แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๘๔ เมื่อปกครองตนเองได้แก้ไขตนเองได้อย่างถูกต้อง จึงปกครองบริหารผู้อื่นได้อย่างไม่ผิดพลาด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การปกครอง บริหารบ้าน บริหารเมือง การปกครอง การบริหารที่ถูกต้อง เราต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต ถึงจะเป็นการบริหารที่ถูกต้อง ปรับระบบประชาธิปไตย ที่เอาตัวตนเป็นใหญ่ เอาความหลง ของคนหมู่มากเป็นใหญ่ ให้เข้าสู่ธรรมะ ปรับปรุงการปกครองแบบสังคมนิยม ที่เป็นทางออกของคนจน ที่ร่วมรวมกัน เพื่อที่จะยึดอำนาจจากคนรวย จากกษัตริย์ เพราะสองอย่างนี้ก็คือความเห็นแก่ตัวทั้งคู่ ถ้าเราไม่เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอาธรรมเป็นที่ตั้ง มันไม่ได้ ย่อมเกิดการขัดแย้ง
การเรียนการศึกษานั้นถึงเรียนถึงศึกษาเพื่อเข้าหาธรรมะ เพื่อจะได้พัฒนาตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ แล้วพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน การเรียนการศึกษาถึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การทำงานถึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การบริหารถึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทุกๆ ท่านทุกคนต้องพากันมาแก้ที่ตัวเองทั้งหมด ทุกคนจะได้ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถ้าเอาตัวตนเป็นใหญ่ มันเป็นหนทางตัน เป็นหนทางที่มืดมิด ดับสนิท มีแต่ปัญหา เราทุกคนสามารถหยุด ช่วยๆ กันหยุดปัญหา แก้ปัญหา เราเป็นประชากรของโลก เราจะได้หยุด ทำบาปทั้งปวง ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจ ทำแต่บุญแต่กุศล การดำเนินชีวิตของเรามันถึงจะไม่ต้องเครียด เพราะเราทำจากสิ่งที่ถูกต้อง และทำจากการที่ต้องเสียสละ เราจะได้เป็นหลักการไว้ให้คนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่ คนสมัยใหม่ ให้พากันเข้าใจนะ เราจะทิ้งเรื่องจิตเรื่องใจ ทิ้งเรื่องความถูกต้อง ไปเอาความหลง ตั้งแต่วัตถุ มันไม่ได้ ความสุขความดับทุกข์นั้น ย่อมมีกับทุกคนอยู่แล้ว ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง อยู่ที่เราเสียสละ อยู่ที่เราทำงานเสียสละ เรียนหนังสือเสียสละ รับผิดชอบเสียสละ
ไสยศาสตร์ คือความหลง คืองมงาย ในตัวในตน ในลาภยศ สรรเสริญ อย่างนี้เราต้องพากันรู้จัก ลมหายใจดีมาก สำคัญมาก ทุกท่านทุกคน ต้องกลับมามีสติมีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม ฝึกหายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย หายใจเข้ารู้ชัดเจน หายใจออกรู้ชัดเจน ทุกๆ ลมหายใจเข้าออก ที่เราจะต้องฝึกตัวเอง เพราะอวิชชา ความหลง มันอยู่กับตัวเองไม่ได้ มันอยู่แต่กับความหลง หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ลาภยศสรรเสริญ ก็เลยไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ เราทุกท่านทุกคนต้องฝึก พากันมีสติมีสัมปชัญญะ ฝึกหายใจเข้าให้สบาย หายใจออกสบาย หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ มีความสุขในการหายใจ ทุกๆ ท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติ เป็นหน้าที่ของเราที่จะฝึกจิตฝึกใจ ในชีวิตประจำวันทุกๆ เมื่อ ทุกๆ เวลา ทุกอิริยาบถอย่างนี้เป็นต้น
เวลาเราทำงานเราก็มีความสุขในการทำงาน เวลาเราเรียนหนังสือเราก็มีความสุขในการเรียนหนังสือ เราจะได้เข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ในปัจจุบัน พระอรหันต์ท่านไม่ได้อยู่กับความปรุงแต่ง ไม่ได้อยู่กับความฝันเพราะสติสัมปชัญญะท่านสมบูรณ์ ปัจจุบันท่านไม่หลง ท่านไม่เพลิดเพลิน ไม่ได้ตั้งอยู่ในความประมาท ลมหายใจนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราทำอย่างนี้เราก็มีความสุขอย่างง่ายๆ ไม่ต้องเอาความสุขในการดูหนัง ฟังเพลง หรือไลน์โทรศัพท์ รู้เรื่องคนอื่น ให้มีความสุขในลมเข้าลมออก เพราะลมเข้า ลมออกมันเป็นของบริสุทธิ์มันไม่มีกาม ไม่มีกามคุณ ไม่มีกามารมณ์ พวกคนหลง ชีวิตอยู่กับกาม อยู่กับอวิชชา อยู่กับความหลง ลมหายใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ หรือท่านทั้งหลายจะเอาเป็นวิปัสสนาก็ยังได้ หายใจเข้ามันก็ไม่แน่ หายใจออกมันก็ไม่แน่ หายใจเข้ามันก็ไม่เที่ยง หายใจออกมันก็ไม่เที่ยง หายใจไม่ใช้ตัวไม่ใช่ตน มันไม่มีอะไรมากกว่านี้ ทุกอย่างนี้ก็ผ่านมาผ่านไป เราทุกคนจะพากันเอาอะไร จะพากันไปหลงอะไร
ให้ทุกท่านทุกคนพากันจัดการตัวเอง เราจะได้เข้าถึงธรรมะ เราจะได้หยุดพลังงานแห่งความหลง พลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ทุกท่านทุกคนต้องพากันเสียสละ ความประมาทความเพลิดเพลิน การไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันก็จะไปของมันเรื่อย เพราะกรรมเก่าของคนเราทุกคนมันมีพลังแรง มีแรงสูง เหมือนไฟฟ้าแรงสูง เราต้องรู้จัก ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ รู้อริยสัจ ๔ อย่างนี้ เราจะได้บริหารตัวเอง เราจะได้ปกครองตัวเอง แล้วเราจะได้เอาสิ่งที่ถูกต้องบริหารคนอื่น ปกครองคนอื่น นี่เราก็ยังปกครองตัวเองไม่ได้ บริหารตัวเองไม่ได้ มันจะไปปกครองเค้าได้อย่างไร ทุกท่านทุกคนต้องพากันปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะ เข้าถึงข้อวัตร เข้าถึงข้อปฏิบัติ อันนี้เป็นความประเสริฐ เป็นความดีของเราทุกๆ คน ถ้าไม่อย่างนั้นเราทุกคนก็จะเป็นเพียงผู้ฉลาด เป็นเพียงผู้ที่มีปัญญา แต่ไม่ได้เอาความฉลาด ไม่ได้เอาปัญญามาประพฤติมาปฏิบัติ อย่างนั้นเราก็ไม่ได้เข้าถึงพระศาสนา ไม่ได้เข้าถึงความเป็นธรรม ความยุติธรรม
เราทุกคนต้องมีการประพฤติมีการปฏิบัติ ให้ติดต่อต่อเนื่อง เราเป็นผู้หญิง เราเป็นผู้ชาย เป็นเด็ก เป็นคนแก่ก็พากันปฏิบัติตัวเอง สิ่งที่ว่าตัวเองนี้มันก็ไม่ใช่ตัวเองหรอก มันเป็นพลังงานแห่งอวิชชา แห่งความหลง เพียงแต่เค้าตั้ง เพียงแต่เค้าสมมุติ เพื่อมาใช้การใช้งาน และก็เพื่อที่จะมาหยุดพลังงานอีก ถึงจะถูกต้อง ปัจจุบันนี้ทุกคนต้องรู้จักตัวเอง และก็วางแผนให้กับตัวเองเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ให้คิดเป็น วางแผนเป็น เรามีตามันถึงจะมีประโยชน์ มีหูก็ถึงจะมีประโยชน์ ต้องเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่าเป็นคนมีสัมมาทิฏฐิ มีสติ มีปัญญา ไม่ใช่เหมือนหูกะทะ หูอะไรต่างๆ มีตาก็เหมือนตาสัปปะรดเฉยๆ การเรียนการศึกษาในปัจจุบันนี้แหละ ให้เราพากันมีสติมีปัญญา ให้คิดให้วางแผน คิดให้เป็น วางแผนให้เป็น
ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ปัจจุบันเราต้องเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญาออกมาใช้ ออกมาปฏิบัติในปัจจุบัน มันก็จะไปอย่างนี้ เราต้องหยุดตัวเองให้ได้ เบรคตัวเองให้ได้ แล้วปฏิบัติตัวเองให้ได้ เรื่องการมี sex ทางความคิด มี sex ทางอารมณ์ มีเพศสัมพันธุ์ทางความคิด ทางอารมณ์ ทุกคนต้องพากันหยุดให้หมด นี้เป็นเรื่องสำคัญ เราอย่าไปว่าไม่สำคัญ เพราะนี้มันเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องพระศาสนา ที่จะหยุดภพ ที่จะหยุดชาติ หยุดเวียนว่ายตายเกิดของตัวเอง ทุกคนไม่ยอมแตะต้องตัวเอง ไม่ยอมปฏิบัติตัวเอง มันเป็นสิ่งที่เสียหาย การมีพระศาสนาเอาไปแก้ไขคนอื่น แล้วตัวเองก็เพิ่มความเห็นแก่ตัวอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เช่น เราไปบอกประชาชนเพื่อช่วยเหลือส่วนรวม เพื่อพัฒนาส่วนรวม แต่เราเองไม่ได้บอกให้ช่วยเหลือตัวเองเลย มีแต่เพิ่มตาบอดให้มันสนิท หูหนวกให้มันสนิท มีแต่จะร่วมรวมกันสร้างภาพเพื่อช่วยน้ำท่วม ช่วยแห้งแล้ง ช่วยภัยพิบัติต่างๆ แต่ตัวเองนั้นไม่ได้ช่วยตัวเองเลย สนองความอยาก ความต้องการ ความหลงตัวเอง เกิน 100% เลย การปกครองมันถึงล้มเหลว เพราะว่าไม่ได้ปกครองตัวเองเลย ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจและก็พากันปฏิบัติ ถ้าเราปล่อยไปอย่างนี้ 100 ปี 1000 ปี หรือหมื่น แสนปี มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ มีแต่จะพากันสร้างปัญหา ชีวิตของเรามันย่อมไม่สงบ ย่อมไม่เย็น เราต้องปกครองตัวเองก่อน เราดูแล้วพ่อแม่ก็พากันไปโทษแต่ลูก คุณครูอาจารย์ก็ไปโทษแต่นักเรียน ข้าราชการก็ไปโทษแต่ประชากร แต่ตัวเองนั้นไม่ได้แก้ไขเลย ไม่ได้ปกครองตัวเองเลย นี่จะว่าโง่ธรรมดา หรือว่าบรมโง่ มันโง่ขนาดนี้มันยังไม่รู้จักตัวเอง ให้พากันเข้าใจนะ อย่างนี้ไม่ใช่พระศาสนา ไม่ใช่ธรรมะ มันเป็นนิติบุคคล ตัวตน
เราต้องเข้าถึงการปกครองที่เป็นธรรม ความยุติธรรม พากันแก้ไขตัวเอง ไก่ฟักไข่ใช้เวลา 3 อาทิตย์ถึงออกตัวเป็นลูก เราดูตัวเองมั้ย นั่งสมาธิสงบมันก็ไม่ถึง 5 นาทีหรอก ทำงานอย่างนี้ก็ไม่สงบหรอก ใจมันฟุ้งซ่าน เพราะว่าไม่มีความสุขในการทำงาน มีความสุขตั้งแต่เงิน แต่สตางค์อย่างนี้เป็นต้น มันต้องแก้ปัญหา มันต้องพากันปกครองตัวเองอย่างนี้ ประเทศไทยเรามันต้องพากันเข้าใจนะ หรือว่าประเทศทุกประเทศต้องพากันเข้าใจ ต้องเอาธรรมาธิปไตย ปรับจากสังคมนิยมที่เห็นแก่ตัว ปรับจากประชาธิปไตยเห็นแก่ตัว เข้าสู่ธรรมะ เพราะเราทุกคนต้องปกครองตัวเองอย่างนี้แหละ
ไปประชุมอะไรนี่ ส่วนใหญ่ก็จะไปแก้ที่คนอื่น เอาสตางค์รับจ้างเพื่อปกครองคนอื่น สอนคนอื่น แต่ไม่ได้สอนตัวเอง ทุกคนได้ยินได้ฟังอย่าพากันเอาหูทวนลม คิดว่าทำไม่ได้อย่างนี้ ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปรับจ้างปกครองคนอื่น ไม่ต้องบริหารคนอื่น มันเป็นการคอรัปชั่นความถูกต้อง มันไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม ผู้ปกครองทั้งหลาย ที่เป็นนักการเมืองก็ดี ข้าราชการก็ดี พากันทำความผิดนะ ที่ไม่ได้มาจัดการตัวเอง ไปหาจัดการแต่คนอื่น มันมีอยู่ มีกิน มีใช้ เหลือกิน เหลือใช้ มาจากการรับจ้างทำงานแก้ไขคนอื่น ต้องพากันแก้ไขตัวเอง พร้อมกับแก้ไขคนอื่นไปพร้อมๆกัน นักศึกษารุ่นใหม่ต้องพากันเข้าใจ อย่าไปทำตามคนรุ่นเก่าที่มีความเห็นแก่ตัว ไม่ได้รับความถูกต้อง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ความยุติธรรม
“ราชสังคหวัตถุ” หมายถึง หลักการสงเคราะห์ประชาชนของ นักปกครองหรือนักบริหาร หรือหลักธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนของ นักปกครองหรือนักบริหาร เพราะนักปกครองหรือนักบริหารทั้งหลายนอกจากจะมีหลักธรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะต้องเฉลียวฉลาดในการบริหารจัดการ ตามหลักราชสังคหธรรมที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ
1.3.1 สัสสเมธะ ได้แก่ ฉลาดในการคัดเลือกพันธุ์พืช ฉลาด ในการเพาะปลูกและบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ฉลาดในการส่งเสริมการเกษตรใน ด้านต่างๆ กล่าวโดยสรุปผู้ปกครองหรือผู้บริหารต้องเป็นผู้มี ความรู้ความสามารถ ในด้านการเกษตรทั้งการผลิตและการจำหน่ายในทุกๆ ด้าน
1.3.2 ปุริสเมธะ ได้แก่ ความเฉลียวฉลาดในการบริหารจัดการ บุคคล กล่าวคือ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถให้ได้ทำหน้าที่ตามที่เขาถนัด กันคนชั่วไม่ให้โอกาสเข้ามารับผิดชอบงานเพื่อหวังผลประโยชน์บำรุงและให้ขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการและประชาชนทุกหมู่เหล่า
1.3.3 สัมมาปาสะ ได้แก่ รู้จักผูกใจประชาชนด้วยการช่วยเหลือต่างๆ หรือส่งเสริมอาชีพโดยวิธีการต่างๆ เช่น ให้กู้ยืมเงินไปลงทุนการเกษตร หรือไปลงทุนทางพาณิชยกรรม หรือทางการศึกษา โดยดอกเบี้ยต่ำหรือไม่คิด ดอกเบี้ยเลย หรือเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ด้วยจิตใจที่ เอื้ออารีย์ เป็นต้น ถือว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้เขาลุกขึ้นมายืนได้ และสุดท้ายก็คือช่วยเหลือประเทศ ถ้าประชาชนทุกหมู่เหล่าอยู่อย่างมั่นคงและเข้มแข็ง
1.3.4 วาจาเปยย หรือวาชเปยะ ได้แก่ มีการพูดด้วยถ้อยคำสุภาพ ไพเราะ อ่อนหวาน มีเหตุผล ประกอบด้วยประโยชน์ สร้างสรรค์ความสามัคคี มีความสัตย์ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันตลอดจนเกิดความเชื่อถือในคำพูดนั้น
1.3.5 นิรัคคฬะ เป็นชื่อของยัญชนิดที่ไม่มีขีดคั่น ฆ่าได้ทุกอย่าง เปรียบเทียบได้กับ การบริหารบ้านเมืองไม่ให้มีเสี้ยนหนามหลักตอ ไม่ให้มีโจรขโมยที่จะมาปล้นบ้านปล้นเรือน ประชาชนมีชีวิตที่เป็นสุขอย่างดี
หลักธรรมห้าประการที่เสนอมาแล้วนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของ นักปกครองหรือนักบริหาร ถ้าทำได้อย่างที่เสนอมา สังคมหรือประเทศชาติก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มั่นคง เป็นปึกแผ่น ไม่ปั่นป่วนวุ่นวายเหมือนปัจจุบันนี้ แต่ปัจจุบันที่เป็นอย่างนี้ ปัญหาสำคัญก็คือ ผู้ปกครองหรือผู้บริหารขาดหลักธรรม ต่างๆ ที่เสนอมาตั้งแต่ต้น เมื่อผู้ถูกปกครองเห็นความไม่ถูกต้องของผู้ปกครอง กระทำก็เกิดความไม่พอใจ จึงลุกขึ้นมาต่อสู้จนกลายเป็นปมขัดแย้งของสังคม ในปัจจุบันไม่รู้ว่าความขัดแย้งบนพื้นฐานของอธรรมนี้ จะสิ้นสุดหรือยุ ติลงอย่างไร แต่ที่รู้ในปัจจุบันนี้ก็คือ ประเทศชาติเสียหายยับเยิน
การปกครองที่จะกล่าวต่อไปนี้ แม้พระพุทธองค์จะไม่ทรงตรัสไว้โดยตรง กับการปกครองบ้านเมือง เพราะโดยเนื้อหาพระองค์ตรัสถึงการปกครองตัวเองของภิกษุ ผู้ซึ่งอิงอาศัยความเป็นใหญ่ 3 ประการ ดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย อธิปไตย 3 อย่างนี้ 3 อย่างเป็นไฉน คือ อัตตาธิปไตย 1 โลกาธิปไตย 1 ธรรมาธิปไตย 1” อธิปไตยทั้ง 3 ประการนี้ หากจะนำมาตีความและใช้กับ การปกครองบ้านเมืองก็สามารถที่จะทำได้ เพราะการปกครองบ้านเมืองหรือ การปกครองทางโลกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็มีการปกครองทั้ง 3 ทฤษฎีนี้ เพียงแต่ว่าประเทศนั้นๆ ยึดถือเอาทฤษฎีใดใน 3 ทฤษฎีนี้มาปกครอง
3.1 อัตตาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ถือเอาตัวผู้ปกครอง เป็นใหญ่ อำนาจสิทธิขาดอยู่ที่ตัวผู้ปกครอง ปกครองจึงมีอำนาจสูงสุดเพียงผู้เดียว การปกครองอย่างนี้ ในโลกปัจจุบันเขาเรียกว่า “เผด็จการ” มี ปรากฏในลัทธิ คอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต ของจีน ของเกาหลีเหนือ หรือ เผด็จการของนาซี เยอรมัน ฟาสต์ซิสต์ของอิตาลี ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น พระพุทธศาสนาได้ให้ผู้ปกครองด้วยระบบอัตตาธิปไตยว่า ผู้ปกครองด้วยระบบนี้ ต้องมี “สติ” กำกับตัวเองตลอดเวลา เพราะผู้ใช้อำนาจคือปัจเจกบุคคล ต้องมีสติควบคุมตัวเองทุกครั้งที่ใช้อำนาจ
3.2 โลกาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ถือเอาเสียงชาวโลกหรือ เสียงของคนหมู่มากในสังคมนั้นๆ เป็นผู้ตัดสินในการใช้อำนาจเพื่อทำการนั้นๆ ในสังคมโลกปัจจุบันนี้เรียกการปกครองอย่างนี้ว่า “ประชาธิปไตย” ถือการเลือกตั้ง และใช้อำนาจผ่านผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง พระพุทธศาสนาเสนอแนะระบบการปกครองแบบโลกาธิปไตยนี้ว่า “พึงใช้ปัญญาครองตน และรู้จักเพ่งพินิจใน การใช้อำนาจ” ถามว่า ทำไมจึงต้องใช้ปัญญาและรู้จักเพ่งพินิจ ตอบว่า แม้จะเป็นเสียงของคนหมู่มากหรือความเห็นของคนหมู่มากในการใช้อำนาจ แต่ถ้าไม่รู้ จักใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดี หรือเพ่งพินิจพิจารณาให้ดี เสียงหมู่มาก คนหมู่มากก็ มีสิทธิ์ผิดพลาดได้ มีสิทธิ์บกพร่องได้ ดังนั้น การใช้ปัญญาไตร่ตรองโดยปราศจากอคติใดๆ ก็จะสามารถให้ความยุติธรรมได้
3.3 ธรรมาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ถือธรรมหรือความ ถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ยึดถือเอาบุคคล กลุ่มบุคคลหรือกฎกติกาใดๆ ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงามมาปฏิบัติ แต่ยึดถือเอาธรรมเท่านั้น พระพุทธศาสนาเสนอแนะผู้เป็นธรรมาธิปกว่า “พึงประพฤติให้ถูกหลักธรรม” เพราะธรรมจะอภิบาลทั้งผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครองให้มีความเป็นอยู่อย่างสันติสุข สังคมสงบ สังคมมีความสามัคคี ประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรือง
อธิปไตยทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วนั้น พระพุทธศาสนาถือว่า “ธรรมาธิปไตย” เป็นยอดของการปกครอง เพราะผู้ปกครองมีทั้งหลักธรรมในการปกครอง
ผู้ที่แก้ปัญหาตามหลักได้ดี ด้วยทศพิศราชธรรม เว้นจากอคติทั้ง ๔ เพราะโลกนี้ต้องปกครองด้วยทศพิศราชธรรม เป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรม และยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติ ทศพิธราชธรรม นี้ ปรากฏอยู่ในมหาหังสชาดก ขุททกนิกาย ชาดก ปรากฏพระคาถาว่า ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ.
ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม ๑๐ คือจริยวัตร ๑๐ ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรม ประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้
๑. ทาน หมายถึง หมายถึงการแบ่งปันให้ทรัพย์สิ่งของ เพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์ ผู้อื่นด้วยจิตเมตตา ปรารถนาที่จะให้ผู้รับอยู่ดีมีสุข และปรารถนาที่จะให้ผู้ประสบความทุกข์ เดือดร้อน ให้พ้นทุกข์ นับว่ามีความสำคัญสำหรับผู้ปกครองเป็นอันดับแรก เพราะในฐานะที่เป็น ผู้นำหรือผู้ปกครองนั้นหากมองในแง่ของคุณธรรม ก็ควรจะเป็นผู้เอื้ออารีต่อคนในปกครอง รู้จัก เอื้อเฟื้อแบ่งปัน สงเคราะห์ช่วยเหลือคนในปกครองของตนตามควรแก่โอกาสและเหตุการณ์ หาก มองในแง่ของหน้าที่ผู้ปกครองก็มีหน้าที่จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขคนในปกครองของตน ด้วยการ ให้วัตถุสิ่งของบ้าง ด้วยการให้วิชาความรู้บ้าง ด้วยการให้สิ่งที่ต้องการอื่นๆ ตลอดถึงให้การอบรม แนะนำบ้าง เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้เป็นเครื่องยังชีพและสร้างสรรค์ชีวิตให้มีความผาสุกตามควรแก่ อัตภาพ สิ่งเหล่านี้ก็รวมอยู่ในคุณธรรมข้อที่เรียกว่า ทาน การให้นั่นเอง
๒. ศีล หมายถึง หมายถึง การสำรวมระวังกายและวาจาให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ กล่าวคือ เจตนา งดเว้นจากความประพฤติปฏิบัติที่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนเสียหาย เป็นที่ทราบกันดีว่า ศีล นั้นคู่กับ ธรรม ศีลเป็นข้อห้าม นั้นก็หมายความว่า ผู้ปกครองจะต้องประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม มั่นคงหนักแน่นอยู่ในระเบียบวินัย กฎหมายและขนบประเพณี อันดีงามของบ้านเมือง วางตนให้เป็นหลักเป็นที่เชื่อถือของประชาชนได้ในฐานะที่เป็นหลักเป็น ประธานของหมู่คณะหรือประเทศชาติส่วนประชาชนก็จะต้องประพฤติเช่นเดียวกัน เพราะถ้าผู้นำทำดีอยู่คนเดียว แต่ประชาชนไม่เอาด้วย สังคมก็จะสงบเรียบร้อยไม่ได้ หรือถ้าประชาชนพยายามทำดี แต่ผู้นำไม่เอาด้วย ประชาชนก็เดือดร้อน ฉะนั้น ทุกฝ่ายจึงต่างต้องมีศีลต่อกัน สังคมจึงจะสงบสุข
๓. บริจาค หมายถึง ความเสียสละ คือกิริยาอันเป็นไปด้วยกุศลเจตนา ประกอบด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบที่เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนส่วนรวม หรือเสียสละประโยชน์สุขส่วนน้อยเพื่อประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นไปเพื่อบรรเทากิเลส คือความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว แก่พวกพ้องของตน โดยหน้าที่แล้วผู้ปกครองย่อมต้องเป็นคนเสียสละ หากไม่มีคุณธรรมข้อนี้ก็เป็นผู้ปกครองที่ดีไม่ได้ เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้เพราะจะกลายเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อกอบโกยประโยชน์สุขส่วนตนฝ่ายเดียว กล่าวสั้นๆ ผู้ปกครองของตนหรือเพื่อประเทศชาติของตน ส่วนประชาชนก็จะต้องเสียสละเพื่อสนองนโยบายที่เป็นธรรมหรือความปรารถนาดีของผู้ปกครองด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อถึงคราวอดก็อดด้วยกัน เมื่อถึงคราวควรออมก็ออมด้วยกัน การแก้ปัญหาของหมู่คณะหรือชาติบ้านเมืองจะเป็นไปได้ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งกำลังประสบปัญหา แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับแสวงหาแต่ความสุขใส่ตัวเอง โดยไม่อาทรห่วงใยต่อใคร หมู่คณะหรือชาติบ้านเมือง ก็คงไปไม่รอดแน่ฉะนั้น ทุกคนจึงต้องเสียสละตามควรแก่ฐานะและความรับผิดชอบ
๔. อาชวะ หมายถึง ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรม คุณธรรมข้อนี้เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือกิจการทุกอย่างหากผู้ที่มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะในฐานะผู้นำหรือผู้ตาม ต่างไม่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่ซื่อตรงต่อเวลา ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ซื่อตรงต่อความถูกความควร ความสัมฤทธิ์ผลก็เป็นไปได้ยาก และจะถึงความล่มสลายในที่สุดแต่ถ้าทุกฝ่ายซื่อตรงต่อกัน ซื่อตรงต่อเวลาซื่อตรงต่อหน้าที่และซื่อตรงต่อความถูกความควร ก็หวังได้ว่า กิจการย่อมจะประสบความสำเร็จด้วยดี หากแม้นจะมีอุปสรรค ก็จะสามารถช่วยกันแก้ไขให้สำเร็จได้ไม่ยาก
๕. มัททวะ หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน คือความเป็นผู้มีอัธยาศัย ใจคอและมีกิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน งดงามตามฐานะ ตามเหตุผลที่ควรดำเนิน ไม่แข็งกระด้าง ดื้อดึง ด้วยความเย่อหยิ่งถือตัวถือตน ความอ่อนโยน คุณธรรมข้อนี้มีความจำเป็นอย่างไรคงเห็นได้ ไม่ยาก คนที่เย่อหยิ่งจองหองหรือแข็งกระด้างหยาบคายนั้น ย่อมเป็นที่เกลียดชังของคนทั่วไป หากเป็นผู้ปกครองด้วยแล้ว ก็ย่อมจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อการปกครองเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้คนในปกครองขาดความเคารพนับถือและเสื่อมศรัทธา และบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดความหายนะอย่างร้ายแรงขึ้นก็ได้ ฉะนั้น ผู้ปกครองที่ดีย่อมจะสุภาพอ่อนโยนต่อทุกคนและในทุกโอกาสด้วย ความจริงใจเสมอ ประชาชนก็จะให้ความเคารพรักและคารวะอ่อนน้อมเป็นการตอบแทนเช่นกัน โดยสรุปแล้วก็คือ ทุกคนควรมีความสุภาพอ่อนโยนต่อกันและกันตามควรแก่ฐานะ
๖. ตบะ หมายถึง การเผากิเลสมิให้เข้าครอบงำจิตใจ หรือความเพียร มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงานโดยปราศจากความเกียจคร้าน ลักษณะของผู้นำที่จะขาดเสียมิได้ ก็คือความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติหน้าที่ หรือในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยุ่งยาก ต่างๆ จึงจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและยำเกรงขึ้นในประชาชนได้ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีพลังภายในคือ ตบะ ความเพียรพยายามอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคงจนกว่าจะบรรลุความสำเร็จ ในหน้าที่การงานนั่นเอง ตบะจึงเป็นที่มาแห่งอำนาจของผู้นำ ดังที่มักเรียกกันว่า “มีตบะเดชะ”ผู้นำ ที่ไร้ตบะไม่เป็นที่เชื่อมั่นยำเกรงของคนในปกครอง ฉะนั้น ตบะจึงเป็นคุณธรรมจำเป็นสำหรับ ผู้ปกครองผู้บริหาร และในเมื่อผู้ปกครองผู้บริหารมีความเพียรพยายามแล้ว ผู้อยู่ในปกครองหรือ ผู้ตามก็จะต้องสนองตอบด้วย คือจะต้องมีความเพียรพยายามไปตามฐานะและหน้าที่อย่างเต็ม ความสามารถด้วย
๗. อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ คือกิริยาที่ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ตลอดทั้งไม่ผูกพยาบาทอาฆาตผู้อื่น แม้จักต้องลงโทษทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิด ก็กระทำตามเหตุผลที่สมควรตามหลักกฎหมายและกระทำตามระเบียบวินัยที่ได้กำหนดไว้ดีแล้ว ไม่กระทำด้วยอำนาจความโกรธ ผูกพยาบาท และแม้มีเหตุให้โกรธ ก็สามารถข่มความโกรธเสียได้ด้วยขันติธรรม ก็หมายถึงว่า ผู้ปกครองไม่ควรปฏิบัติต่อคนในปกครองของตนด้วยอำนาจบาตรใหญ่ หรือด้วย ความเกี้ยวกราดอย่างไร้เหตุผล เพราะจะทำให้กลายเป็นที่เกลียดกลัวและเกลียดชังของคนในปกครอง อันจะทำให้ขาดความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่การงาน แต่ถ้าผู้ปกครองหรือผู้บริหารเป็นคนไม่วู่วามใช้อารมณ์ แต่เป็นคนเยือกเย็นมีเหตุผล และแสดงความเมตตาต่อทุกคนโดยเสมอหน้า ก็ย่อมจะเป็นที่รักที่พอใจของทุกคน
๘. อวิหิงสา หมายถึง ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ลำบาก คือ ความไม่ก่อความทุกข์ยากให้แก่บุคคลอื่น ตลอดทั้งสัตว์อื่นทั้งหลาย ได้แก่ ผู้ปกครองจะต้องไม่เป็น ผู้โหดร้ายทารุณประชาชน ไม่กระทำการใดๆ อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนทุกข์ยากแก่ประชาชน ทั้งในด้านทรัพย์สินและชีวิตร่างกาย หากผู้ปกครองโหดร้ายปราศจากกรุณาปราณีประชาชนก็จะมีแต่ความหวาดผวา หาความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สินไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงจะไม่มีใครคิดสร้างสรรค์อะไรให้สังคมหรือส่วนรวม เพราะแต่ละคนก็จะมัวแต่ระวังภัยอันอาจจะเกิดขึ้นกับตนเองได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น ผู้ปกครองที่ดีจะต้องไม่สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน แต่จะต้องพยายามสร้างความสุขกายเย็นให้แก่ทุกคนในปกครองของตนเท่าที่สามารถจะทำได้ส่วน ประชาชนก็จะต้องไม่หาเหตุสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครองด้วย
๙. ขันติ หมายถึง ความอดทนอดกลั้น ภารกิจของผู้ปกครองนั้นเป็นสิ่งที่หนักยิ่ง ผู้ปกครองจึงจำต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นผลสำเร็จ คือจะต้องอดทนต่อความทุกข์ยากในการปฏิบัติหน้าที่ ทนเสียสละเพื่อประชาชน ทนต่อปัญหา และอารมณ์อันไม่พึงประสงค์ของคนเป็นจำนวนมาก ตลอดถึงทนต่อความรู้สึกและความต้องการ อันไม่ถูกไม่ควรของตนเอง ไม่ให้แสดงออกมาด้วย นั่นคือ จะต้องเป็นผู้หนักแน่นมั่นคงในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ภาระหน้าที่ในความรับผิดชอบดำเนินไปด้วยดี แม้ประชาชนก็จะต้องมีความอดทนด้วยเช่นกัน เช่น ทนกระทำในสิ่งที่ดีงามควรกระทำ ทนลำบากได้ในเมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะลำบาก ทนเสียสละได้เมื่อบ้านเมืองต้องการความเสียสละช่วยเหลือ หรือทนอดทนออมได้ เพื่อผลดีแก่ส่วนรวม เป็นต้น
๑๐. อวิโรธนะ หมายถึง ความปฏิบัติไม่ผิด ได้แก่ ปฏิบัติหรือกระทำการ ต่างๆ ไม่ผิดไปจากทำนองคลองธรรมของผู้ปกครองที่ดีแต่กระทำการต่างๆ ไปตามที่ถูกที่ควร โดยยึดถือคุณธรรมมีทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการบริหารหรือปกครองกล่าวสั้นๆ ก็คือ ปกครองโดย ธรรม ทางพระพุทธศาสนารวมเรียกว่า ธรรมมาธิปไตยถือธรรมคือความถูกต้องยุติธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอาประโยชน์สุขส่วนตัวหรืออำนาจบาตรใหญ่ หรืออารมณ์อันไร้เหตุผลมาเป็นหลักเป็นใหญ่ ในการบริหารหรือปกครอง แม้ผู้อยู่ในปกครองหรือผู้ร่วมงานก็เช่นเดียวกัน จะต้องยึดถือธรรม คือ ความถูกต้องยุติธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติต่อกันและกัน กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุกฝ่ายจะต้องยึดถือธรรม คือความถูกต้องยุติธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติต่อกันและกัน ไม่เอาประโยชน์สุขส่วนตัว หรืออคติความลำเอียง เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยตัดสินความเป็นธรรม ในสังคมจึงจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้
พระพุทธศาสนาถือว่า “ธรรมาธิปไตย” เป็นยอดของการปกครอง เพราะผู้ปกครองมีทั้งหลักธรรมในการ ปกครองและคุณธรรมของผู้ปกครองดังกล่าวมาแล้วเป็นเครื่องมือในการปกครอง สังคมโลกปัจจุบันที่มีความวุ่นวาย ด้วยภัยต่างๆ เช่น โจรภัย ราชภัย หรือแม้แต่ภัยคือสงคราม เป็นต้น เพราะสังคมขาดธรรม แม้ธรรมาธิปไตย จะเป็นการปกครองที่เป็นอุดมคติ แต่เราผู้เป็นคนสร้างสังคมก็ควรบากบั่น ควรพยายาม ควรอดทน ทำให้สังคมมี “ ธรรม ” คุ้มครอง เพราะธรรมจะทำให้เรา ทุกคน ลูกหลานของเราทุกคนอยู่กันอย่างสันติสุข ไม่มีระบบการปกครองอื่นใด จะประเสริฐกว่านี้อีกแล้ว