แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๕๑ การปฏิบัติก็คือเข้าสู่ภาคบำบัด เพื่อกำจัดความเศร้าหมองออกไปจากใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การแก้ปัญหานี้ ทุกคนต้องแก้ที่ตัวของเราเอง พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้บอก ผู้สอน ท่านมาปฏิบัติให้เราไม่ได้ ทุกคนต้องพากันมาแก้ที่ตัวเอง โลกนี้ทั้งโลกเราแก้แค่เราคนเดียว คนอื่นก็ต้องไปแก้ที่คนอื่น การเรียน การศึกษาก็ให้เราเข้าใจ เรื่องเหตุ เรื่องผล ทำหลักวิทยาศาสตร์ เราพัฒนาทั้งใจ ทั้งวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน เราจะแก้ประเทศเราทั้งประเทศ เราก็แก้ที่ตัวเราผู้เดียว ผู้ที่เป็นพ่อก็แก้ที่พ่อ ผู้ที่เป็นแม่ก็แก้ที่แม่ ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ก็แก้ที่ครูบาอาจารย์ ผุ้ที่เป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้า ประชาชน ก็แก้ที่ตัวคนนั้น ถ้าเราทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึกตัวเอง เราก็เป็นได้แต่เพียงคน มันยุ่ง มันวุ่นวาย
เราต้องเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่มีสติสัมปัชชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม เพราะเราเกิดมาเพื่อมารู้จัก รู้แจ้ง และมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง เราจะได้หยุดอบายมุข อบายภูมิของตัวเอง ต้องขึ้นอยู่ที่สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เรียกว่าขึ้นอยู่ที่ผู้นำ ทุกคนก็จะพากันไปก๋าไปกร่างไม่ได้ ไม่มีใครพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพลาก ก็ย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรม กฎของกรรม เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนั้นมันถึงมี ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะพากันแก้ที่ปลายเหตุ เห็นไหม น้ำปีไหนฝนดีก็น้ำท่วม ปีไหนฝนไม่ตกก็แห้งแล้ง เพราะเราไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ สำคัญอยู่ที่ผู้นำ ผู้นำคือใคร ก็คือตัวของเราเอง เราต้องนำตัวเอง ออกจากความทุกข์ ออกจากวัฏฏะสงสาร อบายมุข อบายภูมิ ทุกคนก็ย่อมรู้อยู่แล้ว ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพลาก คืออบายมุข อบายภูมิ
เราต้องรู้จัก เราจะไปตามความคิด ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกมันก็ย่อมมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพลาก ทุกท่านทุกคนจะมีความสุข ความดับทุกข์ เหมือนกันทุกๆ คน ไม่ว่าจะคนจน คนรวย ไม่ว่าเราจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ คนหนุ่ม คนสาว เป็นคนสุขภาพดี เป็นคนพิการ มันแก้ที่ใจของตัวเอง แก้ที่ให้มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราจะได้ง่าย ถ้าทุกคนมีความเห็นอย่างนี้ มีความเข้าใจอย่างนี้ ระบบที่บรรพบุรุษเราวางไว้ถูกแล้ว มีชาติ มีพระศาสนา มีพระมหากษัตริย์ มันดีอยู่แล้ว มีข้าราชการ นักการเมืองอยู่แล้ว แต่ทุกท่านทุกคนนั้นต้องแก้ที่ตัวเอง ไม่อย่างนั้นแย่เลย มันสำคัญอยู่ที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องหรือว่าสำคัญอยู่ที่ผู้นำ ผู้นำทุกคน เบื้องต้นศีลพรมจรรย์ก็คือศีล ๕ ทุกคนต้องพากันมีศีล ๕ ให้หมด แต่ถ้าพ่อแม่มีศีล ๕ ลูกมันจะไปไหน เพราะเราดูคนที่พ่อแม่หน้าตายังไง ลูกก็คล้ายๆ กัน พ่อแม่เลือดกรุ๊ปไหน ลูกก็ออกมาอย่างนั้น ผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญ เราไม่ต้องไปโทษลูกโทษหลานคนโน้น คนนี้ เรากลับมาหาตัวเองให้มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง การปฏิบัติที่ถูกต้องเขาเรียกว่าศีล ความตั้งมั่นเรียกว่า สมาธิ และการที่รู้แจ้งโลก ไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึก ทำไปตามหลักวิทยาศาสตร์และพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เขาเรียกว่าปัญญา มันจะเป็นธรรมชาติ
การนั่งสมาธิตอนค่ำ ตอนเย็น มันเปรียบเสมือนอาหารเสริม ทุกคนหยุดทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึกตัวเอง ทำตามความคิด เขาเรียกว่าไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่ความดี ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ทุกท่านทุกคนเราจะมีความสุข มีความดับทุกข์ กาย ใจ ของเราจะสะอาด วาจาของเราจะสะอาด เราจะได้หยุดก๋า หยุดกร่าง หยุดทำตามใจตัวเอง หยุดเป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ เจ้าโลก เราต้องพากันรู้จัก ไม่อย่างนั้นก็วิ่งตามอารมณ์ ตามความคิด มันเข้าถึงเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ เราไม่จำเป็นต้องให้น้ำมันท่วมประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องให้ประเทศไทยเราแห้งแล้ง เพราะทุกอย่างมันทำได้จัดการได้ ถ้าเราเอาศีล เอาธรรม เราไม่โกงกิน ไม่คอรัปชั่น ใครก็อยากจะเสียภาษี ถึงแม้เรามีครอบครัว ครอบครัวคือที่ธรรมะหน่ะ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ ไม่เข้าภาคบำบัด
การปฏิบัติก็คือเข้าสู่ภาคบำบัด เหมือนที่เขาติดเหล้า ติดเบียร์ ติดเฮโรอีน เขาก็ต้องเข้าสู่ภาคบำบัด พวกที่มาถือศีลอยู่วัด พวกนี้เขาเรียกมาสู่ถ้าภาษาทางโลกก็คือภาคบำบัดหรือภาคปฏิบัติ เพื่อบำบัดอุปกิเลสไปจากใจ กิเลสละเอียดที่ทำให้ใจเศร้าหมอง มีปกติซ่อนอยู่ในใจเหมือนกับสนิมที่ซ่อนตัวในเหล็ก การพิจารณาจิต คือ ตามรู้จิตตลอดกาลตลอดเวลา ทั้งเมื่ออยู่ในอิริยาบถตามปกติและเมื่อตั้งใจปฏิบัติ เมื่อเราตั้งใจพิจารณา ตามดูจิตแล้ว เราจะมองเห็นอาการของจิตต่างๆ ทำให้เข้าใจจริตนิสัยของตัวเองมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจตัวเอง ยอมรับตัวเองตามความเป็นจริง ก็จะเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง คือเมื่อรู้สึกตัวแล้ว ก็จะไม่หลงไปตามอารมณ์
จิตเดิมแท้ของเราทุกคนเป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติแต่กิเลสเป็นอาคันตุกะที่จรเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสหรืออกุศลมูล อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้ล้วน หมักดอง ห่อหุ้ม เอิบอาบ แช่อิ่ม บีบคั้น บังคับ กัดกร่อนใจของมนุษย์ให้คิดพูดทำแต่ในสิ่งที่ชั่วช้าต่างๆ จนกระทั่งผู้นั้นคุ้นเคยต่อความชั่วทั้งหลาย ในที่สุดก็กลายเป็นนิสัยไม่ดีติดตัว แต่ละคน ทำความชั่วซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นอุปนิสัย เป็นเหตุให้ต้องจมอยู่ในห้วงทุกข์นับภพนับชาติไม่ถ้วน เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกันแล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นอุปนิสัยต่างๆ มี ๑๖ ลักษณะเรียกว่า อุปกิเลส ๑๖ ซึ่งเป็นเหมือนกับลูกหลาน บริวาร สังกัดในกิเลส ๓ ตระกูล แต่ละตระกูลก็จะมีตัวกิเลสที่แสดงอาการออกมาคล้ายกันมากดั่งพี่น้อง แต่อาจจะมีระดับต่างกัน ได้แก่
ตระกูลโลภะ ๑. อภิชฌาวิสมโลภะ จ้องละโมบ อยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างไม่รู้จักพอ เห็นแก่ได้จนลืมตัว
ตระกูลโทสะ ๒. พยาบาท คิดหมายปองร้าย ทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ ยึดความเจ็บแค้นของตนเป็นอารมณ์คิดร้าย มุ่งจะทำร้ายเขา ใครพูดไม่ถูกใจก็คิดตำหนิเขา คิดจะทำร้ายฆ่าเขาก็มี บางครั้งทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ก็หันมาตำหนิตัวเอง ทำร้ายตัวเอง จนฆ่าตัวตายก็มีซึ่งเป็นเพราะอำนาจพยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
๓. โกธะ โกรธ คือ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจหรือไม่ปลื้ม ตรงกับคำว่า “ฉุน” หรือ “กริ้ว” มีอะไรมากระทบก็โกรธ เป็นลักษณะโกรธง่าย แต่เมื่อหายแล้วก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่พยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
๔. อุปนาหะ ผูกโกรธ คือ เก็บความโกรธไว้ แต่ไม่คิดผูกใจที่จะทำลายเหมือนพยาบาท เป็นแต่ว่าจำการกระทำไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย ซึ่งตรงกับคำ ว่า “ตึง” เช่นประโยคที่ว่า “น้องชายกับพี่สาวตึงกันมานานแล้ว” เป็นต้นการผูกโกรธ ใครพูดอะไร ทำอะไรให้เกิดความโกรธแล้วจะผูกใจเจ็บ เก็บไว้ ไม่ปล่อย ไม่ลืม เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น กระทบอารมณ์เมื่อไร ก็เอาเรื่องเก่ามาคิดรวมกันคิดทวนเรื่องในอดีตว่าเขาเคยทำไม่ดีกับเราขนาดไหน เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
ตระกูลโมหะ ๕. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน หมายถึง ปิดบังความดีของผู้อื่น ลบหลู่ความดีของผู้อื่น เช่น เขาให้ของแก่เรา แทนที่จะขอบคุณกลับนึกตำหนิเขาว่า เอาของไม่ดีมาให้ หรือเมื่อมีใครพูดถึงความดีของเขา เราทนไม่ได้ เราไม่ชอบ จึงยกเรื่องที่ไม่ดีของเขามาพูด เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนดีถึงขนาดนั้น เป็นต้น เป็นคนไม่รู้จักบุญคุณ, ลำเลิกบุญคุณ เช่น ถูกช่วยเหลือให้ได้ดิบได้ดี แต่กลับพูดว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เป็นต้น เรียกง่ายๆ ว่า “คนอกตัญญู"
๖. ปลาสะ ตีเสมอ หมายถึง คือการตีเสมอ ยกตัวเทียมท่าน ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน แต่ชอบยกตัวเองดีกว่าเขา มักแสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเก่งกว่า รู้ดีกว่า ถ้าให้เราทำ เราจะทำให้ดีกว่าเขาได้ เอาตัวเราเข้าไปเทียบกับคนอื่นด้วยความลำพองใจ ทั้งๆ ที่ตนต่ำกว่าเขา เช่น แมวคิดตีเสมอราชสีห์ เป็นต้น ตรงกับคำว่า “ยกตนเทียมท่าน”
๗. อิสสา ริษยา หมายถึง กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า เห็นเขาได้ดี ทนไม่ได้ เมื่อเห็นเขาได้ดีมากกว่าเรา เขาได้รับความรักความเอาใจใส่มากกว่าเรา เรารู้สึกน้อยใจ อยากจะได้เหมือนอย่างเขา ความจริงเราอาจจะมีมากกว่าเขาอยู่แล้ว หรือเรากับเขาต่างก็ได้รับเท่ากัน แต่เราก็ยังเกิดความรู้สึกน้อยใจ ทนไม่ได้ก็มี ริษยามีหลายระดับ ถ้ามีน้อยก็เพียงไม่สบายใจ ถ้ามีมากก็จะไปผลาญทำลายความดีผู้อื่น
๘. มัจฉริยะ ตระหนี่ ตรงกับที่พูดว่า “ถี่เหนี่ยว หรือ ขี้เหนียว” เสียดายของ ยึดในสิ่งของที่เราครอบครองอยู่อย่างเหนียวแน่น อยากแต่จะเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใครแม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม ซึ่งความตระหนี่นี้เป็นคนละเรื่องกับประหยัด ความตระหนี่นั้นยังหมายรวมไปถึงตระหนี่ชื่อเสียง หวงความดีความชอบผู้อื่น หวงวิชาความรู้
๙. มายา เจ้าเล่ห์, มารยา หมายถึง แสร้งทำเพื่ออำพรางความไม่ดีให้คนอื่นเข้าใจผิด เป็นคนมีเหลี่ยม มีคู เจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่จริงใจ พยายามแสดงบทบาทตัวเองเกินความจริง หรือจริงๆ แล้วเรามีน้อยแต่พยายามแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจว่ามั่งมี เช่น ด้วยการแต่งตัว กินอยู่อย่างหรูหรา หรือบางกรณี ใจเราคิดตำหนิติเตียนเขา แต่กลับแสดงออกด้วยการพูดชื่นชมอย่างมาก หรือบางทีเราไม่ได้มีความรู้มาก แต่ของคุยแสดงว่ารู้มาก เป็นต้น
๑๐. สาเถยยะ โอ้อวด หมายถึง หลอกลวงเขา ชอบอวดว่าดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา พยายามแสดงให้เขาเห็น เพื่อให้เขาเกิดอิจฉาเรา เมื่อได้โอ้อวดแล้วมีความสุข คุยโม้โอ้อวดเกินความจริง แฝงเจตนาให้ผู้อื่นเกรงกลัวหรือเลื่อมใส ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเอาออกมาอวด เช่น ถ้าอวดทรัพย์ ก็เรียกว่า อวดมั่งอวดมี ถ้าอวดความรู้ ก็เรียกว่า อวดรู้ เป็นต้น
๑๑. ถัมภะ หัวดื้อ จิตใจแข็งกระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ใครแนะนำอะไรให้ก็ไม่ยอมรับฟัง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือหรือต่อต้านปฏิเสธสิ่งที่มีประโยชน์ ความดื้อมี ๒ แบบ ได้แก่ ดื้อด้าน เรียกว่า “คนหัวแข็ง” ส่วนดื้อดึง จะเรียกว่า “คนหัวรั้น” คนหัวดื้อในโลกนี้ อาจแบ่งใหญ่ๆ ได้เป็น ๓ ประเภท คือ ๑. ดื้อเพราะความโง่หรือความขี้เกียจ จัดเป็นพวกดื้อด้าน ๒. ดื้อเพราะทิฏฐิมานะหลงตัวเองว่ารู้แล้ว จัดเป็นพวกดื้อดึง ๓. ดื้อเพราะโทสะโกรธง่าย จัดเป็นพวกบ้า
๑๒. สารัมภะ แข่งดี แก่งแย่งชิงดีให้อีกฝ่ายเสียศักดิ์ศรี ยื้อแย่งเอามาโดยปราศจากกติกาความยุติธรรม คือการแข่งดี มุ่งแต่จะเองชนะเขาอยู่ตลอด จะพูดจะทำอะไรต้องเหนือกว่าเขาตลอด เช่นเมื่อพูดเถียงกันก็อ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อเอาชนะให้ได้ ถึงแม้ความจริงแล้วตัวเองผิด ก็ไม่ยอมแพ้
๑๓. มานะ ถือตัว, ทะนงตน ตรงกับคำว่า “เย่อหยิ่ง” “จองหอง” คือ สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา
๑๔. อติมานะ ดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก คือ ตีคุณค่าในตัวผู้อื่นให้มีราคาถูกหรือน้อยลง อติมานะก็เปรียบเหมือนพี่ของมานะ มานะนั้นเพียงถือตัว ส่วนอติมานะ จะดูหมิ่นกดคุณค่าของผู้อื่นเข้าไปอีก
๑๕. มทะ มัวเมา เมาในซึ่งต่างจากอาการเมาเหล้า ซึ่งจะเรียกว่า “มึนเมา” เท่านั้น แต่มัวเมานี้เป็นความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ ซึ่งมี ๔ ประการ ได้แก่ ๑. เมาในชาติกำเนิดหรือฐานะตำแหน่ง ๒. เมาในวัย ๓. เมาในความแข็งแรง ๔. เมาในทรัพย์
๑๖. ปมาทะ คือ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติกำกับ แยกดีชั่วไม่ออก หลงใหลในอบายมุข เช่น ขลุกอยู่ในการพนัน เป็นความเมาที่ยิ่งกว่า มทะ ซึ่งจะตรงกับคำว่า เลินเล่อ, หรือชะล่าใจ ไม่คิดให้รอบคอบ เป็นอาการที่ขาดสติ ขาดปัญญา
อุปกิเลสต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวแปรส่งเสริมจิต ของมนุษย์ให้คิดพูดทำแต่ในสิ่งที่ชั่วช้าต่างๆ จนกระทั่งผู้นั้นคุ้นเคยต่อความชั่วทั้งหลาย ในที่สุดก็กลายเป็นนิสัยไม่ดีติดตัวแต่ละคน ทำความชั่วซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นสันดาน เป็นเหตุให้ต้องจมอยู่ในห้วงทุกข์มานับชาติไม่ถ้วน
กิเลส เป็นโรคร้ายฝังอยู่ในใจที่คอยบีบคั้นให้มนุษย์คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว แล้วผลของความชั่วทำไว้ก็ไม่หายไปไหน มันได้กลายเป็นมารร้ายย้อนกลับมา ตามจองล้างจองผลาญเราข้ามภพข้ามชาติ ให้เดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในอนาคต เด็กเมื่อแรกเกิดดูเหมือนบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่จริง ๆ แล้วมีเชื้อกิเลสอยู่ในใจ รอเวลากำเริบเมื่อพบเหยื่อล่อ กลายเป็นว่าทันทีที่เราทำความชั่ว มันก็ฉุดให้เราตกเข้าไปสู่วงจร กฎแห่งกรรม ที่มีอยู่ประจำโลกนี้ทันที คือต้องเป็น ทุกข์ ตลอดชาตินี้ ตายไปก็ทุกข์ต่อไปอีกเพราะตก นรก พ้นโทษจากนรกกลับมาเกิดเป็นคน ก็จะเป็นคนมีทุกข์มาก
นี่คือวงจรของกฎแห่งกรรมที่มันมีอยู่ประจำโลก โดยมีกิเลสในใจแต่ละคนเป็นตัวบีบคั้นให้ผู้นั้นเข้าไปติดอยู่ในวงจร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นทรงรู้อย่างลึกซึ้งอีกด้วยว่า ถ้าแต่ละคนยังปราบกิเลสในใจได้ไม่หมด ความทุกข์มันจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะในขณะที่วิบาก คือผลแห่งกรรมชั่วเก่า กำลังส่งผลให้เป็นทุกข์อยู่นั้น กิเลสในใจก็ยังคอยบีบคั้นให้คนสร้างกรรมชั่วใหม่เพิ่มขึ้นต่อไปอีก
มนุษย์จึงต้องตกอยู่ในสภาพ วิบากกรรมเก่ายังไม่ทันหมดไป วิบากกรรมใหม่ก็กระโจนเข้ามาขย้ำซ้ำอีกอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของมนุษย์จึงประสบแต่ความทุกข์เดือดร้อนสารพัดอย่างไรมีที่สิ้นสุดเพราะตกอยู่ในอำนาจกิเลส สมกับคำที่ว่า ชีวิตนี้มีแต่ทุกข์
การที่ใครจะให้ตัวเองหลุดพ้นจากวงจรแห่งทุกข์ได้ จึงมีทางเดียวคือ ต้องกำจัดบำบัดกิเลสออกไปจากให้หมดโดยสิ้นเชิง กิเลสจึงเป็นเหมือนโรคร้ายทางใจที่อันตรายว่าโรคร้ายทางกายอย่างนับเท่าไม่ถ้วน
อริยมรรคมีองค์ ๘ คือมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันอยู่กับทุกๆ คน อยู่ทุกหนทุกแห่ง อยู่ในบ้าน ในสังคม เราต้องเข้าใจศาสนาให้ถูกต้อง เราจะไม่ได้หลงศาสนาไปทางไสยศาสตร์ ถ้ามนุษย์เราไม่ทำอย่างนี้ มันตามใจ ตามอารมณ์ตัวเอง คือมันทำร้ายตัวเอง ทำร้ายญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล มาทำตัวเป็นขยะ ทุกคนก็เป็นขยะมันมันก็มีปัญหาอย่างนี้ ขยะล้นบ้านล้นเมือง ขยะคือใจของเราเป็นขยะ กาย วาจา ใจ ของเราเป็นขยะไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและส่วนรวม เราต้องเอาธรรมะ อย่าไปเอาตัวตน ต้องเอาความถูกต้องที่ว่าเสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม มันเข้าสู่ธรรมะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวพุทธเข้าถึงธรรม ท่านยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิตเพื่อรักษาธรรมไว้ ในการเสียสละบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า ท่านได้เรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้ “จเช ธนํ องฺควรสฺส เหตุ องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต
พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์สูงสุด พึงสละทั้งอวัยวะ และชีวิต เพื่อรักษาธรรมไว้”
พระบรมศาสดาของเรา ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีงามในการเสียสละ ในสมัยที่พระองค์สั่งสมบารมี ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น บางชาติทรงยอมสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อแลกกับคำว่า เทวธรรม คืออยากรู้ว่า ธรรมอะไรที่ทำให้เป็น เทวดา ถึงกับยอมสละชีวิตให้ยักษ์กิน ฉะนั้น พระองค์จึงเป็นยอดแห่งผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่
พระองค์ทรงบริจาค ลูกนัยน์ตาเป็นทาน มากกว่าดวงดาว บนท้องฟ้า ทรงตัดศีรษะให้เป็นทาน มากกว่าผลมะพร้าวในชมพูทวีป ทรงสละเลือดเป็นทานมากกว่าน้ำในท้องพระมหาสมุทรทั้งสี่ และทรงสละเนื้อเป็นทาน มากกว่าผืนแผ่นดินนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ยากจะทำได้ เพราะน้ำใจของพระโพธิสัตว์นั้นยิ่งใหญ่ จะยอมสละได้ทุกสิ่ง เพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
พระองค์ได้ทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องการเสียสละว่า ในคราวที่จำเป็นจะต้องสละบางสิ่งไปเพื่อรักษาบางสิ่งไว้ ให้เรียงลำดับการเสียสละดังนี้ คือ ให้สละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ เพราะทรัพย์สินเงินทองเป็นของนอกกาย หมดไปแล้วเรายังหาใหม่ได้ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เพราะชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ชีวิตมีค่าต่อการสร้างบารมี แม้ต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนไป ก็ให้รักษาชีวิตไว้ เพื่อการสร้างบารมี เมื่อเห็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการบรรลุธรรม ก็ทรงให้สละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อรักษาธรรมไว้ แม้ชีวิตจะสูญสิ้น แต่ ธรรมะ ไม่สิ้นสูญ ให้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อแลกกับธรรมะ แม้เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ถ้ายังไม่ได้บรรลุธรรมก็ยอมตายกันเลย
ในสมัยก่อน พุทธศาสนิกชนเป็นผู้ใคร่ในการฟังธรรมกันมาก เขาฟังธรรมตลอดทั้งคืน บางท่านถึงกับยอมสละทุกสิ่ง ทุกอย่าง แม้โจรจะเข้าบ้าน มาขโมยทรัพย์สมบัติก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ยอมให้เสียโอกาสในการฟังธรรม เพราะเห็นว่า อริยทรัพย์นั้นประเสริฐกว่าโลกิยทรัพย์
เรื่องมีอยู่ว่า อุบาสิกาท่านหนึ่ง นามว่า กาฬีอุบาสิกา อยากฟังธรรมจาก พระลูกชาย คือ พระโสณกุฏิกัณณะ (ท่านทรงเครื่องประดับหูมีค่าถึงโกฏิหนึ่ง ซึ่งควรจะเรียกชื่อท่านว่า โกฏิกัณณะ ซึ่งหมายความว่า โสณะผู้มีเครื่องประดับหูราคาโกฏิหนึ่ง แต่ผู้คนกลับเรียกท่านว่า กุฏิกัณณะ ซึ่งอธิบายว่า โสณะผู้เป็นเด็กดี) ท่านเป็นสัทธิวิหาริกของพระมหากัจจายนะเถระ เพราะนางได้ยินว่าพระลูกชาย เคยแสดงธรรมเฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา แม้แต่เทวดาก็ยังมาอนุโมทนาด้วย และพระศาสดาทรงยกย่องให้เป็นเอตทัคคะในทางผู้มีวาจาไพเราะ เมื่อนางได้ยินข่าวว่า พระลูกชายมาแสดงธรรมที่วัดใกล้บ้าน ในแขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท คืนนั้นจึงตั้งใจจะไปฟังธรรมให้ได้ ครั้นถึงเวลา นางได้พาบริวาร ทั้งหมดไปฟังธรรมที่วัด เหลือแค่หญิงรับใช้อยู่เฝ้าบ้านเพียงคนเดียว
บ้านของอุบาสิกานั้น ล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น มีซุ้มประตู ๗ ซุ้ม และยังเลี้ยงสุนัขดุไว้ทุกๆ ประตูอีกด้วย เมื่อพวกโจรสืบรู้ว่า อุบาสิกากับบริวารไปวัดฟังธรรม จึงพากันขุดอุโมงค์เข้าไปในบ้านของนาง โดยหัวหน้าโจรไปดักรออยู่หน้าประตูวัด ตั้งใจว่า ถ้าอุบาสิกานั้นรู้ว่า พวกโจรบุกเข้าไปในบ้านนาง นางจะต้องรีบกลับบ้าน หัวหน้าโจรก็จะดักฆ่านางตรงหน้าประตูวัดนั้นเอง
เมื่อพวกโจรเข้าบ้านได้แล้ว ก็เปิดประตูห้องเก็บสมบัติ ขนแก้วแหวนเงินทองกันใหญ่ สาวใช้เห็นพวกโจรเข้ามา จึงรีบไปบอกอุบาสิกา ซึ่งกำลังนั่งฟังธรรมจากพระลูกชายอยู่ที่วัด แทนที่นางจะรีบกลับบ้าน กลับบอกว่า ใครจะขนเอาอะไร ก็เอาไปเถิด ฉันจะฟังธรรม เจ้าอย่ามาทำให้ฉันเสียอารมณ์ ในการฟังธรรมเลย
ครั้นพวกโจรขนสมบัติจากห้องหนึ่งแล้ว ก็เปิดห้องเก็บสมบัติอีกห้องหนึ่ง สาวใช้รีบกลับมาบอกอุบาสิกาอีกเป็นครั้งที่สอง อุบาสิกาก็ยังพูดเหมือนเดิม ไล่สาวใช้กลับบ้านไป ไม่ใส่ใจกับเงินทองเหล่านั้น ยังนั่งฟังธรรมเฉย เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนพวกโจรขนเงินทองของมีค่าออกจากบ้านไปจนหมด สาวใช้ทนไม่ไหว รีบไปแจ้งนายอีก อุบาสิกาเกิดความรำคาญ จึงดุไปว่า เจ้ามารบกวนฉันหลายครั้งแล้ว ทำให้ฉันฟังธรรมไม่ต่อเนื่อง โจรจะขนอะไรไป ก็ให้เอาไปตามชอบใจเถิด ฉันจะฟังธรรม
ฝ่ายหัวหน้าโจรซึ่งแอบฟังอุบาสิกาอยู่ เกิดความเลื่อมใส อย่างท่วมท้นในความเด็ดเดี่ยว มีใจแน่วแน่ในการฟังธรรมของนาง จึงคิดว่า ถ้าหากพวกเราเอาทรัพย์สินของอุบาสิกาผู้มีคุณธรรม สูงเช่นนี้ไป สายฟ้าคงจะฟาดลงกลางกระหม่อมของเราแน่ หัวหน้าโจรรีบกลับไปสั่งลูกน้อง ให้ขนสมบัติเข้าไปเก็บไว้ในบ้านดังเดิม
พวกลูกน้องโจรต่างงงไปตามๆ กัน แต่เชื่อในคำสั่งหัวหน้า จึงพากันขนสมบัติกลับเข้าไปเก็บ จากนั้นพวกโจรทั้งหมดพากันไปฟังธรรมที่วัด เพื่อว่าอุบาสิกาฟังธรรมอะไรอยู่ ทำไมนางจึงสละได้แม้กระทั่งสมบัติ
เมื่อไปถึงวัด พวกโจรต่างตั้งใจนั่งฟังธรรมตลอดคืน จนกระทั่งเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ขณะฟ้าสาง มหาโจรทั้งหมดได้เข้าถึงไตรสรณคมน์ ขอบวชเป็นพระภิกษุในเช้าวันนั้นทันที และภายหลังได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันทั้งหมด ส่วน มหาอุบาสิกาก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
จะเห็นได้ว่า ถ้ารักธรรมะจริงๆ แม้จะสูญเสียทรัพย์สมบัติไปเท่าไรก็ยอมแลกได้ โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคใดๆ นี่หากมหาอุบาสิกาท่านนี้ เลิกฟังธรรมแล้วกลับบ้าน นอกจากจะไม่ได้บรรลุธรรมแล้ว ยังต้องถูกโจรฆ่าอีก ไม่ได้ทั้งโลกิยทรัพย์ และอริยทรัพย์ แต่เพราะใจปักแน่นในการฟังธรรมอันประเสริฐ ไม่ยอมให้มหาโจรที่มาปล้นบ้านเป็นอุปสรรคในการฟังธรรม นางยอมที่จะสละทรัพย์ภายนอก เพื่อให้ได้มาซึ่งอริยทรัพย์ภายใน ทำให้โจรเกิดจิตเลื่อมใส หันมาประพฤติปฏิบัติธรรม ตามนาง จนได้บรรลุธรรมกันทั้งหมด ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเสมอ
เพราะฉะนั้น การให้โอกาสที่สำคัญแก่ตัวเราเอง ในการทำสิ่งที่ดีที่สุดนั้น เราจะรอคอยความพร้อมทุกอย่างไม่ได้ เพราะความพร้อมต่างๆ ในโลกนี้ยังไม่มี มีแต่เราต้องสร้างความพร้อมขึ้นมา เราเป็นนักสร้างบารมี ต้องพร้อมเสมอต่อการทำความดี เพราะเราเกิดมาเพื่อสร้างความดีเท่านั้น การทำมาหากิน เราทำไปเพื่อมีทรัพย์ไว้หล่อเลี้ยงชีวิต และ ครอบครัว แต่เป้าหมายหลักของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ การสร้างบุญบารมีเพื่อขจัดอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป
เราต้องรู้จักศาสนา เราจะไม่ได้ทะเลาะวิวาทกัน เราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ไม่ต้องไปสงสัยว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี มันจะพัฒนาไปอย่างนี้ สังโยชน์มันลึก โยชน์หนึ่งมันก็ยาว 16 กิโลเมตร สังโยชน์ 10 ความกว้างมันก็เท่านั้น ความลึกมันก็เท่านั้น มันลึกนะ ตัวตนความยึดมั่น ยิ่งกว่าภูเขา แก้ที่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง หยุดเลยอย่าไปทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก นี้เป็นความหมายของคำว่าศาสนา ความหมายคือการประพฤติปฏิบัติ ทุกท่านก็จะได้มีความสุข ไม่เผาตัวเอง ทั้งกลางวัน กลางคืน เราแก้ง่ายๆ อย่างนี้ จะได้ไม่วิ่งตามความคิดตามอารมณ์ เราปฏิบัติอยู่บ้านเรา เราพัฒนาไปอย่างนี้ๆ คนอินทรีย์บารมีแก่ก็จะไปตามลำดับเอง เพราะอันนี้เป็นทางออกของเราทุกๆ คน เราต้องรู้จักความเป็นพระ ทำอย่างนี้มันถึงจะเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่ว่างจากโลกนี้ อยู่ที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน พวกนั้นมันเป็นแบรนด์เนมเฉยๆ การประพฤติปฏิบัตินี้ถึงสำคัญ…
“สักวันหนึ่ง เราต้องกลับไปเป็นดิน ให้คนอื่นเหยียบ จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "แผ่นดิน" เพราะว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ไม่เคยโกรธใครทำอะไรใครเลย
จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "น้ำ" เพราะธรรมดาของน้ำย่อมเป็นของสะอาด ชำระล้างสิ่งของสกปรกได้ทุกเมื่อ และเป็นของดื่มกินเพื่อยังชีวิตได้ ช่วยเหลือแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงทำ "ตน" ให้เหมือน "ผ้าเช็ดเท้า" เพราะธรรมดาของผ้าเช็ดเท้า ย่อมไม่มีความรักความชังต่อใคร แม้ถูกเหยียบย่ำ ทุกคนเช็ดเท้าได้ แม้จะสกปรกมาจากไหน
ใจเราก็ทำเหมือนกัน ฉันนั้น เมื่อเราตั้งใจฝึกฝนอบรมได้เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็มีแต่ความสุข ความทุกข์ในใจก็จะไม่เกิด ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง" จิตที่ฝึกฝนมาดีแล้วนำมาซึ่งความสุข