แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๖๔ ลอยกระทงให้เกิดปัญญา ปฏิบัติบูชาในวันดับขันธ์นิพพานของพระสารีบุตร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของกาลทานแห่งการทอดกฐิน แห่งการถวายผ้ากฐิน มีกำหนด ๑ เดือน ก็คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ช่วงเวลานี้ก็จะเป็นกาลทานคือการถวายผ้าพระกฐิน สำหรับพระภิกษุเอง เมื่อรับผ้ากฐินแล้วก็จะได้อานิสงส์การจำพรรษายืดออกไป ๔ เดือน และความสำคัญแห่งวันนี้
พิธีลอยกระทง สันนิษฐานว่าได้มาจากอินเดีย ตามลัทธิพราหมณ์เชื่อว่า ลอยกระทงเพื่อบูชาแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย และลอยเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่กลางเกษียรสมุทร
สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลายๆ อย่าง แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ได้แก่
๑. เพื่อเป็นการสักการะ รอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทา
๒. การลอยกระทงเพื่อ ต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
๓. การลอยกระทงเพื่อ บูชาจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
๔. เพื่อเป็นการบูชา พระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล พระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้
๕. และการลอยกระทงเพื่อ บูชาท้าวพกาพรหม บนพรหมโลก
๖. ลอยกระทงเพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการ ขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด
๗. เพื่อเป็นการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่างๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์
และวันนี้มีความสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นวันที่ดับขันธ์นิพพานของพระสารีบุตรเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวา ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้มีปัญญามาก คือเป็นมือขวาของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนตั้งแต่ต้นพุทธกาล
ท่านพระสารีบุตรเถระ เดิมชื่อว่า อุปติสสะ บิดาชื่อว่าวังคันตะพราหมณ์ มารดาชื่อว่านางสารีพราหมณี บิดาเป็นนายบ้านตำบลนาลกะหรือนาลันทา เพราะเป็นบุตรของนางสารีจึงได้นามว่า สารีบุตร ท่านเกิดในตำบลบ้านนาลกะหรือนาลันทา ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ เมื่อท่านเข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว เพื่อนสพรหมจารี (ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ในที่นี้หมายเอาภิกษุ) พากันเรียกท่านว่า พระสารีบุตร ทั้งนั้น
ตระกูลพราหมณ์ของบิดาอุปติสสมาณพ เป็นตระกูลที่ร่ำรวย สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติและบริวาร เมื่ออุปติสสมาณพเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ มีปัญญาเฉียบแหลมเล่าเรียนได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว และได้เป็นเพื่อน ที่ชอบพอรักใคร่กันกับโกลิตมาณพ โมคคัลลานโคตร ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และเป็นบุตรแห่งตระกูลที่ร่ำรวยเหมือนกัน เพราะว่าตระกูลทั้งสองนั้นเป็นเพื่อนกัน มีการติดต่อผูกพันกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพ ได้ไปเที่ยวดูเขาเล่นมหรสพในกรุงราชคฤห์ด้วยกันเป็นประจำ ขณะกำลังชมดูอยู่นั้นก็เกิดความร่าเริงในเวลาถึงบทสนุก เกิดความสลดใจ ในเวลาถึงบทเศร้า ถึงตอนชอบใจก็ให้รางวัลนักแสดงด้วย วันหนึ่งมาณพ ๒ สหายนั้นชวนกันไปดูมหรสพเหมือนวันก่อนๆ แต่ว่าไม่เกิดความสนุกสนานร่าเริงอะไรเลย คนที่กำลังแสดงอยู่นั้นอีกไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็จะต้องตายกันไปหมด
เมื่อมีความคิดตรงกันอย่างนั้น จึงได้พากันไปบวชเป็นลูกศิษย์ในสำนักของสัญชัยปริพาชก และได้เรียนความรู้จากอาจารย์จนหมดสิ้น จนอาจารย์ได้ให้ช่วยสั่งสอนศิษย์คนอื่นในสำนักนั้นด้วย แต่สองสหายนั้นยังไม่พอใจกับความรู้เพียงนั้น จึงได้ตกลงทำกติกานัดหมายกันว่าจะออกแสวงหาโมกขธรรม คือธรรมเครื่องหลุดพ้น จากกิเลสต่างๆ อันได้แก่พระนิพพานอีกต่อไป และถ้าใครพบโมกขธรรมก่อนขอให้กลับมาบอกแก่กัน
สมัยนั้น พระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว และได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนมหาชนยังสถานที่ต่างๆ เมื่อเสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์และประทับอยู่ที่พระมหาเวฬุวันมหาวิหาร
วันหนึ่งท่านพระอัสสชิผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ ผู้ที่พระบรมศาสดาทรงส่งออกไปประกาศพระศาสนา ได้กลับมาเฝ้า ในตอนเช้าท่านก็ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ อุปติสสปริพาชกเดินไปพบท่านในระหว่างทางก็เกิดความเลื่อมใสในจริยาวัตรของท่าน และได้ถามถึงครูอาจารย์พร้อมกับขอร้องให้แสดงธรรมให้ฟังด้วย
ท่านพระอัสสชิได้แสดงธรรมมีใจความย่อๆ ว่า "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุและความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้" อุปติสสปริพาชกได้ฟังแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุโสดาบัน แล้วกลับไปบอกข่าวเพื่อนโกลิตะ และแสดงธรรมให้ฟังตามที่ได้ฟังมาจนโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม เหมือนกัน จึงชวนกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา
ครั้นไปลาอาจารย์สัญชัยแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ทั้งสองคน ครั้นบวชแล้วภิกษุทั้งหลายพากันเรียกท่านว่า สารีบุตร และ โมคคัลลานะ
หลังจาก ได้อุปสมบทแล้ว พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่เหมาะแก่อุปนิสัยของพุทธบริษัท พวกภิกษุที่ร่วมฟังธรรมนั้นได้บรรลุพระอรหัตก่อน พระโมคคัลลานะอุปสมบทแล้ว ๗ วัน จึงได้สำเร็จพระอรหันต์ ฝ่ายพระสารีบุตรอุปสมบทแล้ว ๑๕ วัน จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ด้วยการฟังเทศนาชื่อว่า เวทนาปริคคหสูตร ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแก่ปริพาชกชื่อว่า ทีฆนขะะ ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฎ เมืองราชคฤห์ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระสารีบุตรอุปสมบทได้ ๑๕ วันแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่ถ้ำสุรขาตา เขาคิชฌกูฎ เมืองราชคฤห์ ปริพาชกคนหนึ่งชื่อ ทีฆนขอัคคิเวสนโคตร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลความเห็นของตนว่า "ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด" พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า "ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านต้องไม่ชอบใจความเห็นอย่างนั้น"
ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงแสดงทิฏฐิ ๓ อย่าง ให้ปริพาชกนั้นเห็นว่าเป็นโทษ และแนวทางละทิฏฐิ ๓ อย่างนั้น ลำดับนั้นทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ยึดมั่นอีกต่อไป ขณะนั้นพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) ของพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชก แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตามพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปทาน ส่วนทีฆนขปริพาชกได้เพียงดวงตาเห็นธรรม หมดสิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา แล้วทูลแสดงตนเป็นอุบาสก
ท่านพระสารีบุตร เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา พร้อมกับได้รับตำแหน่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางมีปัญญามาก" สามารถแสดงพระธรรมจักรและอริยสัจ ๔ ได้กว้างขวางพิสดารเหมือนกับพระพุทธเจ้า
ท่านพระสารีบุตร ยังมีคุณความดีอีกหลายประการที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง ในที่นี้จะขอกล่าวไว้เฉพาะที่สำคัญ ดังนี้
๑. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีความอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต ด้วยกัน มีตัวอย่าง เช่น เมื่อครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ พวกภิกษุพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับทูลลาจะไปชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เผื่อว่าท่านพระสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอนในการไปและการประพฤติปฏิบัติตัวในชนบทนั้น จะได้อยู่กันอย่างสำราญ ไม่มีความเดือดร้อนเสียหายอะไรขึ้น
๒. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็น เป็นคู่กับพระโมคคัลลานะ คือเป็นอัครสาวกฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ตามที่ตรัสตอนหนึ่งว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะเธอเป็นคนมีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรชิตทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วน้ัน สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น" เพราะเหตุนี้เองจึงมีคำยกย่อง พระสารีบุตรว่าเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย
๓. มีคำเรียกเพื่อยกย่องว่าพระสารีบุตร อีกอย่างหนึ่งว่า "พระธรรมเสนาบดี" ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า "พระธรรมราชา"
๔. พระสารีบุตรมีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน มีตัวอย่าง คือ พระยมกะมีความคิดเห็นว่าพระขีณาสพตายแล้วดับสูญ พวกภิกษุคัดค้านว่า เห็นอย่างนั้นผิด พระยมกะไม่เชื่อ แต่พวกภิกษุไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยชี้แจงแสดงให้ฟัง เธอจึงหายความสงสัยนั้น
๕. พระสารีบุตรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ตัวอย่าง เช่น ท่านได้ฟังเทศนาจากพระอัสสชิจนได้บรรลุพระโสดาบันแล้วมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา ท่านนับถือพระอัสสชิ ว่าเป็นอาจารย์ ทำการเคารพกราบไหว้อยู่เสมอ พอทราบว่าพระอัสสชิอยู่ทางทิศใด ท่านก็จะทำการยกมือไหว้และนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น อีกเรื่องหนึ่งท่นเป็นผู้ช่วยเหลือให้ราธพราหมณ์ผู้ต้องการจะอุปสมบทในพระธรรมวินัย แต่ไม่มีพระรูปใดยอมบวชให้ จนในที่สุดพระสารีบุตรระลึกถึงอุปการคุณที่ราธพราหมณ์ถวายข้าว ๑ ทัพพี ในสมัยที่เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ จึงช่วยเหลือให้ได้บวชตามความประสงค์
นอกจากนั้นแต่ละท่านพระสารีบุตรยังได้มีผลงานเฉพาะตัวอีกมาก ซึ่งต่างล้วนเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาทั้งสิ้นคือ
พระสารีบุตร ได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้สามเณรหลายรูปด้วยกัน อาทิ สามเณรราหุล สามเณรสุขะ สามเณรสังกิจจะ สามเณรทัพพะ ต่อมายังได้โน้มน้าวใจให้น้องชายคือ พระจุนทะ พระอุปเสนะ พระเรวตะ และน้องสาว คือ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ออกบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้เสนอแนะให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทเพื่อช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคง และยังได้ทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทำสังคายนา คือรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยอมรับและตรัสให้ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ท่านได้แสดงตัวอย่างด้วยการจัดหลักธรรมไว้เป็นหมวดหมู่ กล่าวคือ ธรรมที่มี ๒ ข้อก็จัดไว้หมวดหนึ่ง จนถึงธรรม ๑๒ ข้อก็จัดไว้เป็นอีกหมวดหนึ่งต่างหาก และภายหลังพุทธปรินิพพาน พระมหากัสสปะได้ประชุมสงฆ์จัดทำปฐมสังคายนาก็ได้จัดทำ ตามแนวที่พระสารีบุตรเสนอไว้ นอกจากนั้นท่านยังได้สอนพระลกุณฑกภัททิยะให้ได้บรรลุอรหัตผล และได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้พระราธะ ซึ่งพระลกุณฑกภัททิยะและพระราธะนี้ต่อมาได้รับยกย่องไว้ในเอตทัคคะ และจัดอยู่ในกลุ่มพระอสีติมหาสาวก
พระมหาโมคคัลลานะ ก็ได้เป็นอาจารย์ของหมู่คณะช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ท่านแสดงฤทธิ์ปราบบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ จำนวนมากให้คลายเห็นผิด แล้วหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อย่างเช่นที่เมืองราชคฤห์ ท่านได้แสดงฤทธิ์ปราบเศรษฐีมัจฉริยโกสิยะด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ บังหวนควันไฟ เดินจงกรมในอากาศ จนเขาเกิดความกลัวและยอมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ท้ายที่สุดก็ประกาศตนนับคือพระรัตนตรัย ท่านได้ปราบมารผู้มีความเห็นผิดด้วยวิธีการต่างๆ เช่นกัน จนมารยอมแพ้ นอกจากนั้นท่านยังได้ปราบนาคราชนันโทปนันทะ
อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระอัครสาวกทั้ง ๒ ทำงานสัมพันธ์กันอย่างได้ผล นั่นคือคราวที่พระเทวทัตประกาศแยกตนออกจากพระพุทธเจ้า แล้วพาพระวัชชีบุตรซึ่งเป็นศิษย์ของท่านไปอยู่ที่คยาสีสประเทศ พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระอัครสาวกทั้ง ๒ ไปแก้ปัญหา ผลปรากฏว่าท่านได้แสดงธรรมและพูดเกลี้ยกล่อมให้พระวัชชีบุตรกลับมาเข้าอยู่ในคณะสงฆ์ตามเดิม โดยปล่อยให้พระเทวทัตกับศิษย์ของท่านจำนวนหนึ่งอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว
แม้พระอัครสาวกทั้ง ๒ จะเกิดในวันเดียวกัน แต่โดยที่พระสารีบุตรได้บรรลุโสดาปัตติผลก่อน และยังได้กล่าวธรรมให้พระมหาโมคคัลลานะได้บรรลุตามด้วย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสยกย่องให้พระสารีบุตรเป็นพี่ ดังจะเห็นได้จากคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงแสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้นอีก ๗ วันจะถึงมหาปวารณาออกพรรษา พระมหาโมคคัลลานะได้ขึ้นไปเฝ้าแล้วทูลถามว่าจะเสด็จลงจากเทวโลก ณ เมืองไหน พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “โมคคัลลานะ สารีบุตรพี่ชายเธออยู่ที่ไหน” “จำพรรษาอยู่ที่เมืองสังกัสสะ พระเจ้าข้า” เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลให้ทรงทราบดังนั้น พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์จักเสด็จลงจากเทวโลก ณ เมืองสังกัสสะนั้นแหละ
๏ บั้นปลายชีวิต พระอัครสาวกทั้ง ๒ รูป มีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งถึงระยะปัจฉิมโพธิกาล (ระยะเวลาใกล้สิ้นยุคพุทธกาล) หลักฐานบางแห่งว่า ทั้ง ๒ ท่านนิพพานก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑ ปี คือนิพพาน ในปีที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๗๙ พรรษา
พระสารีบุตร นิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่บ้านของท่านเอง ด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) ดังมีเรื่องเล่าว่า
วันหนึ่ง ท่านเข้าผลสมาบัติอยู่ในที่พักกลางวันของท่านในวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ออกจากผลสมาบัติแล้วพิจารณาเห็นว่าพระอัครสาวกย่อมนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นท่านจึงได้ตรวจดูอายุสังขารของตนเองและเห็นว่าจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีก ๗ วันเท่านั้น ท่านได้พิจารณาต่อไปถึงสถานที่ที่จะไปนิพพาน ก็เห็นว่าควรจะไปนิพพานที่บ้านเกิด ทั้งนี้เพื่อจะได้โปรดโยมมารดาซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ให้ได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเห็นด้วยว่าโยมมารดามีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านแสดง
เมื่อปลงใจได้ดังนั้นแล้ว ท่านจึงแจ้งพระจุนทะผู้เป็นน้องชายให้ทราบ และบอกพระจุนทะให้แจ้งแก่บรรดาศิษย์ของท่านให้ทราบด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วท่านได้เก็บกวาดเสนาสนะ แล้วออกมายืนอยู่ที่หน้าเสนาสนะนั้น ท่านมองดูทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครั้งสุดท้าย แล้วพาพระจุนทะและพระบริวาร ๕๐๐ รูปเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
“ข้าแต่พระบรมศาสดา” ท่านกราบทูล หลังจากกราบถวายบังคมแล้ว “อายุของข้าพระองค์ใกล้สิ้นแล้ว ข้าพระองค์ขอกราบพระบาทเป็นครั้งสุดท้าย เพราะนับจากนี้ไปอีก ๗ วัน ข้าพระองค์จะได้ทอดทิ้งร่างกาย ขอได้ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระองค์นิพพานด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า” “สารีบุตร เธอจักไปนิพพานที่ไหน” พระพุทธเจ้าตรัสถาม “ที่บ้านเกิด พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพร้อมทั้งอนุญาต แล้วตรัสต่อไปว่า “ต่อนี้ไปภิกษุทั้งหลายจะไม่ได้เห็นพระสาวกเช่นเธออีกแล้ว ขอเธอได้ช่วยอนุเคราะห์แสดงธรรมให้ภิกษุทั้งหลายฟังก่อนเถิด”
ท่านเข้าใจถึงพุทธประสงค์ได้ดี จึงลุกขึ้นถวายบังคมรับพระพุทธดำรัส แต่ก่อนที่จะแสดงธรรม ท่านได้เหาะขึ้นไปสูงได้ชั่วลำตาล ๑ แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ได้เหาะกลับขึ้นไปอีกแล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าอีก ท่านทำอยู่อย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง กล่าวคือ ท่านเหาะขึ้นไปสูงสุดถึง ๗ ชั่วลำตาล และในแต่ละชั่วลำตาลนั้นท่านได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าทุกครั้ง ขณะที่เหาะอยู่สูงถึง ๗ ชั่วลำตาลนั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ต่างๆ มากกว่าร้อยแล้วจึงแสดงธรรม
ขณะที่แสดงธรรมอยู่นั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ด้วย โดยบางครั้งทำให้คนเห็นตัวท่าน แต่บางครั้งก็ทำให้ไม่เห็น คงให้ได้ยินแต่เสียง หรือให้เห็นเพียงครึ่งตัว เสียงของท่านบางครั้งก็ได้ยินจากข้างบน บางครั้งก็ได้ยินจากเบื้องล่าง ท่านยังปรากฏกายให้เห็นเป็นรูปต่างๆ บางครั้งเป็นรูปพระจันทร์ บางครั้งเป็นรูปพระอาทิตย์ บางครั้งเป็นรูปภูเขา บางครั้งเป็นรูปมหาสมุทร บางครั้งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ บางครั้งเป็นท้าวเวสสุวรรณ บางครั้งเป็นพระอินทร์ บางครั้งเป็นท้าวมหาพรหม ครั้นแสดงฤทธิ์และแสดงธรรมถวายตามพุทธประสงค์แล้ว ท่านก็ได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วเข้าไปประคองพระบาท พลางกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระบรมศาสดา ข้าพระองค์สู้สร้างบารมีมาช้านานนับได้ ๑ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ก็ด้วยตั้งใจจะได้ถวายบังคมพระบรมบาท”
จากนั้นท่านได้กราบถวายบังคมลา พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาส่งหน้าพระคันธกุฎี และตรัสบอกพระสาวกทั้งหลายในที่นั้นให้ไปส่งท่าน ครั้นถึงซุ้มประตูเชตวันมหาวิหาร ท่านบอกพระที่ตามมาส่งท่านให้กลับ พร้อมทั้งกล่าวสอนไม่ให้ประมาท
ท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเดินทางอยู่ ๗ วันก็ถึงอุปติสสคามบ้านเกิดของท่าน ที่เมืองนาลันทา แคว้นมคธ ท่านพร้อมด้วยคณะได้ยืนพักเหนื่อยอยู่ที่โคนต้นไทรใกล้ทางเข้าบ้านของท่าน และได้พบกับอุปเรวตะผู้เป็นหลานชาย จึงได้แจ้งความประสงค์ที่จะมาพักที่บ้านกับโยมมารดาให้หลานชายทราบ
ฝ่ายนางสารีโยมมารดาเมื่อได้ทราบว่า พระลูกชายพาพระบริวารมาเยี่ยม ก็รู้สึกดีใจเป็นกำลัง จึงสั่งคนงานในบ้านให้จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ จัดที่พักและตามประทีปไว้พร้อมสรรพ และเมื่อได้ทราบว่าท่านประสงค์จะพักในห้องที่ท่านเกิด นางสารีก็จัดให้ตามประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันก็สงสัยอยู่ว่า ทำไมพระลูกชายจึงได้พาพระบริวารมามากมายเพียงนี้ หรือว่ามาเพื่อจะสึก เมื่อท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเข้าพักในสถานที่ที่โยมมารดาให้คนจัดให้ตามประสงค์แล้ว
ตกดึกคืนนั้นเองท่านได้เกิดป่วยเป็นโรคปักขันธิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) อย่างปัจจุบันทันด่วน ท่านได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส พระจุนทะและพระบริวารได้ช่วยกันพยาบาลอย่างใกล้ชิด ฝ่ายโยมมารดาเห็นว่าท่านอาพาธหนัก จึงมาเฝ้าดูอาการด้วยความเป็นห่วง
ขณะนั้น เทวดาองค์สำคัญๆ ต่างมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านตามลำดับ คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักข์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสุยามา ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นยามา ท้าวดุสิต ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสุนิมมิตะ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และท้าวปรนิมมิตวสวัดดี ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี รวมทั้งท้าวมหาพรหมแห่งพรหมโลก ชั้นสุทธาวาสก็ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วย เทวดาและท้าวมหาพรหมนั้นแต่ละองค์ล้วนมีรัศมีเปล่งปลั่งงดงาม ต่างพากันมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วยความเป็นห่วงและด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
นางสารีเห็นเหตุการณ์นั้นตลอด เมื่ออาการของพระเถระค่อยบรรเทาลง นางได้เข้าไปหาและสนทนาด้วย โดยได้ถามถึงเทวดาองค์สำคัญๆ ที่มาเยี่ยมซึ่งนางไม่ทราบว่าเป็นใคร ท่านได้บอกให้โยมมารดา ได้ทราบตามลำดับจนกระทั่งถึงท้าวมหาพรหม “อุปติสสะ” โยมมารดาเรียกชื่อเดิมของท่านด้วยความอัศจรรย์ใจ “นี่ลูกของแม่ใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ” “ใช่...โยมแม่” ท่านตอบรับ
ทันใดนั้น โยมมารดาก็เกิดปีติอย่างใหญ่หลวง สีหน้าเอิบอิ่ม เมื่อได้ทราบว่าพระลูกชายยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมที่ตนเคารพ
“อุปติสสะลูกชายของเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของลูกชายเราเล่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน”
นางสารีคิดไปถึงพระพุทธเจ้า พระเถระสังเกตดูโยมมารดาตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าจิตใจเริ่มอ่อนโยน เหมาะจะรับน้ำย้อมคือคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้ จึงเริ่มแสดงธรรมโปรด โดยพรรณนาถึงพระพุทธคุณนานาประการ อาทิว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โยมมารดาฟังแล้วเลื่อมใสยิ่งนัก และเมื่อจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
พระเถระได้ตอบแทนพระคุณโยมมารดาด้วยการตอบแทนที่ล้ำค่า คือให้พ้นจากความเห็นผิดที่มีมานานเสียได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ ส่วนโยมมารดารู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่ไม่ได้สัมผัสอมตธรรม จึงพูดกับท่านเป็นเชิงต่อว่า ว่า
“ลูกรัก ทำไมจึงเพิ่งมาให้อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า”
หลังจากโยมมารดาได้ลากลับเข้าไปที่พักผ่อนแล้ว ท่านได้บอกพระจุนทะให้นิมนต์พระบริวารมาประชุมพร้อมกัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้สว่าง ท่านดูอิดโรยเต็มที แต่ถึงกระนั้นก็พยายามยันกายลุกขึ้นนั่ง โดยพระจุนทะคอยประคองอยู่ตลอดเวลา
“ท่านทั้งหลาย” พระเถระเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงแหบพร่า
“ผมกับท่านอยู่ด้วยกันมานานถึง ๔๔ ปี หากกายกรรมและวจีกรรมของผมอันใดไม่เป็นที่พอใจ ขอได้อภัยให้ผมด้วย”
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” พระบริวารกล่าวตอบ “พวกกระผมติดตามท่านมานาน ยังมองไม่เห็นกายกรรมและวจีกรรมอันใดของท่านที่ไม่เหมาะสมเลย แต่พวกกระผมสิจะต้องขอให้ท่านได้โปรดยกโทษในกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สมควร”
ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งหลายก็ขมาโทษพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรสำเร็จแล้ว แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้า พระมหาเถระก็เอาชายจีวรปิดหน้า เอนกายเบื้องขวาลงเหนืออาสน์ ยังสีหไสยาสน์ ท่านก็เข้าสมาบัติ เป็นอนุโลมปฏิโลมถอยหน้าถอยหลัง ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นที่สำราญแห่งพระอริยเจ้า ออกจากปฐมฌานแล้วก็เข้าทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นอนุโลม เป็นปฏิโลม ถอยหน้า ถอยหลัง ตั้งแต่จตุตถฌาน เป็นต้นไป ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้วจึงเข้าตติยฌาน ทุติยฌาน ปฐมฌาน เป็นปฏิโลม ถอยหลังลงมาฉะนี้ เมื่อพระมหาเถระกลับย้อนเข้าฌานเป็นอนุโลมขึ้นไปแล้ว ครั้นออกจากจตุตถฌาน ก็ดับสูญเข้าสู่พระอมตมหานิพพาน ทั้งวิบากขันธ์และกรรมชรูปก็ดับสิ้นลงอย่างสนิท ท่านนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในห้องที่ท่านเกิด ขณะนั้นก็เกิดอัศจรรย์หวั่นไหวไปทั้งโลก
ฝ่ายนางสารีพราหมณี เมื่อรู้ว่าพระมหาเถระดับสูญแล้ว ก็โศกาพิไรรำพันว่า แต่ก่อนตัวนางไม่รู้เลยว่า พระมหาเถระมีคุณถึงเพียงนี้ พอรู้ก็พอมาสิ้นชีวิตอินทรีย์เสีย ตัวนางตั้งใจจะกระทำการกุศลถวายไตรจีวร สร้างพระวิหารเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย แล้วนางจึงเอาทองคำออกมาโกฏิหนึ่ง ให้นายช่างทำบุษบกห้าร้อยยอด สำหรับไว้สรีระสังขารของพระมหาเถระ ทำพนมดอกไม้ ๕๐๐ สำหรับเป็นเครื่องบูชาพระมหาะเถระ
บรรดามหาชนที่มีศรัทธา ก็ชวนกันเล่นนักขัตฤกษ์ตามประสาสัปบุรุษ สิ้นคำรบ ๗ วัน ๗ ราตรี แล้วจึงกระทำเชิงตะกอนสำหรับปลงศพ เชิญพระศพขึ้นสู่เชิงตะกอน ถวายพระเพลิง ในเวลาเย็นของคืนที่ ๗ นั้น พระมหาเถระทั้งหลายก็แสดงพระธรรมเทศนาสิ้นราตรียังรุ่ง
ครั้งเพลาเช้า พระอนุรุทธิ์ ถือเอาน้ำหอมมาประพรมเถ้าถ่านเพลิงให้ดับสิ้น พระอนุรุทเถระเก็บพระธาตุเสร็จแล้วจึงเอาผ้ากรองน้ำห่อพระธาตุ จัดจีวรของพระสารีบุตรเถระ ปรารถนาจะนำไปถวายพระพุทธองค์ ณ เมืองสาวัตถี พระจุนทเถระได้นำพระธาตุกับบาตรจีวรไปสาวัตถี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระสารีบุตรเถระนิพพานแล้ว บาตรจีวรและพระธาตุที่ห่อมา เป็นของพระสารีบุตรเถระ
พระผู้มีพระภาครับเอาพระธาตุไว้ แล้วทรงเชิดชูในท่ามกลางพระสงฆ์ทั้งหลาย ตรัสว่า “ธาตุนี้มีสีขาวดังสีสังข์ เป็นธาตุแห่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวก พระธรรมเสนาบดีองค์นี้ได้สร้างบารมีมาช้านาน เป็นผู้มีปัญญาฉลาดยิ่งกว่าคนทั้งหลายในโลกธาตุ เว้นไว้แต่พระตถาคตผู้เดียว เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญายังมหาชนให้ชื่นชม มีปัญญารวดเร็ว มีปัญญาแหลมลึกละเอียด อาจจะกำจัดเสียได้ซึ่งคำปรัปปวาท อันเป็นเสี้ยนหนามในพระศาสนา มีสัลเลขสันโดษมักน้อยในจตุปัจจัยทั้ง ๔ ย่อมติเตียนผู้เป็นอลัชชีใจบาปหยาบช้า สงฆ์ทั้งหลายจงเร่งนมัสการคุณพระสารีบุตร อันประกอบด้วยคุณวิเศษเห็นฉะนี้” แล้วพระพุทธองค์ก็ให้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้ในพระเชตวนาราม เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะต่อไป
พระมหาโมคคัลลานะ นิพพานเมื่อวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ณ ถ้ำกาฬศิลา แคว้นมคธ หลังพระสารีบุตรนิพพานได้ ๑๕ วัน
วันหนึ่ง ท่านมาหวนพิจารณาถึงการที่พวกโจรพยายามตามฆ่าท่านว่าคงจะเนื่องมาจากกรรมเก่าที่ตามมาให้ผล ครั้นพิจารณาไปก็เห็นว่าชาติหนึ่งในอดีตชาติท่านได้ทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่าบิดามารดาตามคำยุยงของภรรยา บาปกรรมครั้งนั้นส่งผลให้ท่านไปเกิดในอเวจีมหานรกอยู่เนิ่นนาน ได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส แม้จะพ้นจากอเวจีมหานรกแล้วแต่เศษของผลบาปกรรมก็ยังมีอยู่และตามให้ผลตลอดเวลา จนมาในชาติปัจจุบันแม้จะได้บรรลุอรหัตผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ผลของบาปกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่นั้นก็ยังตามอยู่ เมื่อเห็นเป็นดั่งนี้ท่านก็ไม่คิดหนีอีก พวกโจรจึงจับท่านได้และทุบตีอย่างเคียดแค้น ผลก็คือร่างกายของพระเถระแหลกเหลว กระดูกแหลกละเอียดเหลือเป็นชิ้นๆ ขนาดเท่าเม็ดข้าวสารหัก เมื่อทุบจนหายแค้นแล้ว พวกโจรสำคัญว่าท่านมรณภาพจึงช่วยกันหามไปทิ้งไว้หลังพุ่มไม้แห่งหนึ่งใกล้ๆ ถ้ำกาฬศิลา นั้นแล้วหลบหนีไป
แม้จะได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส แต่พระเถระก็ยังไม่มรณภาพ ซึ่งเป็นธรรมดาของพระอัครสาวกหากยังไม่ได้ทูลลาพระพุทธเจ้าแล้วจะยังไม่นิพพานอย่างเด็ดขาด พระเถระยังคงมีสติมั่นคง ท่านเข้าฌานอธิษฐานจิตประสานกายให้ปกติดุจเดิมแล้วเหาะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน แคว้นมคธ เพื่อทูลลานิพพาน พระพุทธเจ้าทรงขอให้ท่านแสดงธรรม และแสดงฤทธิ์อย่างที่ทรงขอให้พระสารีบุตรได้ทำ ท่านได้ทำตามพุทธประสงค์ จากนั้นได้ก้มลงกราบพระบาทของพระพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเหาะกลับไปยังถ้ำกาฬศิลา ท่านนิพพาน ณ ที่นั่นเมื่อวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ดังได้กล่าวมาแล้ว
พระอัครสาวกทั้ง ๒ ได้ทำงานร่วมกันตลอดอายุขัย ได้ช่วยให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว และเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติทุกวรรณะในสังคมอินเดียครั้งกระนั้น ลืบทอดตราบจนทุกวันนี้