แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๖๙ ธรรมะใบไม้กำมือเดียว เข้าใจให้เชี่ยวชาญ ย่อมมีพระนิพพานเป็นที่หวัง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความดับทุกข์ของมนุษย์ของเรานี้มันอยู่ใกล้ๆนี่เองอยู่ที่เรามีสติ มีสัมปชัญญะ ไม่ได้อยู่ไกลเลย เราเพียงแต่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และก็ปฏิบัติถูกต้อง มีสติ ในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าสอนง่ายๆ อย่างนี้แหละ เพราะธรรมะมันมีมากมาย เหมือนใบไม้ในป่าไม้อย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ ป่าไม้ประดู่ลาย เขตเมืองโกสัมพี ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ถือเอาใบประดู่ลาย แล้วทรงตรัสถามพระภิกษุทั้งหลายว่า ใบประดู่ลายในฝ่าพระหัตถ์กับที่อยู่บนต้น อย่างไหนมีมากกว่ากัน พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลว่า ใบประดู่ลายที่อยู่บนต้นนั้นมีมากกว่า
พระพุทธองค์ทรงตรัสอธิบายว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงหยั่งทราบด้วยพระปัญญาอันยิ่งนั้น มีมากกว่าธรรมที่พระองค์ทรงประกาศ เปรียบดังใบประดู่ลายที่อยู่บนต้นนั้น มีมากกว่าในฝ่าพระหัตถ์ แล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ทรงแสดงธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเปรียบดังใบประดู่ลายบนต้นนั่นก็เพราะธรรมเหล่านั้น ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับทุกข์ ความสงบ ระงับ ความรู้ยิ่ง การตรัสรู้ และพระนิพพาน
หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ อธิบาย "ใบไม้กำมือเดียว" เรียนพุทธศาสนา ต้องเรียนเพื่อดับทุกข์ "เรียนเฉพาะที่พระพุทธเจ้าท่านขอให้เรียน อย่างนี้ "เรียนกำมือเดียว" โดยเปรียบเทียบว่า ความรู้ทั้งหมดที่ตถาคตได้ตรัสรู้นั้น มีปริมาณมากเท่ากับใบไม้ทั้งป่า ทั้งดง ทั้งประเทศ แต่ว่าที่เอามาสอนเธอทั้งหลายนี้เท่ากับ "ใบไม้กำมือเดียว"
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ปุพฺเพ จาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ, ทุกฺขญฺเจว ปญฺญาเปมิ, ทุกฺขสฺส จ นิโรธํ " (แปลว่า) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติสอน เฉพาะเรื่องความทุกข์ กับเรื่องความดับทุกข์เท่านั้น" ก็หมายความว่า ถ้ามันไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ละก็ ไม่ต้องสอน ไม่ทรงเอามาสอน แล้วเราก็ไม่ต้องเรียน.
เดี๋ยวนี้ เราไปเรียนสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ที่ไม่ใช่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ มัวแต่เถียงกันเป็นบ้าเป็นหลัง โกรธวิวาทกันไป เรื่องตายแล้วเกิด เรื่องผีมีหรือไม่มี เรื่องวิญญาณคืออะไร นี่มันไม่มาสู่จุดที่ว่า ดับทุกข์อย่างไร? มันขยายไปไกลเรื่อยๆ
ต้องตั้งปัญหาว่า..ความทุกข์คืออะไร? มาจากอะไร? ดับได้โดยวิธีใด? แล้วก็ทำให้ได้อย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่า "ใบไม้กำมือเดียว" แม้เป็นเรื่องทางโลกเราก็ควรจะเรียนชั่วใบไม้กำมือเดียว อย่าไปเรียนให้มันเกินความจำเป็น มันจะหละหลวม มันจะกะพร่องกะแพร่งไปหมด....
การเรียนการศึกษาในโลกสมัยนี้ เรียนกันเฉพาะที่กิเลสของโลกมันต้องการ แล้วก็อวดกันนักหนา ยกหูชูหาง ว่าจัดการศึกษาวิเศษ ประเสริฐก้าวหน้าในโลกนี้ แต่หารู้ไม่ว่า มันเรียนเฉพาะเท่าที่กิเลสต้องการ แล้วกิเลสก็ยิ่งหนามากขึ้น การเรียนก็ก้าวหน้าขึ้นไปตามความหนาความมากของกิเลส เดี๋ยวนี้ กิเลสต้องการแต่เรื่องเนื้อหนัง กินดี-อยู่ดี ประเภทเนื้อหนัง คือความเอร็ดอร่อยสนุกสนานทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่แหละ คือกิเลสสมัยนี้ที่เจริญงอกงามก้าวหน้า และก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นทุกที."
เมื่อจะพิจารณาคำสอนต่างๆ จะต้องดูว่า ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับการที่จะถอนลูกศรออกเสีย? คือใช้แก้ปัญหาของชีวิตที่เกิดขึ้นนี้ได้ นี่คือสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นเราต้องแบ่งว่า ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับคนไข้ ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับหมอ ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับผู้สอนหมออีกทีหนึ่ง ถ้าอย่างนี้เราก็อาจจะแยกได้ว่า ถ้าเราเป็นอาจารย์แพทย์ ก็คงจะไม่ต้องถึงกับไปบีบคั้นบังคับกำหนดเอากับคนทั้งหลายอื่น หรือคนไข้ทั้งหลายว่า ท่านจะต้องมาเรียนรู้ให้ได้อย่างข้าพเจ้าที่เป็นอาจารย์แพทย์เสียก่อน แล้วจึงจะแก้โรคได้ ซึ่งไม่จำเป็น ความรู้ที่พอจะใช้แก้โรคมันจะมีส่วนหนึ่ง
ถ้าแบ่งได้อย่างนี้แล้ว ปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจในหลักการทางพระศาสนานี้ ก็อาจจะพอจัดแบ่งออกได้เป็นแง่ๆ ขั้นๆ ขณะนี้อาตมภาพรู้สึกว่าเป็นปัญหากันอยู่ในเรื่องที่ว่า จะต้องรู้แค่ไหน? จึงจะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาได้ หรือจะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาได้
เหมือนบุคคลผู้หนึ่งถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ เมื่อญาติไปตามแพทย์ เพื่อจะมาถอนลูกศร บุรุษที่ถูกลูกศรอาบยาพิษนี้ก็ไม่ยอมให้แพทย์ถอนลูกศร บอกว่า..ข้าพเจ้าจะต้องขอทราบเสียก่อนว่า ลูกศรอาบยาพิษที่ยิงข้าพเจ้านี้ทำด้วยอะไร เริ่มต้นตั้งแต่ว่า หัวลูกศรทำด้วยวัตถุชนิดไหน หางลูกศรทำด้วยวัตถุชนิดใด ทำด้วยขนนกประเภทใด ตัวลูกธนูนี้ทำด้วยไม้ชนิดใด ยาพิษที่ใช้อาบลูกศรเป็นยางไม้ประเภทไหน แล้วก็คนที่ยิงข้าพเจ้านี้มันเป็นใคร เป็นคนในวรรณะกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือแพศย์ หรือศูทร อะไรต่างๆ เหล่านี้ ขอทราบสิ่งเหล่านี้ก่อนแล้วจึงจะยอมให้ถอนลูกศร
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าทำอย่างนี้ คนที่ถูกลูกศรอาบยาพิษนั้นจะต้องตายก่อนที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด อันนี้ฉันใด การที่จะตอบคำถามต่างๆ ที่สนองความอยากรู้ของมนุษย์นี้ โดยเฉพาะที่ท่านเรียกว่า "อัพยากตปัญหา" ว่าโลกนี้เที่ยง โลกนี้ไม่เที่ยง โลกนี้มีที่สุด ไม่มีที่สุด เป็นต้น คำถามประเภทนี้ถ้ามนุษย์จะมาหาคำตอบให้ได้เสียก่อน โดยไม่ยอมปฏิบัติ ไม่ดำเนินชีวิตของตนให้ถูกต้อง มนุษย์จะต้องตายเสียก่อน โดยไม่ได้ประโยชน์จากชีวิตเลย
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คำถามประเภทนั้นหรือเรื่องประเภทนั้น พระองค์ไม่ตอบ และไม่ทรงสอน สิ่งที่พระองค์สอนคืออะไร ก็คือ "อริยสัจ ๔" เพราะอะไร ก็เพราะว่ามันเป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หรือระบบการครองชีวิตที่ประเสริฐ คือ มันใช้ได้ นำมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ได้
ใบไม้ในกำมือนี้ สิ่งที่ดับทุกข์ได้ คือสติ คือสัมปชัญญะ แต่ก่อนเราไม่เข้าใจ เราจะไปแก้ที่อื่น คนไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มันทำอะไรไม่ได้หรอก สติสัมปชัญญะนี้ย่นลงมาใกล้ๆ นี้ เพราะศีล สมาธิ ปัญญา คือสติสัมปชัญญะ ทุกท่านทุกคนต้องทำความเข้าใจ เพราะปกติมันไม่มีอะไรมากอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเยอะอยู่แล้ว เราก็อย่าไปวุ่นวายเลย ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ในปัจจุบัน อริยมรรคมีองค์ ๘ ทุกท่านทุกคนต้องกลับมาหาสติ กลับมาหาสัมปชัญญะ สติก็ตัวผู้รู้ คือตัวสัมมาทิฏฐิ สัมปชัญญะ คือตัวปัญญา เราต้องเอาทั้งศีล เอาทั้งสมาธิ เอาทั้งปัญญามาใช้งานในปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนอย่าพากันฟุ้งซ่าน อย่าพากันวุ่นวาย เพราะความสุขความดับทุกข์ มันอยู่อย่างนี้ไม่ได้อยู่ที่จน ไม่ได้อยู่ที่รวย ไม่ได้อยู่ที่อะไรต่างๆ เพราะทุกคนมันไม่เป็นท่า เพราะว่าไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ความรู้ปริยัติจนถึง ป.ธ.๙ ก็ใช้ไม่ได้ ความรู้ทางโลกจะกี่ปริญญา จนถึง ดร. ศ.ดร. ก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะว่าแล้วก็พากันไปจัดการแต่ภายนอก ไปจัดการแต่คนอื่น มันไม่ได้อยู่ทางสายกลาง ไม่ได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน
คนประสบอุบัติเหตุทั้งหลายทั้งปวง ก็เพราะมันไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา เพราะว่ามันแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าเราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ เรามันจะแก้ปัญหาอะไรได้ ก็เพราะเรามีสติ มีสัมปชัญญะ ถ้าใจมันไม่อยู่กับปัจจุบัน ถึงมีปัญญาเยอะ ก็ลุกลี้ ลุกลน เพราะว่ามันมีความคิดเยอะ เพราะอย่างไปเทศน์เมื่อวานก็พวกนั้นรู้กันหมด แต่ว่าไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ทุกคนก็เลยคุมตัวเองไม่ได้ คนที่ตามอารมณ์ ตามความคิดไปเค้าเรียกว่าคนไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ ตามความเอร็ดอร่อย ตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ จิตใจมันไปอย่างนี้ เค้าเรียกว่าคนไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ คุมตัวเองไม่ได้ แสดงว่านี้แหละคือคนไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ อยากจะพูดอะไรก็พูด อยากคิดอะไรก็คิด อยากจะทำอะไรก็ทำ คือคนไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ตัวนี้เป็นตัวปฏิปักษ์ต่อความก้าวหน้า เราต้องรู้จักว่าเราต้องเราปฏิบัติตัวนี้ ให้ปฏิบัติง่ายๆ ไม่ใช่ของยากหรอก ให้เรารู้ ให้เรารู้ตัวเอง คนกินอาหารอร่อยก็เพลินไปเลย ไปเที่ยวผับ เที่ยวบาร์ มันอยากจะกินเหล้า กินเบียร์ เถียงพ่อเถียงแม่ หรือว่าอยากอะไรอย่างนี้แหละ พวกที่มี sex ทางอารมณ์ทางความคิด ก็คือพวกไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ คนที่ขี้เกียจ ขี้คร้าน บังคับตัวเองไม่ได้ เช่นว่า คอรัปชั่นเวลานอนอะไรอย่างนี้ ก็คือพวกไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ นี้เราต้องรู้จักว่า สติสัมปชัญญะนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นธรรมมีอุปการะมาก ธรรมะมันเป็นของอย่างนี้แหละ ธรรมะนั้นไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในที่นู้นที่นี้ อยู่ที่สติ อยู่ที่สัมปชัญญะ
พระนั้นก็คือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีสติ มีสัมปชัญญะในปัจจุบันนี้เอง พระนิพพานไม่ได้อยู่ไกลเลย มันจะเลื่อนตำแหน่งไปเอง เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี ทุกคนต้องจับประเด็นให้ได้ เราจะเดินทางไกลอย่างนี้เราก็ต้องนั่งรถไป หรือว่านั่งเครื่องบิน รถ เครื่องบินคือสติสัมปชัญญะนี้เอง เราจะไปฟุ้งซ่านอะไร ถ้าเราทำ เราจะไปเอาอะไร จะมีอะไรให้เราเอา เพราะเราต้องอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับปัจจุบัน
พวกที่เค้าไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มันก็คงจะมาจากสัมมาทิฏฐิหรือไม่ได้คบกับพระพุทธเจ้า เมื่อเราได้พบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐเราจะไปเอาอะไรอีก เราเดินผ่านกับพระพุทธเจ้าเราก็ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ได้ฟัง ได้อ่านพระไตรปิฏก เราก็ยังไม่เชื่ออยู่ อย่างนี้เค้าเรียกว่าคนมูมมาม ฟุ้งซ่าน ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ เราก็พยายามมาเสียสละตัว มาเสียสละตน เราจะได้เข้าถึงธรรมะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราต้องเสียสละทั้งตัว ทั้งตน เสียสละภายนอก และก็เสียสละภายในที่มันเป็นความยึดถือนี้ต้องเสียสละ เราจะเป็นบรรพชิตเราก็ปฏิบัติได้ ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ เราจะเป็นนักบวชก็เป็นได้ คนไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะไปปฏิบัติที่ไหน มันไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่รู้ว่าเราต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้
การเจริญสติสัมปชัญญะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คนเรานี้แหละที่มันยังไม่ตายก็คิดโน่นคิดนี่ อันไหนมันรัก มันชอบ มันหลง มันเกลียด มันก็ชอบคิดในสิ่งนั้นๆ ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็ตามอารมณ์ตามความคิดไป ส่วนใหญ่เราก็มีสติอยู่ แต่ว่าสติของเรามันอ่อนกำลัง มันไม่มีกำลังพอ มันเลยควบคุมความคิดตัวเองไม่อยู่ คุมความคิดตัวเองไม่ได้ เมื่อมันมีเหตุการณ์อย่างนี้ มีอาการอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติสัมปชัญญะ ให้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เพราะคนเราในขณะหนึ่งมันคิดได้อย่างเดียว ถ้าเราเอาความคิดมาอยู่กับกายให้มากกว่าที่เราจะตามอารมณ์ไป สติสัมปชัญญะของเราก็จะสมบูรณ์ขึ้นอีก
หรือเราจะเอาสติมาอยู่กับเวทนา ไม่ว่าเวทนาที่มันเป็นสุขเป็นทุกข์ ที่มันเกิดกับร่างกายของเรา หรือเวทนาที่เกิดกับใจของเรา สติสัมปชัญญะของเราก็จะดีขึ้น มันก็จะสมบูรณ์ขึ้น หรือเราจะเอาไปอยู่กับจิตใจของเรา ใจของเราก็หมายถึงตัวผู้รู้ ให้รู้ใจของเราว่ามันสงบหรือไม่สงบนะ จิตใจของเรามันไม่สงบ มันปรุงแต่ง ก็อย่าให้มันตามอารมณ์ไป
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราเพื่อให้ใจของเราจะได้มีพลัง ใจของเราจะได้เกิดความสงบ สมาธิของเรามันน้อย สมาธิของเรามันอ่อน คนที่เก่งคนที่ฉลาดน่ะ ส่วนใหญ่จิตมันจะไม่มีกำลังไม่มีพลัง ทั้งที่รู้ก็รู้อยู่แต่มันหยุดตัวเองไม่ได้ สาเหตุมาจากเราไม่มีสติสัมปชัญญะเพียงพอ เนื่องมาจากจิตของเราไม่มีกำลัง มีก็ถือว่าน้อย มีชนิดที่เจือจางน่ะ
ทุกท่านทุกคนต้องฝึกนะ ฝึกให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ฝึกตัวเองให้มีความสุขในปัจจุบัน ฝึกตัวเองให้มีความสุขในหน้าที่การงานในปัจจุบัน เอาการเอางานเอาหน้าที่ในชีวิตประจำวันไว้ฝึกใจ มีความสุขมีความพอใจ เป็นผู้ยินดีในสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ จุดมุ่งหมายก็เพื่อฝึกจิตใจให้มีกำลัง มีพลัง
ส่วนใหญ่ใจของคนเรานี่นะ มันถูกโลกธรรมครอบงำอยู่ตลอดเวลา สิ่งต่างๆ มันก็มาครอบงำใจเรา มันทำให้สติสัมปชัญญะของเราไม่สมบูรณ์ เปรียบเสมือนผีกำลังเข้าเรานี่แหละ เรากำลังถูกผีเข้า “คนที่ผีเข้าสิงน่ะ สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์มันเลยเข้าสิงได้” สิ่งที่ดีและสิ่งไม่ดีมันก็เข้าครอบงำใจเรา มันเป็นอย่างนี้แหละทั้งวัน
พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จัก ให้เราได้เจริญสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ไม่ให้เราตามสิ่งเหล่านั้นไป สิ่งต่างๆ นั้นมันมาเกิดขึ้นกับใจเรา มันตั้งอยู่ไม่นานมันก็จากไป เราถือว่ามันเป็นสิ่งที่ดี มาให้เราได้ฝึกได้ปฏิบัติ ได้ขัดได้เกลาได้แก้ไขตัวเรา
พระพุทธเจ้าท่านให้เราขอบใจสิ่งเหล่านี้นะ ไม่ว่าสิ่งภายนอกหรือสิ่งภายในใจที่มันเกิดขึ้น มันเป็นสาเหตุที่ให้เราได้ฝึกจิตฝึกใจของเรา ตัวอินทรีย์บารมีก็แก่กล้า สติสัมปชัญญะของเราจะได้สมบูรณ์ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เราก็ไม่มีอะไรที่จะฝึกจะปฏิบัติ เราสมควรที่จะขอบพระคุณขอบใจในสิ่งเหล่านี้
ปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา อย่าได้ถือว่าเป็นปัญหาที่ยุ่งยากทำให้เราลำบาก อันที่จริงแล้วมันเป็นโอกาสที่เราจะได้ฝึกจิตใจของเรา เป็นโอกาสที่เราจะได้ปฏิบัติธรรมของเรา ในชีวิตประจำวันของเรา มันมีความทุกข์ทั้งทางกาย มีความทุกข์ทั้งทางใจ มีความทุกข์ทั้งทางธุรกิจหน้าที่การงาน นี่ถือว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมาก เราจะได้ประพฤติปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้แหละ มันมีแต่นำคุณนำประโยชน์มาให้เราทั้งนั้นเลย เพื่อให้เราปฏิบัติน่ะ
มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้รักษาศีล ให้เราได้ทำสมาธินะ ให้เราได้เจริญสติปัญญา “ใจของเรานี่แหละ เราทำไปทุกวันเราปฏิบัติไปทุกวัน มันก็ฉลาดขึ้น มันก็มีปัญญาขึ้น” ทุกท่านทุกคนให้พากันเข้าใจในการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าเราไม่เข้าใจมันก็เสียเวลา
ถ้าเราไปภาวนาอยู่ที่วัดหรืออยู่ที่เงียบๆ เน้นแต่ทางจิตทางใจมันก็ดีน่ะ แต่คนเรามันจะปฏิบัติอย่างนั้นตลอดไม่ได้ เพราะเรามีหน้าที่มีการมีงานที่ต้องปฏิบัติ ต้องเกี่ยวข้องกับงานกับการ
การประพฤติปฏิบัติธรรมมันอยู่ที่เราจะต้องแก้จิตแก้ใจของเรา แก้การกระทำของเราที่มันไม่ถูกต้อง แก้คำพูดของเราที่มันพูดไม่ถูกต้อง ปฏิบัติอยู่ทุกหนทุกแห่งตลอดเวลา เราต้องพออกพอใจในการประพฤติปฏิบัติ ให้เจริญสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ไว้ เวลามันอยู่ภายนอกมันคิดเก่งนะ เวลาอยู่บนเวที หรืออยู่ในสนามรบ อยู่ในภาคปฏิบัติน่ะต้องให้มันรวดเร็วว่องไว
เราอย่าไปทำตามความเคยชิน เพราะความเคยชินที่ผ่านมามันเป็นบาป เป็นอกุศล เป็นวัฏสงสารน่ะ ถ้าเราไปทำอย่างเก่า ไปคิดอย่างเก่า มันไม่ได้ ทำให้เราเสียกำลังจิตกำลังใจ ถูกอวิชชามันบดบังครอบงำไปเรื่อย ไม่ได้
ความอาลัยอาวรณ์ในสิ่งต่างๆ ทุกๆ คนมีมาก มันทำให้ปากสั่น มือสั่นไปเลย ต้องหยุดตัวเองให้ได้ ต้องเบรกตัวเองให้อยู่ต้องดึงตัวเองกลับมาให้ได้ มันเปรียบเสมือนมีเด็กน้อยคนหนึ่ง และก็มีคนมาจูงแขนเด็กน้อยวิ่งน่ะ เราเป็นผู้ปกครองของเด็ก เราก็ต้องไม่ให้เขาจูงเด็กไป
ความผิดเล็กๆ น้อยๆ ให้เราถือว่าเป็นเรื่องใหญ่นะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเผลอ ไม่ให้เราประมาท อย่างพระเราหรือว่าแม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรมที่มันปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่เบรกตัวเอง ไม่หยุดตัวเอง มันอยากจะคิดอะไรก็ปล่อยมันคิด มันอยากจะพูดอะไรก็ปล่อยมันพูด มันอยากจะทำอะไรก็ปล่อยมันทำน่ะ
ผลกรรมมันเป็นอย่างไร ? ผลกรรมมันทำให้จิตใจของเราไม่มีพลัง มันทำให้สติสัมปชัญญะของเราไม่สมบูรณ์ กลายเป็นโมฆบุรุษ กลายเป็นโมฆสตรีไป
ผู้ที่พัฒนาใจตัวเองน่ะ ต้องดูตัวเองอย่างนี้นะ ไม่อย่างนั้นจะพ่ายแพ้อารมณ์ไปทุกวัน สติสัมปชัญญะของเรามันจะไม่แข็งแรงไม่สมบูรณ์ ผู้ที่จะพัฒนาตัวเองให้เข้าถึงคุณธรรม มันไม่ได้ไปเอาชนะใครที่ไหน มันเอาชนะจิตใจของตัวเอง ปรับตัวเองเข้าหาทางสายกลางของพระพุทธเจ้า ไม่ให้เราเอาทางสายกลางของตัวเอง ถ้าอย่างนั้นชีวิตมันมีปัญหาไม่จบ ฉันข้าวไป บริโภคปัจจัย ๔ ไปก็เสียเวลา จนมันแก่เฒ่าชรา ชีวิตไม่ได้รับการพัฒนาเลย
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรม เอาใจใส่ พอใจ “เพราะชีวิตการปฏิบัติธรรม มันประเสริฐกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง”
เราใคร่ครวญดูสิ มันมีสิ่งไหนดีมากไปกว่านี้ ? มันไม่มีสิ่งไหนดีมากไปกว่านี้ เราจะมาสะเงาะสะแงะกับสิ่งไร้สาระ มันไม่เข้าท่านะ วันๆ หนึ่งเรามามุ่งแต่เอาความสุขทางเนื้อทางหนังในปัจจัย ๔ มันคงไม่ถูกต้อง เพราะความสุขทางเนื้อทางหนังทางปัจจัย ๔ มันเป็นของใช้ชั่วคราว เรารับประทานอาหารไปแล้ว บริโภคไปแล้ว มันก็ย่อยสลายไป คาบต่อไปมันก็หิวอีก เราก็ต้องบริโภคไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็แก่เฒ่าไปเฉยๆ นะ เราเอาชีวิตของเราน่ะมาประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะว่าไม่มีเวลาไม่ได้ ถ้าเรามีลมหายใจอยู่ขึ้นชื่อว่าเรามีเวลานะ
ญาติโยมที่อยู่ที่บ้าน เวลาไปบ้านก็ไปปฏิบัติที่บ้าน ไปที่ทำงานก็ไปปฏิบัติที่ทำงาน “ธรรมะน่ะ มันไม่ขัดกันกับที่เราอยู่ที่บ้านที่ทำงาน” เพราะการทำทุกอย่างก็เพื่อเสียสละ เพื่อละความเห็นแก่ตัวแก่ตน มันมีแต่สิ่งที่ดีๆ ทั้งนั้น ที่เรามีปัญหาในการประพฤติปฏิบัติ เพราะเราไม่เอาธรรมะไปปฏิบัติในบ้านของเรา ในที่ทำงานของเรา เราลองคิดดูสิ ถ้าเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เสียสละ คนอื่นเขาจะรักเราไหม ถ้าเราเป็นคนไม่มีศีลน่ะ เราจะเป็นอย่างไร ? คนอื่นก็ไม่รักเคารพนับถือเรา
ศีลนะ ให้ทั้งโภคทรัพย์ ให้ทั้งอริยทรัพย์ คนเรามันเห็นแก่ตัวจนมันคิดไม่ออกนะว่าถ้ารักษาศีลมันจะอดตาย มันจะยากลำบาก ปัญหาต่างๆ ที่มันเกิด มันเกิดจากคนไม่มีศีลนะ ถ้าเรามีศีลดีๆ น่ะ เสียสละดีๆ ไม่กี่เดือนกี่ปี เรทติ้งขึ้นสูงแน่ เราปฏิบัติเพื่อละตัวละตน ไม่ต้องการอะไร แต่ว่าเรทติ้งมันขึ้นเองด้วยการยอมรับของบุคคลอื่น
การปฏิบัติธรรมก็คือการเสียสละ มีความสุขในการทำงานกับรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน รุ่นน้อง ถ้าเรามีเมตตา สถานที่นั้นๆ ก็มีความสุขมาก สถานการณ์ที่มันไม่ดี มันก็ดีได้นะ เพราะเรามีศีลมีข้อวัตรปฏิบัติกาย วาจา ใจของเรามันดี เพราะเราได้แก้ไขตัวเอง มันเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเขา เราก็ได้บุญน่ะ โลกนี้ก็มีแต่ความสงบร่มเย็น เพราะเรากลับมาแก้ไขตัวเอง
เราอยู่บ้านเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติธรรมที่บ้านของเรา เรามีความสุขที่เราได้อยู่กับครอบครัวของเรา ดูแลปัจจัย ๔ ในครอบครัวของเรา ให้ความรักความเมตตาต่อกันและกันให้มากขึ้นกว่านี้ ครอบครัวของเราก็จะมีความสุขมีความอบอุ่นขึ้น สวรรค์มันก็จะเกิดขึ้นที่บ้านของเรา นิพพานมันก็จะเกิดขึ้นที่บ้านของเรา มันอยู่กับเราอย่างนี้นะ
สำหรับเรื่องต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น ให้เราถือโอกาสฉวยโอกาสมาพัฒนาจิตใจของเรา เพราะชีวิตของเราเป็นของมีค่ามีราคา ที่เราจะต้องปฏิบัติเพื่อสติสัมปชัญญะของเรามันจะได้สมบูรณ์ขึ้น
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามองหาความดับทุกข์ไกลนะ ต้องหาความดับทุกข์ในใจของเรา ที่การกระทำของเรา การรอคอยอะไรไกลๆ โน้น มันเป็นความทุกข์ทรมาน มันเป็นความพร่องอยู่ตลอดกาล ถ้าเรารอคอยลักษณะอย่างนี้แสดงว่าใจเราพร่อง ใจเราไม่เต็ม สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เราต้องกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หยุดตัวเอง หยุดความคิด ไม่อย่างนั้นมันเป็นเปรตนะ มันอยาก มันเผาตัวเอง มันอยากสงบ อยากบรรลุธรรม
ถ้ามันอยากสงบ มันจะสงบได้อย่างไร ? มันอยากบรรลุธรรม มันจะบรรลุธรรมได้อย่างไร ? เพราะความอยากมันค้ำคอเรา ให้เรากลับมาหาตัวเอง เรามาละความอยาก ไม่ให้ตัวเองตกนรกทั้งเป็น ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเรามันจะยิ่งวิ่งไปไม่หยุด อย่างเรานั่งสมาธิก็เพื่อที่จะมาหยุดตัวเอง มาวางภาระหนัก มาปล่อยวางสิ่งต่างๆ มาหยุดตัวเอง เพื่อให้ใจตัวเองมีสติสัมปชัญญะมีพลัง
เราอย่าไปคิดว่านั่งเพื่อเอาอันนั้นอันนี้ เพื่อบรรลุธรรม เรานั่งเพื่อเสียสละ ให้ใจมันอยู่กับลมเข้า ให้ใจมันอยู่กับลมออก เดินจงกรมก็เหมือนกัน เราปล่อยวางทุกอย่างในหน้าที่การงาน เราจะเดินจงกรม เราไม่คิดอะไร ให้ใจของเรามันอยู่กับการเดินไปเดินมาเพื่อออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อเราจะได้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราอย่าไปคิดว่ามัวแต่เจริญสมถะอยู่ เดี๋ยววิปัสสนามันไม่เกิด เราอย่าให้ความอยากมันปั่นหัวของเรา “เราให้สติสัมปชัญญะของเราอบรมบ่มปัญญานะ”
การประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะทำจิตใจให้มีพลัง แข็งแรง ต้องทำสติสัมปชัญญะของตัวเองให้มันสมบูรณ์ เพราะความปวดก็ดี ความต้องการอะไรต่างๆ มันจะปวดขึ้นมาตลอด ถ้าเราจิตใจสัมผัสอะไรขึ้นก็ตามไปหมด เราก็เป็นคนไม่มี “สัมมาสมาธิ” เป็นคนไม่เข้มแข็ง เราก็เป็นคน “สมาธิไม่อบรมปัญญา”
อบรมปัญญาอย่างไร...?
เมื่ออารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เราก็ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์นั้นๆ นั่นแหละ คือการอบรมปัญญา เมื่อโลกธรรมเกิดขึ้นกับใจของเรา เราก็ตามไป... แสดงว่าเราเปรียบเสมือนรถคันหนึ่งที่ไม่มีเบรก มีแต่คันเร่ง ที่หลวงตามหาบัวท่านว่า 'สมาธิอบรมปัญญา' จากพระพุทธพจน์ที่ว่า “สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส ผู้มีศีลบริสุทธิ์ จิตใจย่อมมีความอบอุ่น การภาวนาไม่เป็นกังวลแล้วจิตก็ลงสงบได้ง่าย นี่อันหนึ่ง สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาเมื่อสมาธิคือความสงบใจเป็นเครื่องหนุนหลังแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาซักฟอกเรียบร้อยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ” ท่านว่าอย่างนี้ คือ เราอย่าตามอารมณ์ไป อย่างเรานั่งสมาธินี้ เราก็รู้ลมเข้าให้สบาย... รู้ลมออกให้สบาย... บางทีเราก็ลืมไปนะ ตามวิตกวิจารณ์ไป ตามปีติสุข เอกัคคตาจนลืมเนื้อลืมตัว ไปปรุงแต่งโดยไม่รู้ตัว เขาเรียกว่า ตามนิมิตตามอารมณ์ไป เรานั่งอยู่อย่างนี้แหละ.... เดี๋ยวโลกธรรมก็มาหาเราแล้ว ถ้าเราไม่รู้จักก็ตามมันไป
โลกธรรมนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีนะ เป็นเหตุให้เราได้ฝึกใจ ทำใจของเราให้สงบ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา ปัญญาของเราจะเกิดได้ เกิดจากการปฏิบัติ ระดับผู้ประพฤติ ปฏิบัติธรรมให้เกิดความชำนิชำนาญในเรื่องจิตเรื่องใจ สิ่งต่างๆ ที่เกิดกับเรานี้ที่มันเป็นโลกธรรม เราต้องขอบคุณเขา ที่ได้เปิดโอกาสให้เราได้ปฏิบัติใจฝึกใจ การปฏิบัติของเรา อิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าการเดิน การนั่ง การนอน การทำงาน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาอิริยาบถนั้นๆ มาฝึกใจของเรา
ฝึกอย่างไรล่ะ...? "ฝึกให้ใจของเราอยู่ในอิริยาบถนั้นๆ"
คนเรานะ ถ้าใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจของเรามันสงบ มันเป็นวิธีที่ง่ายๆ นะ ถ้าเรารู้จัก ฐานทั้ง ๔ ของเราทุกคนมันได้แก่ อิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน ให้ใจมันอยู่กับอิริยาบถนั้น เพราะใจของเรามันพุ่งแรงนะ มันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อเรามาอยู่กับเนื้อกับตัวใจของเรา มันจะสงบขึ้น เย็นขึ้น
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามาเดินตามอริยมรรค อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิด อันไหนไม่ดีก็อย่ไปพูด อันไหนไม่ดีก็อย่าไปทำ ปรับตัวเอง หาศีลหาธรรม คือทางสายกลาง ไปสู่ความดับทุกข์คือพระนิพพาน