แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๗๓ ทุนทรัพย์ของเรานั้น คือศีล สิกขาบทน้อยใหญ่ ที่ต้องไปประพฤติไปปฏิบัติ ใจจึงจะสงบได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นสมาธิที่เป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ คน หลวงพ่อชาที่ให้หลวงพ่อสุเมโธ ไปเผยแผ่ธรรมะที่ประเทศอังกฤษ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประเทศฝรั่งเศษ ท่านจะไม่พูดเรื่องพระศาสนา ท่านจะพูดเรื่องมนุษย์ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ให้ทุกคนพากันปฏิบัติใจตัวเอง พากันฝึกใจ ฝึกสมาธิ สมาธิเป็นของกลางๆ หมู่มวลมนุษย์ต้องเอาสมาธิมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทุกชาติ ทุกศาสนา ต้องเอาสมาธิมาใช้ในชีวิตประจำวัน ชีวิตก็จะสงบ ชีวิตก็จะเย็น เหมือน Air condition ชีวิตของทุกคนก็จะอบอุ่น
หลวงพ่อชาจะไม่ให้พูดเรื่องพระพุทธศาสนา เพราะไปอยู่ใหม่ คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จักศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่เค้าพากันเป็นคริสต์กัน เมื่อหลายวันหลายเดือน คนพวกนี้ก็จะถามว่าทำไมใจมันไม่สงบ ใจยังไม่สงบสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน หลวงพ่อชาก็จะให้บอกสอนต่อไปว่า ใจจะสงบได้มันต้องมีศีล เรามีความรู้มีความเข้าใจนี้ เราก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนเราเป็นคนจนแล้วเรามีความรู้ แต่ว่าเราไม่มีทุน ไม่มีทรัพย์ ที่จะไปลงทุน ทุนของเรา ทรัพย์ของเรานั้น คือศีล สิกขาบทน้อยใหญ่ ที่เราต้องไปประพฤติไปปฏิบัติ เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการประพฤติ การปฏิบัติ
หลวงปู่ชา สุภทฺโท ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต รูปหนึ่ง ที่ไม่ได้ญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุต ท่านเป็นผู้ทรงธรรม เก่งในเทศนาโวหารและการเปรียบเปรยข้ออรรถข้อธรรมของท่านชวนให้คนได้คิดเสมอ สติปัญญาไว ดัดนิสัยสานุศิษย์ได้ฉับพลัน มีบุญญาบารมีมาก มีหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นสหธรรมิก ท่านเล่าว่า “มีนิสัยโน้มเอียงมาในทางธรรมตั้งแต่วัยเด็ก กลัวบาป เป็นคนซื่อสัตย์ไม่โกหก รักความยุติธรรม เกลียดความอยุติธรรม ชอบเล่นแต่งตัวเป็นพระ มีความพอใจภูมิใจที่ได้แสดงเป็นพระ ยินดีในผ้ากาสาวพัสตร์และเพศพรหมจรรย์”
หลวงพ่อชาท่านมีความสามารถในการสอนธรรมให้ชาวต่างชาติ มีศิษย์เป็นชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก มีวัดสาขาทั้งใน และต่างประเทศ มีกฎระเบียบจากวัดป่าหนองพง เป็นต้นแบบเสมอภาคทุกสาขาทั่วโลก
ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ณ บ้านก่อ หมู่ที่ ๙ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายมา และนางพิมพ์ ช่วงโชติ เมื่ออายุ ๑๓ ปี หลังจากลาออกจากโรงเรียนประถมศึกษาแล้ว โยมบิดาได้นำไปฝากเป็นเด็กวัดกับเจ้าอาวาสวัดบ้านก่อ เพื่อเรียนรู้บุพกิจเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรพชาวิธี จึงได้รับอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ณ วัดบ้านก่อ โดยมี พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) เป็นพระปัพพชาจารย์ ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมตลอดจนอยู่ปฏิบัติครูอาจารย์เป็นเวลา ๓ ปี ได้เอาใจใส่ต่อภารกิจของสามเณรท่องสวดมนต์ ทำวัตร ศึกษาหลักสูตรนักธรรม จากนั้นจึงได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นของครอบครัวแบบชาวไร่ชาวนาอีสานทั่วไป
อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น. ณ วัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว พรรษาที่ ๑-๒ จำพรรษาที่วัดก่อนอก ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบนักธรรมชั้นตรีได้ นับแต่ได้อุปสมบทมาเมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมโยมบิดามารดา โยมพ่อมักจะวกเข้าสู่เรื่องความเป็นอยู่ในสมณเพศของท่านว่า “อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้”
ทั้งๆ ที่ปีนี้ (๒๔๘๖) เป็นปีที่หลวงพ่อเองเกิดความภูมิใจ สนใจในการศึกษา มุ่งหน้าบากบั่นขยันเรียนอย่างเต็มที่ และได้ตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อผลการสอบตอนปลายปีออกมาจะพาให้ได้รับความดีใจ หลังจากออกพรรษา ปวารณาและกาลกฐินผ่านไป…ก็ได้รับข่าวจากทางบ้านว่าโยมบิดาป่วยหนัก หลวงพ่อก็เกิดความลังเลใจ พะว้าพะวง ห่วงการศึกษาก็ห่วง ห่วงโยมบิดาก็ห่วง แต่ความห่วงผู้บังเกิดเกล้ามีน้ำหนักมากกว่า เพราะมาคิดได้ว่า โยมบิดาเป็นผู้มีพระคุณอย่างเหลือล้น เรามีชีวิตและเป็นอยู่มาได้ก็เพราะท่าน สมควรที่เราจะแสดงความกตัญญูให้ปรากฏ เสียการศึกษายังมีเวลาเรียกกลับมาได้ แต่สิ้นบุญพ่อเราจะขอได้จากที่ไหน…ความกตัญญูมีพลังมารั้งจิตใจให้คิดกลับไปเยี่ยมโยมพ่อเพื่อพยาบาลรักษาท่าน…ทั้งๆที่วันสอบนักธรรมก็ใกล้เข้ามาทุกที แต่ยอมเสียสละ ถ้าหากโยมพ่อยังไม่หายป่วย และ นึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ว่า ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี ด้วยความสำนึกดังกล่าว จึงได้เดินทางกลับบ้าน เมื่อถึงแล้ว ก็ได้เข้าเยี่ยมดูอาการป่วย ทั้งๆ ที่ได้ช่วยกันพยาบาลรักษาจนสุดความสามารถ อาการของโยมพ่อก็มีแต่ทรงกับทรุด คิดๆดูก็เหมือนตอไม้ที่ตายแล้ว แม้ใครจะให้น้ำให้ปุ๋ยถูกต้องตามหลักวิชาการเกษตรสักเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้มันแตกหน่อเจริญงอกงามขึ้นมาได้
ตามปกตินั้นนับตั้งแต่หลวงพ่อได้อุปสมบทมา เมื่อมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมโยมบิดามารดา หลังจากได้พูดคุยเรื่องอื่นมาพอสมควรแล้ว โยมพ่อมักจะวกเข้าหาเรื่องความเป็นอยู่ในเพศสมณะ ท่านมักจะปรารภด้วยความเป็นห่วงแกมขอร้องว่า อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระไปอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยาก ลำบาก หาความสบายไม่ได้ ท่านได้ยินแล้วก็นิ่ง มิได้ตอบ แต่ครั้งนี้ ซึ่งโยมพ่อกำลังป่วย ท่านก็ได้พูดเช่นนั้นอีก พร้อมกับมองหน้า คล้ายจะรอฟังคำตอบอยู่ ท่านจึงบอกโยมพ่อไปว่า ไม่สึกไม่เสิกหรอกจะสึกไปทำไมกัน รู้สึกว่าเป็นคำตอบที่ทำให้โยมพ่อพอใจ หลวงพ่อมาอยู่เฝ้าดูแลอาการป่วยของโยมพ่อนับเป็นเวลา ๑๓ วัน โยมพ่อจึงได้ถึงแก่กรรม
ในระยะที่ได้เฝ้าดูอาการป่วยของโยมพ่ออยู่นั้น เมื่อโยมพ่อได้ทราบว่าอีก ๔-๕ วันจะถึงวันสอบนักธรรม ท่านจึงบอกว่าถึงเวลาสอบแล้วจะไปสอบก็ไปเสีย จะเสียการเรียน…แต่หลวงพ่อได้พิจารณาดูอาการป่วยของท่านแล้วตั้งใจว่าจะไม่ไป จะอยู่ให้โยมพ่ออุ่นใจก่อนที่ท่านจะจากไป…อีกอย่างหนึ่งจะทำให้คนเขาตำหนิได้ว่า เป็นคนเห็นแก่ตัว ผู้บังเกิดเกล้ากำลังป่วยหนักยังทอดทิ้งไปได้ เลยจะกลายเป็นลูกอกตัญญูเท่านั้น
หลวงพ่อเล่าว่า ในระหว่างเฝ้าดูอาการป่วยของโยมพ่อ จนกระทั่งท่านถึงแก่กรรม ทำให้ได้พิจารณาถึงธาตุกรรมฐาน พิจารณาดูอาการที่เกิดดับของสังขารทั้งมวล และเกิดความสังเวชใจว่าอันชีวิตย่อมสิ้นลงแค่นี้หรือ? จะยากดีมีจนก็พากันดิ้นรนไปหาความตาย อันเป็นจุดหมายปลายทาง อันความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้น เป็นสมบัติสากลที่ทุกคนจะต้องได้รับ จะยอมรับหรือไม่ก็ไม่เห็นใครหนีพ้นสักราย
ปี พ.ศ.๒๔๘๗ เมื่อจัดการกับการฌาปนกิจโยมบิดาเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อก็เดินทางกลับสำนักวัดหนองหลัก เพื่อตั้งใจศึกษาเล่าเรียนต่อไป แต่บางวันบางโอกาส ทำให้ท่านนึกถึงภาพของโยมพ่อที่นอนป่วย ร่างซูบผอมอ่อนเพลีย นึกถึงคำสั่งของโยมพ่อ และนึกถึงภาพที่ท่านมรณะไปต่อหน้า ยิ่งทำให้เกิดความลดใจสังเวชใจ ความรู้สึกเหล่านี้มันปรากฏเป็นระยะๆ
ในระหว่างพรรษานี้ ขณะที่กำลังแปลหนังสือธรรมบทจบไปหลายเล่ม ได้ทราบพุทธประวัติสาวกประวัติจากหนังสือเล่มนั้นแล้วมาพิจารณาดู การที่เราเรียนอยู่นี้ ครูก็พาแปลแต่สิ่งที่เรารู้ เราเห็นมาแล้ว เช่น เรื่องต้นไม้ ภูเขา ผู้หญิง ผู้ชาย และสัตว์ต่างๆ สัตว์มีปีกบ้าง ไม่มีปีกบ้าง สัตว์ มีเท้าบ้าง ซึ่งล้วนแต่เราได้พบเห็นมาแล้วเป็นส่วนมาก จิตใจก็รู้สึกเกิดความเบื่อหน่าย จึงคิดว่ามิใช่ทางพ้นทุกข์ พระพุทธองค์คงจะไม่มีพุทธประสงค์ให้บวชมาเพื่อเรียนอย่างเดียว และเราก็ได้เรียนมาบ้างแล้ว จึงอยากจะศึกษาทางปฏิบัติดูบ้าง เพื่อจะได้ทราบว่ามีความแตกต่างกันเพียงใด แต่ยังมองไม่เห็นครูบาอาจารย์ผู้พอจะเป็นที่พึ่งได้ จึงตัดสินใจจะกลับบ้าน
พ.ศ. ๒๔๘๘ ในระหว่างฤดูแล้ง จึงได้ปรึกษากับ พระถวัลย์ (สา) ญาณจารี เข้ากราบลาหลวงพ่อพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ เดินทางกลับมาพักอยู่วัดก่อนอกตามเดิม และในพรรษานั้นก็ได้เป็นครูช่วยสอนนักธรรมให้ท่านอาจารย์ที่วัด จึงได้เห็นภิกษุสามเณรที่เรียนโดยไม่ค่อยเคารพในการเรียน ไม่เอาใจใส่ เรียนพอเป็นพิธี บางรูปนอนน้ำลายไหล จึงทำให้เกิดความสังเวชใจมากขึ้น ตั้งใจว่าออกพรรษาแล้วเราจะต้องแสวงหาครูบาอาจารย์ด้านวิปัสนาให้ได้ เมื่อส่งนักเรียนเข้าสอบและหลวงพ่อก็เข้าสอบนักธรรมเอกด้วย (ผลการสอบปรากฏว่าสอบนักธรรมเอกได้)
โดยเดินทางไปศึกษายังที่ต่างๆ เช่น ที่สำนักของหลวงพ่อเภา วัดเขาวงกฏ จ.ลพบุรี และพระอาจารย์ชาวกัมพูชาที่เป็นพระธุดงค์ซึ่งได้พบกันที่วัดเขาวงกฏ หลวงปู่กินรี อาจารย์คำดี หลวงปู่ทองรัตน์ พระอาจารย์มั่น เป็นต้น
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ ได้เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริตฺโต มีพระไปด้วยกัน ๔ รูป เดินทางถึงสำนักหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ใจความสั้นๆ ว่า “การประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าถือพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง” และท่านพระอาจารย์มั่นได้อธิบายเรื่อง พละ ๕ อิทธิบาท ๔ ให้ฟัง ในคืนที่ ๒ ท่านได้แสดงปกิณกธรรมต่างๆ จนจิตท่านคลายความสงสัย มีความรู้สึกลึกซึ้ง จิตหยั่งลงสู่สมาธิธรรม เกิดธรรมปีติประหนึ่งว่าตัวลอยอยู่บนอาสนะ นั่งฟังท่านพระอาจารย์มั่นอยู่จนเที่ยงคืน ท่านพักอยู่สำนักท่านพระอาจารย์มั่นได้ไม่นานนัก แต่เป็นที่พอใจในรสพระธรรมที่ได้ดื่มด่ำเป็นอย่างยิ่ง ท่านเทียบว่า “คนตาดีพบดวงไฟก็มองเห็นแสงสว่าง ส่วนคนตาบอดถึงจะนั่งเฝ้าดวงไฟ ก็ไม่เห็นอะไร”
หลังจากกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น และศรัทธาของท่านแกร่งกล้าขึ้นพร้อมที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความเพียร เพราะแนวทางปฏิบัติที่ต้องดำเนินก็ชัดเจนขึ้น จากนั้นท่านก็เดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนาตามป่าเขามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม มีความรู้สึกว่าท่านพระอาจารย์มั่น คอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่เสมอ การเดินธุดงค์แต่ละแห่งล้วนแต่เป็นสถานที่ทุกข์ยากลำบาก ต้องผจญภัยอันตรายต่างๆ บางครั้งท่านก็ได้รับทุกขเวทนาจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น ไข้ป่า มาลาเรีย นิ่งสมัยก่อนหยูกยารักษาโรคก็ไม่มี ต้องอาศัยธรรมโอสถช่วยเหลือตนเอง ยอมเป็นยอมตาย จนจิตใจของท่านกล้าแกร่ง จิตมีธรรมเป็นที่พึ่งเป็นลำดับ บางครั้งก็ติดปัญหาคาใจ มีอาการสะดุดในการเจริญสมาธิภาวนา
เวลานั้นท่านพาคณะลูกศิษย์เดินธุดงค์ไปทางอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ท่านจึงได้เดินทางขึ้นภูลังกาเพื่อกราบนมัสการท่านพระอาจารย์วัง หลังจากสนทนาแล้ว ท่านก็เกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น พักอยู่ภูลังกา ๓ วันจึงได้เดินทางลงมาถึงวัดแห่งหนึ่งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตก ได้หลบฝนเข้าไปนั่งใต้ถุนศาลา จิตกำลังพิจารณาธรรมะอยู่ ทันใดนั้นจิตก็ตั้งมั่นขึ้นแล้วเปลี่ยนไป มีความรู้สึกเหมือนอยู่คนละโลก ดูอะไรก็เปลี่ยนไปหมดเหมือนหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนแดดจ้าที่มีก้อนเมฆเคลื่อนมาบดบัง แสงแดดก็วาบหายไป เปลี่ยนขณะจิตไปวาบๆ ตั้งขึ้นมาก็เปลี่ยนวาบ เห็นขวด ก็ไม่ใช่ขวด ดูแล้วไม่เป็นอะไร เป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น ไม่ใช่ขวดแท้ ไม่ใช่กระโถนแท้ น้อมเข้ามาหาตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายไม่ใช่ของเรา มันล้วนแต่ของสมมุติ ด้วยอาการของจิตที่เกิดขึ้นนี้ท่านจึงสรุปว่า “ผมเห็นว่าพระอริยบุคคลกับคนบ้านี่ ดูไม่ออก คล้ายๆ กัน เพราะมันผิดปกติ อริยจิตนี้ ถ้ามันตกกระแสแล้ว ผมเห็นว่ากับคนบ้าแยกกันออกไม่ได้ง่ายๆ คล้ายกันแต่มีคุณธรรมต่างกัน”
ในเดือนมีนาคมปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ท่านเดินธุดงค์มาวิเวกที่ดงป่าพง เห็นเป็นที่สัปปายะธรรม ท่านจึงปักหลักและสร้างเป็น “วัดหนองป่าพง” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ได้ขยายขนาดใหญ่ขึ้น มีทั้งพระ แม่ชีและเหล่าญาติโยมทั้งหลายมาเข้ารับการฝึกอบรมและปฏิบัติธรรมกับท่านอยู่เป็นเนืองๆ ข้อวัตรปฏิบัติภายในวัดและหลักคำสอนของท่านยึดตามแนวทางสายวัดป่าที่มุ่งเน้นการดำเนินชีวิตแบบสมถะเรียบง่าย เคร่งครัดในการรักษาศีลและวินัย หมั่นเร่งความเพียรในการเจริญสมาธิและวิปัสสนาภาวนาเพื่อความสงบภายในจิตใจ โดยไม่ใส่ใจมากนักกับความรู้ในคัมภีร์ ถึงแม้ว่าข้อวัตรปฏิบัติตามแนวทางสายวัดป่านี้จะเป็นที่คุ้นเคยและยอมรับกันโดยทั่วไป วัดป่าต่างๆและครูบาอาจารย์แต่ละท่านก็มีอุบายการสอนและการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปบ้างตามจริตนิสัย สำหรับหลวงพ่อชานั้น ท่านมุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะและให้ความสำคัญกับสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของหนทางการปฏิบัติภาวนาเพื่อนำเข้าสู่กระแสนิพพาน
คุณลักษณะเด่นชัดของหลวงพ่อชาคือ การยึดถือหลักคุณธรรมและความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของหมู่คณะอย่างมั่นคง มีอารมณ์ขันและอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจต่อการปฏิบัติภาวนาในทุกขณะปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังสามารถถ่ายทอดสื่อสารธรรมะและมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาวิชาชีพได้อย่างเป็นกันเอง คำสอนของท่านมีความหมายลึกซึ้ง แต่สามารถเข้าใจได้ง่าย เน้นการปฏิบัติภาวนาในชีวิตประจำวัน ในช่วงเวลาที่ท่านยังดำรงชีพอยู่ ลูกศิษย์ลูกหาได้ริเริ่มและจัดตั้งวัดป่าสาขาในสายหลวงพ่อชาเป็นจำนวนมาก และถึงแม้ว่าท่านได้ละสังขารไปแล้วในปี พ.ศ. 2535 การจัดตั้งวัดป่าสาขาในสายหลวงพ่อชาก็ยังคงดำเนินสืบต่อมา ปัจจุบันมีวัดป่าสาขาในสายหลวงพ่อชาจำนวนมากกว่า 300 สาขาทั่วประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของสถานที่ตั้งวัดป่าสาขาต่างๆ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้นรายละเอียดของข้อวัตรปฏิบัติบางอย่างอาจได้รับการปรับเปลี่ยนโดยยังคงรักษาความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ความไม่ประมาทและเคร่งครัดในธรรมวินัย ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนและเอื้อต่อนักบวชและผู้ปฏิบัติธรรมที่พำนักอาศัยอยู่ในวัดสาขานั้นๆ ให้ยังคงสามารถดำรงชีพแบบสมถะ เอาใจใส่จดจ่อต่อการรักษาศีล เจริญสมาธิและวิปัสสนาภาวนา
ด้วยวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชา และธรรมเทศนาของท่านที่เผยแพร่ออกไป ทำให้ผู้ศรัทธาจำนวนมากฝากตัวลูกศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ หลายคนที่เข้ามาขอบรรพชา/อุปสมบทกับท่าน ทำให้วัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชามี “พระอินเตอร์” จากสหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สวีเดน, อิสราเอล, ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งสร้างความสงสัยให้กับญาติโยมว่าหลวงปู่ชาสอนพระเหล่านี้อย่างไร ในเมื่อท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ขณะที่พระเหล่านั้นก็ไม่รู้ภาษาไทย หลวงปู่ชาท่านก็ตอบว่า “น้ำร้อนก็มี น้ำฮ้อนก็มี ฮอทวอเตอร์ก็มี มันเป็นแต่ชื่อหรอก ถ้าเอามือจุ่มลงไปก็ไม่ต้องใช้ภาษาหรอก คนชาติไหนก็รู้ได้เอง”
ในช่วงบั้นปลายท้ายชีวิต ท่านได้เริ่มอาพาธ เป็นมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ และอาการทรุดลงเรื่อยมา แต่ท่านก็ได้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ก่อนที่ท่านจะเริ่มอาพาธหนัก ท่านได้ปรารภกับลูกศิษย์ไว้เสมอว่า “ผมไม่มีอะไร ไม่ต้องเป็นห่วง ผมไม่มีอะไร”
หลังจากนั้นท่านได้อาพาธจากโรคหลายอย่างจนส่งผลให้ท่านต้องได้รับการผ่าตัดรักษาตัวเมื่อปี ๒๕๒๔ แต่อาการโดยรวมไม่ดีขึ้น ต่อมาอาการได้ทรุดลงจนทำให้ท่านไม่สามารถพูดและเคลื่อนไหวร่างกายได้เอง และสุดท้ายในช่วงเดือนมกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ ท่านได้อาพาธหนักจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแต่อาการไม่ดีขึ้น ทางคณะสงฆ์จึงได้นิมนต์ท่านกลับมาที่วัด และในเช้าวันที่ ๑๖ มกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ เวลา ๐๕.๒๐ นาฬิกา ท่านก็ได้ละสังขารเข้าสู่แดนอนุปาทิเสสนิพพาน ณ วัดหนองป่าพง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ สิริอายุได้ ๗๔ ปี ๕ เดือน ๑ วัน ๕๒ พรรษา เหลือไว้แต่คุณงามความดีและคำสั่งสอนทั้งหลายให้เหล่าศิษยานุศิษย์ได้ถือเป็นแบบอย่างและศึกษาปฏิบัติสืบต่อมาตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ยอดคําสอน เป็นคําสอน เป็นคติ เป็นปรัชญาสั้นๆ ที่คมลึกซึ้ง ใครได้ฟังแล้วจะเกิด ความรู้สึกซาบซึ้ง และบางครั้งอาจจะถึงกับอุทานออกมาว่า ท่านคิดและกลั่นกรองคําเหล่านี้ออกมาจากจิตได้อย่างไร ถ้าจิตนั้นไม่บริสุทธิ์แจ่มใสเยี่ยงผู้บรรลุธรรม ขอท่านได้สังเกตคําสอนต่อไปนี้
ธรรมดาๆ ตามความเป็นจริงแล้ว โลกที่เราอยู่นี้ไม่มีอะไรทําไมใครเลย ไม่มีอะไรจะเป็นที่วิตกวิจารณ์เลย ไม่มีอะไรที่น่าจะร้องไห้หรือหัวเราะ เพราะมันเป็นเรื่องอย่างนั้นธรรมดาๆ แต่เราพูดธรรมดาได้ แต่มองไม่เห็นธรรมดา แต่ถ้าเรารู้ธรรมะสม่ำเสมอ ไม่มีอะไรเป็นอะไรแล้ว มันเกิดมันดับของมันอยู่อย่างนั้น เราก็สงบ
การปฏิบัติคืออํานาจ พระพุทธศาสนาไม่มีอํานาจอะไรเลย แม้นก้อนทองคําก็ไม่มีราคา ถ้าเราไม่มารวมกันว่ามันเป็นโลหะที่ดีมีราคา ทองคํามันก็ถูกทิ้งเหมือนก้อนตะกั่วเท่านั้นแหละ พระพุทธศาสนาตั้งไว้มีอยู่ แต่ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ จะไปมีอํานาจอะไรเล่า อย่างธรรมะเรื่องขันติมีอยู่ แต่เราไม่อดทนกัน
มันจะมีอํานาจอะไรใหม? ชนะตนเอง ถ้าเราเอาชนะตัวเอง มันก็จะชนะทั้งตัวเองชนะทั้งคนอื่น ชนะทั้งอารมณ์ ชนะทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐพพะ เป็นอันว่าชนะทั้งหมด
สุขทุกข์ คนที่ไม่รู้จักสุข ไม่รู้จักทุกข์นั้น ก็จะเห็นว่า สุขกับทุกข์นั้นมันคนละระดับ มันคนละราคากัน ถ้าผู้รู้ทั้งหลายแล้ว ท่าน จะเห็นว่า สุขเวทนา กับทุกขเวทนา มันมีราคาเท่าๆ กัน
เกิดตาย เมื่อเราเกิดมาแล้วโยม ก็คือเราตายแล้วนั่นเอง ความแก่กับความตายมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ เหมือนกับต้นไม้ อันหนึ่งต้น อันหนึ่งปลาย เมื่อมีโคนมันก็มีปลาย เมื่อมีปลายมันก็มีโคน ไม่มีโคนปลายก็ไม่มี มีปลายก็ต้องมีโคน มีแต่ปลายโคนไม่มีก็ไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น
ไม่กลัวตาย กลัวอะไร ? กลัวตาย ความตายมันอยู่ที่ไหน ? อยู่ที่ตัวเราเองจะหนีพ้นมันได้ไหม ? ไม่พ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในที่ มืด หรือในที่แจ้ง ก็ตายทั้งนั้น หนีไม่พ้นเลย จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่มีทางพ้น เมื่อรู้อย่างนี้ ความกลัวไม่รู้หายไปไหน เลยหยุดกลัว เหมือนกับที่เราออกจากที่มืดมาสู่ที่สว่างนั่นแหละ
งูเห่า อารมณ์นี้ก็เหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมากอารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก มันทําให้จิตใจของเราไม่เป็นเสรี ทําให้จิตใจไขว้เขวจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
ของจริง ธรรมของจริงของแท้ที่ทําให้บุคคลเป็นอริยะได้ มิใช่เพียงศึกษาตามตํารา และนึกคิดคาดคะเนเอาเท่านั้น แต่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นจริงๆ ของจริงจึงจะเป็นของจริงขึ้นมาได้
ได้เสีย ทุกอย่างที่เรามีอยู่เป็นอยู่นั้น มันเป็นสักแต่ว่า “อาศัย” เท่านั้น ถ้ารู้ได้เช่นนี้ ท่านว่ารู้เท่าตามสังขาร ที่นี้แม้นจะมีอะไรอยู่ก็เหมือนไม่มี ได้ก็เหมือนเสีย เสียก็เหมือนได้
พิการ เด็กทั้ง 2 พิการ เดินทางได้ จะเข้ารกเข้าป่าก็รู้ แต่เราพิการใจ (ใจมีกิเลส) จะพาเข้ารกเข้าป่าหรือเปล่า คนพิการกายอย่างเด็กนี้ มิได้เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่ถ้าคนพิการใจมากๆ ย่อมสร้างความวุ่นวายยุ่งยากแก่มนุษย์และสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อนมากทีเดียว
คนดีอยู่ไหน คนดีอยู่ที่เรานี่แหละ ถ้าเราไม่ดีแล้วเราจะอยู่ที่ไหนกับใครมันก็ไม่ดีทั้งนั้น
ชีวิต เมื่อเราทอดอาลัยในชีวิต วางมันเสีย ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ก็ทําให้เราเกิดความสบาย และเบาใจจริงๆ
นั่งที่ไหนดี จะนั่งหัวแถวหรือหางแถวก็ไม่แปลกเหมือนเพชรนิลจินดาจะวางไว้ที่ไหนก็มีราคาเท่าเดิม และจะได้เป็นการลดทิฐิมานะให้น้อยลงไปด้วย
มนุษยศาสตร์ มนุษยศาสตร์ทั้งหลาย มีแต่ศาสตร์ที่ไม่มีคมทั้งนั้น ไม่สามารถจะตัดทุกข์ได้ มีแต่ก่อให้เกิดทุกข์ ศาสตร์เหล่านั้น ถ้าไม่มาขึ้นกับพุทธศาสตร์แล้ว มันจะไปไม่รอดทั้งนั้น
มรรคผล มรรคผลยังไม่พ้นสมัย คนโง่เท่านั้นที่ปฏิเสธว่า ในพื้นดินไม่มีน้ำแล้วไม่ยอมขุดบ่อ
ไม้คดคนงอ ต้นไม้เถาวัลย์ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร คนคดคนงอนั้น ร้ายนักเป็นพิษเป็นภัยทั้งอยู่บ้านและอยู่วัด
หลง คนหลงโลกคือคนหลงอารมณ์ คนหลงอารมณ์คือคนหลงโลก
นักปฏิบัติ กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย คือนักปฏิบัติ กินมาก นอนมาก พูดมาก คือ คนโง่
สอนอย่างไร ทําตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นที่หลัง จึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรก
ที่รวมสมาธิ เมื่อนั่งหลับตาให้ยกความรู้สึกขึ้นเฉพาะลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นประธาน น้อมความรู้สึกตามลมหายใจ เราจึงจะรู้ว่าสติมันรวมอยู่ตรงนี้ ความรู้มันจะมารวมอยู่ตรงนี้
เราดูตัวอย่างแบบอย่างประเทศไทยของเรานี้ ถือว่าปัจจุบันเป็นประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ทางทะเบียนสำมะโนครัวไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซนต์ แต่ไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ เรียกว่าไม่มีศีล ก็เปรียบเสมือนคนจนไม่มีทุนทรัพย์ ไม่มีเครื่องจักรกล ที่จะไปดำเนินงาน หรือดำเนินชีวิต มีแต่แบรนด์เนม มีแต่สำมะโนครัว ชีวิตก็เป็นชีวิตที่ยากจน เราเห็นมั้ยไก่ทั้งหลายทั้งปวง พวกไก่ พวกเป็ด มันเห็นพลอย เห็นเพชรอะไรนี้ กองเท่าภูเขามันก็ไม่สนใจหรอก เพราะมันไม่รู้คุณค่าของเพชร ของพลอย ที่มีคุณค่า มันก็สนใจตั้งแต่ข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือว่าอาหารของเป็ด ของไก่ คนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ คือคนไม่รู้อริยสัจ 4 นี้ก็ไม่รู้จักคุณค่าของสัมมาสมาธิ หรือว่าคุณค่าของศีลเลย ทั้งที่พวกเพชร พวกพลอย เม็ดขนาดนิ้วมืออย่างนี้ขายได้เป็นล้าน เอาไปซื้อข้าวเปลือก ข้าวสาร ไก่กินหลายหมื่น หลายแสน หลายล้านตัวก็จะสบายไป พวกหมู่มวลมนุษย์ที่ยังไม่มีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ก็พากันคิดอย่างนี้ก็พอๆ กับพวกเป็ด พวกไก่นี้แหละ พวกประชาชนนี้ไม่รู้เลยว่าของประเสริฐคือสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่น ไม่ไปตั้งมั่นในศีล ในธรรม ในคุณธรรม มันจะเกิดมาก็เสียชาติเกิดนะ ระเหเร่ร่อน จากประเทศลาวมาทำงานประเทศไทย จากประเทศไทยไปเมืองฝรั่ง เมืองเกาหลี มันไม่เข้าหาเศรฐกิจพอเพียง พัฒนาจิตใจ พัฒนาเทคโนโลยีที่ตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าของศีลเลย
ทุกๆ คนส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน ตั้งอยู่ในความประมาท และเป็นผู้ลูบคลำในความดี ในความประพฤติ ข้อวัตร ข้อปฏิบัติ ข้อวัตรข้อปฏิบัติที่ประเสริฐ ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ทุกท่านทุกคนนั้นประมาทนะ ถือว่าตัวเองเป็นคนก๋า คนกร่างนะ เราจะเสียโอกาส เสียเวลา ให้พากันหยุดก๋า หยุดกร่าง เพราะความแก่ ความเจ็บ ความตาย ย่อมมีแก่เราเต็ม 100% มนุษย์ส่วนใหญ่ก็ย่อมตกไปสู่อบายมุข อบายภูมิ เทวดาส่วนใหญ่ก็ย่อมตกไปสู่อบายมุข อบายภูมิ เรามีความประมาท ความเพลิดเพลิน ตั้งแต่เด็ก จนคนบางคนก็อายุเข้าสู่วัยชรา และก็ยังพากันไม่รู้ตัวนะ บางคนก็มีความคิดเห็นผิดว่า เรื่องการประพฤติการปฏิบัติ มันต้องเป็นผู้ชายออกบวช เป็นผู้หญิงนี่ไม่มีโอกาส ไม่เกี่ยวกับผู้หญิงผู้ชาย ไม่เกี่ยวกับผู้บวช ผู้ไม่บวช
ผู้ได้บวชก็ไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม บางทีพระวัดบ้านก็พากันเข้าใจผิดว่า ตัวเองไม่ได้เป็นพระวัดป่า ไม่ได้เป็นพระปฏิบัติก็ไม่พากันปฏิบัติ และก็พากันถือเบรนด์เนมโกนหัว ห่มผ้าเหลืองเฉยๆ ก็มีชีวิตเยี่ยงอย่างฆราวาส ยังเอาเงินเอาสตางค์ ยังดูหนังฟังเพลง อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำความเสียหาย ถ้าเราเข้าใจแล้วทุกคนก็ปฏิบัติได้พอๆ กันหมด ไม่เกี่ยวกับผู้หญิง ไม่เกี่ยวกับผู้ชาย ไม่เกี่ยวกับวัดบ้านวัดป่า แม้เราไม่ได้เป็นศาสนาพุทธเราก็ปฏิบัติได้พอๆ กัน ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันก็เหมือนกันหมด ชีวิตของเรามันก็จะเป็นชีวิตที่ดี ชีวิตที่ฉลาด พร้อมด้วยวิชชา ความรู้ และก็การประพฤติ การปฏิบัติ
ทุกคนต้องรู้เป้าหมายแห่งชีวิต รับผิดชอบในความประพฤติ ในการปฏิบัติของตัวเอง ให้เกิดเป็นศีล ได้แก่ศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ทุกคนต้องจะได้รู้จักของดี ของดีแท้ ดีจริง ไม่ใช่ดำๆ ด่างๆ ถ้าเราไม่เอามรรคผลพระนิพพาน เราก็มีตำแหน่งเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน เปรต ยัก มาร อสูรกาย เป็นชีวิตที่เสียหาย เป็นโมฆะบุรุษ เป็นโมฆะสตรี เกิดมาเพื่อมาเป็นขยะ ทำความเดือดร้อยให้ตัวเองยังไม่พอ ทำความเดือดร้อนให้ส่วนรวม เราต้องตามพระพุทธเจ้าอย่าพากันหลง ความหลงเค้าเรียกว่ามันเป็นการไคล์เม็ก climax สำหรับผู้มีอวิชชา มีความหลง หลงในรูป ในเสียง ในลาภ ในยศ ในความสะดวก ความสบาย นั้นคือความสุดยอดแห่งความหลง และพากันมาบริโภคอย่างเต็มเหนี่ยว เต็มกำลัง มันเป็นความสุขอย่างโง่ๆ มันเป็นความสุขจากความหลง เลยทำอะไรตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง มันไม่ใช่คนฉลาด เป็นคนที่เกิดมาเพื่อพัฒนาความโง่ ความมืด ความบอด ความเซ่อ ความเบลอ มันไม่สมกับเป็นมนุษย์ผู้ผูกเนคไท ผู้ใส่สูท ผู้ทรงเกียรติ ถ้าเราพากันหลง ความหลงเหล่านั้นก็อยู่บนความทุกข์ของคนอื่นทั้งนั้นส่วนใหญ่ ทรัพยากรที่เราได้มา