แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๕๕ การจะละอะไรสักอย่างให้ได้ มันต้องตั้งใจ ตั้งสมาทานอย่างแน่วแน่มั่นคง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทำอย่างไร? เราถึงจะหยุดตัวเองได้ เราจะหยุดตัวเองได้... เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ คือการสมาทาน ศีลจึงเป็นกระบวนการภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าเราสมาทาน เรามีความตั้งมั่น เป็นสมุจเฉท มันถึงจะได้ อย่างเรามีเพศสัมพันธุ์ทางร่างกาย ที่สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นบรรพชิต ที่ปรกติอยู่กับครอบครัว เรียกว่ามีเซ็กทางร่างกาย แต่ผู้ที่บวชแล้ว ต้องไม่มีเซ็กทางจิตใจ ต้องอาศัยการสมาทาน ถ้าไม่อย่างนั้นนะ มันไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไม่สมาทานไม่ตั้งใจ เพียงแต่รู้เฉยๆ เราครึ่งๆ กลางๆ นั่นคือ สีลัพพตปรามาส
พระอรหันต์ทำไมท่านไม่ต้องอาบัติเพราะว่าใจท่านสมาทาน ท่านถึงมีสติพร้อมทั้งสัมปชัญญะ ถึงจะเป็นกระบวนการแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกคนอยากจะทำได้อยากจะปฏิบัติได้ แต่ไม่ได้เข้าสู้ภาคปฏิบัติไม่ได้ตั้งใจไม่ได้สมาทาน ทุกท่านต้องให้เข้าใจนะ ถ้างั้นมันยังไม่เข้าถึงศาสนาพุทธนะ ยังไม่เข้าถึงมรรคเข้าถึงข้อปฏิบัติ มีพระมาถามหลวงพ่อนะ ว่าทำไงถึงจะละได้ หลวงพ่อบอกว่า มันต้องสมาทาน สมาทานสูงยิ่งขึ้นไปก็คือ ธุดงควัตร พวกผู้ที่หมดกิเลสถึงจะรู้ได้เฉพาะตน เพราะใจของท่านตั้งมั่นในศีล ตั้งมั่นในสมาธิ มีปัญญารู้แจ้งว่า ท่านต้องหยุดก่อน ท่านต้องเสียสละ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้ผล บางคนก็ติดเหล้า บางคนก็ติดบุหรี่ บางคนก็ติดเที่ยวติดตามใจอย่างนี้ มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เหมือนอย่างที่ีกล่าวมาแล้วนะ ไก่ที่เขาจะฟักไข่ออกมาเป็นลูกไก่ ก็ต้องใช้เวลา ๓ อาทิตย์ แต่อย่างมนุษย์เราเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันต้องอาศัยเวลามากกว่านั้น เพราะคนส่วนมากมันไม่มีบารมีเก่า เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราอย่าไปคิดเหมือนพระโปฐิละ พระมหาสิวะ ที่บวชหลายปี ที่คิดว่าไม่สำคัญ เป็นอาจารย์ที่สอนศิษย์จนเป็นพระอรหันต์หลายหมื่นรูป
เพราะว่าพระมาถามหลวงพ่อว่า เพราะพวกเราพากันติด ติดอะไรต่างๆ ทำไมไปไม่ได้ ถึงรู้อยู่ แต่ก็ไปไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้สมาทาน ไม่ได้ตั้งใจ เพราะความอร่อยใน รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ เนี่ยมันเป็น สังโยชน์ อารมณ์ต่างๆ เนี่ย คือ รสเดียวกับการมีเซ็กมีเพศสัมพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นรสของอาหาร รสของเสียง ของรูปของอะไรต่างๆ คืออันเดียวกัน มันอารมณ์เดียวกัน แม้แต่อารมณ์ของสารของรูปสารที่มันสูงขึ้นมาอีก ระบบความคิดระบบอะไรเนี่ย มันเป็นฮอร์โมนส์ที่หลังออกมา ผลิตออกมาสำหรับผู้หญิงผู้ชาย เขาเรียกกันว่า แซ๊บๆ หรอยๆ ลำๆ อย่างนี้นะ
มีประวัติที่พระบวชตั้งหลายครั้ง บวชครั้งแรกเพราะยากจนเมื่อมันได้รับความสะดวกสบายมันก็อยากสึก จนสุดท้ายทำไปทำมาได้บรรลุ
จิตตหัตถ์เป็นชาวเมืองสาวัตถี วันหนึ่งโคหาย เที่ยวหาโคอยู่ในป่า พบโคในเวลาเที่ยงแล้ว ต้อนมันเข้าฝูง รู้สึกหิว จึงเข้าไปสู่วิหารอันเป็นที่อยู่ของภิกษุแห่งหนึ่งด้วยหวังว่าจักได้อะไรกินบ้าง
พวกภิกษุเห็นเขาหิวมาจึงให้อาหารที่เหลือจากฉัน เวลานั้นภิกษุมีอาหารเหลือเฟือมาก เพราะลาภสักการะ อาศัยพระบารมีของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น เมื่อเขากินอาหารเสร็จแล้ว จึงถามพระได้ความว่าแม้วันธรรมดาที่ไม่มีกิจนิมนต์ก็มีอาหารมากมายอย่างนี้เสมอ เกิดความคิดในใจว่า "เราตื่นเต้นเช้าทำงานทั้งวัน ก็ไม่ได้อาหารประณีตอย่างที่เหลือจากพระในวันนี้ เราจะเป็นคฤหัสถ์ทำไม บวชดีกว่า" ดังนี้แล้วขอบวชกับภิกษุ เมื่อบวชแล้วได้ตั้งใจปฏิบัติดีต่อภิกษุทั้งหลาย จนเป็นที่รักใคร่ของภิกษุผู้ร่วมพรหมจรรย์ ได้อาศัยลาภสักการะที่เกิดขึ้นไม่นานนัก สรีระของท่านก็อ้วนท้วนขึ้น
เวลานั้นพระจิตตหัตถ์เคยแต่งงานมาแล้ว ภรรยาก็ยังอยู่ จึงคิดถึงภรรยา และสึกออกไป เมื่อไปทำงานหนักเข้าก็ซูบผอมอีก จึงมาหาพระขอบวช พระก็บวชให้ เขาบวชๆ สึกๆ อยู่อย่างนี้ถึง ๖ ครั้ง
ขณะนั้นภรรยาของเขามีครรภ์ วันหนึ่งกลับจากทำงานในป่า วางเครื่องไถ เครื่องใช้อย่างอื่นเข้าไปในเรือน ด้วยคิดจะเอาผ้ากาสายะไปบวชอีก บังเอิญได้เห็นภรรยานอนหลับอยู่ ผ้านุ่งของเธอหลุดลุ่ย น้ำลายไหลออกจากปาก กรนดังครืดๆ ปากอ้า พุงโต อาการนั้นปรากฏแก่จิตตหัตถ์เหมือนศพที่ขึ้นพอง เขาคิดว่า "สรีระนี้ไม่เที่ยงหนอ เป็นทุกข์หนอ เราบวชมามากมายหลายครั้งแล้ว แต่เพราะอาศัยสรีระนี้จึงต้องสึกออกมาเนืองๆ เราจะออกบวชแล้วไม่กลับมาอีก"
เขาฉวยผ้ากาสายะได้เอาคาดพุง แล้วลงจากเรือนเดินก้มหน้าไป แม่ยายของเขาอยู่บนเรือนอันติดต่อกัน เห็นอาการของจิตตหัตถ์แล้วประหลาดใจ จึงเข้าไปดูในเรือน เห็นลูกสาวนอนหลับอยู่ด้วยอาการนั้น จึงปลุกให้ตื่นขึ้น ตีลูกสาวแล้วกล่าวว่า "นางชั่วชาติ ลุกเสียทีเถิด ผัวของเอ็งไปแล้ว มัวนอนกรนอยู่นี่แหละ คราวนี้เขาจะไม่กลับมา ลูกในท้องของเองก็มี จะทำอย่างไร?"
ลูกสาวโกรธแม่เหมือนกัน ไล่ให้แม่ออกไปเสีย พลางกล่าวว่า "แม่ออกไปเสียเถอะ เขาจะไปข้างไหนอีก ๒-๓ วันก็กลับมาเองแหละ"
นายจิตตหัตถ์ออกจากบ้าน บ่นพึมพำไปด้วยว่า "ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ๆๆ" ขณะเดินไปนั่นเองได้บรรลุโสดาปัตติผล เขาถึงวิหารก็ขอบวช แต่พระทั้งหลายเอือมระอากับการบวชของเขาเต็มทีแล้ว จึงกล่าวว่า "จิตตหัตถ์! พวกเราบวชให้ท่านไม่ได้อีกแล้ว ความเป็นสมณะของท่านไม่มีประโยชน์อะไรเลย ท่านบวชๆ สึกๆ จนหัวเหมือนหินลับมีดแล้ว"
แต่จิตตหัตถ์ก็เว้าวอนมิได้ท้อถอยว่า ขอบวชอีกครั้งเดียวเท่านั้น ขอให้อนุเคราะห์ด้วยเถิด ในที่สุดพระก็บวชให้อีก นับเป็นครั้งที่ ๗ ในการบวชครั้งนี้ เขามีความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่สึกอีก และก็สมความตั้งใจ เขาได้สำเร็จอรหันต์ภายใน ๒-๓ วันเท่านั้น ความที่เคยเป็นคนโลเล เมื่อถึงคราวจริงเข้าก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อ ดังนั้น เมื่อเห็นพระจิตตหัตถ์บวชนานวันไปหน่อย เพื่อนภิกษุด้วยกันจึงถามเชิงล้อเลียนว่า "ยังไม่ถึงวันสึกอีกหรือ? ทำไมครั้งนี้จึงชักช้าอยู่เล่า?"
พระจิตตหัตถ์ตอบว่า "เมื่อก่อนนี้ ข้าพเจ้ามีความเกี่ยวข้องอยู่ซึ่งกิเลส แต่บัดนี้ข้าพเจ้าตัดความเกี่ยวข้องนั้นได้แล้ว ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าไม่ต้องไปอีกแล้ว"
ภิกษุทั้งหลายเข้าใจว่า พระจิตตหัตถ์พูดอวดมรรคอวดผล จึงไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบพระพุทธองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! จิตตหัตถ์ บุตรของเรา ไปๆ มาๆ อยู่ในขณะที่ยังไม่รู้พระสัทธรรม จิตยังไม่มั่นคง บัดนี้บุตรของเราละบุญและบาปได้แล้ว" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
อนวฎฺฐิตจิตฺตสฺส สทฺธมฺมํ อวิชานโต ปริปฺลวปสาทสฺส ปญฺญา น ปริปูรติ
อนวสฺสุตจิตฺตสฺส อนนฺวาหตเจตโส ปุญฺญปาปปหีนสฺส นตฺถิ ชาครโต ภยํ
ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์ แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ภัย คือความกลัวย่อมไม่มี แก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบ มีจิตอันโทสะกระทบไม่ได้ ละบุญและบาปได้แล้ว ตื่นอยู่ในธรรมทุกเมื่อ
ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย! ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ หยาบนัก กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์เห็นปานนี้ กิเลสยังให้มัวหมองได้ ทำให้ต้องบวชถึง ๗ ครั้ง สึกถึง ๖ หน"
พระศาสดาเสด็จมาสดับกถานั้นแล้วตรัสว่า "ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย! ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ เป็นของหยาบนัก หากกิเลสเป็นตัวตนแล้วไซร้ จักวาฬนี้ก็แคบไป พรหมโลกก็ต่ำไป ไม่พอบรรจุกิเลสได้เลย” "เอวเมว ภิกฺขเว กิเลสา นาม ภาริยา, สเจ เอเต รูปิโน หุตฺวา กตฺถจิ ปกฺขิปิตุง สกฺกา ภเวยฺยุง, จกฺกวาฬํ อติสมฺพาธํ, พฺรหฺมโลโก อตินีจโก, โอกาโส เนสํ น ภเวยฺย ฯ
ราคะนั้น คือความกำหนัดพอใจในสิ่งสวยงาม โดยทั่วไปหมายถึงความกำหนัดในกามซึ่งเรียกว่า กามราคะ หรือความใคร่ในการสืบพันธุ์ ในการประกอบเมถุนกรรม
โดยปกติ จิตของมนุษย์ธรรมดาและสัตว์โลกทั่วไป ย่อมซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี้ มีความกระหายอยู่เสมอ เหมือนอย่างว่า คนกระหายน้ำ เมื่อเห็นน้ำใสสะอาด น่าดื่ม ย่อมแสดงอาการอยากดื่ม เช่น มองอย่างต้องการ ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไรก็จะต้องหยิบมาดื่มดับความกระหายนั้น แต่ผู้ที่ไม่กระหายน้ำ ไม่มีความรู้สึกกระหายซึมซาบอยู่ในความรู้สึก แม้เห็นน้ำก็เฉย ไม่มีอาการว่าต้องการอยากดื่ม ฉันใด
จิตใจที่ซึมซาบอยู่ด้วยราคะ ก็ฉันนั้น เมื่อเห็นวิสภาคารมณ์ สมมติว่า เพศตรงกันข้าม ย่อมแสดงความกระหายออกมา หากกระหายจัด ย่อมจะหาทางบำบัดความกระหายนั้นโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะแรงกระตุ้นภายในคือความกระหายขึ้นอยู่ในระดับสูง เหมือนคนกระหายน้ำจัดจนไม่อาจยับยั้งได้ต่อไป แม้น้ำขุ่นและสกปรกก็พยายามจะดื่ม
เพราะเหตุที่จิตใจปกติของคนธรรมดาสามัญชน หรือซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี่เอง ท่านจะสังเกตว่า คนหนุ่มคนสาวเมื่อพูดถึงเพศตรงกันข้ามอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะของตนก็มักพูดกันได้ยืดยาว ไม่รู้เบื่อหน่าย คุยเรื่องอะไรๆ อื่นมาก่อนในที่สุด ก็มักจะเวียนวกมาหาเรื่องที่จิตซึมซาบอยู่ คือเรื่องระหว่างเพศ อันเป็นที่เกิดที่ตั้งอยู่แห่งราคะ คนเมื่อยังมีราคะก็ยังมีความกลัว กลัวไปสารพัดอย่าง แต่พอราคะลดลง ความกลัวก็พลอยลดลงด้วย ดูเหมือนในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวนัก พอราคะเหือดแห้ง ความกลัวก็พลอยหายไปด้วย
ในโลกสมัยใหม่ กิจกรรมบำรุงบำเรอราคะ และการค้าอันเป็นไปในท่วงทำนองส่งเสริมราคะนั้นมีมากมายสุดจะพรรณนาได้ กิจกรรมและการค้าเหล่านั้นดำเนินไปด้วยกำไรอันงาม เพราะไปจัดทำสิ่งที่ถูกใจคนส่วนมากเข้าโดยปกติวิสัยของมนุษย์ เมื่อมีความต้องการ ก็ย่อมต้องบำบัด เมื่อมีสิ่งเร้า ก็ต้องการตอบสนอง เช่น เมื่อหิวก็บริโภคอาหาร กระหายก็ดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อดับความกระวนกระวายทั้งทางร่างกายและจิตใจ วิธีการของคนทั่วไปเป็นดังนี้
แต่วิธีการของพระพุทธเจ้านั้นคือ การดับความกระหายเสียเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องสนอง หรือหาทางบำบัดกันบ่อยๆ อันเป็นเรื่องซ้ำซากและเจืออยู่ด้วยทุกข์นานาประการ พระพุทธเจ้าจึงทรงส่งเสริมการดับราคะ โทสะ และโมหะ คนบางคนอาจเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงเป็นไปได้
พูดถึงการทำงานเพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติ คนไม่มีราคะก็สามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าคนมีราคะเสียอีกด้วย เพราะไม่มีสิ่งกวนใจให้เขว จิตใจสงบแน่วแน่อยู่ในการบำเพ็ญแต่สิ่งอันเป็นคุณประโยชน์ และไม่กลัวว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นผู้ไม่ต้องการผลเพื่อตน อันนี้ก็โยงไปถึงข้อว่าเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว อันเป็นคุณลักษณะของพระอรหันต์
จากเรื่องพระจิตตหัตถ์นี้ ก็เหมือนพวกที่มาบวชว่าจะมาเอาพระนิพพาน แต่มาแล้ว อาหารมันดี ที่นอนดี บ้านไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ เขายังมาไหว้อีก ไม่เอานิพพานละ นิพพานหายละ เอาพระครูเอาเจ้าคุณดีกว่า ได้เงินเดือนด้วย ไปกิจนิมนต์ก็ได้หลายร้อยหลายพันอีกด้วย ประวัติศาสตร์ประเทศไทยช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่มุ่งมรรคผลนิพพานมันไปไม่ได้ เพราะอะไร อย่างหลวงปู่มั่นไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็คือเอาพระนิพพาน 100 เปอร์เซ็นต์ หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว ท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านจะมีพระธรรมมีพระวินัยในปัจจุบัน จะไม่หลงประเด็น ไม่หลงในอะไรต่างๆ
การปฏิบัติขาขึ้นในพระพุทธศาสนานี้ ไม่ได้เน้นเงินไม่ได้เน้นปัจจัย ไม่ได้เน้นโบสถ์ศาลากุฏิวิหารเจดีย์ เน้นมรรคผลพระนิพพาน ข้อวัตรข้อปฏิบัติ เอาธรรมเอาพระวินัย มันอยู่ที่ใจที่เจตนา ตั้งใจเอามรรคผลพระนิพพาน เรียกว่า ปฏิบัติขาขึ้น
เราต้องรู้จักวัฏฏะสงสาร เพราะว่าเราทำทุกอย่างเพื่อเพื่อมัน และมันทำให้ เป็นพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อก่อนไม่เข้าใจกัน สิ่งที่ยินดี อันนี้แหละ มันคือจุดสุดยอดของ อวิชชา ของความหลง ความยินดียินร้าย ความอยากความไม่อยาก อันนี้คือความสุดยอดแห่งความหลงแล้ว เมื่อก่อนเราไม่รู้เนาะ นึกว่ามัวแต่จะมากินแซบๆ มาฉันอร่อย เรามีรถยนต์ก็ดี ทำให้เราได้เดินทางไกล แต่ว่าเราต้องมีปัญญาอย่าไปหลง เพื่อสละคืนซึ่งอนิจจัง ไม่แน่ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
เรามีอะไรก็ต้องรู้จัก การดำรงชีวิตของเรานี่คือการประพฤติการปฏิบัติธรรม เพราะมาคำนวนดู ทุกคนก็ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ สิ่งอย่างนี้ก็เรียกว่า ที่เขามีเพศสัมพันธุ์ เขาคลายแม็กกันนะ ความตามใจตามอะไรพวกนี้นะ มันไม่รู้ทุกข์ที่จริง เราไปหาพระนิพพานอยู่ที่ไหน พระนิพพานที่เห็นแก่ตัว ที่มันโง่ๆหลงๆ มันไม่ใช่ สมาธิก็เป็นเพียงหินทับหญ้า เวลาออกจากสมาธิมาก็เหมือนกับฟ้าผ่า สรุปแล้วทุกคนต้องสมาทานต้องตั้งใจ เห็นภัยในวัฏฏสงสาร มันต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันกัน พอมาคิดดู พวกนั้นไม่รู้จักพระนิพพานจริงๆ นะ มันเรียนมันศึกษาอะไร มันก็ไม่รู้จักหรอก ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ มีประโยชน์ต่อทุกคนที่เกิดมาไม่เกี่ยวกับว่าใครเป็นใคร เราไม่ต้องไปหาพระนิพพานที่ไหนหรอก พระนิพพานอยู่ที่ตัวของเราที่มีความเห็นถูกต้อง ที่มีความเข้าใจ ปฏิบัติถูกต้อง อยู่ชีวิตประจำวันอยู่ในปัจจุบันนะ เราต้องรู้ ทุกข์ รู้เหตุที่ที่ทำให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ เราจะไปนิพพาน เรายังไม่รู้ว่านิพพานมันเป็นอย่างไง แล้วจะไปถึงได้อย่างไร
การปฏิบัติมันต้องตั้งใจ มันต้องสมาทาน เหมือนกับเราจะเดินทางไกลอย่างนี้ เราต้องรถ ขึ้นเครื่องบิน หรือจะข้ามทะเล ก็ต้องขึ้นเรือยนต์ เพื่อเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าเราไม่สมาทาน เราไม่ตั้งใจ มันไม่ได้ เราต้องเข้าสู่ไลน์ของพระพุทธเจ้า เข้าสู่ธรรมวินัย การปฏิบัติธรรมะ ไม่ใช่ของยาก ที่ตามใจตัวเอง ที่ตามอารมณ์ตัวเอง ที่เราอยากตามใจตัวเอง อยากตามอารมณ์ตัวเอง มันเลยยากเฉยๆ เราต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรม เข้าหาพระวินัยเข้าหาเวลา เพราะว่ากาลเวลาคือการที่ฝึกตัวเอง การปฏิบัติตัวเอง ต้องทำติดต่อต่อกัน ให้ทุกท่านทุกคนรู้ว่าเวลามันเป็นของมีค่า มีราคา
เราจะปฏิบัติที่วัด ที่บ้าน ที่ทำงานก็ได้ ทุกคนปฏิบัติได้หมด การปฏิบัติธรรมกับการทำงานต้องไปพร้อมกัน เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เราต้องเข้าใจการปฏิบัติธรรมคือการเสียสละ เราไม่เอาที่เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏกะสงสาร เพราะเราจะเอา เรามีความสุขเช่นในการเรียนหนังสือ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการขยันรับผิดชอบ เรื่องสตางค์ ความรู้มันเป็นของมันเอง ทุกท่านต้องมีสติมีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าต้องชัดเจน หายใจออกต้องชัดเจน ทุกคนต้องตั้งมั่นในพระรัตนตรัยเพื่อมาเปลี่ยนเเปลงจากที่มันคว่ำ มันหงายขึ้น มันมืดจะได้สว่าง เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เรียกว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เอาพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติเอง เริ่มต้นจากความคิดก่อน เราไปตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ตามความอยากความหลงไม่ได้ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติทางจิตใจ เราหยุดมี sex ทางกาย หยุดมี sex ทางวาจา หยุดมี sex ทางจิตใจ เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติ
เราจะพากันอยู่ลอยๆโดยบริโภคความสุขในเรื่องการอยู่การกินการนอน เรื่องอาหาร เรื่องความอยู่สุขอยู่สบาย มันไม่ได้ เพราะนี้เป็นเรื่องบรรเทาทุกข์เฉยๆ มันไม่ใช่การดับทุกข์ที่เเท้จริง มันเป็นเรื่องทางกาย ทางจิตใจเราจะมาหลงในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เราต้องมีสติมีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าต้องรู้ชัดเจน หายใจออกต้องรู้ชัดเจน
ทุกท่านทุกคนต้องน้อมใจเข้าหาธรรมะ ข้อวัตรปฏิบัติ เราอย่าไปเอามาตรฐานของที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง ต้องเอามาตรฐานของพระพุทธเจ้า เรามีเจตนา เรามีความตั้งใตต้องสมาทาน สมาทานให้เป็นสมุจเฉทวิรัติไปเลย
ศีลนั้นสำคัญที่เจตนา การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีลจึงต้องเริ่มต้นที่ความตั้งใจ และ “ความตั้งใจงดเว้นจากความชั่ว” นี่เอง คือความหมายของคำว่า เวรมณี หรือ วิรัติ วิรัติจึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการมีศีล บุคคลใดก็ตามจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล รักษาศีลก็ต่อเมื่อมีวิรัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
๑) สัมปัตตวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเมื่อเกิดเรื่องขึ้นเฉพาะหน้า แม้ว่าเดิมที่นั้นไม่ได้สมาทานศีลไว้ แต่เมื่อไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็คำนึงถึงชาติ ตระกูล การศึกษาหรือความดีต่างๆ เป็นต้น จึงทำให้เกิดความตั้งใจที่จะงดเว้นจากบาปเวรขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง
๒) สมาทานวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว หมายความว่าเราได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล ครั้นไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็ไม่ยอมให้ศีลขาด
๓) สมุจเฉทวิรัติ คือ การงดเว้นจากบาปได้อย่างเด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยเจ้าซึ่งละกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ได้แล้ว เมื่อใจท่านปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำความชั่ว จึงไม่มีการผิดศีลอย่างแน่นอน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เสตุฆาตวิรัติ
เรามีความตั้งใตต้องสมาทาน สมาทานให้เป็นสมุจเฉทวิรัติไปเลย ว่าอันนี้ไม่ดี อันนี้ไม่คิด อันนี้ไม่พูด อันนี้ไม่ทำ อันนี้ต้องคิด อันนี้ต้องพูด อันนี้ต้องทำ เราต้องเสียสละอย่างนี้ ต้องทำติดต่อต่อเนื่องเหมือนไก่ฟักไข่สามอาทิตย์ เเล้วอย่ามาถือนิสัยของตัวเอง ต้องถือนิสัยของพระพุทธเจ้า มันจะได้ปฏิบัติง่ายๆ ปฏิบัติซื่อๆ อย่างนี้ หยุดซิกเเซก เราก็จะพลิกล็อคจากมืดเป็นสว่างได้ ต้องเเข่งขันกันทำความดี ดูเเล้วหลายคนยังทำอะไรยังเก้อเขินอยู่ เพราะว่ายังมีทิฏฐิมานะตัวตนเยอะ ยังเป็นคนมีสักกายทิฏฐิอยู่มาก เป็นคนขี้เกียจอยู่เยอะ เป็นคนนิสัยขี้เกียจ นิสัยเห็นเเก่ตัวมันเข้าข้างตัวเองนะ เราก็อย่าไปเชื่อตัวเอง เชื่อตัวเองเราถึงเวียนว่ายตายเกิด
ทุกชีวิตที่เกิดมานี้ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้ประพฤติปฏิบัติของเราให้ถูกที่ เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารคือเรายังเป็นผู้มีอวิชชา ผู้ที่ไม่มีอวิชชาก็คือพระอรหันต์ เราต้องปฏิบัติกับจิตใจของเราให้ถูกต้องเพราะที่เราเวียนว่ายตายเกิด เพราะความไม่รู้ความไม่เข้าใจ ให้ทุกคนทุกท่านพากันเข้าใจ ว่าทุกคนเกิดมาที่ยังมีอวิชชา มันมีจิตแต่จิตนั้นยังประกอบด้วยความหลงอยู่ เราเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อที่ประพฤติปฏิบัติตัวเองให้บรรลุถึงมรรคผลพระนิพพาน เราทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ทำตามความรู้สึกตัวเอง เราก็เป็นได้แต่เพียงคน เราทำตามสัญชาตญาณเราต้องพัฒนา เพราะว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง ไม่แน่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน โดยเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ ตั้งอยู่ในความถูกต้อง ความปฏิบัติทุกท่านมีอยู่ในปัจจุบัน อดีตทุกคนปฏิบัติไม่ได้ อนาคตทุกคนก็ปฏิบัติไม่ได้ ทุกคนต้องกลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน
ที่ผ่านมามันทำให้เราเป็นว่ายตายเกิด ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่ล้านชาติ ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติ ทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้ทันท่วงที พระพุทธเจ้าก่อนท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพานท่านสอนไม่ให้เราประมาทไม่ให้เพลิดเพลิน เพราะว่าทางที่เราจะได้ไปนั้นมันมีหลายภพหลายกลุ่มหลายชาติ ให้ถือว่าเรามีภาระมีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ เดินทางด้วยสติด้วยปัญญา เรารู้เราเข้าใจแล้วเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติ ให้ทุกท่านทุกคนมีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา เพราะรูปมันก็ไม่เที่ยง เวทนามันก็ไม่เที่ยงอะไรมันก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันตามเราไปไม่ได้ เราต้องรู้จักใจของเรา เราต้องปฏิบัติเพราะความทุกข์ความดับทุกข์ มันอยู่ในตัวของเราในปัจจุบันนี้แหละ
เพราะเราไม่รู้จัก เราไม่มีสัมมาทิฏฐิ เราก็ตามอารมณ์ตามอะไรไป อย่างนี้เราก็อันตราย เราต้องพัฒนาจิตใจของเราไป คนไม่มีพลังสิ่งภายนอกก็ดึงไป เพราะภาคปฏิบัติของเรายังอ่อนอยู่ รู้อยู่แต่มันยังทำไม่ได้ แสดงว่าการประพฤติปฏิบัติของเรามันยังไม่ชำนาญ สติสัมปชัญญะเรายังไม่พอ ใจของเรายังเข้มแข็งไม่พอ ต้องอาศัยการอาศัยเวลา ถ้าอย่างนั้นเราจะมีประโยชน์อะไรที่เกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เราก็เสียชาติเกิดที่ประเสริฐ
พระพุทธเจ้าทรงรู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และทรงรู้ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ไม่ให้เราทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง เพราะคนเรามันสร้างวัฏสงสาร ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่าตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองตามความรู้สึกของตัวเอง มันจะเป็นความสุข ที่ไหนได้มันเป็นความทุกข์ มันเป็นสัญชาตญาณที่มันมีอยู่ พระพุทธเจ้าได้มาบอกมาสอน เราทุกคนต้องมาจากตัวเอง หยุดเวียนว่ายตายเกิด ต้องพากันทำหมันตัวเอง ความคิดความปรุงแต่ง ที่มันส่งผลออกมาเป็นความประพฤติ เป็นจริตต่างๆ เป็นเพราะมาจากเราไม่รู้จักอารมณ์ แล้วก็ไปตามความปรุงแต่งต่างๆ ที่คนเราร้องไห้ก็เพราะดีใจเสียใจ เพราะความคิด อันนี้มันเป็นเรื่องความรู้สึก เรื่องสัญชาตญาณ ความคิดความปรุงแต่งจึงมีอิทธิพลต่อเราทุกคน พระพุทธเจ้าทรงรู้วงจรของสิ่งนี้ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้มาบอกมาสอนเราด้วยวิธีง่ายๆ แต่ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ต้องหยุดตัวเอง
จะไปคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ มันทำให้เราต้องเรียนว่ายตายเกิด ไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ อะไรที่เป็นตัวทำให้เราเกิด ก็คือการที่เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ เราจึงต้องมารู้จักกลไกรู้จักวงจร รู้จักต้นสายปลายเหตุ ที่คนทั้งโลกพากันทุกข์ ไม่มีปัญหาก็พากันสร้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์ แม้จะเป็นเทวดาก็มีความทุกข์ เป็นพรหมก็ยังมีความทุกข์ เราทุกคนเป็นผู้โชคดีได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เพราะเราจะไปหาแก้ภายนอกมันแก้ไม่ได้หรอก เพราะปัญหามันอยู่ที่เรา
การที่แก้ปัญหาของเราทุกคน ถึงต้องแก้ที่ตัวเราเอง ไม่ได้ไปแก้ปัญหาที่คนอื่น ทุกท่านทุกคนต้องพากันทำอย่างนี้ ปัญหาของตนเองถึงจะคลี่คลายและหมดปัญหาไปในที่สุด เราทุกคนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าไปทำอย่างอื่นเรียกว่าไม่ถูกต้อง เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเราก็จะเข้าสู่กายวิเวก คือกายที่สงบวิเวกอันมาจากใจที่มีความเห็นถูกต้อง ที่ไม่คิดไม่พูดไม่ทำ จึงนำเราสู่กายวิเวก พัฒนาสู่จิตวิเวก และอุปธิวิเวกในที่สุด