แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๗๑ พัฒนาวิทยาศาสตร์และพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน จึงจะเป็นทางสายกลาง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกคนพากันเข้าใจ เรื่องอริยสัจ ๔ คือเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราจะเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู สิกข์ ศาสนาต่างๆ ต้องพากันเข้าใจ เราจะเป็นนักบวชหรือจะไม่ใช่นักบวช ทุกคนก็ต้องปฏิบัติเหมือนๆ กัน รู้จักอบายมุข อบายภูมิ ทุกวันนี้ เราทุกคนไม่พากันรู้กันเลย พากันเอาแต่ความสุข ความดับทุกข์ทางกาย ไม่ได้เอาความสุข ความดับทุกข์ทางใจไปพร้อมๆ กัน ในตัวเรา ในครอบครัว ในหมู่บ้าน ในสังคมประเทศชาติ ถึงเต็มไปด้วยอบายมุข อบายภูมิ มีความเข้าใจผิด มีความเห็นผิด มันเลยไม่ได้แก้ปัญหา มีแต่สร้างปัญหา ทำตามใจของตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก อันนี้มันเป็นความเสียหาย ต้องเอาความเป็นธรรม ความยุติธรรม เพราะความถูกต้องมันไม่ได้ไปตามความชอบหรือไม่ชอบของเรา มันคือความจริง มันเป็นสัจธรรม
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ปฏิบัติอยู่ที่บ้านหรือที่ทำงาน อยู่ที่ครอบครัว ต้องสมาทาน ต้องปฏิบัติ ไก่เขาฟักไข่ที่จะออกลูกเป็นตัวต้องใช้เวลา ๓ อาทิตย์ ไม่ว่าจะใช่แม่ไก่กกไข่หรือใช้ไฟฟ้าอบไข่ให้มันได้อุณหภูมิ เราเป็นมนุษย์ เราก็ต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องกัน ไปหลายอาทิตย์ อย่างนี้ถึงเรียกว่ามรรค มรรค คือ หนทางดำเนินชีวิต หนทางเดิน หนทางปฏิบัติ เราทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ ความขี้เกียจขี้คร้าน เขาเรียกว่ามันเป็นอบายมุข อบายภูมิ ความไม่ขยัน ความไม่รับผิดชอบ ไม่อดทน มันเป็นอบายมุข เป็นอบายภูมิ การไปกินเหล้า กินเบียร์ เล่นการพนัน เจ้าชู้นี้เรียกว่าเป็นอบายมุข อบายภูมิ การค้า การขาย เราขายเหล้า ขายเบียร์ ขายฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาม้า อย่างนี้เขาเรียกว่าอบายมุข อบายภูมิ
ทุกๆ คนต้องพากันรู้จักว่าอันไหนมันดี อันไหนมันชั่ว อันไหนมันผิด อันไหนมันถูก อย่าพากันเห็นแก่ตัว เราต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก ให้พากันเข้าใจ ประชาธิปไตยคือทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก เขาเรียกว่าประชาธิปไตย เราต้องเอาธัมมิกประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ ที่พัฒนาแต่วัตถุไม่ได้พัฒนาใจ ก็คือความเห็นแก่ตัว ให้เรารู้จัก เราทุกคนต้องเดินทางสายกลาง พัฒนาทั้งกาย วาจา ใจ พัฒนาทั้งหลักเหตุ หลักผล หลักวิทยาศาสตร์ ไปพร้อมๆ กับพัฒนาใจอย่างนี้
หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายเขาจะได้คิดถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราอย่าพากันหลง ให้เข้าใจ ถึงแม้เราจะเรียน จะศึกษาที่โรงเรียน ที่มหาวิทยาลัย มันก็แก้ไขไม่ได้ เราจะมีตำรวจ มีทหาร มีนักการเมือง มันก็แก้ไขไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้พัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์และพัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน ให้พากันเข้าใจอย่างนี้นะ เราอย่าถือว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สำคัญ มันเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญนะ ให้ทุกท่านทุกคนพากันลงรายละเอียดให้กับตัวเอง คนที่สำคัญคือพ่อคือแม่ พ่อแม่ต้องปฏิบัติให้ได้ ผู้ที่ไปเป็นนักบวช ทุกๆ ศาสนาให้เข้าใจ อย่าไปหลงประเด็น ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ เพราะเรามาบวชนี้บวชทั้งกาย ทั้งใจนะ เพราะคนเรามีเซ็กส์มีเพศสัมพันธ์ทางร่างกาย อีกส่วนหนึ่งก็คือมันมีเซ็กส์มีเพศสัมพันธ์ทางจิตทางใจ เราต้องรู้จัก อย่างนี้เราจะบวชแต่กาย ใจของเราไม่ได้บวช มันทำความเสียหายให้โลกนี้ ให้ประเทศ ให้หมู่บ้าน สังคม มันเสียทรัพยากรของพวกเราเอง มันจะมีประโยชน์อะไร อย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์ ให้พากันเข้าใจ
ทุกคนไม่อยากแตะต้องตัวเองนะ พวกที่ขายของ ร้านค้าเล็กๆน้อยๆ ไปขายเหล้า ขายเบียร์ ขายอะไรที่มีความผิด มันเห็นแก่ตัวมากเกินไป ให้พากันคิดนะ ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ว่าตัวเองมันเอาความโลภความโกรธ ความหลงเป็นที่ตั้งมันไม่ดี มันเสียหายทั้งตัวเรา และตัวผู้อื่นเพราะพวกนี้มันทำลายระบบสมอง สติ ปัญญาของมนุษย์ ประเทศไทยเราดูตัวอย่างแบบอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านไม่ให้มี เหล้า ฝิ่น กัญชา ยาม้า ยาอะไรต่างๆ เพราะมันเป็นการทำลายระบบสมองสติ ปัญญา ของมนุษย์ อย่างนี้ อย่างประเทศลาวเมื่อสมัยเป็นสังคมนิยมใหม่ๆ ตามหมู่บ้าน ชนบท พากันปลูกกัญชาทุกๆ หมู่บ้าน เป็นส่วนใหญ่ อย่างนี้คิดว่าจะปลูกกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ หลวงพ่อกัณหา ไปเดินธุดงค์ที่ประเทศลาว ไปเห็น ได้ถามพวกที่เขาปลูกกัน ว่าทำไมถึงปลูกกัญชากันทุกบ้านอย่างนี้ รัฐบาลเขาไม่จับหรอ เขาก็บอกว่า เขาไม่จับเพราะอันนี้มันเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม โอ้... ถ้าอย่างนี้ลูกหลานจะไม่ติดหรอ เขาก็ว่าไม่ติด เพราะควบคุมได้ แล้วจะเอาไปขายที่ไหน เขาก็บอกว่าขายที่ประเทศไทย ที่ประเทศอเมริกา เพราะกัญชาเมื่อตากแห้งแล้ว มันจะเป็นใหญ่เป็นฟ่อนใหญ่ๆ ทีนี้ก็เลยพากันกลั่นทำเป็นน้ำกัญชา เดี๋ยวนี้ประเทศลาวก็ไม่ค่อยมีใครรวย มีแต่เสียสมองกันไปหมด
เราก็พากันคิดดีๆ เราอย่าไปตามเขา เราเอาตามพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดชดีกว่า เพราะว่าท่านไม่ได้ต่อสู้กับโจรอะไรต่างๆ ท่านต่อสู้กับความยากลำบาก ปรับประชาชนเข้าหาศีล หาธรรม หาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาทั้งใจ พัฒนาทั้งเทคโนโลยี ในหลวงมหาภูมิพลดีมาก ดีพิเศษ ประเทศไทยพระคุณเจ้าทั้งหลาย พากันเดินขบวนอยากให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ในหลวงท่านก็นิ่ง ท่านก็คิดในใจ เพราะท่านมีสัมมาทิฏฐิ คนเรานี้มันประจำชาติไม่ได้ มันต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติของตัวเอง มันถึงเป็นธรรม เป็นเจตนา
ความดีทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติ ถ้าไปแต่งตั้งมันก็เป็นได้แค่แบรนด์เนม เพราะรู้แล้วว่าศาสนาทุกศาสนาก็ไปแนวเดียวกัน ความเห็นแก่ตัวเท่านั้นที่ทำให้เราแตกแยกกัน ความไม่สมัครสมานสามัคคีเป็นสิ่งที่เสียหาย อย่างนี้นะ ให้พากันเข้าใจ พากันดิ้นรนไปแก้แต่ภายนอก ทุกคนก็ไม่ยอมแตะต้องตัวเอง ไม่ยอมแก้ตัวเอง เพราะพวกสารอะไรต่างๆ มันก็เป็นธรรมชาติ เช่น ยาสลบเอาให้ใครไม่กี่ซีซี มันก็สลบ พวกเหล้า เฮโรอีน ฝิ่น กัญชา เข้าไปในร่างกายใครมันก็ควบคุมตัวเองไม่อยู่ ให้เข้าใจสัจธรรม ความจริงนะ ทุกคนต้องกลับมาปฏิบัติของตัวเอง มามีความสุขในการทำงาน ประชาชนคิดผิด เห็นผิด พวกนักการเมืองทั้งหลาย จะแยกธรรมะออกจากพสกนิกรชาวไทย ตั้งหน้าตั้งตาจะกินบ้านกินเมือง อย่างนี้มันไม่ถูก การปกครองประเทศมันต้องเอาความถูกต้อง เอาความเป็นธรรม เอาความยุติธรรมเป็นหลัก ใครไม่ดีก็ต้องปรับตัวเอง เข้าหาธรรมะ เข้าหาเวลา พวกเครื่องแบบ เครื่องอะไรต่างๆ มันเป็นแบรนด์เนมที่จะให้ทุกคนปรับตัวเองเข้าหาแบรนด์เนม เข้าหาเวลา เข้าหาความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความยุติธรรม
พวกที่ลาสิกขาบทไป พวกที่มาบวชก็ต้องรู้จักว่า เราได้มาบวชเราก็ต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราจะได้เป็นทรัพยากรของโลก ของชาติที่ดี เราจะได้ไม่แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เราจะพัฒนาตัวเองให้เป็นสัตว์เดรัจฉานมันไม่ดี มันไม่สมควร ไม่สมกับที่พากันใส่สูท ผูกเนคไทด์ อย่างนี้เป็นต้น ต้องพากันเข้าใจ ต้องรู้จักหน้าที่ เพราะว่าเราจะไปหลงในความหรูหรา ฟุ่มเฟือย มันไม่ดีหรอก อย่างพวกคนรวยซื้อรถราคา 20 กว่าล้าน 30 ล้าน 40 ล้าน อย่างนี้เขาเรียกมันหลงในทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน หลงในความรวย มันไม่ถูก เพราะคนเราความสุข ความดับทุกข์ มันไม่ได้อยู่ที่ความจน ความรวย มันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ความสุขทางวัตถุอย่างนั้นมันไม่ใช่ความสุข มันเป็นความหลง เราต้องรู้จักนะ คนจนก็ต้องรู้จักว่าทุกอย่างมันต้องแก้ที่ใจ เรามาปรับที่ความคิดของเรา อารมณ์ของเรา เราจะได้พากันไม่เผาตัวเอง เราเอาใหม่ตั้งใจใหม่
เราอย่าไปคิดว่ากันประพฤติปฏิบัติธรรม มันเป็นเครื่องหลงงมงาย มันก็จริงอยู่พวกหลงงมงาย พวกเทศน์ พวกสอน มันจะเอาวัตถุ เอาข้าวของเงินทอง คำสอนมันไม่ได้สอนเรื่องอริยสัจ ๔ เรื่อง ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มันไปสอนแต่จะเอาเงิน เอาตังค์ สอนแต่เครื่องลางของขลัง ตะกรุด คาถา เขาเรียกว่ามันทำไม่ถูก ให้เข้าใจเรื่องศาสนานะ เพราะเรานี้เสียหายมาก เสียทรัพยากรมาก เราต้องเข้าใจนะ คนรุ่นใหม่ คนสมัยใหม่ ให้เข้าใจเรื่องศาสนา วิทยาศาสตร์มันคืออันเดียวกัน ที่เหนือวิทยาศาสตร์คือมีความสุข ความสงบ ความสบาย เราไม่หลง
หลักการของพระพุทธศาสนากับหลักวิทยาศาสตร์มีทั้ง “ส่วนสอดคล้องกัน” และ “ส่วนที่แตกต่างกัน” ดังต่อไปนี้
๑. ความสอดคล้องกัน ๑.๑ ในด้านความเชื่อ วิทยาศาสตร์ถือหลักว่าก่อนจะเชื่ออะไรนั้นจะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เสียก่อน วิทยาศาสตร์เชื่อในเหตุผล ไม่เชื่ออะไรลอย ๆ และต้องการหลักฐานมายืนยัน วิทยาศาสตร์ไม่อาศัยศรัทธาแต่อาศัยเหตุผล เชื่อการทดลองว่าให้ความจริงแก่เราได้ แต่ไม่เชื่อการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะทุกอย่างดำเนินอย่างมีกฎเกณฑ์ มีเหตุผล และวิทยาศาสตร์อาศัยปัญญาและเหตุผลที่ตัวตัดสินความจริง
พระพุทธศาสนาก็มีหลักความเชื่อเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ดังหลักคำสอนที่ปรากฏในการลามสูตร พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า การจะเชื่ออะไรแก่ไหนนั้นจะต้องทดลองพิสูจน์ด้วยตนเอง โดยอาศัยสติ ปัญญาและเหตุผล แต่อย่างเชื่อโดยวิธีดังต่อไปนี้ คือ (๑) อย่าเพิ่งปลงในเชื่อเพียงเพราะการฟังตามกันมา
(๒) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการถือสืบๆ กันมา
(๓) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการเล่าลือ
(๔) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการอ้างคัมภีร์
(๕) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะนึกคิดเอาเอง
(๖) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการคาดคะเนเอา
(๗) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการตรึกตรอง
(๘) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะตรงกับความเห็นของตน
(๙) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อ
(๑๐) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะท่านเป็นครูของเรา
และพระองค์ทรงสอนต่อไปว่า เมื่อใดที่เราอาศัยปัญญาทดสอบด้วยตนเองแล้วเห็นว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่ดีมีคุณประโยชน์แล้วจึงค่อยเชื่อ ทรงสอนมิให้เชื่ออย่างงมงาย แต่เน้นการทดสอบและปฏิบัติ เมื่อทดสอบได้ผลทางปฏิบัติแล้วจึงเชื่อ
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องศรัทธาเหมือนกัน แต่ศรัทธามิใช่วิธีสุดท้ายที่จะตัดสินว่าความจริงคืออะไร ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงเครื่องชักจูงให้คนเข้าไปทดสอบความจริง แต่ตัวที่ตัดสินความจริงคือ “ปัญญา” ในคำสอนเรื่องมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางที่จะพามนุษย์ไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นความจริงอันสูงสุดนั้น ไม่ปรากฏว่ามีศรัทธาอยู่ด้วย ในการสอนหลักธรรมต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนนั้น หากในหลักธรรมใดมีศรัทธาอยู่อยู่จะต้องมีปัญญากำกับอยู่เสมอ เช่น พละ ๕ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ในหลักอริยทรัพย์มีศรัทธา ศีล หิริโอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา เป็นต้น
๑.๒ ในด้านความรู้ ทั้งวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนายอมรับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ “ประสบการณ์” หมายถึง การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ประสบกับความรู้สึกนึกคิดบางอย่างด้วย เช่น รู้สึกดีใจ รู้สึกอยากได้ เป็นต้น วิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากประสบการณ์ คือ จากการที่ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ แล้วเกิดความอยากรู้อยากเห็นก็แสวงหาคำอธิบาย วิทยาศาสตร์จะไม่เชื่อหรือยึดถืออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว แต่จะอาศัยการทดสอบด้วยประสบการณ์สืบสาวไปเรื่อยๆ จะไม่อ้างอิงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์และการทดลอง
พระพุทธองค์ก็ทรงเริ่มคิดจากประสบการณ์ คือ ประสบการณ์ที่ได้เห็นความเจ็บ ความแก่ ความตาย และที่สำคัญที่สุดคือ ความทุกข์ พระองค์มีพระประสงค์ที่จะค้นหาสาเหตุของทุกข์ ในการค้นหานี้พระองค์มิได้เชื่ออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว ไม่ทรงเชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่จะให้คำตอบได้ แต่ได้ทรงทดลองโดยอาศัยประสบการณ์ของพระองค์เอง ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มีส่วนหนึ่งที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยในเรื่องนี้ คือ วิทยาศาสตร์เน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ด้านประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ส่วนพระพุทธศาสนาเน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ทางจิตใจ
๒. ความแตกต่าง ๒.๑ มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
– วิทยาศาสตร์มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องการรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุอะไรเป็นผลที่ตามมา เช่น เมื่อเกิดฟ้าผ่าขึ้น ต้องรู้ว่าอะไรคือสาเหตุของฟ้าผ่า และผลที่ตามมาหลังจากฟ้าผ่าแล้วจะเป็นอย่างไร
– พระพุทธศาสนาก็มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์มากกว่ากฎเกี่ยวกับสิ่งที่ไร้ชีวิต จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาคือสอนให้คนเป็นคนดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น
๒.๒ ต้องการเรียนกฎธรรมชาติ
– วิทยาศาสตร์ต้องการเรียนรู้กฎธรรมชาติและหาทางควบคุมธรรมชาติหรือเอาชนะธรรมชาติ พูดอีกนัยหนึ่ง วิทยาศาสตร์เน้นการควบคุมธรรมชาติภายนอก
– แต่พระพุทธศาสนาสอนให้คนควบคุมภายในจิตใจตัวเอง ลำดับแต่ความสามารถที่ควบคุมธรรมชาติได้ ไม่อาจทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ มนุษย์ต้องรู้จักควบคุมตัวเองให้มีจิตใจดีงามด้วย สันติสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้
วิทยาศาสตร์มุ่งปรับธรรมชาติ แต่พระพุทธศาสนามุ่งปรับจิตใจคน
๓.๓ ยอมรับโลกแห่งสสาร
– วิทยาศาสตร์ยอมรับโลกแห่งสสารที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ว่ามีจริง โลกที่อยู่พ้นจากนั้นวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ (ซึ่งความจริงวิทยาศาสตร์มิได้ปฏิเสธ เพียงแต่ยังไม่ยอมรับ เพราะวิทยาศาสตร์เชื่อว่าประสาทสัมผัสเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่จะตัดสินความจริง
– ส่วนพระพุทธศาสนาชี้ว่ามีสัจธรรมสูงสุด (นิพพาน) ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหาไม่สามารถจะรับรู้ได้ พระพุทธศาสนาแบ่งสิ่งที่มีอยู่จริงสองพวกใหญ่ ๆ คือ “สังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง) และ “อสังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง) คือนิพพาน
วิทยาศาสตร์ยอมรับว่าสังขตธรรมนั้นมีจริง แต่อสังขตธรรมอยู่เหนือการรับรู้ของวิทยาศาสตร์
ส่วนสัจธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีทั้งที่สามารถแสดงให้ประจักษ์เป็นสาธารณะได้ และไม่สามารถแสดงให้ประจักษ์เป็นสาธารณะ แต่แสดงโดยการประจักษ์ใจตนเองได้ (หมายถึง มีทั้งที่เราสามารถรับรู้ด้วยตาและรับรู้ด้วยใจ) ความจริงระดับต้นๆ และรับกลาง ใครๆ ก็อาจเข้าใจและเห็นจริงได้ เช่น คนที่โลภมากๆ อิจฉาริษยาเขามากๆ ไม่มีความสงบสุขแห่งจิตใจอย่างไรบ้าง คนที่มีเมตตาไม่ปรารถนาร้ายต่อใครๆ มีความสุขไม่มีเวรไม่มีภัยอย่างไรบ้าง ความจริงเหล่านี้ล้วนสามารถแสดงให้ประจักษ์ได้ชี้ให้ดูตัวอย่างได้ แต่ปรมัตถธรรมอันสูงสุดนั้นผู้ที่ได้พบแล้วยากจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เป็นสภาวะที่ผู้รู้เองเห็นจะพึงประจักษ์เฉพาะตัว
๒.๔ มุ่งความจริงมาตีแผ่ วิทยาศาสตร์นั้นมิได้สนใจเรื่องศีลธรรมเรื่องความดีความชั่ว สนใจเพียงค้นเอาความจริงมาตีแผ่ให้ประจักษ์เพียงอย่างเดียว เช่น วิทยาศาสตร์ค้นพบเรื่องการระเบิด แต่ควรระเบิดอะไร ไม่ควรระเบิดอะไร ไม่อยู่ในขอบข่ายวิทยาศาสตร์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จึงมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์
ส่วนคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นเน้นเรื่องศีลธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุขเป็นลำดับขั้นไปเรื่องๆ จนถึงความสงบสุขอันสูงสุดคือนิพพาน
มนุษย์เราทุกวันนี้บางทีกำลัง “งมงายในเหตุผล” ที่มาพร้อมกับวิทยาศาสตร์และตรรกศาสตร์ ซึ่งมันน่ากลัวยิ่งเสียกว่าการงมงายในไสยศาสตร์เสียอีก
หลักการสำคัญของพุทธศาสนานั้น มันเลย “เวทนา ๖” ไปเสียอีก ซึ่งเป็นหลักสำคัญของปฏิจจสมุปบาท ความตอนหนึ่งว่า เมือมีอายตนะ ก็มีผัสสะ (การสัมผัส) ก็มีเวทนา ตัณหา อุปาทาน ...อุปาทานคือการยึดติด ในที่นี้ก็คือการยึดติดกับ “ความจริง” นั่นเอง
วิทยาศาสตร์นั้น เป็นเพียงบันไดขั้นแรกของพุทธศาสตร์เท่านั้นเอง คือ ในช่วงแรกศาสนาพยายามใช้เหตุผลชักจูง ชี้นำ เพื่อให้บุคคลเกิดศรัทธาในศาสนา พอมีศรัทธาแล้วก็จะปฏิบัติหนักขึ้นเรื่อยๆ จนหลุดพ้นในที่สุด สภาวะแห่งการหลุดพ้นนั้นมัน “นอกเหตุเหนือผล” (วลีเด็ดของหลวงพ่อชา) ฝรั่งอาจเรียกว่า transcendental หรืออะไรก็แล้วแต่ ท่านพุทธทาสภิกขุก็บอกว่า “จงหลุดพ้นเสียจากการหลุดพ้น” ส่วนหลวงพ่อโตวัดระฆังก็สอนนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งที่เข้ามาสอดแนมในสมัย ร.๕ แบบกลายๆ ว่า “โลกเรานี้มีอายุเท่าอาตมานี่แหละ”
มีเรื่องเล่ากันว่า การเจรจาไต่ถามและลองภูมิได้เป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะบาทหลวงคณะนั้นได้ศึกษาภาษาไทย และพูดไทยได้ดี ผลของการอภิปรายถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับศีล และการบำเพ็ญธรรมได้จบลงด้วยคณะบาทหลวงกล่าวคำสรรเสริญสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า “พระคุณเจ้าเป็นผู้ทรงคุณธรรมวิเศษในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง” แต่แล้วก็เหน็บเอาในตอนท้ายว่า “แต่ส่วนทางโลก พระคุณเจ้าไม่รู้อะไรเลย”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ย้อนตอบไปว่า “อย่าว่าแต่อาตมภาพจะไม่แจ้งโลกเลย แม้แต่พวกท่านก็อยู่ในลักษณะ ไม่แจ้งโลกเหมือนกัน”
บาทหลวงคนหนึ่งแย้งว่า “คณะกระผมแจ้งซิ พระคุณเจ้า คือ แจ้งว่า โลกนี้กลมไม่ใช่แบน แล้วหามีปลาอานนท์หนุนอยู่เหมือนคนไทยเข้าใจกันไม่
คำพูดของฝรั่งเท่ากับตบหน้าท่านเจ้าประคุณสมเด็จและคนไทยทั่วไปอย่างฉาดใหญ่ทีเดียว แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์กลับหัวเราะงอหายพลางว่า “เข้าใจกันไปคนละทางเสียแล้วละท่าน อาตมภาพคิดว่าเป็นการแจ้งโลกแบบโลกวิทู หาได้คิดไปถึงโลกกลม โลกแบนอย่างท่านกล่าวไม่ อ้ายเรืองโลกกลมอย่างท่านกล่าวนั้น อาตมภาพก็แจ้งเหมือนกัน ซ้ำแจ้งต่อไปอีกว่า ใจกลางของโลกนั้นอยู่ตรงไหนอีกด้วยซ้ำไป”
คณะบาทหลวงงุนงงด้วยคำเจรจาฉะฉานของสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นอันมาก ต่างแลดูตากัน ครั้นแล้วบาทหลวงผู้หนึ่งกราบนมัสการถามว่า “พระคุณเจ้า ทราบถึงที่ตั้งใจกลางโลกจริงๆ หรือขอรับ”
“ก็จริงนะซี อาตมภาพไม่เคยกล่าวมุสาวาทเลย” ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ตอบ
“ถ้าเช่นนั้นจะพาคณะกระผมไปดูที่ตั้งใจกลางโลกได้ไหมขอรับ?” พวกบาทหลวงรุมล้อมกันหมายต้อนสมเด็จให้จนมุมจนได้
“อ๋อได้ซิ จะไปเมื่อไรล่ะ” สมเด็จพระพุฒาจารย์พูด
“เดี๋ยวนี้ได้ไหมขอรับ?” คณะบาทหลวงเร่งเร้าเพื่อจะดูทีว่าสมเด็จจะสามารถไปที่ใจกลางโลก ในทรรศนะของท่านอย่างไร
“ได้” สมเด็จตอบสั้นๆ พลางลุกขึ้นครองจีวรให้เป็นปริมณฑลตามสมณสารูป แล้วเอื้อมไปหยิบไม้เท้า และกล่าวกับฝรั่งว่า “ตามอาตมภาพมา”
บาทหลวงทั้งคณะลุกขึ้นพร้อมกัน แล้วตามท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ลงจากกุฏิ พากันออกมายืนอยู่ที่พื้นดินบริเวณหน้าบันไดเบื้องล่าง ณ ที่ตรงนั้นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้เอาไม้เท้าที่ถือปักลงไปในพื้นดินพลางชีมือให้คณะบาทหลวงดู แล้วกล่าวว่า “ใจกลางโลกอยู่ที่ตรงนี้”
คณะบาทหลวงทั้งหมดต้องตะลึกและงุนงงในเรื่องใจกลางของโลกตามทรรศนะของสมเด็จพระพุฒาจารย์อีกครั้งหนึ่ง ครั้นแล้วค้านเสียงหลงว่า “เป็นไปไม่ได้ดอกพระคุณเจ้าขอรับ ที่นี่มันหน้าบันไดกุฏิพระคุณเจ้าแท้ๆ”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ชี้มือไปที่ไม้เท้าพลางพูดยิ้มๆ ว่า “ก็ท่านกล่าวยืนยันว่าโลกกลมอยู่เมื่อครู่นี้เองมิใช่หรือ เมื่อโลกนี้กลมจริงอย่างท่านว่า ที่นี่ก็เป็นใจกลางโลก ถ้าท่านสงสัยก็ขอให้วัดดูเถิดว่าจากศูนย์กลางที่ไม้ปักนี้ อ้อมไปโดยรอบทุกด้าน แล้วที่ตรงนี้จะเป็นใจกลางโลกจริง”
คณะบาทหลวงเพิ่มความงุนงงกันเป็นครู่ใหญ่ ครั้นคิดออกก็ถอดหมวกคำนับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพร้อมกัน แล้วกล่าวว่า “จริงของพระคุณเจ้า ใจกลางโลกอยู่ตรงนี้ พระคุณเจ้าทรงคุณธรรมวิเศษจริงๆ” คณะบาทหลวงต่างชื่นชมในอัจฉริยะของสมเด็จโต ว่าแล้วคณะบาทหลวงก็รีบนมัสการลากลับทันที
วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ถูกต้องใช้ได้ เราต้องมีเหตุมีผลอย่างนี้ การเรียนการศึกษาถึงจำเป็นต่อหมุ่มวลมนุษย์ คนที่เกิดมาต้องพากันเข้าใจ พากันประพฤติพากันปฏิบัติ การปฏิบัติมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ตัวเอง มันเป็นสิ่งที่หยุดทำความเคยชินของเรา เพราะตาของเรามันก็ส่งออกข้างนอก หูของเรามันก็ส่งออกข้างนอก ทุกอย่างมันส่งออกข้างนอกหมด มันไม่ได้กลับมาปฏิบัติเอง มาเเก้ไขตัวเอง ถึงเราจะพัฒนาเทคโนโลยี เราก็สะดวกสบายเเบบไม่มีปัญญา ผู้ที่มีการเรียนการศึกษาก็มีความรู้เเต่ว่า มันพัฒนาตั้งเเต่ทางเทคโนโลยี คือการอยู่ดีกินดีสะดวกสบาย เเต่ว่าไม่ได้พัฒนาใจ เค้าเรียกว่า ยังไม่ใช่ทางสายกลาง พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมีมา เพื่อให้เรา พัฒนาทางสายกลาง พัฒนาทั้งเทคโนโลยี พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน
เราต้องเข้าใจนะ คนรุ่นใหม่ คนสมัยใหม่ ให้เข้าใจเรื่องศาสนา วิทยาศาสตร์มันคืออันเดียวกัน ที่เหนือวิทยาศาสตร์คือมีความสุข ความสงบ ความสบาย เราไม่หลง เรามีดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน ทำบ้าน ทำเมือง ทำรถ ทำเครื่องบิน ทำคอมพิวเตอร์ ออกมาใช้งาน สะดวก สบายได้ มันต้องฉลาด มันต้องเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทางธรรมไปทางหนึ่งทางเดียวกัน ความเป็นพระมันจะได้มีกับเราทุกคน เขาเรียกว่าพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี สำหรับประชาชนคนยังไม่ได้บวช ผู้ที่บวชแล้ว ผู้ที่เขาเคารพกราบไหว้มันก็น่าจะได้เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น ให้เข้าใจ ความสุข ความดับทุกข์ อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการทำงาน ไม่ใช่ตามอารมณ์ ตามความคิด ตามสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้ ให้รู้สัจธรรม รู้ความจริง รู้อริยสัจ ๔ ว่าต้องพากันทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติทุกคน ไม่มีใครทำให้ได้ ปฏิบัติให้ได้ ทุกคนถ้าไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึก มันเก่งทุกคน มันไม่เก่งก็เพราะว่ามันเอาความหลงเป็นที่ตั้ง อย่างนี้มันจะเก่งได้ยังไง ทำไป ทำไปก็มีแต่ปวดหัว เป็นโรคจิตโรคประสาท นอนไม่หลับ โรคภัยต่างๆ มันต้องเสียสละ มันต้องรู้จัก ดีท็อกสิ่งที่เป็นอัตตาตัวตนออกไปจากใจของเรา เราจะเป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ เป็นไปเพื่อความหลงนี้ไม่ได้ ไม่ดี