แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สิ่งที่ดีที่สุดของเราทุกคน หรือว่าสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์คือการหยุดการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร เราจะหยุดเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารได้ เราต้องรู้จักทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือเราต้องหยุดให้อาหารอวิชชา ความหลง เราต้องรู้จักสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะอันนี้มันคือไฟท์หยุดวัฏฏะสงสารของเรา ไฟท์หยุดโรค โรคเวียนว่ายตายเกิด ในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดที่เรียกว่าสังสารวัฏ ซึ่งเป็นความเชื่อทางพระพุทธศาสนาจะต้องไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง
เชื่อว่าตายแล้วเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าคุณเชื่อว่าตายแล้วเกิดแน่นอน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเป็นมิจฉาทิฐิ ถ้าใครเชื่อว่าตายแล้วเกิดเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะว่าความคิดนั้นเป็น สัสสตทิฐิ คือเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้เป็นนิรันดร์ (eternal) ไม่มีดับสูญ ความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยงเป็นนิรันดร์เรียกว่าสัสสตทิฐิ (eternalism)
เชื่อว่าตายแล้วดับสูญเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าคุณพูดว่า ตายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างดับสูญ ความเห็นว่าอัตตาและโลกจะดับสิ้นไปหมดก็เป็นมิจฉาทิฐิเหมือนกัน เป็นอุจเฉททิฐิ (annihilationism) เชื่อว่าดับสูญ
การตายเกิดตามหลักพระพุทธศาสนา ถ้าบอกว่าตายแล้วเกิดแน่นอนก็ผิด ถ้าบอกว่าตายแล้วดับสูญโดยสิ้นเชิงก็ผิด และพระพุทธศาสนายืนอยู่ที่จุดไหน อันนี้ขอให้ฟังดีๆ นะ พระพุทธศาสนาท่านบอกว่า จะเกิดหรือ จะสูญหลังจากตายแล้วมันขึ้นอยู่กับเงื่อนไข
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนเรื่องอิทัปปัจจยตา ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเงื่อนไข มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัย ตาย เกิด ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ท่านอธิบายว่า ถ้าคุณยังมีอวิชชา ตัณหาหรือที่เรียกว่ากิเลส ยังมีกิเลสอยู่ คุณตายไปคุณจะต้องเกิด เงื่อนไขที่ว่าเกิดอยู่ที่อวิชชา ตัณหา หรือที่เราเรียกรวมๆ ว่ากิเลส ต้องเข้าใจตรงนี้
กิเลส เงื่อนไขของการตาย เกิด
คําที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า “กิเลส” กิเลสเป็นชื่อรวมเหมือนคำว่าคน เป็นชื่อรวม ที่นั่งอยู่นี่ก็คนทั้งนั้น ถ้าเรียกเป็นชื่อแต่ละอย่าง เช่น ตัณหา อวิชชา โลภ โกรธ นี่เป็นชื่อเฉพาะของไอ้ตัวกิเลส เหมือนนาย ก. นาย ข. นาย ค. ก็เป็นชื่อคนเหมือนกัน กิเลสก็เป็นชื่อรวม หมายถึงสิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง
แล้วกิเลสมีอะไรบ้าง โลภก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง อวิชชา ความหลง ความโง่งมงายก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง โทสะความขัดเคืองประทุษร้ายก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ฉะนั้นจะต้องเข้าใจตรงนี้
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าท่านยังมีกิเลส ตายแล้วเกิดแน่ ถ้าหากว่าหมดกิเลสอย่างพระอรหันต์ตายแล้วไม่เกิด อันนี้ไม่ใช่พูดเอาลอยๆ ขอยกพุทธวจนะเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้หลายแห่ง อย่างในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “เหล่าสัตว์มีอวิชชา ตัณหา เป็นเครื่องกางกั้น ผูกมัดใจ ย่อมมีการเกิดใหม่”
“ภิกษุทั้งหลาย สังสารวัฏมีกำหนดเบื้องต้น เบื้องปลายมิได้ เมื่อเหล่าสัตว์มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด ย่อมท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด”
ในเล่มที่ ๑๙ ตรัสได้ว่า “เพราะไม่รู้ ไม่เห็น อริยสัจสี่ตามเป็นจริง เราและท่านจึงต้องท่องเที่ยวในชาตินั้นๆ ตลอดกาลนาน เมื่อเห็นอริยสัจสี่ ถอนตัณหาอันเป็นรากเหง้าของทุกข์ได้แล้ว ก็ไม่มีการเกิดใหม่”
พระไตรปิฎกบรรยายถึงพระอรหันต์บรรลุนิพพานแล้ว ท่านจะใช้คำว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว สิ่งที่ควรทำที่สุดได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องทำอีกต่อไป ภพใหม่ไม่มีแล้ว”
นี้ก็แสดงว่าหมดแล้ว ถ้าตายก็หมดกัน เพราะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พอตายแล้ว ก็หมดกันเลย
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ผมว่า อย่าไปพูดอะไรแบบยืนยันไปข้างหนึ่งตรงๆ ไม่ได้ ตายแล้วต้องเกิดก็ผิด ตายแล้วไม่เกิดก็ผิด มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า คุณมีกิเลสหรือเปล่า ตัวนี้เป็นตัวที่จะบอกว่าจะเกิดหรือไม่เกิด
ความหมายของตายกับเกิด
การตีความหมายของคำว่า ตาย คำว่า เกิด มันก็ขัดแย้งกันเพราะมีคนตีความหมายคำว่า ตาย คำว่า เกิด อาจาร์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ป.ธ๙ ราชบัณฑิต ได้ประมวลมา 3 มติ คือ
มติที่หนึ่ง เห็นว่าคนเราตายแล้วร่างกายแตกดับ แตกดับหมดเลยเหลือแต่วิญญาณ ที่ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ วิญญาณนี้เป็นอมตะไม่มีการตาย มีความสมบูรณ์อยู่ในตัว เมื่อร่างกายดับสลายไป ก็ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ ในภพใหม่ ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น จนกว่าจะสิ้นกรรม นี่เป็นคำอธิบายของมติหนึ่ง มตินี้เป็นของใครค่อยว่ากันอีกที
มติที่สอง มีความเห็นว่า ความตายเกิดขึ้นเมื่อจิตดวงสุดท้ายดับซึ่งเรียกว่าจุติจิต จุติแปลว่าตาย ภาษาไทยนี้เพี้ยนไปหมดแล้ว อ่านหนังสือพิมพ์เขาบอกว่า ดาวดวงใหม่จุติแล้ว เอ…ทำไมมันตายเร็วนัก จุติแปลว่าตาย บางคนชื่อจุติ แปลว่านายตายไม่มีชีวิตอยู่ ภาษาไทยเรามาใช้กันผิด จุติจิต คือจิตดับ เมื่อจิตดวงสุดท้ายดับ ก็เกิดปฏิสนธิจิต จิตดวงใหม่เกิดขึ้นรับช่วงทันที เพราะฉะนั้น มตินี้ไม่มีโอกาสให้วิญญาณอมตะล่องลอยไปไหน ไม่มีอะไร ไม่มีช่องว่างให้วิญญาณล่องลอยจากชาตินี้ไปเกิดในชาติหน้า เพราะว่ากายตาย การเกิดเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เกิดปุ๊บทันที ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะไม่มีช่องว่างให้วิญญาณนี้มันออกไปจากร่างไปหาที่เกิด
มติที่สองนี้หมายความว่า พอตายปุ๊บก็เกิดปั๊บ จิตดวงนี้ดับ จิตดวงใหม่ก็เกิดรับช่วงทันที จะเกิดเป็นอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การตาย เกิด มีตลอดเวลา
มติที่สาม บอกว่าการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องของปัจจุบันชาติเท่านั้น เป็นเรื่องปัจจุบันขณะเท่านั้นเอง
มตินี้ไม่สนใจเรื่องชาติหน้าชาติก่อน และก็มีคำอธิบายไว้ว่า ในกรณีที่มีความรู้สึกว่า ตัวกู ของกูเกิดขึ้น ก็เป็นชาติหนึ่ง ถ้าตัวกูของกูดับก็แสดงว่าตาย เพราะฉะนั้น ชาตินี้ชาติหน้า อยู่ในชีวิตเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ อันนี้ก็เป็นการตีความเรื่องการเกิดของมติที่สาม
การตาย เกิด ตามหลักพระพุทธศาสนา ทีนี้เราลองมาวินิจฉัยดูว่าทั้งสามมตินี้อันไหนที่พระพุทธศาสนาได้ยืนยันไว้ มติที่หนึ่ง ที่บอกว่า เมื่อตายแล้วร่างกายแตกดับแล้วไปหาที่เกิดใหม่ อันนี้เป็นมติของศาสนาพราหมณ์ เป็นแนวความคิดของศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่าวิญญาณนี้ไม่มีดับ วิญญาณนี้เป็นอมตะ ร่างกายนี้แตกดับได้ พอร่างกายแตกดับ วิญญาณก็จะล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ แนวความคิดความเชื่อพวกนี้ไม่เฉพาะพวกพราหมณ์ ที่อินเดียเขาเชื่อ คนไทยกว่า 80% ที่มีความคิดความเชื่ออย่างนี้ แม้แต่ในวงการพระที่สอนพุทธศาสนาเอง
ไม่เชื่อไปอ่านหนังสืองานศพก็ได้ ในประวัติของคนตายจะเขียนไว้เลยในตอนสุดท้ายว่า ขอให้ดวงวิญญาณของนาย......... จงไปสู่สุคติเถิด ร่างกายนายเขาก็โดนเผาไปแล้ว แต่ขอให้ดวงวิญญาณของเขาไปสู่สุคติเถิดนี่แสดงว่าวิญญาณมันยังอยู่ ขอให้ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ดีๆ
ความคิดอย่างนี้มันไม่ใช่ความคิดของพุทธศาสนา จะออกจากปากพระหรือไม่พระก็ตาม อย่างนี้ถือว่าเป็นแนวคิดของศาสนาอื่น (ศาสนาพราหมณ์) ที่ถือว่าวิญญาณนั้นไม่ตาย วิญญาณนั้นสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง
ส่วนมติที่สอง เป็นมติที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ถือว่าเป็นพุทธวจนะ ที่บอกว่าคนเราตาย จิตดับแล้วก็เกิดทันที สมมุติว่าร่างกายหมด function หมดหน้าที่ จิตดับไปด้วย จิตดับแล้ว มันก็ต้องเกิดทันที ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นแล้วแต่กรรมที่เราสร้างไว้จะเป็นปัจจัยเงื่อนไขทำให้มันเป็นไป มันจะสวมรับกันทันที กฎของกรรมนี้มันจัดแจงของมันเองเสร็จ ซึ่งเราสามารถจะรู้ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่ามันเป็นพุทธวิสัย พระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะรู้ได้
สังสารวัฏกับการตรัสรู้ เรื่องตาย เรื่องเกิด เรื่องของสังสารวัฏนั้น จริงๆ แล้วเกี่ยวกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นหลักคำสอนที่มีในพระพุทธศาสนา ถ้าเราอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ลองย้อนไปนึกถึงก็ได้
ตอนแรกท่านได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ในปฐมยาม คือรู้ว่าชาติก่อนท่านเกิดเป็นอะไร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน โคตรอะไร ตระกูลอะไร มีอาชีพอะไร มีอายุขัยเท่าไหร่ ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นอะไร รู้เรื่องของตัวเองในชาติก่อน เรียกว่าปุพเพนิวาสานุสติญาณ
พอมาถึงยามที่สองท่านก็ได้ความรู้อีกชนิดหนึ่งคือ สามารถหยั่งรู้การตาย การเกิด ของสัตว์ทั้งหลายอื่นๆ ด้วยแรงกรรมที่แต่ละคนกระทำมา นายคนนั้นทำกรรมอะไรมาจึงเกิดมาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าทิพพจักขุญาณ มีตาทิพย์สามารถที่จะรู้ได้
สุดท้ายท่านก็ได้ความรู้พิเศษคือ ตรัสรู้ความจริงอันสูงสุด ซึ่งเรียกว่า อริยสัจสี่ประการ ทำให้จิตของพระองค์ท่านบริสุทธิ์จากความโลภ ความโกรธ ความหลงโดยสิ้นเชิง (อาสวักขยญาณ) กลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ความรู้ธรรมดา รู้อย่างนี้ขึ้นปั๊บทำให้หมดกิเลสทันที กลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา
เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าเรื่องของสังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิด มันเกี่ยวพันกันกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า เราเชื่อพระพุทธเจ้าไหม
ในพระพุทธศาสนามีสิ่งที่ควรเชื่ออยู่ 4 อย่างคือ
1. เชื่อเรื่องกรรม เชื่อว่ากรรมมีจริง
2. เชื่อเรื่องผลของกรรม เชื่อว่าทำกรรมลงไปแล้วได้รับผลจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง
3. เชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน หมายความว่า ใครทำ ใครได้ ไม่ใช่ว่านาย ก. มาทำแทนนาย ข. อยากเป็นอะไรก็ต้องทำเอาเอง เรียกว่ามีกรรมเป็นของตน เช่น อยากจะเป็นด๊อกเตอร์ คุณต้องเรียนเอง คุณจะไปส่งให้ลูกชายเรียนแทนไม่ได้ ลูกชายก็ได้เป็นเอง อยากเป็นพระอรหันต์คุณก็ต้องนั่งสมาธิวิปัสสนาเอง ไปสั่งคนอื่นทำให้ไม่ได้ นี่เรียกว่าเชื่อว่ากรรมเป็นของตัวเราเอง ใครทำ ใครได้
4. ประการสุดท้าย เชื่อในเรื่องปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อว่าพระพุทธเจ้ารู้แจ้งเห็นจริง และสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น นำมาซึ่งความสุข ความเจริญแก่ชีวิต และทำให้พ้นความทุกข์จริง
ก่อนพุทธกาล มนุษย์ทั้งหลายต่างพยายามแสวงหาที่สุดโลก ว่าไปสุดที่ตรงไหน เหมือนอย่างนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ที่ต้องการรู้ว่าจักรวาลกว้างใหญ่เพียงใด จึงได้สร้างยานอวกาศไปสำรวจนอกโลก พยายามไปให้ไกลที่สุด ว่านอกจากกาแล็กซี่ของเราแล้วยังมีที่อื่นอีกหรือไม่ ก็พบไปเรื่อยๆ ว่ายังมีอีกไม่สิ้นสุด ส่วนคนในสมัยก่อน แม้ไม่มียานอวกาศ แต่มีสิ่งที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่านั้น คือ อาศัยการฝึกสมาธิ ฝึกจิตให้ชำนาญจนเป็นวสี แล้วเข้าลหุสัญญา ทำกายเบาเท่ากับใจ ก็สามารถเหาะไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ ไปถึงโลกอื่นได้ ไปด้วยกายเนื้อนี้ อาศัยฌานสมาบัติเป็นบาท การไปโดยวิธีนี้มีความรวดเร็วมากกว่ายานอวกาศหลายเท่า แล้วยังไปได้ไกลและเร็วไม่มีประมาณอีกด้วย ทั้งไปได้เร็วและไกล แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่สามารถพบคำตอบที่สุดของโลกได้
ในสมัยก่อนพุทธกาล มีมาณพหนุ่มคนหนึ่งชื่อโรหิตัสสะ อยากจะรู้ความเป็นจริงของโลก ว่าที่สุดของโลก หรือที่สุดของจักรวาลอยู่ที่ใด เมื่อเรียนจบศิลปวิทยาทั้ง ๑๘ สาขาแล้ว ก็พยายามศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยออกบวชเป็นฤๅษี ตั้งใจฝึกสมาธิอย่างจริงจัง จนสามารถทำฌานสมาบัติให้เกิดได้ เป็นฤๅษีที่มีฤทธิ์มีเดช สามารถเหาะเหินเดินอากาศไปได้ตามความปรารถนา เวลาจะไปแสวงหาอาหารและผลไม้ ท่านก็จะเหาะไปยังป่าหิมพานต์ หรือไม่ก็เหาะข้ามไปยังอุตตรกุรุทวีป แล้วกลับมาบำเพ็ญภาวนาต่อในมนุษยโลก
ท่านฝึกทำสมาธิจนใช้งานได้แคล่วคล่อง นึกอยากไปไหนก็ไปได้ทันที เมื่อมีฤทธานุภาพมากแล้ว จึงตั้งใจว่าจะเดินทางไปให้สุดโลก ได้เข้าฌานสมาบัติ แล้วเหาะไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุดพักในระหว่างทาง มีปีติสุขอยู่ในฌานเป็นภักษาหาร ไม่เหนื่อย ไม่เมื่อย ไม่ต้องเสียเวลานอนหลับพักผ่อน ท่านใช้เวลาเดินทางอยู่อย่างนั้น เป็นเวลานานถึง ๑๐๐ ปี จากจักรวาลหนึ่งไปยังอีกจักรวาลหนึ่ง ถึงแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ก็ยังไปไม่สุด
ลูกธนูที่นายขมังธนูยิงออกจากแล่ง ว่ามีความเร็วปานใด ท่านยังมีความเร็วยิ่งกว่านั้นเป็นแสนเป็นล้านเท่า แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถไปให้สุดจักรวาลได้ ต้องหมดอายุขัยลงในระหว่างทางนั่นเอง เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ไปบังเกิดในโลกสวรรค์ เป็นโรหิตัสสเทพบุตร ผู้มีรัศมีกายสว่างไสว
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก โรหิตัสสเทพบุตรได้ออกจากวิมาน มาถวายบังคมพระพุทธองค์ ซึ่งกำลังประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ได้ทูลถามปัญหาที่ค้างคาใจมานานว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสถานที่ใดที่ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายบ้างไหมหนอ ข้าพระองค์ได้เดินทางตลอดชีวิตเมื่อเป็นมหาฤๅษี แต่ต้องตายเสียในระหว่างทาง ยังไม่สามารถเดินทางให้พ้นจากโลก พ้นจากภพได้เลย แล้วจะมีมนุษย์ที่สามารถไปให้ถึงที่สุดโลกได้หรือไม่ พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ท่านเทพบุตร ที่สุดโลกนั้น บุคคลไม่อาจไปได้ด้วยการเดินทางไกล หากตถาคตยังไม่บรรลุถึงที่สุดของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการกระทำที่สุดทุกข์ ก็แต่บัดนี้ ตถาคตบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางที่ให้ถึงความดับโลก ว่ามีอยู่ในเรือนกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ที่มีใจครองนี้” (อปิจาหํ อาวุโส อิมสฺมึเยว พฺยามมตฺเต กเฬวเร สสญฺญมฺหิ สมนเก โลกญฺจ ปญฺญาเปมิ โลกสมุทยญฺจ โลกนิโรธญฺจ โลกนิโรธคามินิญฺจ ปฏิปทนฺติ ฯ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสต่อไป ว่า “คมเนน น ปตฺตพฺโพ โลกสฺสนฺโต กุทาจนํ น จ อปฺปตฺวา โลกนฺตํ ทุกฺขา อตฺถิ ปโมจนํ
ตสฺมา หเว โลกวิทู สุเมโธ โลกนฺตคู วุสิตพฺรหฺมจริโย
โลกสฺส อนฺตํ สมิตาวิ ญตฺวา นาสึสติ โลกมิมํ ปรญฺจาติ ฯ
แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่มีใครบรรลุถึงที่สุดโลกด้วยการเดินทาง และเพราะยังบรรลุถึงที่สุดโลกไม่ได้ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์ เหตุนั้นแล คนมีปัญญาดี รู้แจ้งโลก ถึงที่สุดโลกแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว รู้ที่สุดโลกแล้ว เป็นผู้สงบแล้ว จึงไม่หวังโลกนี้และโลกอื่น”
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้โลก ถึงที่สุดแห่งโลกด้วยพระญาณ แต่ฤาษีโรหิตัสสะใช้เวลาตลอดชีวิต ๑๐๐ ปี เพื่อค้นหาคําตอบ ชีวิตของฤาษีโรหิตัสสะ จึงเป็นชีวิตที่รองรับพระพุทธญาณของพระพุทธองค์ได้อย่างชัดเจน
สิ่งที่ดีที่สุดของเราทุกคน หรือว่าสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์คือการหยุดการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร เราจะหยุดเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารได้ เราต้องรู้จักทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือเราต้องหยุดให้อาหารอวิชชา ความหลง เราต้องรู้จักสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะอันนี้มันคือไฟท์หยุดวัฏฏะสงสารของเรา ไฟท์หยุดโรค โรคเวียนว่ายตายเกิด ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องรู้จักว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการประพฤติปฏิบัติของเรา ให้ทุกคนเข้าใจอย่างนี้
เราจะวิ่งตามอารมณ์ ตามความคิด ตามผัสสะนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้ทุกคนถือว่าเราโชคดี ความสุข ความดับทุกข์ ของมนุษย์จริงๆ นะ ทุกท่านทุกคนต้องเห็นความสำคัญ เราจะปล่อยโอกาสให้ผ่านไปด้วยความเพลิดเพลิน ความประมาท ความหลง ไม่ได้นะ กาลเวลานั้นเอากลับคืนมาไม่ได้ถึงเราจะอร่อยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ เราก็ต้องรู้จักว่าอันนี้คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ เราจะได้เป็นคนบริโภคทุกอย่างด้วยสติ ด้วยปัญญา
เราเอาอริยมรรคมีองค์ ๘ มาประพฤติปฏิบัติกับเราทุกๆ คน ทุกคนหน่ะไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้แทนเราได้ เน้นเข้าหาศีล เน้นเข้าหาใจเพราะคนเราไม่ได้ต่อสู้กับใคร เราต้องต่อสู้กับตัวเอง การทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้มันเป็นความสุขจริงๆ นะ เป็นความดับทุกข์จริงๆ ถ้าเราไม่เสียสละ มันไม่ได้ เราจะดื้อด้าน ดื้อดึงอย่างนี้ไม่ได้ หมู่คนทั้งหลายที่ยังไม่ได้เป็นมนุษย์ พากันเพลิดเพลินในสิ่งต่างๆ เหมือนที่เรารู้เราเห็นกัน ถือเพียงวิทยาศาสตร์ ทางรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นหลัก มันยังเป็นมนุษย์ที่ยังไม่ฉลาดเพียงพอ เราต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าคนเราถ้าได้เสียสละมันมีความสุขนะ ที่มันมีความทุกข์เพราะว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เพราะแต่ก่อนเราทำงานทุกอย่างเพื่อความสุข แต่อันนี้ไม่ใช่ เราทำเพื่อเสียสละ เพื่อพรหมจรรย์ อย่างนี้ความสุขก็จะเกิดขึ้นแก่มวลมนุษย์ ทุกชาติ ทุกศาสนา ต้องไปอย่างนี้ เราก็จะมีความสุข อบอุ่น ทุกอย่างนั้นมันผ่านมาผ่านไป เราจะไปเอาอะไร มันไม่ได้อะไรหรอก เพราะมันเป็นความหลงเฉยๆ มันไปเมาอารมณ์ เมาความสุดยอดของความหลงเฉยๆ เมาจนกลายเป็น climax คนเราหน่ะเรื่องหยุดทางใจ มันจะได้เข้าสู่ความวิเวก มันจะเอาแค่ความสุขจากการดูหนัง ฟังเพลง เพลิดเพลินไปวันๆ มันไม่ได้ เพราะว่าปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด มันจะหลงอะไรไปมากกว่านี้ มันไม่น่าจะหลง ถึงอร่อยเท่าไหร่มันต้องปล่อย ต้องวางได้แล้ว
พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเป็นพระธรรมวินัยที่นำออกจากวัฏฏะสงสารได้ทุกๆ คนที่ท่านผู้นั้นปฏิบัติตาม ชาวพุทธทุกๆ คนน่ะต้องเอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นเครื่องดำเนินชีวิต ทั้งพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา ต้องดำรงชีวิตด้วยการเอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นหลัก เป็นทางแห่งการดำเนินชีวิต คำว่า “พระ” ก็ได้แก่พระธรรม พระวินัย
“พระ” คือผู้ที่ไม่มีทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน
“พระ” คือผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร
“พระ” คือผู้ที่เดินตามทางสายกลาง คือพระธรรม พระวินัย ละสัญชาตญาณ
สัญชาตญาณก็ได้แก่ ความรู้สึกที่เราติดความสุข ความสะดวก ความสบาย รักสุข เกลียดทุกข์ กลัวความยากลำบาก ระแวงภัย มีความยินดีในการสืบพันธุ์ สิ่งเหล่านี้คือ “สัญชาตญาณ” ได้แก่อบายภูมิ คือ ภูมิของเปรต ของยักษ์ ของมาร ของสัตว์เดรัจฉาน เป็นภูมิของผู้ที่ปฏิบัติตามสัญชาตญาณ คนเราทุกๆ คนน่ะ ถ้าเรามีความโลภ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์แต่จิตใจของเราเป็นเปรตทันที ถ้าเรามีความโกรธ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์แต่จิตใจของเราเป็นยักษ์เป็นมาร ถ้าเรามีความหลง ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน
พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมี ๒๐ อสงไขย แสนมหากัปป์ ได้ตรัสรู้อรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ ท่านมีพระมหากรุณาที่บริสุทธิ์ ได้ประกาศพระธรรมคือคำสอน พระวินัยคือคำสั่ง ในโลกนี้ไม่มีใครที่จะนำเราออกจากความทุกข์ได้ มีเพียงองค์เดียวคือ “พระพุทธเจ้า” นอกจากนั้นไม่มี เราทุกคนจึงต้องมาถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือนิสัยพระพุทธเจ้าได้แก่การปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัยโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้นน่ะ นี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางสายกลาง
ชาวพุทธในปัจจุบันนี้น่ะ นับถือพระพุทธศาสนา แต่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกันไม่ค่อยได้ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา พระก็เหมือนกัน โยมก็เหมือนกัน... พระก็ทิ้งธรรมวินัยไปมาก โยมก็ทิ้งพระธรรม ทิ้งศีล ทิ้งภาวนากันไปมาก พระก็ไปเอาทางวัตถุเอาทางโลก โยมก็ไปเอาทางวัตถุเอาทางโลก พากันทิ้งศีล ทิ้งธรรม ทิ้งคุณธรรม ทิ้งสิ่งที่ประเสริฐที่มนุษย์ที่เกิดมาควรได้รับ
ร่างกายของเราทุกๆ คนที่เกิดมาส่วนใหญ่ก็ไม่เกินร้อยปี ถ้าเกินไปบ้างก็มีเป็นส่วนน้อย ร่างกายของเราทุกๆ คนนี้เป็นวัตถุที่ไม่ถาวร มีความแก่เจ็บตาย พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาร่างกายนี้มาทำคุณประโยชน์ คือเดินตามทางสายกลาง คือ พระธรรม พระวินัย
ปัจจัยทั้ง ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม บ้าน ที่อยู่ที่อาศัย ยานพาหนะที่อำนวยความสะดวกสบาย ยารักษาโรค เป็นสิ่งที่บรรเทาทุกข์พอไม่ให้บีบคั้นร่างกายให้มากเกินไป อาหารที่เราฉันเราทานน่ะคือยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม สิ่งอำนวยความสะดวกสบายนั้นน่ะเป็นสิ่งที่บรรเทาทุกข์ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ สาระสำคัญของชีวิตคือการประพฤติการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั้นน่ะอาศัยอุปกรณ์ประพฤติปฏิบัติคือศีล คือข้อวัตรปฏิบัติ กิจวัตรในชีวิตประจำวัน การดำรงชีวิตของเรานั้นต้องไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าเราเข้าใจน่ะทุกสิ่ง ทุกอย่างนั้นคือการปฏิบัติธรรม เราคิดนี้ก็เป็นเรื่องประพฤติปฏิบัติธรรม เราพูดนี้ก็คือเรื่องประพฤติปฏิบัติธรรม เราทานอาหารก็คือเรื่องการปฏิบัติธรรม เราทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม
เราทุกคนต้องบอกตัวเองได้แล้วว่า เราสมควรที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดมาทำไม กินข้าวก็เสียข้าว ดื่มน้ำก็เสียน้ำ แล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าไม่ให้เราประคับประคองความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่อย่างนี้ ประคับประคองสรรหาความโลภ ความโกรธ ความหลงมาให้ตัวเอง อย่างนี้ไม่ใช่เป็นความฉลาดนะ มันไอคิวมาก แต่ไม่มีอีคิว ถือว่ายังใช้ไม่ได้ เพราะที่ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง สนองความโลภ ความโกรธ ความหลง เราต้องพากันเข้าสู่ระบบธรรมวินัย ถือว่าเราเกิดมาเพื่อมรรค เพื่อผล เพื่อพระนิพพาน กุลบุตรลูกหลานที่พากันมาบวชน่ะ ครูบาอาจารย์พระพุทธเจ้าให้เราพากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เต็มที่ อย่างเรามองดูหลวงปู่มั่น มองดูหลวงพ่อชา หลวงตามหาบัวอย่างนี้เป็นต้น แต่เราพากันมองดูเฉย ๆ เราไม่พากันประพฤติพากันปฏิบัติ เวลาท่านนิพพานไปแล้วนี้เหมือนกับวัดนั้นเป็นวัดร้างไปเลย เพราะเราพากันมองดูเฉยๆ เราไม่ได้พากันประพฤติปฏิบัติตาม
ธรรมชาติพริกมันก็ต้องเผ็ดเหมือนกันหมดทุกเม็ดนะ น้ำตาลมันต้องหวานทุกก้อนทุกเม็ด ไฟมันก็ต้องร้อนเหมือนกันหมด ทุกคนต้องมีจิตสำนึก เราต้องพัฒนาศักยภาพของเราทุกคนให้มันได้เป็นสแตนดาร์ด ให้เป็นมาตรฐาน ทุกคนมีบุญมีวาสนาเหมือนกันหมด ที่มันไม่มีบุญไม่มีวาสนาเพราะเราพากันเข้าใจผิด ไม่พากันประพฤติปฏิบัติ
เพราะธรรมคือสิ่งเดียวกันน่ะ ถ้าใครปฏิบัติก็เหมือนกันหมด อย่างเราเป็นพระอย่างนี้ เราก็ต้องหายใจเหมือนกับประชาชน พักผ่อนเหมือนประชาชน พัฒนาทั้งไอคิว อีคิวเหมือนกันหมด ผู้ที่ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด คือผู้ที่นำตัวเองและนำผู้อื่น ถ้าใครไม่ปฏิบัติก็เรียกว่า "ทาส" ทาสรับใช้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตั้งอยู่ในโมหะบารมี โทสะบารมี โลภะบารมี
เราสร้างวัดสร้างวา สร้างไปทำไม? เราสร้างวัดสร้างวาก็เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อเราจะได้สร้างอริยมรรคมีองค์แปดให้เกิดขึ้นที่กายวาจาใจของเรา เราสร้างบ้านสร้างเรือนก็เพื่อจะได้สร้างอริยมรรค เราจะเอาแต่เปลือก เราไม่เอาแก่น ไม่เอาสาระนั้นไม่ได้ ไม่ถูกต้อง เราเป็นพระ ก็พากันปฏิบัติให้เต็มที่ เราเป็นประชาชนก็ปฏิบัติให้เต็มที่ อย่าไปแยกธรรมะออกจากหน้าที่การงาน เอาธรรมะกับการงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่พึ่งอันประเสริฐของเราคือพึ่งธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ได้แก่อริยมรรคมีองค์แปด ที่อื่นนั้นเราพึ่งไม่ได้หรอกนะ ที่พึ่งของเราที่แท้จริงน่ะคือธรรมวินัย ให้พากันเข้าใจให้ชัดเจน