แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๗๖ ควรให้คำตอบตัวเองว่า ชาตินี้เราเกิดมา เพื่อที่จะหยุดปัญหาหยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ถ้าให้จัดลำดับคำถามยอดฮิตของคำถามของมนุษย์บนโลกนี้ คำถามว่า “มนุษย์เกิดมาทำไม” คงเป็นคำถามยอดฮิตติดอันดับต้นๆ แน่นอน ก่อนตอบคำถามนี้ ขอถามคำถามหนึ่งก่อน “ทำไมถึงมีแสงแดด” คำตอบที่ได้มักมีกันหลายแบบขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ ความคิดและสัญญาคือความจำได้หมายรู้ของแต่ละคนที่ได้สั่งสมมา แต่คำตอบหนึ่งที่ได้ก็คือ “เพราะมีดวงอาทิตย์จึงมีแสงแดด” จะเห็นได้ว่า เพราะมีสิ่งหนึ่งจึงมีอีกสิ่งหนึ่ง เพราะสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งจึงเกิดขึ้น เป็นธรรมชาติที่อาศัยการเกิดขึ้นของกันและกันตามเหตุปัจจัย เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี
ดังนั้นคำตอบของคำถามที่ว่า “มนุษย์เกิดมาทำไม” ก็ต้องตามไปดูว่าเหตุปัจจัยของการเกิดนี้คืออะไร ในวิธีแห่งพุทธ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เหตุปัจจัยของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ เพราะมีตัณหา ตัณหา ตามพระพุทธภาษิต ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ตัณหาทำให้คนเกิด และไม่ทำให้เกิดอย่างเดียว ทำให้ทุกข์ด้วย.. ที่ว่า ตณฺหามาตุกํ ทุกฺขํ ความทุกข์มีตัณหาเป็นมารดา มีพระพุทธภาษิตที่ยาวๆ ก็มีอยู่ เช่น ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ทีฆมทฺธานสํสรํ ตัณหาทำให้คนเกิด ทำให้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ตลอดกาลยาวนาน ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ให้เป็นอย่างนี้บ้าง ไม่อาจจะล่วงพ้นสังสารวัฏไปได้..
ตัณหาคือความอยาก ถามว่าอยากอะไร ก็อยากใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส (ผ่านทางอายตนะทั้ง 6 คือ ตา,หู,จมูก ลิ้น,กาย,ใจ) เป็นความอยากที่เกิดจากความไม่รู้ จึงทำให้สิ่งหนึ่งยังต้องเกิดมาเป็นมนุษย์บนโลกนี้ ส่วนจะเกิดแล้วเป็นอะไรก็แล้วแต่ว่าสร้างเหตุปัจจัยมาอย่างไร
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการหาคำตอบว่า “มนุษย์เกิดมาทำไม” คือ คำถามว่า “เกิดมาแล้วจะทำอย่างไร” ต่างหากน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า เหมือนแดดออกแล้วอย่าไปถามว่าแดดออกทำไม ต้องถามว่า แดดออกแล้ว ถ้าร้อนมากจะทำอย่างไร คำตอบที่ได้คือ เอาร่มมากางหรือสร้างอะไรปกป้องคุ้มครองป้องกันแดด จะเห็นว่าคุณค่าที่เกิดจากคำถามนั้นต่างกัน
“ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์... อยากจะทำอะไร” คำถามเดียวกัน แต่ต่างคำตอบที่ ต่างภพภูมิ ต่างวาระ ต่างบารมี ต่างความคิด ต่างการกระทำ ต่างจุดมุ่งหมาย กับคำถามที่ว่า “ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์... อยากจะทำอะไร”
เทวดา ตอบว่า “เราจะพิจารณาธรรม เพราะมนุษย์มีกายสังขาร ที่เหมาะกับการพิจารณาธรรมมาก ร่างกายของมนุษย์เป็นเครื่องมือที่ใช้พิจารณาธรรมได้ดีที่สุด” ข้อนี้เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสแก่โรหิตัสสเทพบุตร ว่า เราย่อมไม่บัญญัติที่สุดของโลกที่สามารถถึงด้วยการไป แต่เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดของโลก ความดับของโลก และทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับแห่งโลก ในร่างกายอันยาวประมาณวา ที่มีสัญญาและมีใจครองนี้เอง
พญานาค ตอบว่า “บวชสิ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะบวช... เป็นพญานาคมีฤทธิ์มากก็จริง แต่บวชไม่ได้ บรรลุธรรมไม่ได้ ไม่เหมือนมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้นาคบวช แต่มนุษย์บวชได้ มนุษย์ไปนิพพานได้ ช่างประเสริฐแท้”
พระภูมิเจ้าที่ ตอบว่า “ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง คราวนี้เราจะไปทำบุญใส่บาตรทุกวัน ไม่ต้องมานั่งรอคนอุทิศส่วนกุศลมาให้เราอีกไปทำเองเลย เพิ่มบารมีได้เร็วทันใจดี”
สัตว์เดรัจฉาน ตอบว่า “ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะสงเคราะห์สัตว์ตัวอื่น ... เป็นสัตว์นั้นทุกข์มาก พูดก็ไม่ได้ คิดอะไรฉลาดๆ ก็ไม่ได้ ... เป็นมนุษย์มีสมองมีปัญญา เราจะใช้ปัญญาของมนุษย์ทำตัวเองมาเป็นสัตว์อีก”
เปรต ตอบว่า “เราไม่อยากมีหน้าตาน่าเกลียด ไม่อยากมีปากเท่ารูเข็ม มีรูปร่างสูงเหมือนต้นตาล ... ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์เราจะถือศีล ไม่โกงกินของผู้อื่น จะได้ไม่ต้องมาเป็นเปรตผู้หิวโหย อดๆ อยากๆ ทนทุกข์ทรมานแบบนี้”
สัตว์นรกในอเวจี ตอบว่า “ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะทำความดี จะไม่ทำผิดศีลอีก จะปฏิบัติธรรม ... เพราะนรกมันร้อนด้วยไฟนรก มันโหดร้าย มีแต่ความเจ็บปวดทุรนทุราย ... ถ้ามีโอกาสอีกครั้ง เราจะไม่ทำเลวทราม เราไม่อยากทุกข์ทรมาน ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นสัตว์นรกอีก”
แต่เมื่อคำถามเดียวกัน เมื่อถามมนุษย์ว่า ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี่ อยากจะทำอะไร มนุษย์ กลับตอบว่า “เราอยากรวย ... เราอยากมีทรัพย์สินเงินทองที่เราไม่เคยมี... อยากมีบ้านเรือนหลังใหญ่ๆ ... อยากมีคู่ครองที่รูปงาม ... อยากเสพสุขมากๆ อยากมีตำแหน่งสูง อยากมีอำนาจ แม้ต้องผิดศีล ทำร้ายใครก้อจะทำ ฯลฯ แล้วมนุษย์อย่างเราละอยากทำอะไร ??
อนิจจาใครหนอ..น่าสงสารที่สุด! มนุษย์ผู้ที่อยากแต่ทรัพย์สมบัติภายนอกที่ยึดถือได้ชั่วคราว ทั้งที่มีโอกาสจะทำบุญกุศลมากกว่าเพื่อน ทำให้มีอริยทรัพย์คือ ทรัพย์อันประเสริฐเป็นของติดตัวไปทุกภพภูมิ อยู่ภายในใจ มี ๗ สิ่งคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา
ปัจจุบัน มนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม เหมือนนาวาที่หลงทิศทางท่ามกลางมหาสมุทร ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม ก็จะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และมุ่งแสวงหาสาระอันแท้จริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพานในที่สุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน พรหมชาลสูตร ว่า ทุลฺลภญฺจ มนุสฺสตฺตํพุทฺธุปฺปาโท จ ทุลฺลโภ ทุลฺลภา ขณสมฺปตฺติ สทฺธมฺโม ปรมทุลฺลโภ ทุลฺลภา สทฺธาสมฺปตฺติ ปพฺพชฺชา จ ทุลฺลภา ทุลฺลภํ สทฺธมฺมสฺสวนํ = ความเป็นมนุษย์ หาได้ยาก, ความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า หาได้ยาก, ความถึงพร้อมด้วยขณะสมัย ก็หาได้ยาก, พระสัทธรรม หาได้ยากอย่างยิ่ง, ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา หาได้ยาก, การบวช ก็หาได้ยาก, การฟังพระสัทธรรมหาได้ยาก.
การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า การได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นยาก และเพศภาวะของมนุษย์นี้ เหมาะต่อการสร้างบารมีที่สุด ไม่ว่าจะทำความดีใดก็สามารถทำได้เต็มที่ การได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ต้องอาศัยกำลังบุญบารมีที่สั่งสมไว้ในอดีตชาติ ส่วนการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้น เป็นการยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะกว่าที่พระองค์จะสั่งสมบุญบารมี จนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น ต้องใช้เวลายาวนาน อย่างน้อยถึง ๒๐ อสงไขย แสนมหากัป ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจสร้างบารมี ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว
ความถึงพร้อมด้วยขณะสมัยที่ว่ายากนั้น เพราะบางยุคบางสมัย ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น หรือยุคที่มนุษย์ไม่มีศีลธรรม เป็นยุคมืด ที่เรียกว่า สุญญกัป คือ กัปที่ว่างเว้นจากพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้เสด็จมาอุบัติ พระสัทธรรมอันบริสุทธิ์จึงไม่บังเกิดขึ้น บางยุคโชคดียังมีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรม ท่านก็ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่ยินดีขวนขวายในการสั่งสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม ใครโชคดีมีโอกาสถวายทานกับท่าน ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ถือว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐแล้ว
หากเราเกิดในยุคที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง แต่ไม่ได้ยอดกัลยาณมิตรแนะนำให้รู้คุณค่าของพระพุทธศาสนา ให้ซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัยแล้ว ก็ทำให้พลาดโอกาสที่จะทำความดี หรือพลาดโอกาสฟังธรรมอันประเสริฐ ที่จะช่วยปิดนรกเปิดสวรรค์และพระนิพพานให้แก่เรา บางทีเมื่อมีศรัทธาแล้ว แต่การที่จะให้ยินดีในพระนิพพาน มีใจน้อมไปในการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ก็อาจทำได้ยาก แต่ถ้าใครคิดได้ ถือว่าเป็นผู้มีบุญมากยิ่งนัก
ดังนั้น นับเป็นความโชคดีของพวกเรา ที่มีบุญเก่าสั่งสมไว้ดีแล้ว ทำให้มองเห็นความสำคัญ และความยากลำบากของสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ และเพราะเรามีบุญมากจึงได้สิ่งเหล่านี้มาอย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการได้อัตภาพความเป็นมนุษย์ ไม่พิกลพิการ มีร่างกายเหมาะสำหรับการสร้างบารมี การได้มาอยู่ในยุคสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะประเทศไทยของเรา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุด เป็นยุคที่แสงแห่งธรรมสาดส่องเข้ามาถึงจิตใจ ทำให้เราได้มีโอกาสฟังธรรม และน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติได้ผลตามสมควรแก่ธรรม
ฉะนั้นแล้วเกิดเป็นมนุษย์แล้วจะทำอย่างไร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ให้แสวง หาความเป็นนิพพาน คือความไม่ตาย จึงจะคุ้มค่าต่อการเกิดเป็นมนุษย์ และความรู้อันดับแรกของการได้มาซึ่งนิพพานคือ การรู้อริยสัจสี่อริยสัจสี่ คือ อะไร? ก็คือ ตัวทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ความดับไปของทุกข์ และ หนทางแห่งการดับทุกข์
ควรให้ตอบปัญหาของตัวเองว่า ชาตินี้เราเกิดมาเพื่อที่จะหยุดปัญหาหยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เราต้องปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยความตั้งใจด้วยการสมาทานด้วยการปฏิบัติ พุทธัง ยาวะ- นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ ชีวิตนี้เราต้องปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข มีความสุขในการที่จะต้องเสียสละ
ถ้าสำหรับบรรพชิตนี้จุดหมายปลายทางของเราคือพระนิพพาน หรือว่า พระอรหันต์ขีณาสพ สำหรับฆราวาสนี้ก็จุดหมายปลายทางของเราคือพระนิพพาน เราไม่ถึงพระขีณาสพเราก็ย่อมถึงพระอนาคามีได้ ขึ้นอยู่ที่เราตั้งใจอยู่ที่เราสมาทาน อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงนั้นย่อมมีแก่เราแน่นอนในการประพฤติในการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัตินี้คือ ไฟท์ติ้ง ที่เราทุกคนจะต้องสอบผ่านในปัจจุบัน เราเอาฉันทะเราเอาความพอใจ สัมมาสมาธิเรา ทุกท่านทุกคนต้องพากันตั้งมั่น เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม
นักปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าให้เราพากันคิดอย่างนี้ตั้งใจอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละ เพราะว่าพระนิพพานนั้นมันต้องอยู่เหนือความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก ทุกข์คือสิ่งกำหนดรู้ทุกคนรู้ เมื่อรู้แล้วเราก็ต้องหยุดความปรุงแต่ง เพื่อเจริญอริยะมรรคให้ใจของเรามันสงบมันเย็นเรียกว่าความอดทน หรือเรียกว่า สัมมาสมาธิ เหมือนกันเราต้มแกงร้อนๆ เมื่อมันสุกแล้วเราก็ต้องยกหม้อแกงนั้นลง เพื่อให้หม้อแกงที่มีแกงอยู่ภายในนั้นมันเย็น มันต้องอาศัยเวลาหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมงหลายชั่วโมง ทุกข์ถึงเป็นสิ่งที่เราต้องจัดการอย่างนี้ นี้เรียกว่าอริยมรรค การประพฤติการปฏิบัติ ต้องอบรมบ่มอินทรีย์อย่างนี้ ในชีวิตประจำวัน ถ้างั้นไม่ได้ เพราะใจเราทุกคนมันลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ เราต้องรู้จัก เราต้องจัดการกับตัวเอง เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเขาไม่ได้ไปแก้ที่อื่นไม่ได้ไปแก้ที่คนอื่น เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้
เราเป็นประชาชนผู้ที่ไม่ได้บวช ผู้ที่เป็นฆราวาส เรามีภาระ เราบวชไม่ได้ เราก็ต้องพัฒนาใจของเราตั้งอยู่ในศีล ๕ การรักษาศีล ๕ ก็ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันใช่ไหม การทำทุกอย่างเพื่อมีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรมในการเสียสละ เราพัฒนาไปอย่างนี้ มันเป็นหน้าที่ของเรา เราจะใจอ่อนไม่ได้ อย่างน้อยทุกคนต้องรักษาศีล ๕ จากใจนะ ไม่ใช่ศีล ๕ แบบโลกธรรม ต้องศีล ๕ แบบพระนิพพาน ท่านต้องตั้งมั่นในพระพุทธเจ้าตั้งมั่นในศีลอย่างนี้นะ ธรรมะถึงจะอยู่ได้ ถึงจะเกิดได้ เพราะเราทำไปปฏิบัติไป เราไม่มีคำว่าหยุดหรือคำว่าถอยหลัง แล้วเราต้องก้าวไปเรื่อยอบรมบ่มอินทรีย์ เพราะนี้มันเป็นข้อสอบเป็นสิ่งที่ทดสอบให้เราก้าวไป
ถ้าเราไม่เอาจริงเอาจังไม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ มันไปไม่ได้หรอก ดูตัวอย่างแบบอย่างแบบพระพุทธเจ้าหน่ะ ท่านเสียสละท่านเสียสละทุกอย่างเลย ใครอยากได้ตาท่านก็ให้ตา ใครอยากได้อะไรท่านก็ให้ทุกสิ่งทุกอย่างเลย อะไรๆ ท่านก็ให้ ผู้ที่จะบวชต่อไปก็ต้องคิดอย่างนี้ ผู้ที่จะลาสิกขาที่มีธุรกิจหน้าที่การงานที่จะดูแลครอบครัวดูแลพ่อแม่ก็ต้องทำอย่างนี้ เราอย่าให้ความเห็นแก่ตัวอย่าให้ความหลงมันมีอิทธิพลต่อเรา เพราะว่ามันมีสิ่งที่ดีกว่าประเสริฐกว่านี้คือธรรมะ
คนเรานี้มันมีสิ่งเที่ยงแท้แน่นอนคือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ชีวิตนี้เราจะมีความสุขในการปฏิบัติธรรมในการทำงานในปัจจุบันไปเรื่อยๆ เราจะมีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการทำงานไปเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่มีอะไรที่จะดีกว่านี้ยิ่งไปกว่าอีกแล้ว เมื่อเรามีลมหายใจนี่คือชีวิต เรามีธรรมะคือการเสียสละ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในอิริยาบถทั้ง ๔ มีสติอยู่ในกายภายนอก มีสติอยู่ในกายภายใน มีความสุขในเวทนาภายนอกเวทนาภายใน มีความสุขในธรรมภายนอกในธรรมภายใน มีสติสัมปชัญะอย่างนี้นะ เราไม่เอาอะไรอีกแล้ว ต้องพากันพัฒนาอย่างนี้นะ เราจะไปลังเลสงสัยอะไร เพราะชีวิตของเราไม่มีอะไรนอกจากแต่ความเกิดความแก่ความตายความพลัดพราก เราต้องเอาพระนิพพานเป็นที่ตั้งเราต้องเสียสละ ถ้าเราเสียสละอย่างนี้ ฮืม… ชีวิตเราจะมีความสุข มีสัมปชัญญะอยู่ในปัจจุบัน เราถึงจะมีสมาธิ เมื่อก่อนเรามีความลังเลสงสัยมีความลูบคลำในข้อวัตรข้อปฏิบัติ เรายังลูบคลำในศีล เรายังลังเล จิตใจของเราต้องให้เป็นหนึ่งอย่างนี้นะ เราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เราอย่าไปว่าจะเอาประพฤติธรรมขั้นนู้นขั้นนี้ เราไม่ต้องไปเอาขั้นไหนหรอก เสียสละไป เพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่รู้จักสมถะ ไม่รู้จักวิปัสสนา
ทุกท่านทุกคนพากันภาวนาพากันปฏิบัติ ความเหน็ดเหนื่อยความยากความลำบาก ความเจ็บความเเก่ ความตาย มันทำให้เราได้พัฒนาใจ ใจของเราที่มันมีความหลง มันมีเหตุผลเยอะ เราต้องเหนือเหตุเหนือผล คือทิ้งสู่พระไตรลักษณ์ว่ามันไม่เเน่ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราถึงจะเผาภพ เผาชาติ เผาการเวียนว่ายตายเกิดได้ พระพุทธเจ้าให้พากันทำอย่างนี้นะ
อานาปานสติ ทุกท่านทุกคนต้องพากันฝึกพากันปฏิบัติ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าสบาย ออกสบาย เพราะร่างกายเราอิริยาบถหยาบๆ อิริยาบถที่เราเดินไปเดินมา ที่เราทำอะไรอยู่นี้ อานาปานสตินี้เราต้องเอามา หายใจเข้ารู้ชัดเจน หายใจออกรู้ชัดเจน หายใจเข้าสบาย ออกสบาย เค้าจะได้บรรเทาความฟุ้งซ่านให้น้อยลง บรรเทาวิตกกังวลให้น้อยลง เวลาเราไปนั่งสมาธิ ตอนค่ำ ตอนเย็น ตอนกลางคืน เราก็ทำอย่างนี้ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน จิตใจสงบลงก็ให้รู้ลมเข้ารู้ลมออก ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราจะเอาเเต่กระหึ่มเพลงในใจ มัวเเต่เล่นโทรศัพท์ เล่นคอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์อย่างนี้ไม่ได้ มันเอาเเต่ทางโลก เอาเเต่อวิชชา เอาเเต่ความหลง มันไม่มีธรรมเลย ไม่มีคุณธรรมเลย มีเเต่อวิชชา มีเเต่ความหลง
พากันกราบพระไหว้พระ ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย เราทุกคนมีพ่อเเม่ปู่ย่าตายายเป็นตัวอย่างให้กับลูกกับหลาน ถ้าอย่างนั้น เราจะเป็นพ่อได้ยังไง จะเป็นเเม่ได้ยังไง ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีคุณธรรม ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ ลูกหลานไม่เคารพเรา มันเพียงสงสารคนเเก่อย่างนี้เเหละ ให้เราทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ
เรื่องความสุขในการกิน...การอยู่...การนอนน่ะ พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เราบริโภคเพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อเราจะได้ปฏิบัติธรรมอบรมบ่มอินทรีย์ เราไม่ต้องมาติดมาหลง ความอร่อยมันก็ต้องผ่านไปแค่ลิ้นน่ะ ความสุขความสบายในการพักผ่อนก็บรรเทาทุกข์ไปไม่กี่ชั่วโมงน่ะ
"สิ่งเก่ามันผ่านไป สิ่งใหม่มันก็ผ่านมา มันไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดดีๆ อย่าได้พากันหลง"
คนเราน่ะถ้าไม่ได้บริโภครูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็คือว่า ชีวิตนี้ไม่มีรส รู้มั้ยว่าถ้ามี 'รส' มันก็มี 'ชาติ' มันต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด เราก็อยากพากันมี 'รสชาติ' รสชาติมันจะพาให้เรามีความเกิดทางจิตทางใจนะ
ตัณหาทำให้คนเกิด ทำให้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ตลอดกาลยาวนาน ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ให้เป็นอย่างนี้บ้าง ไม่อาจจะล่วงพ้นสังสารวัฏไปได้..
บัณฑิตรู้ว่าตัณหามีโทษอย่างนี้ เอตมาทีนวํ ญฺตวา รู้ว่าตัณหามีโทษอย่างนี้ หรือรู้ว่าตัณหานี้เป็นสิ่งมีโทษ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์แล้ว ก็พยายามที่จะเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น มีสติ เว้นสิ่งที่ควรเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเว้นชั่ว
วีตตณฺโห ปราศจากตัณหา อนาทาโน ไม่ยึดมั่นถือมั่น มีสติ..
พูดถึงตรงนี้ ก็นึกถึงที่อาจารย์พุทธทาส ท่านเคยพูดถึงว่า ให้ตายเสียก่อนตาย เข้าใจความหมายที่ท่านพูด ก็หมายความว่าให้ฆ่ากิเลสเสียก่อนที่จะตาย..
สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุแล้ว นิพพานคือเย็นหรือการดับลงของสิ่งที่มีความร้อน ความไม่มี ความไม่ปรากฏ และความสิ้นสุดแห่งราคะ โทสะ และโมหะนี้เป็นนิพพานที่แท้ แต่เมื่อราคะ โทสะ และโมหะไม่มี ไม่ปรากฏเพียงชั่วคราวขณะนั้นเรียกว่าจิตได้สัมผัสกับนิพพานแล้วนั่นเอง ท่านพุทธทาสภิกขุเน้นนิพพานในความหมายอย่างนี้เป็นพิเศษ การตีความนิพพานของท่านพุทธทาสภิกขุท่านจะสนใจนิพพานในความหมายทางจริยศาสตร์คือนิพพานในความหมายที่ว่า สภาวะที่ไม่มีกิเลสหรือการหลุดพ้นจากอหังการ มมังการคือตัวกู-ของกูที่นี่และเดี๋ยวนี้ ท่านไม่ได้สนใจจะถกประเด็นว่านิพพานมีอยู่อย่างไร มีอยู่ที่ไหน แต่สนใจว่านิพพานคือสภาวะที่ไม่มีกิเลส เย็น ไม่มีกิเลสที่นี่และเดี๋ยวนี้ ซึ่งสามารถจะสัมผัสหรือเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ วิธีนั้นคือ ๑.ความดับตัวกูด้วยอำนาจของสิ่งที่บังเอิญประจวบเหมาะแห่งองค์ประกอบ ๒. ความดับตัวกูเพราะมีการบังคับไว้ด้วยกำลังของสมาธิ และ ๓.การดับตัวกูด้วยกระทำทางปัญญา สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุแล้วการได้สัมผัสกับภาวะที่จิตใจว่างจากกิเลสและความทุกข์แม้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ความสงบในขั้นต่ำๆ อย่างนี้กลับมีประโยชน์มากที่สุดเพราะเมื่อได้ชิมลองหรือสัมผัสอยู่บ่อยๆ ก็จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยนำไปสู่การบรรลุถึงนิพพานที่แท้นั่นเอง ดังนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุจึงกล่าวว่าบางครั้งการจะได้สัมผัสกับภาวะแห่งนิพพานที่แท้ที่สมบูรณ์ต้องเริ่มต้นจากการฝึกหัดลดตัวกู-ของกูเสียก่อนท่านใช้คำว่า "หัดตาย เสียก่อนตาย" อย่างน้อยหัดเป็นคนที่ไม่มีอะไรสิ้นเนื้อประดาตัว คือให้หมดตัวตัว-ของกูเสียก่อนแต่ที่จะตาย ตกไปอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติที่สงบวิเวกก็พยายามเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้จนเกิดความรู้สึกภายในจิตใจขึ้นมาว่า การที่ไม่มีอะไรนั่นแหละเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด
พุทธภาษิตใน ปุราเภทสูตร ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ มีคำหนึ่งว่า วีตตณฺโห ปุราเภทา แปลว่า เป็นผู้ปราศจากตัณหา ก่อนที่ร่างกายจะแตกทำลายไป อันนี้ท่านก็ถือเอาใจความแล้ว มาพูดอย่างง่ายๆ ว่า ตายเสียก่อนตาย.. ปุราเภทา แปลว่า ก่อนที่ร่างกายจะแตก วีตตณฺโห ให้เป็นผู้ปราศจากตัณหา ก็คือ กิเลสตาย ตายเสียก่อนตาย..
พุทธสุภาษิตในคัมภีร์ธรรมบท กล่าวว่า ตัณหาทำให้คนเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ เหมือนลิงในป่า เร่ร่อนไปหาผลไม้กิน ถ้าไม่มีความอยาก ก็ไม่ต้องเร่ร่อนไป เหมือนคนที่อยากจะไปไหน อยากไปเที่ยวไปดูไปฟัง อะไรที่มันจะสนองความอยากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตัณหามันนำไป ทำให้เร่ร่อนไป
ถ้าเผื่อตัณหามันไม่นำไป ก็ไม่ต้องไปก็ได้ อยู่ที่ไหนสบายแล้วก็ไม่ต้องไปก็ได้ ปัญหามันอยู่ที่ว่าอยากดู อยากเห็น อยากฟัง อยากเพลิดเพลินอยู่ ตัณหามันก็พาไป เหมือนลิงในป่าที่เร่ร่อนไปหาผลไม้..
ถ้าเผื่อไม่ได้ตามที่อยากที่ต้องการ ความโศกก็เกิดขึ้น ความเสียใจ ความขุ่นใจ การทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้น อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ให้เราเห็นอยู่..
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า เมื่อตัณหาครอบงำผู้ใด ผู้นั้นย่อมจะมากมูลไปด้วยความโศก ผู้ใดย่ำยีตัณหาเสียได้ ความโศกก็ไม่มีแก่ผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกบนใบบัว ใบบัวมันมีคุณสมบัติพิเศษ มันไม่ติดน้ำ น้ำไม่ติดใบบัว คนทั่วไปใจเหมือนสำลี น้ำหยดลงไปก็จับทันที หรือเอาน้ำมันหยอดลงไป ติดทันที ออกยากด้วย ไม่มีคุณสมบัติเป็นใบบัว ..
ผู้ปฏิบัติธรรม ก็พยายามทำใจให้เป็นใบบัว ตัณหาครอบงำไม่ได้ ย่ำยีไม่ได้ ความโศกก็ตกไป เหมือนหยาดน้ำตกบนใบบัว
สติสัมปชัญญะของเราก็ให้มันแข็งแรง สติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ก็คือ ตัวปัญญา สติกับปัญญามันจะเกี่ยวข้องกันตลอดน่ะ แล้วก็ตั้งมั่นอยู่กับสมาธิ สติสัมปชัญญะถึงเป็นตัว 'ศีล' ถึงเป็นตัว 'สมาธิ' ถึงเป็นตัว 'ปัญญา' น่ะ เค้าจะได้ขับเคลื่อนชีวิตจิตใจของเราสู่คุณธรรม บางคนไม่รู้การปฏิบัติน่ะ ปล่อยโอกาสปล่อยเวลาไปโดยไม่เจริญสติสัมปชัญญะ จิตใจของเราจึงไม่มี "พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน"
ถ้าใจของเราสงบ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์นะ มันมีค่า มีราคากว่าทรัพย์ภายนอก เพราะนี้มันคือ 'อริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน' ทรัพย์ที่จะนำเราสู่มรรคผลพระนิพพาน มันข้ามพ้นสวรรค์ไป เพราะสวรรค์มันมีการเวียนว่ายตายเกิด
ธรรมะของพระพุทธองค์เป็นธรรมะที่ทวนกระแสทางโลก เป็นธรรมะที่ขัดใจตัวเอง เป็นธรรมะที่เข้ามาแก้ไขตัวเอง เป็นการมองเข้ามาหาตัวเอง เป็นปริญญาที่สูงสุดที่ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ควรจะได้รับ ปริญญาภายนอกเรียนเท่าไหร่ก็ไม่จบ แต่ปริญญาของพระพุทธเจ้านั้นเรียนจบ มันหมดความเวียนว่ายตายเกิด
ทุกท่านทุกคนไม่ต้องการขัดใจตัวเอง ถ้าขัดใจตนเองคิดว่ามันไม่ถูกจริต มันไม่ถูกนิสัย ไม่ใช่ทางสายกลาง คิดว่าอย่างนั้น คนเรามันหลงถ้าได้ตามใจชอบก็ว่าดี ไม่ได้ตามชอบก็ว่าไม่ดี
ท่านจึงให้เราทำตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ชื่อว่าเป็น "สุคโต" คือไปด้วยดี เรามาสว่างเราก็ให้ไปสว่างด้วย ฐานะความเป็นอยู่เราก็ดี มีความสุข มีความร่ำรวย เราก็อย่าไปหลงในความสุขความสบายเหล่านั้น ดูอย่างพระพุทธเจ้าท่านมีความสุขท่านก็ไม่ติด ไม่หลง
ให้เราเอาความสบายความสะดวกนี้มาให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานอันสูงสุดเราก็มีโอกาสได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ เป็นพระอริยเจ้าตามลำดับไป ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้ว ชีวิตนี้ไม่เป็นหมัน ชีวิตนี้ไม่สาย ขอให้ทุกท่านทุก คนประพฤติปฏิบัติตั้งแต่โอกาสบัดนี้ไป อย่าได้ผัดวัน ประกันพรุ่งต่อรองเรื่อยไป ต้องให้มีความเห็นความเข้าใจ อย่างถูกต้องชัดเจน และมีเจตนาตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความสม่ำเสมอ