แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความดับทุกข์ของผู้ที่มาบรรพชาอุปสมบท จะได้ดี จะได้เร็ว เพราะว่าทำติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเป็นประชาชนอย่างนี้ มันก็งานเยอะหลายอันหลายอย่าง พวกนั้นมีภาระที่จะห่วงนู้นห่วงนี้ ถึงมีบอกว่าพระโสดาบันบางท่าน ๑ ชาติ บางท่านก็ ๒-๓ ชาติ แต่อย่างช้าไม่เกิน ๗ ชาติ เพราะว่าเข้าสู่กระบวนการ แต่สำหรับพระนี้ก็สามารถเข้าถึงในชาติปัจจุบันนี้ได้ ถ้าเราตั้งใจ 100% มันจะถึงความสุขความดับทุกข์ในปัจจุบันไปเรื่อยๆ มันไม่เกี่ยวกับมหากษัตริย์มาบวช ไม่เกี่ยวกับคหบดี ไม่เกี่ยวกับคนยากคนจน เพราะความดับทุกข์ มันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันอยู่ที่มีพระพุทธเจ้าในใจ และก็ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของผู้รู้ ไม่หลง ไม่เพลิดเพลิน ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท
ศาสนาพุทธนี้ถึงเป็นสิ่งที่สุดยอด พระสงฆ์ในเมืองไทยนะ ถ้าปฏิบัติตามพระพุทธเจ้านี้ ประเทศไทยนี้น่าจะมีความสุข ไม่น่าจะตกต่ำเหมือนทุกวันนี้ นี้แหละไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ถือแบรนด์เนมอย่างเดียว แต่ถ้าใจรู้จักอริยสัจ ๔ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันอยู่ปัจจุบันนี้เอง ทำไมศีลนี้ถึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐแท้ สมาธิ ความตั้งมั่นในการสมาทาน ในการปฏิบัติจิตใจ ทำไมมีความสุขแท้ อะไรก็ไม่หลง มีสุขก็ไม่หลง มีทุกข์ก็ไม่หลง มีอะไรก็ไม่หลง ไม่มีมานะ ไม่มีทิฏฐิ ไม่มีตัวตน เหนืออะไรต่างๆ
พวกที่เค้าเรียกว่าพวกมนุษย์ขยะ คือพวกทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง นี้มันเป็นมนุษย์ขยะ เพราะว่าความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่เรามีสติ และก็มีปัญญา ขนาดความสุขได้จากการทำงานที่เสียสละนี้ก็ยังถือว่าเป็นพุทธะ อย่างนี้ก็ถือว่าสุดยอด ความสุขที่เราได้รักษาศีล เค้าเรียกว่าการทำงาน ความสุขที่เราสมาทาน ที่เราตั้งมั่นเป็นสมาธิถึงเป็นกฏแห่งกรรม กฏธรรมชาติ มันจะมีความสุขขนาดไหน ความสุขที่มีปัญญา ได้เสียสละ หลักจากนั้นมีแต่ช่วยเหลือคนอื่น บุคคลอื่น ธรรมะไม่ได้อยู่ในหนังสือเลย ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฏกเลย อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันอยู่ที่ปัจจุบันนี้เอง
พระเราเณรเรา ญาติโยมที่อยู่วัดและอยู่ทางบ้าน และท่านหลายคนน่ะ ตั้งใจบวชไม่สึกนะ บวชจนตายน่ะ เมื่อเราตั้งใจปฏิญาณอย่างนี้ ทำยังไงเราถึงเป็นพระแท้จริง จะได้เป็นที่พระหมดกิเลสสิ้นอาสวะ พระพุทธเจ้าท่านบอกเราสอนเราให้พากันประพฤติปฏิบัติ เพื่อมุ่งมรรคผลนิพพานอย่างเดียว อย่าได้พากันมาติดความสุขจากปัจจัย ๔ ลาภ ยศ สรรเสริญ เราต้องตัดจริงๆ เหมือนพระพุทธเจ้า พาเราละพ่อ ละแม่ ละลูก ละหลานเรากัน ทิ้งหมดทางด้านจิตด้านใจ ถ้าเรายังไม่ละไม่ปล่อยไม่วาง เราก็ไปไม่ได้ เพราะการปฏิบัติของเรามันเดินไปด้วยจิตใจ ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้าของเราสมาทานนอนตามพื้นดิน สมาทานนอนตามโคนไม้ นุ่งห่มจีวรด้วยผ้าบังสุกุล เที่ยวภิกขาจารบิณฑบาต ชาวบ้านเขาถวายอะไรก็ฉันอันนั้น ฉันวันหนึ่งก็เพียงครั้งเดียว การที่มีประเพณีฉันเพลนี้ เป็นประเพณีที่อนุโลมเฉพาะภิกษุไข้และภิกษุเดินทางไกล ท่านไม่ให้ห่วงเรื่องฉันเรื่องอยู่เรื่องอ้วนเรื่องผอม ฉันพออยู่ได้เพื่อได้ทำความเพียร บวชมาแล้วก็ไม่มีใครคิดว่าจะสิกขาลาเพศ เรื่องเพศตรงกันข้ามนี่ให้ตัดอย่างเด็ดขาด ไม่มีคำว่าผู้หญิง ผู้ชายตัดให้หมดนะ ถ้าเราคิดว่ามีหญิงมีชาย จิตใจของเรามันก็แย่มาก จิตใจของนักบวชต้องตัดต้องละต้องวาง จิตใจถึงจะเป็นหนึ่งถึงจะเป็นเอกัคคตา
ความสุขในการฉันในการพักผ่อนนี่ตัดให้หมด ให้พิจารณาร่างกายของเรานี่ เอาผมออก ลอกเอาหนังออกหมด เอาเนื้อออก เพื่อจะได้ทำลายนิมิต ความคิดที่ว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นชายเป็นหญิงนี่ออก วิธีการของเราที่จะต้องปฏิบัติที่จะถอนรากถอนโคน ถอนสักกายทิฏฐิ ที่มันเข้าใจว่าตัวว่าตน เขาเป็นผู้ชายเขาเป็นผู้หญิง พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาสลับกันไปกับการทำสมาธิ เช่น ชั่วโมงหนึ่งน่ะเราอาจจะพิจารณาย้อนไปย้อนมาซัก ๑๐ นาที ๓๐ นาทีอย่างนี้ แล้วก็หยุดให้ใจของเราสงบเย็นไม่ต้องคิดอะไร ถ้าเราพิจารณามากเกินสมองเรามันจะเครียด ถ้าเราไม่คิดเลยไม่พิจารณาเลยปัญญาจะไม่เกิด ธรรมะจะไม่เกิดน่ะ มันจะได้แต่สมาธิอย่างเดียว เวลาออกจากสมาธิแล้วมันก็เป็นเหมือนคนไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย การประพฤติการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าให้เราทำสลับกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคลุกคลีพูดมากคุยมาก เราพากันตั้งอกตั้งใจ พากันทำความเพียรกัน พื้นฐานของจิตใจของเราต้องเป็นคนมีศีล การรักษาศีลของเรามุ่งไปที่พระนิพพานน่ะ คือการละความเห็นแก่ตัว เพราะคนเรามันเห็นแก่ตัวมาก อยู่ด้วยการเบียดเบียนคนอื่น บริโภคคนอื่น ทำอาชีพต่างๆ น่ะ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึงลาละสังขาร อยู่ด้วยการเบียดเบียน อยู่ด้วยการเอาเปรียบคนอื่น ไม่ว่าเรื่องบริโภค เรื่องต่างๆ นั้นเต็มไปด้วยการเบียดเบียนทั้งนั้น ท่านให้ถือศีลของพระอริยเจ้าของพระอรหันต์ตั้งแต่นี้จนตลอดชีวิต เราจะมีชีวิตด้วยการไม่เบียดเบียน ไม่ว่าเรื่องกินเรื่องใช้ เราต้องมีชีวิตด้วยการไม่เบียดเบียนเขา อยู่ก็บอกว่าไม่เบียดเบียน ท่านจึงตรัสว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง
ถ้าเราเน้นที่ใจ เน้นที่เจตนาน่ะ เราจะรู้เลยว่าศีลของเราบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ คนเรามันปกปิดคนอื่นได้ มันหลอกคนอื่นได้แต่มันปกปิดตัวเองไม่ได้ หลอกตัวเองไม่ได้ การรักษาศีลของเรา ก็เพื่อให้ตัวเองกราบตัวเองได้ ไหว้ตัวเองได้ เพราะว่าตัวพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั่นคือศีล ศีลนั้นคือความบริสุทธิ์ผุดผ่อง คือ สถานที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง อาการที่มันไม่เห็นความสำคัญในศีลคืออาการของตัวของตนน่ะ นักปฏิบัติไม่ว่าพระไม่ว่าโยมบางทีมันประมาทไป เมื่อศีลมันไม่ดีน่ะ สมาธิที่มันเป็นธรรมชาติที่ไม่เข้าไม่ออก ที่เป็นพื้นฐานของสมาธิมันไม่เกิดน่ะ
ถ้าเราศีลดี สมาธิมันก็เกิดมีโดยธรรมชาติ สมาธิก็แปลว่าไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นจิตใจที่ว่างจากนิวรณ์ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องน่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะรวมกันเป็นหนึ่งไปตลอด เรามาบวช เรามาปฏิบัติ ถ้าเราไม่เอาจริงไม่เอาจัง เราไม่ตั้งใจ มันไม่ได้ผล ทำให้เราเสียเวลา ทำให้เราแก่ไปเปล่าๆ การมาบวชของเรานี่ไม่มีประโยชน์น่ะ ไม่ตรงเป้าหมายของพระพุทธเจ้าที่ท่านสั่งสอนสำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าทุกคนปฏิบัติได้หมด ไม่เลือกชาติไม่เลือกตระกูล ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ หรือไม่ว่างจากผู้หมดกิเลส พระนิพพานมันไม่ใช่เรื่องไกล สำหรับเราถ้าตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ท่านไม่ให้เราลูบๆ คลำๆ มันเป็นสีลัพพตปรามาส
สำหรับผู้ที่บวชระยะสั้นหรือญาติโยมที่พากันมาอยู่วัดถือศีล ครูบาอาจารย์ก็ให้ตั้งอกตั้งใจ ให้ทำเหมือนกันให้ปฏิบัติเหมือนกัน ให้มุ่งมรรคผลนิพพานเหมือนกัน อย่าไปคิดว่าอีกไม่นานเราจะสึกอยู่ หรืออีกไม่นานเราจะกลับบ้าน เมื่อเรามาอยู่วัดปฏิบัติธรรม เราต้องปฏิบัติให้เต็มที่ ทุกท่านทุกคนมีความอยากมีความต้องการแต่ไม่อยากปฏิบัติ มันจะเกิดประโยชน์อะไร เพราะการปฏิบัติของเรามันไปขอเอาไม่ได้ มันไปอ้อนวอนเอาไม่ได้ ทุกๆ คนแต่งตั้งเราไม่ได้ เราต้องปฏิบัติเอาเอง
ส่วนใหญ่ทุกท่านทุกคนเป็นคนใจอ่อน ท่านจะใจอ่อนไม่ได้นะ สัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นชอบ การปฏิบัติของเราไม่มีการถอนเข้าถอนออก เหมือนเต่าเดี๋ยวโผล่หัวออกเดี๋ยวก็ผลุบไปในกระดอง พระพุทธเจ้าให้เราคิดอย่างนี้ให้เราปฏิบัติอย่างนี้ มีความสุขมากมีความพอใจมากในการประพฤติปฏิบัติ สมัยครั้งพุทธกาลลูกชายบวชได้เป็นพระอรหันต์ แม่ห่วงลูกชายบวชตาม ลูกชายท่านเป็นพระอรหันต์ท่านรู้ว่าแม่ยังห่วง ก็เลยใช้กลอุบายเพื่อให้แม่เกลียดให้แม่ไม่พอใจ เพื่อให้แม่ปล่อยแม่วาง เพื่อให้แม่ไม่หลงรักอีก ภิกษุณีที่เป็นแม่น้อยอกน้อยใจ ว่าลูกเขาไม่รักก็เลยปล่อยเลยวาง ไปประพฤติไปปฏิบัติไปทำความเพียร สุดท้ายก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
มีธิดาเศรษฐีเมืองราชคฤห์นางหนึ่ง มีอุปนิสัยในการบรรพชา อยากบวชมาตั้งแต่รู้ความ ขออนุญาตพ่อแม่ไปบวชในสำนักนางภิกษุณี ก็ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเติบโตเป็นสาวแล้ว พ่อแม่ก็ตกแต่งให้มีครอบครัวกับชายที่มีฐานะทัดเทียมกัน แต่งงานไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว ความคิดอยากจะบวชยังไม่เลือนหายไปจากส่วนลึกของจิตใจ นางจึงขออนุญาตสามีไปบวช สามีคงเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของนางกระมัง ในที่สุดได้อนุญาตตามที่ขอนางจึงไปบวชอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี
บวชไม่นาน ครรภ์ก็โตขึ้นๆ จนปิดบังไม่อยู่ เมื่อความลับเปิดเผยว่า นางภิกษุณีตั้งท้อง ใครรู้เข้าก็ตำหนิติเตียน ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเป็นข่าวใหญ่ทางสื่อมวลชนไม่แพ้ข่าวสมีเขียว เพียงแต่ว่า เรื่องสมีเขียวเป็นเรื่องจริง แต่นางภิกษุณีรูปนี้มิได้ทำผิดตามที่เป็นข่าว
ว่ากันว่า สำนักภิกษุณีที่นางสังกัดอยู่ในความดูแลของพระเทวทัต ข่าวภิกษุณีมีท้องรู้ถึงหูพระเทวทัต ท่านก็ “ฟันธง” ทันทีว่า นางภิกษุณีต้อง “อันติมวัตถุ” คือต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุณีแล้ว จึงสั่งให้สึกโดยไม่ต้องสอบสวนให้เปลืองสมอง
นางภิกษุณีผู้น่าสงสาร ก็อุทธรณ์ว่านางไม่มีความผิดตามกล่าวหา ขอความเป็นธรรมด้วย พระเทวทัตก็ไม่ยอม พูดว่า ก็ท้องเห็นๆ อยู่จะว่าไม่ผิดได้อย่างไร อยู่ๆ มันป่องขึ้นมาเองหรือ อย่างนี้แสดงว่านางมี “เพศสัมพันธ์” กับบุรุษทั้งผ้าเหลืองแน่นอน
นางบอกเหล่าภิกษุณีว่า นางมิได้บวชอุทิศพระเทวทัต นางบวชอุทิศพระศาสดา (หมายความว่าไม่ได้บวชเป็นศิษย์พระเทวทัต บวชเป็นสาวกของพระศาสดาต่างหาก) ขอให้พานางไปกราบทูลขอพระมหากรุณาจากพระบรมศาสดาเถิด ภิกษุณีทั้งหลายจึงพานางไปเฝ้าพระพุทธองค์ ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี
พระองค์รับสั่งให้พระอุบาลีผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย สอบสวนอธิกรณ์นี้ พระอุบาลีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะของสตรี บุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภิกษุอย่างท่าน จะจัดการเรื่องนี้คงไม่ถนัด จึงไปขอร้องนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ช่วยสอบสวน
นางวิสาขาให้กั้นม่าน นำนางภิกษุณีเข้าไปตรวจสอบภายใน (ภายในม่านครับและอาจจะ “ภายใน” จริงๆ ด้วยเพื่อความแน่นอน) ตรวจดูมือเท้าท้องและสะดือว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ซักถามวันเวลาที่บวช วันเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย วันเวลาที่รู้สึกว่าประจำเดือนไม่มา คำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่า นางตั้งครรภ์ก่อนออกบวชเป็นภิกษุณี
นางและคณะผู้สอบสวนจึงรายงานผลการสอบสวนให้พระอุบาลีทราบ พระเถระได้นำความกราบทูลพระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์รับสั่งประชุมสงฆ์ ตรัสรับรองความบริสุทธิ์ของนางภิกษุณี เกือบโดนไล่สึกฟรี โดยพระเทวทัตผู้ไม่รอบคอบแล้วละครับ
นางอุ้มท้องอยู่สำนักนางภิกษุณีจนครบกำหนด ก็คลอดลูกชายน่าเกลียดน่าชังคนหนึ่ง เลี้ยงดูตามมีตามเกิด ด้วยความช่วยเหลือของเหล่าภิกษุณีในสำนัก
เย็นวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินตรวจบริเวณวัด หลังจากเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ตามปกติ ได้ยินเสียงทารกร้อง จึงเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังกุฏิที่มีเสียงเด็กร้องลอดออกมา ด้วยความสงสัยในพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จเข้าไปก็ทอดพระเนตรเห็นนางภิกษุณีรูปหนึ่งกำลังให้นมทารกน้อยอยู่ จึงตรัสถาม ได้รับการถวายพระพรถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นว่าภิกษุณีมีความลำบากในการเลี้ยงลูก จึงตรัสขอไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรมในพระราชวัง นางก็ตัดใจมอบให้ไปเพื่อเห็นแก่อนาคตของลูกน้อย เด็กน้อยได้รับขนานนามว่า “กุมารกัสสปะ” แปลว่า กัสสปะผู้ได้รับการเลี้ยงดูดุจพระราชกุมารอื่นๆ
กุมารกัสสปะเจริญเติบโตพอรู้เดียงสาได้ทราบว่าตนเป็นลูกไม่มีพ่อ เกิดสลดใจอยากบวช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกบวชในสำนักของภิกษุสงฆ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ได้บอกว่าอายุเท่าไหร่ แต่ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท บอกว่าเป็นเวลา ๑๒ ปี
นับแต่ลูกน้อยจากไปภิกษุณีผู้เป็นแม่ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม มัวคิดถึงแต่ลูกน้อยผู้จากไป แสดงว่า กุมารกัสสปะคงบวชสามเณรเมื่ออายุประมาณสิบกว่าขวบ วันหนึ่งขณะสามเณรกุมารกัสสปะไปบิณฑบาตในเมือง นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาก็ไปบิณฑบาตเช่นเดียวกัน นางเห็นสามเณรน้อยจำได้ว่าเป็นลูกชายของตน จึงวิ่งเข้าไปหาปากก็ร้องเรียกว่า “โอ ลูกแม่ๆ” ล้มลงต่อหน้าบุตรชาย ถันหลั่งขีรธาราออกมาเปียกจีวรหมด
สามเณรน้อยอรหันต์คิดว่า ถ้าแม่เราได้ยินมธุรสวาจาจากเรา นางก็ยิ่งจะตัดความรักบุตรไม่ขาด เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมแน่นอน คิดแล้วก็กล่าวกับมารดาด้วยเสียงห้าวๆ ว่า
“มัวทำอะไรอยู่ จนป่านนี้แล้ว ยังตัดไม่ขาดกระทั่งความรักลูก”
คำพูดของสามเณรลูกชาย เป็นดุจสายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงกลางกระหม่อม นางร้องไห้ด้วยความเสียใจล้มสลบลง ฟื้นขึ้นมาไม่รู้สามเณรน้อยบุตรชายไปที่ไหนเสียแล้ว นางคร่ำครวญอย่างน่าสงสารว่า ดูหรือลูกเรา เราร้องไห้คร่ำครวญหาด้วยความรักความห่วงใยมาเป็นเวลาสิบสองปี พอพบหน้าจะพูดดีกับเราสักคำก็ไม่มี ช่างใจไม้ไส้ระกำอะไรปานนั้น นางพยายามข่มใจ ตัดความรักในบุตรได้ เรียกว่าเมื่อลูกไม่ง้อแม่ก็ไม่ง้อเหมือนกัน ว่าอย่างนั้นเถิด ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรทางจิต ไม่นานก็สามารถบรรลุมรรคผลชั้นสูง คือเป็นพระอรหันต์
ที่พูดนี้ก็เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายนี้ได้เป็นคติว่าเราต้องตัด อย่าเป็นพระมีครอบครัวในหัวใจ เรามาบวชแล้วเราก็ยังมีครอบครัว ยังห่วงพ่อ ห่วงแม่ ห่วงพี่ ห่วงน้อง ให้ตัดจริงๆ ให้ปล่อยให้วางจริงๆ
เมื่อเรายังไม่หมดกิเลส เรายังไม่สิ้นอาสวะ เราจะช่วยเหลือคนอื่นได้ยังไง แม้แต่ตนเองยังเอาตัวไม่รอด เราไปเมตตาคนอื่น เราไปสงสารคนอื่น ทำให้เราไปนิพพานไม่ได้น่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเมตตาตนเอง สงสารตนเอง ตั้งจิตตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้เรามีธรรมะ มีคุณธรรม เราเป็นพระทางใจ เป็นพระจริงไม่ใช่พระปลอม เดี๋ยวนี้เราเป็นพระปลอม เป็นพระแต่งตั้งเขาสมมติให้เราเป็นพระเฉยๆ แต่เรายังไม่เป็นพระจริง เมื่อเราเป็นพระจริง เราก็มีคำเทศน์คำบอกคำสอน นี่ถึงว่าเมตตาตนเองจริง
สามเณรกุมารกัสสปะเมื่ออายุครบบวชพระ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในเวลาต่อมา ว่ากันว่าท่านได้บรรลุธรรม เพราะได้ฟังปัญหาพยากรณ์ (การตีปริศนาธรรม) ๑๕ ข้อจากพระพุทธองค์ แล้วนำไปเพ่งพิจารณาในป่าอัมพวัน (ป่ามะม่วงแห่งหนึ่ง) จนกระทั่งกระจ่าง “สว่างวาบในใจ” บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทา (ความแตกฉานในเรื่องต่างๆ ๔ ประการ) ในคัมภีร์มิได้ระบุชัดว่า ท่านบรรลุก่อนบวชพระหรือขณะยังเป็นสามเณรอยู่
หลังจากอุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าพระกุมารกัสสปะมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการแสดงธรรมอย่างวิจิตร มีปฏิภาณปัญญาฉับไว โต้ตอบปัญหายากๆ ได้อย่างดี จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในด้านการแสดงธรรมอันวิจิตร
สมัยหนึ่งขณะท่านกุมารกัสสปะอยู่ที่ป่าอันธวัน เมืองสาวัตถี เทวดาตนหนึ่งปรากฏตัวต่อหน้าท่านกล่าวปริศนาธรรม ๑๕ ข้อแล้วก็หายวับไป ท่านกุมารกัสสปะนึกอย่างไรก็ไม่ทราบคำตอบ จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลถามปริศนาธรรม ๑๕ ข้อนั้น และกราบทูลขอคำอธิบายจากพระพุทธองค์
ปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ (วัมมิกสูตร) นั้นคือ
มีจอมปลวกหนึ่ง กลางคืนพ่นควัน กลางวันลุกเป็นไฟ พราหมณ์คนหนึ่งสั่งศิษย์ชื่อ สุเมธ ให้เอาจอบมาขุดจอมปลวกนั้น สุเมธจึงขุดลงไปพบลิ่มสลัก พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบอึ่งอ่าง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบทางสองแพร่ง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบหม้อน้ำด่าง พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเต่า พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบเขียงหั่นเนื้อ พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบชิ้นเนื้อ พราหมณ์สั่งให้เอาทิ้งไป ขุดลงไปอีกพบพญานาค พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกว่า อย่าไปทำอันตรายมัน จงเคารพนอบน้อมมันอย่างดีที่สุด
พระพุทธเจ้าตรัสไขปริศนาให้ท่านกุมารกัสสปะฟัง ดังนี้
๑. จอมปลวกนั้น หมายถึง ร่างกายของคนเรา อันประกอบขึ้นด้วย ธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) นี้เอง
๒. กลางคืนพ่นควัน หมายถึง คนเราเมื่อเวลากลางคืน มันจะคิดวางแผนว่าจะทำนั่นทำนี่ จนสมองเต็มไปด้วยโครงการต่างๆ เต็มไปหมด นี่แหละเรียกว่ากลางคืนพ่นควันละ
๓. กลางวันลุกเป็นไฟ หมายถึง พอเช้าขึ้นมาก็จะไปทำตามแผนการที่วางไว้ให้เป็นรูปร่าง เหนื่อยแทบสายใจจะขาด ดังคำพังเพยว่า “อาบเหงื่อต่างน้ำ” จนแทบว่าร่างกายจะลุกเป็นไฟ
๔. พราหมณ์ หมายถึง ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ในกรณีนี้เพ่งเอาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕. สุเมธ ผู้เป็นศิษย์พราหมณ์ หมายถึง ผู้ยังต้องศึกษาปฏิบัติเพื่อมรรคผล คำว่า “สุเมธ” (แปลว่าผู้มีปัญญา) บอกเป็นนัยว่าผู้ศึกษาปฏิบัติต้องใช้ปัญญา
๖. จอบ เครื่องมือสำหรับขุดดิน หมายถึง ปัญญา
๗. การขุด หมายถึง วิริยารัมภะ (ความเพียรที่ต่อเนื่อง) ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ละทิ้งกลางคัน
๘. ลิ่มสลัก หมายถึง อวิชชา (ความโง่เขลา ความไม่รู้ตามเป็นจริง) ขุดไปพบอวิชชาแล้วต้องรีบเอาทิ้ง คือเอาความโง่เขลาทิ้งไป หาไม่จะไม่ได้ผลจากการปฏิบัติ
๙. อึ่งอ่าง หมายถึง ความคับแค้นเพราะความโกรธ ในการปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามอย่าให้กิเลสฝ่ายโทสะเข้ามาครอบงำ
๑๐. ทางสองแพร่ง หมายถึง วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ความสงสัยไม่ตัดสินใจอะไรเด็ดขาด เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติเพื่อมรรคผลอย่างยิ่ง เป็นหนึ่งในนิวรณ์ (เครื่องปิดกั้นมิให้บรรลุธรรม) ๕ ประการ ข้อเปรียบเทียบนี้ชัดเจนแทบไม่ต้องขยายความ
๑๑. หม้อน้ำด่าง หมายถึง นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ อันมี ความพอใจในกาม เป็นต้น นิวรณ์ ๕ เป็นเครื่องย้อมใจให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ไม่ต่างกับหม้อน้ำด่างที่ย้อมผ้าให้เป็นสีต่างๆ พูดให้ชัดก็คือนักปฏิบัติธรรมไม่พึงให้กิเลสทั้งหลายมันย้อมใจจนสูญเสียปกติภาพ
๑๒. เต่า หมายถึง ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ยึดมั่นว่าเป็นตัวกู ของกู (ตัวมึง ของมึงด้วยแหละ) ไม่ว่าทำอะไร ถ้าเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นเกินเหตุก็ยากจะได้ผล ยิ่งการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุผลขั้นสูง ยิ่งต้องปล่อยวางความยึดติดในตัวเราของเราให้ได้
ทำไมเปรียบการยึดมั่นในขันธ์ ๕ ดุจเต่า อาจเป็นด้วยว่าเต่ามันเป็นสัตว์เชื่องช้า ความยึดติดในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้บรรลุผลช้าก็เป็นได้ หรือเต่านั้นกระดองหนามาก ความยึดมั่นถือมั่น “หนา” ไม่แพ้กระดองเต่า ยากที่จะทำลายได้ หรือเต่านั้นมีนิสัยชอบหดหัวเข้ากระดอง เดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่ การปฏิบัติธรรมถ้ามัวแต่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็คงไม่ได้ผลเท่าที่ควร
๑๓. เขียงหั่นเนื้อ หมายถึง กามคุณ (ชนิดของกาม ๕) คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ข้อนี้อธิบายง่าย ปุถุชนเราร้อยทั้งร้อยก็ตกอยู่ในอำนาจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้แหละท่านเปรียบเหมือนสัตว์ถูกจูงจมูก แล้วแต่มันจะจูงไปไหนเอาง่ายๆ บางคนเป็นทาสลิ้นติดใจในรสอร่อยเสือกสนไปหามาปรนเปรอลิ้น ไกลแค่ไหนก็ไป บางทีขับรถไปเป็นระยะทางเป็นร้อยๆ กิโลเมตรเพียงเพื่อไปกินก๋วยเตี๋ยวชามสองชามที่เขาว่ามันอร่อยนัก เวลาคนเราถูกครอบงำด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันไม่ต่างกับกำลังถูกเขา “ยกขึ้นเขียงเชือด” ยังไงยังงั้น ถูกเชือดบ่อยๆ แล้วมันจะเหลืออะไร
๑๔. ชิ้นเนื้อ หมายถึง นันทิราคะ (ความกำหนัดยินดี) ตัวความกำหนัดนี่แหละเป็นประดุจชิ้นเนื้อที่เอร็ดอร่อยนักสำหรับปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ใครมัวแต่เพลินกินชิ้นเนื้อก็ถูกเนื้อเป็นพิษเล่นงานเอา เสียผู้เสียคนไปนักต่อนักแล้ว
๑๕. พญานาค หมายถึง พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เมื่อขุดมาพบพญานาคนับว่าได้มาพบ “สิ่งประเสริฐที่สุด” แล้ว ไม่ควรเอาทิ้ง ตรงข้ามควรให้ความเคารพบูชา ข้อนี้อธิบายได้ว่า
ผู้ปฏิบัติฝึกฝนตนต้องพยายามละสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอุปสรรคแห่งการปฏิบัติให้หมดตามลำดับ ตั้งแต่ความเขลาไม่รู้จริง ความลังเลสงสัย ความโกรธ ความคับแค้น ความยึดมั่นถือมั่น ความติดในรูป รส กลิ่น เสียง เอาออกให้หมด
เมื่อละสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องละอะไรอีก เพราะได้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุดแห่งการปฏิบัติแล้ว
พระกุมารกัสสปะได้ฟังพระพุทธองค์ทรงไขปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ ก็หมดความสงสัย ท่านทำพระสูตรนี้แลให้เป็นกัมมัฏฐาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตผล
"....ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอนคอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานเปล่าๆ โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว ซึ่งเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า มาเป็นสมบัติของตน ด้วยความเข้าใจผิด ว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย
จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย"
"ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตาย ก็นับวันมากขึ้น นโยบายในทางโลกีย์ใดๆ ก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคต เพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนาจะไม่วิเวกวังเวง
ศาสนาทางมิจฉาทิฏฐิ ก็นับวันจะแสดงปาฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย
ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่แก่ธรรมดังไฟที่กำลังไหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร ทั้งโลกภายในหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด...
...นี่คือคำสอนที่องค์หลวงปู่มั่น เคยพูดอยู่เสมอๆ