แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๔๙ ศึกษาปฏิบัติเพื่อตัดเชือกสังโยชน์ ที่รึงรัดมัดผูกใจไว้ในวัฏสงสาร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนที่เสีย เพราะเรายังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เพื่อนเรายังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เพราะเราจำเป็นต้องที่จะอยู่กับทุกๆ คน เราต้องมีภูมิต้านทาน เพราะสิ่งเเวดล้อมนี้ก็เป็นโควิดคือเป็นเชื้อพาล อย่างเราไปเรียนหนังสือก็ย่อมไปเจอเพื่อน เพื่อนรุ่นพี่ รุ่นเดียวกัน รุ่นน้อง เราไปทำงานก็ต้องเจอ รุ่นเจ้านาย เจอเพื่อน เจอรุ่นน้อง เราไปอยู่ใกล้ใครก็จะไปเป็นอย่างนั้น เราอยู่กับตัวเอง เราก็ต้องรู้จักตัวเอง เพราะตัวเองที่เวียนว่ายตายเกิด เพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ การเกี่ยวข้องกับสิ่งเเวดล้อมที่เป็นภายนอกที่เกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์กับสิ่งภายนอก เเล้วภายในใจของเรา ให้ทุกคนมารู้จักตัวเอง ความคิดเก่าๆ กรรมเก่าๆ เค้าจะผุดขึ้นมาในใจ เพราะสิ่งที่นำเราเวียนว่ายตายเกิด นำเราสู่อบายมุขอบายภูมิ มันอร่อย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงย้ำเตือนว่า "น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเม บุคคลไม่ควรคบมิตรเลว ไม่ควรคบคนต่ำช้าเลวทราม ควรคบกัลยาณมิตร ควรคบบุรุษผู้สูงสุด"
พระพุทธเจ้าถึงให้เราพัฒนาวิทยาศาตร์ เเละพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ต้องรู้จัก อย่าไปหลงรส มีรสเเล้วก็มีชาติ เราต้องสังเกตดูเอง ถ้าเราไม่รู้จักตัวเองมันก็ไปเรื่อย กรรมเก่าของเรามันมีอยู่เเล้ว เเต่มันจะต่อเติมเอากรรมใหม่ พระพุทธเจ้าให้เรารู้จัก ไม่ให้เราทานหวานมากเกิน มันจะตามอารมณ์ไป อย่าทานมันมากเกิน อย่าทานเค็มมากเกิน เเม้เเต่ทานอาหารไม่ให้ทานอิ่มเกิน ต้องเบรค ส่วนใหญ่เราทุกคนจะทำอะไรอย่างสุดเหวี่ยง กินเผ็ดสุดเหวี่ยง หวานสุดเหวี่ยง มันสุดเหวี่ยง เราบริโภคเพราะความหลง ให้ทุกคนพากันรู้จัก เมื่อรู้จักเเล้วเราก็ปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องกัน จนกว่าเราจะหมดลมหายใจ เราลองคิดดูดีๆ คนที่ได้เป็นสามีภรรยา คือคนที่ได้เจอกันรู้จักกัน คนเรามันต้องเริ่มจากความคิดก่อน ที่มาพูดย้ำเเล้วย้ำอีก เพื่อที่จะให้เข้าใจจะได้เห็นความสำคัญในการประพฤติการปฏิบัติ ถ้าไม่อย่างนั้นมันไปไม่ได้หรอก เพราะว่าผู้ที่จะบำเพ็ญเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ตั้งหลายๆ ล้านคนก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าหรอก ผู้ที่บำเพ็ญเพื่อที่จะเป็นพระอรหันต์ หลายล้านคนก็ไม่ได้เป็นหรอก ถ้าไม่ได้ปฏิบัติจริง
ทุกๆ คนเสียคนเพราะความเคยชินของตัวเอง ที่ชอบทำอะไร คนเรามันจะมีจิตใต้สำนึกที่เป็นตัวเป็นตน มันจะคิดขึ้นมา เค้าเรียกว่ามันฝังลึกยิ่งกว่าเสาเข็ม เเต่สังโยชน์ของอันนี้มันฝังลงในสัญชาตญาณเรา หลายสิบโยชน์ สังโยชน์ ๑๐ มันฝังลงไปลึก ลึกเท่าไหร่ มันสังโยช ๑๐ มันก็ต้องลึก ยากที่จะถอนอวิชชาตัวตนได้
อย่างไปธุดงค์ที่จะเสียเพราะไปเพลิดเพลินไปตามใจ คล้ายว่าไปทัศนาจร ไปดูบ้านนั้นเมืองนี้ มีความสุขในการทำอย่างนั้น ไม่ได้พัฒนาใจ จะไปหน้าเหี่ยวหน้าเเห้งตอนฉัน ถ้าพระฉันอาหารมังสวิรัติ มันไม่มีอาหารตามใจ มีเเต่ข้าวเปล่าๆ มีขนมนิดๆ หน่อยๆ พวกนี้จะหน้าเสีย ใจเสียตอนนั้น เพราะว่ามันไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ประธานสงฆ์ไม่พาฉันอาหารธรรมดา เค้าพูดให้ฟัง ผู้ปฏิบัติธรรมถึงต้องเน้นที่จะฝึกใจของตัวเอง เพราะว่าเราต้องไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ของตัวเองมุ่งปฏิบัติ เพราะเราจะไม่ได้ทำสุดโต่งสองทาง ไปทางทรมานกาย ทางทำตามกิเลส เราจะไปกลางๆ เราพัฒนาใจของเราไปอย่างนี้ เราไปเดินธุดงค์อย่างนี้ ถึงหรือว่าเรารักษาศีล ถึงจะรู้จักความหมายของคำว่าศีล เพราะอันนี้มันเรื่องจริง เพราะใจของผู้ที่เดินธุดงค์ หรือ ถือศีลมันจะไม่มีความสุข เพราะไม่ได้ให้อาหารกิเลส คือความหลง เดินธุดงค์ก็ทุกข์ไปเเล้ว ถ้าเราไม่ได้รู้จักการทำใจ ต้องเเก้ใจเข้าหาความทุกข์ยาก เดินไปก็ทุกข์ไป ทำไมมันเดินเหนื่อยอย่างนี้ เเดดก็เเดด เหนื่อยก็เหนื่อย หิวก็หิวอะไร มันจะทุกข์ไปเรื่อย ถ้าผู้ที่มุ่งมรรคผลนิพพาน ก็โอ้... ดีเราจะได้ฝึกใจของเรา เราจะได้ทำจิตใจของเราให้สงบ เราจะได้เเก้จิตใจ เราจะได้พัฒนาใจ เพราะเราหลงมาหลายภพ หลายชาติ การรักษาศีลของเราทุกคน ถ้าไม่มีศีลมันก็ไม่มียานที่จะออกจากวัฏฏะสงสาร ถ้าไม่มีธุดงค์ มันก็ไม่มียานที่จะออกจากวัฏฏะสงสาร อย่าไปเสียคนเพราะตามใจ จะเป็นคนวิบัติ ไปทำลายศีลของตัวเอง ไปทำลายพรหมจรรย์ของตนเอง เพราะสังเกตดูไปกฐินสองปีสามปีอยู่วัดหนองป่าพง มันเป็นอย่างนี้ ดูพรรคพวกของตัวเอง มันโอ้ย... ทำไมมันไม่มีสติเสียเลย มันกิเลสมาก มันไม่รู้ปฏิบัติเลย พวกนี้เดินไปทุกข์ไป มันไม่มีความสุขเดินธุดงค์ พาเดินวันละ 40 กิโล 50 กิโล พอถึงเเล้ววางบาตรก็หลับไปเลย เพราะว่ามันไม่มีความสุข เพราะใจไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ถ้าอยู่กับปัจจุบัน เราเดินมากี่สิบโลมันก็ทิ้งอดีตไปเเล้ว สดชื่นเบิกบาน เเล้วพระอริยเจ้าท่านจะไม่ตื่นเต้นตามสิ่งแวดล้อม ตามอาหาร ถ้าท่านเป็นพระผู้น้อยท่านจะฉันหมดในบาตรทุกครั้ง ถ้าท่านเป็นพระผู้ใหญ่ เค้าก็วางไว้หน้าท่านเฉยๆ ถ้าไม่ทำอย่างนั้นโยมที่มาถวายเค้าก็เครียด ตอนเช้ามาตักอาหารในโต๊ะถึงพากันงงไปหมด เพราะว่าใจมันสั่นระรัว
พระกรรมฐานที่ยังตามใจเพราะเรื่องกิน เรื่องเงิน เรื่องลาภสักการะ เสียเพราะน้ำปานะ เสียเพราะโยมถวายเงินถวายปัจจัย หลงประเด็นว่าจะเอาพระนิพพาน บวชนานนิพพานหายเลย พระพุทธเจ้าให้ฉันเพียงครั้งเดียวก็ทิ้งไปเลย ไม่ให้เก็บอะไร ต้องให้ใจเป็นปัจจุบัน เราไม่ยอมตัดกรรม ไม่ตัดผลของกรรม ผลปรากฏมันก็เลยต้องเป็นอย่างนี้ๆ
ที่เราปล่อยใจของเรา ปล่อยอารมณ์ของเรามันเสีย ที่เห็นอยู่ชัดๆ เราจะคิดอะไร ก็ปล่อยให้เราคิดอย่างนี้นะ แล้วจะมองเห็นชัดเจน อย่างพระวัดป่า วัดกรรมฐาน สายหลวงปู่ชา สมัยแต่ก่อนเคร่งครัด แจกอาหารกันในพรรษานิดเดียว ฉันกันพอประทังชีวิต ถ้าเอามากผู้ที่เป็นแม่ชีและประชาชนเขาก็จะไม่ได้ทานกัน เมื่อออกพรรษา เวลากฐินจะช่วยกันทอดกฐิน วัดนั้น วัดนี้ มันจะเสียเพราะว่าอาหารวัดนั้นมันเยอะ อาหารนั้นเป็นหม้อ เป็นเข่ง ให้พระเอาเอง แทบทุกรูปก็สุดเหวี่ยงเลย ที่นี้ก็จะเห็นพระกรรมฐานสายครูบาอาจารย์ที่พระเขาพรรษาค่อนข้างมาก พรรษาสิบกว่าขึ้นไป ปกติกรรมฐานเขาฉันในบาตร อะไรก็ฉันในบาตร อันนี้มันตามใจตัวเอง มีย่ามใหญ่ๆ ทำไมย่ามมันใหญ่ๆ เขาเอาใส่ถ้วย บางองค์ก็มีถ้วย 2 ใบ 3ใบ เอาไว้ตักอาหารดีๆ ใส่ถ้วย อย่างนี้มันทำให้เสีย ทำให้มันสุดโต่ง เพราะว่าถ้าพระใหญ่ๆ จริง ท่านก็ไม่มีอะไร เพราะว่าอาหารวางอยู่ตรงหน้าท่านก็เยอะ แล้วเจ้าอาวาสที่ฝึกกับครูบาอาจารย์ดีๆ ไปเสียคน เพราะทำตามใจ ตามอารมณ์ เพราะตัวเองเป็นสามัญชน ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ไปทำตามใจ ตามอารมณ์ ทุกคนก็อยากเป็นประธานสงฆ์ แต่เป็นไปเพื่อที่จะตามใจตัวเอง อย่างนี้เสียหาย พระวินัยเล็กๆ น้อยๆ ก็จะไม่ถือละเอียด ทั้งที่เราเห็นภายนอกมันขาดตกบกพร่อง ทางภายในมันก็ยิ่งไปใหญ่
แล้วทำไมถึงว่าไปเสียพระกรรมฐานไปเสียตอนสอบนักธรรม เพราะปกติเราจะคิดอะไรก็ไม่กล้าคิด เราจะพูดอะไรก็ไม่กล้าพูด กลัวผิดศีล เวลาไปสอบมันความรู้รอบโต๊ะ นักธรรมตรี โท เอก สนามบ้านนอก หรือ สนามตำบล อำเภอ จังหวัด พระกรรมฐานไปที่นี้ บางทีก็ทำข้อสอบไม่ได้ ทีนี้ก็เอามาจากกรรมการบ้าง เอาจากความรู้รอบโต๊ะ มันทำลายตัวเอง โดยที่ไม่รู้ตัว ถ้าสอบเปรียญธรรมสูงๆ ๕ ประโยคขึ้นไปก็เคร่งครัดขึ้นไปอีกเพราะไปสอบในส่วนกลางที่ กทม.
คนเราถ้าเราไม่ได้วางความคิดของเรา ถ้ามันได้คิดครั้งหนึ่งหรือสองครั้งมันจะไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป คนเราถึงไปไม่ได้ เพราะว่ามันมีเซ็กส์ทางความคิด มีเซ็กส์ทางอารมณ์ เหมือนกับพวกที่ผิดพระวินัยเล็กๆ น้อยๆ อย่างในย่ามมันมียาอยู่ไม่ละเอียดไม่ได้ประเคน หรือว่าของนิดๆ หน่อยๆ มันไม่ละเอียด พวกนี้มันจะทำลาย ถึงมีปัญหาอย่างพระป่วยหมอก็บอกว่ายานี้ 3 เวลา เวลาทานต้องทานอาหาร ที่นี้พระไปทานข้าวต้ม มันเลยเสียคนเลย พระผู้เฒ่าเลยติดข้าวต้มตลอดชีวิตเลย เหมือนที่พระเราไปติดรูป ติดเสียง ในเรื่องโทรศัพท์ ในคอมพิวเตอร์ ในโทรทัศน์ มันแย่เลย ถ้าไม่เข้าใจเรื่องอริยสัจ ๔ มันจะเสียหายมาก มันจะทำลายมรรคผลนิพพานของทุกๆ คน เพราะเรารักษาพระวินัยไม่ใช่เพื่อโลกวัชชะ แต่เพื่อมรรคผล เพื่อพระนิพพาน เหมือนเจ้าอาวาสบางทียังไม่เข้าใจ พระวัดป่าแอบเอาเงินใส่ย่าม มันติดใจใหญ่เลย ถ้าตามพระพุทธเจ้าแล้วมีแต่ก้าวหน้า ผู้ที่ตั้งใจว่าจะบวชไม่สึก มันไม่ได้สึกหรอก ถ้าตามพระพุทธเจ้า ผู้ที่ลาสิกขาบทไปแล้ว ถึงต้องรู้เรื่องจิต เรื่องใจ ไปใจอ่อนไม่ได้ ทุกคนนี้ถึงเป็นเจ้า เจ้าอารมณ์ ทุกคนถึงมีความรุนแรงในเรื่องกิน ทุกๆคน ส่วนใหญ่จะรุนแรงในเรื่องกิน บาปคูณทวีไปเรื่อย คนเขาถึงลงทุนกับปลาสดๆ กินกุ้งสดๆ กินลาบหลู้ ลาบเลือด มันจะรุนแรงไปเรื่อย ใจมันจะเป็นใจซาดิส ที่แท้จริงมันเป็นอารมณ์ของเราที่นำเรามาเวียนว่ายตายเกิด
ทุก ๆ คนเสียคนเพราะความเคยชินของตัวเอง ที่ชอบทำอะไร คนเรามันจะมีจิตใต้สำนึกที่เป็นตัวเป็นตน มันจะคิดขึ้นมา เค้าเรียกว่ามันฝังลึกยิ่งกว่าเสาเข็ม เเต่สังโยชน์ของอันนี้มันฝังลงในสัญชาตญาณเรา หลายสิบโยชน์ สังโยชน์ ๑๐ มันฝังลงไปลึก ลึกเท่าไหร่ มันสังโยช ๑๐ มันก็ต้องลึก ยากที่จะถอนอวิชชาตัวตนได้
ในพระไตรปิฎกให้ความหมาย สังโยชน์ ว่า เครื่องผูกพันน้อยใหญ่ เป็นธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ คัมภีร์อรรถกถาให้ความหมายเอาไว้ว่า เป็นเครื่องผูกพันสัตว์ทั้งหลายไว้ในรถ (คือภพ) ที่แล้วด้วยวัฏฏะทุกข์ เป็นเครื่องพันธนาการ เพราะสังโยชน์เหล่านี้ ย่อมผูก คือตามผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพ อีกนัยหนึ่งย่อมเชื่อมภพไว้ด้วยภพ รวมถึงการผูกมัดบุคคลผู้มีสังโยชน์ไว้ด้วยกรรมและวิบากอันเป็นทุกข์ หรือด้วยลำดับของ ภพ ในภพ กำเนิด คติ วิญญาณ ฐิติ และสัตตาวาส เป็นต้น และยิ่งไปกว่านั้น สังโยชน์ก็ยังสามารถยังสัตว์ให้จมลงในวัฏฏะได้ด้วย
สังโยชน์ เป็นธรรมชาติที่ผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏทุกข์ได้ เหมือนหนึ่งเชือกที่ผูกโยงสัตว์หรือวัตถุสิ่งของไว้ไม่ให้หลุดไป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สํโยเชนฺติ พนฺธนฺตีติ = สํโยชนานิ” แปลว่า ธรรมเหล่าใด ย่อมผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ ฉะนั้นธรรมเหล่านั้นชื่อว่า สังโยชน์ ตามธรรมดาในสันดานของปุถุชนทั้งหลายนั้น ย่อมมีธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่เปรียบเสมือนเส้นเชือกใหญ่ ๑๐ เส้นด้วยกัน ซึ่งทำการผูกมัดสัตว์ทั้งหลายไว้ไม่ให้หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้ เชือก ๑๐ เส้นเหล่านี้ได้แก่สังโยชน์นี้เอง และในบรรดาเชือก คือ สังโยชน์ทั้ง ๑๐ เส้นเหล่านี้ ถ้าหากว่าเส้นหนึ่งเส้นใดมีอาการตึงขึ้นแล้ว สังโยชน์เส้นนั้นก็จะนำสัตว์นั้นให้ไปเกิดในภูมิที่เกี่ยวกับสังโยชน์นั้นๆ โดยอาศัยกรรมที่สัตว์นั้นๆ กระทำขึ้น
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ให้ความหมายของสังโยชน์ไว้อย่างเข้าใจได้ง่ายว่า สังโยชน์ แปลว่า เครื่องผูก, เครื่องล่าม, เหมือนกับโซ่หรือตรวน หรือ ขื่อ หรือ คา, เครื่องล่ามเครื่องผูกเครื่องจำ, สิ่งที่มันผูกจิตใจไว้ ให้ติดอยู่ในกิเลสในความทุกข์ในวัฏฏะ กล่าวคือผูกให้ติดไว้กับสิ่งที่จะเป็นทุกข์, สิ่งที่จะทำให้เกิดทุกข์มันมีสังโยชน์ผูกติดไว้กับสิ่งนั้น เป็นสิ่งผูกพันเต็มที่อย่างพร้อมพรั่ง คือผูกพันไว้กับโลก ให้ติดอยู่กับโลก และผูกเย็บ จิตใจสัตว์ไว้อย่างยิ่งโดยที่ไม่รู้สึกตัว คนเราจะถูกผูกมัดรัดรึงอยู่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า สังโยชน์, สิ่งใดที่ผูกมัดจิตใจได้ สิ่งนั้นเรียกว่าสังโยชน์, แล้วสิ่งที่ผูกมัดจิตใจได้นั้นคือความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ของกู
สังโยชน์เปรียบด้วยเชือกผูกลูกวัวที่หลัก ซึ่งถูกตอกไว้บริเวณคอก คอยเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้ไปไหน แสดงลักษณะของสังโยชน์ที่เข้าไปพัวพันสัตว์ไว้ในภพทั้ง ๓เหมือนเชือกนั้นคอยดึงไว้เป็นชั้นๆ กล่าวคือดึงจากพรหมให้ลงมาสู่ชั้นเทวดา ดึงจากชั้นเทวดาให้ลงสู่อบาย
เปรียบโอรัมภาคิยสังโยชน์ เป็นเครื่องพันธนาการ คือก้อนหินที่ผูกเท้าสัตว์เอาไว้ให้หยุดอยู่กับที่ ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ เป็นอุปสรรคขัดขวางเอาไว้ ไม่ให้พัฒนาตน ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเครื่องฉุดคร่า ให้ตกไปในเบื้องต่ำ ในขณะเดียวกันก็เปรียบอุทธัมภาคิยสังโยชน์เหมือนกับกิ่งไม้ที่บุคคลใช้มือจับไว้ คือการยึดเกาะไว้กับสิ่งซึ่งจะฉุดคร่าเอาไว้เบื้องบน
เปรียบโอรัมภาคิยสังโยชน์ ด้วยเครื่องมือล่าสัตว์ คือเบ็ดที่เกี่ยวปากปลาและ ด้ายยางที่ผูกติดขานก มีลักษณะที่ผูกเย็บสัตว์เหล่านั้นเอาไว้ให้สูญเสียอิสรภาพอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถหนีไปไหนได้ ต้องถูกฉุดรั้งกลับมาในที่สุด สื่อให้เห็นลักษณะของสังโยชน์ในฐานะที่เป็นเครื่องผูก กล่าวคือผูกสัตว์ทั้งหลายเอาไว้ในภพ ผู้ใดยังละสังโยชน์ไม่ได้ ถึงแม้จะมีคติภพสูงถึงชั้นพรหมโลกก็ตาม เมื่อสิ้นอายุในชั้นพรหมนั้นแล้วก็ยังจะต้องมาเกิดในชั้นกามาวจรนี้ และวนเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะสงสารอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ในสังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียดที่ผูกพันเราทั้ง ๑๐ ประการนี้
ประการแรกที่สุดเรียกว่า สักกายทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นว่ากายเป็นของตน; ได้แก่ความเข้าใจผิด สำคัญผิด ว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าร่างกายนี้เป็นของตน สักกายทิฏฐินี้ เป็นกิเลสข้อแรกที่สุด ที่ใครๆ จะต้องละเพื่อการเอาชนะโลก.
สังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียดข้อที่ ๒ เรียกว่า วิจิกิจฉา. วิจิกิจฉาในที่นี้ หมายถึงความสงสัย, คือความรู้มีไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้สงสัยลังเล ไม่กล้าหาญ ไม่แน่ใจ. ความลังเลสงสัยในที่นี้ ส่วนใหญ่ที่สุด ประสงค์เอาความสงสัยลังเลในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ หรือถ้าลดลงมาก็คือ ความสงสัยในความดีความงามความยุติธรรมอะไรต่างๆ.
ที่ว่าส่วนใหญ่หมายถึงความลังเลในเรื่องความพ้นทุกข์นั้น หมายถึงลังเลเพราะไม่รู้ สงสัยก็เพราะไม่รู้แจ้ง และลังเลสงสัยว่าเรื่องนี้มันยังไงกันแน่ เป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในการที่จะปฏิบัติให้พ้นทุกข์ ว่ามันเป็นของที่เหมาะสมแก่ตนหรือไม่, ตนจะทำได้หรือไม่, มันดีกว่าสิ่งอื่นจริงหรือไม่ ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น.
มูลเหตุของความลังเลก็คือความไม่รู้ หรืออวิชชา ซึ่งก่อให้เกิดกิเลสตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง แล้วกิเลสตัณหานั้นก็คอยดึงกระชากไปทางนั้นอยู่เรื่อย จิตจึงเคยชินแต่ในการไหลไปทางต่ำ เหมือนกับปลาที่เคยชินอยู่แต่ในน้ำ ไม่รู้เรื่องบก; พอพูดถึงเรื่องบก มันก็ไม่เชื่อ
ถ้าเชื่อก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เป็นการลังเลอยู่เสมอไป. คนเราที่จมอยู่ในโลกหรือในกามก็เหมือนกัน เคยชินกับกามเหมือนปลาอยู่ในน้ำ เมื่อพูดถึงเรื่องอยู่เหนือกาม เหนือโลก ก็เข้าใจไม่ได้ ส่วนใดที่เข้าใจได้บ้างก็ลังเล.
ทีนี้มาถึงสังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียด ข้อที่ ๓ เรียกเป็นบาลีว่า สีลัพพตปรามาส แปลว่าการจับฉวยศีลและวัตร ผิดความมุ่งหมายที่ถูกต้อง. เรื่องนี้ได้อธิบายไปมากแล้ว เมื่ออธิบายเรื่อง สีลัพพตุปาทาน ในการบรรยายอันว่าด้วยอุปาทาน ๔ ประการ. เมื่อกล่าวโดยใจความ สีลัพพตปรามาส ก็คือการติดแน่นยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยความเข้าใจผิด ในสิ่งที่ตนเห็นว่าดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุด. ความเข้าใจผิดในการปฏิบัติเช่นนี้ ส่วนมากที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับลัทธิศาสนา แต่อาจกินความรวมไปถึงเรื่องที่ไม่ใช่ศาสนาก็ได้ แล้วยึดมั่นไว้ด้วยความเข้าใจผิด คงปฏิบัติสิ่งนั้นๆ อยู่จนบัดนี้ด้วยความเข้าใจผิด ตัวอย่างเช่นเข้าใจผิดในเรื่องทางไสยศาสตร์ และการปฏิบัติอย่างไสยศาสตร์ต่างๆ ซึ่งไม่อาจเลิกถอนได้ นี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาสโดยไม่ต้องสงสัย. แม้เป็นเรื่องของศาสนา เช่นการปฏิบัติตามวิธีที่สอนอยู่ในศาสนา แต่ถ้าปฏิบัติไปด้วยความเข้าใจผิดว่าจะเกิดความขลัง เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา แล้วก็คุ้มครองเราได้ อย่างนี้ก็ยังเรียกว่าเป็น สีลัพพตปรามาส อยู่นั่นเอง.
สำหรับสังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียดข้อที่ ๔ ที่เรียกว่า กามราคะ ความย้อมจิตในกามนั้นได้อธิบายไว้อย่างมากแล้ว ในที่นี้ขอให้ทำความเข้าใจว่ากิเลสชื่อนี้ เป็นสิ่งที่มีประจำอยู่ในใจสัตว์อย่างเหนียวแน่น ราวกะว่าแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวจนยากที่จะเข้าใจได้ ยากที่จะล้างออกได้สำหรับคนธรรมดา, สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ชั้นไหน ประเภทไหน ลักษณะอย่างไรก็ตาม เรียกว่า กาม ในที่นี้. ความที่จิตยังย้อมติดอยู่ด้วยความพอใจในกามเช่นนั้น เรียกว่า กามราคะ ได้ทุกวิถีทาง.
ส่วนสังโยชน์หรือกิเลสชั้นละเอียดข้อที่ ๕ ที่เรียกว่า ปฏิฆะ นั้น เป็นความกระทบกระทั่งแห่งจิตฝ่ายที่รู้สึกไม่พอใจ. ถ้าพอใจก็จัดเป็นกามราคะ ไม่พอใจจึงเป็นปฏิฆะ. ความรู้สึกส่วนมากของคนเรามีอยู่อย่างนี้.
กิเลสหรือสังโยชน์ถัดไปอีก ๕ อย่างภาคสูงนั้นคือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา.
สำหรับ รูปราคะ อันเป็นสังโยชน์ข้อที่ ๖ นั้น หมายถึงความรักความพอใจ ในความสุขที่เกิดมาแต่ในรูปสมาบัติ เหมือนที่เป็นแก่สัตว์ที่ตั้งอยู่ในรูปาวจรภูมิเป็นประจำ. พระอริยเจ้าชั้นต้นๆ ๓ จำพวก ไม่สามารถจะละความสุขความพอใจที่เกิดแต่รูปฌาน หรือรูปสมาบัติได้. พระอริยเจ้าบางประเภทในขั้นต้นๆ เหล่านั้น บางพวกเกิดในรูปาวจรภพก็ยังมี. พระอริยเจ้าทั้ง ๓ ชั้นข้างต้นที่เกิดที่เกิดอยู่ในมนุษย์โลกนี้ บางท่านอาจยังพอใจความสุข อันเกิดแต่รูปฌานอย่างถอนไม่ขึ้นก็มี; แต่จะต้องถอนได้ในเมื่อเลื่อนมาถึงพระอริยเจ้าชั้นสุดท้าย คือพระอรหันต์, ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความสงบสุขเยือกเย็นอันเกิดมาแต่รูปฌานนั้น ก็มีรสชาติที่จับอกจับใจ ถึงกับจะพอเรียกได้ว่าเป็นพระนิพพานชิมลองดูก่อน เป็นพระนิพพานล่วงหน้า มีรสอย่างเดียวหรือทำนองเดียวกับรสของพระนิพพานที่แท้จริง หากแต่ว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เป็นเรื่องที่เป็นไปในระหว่างที่ กิเลสสงบระงับเพราะอำนาจของฌานไม่ใช่กิเลสสูญหายเหือดแห้งไป. ครั้นหมดกำลังของฌาน กิเลสก็กลับปรากฏอีก. ขณะที่กิเลสสงบระงับอยู่ด้วยอำนาจของกำลังฌานไม่รบกวนจิต จิตนี้ก็ว่างโปร่งเป็นอิสระ มีรสชาติคล้ายกับรสเกิดแต่นิพพานแท้จริงเหมือนกัน ฉะนั้น จึงเป็นที่ตั้งของความหลงใหลได้ง่าย และยากที่จะละได้สำหรับพระอริยเจ้าชั้นต้นๆ ๓ พวกนั้น ถึงกับต้องมาละได้เด็ดขาดในพระอริยเจ้าชั้นสุดท้าย.
ทีนี้ สังโยชน์หรือกิเลสอันละเอียดข้อที่ ๗ ที่เรียกว่า อรูปราคะ นั้น หมายถึงความพอใจติดใจ ในความสุขที่เกิดมาแต่อรูปสมาบัติ. เรื่องต่างๆ คล้ายๆ กับข้อที่ ๖ ผิดกันแต่ว่าชั้นนี้ละเอียดประณีตสุขุมลงไปอีกชั้นหนึ่ง. การเจริญฌานโดยมีสิ่งที่มีรูปเป็นอารมณ์สำหรับกำหนดนั้น ย่อมได้ความสงบที่เนื่องอยู่กับรูปนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงหยาบกว่าการเจริญฌานอันกำหนดเอาสิ่งที่ไม่มีรูป เช่นอากาศหรือความว่างเปล่าเป็นต้นมาเป็นอารมณ์. การเอาความว่าง เอาวิญญาณธาตุ เอาความไม่มีอะไร เอาความไม่มีความรู้สึกตัว ทั้ง ๔ อย่างนี้ แต่ละอย่างๆ มาเป็นอารมณ์นั้น ได้ผลเป็นความสงบเงียบยิ่งไปกว่า และเรียกว่าอรูปฌาน. เพราะความสงบที่เกิดจากอรูปฌาน ประณีตกว่า สุขุมกว่า ลึกซึ้งกว่า ถ้าใครเข้าถึงก็จะติดใจกว่าความสงบที่เป็นรูปฌาน ท่านจึงจัดไว้ในลำดับหลังจากรูปฌาน และเรียกว่า อรูปฌาน. ถ้ามีความพอใจแน่นแฟ้นหลงใหลในความสุขชนิดนี้ก็เรียกว่า อรูปราคะ.
ทีนี้ ถัดไปถึงกิเลสชั้นละเอียดหรือเครื่องผูกสัตว์ให้ติดอยู่ในโลก ข้อที่ ๘. ข้อนี้เรียกว่า มานะ ได้แก่ความรู้สึกสำคัญตัวว่าเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นชั้นเป็นเชิง คือเป็นความดีความเลว ความเสมอกัน เป็นความรู้สึกเกิดขึ้นมาว่า เราเลวกว่าเขา เราเสมอๆ กันกับเขา เราดีหรือสูงกว่าเขาเป็นต้น. ฉะนั้นท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่ามานะในที่นี้ มีความหมายกว้างกว่าคำว่า มานะ ในภาษาไทย ซึ่งหมายถึงแต่มานะทิฏฐิจะแข่งขันคนที่ดีกว่า. มานะที่เป็นชื่อของกิเลสในที่นี้นั้น หมายถึงความสำคัญในทางเป็นชั้นเป็นเชิง คือถ้ารู้สึกว่าตนเลวกว่า ก็น้อยใจ รู้สึกว่าตนดีกว่า ก็ทะนงใจ รู้สึกว่าเสมอๆ กัน ก็นึกไปในทางที่จะแข่งขัน หรือทำตนให้ก้าวหน้ากว่า ทำนองนี้เป็นต้น. กิเลสชื่อนี้มาอยู่ในอันดับที่ ๘ เกือบสุดท้ายเช่นนี้ย่อมหมายความว่ามันละยากจึงมาอยู่แทบจะรั้งหลังสุด ซึ่งพระอริยเจ้าชั้นสูงสุดเท่านั้นที่จะละได้. พระอริยเจ้าในชั้นต้นทั้ง ๓ ชั้น แม้แต่จะจัดไว้เป็นฝ่ายโลกุตตระแล้วก็ตาม ก็ยังละมันไม่ได้;
ส่วนกิเลสชั้นละเอียดหรือสังโยชน์ข้อที่ ๙ เรียกว่า อุทธัจจะ อุทธัจจะนี้ แปลว่าความกระเพื่อม ความฟุ้งหรือความไม่สงบอยู่ได้ โดยใจความได้แก่ความรู้สึกที่ฟุ้ง หรือกระพือขึ้นในเมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นที่ตั้งแห่งความสนใจผ่านมา. ขอให้เพ่งเล็งตรงที่ว่าจิตกระเพื่อมไปตามอำนาจของสิ่งที่ยั่วความสนใจ. คนเราย่อมมีกิเลส มีความต้องการอะไรๆ อยู่ประจำใจ โดยเฉพาะก็คือตัณหา อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น อยากไม่เอา อยากไม่เป็น เหล่านี้ เมื่อมีสิ่งใดผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย มา ในลักษณะที่ตรงจุดของตัณหาชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ความฟุ้งขึ้นหรือความกระพือขึ้นของจิต ย่อมจะมีเป็นธรรมดา. เรียกกันโดยถ้าโวหารภาษาไทยธรรมดา อาตมาเห็นว่ามันตรงกับภาษาไทยที่เราเรียกกันคำหนึ่งว่า “ความทึ่ง”.
พระอริยเจ้า ๓ ประเภทข้างต้น ก็ยังมีความทึ่งหรือความสนใจในบางสิ่งบางอย่าง. แต่ขั้นสุดท้าย คือพระอรหันต์แล้ว ย่อมไม่มีความทึ่ง ไม่มีความสนใจในสิ่งใดเลย, เพราะเหตุว่าบัดนี้ จิตใจของท่านหมดความกระหายอยากในสิ่งทั้งปวง หมดความกลัวในสิ่งทั้งปวง. เพราะท่านหมดกิเลสสิ้นเชิงอย่างเดียวเท่านั้น จึงหมดความอยาก หมดความเกลียด หมดความกลัว หมดความวิตกกังวล ความระแวง ความสงสัยอยากรู้อยากเห็นในสิ่งทั้งปวง ท่านมีจิตที่เป็นอิสระ ไม่มีอะไรมาล่อหรือยั่วให้เกิดความทึ่งหรือความสนใจ ไม่ว่าจะมาในรูปยั่วให้ยินดีหลงรัก หรือมาในรูปยั่วให้ยินร้าย ยั่วให้โกรธ หรือให้เกลียด ให้กลัว ล้วนแต่ไม่มีความหมาย, เพราะจิตในส่วนลึกนั้น หมดความต้องการโดยประการทั้งปวง จึงจะได้หมดข้อสงสัยโดยประการทั้งปวง.
สังโยชน์หรือกิเลสข้อที่ ๑๐ อันเป็นข้อสุดท้ายนั้น ท่านเรียกว่า อวิชชา. อวิชชานี้เป็นที่รวมหมดของบรรดากิเลสทั้งหลาย ที่ไม่ระบุไว้เป็นอย่างอื่นในเก้าอย่างที่กล่าวมาแล้วด้วย. คำว่า อวิชชา นี้ แปลว่า ความไม่รู้ หรือภาวะที่ปราศจากความรู้. การแปลว่าความไม่รู้นี้ มีทางทำให้เกิดความเข้าใจผิดบางอย่างได้ แต่ถ้าแปลว่าภาวะที่ปราศจากความรู้ ก็เป็นการถูกต้องกว่า, เป็นคำที่รัดกุม กันความเข้าใจผิดได้มากกว่า. สำหรับความรู้ที่ประสงค์ในที่นี้ หมายถึงความรู้จริง คือไม่ใช่รู้ผิดหรือรู้เท็จ ฉะนั้นจึงไม่มีการพูดถึงความรู้ผิดรู้ถูกกันอีกแล้ว. เมื่อมีความรู้ ก็หมายถึงความรู้ถูก. ถ้าปราศจากความรู้ ก็คือมืดหรือไม่มีความรู้ ซึ่งโดยพฤตินัยก็ได้แก่ความรู้ผิดนั่นเอง เพราะว่าตามธรรมดาสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลาย จะอยู่โดยไม่มีความรู้สึกอะไรเลยนั้นเป็นไปไม่ได้, เพราะฉะนั้นเขาต้องมีความรู้สึกที่เป็นความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ. แต่ถ้าความรู้นั้นเป็นความรู้ผิด ก็มีค่าเท่ากับไม่รู้, คนธรรมดาเราจึงมีอวิชชา คือไม่รู้ หรือรู้ผิดซึ่งมีค่าเท่ากับไม่รู้กันอยู่เป็นประจำ จึงมืดมนต่อปัญหาสำคัญที่สุดของมนุษย์เรา คือปัญหาที่ว่าอะไรเป็นความทุกข์ที่แท้จริง? อะไรเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ที่แท้จริง? อะไรเป็นความไม่มีทุกข์จริง? และอะไรเป็นหนทางหรือวิธีซึ่งจะให้ได้มาซึ่งความไม่มีทุกข์นั้น?
อวิชชา เป็นความไม่รู้ หรือรู้ผิด ทำให้หลง สำคัญผิดในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นความสุขไป จนถึงกับพอใจเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์; และ สำคัญผิดในเหตุของความทุกข์ จนไปค้นหาเหตุผิดไป หรือเกิดความโง่เขลาใหม่ๆ ขึ้นมา เช่นไปโทษผี โทษสาง โทษเทวดา โทษอะไรต่างๆ ว่า เป็นเหตุให้เกิดเจ็บไข้ แทนที่จะรักษาโดยวิธีที่ถูกต้อง ก็ไปนั่งอ้อนวอนผีสางเทวดาอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเป็นอวิชชาในส่วนเหตุของความทุกข์ชั้นต้นๆ ต่ำๆ ที่สุด นี้เป็นตัวอย่าง;
สำหรับ อวิชชาในเรื่องความดับสนิทของทุกข์ไม่มีเหลือนั้น คือไม่รู้เรื่องการดับกิเลสดับตัณหา ซึ่งเป็นต้นเหตุของทุกข์โดยตรง ไปหลงเอาความสงบสุขชนิดที่เกิดมาจากสมาธิหรือฌานสมาบัติ ว่าเป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง คือเป็นนิพพานไป ซึ่งมีอยู่ดาดดื่นในสมัยพุทธกาล และยังคงมีอยู่จนถึงบัดนี้ เพราะมีอวิชชาในเรื่องความดับทุกข์; และยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจถึงกับยึดเอากามารมณ์มาเป็นเครื่องดับทุกข์ ดังที่บางคนได้ยึดเป็นหลักว่า กามารมณ์เป็นของจำเป็น หรือเป็นอาหารชนิดหนึ่งของชีวิต เป็นของจำเป็นเช่นเดียวกับหยูกยา ข้าวปลาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยอย่างบ้านเรือนเป็นต้น. แทนที่จะมีปัจจัยเพียง ๔ อย่าง คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ก็ได้เพิ่มกามารมณ์เข้าไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นปัจจัย ๕ อย่าง อย่างนี้ก็มี. ลัทธิบางลัทธิที่อยู่ในรูปของศาสนา ได้เอากามารมณ์เป็นเครื่องดับทุกข์ก็มีจึงเกิดเป็นลัทธิที่มีการกระทำอันน่าบัดสีลามกอนาจารขึ้นที่วิหารนั้นเอง ดังนี้ก็มี; จึงเป็นอันกล่าวได้ว่าอวิชชาความไม่รู้ในความดับสนิทของความทุกข์นี้ เป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจหรือการกระทำที่แปลกประหลาดวุ่นวาย หรือถึงกับเป็นอันตรายขึ้นในโลกได้. สำหรับ อวิชชาความไม่รู้ในหนทาง ที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์นั้นก็เหมือนกัน หนทางที่ถูกคืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น จนถึงสัมมาสมาธิเป็นที่สุด. แต่คนที่มีอวิชชาเขาไม่อาจจะมองเห็นอย่างนี้ ย่อมทำไปตามอำนาจกิเลสตัณหา คือตามความต้องการของตน หรือมีความเชื่อในวัตถุปัจจัยภายนอก พึ่งผีพึ่งเทวดาไปตามประสาของคนที่ไม่มีศาสนา. แม้เป็นพุทธบริษัทโดยกำเนิดอยู่แล้ว ก็ยังมีหลงไปถึงอย่างนั้นได้. เพราะอำนาจของอวิชชา ทำให้ไม่ยินดีในการจะดับทุกข์โดยอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ไปดับทุกข์โดยการจุดธูปเทียนอ้อนวอนผีสางเทวดา.
อุปมาในพระบาลีบางแห่งนั้น ได้อุปมาอวิชชาว่าเหมือนกับเปลือกหนาที่หุ้มโลกทั้งหมด ไม่ให้สัตว์ได้เห็นแสงสว่างที่แท้จริง. ท่านจัดอวิชชาไว้เป็นกิเลสขั้นสุดท้าย; เป็นอันว่า ต่อเมื่อเป็นอรหันต์จึงตัดกิเลส ๕ อย่างข้างท้ายเพิ่มขึ้น คือตัดรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ซึ่งเป็นการตัดหมดทั้ง ๑๐ อย่าง และเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงสุด,
กิเลสเครื่องผูกพัน ๑๐ อย่างนี้ ผูกพันคนทุกคน หรือสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดที่ติดอยู่ในโลก คนจึงตกอยู่ในวิสัยของโลก และเป็นโลกียภูมิ. ฉะนั้น ถ้าตัดเครื่องผูกพันเหล่านั้นออกไปเสียได้ จิตก็จะค่อยๆ หลุดออกมาจากโลกตามลำดับ. เมื่อตัดได้หมด ก็เป็นอันว่าจิตหลุดออกมาสู่ความอยู่เหนือโลก เป็นโลกุตตรภูมิโดยสมบูรณ์.