แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๖๙ ให้มีตบะธรรมเผาผลาญกิเลส อย่าเป็นผู้มีบาดแผลประพฤติธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ประเทศไทยเรานี้ ดูๆ แล้วก็มีความเสียหายเยอะ เพราะว่ามีพระพุทธศาสนาแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ทั้งประชากรไทยที่ประชาชน และก็ประชากรไทยที่เป็นนักบวช เราพากันถือแบรนด์เนมของพระพุทธเจ้าปลงผม นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วก็สร้างวัดวาอาราม สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ต่างๆ แต่ในภาคประพฤติภาคปฏิบัติของเรานั้นไม่มี หรือมีน้อย มีแต่ศาสนพิธีเฉยๆ นี้นับว่าเป็นความเสียหาย เป็นความล้มเหลว ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจนะ
เรานี้ยังไม่ได้พากันทำหน้าที่ที่ประเสริฐที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์เราก็คือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อพระนิพพาน เราต้องพัฒนาตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ มีกฏหมายบ้านเมืองที่ให้กำราบพวกที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง และก็มันต้องเน้นที่จิตที่ใจของเราทุกคน ผู้ที่เกิดมานี้ก็คือจะให้เข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ได้ ก็ต้องไปตามหลักเหตุ หลักผล หลักวิทยาศาสตร์ และก็พัฒนาใจไปพร้อมๆ กันอย่างนี้ ที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมี ค้นคว้าทั้งหลักวิทยาศาสตร์ และค้นคว้าหลักทางจิต ทางใจ ได้ตรัสรู็เป็นพระพุทธเจ้ามาบอกให้ประชาชนว่า ความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริงต้องปฏิบัติอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ปฏิบัติให้เรา ท่านก็เพียงแต่บอกเป็นตัวอย่าง และก็ปฏิบัติเป็นตัวอย่าง จนได้เป็นพระพุทธเจ้า มาบอกให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ
เรื่องความเอร็ดความอร่อย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นสิ่งที่ไคลแม็ก climax กับทุกๆ คนต้องเข้าใจ อันนี้มันเป็นทางที่เราจะต้องผ่าน คนเรานี้มีช่องทางติดต่อกับภายนอกอยู่ ๖ ทาง คือ ๑. ตา ๒. หู ๓. จมูก ๔. ลิ้น ๕. กาย ๖. ใจ เหมือนกับบ้านก็มีประตูหน้าต่าง เป็นทางติดต่อกับภายนอก คนเราก็เหมือนบ้านที่มีประตูหน้าต่างอยู่ ๖ ช่องทาง สิ่งต่างๆ ภายนอกที่เราจะรับรู้ รับทราบก็มาจาก ๖ ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ดีทำให้ใจของเราสงบผ่องใสก็มาจาก ๖ ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจของเราฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว ก็มาจาก ๖ ทางนี้เหมือนกัน ช่องทางทั้ง ๖ นี้ นับว่ามีความสำคัญมาก เราจึงควรมารู้จักถึงธรรมชาติของช่องทางทั้ง ๖ นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง ๖ ไว้ ดังนี้ ๑. ตาคนเรานี้เหมือนงู งูไม่ชอบที่เรียบๆ แต่ชอบที่ที่ลึกลัยซับซ้อน ตาคนเราก็เหมือนกัน ไม่ชอบดูอะไรเรียบๆ ชอบดูสิ่งที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม ยิ่งสิ่งที่เขาปกปิดไว้ละก็ยิ่งชอบดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้ว ไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง
๒. หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำพูดเย็นๆ ที่เขาชมตัว หรือคำพูดเพราะๆ ที่เขาพูดกับเรา
๓. จมูกคนเรานี้เหมือนนก คือชอบโผขึ้นไปในอากาศ พอได้กลิ่นอะไรหน่อยก็ตามดมทีเดียวว่ามาจากไหน
๔. ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้าน คือชอบลิ้มรสอาหาร วันๆ ขอให้ได้กินของอร่อยๆ เถอะ เที่ยวซอกแซกหาอาหารอร่อยๆ กินทั้งวัน ยิ่งเปิบพิสดารละก็ยิ่งชอบนัก
๕. กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ ชอบอิงคนโน้น ชอบจับคนนี้
๖. ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือชอบซน คิดโน่น คิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านถึงเรื่องในอดีต ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ
จึงต้องมีอินทรีย์สังวร คือ สำรวมระวังตัว ก็คือระวังช่องทางทั้ง ๖ นี้ เมื่อรู้ ถึงธรรมชาติของมันแล้วก็ต้องคอยระวัง ใช้สติเข้าช่วยกำกับ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส อะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรดูเข้าแล้ว ก็ให้จบแค่เห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อว่า สวยจริงนะ หล่อจริงนะ อะไรทำนองนี้ ต้องไม่นึกถึงโดยนิมิต หมายถึง เห็นว่าสวยไปทั้งตัว เช่น “เออ คนนี้สวยจริงๆ” ต้องไม่นึกถึงโดยอนุพยัญชนะ หมายถึง เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งสวย เช่น “ตาสวยนะ คมปลาบเลย” หรือแขนสวย ขาสวย อะไรอย่างนี้
อินทรีย์สังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราสู้กับกิเลสชนะหรือแพ้ก็อยู่ตรงนี้ ถ้าเรามีอินทรีย์สังวรดีแล้ว โอกาสที่กิเลสจะรุกรานเราก็ยาก คุณธรรมต่างๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจ เหมือนบ้าน ถ้าเราใส่กุญแจดูแลประตูหน้าต่างอย่างดีแล้ว ถึงแม้ตามลิ้นชักตามตู้จะไม่ได้ใส่กุญแจก็ย่อมปลอดภัย โจรมาเอาไปไม่ได้ แต่ถ้าเราขาดการสำรวมอินทรีย์ ไปดูในสิ่งที่ไม่ควรดู ฟังในสิ่งไม่ควรฟัง ดมในสิ่งไม่ควรดม ลิ้มรสในสิ่งไม่ควรลิ้ม จับต้องสัมผัสในสิ่งที่ไม่ควรสัมผัส คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด แม้เราจะ มีความตั้งใจรักษาศีล รักษาคุณธรรมต่างๆ ดีเพียงไร ก็มีโอกาสพลาดได้มาก เหมือนบ้านที่ไม่ได้ปิดประตูหน้าต่าง แม้จะใส่กุญแจตู้ลิ้นชักดีเพียงไร ก็ย่อมไม่ปลอดภัย โจรสามารถมาลักไปได้ง่าย
เรื่องความเอร็ดความอร่อย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นสิ่งที่ไคลแม็ก climax กับทุกๆ คนต้องเข้าใจ อันนี้มันเป็นทางที่เราจะต้องผ่าน เพราะเราทุกคนเป็นมนุษย์เป็นผู้ประเสริฐ เราสร้างบ้าน สร้างเรือน สร้างที่อยู่อาศัย ทำเกษตรกรรม เกษตร พัฒนาอุตสาหกรรม อย่างนี้มันดีแล้ว ประเสริฐแล้ว เราทุกคนต้องรู้จักว่าอันนี้เป็นการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ที่ทางสายกลาง ทางความรู้ความเข้าใจ ต้องรู้จักอริยสัจ ๔ รู้จักทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ทุกคนต้องจัดการกับตัวเอง
ความเป็นพระก็คือเรานี้แหละ เราไม่ต้องไปหาพระภายนอก ต้องหาพระที่ตัวเรา เราเป็นประชาชนก็เป็นพระได้ตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึงพระอนาคามี ผู้ที่มาบวชเป็นพระก็ต้องได้เป็นพระโสดาบันถึงพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น อันนี้มันไม่มีใครแต่งตั้งให้กันได้ ต้องมาประพฤติ มาปฏิบัติด้วยตนเอง เราจะได้หยุดโลก หยุดวัฏฏะสงสาร เราต้องมีความสุขในการรักษาพระวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ เราถึงจะเป็นพระ นี้คือความสุขความดับทุกข์ของเราทุกๆ คน อย่าไปทำให้ตัวเอง เป็นตาลยอดด้วน เราอย่าไปทำตัวเองให้มีปัญหา สร้างปัญหา คนเราน่ะคิดหลายครั้ง เราแก้ระบบความคิดนะ เพราะคนเรานี้แหละ เรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก เค้าเรียกว่ามันเอาพระนิพพานมาให้เรา ให้เรารู้ด้วยปัญญาว่าสภาวะธรรมนั้นไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คนเราจะเจ็บปวดเท่าไหร่ ความดับทุกข์มันอยู่ที่ใจ ที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราต้องรู้จักแล้วก็อย่าไปวุ่นวาย หรืออยากให้มันเป็นอย่างนู้น อย่างนี้ มันเพิ่มความทุกข์ เพราะความสุข ความดับทุกข์ มันมีอยู่ที่ความคิด คนเรานั่งสมาธิทั้งคืน มันก็ไม่มีความทุกข์หรอกนะ เพราะว่าความทุกข์มันอยู่ที่เราไปคิดเอา เราไปปรุ่งแต่งเอา เราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ เราอยากให้เป็นอย่างนู้น อย่างนี้ ความสุขความอะไร ความหลงเราต้องรู้จัก เราอย่าทำตัวเป็นหมาคนรวย หมาคนรวยเดี๋ยวนี้มันเดินไม่เป็น ไปที่ไหนก็ต้องขึ้นรถ บางทีไม่มีรถก็เจ้าของอุ้ม
วัดบ้าน วัดป่า คนที่ไหนมันก็พากันประพฤติปฏิบัติได้ทั้งนั้น เพราะเดี๋ยวนี้มันน่าจะดีกว่าครั้งพุทธกาลอีก เพราะว่ามันอำนวยความสะดวกสบาย มันมีบ้าน มีรถ มีเครื่องบิน มีคอมพิวเตอร์ ต้องเข้าใจนะ พวกคนรุ่นใหม่ คนสมัยใหม่ อย่าพากันโง่หลงวัตถุ เราก็ต้องพัฒนาใจ อย่าเอาความสุขแค่กิน แค่นอน แค่พักผ่อน เที่ยวเพลิดเพลิน อบายมุข อบายภูมิแค่นี้แหละ เค้าเรียกว่ามันรวยอย่างโง่ๆ เราเป็นพระศีลเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี เราจะได้ไม่ตามใจ ตามอารมณ์อย่างนี้เราจะไปตัดออกสิกขาบทน้อยใหญ่ เราะพระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านทำสังคายนาครั้งแรก ท่านพิจารณากันแล้วว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว อย่าไปถอดถอนสิกขาบทน้อยใหญ่ออก
สิกขาบทบทน้อยใหญ่นี้ดี จึงต้องเข้าสู่ระบบความคิดนะ ระบบใจของเราต้องหยุดมีเพศสัมพันธุ์กัน ประชาชนก็หยุดมีเพศสัมพันธุ์ทางจิตใจ ผัวเดียว เมียเดียวก็พอแล้ว ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ก็ พ่อแม่ยังหวงอยู่ก็อย่าไปทำผิด มันตามความคิด ตามอารมณ์ไปอย่างนั้น มันไม่ใช่คนฉลาด คนมีปัญญานะ ความอดทนนี้คือความสุขน ความอดทนคือเราต้องหยุดวัฏฏะสงสารนะ มันก็จะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เราจะได้เฉิดฉาย มรรคผลนิพพานพร้อม พัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กันอย่างนี้ เราจะไปแยกโลกแยกธรรมอะไร มันแยกอะไร คนเราขาขาดมันก็เดินไม่ได้ มันต้องมีกายกับมีใจ มันต้องไปพร้อมๆกัน เค้าเรียกว่าทางสายกลาง ไม่ต้องไปสุดโต่ง
ศาสนาทุกศาสนาก็ไปอันเดียวกันนี่แหละ คำว่าศาสนานั้นไม่ใช่นิติบุคคล คือธรรมะ เราไม่ต้องไปทะเลาะกัน ไม่ต้องไปกัดกัน ทุกคนต้องรักกัน เมตตากัน สงสารกัน กรุณากัน ทุกๆ ศาสนาต้องไปอย่างนี้นะ เราอย่าเป็นคนใจหยาบ ใจกระด้าง หน้ามืด หน้าด้าน หน้ามึน เราต้องกลับมาหาพระธรรมคำสั่งสอนที่ประเสริฐ เราไม่ต้องหาพระนิพพานที่ไหน พระนิพพานอยู่ที่ใจของเรามีความเห็นถูกต้อง และก็พากันปฏิบัติถูกต้อง ให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เราจะรู้จักว่าของดีนะคือพระนิพพาน เรายังไม่ถึงนิพพาน สวรรค์ก็ต้องผ่านอยู่แล้ว มนุษย์รวยก็ต้องผ่านอยู่แล้ว มันต้องไปอย่างนี้ๆ แหละ ทุกคนต้องพากันเข้าใจ
บุคคลไม่ควรพยายามในบาปกรรมทั่วไป ควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ ไม่ควรกล่าวธรรมเพื่อต้องการทรัพย์ (ไม่พึงมีแผลประพฤติธรรม)
วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็นแล้วประทับ ณ ภายนอกซุ้มประตู ครานั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้า เมื่อพระองค์ประทับ ณ ที่สมควร และสนทนากับพระศาสดาเป็นสาราณียะอยู่นั่นเอง มีนักบวชหลายนิกาย กล่าวคือนิครนถ์ ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน อเจลกะ ๗ คน ปริพพาชก ๗ คน และชฎิลอีก ๗ คน รวม ๓๕ คน ซึ่งล้วนมีเครายาว มีขนรักแร้ยาว ถือบริขารต่างๆ เดินผ่านมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นนักบวชเหล่านั้นแล้ว จึงผินพระพักตร์จากพระผู้มีพระภาคหันไปทางนักบวชเหล่านั้น คุกพระชานุข้างหนึ่งลงทำผ้าห่มเฉวียงบ่า พลางประกาศพระนามและโคตรของพระองค์ว่า "ข้าแต่ท่านนักพรตผู้ประเสริฐ! ข้าพเจ้าคือพระเจ้าปเสนทิโกศล" ดังนี้ ๓ ครั้งเป็นการแสดงความเคารวะอย่างสูง นักบวชเหล่านั้นหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วเดินเลยไป พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงหันมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระจอมมุนี! นักบวชเหล่านั้นคงเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งซึ่งมีอยู่ปรากฏอยู่ในโลกเป็นแน่แท้"
พระสุคตเจ้ามีพระอาการสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตรัสว่า "มหาบพิตร! พระองค์เป็นคฤหัสถ์ยังบริโภคกาม บรรทมเบียดโอรสและชายา ทรงผ้าที่มาจากแคว้นกาสี ทัดทวงของหอม ลูบไล้ด้วยจุณจันทร์ จึงเป็นการยากที่จะรู้ได้ว่า นักบวชเหล่านั้นเป็นอรหันต์หรือไม่ มหาบพิตร! ปกติของคนเป็นอย่างไร อาจรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และต้องอยู่ร่วมกันนานๆ ต้องใส่ใจและมีปัญญาสอดส่องกำกับได้ด้วย ปัญญาของคนพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ความสะอาดของคนพึงรู้ได้ด้วยการทำงาน ความกล้าหาญและเรี่ยวแรงรู้ได้ในเวลามีอันตราย ทั้งหมดนี้ต้องใช้เหตุ ๓ อย่างประกอบคือ กาลเวลา ปัญญา และมนสิการ"
หลัก ๔ ประการ ในการอ่านคนให้ออก ดังนี้
๑. ศีล คือความประพฤติหรือปกติของคน เราจะพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
๒. ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยการงานที่เขาทำ
๓. ความกล้าหาญ เรี่ยวแรงกำลัง พึงรู้ได้ในเวลามีอันตราย
๔. ปัญญา พึงรู้ได้ด้วยการสนทนา
ทั้ง ๔ ประการนี้ ต้องใช้เวลานาน ต้องมีโยนิโสมนสิการ ต้องมีปัญญาจึงจะรู้ได้
พระผู้มีพระภาคทรงตอบอย่างบัวมิให้ช้ำน้ำมิให้ขุ่น ถ้าพระองค์จะตรัสตรงๆ ว่านักบวชเหล่านั้นมิได้เป็นอรหันต์ดอก ที่แท้ยังเป็นผู้ชุ่มไปด้วยกิเลส ก็จะเป็นการยกตนข่มผู้อื่น ถ้าพระองค์จะทรงรับรองว่านักบวชเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็จะพึงดูแคลนพระสัมพัญญุตญาณได้
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลว่า อัศจรรย์จริงพระเจ้าข้า! อัศจรรย์จริง! พระผู้มีพระภาคทรงเป็นสัพพัญญูโดยแท้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ! ความจริงนักบวชเหล่านั้นคือจารบุรุษ ซึ่งข้าพระองค์ส่งไปสอดแนมเหตุการณ์บ้านเมือง ณ แคว้นต่างๆ เป็นการอำพรางตนโดยถือเพศเป็นนักบวช เมื่อกลับถึงบ้านแล้วพวกเขาจะเป็นคฤหัสถ์อย่างเดิม
พระสุคตเจ้าทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า “น วายาเมยฺย สพฺพตฺถ นาญฺญสฺส ปุริโส สิยา นาญฺญํ นิสฺสาย ชีเวยฺย ธมฺเมน น วณี จเรติ บุคคลไม่ควรพยายามในบาปกรรมทั่วไป ควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ ไม่ควรกล่าวธรรมเพื่อต้องการทรัพย์ (ไม่พึงมีแผลประพฤติธรรม)”
บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนดีด้วยเหตุเพียงรูปร่างผิวพรรณก็หามิได้ ไม่ควรไว้ใจคนที่เห็นกันเพียงครู่เดียว คนชั่วเป็นอันมากเที่ยวไปโดยรูปลักษณะแห่งคนดี เหมือนหม้อดินและหม้อโลหะซึ่งฉาบไว้ด้วยสุวรรณ มองแวววาวแต่เพียงภายนอก แต่ภายในไม่สะอาด คนชั่วในโลกนี้เมื่อบริวารแวดล้อมแล้ว ก็เที่ยวไปได้อย่างคนดี เขางามแต่ภายนอก แต่ภายในไม่บริสุทธิ์
จะเห็นได้ว่าพระพุทธภาษิตเหล่านี้คมคายเพียงไร เป็นพระดำรัสที่ถ้าจะมองว่าลึกซึ้งก็ลึกซึ้ง ถ้าจะมองว่าสามัญชนทั่วไปพอจะเข้าใจและปฏิบัติตามได้ก็ได้เช่นกัน ตอนแรกพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า บุคคลไม่ควรพยายามไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง นั้นหมายความว่าก่อนใช้ความพยายามในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ควรจะสำรวจเสียให้ดีก่อนว่า ความพยายามที่ทำไปนั้นจะได้ผลคุ้มเหนื่อยหรือไม่ อุปมาเหมือนนักสำรวจทอง ก่อนที่จะลงมือขุดก็ควรจะใช้เครื่องมือสำรวจเสียก่อนว่าที่ๆ ตนจะขุดนั้นมีทองอยู่หรือไม่ มิใช่ว่าพอจะขุดทองก็เริ่มขุดไปแต่บันไดบ้านทีเดียว ถ้าทำอย่างนั้นก็เป็นการเสียแรงเปล่าได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เป็นการลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย
ส่วนเรื่องเป็นตัวของตัวเองก็มีความสำคัญมาก มนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด แต่ขอให้เป็นตัวของตัวเอง คนไม่เป็นตัวของตัวเองเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ (ไม่พึงเป็นคนรับใช้คนอื่น ในเพศบรรพชิต)
ส่วนข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้เป็นคนเลี้ยงตัวได้ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพนั้น มีความหมายว่า บุคคลเมื่อมีอายุพอสมควรจะเลี้ยงตัวได้แล้วก็ควรประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งเลี้ยงตน มิใช่คอยแต่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่อย่างเดียว เพราะการอาศัยผู้อื่นในวัยที่ไม่ควรอาศัย เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้ไร้ความสามารถ ส่วนสมณะผู้อาศัยอาหารจากเรือนของผู้อื่นแล้วยังชีพให้เป็นไปนั้น ก็เป็นเพราะสมณะเหล่านั้นอาศัยศีลของตน ถ้าประชาชนรู้ว่าเป็นผู้ไม่มีศีล ไม่มีกัลยาณธรรม เขาย่อมไม่เลี้ยง ไม่ถวายอาหาร เพราะฉะนั้น สมณะก็ชื่อว่าเป็นผู้พึ่งตนเอง กล่าวคือ อาศัยศีลและสัมมาจารของตนเป็นอยู่
ข้อต่อมาที่พระพุทธองค์ตรัสว่า (ไม่ควรกล่าวธรรมเพื่อต้องการทรัพย์) เพราะผู้แสดงแก่ชนเหล่าอื่นด้วยเหตุแห่งทรัพย์เป็นต้น ย่อมชื่อว่านำธรรมไปทำการค้า. อย่าเที่ยวเอาธรรมไปทำการค้าอย่างนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ทำกรรมมีการสอดแนมเป็นต้น เหมือนคนของพระเจ้าโกศล ทำการสอดแนมเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์ เป็นต้น ดำรงตามกิจมีการสมาทานเพศบรรพชาเป็นต้น โดยไม่ให้คนอื่นสงสัย ชื่อว่านำธรรมมาทำการค้า. เหมือนที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า คนนำแก่นจันทน์ที่มีราคาแพง ไปแลกกับเปรียงเน่า (อ่านว่า เปรียง มี 3 ความหมาย คือ 1. นมส้มผสมน้ำแล้วเจียวให้แตกมัน 2. น้ำมันจากไขข้อวัว และ 3. เถาวัลย์เปรียง แต่ในที่นี้น่าจะหมายถึงเถาวัลย์เปรียง เทียบกับแก่นจันทน์)
พระพุทธองค์ตรัสว่า กาลภายหน้า พระภิกษุอลัชชีเห็นแก่ได้ทั้งหลาย แทนที่ จะนำธรรมะ ที่พระพุทธองค์สอน ไปสอนสั่งให้คนหลุดพ้นจากความทุกข์ และละความโลภ กลับใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหากิน หาปัจจัยบริจาคเข้าตัวเอง เหมือนเอาแก่น จันทน์ (ธรรมะคำสอนที่ดี) ไปแลกเอาเถาวัลย์เน่า (ลาภอามิสที่ได้รับมา ซึ่งไม่จีรังและไม่ช่วย ให้พ้นทุกข์จริงๆ ได้)
ฝ่ายบุคคลใด แม้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ในศาสนานี้ ก็ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อปรารถนาเทพนิกายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้บุคคลนั้นก็ชื่อว่านำธรรมมาทำการค้า. ไม่พึงประพฤติ ไม่ควรมีแผลประพฤติธรรม หมายความว่า ให้ประพฤติธรรมด้วยความสุจริตใจ มิใช่ประพฤติธรรมด้วยเจตนาที่จะหลอกลวงให้คนมานับถือ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ว่า ควรประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมให้ทุจริต ผู้ประพฤติสุจริตย่อมมีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นอกจากนี้พระพุทธองค์เคยตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายอยู่เสมอในเรื่องนี้ และทรงแนะให้ถือพระองค์เป็นเนตติดังพระพุทธภาษิตต่อไปนี้ "ภิกษุทั้งหลาย! พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและความสรรเสริญ มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระคือความสำรวม เพื่อปหานะคือความละ เพื่อวิราคะคือความคลายกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะคือความดับทุกข์"
ในตอนท้ายพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า บุคคลจะเป็นคนดีเพราะชาติหรือผิวพรรณก็หามิได้ แต่จะเป็นคนดีก็เพราะความประพฤติดี คนชั่วเป็นอันมากปกปิดความชั่วของตัวไว้ เหมือนหม้อดินที่ฉาบทาด้วยทองแวววาวแต่เพียงภายนอกเท่านั้น สรุปว่าทรงย้ำให้คนทุกคนมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสดงอาการลวงผู้อื่นให้หลงเข้าใจผิดหรือหลงเคารพนับถือ ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นคนเลว
การอดทนประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นการบำเพ็ญตบะ ก็คือการเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราเรียนหนังสือ ตั้งแต่ประถมจนจบปริญญาเอก เรียนเรื่องผิดเรื่องถูกเรื่องดีเรื่องชั่ว คือภาคภาคทฤษฎี แต่ ตบะ คือ ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ทุกๆ คนก็มีความเพียรที่จะต้องปฏิบัติ เพราะการเรียนการศึกษาก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล แต่มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าเราไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เหมือนเราเรียนหนังสือจบ ปริญญาโท ปริญญาเอก มันจะไปมีประโยชน์อะไร เพราะมันเป็นแค่กระดาษ การประพฤติการปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเรารู้เรื่องอาหาร ถ้าเราไม่ได้ทานอาหารเข้าไป จะมีประโยชน์อะไร เพราะเราต้องพัฒนาทั้งเทคโนโลยี พัฒนาทางจิตใจ คือภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ สำหรับประชาชนก็ศีล ๕ สำหรับเณรก็ศีล ๑๐ สำหรับพระก็ศีล ๒๒๗ ที่มาในพระปาฏิโมกข์ที่ให้สวดทุกกึ่งเดือน แล้วก็ในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ต้องเอาสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้องมาประพฤติมาปฏิบัติ เพื่อหยุดก่อนวัฏฏะสงสาร ลาก่อนวัฏฏะสงสาร
การประพฤติการปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน อันนี้เป็นงานของเราเป็นหน้าที่ของเราอย่าไปปล่อยปะละเลย ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราก็ไม่ได้ทาน เราก็ไม่ได้บริโภค เราก็ไม่ได้เดิน มันอยู่ที่ปัจจุบันมรรคมีองค์ ๘ มันก็ไม่ใช่ของยาก เป็นของที่มีความสุข เค้าเรียกว่าเรารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เรารู้อริยสัจ ๔ เราก็ต้องเอามาประพฤติเอามาปฏิบัติ เราตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน อยู่ในความประมาทไม่ได้ เพราะความสุขของเรานั้นอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ ของเรานั้นอยู่ที่ศีล ที่สมาธิ ที่ปัญญา ที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน ปัญญาทางธุรกิจหน้าที่การงานนั้นเป็นเรื่องของกาย เรื่องของใจก็คือ เรามีปัญญา เราไม่มาหลงในความสุขความสะดวก การประพฤติปฏิบัติอยู่กับเราทุกหนทุกแห่งทุกสถานที่ ไม่ใช่ว่ามาอยู่ที่วัด อยู่ที่อาราม สำหรับพวกนักบวช พวกไม่ได้บวชก็ถือศีล ๕ อยู่ที่บ้าน ใจเรามาปฏิบัติ อย่าไปเผลอ อย่าไปประมาท คำว่าบวชก็คือ อบรมบ่มอินทรีย์ ประพฤติปฏิบัติ เค้าเรียกว่าบำเพ็ญตบะ บำเพ็ญพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เบื้องต้นก็คือศีล ๕ ศีลก็คือธรรม ธรรมก็คือศีล อย่าไปกลัวหลาย กลัวของดี กลัวสิ่งที่ดี ใจของเรามันออกนอกทางนอกประเด็น มันเลยกลัวในสิ่งทีดี เราจะพากันรวยอย่างโง่ๆ ไม่เอา ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ต้องมีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ตระกูลของเราถึงยั่งยืนพวกไม่เอาศีลเอาธรรมตระกูลไม่เกิน ๓ ชั่วคน ถ้าเราเป็นผู้ที่มาบวชปลงผมห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เราจะได้เป็นพระธรรมพระวินัย เลื่อนจากที่พากันเป็นสามเณรเป็นภิกษุเป็นพระที่บ้าน ถ้าอย่างนั้นมันทำให้เสียหายต่อชาติศาสนา เสียหายต่อพระมหากษัตริย์ที่ท่านให้ยศให้ตำแหน่งเป็นพระครู เจ้าคุณ เป็นคณะปกครอง เพราะเราพากันเป็นเพียงภิกษุไม่ได้เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย
จึงต้องเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ที่มีศีลมีธรรม ความเป็นพระนั้นอยู่กับเราทุกคนที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เรียกว่าบำเพ็ญตบะ มันเป็นการเผากิเลส เผาสิ่งที่เป็นอวิชชา ก็คือความหลง มันจะได้หมดไปทีละเปลาะๆ ในปัจจุบัน
ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จะเห็นได้ว่าการที่เรามี ตบะ เป็นเครื่อง แผดเผากิเลสนั้น เป็นการขจัดสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ อันเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของชีวิตตัวเองและครอบครัว การบำเพ็ญ ตบะ ที่จะให้ผลแก่ตัวผู้ปฏิบัติได้เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับคุณธรรมอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องสนับสนุน ตบะ ให้สมบูรณ์ เหตุที่ทำให้ตบะแตก ทำให้ไม่บรรลุถึงคุณความดีที่ต้องการได้ เพราะขาดความอดทนที่เรียกว่า "ขันติ" ดังข้อความพุทธพจน์ที่ยกขึ้นตอนต้นว่า ยอดของตบะนั้นคือ ความอดทน
การที่เราจะขับไล่ความชั่วร้ายออกจากตัวเป็นการทำให้ตัวเราสบายขึ้น เหตุใดจึงต้องใช้ขันติ และทำไมจึงต้องทน เรื่องนี้ขอให้เราคิดถึงความเจ็บป่วยในร่างกายของเรา การที่เราจะสามารถรักษาโรคในกายของเราให้หายได้นั้น จะต้องทำพิธีกรรมหลายอย่าง ต้องงดสิ่งที่เราชอบและต้องทำในสิ่งที่เราเกลียด เพราะฉะนั้นจึงต้องอดทน อย่างเช่นเราเป็นผี จะต้องทำการผ่าตัดฝีจึงจะหาย ถึงแม้ว่าจะต้องเจ็บปวดเราก็ต้องยอมทั้งนี้เพื่อให้โรคร้ายนั้นหายไป ถ้าเรามัวกลัวต่อความเจ็บปวด เพราะการผ่าตัดแล้ว เราก็จะไม่มีโอกาสที่จะหายจากโรคนี้ได้เลย และนับวันจะทำให้เราได้รับความทรมานยิ่งขึ้น หรือบางทีก็อาจจะทำให้เราเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างอื่นอีกก็ได้ การที่เราจะละกิเลสก็เหมือนกัน จะต้องอาศัยความอดทนเป็นเครื่องกำกับตบะ ถ้าเราไม่มีความอดทนเป็นทุนแล้ว ตบะก็แตกแน่ๆ มีพระบาลีใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ความว่า นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา นาญฺญตฺร สพฺพปฏินิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํนอกจากปัญญาเครื่องรู้ ตบะเครื่องเผาความชั่ว นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากความสละคืนทุกสิ่งทุกอย่าง เรามองไม่เห็นความสวัสดีของสัตว์ทั้งหลาย
ธรรมดาของมนุษย์ ต่างปรารถนาเป็นคนดีกันทุกคน การที่เราจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความดีได้อย่างมั่นคง โดยไม่เผลอไปทำความชั่วนั้น จำเป็นต้องมีตบะธรรม เพราะตบะ คือ คุณธรรมเผาผลาญกิเลสที่เร่าร้อน จนกระทั่งหลุดร่อนออกจากใจ เช่น การให้ทานเป็นประจำ เป็นการเผาผลาญความโลภให้หมดไป ทำให้ใจเราขยายกว้างขวาง เป็นอิสระจากความตระหนี่
หรือเมื่อเราแผ่เมตตาเป็นปกตินิสัย ก็จะมีเดชเผาผลาญความพยาบาทออกไป ทำให้ใจเราเย็นสบาย ไม่วุ่นวาย ไม่ปรุงแต่ง ก็จะทำให้เกิดปัญญา เกิดแสงสว่างขจัดความมืดในจิตใจ โมหะ ความหลง ความไม่รู้ทั้งหลาย ก็หมดสิ้นไป ใจเราจะใสสว่าง มองเห็นหนทางสวรรค์นิพพานได้อย่างชัดเจน ดังนั้นขอให้ทุกท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้ดี ในข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะให้เราละกิเลส ซึ่งเป็นส่วนบาปธรรมให้สิ้นไปจากสันดาน การละกิเลสจึงต้องอาศัยการแผดเผาซึ่งเรียกว่า 'ตบะ' จึงจะเป็นการกำจัดกิเลสได้อย่างดียิ่ง