แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๘๕ ถ้าเรามีธรรมนูญชีวิตพัฒนาทั้งกายใจไปพร้อมๆ กัน ถือว่าดีมาก ประเสริฐมาก
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ธรรมนูญชีวิต ชีวิตเราคือธรรมะ การปกครองประเทศ การปกครองโลก การปกครองตัวเอง ปกครองคนอื่นต้องเป็นรัฐธรรมนูญ เราจะออกจากธรรมไม่ได้ ต้องพัฒนาทั้งกาย ทั้งวาจา และจิตใจไปพร้อมๆ กัน การเรียน การศึกษาก็คือการปฏิบัติตามธรรมนูญ การทำงานก็คือการปฏิบัติตามธรรมนูญ ทุกคนต้องปกครองตัวเองด้วยธรรม เพราะว่านี้เป็นหนทางเป็นหลักการ ทุกท่านทุกคนต้องเห็นภัยในวัฏฏะ คือความไม่ถูกต้อง ทุกท่านทุกคนต้องพากันมาเสียสละซึ่งตัวซึ่งตน ถ้าเราไม่เสียสละ เราก็ไม่มีความสุข อย่างเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านนี้ อันนี้มันไม่ใช่แล้ว เราต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะคือการเสียสละ คนเสียสละเท่านั้นถึงจะมีความสุข มีความสุขก็ยังไม่พอ เราก็ต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ไม่ติดในความสุข หมายถึงว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในความสุข ถ้ายึดแล้วมันก็จะไปไม่ได้ เพราะเราเสียสละ มันก็ต้องมีความสุข เมื่อมีความสุขแล้ว เราก็ต้องเสียสละทางจิตใจเรา ถึงมีร่างกาย เราก็ไม่ติดในร่างกาย เรามีรูป มีเสียง มีบ้าน มีรถ มีลาภ ยศ สรรเสริญ เราก็ต้องเสียสละ เพื่อให้มันเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เป็นธรรมนูญ การปฏิบัติธรรมให้เราพากันเข้าใจอย่างนี้
ถ้าเราทำอย่างนี้ ตัวเราเองก็ยอมรับได้ คนอื่นก็ยอมรับได้ เราอย่าเป็นคนเอาตัวตนเป็นใหญ่ ต้องเอาธรรมะเป็นใหญ่ เพราะว่าประชาธิปไตยในทางเห็นแก่ตัวมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ธรรมเหล่าใดเป็นเพื่อตัวเพื่อตนนั้น ไม่ใช่ธรรมาธิปไตย เราต้องรู้จักสิ่งที่เป็นธรรมนูญ เราก็คิดว่าอันไหนเป็นธรรม อันไหนไม่เป็นธรรมนั้นไม่คิด เพื่อเราจะได้หยุดความหลง หยุดไสยศาสตร์ของตัวเอง เราทุกคนพากันปฏิบัติให้มันได้ ให้มันเป็น เราถึงจะเป็นสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรง ญายะปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร พัฒนาถึงเหตุ ผลมันถึงปรากฏ ทุกท่านทุกคนไม่ต้องไปหาพระที่ไหน เพราะพระมันอยู่ในเราทุกคน ให้เราเข้าสู่หลักเหตุ หลักผล หลักของธรรมนูญชิต
ทุกคนมันติดนะ ถ้าเราไม่เสียสละ ธรรมนูญมันก็ไม่ติด มันไม่รู้ว่าอันไหนเป็นคุณ อันไหนเป็นโทษ หลวงพ่อถึงบอกว่า อันไหนเป็นคุณ อันไหนเป็นโทษ ที่คำว่ากตัญญู คือ รู้คุณ กตเวที คือการประพฤติปฏิบัติแทนคุณ มันติด ทุกคนหน่ะลืมหนทางเดิน คือลืมมรรคผล คือลืมพระนิพพาน ได้ภรรยาก็ลืมพ่อลืมแม่ ได้สามีก็ลืมพ่อลืมแม่ ได้ลูกได้หลานก็ลืมพ่อลืมแม่ ได้เจอรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ มันลืม ลืมธรรมนูญแห่งชีวิต ชีวิตของเรามันต้องเสียสละ เพราะเราต้องเอาพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่นมาประพฤติปฏิบัติ เราจะได้ก้าวไปอย่างพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่นในปัจจุบัน
การปฏิบัติจะเดินไปก็ไม่ใช่ จะหยุดอยู่ก็ไม่ใช่ จะชอบจะไม่ชอบก็ไม่ใช่ เราต้องรู้จัก รู้แจ้ง ว่าทุกท่านทุกคนต้องเสียสละคืนซึ่งตัวซึ่งตน จิตใจเราทุกคนต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ต้องพากันก้าวไปในปัจจุบัน เราอย่าเอาความสะดวก ความสบายของเรา เราต้องเอาธรรมะ ความกตัญญูกตเวทีจะเป็นเครื่องหมายของคนดี ที่จะนำชีวิตนี้เข้าสู่ธรรมนูญ ยิ่งเราทำไปปฏิบัติไปเราก็ยิ่งเก่งยิ่งฉลาดไปเรื่อยในปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เราต้องตั้งใจ ตั้งเจตนา ถ้าไม่อย่างนั้นธรรมนูญชีวิตของเราก็จะหายไปหมด เพราะเรามาหลงในโลก ในวัฏฏะ มาถือตัวถือตนเป็นพระเจ้า มาถือเงินเป็นพระเจ้า ตระกูลทั้งหลายถึงตั้งอยู่ไม่ได้ ถึงทิ้งเรื่องกตัญญูกตเวทีไป เรื่องธรรมะ เรื่องธรรมนูญ เรื่องควรคิด ควรพูด ควรกระทำ มันเป็นสิ่งที่สำคัญ
บางคนหน่ะเป็นเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีก็ยังไม่รู้จัก พ่อแม่คนเดียวก็พากันทิ้งพ่อทิ้งแม่ มันต้องเอาตัวอย่าง อย่างพระโพธิสัตว์ อย่างพระพุทธเจ้า ที่จะได้เป็นพระเจ้านี้ก็เพราะเห็นธรรมนูญ เห็นธรรม เห็นการเสียสละ เห็นการเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการเกิดนี้ต้องอาศัยพ่อแม่ ที่ได้มาสร้างคุณงามความดี พระโพธิสัตว์ทุกภพทุกชาติก็เลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ คนทุกวันนี้พากันร่ำรวยแล้วทิ้งพ่อทิ้งแม่ ออกสังคม พากันหรูหรา ฟู่ฟ่าไปแข่งรถหรู แข่งอะไรกัน ทั้งที่เงินก็มีหลายร้อยล้าน จะหารถคันดีๆ ให้พ่อแม่นั่งไปในสถานที่ควรไป เพราะทุกวันนี้รถสมัยใหม่เขาก็แต่งได้ เป็นรถคนแก่ รถไฟฟ้า ขึ้นลงบันไดสะดวก เขาก็ทำได้ เราไม่ได้ไปอุ้มคนแก่ขึ้นรถลงรถ เพราะคนแก่เมื่อเขายังไปได้ ก็ต้องให้ไปพบครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยเจ้า อย่างนี้เป็นต้น เพราะชีวิตเขาไม่นานก็ต้องจากโลกนี้ไป เมื่อเขาได้พบกับพระอริยเจ้าเขาก็มีกำลังใจ ที่จะหายใจต่อไป ทุกวันนี้มีความสะดวกความสบาย ก็น่าจะสร้างความกตัญญูกตเวทีให้กับพ่อกับแม่ สำหรับคนที่ไม่รวยไม่มีทรัพย์สมบัติ มันก็ง่ายพอสมควร โทรศัพท์ไปหาพ่อหาแม่ ไลน์ไปก็ได้ แต่เพราะไปมัวเพลิดเพลิน ลืมพ่อลืมแม่ ลืมธรรมะ ลืมธรรมนูญชีวิตไป เป็นสิ่งที่ไม่ดี
ถ้าลืมมันก็ลืมคิดในสิ่งที่ดี เช่น ไปคิดว่าตอนเช้าเราก็ต้องกราบพระไหว้พระ นั่งสมาธิ ท่องพุทโธ ตอนเย็นก็ไหว้พระ ท่องพุทโธ คนดีระลึกถึงพ่อถึงแม่ แล้วกลับมาทบทวนดูตัวเอง มาพิจารณาว่าเราเองก็มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีความพลัดพรากเป็นธรรมดา เราต้องเสียสละ เพื่อเข้าหาหลักธรรม คือธรรมนูญแห่งชีวิต
เราจะเป็นพ่อ เป็นแม่ได้ยังไง เพราะว่าศีล ๕ เราไม่มี ศีล ๕ มันไม่ใช่กฏหมายบ้านเมือง ใจมันเป็นคุณธรรม ถ้าเราไปหลงทางวัตถุ หลงแต่ยกขวดเหล้าชนกัน ยกขวดเบียร์ชนกัน คุยแต่เรื่องคอนเสิร์ต เรื่องเดินกิน เดินเที่ยว อันนั้นอร่อย อันนั้นมันเป็นการลืมธรรมะ ลืมธรรมนูญชีวิต ทุกคนต้องมีปฏิปทาที่ดีๆ พ่อแม่ตัวเองสุขใจ สบายใจ สิ่งไหนมันเป็นอบายมุข อบายภูมิ ต้องหยุดตัวเองเพื่อดำเนินการสู่ธรรมะ สู่ธรรมนูญชีวิต เราก็พากันแต่งบ้านแต่งรถ เราต้องแต่งใจ ใจคืออะไร ใจก็คือธรรมะ มันไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ไม่ใช่ความหลง ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นอคติ ลำเอียง ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว
คนตาบอด ย่อมมองไม่เห็นโลก แม้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างอยู่ฉันใดคนใจบอด ย่อมมองไม่เห็นพระคุณ แม้จะได้รับความเมตตากรุณาจากผู้มีอุปการคุณฉันนั้น สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญู คือทุกสิ่งที่มีบุญแก่เรา ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๕ ประการ ได้แก่
๑. กตัญญูต่อบุคคล คือใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงไร จะต้องกตัญญูรู้คุณท่าน ติดตามระลึกถึงเสมอด้วยความซาบซึ้ง พยายามหาโอกาสตอบแทนคุณท่านให้ได้ โดยเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อุปัชฌาย์อาจารย์ พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่ทรงทศพิธราชธรรม จะต้องตามระลึกนึกถึงพระคุณของท่านให้จงหนัก ให้ปฏิบัติตัวให้เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติและเป็นพุทธมามกะสมชื่อ
๒. กตัญญูต่อสัตว์ คือสัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน จะต้องใช้ด้วยความกรุณาปรานี ไม่เฆี่ยนตีมันจนเหลือเกิน อย่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน ขณะเดียวกันต้องเลี้ยงดูให้อาหารอย่าให้อดอยาก ให้ได้กินได้นอนได้พักผ่อนตามเวลา ตัวอย่างในเรื่องกตัญญูต่อสัตว์นี้มีอยู่ว่า
ในสมัยก่อนพุทธกาล วันหนึ่งพระเจ้ากรุงราชคฤห์เสด็จประพาสอุทยาน และได้บรรทมหลับในอุทยานนั้น ขณะนั้นมีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาและกำลังจะฉกกัดพระองค์ เผอิญมีกระแตตัวหนึ่งเห็นเข้าแล้วร้องขึ้น พระองค์จึงสะดุ้งตื่นและไล่งูให้พ้นไป ทรงระลึกถึงคุณของกระแตว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตพระองค์ไว้ จึงรับสั่งให้พระราชทานเหยื่อแก่กระแตในอุทยานนั้นทุกวัน และห้ามไม่ให้ใครทำอันตรายแก่กระแตในอุทยานนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกอุทยานนั้นว่า เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน แปลว่า ป่าไผ่อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ซึ่งต่อมาก็คือ เวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนานั้นเอง
๓. กตัญญูต่อสิ่งของ คือของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่นหนังสือ ธรรมะ หนังสือเรียน สถานศึกษา วัด ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ ฯลฯ จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ดี ไม่ลบหลู่ดูแคลน ไม่ทำลาย
ตัวอย่างเช่น ไม้คานที่ใช้หาบของขาย เมื่อเจ้าของตั้งตัวได้ ร่ำรวย ขึ้นก็ไม่ทิ้ง ยังคิดถึงคุณของไม้คานอยู่ ถือเป็นของคู่ชีวิตช่วยเหลือตนสร้าง ฐานะมา จึงเลี่ยมทองเก็บไว้เป็นที่ระลึก ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ อย่างนี้ก็มี
มีกล่าวไว้ในเตมียชาดกว่า “อย่าว่าถึงคนที่เราได้พึ่งพาอาศัยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงาก็หาควรจะหักกิ่งริดก้านรานใบของมันไม่ ผู้ใดพำนักอาศัยนั่งนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดแล้ว ยังขืนหักกิ่งริดก้านรานใบ เด็ดยอด ขุดรากถากเปลือก ผู้นั้นชื่อว่าทำร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้าเลวทราม จะมีแต่อัปมงคล เป็นเบื้องหน้า”
๔. กตัญญูต่อบุญ คือรู้ว่าคนเราเกิดมามีอายุยืนยาว ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้า มีทรัพย์สมบัติมาก ก็เนื่องมาจากผลของบุญ จะไปสวรรค์กระทั่งไปนิพพานได้ ก็ด้วยบุญ กล่าวได้ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ ทั้งบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาดีแล้ว และบุญใหม่ที่เพียรสร้างขึ้นประกอบกัน จึงมีความรู้คุณของบุญ มีความอ่อนน้อมในตัว ไม่ดูถูกบุญ ตามระลึกถึงบุญเก่าให้จิตใจชุ่มชื่น และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
๕. กตัญญูต่อตนเอง คือรู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่เราจะใช้อาศัยในการทำความดี ใช้ในการสร้างบุญกุศลนานาประการ เพื่อความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง จึงทะนุถนอมดูแลร่างกาย รักษาสุขภาพให้ดี ไม่ทำลายด้วยการกินเหล้า เสพสิ่งเสพย์ติด เที่ยวเตร่ดึกๆ ดื่นๆ และไม่นำร่างกายนี้ไปประกอบความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เจ้าชู้ อันเป็นการทำลายตนเอง
การที่คนเราจะมีความคิดใฝ่ดี ตั้งใจทำความดีสร้างสมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะ รักษาความตั้งใจที่ดีนั้นไว้ โดยไม่ท้อถอยไม่เลิกกลางคัน เพราะในการทำความดีย่อมมีอุปสรรค มีปัญหาขัดขวางมากมาย ไหนจะปัญหาภายนอกจากคนรอบข้าง จากสิ่งแวดล้อม ไหนจะปัญหาภายในจากกิเลสรุมล้อมประดังกันเข้ามา เราจะเอาตัวรอด ยืนหยัดสู้ปัญหาทั้งหลายที่เข้ามาผจญได้โดยไม่ท้อถอย ก็ต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจไว้ นั่นคือความกตัญญู
ถ้าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเป็นพื้นใจแล้ว เมื่อความท้อถอย ความเบื่อหน่ายเอือมระอาเกิดขึ้น เพียงแต่นึกว่า ที่ตัวเราได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมะ รู้การสร้างบุญกุศล รู้วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ รู้บุญรู้บาปอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงเสียสละอุทิศชีวิตทุ่มเทค้นคว้าจนตรัสรู้หลักอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐทั้งหลายมาสอนเรา เมื่อคิดถึงชีวิต เลือดเนื้อ ความเพียรพยายามที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทลงไป ตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง 20 อสงไขยกับแสนกัปป์ ว่ามากมายมหาศาลเพียงใด ตลอดจนคิดถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านอุตส่าห์ถ่ายทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อๆ กันมา และอบรมสั่งสอนให้เราได้ทราบได้รู้ถึงคำสอนของพระองค์ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก คิดเพียงเท่านี้ ความท้อถอยก็หาย ความเหนื่อยหน่ายก็คลาย แม้ความตายก็ไม่หวั่น เกิดกำลังใจที่จะทำความดีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
ความกตัญญูจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมอันยิ่งๆ ขึ้นไป
เมื่อเรากตัญญู เราต้องเข้าสู่ความประพฤติความปฏิบัติเพื่อจะได้เป็นพระพุทธศาสนา มันไปทางใจอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติ ศีลเราก็ยังไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาของเราก็ยังไม่มี เพราะเรายังไม่ได้เอาปัญญามาเสียสละเลย เราต้องเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือ รู้แล้วประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิด ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเรามองดูภาพรวมของประเทศ หรือว่า สังคม ของโลก มันไม่สมบูรณ์ อริยมรรคมีองค์ ๘ ยังไม่เอามาใช้ทำงาน เพื่อพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและจิตใจไปพร้อมๆกัน เราถึงมีปัญหา สิ่งภายนอกถึงมีปัญหา
ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดนั้นคือผู้ที่ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ คือ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่าไม่รู้ธรรมนูญแห่งชีวิต พวกที่เวียนว่ายตายเกิดนี้ ต้องพากันเข้าใจ ทุกคนที่ความเป็นอยู่อะไรนี้ ไม่เข้าใจ ไม่ว่าการเรียน การศึกษา การทำอะไรนี้ เพราะเอาตัวตนเป็นใหญ่ จะจบดอกเตอร์มาหลายดอกเตอร์ หรือว่าจะจบ ป.ธ.๙ ป.ธ.๑๐ มาก็ชื่อว่ายังไม่เข้าใจธรรมนูญแห่งชีวิต ตาทุกคนยังถือว่าตาบอด ที่จะหายบอดก็คือธรรมนูญแห่งชีวิต เราทุกท่านทุกคนพากันคิดดูดีๆนะ ความเห็นแก่ตัวทั้งหลาย หรือว่าความขี้เกียจ ขี้คร้านทั้งหลาย อยากจะตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก มันคือปัญหาของเราและปัญหาของคนอื่น ธรรมนูญชีวิตนี้เข้าสู่เหนือนักปรัชญา เหนือจิตวิทยา ถึงเป็นความประพฤติของเรา ของท่านแต่ละคน ต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เราปฏิบัติไปเดี๋ยวมันก็จะดีขึ้น ยิ่งทุกวันนี้ ยิ่งวิทยาศาสตร์มาช่วยกันดำรงชีวิตนี้ ถ้าเรามีธรรมนูญชีวิตพัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน ถือว่าดีมาก ประเสริฐมาก เพราะดูแล้วไม่ว่าจะเป็นคนรวย เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี มันไม่ใช่ดับทุกข์ได้ มันดับทุกข์ได้อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ให้สำคัญ เพราะดูแล้วมันจะรวยล้นฟ้า มีรถ มีเครื่องบิน หรือว่าเหนือเครื่องบิน เหนือคอมพิวเตอร์มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไม่เข้าสู่ธรรมนูญคือความดับทุกข์ที่ถูกต้อง
กตัญญู ในมงคลทีปนี ตอนปลายของมงคลท่านสรุปไว้ว่า "กตญฺญุตาย สปฺปุริสภูมิยํ ฐตฺวา" แปลว่า ตั้งอยู่ในภูมิสัตบุรุษ โดยความเป็นคนกตัญญู ซึ่งความหมายนี้มีความหมายว่า กตัญญู ในมงคลที่ ๒๕ เป็นกตัญญูชั้นสูง ที่เรียกว่าชั้นสัตบุรุษ "...ความกตัญญูสามัญทั่วไป (ซึ่งเป็นคู่กันกับกตเวที) เป็นการรู้อุปการคุณที่คนอื่นทำแก่ตน จะรับรองว่าใครมีคุณก็ต่อเมื่อเขาทำอะไรให้แก่ตัวเท่านั้น เช่นรับว่าพ่อแม่มีคุณก็เพราะท่านเลี้ยงดูเรามา รับว่าครูอาจารย์มีคุณ ก็เพราะท่านได้สอนวิชาความรู้แก่เรามา รู้ว่าญาติพี่น้องมีคุณ ก็เพราะท่านเหล่านี้ได้เคยให้ข้าวน้ำเรารับประทาน รวมความว่ากตัญญูอย่างสามัญทั่วไป หมายถึงรู้อุปการคุณที่เขาทำให้เรา นี่กตัญญูสามัญส่วนกตัญญูชั้นสัตบุรุษ หมายถึงการรู้เห็นความดีอันมีอยู่ในตัวของคนอื่น ใครมีความดีก็รู้ว่าเขาดี ไม่ว่าเขาจะทำอะไรให้เราหรือไม่ก็ตาม"
เมื่อได้ยกเอาข้อความทั้งในฝ่ายบาลี และความคิดเห็นของท่านผู้เป็นปราชญ์มาเสนอแล้ว เราก็จะมีความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า กตัญญู ในมงคลข้อนี้สูงกว่ากตัญญูสามัญตรงที่ว่า เป็นกตัญญูซึ่งอยู่ในภูมิของสัตบุรุษ ซึ่งมีความเห็นต่างจากคนสามัญทั่วๆ ไป คนที่ไม่ใช่สัตบุรุษนั้น ยากที่จะรับรู้ว่าคนอื่นดี ถ้าตัวเองไม่ได้รับประโยชน์จากเขา แม้ว่าคนนั้นจะเป็นคนดีทำคุณประโยชน์ช่วยเหลือคนทั้งเมือง ถ้าเราคนเดียวไม่ได้รับแล้ว ก็ไม่ยอมที่จะรับรู้ความดีของคนอื่น เท่านั้นยังไม่พอ ยังแถมโพนทนาว่าร้ายเขาเสียด้วย เพราะว่าตัวไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งความกตัญญูชั้นสามัญถ้าเราจะพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ว่า ต้องได้รับประโยชน์จึงจะรู้คุณ ซึ่งความกตัญญูแบบนี้ก็ไม่พ้นเห็นแก่ตัวอยู่นั่นเอง ดังนั้นความกตัญญูในมงคลข้อนี้จึงสูงกว่ากตัญญูสามัญคนมีกตัญญูแบบสัตบุรุษแล้ว ไม่ยอมเอาตัวเองเป็นเครื่องวัดความดีของคนอื่น ใครดีก็รับรู้ว่าดี เป็นการตัดสินความดีด้วยความดี ซึ่งอยู่ในหลักข้อที่ว่า ธรรมาธิปไตย ปรารภธรรมเป็นใหญ่ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า กตัญญูแบบสามัญนั้น เป็นเหตุให้เกิดกตเวที ส่วนกตัญญูแบบสัตบุรุษ เป็นเหตุให้มี ธรรมสวนะ การฟังธรรม เป็นการยอมรับถ่ายทอดความดีจากคนอื่น ความหมายของคำว่า สัตบุรุษเสียก่อน เพราะว่าผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาธรรมก็จะสงสัยว่า สัตบุรุษ นั้นแปลว่าอย่างไร สัตบุรุษ นั้นแปลว่าผู้สงบ หรือผู้ที่มีคุณธรรม ๗ ประการ (สัตต = เจ็ด, บุรุษ = บุคคล) ซึ่งมีภูมิธรรมดังนี้
๑. ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ ๒. อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล ๓. อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน ๔. มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ ๕. กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล ๖. ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักชุมชน ๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล
คุณธรรมทั้ง ๗ ประการนี้แหละเป็นภูมิของสัตบุรุษ ซึ่งเมื่อบุคคลใดทำให้มีในตนแล้วก็จะเป็นผู้มีความสงบ เพราะเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านทะเยอทะยานจนเกินเหตุ นอกจากนั้น ความหมายของคำว่า กตัญญู ในมงคลข้อนี้ท่านยังได้ให้ความหมายคลุมไปถึงว่ารู้คุณของบุญกุศล คือความดีที่ตนเองได้ทำสืบต่อกันมาโดยไม่ขาดสาย อันเป็นเหตุดีที่ส่งเสริมให้ตนเจริญรุ่งเรือง ก็จะได้ตั้งใจทำความดีที่จัดว่าเป็นบุญกุศลนั้นสม่ำเสมอ ไม่ทอดธุระเสีย เมื่อเรายิ่งทำความดี ความดีก็ยิ่งแสดงผลให้เห็นชัด นำให้ทำดียิ่งขึ้นซึ่งนับว่าเป็นมงคลอย่างสูงประการหนึ่ง ดังนั้นเราก็จะได้ทราบว่า กตัญญูในมงคลข้อที่ ๒๕ นี้ หมายถึงความกตัญญูอย่างสัตบุรุษ คือรู้จักคุณความดีและคุณธรรมอันมีอยู่ในตัวผู้อื่น ตลอดจนรู้จักบุญคุณของบุญกุศลที่ตนทำมาแล้วว่ามีคุณค่าอย่างไร และตั้งหน้าที่จะประกอบคุณความดีต่อไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า สปฺปุริโส จ โข ภิกฺขเว กตญฺญู โหติ กตเวที สพฺภิเหตํ ภิกฺขเว อุปญาตํ ยทิทํ กตญฺญุตา กตเวทิตา เกวลา เอสา ภิกฺขเว สปฺปุริสภูมิ, ยทิทํ กตญฺญุตา กตเวทิตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้ เป็นภูมิของสัตบุรุษ
ความกตัญญูรู้คุณที่คนอื่นทำแล้ว และมุ่งตอบแทนคุณ เป็นคุณธรรมของคนดี ใครๆ ก็อยากคบค้าสมาคม และให้ความช่วยเหลือ เพราะความช่วยเหลือที่หยิบยื่นให้นั้น จะไม่มีวันกลายเป็นหอกเป็นดาบที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงเราในภายหลัง ความกตัญญู จึงเป็นวิสัยของเหล่าบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย คือ เมื่อรู้ว่าใครได้ทำความดีต่อตนแม้เพียงน้อยนิด ก็คิดหาหนทางที่จะตอบแทนคุณอยู่เสมอ แต่คนพาลมักจะหาทางปกปิดความดี ที่คนอื่นทำไว้ เหมือนพยายามเอาใบบัวมาปิดบังภูเขา จะพยายามปิดอย่างไรก็ปิดไม่มิด คนพาลเมื่อเห็นผู้อื่นทำความดีแล้ว จะรู้สึกขัดเคือง เหมือนมีหนามมาทิ่มตำนัยน์ตา เหมือนความมืด เป็นปฏิปักษ์ต่อความสว่าง
บุคคลผู้ควรได้รับความกตัญญูนั้นมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากเราได้รับรู้ประวัติของพระพุทธองค์อย่างแจ่มแจ้งแล้ว และภาคภูมิใจว่า เราได้มาอยู่ใต้ร่มเงาบารมีธรรมของพระองค์ ได้อาศัยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การเห็นความทุกข์ของชีวิต ต้นเหตุของความทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์ ด้วยการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
ยมฺหา ธมฺมํ วิชาเนยฺย สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิตํ สกฺกจฺจํ นํ นมสฺเสยฺย อคฺคิหุตฺตํว พฺราหฺมโณ
บุคคลรู้แจ้งธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว จากผู้ใด พึงนอบน้อมผู้นั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์นับถือการบูชาไฟ ฉะนั้น
กตัญญูต่อพระพุทธเจ้า คือยังไง พระพุทธเจ้าคือ ผู้บำเพ็ญบารมี คือผู้รู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง ได้ตรัสรู้ อย่างผู้ที่บวชมาก็ต้องต่อยอดสืบทอดให้เป็นพระอริยเจ้า พระโสดาบัน พระสกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญบารมีมาหลายล้านชาติมาบอกมาสอนเรา เราจะไปทำให้มัวหมองเศร้าหมองไม่ได้ เพราะเราทุกคนที่บวชมายังไม่ได้เป็นพระธรรม ไม่ได้เป็นพระวินัย เราถึงมาประพฤติมาปฏิบัติ เพื่อที่จะเป็นพระธรรม เป็นพระวินัย เราพากันเป็นเพียงภิกษุ การเรียนการศึกษา พระพุทธเจ้าท่านให้เรานำไปประพฤติปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นเราก็จะยิ่งทำผิดไปเรื่อย แล้วเราจะมีความสุขได้ยังไง
เพราะเราเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ต่ออาชีพของเราคือนักบวช ใจของเราไม่ซื่อสัตย์ต้องหน้าที่การงาน งานของเราคือการประพฤติพรหมจรรย์ งานของเราคือรักษาศีล สิกขาบทน้อยใหญ่ เพื่อกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า เพราะว่าอาหารบิณฑบาต เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่ที่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เป็นอริยทรัพย์ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด การประพฤติปฏิบัติของเราถือว่าเป็นการคอรัปชั่น เพราะไม่ตั้งใจปฏิบัติเอามรรคผลนิพพาน เป็นการคอรัปชั่นในเครื่องแบบ ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ มีแต่เพียงการทรงเครื่อง เหมือนเล่นลิเก แสดงโขน แสดงละคร แสดงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการประพฤติปฏิบัติอะไรเลย เราพากันทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ พระพุทธศาสนาของเราจะไปรอดได้ยังไง มันไปไม่รอด
ถ้าไม่เอาธรรม เอาพระวินัย เราก็เป็นคนไม่กตัญญูกตเวที เราเป็นลูกของพ่อของแม่ พ่อแม่เราถึงจะดีไม่ดี ก็เป็นเรื่องของท่าน มาสร้างบารมี เราทุกคนไม่ได้หายใจให้คนอื่น ไม่ได้กินข้าวให้คนอื่น เราทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติเอง เดินด้วยลำแข้งของตนเอง อาศัยพระธรรมของพระพุทธเจ้า ประพฤติปฏิบัติ ไม่กินเหล้าเจ้าชู้การพนัน ไม่มักมากในกามพยาบาท พวกเจดีย์ พวกวิหารเป็นเพียงเปลือกให้คนศรัทธาเลื่อมใส ต้องให้ใจเข้าถึงแก่นแท้ของพระศาสนาให้ได้ การที่จะสร้างกุฏิ สร้างวิหาร สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์ อย่างนี้ พระพุทธศาสนามันไปไม่รอด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "อานนท์! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการบูชาเราอยู่ด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยบูชาอันยอดเยี่ยม"
เราจึงต้องเป็นผู้กตัญญูกตเวที ต่อพระพุทธเจ้า ต่อพ่อแม่ ต่อบรรพบุรุษของเรา เป็นผู้ที่เสียสละ ทุกคนเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าต้องพากันพิจารณาตนเอง เดินจงกรมก็พิจารณากายใจ ว่าตามใจตามอารมณ์หรือเปล่า นั่งสมาธิก็พิจารณากายใจว่ายังตามใจตามอารมณ์หรือเปล่า ยืนเดินนั่งนอนก็พิจารณาตนเอง เพื่อแก้ไขตนเองประพฤติปฏิบัติตนเองเราจะได้เป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ที่ประเสริฐ เราเกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา ได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเพียงได้ยินได้ฟัง ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ได้ปฏิบัติตามก็ยิ่งเป็นอานิสงส์ใหญ่ ต้องพากันพิจารณาตัวเอง พากันแก้ไขตัวเอง เพื่อประพฤติปฏิบัติตัวเอง เราจะได้เป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า