แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๕๒ การเข้าถึงธรรม ต้องเข้าถึงในปัจจุบัน ให้พากันพิจารณาว่าจะเป็นทองหรือเป็นกรวดทราย
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาในโลก เพื่อมาให้หมู่มวลมนุษย์รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงวามดับทุกข์ เพื่อมาปิดอบายมุข อบายภูมิ มาให้แสงสว่างจากที่มืดก็เป็นสว่าง จากที่คว่ำก็ให้หงาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขบุคคลที่มีตัวมีตน ให้บุคคลนั้นแก้ไขประพฤติปฏิบัติตนเอง เป็นเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรม ในปัจจุบันที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องศาสนาพุทธ คิดว่าเราจะเข้าถึงมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เมื่อเราตาย ละธาตุละขันธ์อันนี้เป็นความคิดเห็นผิด เข้าใจผิด นี้เป็นเรื่องปัจจุบัน เพราะผู้ที่จะได้บรรลุธรรมมันต้องบรรุลได้ที่ปัจจุบันเข้าถึงธรรม ปฏิบัติธรรมมันต้องได้ตั้งแต่ปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถึงคู่บุรุษ ๔ คู่ ๘ บุรุษ มีโสดาปัตติมรรค และมีภาคประพฤติปฏิบัติของโสดาบัน ถึงจะเป็นโสดาปัตติผล ผู้ประพฤติปฏิบัติถ้าตั้งใจดี มีศรัทธา ชาติเดียวก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ผู้ที่มีธุรกิจ มีการงานเยอะ มีความประมาท อย่างช้าก็ไม่เกิด ๗ ชาติ
พระโสดาบัน โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ บุคคลที่บรรลุโสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผลเรียกว่า พระโสดาบัน บทสวดมนต์ที่เกี่ยวกับสังฆคุณนั้นมีคำว่า “จัตตาริ ปุริสยุคานิ อัฏฐ ปุริสะปุคคลา” แปลว่า “อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล” บุคคล ๘ จำพวก คือ (๑) พระโสดาบัน (๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทาให้แจ้งโสดาปัตติผล
(๓) พระสกทาคามี (๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทาให้แจ้งสกทาคามิผล
(๕) พระอนาคามี (๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทาให้แจ้งอนาคามิผล
(๗) พระอรหันต์ (๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทาให้แจ้งอรหัตตผล
ในบรรดา ๔ คู่ ๘ จำพวก คู่บุรุษคู่ที่ ๑ คือ โสดาปัตติมรรค และโสดาปัตติผล โสดาปัตติมรรค เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมจักษุ หมายถึง ดวงตาเห็นธรรม คือ โสดาปัตติมัคคญาณ หรือ ธรรมจักษุ หมายถึงดวงตาเห็นธรรม คือการบรรลุโสดาปัตติมรรคที่กำหนดรู้อริยสัจ ๔ คำว่าดวงตาเห็นธรรมเป็นประตูด่านแรกที่พระอริยบุคคลจะต้องผ่านด้วยกันทั้งหมด เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” คำว่าได้รู้แล้วหนอคือได้บรรลุโสดาบัน หรือได้ธรรมจักษุ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและพระอัสสชิเมื่อท่านบรรลุเป็นพระโสดาบัน ในคัมภีร์บันทึกไว้ว่า ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ในอังคุตตรนิกายทุกนิบาต พระพุทธเจ้าทรงอุปมาธรรมจักษุกับท้องฟ้าสารทกาล (ฤดูใบไม้ร่วง) ว่า “ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินเกิดแก่อริยสาวก พร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งทัสสนะ อริยสาวกย่อมละสังโยชน์ ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) และสีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต) เปรียบเหมือนท้องฟ้าแจ่มใสปราศจากเมฆหมอกในสารทกาล ดวงอาทิตย์ส่องแสงไปทั่วท้องฟ้า ขจัดความมืดมัวที่อยู่ในอากาศทั้งหมด ส่องแสง แผดแสงและส่องสว่างอยู่”
ในคัมภีร์ธรรมบทกล่าวถึงคุณธรรมพระโสดาบันว่า “โสดาปัตติผลเป็นคุณชาติประเสริฐกว่าการเป็นเจ้าจักรพรรดิ กว่าการเป็นเทวดา กว่าการเป็นพรหม” จะเห็นได้ว่าพระโสดาบันมีภาวะที่ประเสริฐกว่าทุกสิ่งที่เป็นสมบัติที่มนุษย์ไขว่คว้าแย่งชิงกัน การที่มนุษย์ได้เป็นพระราชาถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาบารมีอย่างมาก แต่ถ้าบุคคลนั้นได้เป็นพระโสดาบันถือว่าคุณธรรมเหนือกว่าพระราชาสาเหตุที่เหนือกว่าพระราชาเพราะพระราชายังไม่พ้นจากอบายภูมิ แต่พระโสดาบันพ้นจากอบายภูมิ อรรถกถาธรรมบทอธิบายเกี่ยวกับพระโสดาบันเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นว่า “ถึงแม้จะมีฐานะเป็นพระราชาในเมืองนั้นก็ไม่พ้นจากอบายภูมิมีนรกเป็นเป็นต้น ส่วนการที่บุคคลได้เป็นพระโสดาบันเป็นการปิดประตูอบายภูมิ อย่างน้อยก็ไม่บังเกิดในภพที่ ๘”
ธรรมที่ทำให้บุคคลบรรลุพระโสดาบันนั้นคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้าปราศจากอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย สุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้ว ตามแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก ไม่มีในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังตรัสถึงแว่นธรรมว่าสามารถที่จะพยากรณ์ตัวเองได้ว่าจะไม่ไปเกิดในนรก ข้อความว่า แว่นธรรมเป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรกหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรตหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า พระโสดาบันไม่มีวิจิกิจฉาสังโยชน์ ดังข้อความที่พระอานนท์กล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่าแม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอกล่าวเพราะความเลื่อมใส แต่ตถาคตมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ดีว่า ในภิกษุสงฆ์นั้น แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทาในจำนวนภิกษุ ๕๐๐ รูป ภิกษุผู้มีคุณธรรมขั้นต่ำสุด เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
โสดาปัตติมรรคมีการประหานกิเลส ๓ ชนิดคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เมื่อศึกษาบุคคลในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล มีบรรพชิตและคฤหัสถ์สำเร็จเป็นพระโสดาบันหลายท่าน เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา สำเร็จเป็นพระโสดาบันเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ ภรรยาของนายพราณกุกกุฏฏมิตร พระเจ้าพิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ล้วนมีการครองเรือนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในขณะที่ครองเรือนนั้น ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาไม่มี รู้ความเป็นไปของโลกตามความเป็นจริง ไม่มีความสงสัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในกรรม ผลของกรรม ไม่มีการปฏิบัติผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงตนอยู่ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่น บริจาคทานเป็นประจำ สังโยชน์ ๓ ชนิด ถูกทำให้หมดสิ้นไปด้วยปัญญาที่สูงสุดคือปัญญาในโสดาปัตติมรรคจิต
ลักษณะของผู้เป็นพระโสดาบัน การที่จะทราบลักษณะของพระโสดาบันได้นั้นบุคคลผู้นั้นจะต้องมีลักษณะที่แตกต่างจากปุถุชนคนธรรมดา บุคคลนั้นจะมีลักษณะที่โดดเด่น ที่เรียกว่า องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ประการได้แก่
(๑) เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
(๒) เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’
(๓) เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทางปฏิบัติสมควรได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’
(๔) เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
การที่จะสังเกตว่าใครเป็นพระโสดาบันนั้น ต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้คือ พระโสดาบันต้องมีความเลื่อมในอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ไม่ด่าง ไม่ขาด ไม่ทะลุ พระโสดาบันที่ครองเรือนมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ถ้าจะมีคำถามแย้งว่า ภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตตที่สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ถูกสามีใช้ให้นำ ธนู หอก หลาว มาให้สามี เพื่อที่จะนาไปฆ่าสัตว์และขายเนื้อสัตว์มาเลี้ยงครอบครัว ทำไม พระโสดาบันยังทำปาณาติบาตหรือ ในอรรถกถาธรรมบทภาค ๕ ได้อธิบายว่า จิตของนางไม่ยินดีในเนื้อสัตว์และไม่ได้สั่งให้สามีไปฆ่าสัตว์เพื่อนำเนื้อมาขาย แต่นางทำตามหน้าที่ของภรรยาเท่านั้น
สอดคล้องกับลักษณะของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ทำบุญเป็นประจำไม่เคยขาดถึงแม้ว่าจะไม่มีทรัพย์ในการทำบุญเพราะทรัพย์สมบัติของเศรษฐี ถูกพ่อค้ายืมไปแล้วไม่นำมาคืน ทรัพย์จึงเหลือน้อย จึงทำบุญด้วยข้าวปลายเกวียน และน้ำส้มผัก จึงเป็นเหตุให้เทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่พอใจจึงมาเตือนเศรษฐีไม่ให้ทำบุญอันเป็นเหตุพาตนให้เดือดร้อนจนไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อ เศรษฐีอนาถบิณฑิกจึงไล่เทวดาออกจากซุ้มประตูไม่ให้อาศัยอยู่ต่อไป เพราะเทวดาแนะนำในทางที่สวนกระแสความคิดของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ลักษณะของพระโสดาบันนั้นจะไม่หวั่นไหวในคำยุยงให้เลิกทำบุญกับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ในขณะเดียวกันนั้นพระโสดาบันมีจิตเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย
อุปติสสะ (พระสารีบุตร) เมื่อครั้งฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระและได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันจึงนำหลักธรรมย่อ ๆ ที่ตนฟังแล้วไปเล่าให้โกลิตะ (พระโมคคัลลานะ) ฟัง ทำให้โกลิตะบรรลุโสดาบัน ทั้งสองมีความมุ่งมั่นที่จะไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เพราะในขณะนั้นเชื่อและเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ (อัสสชิ) แล้ว จึงไปชวนอาจารย์สัญชัยปริพพาชกไปฟังธรรม ฝ่ายอาจารย์ก็คัดค้านไม่ไป ธรรมดาแล้วศิษย์จะเชื่อฟังอาจารย์เมื่ออาจารย์ไม่ไป ตัวศิษย์ก็จะไม่ไป แต่เพราะลักษณะของพระโสดาบันมีความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวหมดความสงสัย (วิจิกิจฉา) ในพระรัตนตรัยแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาก็ไม่มี การประพฤติปฏิบัติที่ผิดๆก็หมดไป เกิดความสว่างเหมือนบุคคลเข้าใจโจทก์คณิตศาสตร์แล้วสามารถอธิบายวิธีทำโจทก์นี้และได้ผลลัพธ์อย่างถูกต้อง อุปติสสะและโกลิตะจึงไปฟังธรรมเพื่อค้นหาสิ่งที่สูงยิ่งขึ้นไป
ประเภทของพระโสดาบัน ในพระไตรปิฎกได้อธิบายเกี่ยวกับการเป็นพระโสดาบัน ๕ ประเภท (๑) เอกพีชี หมายถึง ผู้มีพืชคืออัตภาพอันเดียว คือเกิดอีกครั้งเดียวก็จักบรรลุอรหัตตผล (๒) โกลังโกละ หมายถึง ผู้ไปจากตระกูลสู่ตระกูล คือเกิดในตระกูลสูงอีก ๒-๓ ครั้ง หรือเกิดในสุคติภพอีก ๒-๓ ครั้ง ก็จักบรรลุอรหัตตผล (๓) สัตตักขัตตุปรมะ หมายถึงผู้เกิด ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง คือ เวียนเกิดในสุคติภพอีกอย่างมากเพียง ๗ ครั้ง ก็จักบรรลุอรหัตตผล (๔) ธัมมานุสารี ผู้แล่นไปตามธรรม (๕) สัทธานุสารี ผู้แล่นไปตามศรัทธา
พระสกทาคามี สกทาคามี หรือ สกิทาคามี แปลว่า ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลลำดับที่ ๒ ใน ๔ ประเภท ที่เรียกว่า "ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว" หมายถึง พระสกิทาคามีจะเกิดในกามาวจรภพอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะถึงพระนิพพาน ผู้ได้บรรลุสกทาคามิผลคือผู้ที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการแรกได้เช่นเดียวกับพระโสดาบัน อีกทั้งทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีกสองประการที่เหลือให้เบาบางลงด้วย ผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนาผ่านโสดาบันโลกุตตรภูมิมาแล้ว ปรารถนาจะได้บรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไป จึงเจริญวิปัสสนาภาวนาให้ยิ่งขึ้น เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ เสมอกัน โดยที่มีวาสนาบารมีอันตนได้เคยสร้างสมอบรมมาเพียงพอ สภาวะแห่งวิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ
พระสกทาคามีไม่มีอำนาจประหาณกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งให้ขาดได้เด็ดขาดเพียงแต่ทำให้ราคะ โทสะ และโมหะ เบาบางกว่าพระโสดาบันเท่านั้น
พระอนาคามี อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดใน พรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะนิพพานจากพรหมโลกนั้นเลย เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทที่ ๓ ใน ๔ ประเภท คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ เป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยสังโยชน์) ทั้ง ๕ ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) อีก ๕ ประการ
อนึ่งพึงเข้าใจว่า แม้สังโยชน์เบื้องสูงบางข้อจะมีชื่อเหมือนกิเลสอย่างหยาบที่ยังมีในปุถุชน (ผู้ยังไม่เป็นบรรลุเป็นพระอริยบุคคล) เช่น มานะ อุทธัจจะ หรือ อวิชชา แต่สังโยชน์เบื้องสูงอันเป็นกิเลสที่ยังหลงเหลืออยู่ในจิตใจของพระอนาคามีนั้น เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าของปุถุชนอย่างมาก
พระอนาคามีประหาณสังโยชน์ได้ ๒ ชนิดคือ กามราคสังโยชน์ และปฏิฆสังโยชน์ หลักฐานในพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า “ผู้เป็นพระอนาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่างละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น”
พระอรหันต์ เหตุให้ได้ชื่อว่าอรหันต์ บุคคลชื่อว่าอรหันต์ เพราะเป็นผู้ห่างไกลจากธรรม ๗ ประการได้ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพตปรามาส (๔) ราคะ (๕) โทสะ (๖) โมหะ (๗) มานะ
พระอรรถกถาจารย์แสดงความหมายของพระอรหันต์ไว้ ๕ นัย คือ ๑. ห่างไกลจากกิเลส ๒. กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น ๓. เป็นผู้หักซี่กำแห่งสังสาระ คือหมดสังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิด ๔. เป็นผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ๕. ไม่มีที่ลับในการทำบาป ไม่มีความชั่วเสียหายที่จะต้องปิดบัง
คำว่า เป็นผู้ลอยบาปข้ามถึงฝั่งดำรงอยู่บนบก นั้นเป็นชื่อของพระอรหันต์ ชื่อว่าเวทคู เพราะถึงที่สุดแห่งความรู้ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีความเร่าร้อน ไม่รู้จักเศร้าโศก พ้นแล้วในทุกๆ สิ่ง ละกิเลสเครื่องร้อยรัดได้แล้วทุกกรณี มีสติสมบูรณ์ ไม่กระวนกระวายใจ ไม่ไหวหวั่นไปในอารมณ์ไหนๆ ในโลก เป็นผู้ไม่หวังอะไรแล้ว
ในคัมภีร์มิลินทปัญหาได้กล่าวถึง เวทนาทางกายของพระอรหันต์ว่า “พระอรหันต์เสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ พระอรหันต์ไม่ได้เป็นใหญ่ในสิ่ง ๑๐ อย่าง คือ (๑) ความเย็น (๒) ความร้อน (๓) ความหิว (๔) ความกระหาย (๕) อุจจาระ (๖) ปัสสาวะ (๗) ถีนมิทธะ (๘) ชรา (๙) พยาธิ (๑๐) มรณะ ทั้ง ๑๐ อย่างนี้เรียกว่า สิ่งที่มีอยู่ในกาย วิ่งไปตามกาย หมุนไปตามกายทุกภพ จิตของพระอรหันต์อาศัยกาย พระอรหันต์ก็ไม่มีอำนาจทางกาย การที่พระอรหันต์ไม่เสวยเวทนาทางใจ เพราะพระอรหันต์ได้อบรมจิตไว้ดีแล้ว เวลาได้รับทุกขเวทนา ก็มองว่าเป็นอนิจจัง ผูกจิตไว้ในเสาคือสมาธิ แล้วจิตก็ไม่ดิ้นรมหวั่นไหว มีแต่กายเท่านั้นเป็นไปตามอำนาจของเวทนา จิตของพระอรหันต์ไม่หวั่นไหวไปตามกาย เพราะจิตของพระอรหันต์มั่นอยู่ในอนิจจัง ไม่หวั่นไหว เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ เมื่อถูกลมพัดกิ่งก้านและใบ ไหวไปตามลม แต่ลำต้นไม่ไหว ผู้เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย
พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบพระอรหันต์เหมือนโคจ่าฝูงเป็นผู้นำฝูงโคว่า ภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นจ่าฝูง เป็นผู้นาฝูงว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพก็ฉันนั้นเหมือนกัน อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้วบรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว ๓ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ความรู้สึกย่อมปรากฏแก่ใจว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำในทำนองเดียวกันนี้ไม่มีอีกแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป ภพทั้งสามคือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ปรากฏแก่ท่านผู้บรรลุแล้วซึ่งอริยภูมิ ประหนึ่งมีเพลิงโหมอยู่ทั่ว ได้ย่ำยีความเมาทั้งปวงแล้ว ได้นำความกระหายทั้งมวลออกไปแล้ว ได้ถอนอาลัยในกามคุณอันเป็นที่อาลัยยินดีอย่างยิ่งของมวลสัตว์ได้แล้ว ตัดวัฏฏะอันทำให้หมุนเวียนมาเป็นเวลานานได้แล้ว ตัณหาความดิ้นรนร่านใจให้หมดสิ้นไปแล้ว คลายความกำหนัดได้แล้ว ดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ถึงแล้วซึ่งความเยือกเย็นอย่างยิ่ง
บุคคลผู้ใดบรรลุแล้วซึ่งธรรมอันสุดประเสริฐ คือพระนิพพานนี้ย่อม - เป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่งต่อความเย็น ร้อน หิวกระหาย และสัมผัสร้ายอันเกิดจากเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย - เป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่ง อดกลั้นได้อย่างสงบต่อถ้อยคำล่วงเกิน ถ้อยคำเสียดสี คำด่าว่าของผู้อื่น - เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่อทุกขเวทนาที่เกิดจากอาพาธประเภทต่างๆ อันเกิดขึ้นอย่างกล้าแข็ง ทำให้หมดความรำคาญ ยากที่บุคคลทั่วไปจะทนได้ - เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่ออารมณ์อันมายั่วยวน - เป็นผู้กำจัดราคะ โทสะ และโมหะได้แล้วอย่างเด็ดขาด มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝาดอันตนสำรอกออกได้แล้ว เป็นผู้ควรรับของขวัญ ควรได้รับการต้อนรับ ควรแก่ของที่ทายกผู้มีศรัทธาจะทำบุญ ควรเคารพกราบไหว้เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ผลแห่งการปฏิบัติที่เป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนาคือการบรรลุมรรคและผล หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผลแห่งพรหมจรรย์ คือโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล การบรรลุธรรมคือการตัดสังโยชน์ตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่สังโยชน์เบื้องต่ำ จนถึงเบื้องสูง และท้ายสุดคือการตัดสังโยชน์ได้หมดไปจากจิตใจ อยู่ในอารมณ์ที่เป็นสุขเพราะไม่มีเครื่องผูกมัดเหล่านั้นแล้ว ใจเป็นอิสระจากสิ่งผูกมัดทั้งปวง
การเข้าถึงธรรม เราต้องเข้าถึงในปัจจุบัน มันจะเลื่อนไปเรื่อย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี เราจะเป็นคนจน คนรวย คนแขก คนไทย คนจีน คนฝรั่ง ก็เข้าถึงความดับทุกข์ได้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าถึงไม่ถือเรื่องวรรณะ มันเป็นเรื่องสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบัน ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันแก้ปัญหาได้เอง เราต้องเข้าใจศาสนา มันเป็นการพัฒนาทั้งทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และพัฒนาใจที่เป็นสัมมาทิฏฐิพร้อมๆ กัน ศาสนาถึงไม่มีไสยศาสตร์มาเกี่ยวข้อง พระพุทธเจ้าถึงไม่สรรเสริญเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ถ้าไม่จำเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่เอาอิทธิปาฏิหาริย์มาใช้งาน พระพุทธเจ้าสรรเสริญตั้งแต่อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือทรงพูดให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องธรรมะ
การฟังธรรมถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถึงให้ตั้งใจฟัง ไม่ใช่ฟังไปหลับไป พระพุทธเจ้าฟังสาวกแสดงธรรมพระพุทธเจ้าก็นั่งฟัง สงบ เคารพในธรรม ฟังดูว่าอรหันต์สาวกจะแสดงธรรมถูกต้องไหม กลัวจะคลาดเคลื่อน เวลาฟังธรรมถึงให้ตั้งใจดีๆ บางแห่งถึงมีประเพณีฟังธรรม ก็ต้องประนมมือเพื่อจะได้ตั้งอกตั้งใจ เหมือนไปเรียนหนังสือเราก็ต้องมีความสุขในการเรียนหนังสือ อันนี้ก็ต้องมีความสุขในการฟัง อันไหนไม่เข้าใจจะได้ผ่านไป การฟังธรรมนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ
การที่เราไปพบกับพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่สำคัญ การที่เราไปพบกับพระอรหันต์เป็นสิ่งที่สำคัญ การที่เราได้ฟังธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญ การที่ทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ ตอนเช้า ตอนเย็นถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การที่เรารู้จักความคิด รู้จักอารมณ์เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราไม่รู้จักอารมณ์ ไม่รู้จักความคิด เราก็ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลินตั้งอยู่ในความประมาท เช่น เมล็ดต้นไม้ลูกมันเล็กนิดเดียวแต่มันเติบโตขึ้น ต้นใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางหลายเมตร ถ้าเราไม่ตัด พวกเถาวัลย์ไม่พันเกินไป ต้นไม้มันได้ออกซิเจน ได้น้ำ มันก็ใหญ่ ความคิดที่มันเป็นอกุศล รูปก็ดี เสียงก็ดี ลาภ ยศ สรรเสริญ มันอร่อย เราปล่อยตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก เราต้องรู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ ไม่อย่างนั้นเรามีเซ็กส์ทางอารมณ์ เซ็กส์ทางความคิด อันนี้มันเป็นความเกิด เราเกิดมา เราต้องรู้จักอริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะเราต้องตั้งมั่นในศีล ตั้งมั่นในสัมมาสมาธิอย่างนี้ เราต้องมีปัญญา ต้องเสียสละ เพื่อจะได้ทิ้งอดีตเป็นเลขศูนย์ เอาปัจจุบันให้ดี เราจะได้พัฒนาอริยมรรคของเราไป เราจะไม่ให้มีรูป มีเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ มันไม่ได้ เขาเรียกว่ามันว่างจะสิ่งที่มีอยู่มันไม่ถูกต้อง เราจะเอาหินมาทับหญ้ามันไม่ถูกต้อง เราต้องปล่อยกลไกให้มันเป็นไป ด้วยเรามีสัมมาทิฏฐิเราต้องจัดการ เราอยู่ที่ไหน เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ที่นั้นก็ย่อมสงบ เพราะเรามีปัญญา วิปัสสนา พระพุทธเจ้าให้เราเอาธรรมะมาใช้ได้ทุกอิริยาบถ ความยินดี เราต้องรู้จัก ความยินร้าย เราต้องรู้จัก เมื่อเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราจะได้บอกลูก บอกหลาน ของเราได้ 100% เราไม่ใช่รู้ครึ่งๆ กลางๆ
เราเป็นอะไร? ...อยู่ตรงไหนแล้ว? ต่อไปนี้เป็นการประมาณเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ปัจจุบันโลกนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่ประมาณเกือบ 8 พันล้านคน แต่เป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธทั้งมหายานและเถรวาทราวๆ 7.1% คือ 568 ล้าน (คริสต์ 31.5% อิสลาม 23% ศาสนาฮินดู 15% ไม่มีศาสนา 16% ศาสนาและลัทธิอื่นประมาณ 10% )
ใน 568 ล้านคนนี่ เป็นพุทธแต่ในทะเบียนบ้าน คือไม่มีศรัทธา ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ไม่เชื่อเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สมมุติว่าครึ่งหนึ่ง เหลือ284 ล้านคน
ในจำนวน 284 ล้านคนที่มีศรัทธานี่ ให้ทาน ทำบุญ ทอดกฐิน แต่ยังทำบาปอยู่ ไม่รักษาศีล สมมุติว่าครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้มีศีล 5 เหลือ 142 ล้านคน
ในจำนวนคนที่ถือศีลนี้ ไม่เคยสนใจจะฟังธรรม หรือศึกษาคำสอนที่ลึกซึ้งของพระพุทธเจ้า สมมุติว่าในจำนวนนี้มีผู้สนใจฟังธรรมครึ่งหนึ่งเหลือ 70 ล้านคน
ในจำนวนผู้ฟังธรรมเหล่านี้ ก็ฟังอย่างเดียว ทุกครั้งที่ฟังธรรมก็จะชื่นชมว่า หลวงปู่ หลวงพ่อเทศน์ดี พระอาจารย์เทศน์ดี แต่ไม่เคยคิดจะปฏิบัติธรรมหรือทำตามที่ครูบาอาจารย์เทศน์เลย สมมุติว่าในจำนวนนี้มีผู้สนใจปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติครึ่งหนึ่ง เหลือ 35 ล้านคน
ในจำนวน 35 ล้านนี้ ปฏิบัติตามคำสอน ทำได้เพียงขณิกสมาธิ คือสมาธิเล็กน้อย ครึ่งหนึ่ง เหลือ 17.5 ล้าน ได้อุปจารสมาธิ สมาธิปานกลางครึ่งหนึ่ง เหลือ 8 ล้าน ได้อัปปนาสมาธิ คือได้ฌาน ครึ่งหนึ่งเหลือ 4 ล้าน
ในจำนวนผู้ได้ฌานนี้สมมุติว่าได้ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ลดลงไปครึ่งหนึ่งตลอดเหลือ 2 ล้าน 1 ล้าน 5 แสน 3 แสน 2 แสน คน
ในจำนวนผู้ได้ฌานนี้มีผู้เจริญวิปัสสนาได้ครึ่งหนึ่ง เหลือ ๑ แสนคน ได้เข้าถึงธรรม แต่ยังไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลครึ่งหนึ่งเหลือ 5 หมื่นคน
ใน ๕ หมื่นคนมีผู้บรรลุมรรคผล เป็นพระอริยบุคคล ๘ ขั้น คือโสดาปฏิมรรค โสดาปฏิผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล ลดลงครึ่งหนึ่ง... จะเหลือผู้สามารถบรรลุมรรคผลพ้นทุกข์ไปได้ เพียงไม่กี่ร้อยคน... จากจำนวนคนในโลกปัจจุบันนี้ ๘ พันล้านคน...
“เวลาคนเขาร่อนทอง ทองนั้นอยู่รวมกับดินทราย คนร่อนทองจะค่อยๆ เอาน้ำละลายเศษดินทรายออกจากที่ร่อน จนดินทรายนั้นออกไปหมด เหลือแต่ก้อนทองคำชิ้นเล็กๆ นิดเดียว การปฏิบัติธรรมก็ไม่ต่างกัน เราก็ต้องเลือกทางชีวิตของเรา ว่าจะเป็นก้อนทองที่มีค่า หรือจะเป็นดินทรายที่ถูกร่อนทิ้ง และวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ไปชั่วกัปชั่วกัลป์...
หรือถ้าสิ่งนี้คือการแข่งขันกีฬา การชิงชัยในแต่ละรอบคือการผ่านเข้ารอบมาตามลำดับ เราลองถามตัวเองดูซิว่า เราผ่านเข้ารอบมาถึงตรงไหนแล้ว..หรือว่าตกรอบมาตั้งแต่รอบแรกแล้ว...”