แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๔๗ ใช้ธรรมะพัฒนากาย วาจา ใจ ให้ไปไกลกว่านี้ ชีวิตเราถึงจะสงบเย็น ไม่เป็นปัญหา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกท่านทุกคนมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม พระพุทธเจ้าท่านบอกพวกเราว่า สมณะที่หนึ่งที่สองที่สามที่สี่นั้น อยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เราต้องประพฤติต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะเราทุกคนคือผู้ที่ประเสริฐ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ความเป็นพระของเรามันอยู่กับเราทุกหนทุกเเห่ง พระพุทธเจ้าไม่ให้เราทำตามใจตัวเอง ไม่ให้ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ให้ทำตามความรู้สึก ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมในการดำรงชีวิต เราจะข้ามวัฏฏะสงสาร ต้องอาศัยยาน ได้เเก่ ศีลสมาธิปัญญาเราจะไปสู่จุดหมายปลายทาง ต้องมียานเหมือนคนจะไปต่างประเทศ เค้าต้องไปขึ้นเครื่องบิน ที่สนามบินดอนเมือง เเต่เดี๋ยวนี้เค้าพัฒนาขึ้นอีก ใหญ่ขึ้นอีก คือสนามบินสุวรรณภูมิ
เราจะเป็นพระอริยเจ้า เราต้องอาศัยยาน ที่อยู่กับเรา ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เเล้วปฏิบัติให้ถูกต้องในปัจจุบันกัน ทุกท่านทุกคนพากันสลัดเสียซึ่งตัวซึ่งตน ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตน เรื่องทั้งหลายทั้งมวล มันก็จบกัน พระพุทธเจ้าให้พากันปฏิบัติอย่างนี้ ชีวิตของเรามีร่างกายนี้เป็นยานที่เราทุกคนได้มาอาศัย ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะทั้ง ๖ มาเป็นที่อยู่ที่อาศัยที่พักพิงบำเพ็ญบารมี เราถึงมีภาระจำเป็นที่ต้องเลี้ยงดูสุขภาพร่างกาย เราพากันเรียนหนังสือ พากันทำงาน เราต้องดูเเลรักษาสุขภาพร่างกาย ร่างกายเค้าก็ย่อมต้องเเก่ต้องเจ็บต้องตาย ในที่สุดก็ต้องพลัดพราก ให้ทุกคนพากันเข้าใจ ไม่อยากเเก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย พลัดพราก เราก็เป็นคนบ้า เป็นคนหลง นี้คือโลกธรรม เกิดเเก่เจ็บตายพลัดพราก ลาภยศสรรเสริญสุขทุกข์ มันเป็นโลกธรรม ให้เรามารู้จัก
คนเราถ้าอันไหนไม่บาปมันก็ไม่อยากคิด อันไหนไม่บาปมันก็ไม่อยากพูด อันไหนไม่บาปมันก็ไม่อยากกิน มันบริโภคเเต่บาปนะ เราต้องรู้จัก พระพุทธเจ้าถึงบอกเรา อย่าไปทำบาป ทั้งกายทั้งวาจา ทั้งจิตใจ เพราะสิ่งเหล่านี้มันอร่อย มันสวยงาม ประกอบด้วย ยาพิษ เราต้องรู้จัก ทุกท่านอย่าไปหลง เมื่อหลงเเล้วมันก็ต้องมีความอยาก เราต้องมีพระพุทธเจ้า ต้องรู้จักว่าอันนี้มันไม่เเน่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเลย นี้เป็นปัญหาเป็นข้อสอบให้เราได้ประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา เรามีข้อสอบให้เราสอบทั้งวัน เพื่อเราจะได้สอบ เราต้องสอบข้อสอบ ตอบมันไปเลยว่าอันนี้เป็นอนิจจัง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อันนี้เป็นอนัตตา ต้องตอบอย่างนี้ มันเกิดมาเพื่อให้เราได้ตอบปัญหา เเม้เเต่ตัวเราก็ไม่ใช่ของเรา
ทุกท่านทุกคนต้องเสียสละ สิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจ เสียสละสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน ต้องเสียสละ เราต้องใช้ทรัพยากรน้อยๆ เพราะความสุขความดับทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์หรอก อยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง คนเรากว่าจะให้รวยระดับเศรษฐีระดับนึง ระดับสิบ ยี่สิบ สามสิบล้าน อย่างนี้มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ดับทุกข์ได้หรอก ความดับทุกข์มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง อยู่ที่เรามีสติมีปัญญา ใจของเราเป็นพระ ใจของเราไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน มันเป็นอย่างนี้ เราดูตัวอย่างเเบบอย่าง มหาเศรษฐีครั้งพุทธกาล ท่านเป็นมหาเศรษฐีเเล้ว ท่านยังไม่ยินดี ท่านยังให้ลูกให้หลานเข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ทุกท่านทุกคนต้องกลับมาเเก้ไขที่ตัวเอง เเก้ใจของเราไม่ให้ตามอารมณ์ไม่ให้ตามความคิด ไม่ให้หลง เเก้ที่วาจาของเรา ที่มันไม่เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ต้องมาปรับที่วาจา ที่การกระทำกิริยามารยาท ทุกอย่างต้องมาปรับที่เรา เเต่ก่อนไม่เข้าใจไปเเก้ที่ภายนอก ไปเเก้ที่ลูกที่หลาน สังคมประชาชน มันไม่ใช่เลย มันต้องเเก้ที่ตัวเองนี้เเหละ เพราะต้นเหตุเเห่งความทุกข์มันอยู่ที่ตัวเรา เราถึงต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติให้เคารพนับถือตัวเองได้ ถ้าเราไม่มีศีลเราจะเคารพตัวเองได้ยังไง ถ้าเราไม่มีธรรม ลูกหลานเพื่อฝูงเค้าก็ไม่เคารพเรา อย่างมากก็เคารพเราในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ หรือ ในฐานะที่เป็นพ่อเป็นเเม่ เราต้องเข้าใจอย่างนี้ อยู่ที่ทำงาน อยู่ที่เราเสียสละ
เราต้องมีความสุขในการทำงาน สุขภาพเราจะได้ไม่ต้องเสีย อยู่ที่ระบบสมองระบบประสาท ชีวิตของเราจะสงบ จะเย็น อย่าพากันไปแต่งแต่ร่างกาย แต่งแต่บ้านเเต่รถ เเต่งอย่างนั้นมันก็ดีอยู่ ถ้าจะให้ดียิ่งไป มันต้องแต่งที่ใจของเรา เพื่อให้ใจของเราได้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา ในปัจจุบัน ให้ทุกท่านทุกคนพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราจะได้รู้จักศาสนาทุกวัน เรายังไม่รู้จักศาสนานะ เราตามอารมณ์ตามความคิด เราไม่รู้จักศาสนานะ เรากำลังหลงงมงายในไสยศาสตร์ ความหลงเเปลว่าไสยศาสตร์ รูปเสียงกลิ่นรสลาภยศเค้าเรียกว่า ไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์อย่างหยาบ คือ พวกดูหมอ ทำเครื่องรางของขลัง นี้เรียกว่าไสยศาสตร์อย่างหยาบ ที่เค้าทำมาหากินกับพระศาสนา อันนี้ไม่ใช่ศาสนา อย่าพากันหลง เเม้เเต่หลงในตัวในตน ถือว่ายังเป็นไสยศาสตร์อยู่
ทุกคนต้องเอาความสุขความดับทุกข์ในชีวิตประจำวัน ให้มันครบ อริยมรรคมีองค์ ๘ การปฏิบัติธรรมมันต้องครบวงจร ทุกทิศทุกทางอย่างนี้ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ถ้ารู้ถ้าเข้าใจ ไม่เกี่ยวกับอิริยาบถหรอก เรื่องอบายมุข ให้พวกเรารู้จัก เริ่มจากความขี้เกียจขี้คร้าน พวกกินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน เล่นหวย เสพยาเสพติด พวกนี้มันจะตกไปสู่อบายมุข มันจะยากจะจนมันเเก้ปัญหาไม่ถูก ความสมัครสมานสามัคคีเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนมีตัวมีตนมีทิฏฐิมานะมาก ยิ่งพวกคนรวยยิ่งมีทิฏฐิมานะมาก เราเรียนสูงก็ยิ่งมีทิฏฐิมานะตัวตนมาก มันทำให้ ถือวัตถุเป็นพระเจ้า ถือตัวตนเป็นพระเจ้า ถือเงินเป็นพระเจ้า มันไม่มีความสมัครสมานสามัคคี เราต้องรู้จัก ความสุขที่เราได้รับ เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาตร์ เราอย่าพากันหลง ถ้าหลงมันก็เเค่มนุษย์รวย เป็นเทวดา เป็นทิพย์ อย่างหยาบมันก็หลงมีความสุขในการกินเหล้ากินเบียร์ มีเซ็กซ์ ไปเที่ยวคอนเสิร์ต เที่ยวทะเล เที่ยวชายหาด เราต้องพัฒนาใจของเราให้มากกว่านี้ มันยังไม่ได้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ มนุษย์ที่ฉลาด ยังเป็นมนุษย์ที่ตกในอวิชชาความหลง ยังต้องพัฒนาทั้งกายวาจาเเละใจให้ไปไกลกว่านี้ ชีวิตเราถึงจะสงบจะเย็น มันจะไม่มีปัญหา
การใช้เงินใช้ตังค์ต้องวางเเผน การนอนร่างกายของเราต้องการพักผ่อนในการนอนวันนึง ๖-๘ ชั่วโมง ถ้าเราเพลิดเพลินเเต่โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์ เน็ตเฟสบุ๊ค หนัง ละคร อย่างนี้มันไม่ได้ มันจะทำให้เราเสียสุขภาพกายเสีย สุขภาพจิตมันหลง ให้เรากราบพระไหว้พระ สวดมนต์นั่งสมาธิ ถึงเวลานอนก็นอน เราอย่ามองข้ามอะไรอย่างนี้ ประชาชนควรจะนอนวันนึงอย่างน้อย ๖ ชั่วโมง อย่างมากไม่เกิน ๘ ชั่วโมง เราตื่นขึ้น ตอนกลางคืน สำหรับคนเเก่ เราปวดปัสสาวะ เราต้องเตรียมกระโถน เตรียมภาชนะสำหรับปัสสาวะ เพื่อไม่ให้ประสาทมันตื่นตัวมาก เราไม่ต้องไปคิดไปปรุงเเต่งอะไร เดี่ยวมันจะนอนไม่หลับ ถ้าเราตื่นขึ้นตีหนึ่งตีสองหรือตีสาม มันจะเป็นสาเหตุให้เราเป็นโรคจิตโรคประสาท เป็นโรคกระเพาะ เพราะการนอนไม่พอ สำหรับนักบวชอย่างน้อยนอน ๕ ชม. อย่างมากไม่เกิน ๖ ชม. กลางวันเราไม่ควรจะนอน ถ้านอนกลางวันเดี๋ยวกลางคืนมันจะนอนไม่หลับ
เราจะเห็นคนเเก่ตื่นขึ้นตีหนึ่งตีสอง นอนไม่หลับ เพราะว่าปวดท้องปัสสาวะ เมื่อมาปัสสาวะแล้วคิดไปเรื่อย ก็ทำให้นอนไม่หลับ การนอนไม่หลับ จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม การทำงานวันต่อไปไม่ได้ศักยภาพเต็มที่ มันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระเพาะ โรคอะไรต่างๆ สติปัญญาจะไม่ฉลาด คล่องเเคล่วว่องไว ยิ่งสร้างปมด้อยให้กับตัวเอง เนื่องจากเราไม่รู้หลักการ เนื่องจากถึงเวลานอนไม่ยอมนอน เราอย่าพากันคอร์รัปชั่นเวลานอน ถึงเวลานอนเราต้องเสียสละ ไปคิดมากยิ่งยากจน ไปคิดมากยิ่งเป็นโรคจิต โรคประสาท สุขภาพกายก็ไม่สมบูรณ์ เพราะเราทำไม่ถูกต้อง มันไม่จบหรอก ต้องจัดการตัวเอง
วิธีนอนเจริญฌานมี ๒ อย่าง คือนอนพักผ่อนร่างกาย กับนอนเพื่อหลับ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติต่าง กันดังนี้
๑. นอนพักผ่อนร่างกาย คือ เมื่อเจริญฌานในอิริยาบถทั้ง ๓ มาแล้ว เกิดความมึนเมื่อยหรืออ่อนเพลียร่างกาย ก็พึงนอนเอนกายเสียบ้าง นอนในท่าที่สบายๆ ตามถนัดจะหลับตาหรือลืมตาก็ได้กำหนดใจอยู่ในกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง หรือเอาสติควบคุมใจให้สงบนิ่งอยู่เฉยๆ ก็ได้
๒. นอนเพื่อหลับ การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่จำเป็นของร่างกาย ใครๆก็เว้นไม่ได้ แม้แต่ พระอรหันต์ก็ต้องพักผ่อนหลับนอนเช่นเดียวกันกับปุถุชน ที่ท่านว่าพระอรหันต์ไม่หลับเลยนั้น ท่านหมายทางจิตใจต่างหาก มิได้หมายทางกาย การหลับนอนแต่พอดี ย่อมทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง ถ้ามากเกินไป ก็ทำให้อ้วนเทอะทะ ไม่แข็งแรง ถ้าน้อยเกินไปก็ทำให้อิดโรย อ่อนเพลีย ความจำเสื่อมทรามและง่วงซึมประมาณที่พอดีนั้น สำหรับผู้ที่ทำงานเบาเพียง ๔-๖ ชั่วโมง เป็นประมาณพอดี แต่สำหรับผู้ที่ทำงานหนัก ต้องถึง ๘ ชั่วโมงจึงจะ พอดี ในเวลาประกอบความเป็นผู้ตื่น (ชาคริยานุโยค) นั้น ทรงแนะให้พักผ่อนหลับนอนเพียง ๔ ชั่วโมง เฉพาะยามท่ามกลางของราตรีเพียงยามเดียว
เวลานอกนั้นเป็นเวลา ประกอบความเพียรทั้งสิ้น และทรงวางแบบการนอนไว้เรียกว่า "สีหไสยา" คือนอนอย่างราชสีห์ การนอนแบบราชสีห์นั้นคือนอนตะแคงข้างขวา เอนไป ทางหลัง ให้หน้าหงายนิดหน่อย มือข้างขวาหนุนศีรษะ แขนซ้ายแนบไปตามตัว วางเท้าทับเหลื่อมกันนิดหน่อย พอสบาย แล้วตั้งสติ อธิษฐานจิตให้แข็งแรงว่า ถึงเวลานั้นต้องตื่นขึ้น ทำความเพียรต่อไปก่อนหลับ พึงทำสติอย่าให้ไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก ให้อยู่ที่จิต ปล่อยวาง อารมณ์เรื่อยไป จนกว่าจะหลับ ถ้าให้สติอยู่กับอารมณ์ภายนอกแล้ว จะไม่หลับสนิทลงได้
ครั้นหลับแล้ว ตื่นขึ้น พึงกำหนดดูเวลา ว่าตรงกับอธิษฐานหรือไม่ ? แล้วพึงลุกออกจาก ออกจากที่นอน ล้างหน้า บ้วนปาก ทำความพากเพียร ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์สืบไป ถ้าสามารถบังคับให้ตื่นได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ไม่เคลื่อนคลาด เชื่อว่าสำเร็จอำนาจบังคับตัวเอง ขั้นหนึ่งแล้ว พึงฝึกหัดให้ชำนาญต่อไป ทั้งในการบังคับให้หลับ และบังคับให้ตื่นได้ ตามความต้องการ จึงจะชื่อว่า มีอำนาจเหนือกายซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปฏิบัติอบรม จิตใจขั้นต่อๆ ไป
การประพฤติการปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนเข้าใจ คือการทำจิตใจสบาย ทำใจไม่มีทุกข์ เราจะทำใจดี ใจสบาย ใจไม่มีทุกข์ได้นั้น ให้พากันเข้าใจ เพื่อสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้เข้าถึงความดับทุกข์. คนเรานี้มีทุกข์อยู่ที่ใจ มีความทุกข์อยู่ที่ร่างกาย การที่จะดับทุกข์ได้ก็ต้องมาปฏิบัติที่ใจ แล้วก็ปฏิบัติที่กาย มาเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ เดินตามอริยมรรค คือข้อวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้า และของพระอรหันต์ทุกๆ องค์
ทุกๆ ท่านทุกคนนั้นย่อมปฏิบัติธรรมะเพื่อความดับทุกข์ทั้งกายทั้งใจ ปรับตัวเองเข้าหากฎหมายบ้านเมือง ปรับตัวเองเข้าหาศีล ปรับตัวเองเข้าหาหน้าที่การงาน เพื่อที่จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจ เพื่อเราทุกคนจะได้มาแก้ใจของเราเอง แก้ที่คำพูดของตัวเอง ที่จะได้มาแก้ในการทำงานของเราเอง
แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ปรับตัวเอง จนละนิสัย จนละวาสนาได้ พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ที่ละนิสัย ละวาสนาได้ พระพุทธเจ้านั้นเป็น ผู้ที่บารมีเพียบพร้อมด้วยการสร้างบารมี สี่อสงไขยกับอีกแสนมหากัป
สำหรับพระอรหันต์สาวกนั้น สร้างบารมีไม่เทียบเท่ากับพระพุทธเจ้า
ยกตัวอย่าง... อย่างพระสารีบุตรที่ในชาติปางก่อนท่านเคยเกิดเป็นลิง บางทีอาการของท่านจะมีนิสัยกระโดดโลดเต้นอยู่บ้าง อันนี้เป็นวาสนา ไม่สามารถที่จะละปฏิปทาได้ คงมีการสั่งสมมาจนเคยชินแต่ละคนถึงมีนิสัยต่างกัน ไม่เหมือนกัน เพราะว่าปฏิบัติตามความเคยชินเป็นนิสัย เป็นวาสนาตั้งแต่ปางก่อนน่ะ แต่ท่านสามารถละกิเลสได้ ละความโลภ ความโกรธ ความหลงได้
"นิสัยเป็นสิ่งติดตัวข้ามภพข้ามชาติ มนุษย์เป็นภูมิที่มีศักยภาพในการสร้างนิสัย สั่งสมไว้อย่างใด...ก็ได้สมบัติติดตัวไปสร้างตนอย่างนั้น"
"อัธยาศัย" คือ ภาวะที่อาศัยอยู่กับจิตใจ ดึงจิตใจให้เกิดความมุ่ง หรือน้อมจิตใจไปให้เกิดเจตนากรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถ้ามีอัธยาศัยประกอบด้วยโทสะ พยาบาท ย่อมดึงจิตใจให้เกิดความมุ่ง หรือน้อมจิตใจให้เกิดเจตนากรรม คือมุ่งก่อทุกข์โทษแก่ผู้อื่น
ถ้ามี อัธยาศัยประกอบด้วยเมตตากรุณา ย่อมดึงจิตใจให้มุ่งก่อเกื้อสุขประโยชน์แก่ผู้อื่น อัธยาศัยโดยย่อจึงมี ๒ คือ อัธยาศัยเลวกับอัธยาศัยดี เหตุที่อุดหนุนให้เกิดอัธยาศัยคือ นิสัย อุปนิสัย
"นิสัย" คือ ที่เข้าอาศัยของจิตใจ ในฐานเป็นพื้นเพและเป็นเหตุอุปการะ มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วเหมือนอัธยาศัย เพราะจิตต้องเป็นนิสิต คือผู้อาศัยอยู่ในนิสัย คือที่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอาศัยอยู่กับกิเลส เช่น อาศัยตัณหา อาศัยมานะ อาศัยทิฏฐิ เรียกว่า ตัณหานิสัย มานนิสัย ทิฏฐินิสัย
ถ้าอาศัยคุณธรรม คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา เรียกว่า ศรัทธานิสัย หิรินิสัย โอตตัปปนิสัย วิริยนิสัย ปัญญานิสัย
ฉะนั้น คนจะทำอะไรจึงสุดแต่นิสัย ถ้านิสัยเป็นส่วนชั่วก็ทำชั่ว นิสัยเป็นส่วนดีก็ทำดี แต่นิสัยแสดงออกเป็นอัธยาศัย คือทำให้เกิดความมุ่งหรือน้อมไปของจิตใจก่อนแล้ว จึงเกิดเป็นเจตนากรรมทำชั่วหรือดีดังกล่าว "อุปนิสัย" คือ ที่อยู่พำนักอาศัยของจิตใจ มีอธิบาย ๒ อย่าง อย่างหนึ่งว่า นิสัยที่แรงกว่าปกติเรียกว่า อุปนิสัย เทียบอย่างคำว่า บารมีและอุปบารมี อีกอย่างหนึ่งว่า นิสัยชนิดที่เป็นรองเรียกว่า อุปนิสัย
อุปนิสัยในความหมายหลังนี้ หมายถึงนิสัยที่อบรมเพิ่มเติมเข้าใหม่ เช่น อบรมสติปัญญา พิจารณาในการส่องเสพ ในการอดกลั้น ในการละเว้น ในการบรรเทาถอน เป็นต้น หรือเช่น อบรมในบุญกุศล คือ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำสมาธิและปัญญาให้เกิด เรียกว่า ทานูปนิสัย สีลูปนิสัย ภาวนูปนิสัย
"วาสนา" การอบรม จนเป็นนิสัย อุปนิสัย จำต้องอบรมบ่อยๆ จนอยู่ตัว เหมือนอย่างกระดาษที่ม้วนจนอยู่ตัว จับคลี่ออกปล่อยมือก็ม้วนกลับเข้าไปเอง ความอยู่ตัวนี้เรียกว่า "วาสนา" มีทั้งทางชั่วและทางดีเช่นเดียวกัน การอบรม จนเป็นวาสนา เป็นนิสัย อุปนิสัย แสดงออกเป็นอัธยาศัย แล้วแสดงออกเป็นเจตนากรรมดังกล่าวมานี้ อาศัยเสวนาการซ่องเสพบ่อยๆ เป็นสำคัญ ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงตรัสไว้ในมงคลสูตรเป็นข้อต้นว่า "อเสวนา จ พาลานํ การไม่ซ่องเสพ คบหาคนพาล ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา การซ่องเสพ คบหาบัณฑิต"
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ยํ เว เสวติ ตาทิโส : คบคนใดย่อมเป็นเช่นคนนั้น"
การที่จะเป็นเช่นคนที่ตนคบ หมายถึงคบหากัน (เสวนา) จนเกิดความคุ้นเคยอยู่ตัว เกิดมีนิสัย อุปนิสัย และอัธยาศัยคล้ายคลึงกันเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่มีอัธยาศัยเช่นใด ก็ย่อมเสวนากับคนที่มีอัธยาศัยเช่นนั้น คนที่มีอัธยาศัยเลวก็เข้า พวกคนเลว คนที่มีอัธยาศัยดีก็เข้าพวกคนดี เรื่องนี้เป็นความจริงที่มีอยู่ทุกกาลสมัย
ทุกๆ ท่านนั้นต้องเคารพในธรรม ปรับตัวเองเข้าหาธรรม ทุกคนนั้นต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองเอาความดี เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง "มีตัวของตัวเองโดยธรรม" ปราศจากคติทั้ง ๔ คือ ๑. ฉันทาคติ : ลำเอียงเพราะชอบ ๒. โทสาคติ : ลำเอียงเพราะชัง ๓.โมหาคติ : ลำเอียงเพราะหลง ผิดพลาดเพราะเขลา ๔. ภยาคติ : ลำเอียงเพราะกลัว มีความสุข มีความสงสารผู้อื่น ไม่การแบ่งแยก สงสารทั้งคนที่เป็นคนดี คนไม่ดี "ถ้าเราจะรักเราจะชอบตั้งแต่คนดีนี้ แล้วคนไม่ดีนั้นเราจะเอาไปไว้ที่ไหน?" พระพุทธเจ้าสอนเราให้ฝึกสงสารคนอื่น ถ้าเราฝึกสงสารคนอื่น ใจของเรามันจะสงบ ใจของเรามันจะเย็นขึ้น พยายามตั้งมั่นในความดี ตั้งมั่นในธรรม เป็นผู้ที่เสียสละ ไม่หวังอะไรตอบแทน ไม่ว่าการทำงาน การพูด
การที่เราเกี่ยวข้องกับใครนั้น เราไม่หวังอะไรตอบแทน เราทำไปเพื่อเสียสละ เพื่อละความเห็นแก่ตัว เพื่อความไม่โลภ เพื่อความไม่โกรธ เพื่อความไม่หลง สิ่งที่เราจะได้มาน่ะ ก็คือความสุข ความดับทุกข์ทั้งกายและก็ทั้งใจ โดยชีวิตของเรามีความสุข มีความดับทุกข์ ชีวิตของเรามันจะไม่เครียด ที่ชีวิตของเรามันเครียด มันไม่สบายอยู่ทุกวันนี้เพราะเรามีความอยาก มีความต้องการ มีความหลง
"ชื่อว่าความอยากนั้น สิ่งที่จะไม่เป็นทุกข์นั้นไม่มีเลย....
เราอยากเป็นคนดี เราก็เป็นทุกข์ เราอยากเป็นคนเก่ง เราก็เป็นทุกข์ เราอยากรวยอย่างนี้เราก็เป็นทุกข์น่ะ เราอยากให้คนโน้นเป็น อย่างโน้น เราอยากให้คนนี้เป็นอย่างนี้เราก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าถึงสอนเราว่าไม่ให้มีความอยาก... ให้เราเป็นผู้ที่เสียสละ ถ้าเราเสียสละนั้นเราก็จะได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์ เราก็จะมีความสุข ความดับทุกข์ ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงก็จะมีความสุขมีความดับทุกข์ไปพร้อมๆ กัน
คนเรานั้นน่ะ.... พากันอยู่ด้วยความเครียด อยู่ด้วยความทุกข์ติดสุขติดสบาย ไม่อยากเสียสละแต่ก็อยากเป็นคนรวย อยากเป็นคนดี อยากเป็นบุคคลที่คนอื่นเคารพนับถือ มันก็เป็นไปไม่ได้
ถ้าเราเป็นผู้มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็ไม่เหมาะ ไม่ประเสริฐที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ได้เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ เราจะมีความสุขความดับทุกข์ได้อย่างไร...?
การประพฤติการปฏิบัติธรรมของเรานั้น พระพุทธเจ้าให้เราปฏิบัติที่บ้าน ที่ทำงาน ส่วนที่วัดหรือที่อยู่ของพระนี้ เราเพียงมาศึกษา มาเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจในการประพฤติการปฏิบัติ ทุกคนนั้นต้องเข้าใจถึงจะได้ ปฏิบัติถูกต้อง
ประการแรกน่ะ พระพุทธเจ้าสอนเราให้พากันฝึกหายใจเข้า ให้มันสบายไว้ หายใจออกให้มันสบายไว้ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าเราจะเดิน จะนั่ง จะนอน ฝึกหายใจเข้า หายใจออก ให้มันสบายไว้ ให้เรามีความสุขในการหายใจ ให้เราเป็นผู้ที่ชำนิชำนาญในการหายใจเข้า-ออกสบาย ให้มีความสุข "เราฝึกไว้ให้มันชำนิชำนาญ"
อย่างเรามาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม วันแรกนี้ควรที่จะฝึกหายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย มาฝึกปล่อยฝึกวางทุกอย่าง อยู่กับการหายใจเข้าสบาย ออกสบาย เราก็ทำในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน อย่างนี้ เป็นต้น
นั่งให้สบาย หายใจออกก็ให้สบาย หายใจเข้าก็ให้สบาย มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับเนื้อกับตัว ปล่อยวางทุกอย่าง เสียสละทุกอย่าง เราเจริญสติสัมปชัญญะไม่หวังอะไรตอบแทน มีหน้าที่อย่างเดียว คือหายใจเข้าก็ให้สบาย หายใจออกก็ให้สบาย ถ้าเราไปต้องการให้มันสงบ เดี๋ยวมันจะเกิดความเครียดเน๊อะ...
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เจริญสติ เจริญสัมปชัญญะทุกๆ อิริยาบถ ไม่ว่าเราจะทำงาน เดิน นั่ง นอน ให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับหน้าที่การงาน เราเสียสละ เราเจริญสติสัมปชัญญะตั้งแต่เช้าจนนอนหลับน่ะ โดยไม่หวังอะไรตอบแทน ถือว่าเราได้เดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ อาศัยอิริยาบถทั้ง อาศัยหน้าที่การงานเพื่อฝึกจิตฝึกใจ เพื่อเจริญสติสัมปชัญญะ เพื่อให้อินทรีย์บารมีของเราแก่กล้า
ทุกๆ ท่าน ทุกคนต้องปฏิบัติตามอริยมรรค "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็ถึงมี" ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นย่อมเกิดจากเหตุ เกิดจากปัจจัย คนเราทำไมมันถึงไม่เก่ง ทำไมมันถึงไม่ฉลาด...? เพราะคนเรามันเห็นแก่ตัว เมื่อมันเห็นแก่ตัวแล้วความขี้เกียจมันก็ย่อมมีแก่เราทุกคน คนขี้เกียจนั้นย่อมไปถึงทางตัน คนไม่เสียสละนั้นมันย่อมไปถึงทางตัน คนเรานั้นถ้าฝึกเป็นคนเสียสละ เป็นคนขยัน เป็นคนรับผิดชอบ เป็นคนซื่อสัตย์ เป็นผู้ที่มีศีล ปฏิบัติไปเรื่อยๆ สติปัญญานั้นมันจะเกิดขึ้นมาเอง
คนเราน่ะ มองไม่เห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรจะทำ เพราะว่าความเห็นแก่ตัวมันทำให้เราคิดไม่ออก ทำให้เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ไม่เห็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ถือว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท เป็นผู้ที่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ในหน้าที่การงาน ถือว่ายังไม่เข้าถึงกระแสถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ถือว่าเต็มไปด้วยทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน มาเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ตั้งอยู่ในความขี้เกียจ ไม่เอาศีลมาปฏิบัติ ไม่เอาทานมาปฏิบัติเห็นแก่ตัว...
สมาธิปัญญาจะเกิดได้อย่างไร เพราะเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน การประพฤติการปฏิบัตินี้พระพุทธเจ้าให้เรามีสติสัมปชัญญะนะ มีการรู้ตัวทั่วพร้อมเพื่อที่จะควบคุมตัวเอง คอนโทรลตัวเอง อันนี้ผิด ไม่คิด อันนี้ผิดไม่พูด อันนี้ผิดไม่ทำ ทางอื่นที่จะดับทุกข์นั้นไม่มี นอกจากเดินตามรอยของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
การสร้างบารมีของเรามันก็เป็นของง่าย ถ้าเราตามพระพุทธเจ้า เราปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เราต้องมีความสุขความดับทุกข์แน่นอน ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลก็ย่อมได้รับผลการกระทำของเราไปพร้อมๆ กัน โลกนี้จะไม่มีความว่างเปล่าจากการที่มีเราประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคของพระพุทธเจ้า
ทุกท่านทุกคนนั้นไม่มีใครแต่งตั้งเรามาเป็นพระอริยเจ้าได้ ไม่มีใครมาสรรเสริญเยินยอให้เราเป็นพระอริยเจ้าได้ นอกจากเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า
เราทุกคนถือว่าเป็นผู้มีโชคดีพอๆ กัน เพราะว่ามีลมหายใจเหมือนๆ กัน เราจะไปโทษว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ ติดภาระโน่นนี่ "ไม่จริง..." เพราะการปฏิบัติต้องปฏิบัติทุกลมหายใจ คนเราน่ะมันติด มันหลง มันไม่อยากแก้ไขตัวเอง ไม่อยากปรับปรุงตัวเอง มันติดในโลก ติดในเหยื่อของโลก ติดในความเอร็ดอร่อยของโลก มันไม่อยากสร้างคุณงามความดี มันมีเหตุผลมากและมีความเห็นแก่ตัวมาก ปัญหาของเรามันถึงมีไปเรื่อยๆ ปัญหาไม่ใหญ่ไม่โตเท่าไหร่ มันถึงเป็นปัญหาเรื้อรังน่ะ มันเป็นสงครามชีวิต สงครามในวัฏฏสงสาร
"มันไม่กล้าตัด ไม่กล้าปฏิบัติ เราก็ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย... พระพุทธเจ้าถึงให้เราสมาทาน...ตั้งใจ เหนื่อยก็ช่างมัน ผอมก็ช่างมัน ลำบากก็ช่างมัน ขอให้เราได้เดินตามพระพุทธเจ้า เสียสละเหมือนพระพุทธเจ้า มีศีลมีธรรมเหมือนพระพุทธเจ้า
เรายอมลำบากเพื่อธรรมเพื่อวินัย เรายอมลำบากในทุกขเวทนา ที่มันเกิดจากความหิว ความต้องการ "เรารักษาธรรมะที่เราจะยอมตัดความสะดวกสบาย ความสุขของเราออกไป เรายอมเสียอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต เรารักษาธรรมะ แม้ชีวิตของเราจะหาไม่"
ทุกท่านทุกคนต้องมีสติมีสัมปชัญญะ จิตใจมีพลัง เพราะการที่จะตัดวัฏฏสงสารสิ่งที่เราชอบเราหลงนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องเพิ่มสัมปชัญญะให้มาก สมาทานให้แข็งแรง อย่าไปทำผิด พูดผิด คิดผิด สมาทานไว้ให้แน่น ปัญญาของเรามันถึงจะเกิดน่ะ "การชนะสิ่งใด ก็สู้ชนะจิตใจที่มันไม่ดีที่ตัวเรานี้ไม่ได้"
การกระทำ คำพูดของตัวเราต้องไปทาง 'เสียสละ" ไปทางไม่เห็นแก่ตัว ไม่หวังอะไรตอบแทน เราอย่าไปคิดว่า ทำดีทำถูกต้องจะมีปัญหา 'มันไม่จริง' เพราะในโลกนี้ต้องการคนเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่เรามีปัญหาทุกวันนี้ เพราะเรามีโลภ โกรธ หลง เห็นแก่ตัว คนอื่นเขาถึงยอมรับเราไม่ได้ เคารพเราไม่ได้ ทุกคนต้องมีสติ...
สติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว มันจะได้กลมกลืนกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติต้องปฏิบัติทุกเมื่อ ทุกเวลา การปฏิบัติมันไม่ได้นั่งนอน ยืน 'การปฏิบัติ' นั้นคืออริยมรรคทั้ง ๘ ประการ ให้ทุกๆ ท่าน ทุกคนน่ะ มาประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้แหละ มันจะได้ง่าย เราอย่าไปมองข้ามสติสัมปชัญญะ เราอย่าไปมองข้ามการประพฤติปฏิบัติ เราทำได้ เราปฏิบัติได้ ที่เราปฏิบัติไม่ได้ คือเราไม่ทันปฏิบัติ เราไม่รู้แนวปฏิบัติ ผู้ที่อยู่วัดก็ปฏิบัติได้ ผู้ที่อยู่บ้านก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติได้เหมือนกันหมด ไม่มีใครที่จะแตกต่างกัน
ชีวิตของเรานี้ เราต้องรับผิดชอบ ไม่มีใครมาปฏิบัติให้เรา ไม่มีใครมาบำเพ็ญบารมีให้เรา ชีวิตของเรานี้ถือว่าเกิดมาเพื่อสร้างความดีบำเพ็ญบารมี บำเพ็ญคุณธรรม ข้าว อาหารทุกอย่างนี้ เราเอาของเขามาบริโภค มาใช้สอยปัจจัย ทั้ง ๔ นี้ใช้เพื่อบำเพ็ญบารมี สร้างคุณธรรม ไม่ใช่เอามาหลงมาเพลิดเพลิน
ทุกท่านทุกคนต้องเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะ เป็นหน้าที่เราเอง ไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นเณร เป็นแม่ชี หรือว่าญาติโยม ชีวิตของเรานี้ คืออริยมรรคองค์ ๘ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จะใช้ชีวิตที่มันเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ มาประพฤติพรหมจรรย์ มาทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
โลกเค้าพัฒนาเรื่องวัตถุ เรื่องเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์น่ะ "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็ถึงมี" เราก็มาพัฒนา 'อริยมรรค' พัฒนา 'ข้อวัตรปฏิบัติ' ให้มีในตัวในตน พยายามเชื่อมั่นในตัวเองให้มาก ชีวิตนี้จะไม่ได้งมงาย ไม่ได้เพ้อฝันไปหลงความสุข ที่จะทำให้เราตกนรกไปจนไม่รู้จักที่จบที่สิ้น เราประพฤติปฏิบัติไปก็ย่อมเข้าถึงความสงบ ความดับทุกข์ไปเรื่อยๆ ให้พากันตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ในสิ่งที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติที่ถูกต้อง ทุกท่านทุกคนจะได้เข้าถึงความประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อประสบความสำเร็จคือเดินตามอริยมรรคสู่มรรคผลพระนิพพาน