แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๔๖ ลดมานะ ละทิฏฐิ สมัครสมานสามัคคีทำความดีร่วมกัน ที่แห่งนั้นย่อมมีแต่ความสุข
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ในวันนี้ทุกท่านทุกคนได้มาร่วมรวมกัน เพื่อเตรียมงานกฐินที่จะได้ทอดถวายในวันพรุ่งนี้ เพื่อความสมัครสมานสามัคคีตามธรรมวินัย ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า บูชาพระอรหันต์ ความสมัครสมานสามัคคีของส่วนสามัญชนก็ได้บุญระดับหนึ่ง ในระดับของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ได้บุญระดับอีกระดับหนึ่ง
ให้ทุกท่านทุกคนรักษาความสงบกัน ดูแลห้องน้ำห้องสุขากัน เราต้องรู้จักบริการผู้อื่น ฝ่ายมหายานเขาถึงว่า บริการผู้อื่นคือบริการตนเอง ถ้าบริการแต่ตนเองเค้าเรียกว่าอุปถัมภ์อุปัฏฐากอวิชชาความหลง ต้องมาปล่อยมาวางมาหยุดความเป็น “เจ้าพ่อเจ้าแม่” ที่ฝังลึกในใจ ที่ทำให้แตกความสมัครสมานสามัคคี ไม่หันหน้ามาคุยกัน ไม่ทำงานกันเป็นทีม คอยแต่จะเลื่อยเก้าอี้กัน แย่งผลงานกัน จึงต้องมาสมาทานตั้งมั่นเพื่อสลายความเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ออกไปจากใจให้ได้ เราก็จะมีความสุขความอบอุ่น ทุกคนก็จะไม่มีปัญหา ครอบครัวจะไม่มีปัญหา
เพราะผู้ที่ทรงเกียรติเกียรติคือผู้ที่เสียสละ ผู้ที่ทรงเกียรติคือผู้ที่มีศีล ผู้ที่ทรงเกียรติไม่ใช่อุปโลกน์เอาได้ ต้องประพฤติปฏิบัติเอาเอง ตำแหน่งแต่งตั้งนั้นเป็นเพียงแค่ผู้ทรงเกียรติอย่างโลกีย์วิสัย ไม่ใช่ธรรมะวิสัย
เราต้องรู้จักว่าความสุขความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ ที่ทุกคนได้เสียสละตัวตนเสียสละความขี้เกียจขี้คร้าน เสียสละเรื่องเงินเรื่องสตางค์เรื่องการทำงาน นี้ถึงเป็นอานิสงส์ใหญ่มีอานิสงส์มาก เป็นความมั่นคงแห่งชาติศาสน์ กษัตริย์ ในงานกฐินคนก็ย่อมมาเยอะ ถ้าไม่เยอะก็ไม่ใช่ความสมัครสมานสามัคคี คนจะรู้จักเราหรือไม่รู้จักเรา ก็ช่างหัวมัน เราต้องมารู้จักตนเอง ว่าต้องเป็นผู้มีศีล เป็นผู้เสียสละ อย่าไปใจอ่อน ให้เป็นสัมมาศีล สัมมาสมาธิ สัมมาปัญญา
กฐินจึงเป็นเรื่องของการถวายผ้า นอกจากนั้นก็เป็นบริวาร ถ้าเป็นปัจจัยก็ถวายเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อให้ทางวัดได้ใช้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอะไรต่างๆ ถวายเป็นของสงฆ์โดยมีไวยาวัจกร เป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่พระจะรับได้ก็คือผ้า การถวายผ้านี้เราก็ต้องถวาย เพราะเป็นอานิสงส์ เราดูตัวอย่างแบบอย่าง ในคราวหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่กุลบุตรลูกหลาน เมื่อได้ฟังธรรมบางท่านได้เป็นพระอริยเจ้า ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ก็จะทรงประทานการบวช ด้วยพระดำรัสของพระองค์เองว่า “เอหิ ภิกขุ สฺวากฺขาโต ธมฺโม จร พฺรหฺมจริยํ สมฺมาทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” บางท่านก็มีบาตรจีวรมาปรากฏด้วยบุญฤทธิ์ของท่าน เช่น พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น บางท่านบาตรจีวรก็ไม่เกิดขึ้น เพราะว่าไม่เคยถวายทาน ไม่เคยถวายผ้าจีวรไว้ เช่น พระพาหิยะทารุจีริยะ เป็นต้น
ในเรื่องการถวายจีวรทาน กฐินทานนี้ ท่านแสดงไว้ว่า ตสฺส จีวรสฺส นิสฺสนฺเทน อิมํ ปสาธนํ ลภิ ฯ นางวิสาขาได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ เพราะอานิสงส์ของการถวายจีวร กล่าวคือ ในกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ นางได้ถวายผ้าสำหรับทำจีวร ถวายด้าย ถวายเข็ม ถวายน้ำย้อมผ้า แก่ภิกษุสงฆ์ (สา กิร กสฺสปสมฺมาสมฺพุทฺธกาเล วีสติยา ภิกฺขุสหสฺสานํ จีวรสาฏกํ ทตฺวา สุตฺตมฺปิ สูจิโยปิ รชนมฺปิ อตฺตโน สนฺตกเมว อทาสิ) นี้คือสิ่งที่นางได้ถวายไว้ก่อน
ส่วนอานิสงส์จีวรนั้น มีหลักอ้างอิงได้ ตามพระบาลีว่า อิตฺถีนํ หิ จีวรทานํ มหาลตาปสาธเนน มตฺถกํ ปปฺโปติ ฯ การถวายจีวรของบรรดาสตรีทั้งหลาย ให้อานิสงส์ด้วยการได้รับเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์
ปุริสานํ อิทฺธมยปตฺตจีวเรน ฯ ส่วนการถวายจีวรของบรรดาบุรุษทั้งหลาย ให้อานิสงส์ด้วยการได้รับบาตรและจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ (อรรถกถาธรรมบท ภาค ๓ หน้า ๕๕)
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ
๑. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี
๒. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๓. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๔. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๕. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ
พระภิกษุด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น "พระ" แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า "สมมุติสงฆ์" พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น "พระ" ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้คือ "พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
๖. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๗. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๘. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๙. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๐. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียว
๑๑. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๒. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายสังฆทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๓. การถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า "การถวายวิหารทาน" แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม "วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน" อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น "โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลา ป้ายรถโดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ" ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน
๑๔. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง (๑๐๐ หลัง) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "ธรรมทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม "การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้รู้ได้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฏฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ"
๑๕. การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "อภัยทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือ "การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู" ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ "ละโทสะกิเลส" และเป็นการเจริญ "เมตตาพรหมวิหารธรรม" อันเป็นข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น พรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง "พยาบาท" ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง อย่างไรก็ดี การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่นๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า "ฝ่ายศีล" เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน ทั้งในการถือศีลด้วยกันเองก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้ คือ
๑๖. การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๕ แม้เพียงครั้งเดียว
๑๗. การถือศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ แม้เพียงครั้งเดียว
๑๘. การถือศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
๑๙. การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้ว รักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาที่มี ศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
๒๐. การอุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อไม่ด่างพร้อย ๑๐๐ ปี ผลบุญยังน้อยกว่า ผู้มีจิตสงบในฌาน แม้เพียงไก่กระพือปีก การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้นที่ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น
ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงทีว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม" ดังนี้ จะเห็นได้ว่าวิปัสสนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม้ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใดแต่ก็ได้กำไรมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทานเหมือนกับกรวดและทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบกับศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนาปัญญา
แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆ ทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแล้วแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุดก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆ ไว้เลย เมื่อเกิดในภพชาติต่อไป เพราะเหตุที่ยังไม่ถึงพระนิพพาน ก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียว ไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย
เราต้องรู้จักบริการผู้อื่น ฝ่ายมหายานเขาถึงว่า บริการผู้อื่นคือบริการตนเอง ถ้าบริการแต่ตนเองเค้าเรียกว่าอุปถัมภ์อุปัฏฐากอวิชชาความหลง จึงต้องรู้จักการ ปฏิสันถาร ได้แก่ การต้อนรับปราศรัยต่อแขกที่มาสู่สำนักตน ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า เป็นหลักธรรมสำคัญสำหรับเจ้าถิ่นที่จะต้องแสดงความเอื้อเฟื้อไมตรีจิตต่อผู้ที่มาเยือนตน ในชั้นของพระวินัยได้กำหนดไว้เป็นบทบัญญัติ ที่บุคคลจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม เรียกว่า "อาคันตุกวัตร" คือ วัตรที่เจ้าถิ่นจะต้องปฏิบัติต่อแขกผู้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือจะเป็นชาวบ้านก็ตาม และในขณะเดียวกันทรงยกย่องสรรเสริญ การปฏิสันถารว่า เป็นปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่ทำให้ผู้ปฏิบัติได้ใกล้มรรคผลนิพพานเข้าไปเสมอ
ดังนั้น เรื่องของปฏิสันถารทั้ง ๒ ประการ จึงเป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติธรรมะ ที่ทรงใช้คำว่า "ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรม" นั่นก็คือการต้อนรับปราศรัยรับรอง ให้เหมาะสมแก่ฐานะ แก่ความจำเป็นของบุคคลที่มาเยือนตน
๑. อามิสปฏิสันถาร - ปฏิสันถารด้วยอามิส คือ สิ่งของ ได้แก่การต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยข้าวปลาอาหาร น้ำดื่ม หรือแม้แต่การให้พักพาอาศัย ให้ที่อยู่ที่อาศัย เป็นธรรมเนียมประการหนึ่ง ซึ่งถือประพฤติปฏิบัติกันในหมู่คนไทย และหมู่คนทั่วๆ ไป อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า "เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" ด้วยวัตถุสิ่งของที่เรียกว่า อามิส
๒. ธัมมปฏิสันถาร - ปฏิสันถารโดยธรรมเป็นการปฏิสันถารโดยธรรม มีการอธิบายกันว่าได้แก่การกล่าวธรรมะให้ฟัง ซึ่งดูไปแล้วก็ไม่ใช่วิธีรับแขก เพียงแต่ใช้ได้ในบางกรณี เช่นว่า คนมาหาพระ มาหาผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ ท่านอาจจะให้คติแนะนำสั่งสอน และบอกกล่าวอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นการบรรยายธรรมให้แขกผู้มาเยือนฟัง ในชั้นนี้จึงน่าจะเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อย่างที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงแสดงพระมติเอาไว้ว่า ได้แก่ การต้อนรับโดยสมควรแก่ฐานะ ของแขกผู้มา ว่าใครควรจะลุกขึ้นยืนรับ ใครควรจะไหว้ หรือใครควรจะออกไปต้อบรับถึงที่ไกล เป็นต้น ตลอดถึงการแสดงความเอื้อเฟื้อให้เหมาะสมแก่ฐานะเหล่าอื่น เช่นว่า คนระดับนี้ควรจะให้นั่งที่ไหน ควรจะใช้ภาชนะอะไรใส่เครื่องดื่มหรืออาหาร ควรเริ่มต้นสนทนาปราศรัยอย่างไร เป็นต้น เพราะการต้อนรับแขกนั้น เนื่องจากแขกที่มาเยือนมีฐานะที่ไม่เหมือนกัน ถ้าแขกเป็นผู้น้อยไปต้อนรับเป็นการใหญ่โตไป ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกกระดากไม่สบายใจ แต่ถ้าแขกผู้ใหญ่ไปต้อนรับไม่เหมาะไม่ควรแก่ฐานะของท่าน เจ้าถิ่นก็เสียเกียรติเสียศักดิ์ศรี กลายเป็นคนไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีในการต้อนรับแขก ท่านที่เป็นแขกอาจจะรู้สึกไม่พอใจ ไม่ชอบใจ กลายเป็นอัปมงคลไป แต่ถ้าหากว่าปฏิบัติต้อนรับแขกให้เหมาะสมแก่ฐานะของผู้มาเยือน ทั้งด้านที่จะพัก ที่จะนั่ง เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่จะนำมาต้อนรับแขก กิริยาอาการ การวางตัวต่อท่านผู้มาเยือนเป็นต้น ให้ปฏิบัติที่มีลักษณะให้เกียรติกับแขกผู้มาเยือน หรือเหมาะสมแก่เกียรติของท่านนี้ก็ชื่อว่าเป็น ธัมมปฏิสันถาร.
“ปฏิสันถาร” ท่านจัดเข้าเป็น ๑ ในสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ ๖ อย่าง ๓ อย่างคือพระรัตนตรัย อีก ๒ อย่างคือ “สิกขา” และ “อัปปมาท” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ “อัปปมาท” (ความไม่ประมาท) เป็นสุดยอดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา
ทำไมท่านจึงจัด “ปฏิสันถาร” ว่าเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเทียบเท่ากับพระรัตนตรัย เทียบเท่ากับการศึกษา เทียบเท่ากับความไม่ประมาท เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ลองนึกดูง่ายๆ เราให้ความสำคัญแก่พระรัตนตรัยเพียงใด ก็ต้องให้ความสำคัญแก่ “ปฏิสันถาร” เพียงนั้น ใช่หรือไม่
แต่ในความรู้สึกของชาวเราและที่ปฏิบัติกันทั่วไป เราเคยให้ความสำคัญแก่ “ปฏิสันถาร” มากเท่ากับพระรัตนตรัยหรือไม่ เราเห็นความสำคัญของ “ปฏิสันถาร” มากถึงขนาดนั้นหรือไม่ ถ้าเทียบกับพระรัตนตรัย เทียบกับการศึกษา เทียบกับความไม่ประมาทแล้ว แทบจะไม่มีใครนึก “ปฏิสันถาร” กันเลยด้วยซ้ำ ใช่หรือไม่ ทำไมเรามองข้าม “เพชร” ที่สำคัญที่สุดกันได้ถึงขนาดนี้?
จึงต้องเน้นจิตใจ เน้นพระนิพพาน ถ้าเราเน้นผลประโยชน์ เราก็จะเทคแคร์ดูแลแต่ผู้ที่ให้ผลประโยชน์ ส่วนคนที่เราคิดว่าไม่ให้ผลประโยชน์แก่เราก็จะเพิกเฉย หมางเมิน ไม่สนใจ พระพุทธเจ้าให้เราเป็นผู้ฉลาด มีความเคารพในการต้อนรับ ดูแลแขกทุกๆ คน เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ก็ต้องต้อนรับดูแล ทำตามพระพุทธเจ้าทำเหมือนพระพุทธเจ้า ที่ทรงไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ เสมอภาคกับทุกชนชั้น เหมือนฝนตกลงมาทั่วฟ้า ตกลงทุกหย่อมหญ้า เสมอภาคกัน เหมือนพระอาทิตย์ทอแสงให้แสงสว่างเสมอกัน
อย่าไปทำเหมือนสำนักปฏิบัติธรรมบางสำนัก ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์สอนไม่ให้ไปประจบคฤหัสถ์ ไม่ให้ดูแลแต่เศรษฐีคหบดี บางคนหลงประเด็น ไม่ทำตามที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์สอน ไปประจบคฤหัสถ์ เลือกปฏิบัติดูแลแต่เศรษฐี เลือกแต่คนรวยๆ อย่างนี้ไม่ถูก ไม่ใช่ทำตามพระพุทธเจ้า ทำให้ข้อวัตรข้อปฏิบัติเศร้าหมอง จิตใจเป็นคนจิตใจคับแคบ แล้วก็อย่าไปทำเหมือนหลายๆ แห่งที่เทคแคร์ดูแลแต่ผู้มีผลประโยชน์ เป็นโครงการจับจับปลาตัวใหญ่ ปลาซิวปลาสร้อยก็ไม่จับ จึงต้องเดินสายกลาง มีปฏิสันถารคารวตา มีความเคารพในปฏิสันถารการดูแลต้อนรับอาคันตุกะ ด้วยอามิสและธรรม จึงจะใกล้ทางสู่พระนิพพาน
เราก็ต้องปฏิบัติกับอาคันตุกะให้ถูกต้อง เหมือนพระพุทธเจ้าๆ ทรงเป็นผู้ที่มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา มีพรหมวิหารอย่างหาที่สุดหาประมาณมิได้ เราปฏิบัติต่ออาคันตุกะโดยไม่หวังอะไรตอบแทน เราอ่อนน้อมถ่อมตน พูดเพราะไหว้งาม ต้อนรับปฏิสันถาร โดยไม่หวังรับอะไร ผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับเราจะได้สบายใจ เพราะคนเรามักมุ่งแต่ผลประโยชน์ มันจะดูแลต้อนรับ อุปัฏฐากบำรุงแต่คนที่ให้ผลประโยชน์กับเรา ถ้าไม่ได้ให้ผลประโยชน์กับเรา มันไม่อยากจะดูแล ทุกคนก็จะเป็นอย่างนี้ นอกจากพระอริยะเจ้าเท่านั้น 100% ที่ต้อนรับปฏิสันถาร ที่ไม่หวังอะไรตอบแทนมี เราจะเดินตามพระอริยะเจ้า เราก็ต้องทำเหมือนพระอริยะเจ้า เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะได้เสียสละซึ่งตัวซึ่งตน
เราต้องเป็นผู้ให้ผู้อื่น ให้ข้าวให้ของ ให้กิริยามารยาทที่ดีงาม ให้ทุกอย่าง เขาจะดีหรือไม่ดี เขาจะเป็นคนพาลหรือเป็นบัณฑิต เราต้องประพฤติปฏิบัติกับเขาให้เสมอกัน เพราะเราจะเอาคนดีๆ คนไม่ดีเราจะเอาไปไว้ไหน เราเป็นผู้ให้ เราย่อมชนะทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น สัตว์ป่ามันดุๆ ถ้าเราเป็นผู้ให้ มันก็ยอมหมดทุกอย่าง เราต้องเป็นผู้ให้ ช้างนาฬาคีรีที่ดุร้ายก็ต้องยอมพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์ทรงมีเมตตามีกรุณา เราจะเห็นโลกนี้ไม่น่าอยู่ เพราะโลกนี้เป็นแต่ผู้เอา ไม่เป็นผู้ให้ ไม่เสียสละ เพราะผู้ที่ได้รับการต้อนรับก็ต้องอบอุ่น มีการไว้วางใจ เราทำเหมือนพระพุทธเจ้า ไม่ต้องถือพรรคถือพวก ถือประเทศถือศาสนาอะไร เราต้องเป็นผู้ให้ เรามีสิ่งของให้ เราต้องมีเจตนาที่ดีปรารถนาดี จากใจที่ประเสริฐจากใจที่บริสุทธิ์ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ ใจเราก็ไม่สงบ ใจของเรามันก็ไม่เย็น เพราะใจเราของเรามันเห็นแก่ตัว มันติดสุขติดสบาย เพราะคนเราเกิดมามันก็เป็นแต่ผู้เอา เกิดมาเอาน้ำนมจากแม่ เอาสิ่งของกับพ่อกับแม่ ผู้ที่มาบวชอย่างนี้นะ พระพุทธเจ้าถึงมาให้รู้จักกตัญญูกตเวที ผู้ที่มาบวชสึกไปจะได้อุปัฏฐากพ่ออุปัฏฐากเเม่เป็น ผู้ที่ไม่สึกก็ได้เป็นพระอริยะเจ้า พระอรหันต์
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เสียสละ ถึงมองดูแล้วหน้าตาอิ่มเอิบ พระปัญจวัคคีย์ว่าจะไม่ต้อนรับ ไม่ทำอะไรให้ ก็อดไม่ได้ เพราะท่านไม่มีทิฏฐิไม่มีมานะ ไม่มีตัว ไม่มีตน มองดูแล้วก็เย็นใจ เพราะใจมันเย็น ใจไม่มีตัวไม่มีตน
เราอย่าไปเข้าใจผิด คิดว่าปล่อยวาง เดี๋ยวมันมีปัญหา ปล่อยวางอย่างนั้นมันปล่อยวางแบบโมหะ ไม่เสียสละอะไร เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่พระวัดป่า ท่านมีทั้งพระวินัยมีทั้งธรรม ถ้ามีแต่พระวินัย ไม่มีธรรม มันก็เครียด พระบางแห่งไม่ค่อยมีไม่ค่อยเป็น นอกจากลูบแข้งลูบขาประจบคฤหัสถ์ ประจบพระผู้ใหญ่ เจ้าใหญ่นายโต อันนั้นไม่ใช่ธรรมวินัย มันแสวงหาผลประโยชน์ ยิ่งเรียนมากเรียนสูง ยิ่งมีทิฏฐิมานะมาก ก๋ากร่าง ไม่สมกับที่ได้ร่ำได้เรียนมา ไม่สมกับเป็นผู้ปกครองหมู่ปกครองคณะ เพราะไม่มีอาคันตุกะวัตร ไม่มีอาวาสิกะวัตร ไม่มีข้อวัตรอะไรเลย อย่างนี้ถือว่าไม่ใช่สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์
สาวกของพระพุทธเจ้านั้น เย็นตา เย็นใจ พูดออกมาก็เย็นทางหู เพราะว่าพูดออกมาจากธรรม จากพระนิพพาน ถ้าพระเราเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ จะทำให้โลกนี้เย็น ทำให้ประชาชนเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกคนต้องทำให้ได้ปฏิบัติให้ได้ ไม่ว่าเราจะเป็นพระเป็นเณร เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นครูเป็นอาจารย์ ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
เมื่อเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า คนในโลกนี้มีหลายพันล้านคน สิ่งของ เหตุการณ์ การงานในโลกนี้มีหลายแสนหลายล้านอย่าง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนให้เราสนใจอย่างจริงจัง ๖ อย่าง ดังนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การศึกษา ความไม่ประมาท และการต้อนรับ ทั้ง ๖ ประการนี้
สิ่งที่ควรเคารพทั้ง ๖ ประการนี้ เป็นแกนหลักของความเคารพทุกอย่าง เมื่อเราสามารถตรองจนตระหนักถึงคุณของสิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง ทั้ง ๖ ประการนี้แล้ว ต่อไปเราก็จะสามารถตรองถึงความดีของสิ่งอื่นๆ ได้ชัดเจนและละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น กลายเป็นผู้รู้จริงและทำได้จริงผู้หนึ่ง
หลักสำคัญที่ชาวพุทธจะต้องยึดไว้ให้มั่นคงก็คือ คารวธรรม – อย่าขาดคารวธรรมเป็นอันขาด คือ พุทธคารวตา ธัมมคารวตา สังฆคารวตา สิกขาคารวตา สมาธิคารวตา ปฏิสันถารคารวตา
คารวธรรมยังมั่นคงอยู่ในใจตราบใด สังคมพุทธก็จะมั่นคงอยู่ในแผ่นดินไทยและในโลกตราบนั้น
"ภิกษุทั้งหลาย! ผู้เคารพหนักแน่นในพระศาสดา ในพระธรรม มีความยำเกรงในสงฆ์ มีความเคารพหนักแน่นในสมาธิ มีความเพียรเครื่องเผาบาป และเคารพในไตรสิกขา และเคารพในปฏิสันถารการต้อนรับอาคันตุกะ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่เสื่อม ดำรงตนอยู่ใกล้พระนิพพาน"
เราต้องพัฒนาและน้อมมาแก้ไขตนเอง ให้หายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ มาปล่อยมาวางมาหยุดความเป็น “เจ้าพ่อเจ้าแม่” ที่ฝังลึกในใจ ที่ทำให้แตกความสมัครสมานสามัคคี ไม่หันหน้ามาคุยกัน ไม่ทำงานกันเป็นทีม คอยแต่จะเลื่อยเก้าอี้กัน แย่งผลงานกัน จึงต้องตั้งมั่นแก้ไขปรับปรุงตนเอง เพื่อสลายความเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ออกไปจากใจให้ได้ เราก็จะมีความสุขความอบอุ่น ทุกคนก็จะไม่มีปัญหา ครอบครัวจะไม่มีปัญหา เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้จะได้เป็นพี่น้องเป็นญาติพี่น้องญาติธรรมสหายธรรมประพฤติปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์คือพระนิพพาน