แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๖๐ พระพุทธเจ้าให้พระธรรมพระวินัยเป็นศาสดาแทนเมื่อทรงล่วงลับไป จึงต้องตั้งใจปฏฺิบัติตามให้มากที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทำไมเราถึงนับถือพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นคือผู้ที่บำเพ็ญพุทธบารมีมานานหลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วได้มาบอก มาสอน ให้เรารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แต่พระพุทธเจ้านั้นท่านไม่ได้ปฏิบัติให้เรานะ เราทุกท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติเอง พระพุทธเจ้านั้นคือ ตัวผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทุกคนต้องรู้จักพระพุทธเจ้าที่แท้จริง พระพุทธเจ้าคือผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในชาติสุดท้ายนี้ พระองค์ท่านทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ ๘๐ พรรษา ในร่างกายท่าน แต่ตัวที่เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ คือธรรมะที่ท่านได้ตรัสรู้ ส่วนร่างกายนั้นเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไป
พระอานนท์ถึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ให้เคารพนับถือใคร.. พระพุทธเจ้าก็บอกว่าธรรมะวินัย ที่ท่านตรัสไว้ดีแล้ว นั้นคือองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง
ธรรมวินัย หรือหลักคำสอนที่สังคายนาไว้นี่แหละ เป็นตัวพระพุทธศาสนา เพราะได้บอกแล้วว่า พระพุทธศาสนา ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือเรานับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติไปตามคำสั่งสอนนั้น พร้อมทั้งดูแลจัดสรรทำการต่างๆ เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้เรียนรู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น
การปฏิบัติอย่างนี้ก็เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าเองได้ตรัสไว้ คือเมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสไว้เองว่า พระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระภิกษุสาวกองค์ใดให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่พระองค์ตรัสไว้เป็นภาษาบาลีว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา : ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป”
หมายความว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระองค์นี้ เป็นศาสดาแทนพระองค์ เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรักษาพระธรรมวินัย ไว้ให้ดี เพราะการรักษาพระธรรมวินัยที่สังคายนาไว้ ก็คือรักษาพระศาสดาของเราไว้ คือรักษาพระพุทธเจ้าไว้นั่นเอง
“ธรรมวินัย” เป็นศาสดาของชาวพุทธ จะต้องศึกษาให้รู้ชัด และปฏิบัติให้ถูก ไม่ใช่แค่ฟังตามๆกันมาอย่าง “ปรัมปรา”
“การที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว “พระธรรมวินัย” ที่พระองค์ได้ทรงแสดงและบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาของพุทธบริษัททั้งหลาย พุทธพจน์นี้ เป็นการประทานหลักการสำคัญของสถาบันพระศาสนา และตัดความเป็นห่วงว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วใครจะมาทำหน้าที่แทนพระองค์ เป็นผู้นำของพุทธบริษัทต่อไป พระพุทธเจ้าไม่ทรงตั้งบุคคลใด แต่ได้ทรงประกาศว่า “ธรรมวินัย” คือคำสั่งสอนของพระองค์นี่แหละ จะเป็นศาสดาของชาวพุทธ
เพราะฉะนั้น ชาวพุทธก็จะต้องนับถือ“ธรรมวินัย” มั่นในธรรมวินัยอยู่เสมอ จะต้องมีสติรำลึกเตือนตัวเอง ให้ศึกษาว่าธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร แล้วประพฤติปฏิบัติกันให้ถูก ไม่ใช่เพียงแค่ว่า คอยเชื่อคอยฟังตามกันไป อย่างที่เรียกว่า “ปรัมปรา” ต่อไปนานๆเข้าก็จะคลาดเคลื่อน แต่จะต้องมีการศึกษาอยู่เสมอ ให้รู้ชัดว่า พระธรรมวินัยนั้น คืออย่างไร ว่าอย่างไรกันแน่”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ในยุคต่อมาพระพุทธศาสนาแม้จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันจนกลายเป็นนิกายต่างๆ หลายนิกาย แต่ทุกนิกายมีศาสดาองค์เดียวกันคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสั่งก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานได้มอบหมายให้ธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์นั้นมีปรากฎในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ความว่า “ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา” เป็นการตัดประเด็นการแย่งชิงตำแหน่งการเป็นศาสดาไปได้ ถ้าทรงตั้งใครเป็นศาสดาแทนพระองค์ จะต้องมีการสืบทอดตำแหน่ง หากในสมัยใดใด้ภิกษุที่ยังมีกิเลสก็อาจจะเกิดสงครามแย่งชิงตำแหน่งศาสดาก็ได้ ภิกษุรูปใดที่เคารพพระธรรมวินัยก็เหมือนไม่เคารพพระพุทธเจ้า
ผู้ที่จะเป็นศาสดาได้นั้นพระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ว่าในโลกมีศาสดาอยู่สี่ประเภท แต่ศาสดาสามประเภทแรกยังอาจถูกสงสัยหรืออาจถูกทักท้วงได้ดังที่ปรากฎในโลหิจจสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค “ดูกรโลหิจจะ ศาสดาสามจำพวกนี้ ควรท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ ท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ ศาสดาสามจำพวกนั้นได้แก่
ศาสดาประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว เขาไม่ได้บรรลุประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของเขาย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใดประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว ท่านไม่ได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของท่านนั้นย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและย่อมหลีกเลี่ยง ประพฤติจากคำสอนของศาสดา เหมือนบุรุษที่รุกเข้าไปหาสตรีที่กำลังถอยหลังหนี หรือดุจบุรุษพึงกอดสตรีที่หันหลังให้ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้” ศาสดาประเภทนี้หาผู้รับและสืบทอดคำสอนไม่ได้ จึงตั้งลัทธิหรือตั้งศาสนาไม่ได้
ศาสดาประเภทที่สอง ได้แก่ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว เขาไม่ได้บรรลุ ประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของเขาย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว ท่านไม่ได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของท่านนั้น ย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดาเหมือนบุคคลละเลยนาของตนแล้ว สำคัญเห็น นาของผู้อื่นว่าเป็นที่อันตนควรบำรุง ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่า เป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้” ศาสดาประเภทนี้สามารถตั้งลัทธิหรือศาสนาได้ แต่อยู่ได้ไม่นาน
ศาสดาประเภทที่สาม ได้แก่ศาสดบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาได้บรรลุแล้ว เขาได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้ เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย แต่สาวกของเขาไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านได้บรรลุแล้ว ท่านเองได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย แต่สาวกของท่านนั้นไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เหมือนบุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้” ศาสดาประเภทนี้แม้จะบรรลุธรรม มีความรู้มาก แต่สอนคนอื่นไม่ได้ รู้อยู่คนเดียวจึงตั้งลัทธิหรือศาสนาไม่สำเร็จ
ดููกรโลหิจจะ ศาสดาสามจำพวกเหล่านี้แล ควรท้วงได้ในโลก และทั้งการท้วงของ ผู้ที่ท้วงศาสดาทั้งหลายเห็นปานนั้น ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
ศาสดาประเภทที่สี่ เป็นศาสดาที่ไม่ควรท้วงได้แก่พระพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ได้แสดงแก่โลหิจจพราหมณ์ว่า “ดูกรโลหิจจะ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษผู้ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วย ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่าฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมาเขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ”ศาสดาประเภทนี้ถึงพร้อมด้วยวิชาความรู้และการปฏิบัติ ฉลาดทั้งวิธีการสอน และสามารถตั้งศาสนาได้ ในที่นี่หมายถึงพระพุทธเจ้าศาสดาของพระพุทธศาสนานั่นเอง
ผู้ที่จะตั้งตนเป็นศาสดาได้นั้นจึงต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง บางคนแม้จะพูดเก่งแต่ก็ไม่ค่อยมีใครอยากฟัง บางคนพูดไม่เก่งแต่มีคนอยากฟัง บางคนมีความรู้มากแต่ก็ไม่ค่อยมีใครนิยมชมชอบ แต่บางคนมีทั้งความรู้ ความสามารถ พูดเก่งพูดดีมีสาระประโยชน์และมีคนเชื่อตามจำนวนมาก
“ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้า และพุทธศาสนิกชนทุกคนก็นับถือพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงเป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอน และเป็นศูนย์รวมของพุทธบริษัท จะเป็นครูอาจารย์หรือพระเถระ พระมหาเถระองค์ใดก็ตาม ถ้าใครมาอ้างว่ารู้อย่างนั้น เห็นอย่างนั้น ตามทัศนะหรือจากผลการปฏิบัติ เราก็ฟังไว้ ถ้าเห็นว่าเข้าหลักดีก็เอามาใช้ช่วยการศึกษาของเรา แต่จะเอามาตัดสินพระพุทธศาสนาไม่ได้ เพราะ…“จะต้องอัญเชิญหลักของพระพุทธเจ้ามาวินิจฉัย”
…ขอให้สังเกตธรรมเนียมแต่เดิมครั้งพุทธกาล เมื่อใครพบนักบวชที่น่าเลื่อมใสแล้วอยากรู้ธรรม และเข้าไปหา เขาไม่ถามว่าท่านสอนว่าอย่างไร แต่เขาถามว่า “ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ศาสดาของท่านมีหลักการหรือสอนว่าอย่างไร”
…ขอให้ดูเรื่องพระสารีบุตรกับพระอัสสชิเป็นตัวอย่าง พระสารีบุตรเมื่อครั้งยังเป็นปริพาชก เห็นพระอัสสชิแล้วเลื่อมใส เข้าไปหาและได้ถามอย่างข้างต้น พระอัสสชิทั้งที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ไม่อ้างหรือเอาตัวท่านเองเป็นหลัก แต่ท่านตอบแก่พระสารีบุตรซึ่งยังเป็นปริพาชกอยู่ว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าดังนี้ๆ
…แม้แต่พระภิกษุผู้มีความรู้น้อย เมื่อถูกถามในหลักธรรมสำคัญๆ อย่างเรื่องนิพพาน แม้ตนเองจะยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ยังไม่บรรลุ ก็ตอบได้ตามวิธีปฏิบัติเดียวกันนี้ คือ ตอบว่า ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจเพียงพอ แต่...
๑. มีหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดังนี้ๆ หรือพระไตรปิฎกและคัมภีร์นั้นๆ แสดงไว้ดังนี้ๆ และ...
๒. ตามที่ข้าพเจ้ารู้เข้าใจ ข้าพเจ้ามีทัศนะหรือความคิดเห็นว่าดังนี้
…แม้บรรลุธรรมสูงสุด เป็นพระอรหันต์แล้ว หมดกิจที่ต้องทำ (ในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตน) แล้ว พระสาวกยุคเดิมก็ยังหันมาใช้เวลาเล่าเรียนปริยัติ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยดำรงพระศาสนา และทำประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป ดังที่ท่านเรียกว่า “ภัณฑาคาริกปริยัติ”
…แม้เพียงในการปฏิบัติขั้นต้นๆ เมื่อปฏิบัติไปได้พบประสบการณ์บางอย่างทางจิต แล้วเอา "ถ้อยคำศัพท์ธรรม" ที่ตนไม่ได้ศึกษาความหมายตามบัญญัติให้ชัด หยิบผิดศัพท์ผิดคำมาเรียกประสบการณ์ของตน ก็อาจทำให้เกิดความสับสน เป็นโทษแก่ผู้อื่นที่กำลังศึกษา ฉะนั้น ท่านจึงให้ไม่ประมาทในการศึกษา เริ่มตั้งแต่ความมั่นคงถ่องแท้ในปริยัติ
….เพราะฉะนั้น จึงควรสังคายนาแม้แต่แนวปฏิบัติทั่วไปในด้านหลักธรรมว่า เมื่อพุทธศาสนิกชนสนทนากับพระภิกษุ พึงถามเกี่ยวกับสิ่งที่ตนสงสัยว่า “พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร?” และพระภิกษุเมื่อจะตอบคำถาม ก็ควรยกคำตรัสของพระพุทธเจ้าขึ้นมาแสดงก่อน แล้วจึงกล่าวคำอธิบาย และแสดงทัศนะของตน โดยแยกให้ชัดว่า ส่วนใดเป็นหลักคำสอน ส่วนใดเป็นความคิดเห็นหรือทัศนะหรือประสบการณ์ของตน
…ชาวพุทธจะต้องย้ำกับตัวเองว่า พระพุทธศาสนาคือศาสนาของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ศาสนาของพระเถระ มหาเถระ หรือบุคคลผู้ใด
…เราจะฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า…เราจะแสดงหลักที่พระพุทธเจ้าสอน …และเราจะเอาหลักที่ทรงสั่งสอนนั้นเป็นมาตรฐาน หรือเป็นเกณฑ์วินิจฉัย…ถ้าหาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นมาตรฐานไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความจริงว่า พระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ให้เราพากันเข้าใจเรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องพระศาสนา พระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวบุคคล พระศาสนาไม่ใช่นิติบุคคล คือ ธรรมะ การนับถือพระพุทธเจ้านั้นคือ นับถือท่านที่ท่านบอกท่านสอน ธรรมะนั้นสมบูรณ์ด้วยอัตถะ ทั้งพยัญชนะ ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย พระพุทธเจ้าถึงเป็นที่เคารพของเหล่าสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหม ไม่มีใครเกิน ไม่มีใครยิ่งกว่า
ผู้ที่มาบวชในพระศาสนานี้จะได้บุญได้กุศลไหม เพราะได้ยินพระเทศน์ว่าผู้ที่มาบวชนี้ได้บุญได้กุศล พ่อแม่ก็ได้รับบุญ กุศล พ่อแม่ไม่ตกนรก ถ้าทำตามพระพุทธเจ้านั้นได้บุญได้กุศล ถ้าไม่ทำตามนั้นได้บาป เพราะเราบวชมาคนทั้งโลกก็เข้าใจว่าเราเป็นพระ พระนี้หมายถึงพระธรรม พระวินัย พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง เอาพระธรรมเป็นที่ตั้ง เป็นพระศาสนา ถ้าเหมือนเราเห็นทุกวันนี้ ที่ได้บวช โกนหัว ห่มผ้าจีวรนั้น ส่วนใหญ่น่าจะได้บาป มากกว่าได้บุญ เพราะว่าบวชมาแล้วก็ให้พ่อให้แม่กราบ ให้ปู่ย่าตายายกราบ ประชาชน คนทำบุญ ตักบาตร ให้ตำรวจ ข้าราชการ นักการเมือง ตลอดจนให้พระมหากษัตริย์กราบนี้ ถ้าเราไม่เอาพระธรรม พระวินัยตามพระพุทธเจ้าบอกสอน มันต้องได้บาป
การบวชเป็นพระที่จะได้บุญ ได้กุศล ต้องตามพระพุทธเจ้า เพราะว่ามรรคผลพระนิพพาน มันไม่หมดสมัย ไม่ล้าสมัย ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามคำสอนของท่านเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์หรือว่าจะไม่ว่างจากพระศาสนา เราดูๆ แล้ว พระในประเทศไทยหรือว่าในหลายประเทศ น่าจะได้บาปมากกว่าได้บุญ ผู้ที่เป็นประชาชนให้เข้าใจนะ ผู้ที่บวชก็ให้เข้าใจ เพราะเราต้องทำให้ถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เราถึงจะได้บุญได้กุศล เราถึงจะโปรดตัวเองได้ โปรดพ่อ โปรดแม่ โปรดพ่อค้า ประชาชนได้
แต่เพราะเราทำตามใจตัวเอง เราถึงไม่เป็นคนสง่างาม เป็นคนตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง อย่างนี้เขาเรียกว่าบุคคลที่เศร้าหมอง มันต้องเอาใหม่ตั้งใจใหม่ เพราะว่าเมื่อเราเกิดเป็นผู้ที่ประเสริฐแล้ว เพราะมันเป็นความประเสริฐความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประเทศไทยเราสร้างขึ้นมาคู่กับพระศาสนา เอาพระนิพพานเป็นที่ตั้ง มนุษย์เราสมควรที่จะพัฒนาวิทยาศาสตร์ พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ประชาชนก็ถือพรหมจรรย์เบื้องต้น คือ ศีล ๕ พระก็ถือพรหมจรรย์สูงสุดคือ ศีล ๒๒๗ มาในพระปาฏิโมกข์ ศีล ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ทำไมประเทศเราถึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่าไม่ค่อยมีใครปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าเลย การเรียนการศึกษาก็เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ ทำมาตั้งแต่ตัวตน พัฒนาแต่วัตถุ แต่วิทยาศาสตร์ มันแก้ปัญหาไม่ได้ ประชาชนทุกคนมีสติ สัมปชัญญะ น่าจะพากันพิจารณาดู เพราะทุกคนปฏิบัติได้ วัดบ้าน วัดป่า ใครก็ปฏิบัติได้ เราจะได้กลับมาหาพระพุทธเจ้า กลับมาหาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะความสุขความดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอน เขาพัฒนาให้เราทุกคนเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ตั้งแต่ปัจจุบัน เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี พระพุทธเจ้าถึงตอบปัญหาเรื่องตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ พระพุทธเจ้าบอกว่าอะไรมันก็ไม่ใช่ ต้องเอาที่ปัจจุบัน เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี อันนี้เป็นความสุข ความดับทุกข์ เราจะปล่อยโอกาส ปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันเสียหาย ปล่อยให้ประเทศไทยเรานี้ว่างจากพระศาสนา ว่างจากพระอริยเจ้า ว่างจากพระอรหันต์ เราไม่ต้องไปแก้ไขที่อื่นไกล แก้ไขที่ตัวเรานี้แหละ โอ้... เราจะมีทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตนไปมากกว่านี้ได้ยังไง เพราะสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นมันเป็นสิ่งที่เสียหาย เราต้องคิดว่าไปตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีล ในข้อวัตร ข้อปฏิบัติ
เราพูดอย่างนี้ให้เข้าใจในภาคปฏิบัติ ทุกๆ คนก็พากันเข้าใจ ผู้ที่เป็นประชาชนก็ให้เข้าใจ ผู้ที่มาบวชก็ให้เข้าใจ เข้าใจแล้วก็พากันประพฤติปฏิบัติ พวกเราพากันเข้าใจผิดกันเยอะ พากันปฏิบัติ พากันบวช นึกว่าห่มผ้าจีวร มาบวชแล้วจะได้บุญ มันไม่ได้บุญนะ ถ้าไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติ มันไม่มีเหตุ มีปัจจัยที่จะได้บุญได้กุศล แถมยังบวชที่ตามประเพณีอยู่ดีๆ ยังไม่มีหนี้ ไม่มีสิน พากันมาบวชกันแล้วเป็นหนี้เป็นสิน การมาบวชนี้ไม่ใช่จะเป็นการมาเป็นหนี้เป็นสิน เพราะผู้ที่มาบวชในพระศาสนาอย่างพระนี้ พระพุทธเจ้าไม่ให้รับเงิน รับสตางค์ ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์ก็ไม่ให้รับ ผู้ที่จะมาประชุมสงฆ์ท่านก็ไม่ให้รับ นี้เราพากันทำผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกอย่างเลย การที่เราทำอย่างนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
การมาบวชต้องมาปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง อย่างประเทศไทยเรามีโอกาสพิเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ลาบวชเพื่อที่จะเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เหมือนเราไปเข้าโรงเรียนอนุบาล เข้า ป.1 ป.2 มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติในการเรียน อันนี้เราเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติในการเรียนการศึกษาและต้องเข้าใจ เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติในการปฏิบัติ อย่างนี้เราถือพระพุทธศาสนามันก็เป็นโมฆะนะ ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเราไม่ได้เอาพระพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติเลย เราก็ยังฆ่าสัตว์ตัดชีวิต กินเหล้า กินเบียร์ เล่นการพนัน สรวลเส เฮฮา ผู้ที่เป็นประชาชน ทางฝ่ายพระก็ไม่ได้พากันประพฤติปฏิบัติ แถมยังเอาพวกที่หมดสภาพในการทำมาหากิน พากันมาบวชหรือว่าพวกที่แก่แล้วทำมาหากินอะไรไม่ได้ก็พากันมาบวช อย่างนี้มันไม่ได้บวชนะ มาเพียงแต่มาเอาวัด เอาศาสนา มาทำมาหากินเฉยๆ ให้พากันเข้าใจ พระพุทธศาสนาเป็นของดีจริง ประเสริฐจริงมันถึงผ่านมาขนาดนี้ได้ เพราะทางวิทยาศาสตร์ก็ตรวจสอบได้ ถ้าเราไม่สงบ ไม่ตั้งใจเต็มที่เต็มร้อยนี้แหละคือ สีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีล ในข้อวัตร ข้อปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนอริยมรรคมีองค์แปด ให้ทุกคนพากันเข้าใจ ความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่ผู้มาบวช หรือผู้ที่อยู่บ้าน ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู มันเกี่ยวกับความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ที่เหนือวิทยาศาสตร์ก็คือมีพุทธะอยู่ในใจของเรา ไม่ติดในสุข ไม่ติดในทุกข์ ไม่ติดในดี ในชั่ว สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ให้เราเดินผ่าน เพราะทุกอย่างมันตั้งอยู่ในพระไตรลักษณ์ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันมาปรากฏการณ์ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีความเกิด แก่ เจ็บตาย พลัดพราก ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีหนาว ไม่มีร้อน ก็ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ เราทุกคนถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี ได้มารู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ทำบาปทั้งปวง สิ่งที่แล้วก็แล้วไป สิ่งที่มาไม่ถึงก็ไม่ต้องคิด เพราะปัจจุบันคือการประพฤติปฏิบัติของเรา เราทุกคนต้องตั้งใจ ตั้งเจตนา ปิดอบายมุข ปิดอบายภูมิให้กับตัวเอง โดยการไม่ทำบาปทั้งปวง ทั้งความคิด ทั้งคำพูด ทั้งการกระทำ ปัญหาทุกอย่างไม่ได้แก้ที่อื่น แก้ที่ตัวเรา มันเป็นเรื่องส่วนตัว มันสบายกว่าไปแก้ข้างนอก เพราะเราต้องพากันทำอย่างนี้ ผู้ที่อยู่ที่บ้านก็ทำได้ ผู้ที่มาบวชก็ทำได้
คำว่าพระศาสนาก็คือพระธรรม พระวินัย แต่ละศาสนาคำว่าพระก็คือผู้ที่เสียสละ ไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าไม่มีตัวไม่มีตนมันจะมีความสุขยังไง ไม่มีตัวไม่มีตนมันถึงมีความสุข เพราะคนเรามีปัญญา เราจะไปคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วได้ยังไง มันสร้างปัญหา คนมีปัญญาเขาต้องพากันเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละเราก็ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา เราเกิดมาเพื่อเข้าหาความสุข ความดับทุกข์อย่างนี้ ทุกคนให้อิ่มเอิบ เบิกบาน สบายอก สบายใจ เราไม่ต้องอาศัยใคร อาศัยตัวเองนี้แหละ เราต้องเป็นผู้ให้ เพราะถ้าเราไปอาศัยพ่อ อาศัยแม่ อาศัยคนนู้น คนนี้ แสดงว่าเรายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราต้องเข้าใจว่า เราต้องประพฤติปฏิบัติ อานาปานสติทุกคนทุกท่านต้องมีทุกอิริยาบถ เราเดิน เรานั่ง เรานอน เราหายใจเข้า สบาย หายใจออกสบาย หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข นี้เป็นอันเดียวกับพุทโธ หรือ ยุบหนอ พองหนอ เราต้องกลับมาอย่างนี้ สติ สัมปชัญญะในปัจจุบันนี้สำคัญ อย่าไปวิตกกังวลในเรื่องอดีต เรื่องอนาคต พวกนี้มันเรื่องกรรม เรื่องเวร กลับมาหายใจเข้า หายใจออกให้ชัดเจนไว้ จะได้ทำความเชื่อมั่นในตัวเอง เราจะได้มีสติ มีสัมปชัญญะเป็นพื้นฐาน เพราะคนเรามันอยู่กับความฟุ้งซ่าน อยู่กับความวิตกกังวล
เราไม่ต้องไปถามใคร เราไม่ต้องไปหาธรรมะกับหลวงพ่อองค์นู้น หลวงพ่อองค์นี้ อาจารย์องค์นู้น อาจารย์องค์นี้ เราเอาพระพุทธเจ้าองค์เดียวก็พอแล้ว เพราะนิพพานอยู่กับเรา คือความสุข ความดับทุกข์ เพราะว่าคำว่าพระก็คือพระธรรม พระวินัย คือพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ มรรคผลนิพพานมันไม่หมด ไม่ล้าสมัยเพราะมันเป็นปัจจุบัน เมื่อมันเป็นปัจจุบันธรรม เป็นคุณธรรมแล้ว เป็นมรรค เป็นผล ดำเนินไปอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์จะมาพูดเรื่องอริยสัจ 4 หรือจะมาพูดเรื่องอริยมรรคมีองค์แปด และจะมาพูดเรื่องการไม่ทำบาปทั้งปวง เพราะอันนี้เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
ทุกท่านทุกคนอย่าไปทำตามใจตัวเองเด็ดขาด อย่าไปทำตามอารมณ์ตัวเองเด็ดขาด ต้องเอาธรรมะ อย่าให้ความหลง อวิชชา มันแฝงอยู่ในตัวของเราเราถึงจะเป็นผู้ตัดกรรม ตัดเวร ตัดภัย ตัดภพชาติ ตัดวัฏสงสารได้ในที่สุด