ที่ท่านเรียกว่าโลกามิส หมายความว่า เหยื่อประจำโลก ใครติดในโลกก็ติดเหยื่อ ใครไม่ติดในโลกก็ไม่ติดเหยื่อ แต่เหยื่อในโลกก็มีอยู่เป็นธรรมดา ติดเฉพาะคนที่ไม่รู้เท่าทันเรื่องของโลก ถ้ารู้เท่าทันเรื่องของโลกแล้ว ก็เป็นอันแล้วกัน เพียงเท่านี้เรายังไม่ได้เจ้าของ ว่าใครเป็นเจ้าของ เพราะคำว่า ในโลก ในที่นี้อาจจะเป็นโอกาสโลกก็ได้ อาจจะเป็นสัตวโลก คือ หมู่สัตว์บุคคลก็ได้
เพราะฉะนั้น โลกามิส อามิสประจำโลก อามิสในโลกนั้นเราต้องค้นหาตัวว่าใครเป็นเจ้าของอามิส ไม่ใช่โลกเป็นเจ้าของแน่นอน แต่เจ้าของเขามาดักไว้ในโลก เพราะฉะนั้น ต้องค้นหาเจ้าของ ค้นไปค้นมาสักครู่ก็พบ ไม่มีใคร คือ พญามารนั้นเอง มาโร ปาปิมา มารผู้มีบาป พญามารนั่นเองเป็นเจ้าของเหยื่อ วางเหยื่อไว้ในโลก เมื่อวางเหยื่อไว้ในโลกแล้ว สัตวโลกติดเหยื่อเหมือนปลาติดเบ็ด พญามารเหมือนเจ้าของเบ็ด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าปรารถนาเหมือนเหยื่อ โลกเหมือนกับห้วยหนองคลองบึง แม่น้ำเจ้าพระยา สัตวโลกเหมือนปลาที่ติดเบ็ด เพียงเท่านี้เรารู้ได้แล้วว่า ญาติโยมพุทธศาสนิกชน จนถึงพระภิกษุสามเณร รวมทั้งผู้เทศน์ด้วยเป็นสัตวโลก โอกาสโลก เป็นที่อยู่ของสัตวโลก พญามารเจ้าของเหยื่อ คือ เป็นเจ้าของอามิส และวางเหยื่อวางอามิสไว้ในโลก พวกเราติดเหยื่อของพญามารที่วางไว้ในโลก จำเนื้อความสั้นๆไว้อย่างนี้ก่อน ในวิธีปฏิบัติต้องคิดอย่างนี้ ถ้าไม่คิดอย่างนี้ธรรมะไม่แตก การปฏิบัติก็ปฏิบัติไม่ถูก
เพราะฉะนั้น ต้องคิดตั้งไว้เป็นข้อๆว่า ข้อนั้นเป็นอย่างนั้นๆ เราเป็นสัตวโลก คือ เป็นปลา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหยื่อ พญามารเป็นเจ้าของเบ็ด ปรารถนาพอใจรักใคร่อุปมาเหมือนเบ็ด แต่ข้อนี้ผู้เทศน์อุปมาขึ้นเอง ในแบบไม่ปรากฏ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าสัตวโลกหมกมุ่นอยู่ แต่พุทธสาวกผู้มีสติก้าวล่วงได้ หรืออย่างในพุทธภาษิตหนึ่งว่า ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ ที่คนเขาติดจมอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาข้องไม่ คนเขลาติด ผู้รู้ไม่ติด จึงเป็นอันได้แนวทางในการปฏิบัติไว้ชั้นหนึ่ง
๒. เป้าหมายระดับกลาง เป็นเป้าหมายที่คำนึงถึงชาติหน้าด้วย เพราะเข้าใจถูกว่า ตายแล้วไม่สูญ อาจเรียกง่ายๆ ว่า "เป้าหมายบนฟ้าคือสวรรค์สมบัติ" มนุษย์เราวิเศษกว่าสัตว์ติรัจฉาน ก็ตรงที่มี "ธรรมสัญญา" หมายถึง การตระหนักในเรื่องของธรรมะจัดเป็นสัมมาทิฏฐิระดับหนึ่ง คือ สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นบุญ สิ่งใดเป็นบาป มีความเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ จึงคิดสร้างบุญไว้สำหรับชีวิตหน้า โดยการบำรุงสมณพราหมณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะของจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้น ดังที่พระเจ้าอชาตศัตรูทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ผู้คนทั่วไปต่างก็อาศัยความรู้ความสามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมทั้งบำรุงบิดามารดาให้เป็นสุข ส่วนทรัพย์สินที่เหลือ ก็นำไปบำเพ็ญทานแก่นักบวชทั้งหลาย ด้วยหวังความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า.."
ใครก็ตามที่มีความคิดเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น และมีเป้าหมายชีวิตอยู่ในระดับกลาง
๓. เป้าหมายระดับสูงสุด เป็นเป้าหมายที่มุ่งความหลุดพ้น เพื่อบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ "เป้าหมายเหนือโลกคือโลกุตตระ" เป้าหมายระดับนี้ มีปรากฏเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ปรากฏอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่นใดในโลกเลย นี่คือคุณวิเศษอย่างยิ่งของพระพุทธศาสนา เพราะเป็น "ศาสนาแห่งปัญญาโดยแท้"
พระพุทธศาสนาจึงสอนว่า ให้ปฏิบัติให้ก้าวล่วงให้ก้าวพ้นเหยื่อ จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะก้าวพ้น ในพระพุทธภาษิตนี้ทรงแสดงข้อปฏิบัติอย่างเดียว คือ ให้มีสติ ได้ในคำว่า สโต พุทฺธสฺส สาวโก พระสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติ มีสติตัวเดียวก้าวล่วงโลกามิสได้ สติมีหลายลักษณะพึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้
สติสังวร สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยสติ ให้เห็นด้วยสติ ฟังเสียงด้วยสติ ดมกลิ่นด้วยสติ ลิ้มรสด้วยสติ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยสติ รู้ธรรมารมณ์ด้วยสติ การปฏิบัติอย่างนี้ เราต้องสมมติกายของเราเองเป็นเมืองเมืองหนึ่ง คือ กายนคร มีประตูชั้นนอกเข้าในเมืองได้ ๕ ประตู ประตูชั้นใน ๑ ประตู รวมเป็น ๖ ประตู ตั้งสติตัวเดียวไว้เป็นทหารยามคอยเฝ้าถือปืน ถือหอกถือดาบคอยเฝ้าอยู่ คอยตรวจดูเหมือนทหารรักษาวัง ทหารรักษาวังนั้นเฝ้าอยู่ที่ประตูวัง พอคนจะเข้าประตูพระราชวังก็ต้องค้นตัวซักไซ้ไล่เลียงไต่ถามธุระว่ามาทำอะไร ต้องการพบใคร สืบสวนให้ดีว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว คนทุจริตหรือสุจริต ถ้าไม่สมควรก็ไม่ให้เข้าไป ให้เข้าแต่คนสมควรฉันใด ประตูกายนครก็มีฉันนั้น
เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ ให้ทหาร คือ สติคอยสอบถาม คือ ใคร่ครวญพิจารณาไตร่ตรอง เพราะเวลาเห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น เกิดความรู้สึกสองอย่างคือ ชอบกับไม่ชอบ บางคราวก็ชอบ บางคราวก็ไม่ชอบ รูปดีก็ชอบ รูปชั่วก็ไม่ชอบ เสียงเพราะก็ชอบ เสียงไม่เพราะก็ไม่ชอบ ให้ถามว่ามาทำไม มาธุระอะไร ต้องการไปหาใคร เมื่อเห็นว่าไม่สมควร จะเข้าไปประทุษร้ายท้าวจิตราชผู้เป็นเจ้าของกายนคร เราก็ไม่ให้เข้าไป สติไม่ให้เข้า ไล่กลับไปเสีย ถ้ามาในทางที่ดี ไม่ประทุษร้ายจิตก็ให้เข้า อย่างนี้เรียกว่า สำรวจด้วยสติ หรือสติสังวร
สติตัวเดียวคุมได้ทั้ง ๖ ประตู คือ ประตูชั้นนอก ๕ ประตูชั้นใน ๑ คุมได้ทั้งหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ เปิดคราวละประตู ไม่ได้เปิดพร้อมกัน เมื่อเปิดคราวละประตูแล้ว ทหารยามคนเดียวก็รักษาได้ คือ สติ อย่างนี้เรียกว่า สติสังวร สำรวมระวังด้วยสติ เรียกว่า อินทรีสังวร สำรวมอินทรีย์ นี้เป็นประการต้น
เมื่อสำรวมอินทรีย์อย่างนี้แล้ว เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ เรารู้ทั่วทั้งหมด ในเวลาที่จะเกลียด สติก็ห้ามว่าอย่าเกลียด ในเวลาที่จะรัก สติก็ห้ามว่าอย่ารัก สมมติให้เห็นง่ายๆ ต่างว่าลูกเขาจะเอาหลานมาให้เลี้ยง บอกว่าอยู่กับคุณย่าคุณยายนะ ตาเราก็เห็นหลาน หลานเป็นรูปเป็นอายตนะภายนอก ตาเป็นภายใน พอเห็นก็เกิดรัก สติก็ถามว่ารักทำไม พ้นทุกข์ไหม สติสอบไปสอบมา ประเดี๋ยวก็แพ้สติ พอได้สติก็ตอบไปว่า ข้าไม่เลี้ยงหรอก ข้าเหนื่อย ข้าจะไปฟังเทศน์ ไปจ้างคนเลี้ยงเอาสิ สติทำให้มีทางออกอย่างนี้ จิตใจไม่เศร้าหมอง นี้เป็นประการหนึ่ง
ให้สติสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่งเรียกว่า สติพละ ทำสติให้มีกำลังขึ้น กิเลสเกิดครอบงำ สติมีกำลังมากกว่า กิเลสมารก็สู้ไม่ได้ เพราะสติเต็มไปหมด มีอะไรเกิดขึ้นก็มีสติรู้ทุกขณะ พอจะโกรธ สติก็รู้เสียแล้วว่าจะโกรธ โกรธก็สงบ พอจะรัก สติก็รู้เสียแล้วว่าจะรัก รักก็สงบ สติรู้ทันหมด อย่างนี้เรียกว่า สติพละ ทำให้ใจมีกำลัง ให้เป็นสติเต็มบริบูรณ์ที่ใจ ในใจนี้ไม่มีที่ว่าง ไม่มีที่ที่จะให้พญามาร คือ กิเลสเข้ามาอาศัย เพราะมีสติประจำใจ
สมมติว่าในจิตใจของเรามีห้องแต่ไม่มีว่าง สติอยู่หมดทุกห้อง กิเลสก็ไม่มีที่อาศัย สติพละ สติเป็นกำลังนั้นก็ให้นึกอยู่เสมอว่า กำลังอื่นสู้กำลังคือสติไม่ได้ กำลังคือสติ วิเศษกว่าอะไรหมด นึกถึงสติอยู่เสมอ เรียกมาไว้เสมอ กำลังก็เกิดขึ้น
สตินทรีย์ อินทรีย์แปลว่าใหญ่ สติก็คือสติ สตินทรีย์ สติเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ที่ตา เป็นใหญ่ที่หู เป็นใหญ่ที่จมูก เป็นใหญ่ที่ลิ้น เป็นใหญ่ที่กาย เป็นใหญ่ที่ใจ สติเขาเป็นนายหมด เป็นเจ้าใหญ่นายโตอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจหมด เราไม่สามารถที่จะแบ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปให้คนอื่นอีก เพราะสติเขาไม่อนุญาต มีสติเต็มไปหมด โลกามิสก็ครอบงำไม่ได้เหมือนกัน
สัมมาสติ ตั้งสติไว้ชอบ ไม่ยุ่งในทางอื่น ดูแต่ที่กาย เวทนา จิต ธรรมเท่านั้น กายของเราเองสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เวทนาของเราเอง คือ รู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จิตของเราเองที่เศร้าหมองบ้าง ที่ผ่องใสบ้าง ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา สักแต่ว่าคิดๆเท่านั้น ธรรมของเราเองคือที่เราคิดขึ้นในใจ บางคราวเราคิดดี บางคราวเราก็คิดชั่ว หรือธรรมที่เกิดขึ้นที่ใจเรา เช่น นิวรณ์ เราก็รู้ว่ามันชั่ว โพชฌงค์เกิด เราก็รู้ว่าดี อย่างนี้เรียกว่า สัมมาสติ คือ สติปัฏฐาน ๔ นั้นเอง
สูงขึ้นไปอีก สติโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ ถ้าได้สติตัวนี้ไว้แล้วตรัสรู้แน่ๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วว่า อวินิปาตธมฺโม มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา นิตโย เป็นผู้แน่นอน สมฺโพธิปรายโน มีอันจะต้องตรัสรู้ในเบื้องหน้า ที่เราจะรู้ว่าเป็นสติสัมโพชฌงค์นั้น เพราะสติตัวนี้เมื่อเกิดขึ้นเป็น วิเวกนิสฺสิตํ อาศัยวิเวก คือรู้สึกตัวว่าสงัดสบาย แม้อยู่บ้านคนอยู่มากๆ แต่รู้สึกว่าสบายโปร่งว่าง เรารู้แล้วว่า บัดนี้ สติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นแล้ว วิราคนิสฺสิตํ อาศัยวิราคะคลายกำหนัด ไม่ติด ไม่กำหนัด ไม่เสียดาย ไม่พอใจอะไรเกินประมาณ เมื่อใดใจเป็นอย่างนี้ เมื่อนั้นพึงทราบว่า สติสัมโพชฌงค์เกิดแล้ว โลกามิสก็ดับ โลกามิสครอบงำไม่ได้ นิโรธนิสฺสิตํ อาศัยความดับ คือ ดับร้อนใจ กลุ้มใจ อึดอัดใจ ไม่สบายใจดับหมด โวสฺสคฺคปริณามึ น้อมไปสู่โวสสัคคะ คือ ความสละลง ได้แก่ วางภาระยอมใจปฏิบัติ นี้เป็นสติสัมโพชฌงค์
ผู้ใดมีสติเป็นชั้นๆ ดังกล่าวมา ผู้นั้นก้าวล่วงโลกามิสได้ เมื่อโลกามิสครอบงำไม่ได้ ชอบไม่ชอบก็ไม่เกิด เกิดแต่เฉยๆ คือ อุเบกขา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นอันได้ก้าวล่วงมารเธยยะ คือ ดินแดนเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพญามาร คือ ไตรวัฏฏ์ กิเลส กรรมวิบาก ๓ อย่างนี้ก็ไม่วนที่ท่านผู้นั้น ท่านผู้นั้นจึงได้ชื่อว่า มารเธยฺยสมติกฺกโม ผู้ก้าวล่วงมารเธยยะ คือ ดินแดนของมาร อาทิจฺโจ ว วิโรจติ สว่างไสวไพโรจน์ คือ จิตใจสว่างไสวเรื่อยไป ไม่มีมืด เหมือนดวงอาทิตย์อันอุทัยขึ้น กำจัดความมืดให้หมดไป ฉะนั้น
เราเดินทางสายกลาง ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำบุญทำกุศลให้ถึงพร้อม สร้างแต่ความดี สร้างแต่บารมี ต้องเอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง เราจะเอานอกจากนี้มันพึ่งไม่ได้ เราปฏิบัติไป ฝึกตัวเองไป เราอย่าไปสงสัยอยู่นั่นแหละว่ามันถูกมันผิดหรือเปล่า ถ้าเอาศีลเอาธรรมเป็นที่ตั้งได้ชื่อว่าถูก แต่มันอาจไม่ถูกใจไม่ถูกกิเลสของเรา เพราะทุกคนก็พยายามเอาทางสายกลางของตน หวังว่าทุกท่านทุกคนจะเดินทางสายกลางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความไม่ผิดพลาด เพื่อความถูกต้อง.