แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๗๕ ผู้มีปัญญาพึงมองเห็นผู้คอยกล่าวตักเตือน เสมือนเป็นผู้บอกขุมทรัพย์ให้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันออกพรรษา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ วันนี้เป็นวันมหาปวารณา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ในวันนี้มีหลายความหมายที่ถือกันมา คือ... วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดของการอยู่จำพรรษาหรือพูดง่ายๆ ว่า วันสุดท้ายที่ต้องอยู่จำพรรษาในแต่ละปี และพระสงฆ์จะต้องอยู่ให้ครบอีกหนึ่งราตรีจึงจะครบถ้วนบริบูรณ์
วันมหาปวารณา คือ การทำปวารณาครั้งใหญ่ หมายถึง วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยจิตที่เมตตา
วันเทโวโรหณะ ในพรรษาที่ ๗ นับแต่วันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา ที่ได้อุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ 4) โดยลงมาฟังธรรมที่ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ 2) จนบรรลุโสดาปัตติผล (สาเหตุที่พระศาสดาไม่เสด็จไปแสดงธรรมในชั้นดุสิต เพราะเทวดาที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ไม่สามารถขึ้นไปในชั้นดุสิตได้ ด้วยศักดานุภาพที่น้อยกว่า เพื่อให้โอกาสฟังธรรมแก่เทวดาเหล่านั้น)
ครั้นถึงวันมหาปวารณา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) จึงเสด็จลงจากเทวโลกที่เมืองสังกัสสนคร ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก เมื่อทรงแลดูข้างล่าง สถานที่นั้นก็มีเนินอันเดียวกันจนถึงอเวจีมหานรก ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียง จักรวาลหลายแสนก็มีเนินเป็นอันเดียวกัน เทวดาก็เห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นเทวดา สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์และเทวดา ต่างก็เห็นกันเฉพาะหน้าทีเดียว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสี ขณะที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยมีเทวดาและมหาพรหมทั้งหลายแวดล้อมลงมาส่งเสด็จ ฝูงชนจำนวนมากมายก็ได้ไปคอยรับเสด็จ กระทำมหาบูชาเป็นการเอิกเกริกมโหฬาร และพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม มีผู้บรรลุคุณวิเศษจำนวนมาก วันนั้นจึงเรียกว่า “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก” ชาวพุทธในภายหลังได้ปรารภเหตุการณ์พิเศษครั้งนี้ถือเป็นกาลกำหนดสำหรับบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรคราวใหญ่แด่พระสงฆ์ เป็นประเพณีนิยมสืบมา ดังปรากฏในประเทศไทย เรียกกันว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ตักบาตรเทโว บางวัดก็จัดพิธีในวันออกพรรษา คือวันมหาปวารณา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 บางวัดจัดถัดเลยจากนั้น 1 วัน คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
คำว่า ปวารณา แปลว่า ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน หมายถึง การที่ภิกษุเปิดโอกาสให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ และพิธีปวารณาเป็นประเพณีที่พระภิกษุจะต้องทำร่วมกันเพื่อเป็นกัลยาณมิตรให้กันและกัน ซึ่งจะทำกันในวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งโดยปกติทุกปี ตามพุทธบัญญัติ พระภิกษุต้องอยู่จำพรรษา 3 เดือน เพื่อทบทวน พระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมร่วมกัน เริ่มตั้งแต่วันเข้าพรรษาในวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันออกพรรษาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือเรียกอีกอย่างว่า “วันมหาปวารณา”
ปวารณา แปลว่า 1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ
2. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า วันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนได้ ปวารณาเป็นสังฆกรรมประเภทญัตติกรรม คือ ทำโดยตั้งญัตติ (คำเผดียงสงฆ์) อย่างเดียว ไม่ต้องสวดอนุสาวนา (คำขอมติ) เป็นกรรมที่ต้องทำโดยสงฆ์ปัญจวรรค คือ มีภิกษุตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป
ปวารณา ถ้าเรียกชื่อตามวันที่ทำ แบ่งได้เป็น ๓ อย่าง คือ
๑. ปัณณรสิกา ปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยปกติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คือวันออกพรรษา)
๒. จาตุททสิกา ปวารณา (ในกรณีที่มีเหตุสมควร ท่านอนุญาตให้เลื่อนปวารณาออกไปปักษ์หนึ่งหรือเดือนหนึ่งโดยประกาศให้สงฆ์ทราบ ถ้าเลื่อนออกไปปักษ์หนึ่งก็ตกในแรม ๑๔ ค่ำ เป็นจาตุททสิกา แต่ถ้าเลื่อนไปเดือนหนึ่งก็เป็นปัณณรสิกาอย่างข้อแรก)
๓. สามัคคีปวารณา (ปวารณาที่ทำในวันสามัคคี คือ ในวันที่สงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วกลับปรองดองเข้ากันได้ อันเป็นกรณีพิเศษ)
ประวัติความเป็นมาของการทำปวารณาในวันออกพรรษา เกิดขึ้นจากครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งแยกย้ายกันจำพรรษาอยู่อารามรอบๆ พระนคร พระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดความขัดแย้งกัน จนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกากันว่าจะประพฤติมูควัตร คือ การนิ่งไม่พูดจากันตลอดสามเดือน และได้ถือปฏิบัติกันมาตลอดทั้งพรรษา เมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุเหล่านั้นก็ได้พากันเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร แล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากันในสามลักษณะ คือ ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี โดยมีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาบาลีว่า "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฏิกกะริสสามิ" แปลว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ หากท่านทั้งหลายได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัย ว่า...กระผมได้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางแนวทางไว้ คือ หากได้ยิน ได้เห็น หรือสงสัยว่า เพื่อนสหธรรมิกท่านใดปฏิบัติข้อวัตรที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ซึ่งจะเป็นเหตุให้ห่างไกลจากพระนิพพาน ก็ให้อาศัยจิตที่ประกอบด้วยความเมตตาปรารถนาดี เป็นกัลยาณมิตรแนะนำตักเตือนให้กันและกัน ผู้รับฟังพึงน้อมรับคำแนะนำด้วยจิตใจชื่นบานปลื้มปีติยินดี ตั้งใจแก้ไขปรับปรุงตนเองด้วยความเต็มใจ เสมือนเพื่อนสหธรรมิกผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้นได้ชี้ขุมทรัพย์อันประเสริฐให้กับผู้ที่ยังขัดสนอยู่
สาระสำคัญของ “ปวารณา” ก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ร่วมสังคมกันว่ากล่าวทักท้วงตักเตือนกันได้ในเมื่อเห็นข้อบกพร่องผิดพลาดของกันและกัน พึงสังเกตว่า เหตุผลที่อ้างได้ในการว่ากล่าวตักเตือนมี 3 กรณี คือ –
1 ทิฏฺฐะ: รู้เห็นเรื่องนั้นๆ มาด้วยตัวเอง = เห็นประจักษ์ซึ่งหน้า
2 สุตะ: ได้รับคำบอกเล่า เช่นมีผู้รายงานให้ทราบ = มีพยานหลักฐาน
3 ปริสังกา: นึกสงสัยขึ้นมาเอง = ไม่เห็น ไม่มีพยาน แต่สงสัย
เรามักกล่าวอ้างกันว่า จะว่ากล่าวใคร ต้องมีพยานหลักฐาน อย่าพูดลอยๆ แต่จากคำปวารณาจะเห็นว่า แม้แต่สงสัย (ปริสงฺกาย วา) ก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุให้ว่ากล่าวกันได้ แต่ทั้งนี้พึงกระทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ หวังความถูกต้องดีงามเป็นที่ตั้ง
คนส่วนมากไม่ได้คิดถึงเหตุผลข้อนี้ พอถูกทักเรื่องต้องมีพยานหลักฐานก็พากันนิ่งงันไม่กล้าว่ากล่าวอะไรกันอีกต่อไป เป็นช่องโหว่ให้คนทำผิดยังคงทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ
การอยู่จำพรรษารวมกันตลอดระยะเวลาสามเดือน อาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมองไม่เห็น "เสมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผงจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผงนั้นได้ จึงจำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดู หรือต้องใช้กระจกส่องดู"
ในปวารณาสูตร พระพุทธเจ้าทรงปวารณาแก่หมู่สงฆ์ คราวหนึ่งในพระวิหารบุพพาราม กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับอยู่กับภิกษุสงฆ์ 500 รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ในวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ เพื่อจะทรงทำปวารณา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่เหล่าภิกษุนั้นว่า จะติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจาของพระองค์บ้างหรือไม่
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายติเตียน กรรมไรๆ อันเป็นไปทางพระกายหรือทางพระวาจาของพระผู้มีพระภาคไม่ได้เลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่า พระผู้มีพระภาคทรงยังทางที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ทรงยังทางที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดมี ทรงบอกทางที่ยังไม่มีผู้บอก เป็นผู้ทรงรู้ทางทรงรู้แจ้งทาง ทรงฉลาดในทาง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้เดินตามทาง บัดนี้แลขอปวารณาพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงติเตียน กรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของข้าพระองค์บ้างหรือ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เราติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทาง กายหรือทางวาจาของเธอไม่ได้เลย สารีบุตร เธอเป็นบัณฑิต สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาว่องไว เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มีปัญญาสยายกิเลสได้ สารีบุตร โอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมยังจักรอันพระราชบิดาให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบ ฉันใด สารีบุตร เธอก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันเราให้เป็นไปแล้วให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง ฯ
ท่านพระสารีบุตรจึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากว่าพระผู้มีพระภาค ไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจาของข้าพระองค์ไซร้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้บ้างหรือ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เราไม่ติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา ของภิกษุ ๕๐๐ รูปแม้เหล่านี้ สารีบุตร เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ ภิกษุ ๖๐ รูป เป็นผู้ได้วิชชา ๓ อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้อภิญญา ๖ อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้อุภโตภาควิมุติ ส่วนที่ยังเหลือเป็นผู้ได้ปัญญาวิมุติเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ฯ
เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงใช้วิธีการปวารณาให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เพื่อพระภิกษุที่ได้เห็นหรือแม้แต่ได้ยินได้ฟังเรื่องไม่ดีไม่งามอะไรก็ตาม ให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้ คือ พระผู้มีพรรษามากก็กล่าวตักเตือนพระผู้มีพรรษาน้อยได้ และพระผู้มีพรรษาน้อยก็สามารถกล่าวชี้แนะถึงข้อบกพร่องของพระผู้มีพรรษามากได้เช่นกัน โดยที่พระผู้มีพรรษามากท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง
การกล่าวปวารณาเท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ก่อนที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง การปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำนี้เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวังไม่ให้ประมาท ไม่ยอมให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย
จุดมุ่งหมายของการปวารณา คือ... 1. เป็นกรรมวิธีลดหย่อนผ่อนคลายข้อขุ่นข้องคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัยให้หมดไปในที่สุด
2. เป็นทางประสานรอยร้าวที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกัน ให้มีโอกาสกลับคืนดี ด้วยการให้โอกาสได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน
3. เป็นทางสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ
4. เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิดสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ โดยไม่กำจัดด้วยยศ ชั้น พรรษา และวัย 5. ก็ให้เกิดภราดรภาพ คือ ความรู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อปรารถนาดีเอื้อเฟื้ออาทรเป็นพื้นฐาน นำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงามคล้ายๆ กัน เรียกว่า ศีลสามัญญตา
อานิสงส์ของการปวารณา ได้แก่
1. ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ในเพศบรรพชิต ทั้งทางกาย วาจา และใจ เป็นการคลายความสงสัย ระแวง ให้หมดไปในที่สุด
2. พระภิกษุทุกรูปจะรู้ข้อบกพร่องของตนเอง และจะได้ปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น โดยฝึกความอดทนต่อการว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นการเปิดใจยอมรับฟังผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้
3. พระภิกษุทุกรูปจะได้ขอขมากันและกัน เพื่อที่จะไม่ถือโทษโกรธเคืองกันในภายหลัง ด้วยความรักและปรารถนาดี และให้อภัยซึ่งกันและกัน จะทำให้อยู่ร่วมกันในหมู่คณะอย่างผาสุก
4. เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในสังฆมณฑลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนในการทำงานพระพุทธศาสนาเป็นทีม
5. ทำให้คณะสงฆ์มีความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การถูกทำลายจากผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนา
การปวารณาจึงเป็นการกระทำเพื่อหวังความเจริญ เพื่อเกิดประโยชน์ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม โดยเพื่อนสหธรรมิกด้วยกันเองตักเตือนกันเองได้โดยธรรม
วันนี้เป็นวันมหาปวรณา พระพุทธเจ้าให้เป็นวันปวรณา เพราะว่าเหตุผลที่พระพุทธเจ้าให้พระอยู่จำพรรษา ๓ เดือน เมื่อออกพรรษาแล้วก็จะให้พากันทำจีวร ๑ เดือน ที่อนุญาตให้ทำกฐิน วัดป่าทรัพทวีธรรมาราม ก็จะมีทอดกฐินในวันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม อาทิตย์หน้า หลังจากนั้นเราถึงจะได้ปลีกตัว จาริกในที่ต่างๆ ครั้งพุทธกาลเป็นมาอย่างนี้ เมื่ออยู่ด้วยกัน ๓ เดือน ก็ย่อมเห็นความบกพร่อง เพราะพระในธรรมวินัยนี้ ท่านมุ่งมรรคผลพระนิพพานอย่างเดียว ไม่ได้บวชอย่างอื่น เพราะว่าเราก็ต้องอาศัยพระพุทธเจ้า อาศัยพระอรหันต์ อาศัยผู้ที่มีประสบการณ์ ถึงให้มีการปวารณาเพื่อบอกว่าเรามีความบกพร่องที่ไหนๆ เพราะการปฏิบัติธรรมนี้ก็คือ ตั้งมั่นในความดี เรียกว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี้เอาตั้งแต่ศีล ๕ จนไปถึง๒๒๗ แล้วศีลในพระปาฏิโมกอีก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
มนุษย์เรานี้คือผู้ที่ประเสริฐ ไม่อาจจะทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ ตามความคิดได้ ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ พัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์ พัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ไม่สุดโต่ง การพัฒนาของเราต้องทำอย่างนี้ๆ ทุกท่านทุกคนต้องสละเสียซึ่งตัวซึ่งตน เพราะคนทั่วไปนั้นยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ย่อมมีความบกพร่องทุกๆ คน
ทุกคนเกิดมาก็เพื่อมาประพฤติมาปฏิบัติ เกิดมาก็เพื่อจากสิ่งที่เป็นอดีตไป เกิดมาเพื่อจากกัน ทุกท่านทุกคนต้องรักกัน สงสารกัน มีเมตตา มีกรุณากัน ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปกด ไปเหยียด ไปรัก ไปชอบ เพราะเราต้องรู้จักธรรมะ สภาวะธรรมคืออริยสัจ ๔ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เน้นลงที่ปัจจุบัน เพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะทุกคนพยายามที่จะแก้ที่ตัวเองเต็มที่ อย่าไปแก้คนอื่น พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ไปแก้คนอื่น ท่านเป็นเพียงผู้บอกผู้สอนให้รู้ว่าหนทางที่ประเสริฐมันอย่างนี้ๆ เพราะชีวิตของเรามันจะได้สงบเย็น หัวใจของเรามันจะได้เป็น air condition หัวใจของเราจะมีความอบอุ่น มีสติสัมปชัญญะ คนเรามันถึงต้องกลับมารู้ตัวเอง อย่าไปทำส่งเดชตามอารมณ์ ตามความคิด ไปอย่างนั้นไม่ได้ เพราะชีวิตนี้ต้องทำตามหลักการ หลักเกณฑ์ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี เพราะไม่มีอะไรประเสริฐ ไม่มีใครยิ่งกว่าธรรมะแล้ว เราต้องรู้จักว่าพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นคือธรรมะ พระศาสนาคือธรรมะ ศีลนั้นคือธรรมะ ไม่ใช่นิติบุคคล ตัวตน ความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่เรา ที่ปัจจุบัน มันจะเลื่อนไปเอง เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี ปฏิบัติไปเหมือนไก่ฟักไข่ไป มัน ๓ อาทิตย์ มันถึงออกลูก มันกกไข่ มันทุกวันนี้เค้าใช้เครื่องไฟฟ้าอบแล้ว การปฏิบัติของเรามันต้องมากกว่าไก่ เพราะว่าระบบสมองสติปัญญามันฉลาดกว่า
ประเทศไทยเราดี เพราะว่าประเทศไทยกับพระพุทธศาสนานี้คู่กัน พระมหากษัตริย์ทุกๆ พระองค์ ทรงเห็นความสำคัญในพระศาสนา ในพรรษาให้ข้าราชการมาลาบวชได้ เพราะชีวิตของเราทุกๆ คนนี้ ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เพื่อที่จะได้ส่งความประพฤติส่งการปฏิบัติสู่ลูกสู่หลาน เพื่อคงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา ผู้ที่มาบวชในพรรษานี้พากันเข้าใจ ผู้ที่ลาลาสิกขาก็ต้องเอาศีล ๕ กลับไปประพฤติ ไปปฏิบัติ อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน ชีวิตของเราต้องเป็นศีลธรรม เป็นอริยมรรค ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ ให้พากันสมาทานศีล ๕ ให้เกิดเป็นสัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะอยู่ในตัวเรา อยู่ในระบบ เค้าเรียกว่าอยู่เหนือสายเลือดเสียอีก ทุกคนน่ะอย่าไปเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่าใจอ่อน ต้องรู้จักว่า เราทุกคนอย่าไปมี sex ทางความคิด อย่าไปมี sex ทางอารมณ์ กลับไปแล้วก็เปลี่ยนแปลงตัวเอง จากคนตาบอดหูหนวก จากคนอัมพฤกษ์ อัมพาต เปลี่ยนแปลงใหม่ให้มีตาสว่าง หูดี แข็งแรง อย่าเอาตามใจ ตามอัธยาศัย มันต้องทวนกระแส ต้องมีความสุขในการทำงาน ๒๔ ชม. ทุกท่านทุกคนก็ต้องนอน ๖ ชม. หรือนอนให้มากกว่านั้นก็ ๘ ชม. อย่าไปคอรัปชั่นเวลานอน
ประเทศไทยเราจะไปมีทหารหลายล้านคนก็แก้ไขไม่ได้ จะมีตำรวจหลายล้านคนก็แก้ไขไม่ได้ จะมีปืนมีอะไรมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่ามันปลายเหตุ ที่ต้นเหตุคือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ทุกคนต้องเข้าสู่ธรรมะ พัฒนาใจ พัฒนาวิทยาศาสตร์ ความประพฤติของเรานี้ต้องรู้จักอริยสัจ ๔ อยู่ที่ไหนก็ต้องมีพระพุทธเจ้าอยู่ในนั้น มีพระธรรมในนั้น มีพระอริยสงฆ์ คือความประพฤติของเราอยู่ในที่นั้น
เราอย่าไปตามสิ่งแวดล้อม เราไม่ต้องไปเป็นพวกของพระเทวทัต พระเทวทัตเอาความสุขในความรวยเป็นมนุษย์ เอาความสุขในความเป็นเทวดา อันนี้พวกเทวทัต พวกรวยอย่างไม่ฉลาด พวกการเรียนการศึกษาไม่ฉลาด เพื่อหลง ไม่ได้เพื่อความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อเสียสละอะไรเลย เราจะได้แก้สิ่งที่ถูกต้อง พระผู้ที่มาบวชก็ยังไม่รู้จักศาสนาเลย นึกว่าบวช นึกว่าโกนหัว ห่มผ้าเหลืองนั้นน่ะ เป็นศาสนา พระพุทธเจ้าท่านให้พากันเข้าใจอย่างนี้ ทุกๆ คนจะได้สืบทอด ต่อยอด พระพุทธศาสนา
การทอดกฐินที่นี้ก็มุ่งพระวินัย มุ่งมรรคผลพระนิพพาน พระพุทธเจ้านี้ไม่ให้สนในเรื่องเงิน เรื่องสตางค์ เรื่องอะไรหรอก สนใจเรื่องความสมัครสมานสามัคคีกัน อะไรอย่างนี้ ช่วงนี้ก็ถือว่ายังไม่ปลอดภัย ก็ยังต้องรักษามาตรการเกี่ยวกับโควิด ทุกคนน่ะพากันมาในเวลาที่จะทอดกฐิน ๑๑.๐๐ น. เพื่อสมัครสมานสามัคคีกัน เราต้องรู้จัก ต้องถือว่าเราต้องพากันเดินสู่มรรคผลพระนิพพานกัน
ผู้ที่อยู่วัด อยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน คนสมัยนี้แหละ พ่อแม่นี้ก็บอกลูกไม่ได้ สอนลูกไม่ได้ เพราะว่าพ่อแม่มันไม่มีศีล ๕ ไม่มีธรรมะอะไรเลย เพราะลูกไม่เคารพ เพียงแต่สงสารพ่อแม่เฉยๆ มันก็สมควรที่ไม่เคารพ ให้พากันเข้าใจ มันแก้ปัญหาไม่ได้ มันก็จะไปแก้ตั้งแต่ภายนอก ไปจัดระเบียบตั้งแต่ภายนอก ที่จริงทุกคนเพียงแต่แก้ตัวเอง พ่อก็แก้ที่พ่อ แม่ก็แก้ที่แม่ ลูกก็แก้ที่ลูก ครูอาจารย์อะไร ตำรวจ ทหาร ทุกคนก็แก้ตัวเอง คือพัฒนาตามหลักวิทยาศาสตร์และพัฒนาใจไปอย่างนี้มันจะได้ง่าย เพราะถึงไปเรียนกฏหมายกี่ประเทศมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจอย่างนี้นะ เมื่อพ่อแม่ไม่เป็นตัวอย่างก็บอกลูกไม่ได้ สอนลูกไม่ได้ ลูกมันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็งง เพราะว่าไม่มีตัวอย่างแบบอย่าง
ผู้ที่เราจะต้องไปหาก็คือ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คือธรรมะ ธรรมวินัย เราตามใจตามอารมณ์ไม่ได้ เพราะการที่เราจะไปแก้ประเทศไทย มันงงไปหมดแล้ว เพราะจะไปแก้คนอื่น มันต้องแก้ตัวเอง เพราะถ้าไปแก้คนอื่น มันต้องไปสร้างปืน สร้างระเบิด มันเป็นเหมือนที่เราเป็นอยู่นี้ มันแก้ไม่ถูก เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มนุษย์เรามันถึงจะเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ มันเป็นความผิดพลาดเสียหาย มันทำลายความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พระพุทธศาสนามันสุดยอดอย่างนี้ พระรัตนตรัย มันสุดยอดอย่างนี้ เพราะมันงงไปหมด ไปทำกฏหมายอะไรมันจะไปแก้แต่ปลายเหตุ ยิ่งสร้างความวุ่นวาย เพราะปัญหามันอยู่ที่เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ปริยัติกับปฏิบัติคืออันเดียวกันต้องเป็นปัจจุบัน เราทำอย่างนี้ๆๆ ไม่ใช่ฟุ้งซ่าน ยิงออกไปข้างนอกเหมือนปืน ความรู้เราจะไปถึงดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือคอมพิวเตอร์อะไรมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าไม่กลับมาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าถึงให้มีการปวารณา เพราะชีวิตของเราต้องไปอย่างนี้ๆ
วันมหาปวารณา จึงเป็นการเริ่มต้นตั้งหลักทำความดีใหม่ เนื่องจากปุถุชนที่อินทรีย์ยังอ่อน ย่อมขาดตกบกพร่องเป็นธรรมดา เด็กๆ เมื่อเริ่มหัดเดิน ย่อมจะต้องล้มลุกคลุกคลาน ล้มแล้วมีคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงคอยประคับประคองให้ยืนขึ้น จนในที่สุดก็สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ฉันใด บนเส้นทางธรรม พระภิกษุก็อาศัยสหธรรมิกผู้เป็นกัลยาณมิตร ประคับประคองให้ยืนขึ้นอย่างอาจหาญด้วยความปีติยินดีเยี่ยงบัณฑิต ฉันนั้น
การปวารณาจึงเป็นการกระทำเพื่อหวังความเจริญ เพื่อเกิดประโยชน์ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม โดยเพื่อนสหธรรมิกด้วยกันเองตักเตือนกันเองได้โดยธรรม เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ในการสร้างบารมีต่อไปในภายภาคหน้า
ธรรมเนียมปฏิบัตินี้เป็นอริยประเพณีที่สูงส่งดีงาม เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับมุมมองความคิดเพื่อไม่ให้เกิดความขุ่นมัว ให้อภัยไม่ถือสา รู้ซึ้งเข้าใจถึงความปรารถนาดีของเพื่อนสหธรรมิก จะเห็นได้ว่าการปวารณานั้นเกื้อกูลประโยชน์ต่อพระภิกษุทุกรูปและต่อหมู่สงฆ์ เนื่องจากเมื่อพระภิกษุรูปใดก็ตามปรับปรุงตนเองให้สมบูรณ์ขึ้นจนกระทั่งเข้าถึงจุดสมบูรณ์ของชีวิตสมณะ ย่อมเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติถูกต้องเป็นหมู่คณะ ก็จะเป็นหมู่คณะที่งดงาม เป็นต้นแบบให้แก่มหาชนสืบไป
สังฆกรรมดังกล่าวนี้แฝงด้วยธรรมข้อหนึ่งสำหรับการมีชีวิตที่ดีงาม เรียกว่า โสวจัสสตา คือความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย พร้อมรับฟังคำชี้แนะว่ากล่าว ซึ่งก็เป็นข้อหนึ่งในมงคลสามสิบแปดประการ โดยมากเราไม่ชอบให้ใครมากล่าวเตือน สาเหตุหลักคือ ตัวอัตตา (ตัวกูของกู) ที่เรากอดไว้นั้น ต้องการคำสรรเสริญเยินยอโดยไม่สนว่าถูกต้องหรือไม่ ขอให้ถูกใจเป็นพอ และคำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนนั้นเป็นของแสลงสำหรับมัน
ผู้ที่รู้เท่าทันพึงตระหนักรู้ว่า คำว่ากล่าวตักเตือนหรือคำวิจารณ์นั้นๆ จะช่วยคลายอัตตา (ตัวกู..ของกู) ให้หายพยศอ่อนกำลังได้ดียิ่งนัก แล้วทำให้ปัญญาพัฒนาได้อย่างดีเยี่ยม ถึงแม้จะเอื้อนเอ่ยจากคนที่ไม่หวังดีก็ตามที
จุดอ่อนหรือข้อเสียในงานของเรา บางครั้งแม้แต่คนที่ใกล้ชิดก็มองไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่กล้าพูด แต่ทว่าคนที่ไม่หวังดีเท่านั้นที่จะกล้าพูด บางครั้งเขาอาจแต่งเติมใส่สีสันให้มันเลวร้ายเกินจริงอย่างทนรับไม่ได้ หากเพียงว่าถ้าเรารู้จักมองแยกแยะความจริงออกจากความเท็จหรือความเข้าใจผิด เรียนรู้บางมุมมองของตนเองที่อาจมองไม่เห็นมาก่อน รู้แล้วนำกลับมาปรับปรุง-เปลี่ยนแปลง-แก้ไข-พัฒนาตน เท่านี้สิ่งดีๆก็จะเกิดขึ้น และโดยที่สุดเราจะเห็นความจริงว่า นินทากับสรรเสริญเป็นของคู่กันของโลก เรามักอิ่มเอมจนหลงตัวเมื่อได้ยินคำชม แต่ทว่าคำต่อว่านินทานี้แหละจะช่วยเหนี่ยวเรากลับมาสู่ความจริงอีกครั้ง และระลึกได้เสมอว่าเป็นธรรมดาของโลก มีได้ก็มีเสีย จึงควรดำรงตั้งมั่นในความไม่ประมาท และเตรียมตัวและใจไว้เนืองนิตย์ ถ้าไม่อยากทุกข์เพราะคำตำหนิ ก็อย่าไปดีใจเวลาได้รับคำสรรเสริญ
ดังนั้นการปวารณาในวันสุดท้ายของการจำพรรษาดังกล่าวนี้ ไม่ควรเป็นเรื่องของพระสงฆ์เท่านั้น แม้คฤหัสถ์ก็ควรกระทำต่อกันเป็นประจำ เพื่อความเข้าใจในโลกธรรมอย่างที่มันเป็นเช่นนั้นเอง...