แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๗๔ ส่วนใหญ่มักจะไม่แก้ไข ไม่แตะต้องตัวเอง แล้วคนอื่นจะเคารพนับถือได้อย่างไร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันธรรมะสวนะ เดือนหนึ่งมีวันธรรมะสวนะ ๔ ครั้ง พระพุทธเจ้าก็เลยให้พระภิกษุลงอุโบสถ ทุกๆ ๑๕ วัน เดือนหนึ่งลงอุโบสถ ๒ ครั้ง เพราะชีวิตของเราทุกคน คือชีวิตที่ประเสริฐ ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าการดำเนินชีวิตไปสู่มรรคผลพระนิพพาน สมัยครั้งพุทธกาล มีกุลบุตรลูกหลานได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้า ได้ออกบรรพชาอุปสมบทได้เป็นพระอริยเจ้านับได้หลายล้าน ผู้ที่ไม่ได้บวชก็เป็นพระอริยเจ้าหลายล้าน เพราะว่าทำพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าหน่ะ เป็นของดีจริงเป็นของประเสริฐจริง ถ้าทุกคนประพฤติปฏิบัติตามก็ได้ผลเหมือนกันอย่างนี้ 100% ไม่มีใครยกเว้น
พระพุทธเจ้าให้เราสละเสียซึ่งตัวซึ่งตนไม่ต้องเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เพราะการทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก มันเป็นพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าท่านรู้จักรู้แจ้งแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ถึงได้บอกของจริง ออกมาจากใจออกมาจากพระนิพพาน การฟังพระปาติโมกข์ ทุกๆ ๑๕ วัน คนอินเดียนี่เขาก็ฟังรู้เพราะมันเป็นภาษาของอินเดีย แต่ประเทศไทยเราเนี่ยฟังภาษาบาลีภาษาอินเดียไม่ออก เราก็เลยพากันลงอุโบสถตามประเพณีเฉยๆ พระพุทธเจ้าท่านบังคับเป็นพระปฏิบัติ ถ้าใครไม่ลงอุโบสถ ถ้ามันไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ไข้ ต้องอาบัติ ทุกคนไม่ยกเว้น ให้พากันเข้าใจอย่างนี้
พระพุทธองค์แม้จะทรงมีพระทัยกรุณาประดุจห้วงมหรรณพก็ตาม แต่พระบรมศาสดาทรงรังเกียจอย่างยิ่ง ซึ่งบุคคลผู้ไม่บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสาวกที่ทรงเพศเป็นภิกษุ มีเรื่องสาธกดังนี้ -
วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พอพระอาทิตย์ตกดิน พระสงฆ์ทั้งมวลก็ประชุมพร้อมกัน ณ อุโบสถาคาร เพื่อฟังพระโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงเองทุกกึ่งเดือน พระมหาสมณะเจ้าเสด็จสู่โรงอุโบสถ แต่ประทับเฉยอยู่ หาแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว พระอานนท์พุทธอนุชาจึงนั่งคุกเข่าประนมมือถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายคอยนานแล้ว ขอพระองค์โปรดทรงแสดงปาฏิโมกข์เถิด"
แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงเฉยอยู่ เมื่อมัชฌิมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว พระอานนท์ก็ทูลอีก แต่ก็คงประทับเฉย ไม่ยอมทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อย่างเข้าสู่ปัจฉิมยาม พระอานนท์จึงทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามและมัชฌิมยามล่วงไปแล้ว ขอพระองค์อาศัยความอนุเคราะห์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์เถิด"
พระมหามุนีจึงตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์! ในชุมนุมนี้ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์มีอยู่ อานนท์! มิใช่ฐานะตถาคตจะแสดงปาฏิโมกข์ในท่ามกลางบริษัทอันไม่บริสุทธิ์" ตรัสอย่างนี้แล้วก็ประทับเฉยต่อไป
พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย นั่งเข้าฌานตรวจดูว่าภิกษุรูปใดเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์อันเป็นที่รังเกียจของพระศาสดา เมื่อได้เห็นแล้ว จึงกล่าวขึ้นท่ามกลางสงฆ์ว่า "ดูก่อนภิกษุ! ท่านออกไปเสียเถิด พระศาสดาเห็นท่านแล้ว" แม้พระมหาเถระจะกล่าวอย่างนี้ ถึง ๓ ครั้ง ภิกษุรูปนั้นก็ไม่ยอมออกไปจากชุมนุมสงฆ์ พระมหาโมคคัลลานะจึงลุกขึ้นแล้วดึงแขนภิกษุรูปนั้นออกไป เมื่อภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พระอานนท์จึงทูลให้แสดงปาฏิโมกข์อีกพระศาสดาตรัสว่า "อัศจรรย์จริง โมคคัลลานะ หนักหนาจริงโมคคัลลานะ เรื่องไม่เคยมีได้มีขึ้นแล้ว โมฆบุรุษผู้นั้นถึงกับต้องกระชากออกไปจากหมู่สงฆ์ เธอช่างไม่มีหิริโอตตัปปะสำรวจตนเองเสียเลย ภิกษุทั้งหลาย เป็นอฐานะเป็นไปไม่ได้ที่ตถาคตจะพึงทำอุโบสถแสดงปาฏิโมกข์ท่ามกลางชุมนุมสงฆ์ที่ไม่บริสุทธิ์ แม้จะมีเพียงรูปเดียวก็ตาม ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษผู้นั้นทำให้เราลำบากใจภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจะไม่ทำอุโบสถแสดงปาฏิโมกข์อีก ขอให้ภิกษุทั้งหลายทำกันเอง"
แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย ๘ ประการ เปรียบด้วยความอัศจรรย์แห่งมหาสมุทรดังนี้ -
๑. พระธรรมวินัยนี้มีการศึกษา การกระทำและข้อปฏิบัติโดยลำดับ มิใช่เริ่มต้นก็ตรัสรู้อรหัตผล เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีความลุ่มลึกโดยลำดับ มิใช่เริ่มต้นก็ลึกเป็นเหว
๒. พระสาวกย่อมไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเปรียบเหมือนมหาสมุทร ซึ่งมีความหยุดเป็นธรรมดาไม่ล่วงเลยฝั่งไป
๓. สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลทุศีล ย่อมประชุมกันยกออก (จากหมู่) แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ (ก็ชื่อว่าไกลจากสงฆ์) เปรียบเหมือนกับมหาสมุทรที่ซัดซากศพเข้าสู่ฝั่งโดยพลัน
๔. วรรณะ 4 เมื่อบวชในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมละชื่อและโคตรเดิมถึงการนับว่าสมณศากยบุตรเปรียบเหมือนแม่น้ำ เช่น คงคา ยมุนา เมื่อถึงมหาสมุทรย่อมละชื่อและโคตรเดิม ถึงการนับว่ามหาสมุทร
๕. ในธรรมวินัยนี้ แม้จะมีภิกษุเป็นอันมากนิพพานไปด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แต่นิพพานธาตุก็คงอยู่อย่างนั้นไม่พร่องไม่เต็มเลย แม้จะมีผู้เข้าถึงนิพพานอีกสักเท่าใด นิพพานก็คงมีให้ผู้นั้นอยู่เสมอไม่ขาดแคลนหรือคับแคบ เพราะเหตุนั้น เปรียบเหมือนความพร่องหรือความเต็มแห่งมหาสมุทร เพราะเหตุแห่งสายน้ำตกลงมาจากอากาศ
๖. พระธรรมวินัยนี้ เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลไปจนถึงพระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตผลเปรียบเหมือนมหาสมุทร เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ เช่น ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาวาฬ นาค และอสูร เป็นต้น
๗. พระธรรมวินัยนี้ มีรัตนะเป็นอันมาก เช่น สติปัฏฐาน ๔ อริยมรรคมีองค์ ๘ และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นต้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรมี มุกมณี และไพฑูรย์ เป็นต้น
๘. พระธรรมวินัยมีรสเดียวคือ วิมุตติ (ความหลุดพ้น) เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม
นี้เป็น ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้มีสิ่งที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ จึงอภิรมย์อยู่
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ตลอดเวลา ๒๐ พรรษาต้น แสดงว่า โอวาทปาฏิโมกข์นี้ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแสดงเฉพาะในวันมาฆบูชาเท่านั้น แต่วันมาฆบูชาเป็นนิมิตหรือปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ เป็นวันแรกเริ่มที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ได้ทรงแสดงในการประชุมสงฆ์อีกเป็นคราวๆ รวมแล้วทรงปฏิบัติอยู่ ๒๐ พรรษา เมื่อ ๒๐ พรรษาแห่งการประกาศพระศาสนาล่วงไป ถือว่าคณะสงฆ์เริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น มีพระภิกษุบวชใหม่ไม่ใช่น้อย และในจำนวนพระบวชใหม่นี้เองเป็นผู้มาจากชาติตระกูลต่างๆ กัน มีความประพฤติยิ่งหย่อนกว่ากัน เป็นเหตุให้ภิกษุบางพวกประพฤติปฏิบัติไม่ดีงาม ทำความผิดเกิดขึ้น พระพุทธองค์จึงทรงให้มีการบัญญัติพระวินัย เรียกว่า “สิกขาบท” ขึ้น
ปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแสดงเอง เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาเป็น “ปาฏิโมกข์” ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ ๒๐ พรรษาแรก เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน ๓) หลังจากตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” มีเพียงครั้งเดียว ส่วนประเภทปาฏิโมกข์ที่พระสงฆ์ใช้สวดกันที่ปรากฏในพระคัมภีร์ มี ๒ ประเภท คือ
๑) คัมภีร์ที่รวบรวมวินัยสงฆ์ เรียกว่า ภิกขุปาฏิโมกข์ มีสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ๒) คัมภีร์ที่รวบรวมวินัยสงฆ์ ฝ่ายภิกษุณี เรียกว่า ภิกขุณีปาฏิโมกข์ มีสิกขาบท ๓๑๑ ข้อ
เรื่องศีลเรื่องธรรมเรื่องคุณธรรม ยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญพระพุทธเจ้าหมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายเนี่ย พัฒนาทั้งกายทั้งวาจาทั้งจิตใจตามธรรม เรียกว่าพัฒนาวิทยาศาสตร์พร้อมกับพัฒนาใจไปพร้อมกัน เราจะได้ไม่หลง ท่านถึงบอกว่า สิ่งที่เราใช้สอยบริโภค มันจะได้เป็นคุณ ก็เรียกว่ากามคุณ เพราะความสุขสำหรับผู้ที่มีสติมีปัญญา ไม่ใช่ความสุขที่มีความหลง เราเอาแต่วัตถุไม่ได้เอาจิตใจไปพร้อมๆ กัน ให้พากันเข้าใจ อย่าพากันลังเลสงสัย อย่าพากันลูบคลำในศีลในข้อวัตรปฏิบัติ เป็นสีลัพพตปรามาส เราอย่าพากันมาสงสัยว่าตายแล้วเกิดตายแล้วศูนย์ พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าเรายังมีพลังงานคือมีเหตุปัจจัยอยู่ ก็ย่อมมีการเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าจะพูดตรงไปตรงมาก็ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มีก็สิ่งนั้นก็ไม่มี มันอยู่ที่ปัจจุบัน ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องมีฉันทะ มีความพอใจ มีความสุข ในการเสียสละในการปฏิบัติไม่มีอะไรที่ยิ่งไปกว่านี้หรอก
ครั้งพุทธกาล ผู้ที่เป็นพระอริยะเจ้าเขามีความสุข มีความสุขกว่ามหาเศรษฐีอีก ลูกมหาเศรษฐี ไม่รู้ธรรมะ พ่อจ้างไปฟังธรรม ครั้งแรกได้เงิน ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ทีนี้แหละได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันนะ อายแล้วไม่เอาเงินเลย “เพราะโสดาปัตติผล ประเสริฐกว่าสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ ประเสริฐกว่าสมบัติใดๆ ในเทวโลก ตลอดจนถึงพรหมโลก” เรียกว่าในภพทั้ง ๓ สมบัติใดๆ ทั้งหมดไม่ประเสริฐเท่าการบรรลุธรรม เพราะบุคคลที่บรรลุโสดาปัตติผลย่อมเป็นผู้ที่ปิดประตูอบายภูมิได้ แล้วจะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ เป็นผู้มีคติแน่นอน คือ หลุดพ้นจากวัฎฎะ ส่วนความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ปกครองทวีปทั้ง ๔ ที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุนั่น เมื่อสวรรคตแล้วย่อมไปสู่สุคติ เสวยทิพยสมบัติ แวดล้อมด้วยเหล่านางอัปสร พร้อมบำรุงบำเรอด้วยเบญจกามคุณ แต่ก็ยังวนๆ เวียนๆ อยู่ในวัฏสงสาร ถ้าหากพระเจ้าจักรพรรดิไม่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการแล้ว ย่อมไม่พ้นจากนรก คือ ถ้าทำชั่วก็ยังต้องไปอบาย ย่อมไปเกิดในภูมิแห่งสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย อบาย ทุคติ วินิบาต พระเจ้าจักรพรรดิถ้าทำชั่วแล้วก็ต้องไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ส่วนอริยสาวก ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ
๑. มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า โดยระลึกถึงพระพุทธคุณ
๒. มีความเลื่อมใสในพระธรรม โดยระลึกถึงพระธรรมคุณ
๓. มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ โดยระลึกถึงพระสังฆคุณ
๔. มีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท
อริยสาวกนั้นจึงเป็นผู้รอดพ้นจากนรก ไม่ไปเกิดในสัตว์เดรัจฉานหรือภูมิแห่งเปรต ไม่ไปเกิดในภูมิแห่งอสุรกาย ทุคติ วินิบาต
เพราะความสุขความดับทุกข์ทางจิตใจ มันเหนือกว่านั้น เรื่องความสุขความดับทุกข์ มันถึงเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ มันไม่เกี่ยวกับคนรวยคนจน อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละ เพราะคนเราไม่เสียสละมันไม่มีความสุขไม่มีความดับทุกข์ เพราะว่าเรามีความผิดมีโทษ มันยังเป็นคนจะเอาความสุขความดับทุกข์กับวัตถุกับตัวกับตน มันยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เขาเรียกว่ามนุษย์รวย เป็นเทวดารวยเฉยๆ ทุกท่านทุกคนอย่าไปตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ทุกท่านทุกคนมันจะเป็นพระได้อย่างไงหล่ะ ถ้าเราไม่เอาพระธรรมพระวินัยหน่ะ เหมือนกับที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ไม่ค่อยเห็นมีใครได้บรรลุกัน ประเทศไทยบวชมีพระสงฆ์นับว่าเป็นแสน สองแสน ก็เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ตามพระพุทธเจ้าเลย ตามแต่ใจตัวเอง ตามแต่อารมณ์ตัวเอง เอาแต่วัตถุ ไม่ได้พัฒนาใจเลย ไม่ได้พัฒนาธรรมวินัยไปพร้อมๆ กัน
ดูแล้วความย่อหย่อนออนแอ เอาตัวตนเป็นที่ตั้งของผู้ที่มาบวชในประเทศไทยนี่นะ มันทำความเสียหายให้กับประเทศไทยเรา ประเทศอื่นก็ทำความเสียหายให้กับประเทศเขา อันนี้เสียหายมากนะ พวกที่นำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่เอาพระธรรมวินัย 100% สมบูรณ์เนี่ย มันไปไม่ได้ เราปฏิบัติเพื่อให้เขาเลื่อมใส ให้ประชาชนเลื่อมใส ให้เพื่อนเลื่อมใส มันไม่ถูก มันยังปฏิบัติเป็นโจรอยู่ มันเรียกว่าปฏิบัติแบบเอาหินทับหญ้า ไม่ได้พัฒนาใจ เหมือนกฏหมายบ้านเมืองมันก็เป็นหินทับหญ้า มันไม่ได้ตั้งใจเจตนาเพื่อจะเสียสละ เพื่อพัฒนาทั้งกายทั้งวาจาพัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน มันยังเป็นโจรอยู่ พวกฝรั่งลูกศิษย์อาจารย์ชาก็ดี หลวงตามหาบัวก็ดี หลวงพ่อพุทธทาสก็ดี พากันนำธรรมะดีๆไป ถ้าพวกท่านทั้งหลายพากันทิ้งพระวินัย กลายเป็นพระฉันหลายครั้ง เป็นพระที่ฟรีสไตล์ นั่นคือความเสียหาย นั่นมันไม่ใช่ศาสนาพุทธนะ นั่นคือทิฏฐิมานะอัตตาตัวตนนะ ท่านต้องระลึกถึงพระพุทธเจ้า ที่ท่านเสียสละ ท่านก็อยู่ตามโคนไม้ อยู่ตามป่าตามถ้ำ อยู่ตามที่ถูกต้องคามพระวินัย ท่านเสียสละ ถ้าท่านไม่เอาอะไรเลย ไม่เก็บเงินเก็บตังไม่อะไรเลย เราทำอย่างนี้แหละ เรากลับมีจะมีประโยชน์ต่อส่วนรวมนะ พวกท่านทั้งหลายอย่าพากันเข้าใจผิด เราต้องทรงไว้ซึ่งพระธรรมพระวินัยให้สมบูรณ์ พวกท่านอย่าพากันฟรีสไตล์ อย่าพากันเก่งไปเลยนะ ดำน้ำหลายครั้ง มันเกิน 3 ครั้ง โบราณว่าหัวมันล้านนะ หัวด้านหัวดื้อนะ มันจะไปไม่ได้ พวกที่เผยแผ่ทั้งหลาย มันจะนอนแผ่นะ
ให้ท่านกลับมาหาเนื้อหาตัว พวกเราตั้งหลายต้องพากันมาแก้ตัวเอง ถ้าไปแก้คนอื่นหน่ะมันแก้ไม่ได้ แต่ตัวเองไม่แตะต้องตัวเอง ศาสนาคริสต์จะทำพวกให้โบสถ์ร้างในต่างประเทศเยอะ ทำให้ประชาชนคนรุ่นใหม่ไม่เคารพนับถือ พระเจ้าพระสงฆ์ในเมืองไทย ทำให้คนรุ่นใหม่สมัยใหม่ไม่นับถือ ก็เพราะพวกเราพวกเขาพากันหลงในวัตถุ หลงในเงิน หลงในสตางค์ หลงในลาภยศสรรเสริญ เราก็ยังจะไปเอากับเขาอีก เราเป็นผู้ทรงเกรียติในทางไม่ถูกนะ ไม่ได้เป็นผู้ทรงเกียรติอย่างพระพุทธเจ้านะ ตำแหน่งแต่งตั้ง มันไม่สู้ตำแหน่งที่เสียสละนะ มันก็หน้าสงสารประเทศฝรั่งหลายประเทศ โบสถ์มันร้างมากเหลือเกิน บางแห่งต้องขายให้พวกที่ไปเผยแผ่ศาสนาพุทธที่ไปจากเมืองไทยหลายโบสถ์เลยนะ อย่างที่เห็นที่เมืองเพิร์ท ที่มีวัดลูกศิษย์หลวงปู่ชามีวัดป่า ในเมืองก็มี โบสถ์คริสต์มันร้างก็ไปซื้อ เอาไม้กางเขนออกแล้วเอาธรรมะจักรไปติดแทน เหล่านี้ล้วนมาจากเพราะว่าความย่อหย่อนอ่อนแอของผู้ที่มีปัญญาไม่จริงมีปัญญาครึ่งๆ กลางๆ ทำให้ศาสนาคริสต์เสียหาย ศาสนาพุทธเราก็เลียนแบบกัน ต้องพาเข้าใจ พวกที่ไปเผยแผ่นี่อย่าไปใจอ่อน ต้องปรับตัวตัวเอง ต้องพากันจัดการตัวเองเอาเข้าสู่ระเบียบสู่วินัย วิทยาศาสตร์เขาก็ต่อยอดจากคนเก่า ให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ การพัฒนาถึงไปถึงดวงดาวดวงจันทร์ได้ แต่ด้านการปฏิบัตินี้ เรามีแต่ถอยหลัง มันไม่ได้ ธรรมะดีๆ ของประเสริฐหน่ะ มันเสียหายหมด
เราต้องเข้าใจ เราต้องเอาธรรมะแท้ๆ ขององสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบอกไปสอน อย่าไปกลัวว่ามันไม่ทันโลกไม่ทันสมัย มันทันสมัย หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้นทนต่อการพิสูจน์ ไม่มีข้อบกพร่อง ทันสมัย ใหม่อยู่เสมอหรือที่เรียกกันว่า “อกาลิโก” เพราะปรับที่ใจ เพราะความสุขความดับทุกข์มันปรับที่ใจ มันไม่ได้ปรับที่อื่น ที่เราเป็นทุกข์ เราเวียนว่ายตายเกิดหน่ะ มันเป็นพลังงานทางจิตทางใจ พลังงานทางกายเนี่ยไม่เกิน ๑๐๐ ปี เขาก็ต้องเอาเราไปเผาอยู่แล้ว ให้พากันเข้าใจ เราต้องรู้จักนะ พระเราก็รู้จัก ทุกคนอย่าไปย่อหย่อนอ่อนแอ เพราะว่าทุกคนเกิดมามันเป็นคนเห็นแก่ตัวเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ต้องปรับตัวเองเข้าหาเวลา ต้องไปก่อนเวลา ต้องปรับตัวเข้าหาธรรมวินัย อย่าไปตามใจตามอารมณ์ มันเป็นสักกายทิฏฐิ มันลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ
เราหน่ะมันต้องสู้กับตัวเอง ไม่ได้สู้กับผู้อื่น เห็นในครั้งพุทธกาลท่านอยู่ตามดินตามอะไรหน่ะ ท่านไม่สนใจเก็บอาหารเก็บสังฆทานไว้หรอก ไม่ได้คิดว่าค่าน้ำค่าไฟอะไรหรอก ค่ารถค่าเรือค่าหาหมอ มันจะเอาอะไร มันไปห่วงตายอย่างนี้ มันจะเอาอะไร มันสักกายทิฏฐิ ลูบคลำในศีลในข้อวัตรปฏิบัติอย่างนี้แหละ ห่วงแต่เรื่องอยู่เรื่องกินอะไร มันไม่ถูก ทุกคนต้องมาเสียสละ ต้องปรับเข้าหาเวลา เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง มันง่วงแล้วก็กลั้นลมหายใจ ใจมันจะขาดมันก็ค่อยมาหายใจมัน ทำอยู่หลายครั้งมันก็ตื่นขึ้นมา เพราะมันมีความเหนื่อยความยากความลำบาก ความเจ็บความแก่ ให้เราได้ฝึกใจ ให้เราได้ทำใจ เราจะได้พัฒนาใจว่า อันนี้ก็ไม่แน่ อันนี้ก็ไม่เที่ยง อันนี้ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราจะไปเอาพระนิพพานที่ไหน นิพพานโง่ๆ อะไรแบบนั้น นิพพานอย่างไปตามใจคน มันไม่ได้มีพระพุทธเจ้า มันมีแต่อวิชชามีแต่ความหลง ให้พากันเข้าใจ เราก็ให้มันง่วงเหงาหาวนอน นอนในตู้รถไฟก็ช่างหัวมัน เหนื่อยมาชักดิ้นชักงอก็ช่างหัวมัน เราจะได้ทำใจอย่างนี้
ให้ทุกท่านทุกคนมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ วันคืนเวลาเป็นการประพฤติการปฏิบัติ ให้ทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้นะ พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างแบบอย่าง เห็นไหมพระพุทธเจ้าของเราหน่ะ รองเท้าก็ไม่ใส่ ร่มก็ไม่กาง อะไรก็ไม่เอา บาตรก็มีแต่ใบหน่ะ ฝาก็ไม่มี พระพุทธเจ้าหน่ะ ไม่ได้ไปรถ ไม่ได้ไปด้วยเครื่องบินอะไรเลย มีแต่เสด็จด้วยพระบาท แต่ท่านมีอภินิหาร เพราะท่านเสียสละ ท่านก็สมควรที่จะมีอภินิหารใช่ไหม ท่านอยากไปที่ไหนก็เพียงแค่ลัดมือเดียว ก็รอบโลกหลายรอบแล้ว
คนเราต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนต้องพากันมีความสุข ทั้งพระทั้งประชาชน อย่าห่วงในลูกหลานในตระกูลอะไรอย่างนี้ ถ้าห่วง เราก็เสียสละซิ เป็นตัวอย่างให้ลูกให้หลาน คนเราถ้ามีความสุขในการทำงานมันจะจนได้ไง มีความสุขในความขยันรับผิดชอบจะจนได้ไง เป็นพระที่ไม่เอาอะไรเลยเขาก็เอาอะไรมาถวายเยอะแยะเลยใช่ไหม ไม่ต้องไปติดป้ายตามสี่แยกทำบุญนู้นทำบุญนี้ ให้เรารู้จักว่าพระคืออะไร พระก็คือพระธรรมพระวินัย คือจิตใจที่บริสุทธิ์ที่เสียสละที่ละซึ่งตัวตนให้เข้าใจอย่างนี้
ถ้าเราคิดว่าเรามาบวชเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา เราจะมาสร้างวัดสร้างวา มาสร้างโบสถ์ สร้างวิหารนี้ มันยังไม่จริง มันยังไม่ถูก ให้เราน้อมดูพระพุทธเจ้า ท่านนั่งอยู่ ท่านเดิน อยู่บนพื้นดิน ทำอะไรท่านปล่อยท่านวางหมด ท่านบังคับเราไม่ให้เราก่อเราสร้าง ไม่ให้ขวนขวาย ไม่ให้เราก่อสร้าง
ถ้าเราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ญาติโยมมีศรัทธาเขาจะมาสร้างให้เราเป็นหลังๆ เอง ท่านไม่ให้ไปเรี่ยไรขอของจากคนที่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา ไม่ให้ขึ้นป้ายบอกบุญตามถนนหนทางว่าสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างเจดีย์ต่างๆ ถ้ามันเป็นความคิดของพระเองมันไม่ได้! "มันเป็นการขอของจากคนที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา"
พระพุทธเจ้าท่านให้เรา 'สร้างปฏิปทา' เหมือนเรากำลังทำกันอย่างนี้แหละ ไม่อย่างนั้นการก่อสร้างต่างๆ นี้ มันก็มีประโยชน์น้อย มีอานิสงส์น้อย เพราะทุกๆ คนที่มาพักพิง มาปฏิบัตินี้ไม่ตั้งอกตั้งใจกัน พระหนุ่มๆ เณรน้อย หรือญาติโยมที่พากันประพฤติปฏิบัติจะได้เกิดประโยชน์
เมื่อตัวอย่าง...มันไม่มี แบบพิมพ์...มันไม่มี พระพุทธศาสนาก็จะเสื่อมไปๆ แล้วคิดว่าประวัติของพระพุทธเจ้า ประวัติของพระอรหันต์ คิดว่าเป็นนิยายกันไป...ไม่เป็นความจริง ถ้าเราพากันประพฤติปฏิบัติ ดูพระนิพพานก็อยู่ไม่ไกล อนาคตก็สดใสเหลือเกิน
เราทำการทำงานให้มันชำนิชำนาญ ให้มันเข้าใจและก็ให้มันเป็นการประพฤติปฏิบัติของเรา ที่ต้องให้มันมีความชำนิชำนาญ ให้มันเป็นวันนี้...เราเป็นเท่านี้ ขนาดนี้ แล้วเราต้องต่อเนื่องในวันพรุ่งนี้เพิ่มขึ้นอีก เราอย่าไปคิดว่าอนาคตมันริบหรี่ เหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร ไม่รู้มันจะเป็นอย่างไร...
ถ้าท่านคิดอย่างนั้น แสดงว่าท่านยังไม่รู้อนาคต อนาคตที่เดี๋ยวนี้แหละ ที่มันเห็น ที่มันเป็น เราเองถ้าปฏิบัติไม่หยุด... ถึงได้เป็น 'พระอริยเจ้า' จะได้ไม่ต้องไปหากราบ หาไหว้ไกลๆ ที่ประเทศอินเดีย ที่วัดนั้น...วัดนี้... ต้องมากราบ 'พระที่จิตที่ใจ' ของเรานี้แหละ การประพฤติปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าบอกให้เราไม่อ่อนแอ ให้เราตั้งใจไว้ ไม่ว่าเราจะเหน็ดเราจะเหนื่อยนี้ให้ถือว่าเรื่อง ใจ' เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่แล้วก็แล้วไป ให้ถือว่าเรานั้นมันโง่ไปแล้ว
ทุกท่านทุกคนต้องตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพราะเพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ ไม่มาปฏิบัติให้เรานะ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้สอนนะ "ธรรมวินัย ข้อวัตร ปฏิบัติ" ที่เราพากันปฏิบัติตาม อย่างนี้แหละ คือ พระพุทธเจ้า คือ พระธรรม คือ พระอริยสงฆ์ "นอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว ถึงจะเหนื่อย ถึงจะยากลำบาก มันก็คุ้ม"
พระพุทธเจ้าท่านรักเรา ท่านเมตตาเรานะ ท่านสงสารเรา ท่านไม่ได้มากดดันเราให้มันยากลำบาก ทั้งที่การประพฤติปฏิบัติของเรามันยากมันลำบาก ถ้ามันไม่ยากไม่ลำบาก มันจะได้ดีได้อย่างไร?
พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ใหม่ๆ ท่านก็พิจารณาว่าการประพฤติปฏิบัติที่จะไป 'พระนิพพาน' มันยาก ยากมาก 'มันทวนกระแส' แต่ด้วยอาศัยความเมตตาที่ท่านบำเพ็ญมา ท่านก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า 'ดอกบัว' มีหลายเหล่า ท่านก็พิจารณา ท่านก็ว่าบุคคลที่จะได้ตรัสรู้ก็ยังมีอยู่ ท่านก็รู้ว่ามันยาก มันลำบาก แต่ก็มีประโยชน์ ท่านก็จึงเมตตาสอนพวกเรา เราเองไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เพียงแต่ประพฤติปฏิบัติตาม เปรียบเสมือนอาหารอยู่ในภาชนะ เต็มภาชนะ พวกเราก็พากันบริโภค แต่พวกเรามันยังมีปัญญาน้อย เหมือนกับไก่เขา เอาเพชรเอาพลอยให้มัน...มันไม่เอานะ มันเอาข้าวสาร มันเอาอาหารไก่ ถ้ามันรู้จักเอาเพชรเอาพลอย แล้วเอาไปซื้ออาหารไก่ ไม่รู้จะได้กี่คันรถ
การประพฤติปฏิบัติต้องเพิ่มศรัทธาให้มากที่สุด มอบชีวิตจิตใจให้พระพุทธเจ้าอย่างเดียว เพิ่มความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เพิ่มความไม่ประมาทให้มันมากขึ้น ให้มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิก็ไม่นั่งคิดอะไร หายใจเข้าหายใจออกให้มันสบาย... ให้มันรู้ลมเข้า... รู้ลมออก...
คนเรามันคิดมาก มันทุกข์มาก คนเรามันนั่งมันนอนทั้งวัน ถ้าเราไม่คิด มันก็ไม่ทุกข์ "ให้รู้ความคิด รู้อารมณ์ รู้การหมุนการเหวี่ยงของอารมณ์" เรามีแต่คันเร่งไปข้างหน้าแล้วก็ถอยหลัง ตัวที่มันว่างๆ ไม่มีตัวไม่มีตน มันไม่ค่อยจะมี พยายามหยุด พยายามเย็นเข้าไว้ เราอย่าไปเผาตัวเอง เราอย่าไปมีความอยาก นั่งสมาธิก็วางเป้าไว้แล้วว่าไม่ให้เจ็บ...ไม่ให้ปวด ไม่ว่าเราทำอะไรก็วางเป้าไว้หมดเลย ท่านให้เรามีความสุขในการทำการทำงาน เราจะได้สุข เราจะได้สงบ
งานภายนอก นี่ก็ได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งความสุข งานภายใน ได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา มันอยู่ใกล้ๆ อยู่ในใจของเรานี้เอง พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกท่านทุกคนให้ทำอย่างนี้นะ ทำไปเรื่อยๆ จนเป็น 'พระอรหันต์' ถ้ายังไม่เป็นอย่าไปหยุดมัน 'พระอรหันต์' ใครมาแต่งตั้งก็ไม่ได้ นอกจากจิตใจของเรามันเป็นเอง
จิตใจมันเสื่อม มันเจริญ เพราะความอยาก ความไม่อยาก ถ้าจิตเราอยาก-ไม่อยาก มันก็เสื่อม ถ้าเรายังมีความต้องการอยู่มันก็ต้องเสื่อม เช่น ถ้าเขาว่าเราดี เราก็ดีใจ เขาว่าเราไม่ดี เราก็เสียใจ ถ้าอย่างนี้ เขาเรียกว่า... "เราตั้งอยู่ในความเจริญและความเสื่อม"
ให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ วันหนึ่งๆ นี้ เวลาก็แค่ ๒๔ ชั่วโมง อย่าได้ปล่อยให้โอกาสให้เวลา เสียไป...โดยเปล่าประโยชน์