แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๖๒ พึงทำความเพียรในการข่มจิต ที่ชอบท่องเที่ยวไปในอารมณ์ตามความใคร่ ด้วยสติปัญญา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดข้าราชการ บริษัท ห้างร้านก็หยุด แต่สำหรับประชาชนก็ทำงานกันปกติ การทำงานกับการปฏิบัติธรรมก็ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกกันไม่ได้ พัฒนาทั้งงานและพัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน มีความตั้งมั่นในธรรมะ สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน วันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น ๒๔ ชม. เวลาเราตื่นอยู่ ๑๐ กว่าชั่วโมง เวลาเรานอนก็ ๖-๘ ชม. สำหรับผู้ใหญ่
ให้ทุกท่านรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราจะไปตามใจตัวเองไม่ได้ ตามอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เข้าหาเวลา ทุกท่านทุกคนก็พากันปฏิบัติอย่างนี้ นี้คือหาทางดำเนินชีวิตของเราที่ประเสริฐ พระพุทธเจ้าบอกเรา พวกเราอย่าเข้าใจผิด คิดว่าทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง มันจะดีน่ะ ทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ผู้ที่เกิดมาก่อนก็ต้องเป็นตัวอย่างแบบอย่างถึงจะเรียกว่าเป็นพ่อเป็นแม่ ให้เรามีความสุขในหน้าที่การงาน เพราะความสุขความดับทุกข์ของเราทุกคนมันต้องอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้มันถึงมี มันจะเลื่อนไปเรื่อย ผู้ที่ยังมีอวิชชา มีความหลง มีความไม่รู้ เราจะเอาแต่ความสุข ความดับทุกข์ในเรื่องทางกาย ในเรื่องทางวัตถุ เราถึงบริโภคทุกอย่างด้วยปัญญา สุขหรือทุกข์ เราต้องบริโภคสิ่งเกี่ยวข้องของเราด้วยปัญญา เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันมาปรากฏการณ์แก่เราที่ผัสสะ มันเกิดอารมณ์ เราอย่าไปหลง เพราะอันนี้มันเป็นอนิจจัง มันเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เราจะได้พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ต้องบังคับตัวเองเข้าหาเวลา เวลานี้มันผ่านไปเร็ว ใจของเรามันมีความเพลิดเพลิน มีความหลง ทางวิทยาศาสตร์ เค้าถึงพัฒนานาฬิกามาให้เรามาใช้งาน นาฬิกาที่ข้อมือ ที่ผู้หญิงผู้ชายเค้าใช้กัน หรือนาฬิกาปลุก นาฬิกาอยู่ในที่ส่วนรวม
ให้ทุกคนปรับกลับมาหาเวลานะ เราอย่าพากันอยู่เฉยๆ เราต้องหางานของเรามาเสียสละ อยู่เฉยๆ เหมือนคนบ้านนอก เหมือนคนโบราณไม่ได้ ไม่ดี ทำนาเสร็จ ปลูกข้าวเสร้จก็รอให้ข้าวมันแก่ เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก็ไม่มีงานอะไร ปล่อยให้ตัวเองว่างงานไปตั้งหลายเดือน อย่างนั้นมันว่างงาน ทุกคนนะอย่าให้ว่างงาน เราต้องมีความสุขในการทำงาน ต้องรู้จักนะ บางทีนะปล่อยให้ว่างงานเกิน บ้านก็สกปรก เพราะเราไม่รู้ สิ่งนู้นสิ่งนี้เราก็ไม่ได้ทำนะ ปล่อยให้เวลามันผ่านไป ผ่านไปด้วยการคุยกัน ด้วยการเล่นโทรศัพท์กัน คนเราต้องหางานมาทำนะ ต้องมีความสุขในการทำงาน อย่างเราเรียนหนังสือก็เพื่อที่จะรู้ดี รู้ชั่ว รู้ผิด รู้ถูก ตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อเราจะได้เอามาทำงาน เอามาใช้งาน
คนเราน่ะเรื่องจิตเรื่องใจนี้สำคัญนะ เพรราะเราทุกคนน่ะ มันมีอวิชชา มีความหลง มันมี sex มีเพศสัมพันธุ์ทางความคิด ในทางอารมณ์ มันคิดไปเรื่อยเราต้องรู้จัก อยู่ดีๆ หาเรื่องให้ตัวเองเป็นบาปเป็นกรรม ต้องรู้จักเบรคตัวเอง หยุดตัวเอง เราไม่รู้จักงานของตัวเอง อย่างพระเรานี้ก็เลยไม่ได้ทำหน้าที่พระกรรมฐาน เอาแต่นอน เอาแต่พักผ่อน ดูหนังฟังเพลง ในมือถือ ในโทรทัศน์ ไม่ได้ทำงานเรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องพระนิพพานเลย ปล่อยให้ใจของเราว่างงาน
ผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้นำต้องพาลูกพาหลานปฏิบัติ ผู้ที่มาบวชก็พาพระเณร พาประชาชนปฏิบัติ เราจะปล่อยให้มันอยู่ว่างๆ มันจะได้อะไร เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงมันต้องมีเหตุ มันถึงมีผล ถ้าเราไปตามใจตัวเอง ไปตามอารมณ์ตัวเอง เราก็ไม่เก่ง เราก็ไม่ฉลาด มันต้องพากันคิดเป็น วางแผนเป็นอย่างนี้นะ ถ้าเราเป็นเราถึงจะว่าเป็นชาวพุทธ คิดเป็นวางแผนเป็นปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องกัน อย่าไปเข้าใจผิดคิดว่าพากันมาปล่อยวาง อะไรก็ไม่ทำ อะไรก็ไม่เสียสละ อย่างนั้นมันว่างจากข้อวัตร ข้อปฏิบัติ ว่างจากความเป็นผู้มีสติมีปัญญานะ
หนุ่มน้อยสานุบวชเณรอยู่ในพระเชตวัน ไม่บอกว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์ บอกแต่ว่าเมื่อบวชแล้วก็ปรนนิบัติอุปัชฌาย์อย่างดี พร้อมทั้งมีมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ รู้จักต้อนรับอาคันตุกะด้วยอัธยาศัยไมตรี สานุสามเณรมีเสียงดี สวดพระธรรมด้วยทำนองสรภัญญะได้ไพเราะ ภิกษุทั้งหลายมักจะเชื้อเชิญให้เณรสวดบทธรรมให้ฟังเสมอ
เณรสานุคงรักแม่มาก ทุกครั้งที่สวดธรรมจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลจากการสวดธรรมนี้แก่มารดาข้าพเจ้า
ว่ากันว่าเวลามีคนอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ถ้าผู้ที่เขาอุทิศให้ไม่รู้ตัวและไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่ได้รับส่วนบุญนั้น ว่ากันอย่างนั้น มารดาสามเณรจึงไม่ได้อนุโมทนาบุญเพราะไม่รู้
แต่นางยักษิณีตนหนึ่ง อ้างว่าเคยเป็นมารดาของเณรในชาติก่อนรู้ว่าเณรอุทิศส่วนบุญให้ก็เปล่งวาจาอนุโมทนา พวกยักษิณีรวมทั้งเทวดา (คงเทพซีไม่สูงนัก) ต่างก็เกรงใจนางยักษิณีตนนั้น เวลาเธอไปไหนพวกยักษ์ ยักษิณีและเทวดาทั้งหลายต้องหลีกทางให้เพราะเธอเป็นแม่ “คนสำคัญ”
ความสำคัญของสามเณรอยู่ที่การมีศีลาจารวัตรอันงดงาม ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อเป็นหนุ่มเต็มที่ก็คิดอยากสึกไปครองเพศคฤหัสถ์ จึงถือบาตรและจีวรเดินออกจากวัดรูปเดียวมุ่งหน้าไปยังเรือนของมารดา มารดาก็แปลกใจที่เห็นบุตรมารูปเดียว เพราะตามปกติจะมาพร้อมกับอุปัชฌาย์บ้าง ภิกษุหนุ่มและเณรน้อยอื่นๆ บ้าง จึงเอ่ยปากถาม “อาตมาจะลาสึก โยม” เณรหนุ่มบอกมารดา
“สึกทำไมล่ะ ลูกบวชก็ดีอยู่แล้ว แม่ก็สบายใจที่เห็นลูกเจริญในพระศาสนา” แม่ตกใจไม่นึกว่าจะได้ยินคำพูดนี้จากปากลูกชาย
แม่อ้อนวอนให้ลูกชายบวชอยู่ต่ออย่างไร ลูกชายก็ไม่ฟัง คงตัดสินใจแน่วแน่แล้ว อย่างว่าล่ะครับ “ฝนจะตก ขี้จะแตก ลูกจะออก พระจะสึก ห้ามไม่ได้หรอก” โบราณว่าอย่างนั้น
เมื่อลูกชายยืนยันว่าสึกแน่ มารดาก็บอกว่า ไม่เป็นไร ลูกฉันข้าวยาคูเสร็จแล้วค่อยว่ากัน จึงรีบเข้าครัวตักข้าวสารใส่หม้อล้างน้ำ ในขณะที่เณรหนุ่มนั่งรออยู่ที่ระเบียง
นางยักษิณีแม่ในอดีตของเณรพอรู้ว่าลูกชายจะมาสึก จึงรีบมาเข้าสิงร่างของเณร โดยบิดคอเณรจนตาถลน น้ำลายไหลฟูมปาก ดิ้นตูมๆ แม่เณรและชาวบ้านร้องเอะอะโวยวาย พากันมาห้อมล้อม จุดธูปเทียนเซ่นสรวงผีสางไปตามเรื่อง
มารดาเณรร้องไห้คร่ำครวญว่า “ผู้ที่รักษาศีลในวันพระ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ รักษาศีล ๘ ศีลอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่ตอแยกับคนเหล่านี้ ฉันได้ยินอรหันต์ทั้งหลายพูดอย่างนี้ ไม่จริงเสียแล้ว ผีเข้าสิงสานุสามเณรบุตรของฉัน ต่อหน้าต่อตาฉัน”
นางยักษิณีพูดผ่านสามเณรว่า “ที่ท่านได้ยินนั้นถูกต้องแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายกล่าวไว้ไม่ผิดดอก แต่สามเณรบุตรอุบาสิกาไม่คิดประพฤติพรหมจรรย์ต่อแล้ว กำลังจะทำชั่ว ถ้าสานุฟื้นจงบอกเธอว่า อย่าคิดทำอย่างนี้ทั้งที่ลับและที่แจ้ง ขืนทำไม่ว่าจะหนีไปไหนก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ไปได้” ว่าแล้วก็ออกจากร่างสามเณร
สามเณรฟื้นขึ้นมาหลังนางยักษิณีเข้าสิงเพื่อขัดขวางไม่ให้สึก ลืมตาดูคนรอบๆ ข้างร้องไห้ฟูมฟาย ตัวเองก็นอนแอ้งแม้งบนพื้น จึงเอ่ยปากถามแม่ว่า “แม่ร้องไห้ถึงคนตายแล้ว หรือคนยังมีชีวิตอยู่ที่จากไป อาตมาเองก็ยังมีชีวิตอยู่ แม่ร้องไห้ถึงทำไม”
มารดาตอบทั้งน้ำตาว่า “โยมแม่มิได้ร้องไห้ถึงคนตายแล้วหรือจากไป ที่ร้องไห้เพราะสงสารคนที่ละกามแล้วเวียนกลับมาหากามอีก คนเช่นนี้ถึงมีชีวิตอยู่ก็เรียกว่าตายแล้ว ลูกถูกคนเขายกจากหลุมเถ้ารึงแล้วยังอยากตกลงไปอีก ถูกเขายกขึ้นจากเหวแล้วยังอยากตกลงไปอีก ลูกเป็นดุจของที่เขาขนออกจากไฟไหม้แล้ว ยังปรารถนาจะเข้าไปยังกองไฟอีกหรือ”
มารดาสามเณรพูดกับลูกชายโดยนัยอุปมาอุปไมย สามเณรฉลาดปราดเปรื่องอยู่แล้ว จึงตอบมารดาหลังจากนิ่งสงบไปพักหนึ่งว่า “อาตมาไม่ต้องการสึกแล้วล่ะ”
มารดาดีใจ หุงข้าวยาคูถวายสามเณรลูกชายฉัน ถามอายุลูก ทราบว่าอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงจัดแจงให้เธออุปสมบทเป็นพระภิกษุ
พระสานุมีประสบการณ์เกี่ยวกับจิตของตัวแล้ว รู้ว่าจิตของคนเรานี้มันแวบไปโน่นไปนี่ ชอบครุ่นคิดแต่เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิดคำนึงที่น่าพึงพอใจ จึงพยายามบังคับจิตของตน
ต่อมา พระศาสดาทรงทราบปัญหาของพระหนุ่ม เมื่อจะทรงยังความอุตสาหะในการข่มจิตให้เกิดขึ้น แก่เธอผู้อุปสมบทแล้วไม่นาน จึงตรัสว่า "ธรรมดาว่าจิตนี้เที่ยวจาริกไปในอารมณ์ต่างๆ ตลอดกาลนาน ชื่อว่าความสวัสดี ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ข่มจิตนั้นลงไปได้ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรทำความเพียรในการข่มจิต เหมือนนายหัตถาจารย์ทำความพยายามในการข่มช้างซับมันด้วยขอฉะนั้น"แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-
“อิทํ ปุเร จิตฺตมจาริ จาริกํ เยนิจฺฉกํ ยตฺถกามํ ยถาสุขํ
ตทชฺชหํ นิคฺคเหสฺสามิ โยนิโส หตฺถิปฺปภินฺนํ วิย อํกุสคฺคโห.
จิตนี้ เมื่อก่อนนี้ ชอบท่องเที่ยวไปในอารมณ์ตามความใคร่ ตามความพอใจ ตามสบาย วันนี้เราจะไม่ปล่อยมันเป็นเช่นนั้นอีก เราจะข่มมันโดยอุบายที่แยบคาย ดุจดังควาญช้างถือขอบังคับช้างตกมันฉะนั้น”
“ขอ” ในที่นี้พระองค์ทรงใช้ศัพท์ว่า “โยนิโส” อันหมายถึง “โยนิโสมนสิการ” นั่นเอง แปลกันว่า อุบายอันแยบคาย อุบาย คือเทคนิควิธีแยบคายหรือรอบคอบ ถูกต้อง เหมาะสม พูดกันด้วยภาษาสามัญก็คือ ให้ใช้ปัญญาควบคุมจิต ปัญญาจะเป็นตัวบอกเองว่า จะทำอย่างไร แค่ไหน
พระเซนรูปหนึ่งคิดว่าการจะบรรลุต้องปฏิบัติเคร่งครัด ไม่เหมือนใคร จึงขึ้นไปนั่งสมาธิบนยอดไม้ ไม่กินไม่นอนเป็นเวลา ๓ วัน อาจารย์เซนเดินมาพบเข้าจึงถามว่าไปทำอะไรอยู่บนนั้น
พระหนุ่มตอบว่า “ผมกำลังนั่งสมาธิเพื่อเป็นพุทธะ”
อาจารย์เซนได้ยินดังนั้นจึงคว้าก้อนอิฐข้างทาง มาถูกับมือจนเลือดไหล พระหนุ่มถามว่า ท่านทำอะไร อาจารย์บอกว่า ผมจะถูให้มันเป็นกระจกใส
พระหนุ่มบอกว่า ท่านจะบ้าเรอะ ท่านถูกจนมือขาดมันก็เป็นกระจกไม่ได้ อาจารย์สวนทันทีว่า “คุณจะบ้าเรอะ คุณนั่งจนกลายเป็นลิงก็เป็นพุทธะไม่ได้”
ในเรื่องเล่าว่า พระหนุ่มได้เข้าถึง “ซาโตริ” (การรู้แจ้ง) นี้คือตัวอย่างเทคนิควิธีที่ไม่ใช้ปัญญา ดีว่าได้อาจารย์เป็นกัลยาณมิตร จึงไม่เดินหลงทาง
สานุสามเณรได้รับการชี้แนะจากพระพุทธองค์ พิจารณาตามกระแสดำรัสก็ได้บรรลุพระอรหัตผล กล่าวกันว่า ท่านเป็นธรรมกถึกเอก สอนชาวชมพูทวีปให้ซาบซึ้งในรสพระธรรม ดำรงชีพอยู่นาน ๑๒๐ ปีจึงดับขันธ์
การประพฤติการปฏิบัติธรรมะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คน 'มาแก้ที่กาย' คือ การกระทำของเรา อันไหนไม่ดีไม่ถูกต้อง ไม่ให้เราทำ ถึงเราจะเคยทำที่แล้วๆ มาต้องหยุด 'มาแก้ที่วาจา' คือ คำพูดของเรา อันไหนไม่ดีเราอย่าไปพูด มาเปลี่ยนคำพูดเราใหม่ มาปรับปรุงคำพูดใหม่ เพราะคนเราทุกคนมันเปลี่ยนแปลงตัวเองได้... แม้แต่เราพูดดี เราพูดถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้เราพูดมากเกิน มาเปลี่ยนแปลงความคิด...' อันไหนมันไม่ดีก็อย่าไปคิด มันอยากคิดเราก็ไม่คิด แม้สิ่งนั้นมันดี ถ้ามันมากเกินท่านก็ไม่ให้เราคิด ให้อดให้ทน ถ้าเราไม่อดไม่ทนน่ะ แม้เราจะมีความรู้เราจะเป็นคนฉลาดน่ะ เราก็ไม่อาจสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีไปไม่ได้
ปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นแก่เรานี้ มันไม่ใช่มาจากคนอื่น มันมาจากตัวของเราเองเกิดจากการกระทำของเราเอง เราทุกๆ คน ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ต้องพากันอดพากันทน ให้ทุกท่านทุกคนน่ะทำใจให้สงบ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มาพินิจพิจารณาตัวเองว่า กาย วาจา ใจของตัวเองส่วนไหนมันบกพร่อง เราจะได้แก้ในส่วนนั้นๆ เพื่อจะให้การแก้ปัญหาของเรานั้นถูกต้อง สิ่งอื่นๆ ให้ทุกท่านทุกคนถือว่ามันเป็นโอกาสที่ให้เราได้ฝึกจิตใจ สร้างบารมี สร้างความดีสร้างคุณธรรม ประการแรก... ต้องให้ 'ใจ' ของเราสงบ ต้องให้ 'สติสัมปชัญญะ' ของเราสมบูรณ์ สติ นั่นแหละคือ 'ศีล' 'สมาธิ' สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว นั่นแหละคือตัว 'ปัญญา' ถ้าเราไม่มีสติ เราไม่มีสมาธิ การทรงตัวของเรามันก็ทรงตัวไม่ได้เพราะใจของเราไม่สงบ
'ความอยาก' ของเราน่ะมันมีกับเราทุกๆ คนนะ มันเผาหัวจิตหัวใจของเรา...เป็นเปลวเพลิงเปลวไฟ ร้อนรนไปหมด "เรายังไม่ตายน่ะมันก็ถูกความอยาก ความต้องการนี้เผา..."
พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักใจตัวเอง รู้จักอารมณ์ตัวเอง เพื่อจะได้หยุดตัวเอง เพื่อให้ใจของเรามันสงบ ให้ใจของเรามันเย็น เพื่อจะได้ให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์ คนเราน่ะ ถ้าใจของเรามันอยู่กับอนาคต มีความหวังอยู่กับอนาคตน่ะ ทุกคนย่อมมีความทุกข์แน่ เราพยายามมาแก้กาย วาจา ใจของตัวเองในปัจจุบัน เพื่อเป็นคนไม่วิ่งตามความคิดตามอารมณ์
'ปัจจุบัน' เป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ไขตัวเอง... พระพุทธเจ้าน่ะท่านให้เราทุกคนไม่ต้องมีความอยาก ไม่ต้องมีความต้องการ 'ต้องเป็นคนขยัน ต้องเป็นคนเสียสละ'
คนเรานี้แหละถ้าคิดว่าร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ใช่ของเราน่ะ มันเลยไม่อยากทำอะไร เพราะเรายังมีความเห็นผิด เรายังไม่เข้าใจ เมื่อไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มันเลยปล่อยมันเลยวาง ความขี้เกียจขี้คร้าน ความง่วงเหงาหาวนอนมันเลยมาครอบงำเรา ให้เราไม่อยากทำอะไร อยากอยู่ว่างๆ อยากอยู่เฉยๆๆๆ เพราะทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เรา
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า.... เมื่อทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เราน่ะ เราต้องขยัน เราต้องเสียสละ เราต้องเป็นผู้ให้แก่คนอื่น เพราะเราทุกๆ คนน่ะไม่อยากให้คนอื่น เพราะทุกอย่างเป็นของเรา เป็นของพ่อ ของแม่ ของญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลของเรา มันมีเราทั้งนั้น เมื่อมันมี 'เรา" เมื่อไหร่ มันก็ต้องทุกข์ทันที
“เราพยายามพากันมาเสียสละ งานนี้เป็นงานใหญ่ งานนี้เป็นงานละอัตตาตัวตน เป็นงานละสักกายทิฏฐิ ถือเนื้อถือตัวถือตน”
ความรู้สึกที่มันเป็นตัวเป็นตนนี้ มันทำให้ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอย่างไม่มีที่จบที่สุด เรามีความรู้สึกในการพักผ่อนที่สบาย เรามีความรู้สึกในการลิ้มรสอาหารที่อร่อยๆ เรามีความรู้สึกฟังเสียงไพเราะ เรามีความรู้สึก ในการเห็นรูปสวยๆ น่ะ ความรู้สึกอย่างนี้ ท่านเรียกว่า 'อัตตาตัวตน' น่ะ มันทำให้ทุกคนยึดมั่นถือมั่น ทำให้ทุกคนหลงในเหยื่อ หลงในความสุข มันเป็นเหตุแห่งความเพลินแห่งความเพลิดเพลิน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า...."ในหมู่สัตว์โลกมวลมนุษย์ทั้งหลายน่ะ... พากันเพลิดเพลินอยู่ หลงอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาข้องอยู่ไม่" เพราะว่านี้มันเป็นเหยื่อของโลกให้คนติดอยู่ในโลก
สิ่งเหล่านี้น่ะมันทำให้สติสัมปชัญญะของเราทุกคนไม่สมบูรณ์ทำให้ไขว้เขว... ทุกๆ ท่าน ทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะที่แข็งแรงเพื่อจะหยุดตัวเอง เบรกตัวเอง ที่จะได้อบรมบ่มอินทรีย์ ให้มันติดต่อ...ต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย จะไม่ได้ปล่อยเวลาให้จิตใจของเราไปหมกมุ่นครุ่นคิด...ลุ่มหลง...จมอยู่ในสงสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นหน้าที่ของเราทุกๆ คนจะต้องตัด จะต้องละ จะต้องวาง
ทุกๆ ท่าน ทุกคนน่ะพยายามอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น เห็นโทษเห็นภัยในวัฏฏสงสารน่ะ อย่าให้สิ่งต่างๆ มันมาครอบงำจิตใจของเรา ความรู้สึกที่ว่า... เป็นตัวเรา เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงวงศ์ตระกูลนี้ หรือวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ น่ะ สิ่งต่างๆ ที่มันมีอยู่กับสื่อมวลชน ที่มันกำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้อย่าให้มันมาครอบงำจิตครอบงำใจของเราได้ ให้มีสติสัมปชัญญะไว้ เดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะผ่านไปเอง
ข้อสำคัญ 'สมาธิ' ของเราต้องแข็งแรง ใจ' ของเราต้องแข็งแรง เราต้องเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาทุกๆ อิริยาบถ เพราะการปฏิบัติธรรมมันไม่ใช่การนั่ง การเดิน การนอน มันอยู่ที่หัวใจของเราที่มันอยู่ทุกหนทุกแห่งน่ะ คือ การกระทำของเรา การกระทำของเรานั้น มันมีทั้งรูปแบบ นอกรูปแบบ เราทุกคนต้องปฏิบัติได้ ทำได้ทุกหนทุกแห่ง เราทุกคนต้องทำได้ เราไม่ต้องรอกาล รอเวลา รอสถานที่
ปฏิบัติใหม่ๆ เราก็อาจจะคิดว่าเป็นของยาก เพราะเราต้องฝืนความรู้สึก ฝืนความเคยชิน ที่จิตใจของเรามันไหลลงไปที่ต่ำ เหมือนกับน้ำ ที่มันใหลจากภูเขาสูงตั้งเก้าสิบองศา อันนี้มัน เป็นความรู้สึกของเรา นี้มันเป็นกรรมของเรา ที่มันพากันติดความสุข ติดความสบาย เราเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้แก้ตัวเอง สนองความอยากความต้องการจนมันเป็นความเคยชิน ใจ' ของเรานี้แหละ ถ้ามันนึกคิดขึ้นมาเราต้องหยุดทันที ถ้าเราปล่อยให้มันคิดสองครั้ง สามครั้ง สี่ครั้ง มากๆ เข้าน่ะ ทุกคนไม่มีใครเก่งที่จะหยุดมันได้
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... "สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง" "การไม่ทำบาปในทางความคิดด้วยประการทั้งปวง" เรามองดูสิ่งหยาบๆ ที่เรามองเห็นน่ะ อย่างคนเค้าติด บุหรี่ ติดเหล้า ติดยาม้ายาอีอย่างนี้ เพราะเค้าเป็นคนใจอ่อน ทำตามความรู้สึกนึกคิด ใจแข็งไม่พอ หรือขาดสติเพราะว่าไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้าเค้ายับยั้งจิตไม่นึกไม่คิด ทุกคนก็สามารถที่จะละได้ หยุดได้
คนเราน่ะที่มันโกรธถึงกับแสดงความก้าวร้าว ถึงด่า ถึงว่า ถึงตี ถึงฆ่าน่ะ...เพราะเราไม่ได้หยุด ไม่ได้ยับยั้งตัวเอง จนทำให้ทุกอย่างมันเสียหาย 'ความคิด' นี้แหละมันมีทั้งคุณและโทษนะ อันไหนที่จะทำให้เรามันตกต่ำน่ะ ทุกคนต้องให้รู้ด้วยตัวเอง อดเอาทนเอา ฝืนเอา เพื่อให้มันเกิดมรรค...เกิดปฏิปทา...ผลมันถึงจะเกิดได้ ถ้าเรารู้เฉยๆ ... เข้าใจเฉยๆ น่ะ ถ้าไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีการอด ไม่มีการทนน่ะ ทุกคนจะเป็น 'อริยชน' ไปไม่ได้
เราเห็นคนฉลาดเห็นคนเก่ง แต่ทุกคนก็หมดสภาพ เพราะแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ ถูกกิเลสมันถลุง ถูกกิเลสมันครอบงำ จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่นิ่ง ทุกๆ คน ต้องถือว่าเป็นคนโชคดีเป็นคนที่มีโอกาสเพื่อจะได้ฝึกจะได้ปฏิบัติ เพื่อจะได้ทบทวนจิตใจให้ตัวเองเข้าสู่พระนิพพานให้ได้ "เพราะว่า 'พระนิพพาน' มันไม่ได้อยู่ไกล มันอยู่ที่จิตที่ใจของเราในชีวิตประจำวัน"
ความเคยชินของคนทุกคนน่ะ เค้าเรียกว่า 'กรรมเก่า' ดูๆ แล้วคนนั้น ๆ น่ะมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงนิสัยเก่า 'มันก็เหมือนเก่า' เพราะว่าไม่มีภาคปฏิบัติเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทุกๆ คน ถึงต้องไปเน้นที่จิตที่ใจ ถึงจะได้ทำประโยชน์ตนแล้วก็เป็น 'ประโยชน์ท่าน' ไปในตัวด้วยความไม่ประมาท
ทุกท่านทุกคนอย่าไปหา... ความสุข ความดับทุกข์ที่มันไม่ได้แก้ไขตัวเรา 'มันเสียเวลา' อย่างเราพากันอยู่ไปวันๆ ด้วยการทำงาน ถ้าเราไม่ได้แก้ไขตัวเอง ไม่ได้ปรับปรุงตัวเองน่ะ ท่านว่า... "มันเป็นการเสียเวลานะ"
'ใจ' ของเรานี้แหละมันผัดวันประกันพรุ่ง มันขอโอกาส ขอเวลาไปเรื่อยแหละ 'มันอุทธรณ์' ไปเรื่อย ความคิดของเรา นี้มันมีมาตั้งแต่เราจำความได้ ต่อไปมันก็คิดอย่างนี้แหละ มันไม่ยอมแก้ไขตัวเอง มันไม่ยอมประพฤติปฏิบัติน่ะ ทั้งที่ทุกๆ คนมีโอกาส มีเวลาที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง
บางคนบอกว่าไม่มีเวลาเพราะงานมาก ไม่มีเวลาที่จะปลีกตัวไปอยู่วัด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... "มันไม่ใช่อย่างนั้น" เราจะทำงาน หรือว่าอยู่ที่บ้านในครอบครัวในสังคม นั่นแหละคือการประพฤติการปฏิบัติ คือการแก้จิตแก้ใจของเรา เพื่อให้จิตใจของเราจะได้เกิดมรรคเกิดผล
เรื่องของคนอื่นก็ให้เป็นเรื่องของคนอื่น เค้าไม่ปฏิบัติก็ช่างเขา แต่เราต้องสร้างความดีสร้างบารมีทุกหนทุกแห่ง ปรับใจของเรา ปรับคำพูดของเรา ปรับการกระทำของเรา เพื่อกาย วาจา ใจของเราจะได้เป็นศีลเป็นธรรมอยู่ทุกหนทุกแห่ง
เราอย่าไปคิดว่า เราปฏิบัติขวางโลก ปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น กลัวคนอื่นเค้าว่า การปฏิบัติธรรมนั้นน่ะมันไม่ขวางคนอื่น คนอื่นเค้าไม่ว่า เพราะในโลกนี้เค้าต้องการ 'คนดี'
เค้าให้เราเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนจบดอกเตอร์ เพื่อให้เราเป็นคนที่สียสละและมีคุณธรรม เค้ารับเราเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อเราจะได้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม เสียสละ รับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เค้าให้เราเป็นผู้จัดการน่ะ เพื่อเราจะได้เป็นคนที่ "เสียสละ มีคุณธรรม รับผิดชอบ"
เค้าแต่งตั้งให้เราเป็นโน่นเป็นนี้น่ะ เรายังไม่รู้เหรอว่าเค้ามอบให้เราเป็นคนรับผิดชอบ เป็นคนมีคุณธรรม เป็นคนที่เสียสละ "ให้เรา ทุกคนรู้นะว่า ทุกคนเขาต้องการให้เราเป็นคนดี"
เราทำดีก็กลัวไม่พออยู่พอกิน กลัวเสียเปรียบ กลัวคนเอาเปรียบ อันนี้เป็นความคิดเห็น ที่ผิดพลาดมาก นี่เรายังไม่รู้จักความดีความถูกต้องที่แท้จริง เราอย่าไปเอา 'โลกธรรม' ให้มาครอบงำจิตใจของเราให้มันขุ่นมันมัว เราอย่าเอาคนอื่นเป็นที่ตั้ง เอาสังคมที่ยังไม่ได้มาตรฐานเป็นที่ตั้ง ต้องเอาความดี ความถูกต้อง ความเสียสละเป็นที่ตั้ง ต้องเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองมีสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ มีความสุขความสงบ ความร่มเย็นอยู่ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนทำอะไรทั้งที่บ้านที่ทำงาน การประพฤติการปฏิบัติน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเข้าใจอย่างนี้ จะได้พากันประพฤติ ปฏิบัติให้ถูกต้อง สร้างความดี สร้างบารมี สร้างคุณธรรมกัน "การประพฤติการปฏิบัติน่ะพระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ที่ตัวเองอย่างนี้"
ให้ทุกคนน่ะ... พินิจพิจารณาศึกษาทำความเข้าใจ อย่าไปเข้าข้างตัวเอง ปรับตัวเองเข้าหาธรรม" เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง อยู่ที่บ้านก็รักษาศีล ๕ ไหว้พระ เรานั่งสมาธินี้แหละ... เราอย่าไปอยากให้มันสงบ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ถ้าอยากให้สงบเราต้องเป็นทุกข์แน่
เรานั่งสมาธิ ก็คือ นั่งสมาธิ ไม่ใช่อยากให้มันสงบ เรามีหน้าที่หายใจเข้าก็ให้รู้สบาย มีหน้าที่หายใจออกก็ให้รู้สบาย ความสงบนั้นเค้าเกิดของเค้าเอง เป็นของเค้าเอง มีโอกาส มีเวลาอันสมควร พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เรามาวัด มาเข้ากรรมฐานกัน เพื่อบำเพ็ญ "เนกขัมมะบารมี" เพื่อเอา ความสุขความดับทุกข์ทางจิตใจ เพื่อจิตใจของเราจะได้ปราศจากนิวรณ์ทั้งหลายทั้งปวง