แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตใหม่ที่เลือกได้ ตอนที่ ๑ เว้นบาปอกุศลทางกายวาจาใจ เพื่อชีวิตใหม่ที่ปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าสอนแต่อริยสัจ ๔ ประชาชนคนที่เป็นเวไนยสัตว์ ปฏิบัติตาม เป็นร้อยๆพันๆหมื่นแสน พากันมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และพากันประพฤติปฏิบัติ ถึงได้พากันเป็นพระอริยเจ้าเยอะแยะขนาดนี้ เพราะว่าถ้าทำถูก มันก็ง่าย ตมมันมีเพชร เรารู้อยู่ในใจว่าตรงนั้นมีเพชร เราไปขุดมันก็ต้องได้เพชร ถ้าไปทำตรงที่รู้ว่ามันผิด ไปเจอระเบิดเข้า มันก็ทำให้เราไม่ได้ปฏิบัติ ชีวิตของเรามันก็วิบัติ เพราะการประพฤติปฏิบัติมันดี ทำให้เราเกิดความมั่นคง ตระกูลเกิดความมั่นคง
บางทีก็น่าเสียดาย พวกที่มีศรัทธาเห็นภัยในวัฏฏะสงสารได้มาบวชแล้ว มาเจอกับความสะดวก ความสบาย มาเจอกับพวกอามิสต่างๆ ไปเจอที่เขาให้สมณศักดิ์ เป็นเจ้าคณะ ให้เป็นผู้บริหาร ศาสนาเป๋ ไปไม่เป็นท่าเลย ลืมไปว่าตำแหน่งเหล่านี้ เป็นตำแหน่งที่เขาแต่งตั้ง มันเป็นตำแหน่งแห่งโลกียะ ไม่ใช่ตำแหน่งในพระพุทธศาสนาเลย แทนที่จะมีปัญญาว่าประชาชนไว้วางใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้วางใจ ให้ยศ ให้ตำแหน่ง กลับไปหลงเสียอีก อันนั้นมันแค่มนุษย์สมบัติ หรืออย่างมากก็ไปแค่สวรรค์สมบัติ พรหมโลกนี้ไม่ได้แน่ เพราะมันมีกามเยอะ ยังมีนิวรณ์เยอะ เลยไม่ได้ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแท้ๆ เป็นเพียงแต่ศาสนาพื้นๆ เมื่อใจของตัวเองไม่มีพระนิพพาน ก็ไปชวนแต่เรื่องให้ทาน ไปเก่งทางการประจบ ข้าราชการผู้ใหญ่ ประจบคนรวย มันเพี้ยน เสียความตั้งใจหมด พากันยินดีในความสกปรก ยินดีในขยะที่ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า มันไม่ใช่ มันเป๋แล้ว ถ้าใครเป๋ก็พากันตั้งหลักดีๆนะ
การงานของเราแต่ก่อนมันทำเพื่อมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ แต่เดี๋ยวนี้ความคิดของเรามันก้าวไกลทำเพื่อพระนิพพาน แต่สวรรค์มันก็ต้องได้อยู่แล้ว เพราะมันถนนสายเดียวกัน แต่ความตั้งใจของเรามันไปไกลกว่านั้น เรียกว่ามีตาทิพย์มองไปไกลกว่านั้น ให้เราเข้าใจว่า คำว่าพระได้แก่พระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ คำว่าสมณะ ก็คือพระอริยบุคคลบุคคล 4 จำพวก ที่ปลงผมห่มผ้าเหลืองนี้ มันไม่ใช่พระ แต่กำลังพัฒนาตัวเองตามรอยของพระพุทธเจ้าเพื่อจะเป็นพระ นี้เป็นเพียงภิกษุ ที่เราเห็นด้วยตา ฟังด้วยหู ทั่วบ้าน ทั่วเมือง เป็นเพียงภิกษุ คำว่าพระนี้มันไม่ใช่นิติบุคคล คำว่าพระนี้เป็นส่วนรวมเป็นศีล เป็นธรรม พระแต่ละระดับก็เป็นพื้นฐานทางจิตใจของแต่ละระดับ ท่านก็ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อละสังโยชน์ ประชาชนก็ปฏิบัติได้ถ้ามีศีล 5 ก็เป็นพระได้ถึงพระอนาคามี มันไม่เกี่ยวกับวัดบ้านวัดป่า เกี่ยวกับที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพราะดูแลมันยังเป็นบุคคล เป็นนิติบุคคลอยู่ ศาสนาพุทธของเรามันจะไปได้ยังไง
นักบวชผู้มีส่วนแห่งสามัญญผล หรือผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการบวช จึงจำเป็นต้องขวนขวายในการประกอบเหตุดี นำข้อวัตรปฏิบัติในพระธรรมวินัยมาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง มิใช่เพียงแค่จำพระคัมภีร์ หรือแตกฉานในพระไตรปิฎกแต่มิได้นำมาปฏิบัติ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว นักบวชย่อมไม่ได้รับผลดีอันใดแก่ตนเลย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "หากกล่าวพุทธพจน์ได้มาก แต่เป็นคนประมาท ไม่ทำตามพุทธพจน์นั้น ก็ไม่มีส่วนแห่งสามัญญผล เหมือนคนเลี้ยงโค คอยนับโคให้ผู้อื่นฉะนั้น"
พุทธศาสนสุภาษิตนี้มีความหมายว่า บุคคลที่สามารถจำพระธรรมคำสั่งสอนได้มาก แต่ไม่ประพฤติธรรมนั้น เปรียบเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค รุ่งเช้าก็รับโคไปเลี้ยง เย็นลงก็นับโคไปส่งคืน แต่ไม่เคยได้ลิ้มรสนมโคหรือผลิตภัณฑ์จากนมโคเลย เทียบได้กับผู้รู้ธรรมมาก แสดงธรรมได้มาก มีชื่อเสียงมาก แต่หากมิได้นำหลักธรรมไปปฏิบัติ ก็ย่อมไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสามัญญผลสูตรว่า "ฆราวาสเป็นทางคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง" หมายความว่า การครองชีวิตเป็นฆราวาสนั้น ย่อมมีโอกาสปฏิบัติกุศลธรรมได้น้อยกว่าการเป็นนักบวช ดังที่เราท่านประจักษ์แจ้งแก่ใจกันดี ทั้งนี้เพราะการดำรงตนเป็นฆราวาสต้องใช้เวลาในวันหนึ่งๆ ให้หมดไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพตนเอง และครอบครัว จนบางคนไม่มีเวลาแม้แต่จะสวดมนต์ไหว้พระในแต่ละวัน ซ้ำร้ายกว่านั้นบางคนไม่เคยมีเวลาศึกษาหาความรู้เรื่องพระธรรมเลยทั้งๆ ที่เรียกตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนา จึงขาดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ขาดหลักคิดด้วยโยนิโสมนสิการ เมื่อขาดสิ่งนี้เสียแล้ว คนเราย่อมประพฤติตนไปตามอำนาจกิเลสอันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นต้น การที่ต้องเสียเวลาไปกับกิจทางโลกเช่นนี้ย่อมยากที่จะมีโอกาสในการประพฤติธรรม ยากที่จะมีเวลาในการประกอบคุณงามความดีอย่างเต็มที่ จึงกล่าวได้ว่า "ฆราวาสเป็นทางคับแคบ"
สภาพชีวิตของฆราวาสทุกระดับ ทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับผู้บริหารประเทศ ไปจนกระทั่งสังคมของบุคคลระดับหาเช้ากินค่ำ ต่างก็ตกอยู่ในทางคับแคบนี้ด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้การที่ต้องอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วยทั้งคนดีและคนชั่ว ซึ่งบางครั้งก็เลือกคบได้ บางครั้งก็เลือกไม่ได้ จึงมีโอกาสที่บุคคลจะก่อกรรมทำเข็ญต่อกัน แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แก่งแย่งชิงดีกันให้ร้ายป้ายสีกัน หรือหักหลังกัน จนอาจถึงกับทำลายล้างผลาญชีวิตกันได้ เหล่านี้คือ "ทางมาแห่งธุลี"
ตราบใดที่คนเรายังครองชีวิตอยู่ในฆราวาสวิสัย ก็ย่อมยากที่จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาตนเองให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวงได้ นั่นย่อมหมายความว่า เขาจะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสารอีกมิรู้สุดรู้สิ้น ซึ่งหากพลาดพลั้งไปก่อกรรมทำเข็ญขั้นรุนแรงเข้า ก็ย่อมจะต้องเสวยผลกรรมอยู่ในนรกโดยไม่มีผู้ใดสามารถช่วยลดหย่อนให้ได้ ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสนับสนุนการบวช ทั้งทรงชี้ให้เห็นคุณค่าอันประเสริฐยิ่งของการบวช ซึ่งทรงแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรอย่างชัดเจน นั่นคือ "บรรพชาหรือการดำเนินชีวิตเป็นนักบวชเป็นทางปลอดโปร่ง"
ผลดีของการบวชเป็นสมณะในขั้นต้นก็คือ "การยกสถานภาพของผู้บวชให้สูงขึ้นจากฐานะเดิม" นั่นคือ แม้จะเป็นเพียงทาสหรือกรรมกร ซึ่งอยู่ในวรรณะศูทรอันเป็นวรรณะที่ต่ำต้อยที่สุดในสังคม แต่เมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว วรรณะกษัตริย์อย่างพระองค์ยังต้องให้ความเคารพกราบไหว้ และในขณะเดียวกัน
๑. คุณธรรมพื้นฐานที่ผู้บวชจะต้องมี คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง บางครั้งใช้ว่าความเห็นถูก เช่น เห็นว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว โลกนี้โลกหน้ามีจริง บุญ บาปมีจริง บุญให้ผลเป็นความสุข แต่บาปให้ผลเป็นความทุกข์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ดังนี้เป็นต้น
๒. ผู้บวชต้องเข้าใจว่า วัตถุประสงค์ของการบวช คือ การสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะบุญสามารถเอื้ออำนวยให้คนเราเจริญก้าวหน้า ทั้งทางโลกและทางธรรม ส่วนบาปนั้นส่งผลให้ชีวิตคนเราตกต่ำลงเรื่อยๆ
๓. เมื่อบวชแล้วต้องสำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ปล่อยใจให้คิดในทางบาปอกุศล คิดแต่ในทางบุญกุศล ทำแต่บุญกุศลเท่านั้น
๔. เมื่อบวชแล้วต้องอยู่อย่างสันโดษ คือ พอใจในปัจจัยอันเป็นเครื่องดำรงชีวิตของสมณะตามมีตามได้ ไม่ปรารถนาความฟุ้งเฟ้อ ความสะดวกสบาย สุรุ่ยสุร่าย เยี่ยงชีวิตฆราวาส
๕. เมื่อบวชแล้วต้องรักชีวิตที่เงียบสงบ ไม่เอิกเกริกครึกครื้น สนุกสนาน ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้มีโอกาสฝึกใจให้เป็นสมาธิ เป็นวิปัสสนาได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงผลแห่งการบวชข้อที่สอง คือ ได้รับความเคารพ ยกย่องบูชา กราบไหว้ บำรุงด้วยปัจจัย ๔ แม้จะเคยเป็นชาวนา ต้องทำงานเสียภาษีให้รัฐ แต่ครั้นออกบวชเป็นบรรพชิต ผู้มีวัตรปฏิบัติตามพระวินัย เป็นนักบวชที่ดีพร้อมทุกประการ แม้กษัตริย์ก็ยังต้องถวายความเคารพกราบไหว้ ให้การบำรุง ปกป้อง คุ้มครองโดยธรรม
กุลบุตรที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา มิได้บวชเพราะถูกบังคับ แต่เป็นเพราะมีศรัทธาในพระธรรมและมีปัญญาไตร่ตรองถึงสภาวะอันแท้จริงของชีวิต จึงตัดสินใจเข้ามาบวช ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า "เมื่อพระตถาคตทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม ... คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์' ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัดไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต..."
จากบางส่วนแห่งพระพุทธดำรัสคำขององค์สมเด็จพ่อที่ยกมานี้ จะเห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นถึง แรงจูงใจที่เป็นเหตุให้กุลบุตรเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้นมี ๓ ประการ คือ ๑. มีศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. มีปัญญาตรองเห็นโทษภัยในชีวิตฆราวาสว่า ทั้งคับแคบ และเป็นที่มาของกิเลส ๓. มีปัญญาตรองเห็นคุณของชีวิตนักบวชว่า มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ได้เต็มที่
ด้วยแรงจูงใจเช่นนี้ จึงตัดสินใจเข้ามาบวช ดังนั้นการบวชของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจึงเป็นการบวชที่มีเป้าหมาย สูงส่งและดีงาม จากแรงจูงใจข้อ ๒ และ ๓ ย่อมกำหนดเป็นเป้าหมายในการบวชได้ ๒ ประการ คือ
๑. บวชเพื่อละบาปอกุศลทั้งปวง หรือบวชเพื่อละกามนั่นเอง
๒. บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อันเป็นการสั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตฆราวาสเป็นที่ประชุมแห่งบาปอกุศลก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี"
"ฆราวาสคับแคบ" หมายความว่า การใช้ชีวิตแบบฆราวาสนั้น ต้องเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ด้วยเรื่องกาม ฆราวาสทั้งหลายจึงตกอยู่ในอำนาจของกาม หรือตกเป็นทาสของกาม "กาม" คืออะไร กามประกอบด้วย 2 คือ 1. กิเลสกาม 2. วัตถุกาม
"กิเลสกาม" นั้นเป็นลักษณะของใจคนเราที่เกิดความคิดชั่วขึ้นได้เองอยู่แล้ว ถ้าเราปล่อยปละละเลย ไม่อบรมขัดเกลา ก็มีแต่จะพอกพูนทวีมากขึ้นๆ ครั้นเมื่อกิเลสกามมากระทบกับวัตถุกาม ใจคนเราซึ่งมีโลภะและโมหะเป็นเชื้อสำคัญอยู่แล้ว ย่อมจะเกิดความรู้สึกว่า วัตถุกามต่างๆ ล้วนน่าใคร่น่าปรารถนาไปหมด ถ้าได้วัตถุกามเหล่านั้นมาสมใจตนเองย่อมจะรู้สึกเป็นสุข จึงเกิดความเพียรพยายามแสวงหาวัตถุกามมาไว้ในครอบครองให้มากเท่าที่จะมากได้ ในที่สุดก็กลายเป็นความหลง ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับวัตถุกามนั้นๆ
ในทำนองกลับกัน ถ้าพลาดหวังในวัตถุกามที่ตนปรารถนา คนเราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ หากไม่เกิดความรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ หรือผิดหวังอย่างรุนแรง จนถึงกับทำลายตนเองด้วยวิธีการต่างๆ ไปเสียก่อน โทสะ โมหะ ทิฏฐิมานะ ตลอดจนความไม่ละอาย และความไม่เกรงกลัวต่อความชั่วและบาปทั้งหลาย ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในใจคนเราตลอดเวลานั้น ก็จะกระตุ้นหรือหันเหความรู้สึกเป็นทุกข์นั้น มาเป็นความคิดประทุษร้าย เบียดเบียนรังแกผู้อื่นโดยประการต่างๆ จึงเกิดการสั่งสมบาปให้แก่ตนเอง ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาโดยแท้ นี่คือทางมาแห่งธุลีคือกิเลสประการหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสุขหรือทุกข์ อันเนื่องมาจากวัตถุกามหรือกามคุณ 5 ล้วนมีแต่โทษภัยต่อใจคนเราทั้งสิ้น ตราบใดที่คนเรายังมีความคิดว่า กามคุณ 5 เท่านั้นที่จะทำให้มีความสุข คนเราก็ย่อมจะตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่กามสุขเรื่อยไปโดยไม่หยุดยั้ง ทั้งไม่รู้จักสอนใจตนเองได้ว่า จุดที่ "พอ" นั้นอยู่ตรงไหน เมื่อมุ่งหน้าแสวงหาต่อไปเรื่อยๆ ไม่วันใดวันหนึ่งก็จะต้องประสบปัญหา เพราะแต่ละคนก็มุ่งแสวงหาในสิ่งเดียวกัน จึงเกิดการเผชิญหน้ากันหรือเกิดการแข่งขันแย่งชิงกันขึ้น
ครั้นแล้ว กิเลสกามก็จะสอนให้แต่ละฝ่ายนำกลยุทธ์ออกมาใช้ในการต่อสู้กัน ชิงชัยกันทุกรูปแบบ เพื่อความเป็นผู้ชนะ ดังปรากฏให้เห็นอยู่ในโลกปัจจุบันนับตั้งแต่การชิงไหวชิงพริบกันในด้านเศรษฐกิจระหว่างบุคคลหรือระหว่างประเทศ การคดโกงและการแก้แค้นกัน ไปจนถึงสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน เหล่านี้ล้วนเป็นทางมาแห่งธุลีหรือกิเลสทั้งสิ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเรื่องโทษของกามไว้มากมาย เป็นต้นว่า "กามทั้งหลาย ตระการหวานชื่นใจ ย่อมย่ำยีจิตโดยรูปต่างๆ"
จากที่ได้พรรณนามาทั้งหมดนี้ น่าจะพอเป็นแนวทาง ชี้ให้เห็นได้แล้วว่า การใช้ชีวิตแบบฆราวาสนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของกาม อันเป็นบ่อเกิดแห่งบาปอกุศลทั้งปวง
ส่วนชีวิตนักบวชนั้น มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย"
การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง" นั้นหมายความว่า บรรพชิตหรือพระภิกษุย่อมมีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ง่าย เมื่อเทียบกับฆราวาสหรือผู้ครองเรือน ทั้งนี้เพราะโดยพระวินัยแล้ว การเลี้ยงชีพของพระภิกษุต้องขึ้นอยู่กับฆราวาส ดังนั้น พระภิกษุจึงไม่ต้องกังวลด้วยเรื่องการทำมาหากินแบบฆราวาสทำให้สามารถทุ่มเทเวลาและชีวิตเพื่อการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้โดยบริบูรณ์ กรณีเช่นนี้ย่อมเอื้ออำนวยให้พระภิกษุห่างไกลจากกามคุณได้มากทีเดียว ซึ่งจะยังผลให้การประพฤติพรหมจรรย์นั้นบริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชีวิตนักบวชมิโอกาสสร้างบุญกุศลทั้งปวง สะดวกกว่าชีวิตฆราวาสมากนัก สาวกของพระพุทธองค์ล้วนมีเป้าหมายในการบวชทั้งสิ้น มิใช่บวชโดยไร้เป้าหมาย หรือบวชเพื่อหากินดังเช่น ผู้บวชบางจำพวก
ภิกษุในพระพุทธศาสนา ถ้าพิจารณาจากปัจจัยแห่งสามัญญผลแล้ว ก็พอจะประมวลลักษณะของภิกษุที่ไม่ควรไว้วางใจ หรือไม่ควรให้ความเคารพนับถือ ดังนี้ 1) บวชโดยมิได้มีศรัทธาในพระธรรมวินัย หมายความว่า มิได้มีเจตนาจะอบรมหรือพัฒนาตนให้บริสุทธิ์ในด้านกาย วาจา ใจ ตามหลักแห่งพระธรรมวินัย เช่น ภิกษุบางรูปบวชเพื่อหนีปัญหาความยากลำบากในการทำมาหาเลี้ยงชีพ บางรูปบวชเพื่อหนีคดีอาญาบ้านเมือง บางรูปบวชเพื่อใช้ความเป็นสมณเพศ เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพบางอย่าง ฯลฯ ข้อนี้สังเกตได้จากพฤติกรรมของพระภิกษุเอง
2) ย่อหย่อนในพระปาฏิโมกข์ มีการพูดปด เสพยาเสพติด ฉันอาหารมื้อเย็น ฟังดนตรี ฯลฯ เป็นต้น
3) ชอบไปสู่อโคจร โดยไม่ใช่กิจนิมนต์ คือ ไปยังสถานที่ที่พระภิกษุไม่ควรไป เช่น สถานเริงรมย์หรือศูนย์การค้าต่างๆ เป็นการส่วนตัว
4) เล่นการพนัน หรือส่งเสริมให้ประชาชนหลงใหล อยู่กับการพนัน
5) สนใจพูดคุยเรื่องการรบ เรื่องแฟชั่น หรือเรื่องใดๆ ซึ่งนอกเหนือจากกิจของสงฆ์
6) อาสารับใช้ทำงานต่างๆ อันเป็นเรื่องของฆราวาส เช่น เป็นพ่อสื่อให้คู่หนุ่มสาว รับติดต่อฝากคนเข้าทำงาน เป็นหัวคะแนนให้นักการเมือง เป็นต้น
7) เลี้ยงชีพด้วยติรัจฉานวิชา เช่น เป็นหมอดูโชคชะตา หมอปลุกเสก หมอเสน่ห์ หมอผี หมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน ทายทักลักษณะบุรุษ สตรี เด็ก หรือสัตว์ต่างๆ ตลอดจน การพยากรณ์เหตุการณ์ ต่างๆ การให้ฤกษ์วิวาห์ เป็นต้น
8) เล่นเกมต่างๆ เช่น หมากรุก หมากฮอร์ส เล่นไพ่ เพื่อความสนุกสนาน เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เล่นตะกร้อ เป็นต้น
9) โอ้อวดความรู้ความสามารถของตนเอง กล่าวดูถูกวัตรปฏิบัติของบรรพชิตรูปอื่น 10) ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้ง 6
11) แสดงพระธรรมเทศนาผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย หรือเผยแพร่คำสอนอันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เช่น สอนว่านรกสวรรค์ไม่มี สัตว์ทั้งหลายตายแล้วสูญ ไม่มีโลกหน้า หรือภพหน้า เป็นต้น
12) ใช้กลอุบายหลอกลวงให้สาธารณชนเข้าใจผิด เช่น หลอกลวงให้เข้าใจว่าตนเป็นพระอริยบุคคล
13) ไม่สันโดษ ข้อนี้สังเกตได้จากการตกแต่งเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) อย่างหรูหราพุ่มเฟือย ด้วยเครื่องเรือนราคาแพง มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย หรือความบันเทิง ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรม หรือมีการสะสมสิ่งของเครื่องใช้ไว้ในกุฏิมากมายเกินความจำเป็น
ลักษณะของพระภิกษุที่ไม่ควรนับถืออาจมีมากกว่านี้ กระนั้นก็ตาม ภิกษุที่มีพฤติกรรมเข้าลักษณะแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งใน 13 ข้อนี้ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็พึงตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า น่าจะเป็นพระภิกษุที่ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย มิได้บวชเข้ามาเพื่ออบรมตนให้เป็นพระดี ตามหลักพระพุทธศาสนาด้วยประการทั้งปวง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ครองชีวิตเป็นนักบวชที่บริบูรณ์บริสุทธิ์อย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนานั้น ย่อมได้รับอานิสงส์มากมายนานัปการตามธรรมดาของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ สิ่งใดมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นมักจะมีโทษมหันต์แฝงอยู่เป็นของควบคู่กันไป แต่การเป็นนักบวชที่บริบูรณ์บริสุทธิ์อย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา จะบังเกิดแต่ผลดีเท่านั้น ไม่มีผลร้ายหรือโทษเลย
ผลดีที่นักบวชจะพึงได้รับนั้น ย่อมเกิดขึ้นโดยลำดับ ที่เห็นได้ชัดเจนในทันทีก็คือ การได้รับความเคารพยกย่องจากบุคคลโดยทั่วไป นอกจากนี้ การเป็นนักบวชยังทำให้เป็นผู้มีความสงบ กาย วาจา ใจ มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องต่างๆ รอบคอบขึ้น มีความเข้าใจเรื่องโลกและชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้นักบวชสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเอง เพื่อการครองชีวิตอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส และยังสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้อื่น คือเป็นผู้ชี้ทางที่ถูกต้องดีงามให้แก่บุคคลรอบข้างและชาวโลกได้อีกด้วยการเป็นนักบวชย่อมจะได้รับ แต่ผลดียิ่งๆขึ้นไปเช่นนี้จนกระทั่งบรรลุถึงผลขั้นสูงสุด คือ มรรคผลนิพพาน หากยังไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ได้ ประสบการณ์ และบุญกุศลทั้งปวงที่นักบวชได้บำเพ็ญไว้ในปัจจุบันชาติก็ไม่สูญเปล่า ย่อมสั่งสมไว้เป็นรากฐานหรือกองทุน เพื่อรอเวลาออกผลในภพชาติต่อๆ ไป สมดังพุทธภาษิตที่ว่า "แม้หม้อน้ำ ย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยด ฉันใด ผู้มีปัญญาสั่งสมบุญทีละน้อย ย่อมเต็มได้ด้วยบุญ ฉันนั้น" เมื่อบุญเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ธรรมะของพระพุทธเจ้าน่ะเป็นสิ่งที่ทวนโลก ทวนกระแส เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนจะต้องประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง ด้วยปลีแข้ง ด้วยความสามารถ ด้วยความฉลาด ศีล สมาธิ ปัญญา คือสิ่งเดียวกันน่ะ เปรียบเสมือนมีดเล่มหนึ่ง มีทั้งตัวมีด สันมีด คมมีด พระพุทธเจ้าให้เราเอามาใช้พร้อมๆ กัน ถ้าเราแยกกันมันจะใช้งานไม่ได้ ถ้าเราเอาตั้งแต่สมาธิกับปัญญา มันก็เปรียบเสมือนคนๆ หนึ่งมีตัวกับมีหัว แต่ไม่มีมือไม่มีเท้า เราดูตัวอย่างอย่างหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระผู้อุทิศปฏิบัติเป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง ท่านก็เป็นลูกของชาวไร่ชาวนา ชาวป่าชาวเขา ไม่มีการเรียนการศึกษา แต่ด้วยบารมีของท่านที่สั่งสมมานานหลายภพหลายชาติน่ะ ในชาติสุดท้ายนี้แหละ ท่านตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ตามพระวินัยของพระพุทธเจ้า ท่านก็สามารถตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ ตามรอยของพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน หลายๆ ท่านก็ทำตามแบบอย่างของหลวงปู่มั่น ท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน
เมื่อเราทิ้งพระธรรมพระวินัยไปมากขนาดนี้น่ะ มันก็ไม่มีเหตุมีปัจจัยที่เราจะได้บรรลุธรรม เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย พระพุทธศาสนานี้สอนละเอียดมาก ทุกแง่มุม พระทั้งหลายน่ะ โยมทั้งหลายน่ะ ต้องกลับมาย้อนดูตัวเองว่าเราเดินตามพระพุทธเจ้า กันกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าพระที่แท้จริงคือพระธรรม พระวินัย ความเคยชินทุกท่านทุกคนนั้นมันย่อหย่อนอ่อนแอ ถ้าเราไม่เอาจริงเอาจัง เหมือนหลวงตามหาบัวกล่าวสอนไว้ว่า กิเลสน่ะคือความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ เราตัดมันไปเลย เราซัดมันไปเลย เหมือนนักมวยขึ้นเวทีน่ะ ต่อยมันทีเดียวไม่ให้มันนับสิบน่ะ ให้มันได้หามเปลเลย อย่างนี้ถึงเรียกว่า “ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า” หรือว่า “สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า”
การบวชนี้ดีมาก เพราะว่าเรามีโอกาสมีเวลา เรามีเหตุมีปัจจัยที่จะได้ประพฤติได้ปฏิบัติ บวชนี้ดีมากน่ะ บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ ผู้ที่เอาของมาถวาย ผู้ที่อุปถัมภ์อุปัฏฐากนี้ก็ยังไหว้เราอีก สิ่งที่ประเสริฐคือเราจะได้เดินตามพระธรรมพระวินัยอย่างเต็มที่เต็มร้อย ทุกท่านทุกคนน่ะ อย่าไปเอาพระที่ย่อหย่อนอ่อนแอเป็นตัวอย่าง อย่าไปเอาพระที่ทำความผิดเป็นตัวอย่าง เพราะว่าพระในพระพุทธศาสนานี้มีความย่อหย่อนอ่อนแอไปมากน่ะ ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ยังพอเห็นบ้างก็ไม่พอสามสิบเปอร์เซ็นต์...
ต้องจับหลักให้ได้ จับประเด็นให้ได้ ให้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ทุกๆ คนต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นตัวของตัวเอง ตัวของตัวเองนั้นได้แก่พระธรรมพระวินัย อย่าให้สิ่งต่างๆ มาครอบงำทำให้เราไขว้เขว ย่อหย่อนอ่อนแอ การประพฤติการปฏิบัติธรรมนั้นน่ะต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้ามันไม่ตายก็ให้มันได้บรรลุธรรม พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราสนใจเรื่องอยู่ เรื่องฉัน เรื่องอ้วน เรื่องผอม เรื่องต่างๆ น่ะ ที่ทำให้จิตใจของเราดร็อปลง ตกลง “พระพุทธเจ้าท่านทำไมถึงทำได้ พระอรหันต์ทำไมถึงทำได้ ท่านก็มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกัน...”
สิ่งที่ทุกท่านที่จะละจะวางที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองนี้คือ “สัญชาตญาณ” คือภพภูมิที่ทำให้ตกต่ำ ทุกท่านทุกคนต้องหยุดตัวเอง อย่างจิตใจของเรามันคิดไม่ดีอย่างนี้แหละ มันคิดครั้งที่หนึ่ง ไม่ควรให้มันคิดครั้งที่สอง ถ้ามันคิดครั้งที่สามครั้งที่สี่ มันจะควบคุมตัวเองไม่อยู่ ควบคุมตัวเองไม่ได้
ทุกท่านทุกคนต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร สิ่งไหนเป็นธรรมเป็นวินัยที่ใจเรามันจะย่อหย่อนอ่อนแอ ให้มันคิดครั้งเดียว ครั้งที่สองเราไม่ต้องให้มันคิดน่ะ จับหลักธรรมหลักวินัยให้ได้ เราอย่าไปหลงประเด็นว่าทางสายกลาง มันไม่ใช่ทางสายกลาง มันคือความโลภ ความโกรธ ความหลง
ทรัพย์ของเราน่ะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เราจะได้พัฒนาให้มันเป็นอริยทรัพย์ ความงามของมนุษย์น่ะอยู่ที่ศีล อยู่ที่สมาธิ อยู่ที่ปัญญา พระเราอย่าพากันหลงประเด็น อยู่ที่ไหน ภาคไหน ที่ใด ท่านต้องตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เต็มที่
สำหรับพระ มาตุคามได้แก่ สีดำ ถ้าท่านยินดีในมาตุคามนี้หัวใจท่านก็สีดำ ทำไมพระถึงเรียกผู้หญิงว่าสีกา..? เพราะมันทำให้พระใจดำ ใจสกปรก ใจสีกา... เรื่องลาภยศ เรื่องสรรเสริญ ท่านไม่ควรคิด ไม่ควรนึก
สิ่งที่ท่านควรคิดนึกในชีวิตประจำวัน คือคิดเรื่องอสุภกรรมฐาน อิริยาบถทั้ง ๔ น่ะ ท่านควรคิดนึกเรื่องอสุภกรรมฐาน พิจารณาร่างกายให้มากๆ เก็บเล็กผสมน้อยไป อย่างน้อย วันละสองสามครั้ง ทำไมถึงนึกคิด เพราะว่าท่านยังไม่ใช่อนาคามี ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านต้องทำหน้าที่ของท่าน ทำงานของท่าน
คนเราน่ะ ถ้าใจมันยินดีในกาม ปัญญามันเกิดไม่ได้ เพราะกามนั้นเปรียบเสมือนต้นไม้ ที่มันสดอยู่เปียกอยู่แล้วก็เอาไปก่อไฟในน้ำ มันจะติดไฟได้อย่างไร ถ้าเรายังยินดีในกาม หมกหมุ่นในลาภยศสรรเสริญ ปัญญามันจะมีได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ เพราะใจของท่านน่ะ มันจมอยู่ในน้ำ มันรอตั้งแต่จะหมดลมหายใจ เพราะใจมันจมอยู่ในน้ำ
การเดินทางไปพระนิพพานนี้แหละ มันต้องละสิ่งเหล่านี้อย่างเด็ดขาด ให้ใจมันโล่ง ใจมันว่าง รูปก็เป็นรูป เสียงก็เป็นเสียง กลิ่นก็เป็นกลิ่น รสก็เป็นรส ไม่ให้มันเกี่ยวข้องกับจิตใจน่ะ ไม่ให้มันซาบซึมเข้าไปในจิตในใจของเราได้ ทุกท่านทุกคนทำตามสัญชาตญาณทำอย่างไรมันก็ไม่ได้ผล เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัย มันก็ย่อมหมดกำลังใจ เหมือนกับจมอยู่ในน้ำ ยิ่งมีแต่จะหมดลมหายใจ เพราะมันมีแต่จะเหนื่อยเข้าเหนื่อยเข้า ที่มันแสดงออกมาถึงความท้อใจนี้แหละ ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้ามันก็เป็นเรื่องง่ายๆ การถือนิสัยถือวินัยของพระพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สำคัญ เพื่อมรรคผล เพื่อพระนิพพาน เพื่อเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์