แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๗๐ ผู้ที่ประหยัด สันโดษ และพอดี ย่อมมีชีวิตดังเศรษฐีทั้งทางโลกและทางธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เมื่อใจของเราไม่สงบ เมื่อเราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ เราก็ไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ เราไม่รู้จักคำว่านิพพาน เราคิดว่าทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง มันใช้ได้ มันไม่ได้นะ มันผิดพลาดนะ เราถึงไม่มีการประพฤติการปฏิบัติเลย ตาเห็นรูป เราก็ไม่ได้ปฏิบัติ หูฟังเสียงเราก็ไม่ได้ปฏิบัติ เพราะเราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ร่างกายสุขทุกข์อะไรเราก็ไม่ได้ปฏิบัติ เรามีแต่สนองความหลง เราดูแล้วเราไม่ได้แก้ใจของเราให้ ให้ใจของเราเกิดปัญญาเลย เราไม่ได้ให้อาหารที่ถูกต้อง มีแต่ให้อาหารที่ผิด ปัญญาของเราเลยไม่เกิด
ศีล ๕ นี้แม้จะเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบันอย่างนี้ก็มันก็ยังแก้ใจไม่สูงขึ้นได้ เท่าศีล ๘ เราดูตัวอย่างเด็กรุ่นใหม่สมัยใหม่ เค้าไม่รู้จักพวกความสุขทางจิตใจเลย เค้ารู้ความสุขตั้งแต่ทางกาย ค่าใช้จ่ายถึงมาก ทุกบ้านก็อาบน้ำเย็นไม่ได้ ต้องอาบน้ำร้อน ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ที่มุ่งมรรคผลพระนิพพานก็ยังไม่รู้จักเลย เราต้องรู้จักเหตุจักผลทำตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อสิ่งภายนอกจะได้อำนวยความสะดวก สิ่งภายในคือใจของเรา
ผู้ปฏิบัติธรรมที่นี่ จะพูดเรื่องจริง เช่น ตอนค่ำนี้มิเตอร์ไฟฟ้ามันวิ่งแจ้วเลย ก็ดูแล้วก็เพราะว่าทุกคนก็ใช้อาบน้ำร้อนน้ำอุ่นกัน ทั้งที่อากาศมันก็ไม่เย็นเกินอะไรเกิน ตอนค่ำแล้วก็ตอนตื่นขึ้นมาตี ๕ นี้แสดงถึงพื้นฐานจิตใจของเรานี้ไม่ได้เจริญภาวนาวิปัสสนา นี้แหละมันระดับศีล ๕ ก็ยังถือว่ายังตามใจตัวเองอยู่ คนเรา โอ๋...กว่าจะทำอาหารเสร็จต้องปรุ่งแต่งมากมาย ถ้าไม่อร่อยก็ทานไม่ได้ มันก็เลยหวานมากเกิน เค็มมากเกิน มันมากเกิน เราก็เอาโปรตีนจากพวกสัตว์เค้าอะไรอย่างนี้ มันแสดงออกถึงเราไม่ได้พัฒนาใจ ให้ใจของเราฉลาด เป็นผู้ที่หนักในเรื่องอยู่ เรื่องกิน เรื่องนอน การปฏิบัติธรรมนี้ถ้ามันไม่มีร้อน เราก็ไม่ได้ทำใจนะ ถ้าไม่มีหนาว เราก็ไม่ได้ทำใจ
พระวัดป่า พระกรรมฐานรุ่นเก่าท่านถึงอยู่กุฏิกระต๊อบกระแต๊บ มักน้อยสันโดด ปีหนึ่งสมัยยังไม่มีไฟฟ้า ยังไม่มีแสงสว่าง ปีหนึ่งใช้สบู่ถูตัวนี้ก็ปีละ 1 ก้อน สบู่ไม่ใช่สบู่หอมด้วย ใช้สบู่ซันไลต์ เพราะพระเรานี้แหละไม่ส่องหน้า ไม่ประเทืองผิว ก็ใช้อย่างนั้น การล้างบาตรล้างอะไรนี้ก็ต้องให้สะอาดด้วย รักษาความสะอาด ไม่ใช่รักษาด้วยแฟ้บ ด้วยสบู่ เพื่อจะได้ไม่มักง่าย ถ่านไฟฉายสมัยตั้งแต่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอะไรก็ใช้ปีละ 1 คู่ เอาไว้ส่องที่จำเป็นนิดเดียว ส่องแล้วก็ดับ เพราะว่าไม่ได้ตามใจ ไม่ได้ฟุ่มเฟือย เพราะมันเป็นการฝึกที่จะแก้ใจ
พระพุทธเจ้าท่านให้พระมาฝึกใจ น้ำปานะอย่างนี้ก็ให้ดื่มได้เวลาป่วย เวลาป่วยไม่ได้ฉัน ตอนเย็นตอนบ่ายเหมือนกับสมัยทุกวันนี้ อย่างนี้เค้าเรียกว่าไม่ได้ฝึกใจ ไม่ยอมให้ตัวเองหิว เมื่อมันไม่หิว เราก็ไม่ได้ทำใจ ทุกอย่างต้องพยายามมาแก้ที่ใจของเรา เราถึงจะมีโอกาสได้ภาวนา คนเรามันตามใจไม่ได้ มันอยากจะไปเราก็ไม่ไป เพราะคือมันไปตามใจอย่างนี้ มันอยากจะคิดเราก็ไม่คิด เพราะอย่างนี้แหละ มันไม่อยากไปก็ไป ไปทำวัตรสวดมนต์ ไปบิณฑบาตร มันปฏิบัติมันต้องอย่างนี้ มันถึงจะได้แก้ใจ อะไรก็ตามใจเหมือนลูกคนรวย มันก็ไม่ได้ปฏิบัติ มันเป็นขาลง
เรื่องน้ำอย่างนี้พระโบราณ พระเก่า วันหนึ่งก็ใช้น้ำไม่กี่ลิตรหรอก เพราะน้ำต้องไปเอามาไกล ก็พากันทำใจ ทุกวันนี้ก็เราก็เปิดน้ำ เปิดไฟก็ไม่ได้คิด ไม่ได้ปฏิบัติธรรมนะอย่างนี้ เรามาคิดดูดีๆ พระอรหันต์เค้าจะเบียดเบียนทรัพยากรน้อยที่สุด ถ้ามาเห็นเรา เค้าจะว่าเราเป็นพวกคนบ้านะ ไม่มีความสงบ ไม่มีปัญญา ไม่ได้แก้ใจ บวชมาก็ไม่ได้ปฏิบัติอะไร อย่างนี้ไม่ได้ พวกที่ไม่ได้บวช ก็ต้องประหยัดเหมือนกัน ถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้ละก็ เราก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างของลูกของหลาน เราก็ไม่ได้ฝึกลูกเรา ลูกเราก็เสียคน เสียคนก็ไปว่าให้ลูกเรา อันนั้นไม่ใช่ มันอยู่ที่พ่อแม่ พ่อแม่ทำให้ลูกเสียคน เพราะเราปฏิบัติไม่ได้ เราก็ไม่ได้เป็นตัวอย่างแบบอย่าง เราก็เอาตั้งแต่ตามใจอย่างนี้ ไม่ได้นะ ต้องเป็นคนมีเหตุ มีผล เราจะไปว่า โอ้...ทำอย่างนี้มันจะไม่ทำตัวลำบากหรือ อันนี้คือการฝึกใจเรา ฝึกตัวเรา ถ้าเราไม่ฝึกเราไม่ปฏิบัติเรา มันไม่ได้ การประพฤติการปฏิบัติติดต่อกันหลายวัน หลายเดือน หลายปี คนเราถ้าพูด ให้ไปแก้ไขตัวเองกันทุกคน เค้าก็เงียบเลย เพราะว่ามันแตะต้องตัวเองไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง ธรรมเหล่าเป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นไปเพื่ออยากใหญ่ ทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเองอย่างนี้ เค้าเรียกว่าเป็นการไม่เสียสละ
ไฟแสงสว่างที่เราเปิดสว่างตามถนนหนทาง ถือว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ฟุ่มเฟือย แต่สิ่งที่ฟุ่มเฟือยที่เราจะได้ฝึกตัวเอง มันต้องเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวกับกินอย่างนี้ เราก็อย่าไปตามใจ กินเผ็ดมาก เค็มมาก หวานมาก มันมาก เราก็ต้องเอาแต่พอดี อย่าให้เหลือ เช่น เราไม่อาบน้ำร้อนอย่างนี้ ถ้ามันไม่หนาวมากเกิน อย่าไปอาบน้ำร้อน ให้มันอากาศลงใกล้ๆ เลข 10 ถ้าระดับ 20 องศาอย่างนี้ เราก็ยังจะอาบน้ำร้อน ก็ถือว่าเรายังไม่ได้ฝึกใจนะ เจ้าอาวาสท่านเทศน์บอกพระว่า ค่าไฟมาก แต่เราคิดตามเหตุผล ไฟมันขึ้นมากก็มันหมุนติ้วตอนคนอาบน้ำ ตอนเช้ากับตอนเย็น แสดงว่าพระเรา ผู้ปฏิบัติธรรมของเราไม่ได้ทำใจ แม้แต่ผู้จะมาปฏิบัติธรรม ถ้าไม่มีน้ำร้อนก็อยู่ไม่ได้ เพราะนิสัยเสีย พระเราอยู่ในระดับ 25 องศสนี้ก็อาบน้ำเย็นไม่ได้แล้ว เพราะอันนี้มันเป็นเพราะการติด พวกนี้มันต้องฝึกบ้าง ถ้างั้นร่างกายมันก็ไม่แข็งแรง
อย่างหลวงพ่อกัณหาสมัยที่เดินธุดงค์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง อากาศลง 2-3 องศา ต้องอาบน้ำในลำห้วย ตั้งแต่ยังไม่สว่าง เพื่อให้ร่างกายมันมีภูมิต่อสู้กับความหนาวเย็น เหมือนเหล็กมันจะแข็งก็ต้องชุบน้ำเย็น ร่างกายของเรานี้ทำไมพวกสัตว์ต่างๆ มันไม่หนาวตาย เพราะว่าใจมันยอมรับ ทำไมความร้อนมันก็ทนได้ เพราะใจมันยอมรับ เราเป็นมนุษย์ที่มีปัญญาเราก็ดูไปดูมาก็ยังแย่กว่าสัตว์บางอย่าง สมาธิเราก็ยังสู้เค้าไม่ได้เลย ถ้าไม่ถึงเวลามันก็ไม่ออกมา ถึงแม่สิ่งนั้นมันมีฟุ่มเฟือย เราอย่าไปคิดว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องฝึกต้องอด เพราะว่าอันนี้มันเรื่องจิต เรื่องใจ เราก็ต้องฝึกอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ทำไมเราถึงรักษาศีล ก็เพื่อที่จะแก้ใจของเรา ทำไมรักษา…เพื่อจะแก้จิต แก้ใจ หรือเพื่อจะฝึกจิต ฝึกใจ หลวงพ่อนะเห็นหลวงปู่ฉลวยท่านฝึกพระรุ่นเก่าอย่างนี้แหละ วันหนึ่งท่านใช้น้ำวันละไม่เกิน 3-4 ลิตร ทั้งอาบ ทั้งฉัน ทั้งล้างบาตร ก็ต้องฝึกกับท่าน เวลาล้างบาตรอย่างนี้ก็ใช้น้ำก็ประมาณครึ่งแก้ว บาตรก็สะอาดแล้ว ต้องหาวิธี เวลาสรงน้ำก็ต้องเอาน้ำใส่แก้ว แล้วก็เอาผ้าจุ่มน้ำแล้วก็เช็ดตัว แล้วเปลี่ยนน้ำ 2-3 ครั้ง ร่างกายของเรามันก็สะอาดแล้ว มันต้องอาศัยฝึก
เรื่องค่าใช้จ่ายอย่างนี้เราทุกคนมันต้องจ่าย ต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายทั้งภายนอก อย่าไปฟุ่มเฟือย เอาในหลวงมหาภูมิพลเป็นหลัก เป็นตัวอย่าง ท่านเป็นพระกษัตริย์ แต่ท่านประหยัดที่สุดในโลก พระอรหันต์ทุกรูปประหยัดที่สุดในโลก เค้าไม่ทำอะไรตามใจ ถ้าทำตามใจคือความเสียหาย อย่างปฏิปทาของหลวงพ่อกัณหาเนี้ย ที่บวชเป็นพระเด็กพระหนุ่ม ปีหนึ่งใช้ไฟฉายรุ่นเก่าไม่มีที่ชาร์จเหมือนทุกวัน ปีนึงใช้ถ่านไฟฉายปีละ 1 คู่เท่านั้นน่ะ สบู่ซันไลต์ปีละ 1 ก้อน ปฏิปทาอะไรอย่างนี้นะ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนี้กัน จะไม่มีใครฟุ่มเฟือย ใช้น้ำส่งเดช ใช้ไฟส่งเดช หลวงพ่อ กัณหาอยู่กับหลวงพ่อฉลวย ท่านให้ใช้น้ำวันละ 1 กา ทั้งอาบ ทั้งสรง ทั้งดื่ม ทั้งล้างบาตร วันละ 1 กา กานี้ก็ 3-4 ลิตร ก็ต้องหาวิธีให้มันไปได้ เพื่อฝึกปฏิปทาอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ หลวงตามหาบัวนี่ประหยัดมาก ไปวัดแพร่ หรือไปที่ไหนที่เกี่ยวข้องกับหลวงตามหาบัว ก่อนจะนอนท่านจะมองไฟดวงไหนไม่ได้ปิดอะไร นี้ก็อยู่ห่างรัศมี ท่านก็จะไปหาปิด เพราะเขาทำสวิตไฟไว้ ไม่ให้ใครเห็น รู้เฉพาะวัด ท่านก็ยังไม่ได้นอน ต้องไปถามท่าน หลวงตาทำไมท่านไม่พักผ่อน จำวัด หลวงตาบอกว่าไฟดวงนั้นยังไม่ได้ปิด ดูสิพระอริยเจ้าท่านไม่ใช่คนฟุ่มเฟือยอะไร
ท่านเจ้าคุณพุทธทาส นี้ประหยัดกระดาษทิชชู่ นี้ไม่ให้พระสงฆ์ใช้หรอก ต้องตัดเอาผ้าเอาไว้เช็ดมือเช็ดอะไรต่างๆ บนโต๊ะทำงานซึ่งเป็นโต๊ะฉันของท่านด้วยนั้น พอท่านฉันอาหารเสร็จ กระดาษชำระที่ใช้แล้วก็เอามาเช็ดโต๊ะ แล้วจึงทิ้งมีบางครั้งท่านเช็ดแล้วไม่ทิ้ง เราไปเห็นเข้า เราบอกท่านอาจารย์ครับ อันนี้ทิ้งนะครับ ท่านบอกไม่ทิ้ง มันไม่เลอะอะไร เอาเช็ดน้ำเฉย ๆ ให้เอาไว้ตรงนั้น เดี๋ยวมันแห้ง เอามาเช็ดได้ใหม่ ท่านประหยัดและละเอียดขนาดนี้เลย ปกติพวกเรานั้น เช็ดทิ้ง ๆ”
ท่านอาจารย์โพธิ์พูดถึงเรื่องความประหยัดของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า “อาตมาเห็นว่าท่านประหยัดทุกเรื่อง ท่านพูดชัดเจนว่า ทำอะไรต้องประหยัดให้มากที่สุด ความเป็นอยู่ของท่านอาจารย์ เราจะเห็นว่าท่านประหยัดมาก อาหาร ที่อยู่ ที่หลับที่นอน อะไร ๆ ก็เรียกว่าไม่ต้องใช้ของแพง มีอะไรใช้ได้ก็ให้ใช้ อะไรที่ยังใช้ได้ก็ไม่ค่อยจะรื้อทิ้งพยายามที่จะรักษาและใช้มันก่อน ท่านมีนิสัยอย่างนี้ตลอดเวลาเท่าที่อาตมาสังเกตเห็นจากท่าน”
ท่านทำให้ดู อยู่ให้เห็นว่า อำนาจวัตถุนิยมทำอะไรท่านไม่ได้ มาโดยตลอดชีวิตของท่าน สมดังคำที่ท่านสอนเสมอว่า เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง
กรณีหนึ่งจากพระไตรปิฎก กล่าวถึงการใช้สอยจีวรของพระภิกษุสงฆ์ในครั้งพุทธกาลว่า “พระอานนท์” เป็นผู้ที่ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก
ดังเหตุการณ์ที่พระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งนครโกสัมพี เสื่อมใสในการแสดงธรรมของพระอานนท์ จึงได้ถวายจีวรจำนวน ๕๐๐ ผืนแด่พระอานนท์ เมื่อพระเจ้าอุเทน ทราบจึงตำหนิพระอานนท์ว่ารับจีวรไปจำนวนมากว่าเอาไปทำอะไร เมื่อได้โอกาสจึงนมัสการถาม
“พระคุณเจ้า ทราบว่าพระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า ๕๐๐ ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ”
“ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด”
“พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก?”
“เพื่อแบ่งถวายแก่พระภิกษุผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า”
“ขอโอกาสถาม ... แล้วจะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร ?”
“เอาไปทำเพดาน” “จะเอาผ้าเพดานเก่าไปทำอะไร?”
“เอาไปทำผ้าปูที่นอน” “จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร?”
“เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า” “จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร?”
“เอาไปทำผ้าเช็ดธุลี” “จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร?”
“เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาบนฝาผนัง”
พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่าพระสมณบุตรเป็นผู้ประหยัด จึงถวายผ้าจีวรอีก ๕๐๐ ผืนแด่พระอานนท์
นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประหยัดอย่างชาวพุทธ โดยรายละเอียดมากกว่านี้ ผู้เขียนจำได้ว่าจริงๆ มีถึง ๘ ขั้นตอน การใช้สอยจีวรแบบเต็มอัตถประโยชน์สูงสุดจริงๆ ไม่เหลือทิ้งแม้เศษผ้าจีวรเลย คือไล่ตั้งแต่ เย็บ ชุน ปะ ทำเพดาน (เพราะปะไม่ได้แล้ว) ปูนอน เช็ดเท้า เช็ดธุลี (ฝุ่น) โขลกให้แหลก ผสมกับโคลนปะผนังกุฏิดิน (ครบ ๘ ขั้นตอน) หากพวกเราได้น้อมประยุกต์แนวคิดนี้ กับสิ่งของที่เราใช้สอยอยู่ ก็น่าจะลดดีกรีการจับจ่ายที่ฟุ่มเฟือยลงได้บ้างไม่มากก็น้อย นี้เรื่องหนึ่ง
ศิลปะการประหยัดของพวกเราชาวพุทธ ซึ่งต่างเป็นพุทธศาสนิกชน จะช่วยให้การดำรงชีพของพวกเราไม่ยากลำบาก ผ่านทุกวิกฤติไปได้อย่างราบรื่น ลองสำรวจตัวท่านเอง หากท่านได้ลองประยุกต์ใช้สอยอย่างประหยัด (หรือแม้แต่พยายามทำก็ยังดี) ทำอย่างเต็มภาคภูมิ ไม่อายใคร เพราะไม่ได้เบียดเบียนใครแล้วไซร้ ... รายเหลือ (รายได้ลบรายจ่าย) ของท่านก็จะมากขึ้น การเก็บออมเงินสำรองครอบครัวก็จะได้เพิ่มขึ้น สถาบันครอบครัวมีความมั่นคงตามอัตถภาพมากขึ้น ไม่ต้องตกเป็นทาสแห่งอำนาจเงินตราจากใคร, ไม่ต้องพึ่งพาผลประโยชน์ที่ผิดๆ จากผู้มีอิทธิพลรายใด, ไม่ยอมให้เงินตรามีผลต่อชีวิตมากกว่าคุณงามความดี ... ทำได้เช่นนี้ ทุกปี จะมีมหาอุทกภัยมา ก็ไม่ทำให้เรายากจนลงไปได้ แต่หากใครไม่รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้รู้จักประหยัด รู้จักสมถะ ตัดเสียเรื่องความฟุ่มเฟือย เลิกเสียซึ่งปาปมิตร เพื่อนที่ชักจูงไปแต่ทางเสื่อม เสียแต่ตอนนี้ ชีวิตก็คงจะผูกขาดความจนไปตลอด อย่างไม่ต้องสงสัย ดังภาษิตที่จะปิดท้ายบทนี้ ฉันใดฉันนั้น …
ยังไม่จน อยู่อย่างคนจน ไม่มีวันจน
ยังไม่รวย อยู่อย่างคนรวย (เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง) ไม่มีวันรวย
เราทำอะไรก็ให้มีความสุข อย่าให้หงุดหงิด มันต้องฝึก ต้องฝืน ถึงเวลาต้องตื่นขึ้นเหมือนเค้าเอาค้อนมาตีหัว ไม่ใช่จะนอนซบเซา ต้องปรับตัวเองเข้าหาเวลา อารมณ์ของเราใจของเรามันต้องอยู่กับปัจุบัน อยู่กับสติสัมปชัญญะ ต้องอยู่กับเนื้อกับตัวและก็มีปัญญาด้วย เค้าเรียกว่าอย่างเค้าเข้ากรรมฐานสายท่านมหาสีสยาดอ เค้าไม่ให้ใจออกนอกห้อง ก็ต้องฝึก ถ้าใจเรายังออกนอกห้องอยู่ มันก็ใช้ไม่ได้ ถ้าใจของเรามีแต่สงบอย่างเดียว มีสติอย่างเดียว ไม่มีสัมปชัญญะอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ ต้องสงบด้วยมีปัญญาด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ต้องเป็นอันเดียวกันอย่างนี้
ทุกท่านทุกคนต้องพากันฝึกตัวเองนะ พากันปฏิบัติตัวเอง ถ้างั้นเสียเวลา มันต้องแตะต้องตัวเองได้ ทุกคนไม่ยอมแตะต้องตัวเองนะ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันถึงเข้าถึงความเป็นธรรม ความยุติธรรมไม่ได้ เพราะศีลไม่มี สมาธิไม่มี ปัญญาไม่มี ไม่ได้ประพฤติ ไม่ได้ปฏิบัติเลย แล้วก็ไปว่ามรรคผลนิพพานหมดสมัยแล้ว อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ใช่ความยุติธรรม
เมื่อวานเป็นวันบวชเณรเพื่อเตรียมบวชพระ เราทุกคนนี้โชคดีพระเจ้าอยู่หัว ให้เราลาบวชได้ ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจ คำว่า พระ พระนี้ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่นิติบุคคล พระนี้หมายถึง พระธรรม พระวินัย เป็นอริยมรรค ในการเดินทางที่ประเสริฐสู่มรรคผลนิพพาน ผู้ที่เข้ามาบวช ถือเป็นผู้ที่มีบุญ มีวาสนา เป็นผู้ที่ปฏิบัติบูชา ต้องเอาตัวเรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน เราจะไม่ได้เป็นนิติบุคคล เราจะได้เป็นธรรมวินัย เรียกว่า พรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์เถิด ทุกท่านทุกคนต้องเปลี่ยนเเปลงตัวเองใหม่ ถึงว่าเราจะบวชวันเดียว 7 วัน หรือ 15 วัน หรือ หลายเดือน หรือ ตลอดชีวิต เพื่อมรรคผลพระนิพพาน เราทุกท่านทุกคนต้องทิ้งนิสัยเก่า มาถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ละอบายมุข ได้เเก่ ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก เค้าเรียกว่า อบายมุข เอาอารมณ์ตัวเองเป็นที่ตั้ง ขี้เกียจขี้คร้าน เรียกว่าอบายมุข
เราต้องตั้งมั่นเข้าหาพระธรรม พระวินัย เราต้องตั้งมั่นมีความสุขในการปฏิบัติธรรม ในการประพฤติปฏิบัติ เราต้องบวชกายด้วย บวชวาจาด้วย บวชใจด้วย เพราะว่า ถ้าเราบวชกาย เค้าเเสดงภาพยนต์เเสดงละคร เอาเสื้อผ้าอาภรณ์สวมใส่พวกลิง อย่างนี้ไม่ได้ มันต้องบวชใจด้วย เน้นไปที่ใจ เพราะการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องของจิตของใจ การประพฤติการปฏิบัติของเราต้องติดต่อต่อเนื่อง เราทุกคน บวชมาพ่อเเม่ก็มากราบมาไหว้ ปู่ย่าตายายก็มากราบมาไหว้ พระมหากษัตริย์ก็มากราบมาไหว้ เพราะเราไม่ได้เป็นนิติบุคคล เราเป็นธรรมวินัยเเล้ว ทุกคนต้องเอาใหม่ อนาคตมันอยู่ที่ปัจจุบันเเล้ว เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี
เราต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจมันจะบวชแค่กาย ไม่ได้บวชใจ เพราะว่าใจยังคิดไปตามสัญชาตญาณ ไปยินดีในความขี้เกียจขี้คร้าน ไปยินดีในความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ยังยินดีในกาม ใจมันยังไปมี sex ไปมีเพศสัมพันธ์ทางอวิชชา ทางความหลง อันนั้นมันไม่ได้ อันนี้มาบวชถือว่าบวชแต่กาย แต่ใจไม่ได้บวช
พระพุทธเจ้าท่านก่อนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าท่านอธิษฐานที่จิตที่ใจ ว่าท่านต้องเสียสละ ปกติน้ำมันจะไหลไปทางต่ำ การประพฤติปฏิบัติมันต้องทวนกระแส เพราะใจเรามันเป็นโยม เป็นฆราวาส มันอยู่กับความเห็นแก่ตัว ใจของเรามันจมอยู่ได้อบายมุข อบายภูมิ แต่เราไม่เอาแล้ว ถ้าเราเอาก็ยังมี sex ทางอวิชชา ทางความหลง มี sex ทางความคิด ทางอารมณ์ เราต้องกลับมาหาสติ สัมปชัญญะ กลับมาหาลมหายใจเข้าให้รู้ชัดเจน ลมหายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน ลมหายใจเข้าสบาย ออกสบาย แต่ก่อนเราเคยอยู่แต่สิ่งภายนอก อยู่แต่หน้าที่การงาน อยู่แต่กับเพื่อนกับฝูง อันนี้มันไม่ได้ มันอยู่กับสิ่งภายนอก มันไม่ได้อยู่กับสภาวะธรรมที่หยุดตัวเอง ที่กลับมามีสติ สัมปชัญญะ ต้องกลับมาหาตัวเอง กลับมาหายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน มาหายใจเข้าท่องพุธ หายใจออกท่องโธ
มันต้องเปลี่ยนวิถีจิต กาย วาจา ใจ ของเราใหม่ เรื่องอดีตลบให้เป็นเลขศูนย์ เรื่องอนาคตก็ลบให้เป็นเลขศูนย์ มันก็อยู่ที่ปัจจุบันนี้แหละ ถ้าเเม้เราจะบวชวันเดียวก็ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้มุ่งมรรคผลนิพพาน บวชจนตายก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ปกติเราเห็นพระตามวัดบ้าน เขาไม่ปฏิบัติกัน เราก็ยังถือว่าไม่ใช่มาตรฐานของพระพุทธเจ้า เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ปกติพระคุณเจ้า พระคุณเณร เขาก็มีโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต เฟสบุ๊ค ก็ถือว่าไม่ใช่มาตรฐานของพระพุทธเจ้า ยังยินดีในทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน ยังเป็นผู้ที่มีอวิชชา มีความหลง เราไม่เอา เพราะเวลาเรามีค่า มีราคา มีความสำคัญ เราต้องบวชให้มันเกิดบุญ ให้เกิดความดีที่บริสุทธิ์ ให้เกิดกุศลคือสติ ปัญญา ตามพระพุทธเจ้า เรื่องโทรศัพท์มือถือเราก็ไม่เอา พ่อแม่มาเยี่ยม ญาติพี่น้องมาเยี่ยม เราก็ต้องอดทนไม่ต้องโทร มีอะไรก็ให้ทางบ้านจัดการให้ เราไม่ต้องเลี้ยงมหาโจรไว้ในตัวเรา ทำอะไรต้องทำจริง อย่าไปลูบคลำเป็นสีลพัตปรามาส ลูบคลำในศีลในข้อวัตร
ชีวิตคนเราผ่านมามันผิดพลาดเยอะ การบวชนี้ถือว่ามีบุญใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ฝึกใจ ฝึกตนต้องมาช่วยเหลือตัวเองเต็มที่ ถึงจะเป็นพระธรรม พระวินัย เป็นพระศาสนา การบวชของเราถึงจะส่งบุญส่งกุศลให้ถึงพ่อ ถึงแม่ ถึงประชาชนคนทำบุญใส่บาตร ไม่อย่างนั้นมันไม่ใช่ ตัวเองยังเอาตัวเองไม่รอด การกระทำไม่ใช่การเล่นหนัง เล่นละคร มันเป็นชีวิตจริงๆ ให้มีสติสัมปัชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม เวลาทำวัตร สวดมนต์ก็เสียงดังฟังชัด การกราบพระก็ต้องทำด้วยความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ต้องใจอยู่กับเนื้อกับตัวเต็มที่ พ่อแม่ทุกคนก็พากันดีใจ ลูกเราหลานเราจะได้ฝึกตัวเองเต็มที่ อย่าไปกลัวเขาเหนื่อย เขาผอม เขาตาย
จิตใจของเรามันส่งออกไปข้างนอก จะให้มันอยู่กับลมหายใจเข้า ใจออก มันก็ไม่อยากอยู่ เพราะว่ามันชำนิชำนาญในเรื่องอารมณ์ของสวรรค์
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นโทษเป็นภัยสำหรับเรา ถ้าเรามีอารมณ์อย่างนี้มากๆ มันเลยเป็นคนไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไปคิดในสิ่งไม่น่าคิด มันบวช...มันก็บวชแต่กาย ใจมันไม่ได้บวช มันมาอยู่วัดปฏิบัติธรรมมันมาแต่กาย แต่ใจมันไม่ได้มา
พระพุทธเจ้าท่านให้เราบวชทั้งกาย บวชทั้งใจ ผู้ที่บวชกายไม่ได้ ก็ให้บวชใจนะ เราบวชกายนี้มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ถ้าเราไม่บวชทั้งกายทั้งใจ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันเน้นเข้าหาเรื่องจิตเรื่องใจ มารู้เรื่องจิตเรื่องใจ รู้อารมณ์ รู้สิ่งที่จะต้องแก้ในตัวเรานี้ บวชพระหลายปี อยู่วัดหลายปีมันก็ไม่ได้เรื่องนะ เพราะว่ามันไม่ได้บวชใจ มาอยู่วัดหลายปี มันก็ไม่ได้เรื่อง เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติใจ
พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอน ท่านเน้นให้เราพากันประพฤติปฏิบัติ เพราะความแก่มันก็เข้ามาถึงเราทุกวัน ความเจ็บ ความตาย ก็เข้ามาทุกวันนะ อีกสักวันมันต้องถึงเราแน่นอน เดี๋ยวเราก็มาคิด ในใจเราเองว่า เราบวชมาหลายปีแล้วจิตใจเราเองก็ไม่ได้มีอะไรเลย ไม่ได้เป็นอะไรเลยน่ะ มันจะมีอะไร มันจะเป็นอะไรล่ะ เพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย
เราต้องอด... ต้องทน... ต้องฝืน... ต้องปฏิบัติน่ะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทุกคนเอาความขี้เกียจขี้คร้าน เป็นการปล่อยวาง เราทุกคนมันอินทรีย์อ่อนน่ะ เลยพากันเอาความขี้เกียจขี้คร้านเป็นการวางปล่อย เป็นความไม่ยึดไม่ถือนั้นไม่ใช่ ไม่ถูกไม่ต้องน่ะ การปล่อยวางอย่างนั้นน่ะเป็น อาการที่จิตใจไม่มีกำลัง "เมื่อไม่มีกำลังแล้วมันก็หมดแรง เร่งไม่ออก เร่งไม่ขึ้น" เพราะเรายังมีความเห็นผิด เราคิดว่าเราไม่เอาอะไรแล้วเราปล่อยวาง เราเลยไม่ทำความเพียร เราไม่ฝืน ไม่อด ไม่ทน
วินัยที่พระพุทธเจ้าบังคับเราน่ะ เราต้องปรับใจหาพระวินัย ข้อวัตรปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นน่ะให้เราปรับใจเข้าหาปฏิปทาในการประพฤติปฏิบัตินี้ต้องให้ต่อเนื่องกันน่ะ พยายามเอาปัจจุบันให้มันได้ อย่าไปมองไกล เดี๋ยวนี้ก็ปัจจุบันน่ะ แม้มันจะผ่านไปข้างหน้าอีกหลายปี มันก็เป็นปัจจุบันน่ะ เพราะพระอาทิตย์ หรือดวงจันทร์เท่านั้นน่ะที่มาบอกเวลา แต่ที่จริงแล้วใจของเราถ้าไม่อยู่กับสิ่งแวดล้อม เราอยู่กับภาคปฏิบัติมันก็เป็นปัจจุบันไปตลอด...
"การประพฤติปฏิบัติของเรามันถึงไม่มีอดีต...ไม่มีอนาคต...ไม่มีกลางวัน กลางคืนน่ะ เป็นการทำหน้าที่ที่ดีที่สุด อย่างนี้แหละ คือการอบรมบ่มอินทรีย์"
ถ้าเราทำตามพระพุทธเจ้าด้วยไม่คิดในสิ่งที่เรากำลังอยากน่ะ ๗ วัน ใจของเรามันก็จะเย็น อย่างกลางก็ ๗ เดือน หรืออย่างมาก ก็ไม่เกิน ๗ ปีน่ะ
ทุกท่านทุกคนต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันหมดทุกคน ถ้าผู้นั้นตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าเรารู้เฉยๆ เราไม่นำมาประพฤติปฏิบัติก็ถือว่าเป็น 'โมฆบุรุษ' เป็นบุรุษที่เปล่าประโยชน์ "ให้ทุกท่านทุกคนกลับมาดูตัวเองนะ ว่าเราเป็น...โมฆบุรุษ หรือว่าเป็นโมฆสตรีมั้ย...?"
ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติน่ะ ก็ให้เรารู้เลยว่า เราเป็นโมฆะ ถึงจะอายุเกิดนาน...มันก็ไม่มีประโยชน์ ถึงจะบวชนาน...ก็ไม่มีประโยชน์ ถึงจะรู้มาก...ก็ไม่มีประโยชน์ บริโภคปัจจัยสี่ก็มีแต่บาปแต่กรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... เหมือนกับบุรุษผู้หนึ่งที่กำลังบริโภคเหล็กแดงๆ น่ะ การที่เราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัตินี้มันก็ยิ่งกว่าบริโภคเหล็กแดงๆ ซะอีก
บวชนานไม่นานไม่สำคัญเท่ากับการที่ได้บวชมาแล้ว มีเจตนาตั้งใจในการปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ พระบวชนานถ้าขี้เกียจขี้คร้านก็สู้พระใหม่ๆ ที่บวชระยะสั้นแต่ปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วีริยํ อารภโต ทฬฺหํ ฯ ผู้มีความเพียรมั่นคง มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี ของผู้เกียจคร้าน ไร้ความเพียร
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอไม่หมกมุ่นกับการงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมสูงๆ ขึ้นไปแล้ว ตราบนั้น พวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่พึ่ง เรียกว่าเป็น ธรรมาธิปไตย เราต้องไม่ประพฤติย่อหย่อน ไม่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า ให้สมกับได้เป็นมนุษย์ผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง