แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๗๕ ความสุขความดับทุกข์ของหมู่มวลมนุษย์นี้ อยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความสุขความดับทุกข์ของหมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายนี้ มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง และการเดินทางนี้เราต้องเดินทางตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือ ผู้ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องแก้ไขตัวเองปฏิบัติตัวเอง นี้ถือว่าเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องแก้ไขเฉพาะตน พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีตั้งหลายล้านชาติ คือการที่แก้ไขตนเอง ทุกคนมีความคิดเห็นผิดเข้าใจผิด พากันปฏิบัติผิด จะไปเอามรรคเอาผลเอาพระนิพพาน แต่ไม่ได้แก้ไขตนเอง ไม่ยอมแตะต้องตัวเอง เราทุกคนถึงพากันปฏิบัติผิด
การเวียนว่ายตายเกิดนั้นมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าเวียนว่ายตายเกิดนะ ความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพลาก ถือว่าเป็นการบริหารธาตุบริหารขันธ์นะ มันยาก มันมีภาระ เราทุกคนก็ต้องพากันเข้าใจ เราจะได้พากันหยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เพราะว่าสิ่งนี้มี ในอนาคตมันก็มี ถ้าสิ่งนี้ไม่มี อนาคตมันก็ไม่มีนะ พระนิพพานไม่ได้เป็นสิ่งที่ว่างขาดศูนย์ เป็นสิ่งที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง หมู่มวลมนุษย์สัตว์โลกทั้งหลายก็น่าสงสารน่าเอ็นดู พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น
เพราะมีความเข้าใจผิดมีความคิดผิดน่ะ เราทุกคนต้องพากันเข้ามาเข้าใจใหม่ ต้องเป็นผู้ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เพราะรูปนั้นก็อร่อยเสียงก็อร่อย ความสะดวกความสบายอะไรนั้นก็อร่อย อร่อยแต่เราก็ต้องเสียสละ พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราปฏิบัติอย่างนี้แหละ ปฏิบัติไปเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ชีวิตของเราก็จะได้หยุดอบายมุข อบายภูมิ
ในครั้งพุทธกาล หลังจากพระศาสดาตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ แล้วทรงเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขจากการหลุดพ้นเป็นเวลา ๔ สัปดาห์ พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปประทับ ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทร) พระองค์ทรงรำพึงถึงธรรมที่ตรัสรู้ว่า “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต มิใช่วิสัยแห่งตรรก คือคิดเอาไม่ได้ หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา เป็นธรรมละเอียดยิ่ง แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้ อนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลายส่วนมากยินดีในอาลัย คือกามคุณ สัตว์ผู้เห็นปานนั้นยากนักที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาทและพระนิพพาน ซึ่งมีสภาพบอก คืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ เราจะพึงแสดงธรรมหรือไม่หนอ ถ้าแสดงไปแล้วคนอื่นรู้ตามไม่ได้ เราก็จะพึงลำบากเปล่า โอ! อย่าเลย อย่าประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วเลย ธรรมนี้อันบุคคลผู้เพียบแปล้ไปด้วยราคะ โทสะ จะรู้ให้ดีไม่ได้เลย บุคคลที่ยังยินดีพอใจให้กิเลสย้อมจิต ถูกความมืดคือกิเลสหุ้มห่อแล้ว จะไม่สามารถเห็นได้ซึ่งธรรมที่ทวนกระแสจิต ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง เห็นได้ยากนี้” ทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงน้อมพระทัยไปเพื่อเป็นผู้อยู่สบาย ขวนขวายน้อย ไม่ปรารถนาจะแสดงธรรม.
ขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบถึงพุทธดำริจึงชักชวนเหล่าเทพจากเทวโลกเข้าไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์ทั้งปวง เมื่อได้สดับคำอาราธนาของท้าวมหาพรหมแล้ว ลำดับนั้น พระมหากรุณาซึ่งฝังอยู่ในพระกมลอันบริสุทธิ์มาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่พระองค์ทรงปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อขนเวไนยสัตว์ให้ข้ามห้วงมหรรณพ คือความเกิด แก่ เจ็บ และตาย ได้เตือนพระทัยให้หวนรำลึกถึงพระปฏิญญา ซึ่งพระองค์ทรงให้ไว้แก่โลก พระทัยกรุณาได้ทูลพระองค์ว่า "ธรรมอันไม่บริสุทธิ์ที่คนมีมลทินคิดกันปรากฏอยู่แคว้นมคธนานมาแล้ว ขอพระองค์จงเปิดประตูเพื่อให้บุคคลเดินเข้าไปสู่แดนอมตะเถิด คนทั้งหลายต้องการฟังธรรม ซึ่งพระองค์ปราศจากมลทินได้ตรัสรู้แล้ว ขอพระองค์ผู้ไม่โศก มีปัญญาดี จงเสด็จขึ้นสู่ปราสาทซึ่งสำเร็จด้วยธรรม แล้วมองดูหมู่สัตว์ผู้ยังก้าวล่วงความโศกไม่ได้ ถูกชาติชราครอบงำคร่ำครวญอยู่ พระองค์เป็นประดุจผู้ยืนอยู่บนยอดเขา สามารถมองเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ โปรดลุกขึ้นเถิดพระมหาวีระผู้ชนะสงครามภายในแล้ว พระองค์ผู้ประดุจนายกองเกวียนผู้สามารถนำสัตว์ให้ข้ามพ้นห้วงอันตราย พระองค์เป็นผู้ไม่มีหนี้ ขอเสด็จเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงแสดงธรรมเถิด ผู้รู้ตามจักมีเป็นแน่แท้"
พระผู้มีพระภาค ทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุ ได้มองเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในจักษุคือกิเลสน้อยก็มี มากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี อินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีบ้าง อาการชั่วบ้าง ให้รู้ได้โดยง่ายบ้าง ให้รู้ได้โดยยากบ้าง เหมือนดอกบัว ๓ เหล่าในสระน้ำ พระองค์จึงทรงปรารภกับพระองค์เอง ด้วยความกรุณาในหมู่สัตว์ว่า "เราได้เปิดประตูอมตธรรมแล้ว ผู้อยากฟังจงเงี่ยโสตลงเถิด ทีแรกเราคิดว่าจะลำบากเปล่า จึงไม่คิดจะกล่าวธรรมที่ประณีตง่ายๆ ฯ"
'ดอกบัว 3 เหล่า' กับ 'บุคคล 4 ประเภท'
อุคฆติตัญญู เป็นผู้มีพื้นฐานทางบารมีอัธยาศัยพื้นฐานทางสมาธิสูง มีไหวพริบ ปฏิภาณดีสามารถฟังธรรมที่เขาแสดงเพียงเล็กน้อยก็เข้าใจ และบรรลุมรรคผลได้เช่น พระอัสสชิ ได้แสดงธรรมะเพียง สองสามบรรทัดแก่พระสารีบุตรว่า "ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้" จากการแสดงธรรมเพียงเท่านี้ พระสารีบุตรก็บรรลุมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลระดับแรกคือพระโสดาบันแล้ว ท่านจึงเปรียบเหมือนกับดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำ พอต้องแสงอาทิตย์ก็จะบานในขณะนั้น
วิปจิตัญญู เป็นผู้มีวาสนาบารมี พื้นเพอัธยาศัย พื้นฐานทางสมาธิและไหวพริบปฏิภาณเป็นต้น หย่อนลงมา จำเป็นจะต้องอาศัยการแสดงธรรมะไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของบุคคลนั้นให้พร้อมที่จะศึกษาเรียนรู้ และบรรลุธรรมเบื้องสูงขึ้นไป เช่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธัมมจักฯ เพียงคนเดียวได้ดวงตาเห็นธรรม คือ ท่านโกณฑัญญะ
ต่อจากนั้นก็ทรงนำเอาแต่ละท่านมาชี้แจงธรรมะ ขัดเกลาไปโดยลำดับเป็นการปรับพื้นเพอัธยาศัย พื้นฐานทางสติปัญญาให้อยู่ในระดับสม่ำเสมอกัน จากนั้นก็ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ในที่สุดแห่งอนัตตลักขณสูตร ท่านทั้ง ๕ ก็ได้บรรลุอรหัตเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นคนประเภทนี้จึงเปรียบเสมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาพอเสมอน้ำ รอคอยที่จะบานในวันต่อไป หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า วิปจิตัญญู คือ อาจจะรู้ธรรม เมื่ออธิบายชี้แจงแสดงหัวข้อธรรมเหล่านั้น
เนยยะ คือผู้พอที่จะฝึกสอนอบรมต่อไป อย่างคนผู้มีพื้นฐานวาสนาบารมี มีความโน้มเอียง มีศรัทธา มีศีล มีจาคะ มีปัญญา พอประมาณ ใช้กาลเวลาฝึกปรืออบรมบ่มนิสัยต่อไปโดยลำดับ ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป สามารถทำจิตใจของเขาให้สงบ ประณีตขึ้นๆ และในที่สุดก็จะบรรลุธรรมในชาตินี้หรือในชาติต่อไปได้ ตามปกติแล้วบุคคลประเภทนี้ออกจะมีมากเป็นพิเศษ ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกปรืออบรมบ่มนิสัยกันนานพอสมควร ท่านจึงเรียกว่า เนยยะ คือพอจะแนะนำกันได้ ท่านเปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่บุคคลที่เขาพร้อมที่จะฟัง หรือไม่ยินดีที่จะฟัง ฟังๆ ก็สักแต่ว่าฟังไป อาจจะรู้ อาจจะเข้าใจ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในทางพฤติกรรม ตอนเริ่มศึกษาปฏิบัติธรรม ความโลภ ความโกรธ ความหลง หนาแน่นอย่างไร ปฏิบัติธรรมมาจนแก่จนเฒ่าแล้ว ก็คงเป็นอย่างนั้น หรืออาจจะแรงกว่า เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
๓ จำพวกแรกเรียกว่า เวไนยสัตว์ (ผู้แนะนำสั่งสอนได้) ส่วนปทปรมะ เป็น อเวไนยสัตว์ (ผู้ไม่อาจแนะนำสั่งสอนได้)
(การที่สุมังคลวิลาสินีกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบบุคคลเป็นดอกบัว 4 เหล่านั้น เป็นการประยุกต์จากพุทธพจน์เรื่องบุคคล 4 จำพวกที่ตรัสไว้ในอุคฆฏิตัญญุสูตร อังคุตตรนิกาย ปุคคลวรรคที่ 4 มาผสานกับพระพุทธพจน์เรื่องดอกบัว 3 เหล่าที่ตรัสไว้ในโพธิราชกุมารสูตร มัชฌิมนิกาย จึงกลายเป็นดอกบัว 4 เหล่าที่รู้จักกันในปัจจุบัน)
พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูแล้วน่ะว่า สัตว์โลกย่อมเข้าใจได้ ปฏิบัติได้ ประชาชนก็เป็นพระอริยะเจ้าได้ ผู้ที่มาบวชก็เป็นพระอรหันต์ขีณาสพได้ ให้เข้าใจ ทำไมพวกเราพากันปฏิบัติยากแท้ มันก็ยากแหละ เพราะว่าจะไปละกิเลสไปละความโลภความโกรธความหลง แต่ไม่ละตัวไม่ละตน ไม่ละสักกายทิฏฐิ อย่างนี้แหละ มันก็เป็นเรื่องปวดหัว หรือว่าอยู่เหนือความปวดหัวไปอีก เราต้องพากันเข้าใจ เราอย่าพากันซิกแซ็กไปซิกแซ็กมา ทุกท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติที่ตัวเอง จัดการที่ตัวเอง อย่าไปจัดการภายนอก เพราะว่าเรื่องศีลเรื่องธรรมมันเป็นเรื่องของตัวเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่นเลย กฎหมายบ้านเมืองนี้มันก็ระดับหินทับหญ้า เหมือนเรามันหยาบมันกระด้างเกินกฎหมายบ้านเมืองน่ะ เพราะว่าใจของเราน่ะมันเป็นอลัชชี เราต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ อย่าไปกลัวความถูกต้อง อย่าไปกลัวควมดี อย่าไปกลัวความเป็นธรรม ความยุติธรรม เพราะเราก็ต้องแก้ที่ตัวเอง คนอื่นเขาเห็นว่าเราแก้ได้ ไม่น่าที่จะให้ปัญหามันยืดเยื้ออะไรเลย
พระพุทธเจ้าถึงมีความสุข อยู่โคนไม้ก็มีความสุข อยู่เรือนว่างก็มีความสุข อยู่ที่ไหนก็มีความสุข เพราะความสุขความดับทุกข์น่ะ มันอยู่ที่เรามีมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ยิ่งทุกวันยิ่งเราพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาวิทยาศาสตร์ มันก็น่าจะมีความสุขทั้งทางกายทั้งทางใจไปพร้อมๆ กันน่ะ โลกนี้จะได้เข้าสู่ความสงบเข้าสู่ความสันติภาพอย่างนี้นะ จะได้ไม่ต้องพากันสร้างปืนสร้างระเบิด สร้างอะไรต่างเหมือนทุกวันนี้นะ เราต้องพากันปฏิบัติ
พวกที่ตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง มันเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ มันเป็นโจรเป็นมหาโจรนะ มันไม่ได้ มันไม่ถูก เพราะว่ามีมิจฉาทิฏฐิ ทุกท่านทุกคนก็ต้องปฏิบัติให้มันสงบให้มันเย็นนะ จะไปเผยแผ่อะไร มันก็ไปนอนแผ่กันทุกคนน่ะ ไม่ว่าจะเป็น เมืองไทย เมืองผรั่ง เมืองจีน เมืองเกาหลี สัญชาติต่างๆ น่ะ มันไปไม่ได้ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง พากันปฏิบัติอย่างนี้ วันคืนเราจะได้มีแต่ความสุข เราจะได้หยุดสร้างโรงบาลรักษาโรคบ้าอย่างนี้
ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ ทุกคนก็ทำอย่างนี้ง่ายๆ ซื่อๆ พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้ เกิดศรัทธาพระพุทธเจ้า เกิดความเข้าใจ การบรรลุธรรม อยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มันเกิดความตั้งมั่น การปฏิบัติธรรมถึงได้บรรลุกันเยอะเลย ในหมู่ที่ศรัทธาจริต เพราะพระพุทธเจ้าพูดออกมาจากใจ ออกมาจากพระนิพพาน ทุกๆ คนต้องพากันเข้าใจ อย่าพากันเข้าใจอย่างอื่น ทุกคนก็อยากให้ทุกคนยอมรับ อยากให้ประชาชนยอมรับ ถ้าเป็นพระอย่างนี้นะ อยากให้เพื่อนยอมรับ มันจะยอมรับได้อย่างไร? เพราะว่ามันยังมีความอยากอยู่ใช่ไหม มันไม่ได้มาแก้ไขที่ตัวเอง ไม่ได้มาปฏิบัติที่ตัวเอง คนเราต้องมีความสุขนะ ปรับตัวเองเข้าหาเวลา เวลานั้นทำอย่างนู้น เวลานี้ทำอย่างนี้ เราก็จะมีความสุข ถ้าเราไม่เสียสละ มีตัวมีตนมาก มันจะมีความสุขได้อย่างไง
เราต้องรู้จักว่า การปฏิบัติธรรมมันทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้แหละ โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากมรรคผล พระนิพพาน มันเป็นอย่างนี้เอง ความเจ็บความแก่ความตายความพลัดพราก อันนี้เราเป็นคนโชคดี เขาเอาปัญญามาให้เรา เอาการหยุดทำตามความคิดทำตามอารมณ์ ศีลนี้เป็นสิ่งที่ยอด เป็นสิ่งที่สุดยอด ทุกท่านทุกคนก็ต้องพากันแก้ไขตัวเอง พระพุทธเจ้าว่า ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นเหมือนหมาขี้เรื้อนนี่แหละ เดี๋ยวมันก็ลุกเดี๋ยวก็นอนเดี๋ยวก็เดิน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ท่านเห็นไหมว่าเมื่อตอนเย็นวันนี้ หมาป่าตัวหนึ่งมันเดินอยู่ที่นี่เห็นไหม? มันจะยืนอยู่มันก็เป็นทุกข์ มันจะวิ่งไปมันก็เป็นทุกข์ มันจะนั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ มันจะนอนอยู่ก็เป็นทุกข์ เข้าไปในโพรงไม้มันก็เป็นทุกข์ จะเข้าไปอยู่ในถ้ำก็ไม่สบาย มันก็เป็นทุกข์ เพราะมันเห็นว่าการยืนอยู่นี้ไม่ดี การนั่งไม่ดี การนอนไม่ดี พุ่มไม้นี้ไม่ดี โพรงไม้นี้ไม่ดี ถ้ำนี้ไม่ดี มันก็วิ่งอยู่ตลอดเวลานั้น ความเป็นจริงหมาป่าตัวนั้นมันเป็นขี้เรื้อน มันไม่ใช่เป็นเพราะพุ่มไม้ หรือโพรงไม้หรือถ้ำ หรือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันไม่สบายเพราะมันเป็นขี้เรื้อน"
พระภิกษุทั้งหลายนี้ก็เหมือนกัน ความไม่สบายนั้นคือ ความเห็นผิดที่มีอยู่ ไปยึดธรรมที่มีพิษไว้มันก็เดือดร้อน ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย แล้วก็ไปโทษแต่สิ่งอื่น ไม่รู้เรื่องของเจ้าของเอง ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย
นี่ก็คือความเห็นผิดนั้นยังมีอยู่ในตัวเรานั่นเอง มีความเห็นผิด ยังไปยึดมั่นถือมั่นในธรรมอันมีพิษไว้ในใจของเราอยู่ อยู่ที่ไหนก็ไม่สบายทั้งนั้น นั่นคือเหมือนกันกับสุนัขนั้น ถ้าหากโรคเรื้อนมันหายแล้ว มันจะอยู่ที่ไหนมันก็สบาย อยู่กลางแจ้งมันก็สบาย อยู่ในป่ามันก็สบายอย่างนี้
พระพุทธเจ้าว่า ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นเหมือนหมาขี้เรื้อนนี่แหละ เดี๋ยวมันก็ลุกเดี๋ยวก็นอนเดี๋ยวก็เดิน เราไม่รู้จักของอร่อย เราก็กินทุกวัน มันก็เบื่อ เมื่อใจมันฟูขึ้นมาเราก็รู้จัก ไม่อย่างนั้นจิตใจของเราก็ไม่มีปัญญา ไม่มีความสงบเลย เราก็ต้องให้มันสงบให้มันเย็น เราก็อย่าไปถือนิสัยของตัวเองให้เราถือนิสัยของพระพุทธเจ้าอย่างนี้นะ หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข ทำงานมีความสุข กิเลสมันของอร่อย มันก็อร่อย มันเป็นผัสสะมันเป็นอารมณ์เฉยๆ ทุกคนติดในความอร่อยไม่อยากวาง เหมือนคนแก่ไม่อยากเอาพระนิพพาน มัวแต่ติดโทรศัพท์ติดหนังติดละครเนี่ย ไม่ยอมมีสติสัมปชัญญะ ไม่ยอมมีพุทโธ พากันคอรัปชั่นเวลานอน อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ถูกนะ มันอร่อยแต่ก็ต้องหยุดตัวเองนะ ต้องเอาให้ตัวเองมีสติสัมปัชชัญญะ
อย่างพระคุณเจ้า พากันหลงในความเอร็ดอร่อย พากันหลงในโทรศัพท์มือถือ หลงในโทรทัศน์ โอ้โห… เสียหาย ต้องพากันเข้าใจนะ พวกกามนี้ จิตใจของเรามันไปเสพจิตใจเราไปมีเพศสัมพันธุ์ มันอร่อย จิตใจมันไม่อยากหยุด ไม่อยากละ ไม่อยากวาง มันต้องหยุด หยุดให้มันเย็น ทำเหมือนไก่ฝักไข่ ๓ อาทิตย์มันถึงจะออกลูก เราปฏิบัตินี้ อวิชชามาก ความหลงมาก มันน่าจะใช้เวลามากกว่านั้น ถึงจะมากมันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะอันนี้มันคือความถูกต้อง เราต้องรู้จัก ความทุกข์เป็นเพราะทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน เราไม่อยากละ ไม่อยากปล่อย มันเลยมีความทุกข์ เพราะเราเป็นคนคิดเห็นผิดเข้าใจผิด เราก็ว่ามันมีความทุกข์ เราก็เลยไม่อยากหยุดอย่างนี้แหละ ต้องพากันเข้าใจการบริโภคข้าวบริโภคอาหาร มันจะมีประโยชน์หรือ มันไม่มีประโยชน์หรอก เพราะเราไปทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง มันโง่ขนาดนี้มันหลงขนาดนี้ มันก็ยิ่งมีความทุกข์
มันไม่สายนะ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราแก่แล้วมันก็ยังสาย อายุปานกลางมันก็ไม่สาย ยังเป็นเด็กมันก็ไม่สาย เราเป็นเด็กๆ ครั้งพุทธกาลสามเณรน้อยๆ เขาก็พากันเป็นพระอรหันต์กัน เขาก็ไม่โง่ เขาก็ไม่เพลิดเพลินกับความหลงไม่เพลิดเพลินในการเสพกามในตาหูจมูกลิ้นกายใจ เพราะมันไม่มีสาระอะไร เรามันไม่มีปัญญา เอาใหม่ ตั้งใจใหม่ พวกที่ทำตามใจตามอารมณ์ พวกพระฝรั่งที่มาศึกษากับท่านเจ้าคุณพุทธทาส กับหลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว จับเอาส่วนดีๆ ไป แต่ว่าทิ้งพระวินัยไปเยอะ แบบนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้หรอก ใหม่ๆ มันก็เป็นปรัชญา ทุกคนก็พากันเลื่อมใส ทีนี้ก็ไม่นาน มันก็ไปไม่ได้ เพราะว่ามันทิ้งอุปกรณ์ที่บรรลุมรรคผลพระนิพพานหมด เราดูศาสนาคริสต์ โบสถ์มันร้าง จนขายให้พวกที่ถือศาสนาพุทธเยอะ เราดูความย่อหย่อนอ่อนแอของมหายาน คนรุ่นใหม่สมัยใหม่เขาไม่นับถือ ต้องไปรับจ้างทำงานขับรถแท็กซี่ รับจ้างทำงานเสริม เสิร์ฟอาหาร ที่มันไม่เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ เพราะความย่อหย่อนอ่อนแอ เราต้องรู้จัก
เราต้องพากันแก้ไขนะ เพราะประเทศไทยเรามีวัดมีโบสถ์ มีทรัพยากรภายนอกดีพอสมควร ให้พากันเข้าใจนะ มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติกันนะ ไม่เป็นไรถือว่า ถ้าเรากลับเนื้อกลับตัวกลับใจ มันก็ไม่เสียเวลา แต่ถ้าใจของเราทำตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง มันสร้างตาลยอดด้วนนะ ตาลยอดด้วนมันก็ไม่พอเราจะไปถอนรากถอนโคนต้นตาล มันเสียหายมันวิบัติ เพราะว่ามันทำไม่ถูกปฏิบัติไม่ถูก ทำตามมิจฉาทิฏฐิของเราของผู้อื่นไม่ได้ ต้องเอาตามคำสอนพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ให้ทุกคนพากันเข้าใจง่ายๆ อย่างนนี้แหละ ประเทศเราโลกเราจะได้เป็นมงคลเป็นศิริมงคล อย่าให้สิ่งที่ไม่ดีสิ่งที่จะขวางหน้าขวางตา อัปปรีจัญไร!!! นะ
พวกเราทั้งหลายนี้ ถือว่า เป็นผู้ที่โชคดีที่ไม่ต้องไปคิดมาก ไม่ต้องไปค้นคว้ามาก เพียงแต่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสรู้ดีแล้ว...นั่นเอง
ในสมัยครั้งพุทธกาล...มีกุลบุตรลูกหลานได้พากันบรรพชาอุปสมบทแล้วก็ได้บรรลุธรรมกันเป็นจำนวนมาก เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน นี้ถือว่า เป็นค่านิยมในสมัยนั้น ยุคนั้น ทางฝ่ายญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ก็ได้มีผู้บรรลุธรรมตรัสรู้ธรรมเช่นเดียวกัน ไม่ต่างไปกับบรรพชิตทั้งหลาย เป็นพระอริยเจ้าที่อยู่ในคราบของคฤหัสถ์ เพราะความเป็นพระที่แท้จริงนั้น...อยู่ที่ใจ 'ใจ' ที่เข้าถึงศีลเข้าถึงธรรม 'ใจ' ที่ได้ประพฤติธรรม ได้ปฏิบัติธรรม ใจ มันเป็น...ธรรม ใจ ถึงได้...บรรลุธรรม ใจ จึงได้...เห็นธรรม
เราเกิดมาในยุคสมัยนี้เรามีโอกาสรู้เห็นน้อย เพราะเราจะเห็นแต่คนที่เกิดมา มีแต่การตั้งใจทำมาหากินตั้งแต่เกิดจนตาย.
ยุคนี้สมัยนี้...การที่จะได้เห็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็หายาก ประเพณีที่พระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติ ก็เลยขาดช่วงขาดตอนไป ญาติโยมประชาชนทั้งหลายก็เลยคิดว่าสมัยนี้พระอริยเจ้า มรรคผลนิพพานนั้นไม่มี "ก็คิดกันไปอย่างนั้น" ความเป็นจริงแล้ว 'มรรคผลนิพพาน' ก็ยังมีอยู่ มีอยู่ในผู้ประพฤติปฏิบัติ มีอยู่ในกลุ่มของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า "ตราบใดที่ยังมีผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์"
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราก็จะเข้าถึงมรรคผลได้กันทุก ๆ คน...
สิ่งที่จะทำให้เราเข้าถึง 'มรรคผลพระนิพพาน' ได้ ก็คือ พระธรรม พระวินัย นั่นเอง ผู้ที่เข้าถึงธรรมเข้าถึงพระวินัยได้ จะต้องเป็นผู้ที่หายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ เป็นผู้ที่ไม่ถือตัว ไม่ถือตน ไม่เอาตนเป็นใหญ่มอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ และตั้งใจว่า... "ชาตินี้ข้าพเจ้าจะไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ถือตัวถือตน จะมอบกายถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัย เอาพระธรรม เอาพระวินัยเป็นที่ตั้ง พระธรรม พระวินัย ว่าอย่างไร ก็จะประพฤติปฏิบัติตามอย่างนั้น... เอาพระธรรม เอาพระวินัย เป็นประธานในหัวจิตหัวใจ"
ความอาลัยอาวรณ์ทั้งหลายในโลกในตัวในตนของแต่ละคนมันมีมาก มันยากที่จะสลัดทิ้ง ยากที่จะสลัดคืนออกไปได้ แต่เรามาคิดดูมาทบทวนดูแล้ว ถ้าเราไม่เดินตามรอยพระพุทธเจ้า ไม่เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ก็ไม่มีวันที่จะเข้าถึงความดับทุกข์ได้เลย เพราะยิ่งเราทำไป ยิ่งปฏิบัติ ก็ยิ่งสร้างปัญหา สร้างความทุกข์ ความสับสนวุ่นวายให้กับตัวเองยิ่งขึ้น เกิดแล้วเกิดเล่า ตายแล้วตายเล่า ก็เพราะว่าเราไม่ได้ ปฏิบัติตามรอยของพระพุทธเจ้า ปัญหาเรื่องราวต่างๆ มันจึงเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา
คนเราที่มันมีปัญหานี้ มันไม่ได้มาจากภายนอก มันมาจากจิตจากใจของตัวเองเราเอง มันมาจากความหลงของตัวเราเอง สิ่งภายนอกมันไม่ได้ให้คุณให้โทษ ความหลง ความไม่รู้แจ้งต่างหากที่มันให้คุณให้โทษกับเรา
การที่จะฝึกตัวเองได้ ปฏิบัติตัวเองได้ ก็ต้องอาศัยศีล อาศัยธรรม อาศัยข้อวัตรปฏิบัติ เพราะว่าใจของเรานี้มันเป็นนามธรรม มันไม่มีตัวไม่มีตน ภาคปฏิบัติ ต้องอาศัยการฝึกจิตฝึกใจ ฝึกกาย ฝึกวาจาของเราให้ตั้งมั่น ให้อยู่ในศีลในธรรม กายของเรามันทำโน่นทำนี่ ถือว่า เป็นอาการกิริยาทางจิตใจที่แสดงออกมา 'ทางกาย' ที่มันไม่อยากรักษาศีล ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ ไม่อยากทำข้อวัตร นั่นคือ อาการกิริยาของใจ ที่มันแสดงออกมา 'ทางกาย' ที่มันหลง ที่มันมีความเห็นแก่ตัว มีความเห็นผิด อาการกิริยาที่เป็นตัวตนเป็นตน
การปล่อย... การวาง... ถ้าเราไปเน้นที่ใจ ทุกอย่างอะไรก็อยู่ที่ใจ ศีลเราก็ไม่ต้องรักษาอย่างนั้น มันก็ไม่ถูก! ถือว่ามันข้ามขั้นตอนของการประพฤติปฏิบัติไป มันเป็นความคิดความเห็นของคนเห็นแก่ตัว เป็นความคิดความเห็นของคนที่สรุปเอาเอง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ ว่าเราทำอะไรไปแบบไม่ยึดไม่ถือ มันถูกต้องแล้ว มันใช้ได้แล้ว
"ความปล่อย...ความวาง กับ 'ความขี้เกียจ" มันชอบหลงนะ หรือแม้แต่ว่า 'พระนิพพาน' กับ 'ความเห็นแก่ตัว' เราก็คิดเอาเองว่ามันเป็นเหมือนกัน "อย่างนั้นไม่ใช่" นักประพฤติปฏิบัติ ท่านถึงให้มาเน้นที่ 'ศีล' เน้นที่ 'ธรรม' เน้นที่ 'ข้อวัตรปฏิบัติ' เพื่อฝึกที่จิตที่ใจของเรา ถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ก็ยากที่จะเข้าถึงเรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องคุณธรรมได้
เจตนา ก็คือความตั้งจิตตั้งใจ นี้สำคัญมาก เพราะ "เรื่องจิต เรื่องใจ" เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเราคิดอะไร...คนอื่นเขาไม่รู้ เขาไม่เห็น เขาไม่เข้าใจกับเรา แต่เราต่างหากที่เป็นผู้รู้... ผู้เห็น... ผู้เข้าใจ...ของเราเอง
'รู้' ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราดำริขึ้นมาในใจของเรา การกระทำใดๆ เราก็รู้หมด ถ้าอันไหนมันไม่ถูก พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้เราคิด ไม่ให้เราทำ ไม่ให้เราพูด การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า "เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย"
เมื่อเราเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้ว เรานี้แหละก็ได้ชื่อว่าเป็น สุปะฏิปันโน อุชุปะฏิปันโน ญายะปะฏิปันโน สามีจิปะฏิปันโน ก็คือเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง ความเป็นพระก็จะเกิดขึ้นที่จิตที่ใจของเรา สมมุติสงฆ์ก็จะเป็น 'อริยสงฆ์ ญาติโยมที่อยู่ที่บ้านที่สังคม ที่ปฏิบัติเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ก็จะได้เป็น "พระอริยสงฆ์ในจิตใจ" ได้เช่นเดียวกัน
ฉะนั้น เราต้องจับหลักให้ได้ดีๆ ทุกคนจะได้ไม่พลาดโอกาส ไม่เสียโอกาส เราอย่าไปคิดไกลเกินไปนะว่า...พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์นั้นอยู่ไกล แท้ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ตัวเราทุกๆ คนนี้แหละ
เรายังแข็งแรงอยู่ มีโอกาสที่จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ให้เราตั้งจิตตั้งใจตั้งอธิษฐานว่า "เราจะสร้างบารมีให้เหมือนกับพระพุทธเจ้า" ไม่ว่าจะเป็น สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี หรือว่าศีลบารมี ก็ให้เราตั้งไปในใจเลยว่า เราจะตั้งสัจจะความจริง เราจะตั้งใจถือศีล ตั้งใจภาวนา ตั้งใจทำสมาธิ ให้หนักแน่นมั่นคงลงไปในใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม จะตั้งใจประพฤติปฏิบัติ "ไม่ว่าเนื้อ และเลือดจะเหือดแห้งไปก็ตามที่ เราก็จะตั้งใจทำอย่างนี้" จะตั้งใจปฏิบัตินี้ นี้เรียกว่า เราได้มาสร้างบารมีตามพระพุทธเจ้า ผู้ที่ตั้งใจมาอยู่วัดเราก็ตั้งใจถือศีลให้ดี จะได้เป็น "ศีลบารมี" เพื่อทำให้จิตใจของเราเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
เราทั้งหลายจะไม่ตามโลก ไม่ตามวัตถุ เราจะเอาบารมีที่พระพุทธเจ้าท่านพาเราทำเป็นหนทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ เอาพระนิพพานเป็นที่ตั้ง ถ้าเราเอาวัตถุข้าวของ เอาความเจริญเป็นที่ตั้ง ความเสื่อมก็จะตามมา เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นของผู้ที่ต้องการอารมณ์ของสวรรค์ ไม่ใช่ผู้ที่ต้องการสวรรค์ มรรคผลพระนิพพาน จิตใจของเรา...เราเน้นพระนิพพานอย่างเดียว
อะไรคือพระนิพพาน? 'พระนิพพาน' ก็คือ จิตใจที่ไม่มีตัว ไม่มีตนจิตใจที่ไม่ได้เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นพระ ไม่ได้เป็นเณร ไม่มีอะไรมาปรุงแต่ง จิตใจเป็นหนึ่ง จิตใจเป็นวิมุตติหลุดพ้น ไม่มีอะไรมาแต่งตั้งได้ ไม่มีอะไรมาสมมุติให้ได้ ผู้ที่หมดกิเลสเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ที่จะสัมผัสกับพระนิพพานได้
เราเป็นพระเป็นเณร เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติก็ต้องเห็นพระนิพพานเป็นที่ตั้ง ไม่เห็นวัตถุ ไม่เห็นรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นที่ตั้ง
แต่เราต้องเห็นพระนิพพาน เห็นมรรคผลเป็นที่ตั้ง เป็นเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติของเราทั้งหลาย...