แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๕๙ การจะแก้กรรม จะล้างบาปได้ ต้องตั้งใจหยุดทำชั่วทางกายวาจาใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ศาสนิกชนไม่รู้จักศาสนาของตัวเอง คนที่เป็นชาวพุทธก็ไม่รู้ศาสนาของตัวเอง อิสลาม คริสต์ พราหมณ์ ฮินดู สิกข์ ก็ไม่รู้จักศาสนาของตัวเอง คำว่าศาสนานั้นคือ เรื่องจิตเรื่องใจ มนุษย์เราต้องพัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์และเรื่องใจไปพร้อมกัน พัฒนาหมายถึงการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นกฎหมายนี้เป็นเรื่องทางกาย ถ้าเป็นศาสนาเป็นเรื่องทางจิตใจ การจะเข้าถึงศาสนาต้องเข้าถึงเจตนา คือ ความตั้งใจ เราจะได้พัฒนาทั้งกายทั้งใจ เราจะได้พัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์และใจไปพร้อมๆ กัน ผู้ที่บวชมาใหม่ก็ย่อมไม่เข้าใจ ผู้ที่เกิดมาใหม่ก็ย่อมไม่เข้าใจ
อย่างพระนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ คิดว่าทำผิดแล้วจะปลงอาบัติตก การปลงอาบัตินั้นมันไม่ตกนะ อย่างเราต้องอาบัติ สังฆาทิเสส นิสสัคคิยปาจิตตีย์ หรือ ปาจิตตีย์ หรืออาบัติต่างๆ บางศาสนาก็ให้เราเสียสละคืน ต่อหน้าบุคคล ต่อหน้าสงฆ์ หรือว่าต่อหน้าคณะสงฆ์ที่เขากำลังลงโทษเรา ว่าเราจะไม่ประพฤติปฏิบัติอีก ตั้งแต่วันนั้นเราจะไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนาถึงจะแสดงอาบัติตก หรือว่าพ้นบาป พ้นกรรมได้
เพราะวัดบ้านถึงคิดว่าเวลาทำผิดแล้วมาแสดงอาบัติตอนเช้า ตอนเย็น ส่วนใหญ่ก็พระเก่านั้นทำไม่ดี ทำไม่ได้ พระใหม่ก็สงสัย พระเก่าก็บอกว่าไม่เป็นไร แสดงอาบัติได้ แสดงอาบัติตก ทุกๆ ศาสนาเขาให้มีการสารภาพบาปด้วยการหยุดทำบาป ทุกคนก็สงสารให้อภัยได้ แต่ถ้าเรามาทำอีก มาทำอย่างเก่า เป็นอันว่ามันไม่ได้นะ เราดูตัวอย่างแบบอย่าง พระไปเข้ากรรมต้องอาบัติสังฆาทิเสส มันเข้าอย่างนั้นทุกปี มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมันถึงไม่มี เพราะเราบวชมาแล้ว เราไม่ได้ปฏิบัติเลย เพราะเราคนเก่า นิสัยเก่า การเดินทางเราต้องตั้งใจเดินทางนะ ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจเดินทาง มันก็ไม่ได้ เหมือนพระที่พากันมาบวชอยู่นี้ ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ไม่มีความตั้งใจ ไม่มีเจตนามันก็คืออยู่ไปเฉยๆ ไม่มีการเดินทาง เหมือนเราตั้งโรงงานขึ้นแล้วปล่อยให้โรงงานว่างๆ ไม่ได้เปิดกิจการ เพราะอย่างพระทุกวัดก็ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้พัฒนาใจ ก็อยู่ไปเรื่อยๆ มันก็ไม่มีการก้าวหน้า
การกระทำที่ศาสนาต่างๆ สอนว่าเป็นบาปนั้นผิดแผกกันเป็นส่วนมาก ศาสนาใดสอนว่าโลกและสรรพสัตว์มีพระเจ้าสร้าง ศาสนานั้นก็สอนว่าการกระทำผิดต่อพระเป็นเจ้าเป็นบาป ดังนั้นบาปก็หมายถึงการผิดจากคำสั่งสอนของท่าน และท่านอาจมีสิทธิยกบาปให้ด้วย เช่น คริสต์ศาสนา เป็นต้น ถือว่าคนจะบริสุทธิ์นั้นด้วยการที่พระเจ้าไถ่บาปให้ การกำเนิดของบาป ในทัศนะของศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ต่างกับของศาสนาพุทธอย่างมาก เช่น แนวคิดในศาสนาคริสต์ก็ดี อิสลามก็ดี สอนว่าบาปจะเกิดเมื่อผิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า เช่น พระผู้เป็นเจ้าสั่งให้นึกถึงพระองค์อยู่เป็นประจำ ถ้าลืมนึกไปก็เป็นบาป หรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์สั่งไม่ให้เอ่ยนามพระองค์โดยไม่จำเป็น ถ้าใครเอ่ยนามพระเจ้าพร่ำเพรื่อก็เป็นบาป
ยิ่งไปกว่านั้นตามความเชื่อของเขา บาปยังมีการตกทอดไปถึงลูกหลาน ได้อีกด้วย เช่น ในศาสนาคริสต์เขาถือว่าทุกคนเกิดมามีบาป เพราะอาดัมกับอีวา ซึ่งเขาถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ ขัดคำสั่งพระเจ้า แอบไปกินแอปเปิ้ลในสวนเอเดน ถูกพระเจ้าปรับโทษเอาเป็นบาป ลูกหลานทั่วโลกจึงมีบาปติดต่อมาด้วย โดยนัยนี้ศาสนาคริสต์เชื่อว่า บาปตกทอดถึงกันได้โดยสายเลือด
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีความเชื่อว่า บาปสามารถล้างได้ ศาสนิกของศาสนาพราหมณ์ในสมัยก่อน ถือว่าการได้ลงอาบน้ำชำระกายในแม่น้ำคงคามหานที เป็นการชำระมลทิน ก่อให้เกิดความบริสุทธิ์ เพราะถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากพระโอษฐ์ของพระพรหม หรือพระศิวะที่สถิตอยู่บนเขาไกรลาส แม้คนใกล้ตาย ก็จะถูกหามมายังริมฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อลอยอังคารเมื่อศพถูกเผาแล้ว ถือว่าเป็นการล้างบาปครั้งสุดท้าย แม้ปัจจุบันนี้พิธีกรรมการล้างบาปในทำนองที่กล่าวมาแล้ว ยังคงปรากฏอยู่มากในประเทศอินเดีย เป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู มีผู้คน นับแสนคนไปรวมกันยังฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อประกอบพิธีล้างบาปตามความเชื่อของตน
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่มุ่งสอนให้คนทุกคนมีความประพฤติดีงามทั้งกาย วาจา และใจ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเป้าหมายสูงสุดคือการกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป โดยนัยนี้ถือว่าเป็นการล้างบาป ในตัวอยู่แล้ว แต่มิได้ใช้คำว่าล้างบาปโดยตรงเท่านั้น เพราะคำนี้เป็นคำของศาสนาพราหมณ์ที่มีอยู่มาก ในอินเดียก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้น
คำว่า ล้างบาป หรือบางทีใช้คำว่า ลอยบาปนั้น เป็นคำในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ที่ชาวอินเดียนับถือกันมากในสมัยนั้น และมักจะประกอบพิธีการล้างบาปในแม่น้ำคงคาอยู่เสมอ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วได้เผยแผ่ธรรมะไปทั่วประเทศอินเดีย วิธีการอย่างหนึ่งที่พระองค์ทรงสอนคนต่างศาสนา คือ การใช้ลักษณะคำเดิมของศาสนานั้น อย่างคำว่า ล้างบาป ลอยบาปของศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น ทรงใช้คำนี้กับพวกพราหมณ์ แต่ทรงบอกวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างและดีกว่า การที่พระพุทธองค์ทรงกระทำเช่นนั้นก็เพื่อให้พราหมณ์เปิดใจยอมรับก่อน ซึ่งเมื่อได้รับฟังธรรมะจากพระองค์แล้วก็จะเข้าไปอยู่ในใจได้ง่าย จนในที่สุดพราหมณ์ก็หันมานับถือพระรัตนตรัย
พุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่องพระเจ้าสร้าง เรื่องบาปเป็นเรื่องเหตุผลทางจิตใจ คือการกระทำใดๆ ก็ตาม เมื่อทำลงไปแล้วจิตใจของคนนั้นแปรสภาพในทางเสียนั้นเป็นบาปทั้งสิ้น บาปคงเป็นบาป ไม่มีการหยิบยื่นบาปให้แก่ผู้ใด และไม่มีการงดเว้นหรือไถ่บาปให้แก่ผู้ใด ใครทำผู้นั้นก็จะต้องได้รับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีมาอย่างดีเยี่ยมไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน เป็นผลให้พระองค์ทรงเห็นและรู้จักธรรมชาติของกิเลส อันเป็นต้นเหตุแห่งบาปทั้งหลายได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และสามารถกำจัดกิเลสเหล่านั้น ออกไปได้โดยสิ้นเชิงและเด็ดขาด พระองค์ได้ตรัสสรุปเรื่องการกำเนิดของบาปไว้อย่างชัดเจนว่า
“นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต บาปย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ทำบาป”
“อตฺตนาว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ ใครทำบาป คนนั้นก็เศร้าหมองเอง”
“อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์”
พระพุทธวจนะนี้ เป็นเครื่องยืนยันการค้นพบของพระองค์ว่า บาปเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่สิ่งติดต่อกันได้ ใครทำบาปคนนั้นก็ได้บาป ใครไม่ทำบาปก็รอดตัวไป พ่อทำบาปก็เรื่องของพ่อ ลูกทำบาปก็เรื่องของลูก คนละคนกัน เปรียบเหมือนพ่อกินข้าวพ่อก็อิ่ม ลูกไม่ได้กินลูกก็หิว หรือลูกกินข้าวลูกก็อิ่ม พ่อไม่ได้กินพ่อก็หิว ไม่ใช่พ่อกินข้าวอยู่ที่บ้าน ลูกอยู่บนยอดเขาแล้วจะอิ่มไปด้วย เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครทำใครได้
ความหมายของคำว่า ล้างบาป จึงหมายถึง การกำจัดกิเลสอาสวะอันเป็นเหตุแห่งการทำความชั่วให้หมดสิ้นไป มีผลทำให้คุณภาพใจสูงขึ้น มีกาย วาจา ใจสะอาดบริสุทธิ์ จนกระทั่งหมดกิเลส ซึ่งความหมายที่กล่าวสรุปมานี้ มีความหมายเทียบเคียงกับคำว่า ผู้ล้างบาป ที่มีกล่าวไว้ใน ทุติยโสเจยยสูตร ว่า “ภิกษุทั้งหลาย โสเจยยะ คือ ความสะอาด 3 อย่าง บุคคลผู้สะอาดทางกาย สะอาดทางวาจา สะอาดทางใจ ไม่มีอาสวะ เป็นคนสะอาดพร้อมด้วยคุณธรรมของคนสะอาด ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า ผู้ล้างบาปแล้ว”
จากพระสูตรนี้สามารถสรุปได้ว่า ผู้ล้างบาป หมายถึง ผู้ที่กำจัดกิเลสให้หมดสิ้น มีความสะอาดบริสุทธิ์ กาย วาจา และใจแล้ว ส่วนความหมายของการล้างบาปจากพระสูตรนี้น่าจะหมายถึง การกำจัดกิเลสอาสวะหมดสิ้นไป จนกาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์
ดังนั้นตามความเห็นของพระพุทธศาสนา บาปจึงเกิดที่ตัวคนทำเอง คือเกิดที่ใจของคนทำ ใครไปทำชั่ว บาปก็กัดกร่อนใจของคนนั้นให้เสียคุณภาพ เศร้าหมองขุ่นมัวไป ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานไป ไม่เกี่ยวกับคนอื่น
พระศาสดาประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร นายจุนทกัมมารบุตรได้กล่าวถึง ความสะอาด และวิธีการทำความสะอาดของพราหมณ์ ซึ่งต่างจากความสะอาดของพระอริยะ
พระศาสดาตรัสถึงความไม่สะอาดของพระอริยะ คือ การกระทำทุจริต 3 ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ วิธีการทำความสะอาดของพระอริยะ หมายถึง ทำความสะอาดทางกาย คือไม่ฆ่าสัตว์ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
ทำความสะอาดทางวาจา คือการละจากการพูดเท็จ ละจากการพูดส่อเสียด ละจากการพูดคำหยาบ ละจากการพูดเพ้อเจ้อ
ทำความสะอาดทางใจ คือ ไม่อยากได้ของคนอื่น ไม่มีความมุ่งร้ายคนอื่น และมีความเห็นถูก จากพระสูตรนี้ จะเห็นว่า สิ่งที่ควรจะทำให้สะอาดบริสุทธิ์ มี 3 ทาง คือ กาย วาจา และใจ และทางแห่งการทำความชั่วก็มีอยู่ 3 ทางหลักๆ เช่นกัน
“บัณฑิตเห็นภัยในนรกทั้งหลายแล้ว พึงงดเว้นบาปทั้งหลายเสีย พึงสมาทานอริยธรรมแล้วงดเว้น เมื่อความบากบั่นมีอยู่ ชนไม่พึงเบียดเบียนสัตว์ และรู้อยู่ไม่พึงพูดมุสา ไม่พึงหยิบฉวยของที่เขาไม่ให้ พึงเป็นผู้ยินดีด้วยภรรยาของตน พึงงดภรรยาของคนอื่น และไม่พึงดื่มเมรัยสุราอันยังจิตให้หลง”
ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีเพื่อชำระล้างมลทิน สิ่งปฏิกูลออกจากกายวาจาใจ ให้เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด เป็นผู้ล้างบาปลอยบาปได้อย่างแท้จริง ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพราหมณ์ท่านหนึ่งว่า "ดูก่อนพราหมณ์! เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งมีหม้อทองแดงอยู่ใบหนึ่ง มันเปื้อนเปรอะด้วยสิ่งปฏิกูลทั้งภายในและภายนอก เขาพยายามชำระล้างด้วยน้ำจำนวนมาก แต่ล้างแต่ภายนอกเท่านั้น หาได้ล้างภายในไม่ ท่านคิดว่าสิ่งปฏิกูลภายในจะพลอยหมดไปด้วยหรือ?"
"เป็นไปมิได้เลย พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้นั้นย่อมเหนื่อยแรงเปล่า ไม่อาจทำให้ภายในหม้อสะอาดได้ สิ่งสกปรกเคยเกรอะกรังอยู่อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น"
"ดูก่อนพราหมณ์! เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นสิ่งทำให้จิตใจสกปรก และสามารถชำระล้างได้ด้วยธรรม คือความสุจริต มิใช่ด้วยการอาบน้ำธรรมดา น้ำดื่มของบุคคลผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ย่อมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปในตัวแล้ว
"นี่แน่ะพราหมณ์! มาเถิด มาอาบน้ำในธรรมวินัยของเรานี้ ซึ่งลึกซึ้งสะอาด ไม่ขุ่นมัว มีศีลเป็นท่าลง บัณฑิตสรรเสริญ เป็นที่ที่ผู้รู้นิยมอาบกัน อาบแล้วข้ามฝั่งได้โดยที่ตัวไม่เปียก"
จากพระสูตรนี้สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. การอาบน้ำไม่ว่าจะอาบที่ไหน อาบอย่างไร ใช้น้ำอะไร ก็เป็นเพียงการอาบน้ำเท่านั้น เป็นกิริยากลางๆ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เพราะทำให้สะอาดเพียงแค่ร่างกายเท่านั้น หาได้ทำให้จิตใจสะอาดขึ้นไม่
2. หากน้ำล้างบาปได้จริง สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในน้ำตลอดชีวิต เกิดในน้ำ กินอยู่ เจริญเติบโตและตายในน้ำ ก็เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดและได้ไปสวรรค์กันหมด ทั้งที่ความจริงสัตว์น้ำจำนวนมากต่างก็ทำบาปด้วยการกินซึ่งกันและกันอยู่ เสมอ ดังคำพังเพยที่ว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก หากน้ำล้างบาปได้ แหล่งอบายมุขบางแห่งจะไม่กลายเป็นแหล่งบุญกุศลไปหรือ
3. บาปกรรมอยู่ที่จิตใจซึ่งเป็นนามธรรม ไม่อาจชำระด้วยน้ำซึ่งเป็นรูปธรรม มีแต่ธรรมะที่เป็นนามธรรมด้วยกันจึงจะสามารถชำระล้างจิตใจได้ ยิ่งอาบด้วยธรรมะ คือ ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนามากเพียงใด จิตใจก็ยิ่งสะอาดขึ้นเพียงนั้น
4. ผู้ที่ยังทำบาปกรรมอยู่ ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ แม้จะอาบน้ำ รดน้ำมนต์ 9 วัด หรือทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนไม่สะอาดอยู่ดี กายของเขาไม่สะอาดเพราะยังประพฤติกายทุจริต วาจาของเขาไม่สะอาด เพราะยังกล่าววจีทุจริต ใจของเขาไม่สะอาด เพราะยังมีความโลภ ความพยาบาท ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมอยู่ตราบใด เมื่อเว้นจากบาปทั้งปวง บำเพ็ญบุญเป็นประจำ แม้จะไม่ได้ อาบน้ำ ไม่ได้รดน้ำมนต์ ก็ชื่อว่าเป็นคนสะอาดอยู่เสมอ
เมื่อทัศนะในเรื่องกำเนิดบาปต่างกันดังกล่าว วิธีล้างบาปในศาสนา ที่มีพระเจ้ากับการแก้ไขพฤติกรรมในพระพุทธศาสนา จึงห่างกันราวฟ้ากับดิน ศาสนาที่เชื่อพระเจ้า เชื่อผู้สร้างผู้ศักดิ์สิทธิ์ สอนว่าพระเจ้าทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ขาดที่จะยกเลิกบาปให้ใครๆ ได้โดยการไถ่บาป ขออย่างเดียวให้ผู้นั้นภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าก็แล้วกัน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกหาใครเสมอเหมือนมิได้ ตรัสสอนว่า “สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ใครจะไถ่บาป ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้”
พระพุทธวจนะทั้งหมดนี้ปฏิเสธทัศนะที่ว่า บาปของคนหนึ่งจะตกทอด ไปยังอีกคนหนึ่งได้ และปฏิเสธลัทธิที่ว่า บาปที่คนหนึ่งทำแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาไถ่ถอนให้ได้ ในพระพุทธศาสนามีวิธีการแก้ไขบาปอกุศลที่เคยพลาดพลั้งกระทำไป ได้อย่างมีเหตุผลดังนี้
สมมุติว่าเรามีเกลืออยู่ช้อนหนึ่ง ใส่ลงไปในน้ำ ๑ แก้ว เมื่อคนให้ละลาย แล้วลองชิมดู ผลเป็นอย่างไร “ก็เค็ม”
ถ้าเอาน้ำแก้วนี้ใส่ลงในถังน้ำแล้วเติมน้ำให้เต็ม ชิมดูเป็นอย่างไร “ก็แค่กร่อยๆ”
ถ้าเอาน้ำในถังนี้ใส่ลงในแท็งก์น้ำฝนใบใหญ่ ชิมดูเป็นอย่างไร “ก็จืดสนิท”
“เกลือหายไปไหนหรือเปล่า” “เปล่า ยังอยู่ครบถ้วนตามเดิม” “แล้วทำไมไม่เค็ม”
“ก็เพราะน้ำในแท็งก์มีปริมาณมาก มากจนสามารถเจือจางรสเค็ม ของเกลือจนกระทั่งหมดฤทธิ์ เราจึงไม่รู้สึกถึงความเค็ม ภาษาพระท่านเรียก อัพโพหาริก หมายความว่า มีเหมือนไม่มี คือเกลือนั้นยังมีอยู่แต่ว่าหมดฤทธิ์เสียแล้ว ถือได้ว่าไม่มี”
เช่นกัน วิธีแก้บาปในพระพุทธศาสนาก็คือ การหยุดทำบาป แล้วตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลนั้นมาทำให้ผลบาปทุเลาลงไป การทำบุญอุปมาเสมือนเติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่มีใครไถ่บาปแทนได้ แต่เราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาทำให้จางบาปมีฤทธิ์น้อยลงหรือให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้
จึงทำให้ทราบวิธีการแก้ไขบาปที่เกิดจากการทำชั่วที่เรียกว่า การละลายบาป ก็คือ การตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลนั้นมาเจือจางบาปลงไป การทำบุญอุปมาเสมือน เติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่สูญหายไปไหน ไม่มีใคร ไถ่แทนได้ ฉะนั้นเราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาเจือจางบาปให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้ อุปมาเหมือนเกลือกับน้ำในแม่น้ำ แม้เกลือจะยังมีอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ก็ไม่มีผล
ถึงแม้ว่าจะเจือจางบาปด้วยความดีได้ ถึงอย่างนั้น บางคนแม้จะรู้ว่าอะไรเป็นความดี แต่ไม่ยอมทำหรือทำได้เพียงเล็กน้อยเพราะไม่อาจฝืนอำนาจกิเลสได้ การทำความดีให้มากๆ เพื่อไปละลายบาปกรรมจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ อย่าทำบาป หรือพยายามทำบาปให้น้อยที่สุด ด้วยการมีสติพิจารณาผลดีผลเสียให้รอบคอบก่อนลงมือกระทำสิ่งใดลงไปทุกครั้ง
วิธีการล้างบาปด้วยการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มุ่งหมายเพื่อการกำจัดกิเลสอาสวะ เพื่อความบริสุทธิ์ กาย วาจา และใจ เป็นบุคคลผู้พ้นทุกข์ มีชีวิตที่สมบูรณ์ และมิต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป คำสอนในพระพุทธศาสนา มุ่งเน้นให้ผู้ประพฤติกระทำตนให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เมื่อสรุปย่อคำสอนในพระไตรปิฎกทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์แล้ว มีหลักปฏิบัติที่เป็นแม่บทสำคัญ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 อันประกอบด้วย
1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกในเบื้องต้น หมายถึง เห็นถูกในเรื่อง พ่อแม่มีพระคุณจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นรกสวรรค์มี โลกนี้โลกหน้ามีจริง และความเห็นถูกเบื้องสูง คือ เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริถูก หมายถึง มีความคิดออกจากกาม คิดไม่ผูกพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน คิดไม่ทำร้ายให้ใครเดือดร้อน
3.สัมมาวาจา คือ วาจาถูก หมายถึง ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ให้เขาแตกแยก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ อวดอ้างความดีของตัว หรือทับถมผู้อื่น
4. สัมมากัมมันตะ การงานถูก หมายถึง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการเสพเมถุน
5. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตถูก หมายถึง เลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด แล้วประกอบอาชีพในทางที่ถูก
6. สัมมาวายามะ ความเพียรถูก หมายถึง เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
7. สัมมาสติ ความระลึกถูก หมายถึง ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวอยู่เสมอหมั่นตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอยู่เสมอ
8. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นถูก หมายถึง มีใจตั้งมั่นหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จนบรรลุฌานขั้นต่างๆ ไปตามลำดับ จากสมาธิที่เป็นโลกิยะไปสู่สมาธิที่เป็นโลกุตตระ อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นคำสอนเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ทั้งปวง หรือเป็นวิธีการปฏิบัติสำคัญเพื่อการล้างบาป
ข้อปฏิบัติในการล้างบาป
1. รักษาศีลยิ่งชีวิต หมั่นฝึกฝนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยการควบคุมกาย วาจา และใจให้สะอาดบริสุทธิ์ หากคนทั่วไปก็รักษาศีล 5 หรือศีล 8 ในวันพระ สามเณรรักษาศีล 10 และพระภิกษุรักษา ศีล 227 โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการรักษาศีล เพราะศีล เป็นประดุจลู่ชีวิตที่จะนำพาผู้ปฏิบัติให้มุ่งตรง สู่จุดหมายปลายทาง
หลักการของศีล คือ ความสะอาด ความสะอาดของศีลตามหลักของพระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ความสะอาดแบบตื้นๆ แต่เป็นความสะอาดในระดับลึก ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “บุคคลแม้จะอาบน้ำวันละร้อยหน แต่ถ้ายังฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม บุคคลนั้นยังไม่ชื่อว่า เป็นผู้สะอาดกาย และแม้บุคคลใดแปรงฟัน วันละพันหน แต่ยังกล่าวคำโกหก พูดเพ้อเจ้อ นินทาชาวบ้าน พูดส่อเสียด บุคคลนั้นก็ยังไม่ชื่อว่า มีปากที่สะอาดแล้ว” เพราะฉะนั้น ความสะอาดตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ความสะอาดทั้งกาย ทั้งวาจา และใจที่เกิดจากการรักษาศีล เป็นความสะอาดที่ไม่ทำให้กาย วาจา ใจ ของเราต้องไปติดบาปใดๆ ทั้งสิ้น
ศีลนี้ มีความสะอาดเป็นเบื้องต้น ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ”ความสะอาดกาย ความสะอาดวาจา ความสะอาดใจ เป็นเครื่องปรากฏย่อมถึงการนับว่า ปรากฏโดยความเป็นของสะอาด” (อรรถกถาสีลมยญาณนิทเทส ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค) หมายถึงการละชั่วจากบาปอกุศลทั้งปวงโดยมีศีลเป็นกรอบของการดำเนินชีวิต จัดว่าเป็นความดีขั้นต้นที่จะทำให้ชีวิตของเราไม่มีจุดด่างพร้อย เป็นชีวิตที่สะอาดจากบาปอกุศล การรักษาศีล เรียกว่าเป็นการล้างบาปในขั้นต้น
2. ฝึกจิตเจริญสมาธิภาวนา คือ ฝึกควบคุมจิตใจ ด้วยการทำใจให้สงบเป็นอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ หมั่นพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จนเกิดผลของการปฏิบัติไปตามลำดับกระทั่งเกิดความรู้แจ้งในหลักพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า วิชชา เหตุที่ต้องฝึกควบคุมใจเพราะพฤติกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น มาจากความตั้งใจเป็นสำคัญ เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าจิตใจได้รับการพัฒนาให้ดีงามแล้ว ก็จะสามารถควบคุมดูแลและนำพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามด้วย
การปฏิบัติมันต้องปฏิบัติติดต่อทุกเมื่อทุกเวลา ทุกๆ อิริยาบถ โดยมีความเห็นถูกต้อง โดยมีความเข้าใจถูกต้อง แล้วปฏิบัติถูกต้อง เราถึงจะมีการเดินทาง มีการปฏิบัติ เพราะว่ามันจะเลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะมันเองคือระบบความคิด ระบบคำพูด ระบบการกระทำ เห็นมั้ยหล่ะโควิด เกิดขึ้นในประเทศไทย คนไทยไม่ได้ทำงาน สถานะการณ์ก็ทำให้ประเทศของเราสะดุด การปฏิบัติธรรม มันต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ปฏิบัติให้สม่ำเสมอทุกอิริยาบถ มันถึงจะเป็นสัมมาสมาธิ เพราะสมาธิที่เรานั่งตอนเช้า ตอนเย็น มันเป็นอาหารเสริม เปรียบเสมือนหินก้อนใหญ่ทับหญ้าเฉยๆ เราต้องปรับตัวเข้าหาเวลา ถึงเวลานี้เรานอน เราพักผ่อน ถึงเวลานี้เราต้องบังคับตัวเองตื่น ตื่นขึ้นมากราบพระไหว้พระ นั่งสมาธิ ถึงเวลาเราต้องทำอย่างนู้น ทำอย่างนี้ โดยที่ไม่หยุดอยู่ อย่างพระเราถึงเวลาไปบิณฑบาตก็ไปบิณฑบาต ถึงเวลากลับจากเวลากลับจากบิณฑบาตก็มาฉัน พัฒนาทั้งใจ พัฒนาทั้งที่เกี่ยวกับสิ่งภายนอก มันต้องมีการปฏิบัติ ฉันเสร็จมันก็ต้องทำงานต่อ แม้แต่ฉันอยู่ก็ทำงานเรื่องฉัน เพราะร่างกายของเรานี้มันก็เหมือนรถยนต์ เราก็ต้องให้ข้าว ให้อาหาร ให้การพักผ่อน รถยนต์เราก็ต้องให้น้ำมัน ให้การดูแล มันก็เหมือนกัน เราฉันเสร็จเราก็ ถ้าเป็นพระก็ทำงานพระ พระสายวัดป่าฉันเสร็จมันง่วง ท่านก็ให้เดินจงกรม เดินจงกรมให้ใจมัน สมองมันโปร่งไปเลย เพราะฉันเสร็จสมองมันต้องการพักผ่อน แต่เราก็ต้องทวนกระแส เราก็ไม่นอน เราก็เดินจงกรม หรือทำอะไรอย่างนี้ มันหายง่วงเราถึงนั่งสมาธิอย่างนี้เป็นต้น ก็มีการอ่านหนังสือ ท่องหนังสือ เขียนหนังสืออะไรอย่างนี้ ไม่มีเวลานอนหรอก
เพราะเราต้องบังคับตัวเอง เข้าสู่ธรรมะ เข้าสู่เวลา เห็นมั้ยที่เราไปทำงานบริษัท ที่เค้ามีระเบียบมีอะไร เค้าทำอย่างนี้ตลอด บริษัทเค้าถึงเป็นได้ เจริญได้ เราเป็นพระเราก็ปฏิบัติหน้าที่ให้มันดี ให้มันเข้มข้น ไม่มีแล้วเวลาที่ไม่ปฏิบัติ ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง มันไม่ได้ มันต้องทวนกระแส ถ้างั้นเราจะแก่เฒ่าไปเฉยๆ เราจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เห็นมั้ยที่เค้าไปอยู่เรียนมหาวิทยาลัยที่ดีๆ เค้ามีการเรียน การอะไร ติดต่อต่อเนื่อง กลับมาบ้านก็ยังมาท่องหนังสือ มาเขียนหนังสือ พระที่บวชมานี้ไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ ไม่มีการขวนขวาย ที่เรียกว่า ชาคริยานุโยค ไม่อาจติดในความสุขในการกิน การนอน การฉัน การนอน การพักผ่อนไม่ได้ ปล่อยไปตามอัธยาศัยอย่างนั้นไม่ได้
ทุกคนมันก็อยากตามใจตามอะไร มันตามใจตัวเองไม่ได้ ตามอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มันต้องเสียสละ มันถึงจะมีศีลที่สง่างาม มีสมาธิที่สง่างาม ที่ตั้งมั่น มีปัญญาที่จะต้องเสียสละ ที่จะต้องดำเนินทางจิตใจ ทั้งภายนอกไปพร้อมๆ กัน ชีวิตของเราต้องก้าวไปอย่างนี้นะ ถ้าอย่างนั้นมันไม่ได้ เรื่องอบายมุข อบายภูมิเราต้องหยุดตัวเอง เบรคตัวเอง พระรุ่นเก่า พระกรรมฐานรุ่นเก่าไม่มีเวลานอนหรอก พระลูกพระหลานไปอยู่กับท่านไม่เห็นท่านนอน ไม่เห็นท่านจำวัด เห็นแต่ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิ กวาดวัด ทำอะไรๆ อย่างนี้แหละ ถ้าไม่ติดความสุข ติดความสะดวกความสบาย ท่านเสียสละท่านทั้งวัน คนเรานี้ถ้าตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเองนี้มีความทุกข์นะ ไม่เสียสละอย่างนี้แหละ มีความผิดนะ ธรรมวินัยถึงจะเดินไปได้ ถึงจะเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน