แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๖๗ อาศัยธรรม อาศัยเวลา อาศัยการประพฤติปฏิบัติ เพื่อรู้ชัดวิธีละ วิธีปล่อยวาง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วิธีละนี้เค้าทำอย่างไร วิธีปล่อยวิธีวางเค้าทำอย่างไร วิธีละ วิธีปล่อย วิธีวาง ทุกข์เป็นสิ่งที่กำหนดรู้ ถ้าเราจะไปละ มันจะไปเพิ่มปัญหาขึ้นอีก ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง รู้แล้วก็หยุดปัญหา ไม่ต้องไปละมัน ถ้าเราไปทำใจละอย่างนี้มันก็ เช่นว่าเราทำสมาธิมันก็ได้ระดับหินทับหญ้า หินก้อนใหญ่ทับหญ้า เมื่อเราละอย่างนี้มันก็เป็นเพียงกายวิเวก จิตวิเวก เค้าเรียกว่า มันอยู่ในระดับศีล อยู่ในระดับสมาธิ
ใจของเราที่มีปัญญาเท่านั้นถึงจะเข้าใจ การปฏิบัติถึงมีมรรค คือมีข้อวัตรปฏิบัติ เหมือนไก่มันฟักไข่ มันต้องอาศัยเวลา ๓ อาทิตย์ ฟักโดยแม่ไก่กกไข่ หรือฟักด้วยไฟฟ้าในองศา ๓ อาทิตย์ ถึงมีในบุรุษ ๔ คู่ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติถูกต้อง มันต้องอาศัยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ ถ้าอย่างนั้น เราก็จะไม่รู้จักอริยสัจ ๔ เราก็จะหนีทุกข์ไปเรื่อย ด้วยตาไม่เห็นรู้ หูไม่ให้ฟังเสียง พวกอันนั้นเป็ฯเพียงเบื้องต้น เพื่อบรรเทาทุกข์เพียงแต่ ถ้าเบื้องต้นคือยาระงับ ทุกข์นี้เป็นสิ่งที่เรากำหนดรู้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ รู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด เพื่อไม่ให้อารมณ์ความคิดมันปรุงแต่งเราได้ เพื่อเจริญอริยมรรค ให้การประพฤติการปฏิบัติของเราสมบูรณ์ เพราะอันนี้มันเรื่อง มันคือระดับปัญญา ใจของเรารู้จักได้อบรมบ่มอินทรีย์ เข้าถึงภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ การเรียนการศึกษามันถึงเป็นปริยัติ เพราะการเรียนการศึกษานี้ก็มันยังไม่ได้รับผลประโยชน์ มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อบรมบ่มอินทรีย์เน้นที่ปัจจุบัน เอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญามาใช้ในปัจจุบัน ที่ในปริยัติอธิบายเรื่องพระนิพพาน ถึงไม่มีใครอธิบายเรื่องพระนิพพานได้ เพราะว่ามันเหนือที่เราจะไปคิด จะไปปรุงแต่ง มันต้องละด้วยปัญญา มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง
ดังเรื่องของกุลบุตร ๒ คน ชาวเมืองสาวัตถี เป็นสหายกัน ไปยังวิหาร ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ละกามทั้งหลาย ถวายชีวิตในพระศาสนาของพระศาสดา บวชแล้ว อยู่ในสำนักพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ตลอด ๕ ปีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามถึงธุระในพระศาสนา ได้ฟังวิปัสสนาธุระและคันถธุระโดยพิสดาร ว่า “ธุระมี ๒ อย่าง คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ เท่านั้น.” ธุระนี้ คือ การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกก็ดี ตามสมควรแก่ปัญญาของตนแล้วทรงไว้ กล่าวบอกพุทธวจนะนั้น ชื่อว่า คันถธุระ. ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ ยังวิปัสสนาให้เจริญ ด้วยอำนาจแห่งการติดต่อแล้ว ถือเอาพระอรหัตของภิกษุผู้มีความประพฤติแคล่วคล่อง ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด ชื่อว่า วิปัสสนาธุระ.
รูปหนึ่งกราบทูลก่อนว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บวชแล้วเมื่อภายแก่ ไม่สามารถจะบำเพ็ญคันถธุระได้, แต่จะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ” ดังนี้แล้ว ทูลให้พระศาสดาตรัสบอกวิปัสสนาจนถึงพระอรหัต พากเพียรพยายามอยู่ บรรลุพระอรหัตพร้อมกับด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
ฝ่ายภิกษุรูปนอกนี้ คิดว่า “เราจะบำเพ็ญคันถธุระ” ดังนี้แล้ว เรียนพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎกโดยลำดับ กล่าวธรรม สวดสรภัญญะ ในสถานที่ตนไปแล้วๆ, เที่ยวบอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้เป็นอาจารย์ของคณะใหญ่ ๑๘ คณะ.
ภิกษุทั้งหลายเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้วไปสู่ที่อยู่ของพระเถระรูปที่บำเพ็ญวิปัสสนา ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน บรรลุพระอรหัตแล้ว นมัสการพระเถระ เรียนว่า “กระผมทั้งหลายใคร่จะเฝ้าพระศาสดา”
พระเถระกล่าวว่า “ไปเถิด ผู้มีอายุ, ท่านทั้งหลายจงถวายบังคมพระศาสดา นมัสการพระมหาเถระทั้ง ๘๐ รูป ตามคำของเรา, จงบอกกะพระเถระผู้สหายของเราบ้างว่า ‘ท่านอาจารย์ของกระผมทั้งหลาย นมัสการใต้เท้า’” ดังนี้แล้วส่งไป. ภิกษุเหล่านั้นไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาและนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ไปสู่สำนักพระคันถิกเถระ เรียนว่า “ใต้เท้าขอรับ ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการถึงใต้เท้า” ก็เมื่อพระเถระนอกนี้ถามว่า “อาจารย์ของพวกท่านนั่นเป็นใคร?” ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า “เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ.”
เมื่อพระเถระ (วิปัสสกภิกษุ) ส่งข่าวเยี่ยมอย่างนี้เรื่อยๆ อยู่, ภิกษุนั้น (คันถิกะ) อดทนอยู่ได้สิ้นกาลเล็กน้อย ภายหลังไม่สามารถจะอดทนอยู่ได้, เมื่อพวกอาคันตุกภิกษุเรียนว่า “ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการใต้เท้า” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “อาจารย์ของพวกท่าน นั่นเป็นใคร”,
เมื่อภิกษุทั้งหลายเรียนว่า “เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ” จึงกล่าวว่า “ก็อะไรเล่า? ที่พวกท่านเรียนในสำนักของภิกษุนั้น บรรดานิกายมีทีฆนิกายเป็นต้น นิกายใดนิกายหนึ่งหรือ? หรือบรรดาปิฎก ๓ ปิฎกใดปิฎกหนึ่งหรือ? ที่พวกท่านได้แล้ว” ดังนี้แล้ว คิดว่า สหายของเราย่อมไม่รู้จักคาถาแม้ประกอบด้วย ๔ บท, ถือบังสุกุล เข้าป่า แต่ในคราวบวชแล้ว ยังได้อันเตวาสิกมากมายหนอ, ในกาลที่เธอมา เราควรถามปัญหาดู”
ในกาลต่อมา พระเถระ (วิปัสสกะ) ได้มาเฝ้าพระศาสดา, เก็บบาตรจีวรไว้ในสำนักพระเถระผู้สหายแล้ว ไปถวายบังคมพระศาสดา และนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ก็กลับมาที่อยู่ของพระเถระผู้สหาย. ลำดับนั้น พระคันถิกเถระนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทำวัตรแก่ท่านแล้ว ถือเอาอาสนะมีขนาดเท่ากัน นั่งแล้วด้วยตั้งใจว่า “จักถามปัญหา.”
ขณะนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า “คันถิกภิกษุนี้พึงเบียดเบียนบุตรของเราผู้มีรูปเห็นปานนี้ แล้วเกิดในนรก”, ด้วยทรงเอ็นดูในเธอ ทำประหนึ่งเสด็จเที่ยวจาริกไปในวิหาร เสด็จถึงสถานที่เธอทั้งสองนั่งแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เธอจัดไว้. แท้จริง ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะนั่งในที่นั้นๆ จัดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าก่อน แล้วจึงนั่ง. เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงประทับนั่งเหนืออาสนะที่พระคันถิกภิกษุนั้นจัดไว้โดยปกตินั่นแล. ก็แลครั้นประทับนั่งแล้ว จึงตรัสถามปัญหาในปฐมฌานกะคันถิกภิกษุ ครั้นเมื่อเธอทูลตอบไม่ได้, จึงตรัสถามปัญหาในรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติทั้งแปด ตั้งแต่ทุติยฌานเป็นต้นไป พระคันถิกเถระก็มิอาจทูลตอบได้แม้ข้อเดียว พระวิปัสสกเถระนอกนี้ ทูลตอบปัญหานั้นได้ทั้งหมด.
ทีนั้น พระศาสดาตรัสถามปัญหาในโสดาปัตติมรรคกับเธอ. พระคันถิกเถระก็มิสามารถทูลตอบได้. แต่นั้น จึงตรัสถามกะพระขีณาสพเถระ. พระเถระก็ทูลตอบได้.
พระศาสดาทรงชมเชยว่า “ดีละๆ” แล้วตรัสถามปัญหา แม้ในมรรคที่เหลือทั้งหลายโดยลำดับ. พระคันถิกเถระก็มิได้อาจทูลตอบปัญหาได้สักข้อเดียว ส่วนพระขีณาสพทูลตอบปัญหาที่ตรัสถามแล้วๆ ได้. พระศาสดาได้ประทานสาธุการแก่พระขีณาสพนั้นในฐานะทั้งสี่. เทวดาทั้งหมด ตั้งต้นแต่ภุมเทวดา จนถึงพรหมโลกและนาคครุฑ ได้ฟังสาธุการนั้นแล้ว ก็ได้ให้สาธุการ.
พวกอันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกของพระคันถิกเถระ ได้สดับสาธุการนั้นแล้ว จึงยกโทษพระศาสดาว่า “พระศาสดาทรงทำกรรรมอะไรนี่? พระองค์ได้ประทานสาธุการแก่พระมหัลลกเถระผู้ไม่รู้อะไรๆ ในฐานะทั้งสี่, ส่วนท่านอาจารย์ของพวกเราผู้ทรงจำพระปริยัติธรรมไว้ได้ทั้งหมด เป็นหัวหน้าภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป พระองค์มิได้ทรงทำแม้มาตรว่า ความสรรเสริญ”
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวอะไรกันนี่?” เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเนื้อความนั้นแล้ว, ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ของพวกเธอ เช่นกับผู้รักษาโคทั้งหลาย เพื่อค่าจ้างในศาสนาของเรา, ส่วนบุตรของเรา เช่นกับเจ้าของผู้บริโภคปัญจโครส ตามชอบใจ” ดังนี้แล้ว ได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ น ภาควา สามญฺญสฺส โหติ.
อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ.
“หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมี ประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้ว ไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้, เขาย่อมไม่ เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น, หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้, เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือในโลกหน้า, เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล”
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหิตํ นี้ เป็นชื่อแห่งพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก, นรชนเข้าไปหาอาจารย์ทั้งหลาย เล่าเรียนพระพุทธพจน์นั้นแล้ว กล่าว คือบอก ได้แก่แสดงอยู่ ซึ่งพระพุทธพจน์แม้มากแก่ชนเหล่าอื่น (แต่) หาเป็นผู้ทำกิจอันการกบุคคลฟังธรรมนั้นแล้วจะพึงทำไม่ คือไม่ยังการทำไว้ในใจให้เป็นไป ด้วยอำนาจแห่งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ชั่วขณะแม้สักว่าไก่ปรบปีก, นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งผล สักว่าการทำวัตรปฏิวัตรจากสำนักของอันเตวาสิกทั้งหลายอย่างเดียว, แต่หาเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะไม่ เหมือนคนเลี้ยงโครักษาโคทั้งหลายเพื่อค่าจ้างประจำวัน รับไปแต่เช้าตรู่ เวลาเย็นนับมอบให้แก่เจ้าของทั้งหลายแล้ว รับเอาเพียงค่าจ้างรายวัน, แต่ไม่ได้เพื่อบริโภคปัญจโครสตามความชอบใจ ฉะนั้นแล.
เหมือนอย่างว่า เจ้าของโคพวกเดียว ย่อมบริโภคปัญจโครสแห่งโคทั้งหลายที่นายโคบาลมอบให้แล้ว ฉันใด, การกบุคคลทั้งหลายฟังธรรมอันนรชนนั้นกล่าวแล้ว ปฏิบัติตามที่นรชนนั้นพร่ำสอนแล้ว ก็ฉันนั้น, บางพวกบรรลุปฐมฌานเป็นต้น, บางพวกเจริญวิปัสสนาแล้ว บรรลุมรรคและผล, จัดว่าเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ เหมือนพวกเจ้าของโค ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งโครสฉะนั้น.
พระศาสดาตรัสคาถาที่ ๑ ด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ผู้มีสุตะมาก (แต่) มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ไม่ประพฤติแล้วในการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจแห่งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น, หาตรัสด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ทุศีลไม่ ด้วยประการฉะนี้.
ส่วนคาถาที่ ๒ พระองค์ตรัสด้วยอำนาจแห่งการกบุคคลผู้แม้มีสุตะน้อย (แต่) ทำกรรมในการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายอยู่.
บาทพระคาถาว่า ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี เป็นต้น ความว่า นรชนรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ประพฤติธรรมอันสมควรแก่โลกุตรธรรม ๙ คือประเภทแห่งธรรม มีปาริสุทธิศีล ๔ ธุดงคคุณ และอสุภกรรมฐานเป็นต้น ที่นับว่าข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้น ย่อมเป็นผู้ชื่อว่ามีปกติประพฤติธรรมสมควร คือหวังการแทงตลอดอยู่ว่า “เราจักแทงตลอดในวันนี้ เราจักแทงตลอดในวันนี้ ทีเดียว” ชื่อว่าย่อมประพฤติ.
นรชนนั้นละราคะ โทสะ และโมหะด้วยข้อปฏิบัติชอบนี้แล้ว กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้โดยชอบ คือโดยเหตุ โดยนัย มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว ด้วยอำนาจแห่งตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติและนิสสรณวิมุตติ. หมดความถือมั่นอยู่ในโลกนี้หรือในโลกอื่น คือไม่เข้าไปยึดถือขันธ์อายตนะและธาตุทั้งหลาย อันนับเนื่องในโลกนี้และโลกอื่น หรืออันเป็นภายในและภายนอก ด้วยอุปาทาน๔ ชื่อว่าเป็นมหาขีณาสพ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ คือผลอันมาแล้วด้วยอำนาจแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ กล่าวคือมรรค และคุณเครื่องเป็นสมณะคือกองแห่งอเสขธรรม.
การเรียนการศึกษามันถึงเป็นปริยัติ เพราะการเรียนการศึกษานี้ก็มันยังไม่ได้รับผลประโยชน์ มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อบรมบ่มอินทรีย์เน้นที่ปัจจุบัน เอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญามาใช้ในปัจจุบัน ที่ในปริยัติอธิบายเรื่องพระนิพพาน ถึงไม่มีใครอธิบายเรื่องพระนิพพานได้ เพราะว่ามันเหนือที่เราจะไปคิด จะไปปรุงแต่ง มันต้องละด้วยปัญญา มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพราะการที่เราวิ่งมาอย่างแรงมันจะหยุดทันทีมันก็ยังไม่ได้ มันต้องอาศัยมรรค มรรคคือการประพฤติ การปฏิบัติ อบรมบ่มอินทรีย์ ธรรมะมันเป็นสิ่งที่ทวนโลก ทวนกระแส ต้องรู้จัก เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้แหละ ตรงที่รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ที่มันอยู่กับเราในปัจจุบันทุกๆ คน เราไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพราก ไม่อยากให้เป็นอย่างนู้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ เราก็ถือว่าเราเป็นคนหลง ถือว่าเราเป็นคนบ้า เราต้องรู้จักสภาวะธรรม ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เราก็ไม่มีมรรค ไม่มีผล ไม่มีพระนิพพาน ถ้าไม่มีความเกิด ไม่มีความแก่ ไม่มีความเจ็บ ไม่มีความตาย
พระอานนท์เป็นพระโสดาบันยังไม่มีความเข้าใจ ทำความเพียรเพื่อจะเป็นพระขีณาสพ คิดว่าจะไปละ ไปปล่อย ไปวาง ไปทำอย่างไรมันก็ไม่ได้ ผลสุดท้ายก็ไปไม่ได้ หยุดคิด หยุดต้องการ ถึงได้บรรลุ ระหว่างที่จะกำลังจะเอนนอน
ในบรรดาพุทธสาวกทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า "พระอานนท์” เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าที่สุด เพราะมีตำแหน่งเป็นพุทธอุปัฏฐากหรือเทียบได้กับเลขานุการส่วนตัวของพระพุทธองค์ แต่น่าแปลกไหมว่าแม้ท่านจะได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะถึง ๕ ประการซึ่งเหนือกว่าเอตทัคคะผู้อื่น ท่านกลับสำเร็จอรหันตผลหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว และยังบรรลุธรรมกับนิพพานในท่าอิริยาบถที่ไม่เหมือนใคร
"พระอานนท์” เป็นพระราชโอรสของพระสุกโกทนะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางกีสาโคตมี มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระบรมศาสดา หรือพูดแบบสามัญก็คือเป็นลูกของอาเจ้าชายสิทธัตถะ และเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้าคือเกิดวันเดือนปีเดียวกัน ท่านออกบวชพร้อมกับเจ้าชายเพื่อนสนิทอีก ๕ องค์รวมกับอุบาลีผู้มีหน้าที่รับใช้โดยเป็นทั้งนายภูษามาลาและกัลบก (ช่างตัดผม) รวม ๗ คน ครั้นบวชแล้ว ได้ฟังโอวาทจากพระปุณณมันตานีบุตร ก็บรรลุพระโสดาบัน
ในช่วงปฐมกาลหลังตรัสรู้แล้ว ๒๐ พรรษา พระพุทธองค์ยังไม่มีพระภิกษุใดอยู่ประจำรับใช้ มีเพียงการเปลี่ยนเวรมาปฏิบัติ บางครั้งต้องประทับลำพัง ระหว่างรอผู้มาผลัดเวร หรือบางคราวพระภิกษุผู้ปฏิบัติก็ดื้อดึงขัดรับสั่ง ทำให้พระองค์ได้รับความลำบากพระวรกายไม่น้อย โดยเฉพาะขณะนั้นทรงเข้าสู่วัยชราแล้ว (อายุประมาณ ๕๕ ปี) จึงขอให้พระสงฆ์เลือกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมาทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก อยู่ประจำดูแลพระองค์ ซึ่งในตอนแรกก็มีภิกษุหลายรูปเสนอตนขอทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ทรงปฏิเสธไปหมด คงเหลือพระอานนท์ทำเฉยไม่ได้ทูลขอ พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเป็นนัย จนที่สุดภิกษุทั้งหลายก็ได้มีฉันทามติขอให้พระอานนท์รับหน้าที่ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นผู้มีสติปัญญา มีความขยันอดทน รอบคอบ อีกทั้งยังเป็นพระญาติใกล้ชิดย่อมทราบพระอัธยาศัยของพระพุทธองค์ได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนที่พระอานนท์จะยอมรับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก ท่านก็มีเงื่อนไขที่เรียกว่า "พร ๘ ประการ” ทูลขอต่อพระพุทธเจ้า นั่นคือ
๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้ว แก่ข้าพระองค์
๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้ว แก่ข้าพระองค์
๓. อย่าโปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
๔. อย่าพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้
๕. ขอพระองค์เสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
๖. ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเพื่อเข้าเฝ้าพระองค์ได้ ในขณะที่มาแล้ว
๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้เข้าเฝ้าทูลถามได้เมื่อนั้น
๘. ถ้าทรงแสดงธรรมเทศนาอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึงเหตุผลที่พระอานนท์ขอพรทั้งแปด ท่านก็ตอบว่าข้อ ๑-๔ มีไว้เพื่อป้องกันคนครหานินทาท่านว่า อยากเป็นพุทธอุปัฏฐากเพื่อหวังลาภสักการะ ส่วนข้อ ๕-๖ หากท่านไม่ขอไว้ ภายหน้าคนก็อาจหมิ่นท่านว่าอยู่ดูแลใกล้ชิดกับพระพุทธองค์เสียเปล่า แค่รับนิมนต์หรือพาใครเข้าเฝ้าก็สงเคราะห์ให้ไม่ได้ สำหรับข้อ ๗-๘ ก็เพื่อว่า ถ้ามีคนมาถามลับหลังถึงพระธรรมคำสอนว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสที่ไหน อย่างไร จะได้ตอบและอธิบายได้ ไม่เป็นที่ติฉินว่าพระอานนท์ติดตามพระองค์เหมือนเงา อยู่กับพระองค์นานกว่าใคร แต่เรื่องแค่นี้กลับไม่รู้ เมื่อได้ฟังพระอานนท์ตอบแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงประทานพรให้ตามที่ขอทุกประการ พระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐากและได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์อย่างดียิ่งนับแต่นั้น จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน รวมเป็นเวลา ๒๕ พรรษา
กิจที่พระอานนท์ทำประจำ ได้แก่ ถวายน้ำสรง ๒ ครั้ง ถวายไม้ชำระพระทนต์ ๓ ครั้ง คอยนวดพระหัตถ์ พระบาท และพระปฤษฎางค์(หลัง) คอยกวาดพระคันธกุฎีและบริเวณโดยรอย คอยรับใช้ใกล้ชิดอยู่ตลอด คิดอยู่เสมอว่าเวลานั้นเวลานี้พระองค์ควรจะได้ ควรจะทำอะไร ก็จะคอยทำให้ รวมถึงคอยจัดคิวเข้าเฝ้าฯ รู้ว่าเวลาใด ใครควรเข้าเฝ้า เป็นต้น เมื่อคราวที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานจึงได้ทรงตรัสชมว่า "อานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายธรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หากประมาณมิได้มาช้านานแล้ว เธอได้ทำบุญไว้มากแล้วอานนท์ เธอจงประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน" อาจกล่าวได้ว่าพระอานนท์เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ที่ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ท่านจึงเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับการสรรเสริญจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะถึง ๕ ประการ ได้แก่
๑. เป็นพหูสูต คือ สดับตรับฟังธรรมมาก และยังจำได้ ไม่ลืม
๒. เป็นผู้มีสติ ระลึกอะไรต่างๆ ได้รวดเร็ว ทำอะไรก็มีความรอบคอบ
๓. เป็นผู้มีคติ คือ มีหลักดำเนินชีวิต เป็นแบบฉบับแก่บุคคลทั้งหลายได้เป็นอย่างดี
๔. เป็นผู้มีความเพียร ในการปฏิบัตกิจการทุกอย่าง
๕. เป็นยอดพุทธอุปัฏฐาก ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน
ด้วยความที่ท่านฟังมาก จำได้มาก และไม่หลงลืมราวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันที่บรรจุข้อมูลของพระพุทธเจ้าไว้อย่างมากมาย ภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะจึงได้เลือกท่านเป็น ๑ ใน ๕๐๐ พระอรหันต์สาวกที่จะมาร่วมสังคายนาพระธรรมวินัย เพียงแต่ว่าในขณะนั้น พระอานนท์ยังเป็นแค่พระโสดาบัน ยังขาดคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมด้วย แต่อย่างใดก็เว้นท่านไม่ได้ เพราะเหตุผลข้างต้น ดังนั้น พระมหากัสสปะจึงให้โอกาสพระอานนท์ไปเร่งทำความเพียร ให้ทันกำหนดที่จะสังคายนาในอีก ๓ เดือนข้างหน้า ซึ่งท่านก็ได้พยายามเร่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่ายิ่งทำยิ่งห่างไกลจากความสำเร็จ แต่ท่านก็นึกได้ว่า ครั้งที่ตนร้องไห้เสียใจ เพราะคิดว่าจะไม่สามารถบรรลุอรหันต์ได้ในขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระองค์ก็ได้เรียกตนไปเข้าเฝ้าและตรัสว่า "อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันปฐมสังคายนา” คิดได้ดังนี้ ท่านจึงเร่งความเพียรให้มากขึ้นกว่าเดิม
"เหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวจะถึงวันประชุมสังคายนา แต่พระพุทธอนุชายังมิได้สำเร็จอรหัตตผล คงเป็นเพียงโสดาบัน ภิกษุบางรูปได้เตือนพระอานนท์ว่า ขอให้ท่านเร่งทำความเพียรพยายามเข้าเถิด พรุ่งนี้แล้วจะเป็นวันมหาสันนิบาต มีระเบียบว่าผู้เข้าประชุมทั้งหมดจะต้องเป็นพระขีณาสพ
ตั้งแต่เดินทางมาถึงเบญจคีรีนคร พระอานนท์ได้ทำความเพียรอย่างติดต่อเพื่อให้ได้บรรลุพระอรหัตต์ แต่หาสำเร็จตามประสงค์ไม่
ในคืนสุดท้ายนั่นเอง ท่านได้เริ่มทำความเพียรตั้งแต่อาทิตย์อัสดง ตั้งใจอย่างมั่นคงว่าจะให้ถึงพระอรหัตต์ในคืนนั้น ปฐมยามล่วงไปแล้วก็ยังไม่อาจทำอาสวะให้สิ้น ล่วงเข้าสู่มัชฌิมยาม พระพุทธอนุชาทำความเพียรต่อไปท่านระลึกถึงพระดำรัสของพระศาสดาที่ประทานไว้ก่อนปรินิพพานว่า "อานนท์! เธอเป็นผู้มีบุญที่ได้บำเพ็ญสั่งสมมาแล้วมาก เธอจะได้บรรลุอรหัตตผลในไม่ช้าหลังจากเราปรินิพพานแล้ว"
พระพุทธดำรัสนี้ก่อให้เกิดความมั่นใจแก่พระอานนท์เป็นอันมาก และความมั่นใจอันนี้อีกเหมือนกัน กระตุ้นจิตเร้าใจให้ท่านทำความเพียรอย่างไม่หยุดยั้งจวนจะถึงกึ่งมัชฌิมยามนั่นเอง ท่านคิดว่าจะพักผ่อนเสียหน่อยหนึ่งแล้วจะทำความเพียรต่อไปตลอดราตรี ท่านจึงลงจากที่จงกรมล้างเท้าให้สะอาดแล้วทอดกายลง ขณะล้มตัวลงศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน และยกเท้าขึ้นจากพื้นนั่นเอง จิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น พร้อมปฏิสัมภิทาและอภิญญาสมาบัติ ซึ่งเป็นเย็นก่อนวันสังคายนา ๑ วันตรงตามพุทธพยากรณ์พอดี ซึ่งอิริยาบถที่ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ได้เป็นท่ายืน นั่ง นอน หรือเดิน แต่เป็นท่าล้มตัวลงนอน จึงนับได้ว่าเป็นท่าพิเศษที่แปลกกว่าใคร อีกทั้งการที่ท่านได้บรรลุพระอรหันตผลหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๓ เดือน จึงกล่าวได้ว่า ท่านเป็นพระอรหันต์องค์แรกที่เกิดขึ้นหลังพุทธกาล
สำหรับการสังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา นอกเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระเจ้า อชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ มีพระมหากัสสปะเป็นประมุขสงฆ์ กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ โดยเรียกการสังคายนาครั้งแรกนี้ว่า "สังคายนาพระธรรมวินัย” เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีพระไตรปิฎก และได้ถ่ายทอดสืบกันมาด้วยระบบ "มุขปาฐะ” คือ การท่องจำ
หลายคนอาจจะสงสัยว่า พระอานนท์เก่ง ฉลาด และเยี่ยมยอดขนาดนี้ ทำไมจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ช้ากว่าคนอื่น เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ท่านทราบทฤษฎีมากมาย จากการฟังและจำที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เวลาเกือบทั้งหมดพระอานนท์ได้อุทิศถวายเป็นพุทธอุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้าผู้เป็นทั้งอาจารย์และพี่ชายไปหมดแล้ว ท่านจึงไม่มีเวลาลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง อีกทั้งการบรรลุเร็วหรือช้ายังต้องขึ้นกับเหตุปัจจัยหลายอย่างทั้งความพร้อมของอินทรีย์ ญาณ กาลวาระ ฯลฯ ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ตามแต่บุญบารมีที่สั่งสมกันมา มิใช่ว่าจะอาศัยความเฉลียวฉลาดของสติปัญญาอย่างเดียว
แล้วก็พระมหาศิวะที่สอนลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์ตั้งหลายหมื่น ตัวเองก็นึกว่าจะเสียสละ หรือว่าจะปล่อยวางใช้เวลากว่าจะเกิดสัมมาทิฏฐิ กว่าจะเข้าใจใช้เวลาตั้ง ๓๐ ปี เพราะทุกคนยังมีความคิดเห็นผิด เข้าใจผิด นึกว่าการปล่อยวาง แต่เรื่องจิตเรื่องใจมันไม่ใช่อย่างนั้น ทุกข์เป็นสิ่งที่กำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วก็ไม่ไปปรุงแต่ง ไม่ไปทำอะไร ถึงมีพระโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหันตมรรค ถึงมีการประพฤติการปฏิบัติที่ถูกต้อง มันถึงจะไปได้ ปัญญานี้ ถ้าปัญญามากกว่าสมาธิก็ไม่ได้ สมาธินี้ถ้ามากกว่าปัญญาก็ไม่ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงเป็นสิ่งที่เสมอกัน เพราะว่าทุกคนมีแต่จะทำอะไรตามใจ ตามปรารถณา มันเป็นความคิดที่ซ้ายจัด ขวาจัด ต้องพากันเข้าใจ เน้นที่ปัจจุบันไป ต้องอาศัยกาล อาศัยเวลา อาศัยการประพฤติ การปฏิบัติ เพราะความสุขของเรานี้ไม่ใช่เพื่อเราจะเอา จะมี จะเป็น อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง อยู่ที่เราเสียสละ ผู้ที่จะอธิบายเรื่องพระนิพพาน ถึงต้องอธิบายอย่างนี้ จะสำคัญว่าตายแล้วเกิดก็ไม่ใช่ สำคัญว่าตายแล้วศูนย์ก็ไม่ใช่ สำคัญว่าตายแล้วไม่เกิดไม่สูญก็ไม่ใช่ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี ต้องอาศัยความเข้าใจ และปฏิบัติถูกต้อง มันจะไปของมันเอง
การที่แก้ปัญหาของเราทุกคน ถึงต้องแก้ที่ตัวเราเอง ไม่ได้ไปแก้ปัญหาที่คนอื่น ทุกท่านทุกคนต้องพากันทำอย่างนี้ ปัญหาของตนเองถึงจะคลี่คลายและหมดปัญหาไปในที่สุด เราทุกคนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าไปทำอย่างอื่นเรียกว่าไม่ถูกต้อง เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเราก็จะเข้าสู่กายวิเวก คือกายที่สงบวิเวกอันมาจากใจที่มีความเห็นถูกต้อง ที่ไม่คิดไม่พูดไม่ทำ จึงนำเราสู่กายวิเวก พัฒนาสู่จิตวิเวก และอุปธิวิเวกในที่สุด