แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๘๘ รู้จักจริตทั้ง ๖ ที่อยู่ในใจ แก้ไขให้ถูกต้องด้วยมหาสติปัฏฐาน ๔
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระถามหลวงพ่อว่า “ทำไมรู้อยู่แล้วมันละไม่ได้? พระพุทธเจ้าบอกว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่เรารู้จัก เรารู้ เมื่อเรารู้แล้ว เราก็หยุดตัวเอง เหมือนเราต้มเราแกงอาหาร เรารู้แล้ว ต้องการให้มันเย็น เพราะอาหารมันก็สุกแล้ว เราก็ยกลง อีกไม่นานมันก็จะเย็น คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ท่านถึงตรัสว่า มรรคคือการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าเราต้องการละ มันละไม่ได้หรอก มันก็ยิ่งเพิ่มปัญหา ความอดทนนั้นถึงเป็นโอวาทพระปาฏิโมกข์
คนเราหน่ะ พระพุทธเจ้าถึงบอกให้รู้ในใจของตัวเองว่าจริตในใจของตัวเองเป็นอย่างไร บางคนก็เป็นคนที่โมโห เพราะว่ามันไม่ได้ตามใจ เราก็ต้องหยุดตัวเอง เพราะเราจะไปแก้มันไม่ได้ อย่างเราโมโหเราก็ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง ถ้าจะให้ดี เราต้องขอบใจความโกรธอีก เราจะได้ทำใจ เราจะได้ปฏิบัติ เราจะได้หยุดตัวเอง และต้องเจริญเมตตาเยอะๆ เพราะเราทุกคนต้องทิ้งอดีตให้มันเป็นเลขศูนย์ ด้วยการไม่เพิ่ม ไม่เติม ไม่ต่อ และไม่ต้องไปละ ถ้าเราเจริญเมตตาเยอะๆ แต่ทางฝ่ายโกรธก็ไม่ต้องไปคิดมันเลย ไก่เขาฟักไข่ใช้เวลา ๓ อาทิตย์ มันก็ออกลูกเป็นตัว
ใจของเราเมื่อได้รับการอบรมจากสิ่งแวดล้อมชนิดใดบ่อยๆ หรือเข้าไปเสพคุ้นกับสิ่งใดบ่อยๆ ก็จะเกิดความคุ้นเคยและพึงพอใจในสิ่งนั้น แล้วก็เลยเกาะเกี่ยวพัวพันอยู่กับสิ่งนั้น การที่จิตท่องเที่ยววนเวียนไปตามอารมณ์ประเภทที่จิตชอบนั่นเอง เรียกว่า "จริต" คำว่า จริตก็แปลว่าจิตที่เที่ยวไป เช่นจิตที่เที่ยวไปในทางดี เราเรียกว่าสุจริต ถ้าจิตเที่ยวไปในทางชั่ว เรียกว่าทุจริต
จริต ยังแปลได้ว่า ความประพฤติ, กิริยาอาการ การอบรมหรือการเสพคุ้นกับสิ่งใดบ่อยๆ จนเกิดเป็นความเคยชิน ย่อมมีอิทธิพลส่งผลให้เกิดเป็นอุปนิสัยได้ อุปนิสัย แปลว่า ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นฐานมาในสันดานดังนั้น ถ้าจิตของเราชอบเที่ยวไปในทางไหนบ่อยๆ จนเกิดเป็นความเคยชินขึ้นแล้ว ก็จะกลายมาเป็นจริต หรืออุปนิสัย ของคนคนนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น จริต คือ ลักษณะนิสัยหรือความประพฤติพื้นฐานที่ประพฤติปฏิบัติ ตามความเคยชินของจิตใจเดิมของบุคคลนั้น
ในทางพุทธศาสนากล่าวถึงเหตุที่คนเรามีจริตแตกต่างกันนั้นเกิดจาก "กรรมในอดีต" และสัดส่วนองค์ประกอบของ "ธาตุทั้ง ๔" ภายในร่างกายของแต่ละคน
การที่จะรู้ว่าใครมีจริตแบบไหนเราสามารถดูจากอุปนิสัยของคนคนนั้น และเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ เราจึงจะมาศึกษาถึงรายละเอียดของอุปนิสัยของคนที่มีจริตต่างๆ เพื่อทำให้เราสามารถทราบได้ว่าตัวเราและบุคคลอื่นๆ มีจริตเป็นเช่นไร
ซึ่งจริตนั้นมีอยู่ ๖ แบบใหญ่ๆ แต่ละจริตก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป เมื่อเราได้ศึกษาจนทราบแล้วว่าตนเองมีจริตแบบใดผสมอยู่บ้าง ก็จะสามารถนำไปประยุกต์ปรับปรุงแก้ไขในด้านที่ไม่ดีให้ลดน้อยจนหมดไป และพัฒนาในด้านดีให้เพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับบุคคลต่างๆ ในสังคมที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
อีกทั้งการศึกษาทำความเข้าใจในจริตของแต่ละบุคคลนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบันซึ่งมีความหลากหลายทางอารมณ์ เพื่อที่เราจะได้หยั่งลึกรู้ถึงอุปนิสัยใจคอของคนที่เราจะต้องเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วย ทำให้การวางตัวและการปฏิบัติต่อบุคคลที่เราเข้าหา เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามจริตอัธยาศัยของแต่ละคน
คนโดยทั่วไป จะไม่แสดงจริตของตนในที่สาธารณะ เพราะมีข้อบังคับ หรือต้องทำตามกฎระเบียบนั้น แต่เมื่ออยู่ในที่ส่วนตัว และไม่มีใครรู้เห็น เช่นห้องนอนของตนเอง จริตของตนจะแสดงออกอย่างชัดเจน การรู้จักสังเกตจริตของตน ทำให้รู้จักแก้ไข ขจัดนิวรณ์ได้โดยใช้กรรมฐานพิเศษ เฉพาะ ให้เหมาะกับจริตของตน ซึ่งต้องกระทำบ่อย ๆ เปรียบเสมือนยารักษาโรคเฉพาะทาง สำหรับคนนั้น ๆ เป็นกรณี ๆ ไป และกรรมฐานพิเศษเหล่านั้น สามารถปฏิบัติได้พร้อมกันกับอานาปานสติ
จริตนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 6 ประเภท หรือ 6 จริต คือ
๑. ราคจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางราคะ รักสวยรักงาม ละมุนละไม ชอบสิ่งที่สวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ สัมผัสที่นุ่มละมุน และจิตใจจะยึดเกาะกับสิ่งเหล่านั้นได้เป็นเวลานานๆ สังเกตดูห้องนอนของตนเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ละเอียด ประณีต
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันปั่นป่วนเพราะหญิงรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสีมีพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ได้จุดไฟตั้งไว้ตั้งแต่วันลูกชายเกิดไม่ให้ดับเป็นเวลา ๑๖ ปีแล้ว วันหนึ่ง มารดาเรียกลูกชายมาบอกว่า "ลูกรัก แม่ได้จุดไฟตั้งไว้ในวันที่ลูกเกิดเรื่อยมา ถ้าหากเจ้าประสงค์จะไปพรหมโลก จงเข้าป่าบูชาพระอัคนิเทพเจ้าเถิด ถ้าอยากจะครองเรือน จงไปเรียนศิลปวิทยากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลาเถิด "
ลูกชายตัดสินใจเดินทางไปเรียนที่เมืองตักกสิลาจนสำเร็จแล้วกลับมาบ้าน ส่วนมารดาไม่อยากจะให้ลูกชายครองเรือน อยากจะแสดงโทษของสตรีหวังให้ลูกชายออกบวช จึงส่งลูกชายให้กลับไปเรียนอสาตมนต์ที่สำนักของอาจารย์ ณ เมืองตักกสิลาอีก ที่สำนักเรียนเมืองตักกสิลา อาจารย์มีมารดาผู้แก่ชรามีอายุได้ ๑๒๐ ปีอยู่คนหนึ่ง ท่านจะเป็นผู้ปรนนิบัติมารดาด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ป้อนข้าว ป้อนน้ำตลอดมา ผู้คนชาวเมืองจึงรังเกลียดท่าน ท่านจึงได้พามารดา เข้าไปอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นลูกศิษย์กลับมาหาอีกครั้ง อาจารย์ทราบว่า ต้องการจะมาเรียนอสาตมนต์ จึงเข้าใจเจตนาของมารดาของเขา
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อาจารย์จึงมอบหน้าที่ปรนนิบัติมารดาผู้ชราให้แก่ลูกศิษย์ไป พร้อมกับสั่งสอนว่า "เจ้าจงอาบน้ำ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ มารดาของเรา ปรนนิบัติด้วยการนวดมือ เท้า ศีรษะและหลังของท่าน พร้อมกับพูดยกย่องคำหวานเป็นต้นว่า คุณแม่ครับ ถึงจะแก่เฒ่าแล้ว ร่างกายของคุณแม่ยังดูกระชุ่มกระชวยอยู่เลย สมัยเป็นสาวคุณแม่คงจะสวยสะคราญหาที่เปรียบไม่ได้ ถ้าหากมารดาของเราพูดอะไรกับเจ้า ต้องบอกให้เราทราบทั้งหมดห้ามปิดบัง เจ้าทำเช่นนี้ถึงจะได้อสาตมนต์ "
เขาได้ปรนนิบัติมารดาของอาจารย์เช่นนั้นตลอดมา จนนางคิดว่าหนุ่มน้อยคนนี้คงต้องการอภิรมย์กับเราเป็นแน่นอน วันหนึ่งนางจึงถามชายหนุ่มว่า " เธอต้องการฉันใช่ไหม " เขารับคำว่า " ครับ แต่ผมเกรงกลัวอาจารย์ " นางพูดว่า " ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงฆ่าลูกฉันเสียสิ " เขากล่าวว่า " ผมเรียนหนังสือกับท่าน จะให้ฆ่าท่านได้อย่างไร " นางพูดว่า " ถ้าหากเธอไม่ทอดทิ้งฉันจริง ฉันจะฆ่าเขาเอง"
ธรรมดาหญิงส่วนมากไม่น่ายินดี มีลับลมคมใน ถึงจะแก่แล้วก็ยังมีกิเลสราคะถึงกับคิดจะฆ่าลูกชายตนเอง
ชายหนุ่มได้บอกเรื่องทุกอย่างแก่อาจารย์ อาจารย์จึงทราบว่ามารดาตนจะสิ้นชีวิตในวันนี้ จึงเรียกให้ลูกศิษย์ไปตัดต้นมะเดื่อมาทำเป็นรูปหุ่นเท่าตัวให้นอนในที่นอนคลุมผ้าทั่วร่าง ผูกราวเชือกไว้เสร็จแล้ว มอบขวานให้ลูกศิษย์นำไปมอบให้มารดา บอกว่าอาจารย์เข้านอนแล้ว
นางเดินไปตามราวเชือกแล้วเงื้อขวานจามลงบนหุ่นไม้นั้นหวังให้ตายคาที่ พอเกิดเสียงดังกึก จึงทราบว่าฟันถูกไม้ ทันใดนั้นเองลูกชายก็โผล่มาถามว่าแม่ทำอะไร นางทราบว่าถูกหลอกแล้ว จึงล้มลงสิ้นใจตาย ณ ที่นั้นนั่นเอง ความที่จริงถ้านางไม่เดินมาก็จะนอนตายที่ศาลาของตนเองอยู่แล้ว นางเดินมาด้วยอำนาจกิเลสตัณหา
อาจารย์ได้ทำการเผาศพมารดาแล้วเรียกลูกศิษย์มาสอนว่า "อสาตมนต์ไม่มีดอก ขึ้นชื่อว่าหญิงส่วนมาก ไม่รู้จักจืดจาง มารดาของเจ้าส่งเจ้ามาเพื่อให้รู้จักโทษของหญิง บัดนี้ เจ้าเห็นโทษของมารดาเราแล้ว พึงทราบว่า ผู้หญิงส่วนมากไม่รู้จักอิ่ม ชั่วช้า " แล้วให้เขากลับบ้าน เมื่อชายหนุ่มกลับไปถึงบ้าน มารดาจึงถามว่า " บัดนี้เจ้าจักบวชหรือจะครองเรือน "
เขาได้ตัดสินใจออกบวชเพราะเห็นโทษของหญิง และได้กล่าวคาถาว่า "ขึ้นชื่อว่า หญิงในโลกนี้ไม่น่ายินดี เพราะหญิงเหล่านั้นไม่มีขอบเขต มีแต่ความกำหนัด คะนอง เหมือนเปลวไฟไหม้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพเจ้า จักละทิ้งหญิงทั้งหลายเหล่านั้น ไปบวชเพิ่มพูนวิเวก "
ท่านอธิบายไว้ว่า (พราหมณ์มาณพกล่าวว่า) คุณแม่ครับ ผมต้องบวช กระทำกสิณบริกรรม ให้สมาบัติทั้ง ๘ และอภิญญาทั้ง ๕ บังเกิดแล้ว จักปลีกกายออกจากหมู่ และพรากจิตจากกิเลส เพิ่มพูนวิเวกนี้ จักเป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เรื่องเหย้าเรือนสำหรับผม เลิกกันที.
พราหมณ์มาณพติเตียนหญิงทั้งหลายอย่างนี้ กราบลามารดาบิดาบวชแล้ว เพิ่มพูนวิเวกมีประการดังกล่าวแล้ว ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายไม่รู้จักจืดจาง ลามก มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ให้ทุกข์อย่างนี้ ทรงแสดงโทษของหญิงทั้งหลาย ประกาศสัจธรรม. ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว.
พระศาสดาทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า มารดามาณพในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุณี ชื่อ ภัททกาปิลานีเถรี ในบัดนี้. บิดาของมาณพได้เป็น พระมหากัสสปะ มาณพผู้เป็นศิษย์ได้มาเป็น พระอานนท์ ส่วนอาจารย์ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
ชาดกเรื่องนี้ ต้องทำใจให้เป็นกลาง อย่ายึดว่าตัวเองเป็นหญิงหรือชาย เพราะทั้งหญิงและชาย หากไม่ระวังตัวก็มีโอกาสอยู่ในเวรกาเม เท่าๆ กัน ทุกคนจึงควรตระหนักว่า ๑. การประพฤติพรหมจรรย์หรือการครองตนเป็นโสด เป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ
๒. หญิงหรือชายที่ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ ต้องระวังตัวอย่าคลุกคลีกับเพศตรงข้าม เพราะเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็ย่อมมีโอกาสพลาดพลั้งได้ แม้แต่การคบเพื่อนเพศเดียวกัน ก็ต้องเลือก อย่าคบกับคนที่เจ้าชู้ รักสวยรักงามเกินไป เพราะเขาจะชักนำให้เราสนใจเรื่องเพศจนกามกำเริบได้
กรรมฐานพิเศษ - อสุภกรรมฐานบ่อยๆ เพื่อปรับจิตไม่ให้ไปยืดถือความสวยงาม จนทำให้เกิดกามฉันทะนิวรณ์
๒. โทสจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อน วู่วาม หงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง โผงผาง เจ้าอารมณ์ ดูห้องนอนของตนไม่เรียบร้อย เสื้อผ้า ข้าวของกระจุยกระจายไปคนละทิศทาง
ส่วนนางพราหมณี พอสามีเอ่ยถามดังนั้น นางจึงพิจารณาดูรอยเท้าที่สามีชี้ให้ดูนั้น อย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว ใช้วิชาว่าด้วยการดูลักษณะเท้าคนประกอบ ตอบสามีของนางไปทันใดว่า “อะไรกัน รอยเท้าบุคคลนี้ นับเป็นเลิศในธรณี ไม่มีชายใดเปรียบปานได้เลย ก็แล ยังเป็นรอยเท้าของคนที่หมดกิเลส ปฏิเสธการครองเรือนแล้วด้วย...” ---“แม่นางว่ากระไร ข้ายังฟังไม่ถนัดนัก...” พราหมณ์ผู้สามีเอ่ยถาม ---“พ่อพราหมณ์เอ๋ย รอยเท้าที่เราพบเห็นนี้ บริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง ไม่เข้าห่วงกามคุณ ดังที่เราร่ำเรียนมาเลยแม้แต่น้อย กล่าวคือ
"รตฺตสฺส หิ อุกฺกุฏิกํ ปทํ ภเว ทุฏฺฐสฺส โหติ สหสานุปีฬิตํ มุฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ วิวฏจฺฉทสฺส อิทมีทิสํ ปทํ
---รอยเท้ากระโหย่ง (เว้ากลาง) เป็นรอยเท้าของคนเจ้าราคะ...
---รอยเท้ามีส้นบีบ (หนักส้น) เป็นรอยเท้าของคนเจ้าโทสะ....
---และรอยเท้ามีปลายจิกลง (หนักปลายนิ้ว) เป็นรอยเท้าของคนเข้าโมหะ....
---ส่วนรอยเท้าราบเรียบเสมอกันอย่างนี้ เป็นรอยเท้าท่านผู้หมดกิเลสแล้ว....
---ด้วยประการฉะนี้ เราอย่าหวังอะไรให้มากไปกว่านี้อีกเลย พ่อพราหมณ์เอ๋ย....
กรรมฐานพิเศษ - เมตตาพรหมวิหารธรรม (รวมถึงพรหมวิหารข้ออื่นๆ และกสิณ โดยเฉพาะวรรณกสิณ)
๓. โมหจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโมหะ เขลา เซื่องซึม เงื่องงง งมงาย ใครว่าอย่างไร ก็คอยเห็นคล้อยตามไป มองอะไรไม่ทะลุปรุโปร่ง ห้องนอนของตนรกรุงรัง วางของไม่ถูกที่ ห้องมืดทึบ อืดอัด จึงแก้ด้วยมีการเรียน ไต่ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาล หรืออยู่กับครู
ฃตัวอย่างเรื่องโมหจริต ผู้งมงาย ๔ จำพวก "ชน(และสัตว์) ผู้งมงาย สี่จำพวกเหล่านี้คือ ไส้เดือน ๑ นางนกต้อยตีวิด ๑ นกกระเรียน ๑ พราหมณ์ผู้หนักในธรรม ๑ ย่อมกลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัว"
ไส้เดือนทั้งหลายมีปกติกินดิน (แต่) ไม่มาก เพราะกลัวแผ่นดินใหญ่จะหมดเสีย
ฝูงนางนกต้อยตีวิด นอนหงายอยู่บนฟองไข่ เพราะ กลัวอากาศจะตกทับ
นางนกกระเรียนไม่เอาเท้าทั้ง ๒ เหยียบพื้นดินโดยเรียบร้อย(เต็มฝ่าเท้า) เพราะ กลัวแผ่นดินจะถล่ม
พวกพราหมณ์ย่อมแสวงหาภริยา เพราะกลัววงศ์ตระกูลจะขาดสูญ ถ้าไม่มีบุตรแล้วจะตกนรกขุมที่เรียกว่า ปุตตะ"...
กรรมฐานพิเศษ - พิจารณาอาการ ๓๒ เป็นต้น และอานาปานสติ
๔. สัทธาจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางศรัทธา น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสได้ง่าย ซึ่งถ้าเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกก็ย่อมเป็นคุณ แต่ถ้าไปเลื่อมใสในสิ่งที่ผิดก็ย่อมเป็นโทษ งมงาย ขาดเหตุผล ดูห้องนอนของตน เรียบร้อย แต่เต็มไปด้วยวัตถุมงคล ผ้ายันต์ เครื่องรางของขลัง ชอบดูหมอดู ฮวงจุ้ย ชอบจุดธูปเทียนมาก
กรรมฐานพิเศษ - อสุสสติ ๑๐ เช่น ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และศีลของตน (อนุสติ ๖ ข้อแรก ได้ทั้งหมด)
๕. ญาณจริต หรือ พุทธิจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางชอบคิด พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ชอบใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผล ดูห้องนอน เป็นระเบียบ มีตำราเยอะ ชอบ google ชอบพูดมาก ชอบสอน ชอบอธิบาย ชอบแนะนำผู้อื่น ดูเหมือนรู้ทุกอย่าง แต่ไม่ปฏิบัติ แก้โดย ลงมือปฏิบัติเสีย พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดพิจารณาสภาวธรรมและ สิ่งดีงาม ที่ให้เจริญปัญญา เช่น พิจารณาไตรลักษณ์ (กรรมฐานที่เหมาะ คือ มรณสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐาน อาหาเร ปฏิกูลสัญญา)
๔. วิตักกจริต หรือวิตกจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางครุ่นคิด วกวน นึกคิดจับจด ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนี้ทีเรื่องนั้นที เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สามารถยึดเกาะกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ จนอาจทำให้เกิดความกังวล ฟุ้งซ่านได้ง่าย กรรมฐานพิเศษ - เพ่งดูกสิณ เช่นต้นไม้เขียว ภูเขาเขียว ทะเลสีน้ำเงิน และอานาปานสติ
น้ำเลี้ยงหัวใจมีสีตามจริต ข้อควรทราบเบ็ดเตล็ดอีกอย่างหนึ่งคือ ในตำราทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงว่า จิตของคนเราอาศัยอยู่ในหทัยรูป ซึ่งหมายถึงก้อนเนื้อสัณฐานกลมๆ ก้อนหนึ่งในทรวงอก ก้อนเนื้อที่เรียกว่าหทัยรูปนี้เรียกว่าหัวใจ ถ้าผ่าเข้าไปดูในใจกลางของเนื้อนั้น ท่านว่ามีแอ่งเล็กๆ อยู่แอ่งหนึ่ง ขนาดเมล็ดบุนนาควางลงได้ ในแอ่งนี้มีน้ำขังอยู่ประมาณกึ่งพายมือ เรียกว่าน้ำเลี้ยงหัวใจ หรือพูดย่อๆว่า "น้ำใจ" จิตของคนเราอาศัยน้ำนี้อยู่
น้ำเลี้ยงหัวใจของคน มีสีต่างๆ กัน ตามอำนาจจริตของผู้นั้น ดังต่อไปนี้
๑. คนราคจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีแด ๒. คนโทสจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีดำ ๓. คนโมหจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีน้ำล้างเนื้อ ๔. คนวิตกจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีเหมือนน้ำเยื่อถั่วพู ๕. คนสัทธาจริต น้ำเลี้ยงหัวใจสีเหมือนดอกกรรณิการ์ ๖. คนพุทธิจริต น้ำเลี้ยงหัวใจใสแจ๋วมีแววเหมือนแก้วเจียระไน
ข้อความเหล่านี้ เป็นเกร็ดความรู้ ประกอบการศึกษาค้นคว้าต่อไปสีของน้ำเลี้ยงหัวใจที่ระบุไว้นี้ หมายถึงสีน้ำใจของผู้มีจริตอย่างนั้นๆ แต่โดยหลักเกณฑ์ที่เป็นจริง คนคนหนึ่งมีจริตหลายอย่าง เพราะฉะนั้นสีของน้ำจะต้องเป็นสีผสม เช่น คนมีราคจริตด้วย มีโทสจริตด้วยมีโมหจริตด้วย น้ำใจก็กลายเป็นว่าสีแดงสีดำสีน้ำล้างเนื้อ ท่านผู้ฟังคิดผสมเอาเองก็แล้วกันว่าจะเป็นสีอะไร
ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการรู้จริตนั้น คือ ประโยชน์ด้านการพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพเพื่อการประกอบอาชีพ และการพัฒนาด้านจิต (อารมณ์) และจิตวิญญาณ (ปัญญา) ซึ่งต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมกับจริต ถึงจะได้ผลดี การรู้จริตของตน ทำให้เกิดการรับรู้ว่าจะต้องพัฒนาตนเองอย่างไร มีสิ่งใดที่เหมาะสมอยู่แล้วมีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเอง และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข
เราถือว่าโชคดีแล้ว เรารู้ว่าตัวเองมีปัญหาอย่างนี้ เราต้องแก้ตัวเอง เรามันมีตัวตนเยอะ พระพุทธเจ้าถึงให้เราเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพื่อให้สิ่งที่มันตรงกันข้ามเกิดนิมิต เช่น เรานี้มันมีความหลงในกาย ส่วนใหญ่ทุกคนมันหลงในกาย ท่านถึงให้พิจารณากาย เพื่อให้เกิดนิมิต นิมิตที่ตรงกันข้าม พยายามระลึกให้มันเกิดนิมิต อย่างเขาเจริญกสิณน้ำ เขามองดูน้ำ จนมันติดในใจ มันเป็นสัญญา มันเป็นนิมิต หลับตาลงไปใจก็ยังเห็นภาพนั้นอยู่ในใจ อย่างเรามันไม่รู้แจ้งในร่างกาย เราจะกำหนดเอาโครงกระดูกของตัวเองก็ได้ ของคนอื่นก็ได้ ให้เห็นโครงกระดูกชัดเจน มันต้องทำอย่างนี้ ติดต่อต่อเนื่องกันหลายวัน เป็นเดือนๆ นิมิตนั้นถึงจะเกิด ถ้าเกี่ยวข้องกับกายเขาเรียกว่าสติในกาย กายเรา กายคนอื่นก็เหมือนกัน ขอให้เราจับให้มันได้เป็นนิมิต เหมือนพระมหาติสสะเถระที่เจริญกายคตาสติ หญิงสะใภ้ในตระกูลหนึ่งทะเลาะกับสามี ได้ตกแต่งร่างกายสวยงาม ออกจากบ้านไปสู่บ้านของญาติ ในระหว่างทางได้พบพระมหาติสสเถระกำลังเดินบิณฑบาต เกิดจิตวิปลาสจึงหัวเราะดังขึ้น พระเถระจึงเหลียวไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น เห็นฟันของหญิงนั้น จึงเกิดอสุภสัญญาในฟันนั้นแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ด้วยว่าปกติพระเถระได้เจริญอัฏฐิกกัมมัฏฐาน ดังนั้นเมื่อเห็นฟันของหญิง อัฏฐิกสัญญาจึงเกิดขึ้นทันที หลังจากนั้นสามีของหญิงนั้นเดินติดตามหญิงนั้นมา พบพระเถระเข้าจึงถามว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านเห็นหญิงคนหนึ่งผ่านมาทางนี้บ้างหรือเปล่า” พระเถระกล่าวตอบว่า “อาตมาไม่ทราบว่าหญิงหรือชายเดินไปจากที่นี่ แต่ว่าร่างกระดูกนั่นกำลังเดินไปในทางใหญ่”
ลักษณะนิมิตทางใจมันเป็นอย่างนี้ ใจเราหน่ะ ถ้าเรามีความจำในอคติต่างๆ มันก็จะฝังอยู่ในใจ เราต้องหยุดคิด เหมือนสามี ภรรยา ตายจากกัน ใหม่ๆ มันก็ย่อมคิด ถ้าเรามาทบทวนดู ถ้าคิดแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์ มันก็ไม่ฟื้นขึ้นมา เราก็หยุดคิด นานๆ ไปมันก็ลืม นิมิตมันก็จะหายไป ความคิดมันก็จะหายไป
บางคนก็โทสะมาก บางคนก็โมหะมาก มันก็ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติให้มันติดต่อต่อเนื่อง การที่เราจะท่องหนังสือได้ ท่องปาฏิโมกข์ได้ เราก็ต้องหยุดการ หยุดงานอื่นๆ อยู่แต่กับสิ่งนั้นนานๆ การปฏิบัติมันต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง เพราะการปฏิบัติของเราไม่ติดต่อ ต่อเนื่องเหมือนจับฉ่าย อารมณ์ต่างๆ นั้น ถ้ามันมาก มันจะมาถี่ ถ้าเรามีสติ เราไม่คิด มันก็จะหยุดไป ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติของเรา เราทำอย่างนี้เราก็จะแก้ปัญหาได้ เพราะวิธีอื่นมันไม่มี มันต้องแก้อย่างนี้
นิมิตเราต้องพากันรู้จัก นิมิตก็คือความคิดที่มันเกิดขึ้น เราก็อย่าไปหลงนิมิต อย่าไปหลงอารมณ์ เราอย่าตามไป เพราะถ้าตามไปแล้วมันไม่จบ เดี๋ยวมันก็หมดกำลังเอง ผู้ภาวนาที่เกิดนิมิต นิมิตก็หมายถึงว่า นิมิตทางธรรมที่เราอยากให้มันเกิด ที่เราคิดเรื่องนั้นบ่อยๆ ท่านถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔
ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา ถึงสุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้ เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้ ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก ไม่เป็นกรรมฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนา แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา
การเจริญสติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ นับเป็นอุบายวิธีดับทุกข์ด้วยการระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันอันมีเพียงกายและใจ ซึ่งเป็นสิ่งไม่พึงยึดมั่น เมื่อบุคคลรับรู้ว่ากายและใจนี้ดำรงอยู่ชั่วขณะตามเหตุปัจจัย โดยไม่มีรูปร่างถาวรที่ยึดถือได้ว่าเป็นเรา ของเรา บุรุษ หรือสตรี ก็จะหยั่งเห็นธรรมชาติของกายใจที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จิตของเขาย่อมเป็นอิสระจากทุกข์และกิเลสได้อย่างแท้จริง
หลักชัยของพระพุทธศาสนาคือการดับทุกข์ และมีนโยบายหลักคือ การเจริญสติ ธรรมชาติในตัวมนุษย์มีขุมทรัพย์คือ อริยสัจ ๔ ที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ และมีใจครอง การดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยมหาสติปัฏฐาน ด้วยวิธีการเจริญสติเป็นหลัก ทำให้ได้ค้นพบประจักษ์แจ้งอริยสัจด้วยประสบการณ์ของตน ภายใต้ศักยภาพของมนุษย์เพื่อดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ โดยไม่ขึ้นอยู่กับดวงดาวหรืออำนาจเหนือมนุษย์ใดๆ
การเจริญสติเป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นการอบรมจิตให้เกิดวิปัสสนาญาณ ที่หยั่งเห็นไตรลักษณ์โดยประจักษ์ สติที่ซึมซับรับรู้สภาวธรรมอยู่เสมอ สามารถทลายกำแพงแห่งสมมติบัญญัติ แล้วส่งผลให้หยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง
ท่านถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเราจะเอาอย่างใดอย่างหนึ่งให้มันแจ่มแจ้ง ก็ต้องใช้เวลาติดต่อต่อเนื่องไป พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้มีเรื่องคลุกคลี ต้องอาศัยการติดต่อต่อเนื่อง ประชาชนเป็นโยม เป็นฆารวาสมันก็มีการมีงานเยอะ มันไม่ติดต่อ ต่อเนื่อง แต่ถ้าเราเข้าใจมันก็พอได้ คนเราถ้าใจมันอยู่กับโครงกระดูก ติดต่อ ต่อเนื่องกันหลายวัน หลายเดือน มันก็จะได้ผล ถ้าอยู่กับอะไรติดต่อ ต่อเนื่องมันก็จะได้ผลอย่างนั้น ถ้าอยู่กับสิ่งที่ไม่ดีมาก มันก็จะได้ผลไม่ดี คนเราอยู่กับอะไรมากก็จะได้ผลอย่างนั้น แม้แต่เวทนามันรุนแรง เราก็ฝึกให้มันเข้าใจ เราไม่ไปปรุง ไม่ไปแต่ง ไม่ไปต่อต้าน เรื่องใจ เรื่องเวทนามันก็อ่อนกำลังลง มันก็ไปในหลักนี้ เรารู้ว่าเป็นอันนี้ เราต้องหยุด เพื่อให้มันเย็น ถ้าเราจะไปแก้ไข มันยิ่งเอาใหญ่ เพราะเราต้องอาศัยกาล อาศัยเวลาเหมือนคนตั้งท้อง ๙ เดือน เราจะไปเดินทางไกล มันก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง เป็น้น เราอยากให้มันถึงเร็ว ความอยากมันก็เผาเรา
เราต้องก้าวไปด้วยความดี ด้วยบารมี ด้วยคุณธรรม คือด้วยสติปัฏฐานธรรม ในอิริยาบถทั้ง ๔ อานาปานสติทุกคนต้องฝึกหายใจมีความสุข ทุกเมื่อทุกเวลา เพราะคนเรามันคิดมากมันฟุ้งซ่าน ฝึกอานาปานสติ หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข นี่เป็นงานของเรา เวลานั่งสมาธิเดินจงกรม เวลาไปทำงาน ให้อริยมรรคทางสายกลางที่ถูกต้องที่ชอบอยู่ในชีวิตประจำวันเราทุกๆ อิริยาบถ ทุกๆลมหายใจ เราจะได้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราจะได้ประจักษ์แจ้งแก่ใจว่า โอ...! ทำอย่างนี้ดีมีความสุข ใจจะได้อยู่กับเนื้อกับตัว จะได้ลดความปรุงแต่งน้อยลง ทำอย่างนี้แหละ
เราทำไปปฏิบัติไปก็ยิ่งชำนิชำนาญ ตื่นขึ้นแต่เช้า ความง่วงเหงาหาวนอน ความเหน็ดเหนื่อยก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าคนไม่ตายก็ต้องเหนื่อยก็ต้องง่วงเหงาหาวนอน แต่เราอย่าไปซบเซา กายก็ส่วนหนึ่งใจก็ส่วนหนึ่ง เราหายใจเข้ามีความสุขหายใจออกมีความสุข ถ้ามันง่วงมากก็กลั้นลมหายใจเลย ใจจะขาดค่อยปล่อย ทำอย่างนี้หลายๆ ครั้ง มันก็หายง่วง มันก็ดีขึ้นได้ เราอย่าไปติดมันมาก หลงมันมาก ต้องฝืนต้องทวนกระแส เพราะเราจะไหลไปตามน้ำไม่ได้ ต้องมาทวนกระแส ให้มีความสุขในการทวนกระแสกิเลส ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่มีบุญมาก ได้มาบวชมาบรรพชาอุปสมบท ในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติเช่นนี้