แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๗๒ สมาธิความสงบเป็นบ้านของใจ เพื่อสงบความวุ่นวายความปรุงแต่ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สมาธิมีความสำคัญต่อการงานทุกชนิดและเป็นที่อยู่อันสงบสุขของใจ ไม่มีที่ใดจะให้ความสงบสุขแก่ดวงจิตอันไม่มีโทษเท่ากับสมาธิ คนทำงานถ้าทำด้วยใจที่เป็นสมาธิก็เหนื่อยน้อย และได้ผลมาก มีความเพลิดเพลินและความสุขในงานเป็นอย่างดี ตรงกันข้ามกับความฟุ้งซ่าน ซึ่งทำให้เหนื่อยหน่ายได้งานน้อย
สมาธิเป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จทุกอย่าง แต่คนส่วนมากพอได้ยินคำว่า สมาธิ ใจก็นึกไปถึง ฌาน วิปัสสนาชั้นสูง ซึ่งเห็นว่าสูงเกินไปสำหรับตน ตนทำไม่ได้ ไม่มีเวลาทำ ขัดกับการงานและเวลาประกอบอาชีพ ความจริงแล้ว สมาธิต้องใช้ในการงานทุกอย่าง ไม่ว่างานสูงต่ำอย่างไร จะต่างกันก็แต่ว่า จะต้องใช้สมาธิสูงต่ำเพียงใด คนจะเขียนหนังสือ ถ้าใจไม่เป็นสมาธิ คอยแต่วอกแวกอยู่แล้วก็เขียนไม่ได้ ถ้าขืนเขียนไปเพราะจำเป็นก็ผิดมาก อย่าว่าแต่เขียนหน้าหนึ่งเลย แม้เขียนเพียงบรรทัดเดียวก็ให้สมบูรณ์ได้ยาก งานศิลปะ วิทยาศาสตร์ กรรมกร ครู ฯลฯ ล้วนต้องใช้สมาธิในการทำทั้งนั้น
สมาธิ ตามตัวอักษร แปลว่า ความตั้งมั่น หมายถึงความตั้งมั่นแห่งจิต มีความมั่นคง เสาเรือนที่ปีกลงมั่นย่อมรับน้ำหนักได้ดี ไม่โยกคลอนฉันใด ดวงจิตที่มั่นคงด้วยกำลังสมาธิก็ฉันนั้น ย่อมไม่หวั่นไหว แม้มีอารมณ์ภายนอกมากระทบ ก็รักษาปกติภาพของดวงจิตไว้ได้ ดวงจิตอย่างนี้มีคุณค่ามาก
คุณของสมาธิ สมาธิ มีคุณเอนกอนันต์สุดจะพรรณนาได้ เรียกว่ามีคุณเป็นอุปการะในการงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานหยาบ หรืองานละเอียด งานทางโลกหรือทางธรรม คนมีสมาธิดีย่อมสามารถทำงานให้สำเร็จได้ดีกว่าคนสมาธิไม่ดี ในกรณีที่มีสติปัญญา และความสามารถเหนือกว่าอยู่แล้ว ถ้าเขามีสมาธิดีด้วย ย่อมสามารถก้าวล้ำหน้าผู้อื่นในการงาน
สัมมาสมาธิ มีคุณานิสงส์เป็นเอนกดังพรรณนา ผู้ใคร่ความสุข สงบ จึงควรอบรมสัมมาสมาธิให้เกิดในใจของตน เพราะสัมมาสมาธิ เป็นเรือนพักอันวิเศษสุดของดวงจิต แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ก็ทรงอาศัย และอาศัยเรือนพักคือสมาธินี้เนืองๆ คราวใดที่ท่านต้องการพักผ่อน ท่านก็พักผ่อนในสมาธินี้ สมาธิจึงเป็นองค์สำคัญสุดท้ายของอริยมรรคมีองค์ ๘
พระใหม่บอกหลวงพ่อว่าให้พูดเรื่องการทำสมาธิให้เข้าใจหน่อย เพราะว่านั่งสมาธิ ใจไม่สงบเลย นั่งครึ่งชั่วโมง จะสงบ 5 นาที ก็ยาก การทำสมาธินั้นให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ พากันเข้าใจง่ายๆ สมาธินั้นคือใจอยู่กับงาน กับงานที่เรากำลังทำ เราทำอะไรก็ให้ใจของเราอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เช่นเรานั่งสมาธินี้ ก็ขาขวาทับขาซ้าย ถ้าไม่ขาขวาทับ ขาซ้ายก็ได้ ก็เอาขานั่งเรียงกันก็ได้อย่างนี้เป็นต้น หรือจะนั่งพับเพียบก็ได้ หรือจะนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ แล้วก็หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้าชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ว่าเราหายใจออกชัดเจน หายใจเข้าก็ให้เรารู้ หายใจออกก็ให้เรารู้ หายใจเข้าก็ให้สบาย หายใจออกก็ให้สบาย ให้เราทำงานอยู่กับการหายใจเข้า หายใจออกให้เราทำงานกับหายใจออก เหมือนเราจะทำเกษตรที่จะปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา ทำสวน เค้าก็ต้องเอาต้นไม้ออกหมด เอาหญ้าออกหมด ไถดิน อย่างนี้เป็นต้น เรานั่งสมาธิก็เหมือนกัน ให้เราหายใจเข้าก็ให้เรารู้ชัดเจนไปเลย หายใจออกก็รู้ชัดเจนไปเลย เราอย่าพึ่งไปนั่งนิ่งๆ รู้ลมเข้า รู้ลมออกอย่างนี้ เดี๋ยวมันจะอึดอัด ให้เราหายใจก็รู้ชัดเจนเลย หายใจออกก็รู้ชัดเจน เราทำอย่างนี้แหละ ทำจนใจของเรามันหน่าย มันไม่อยากทำแล้วเราก็ค่อยนั่งรู้ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ ถ้าทำอย่างนี้ มันถึงจะไม่อึดอัด ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ ถ้าเราทำไปสักพักหนึ่ง จิตใจมันฟุ้งซ่าน จะไปเที่ยวที่อื่นอีก เราก็ถึงค่อยมาหายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ทำอย่างนี้ อันนี้เป็นหลักการของการนั่งสมาธิ หรือเราจะท่องในใจก็ได้ หายใจเข้าก็ท่องว่าพุท หายใจออกก็ท่องว่าโธ พุทโธ ท่องตามลม หรือเราไม่กำหนดลมก็ได้ เราท่องพุทโธๆ เอาก็ได้อย่างนี้
สำนักแต่ละสำนักเค้าก็สอนไม่เหมือนกัน อย่างทางสายพม่ามหาสีสยาดอ เค้าก็สอนดูท้องพอง ท้องยุบ อย่างสายธรรมกายอย่างนี้เค้าก็สอนสัมมาอรหัง แต่จะสายไหนก็คือทำให้ใจของเราสงบ ทำให้ใจของเราเป็นหนึ่ง ทำให้ใจของเราเป็นสมาธิ พระพุทธเจ้าสอนให้เจริญอานาปานสติ ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ ลมเข้ายาวก็รู้ ลมออกยาวก็รู้ นี้เป็นหลักการที่ให้ใจของเราเป็นสมาธิ หลักการที่ให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว การทำสมาธินี้ไม่เฉพาะเวลาอิริยาบถนั่ง อิริยาบถยืนก็ได้ เราเดินอย่างนี้ก็หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ต้องฝึกบ่อยๆ ถ้าได้ทุกอิริยาบถก็ยิ่งดี เราจะได้ปฏิบัติ ติดต่อต่อเนืองกัน เราทำสมาธิเราก็ให้เข้าใจนะ เราทำเพื่อให้มันเป็นสมาธิ ให้ใจเป็นหนึ่ง ไม้่ใช่เราจะไปเอาอะไร เราให้ใจของเราสงบ ให้ใจของเราเป็นหนึ่ง ถ้าเราจะเอาอย่างนั้น เอาอย่างนี้ เอาสงบ มันจะไม่สงบ เราทำงานก็ทำสมาธิได้ อันนี้เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่าสัมมาสมาธิ ต้องฝึก ถ้าเราไม่ฝึกมันไม่เป็น ถ้าเราเป็นมันง่าย ใหม่ๆ ก็ผิดๆ ถูกๆ ถ้าจะให้ขึ้นสู่วิปัสสนาก็กำหนดที่ลม ลมหายใจเข้ามันก็ไม่เที่ยง ลมหายใจออกมันก็ไม่เที่ยง ลมหายใจเข้าก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ลมหายใจออก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราก็ขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ แต่อย่าพึ่งเอาพระไตรลักษณ์ เอาความสงบนี้ก่อน ต้องฝึกนะ ถ้าไม่ฝึกไม่ได้ ไม่เป็นหรอก ต้องอาศัยการฝึก การหัดปฏิบัติ เราทำจนมันเป็นธรรมชาติไป ความเพียรก็เป็นธรรมชาติ ความอดทนก็เป็นธรรมชาติ
สมาธิเค้าเรียกว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะคนเราความไม่มีทุกข์มันอยู่ที่ใจสงบ ทุกคนต้องรู้หลักการ อย่างที่เราไม่พากันเป็นโรคจิตโรคประสาท เพราะเรามีสมาธิ แต่ละคนพอสมควร อย่างเราทำงานถ้าเรามีความสุขในการทำงาน แต่ละวันๆ มันจะผ่านไปเร็ว สมาธิก็เปรียบเหมือนแอร์คอนดิชั่น เปรียบเสมือนความอบอุ่น คนเราถ้าใจสงบแล้ว มันถึงติดอยู่ในความสุข ติดในความสงบ บางทีพวกฤาษี ชีไพร ก็พากันมาหลงความสงบ คนเราต้องละอดีตออกหมด อนาคตเราก็ไม่ต้องพะวง ต้องอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เราต้องมีความสุขในการทำงาน เราไม่เข้าใจหลักการ เราตามอารมณ์ ตามความติดไปไม่ได้ เราทุกคนต้องสนใจเรื่องสมาธิ ถ้าใครมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เค้าจะมีความสุขในการเรียนหนังสือ มีความสุขในการทำงาน โอ๋...ชีวิตนี้ไม่มีคำว่ายากจนหรอก หายใจเข้าก็สบาย ชัดเจน พักผ่อนอย่างนี้ หายใจออกก็สบาย มันจะพักผ่อนอยู่ในตัว ต้องจับหลักให้ได้ ต้องอาศัยการทำบ่อยๆ ชำนิชำนาญ ต้องฝึกทุกอิริยาบถ คนเราต้องรู้จักว่า เพราะเรามันเกิดมามันหลงในเหยื่อของโลก ตามความคิด ตามอารมณ์ อย่าไปตามอารมณ์ อย่าตามความคิดไป ต้องพากันฝึกสมาธิ ต้องทำติดต่อต่อเนื่องกัน เสียเวลาไม่ได้ เราต้องตั้งใจ จิตใจสงบ จิตใจเป็นหนึ่ง จิตใจถึงมีพลัง มีกำลัง สมาธิเค้าถึงไปใช้ทางอภินิหารก็ได้ แต่ศาสนาพุทธนี้ไม่สนใจหรอกเรื่องอภินิหาร เพราะว่าถ้าเราไปติด ไปหลงมันก็เสื่อม ถ้าเราทำได้ทำเข้าที่ ทีนี้มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติเลย เจอรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ มันจะมารู้ มันจะมาหายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน เพราะจะหาวิธีเอาตัวรอด เหมือนเต่ามันเจอเหยี่ยวมันจะเข้า สมาธิถึงเป็นบ้านของใจ
อานาปานสติ เป็นอุปกรณ์เป็นเครื่องมือที่จะตัดกรรม เป็นเครื่องอยู่ เป็นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ปลอดภัยของใจ ทุกท่านทุกคนต้องกลับมาหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข เราทำได้ทุกเมื่อทุกเวลาทุกๆ อิริยาบถ นี่เป็นหน้าที่ เป็นการงานเรียกว่าทำพระกรรมฐาน ฐานที่ตั้งของจิตของใจ กรรมฐานมี ๒ อย่างคือ สมถกรรมฐานอย่างหนึ่ง วิปัสสนากรรมฐานอย่างหนึ่ง กรรมฐานของเมืองไทยสายหลวงปู่มั่นบริกรรมพุทโธ กำกับลมหายใจ ให้ใจอยู่กับพุทโธ ใช้คำบริกรรมเข้าช่วย เพื่อให้จิตจดจ่อๆ เนื่องกับลมหายใจมากขึ้น เวลาเราไปทำงาน ให้เรามีความสุขในการทำงาน มีความสุขมีความขยันอดทนรับผิดชอบ ทำไมถึงมีความสุข? เพราะเราได้ละความเห็นแก่ตัว ความขี้เกียจขี้คร้าน เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พัฒนาตนเอง ให้มีอยู่มีกินมีใช้พร้อมกับมีความสุขในการเสียสละไปพร้อมๆ กัน เพื่อเราจะได้พัฒนาทั้งกายทั้งวาจาทั้งจิตใจไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าทางสายกลาง
เรื่องคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่น ถ้าเรามัวแต่คิดเรื่องคนอื่น ใจของเราก็จะไม่วิเวก ใจของเราจะไม่เข้าถึงอุปธิวิเวก เราน่ะเป็นคนไม่ฉลาดเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมาใส่ใจเราเอง เรื่องคนอื่นก็เป็นเรื่องคนอื่น พระพุทธเจ้าที่ไม่ให้เราไปมองดี มองชั่ว มองผิด มองถูก ของคนอื่น มันบาป มันผิดศีล ผิดพระวินัย ใจมันเศร้าหมอง ต้องมาเน้นที่จิตใจของเราให้มีความสุขความสงบ ด้วยการเสียสละ ด้วยการปล่อยวาง ฝึกไว้ปฏิบัติไว้ อานาปานสติ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย หายใจเข้าหายใจออกมีความสุข ทุกอิริยาบถ
เราฝึกไว้ปฏิบัติไว้ เพราะเราจะไม่ไปอยู่กับสิ่งภายนอกถ้าไม่จำเป็น เพราะเรามีเครื่องอยู่ เมื่อเราอายุมากขึ้น เมื่อเราแก่เมื่อเราป่วย จะไปอยู่กับสิ่งภายนอกไม่ได้หรอก เราต้องมาอยู่กับตัวผู้รู้ ผู้ดูอยู่กับอานาปานสตินี่แหละ ทำให้คุ้นเคย ทำให้ฉันนิชำนาญในอานาปานสติ มันเป็นการทำงานแบบคนมีปัญญา คนไม่มีปัญญาทำงานอย่างนี้ไม่ได้ ทำได้แต่งานหยาบๆ งานภายนอก งานไปแก้ไขภายนอก แก้ไขภายนอกก็ได้ไม่ดีเท่าไหร่หรอก แม้แต่ตัวเองก็ยังแก้ไขยังไม่ได้ แล้วจะไปแก้งานภายนอกให้สมบูรณ์ได้อย่างไร ตัวเองก็ยังยากจนอยู่จะเอาอะไรไปให้เขา ทุกคนจึงต้องมาเจริญอานาปานสติ หายใจเข้าหายใจออกสบาย หายใจเข้าหายใจออกมีความสุข เป็นอันเดียวกันกับพุทโธๆ เป็นอันเดียวกันกับพองหนอยุบหนอ เราก็กลับมา เวลาเราไปทำการทำงาน ไปเจรจา ไปวางแผนอะไร เราก็มีความสุขในการเสียสละอย่างนี้แหละ ให้เป็นไปในแนวเดียวกันสอดคล้องกัน ด้วยเอาธรรมเป็นหลัก ธรรมเป็นใหญ่ ด้วยความเสียสละ
อานาปานสติทุกคนต้องมี หายใจเข้ามีความสุขหายใจออกมีความสุข หายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย ต้องทำไปอย่างนี้เรื่อยๆ พระสงฆ์องคเจ้าก็อยู่กับอานาปานสติ พระอรหันต์ท่านก็อยู่กับอานาปานสติ รู้จักความคิดรู้จักความปรุงแต่ง ไม่ไปวุ่นวาย มันก็สงบ มันก็เย็น มันเป็นไปไม่ได้ อยากรวยก็ไม่รวย อยากจนก็ไม่จน มันก็เท่าเก่า อยากเหาะได้มันก็ไม่ได้ อยากให้ช้ามันก็ไม่ช้า อยากให้เร็วมันก็ไม่เร็ว ความอยากมันกดดันเรา เกิดเป็นความปรุงแต่ง อย่างนี้นะ เราต้องรู้จักความปรุงแต่ง อย่างที่ท่านถามกันว่า นิพพานเป็นยังไง นิพพานก็รู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด ไม่วุ่นวายไม่ปรุงแต่ง อย่างนี้แหละ เราจะได้ตัดกรรมตัดเวรตัดภัย ให้เข้าใจอย่างนี้ ถ้ารู้จักความคิด รู้จักความปรุงแต่ง ไม่วุ่นวาย ปัญหามันก็ไม่มี ก็มีแต่ความสุข มีแต่ความเสียสละ ต้องพัฒนาไป ถ้าเราไม่เสียสละ มันก็เห็นแก่ตัว เหมือนคนเราน่ะ ไม่อยากแก่ มันก็เป็นทุกข์ ไม่อยากเจ็บก็เป็นทุกข์ ไม่อยากตายก็เป็นทุกข์ เพราะถึงจะอยากไม่อยาก มันก็เป็นความปรุงแต่งทั้งนั้น ต้องรู้จักอารมณ์รู้จักความคิด ชีวิตมันถึงจะมีความสุข เราต้องแก้ไขตัวเองใหม่ ให้ตัวเองเคารพกราบไหว้ตัวเองได้ มีศีล 5 เป็นหลัก ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ก็เป็นยานพาหนะให้ถึงนิพพาน เป็นกฏอิทัปปัจจยตาของพระนิพพาน ต้องรู้กระบวนการกระแสแห่งมรรคผลพระนิพพาน
เมื่อเรายังหายใจอยู่ ก็ย่อมทำได้ อย่าให้อำนาจของอวิชชาอยู่เหนือธรรมะ หายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย ถ้าเครียดก็ฟุ้งซ่านคิดมากไม่หยุด ก็กลั้นลมเลย เดี๋ยวมันกลับมาหาลมเอง เราหายใจเข้าออกสบาย ไม่ใช่ครั้งสองครั้งถึงจะสงบ ต้องทำบ่อยๆ ติดต่อกัน ยังเครียดอยู่ไม่ต้องไปดูลม หายใจเข้าออกสบายเลย ความเครียดก็จะดับลง เราต้องใช้หลักอานาปานสติ
เราก็ต้องเอาประพฤติเอามาปฏิบัติเพื่อให้มันติดต่อต่อเนื่อง สัมมาสมาธิมันไม่เฉพาะตอนที่ไปนั่งสมาธิเดินจงกรม อันนี้มันคือว่าเป็นสมาธิปกติ ยังไม่ใช่สัมมาสมาธิที่มันต้องหมุนกรงจักรไปข้างหน้าโดยที่ไม่ถอยหลัง เราจะปฏิบัติยังไงมันก็ไปไม่ได้ ถ้าเราไม่ละตัวละตนถ้าเราไม่ละกาม เพราะอย่างนี้แหละให้เข้าใจ เราทำถูกต้องตามหลักเหตุหลักผล เราก็ต้องย่อมเป็นคนรวย เมื่อเป็นคนรวยแล้วเราก็อย่าไปติดในความเป็นคนรวย เมื่อเราเป็นเทวดาอะไรอย่างนี้ มีความสุขมีความสะดวกสบาย มีลูกน้องบริวาร อย่างนี้เราก็ต้องไม่หลง ไม่เพลิดเพลิน เราต้องรวยอย่างสัมมาทิฏฐิ รวยอย่างฉลาด ไม่ใช่เอาแต่เชิงวัตถุ เวลาเรานั่งสมาธิก็คือนั่งสมาธิ ทำอานาปานสติ เราหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย อันนี้ก็คืออันเดียวกับพุทโธ อานาปานสติเราก็ต้องมีทุกเมื่อทุกเวลาทุกอิริยาบถ ไม่ได้ทำการทำงานก็ให้มันเป็นสัมมาสมาธิ เอาตั้งมั่นในธรรม เราจะได้ทั้งวัตถุเพื่ออำนวยความสะดวกความสบายแก่ร่างกาย แล้วก็ได้พระนิพพานไปพร้อมๆ กัน
เพราะเราผู้ที่บวชแล้วก็ยังไม่รู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ ยังไม่มีสัมมาทิฏฐิ ยังหลงในกาม หลงในวัตถุสิ่งของ ยังหลงในเงินในสตางค์ในสตรี ในลาภยศสรรเสริญ แม้แต่คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ที่เป็นประชาชนคนที่ยังไม่ได้บวชก็ต้องรู้จักว่าเรารวยมีสตางค์เราก็อย่าไปหลง เพราะว่ามันต้องมีสติ มันต้องมีปัญญา ลูกเราหลานเรา เราก็ต้องเป็นหลักเป็นตัวอย่างตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า เราต้องมีการกราบพระไหว้พระนั่งสมาธิในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เอาแต่ทางโลก เอาแต่ทางวัตถุอย่างเดียว เพราะว่าพ่อแม่ต้องให้ทรัพย์ให้อริยทรัพย์ทั้งวัตถุข้าวของเงินทอง แล้วก็ให้ทางคุณธรรมเรียกว่าภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ให้แก่ลูกให้แก่หลาน ให้ลูกหลานเรามีสัมมาทิฏฐิ เห็นไหมคนมันมีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นภายหลังฟังธรรม เหมือนลูกชายท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่จ้างไปฟังธรรม ที่รู้ธรรมแล้วก็ได้อริยธรรม แล้วก็ไม่คิดค่าจ้าง ลูกหลานคนรวยก็เหมือนกัน ถ้างั้นไม่ได้
บางทีเราก็ต้องอย่าไปใจอ่อน ในชีวิตประจำวันเรานะ เราต้องก้าวไปเรื่อยๆ เหมือนที่ว่าทำไมเป็นรวยแล้ว อะไรก็เพียบก็พร้อม ใจมันก็ยังไม่สงบ มันสงบไม่ได้ เพราะว่ามันมีกาม มีกามก็เพราะว่าความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก มันครอบงำอยู่แล้ว มีกาม ทำไมลูกเราหลานเรา บ้านเราก็เหมือนปราสาทราชวัง ทำไมลูกมันไม่อยากอยู่ ลูกสาวลูกชายหรือว่าหลานเรา ทำไมมันอยากไปอยู่คอนโด ทั้งที่ไปจากบ้านก็ยังไม่ไกลเท่าไหร่ ก็เพราะว่ามันขาดอย่างหนึ่งคือกาม เรื่องความเป็นคู่ เรื่องมีเพศสัมพันธ์
ผู้ที่มีคิดเหมือนกันก็พากันรู้ เราจะได้รู้จักกิเลสของตัวเองว่าอันนี้มันหลงแล้วนะ หลงประเด็นแล้วนะ เรารู้จักภาวนารู้จักมีสัมมาสมาธิ รู้จักหยุดจากกาม หลีกจากกาม คนเรามันคิดอย่างไง มันก็ไปอย่างนั้น เราต้องมีสัมมาสมาธิ อันนี้ไม่คิด ถ้าคิดมากๆ มันควบคุมระบบสมองสติปัญญาของตัวเองไม่ได้ เค้าเรียกควบคุมออกซิเจนในสมองไม่ได้ คิดหลายครั้งๆ มันก็เอาไม่อยู่ มันไปกดดันเราจึงต้องมีสัมมาสมาธิ มีความเห็นว่าเราต้องควบคุมตัวเอง คนเราจะผ่านไปได้ เราจะเรียนหนังสือได้ ป.1-2-3-4 มันไม่ใช่ง่าย มันจะมีภาคประพฤติภาคปฏิบัติที่จะผ่านมันไป ถ้าไม่ผ่านเลย มันไม่ได้ เพราะว่าความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพรากนี้ มันเอาข้อวัตรมาให้เราได้ประพฤติได้ปฏิบัติ สมาธิเราไม่ต้องไปสนใจว่าเราได้ชั้นนู้นชั้นนี้ชั้นอะไรหรอก เพราะว่าเราปฏิบัติเพื่อจะไม่มาเอา มามี มาเป็น มาได้ มาเสียอยู่แล้ว เรามีหน้าที่สัมมาสมาธิอย่างเดียว พวกท่านพากันทำไปแล้ว แล้วมันก็ค่อยๆ ดีเอง เหมือนผู้ที่ศีลทำไปตามระบบระเบียบอย่างนี้มันก็สงบไประดับหนึ่งแล้ว ถ้ามีสมาธิมีความตั้งมั่นเป็นปัจจุบันธรรมตลอด มันก็ติดต่อต่อเนื่องกันไปเหมือนลมหายใจ หายใจสม่ำเสมอ มันก็ไม่ตาย แล้วก็ยังมีปัญญามาเพิ่มอีก เพราะเราก็ต้องมีความเพียร เราก็ให้เข้าใจ ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาก็ต้องพากันทำอย่างนี้ ผู้ที่จะหยุดเวียนว่ายตายเกิดที่เป็นประชาชนก็ต้องพากันทำอย่างนี้ ไม่ว่าเราจะเป็นศาสนาพุทธหรือว่าศาสนาอื่นก็ต้องใช้หลักการอันเดียวกันนี้แหละ มันไม่ได้แยกกันหรอก
เราทุกคนทุกศาสนาต้องรักกันมากขึ้นอีก เราอย่าพากันไปหลงในสมาธิ (มิจฉาสมาธิ) หลงในอะไรต่างๆ เอาพวกนี้เป็นพระนิพพาน เอาอภินิหารต่างๆเป็นพระนิพพาน ไปหลงงมงายอยู่อย่างนั้น เรื่องกระดูกเป็นพระธาตุ เรื่องเทวดาอะไรทั้งหลายทั้งปวง อันนั้นไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ เราส่วนใหญ่ผู้ที่หวังผลประโยชน์ก็จะชอบโยงพวกนี้เพื่อหาเงินหาตังค์ ก็เลยมีพระธาตุเต็มไปหมด ทั้งของจริงของปลอม
เพราะว่าการปฏิบัติของเรานี้แหละ มันก็ไปอย่างนี้ๆ แหละ จะได้บรรลุธรรมมันต้องอยู่ที่ปัจจุบันนี้ ถ้าเราตายก่อน ร่างกายมันพุพังไปก่อน มันก็เหมือนกับซื้อรถคันใหม่ เหมือนเดินเรือข้ามมหาสมุทร เราก็ต้องไปต่อเครื่องบินอะไรอย่างนี้ เพื่อจะข้ามภูเขาข้ามทะเลทราย เราอย่าไปปล่อยศีลปล่อยสมาธิ อย่าไปปล่อยศีลข้อวัตรปฏิบัติ เค้าเรียกว่าสัมมาสมาธิ คนเรามันไปได้อย่างไรนะ คิดแล้วก็หัวจะระเบิด เพราะว่ามันไม่มีศีลไม่มีสมาธิ มันไม่มีสัมมาสมาธิ มันจะไปได้อย่างไร พระที่อยู่ในเมืองไทยหรือทุกๆ ประเทศต้องพากันเข้าใจใหม่ แล้วพระก็พากันเข้าใจนะ โยมก็พากันเข้าใจนะ พวกที่ยังมุ่งหวังผลประโยชน์อยู่อย่างนี้ พากันคิดนะ ส่วนใหญ่มันไม่อยากให้ประชาชนรู้ความจริง ถ้ารู้ความจริงแล้ว มันจะบอกเค้าให้ทานเพื่อให้เงินให้สตางค์อะไรไม่ได้ ส่วนใหญ่มันเป็นอย่างนั้น แม้แต่เทปธรรมมะที่กำลังบรรยายอยู่นี้ บางคนนะมันขวัญผวาไปหมด กลัวประชาชนที่จะรู้เรื่องพระพุทธเจ้าและเรื่องพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง เพราะมักจะบอกสอนนรกมืดหลังตายไปนู้น ท่านไม่ได้สอนว่านรกมันก็เริ่มจากปัจจุบันนี้ไป พวกนี้อยากจะตั้งสถานีวิทยุทั่วประเทศหลายร้อยแห่งอย่างนี้ ก็เพื่อหวังผลประโยชน์อย่างนั้นไม่ได้ ต้องเพื่อพระนิพพาน อย่าไปมีแต่รายการบริจาคนู้นบริจาคนี้ อย่างนี้มันขอของจากคนไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา ถึงแม้จะส่วนรวมมันก็ผิด เพราะว่าอันนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไม่ได้สอน อย่าไปกลัวอดตาย การบวชของเราถ้าเราปฏิบัติดีพ่อแม่ก็ได้บุญได้กุศล ญาติพี่น้องก็ได้บุญได้กุศล ประชาชนก็ได้บุญได้กุศล เพราะว่ามันมีพระนิพพาน มันมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสมาธิอย่างนี้มันเกี่ยวข้อง ข้องเกี่ยวกันไปหมด เราไม่ต้องกลัวอดตายหรอก เพราะว่าความเห็นแก่ตัวมันกลัวอดตาย ให้ญาติโยมประชาชนพากันฉลาด อย่าให้พระคุณเจ้าที่ไม่ได้มุ่งมรรคผลนิพพานหลอก เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าอย่าให้ใครหลอกได้ง่ายๆ
ทำไมสมัยพระพุทธเจ้า ถึงได้บุญเยอะพระอรหันต์ได้บุญเยอะ ก็เพราะว่าท่านไม่ได้เป็นบุคคล นิติบุคคล ท่านเป็นศาสนาเป็นพระศาสนา ถ้าให้กับบุคคลที่เป็นนิติบุคคล มันก็ได้บุญน้อย เพราะว่ามันยังเห็นแก่ตัวอยู่ ให้ทุกคนนะพากันเข้าใจศาสนา ว่าศาสนาไม่ใช่โบสถ์-วิหาร ไม่ใช่เจดีย์ ไม่ใช่ไปสร้างพระใหญ่ ไม่ใช่ญาติโยมไปคิดว่าทำอย่างนั้นคือทำบุญบำรุงพระพุทธศาสนา
การบำรุงพระพุทธศาสนามันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่าพวกนั้นมันไม่ใช่พระศาสนา เราจะได้เดินไปพร้อมๆ กัน ระหว่างพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ซิกข์ อะไรต่างๆ เพราะว่าเราเกิดมาเพื่อมารักกัน มาสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่สมควรที่จะโง่ไปนาน แตกแยกทะเลาะวิวาทกัน ต้องแก้ไขตัวเองก่อน เมื่อแก้ไขเราได้แล้ว มันถึงบอกคนอื่นได้ ทุกคนต้องทำได้ปฏิบัติได้ เพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธองค์ทรงปูทางไว้ให้เสร็จสรรพเรียบร้อย
สัมมาสมาธิ ความมั่นคงแห่งจิตอย่างถูกต้อง คือ มั่นคงหนักแน่นจนสามารถทำงานสอดประสานกับปัญญา ขจัดตัณหาได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที สัมมาสมาธิ ทาหน้าที่ปกป้องรักษาความบริสุทธิ์ของจิต ความมั่นคงของจิต และความอ่อนโยนยืดหยุ่นของจิต ที่พร้อมจะทำหน้าที่รับรู้ในเรื่องราวต่างๆ อย่างไม่หวั่นไหวเปรอะเปื้อน สัมมาสมาธิที่สูงสุดก็คือความสงบใจอยู่ในอารมณ์เดียวไม่หวั่นไหววอกแวกไป เพราะความพอใจหรือความไม่พอใจมากระทบ มีสติสัมปชัญญะทำงานร่วมกันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นความมั่นคงที่สมบูรณ์ สามารถเผชิญหน้าอารมณ์ได้ทุกชนิดแต่ไม่ติดอารมณ์ใดๆ เหมือนใบบัวสามารถอยู่ในน้ำ ก็ได้ บรรจุน้ำก็ได้ แต่น้ำไม่ซึมซาบ ไม่ติดใบบัว จิตของผู้ที่เห็นโทษของตัณหาแล้วหาหนทางออกจากตัณหาได้ด้วยการทำกาย วาจา และใจให้ถูกต้องด้วยการตัดรากถอนโคนมิให้ตัณหาเกิดอีก ความทุกข์จะเกิดอีกไม่ได้ ทางเส้นนี้เป็นอิสระจากบวกหรือลบหรือเรียกว่าทางสายกลางคือไม่ติดทั้งบวกและลบ ไม่ติดอยู่กับความพอใจหรือ ไม่พอใจ แต่หลุดพ้นไปจากขั้วทั้งสองดำรงมั่นอยู่ในความเป็นปกติมีพลังมั่นคง ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งตัณหาได้เพราะไม่มีเงื่อนไขใดๆ ให้ตัณหาเกิดได้
มัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติกลางๆ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป พอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความมีชีวิตที่ดีงาม อีกอย่างหนึ่งสายกลางนั้น มีความหมายว่า พอดีนั่นเอง ตรงกับที่เรานิยมใช้กันในปัจจุบันว่า ดุลยภาพ หรือสมดุล ในพระพุทธศาสนานั้นข้อปฏิบัติต่างๆ มักจะมีลักษณะอย่างนี้ คือมีความพอดีหรือความสมดุล ระบบที่กล่าวถึงข้างต้นซึ่งเป็นข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ข้อปฏิบัติที่พอดี ก็เป็นลักษณะที่มีดุลยภาพ หรือสมดุลอย่างหนึ่ง แต่เป็นความพอดีของระบบทั้งหมด หรือความพอดีในระบบรวม โดยทั่วไปจะเห็นว่าหลักธรรมพระพุทธศาสนาในทุกระดับมีเรื่องของความพอดีหรือความเป็นสายกลางนี้ ฉะนั้น ความเป็นสายกลาง คือความพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย ที่จะให้ตรงกับความจริง ไม่ให้ไปสุดโต่ง เอียงสุด ซึ่งจะพลาดจากตัวความจริงไปนั้น หลักการดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง เป็นหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เรียกว่า มรรค คือทางดำเนินชีวิตถือเป็นพรหมจริยะ คือเป็นจริยธรรมอันประเสริฐ รวมกันเป็นพรหมจริยะ คือ หลักการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ซึ่งได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการ รวมเป็นส่วนประกอบ ๓ ส่วน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถือได้ว่าเป็นมรรคในฐานะไตรสิกขา เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตตามแนววิถีพุทธ เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนให้ดำเนินตามมรรค คือวิถีอันประเสริฐในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ในที่สุดก็จะบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิตที่ดีงาม
การปฏิบัติธรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อความสิ้นทุกข์ตามแนวอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ จะต้องปฏิบัติไปพร้อมกันทุกข้อ ไม่ใช่ปฏิบัติไปทีละข้อ จะบกพร่องข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ อุปมาเหมือนคน ๘ คน ช่วยกันหามของหนัก ที่ ๘ คนพอยกไหว หากคนใดคนหนึ่งออกเสียขณะที่ยังหามของหนักอยู่ ของนั้นยังไม่ไปถึงปลายทาง อีก ๗ คน ก็หามไปไม่รอด ของนั้นก็จะไม่ถึงที่หมายตามกะเกณฑ์ไว้ ต่อเมื่ออีกคนหนึ่งที่หยุดไปนั้นเข้ามาช่วยหามต่ออย่างเต็มกำลังอีก การแบกหามสิ่งของนั้น ก็จะไปถึงที่หมายได้
หลักคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ย่อลงเป็นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา ต้องปฏิบัติควบกันไปทั้งสามอย่าง มุ่งสู่วิมุตติ ความหลุดพ้น ศีลเป็นคุณเครื่องทำลายกิเลสอย่างหยาบ สมาธิทำลายกิเลสอย่างกลาง ปัญญาทำลายกิเลสอย่างละเอียด เปรียบด้วยตัวบ้าน ศีล เปรียบเหมือนพื้นบ้านที่สะอาด สมาธิ เปรียบเหมือนฝาประตู และหลังคา ส่วนปัญญาเปรียบเหมือนแสงสว่างภายใน
บ้านที่ขาดเครื่องมุงบัง ไม่อาจป้องกันพายุฝน หรือลมแดดได้ ทำให้เจ้าของบ้านเดือดร้อนฉันใด ใจที่ไม่มีสมาธิ ย่อมไม่อาจองกันความเดือดร้อนเพราะพายุฝนลมแดด กล่าวคือ โลกธรรมอันซัดสาดเข้ามากระทบใจอยู่เสมอได้ โลกธรรมคือความสมหวังผิดหวังใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งมีปกติกระแทกกระทั้นดวงจิตของมนุษย์อยู่เสมอ ดวงจิตที่มีสมาธิเป็นเครื่องป้องกัน ย่อมเป็นเหมือนบ้านที่มีเครื่องมุงบังเรียบร้อย มิดชิดดี การเห็นตามความเป็นจริง ทำให้บุคคลหายหลง หายเมา หายยึดมั่น ถือมั่น เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความอยากอยู่อยากเป็น ความร่านในภพก็ไม่มี ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ดับไป ความระหกกระเหินในสังสารวัฏก็สิ้นสุดลง เป็นความปลอดโปร่งสุขใจอย่างยิ่ง