แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๕๘ มีการเรียนปริยัติ แต่ขาดการปฏิบัติ เลยเป็นช่องโหว่ ทำให้ไม่เกิดปฏิเวธตามมา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นมาในโลก พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีหลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้ สมบูรณ์ด้วยอรรถะ ด้วยพยัญชนะ เป็นธรรมะ เป็นธรรมวินัย บุคคลไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึก เพราะเอาธรรมะเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง พัฒนาใจพร้อมกับวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าทางสายกลาง เพราะประเทศไทยของเราได้รับพระพุทธศาสนามาสมบูรณ์แบบตามพระไตรปิฏก ตามพุทธเถรวาท ปฏิบัติตามธรรมวินัยทุกๆ ประการ แต่ที่มรรคผลนิพพาน ที่เข้ามาสู่กุลบุตรลูกหลานนี้ ยังถือว่าไม่สมบูรณ์แบบ มันเป็นเพียงแต่ปริยัติ ไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ประเทศไทยเรา ประเทศลาว เขมร พม่า ศรีลังกา ถือว่าได้นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท แต่เราไม่ได้พากันเอาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติ ที่เป็นพรหมจรรย์ให้สมบูรณ์แบบ ประเทศไทยเรา หรือประเทศที่ถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ถือว่ามีความล้มเหลว พากันมีแต่แบรนด์เนม คือ ปลงผม นุ่งห่มผ้าจีวร แบรนด์เนมต่อมาคือ มีโบสถ์ วิหาร เจดีย์ มีศาสนาวัตถุ แต่ภาคประพฤติปฏิบัตินี้มันย่อหย่อนอ่อนแอ ไม่สมควรที่จะได้มรรค ได้ผล เราพยายามดิ้นรน อย่างประเทศไทยเรามี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ แล้วก็มหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ มันก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะว่ามีแต่ความรู้ ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ นี้เรามองเห็นความที่มีช่องโหว่ ความไม่สมดุล ปริยัติ ปฏิบัติ มันเลยไม่เป็นปฏิเวธตามพระพุทธศาสนา
เราทุกคนไม่อาจที่จะได้ดีโดยธรรมชาติได้ นอกจากความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ต้องเข้าใจอย่างนี้ ถ้ามีทั้งธรรมทั้งเทคโนโลยี เราก็จะไม่ได้เป็นคนยากจนคอยเอามรดกจากพ่อจากแม่ เราจะได้ไม่ได้หนีไปเป็นหนุ่มโรงงาน สาวโรงงาน ที่นี้เราก็สามารถที่จะช่วยกันได้ เราไปโทษให้คนนี้คนนั้นก็ไม่ได้หรอก เพราะมันไม่เข้าใจในชีวิต ไม่เข้าใจ มันเลยเกิดช่องโหว่ เห็นไหมละ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระอรหันต์ที่จะเกิดได้ก็เพราะเค้าจับภิกษุอลัชชีสึกไปประมาน 60,000 คน นิมนต์ให้ผู้ที่ไม่ได้เอามรรคผลนิพพานออกไป พระอรหันต์ถึงเกิดขึ้นเยอะแยะเลย
ปริยัติ_ปฏิบัติ_ปฏิเวธ #สามเสาหลักแห่งพระพุทธศาสนา
ปริยัติ ปริ (รอบ) + ยตฺติ (ศึกษา,เล่าเรียน ) ระเบียบคำอันควรศึกษาโดยรอบ หมายถึง พระพุทธพจน์ หรือ พระไตรปิฏก (รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคำอธิบายต่างๆเพื่อให้เข้าใจในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
พระพุทธวจนะ ได้จัดไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ มีอยู่ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อสะดวกในการศึกษาและนำไปปฏิบัติของอนุชนรุ่นหลัง พระอรรถกถาจารย์ได้จัดหมวดหมู่ไว้ เป็น ๓ หมวดใหญ่ๆ รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก หมายถึงพระคัมภีร์ ๓ อย่าง ที่เก็บรักษาเป็นคลังแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ของพระบรมศาสดา ประกอบด้วยพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ในบรรดาพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ นั้น พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว คือ มีการเชื่อมความในเรื่องเดียวกัน จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระมาก นับพระธรรมขันธ์ด้วยการเชื่อมเนื้อความในแต่ละคาถา หากเป็นเรื่องที่มีการถามปัญหา คำถามปัญหาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ คำวิสัชนาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์
ส่วนในพระอภิธรรม การจำแนกติกะทุกะแต่ละประเภท และการจำแนกวาระจิต แต่ละวาระจิตจัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระวินัย มีวัตถุ มีมาติกา มีบทภาชนีย์ มีอันตราบัติ มีอาบัติ มีอนาบัติ มีกำหนดติกะ ส่วนหนึ่งๆ รวมเป็นพระธรรมขันธ์อันหนึ่งๆ ฟังดูแล้วอาจเข้าใจยากสักนิด แต่ถ้าหากทุกท่านได้ทดลองอ่านดู จะเข้าใจว่า ท่านผู้รู้ได้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ มีความเข้าใจง่ายและลึกซึ้งไปตามลำดับ ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้ เหมือนเดินเข้าไปสู่มหาสมุทรแห่งปัญญา
พระพุทธวจนะ คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรสเดียวกัน คือ วิมุตติรส เป็นรสแห่งความหลุดพ้น มีประโยชน์สูงสุดจากการศึกษา คือการหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ถ้าพูดถึงความต่างกัน มี
👉 ๒ ประเภท คือ แบ่งเป็นพระธรรมและพระวินัย
👉 ๓ ประเภท คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม
กว่าจะจัดรวบรวมเรียบเรียงเป็นหมวดเป็นหมู่ได้อย่างนี้ พระอรหันตขีณาสพ ๕๐๐ รูป ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ช่ำชองในปฏิสัมภิทา ท่านได้เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนนี้ไว้อีกทีหนึ่ง ท่านต้องประชุมกันเพื่อทำสังคายนา ใช้เวลานานถึง ๗ เดือน จึงสำเร็จ นับเป็นบุญลาภของพวกเรา ที่ได้ศึกษาความรู้อันบริสุทธิ์นี้
การศึกษาปริยัติมี ๓ อย่างคือ
๑. อลคัททูปริยัติ การศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อ ลาภ สักการะ สรรเสริญ หรือเพื่อยกตนข่มผู้อื่น ย่อมเป็นโทษกับตนเอง เหมือนการจับงูพิษที่หาง งู ย่อมแว้งขบกัดเอาได้
๒. นิสสรณัตถปริยัติ การศึกษาเพื่อประโยชน์แก่การออกไปจากทุกข์คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่ออบรมปัญญา เป็นการศึกษาของผู้ที่เห็นโทษภัยของกิเลส เห็นภัยในวัฏฏสงสารปรารถนาจะออกไปจากวัฏฏทุกข์
๓. ภัณฑาคาริกปริยัติ การศึกษาแบบขุนคลัง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อทรงพระศาสนาไว้ไม่ให้เสื่อมสูญเป็นการศึกษาของพระอรหันต์ซึ่งหมดกิจในการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสแล้วแต่มีฉันทะและเห็นประโยชน์ในการศึกษาเพื่อถ่ายทอดพระธรรมคำสอนให้แก่ชนรุ่นหลัง
ปฏิบัติ ปฏิ (เฉพาะ) + ปตฺติ (การถึง) การถึงเฉพาะ หมายถึง สัมมาปฏิบัติ คือการปฏิบัติชอบ การปฏิบัติถูกต้องได้แก่ ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีงามเกิดขึ้นทำกิจของตน เป็นไปในกุศลขั้นต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนาภาวนา หมายถึง ขณะที่สติพร้อมสัมปชัญญะที่เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และรู้ความจริงว่าเป็นเพียงนามธรรมรูปธรรม เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยและไม่มีใครเป็นผู้ปฏิบัติ นอกจากสติสัมปชัญญะและโสภณธรรมที่ทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของตนๆ ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมจะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง และละความยึดถือความเป็นตัวตนได้ในที่สุด
ปฏิเวธ ปฏิ (ตลอด) + วิธ (การแทง) การแทงตลอด หมายถึง การตรัสรู้ธรรม บรรลุมรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติที่ถูกต้องนั่นเอง
เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่เราพอจะมองเห็น อย่างหลวงปู่มั่น ท่านเอาธรรมะ เอาพระวินัย ผู้ประพฤติปฏิบัติตามหลวงปู่มั่นที่ท่านเอาธรรม เอาวินัย ก็ได้ผลสมควร ตามที่หลวงปู่มั่นพาประพฤติปฏิบัติ ลูกศิษย์ของท่านก็พากันได้เป็นพระอริยเจ้ากันเยอะ ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นองค์สำคัญคือ หลวงปู่ชา ได้เอาพระธรรม เอาพระวินัย ตามหลวงปู่มั่น ตั้งใจ ตั้งเจตนา ศึกษาพระวินัยจากบุพพสิกขาวรรณนาเพิ่มเติมให้ละเอียด ท่านได้รู้ได้เรียนได้ศึกษา ท่านก็ปฏิบัติตามทุกสิกขาบทน้อยใหญ่ ตัวท่านเองก็ได้ผล
เราดูตัวอย่างสำนักปฏิบัติธรรมที่เรานำมาจากประเทศพม่า จากมหาสีสยาดอ ก็เป็นธรรมะ ที่ให้ผลถึงพระนิพพานได้ แต่กำลังเสริมคือพระวินัย ของพระมันอ่อนเหลือเกิน มันเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นนักปรัชญากัน เพราะการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอทุกอิริยาบถ ด้วยความเจตนา ด้วยความตั้งใจมันก็ไม่ได้ เพราะมันไม่สมบูรณ์แบบเหมือนที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน มันยังตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง ตามอัธยาศัยอยู่ มันก็ซู่ซ่าอยู่สักพักนึง ก็หายเงียบ เพราะเราทิ้งพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เพราะว่าพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ คือข้อวัตร ข้อปฏิบัติที่จะปิดช่องโหว่ ช่องรั่ว อย่างท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ ตามหลักพุทธศาสนาแท้ๆ แต่พระ เณรไม่เข้าใจ จะไปเน้นแต่เรื่องจิต เรื่องใจ ทิ้งสิกขาบท วินัยน้อยใหญ่ ไปพัฒนาแต่เรื่องใจ มันก็ไปไม่ได้ ไปไม่ได้เพราะว่ามันจะพัฒนาเอาแต่ใจ เอาแต่ความรู้ เอาแต่ความฉลาด ไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ไม่เข้าสู่อริยมรรค มันไม่ได้ มันก็เลยเป็นไปเหมือนที่เราเป็นอยู่ สำนักปฏิบัติต่างๆ ในเมืองไทยเพราะมันขาดธรรมะ พระวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ มันถึงเป็นอย่างนี้ ลูกศิษย์ หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว ก็ทิ้งสิกขาบท พระวินัยน้อยใหญ่อย่างนี้ มันก็ไปไม่ได้นะ มันจะเหลือแต่แบรนด์เนมของหลวงปู่มั่น ของหลวงพ่อชา ของหลวงตามหาบัว ของเจ้าคุณพุทธทาส หรือของท่านมหาสีสยาดอ
ให้พวกเราเป็นพุทธบริษัท พากันเข้าใจว่า ความบกพร่องของเราคือ เราทิ้งธรรมะทิ้งพระวินัย ที่สมบูรณ์แบบพร้อมทั้งอัตถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ ทำให้เราประเทศเราเสียหายมากนะ มรรคผลนิพพานเลยเกิดแก่พวกเราไม่ได้ เราพากันหลงประเด็นไปมาก ถ้าเราไม่พากันแก้ ไม่พากันประพฤติปฏิบัติ มันจะเสียหายไปกันใหญ่ เราจะเป็นวัดบ้าน วัดป่า วัดธรรมยุต มหานิกาย มหายาน ไม่สำคัญ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เห็นความสำคัญแห่งสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่ ด้วยความตั้งใจ ด้วยเจตนา เพราะการปฏิบัติมันเน้นที่ใจ ที่เจตนานะ เพราะการบวชนี้ มันคือเรื่องของจิต ของใจ ของเจตนา เพราะการมีเซ็กส์หรือมีเพศสัมพันธุ์มันเน้นที่ใจนะ ต้องมาจากใจก่อน ใจของเราต้องไม่มีเซ็กส์ไม่มีเพศสัมพันธ์ ต้องอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้ตัดช่องโหว่ ที่มันผิดพลาด ที่เรามีมหามกุฏมันก็เสียหาย เราไม่ได้มาประพฤติปฏิบัติ เรามีมหาจุฬาก็เสียหาย ไม่ได้มาประพฤติปฏิบัติ เราพากันสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างเจดีย์ มันเสียหาย เสียทรัพยากรของประเทศไทยของเรา เราจะมีวัดไปทำไม เราจะมีโบสถ์ไปทำไม เราจะมาบวชเอาอะไร เพราะมันยังไม่เข้าถึงศาสนา
ถึงคราวแล้ว ถึงเวลาแล้ว เราต้องพากันมาปิดอบายมุข อบายภูมิ ทุกคนมันแก้ไม่ยาก เพราะมันแก้ที่ตัวเราคนเดียว เมื่อเราแก้ที่ตัวเอง คนอื่นก็แก้ที่ตัวเอง อย่างนี้มันจะไม่มีปัญหา เราจะไปถือแบรนด์เนมพระพุทธเจ้า แบรนด์เนมของหลวงปู่มั่น ของหลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว หรือเจ้าคุณพุทธทาส หรือทางมหาสีสยาดอ มันเป็นเพียงแต่เอาแบรนด์เนมมาหากินเฉยๆ มันเสียหาย นี้คือความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ ที่มาจากความเห็นไม่ถูกต้อง ความเข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง เราจะไม่ได้เข้าถึงพรหมจรรย์ ทุกคนต้องเข้าถึงความเป็นพระศาสนา ไม่ว่าเราจะเป็นพระ เป็นประชาชน เราต้องเข้าถึงความเป็นพระศาสนา เราถึงจะหยุดการเวียนว่ายตายเกิด
เราเข้าใจศาสนาเราผิดมาก ไปหลงศาสนาของพระพุทธเจ้า ไปในทางขลัง ทางศักดิ์สิทธ์ ไปทางไสยศาสตร์ ไปสวดก็เพื่อขลังศักดิ์สิทธ์ คำสวดนั้นเป็นพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านเทศน์สอน เราคิดว่าจะมาสวดเพื่อร่มเย็นเป็นสุข อันนี้เป็นข้อวัตร ข้อปฏิบัติที่ให้เราประพฤติปฏิบัติ ยังงมงายไปเยอะ ยังไปสวดต่ออายุ สวดสืบชะตา ที่ไปทางขลัง ศักดิ์สิทธ์ มันแล้ง ฝนไม่ตก ก็ไปสวดขอฝนขออะไร ไปสวดกันผี แทนที่จะไปเมตตาผี ก็ไปสวดกันผี พระพุทธเจ้าให้เจริญเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย เช่น วิรูปักเข ก็ไปเอาคำสวดไปกันงูเงี้ยวเขี้ยวขอ ประเทศไทยหลายปีนี้ช้างมันอดอยาก ออกหากิน ช้างก็พากันไปฆ่าพระเจ้าพระสงฆ์ที่มัวแต่เดินก้มหน้า ไม่สำรวม ระวัง ก็พากันไปสวดกันช้าง มันไปกันใหญ่แล้ว เอาไปใช้ในทางขลัง ศักดิ์สิทธ์ เครื่องรางของขลัง ไปพูดว่า เอาเหล็กมาจากประเทศนู้นประเทศนี้ เอาดินมาจากประเทศนู้นประเทศนี้ เป็นแร่ธาตุกายสิทธิ์ มันไปกันใหญ่แล้ว
มันต้องเข้าใจพระศาสนาให้ถูกต้อง ไม่ใช่เข้าใจแบบหลง ประชาชนทั้งพระ ไปหลงในเรื่องหมอดู ศาสตร์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีจริงอยู่ แต่เราไปเชื่ออย่างนี้ มันก็ไม่ได้แก้กรรมนะ การแก้กรรมก็คือเหมือนพระอรหันต์แก้กรรม ท่านรู้ว่าอันไหนไม่ดี ท่านไม่คิด อันไหนไม่ดีท่านไม่พูด อันไหนไม่ดีท่านไม่ทำ ท่านมาหยุดกรรม ท่านมาแก้กรรม พวกเราเข้าใจผิด คิดว่าเกิดมาใช้กรรม มันไม่ถูก พวกพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเกิดมาเพื่อมาใช้กรรม ท่านได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์ท่านก็ต้องทรงธาตุทรงขันธ์เพื่อช่วยเหลือคนอื่น อดทนฉันข้าว นอนพักผ่อน เพื่อดูแลคนอื่น อย่างนี้เขาเรียกว่าใช้กรรมไป พวกที่รู้อยู่ว่า ถ้าเราเอาภรรยา เอาสามี มันต้องมีลูก มีหลาน เราก็ยังไปเอา อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าเกิดมาใช้กรรมนะ อย่างนี้เขาเรียกว่าเกิดมาเพิ่มกรรม พวกความคิดนี้ เป็นแผลลึก ยิ่งกว่ามีดบาดนะ เราคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี อันนี้มันมีแผลทางจิตใจ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามีเซ็กส์ทางความคิด มีเซ็กส์ทางอารมณ์ ไม่ตามอันนี้ไป เราจะได้หยุดกรรม เวรย่อมระงับด้วยการหยุดกรรม ด้วยการไม่สร้างเวร สร้างกรรม
"กัมมุนา วัตตตี โลโก" สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม
กัมมปัจจัย หมายถึงการกระทำของจิตใจที่เป็นเหตุให้เกิดผล หรือให้สำเร็จกิจในหน้าที่ของตนเรียกว่า "กรรม" ดังพุทธภาษิตกล่าวไว้ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาตว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ เจตยิตฺวา กมฺมํ กาเยน วาจาย มนสา ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนาคือตัวกรรม สัตว์ทั้งหลายที่ทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็ดี ย่อมมีการปรุงแต่ง คือคิดนึกก่อนแล้วจึงทำ"
ดังจะเห็นได้ว่าการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ จะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม ต้องอาศัยเจตนาเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าในการกระทำนั้นๆ ฉะนั้น เจตนาจึงเป็นตัวกรรม หรือเป็นหัวหน้าของสังขารขันธ์ทั้งหลาย
กัมมปัจจัยที่กล่าวว่า เป็นปัจจัยให้เกิดผล ก็เพราะทำหน้าที่เพาะพืชพันธุ์ให้เกิดผลในอนาคต เรียกว่า พีชนิธานกิจ คือ ทำกิจสั่งสมพืชเชื้อเพื่อให้งอกต่อไปในอนาคต เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ถือการกระทำเป็นใหญ่ เป็นกรรมนิยม ซึ่งผิดกับศาสนาอื่นที่ถือเทวนิยม เป็นต้น เพราะเข้าใจว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยการบันดาลของเทพเจ้า แต่ส่วนของพระพุทธศาสนาถือว่า สัตว์ทั้งหลายจะดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้อื่น หรือขึ้นอยู่กับวงศ์ตระกูล เพราะการทำดีทำชั่วต้องทำด้วยตนเอง ไม่ใช่มีผู้อื่นมาทำให้ได้ เหตุนี้สัตว์ทั้งหลายจึงมีกรรมเป็นของตน เรียกว่า...
กมฺมสฺสโกมฺหิ เมื่อทำกรรมไว้อย่างไร ก็ต้องรับผลของกรรมนั้นตามที่ทำไว้
กมฺมทายาโท คือเป็นทายาทของกรรมที่ทำแล้ว จึงจำแนกสัตว์ให้ไปเกิดในที่ต่างๆกัน
กมฺมโยนิ คือมีกรรมเป็นกำเนิด และกรรมที่ทำแล้วยังจะติดตามไปทุกหนทุกแห่ง จะไม่สูญหายไปไหน
กมฺมพนฺธุ คือมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ แม้พ่อ-แม่ญาติพี่น้อง ก็ไม่ชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์วงศ์ญาติที่แท้จริง คือชาตินี้เป็นญาติกัน แต่พอตายแล้วก็แยกย้ายกันไป แต่ส่วนกรรมที่ทำแล้วย่อมจะติดตามตนไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน.
ถ้าทำกรรมดีก็เหมือนมีวงศ์ญาติที่ดี ญาติดีก็จะอุปถัมภ์ค้ำชูให้มีความสุข ความเจริญ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็เหมือนมีวงศ์ญาติที่ชั่ว ญาติชั่วก็จะติดตามล้างผลาญให้เป็นทุกข์เดือดร้อนเรื่อยไป กรรมจึงเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์โลก
กมฺมปฏิสรโณ เพราะเมื่อกรรมชั่วให้ผลอยู่ แม้ญาติพ่อ-แม่พี่น้องตลอดจนผู้มีอำนาจราชศักดิ์ ก็ไม่อาจช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้ แต่ถ้ากรรมดีให้ผลอยู่ แม้ใครจะคิดร้ายทำลายชีวิตก็ไม่อาจถูกทำลายได้เลย.
อีกนัยหนึ่ง ท่านเปรียบกรรมคือการทำกุศล อกุศล ส่วนผลคือวิบาก เปรียบเหมือนเงา เมื่อมีคนที่ใหนก็ต้องมีเงาที่นั่น คือมีกรรมก็ต้องมีวิบากรับผล.
ปัจจุบันคนเริ่มสงสัยในเรื่องกฎแห่งกรรม และบางคนก็ไม่ยอมเชื่อเรื่องนี้ ถึงกับมีคนเขียนเป็นคำกลอนว่า คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป
ในเรื่องกฎแห่งกรรม ได้กล่าวถึงอันตรายที่เกิดแก่สัตว์โลก ๕ อย่างคือ
๑. กิเสสันตราย อันตรายอันเกิดจากกิเลส
๒. กัมมันตราย อันตรายอันเกิดจากความชั่วที่ทำในปัจจุบัน
๓. วิปากันตราย อันตรายอันเกิดจากวิบาก คือ ผลของกรรมที่ทำในอดีต
๔. ทิฏฐันตราย อันตรายอันเกิดจากทิฏฐิที่ผิด
๕. อริยูปวันตราย อันตรายที่เกิดจากการจ้วงจาบพระอริยเจ้า
พระพุทธศาสนาสอนว่า บุคคลจะได้ดีหรือชั่ว ได้รับสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรม หรือการกระทำของตนเองทั้งสิ้น หากเราไม่ดำเนินตาทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ แม้จะสวดมนต์หรือวิงวอนขอร้อง ก็ไม่อาจจะช่วยให้เราพบความดีและความสุขได้ ถ้ามนุษย์จะมีความสุขได้ด้วยความภักดีและวิงวอน มนุษย์เราก็คงไม่ต้องทำอะไร
ความเชื่อในเรื่องกรรม ตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธควรมีศรัทธา ๔ อย่างคือ ๑. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคณ และพระมหากรุณาธิคุณ ๒. กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรม คือเชื่อว่ากรรมมีจริง ๓. วิปากสัทธา เชื่อเรื่องผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมให้ผลเสมอ ๔. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่าผลที่เราได้รับ เป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ
จะเห็นได้ว่าความเชื่อหรือศรัทธา ๔ อย่าง เป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับกรรม กฎแห่งกรรมจึงเป็นคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนจึงควรเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ควรพยายามศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ชาวพุทธที่ไม่เชื่อกฎแห่งกรรมหาใช่ชาวพุทธที่แท้จริงไม่ เขาเป็นเพียงชาวพุทธแต่เพียงในนาม ศาสนาพุทธมีประโยชน์แก่เขาเพียงใช้กรอกแบบฟอร์ม เพื่อไม่ให้ถูกว่าเป็นคนไม่มีศาสนาเท่านั้นเอง
คนที่เชื่อในเรื่องกรรม ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อ คนที่เชื่อเรื่องกรรมย่อมสามารถอดทนรับความทุกข์ยากลำบาก ความผิดหวัง ความขมขื่น และเคราะห์ร้ายที่เกิดแก่ตนได้ เพราะถือว่าเป็นกรรมที่ทำมาแต่อดีต ไม่ตีโพยตีพายว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่เชื่อในเรื่องกรรมจะยึดมั่นอยู่ในการทำความดีต่อไป จะเป็นผู้สามารถให้อภัยแก่ผู้อื่น และจะเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ คนที่ประกอบกรรมทำชั่วทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนใหญ่เป็นคนไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องบุญและบาป ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด คนพวกนี้เกิดมาจึงมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติและความสุขสบายให้แก่ตัว โดยไม่คำนึงว่าทรัพย์สมบัติหรือความสนุกสนานที่ตนได้มาถูกหรือผิด และทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนหรือไม่
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมนั้นย่อมเป็นของเราโดยเฉพาะ และเราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ เช่น เราทำกรรมชั่วอย่างหนึ่ง เราจะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น จะลบล้างหรอโอนไปให้ผู้อื่นไม่ได้ แม้ผู้นั้นจะยินดีรับโอนกรรมชั่วของเราก็ตาม กรรมดีก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดทำกรรมดี กรรมดีย่อมเป็นของผู้ทำโดยเฉพาะ จะจ้างหรือวานให้ทำแทนกันหาได้ไม่ เช่นเราจะเอาเงินจ้างผู้อื่นให้ประกอบกรรมดี แล้วขอให้โอนกรรมดีที่ผู้นั้นทำมาให้แก่เราย่อมไม่ได้ หากเราต้องการกรรมดีเป็นของเรา เราก็ต้องประกอบกรรมดีเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร ผู้ใดรับประทานผู้นั้นก็เป็นผู้อิ่ม
มนุษย์เรามีภาวะความเป็นไปต่างๆ กัน เช่น ดีหรือชั่ว รวยหรือจน เจริญหรือเสื่อม สุขหรือทุกข์ ก็เนื่องจากกรรมของตนเองทั้งสิ้น และกรรมใดที่ทำลงไปจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ และย่อมติดตามผู้ทำเสมือนเงาติดตามตน หรือเหมือนกับล้อเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าโคไปฉะนั้น ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย หากเราทำกรรมดีเราก็ได้รับความสุขความเจริญ กรรมดีจึงเหมือนกัลยาณมิตรที่คอยให้ความอุปการะ และส่งเสริมให้เราประสบแต่ความสุขและความเจริญ แต่ถ้าเราทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็คอยล้างผลาญเราให้ประสบแต่ความทุกข์และความเสื่อม
คนส่วนมากเข้าใจว่ากรรมคือการกระทำ ความเข้าใจนี้ไม่ผิด แต่เป็นความเข้าใจที่ยังไม่รัดกุมและถูกต้องทั้งหมด เพราะมีการกระทำบางอย่างที่ไม่นับว่าเป็นกรรม กรรมแท้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ ผู้ทำมีเจตนา และการกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป ที่ว่าผู้ทำมีเจตนา มีหลักการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ไว้ใน นิพเพธิกปริยายสูตร ฉักกนิมาต อังคุตตรนิกายว่า เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาเป็นกรรม เจตนาก็ได้แก่ ความตั้งใจหรือความรับรู้ ซึ่งแบ่งไว้เป็น ๓ อย่างคือ ๑. บุรพเจตนา เจตนาก่อนทำ ๒. มุญจนเจตนา เจตนาในเวลาทำ ๓. อปราปรเจตนา เจตนาเมื่อได้ทำไปแล้ว การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่งถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนา คือใจไม่ได้สั่งให้ทำ ไม่จัดว่าเป็นกรรม เช่นคนเจ็บซึ่งมีไข้สูง เกิดเพ้อคลั่ง แม้จะพูดคำหยาบออกมา เอามือหรือเท้าไปถูกใครเข้าก็ไม่เป็นกรรม ในทางวินัยก็ยกเว้นให้พระที่วิกลจริตซึ่งล่วงเกินสิกขาวินัยไม่ต้องอาบัติ ทั้งนี้ก็โดยหลักเกณฑ์ที่ว่า ถ้าผู้ทำไม่มีเจตนา กระทำแล้วการกระทำนั้นก็ไม่เป็นกรรม
ส่วนหลักเกณฑ์ข้อที่ ๒ ที่ว่า การกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป ก็เพื่อแยกการกระทำของพระอรหันต์ออกจากการกระทำของปุถุชน เนื่องจากพระอรหันต์เป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่มีความยึดถือในตัวตน การกระทำเรียกว่า อัพยากฤต ไม่นับว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว บุญและบาปก็ไม่มี การกระทำของพระอรหันต์จึงไม่เรียกว่า กรรม แต่เรียกว่า กิริยา ส่วนปุถุชนยังมีความยึดมั่นในตัวตนอยู่ จะทำอะไรก็ยังยึดถือว่าตนเป็นผู้กระทำ การกระทำของปุถุชนจึงเป็นกรรม ย่อมจะก่อให้เกิดวิบากหรือผลเสมอ กรรมดีก็ก่อให้เกิดบุญ ส่วนกรรมชั่วก็ก่อให้เกิดบาป
เราต้องจับหลักให้ดี เอาพระพุทธเจ้าเอาพระอรหันต์เป็นหลัก การประพฤติปฏิบัติเราไม่ต้องไปดูคนอื่น เราทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาปรับปรุงตนเอง เราถึงจะเป็นผู้นำตนเองออกจากวัฏสงสารได้ เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องศาสนาเสื่อม ถ้าใจของเราไม่เสื่อมอะไรมันจะเสื่อม ส่วนใหญ่มันเสื่อมมาจากใจเรานี่แหละ ถ้าเราจะไปแก้ภายนอก มันแก้ไม่ได้หรอก เราต้องมาแก้ตัวตนเองให้เต็ม 100% เพราะการบอกการสอนร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่สู้การประพฤติปฏิบัติให้ดู ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน พระด้วยกันจึงไม่เคารพผู้ที่สอนเก่ง แต่การประพฤติปฏิบัติไม่ดี คนอื่นไม่รู้ความประพฤติเขาก็อาจจะเคารพเลื่อมใส ดังนั้นจึงต้องถึงพร้อมทั้งปริยัติปฏิบัติและปฏิเวธ
คนเราน่ะ ถ้าเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักเป็นใหญ่ไม่มีคำว่าเสื่อมหรอก พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกตนเอง ถ้าเราไม่ทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกตนเอง เราถึงจะปิดอบายมุข ปิดอบายภูมิของเราได้ เราอย่าไปติดสุขติดสบาย อย่างกลุ่มภิกษุวัชชีบุตร เราทุกคนต้องมีสัมมาสมาธิคือมีจิตใจที่เข้มแข็งตั้งมั่น ต้องมีปัญญาต้องเสียสละเพื่อเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรมไปเรื่อยๆ เราจะไปย่อหย่อนอ่อนแอไปเรื่อยไม่ได้ ทุกคนต้องหยุดตนเองเบรกตนเอง ต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมี 20 อสงไขยแสนมหากัป ได้มาบอกมาสอนพวกเรา
พระพุทธเจ้าจึงทรงบอกให้เราตัดเรื่องอดีต ตัดเรื่องอนาคต เน้นไปที่ปัจจุบัน เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต ด้วยฉันทะ ความพอใจ ด้วยความสุข เป็นแบบนี้แล้ว ทุกข์มันจะมาจากไหน เราจะได้ชื่อว่าสุคโต อยู่ก็ดี ไปก็ดี จะได้ชื่อว่าเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเรานักบวชหรือเป็นฆราวาส ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น เราก็เข้าถึงนิพพานพอๆ กัน ไม่มีใครเหนือกว่ากันหรอก ที่เหนือกว่าก็เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติ ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องพากันเห็น เทวทูตทั้ง ๔ คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ความสงบ เขาเรียกว่าเทวทูต ทุกคนต้องมีความสุขใน ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพลาก ไม่ช้าก็เร็วเราก็ต้องเจอ เราต้องมีความสุข เราจะได้มีสัมมาทิฏฐิ เราจะได้เป็นคนไม่หลงงมงาย กลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย มันถูกที่ไหนเล่า เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราต้องทำเหมือนท่าน มีความสง่างามในเบื้องต้นคือศีล มีความสง่างามในท่ามกลางคือสมาธิ มีความสง่างามในที่สุดคือปัญญา ชีวิตจึงจะประเสริฐอย่างแท้จริง