แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๖๑ ประโยชน์สูงสุดของการบวชและการปฏิบัติธรรม ต้องเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เรายังไม่เข้าใจในการประพฤติในการปฏิบัติ แล้วไม่มีการประพฤติการปฏิบัติเลย เค้าออกลูกออกหลานกันทั้งโลกทั้งประเทศ เพราะเขามีเพศสัมพันธ์ทางร่างกายตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนไปถึงวัยชรา นั่นคือเป็นปลายเหตุ แต่ต้นเหตุคือเราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราไปปล่อยให้ใจของเราไปตามความหลงไปตามความคิดไปตามอารมณ์ ที่เรียกว่ามีเซ็กส์ทางความคิดมีเซ็กส์ทางอารมณ์ หรือว่ามีเพศสัมพันธ์ทางความคิดทางอารมณ์
ปัญหาทุกอย่างเรามักจะพากันไปแก้แต่ที่ปลายเหตุ เราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เป็นนักบวชก็บวชแต่กาย แต่ใจไม่ได้บวช ถือศาสนาทุกศาสนาก็ถือแต่แบรนด์เนมเฉยๆ ไม่ได้เข้าสู่ระบบเรื่องจิตเรื่องใจ ไม่ได้เข้าสู่อริยมรรค พระพุทธเจ้าก็ทรงบอกชัดเจนอยู่แล้วว่าสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้น อยู่ที่อริยมรรคมีองค์ ๘ และสมณที่ ๑-๔ ก็จะไม่มีเลยในที่ที่เราไปทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่เรียกว่าธรรมวินัย เรียกว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ ระดับต้นก็คือศีล ๕ ระดับกลางก็ศีล ๘ ศีล ๑๐ ระดับสูงสุดศีล ๒๒๗
ให้ทุกคนเข้าใจ เพราะเรายังกินของเก่าหรือว่าของเสีย ของบูดของเน่าของเสีย เหมือนกับเราบริโภคอุจจาระปัสสาวะน้ำเลือดน้ำหนองของตัวเอง เราจึงต้องรู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราต้องเน้นที่ใจของเราในปัจจุบัน เราจะได้เข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านทรงบำเพ็ญบารมีมาตั้งหลายล้านชาติ มาบอกมาสอนเราอย่างนี้แหละ รู้มั้ยว่าทุกคนบริโภคของเก่ากรรมเก่าที่เราโง่ ที่เรารับจ้างมาเกิด เราต้องรู้จักระบบความคิดระบบอารมณ์ เราต้องรู้จักความคิด เราจะปล่อยให้ตัวเองคิดเหมือนคนไม่มีเจ้าของได้ยังไง
การประพฤติการปฏิบัติต้องติดต่อต่อเนื่อง เราจะไปทิ้งศีลได้อย่างไร เราจะไปทิ้งสมาธิความตั้งมั่นได้อย่างไร เราจะไปทิ้งปัญญาได้อย่างไร ต้องพากันประพฤติพากันปฎิบัตินะ ที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ต้องมีอยู่กับเราทุกอิริยาบถ ที่เรานั่งสมาธิตอนเช้าตอนเย็นหรือว่าตอนกลางวันนั้นเป็นอาหารเสริม เราต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติใครๆ ก็สนใจธรรมะ อยากมีการสอบอารมณ์ คนเราน่ะจะสอบอารมณ์กี่อาจารย์กี่พระพุทธเจ้า แต่ไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติ มันจะมีประโยชน์อะไร เพราะว่ามันขัดหลักเหตุและผล มันต้องมีวิทยาศาสตร์ทางวัตถุและวิทยาศาสตร์ทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน คือพัฒนากายวาจาใจให้เป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตา
ชีวิตของเรามันจะได้ง่ายขึ้น เราอย่าไปวุ่นวายมัน คนจนก็ดับทุกข์ได้ คนรวยก็ดับทุกข์ได้ ทุกคนก็ดับทุกข์ได้ ทุกชาติทุกศาสนาก็ไปอย่างนี้แหละ เราจะได้ไม่เมาหมัดกัน จะได้ไม่หลงกัน อย่างนี้ไม่ไหวนะ พระพุทธเจ้าให้เรารู้จัก ทุกท่านทุกคนจะได้แก้ปัญหาตัวเราเองตัวท่านเอง เราต้องรู้จักการประพฤติการปฏิบัติของเรานะ พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้บอกผู้สอน เราก็ต้องเป็นผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติ ให้ฟังพระพุทธเจ้า เราอย่าไปเชื่อแต่ตัวเอง จะได้ชื่อว่าถือนิสัยของพระพุทธเจ้า อย่าได้ถือนิสัยของตัวเอง นิสัยโง่ๆ อย่างนี้ โง่แล้วก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองโง่ ยังไม่ใช่คนฉลาดนะ คนที่เอาตัวตนเป็นใหญ่นะ นี่คือมหานรกนี่คือมหาอเวจี ทุกท่านทุกคนต้องรู้จักนะต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องกัน ทุกเมื่อทุกอิริยาบถ เหมือนลมหายใจที่หายใจที่ติดต่อต่อเนื่องอย่างนี้แหละ เค้าเรียกว่าปฏิบัติสม่ำเสมอ ไม่ได้เกี่ยวกับพระวัดบ้านวัดป่า ไม่ได้เกี่ยวกับผู้บวชผู้ไม่ได้บวช เพราะเราเข้าถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะมันอยู่ที่ใจอยู่ที่เจตนาอยู่ที่ตั้งใจอย่างนี้แหละ
การบวชพระ การปฏิบัติธรรมนี่นะ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ ว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ประเสริฐมาก เป็นการเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ การที่จะมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คนพากันตั้งอกตั้งใจ พากันประพฤติปฏิบัติธรรม ตั้งใจรักษาศีลให้ดีทุกข้อ อย่าให้ขาดตกบกพร่อง
กิจวัตรประจำวันต่างๆ นั้นถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศล เช่นนั่งสมาธิร่วมรวมกันในศาลา หรือว่าในกุฏิที่พักต้องทำให้ได้ทุกวัน อย่าให้ขาดตกบกพร่องไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะคนเรามันชอบเข้าข้างตัวเอง ทำวัตรสวดมนต์ก็อย่าให้ขาด บิณฑบาตก็อย่าให้ขาด พยายามตั้งอกตั้งใจภาวนา ไม่ให้คลุกคลี ไม่ให้พูดคุยกับคนอื่นในหมู่คณะ เพราะคนเรามันอยู่กับความสงบไม่เป็น อยู่กับตัวเองไม่เป็น ที่อยู่ได้ก็อยู่ได้กับการงาน การพูดคุย เครื่องบันเทิงต่างๆ เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ฯ
ตัวเราที่ผ่านๆ มาส่วนใหญ่ก็อยู่กับสิ่งเหล่านั้น... เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม มาบวช พระพุทธเจ้าท่านให้ตัดสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้หมด ทุกคนทุกท่านต้องตัดให้หมด ไม่มียกเว้นใครๆ ทั้งสิ้น การบวช การปฏิบัติของเราถึงจะมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ถ้าไม่อย่างนั้น การมาอยู่วัดของเรา การมาบวชของเราก็จะไม่ได้ผล แต่กลับมีบาปมีอกุศลติดตามเราไปด้วย
ให้ทุกท่านทุกคนปฏิบัติให้ได้... การปฏิบัติธรรมมันเป็นสิ่งที่ทวนโลก ทวนกระแส ทวนอารมณ์ ทวนจิตใจของเราที่ชอบตกไปสู่ที่ต่ำ ไหลไปสู่ที่ต่ำ เราพยายามมาบวชทั้งกาย มาบวชทั้งใจ ถ้าเรามีแต่กายมาบวช แล้วไม่เอาใจมาบวช ถือว่าไม่ได้ผล
เรามองดูที่ผ่านๆ มาน่ะ ยากที่ทุกคนจะได้ดี เพราะว่าไม่ได้ตั้งอกตั้งใจ ใจอ่อน เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาความต้องการตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ปรารภธรรม ปรารภวินัย เป็นคนหลงความสุขทางร่างกาย ความสุขทางวัตถุ ไม่ได้เน้นถึงความสุขความดับทุกข์ ถึงพระนิพพานที่จิตที่ใจ
พระพุทธเจ้าน่ะท่านพาเราทิ้งทางโลกทางวัตถุหมด พระพุทธเจ้าตั้งแต่ท่านเสด็จออกบรรพชา จนถึงดับขันธปรินิพพาน ท่านตัดทางโลกทางวัตถุหมด ไม่รับเงิน...รับปัจจัย รองเท้าก็ไม่ทรงใส่ ถืออยู่ป่า อยู่โคนไม้ ฉันอาหารหนหนึ่งเพียงหนเดียว ไม่ติดในลาภ ยศ สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ไม่ต้องการผลประโยชน์อะไรในโลกนี้ทั้งสิ้น
เรามาบวชมาประพฤติปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาให้เรารู้ความหมายอย่างนี้ เรามาตั้งอกตั้งใจ 'อบรมบ่มอินทรีย์' ถึงจะเหนื่อยก็ช่างมัน ยากลำบากก็ช่างมัน ถึงจะผอม... จะดำก็ช่างมัน เพราะมาเน้นที่จิตที่ใจ ไม่ได้เน้นทางกาย เราพยายามตัดโลกออกจากใจของเรา ถึงแม้ว่าเราจะไม่บวชตลอดชีวิต เราก็ตั้งใจ เราจะบวชตลอดชีวิต เราก็ตั้งใจ ความขี้เกียจขี้คร้านมันมีมากทุกคนนะ จะเคลื่อนไหวอะไร มันก็ไม่อยากเคลื่อนไหว ยิ่งตอนเช้าตี ๓ มันไม่อยากตื่น แต่มันต้องตื่น ต้องฝืน ต้องทน การชนะสิ่งต่างๆ ท่านว่ายังไม่สู้ชนะจิตใจตัวเอง
ผู้ที่บวชมาแล้วให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ดีๆ ให้เกิดมีคุณธรรมขึ้นภายในจิตใจให้เป็นพระอริยะเจ้าให้ได้ ให้เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของเพื่อนพระภิกษุ สามเณร ญาติโยม ให้ตัวเราเองกราบตัวเองได้ อย่าคอยแต่หวังพึ่งครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้อยู่กับเราตลอด ถ้าเรายังปฏิบัติตัวเองยังไม่มีคุณธรรมพอ มันจะไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะสวดมนต์ให้พร ก็ออกเสียงไม่เต็มที่ไม่มีพลัง พอถึงคราวที่จะต้องพูดธรรมะจะสั่งสอนญาติโยมก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะตัวเองก็ยังปฏิบัติไม่ได้ ไม่กล้าที่จะสบตากับครูบาอาจารย์ ญาติโยม เพราะมีความผิดอยู่ในใจ เราไม่ต้องไปกลัวว่าเราไม่เก่งเทศน์สอนไม่ได้
ให้เราตั้งใจทำข้อวัตรปฏิบัติให้ดี ไม่ให้ขาดตกบกพร่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วเป็นการเทศน์การสอนไปในตัวแล้ว เราไม่ต้องไปสนใจว่าจะมีญาติโยมมาศรัทธาเลื่อมใสมากหรือน้อย จะมีปัจจัยข้าวของเครื่องใช้หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวศาสนา ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริง ไม่ปฏิบัติออกไปทางโลก ทีนี้ไม่อยากมีก็ต้องมี ไม่อยากได้ก็ต้องได้ ทุกวันนี้จุดมุ่งหมายของการบวชเริ่มจะผิดเพี้ยนไป คิดว่าการมีชื่อเสียงมีลาภสักการะเป็นจุดมุ่งหมายของการบวช
การสร้างวัด ๑๐ วัด ๒๐ วัด ก็ยังไม่เท่ากับการมีพระอริยะเจ้าครูบาอาจารย์องค์เดียว ถ้าเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติแล้ว เราก็จะเป็นที่พึ่งพิง เป็นได้ทั้งอาจารย์ของพระ อาจารย์ของเณร อาจารย์ของอุบาสกอุบาสิกา ของเด็กๆ ได้ แต่ถ้าคุณธรรมของเราไม่มีพอก็จะเป็นได้แต่อาจารย์ของเด็ก อาจารย์ของเณร อาจารย์ของญาติโยม ไม่สามารถเป็นครูบาอาจารย์ให้ความร่มเย็นเป็นหลักจิตหลักใจ ชี้แนะแนวทางให้กับพระภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันได้
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่บวชมาแล้วไม่ก้าวหน้าในการประพฤติปฏิบัติ คือ ตัวเองเป็นคนอ่อนไหวอยู่แล้วก็ยังไปอนุโลมกฎกติกาข้อวัตรการปฏิบัติตามเพื่อนฝูงพระภิกษุสามเณรที่บวชใหม่และบวชเก่าอีก อนุโลมตามญาติโยมที่ถวายความสะดวกสบาย ที่ถวายปัจจัยไทยทานด้วยความเกรงใจหรือสงสาร ก็เลยทำให้เกิดความเสียหายแก่ตนเองและพระศาสนา.
เราไม่ต้องไปมองว่า... คนโน้นปฏิบัติไม่ดี คนนี้ปฏิบัติดี คนนี้กิเลสมาก คนนั้นปฏิปทาน่าเกลียด เราไม่ต้องไปมอง ถ้าเราเป็นคนฉลาด เป็นคนตั้งอกตั้งใจ ส่วนมากก็จะมองเห็นโทษของคนอื่น เมื่อเห็นโทษคนอื่นแล้ว เราจะหมดกำลังใจ หมดศรัทธา เพราะว่าส่วนใหญ่คนที่มาประพฤติปฏิบัติไม่ได้มีใครสำเร็จเป็น 'พระอรหันต์' ส่วนใหญ่ก็เป็นสามัญชนเหมือนกับเรา ถ้าเราไปเอาตัวอย่างเขา เอาแบบเขา คงไม่ได้ ต้องเอาตัวอย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น ไม่อย่างนั้นเราก็คิดอยู่อย่างนั้นว่า คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ จิตใจของเราก็กลายเป็นอันธพาลไป
ต้องเมตตาสงสารคนอื่นให้มาก... คนอื่นจะกิเลสมาก กิเลสน้อย ก็ช่างหัวมัน เราก็กลับมาแก้ที่จิตที่ใจของเรา ไม่ต้องไปแก้คนอื่น
อยู่ในโลกสังคมเมืองมนุษย์นี้ 'คนเห็นแก่ตัว' มันมีมาก... เปรียบเสมือนวัวตัวหนึ่งขนมันมีเยอะ เขามีแค่ ๒ เขา อย่างนี้เป็นต้น เราพยายามเอาพระพุทธเจ้าไว้เป็นหลัก แม้นพระรูปนั้นจะบวชมาหลายปีหลายพรรษา เป็นพระมัชฌิมา พระเถระ ถ้ามันไม่ดี ไม่ถูกต้อง เราก็เฉย เราถือว่าเป็นเรื่องของคนอื่น
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้ย่อหย่อนอ่อนแอ ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะบวชหลายปี หรือว่าเป็นพระเถระ ถ้าไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็มีแต่สร้างกรรมให้แก่ตัวเองและเป็นแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้ สัจธรรม คือ ความจริง เค้าไม่ได้มีว่าพระเก่า พระใหม่ ถ้าใครไปจับไฟก็ร้อนทั้งพระใหม่ พระเก่า
พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พยายามทำความดี ปฏิบัติหน้าที่ให้มีความสุข กายอยู่ที่ไหนก็ให้ใจมันอยู่ที่นั่น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขาดสติ ๑ นาที ก็บ้า ๑ นาที อย่าไปหลงทางวัตถุ เราหลงมาหลายภพหลายชาติแล้ว พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่าไปโง่ ให้วัตถุกามคุณมันเผาจิตเผาใจ ต้องหยุดตัวเอง อดกลั้นอดทน ถ้าเราไม่อดกลั้นอดทน จิตใจของเรานี้ไม่มีทางที่จะสงบ ไม่มีทางที่จะเย็นได้ เพราะจิตใจของเรามันตกอยู่ในอำนาจของความมืด คือกามคุณทั้งหลาย มันหลงวัตถุ ของออกมาใหม่ๆ มันก็ยิ่งหลง
เรามาบวชมาปฏิบัตินี้ต้องตัดใจ ต้องข่มใจ ฝืนกิเลส ฝืนใจของตัวเอง ทำทุกวัน ปฏิบัติทุกวัน "ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะ 'ความรู้เราท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอด' เพราะไม่มีการปฏิบัติกาย ปฏิบัติใจ" ต้องเอาสติสัมปชัญญะมาฝึกกาย นั่ง เดิน บริโภคอาหารก็ให้รู้แล้วก็ให้มันสงบ อย่าให้มันวุ่นวาย เพราะใจของเรานี้มันหยุดไม่เป็น มันสงบไม่เป็น บังคับตัวเองให้มันเย็นไว้นะ ที่เราว่าขยัน มันยังไม่ขยัน ที่มันกลัวยากลำบาก กลัวเจ็บ กลัวปวด แสดงว่าเรายังไม่ขยัน
'โลกส่วนตัว โลกอัตตาตัวตน' พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกคนหยุดไว้ก่อน ให้มาปรับใจเข้าหาข้อวัตรปฏิบัติ เราทุกคนพ่อแม่เราก็ดีใจ ญาติพี่น้องเราก็ดีใจ ว่าลูกหลานมาประพฤติปฏิบัติธรรมะคงจะช่วยให้เราดีได้ เจริญได้ ทุกท่านเค้าพากันคิดอย่างนี้นะ
บวชมาทุกคนเค้ากราบเราหมด ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้สมกับการที่รับกราบ รับไหว้ รับอัญชลี เวลาสิกขาลาเพศไป เราไปทำธุรกิจการงานก็ไม่ค่อยเจริญ อุปสรรคปัญหามาก ถ้าเราบวชมาเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เวลาสิกขาลาเพศไป เราไปทำธุรกิจการงานก็เจริญ แล้วในชีวิตประจำวันก็เจริญไปด้วย ทุกอย่างนั้นมันก็จะดีหมด เพราะธรรมะช่วยเราได้บุญกุศลที่จะได้ส่งถึงพ่อแม่ บูชาพระคุณบุคคลที่ประเสริฐ จึงต้องบวชบวชให้มันได้บุญจริง เพราะการประพฤปฏิบัติมันมีผล มันมีความหมาย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ประเสริฐมาก
ที่วัดไหนไม่เอาตามพระพุทธเจ้า 100% อย่าไปบวช บวชแล้วได้บุญน้อย หรือไม่ก็ได้บาป เพราะเราทุกคนต้องถือนิสัยพระพุทธเจ้า เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ อย่างนี้แหละ ต้องยกจิตยกใจเข้าสู่ภาคสนาม ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ คนเราต้องมีฉันทะมีความพอใจในการกระทำ อิทธิบาทธรรมจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในสิ่งทั้งปวง อย่าไปบวชเหมือนที่ส่วนใหญ่เขาทำกัน การบวชเน้นที่จิตที่ใจ ไม่ได้เน้นที่กายภายนอก พระพุทธเจ้าไม่ได้มีแห่รอบโบสถ์แห่รอบศาลา ไม่ได้จัดงานบวชมีกินเลี้ยงมีมหรสพ ถ้าทำอย่างนั้นท่านก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า การบวชต้องทำง่ายๆ เรียบง่ายมากที่สุด เน้นที่ใจ เน้นที่เจตนา เน้นที่การปฏิบัติ ยังไงช่วง covid มารวมตัวกันเยอะก็ไม่ดี ต้องเข้าใจ พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนต้องเข้าใจ ให้คิดในใจเลยว่า ลูกของเรานี้โชคดี ได้มาประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแท้ๆ เราจะจัดงานแบบเอาหน้าเอาตาไปทำไมกัน หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวไว้ในหนังสือคู่มือมนุษย์ว่า
แม้แต่พิธีรีตองต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพช เช่า การจัดสำหรับคาวหวานผลหมากรากไม้เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้า อย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีได้ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกันอย่างเคร่งครัด
พิธีรีตองต่างๆ ทำนองนี้ ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมายจนหุ้มห่อของจริง หรือความมุ่งหมายเดิมให้สาบสูญไป ขอยกตัวอย่างเช่นในเรื่อง การบวชนาค ก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้านบวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น
การบวชสมัยพระพุทธเจ้า นั้นหมายความว่าบุคคลใดที่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว ก็ปลีกตัวจากบ้านเรือนเป็นคนที่ทางบ้านตัดบัญชีทิ้งได้ ไปยู่กับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ โอกาสเหมาะสมเมื่อไรท่านก็บวชให้ โดยมิได้พบหน้าบิดามารดาญาติพี่น้องเลย จนตลอดชีวิตก็ยังมี แม้บางรายจะมีกลับมาเยี่ยมบิดามารดาบ้าง ก็ต่อโอกาสหลังซึ่งเหมาะสม แต่ก็มีน้อยเหลือเกินในพุทธศาสนามีระเบียบว่ามาบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลสมควร และพึงทราบไว้ด้วยว่าพวกที่บวชนั้นไม่ได้เวียนมาบ้าน ไม่ได้บวชในที่ต่อหน้าบิดามารดา ไม่ได้ฉลองกันเป็นการใหญ่แล้ว ไม่กี่วันสึก สึกแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้นไปกว่าเดิม อย่างที่เป็นกันอยู่ในเวลานี้
เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆ ตลอดถึงการฉลองอะไรๆ เหล่านั้นว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆ อย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป เช่นการบวชก็กลายเป็นเรื่อสำหรับแก้หน้าเด็กหนุ่มๆ ที่ถูกหาว่าเป็นคนดิบ หาเมียยากอะไรเหล่านี้เป็นต้น ในบางถิ่นบางแห่ง ถือเป็นโอกาสสำหรับรวบรวมเงินที่มีผู้นำมาช่วย เป็นการหาทางร่ำรวยเสียคราวหนึ่ง ถึงอย่างนั้นเขาก็เรียกว่าพุทธศาสนา ใครไปตำหนิติเตียนเข้าก็จะถูกหาว่าไม่รู้จักพุทธศาสนา หรือทำลายศาสนา
เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่ วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อย ๆ มา กระจายไปทุกทิศทุกทาง จนกระทั่งบัดนี้เลยมีเนื้องอก ก้อนโตๆ อย่างมากมาย
พวกเราเองจะไปอ้างเอา "พุทธศาสนาเนื้องอก" มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอก เหล่านี้ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสี อย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรม เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา แต่เป็น "เนื้องอก" พวกเราที่จะช่วยกันจรรโลง พระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่ง แก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักจับฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่กล่าวมาแล้ว
แก่นของพระพุทธศาสนาที่ทรงหมายถึงในที่นี้ คือ วิมุตติความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ส่วนศีล สมาธิ และปัญญานั้นเป็นเพียงสะเก็ด เปลือกและกระพี้ของพระพุทธศาสนา มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า
บางคนมีศรัทธาออกบวช เมื่อบวชแล้ว ก็ได้ลาภสักการะเป็นอันมาก พอใจหลงใหล ในลาภสักการะนั้น ยกตนข่มผู้อื่นเพราะลาภสักการะนั้น เต็มความปรารถนา (เห็นไปว่าการได้ลาภสักการะ และความนับถือนั้นเป็นผลสูงสุดของการบวช จึงไม่ขวนขวายเพื่อให้มีคุณธรรมยิ่งขึ้นไป)
เขาอยู่อย่างประมาท เมื่อประมาทก็อยู่เป็นทุกข์ เปรียบเหมือนคนต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก้นไม้ในป่า แต่เนื่องจากไม่รู้จักแก่นไม้ ได้กิ่งและใบ สำคัญหมายว่าแก่น เขาย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ ในกิจที่จะต้องทำด้วยแก่นไม้
บางคนไม่เต็มความปรารถนาอยู่เพียงลาภสักการะและชื่อเสียง จึงทำศีลให้สมบูรณ์แล้วพอใจ เต็มความปรารถนาอยู่เพียงแค่ศีลนั้น (ศีลเปรียบเหมือนสะเก็ดไม้)
บางคนไม่เต็มความปรารถนาเพียงแค่ศีลจึงไม่ประมาท ทำสมาธิให้สมบูรณ์ แล้วพอใจอยู่เพียงสมาธินั้น เปรียบเหมือนแสวงหาแก่นไม้ ได้เปลือกไม้แล้วพอใจ เข้าใจว่าเป็นแก่น
บางคนไม่เต็มความปรารถนาเพียงสมาธิ ไม่ประมาท ทำปัญญาให้เกิดขึ้น แล้วพอใจในปัญญานั้นเต็มความปรารถนา เหมือนคนแสวงหาแก่นไม้ ได้กระพี้แล้วพอใจ เข้าใจว่าเป็นแก่น
บางคนไม่เต็มความปรารถนา เพียงแค่ลาภสักการะและชื่อเสียงศีล สมาธิ และปัญญา เขาทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เรียกว่าได้ถึงแก่นของพระพุทธศาสนา
รวมความว่า ถ้าเปรียบพรหมจรรย์ หรือพระพุทธศาสนาเหมือนต้นไม้ทั้งต้น
๑. ลาภสักการะและชื่อเสียง เปรียบเหมือนใบและกิ่ง
๒. ศีล เปรียบเหมือนสะเก็ด ๓. สมาธิ เปรียบเหมือนเปลือก
๔. ปัญญา เปรียบเหมือนกระพี้ ๕. วิมุตติ เปรียบเหมือนแก่น
พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้ จึงประมวลลงได้ว่า “เราประพฤติพรหมจรรย์นี้มิใช่เพื่อลาภสักการะ และชื่อเสียง มิใช่เพื่อศีล สมาธิ ปัญญา (ญาณทัสนะ) แต่เราประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อความหลุดพ้นแห่งจิตอันไม่กำเริบ (อกุปฺปา เจโตวิมุตฺติ) ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ เป็นแก่นสารที่แท้จริง”
ภิกษุทั้งหลายฟังแล้วชื่นชมยินดีต่อพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ปัญญา ในพระสูตรนี้ทรงใช้คำว่า ญาณทัสนะ แทน ซึ่งหมายถึง ความรู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่รู้ตามที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏอาจหลอกเราได้ เช่น สีเขียว เมื่ออยู่ภายใต้ไฟสีเหลือง จะเห็นเป็นสีน้ำตาล
อุณหภูมซึ่งไม่ร้อนไม่เย็น แต่ถ้าเราออกมาจากห้องเย็นจะรู้สึกว่าร้อน หรือปรากฏแก่เราว่าร้อน นี่เกี่ยวกับเรื่องทางกาย
ในเรื่องทางจิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราถูกกิเลสครอบงำก็จะเห็นไปอย่างหนึ่ง พอจิตเป็นอิสระไม่ถูกกิเลสครอบงำ มีปัญญาเต็มที่ก็เห็นไปอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธศาสนาต้องการให้เห็นอะไรต่างๆ ด้วยปัญญาอันชอบ (สัมมาปัญญา) ไม่ใช่เห็นตามอำนาจของกิเลส
เกี่ยวกับความหลุดพ้น (วิมุตติ) มีอยู่ ๒ แบบ คือ หลุดพ้นที่ยังกำเริบ หมายถึง หลุดพ้นชั่วคราว (ตทังควิมมุติ) หลุดพ้นเพราะข่มกิเลสไว้ ด้วยกำลังฌาน (วิขัมภนวิมุตติ) อีกอย่างหนึ่งหลุดพ้นที่ไม่กำเริบอีก คือหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด (สุมจเฉทวิมุตติ) กิเลสที่ละได้แล้วก็เป็นอันละได้ขาด ไม่กลับเกิดขึ้นอีก เช่น ความหลุดพ้น ของพระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป
ดังนั้น ผู้บวชจึงต้องมีความเคารพรักในพระธรรมวินัยมากๆ มุ่งประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจริงๆ จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการบวช เพราะการบวชเป็นพระ เป็นสมณะนั้น เหมือนดาบสองคม ดังพระบาลีที่ว่า “กุโส ยถา ทุคฺคหิโต หตฺถเมวานุกนฺตติ สามญฺญํ ทุปฺปรามฏฺฐํ นิรยายูปกฑฺฒติ” หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือฉันใด ความเป็นสมณะที่ลูบคลำไม่ดี คือประพฤติไม่ดี ย่อมฉุดคร่าลงในนรกฉันนั้น
บวชนานไม่นานไม่สำคัญเท่ากับการที่ได้บวชมาแล้ว มีเจตนาตั้งใจในการปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ พระบวชนานถ้าขี้เกียจขี้คร้านก็สู้พระใหม่ๆ ที่บวชระยะสั้นแต่ปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วีริยํ อารภโต ทฬฺหํ ฯ ผู้มีความเพียรมั่นคง มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี ของผู้เกียจคร้าน ไร้ความเพียร
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอไม่หมกมุ่นกับการงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมสูงๆ ขึ้นไปแล้ว ตราบนั้น พวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่พึ่ง เรียกว่าเป็น ธรรมาธิปไตย เราต้องไม่ประพฤติย่อหย่อน ไม่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า ให้สมกับได้เป็นมนุษย์ผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง