แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๙๒ วัฏสงสารยาวนานสุดที่จะกำหนดได้ ยังไม่เพียงพออีกหรือ ที่จะเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร คือ ผู้ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ไม่เห็นภัยในความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ไม่เห็นภัยในการที่มีภาระในการที่จะดูแลธาตุ ดูแลขันธ์ การเห็นภัยในความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ถึงเป็นจุดเบื้องต้นของการเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเห็นภัย เห็นโทษ พระพุทธเจ้าท่านถึงได้บำเพ็ญพุทธบารมีเพื่อหาวิธีหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร
คำว่า "สังสารวัฏ" มาจากคำว่า "สังสาระ = การท่องเที่ยวไป" กับ "วัฏฏะ = วงกลม" สังสารวัฏจึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า "การท่องเที่ยวไปเป็นวงกลม" โดยใจความหมายถึง การที่สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เวียนตายเวียนเกิด คือเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดใหม่ แล้วตายอีก แล้วเกิดใหม่อีก วนเวียนอยู่อย่างนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น นี่คือการท่องเที่ยวไปเป็นวงกลม หรือสังสารวัฏตามความหมายของพระพุทธศาสนา
จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หมุนเวียนอย่างซ้ำๆ ซากๆ เช่นนี้จึงทำให้เกิดมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป เช่น น้ำในแม่น้ำลำคลอง เมื่อถูกแสงอาทิตย์แผดเผา น้ำจะกลายเป็นไอน้ำ ลักษณะเช่นนี้จะเกิดการหมุนเวียนอยู่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนี้ ได้ปรากฏในหนังสือปัญหาพระยามิลินท์ซึ่งพระยามิลินท์ได้ถามพระนาคเสนว่า “สังสารวัฏได้แก่อะไร” พระนาคเสนได้ตอบว่า “สังสารวัฏ” ได้แก่ การเวียนว่ายตายเกิด อุปมาเหมือนชาวสวนปลูกมะม่วงไว้ ครั้นเกิดผลก็เก็บมารับประทานแล้วนำเอาเมล็ดมะม่วงนั้นเพาะปลูกต่อไป เมื่อต้นมะม่วงออกผลก็เก็บ มารับประทานแล้วปลูกใหม่อีกต่อไป สังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิดก็เช่นนั้น
ดังที่พระนาคเสนได้อธิบายไว้ว่า สังสารวัฏก็มีอาการหมุนเวียนเช่นนั้นเหมือนกัน คือนับแต่เราเกิดมา เราก็ตั้งต้นเพาะความดีความชั่วเป็นตัวบุญบาปขึ้น เมื่อเราเพาะความดีความชั่วอันเป็นเหตุขึ้นแล้ว เราก็ต้องรับผลของความดีความชั่วนั้น แต่จะช้าหรือเร็วสุดแต่อำนาจบุญบาป ผลนั้นแลจูงใจให้เราเพาะเหตุต่อไปอีก เหมือนผู้ที่ได้รับประทานผลมะม่วงแล้ว เพาะเมล็ดมะม่วงนั้นขึ้นใหม่ต่อไป ฉะนั้นก็ขณะเมื่อเราเพาะเหตุและรับผลอยู่นี้ เราย่อมถูกความแก่ชราพยาธิพัดผันให้ใกล้ความตายเข้าไปทุกๆ ขณะ ครั้นเราถึงวาระแห่งความตาย ความดีความชั่ว คือ บุญบาปที่เราได้เพาะทำไว้ในชาตินั้นก็เริ่มปั่นให้เราหมุนไปเกิดแก่เจ็บตายต่อๆ ไปอีก วนเวียนกันอยู่โดยทำนองนี้เรื่อยไปจนกว่าเราจะได้หยุดเพาะเหตุ ๒ ประการนั้นเสีย
ที่เรียกว่าเป็นการท่องเที่ยวไปก็เพราะการมีชีวิตอยู่เปรียบเสมือนการเดินทาง นับตั้งแต่ปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ของมารดาจนกระทั่งออกมาสู่โลกภายนอก ภาวะทางกายและทางจิตของมนุษย์ไม่เคยหยุดอยู่กับที่แต่ก้าวไปข้างหน้าทุกขณะจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตนี้ก็ผ่านจากภพนี้ไปสู่ภพอื่น เมื่อสิ้นสุดชีวิตในภพอื่นก็ผ่านไปสู่ภพอื่นต่อไปและต่อๆ ไปไม่สิ้นสุด ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า "...ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องขวางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นไปบนอากาศ บางคราวก็ตกลงทางโคน บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย แม้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องขวางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ก็ฉันนั้นแล บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก บางคราวก็จากปรโลกมาสู่โลกนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้..."
"...ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง พึงมีโครงกระดูก ร่างกระดูก กองกระดูกใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละ ถ้ากองกระดูกนั้นพึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่ได้กองรวมไว้แล้วไม่พึงกระจัดกระจายไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้..."
พระพุทธพจน์ที่ได้ยกมากล่าวนี้ แสดงให้เห็นแนวความคิดที่สำคัญในพุทธศาสนาหลายประการ คือ...
ประการแรก แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความคิดหรือความเชื่อเรื่องสังสารวัฏ อันหมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ
ประการที่ ๒ แสดงให้เห็นว่า ตามทรรศนะของพุทธศาสนาเราไม่อาจสาวไปหาจุดเริ่มต้นของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้แต่ละคนได้ว่าเขาเริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อไร จุดเริ่มต้นครั้งแรกคงจะมี เพราะมนุษย์เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ แต่พุทธศาสนาถือว่าจุดเริ่มต้นเช่นนั้นเป็นสิ่งเกินวิสัยที่เราจะสาวย้อนไปหาจนถึงที่สุดได้ จุดที่สุดเบื้องปลายแห่งสังสารวัฏของบุคคลบางคนอาจจะพอกำหนดได้ นั่นคือ สำหรับบุคคลบางคนที่เห็นแจ้งหรือมีโอกาสที่จะเห็นแจ้งในสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ในที่สุดเขาก็จะเข้าถึงความหลุดพ้นจากจากทุกข์เข้าสู่ปรินิพพานไป สังสารวัฏสำหรับบุคคลเช่นนี้ ก็เป็นอันสิ้นสุดลง แต่สำหรับบุคคลที่ไม่มีโอกาสได้พบสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ หรือพบแต่ไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพุทธธรรมที่สุดเบื้องปลายแห่งสังสารวัฏของบุคคลเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจกำหนดได้ เพราะสังสารวัฏของเขาจะไม่มีวันสิ้นสุด
ประการที่ ๓ แสดงให้เห็นว่า อวิชชาและตัณหาเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลต้องเวียนว่ายตายเกิด ท่องเที่ยวเร่ร่อนไปในสังสารวัฏ คำว่า "อวิชชา" ในที่นี้หมายถึงความไม่รู้แจ้งในสัจธรรม ท่านชี้ไปที่ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ได้แก่ ความไม่รู้แจ้งในทุกข์ ไม่รู้แจ้งในเหตุให้เกิดทุกข์ (ทุกขสมุทัย) ไม่รู้แจ้งในความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธ) และไม่รู้แจ้งในข้อปฏิบัติทีนำไปสู่ความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) ถ้ารู้แจ้งในอริยสัจทั้ง ๔ ประการนี้ การท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏก็สิ้นสุดลง แต่เพราะไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดไปไม่มีที่สิ้นสุด ส่วน "ตัณหา" ได้แก่ความทะยานอยาก หมายถึงตัณหา ๓ อย่าง คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา หรือตัณหา ๖ คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา และธัมมตัณหา ทั้งอวิชชาและตัณหาดังกล่าวนี้เป็นกิเลสอันเป็นสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถทำลายกิเลสให้หมดไปจากจิต การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏก็ยังมีอยู่ตราบนั้น
ประการที่ ๔ แสดงให้เห็นความยาวนานของเวลา ๑ กัป ตามทรรศนะของพุทธศาสนาว่า เป็นเวลาที่ยาวนานมาก ถ้าสามารถนำเอาโครงกระดูกของบุคคลหนึ่งที่เวียนว่ายตายเกิดท่องเที่ยวไปมาแล้วๆ เล่าๆ ในสังสารวัฏในช่วงเวลา ๑ กัป มากองรวมกันได้ กองโครงกระดูกก็จะสูงใหญ่เท่ากับภูเขาเวปุลละ ซึ่งย่อมยากที่จะนับจำนวนได้ว่าจำนวนโครงกระดูกทั้งหมดเท่าไร
เกี่ยวกับเวลา ๑ กัปนี้ ในสังยุตตนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า...ดูกรภิกษุ เหมือนอย่างว่านครที่ทำด้วยเหล็ก ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง เต็มด้วยเมล็ดผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนี่งๆ ออกจากนครนั้นโดยล่วงไปหนึ่งร้อยปีต่อเมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้นพึงสิ้นไปหมดไป เพราะความพยายามนี้ (เวลาที่ใช่ในกาลนี้) ยังเร็วกว่า ส่วนเวลากัปหนึ่งยังไม่สิ้นสุดไป กัปนานอย่างนี้แล...บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้วมิใช่กัปหนึ่ง มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องตนเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ ดูกรภิษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียวที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้
พระพุทธพจน์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า เวลา ๑ กัปเป็นเวลาที่นานจนยากที่จะประมาณได้ว่านานเท่าไร ถ้าพิจารณาตามกรณีของการนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดออกจากนครกำแพงเหล็ก ๔ เหลี่ยม ๑๐๐ ปี ต่อ ๑ เมล็ด เวลา ๒,๕๐๐ ปีเศษตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมาจนถึงปัจจุบัน เมล็ดพันธ์ผักกาดเพิ่งถูกนำออกมาเพียง ๒๕ เมล็ดเเท่านั้น ยังไม่ถึงแม้เพียง ๑ หยิบมือ ส่วนที่ยังไม่ได้นำออกมานั้นมากจนสุดประมาณได้ เวลาที่เราท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่กัปเดียว ไม่ใช่ร้อยกัป พันกัป หรือแสนกัป ฟังดูไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่พระพุทธศาสนาก็ไม่เคยบอกว่าต้องเชื่อ เพราะสิ่งเช่นนี้เกินวิสัยที่ใครจะคาดคิด เหมือนกับที่ถามว่าสากลจักวาลที่เรามีชีวิตอาศัยอยู่นี้เริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร และจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ย่อมไม่มีมนุษย์คนใดให้คำตอบได้ ทั้งๆ ที่สากลจักรวาลนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถรับรู้ทางประสาทสัมผัสได้บ้างบางส่วน สากลจักรวาลนี้จึงปรากฏแก้เราในทำนองเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อนมตคฺโคยํ สํสาโร = สงสารนี้มีที่สุดเบื้องต้นและเบื้องปลายอันกำหนดไม่ได้
สมัยหนึ่ง เมื่อตรัสรู้แล้วไม่นาน พระตถาคตเจ้าประทับอยู่ ณ สีตวันใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้นอนาถปิณฑิกเศรษฐียังมิได้รู้จักพระพุทธเจ้า ได้เดินทางไปกรุงราชคฤห์เพื่อเยี่ยมเยียนสหาย และเพื่อกิจการค้าด้วย เมื่อไปถึงเศรษฐีผู้สหายต้อนรับพอสมควรแล้ว ก็ขอตัวไปส่งงานคนทั้งหลายให้ทำนั่นทำนี่จนไม่มีโอกาสได้สนทนากับอาคันตุกะ อนาถปิณฑิกะประหลาดใจจึงถามว่า "สหาย! ครั้งก่อนๆ เมื่อข้าพเจ้ามา ท่านกระวีกระวายต้อนรับอย่างดียิ่ง สนทนาปราศรัยเป็นที่บันเทิงจิตตามฐานะมิตรอันเป็นที่รัก ท่านละงานอื่นๆ ไว้สิ้น มาต้องรับข้าพเจ้า แต่คราวนี้ท่านละข้าพเจ้าแล้วสั่งงานยุ่งอยู่ ท่านมีงานอาวาหวิวาหมงคล หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนาแห่งแคว้นมคธจะเสด็จมาเสวยที่บ้านของท่านในวันพรุ่งหรืออย่างไร?"
"สหาย! เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ "อภัยข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าจะไม่สนใจใยดีในการมาของท่านก็หามิได้ ท่านก็คงทราบอยู่แก่ใจแล้วว่าข้าพเจ้ามีความรักในท่านอย่างไร แต่พรุ่งนี้ข้าพเจ้าอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนร้อย เพื่อเสวยและฉันอาหารที่นี่ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมัวสั่งงานยุ่งอยู่"
"สหาย! ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าหรือ โอ! พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกหรือนี่!"
"ใช่ พระพุทธเจ้า พระโคดมพุทธะออกบวชจากศากยตระกูลมีข่าวแพร่สะพัดไปทุกหนทุกแห่งว่า พระองค์เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ คือมีความรู้ดีและความประพฤติดี เสด็จไปที่ไหนก็อำนวยโชคให้ที่นั่น เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้รู้จักโลก เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นจากกิเลสนิทรา รู้อริยสัจอย่างแจ่มแจ้ง และมีพระทัยเบิกบานด้วยพระมหากรุณาต่อมวลสัตว์ เป็นผู้หักราคะโทสะและโมหะ พร้อมทั้งบาปธรรมทั้งมวลแล้ว เสด็จเที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์แสดงธรรมอันไพเราะ ทั้งเบื้องต้น ท่านกลาง และที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เต็มบริบูรณ์ทั้งหัวข้อและความหมาย สหาย! ท่านไม่ทราบการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าดอกหรือ?"
คำว่า 'พุทโธ' นั้น เป็นคำที่ก่อความตื่นเต้นให้แก่อนาถปิณฑิกเศรษฐียิ่งนัก อุปมาเหมือนคนที่เป็นโรคซึ่งทรมานมานานปี เมื่อทราบว่ามีหมอสามารถจะบำบัดโรคนั้นได้จะดีใจสักเพียงใด ดังนั้นอนาถปิณฑิกะจึงกล่าวว่า "สหาย! ค่าอาหารสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สำหรับพรุ่งนี้เป็นจำนวนเท่าใด ข้าพเจ้าขอออกให้ทั้งหมด"
"อย่าเลย สหาย!" เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ "อย่าว่าแต่ท่านจะจ่ายค่าอาหารเลย แม้ท่านจะมอบสมบัติในกรุงราชคฤห์ทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็หายอมให้ท่านเป็นเจ้าภาพสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าไม่ กว่าข้าพเจ้าจะจองได้ก็เป็นเวลานานเหลือเกิน ข้าพเจ้าคอยโอกาสนี้มานานนักหนาแล้ว สมบัติบรมจักรข้าพเจ้ายังปรารถนาน้อยกว่าการได้เลี้ยงพระพุทธเจ้า, ๗ วันนี้เป็นวันของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ใครเป็นอันขาด" เมื่ออนาถปิณฑิกะวิงวอนว่า ขอออกค่าใช้จ่ายสักครึ่งหนึ่ง เศรษฐีกรุงราชคฤห์ก็หายอมไม่
อนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้อันกุศลธรรมแต่ปางบรรพ์ตักเตือนแล้ว เมื่อได้ยินว่า "พุทโธ" เท่านั้นปีติก็ซาบซ่าไปทั่วสรรพางค์ ปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลานั้น แต่บังเอิญเป็นเวลาค่ำ ประตูเมืองปิดเสียแล้ว จิตใจของเขาจึงกังวลถึงแต่เรื่องที่จะเฝ้าพระศาสดา ไม่อาจหลับลงได้อย่างปกติ เขาลุกขึ้นถึง ๓ ครั้งด้วยสำคัญว่าสว่างแล้ว แต่พอเดินออกไปภายนอกเรือน ความมืดยังปรากฏปกคลุมอยู่ทั่วไป ครานั้นความสะดุ้งหวาดเสียว และความกลัวก็เกิดขึ้นแก่เขา เขากลับมานอนรำพึงถึงพระศาสดาอยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ
ในที่สุดเวลาก็มาถึง ท้องฟ้าเริ่มสาง เสียงไก่ขันรับอรุณแว่วมาตามสายลม เศรษฐีเดินออกจากตัวเรือนมุ่งสู่ประตูเมือง ประตูยังไม่เปิด อนาถปิณฑิกต้องขอร้องวิงวอนคนเฝ้าประตูเสียนานเขาจึงยอมเปิดให้ เมื่อออกจากประตูเมืองแล้ว ทางที่จะไปสู่ป่าสีตวันก็เป็นทางเปลี่ยว การสันจรยังไม่มี การเดินทางจากเมืองเข้าไปในป่านั้นเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนขลาด เศรษฐีเกือบจะหมดความพยายาม มีหลายครั้งที่เขาจะถอยกลับเข้าสู่เมือง แต่พอเขาหยุดยืนนั่นเอง เสียงก็ปรากฏขึ้นเหมือนหวาดแว่วมาจากอากาศว่า เศรษฐี! ม้าตั้งร้อย โค แพะ แกะ เป็ด ไก่ อย่างละร้อยๆ ถ้าท่านได้เพราะถอยกลับเพียงก้าวเดียว ก็จะไม่ประเสริฐเหมือนก้าวไปข้างหน้าเพียงก้าวเดียว จงก้าวต่อไปเถิด เศรษฐี! การก้าวไปข้างหน้าของท่าน จะเป็นประโยชน์แก่ท่านและแก่โลกมาก
เศรษฐีมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าสีตวัน อันเป็นที่ประทับแห่งพระศาสดา เวลานั้นพระพุทธองค์ตื่นบรรทมแล้วทรงแผ่ข่ายพระญาณพิจารณาดูสัตว์โลกที่พระองค์ควรจะโปรด เห็นอุปนิสัยของอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่าเป็นผู้ควรแก่การบรรลุธรรม จึงทรงจงกรมคือดำเนินกลับไปกลับมาอยู่ ณ บริเวณที่ประทับ เมื่อเศรษฐีเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "เข้ามาเถิด สุทัตตะ! ตถาคตอยู่นี่"
พระดำรัสตรัสเรียกเศรษฐีโดยชื่อว่า "สุทัตตะ" โดยถูกต้องนั้น นำความปราโมชมาให้เศรษฐีอย่างเหลือล้น เขาไม่เคยรู้จักพระศาสดา และพระศาสดาก็ไม่เคยทรงรู้จักเขา แต่พระองค์สามารถเรียกชื่อเขาได้ เศรษฐีหรือจะไม่ปลื้มใจ เขาซบหน้าลงแทบบาทมูลแห่งพระตถาคตเจ้า แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระศากมุนี! เป็นโชคดีของข้าพระพุทธเจ้ายิ่งแล้วที่ได้มาพบพระองค์สมปรารถนา ข้าพระองค์รอคอยจนพระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองเพื่อเสวยภัตตาหารไม่ไหว จึงออกมาเฝ้าแต่เช้ามืด พระองค์ผู้เจริญ! เมื่อคืนนี้ ราตรีช่างยาวนานเสียเหลือเกิน ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าเหมือนหนึ่งเดือน เป็นเวลานานเหลือเกินที่สัตว์โลกจะได้สดับคำว่า 'พุทโธ พุทโธ'
"ดูก่อนสุทัตตะ! ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้วรู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏคือการเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้พระสัทธรรมยังยาวนานกว่านั้น ดูก่อนสุทัตตะ! สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อยๆ และการเกิดบ่อยๆ นั้น ตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวด ทรมาน และตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้วจะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว "ดูก่อนสุทัตตะ! เมื่อรากยังมั่นคงแม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว มันก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกับเมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นเสียจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ "สุทัตตะเอย! น้ำตาของสัตว์ผู้ต้องร้องไห้เพราะความทุกข์โทมนัสทับถม ในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารนี้มีจำนวนมากเหลือคณา สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีดลเล่า ถ้านำมากองรวมๆ กันมิได้กระจัดกระจายคงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้ไม่มีช่องว่างเลย แม้แต่นิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูกแห่งสัตว์ผู้ตายแล้วตายเล่า เป็นที่น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำไปบนกองกระดูก เขานอนบนกองกระดูกนั่งบนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น "ดูก่อนสุทัตตะ! ไม่ว่าภพไหนๆ ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกองเพลิงทั้งสิ้น สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในกองเพลิง คือทุกข์ เหมือนเต่าอันเขาโยนลงไปแล้วในกองไฟใหญ่ฉะนั้น".
พระศาสดาทรงเทศนาอริยสัจแต่โดยย่อแก่ท่านสุทัตตะ จนเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัยแล้ว ทรงย้ำในตอนสุดท้ายว่า "ดูก่อนสุทัตตะ! การได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก การดำรงชีพอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นของยาก การได้ฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นของยาก และการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เป็นของยาก ดูก่อนสุทัตตะ! เพราะเหตุนั้นการแสดงธรรมของสัตบุรุษก็ตาม การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็ตาม ล้วนเป็นเหตุนำความสุขความสงบมาสู่โลก"
เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเห็นภัย เห็นโทษ พระพุทธเจ้าท่านถึงได้บำเพ็ญพุทธบารมีเพื่อหาวิธีหลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร
พระพุทธเจ้าถึงให้เราระลึกถึงความแก่ ระลึกถึงความเจ็บ ระลึกถึงความตาย ระลึดถึงความพลัดพราก เราจะได้เกิดนิมิตทางจิตใจ พระพุทธเจ้าถึงถามพระอานนท์ที่ยังเป็นเป็นพระโสดาบัน ว่า ระลึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระพุทธเจ้าก็บอกพระอานนท์ว่า “ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก” แสดงถึงว่าพระพุทธเจ้าท่านระลึกถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ทุกลมหายใจ ถึงไม่ได้หลง ไม่ได้เพลิดเพลิน ไม่ได้ตั้งอยู่ในความประมาท ถึงได้เอาปัจจัยทั้ง ๔ นี้เป็นการดำเนินชีวิต ปัจจัยทั้ง ๔ นี้ถึงมีแต่คุณ สำหรับพระพุทธเจ้า
เราพากันมาคิดดูดีๆ อย่างพระนี้ หลายๆ รูป อย่างพระภิกษุหลายๆ รูป ผู้ที่มาบวช ครั้งแรกก็เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เมื่อมาบวช มาเจอลาภสักการะ ก็พากันหลงประเด็น เพราะผัสสะทั้งหลายมันพาให้เราหลง เช่น อากาศหนาวก็ทำให้เราหลง อากาศร้อนก็ทำให้เราหลง สิ่งอำนวยความสะดวกสบายก็ทำให้เราหลง ที่เขาสรรเสริญเยินยอก็ทำให้เราหลง ความสุขก็ทำให้เราหลง พระพุทธเจ้าถึงไม่ได้ตรัสว่า ความสุข ท่านตรัสว่า ความดับทุกข์ เพราะสิ่งที่มันเป็นผัสสะในชีวิตประจำวัน มันเป็นนิมิต นิมิตหมายที่จะดึงเราไป
ผัสสะทั้งหลายทั้งปวง ทำให้เราเกิดเวร เกิดกรรม เกิดภัย ถ้าเราไม่เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ไฟท์ติ้งที่มันเกิดผัสสะ เกิดอารมณ์ เราต้องรู้จัก เราจะได้ตั้งมั่นในสัมมาสมาธิ สิ่งที่จะพาเราไปได้คือยาน ยาน คือ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ยานก็คือศีล สิกขาบทน้อยใหญ่ สมาธิคือความตั้งมั่น เราต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง เกิดติดต่อต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สำคัญ เหมือนเราทุกคนหายใจมันต้องติดต่อต่อเนื่องไปเรื่อย เราถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ เราจะไปทิ้งศีล ทิ้งข้อวัตร ปฏิบัติ ที่เป็นหลักของใจนี้ไม่ได้ เราต้องมีความตั้งมั่น ต้องมีสัมมาสมาธิ ถ้าไม่อย่างนั้น ถ้าศีลเราไม่ดี เราก็ต้องเป็นผู้แพ้ ใจของเราต้องมัว เพราะถนนที่เราจะไปมันไม่มีที่จะไปได้ ผู้ที่เรียนที่ศึกษา ถึงจะจบ ป.ธ.9 ก็ไม่มีทางจะไป เพราะมันเป็นเพียงปรัชญา เอาไปสอนคนอื่นก็เป็นเพียงจิตวิทยา การปฏิบัติของเราต้องติดต่อต่อเนื่อง เราจะเข้าสู่กระแสของมรรคผลพระนิพพาน หรือกระแสของความเป็นพระอริยเจ้า
เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติติดต่อ ต่อเนื่องมันถึงจะไปได้ ที่จริงมันไม่ยาก แต่ว่าเราทุกคนมันติดในความอร่อย ติดในความเพลิดเพลิน ถ้าเราปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง มันถึงจะได้ผล ทุกท่านทุกคนต้องหยุด หยุดมีเซ็กส์ หยุดมีเพศสัมพันธ์ทางความคิดทางอารมณ์ พระภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ถึงไม่มี เดรัจฉานกถา เดรัจฉานวิชา มันต้องสละซึ่งเดรัจฉานกถา เดรัจฉานวิชา ต้องละตัวละตนถึงไม่เป็นไสยศาสตร์
การคลุกคลี ด้วยหมู่ ด้วยคณะ ถึงไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ท่านก็ให้เราหมั่นประชุมทำความดีพร้อมๆ กัน ทุกท่านทุกคนต้องเน้นพระนิพพาน เน้นมรรคผล เรามองตัวอย่างแบบอย่างผู้ที่ไม่มุ่งมรรคนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรายุ่งเกี่ยวเลย เราดูตัวอย่างแบบอย่างตอนที่ลงอุโบสถมีพระที่ทำผิดศีล ทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง พระพุทธเจ้าไม่ยอมแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เพราะมันไม่ได้ผล เพราะจะให้พระภิกษุผู้มุ่งมรรผลพระนิพพานได้มองตัวอย่างแบบอย่างที่เราต้องคบกับบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช่คบกับคนพาล
คนเก่งคนฉลาดมันมีเยอะ เราสู้พวกตะวันตกยังไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์เขาเก่งกว่า แต่ว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้า ได้ตามพระพุทธเจ้านี้มันหาไม่มี ที่พึ่งของเราคือธรรมวินัย ทุกท่านทุกคนก็จะพากันมีความสุข ความดับทุกข์ มันจะได้มีโอกาสมีเวลาฝึกตัวเอง ไม่ปล่อยเวลาผ่านไปโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติตัวเองฝึกตัวเอง เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าให้ถือนิสัยว่า ระบบความคิด ถ้าเราเข้าสู่ระบบความคิด ระบบคำพูดการปฏิบัติ หลายวัน หลายเดือนก็ยิ่งดี การที่ไปอยู่กับสิ่งภายนอก มันเป็นสิ่งที่เสียหาย การที่นักปฏิบัติธรรม การที่เราจะไปอยู่กับโทรศัพท์ ไปอยู่กับคอมพิวเตอร์ อยู่กับการงานต่างๆ มันขาดการติดต่อต่อเนื่อง ขาดสติสัมปชัญญะ ทางกระแสทางธรรมมันยาก มันไม่สมดุล เขาเรียกว่ามันทำวิปัสสนาไม่ได้ นักปฏิบัติธรรมถึงไม่ต้องไปสนใจอะไร ทิ้งทางโลก ทางวัตถุ มีแต่แก้ที่จิตที่ใจของตัวเองเพื่อให้มันติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเราทำอย่างนี้มันก็ง่าย
นักปฏิบัติธรรมเราไม่ต้องห่วงเรื่องอยู่ เรื่องกิน พยายามแก้ไขที่ตัวเอง เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทั้งวันทั้งคืนอย่างนี้มันถึงถูกต้อง เดินจงกรม นั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืนมันจะไม่เครียดหรอ? มันไม่เครียด เพราะว่าเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อจะไปเอา เราจะไปเอาเมื่อไหร่มันจะเครียด เราทำทุกอย่างเพื่อเสียสละ การเสียสละนี้เรียกว่าเป็นศีล เป็นปัญญา เป็นสมาธิ เป็นวิปัสสนา มันเป็นความดับทุกข์ สงบเย็น เราไม่ต้องไปตามใคร เราตามพระพุทธเจ้า เราไปตามอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มันใจอ่อน ใจอ่อนเหมือนกุลบุตรลูกหลานทางภาคเหนือ สมัยโบราณรู้ว่าศาสนาดี ก็พากันมาเพื่อปฏิบัติ เพื่อมรรคผลนิพพาน แต่เด็กน้อยมันใจอ่อนมันต้องทานอาหารตอนเย็น ทานแล้วมันก็ติด เพราะว่ามันใจอ่อน บางทีใหญ่โตมาแล้วก็ยังติดในความใจอ่อนอยู่ บางคนเป็นระดับครูบาอาจารย์ก็ยังทานอาหารตอนเย็น ถ้าไม่เกรงใจคนภาคอื่น คงจะน่าเกลียดมากกว่านี้ เพราะมันใจอ่อน เหมือนกับพระพุทธเจ้าให้พระฉันข้าววันละครั้ง พวกที่สุขภาพไม่ดี พากันมาบวชแต่มันใจอ่อน ก็พากันไปฉันเพล มันติดนิสัย เลยฉันเพลกันทั้งประเทศ เพราะความใจอ่อน เหมือนกับพระ แม่ชี ไปหาหมอ หมอเขาบอกว่า ยาตัวนี้ต้องมีอาหาร มันจะไม่กัดกระเพราะ พระเลยใจอ่อน พวกหลวงพ่อหลวงตา เลยพากันติดอาหารเย็นลับๆ โดยที่ไม่เปิดเผย เพราะใจอ่อน เหมือนกับประชาชนกินข้าวตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น แล้วก็ติด จะไปถือศีลอุโบสถไม่ได้ เพราะใจอ่อน
พระวัดบ้านเลยมองว่าพวกที่ปฏิบัติเคร่งๆ มีแต่พวกกรรมฐานห่มผ้าดำๆ ฉันข้าวมื้อเดียว ใจอ่อนเหมือนที่ใจของเราชอบคิดอย่างนู้น คิดอย่างนี้ คิดไปทางกาม ใจของเรามันอ่อน ใจมันไม่เข้มแข็ง เราไม่ได้ต้องใจ ไม่ได้สมาทาน การบวชของเรามันก็ไปไม่ได้ เพราะเราไม่ได้หยุดมีเซ็กส์ทางความคิด ทางอารมณ์ มันไปไม่ได้เพราะมันไม่ได้เข้าหลักศาสนา เป็นผู้มีปัญญาเฉยๆ ใจอ่อนเหมือนพวกที่จะเป็นเด็กน้อย ติดโทรศัพท์ติดเกมส์ พวกคนแก่ที่คุณแม่ คุณพ่อ อากง อาม่าติดโทรศัพท์ติดกันทั้งบ้าน เพราะความใจอ่อนเลยเป็นของจำเป็น เราเลยพากันหยุดตัวตนไม่ได้ หยุดกามไม่ได้ คนใจอ่อนก็เลิกอะไรไม่ได้นะ เพราะว่าพระมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ถ้าได้อาหารสำรองตอนเพล สุขภาพน่าจะดี หลวงพ่อบอกว่าอย่างนี้ไม่ได้ ทุกคนหน่ะรู้นะว่าเป็นโรคใจอ่อน โรคไม่มีสัมมาสมาธิ รู้ว่าอันนี้ไม่ดีต้องหยุด ต้องเบรค เพื่อให้เกิดเป็นศีล เกิดเป็นสัมมาสมาธิ เพราะคนเรามันเป็นโรคใจอ่อน ประชาชนถ้าไม่ได้กินอาหารเย็นมันนอนไม่หลับ พวกนี้เป็นโรคใจอ่อน โรคใจอ่อนเป็นโรคที่ไม่มีเบรค คนเรามันใจอ่อนมันหยุดความคิดตัวเองไม่ได้หรอก การประพฤติปฏิบัติ เรายอมตัดอวัยวะทิ้งเพื่อรักษาชีวิต เรายอมสละชีวิต เพื่อรักษาธรรม มันต้องอย่างนี้ ถึงไม่เป็นสีลัพพตปรามาส มันต้องฝึกตัวเอง ปฏิบัติตัวเองนะ