แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๘๒ ควรศึกษาเล่าเรียน เพื่อพัฒนากายใจ ร่ำรวยด้วยการมีศีลธรรมกำกับ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่าง สุข สงบ และสันติ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราเป็นวัยเด็ก วันที่จะต้องเรียน ต้องศึกษา ให้พากันเข้าใจ เพราะชีวิตของเราช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญ ให้เรารู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ถ้าเราไม่ตั้งใจเรียนไม่ตั้งใจศึกษา ไม่ตั้งใจปฏิบัติ ในอนาคตของเรามีความทุกข์แน่นอน เราจะปล่อยให้ชีวิตของเราผ่านไปโดยไม่ได้ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เราจะไปตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความคิดไปไม่ได้ ต้องปรับตัวเองเข้าหาการเรียนการศึกษา ชีวิตเราจะก้าวหน้า ไม่มีความทุกข์ในอนาคต ก็อยู่ที่เราทุกคนต้องลิขิตชีวิตพวกเราเอง
ทุกท่านทุกคน ต้องพากันประพฤติปฏิบัติตัวเอง เพราะเรื่องการเรียนการศึกษา เรื่องการประพฤติปฏิบัติมันเป็นเรื่องของเราเอง ก็มีโรงเรียน มีคุณครู มีหนังสือ มีตำหรับ ตำรา เพื่อที่จะให้เราศึกษาปฏิบัติ เพื่อนเราส่วนใหญ่มันก็เป็นเด็ก มันก็ยังไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราอย่าไปตามเพื่อน ตามฟูง ตามอะไรก็ มันก็ไม่ได้ เราเรียนศึกษา ยังไม่พอ เราต้องพัฒนาจิตใจของเราไปพร้อมๆ กัน
วัยเด็กถือเป็นวัยที่เริ่มต้นการเรียนรู้ เขาควรจะได้รับการเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง?
สิ่งที่เราเรียนรู้ มีทั้งความรู้และมีทั้งความคิดหรือเรียกว่าจินตนาการ ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ในโลกยุคปัจจุบัน เราพบว่าความรู้มีเยอะมาก และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วก็มีอะไรใหม่ๆ มาให้เราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ใครที่เรียนเอาความรู้ในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย แล้วก็จบอยู่แค่นั้น สิ่งที่เขาเรียนมามันจะเชยไปอย่างรวดเร็ว และพบว่าจะคุยกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะว่าโลกเปลี่ยนเร็ว แต่จินตนาการคือความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ แล้วก็หาทางให้ความคิดนั้นเป็นจริงขึ้นมาในที่สุด สิ่งนี้มีความสำคัญมาก
หน่วยงานต่างๆ เวลาจะรับคนเข้าทำงานจะระบุวุฒิปริญญาตรี หรือปริญญาโท เพื่ออยากได้คนทำงานที่มีความคิดความอ่านจับประเด็นเป็น สรุปเป็น วิเคราะห์แก้ปัญหาเป็น โดยเขาคาดว่าคนที่จบปริญญาน่าจะมีสิ่งเหล่านี้ดีกว่าคนจบมัธยม หรือคนจบประถม นั้นคือการศึกษาให้น้ำหนักกับความรู้หรือให้น้ำหนักกับสิ่งที่เตรียมตัวจะลืมในอนาคต แต่สิ่งที่ได้ใช้จริง แล้วทุกหน่วยงานปรารถนาคือ ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ การจับประเด็น การเชื่อมโยง หาทางแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีการสอนเป็นกิจลักษณะ ความรู้เปลี่ยนเร็ว อยากรู้อะไรเข้า Google ก็ได้ข้อมูลอยากรู้ที่อยากรู้ มีทั้งภาพมีคลิปวิดีโอ แต่สิ่งที่ Google ให้เราไม่ได้คือ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา จับประเด็นต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนๆ นั้นมีคุณค่า ปัญญาประดิษฐ์ก็ยังไม่สามารถทำถึงจุดนั้นได้ ทำได้แค่เป็นเรื่องๆไป
ไอสไตน์ จึงได้กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เมื่อสังคมไปเน้นที่ความรู้ พ่อแม่อยากจะให้ลูกตัวเองได้รับการยอมรับ เมื่อกติกาสังคมเป็นอย่างนั้น จะเข้าอนุบาลต้องไปสอบเข้า ยังไม่ทันได้เรียนหนังสือ ไปสอบเข้า แล้วจะเอาอะไรไปสอบ ก็ต้องติว หากบอกว่าเด็กคนนี้เข้าอนุบาลอ่าน ก.ไก่ ฮ.นกฮูกได้หมดแล้ว A B C Dได้หมด สอบผ่าน กลายเป็นไปบีบคั้นเด็กมากเกินไปเพราะจินตนาการต่างๆจะมาจากการเล่น เด็กมีความคิดแบบจินตนาการเยอะ สิ่งเหล่านี้หากได้รับการปลูกฝัง เพาะบ่มที่ดี เด็กจะกลายเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์
ระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันแย่งชิงและเปรียบเทียบ ดีหรือไม่?
คนเราชอบแข่งขัน ถ้าเรียนหนังสือไม่ค่อยมีสอบก็ไม่ค่อยขยัน แต่พอมีสอบก็ฟิตขึ้นมาเพียงแต่ว่าต้องดูให้พอดีๆ ถ้ามากเกินไปผลคือ ไปผลักเด็กให้ไปทุ่มเทกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นคุณกับเขาจริงๆ และยังทำให้ขวางหลายสิ่งหลายอย่าง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กในอนาคต เพราะเวลาจะสอบ ข้อสอบที่ออกง่ายคือข้อสอบความจำ ความรู้ เพราะสอบวัดจินตนาการ วัดยาก วัดความรู้วัดง่ายออกข้อสอบง่าย ดังนั้นคุณครูต้องไม่เอาง่ายออกข้อสอบแบบปรนัย แต่ต้องออกข้อสอบอัตนัยให้เขียน คุณครูตรวจยากหน่อย เด็กจะได้ฝึกเขียน ฝึกคิด เมื่อต้องเขียนจึงต้องคิด และเรียบเรียงออกมา เพราะฉะนั้นการแข่งขันที่มากเกินไปจะทำให้การศึกษาไปผิดทาง
คำว่า ศึกษานั้น มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ศึกษา มาจากคำว่า... ศิกษา ในภาษาสันสฤต และ สิกขา ในภาษาบาลี อันแปลความหมายว่า การเรียนรู้ ที่จะทำให้เห็นเอง
สิกขา มาจาก สยํ+อิกขฺ สยํ แปลว่า เอง อิกขฺ แปลว่า เห็น
สิกขา จึงแปลว่า การเห็นด้วยตัวเอง การเห็นประโยชน์ได้ด้วยตัวเอง
พหูสูต ๕ ระดับ โดยหลักทฤษฎีจริงๆ แล้ว การเกิดของปัญญาที่เรียกว่า พหูสูต มี ๕ ระดับ ผู้ที่เป็น พหูสูตต้องทำถึง ๕ ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ ๑ พหุสสุตา แปลว่า ฟังมาก เรียนมาก ท่องมาก รวบรวมข้อมูลได้มาก ขั้นนี้เป็นการศึกษาเล่าเรียนจากข้อมูลต่างๆ จากอาจารย์ จากตำรา การใฝ่หาความรู้ต่างๆ ขั้นนี้ทุกคนสามารถทำได้
ขั้นที่ ๒ ธตา แปลว่า จำได้ จำสาระสำคัญให้ได้ว่าสิ่งไหนที่ควรจะจำเมื่ออ่านหนังสือจบเล่มหนึ่งๆ ต้องจับประเด็นหลักให้ได้ แล้วนำความจำประเด็นหลักๆ มาขยายความได้ เช่น อ่านหนังสืออย่างช้าๆ แล้วทำความเข้าใจไปด้วย เมื่ออ่านจบให้ สรุปสาระสำคัญให้ได้ แล้วนำหนังสือไปเก็บโดยไม่ต้องนำกลับมาอ่านอีก ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ แสดงว่าเป็นผู้แสวงหาความรู้ที่ถูกทาง ถูกต้อง ขั้นนี้เรียกว่า ธตา คือ ควรจำได้ในสาระที่ควรจำ
ขั้นที่ ๓ วจสา ปริจิตา คือ ท่องให้คล่องปาก เมื่อสมัยก่อนมีบทอาขยานให้ท่อง ปัจจุบันไม่มีแล้ว ให้เรียนแบบฝรั่ง เพื่อสอนให้คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น แต่ครูยังสอนเหมือนเดิม เด็กก็ยังคิดไม่เป็น แถมยังจำอะไรไม่ได้อีก โง่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น หลักขั้นที่ ๓ คือ ต้องท่องให้คล่องปาก จนสามารถจำได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสุภาษิต คติ หรือพุทธวจนะเมื่อต้องการสามารถหยิบมาใช้ได้ทันที
ขั้นที่ ๔ มนสานุเปกขิตา คือ เพ่งให้ขึ้นใจจนสามารถสร้างภาพพจน์ขึ้นในใจ เป็นวิธีการเรียนหนังสืออย่างหนึ่ง สมัยเรียนเป็นสามเณร เปรียญ ๘ เปรียญ ๙ ผมใช้เวลาในการอ่านหนังสือ ๑ ถึง ๒ เที่ยวก็จำหมด เพราะผมใช้วิธีสร้างภาพในใจ จนกระทั่งมองเห็นว่าข้อความนั้นๆ อยู่บรรทัดเท่านั้น หน้านั้นได้ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ท่านเคยเล่าว่า เมื่ออ่านประวัติศาสตร์ไทยตอนพระนเรศวรรบกับพระมหาอุปราชา ท่านมองเห็นภาพว่าพระนเรศวรยืนอยู่ตรงไหน พระมหาอุปราชายืนตรงไหน ตอนรบกันทำท่าอย่างไร เวลาท่านมาพูดเหมือนกับบรรยายภาพ ไม่ใช่พูดจากความจำ ท่านผู้นี้ไม่รู้ภาษาบาลี แต่พูดภาษาบาลีได้คล่อง มีความจำดีชอบอ่านพระไตรปิฎก รู้ข้อความสำคัญๆ หมด โดยไปถามอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ในสมัยที่ท่นยังเป็นพระภิกษุอยู่ว่า ตรงนี้ภาษาบาลีว่าอย่างไร อาจารย์สุชีพได้ไปเปิดภาษาบาลีมาให้ดู ท่านก็ท่อง ๒-๓ เที่ยวจำได้เลย
ขั้นที่ ๕ ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา คือ ขบให้แตก ด้วยทฤษฎี หมายถึง สิ่งที่เรียนจำมาแล้ว สิ่งที่ท่องจนคล่องปากแล้ว สิ่งที่คิดในใจ วาดภาพออกมาชัดเจนแล้ว สิ่งเหล่านี้จะต้องนำมาขบมาคิดตีให้แตก แล้วสามารถนำมาสรุปเป็นแนวคิดของตัวเองได้ นำไปประยุกใช้ได้ ภาษาการศึกษาเรียกว่าได้ข้อสรุปรวบยอด แล้วนำมาประยุกต์ใช้ได้
การอ่านหนังสือ เมื่ออ่านจบแล้วให้เก็บหนังสือเล่มนั้นได้เลย ถ้าหากมีใครถามว่าหนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องอะไรเราสามรถสรุปออกมาได้โดยไม่ต้องคัดลอกคำพูดของเขาและประยุกต์ใช้ให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ได้ ถ้ารู้แล้วยังประยุกต์ไม่ได้ก็ไม่เป็นพหูสูต ไม่เรียกว่าพหูสูต
ฉะนั้น การที่นักเรียนมาศึกษาเล่าเรียนเพื่อต้องการจะเป็นพหูสูต เพื่อนำไปใช้กับระบบการบริหารการศึกษาเล่าเรียน การนำไปใช้ต้องนำมาสรุปให้เป็นความคิดรวบยอดให้ได้ ประยุกต์ใช้ได้ ไม่ใช่แค่จำได้ท่องได้เท่านั้น
พหูสูต หมายถึง "ความเป็นผู้ฉลาดรู้" คือ ผู้ที่รู้จักเลือกในสิ่งที่ควรรู้ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ได้ยินได้ฟังมามาก และเป็นคนช่างสังเกต ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นต้นทางแห่งปัญญา ทำให้เกิดความรู้สำหรับบริหารงานชีวิตและเป็นกุญแจไขไปสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และทุกสิ่งที่ เราปรารถนา ความแตกต่างระหว่างบัณฑิตและพหูสูต
บัณฑิต คือ ผู้มีคุณธรรมประจำใจ มีความประพฤติดีงาม ไม่ว่าจะมีความรู้มากหรือน้อยก็ตาม บัณฑิตจะใช้ความรู้นั้นๆ สร้างประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นอย่างเต็มที่ เป็นผู้ที่สามารถเอาตัวรอดได้แน่นอน ไม่ตกไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด
พหูสูต คือ ผู้มีความรู้มาก แต่คุณธรรมความประพฤติยังไม่แน่ว่าจะดียังไม่แน่ว่าจะดี ยังไม่แน่ว่าจะเอาตัวรอดได้ ถ้าใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปทำชั่ว เช่น เอาความรู้เคมีไปผลิตเฮโรอีน ก็อาจตกนรกได้
"อิทธิบาท ๔" เป็นแนวทางการเรียน การทำงาน ให้ประสบความสำเร็จที่พระพุทธองค์ได้ทรงสดับไว้อย่างแยบคลาย อันประกอบด้วยแนวปฏิบัติ ๔ ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งใครๆ ก็ท่องได้ จำได้ แต่จะมีสักกี่คนที่ปฏิบัติได้ครบกระบวนความทั้ง ๔ ข้อ อันเป็น ๔ ขั้นตอนที่ต่อเนื่องหนุนเสริมกัน จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ด้วยว่ามันเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกันทั้ง ๔ ข้อ จึงจะทำให้เราประสบผลสำเร็จในชีวิตและการงานได้ตามความมุ่งหวัง ขออธิบายดังต่อไปนี้
๑) ฉันทะ คือ การมีใจรักในสิ่งที่ทำ ใจที่รักอันเกิดจากความศรัทธาและเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ทำ จึงจะเกิดผลจริงตามควร เราคงเคยได้ยินคำว่า “ขอฉันทามติจากประชุม” บ่อยๆ หรือ “มีฉันทะร่วมกัน” ก่อนเลิกการประชุมบางอันเป็นเสมือนสัญญาระหว่างกันว่าเราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ร่วมกันหรือละเว้นบางสิ่งร่วมกัน ซึ่งความเข้าใจในข้อนี้คิดว่าถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะความหมายของ “ฉันทะ” นั้น ไม่ใช่แปลว่าเป็นสัญญาภาษากระดาษหรือสัญญาที่ให้ไว้กับมวลหมู่สมาชิกเท่านั้น หากแต่เป็นสัญญาใจและเป็นใจที่ผูกพัน เป็นใจที่ศรัทธาและเชื่อมั่นต่อสิ่งนั้นอยู่เต็มเปี่ยม จึงจะเกิดความเพียรตามมา เปรียบได้กับนักวิจัยที่ศรัทธาและเชื่อมั่นในแนวคิดแนวปฏิบัติของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งอาจมีมากน้อยต่างกัน คงไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวนักวิจัยเองและผลของงานที่เกิดขึ้นจริงเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า Where there is the will, there is the way. ที่ใดมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่นั่นย่อมมีหนทางเสมอ ขอเพียงแต่ให้มีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆให้ได้ ด้วยความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย ย่อมมีหนทางนำเราไปสู่ความสำเร็จได้เสมอ
การมีใจรัก ถือว่าสำคัญมาก ไม่ใช่ทำใจให้รักเพื่ออะไรสักอย่าง หรือ ห้ามใจไม่ให้รัก มันก็ยากยิ่งพอๆ กัน เพราะรักดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความรักความศรัทธาของเราจริงๆ ขืนทำไปก็มีแต่จะทุกข์ทรมาน แม้จะได้บางสิ่งที่มุ่งหวังแล้วก็ตาม ประการสำคัญเป็นการแอบแฝงมาจากความคิดอื่นศรัทธาอื่นหรือความเป็นอื่น ที่เราพยายามหาเหตุและผลมาอธิบายว่า มันคือสิ่งเดียวกันเพื่อให้สามารถดำเนินไปได้ หรือเพื่อให้ตัวเองสบายใจที่สุด แต่ถ้าเรามีใจศรัทธาอันแรงกล้าแล้ว พลังสร้างสรรค์ก็จะบังเกิดขึ้นกับเราอย่างมหัศจรรย์ทีเดียว
ทีนี้มาพูดถึงว่า “เราจะสร้างฉันทะให้เกิดขึ้นได้อย่างไร” พระพุทธองค์เคยสอนไว้ว่า มนุษย์เราต้องเลือกที่จะศรัทธาบางอย่างและหมั่นตรวจสอบศรัทธาของตัวเองว่าดีต่อตัวเองและดีต่อผู้อื่น อันรวมถึงสังคมโดยรวมหรือไม่ เมื่อดีทั้งสองอย่างก็จงมุ่งมั่นที่จะทำด้วยความตั้งใจ และหากไม่ดีก็จงเปลี่ยนแปลงศรัทธาเสียใหม่ ซึ่งเราต้องเลือก ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นคนที่สับสนไม่มีแก่นสาร และเป็นคนไร้รากในที่สุด เมื่อเป็นคนไม่มีแก่นสารก็จะถูกชักชวนไปในทางที่ไม่ดีได้ง่ายนั่นเอง
หากจะฝึกฝนตนเอง อาจเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราศรัทธาอะไรอยู่ เพราะคนเราเมื่อศรัทธาอะไรก็จะได้พบกับสิ่งนั้นเข้าถึงสิ่งนั้น ศรัทธาในเทคโนโลยีเราก็จะเข้าถึงเทคโนโลยี ศรัทธาต่อชาวบ้านเราก็จะเข้าถึงชาวบ้าน ศรัทธาต่อวัตถุก็จะเข้าถึงวัตถุ ศรัทธาต่อลาภยศสรรเสริญก็จะเข้าถึงลาภถึงยศเข้าถึงตำแหน่ง ศรัทธาต่อความรู้ก็จะเข้าถึงความรู้ หรือศรัทธาต่อหลักธรรมก็จะเข้าถึงธรรม หรือไม่ศรัทธาอะไรเลยก็ไม่เข้าถึงก็ไม่เข้าถึงอะไรเลย เพราะความศรัทธานำมาซึ่งมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อทำทุกอย่างให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราศรัทธานั่นเอง ขณะเดียวกันก็ลองตรวจสอบตัวเองดูว่าสิ่งที่เราศรัทธากับสิ่งที่องค์กรของเราศรัทธานั้นตรงกันหรือไม่ หากตรงกันก็เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนหรือหากไม่ตรงกันก็เรียนรู้ที่จะให้โอกาสตัวเองไปสู่แห่งที่ที่เหมาะสมกว่า
๒) วิริยะ คือ ความมุ่งมั่นทุ่มเท เป็นความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจ ที่จะเรียนรู้และทำให้เข้าถึงแก่นแท้ของสิ่งนั้นเรื่องนั้น ถ้าหากกระทำก็จะทำจนเชี่ยวชาญจนเป็นผู้รู้ ถ้าหากศึกษาก็จะศึกษาให้รู้จนถึงรากเหง้าของเรื่องราวนั้นๆ ดังนั้น คำว่า “วิริยะ” จึงหมายถึงความเพียรพยายามอย่างสูงที่จะทำตามฉันฑะหรือศรัทธาของตัวเอง หากเราไม่มีความเพียรแล้วก็อนุมานได้ว่าเรามีฉันทะหลอกๆ หรือศรัทธาหลอกๆ ทั้งโกหกตัวเองและหลอกผู้อื่น เพื่ออะไรนั้น ผลงานที่เขาทำจะชี้ชัดออกมาเองว่าทำเพื่ออะไร ดังนั้น นักวิจัยท้องถิ่น จึงต้องมีใจที่รักต่อคนท้องถิ่นและรักต่อการทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาคนท้องถิ่น อันเป็นศรัทธาสูงสุด หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็ได้แต่เพียงศรัทธาปากเปล่าที่ไร้แม้เงาของความมุ่งมั่นและทุ่มเท หากแต่มีศรัทธาอื่นให้ครุ่นคิดและกระทำอยู่
วิริยะนี้มาคู่กับความอดทนอดกลั้น เป็นความรู้สึกไม่ย่อท้อต่อปัญหาและมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง โดยมีศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นำใจ และเตือนใจ ความอดทนเป็นเครื่องมือสำหรับคนใจเย็นและใจงามด้วย ไม่ใช่มุทะลุดุดันรบเร้าและรุ่มร้อน เพราะมันจะทำให้มีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย หรือสูญเสียความอดทนในที่สุด ดังนั้น ความวิริยะอุสาหะ จึงเป็นวิถีทางของบุคคลที่หาญกล้าและทายท้าต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งมวล
ถามว่า “ความวิริยะมันเกิดจากอะไร” คำตอบก็คือ “เกิดจากศรัทธาหรือฉันทะนั่นเอง” และเป็นศรัทธาที่มั่นคงด้วยไม่ว่าจะมีอุปสรรค์ใดๆ มากระทบก็ตาม ก็จะไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจปล่อยวางหรือวางเฉยในบางเวลาบางสถานการณ์บ้าง เพื่อรอสภาวะที่เหมาะสมกว่า ความวิริยะไม่ใช่ความดุดันอย่างเอาเป็นเอาตายหรือต้องให้ได้เสมอ แต่มันคือความแยบยลและเลือกที่จะทำบางอย่างเพื่อรักษาศรัทธาไว้ หรือเพื่อรอวาระที่เหมาะสมอันหมายถึงการบรรลุผลแห่งศรัทธา
ถ้าจะฝึกฝนเรื่องความวิริยะแล้วคงต้องเริ่มจากความคิดที่ว่า ต้องหมั่นฝึกฝนตนเองบ่อยๆ หมั่นทำหมั่นคิดหมั่นเขียนหมั่นนำเสนอและอย่าขี้เกียจ อย่ากลัวความผิดพลาดและจงกล้าแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของตัวเอง อย่าท้อต่องานหนักและงานมากให้คิดว่าทำมากรู้มากเก่งมากขึ้น อย่าบ่นว่าไม่มีเวลาเพราะเวลามีเท่าเดิม ฯลฯ
๓) จิตตะ คือ ใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ เมื่อมีใจที่จดจ่อแล้วก็จะเกิดความรอบคอบตาม คำนี้ยิ่งใหญ่มากปัจจุบัน สังคมซับซ้อน มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ละคนมีภาระหน้าที่ ที่ต้องทำมากมาย ไม่รู้จะทำอะไรก่อน เวลาอ่านหนังสือก็คิดถึงงานที่รับผิดชอบ เวลาทำงานก็คิดว่าต้องอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ ไม่สามารถมีจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ผลคือ ทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่างทำผิดๆ ถูกๆ อยู่อย่างนั้น
แต่ถ้าเรามีใจที่จดจ่อต่อสิ่งที่เราคิดเราทำและรับผิดชอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการงานก็ตาม ทุกอย่างก็จะดีขึ้นไปเอง เราก็จะมีความรอบรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยใจที่จดจ่อตั้งมั่นและใฝ่เรียนรู้ของเรา เมื่อมีความรอบรู้มากขึ้นก็จะเกิดความรอบคอบตามมา เมื่อมีความรอบคอบแล้วการตัดสินใจทำอะไรก็จะเกิดความผิดพลาดน้อยตามไปด้วย
ความรอบคอบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่รอบรู้ ดังนั้น การที่คนจะรอบรู้ได้นั้น ต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้อยู่เป็นเนื่องนิจ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองสม่ำเสมอ ต้องอ่านหนังสืออย่าให้ขาด และหลากหลายโดยไม่ยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประการสำคัญต้องฝึกตั้งคำถามกับตัวเองกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราพร้อมกับค้นหาคำตอบให้ได้ การฝึกสนทนากับผู้รู้บ่อยๆก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่เข้าใกล้ความรอบรู้ไปโดยปริยาย
เมื่อเราเข้าใกล้ความรอบรู้แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะวิเคราะห์สังเคราะห์เนื้อแท้ของเรื่องราวนั้นๆ ออกมาสู่การตัดสินใจของหมู่คณะหรือแม้แต่เรื่องส่วนตัวของเราเอง ดังนั้น ความรอบคอบจึงแฝงไปด้วยความรอบรู้ตามสภาพจริงของมัน อันเป็นแนวปฏิบัติที่คนรุ่นใหม่ต้องสร้างให้เกิดเป็นนิสัยแก่ตนเอง
ความรอบคอบนอกจากจะดำรงอยู่คู่กับความรอบรู้แล้ว ยังต้องอาศัยความดีงามเป็นเครื่องเตือนสติด้วย ถึงจะสามารถใช้จิตของเราพินิจพิจารณาและตรึกตรองในเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆ นั้นได้อย่างเหมาะสม เพราะความดีงามตามแบบอย่างของคุณธรรมตามหลักศาสนาและจริยธรรมของสังคมนั้น เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างปรกติสุข
๔) วิมังสา คือ การทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา อันเกิดจาก การมีใจรัก (ฉันทะ) แล้วทำด้วยความมุ่งมั่น (วิริยะ) อย่างใจจดใจจ่อและรับผิดชอบ (จิตตะ) โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้และรอบคอบ จึงนำไปสู่การทบทวนตัวเอง และทบทวนองค์กรหรือทบทวนขบวนการ ทบทวนในสิ่งที่ได้คิดสิ่งได้ทำผ่านมาว่าเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเราเองและเป็นเรื่องที่ร่วมคิดร่วมทำกับคนอื่น เพื่อปรับปรุงปรับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
การทบทวนเรื่องราวจากภายในของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มสับสนวุ่นวายอย่างเข้มข้น ทบทวนความคิดเพื่อตรวจสอบความคิดและการกระทำของเราว่าเราคิดหรือทำจากความคิดอะไร? พร้อมกับถามตัวเองว่าเราคิดอย่างนั้นเพื่ออะไร? เราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร? เพื่อความสุขของตัวเองหรือเพื่อความสงบสุขของสังคม? ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะอยู่ ณ จุดไหนของสังคม หรือเปลี่ยนแปลงตนอย่างไร ไปสู่การสร้างสรรค์ตนเองและสังคมที่งดงาม
ในการวิจัยและการพัฒนานั้นเรามักจะใช้คำว่า “สรุปบทเรียน” เป็นการสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูว่าสิ่งที่คิดและทำมานั้นมันดำเนินไปในแนวทางที่วาดหวังหรือไม่ หรือว่าคิดไว้อย่างทำอีกอย่าง หรือคิดไว้แต่ไม่ได้ทำเลย หรือทำไปแล้วแต่ไม่ได้อย่างที่มุ่งหวัง ทั้งนี้จะได้วิเคราะห์ต่อไปว่า ที่มันสำเร็จมันเป็นเพราะอะไร และที่มันล้มเหลวมันเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้หาแนวทางแก้ไขหรือหาทางหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
การสรุปบทเรียนนั้น คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า สรุปเมื่องานเดินทางมาได้ครึ่งทางหรือสิ้นสุดการทำงาน หรืออย่างดีที่สุดมีการทำแผนงานรายไตรมาส คือทุก ๓ เดือน จึงสรุปบทเรียนครั้งหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วการสรุปบทเรียนควรจะทำให้อย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการพูดคุยกันหลังเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมทุกครั้ง หรือหลังเลิกงานแต่ละวัน หรือใช้วิธีการแบบไม่เป็นทางการ เพื่อสรุปบทเรียนของแต่ละคนให้ได้มากที่สุด หรือพูดคุยกับตัวเองบ้าง การที่เราคุยกับตัวเอง ด้วยสติ ความรู้เนื้อ รู้ตัว จะทำให้เรามองตัวเองชัดเจนขึ้น รู้ว่าขณะนี้ปัญหาของเราคืออะไร และจะแก้ไขยังไง เพราะธรรมชาติของคนเรา สายตาเรามองทอดมองออกไปข้างนอก ทำให้ไม่เห็นตัวเองและสิ่งใกล้ตัว ถ้าจะมองตัวเองต้องส่องกระจก …ดังนั้น เราต้องหมั่นถามตัวเองว่า เรารู้อะไรบ้างไม่รู้อะไรบ้าง เป้าหมายชีวิตเราคือ อะไร แล้วเราจะมีวิธีไปถึงจุดนั้นได้ยังไง คำถามที่ดีหนึ่งคำถาม ดีกว่าคำตอบร้อยคำตอบ ถ้าเราตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ จิต เราก็จะหาคำตอบให้เราได้ ไม่งั้นเราก็มีชีวิตอยู่แบบไม่มีจุดหมายปลายทาง มีแต่ความทุกข์ใจหาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้ หรือ ถ้ามีคนอื่นอยู่ด้วยเราก็คุยในใจ สร้างเสียงในใจ (inner voice ) แต่ว่าวิธีที่ได้ผลคือ ปิดประตูห้องอยู่คนเดียวเงียบแล้วคุยกับตัวเองดังๆ หรือจะคุยกับหมากับแมวก็ได้ แต่ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงที่รู้สึกว่างและปลอดโปร่งจากเรื่องราวทั้งปวง ซึ่งควรทำให้เป็นนิจสิน
ดังนั้น “อิทธิบาท ๔” จึงมีความหมายกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเดินทางไปในสู่ความสำเร็จในชีวิตและการงาน เพราะหากทำได้ตามกระบวนความแล้ว สังคมความรู้ ชุมชนความรู้ และปัจเจกชนความรู้ คงอยู่ไม่ไกลเกินฝัน ประการสำคัญ “อิทธิบาท ๔” ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวจากหลักธรรมข้ออื่นๆอันเป็นองค์รวมและเชื่อมโยงถึงกัน เพียงแต่อธิบายคนละบทบาทเท่านั้น สิ่งสำคัญ เราได้ใคร่ครวญในเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เพราะ ในโลกปัจจุบัน โลกที่สั่งสม อวิชชามามากจนเกินล้น จึงกลายเป็นโลกที่ฉาบฉวยและวุ่นวายสูงสุด นั่นแปลว่าเราต้องฝึกฝนตนเองหลายเท่าตัวเพื่อจะเข้าใจและเข้าถึงหลักธรรมที่ก่อกำเกิดการพัฒนาที่จุดเริ่มต้นของตนเองอย่างแท้จริง
การที่เราร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ไม่ได้ผิดอะไร แต่เราควรร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ด้วยการมีศีลธรรม กำกับด้วย เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่าง สุข สงบ และสันติ ที่โลกเรายังคงวุ่นวาย ไม่ใช่เพราะเราขาดแคลน คนเรียนเก่ง คนมีความรู้ โลกเรามีคนแบบนั้นมากมาย คนที่เราขาดแคลนคือ ..... เราขาดคนที่ใช้คุณธรรมนำความรู้ต่างหาก
จะไปเรียนเรื่องต่างๆ ได้ปริญญา มาไม่รู้กี่สิบปริญญาแต่ไม่มีเรื่องดับทุกข์เลย ในทางธรรมะไม่เรียกว่าวิชชา, ต่อเมื่อมันมีส่วนแห่งการดับทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่าวิชชา
ปญฺญาย ติตฺตีนํ เสฏฺฐํ น โส กาเมหิ ตปฺปติ ปญฺญาย ติตฺตํ ปุริสํ ตณฺหา น กุรุเต วสํ
"บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย ตัณหาย่อมไม่สามารถกระทำบุคคลผู้อิ่มด้วยปัญญาให้อยู่ในอำนาจได้"