แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๖๗ ผู้ที่หายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิได้ จะเป็นผู้งดงามมากและมีความสุขที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนจะเเก้ไขสิ่งภายนอกทั้งหมด สิ่งที่ไม่เเก้ก็คือตัวตน คือตัวเราเอง ทุกท่านทุกคน ต้องมองดูตนเอง อย่าไปมองดูคนอื่น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่รู้จักตัวเอง เหมือนธิดาช่างหูกที่มาหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถามว่ามาจากไหน เค้าบอกไม่รู้ เเล้วจะไปไหน เค้าไม่รู้ พระศาสดาตรัสถามนางว่า "ดูก่อนกุมาริกา เธอมาจากไหน" "ไม่ทราบพระเจ้าข้า" นางทูลตอบ "เธอจะไปไหน" "ไม่ทราบพระเจ้าข้า" / "เธอไม่ทราบรึ" "ทราบพระเจ้าข้า" / "เธอทราบรึ" "ไม่ทราบพระเจ้าข้า"
มหาชนซึ่งประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ได้ฟังแล้วก็พากันตำหนิว่า "ดูเถิด ท่านทั้งหลาย ธิดาช่างหูกกล้ากล่าวเล่นลิ้นกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นปานนี้ ก็เมื่อพระองค์ตรัสถามแล้ว ตอบเสียตามความเป็นจริงมิได้หรือว่า มาจากเรือนของนายช่างหูกผู้เป็นบิดา และจะไปสู่โรงทอผ้า"
พระตถาคตเจ้าทรงทราบเรื่องที่มหาชนตำหนินางเช่นนั้นแล้วจึงตรัสถามว่า "ที่เธอบอกว่า ไม่ทราบว่ามาจากไหนนั้น หมายความว่าอย่างไร"
"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐข้าพระพุทธเจ้าทราบดีว่า มาจากเรือนของนายช่างหูก แต่ไม่ทราบว่าก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ข้าพระพุทธเจ้ามาจากกำเนิดใด เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงทูลว่าไม่ทราบ"
"ก็เมื่อเราถามว่าเธอจะไปไหน ทำไมเธอจึงบอกว่าไม่ทราบ" "ข้าพระองค์ทราบว่าจะไปสู่โรงทอผ้า แต่ข้าพระองค์ไม่อาจทราบได้ว่า เมื่อสิ้นชีพจากชาตินี้แล้วจะไปเกิดในที่ใด จะถือกำเนิดเป็นมนุษย์ หรือเดรัจฉาน เปรต อสูรกาย หรือเทพเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง"
"เมื่อเราถามว่า ไม่ทราบรึ เธอตอบว่าทราบ หมายความว่าอย่างไร" "ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์ทราบว่าข้าพระองค์จะต้องตายอย่างแน่นอน"
"เมื่อเราถามว่า เธอทราบรึ เหตุไฉนเธอตอบว่าไม่ทราบ" "ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่าจะตายวันใด จะตายเวลาใด และจะตายที่ไหน"
พระศาสดาได้ทรงประทานสาธุการทุกครั้งที่นางตอบปัญหาของพระองค์ รวม ๔ ครั้ง และแล้วพระองค์ก็ได้ตรัสกับประชาชนว่า "ท่านทั้งหลาย ท่านมิได้รู้ความหมายอันลึกซึ้งที่ธิดาช่างหูกกล่าวแล้วจึงติเตียน บัดนี้เธอได้อธิบายจนแจ่มแจ้งแล้ว เราสาธุการต่อคำตอบของเธอ คำตอบนั้นถูกต้อง บุคคลผู้มีจักษุพิจารณาแล้วย่อมเห็นตาม" พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า “อนฺธภูโต อยํ โลโก ตนุเกตฺถ วิปสฺสติ สกุโณ ชาลมุตฺโตว อปฺโป สคฺคาย คจฺฉติ. โลกนี้มืดยิ่งนัก สัตว์โลกส่วนใหญ่เป็นผู้มืดบอด มีน้อยคนที่มีปัญญาเห็นแจ้ง และมีคนจำนวนน้อยที่ไปสวรรค์ เหมือนนกที่ติดข่ายแล้ว ที่รอดพ้นจากข่ายของนายพรานได้นั้นมีน้อยนัก”
โลกนี้มืดยิ่งนัก มืดอยู่ด้วยอวิชชาและความหลงผิด หาใช่ความมืดของอากาศโลกไม่ แต่หมายถึงสัตว์โลก สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในโลก เขาอยู่ในความมืดจนเคยชินกับความมืดนั้น แต่เมื่อใดเขาค่อยๆ เดินออกมาสู่แสงสว่างทีละน้อยๆ กระทั่งได้รับแสงสว่างเต็มที่ เขาจะได้การเปรียบเทียบ จึงรู้ว่าการอยู่ในความมืดนั้นเป็นความทรมาน เป็นการเสี่ยงต่ออันตรายอันน่าหวาดกลัว และการอยู่ในที่ใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยแสงสว่างนั้นเป็นความผาสุก มีอันตรายน้อย มีโอกาสเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงได้มากกว่า เป็นที่น่าเสียดายว่ามีคนเป็นจำนวนน้อยที่มีปัญญาเห็นแจ้งว่าอะไรเป็นอะไร ความจริงก็พอจะรู้บ้างว่าอะไรควรเว้นอะไรควรทำ แต่อะไรเล่าที่ทำให้เขาต้องตกอยู่ในห้วงแห่งความมืด อะไรเล่าที่ทำให้เขาต้องทนทรมานอยู่ในข่ายคือโมหะ อาจเป็นเพราะเขาประมาทมัวเมาเกินไป อาจเป็นเพราะเขาเห็นคุณค่าของธรรมะน้อยเกินไป หรือเพราะไม่อาจทนต่อสิ่งเร้าอันยั่วยวนต่างๆ ได้"
ส่วนใหญ่ทุกคนไม่รู้จักตัวเอง จะไปรู้จักเเต่ผู้อื่น พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า เราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าถึงบอกให้ทุกคนให้พากันมารู้จักตัวเองเเล้ว มาประพฤติพรหมจรรย์ ที่วัดหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง ป้ายวัดใหญ่ๆ มองเห็นชัดเจน เด่นกว่าป้ายอื่นว่า “หายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ” ก่อนเข้าไปในวัด
เราเวียนว่ายตายเกิดเพราะความคิดผิด ความเข้าใจผิด เรื่องตัวเรื่องตน มานะทั้ง ๙ ผู้จะเป็นพระอรหันต์ถึงละมานะที่ละเอียด
ทิฏฐิ คือ ความเห็น... ความเห็นนั้นมีได้หลายอย่าง มีได้ตลอดเวลา... เช่น เห็นว่า นี่คือเรา นั่นคือเขา มีทั้งมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ มานะ คือ ตัวยึด เป็นตัวอุปาทาน ทิฏฐินี้ ถ้าปราศจากปัญญา มานะหรืออุปาทานจะเข้ายึด ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นนั้นๆ ถ้ามีปัญญา ก็จะทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้
เป็น สำคัญตัวว่า
เลิศกว่าเขา เสมอเขา ต่ำกว่าเขา
เลิศกว่าเขา เป็นเลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา เป็นเลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา เป็นเลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าต่ำกว่าเขา
เสมอเขา เป็นเสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา เป็นเสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา เป็นเสมอเขา สำคัญตัวว่าต่ำกว่าเขา
ต่ำกว่าเขา เป็นต่ำกว่าเขาสำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา เป็นต่ำกว่าเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา เป็นต่ำกว่าเขาสำคัญตัวว่าต่ำกว่าเขา
จะเห็นได้ว่ามีคำสำคัญในเรื่อง มานะ คือคำว่า “ เป็น ” กับ “ สำคัญตัวว่า ” ซึ่งเป็นเรื่องของการยึดรูปกับนาม ยึดว่ามี"เรา" มี"เขา" ไม่ว่าจะเป็นการยึดทางกาย (รูปธรรม) หรือทางใจ (นามธรรม) พระพุทธองค์ท่านสอนให้รู้จักรูปกับนาม เพื่อที่จะปล่อยวางได้ ไม่ยึดไว้..
ในมานะ ๙ ประการนี้ มีทั้งที่เข้าใจหรือสำคัญตัวเองถูกต้อง และเข้าใจคนอื่นถูกต้อง และเข้าใจตนเองไม่ถูกต้อง และเข้าใจคนอื่นหรือประเมินคนอื่นไม่ถูกต้องด้วย มีวาระพระบาลีใน ปราภวสูตร ว่า “ชาติถทฺโธ ธนถทฺโธ โคตฺตถทฺโธ จ โย นโร สญฺญาตึ อติมญฺเญติ ตํ ปราภวโต มุขํ = นรชนใดกระด้างโดยชาติ กระด้างโดยทรัพย์และกระด้างโดยโคตร ย่อมดูหมิ่นแม้ญาติของตน กรรมสี่อย่างของนรชนนั้น เป็นทางแห่งความเสื่อม”
สิ่งที่คนทั่วไปหลงยึดถือ จนทำให้เกิดทิฏฐิมานะนั้น มีหลายอย่าง เช่น ชาติตระกูล ทรัพย์สมบัติ รูปร่างหน้าตา ความรู้ความสามารถ ยศตำแหน่งและพวกพ้องบริวาร เมื่อเกิดความหลงทะนงตนในสิ่งเหล่านี้ ความถือตัวจัดย่อมเกิดขึ้น สำคัญตนว่าดีกว่าผู้อื่น
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพากันมาเเก้ตัวเอง ผู้ที่มาบวชกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงไม่กำหนดจะเป็นกษัตริย์ หรือเป็นพราหมณ์ เป็นคฤหบดี ทุกท่านทุกคนต้องสละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ผู้ที่จะไปดำเนินตามอริยมรรค เพื่อเดินทางสู่พระนิพพาน สละคืนเสียซึ่งตัวตน ไม่ถือทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ถ้าเราไม่มีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน เราจะเป็นผู้ที่สวยที่สุด ก็คือ ศีล คือสมาธิ คือปัญญา ทุกๆ คน เข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ ต้องสละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ที่เป็นหลักในพระพุทธศาสนา
อย่างลูกกษัตริย์มาบวช เชื้อเจ้ามาบวช พระพุทธเจ้าให้ลูกน้องบวชก่อน ที่พระอุบาลีเป็นช่างตัดผมประจำพระราชวังบวชก่อน นั่นคือ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต เป็น ๖ องค์ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ มุ่งสู่อนุปปิยัมพวันแคว้นมัลละ เมื่อเสด็จถึงพรมแดนระหว่างแคว้นสักกะและแคว้นมัลละ พระราชกุมารทั้งหกก็รับสั่งให้นายอุบาลี ภูษามาลา ซึ่งตามเสด็จมาส่ง กลับไปสู่นครกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยเปลื้องพระภูษาซึ่งมีราคามาก มอบให้อุบาลีนำกลับไป
ในขณะที่ ๖ พระราชกุมารและนายอุบาลี ภูษามาลาจะแยกกันนั้น ราวป่าประหนึ่งว่าจะถึงซึ่งอาการร้องไห้ มหาปฐพีมีอาการสะท้อนสะเทือนเหมือนจะแยกออกจากกัน อุบาลีจำใจจากพระราชกุมารกลับมาทางเดิมได้หน่อยหนึ่งจึงคิดว่า การที่จะนำเครื่องประดับอันมีค่า ซึ่งเจ้าของสละแล้วโดยปราศจากความไยดีไปขายเลี้ยงชีพตามคำของพระราชกุมารนั้น ปานประหนึ่งผู้กลืนน้ำลายซึ่งเจ้าของถ่มแล้ว จะประโยชน์อะไรที่จะทำอย่างนั้น เกิดสังเวชสลดจิต จึงเอาเครื่องประดับเหล่านั้นแขวนไว้กับกิ่งไม้แห่งหนึ่ง แล้ววิ่งกลับไปแจ้งความประสงค์กับพระราชกุมารว่า "ข้าแต่นาย! ข้าพเจ้าขอตามเสด็จไปด้วย เพื่อจะได้รับใช้พระองค์ต่อไป"
พระราชกุมารทั้งหก ทรงปรึกษากันอยู่ครู่หนึ่ง จึงยินยอมให้อุบาลีตามเสด็จด้วย พระกุมารทั้งหกพระองค์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลขอบรรพชาอุปสมบท และทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ข้าพระองค์ทั้งหลายมีทิฏฐิมานะมาก เมื่อบวชพร้อมด้วยอุบาลีซึ่งเป็นคนรับใช้มาก่อน ถ้าข้าพระองค์ทั้งหลายบวชก่อนก็จะพึงใช้อำนาจกับเขาอีก เพราะฉะนั้นขอให้พระผู้มีพระภาคให้การอุปสมบทแก่อุบาลีก่อนเถิด เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจักได้อภิวาทลุกรับเขาเมื่ออุปสมบทแล้ว เป็นการทำลายทิฏฐิมานะไปในตัว เพื่อประโยชน์แก่การประพฤติพรหมจรรย์"
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อตัวเพื่อตน เพื่อทิฏฐิมานะ จึงไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงสงบเย็น เพราะว่าไม่มีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน เพราะว่าเป็นผู้ที่วางภาระหนัก คือ ความยึดมั่นถือมั่นอัตตาตัวตนออกไป ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงต้องพากันเข้าใจ เพราะในความยึดมั่นถือมั่นลึกๆ มันมีตัวมีตน เเต่ละคน มันมีตัวมีตนเยอะ เเต่ละคน เช่น หญิงสาวหรือเเม้เเต่ปานกลาง จะออกจากบ้านได้ ต้องเเต่งหน้าเเต่งตาเเต่งผม อันนี้ก็เพื่อตัวเพื่อตน เเล้วก็ตรงกันข้าม ผู้ที่มาบวช พระพุทธเจ้าไม่ให้ส่องกระจก ไม่ให้ส่องหน้าส่องตา เพราะไม่เอาความงามที่มีตัวมีตน เอาความงามจากการมีศีล การเสียสละ ชีวิตของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงเป็นชีวิตที่งาม งามน่ารัก ไม่มีทิฏฐิมานะ ไม่มีอัตตาตัวตน ยิ่งกว่าเด็กน้อยอีก เด็กน้อยยังมีตัวมีตน ร้องไห้เพื่อให้ผู้ใหญ่ หรือพ่อเเม่เอาใจ
เเต่ชีวิตของพระอรหันต์เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน มานะ ๙ ที่เป็นธรรมเบื้องปลายของการหมดภพ หมดชาติ พระอนาคามีก็ยังติดอยู่ในมานะ ๙ ผู้ที่ไม่ติดก็คือพระอรหันต์ ทุกคนต้องพากันเข้าใจ ที่เรามีปัญหาก็เพราะเราไม่เข้าใจศาสนา ตัวตนของเรามันเยอะ พระพุทธเจ้าถึงให้พิจารณาเกสา ผม สู่พระไตรลักษณ์ โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง ทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ เพื่อเราทุกคนจะได้ไม่มีทิฏฐิ ไม่มีมานะอัตตาตัวตน เราทำอะไรก็เพื่อตัวเพื่อตน เราต้องเข้าใจนะ ถ้าเราเอาศีลเอาธรรม มีศีลเสมอกัน มีความตั้งมั่นเสมอกัน มีปัญญา เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกอย่างมันก็จะไม่มีปัญหา
“ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรม ก็เพราะว่า "พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน" ขวางท่านอยู่”
มีปริศนาธรรมข้อหนึ่งกล่าวว่า หากพบพระพุทธเจ้าระหว่างทางนั้นจะทำเช่นไร คำตอบคือ จงฆ่าพระพุทธเจ้าเสีย
กล่าวมาอย่างนี้ หากเผลอตัดสินโดยไม่ได้ยั้งคิดด้วยสติปัญญาก่อนแล้ว เราอาจมองว่านี่เป็นการยั่วยุให้ทำร้ายพระสงฆ์องค์เจ้าใช่ไหม หรือหากคิดปรุงแต่งเกินเลยไปอีกอาจไพล่เห็นว่านี่ต้องเป็นทัศนคติคนศาสนาอื่นต้องการบ่อนทำลายศาสนาพุทธเป็นแน่ หากแต่ตามจริงแล้ว นี่ปริศนาธรรมในศาสนาพุทธนี้เอง ซึ่งมุ่งตรงไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตากันแน่
แล้วที่ผ่านมาก็มีเพียงคนศาสนาเดียวที่บ่อนทำลายศาสนาพุทธ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว นั่นคือพุทธศาสนิกชนและพระสงฆ์องค์เจ้าเอง ที่ยึดเอาศาสนาพุทธไปผิดทางและสอนธรรมะไปผิดทิศ นั่นแล
คำกล่าวของปริศนาธรรมข้างต้น ไม่ได้หมายถึงให้เราประทุษร้ายพระพุทธเจ้าหรือสงฆ์องค์ไหน แม้จะเป็นสงฆ์แท้หรือเทียมก็ตาม หากแต่หมายถึง ขจัด “พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน” ออกไปเสียให้พ้นทาง เพราะนี่คือเหตุหนึ่งที่ทำให้เราทั้งหลาย ไม่เข้าถึงพุทธธรรม คือไม่เข้าใจหลักธรรมตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ หรือปฏิบัติเท่าใดก็ไม่อาจพ้นทุกข์
กล่าวให้ชัดเจนขึ้นคือ การยึดมั่นใน “พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์” อย่างสำคัญมั่นหมายเป็นตัวเป็นตนนั่น คือภูเขาลูกใหญ่ที่บดบังเราจากพุทธธรรมไว้ ทึกทักไปเองว่านั่นคือ “พระพุทธเจ้าของกู พระพุทธแบบที่กูเชื่อ พระธรรมที่กูศรัทธา พระสงฆ์ของกู ศีลที่กูสะอาด อาจารย์ที่กูเคารพ ศาสนาของกู” ทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้นที่พาเราไปไกลสุดกู่จากพระนิพพาน
พระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราชอบแนวคิดไหนหรือหลักการไหนเราพึงพอใจ หรือครูอาจารย์ที่ใดสอนสั่ง เหล่านั้นล้วนแต่เป็น พระพุทธเจ้าตามทัศนะของเราที่บดบังเราจากพุทธธรรมทั้งสิ้น นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาขึ้นอยู่กับนำเราไปสู่หนทางหลุดพ้นทุกข์สิ้นเชิงหรือก่อทุกข์มากมี เพราะป่ากว้างใหญ่ พระพุทธเจ้าเพียงหยิบใบไม้มากำมือ เอาแค่เพียงธรรมะที่สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้แล้ว ธรรมะอย่างอื่นมิใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องใส่ใจ
เราทั้งหลายมิจำเป็นต้องนำหลักธรรมใดใดมาชี้วัดตัดสินว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เสมอไป แค่ดูให้ดีว่า การเชื่อและปฏิบัติแบบใดของพวกใดที่นำมาสู่ความสุขอย่างแท้จริงด้วยปัญญา และลดละความทุกข์อย่างแท้จริง แล้วพวกอื่นที่เชื่อแบบใด ปฏิบัติและรวมหมู่อย่างไร ก่อให้เกิดความทุกข์และความสุขจอมปลอมที่ต้องใช้เงินและความหลงซื้อมา.
แต่ละนิกายในพุทธศาสนาย่อมมีวิธีการเล่าเรื่องราวและลักษณะเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันในบางจุดบ้างและหลายจุดบ้าง แต่มิว่าแบบใดเหล่านั้นล้วนแต่สามารถเป็น “พระพุทธเจ้าในทัศนะของท่าน” อันขวางทางท่านจากธรรม คือสำคัญมั่นหมายยึดเอาว่า พระพุทธเจ้าเป็นแบบนั้นแบบนี้ เป็นอัตตาตัวตนตามแต่ที่พอใจ มีรูปร่างลักษณะ มีที่อยู่ดินแดนแห่งหน หรือยศตำแหน่งอะไร ยึดมั่นเอามันก็พาให้การปฏิบัติและใจหลงทาง
เราจึงเห็นว่าพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งไปหลงอยู่กับรูปเคารพสักการะ ถือว่าอิฐปูนเป็นพระพุทธเจ้า คิดเอาเองว่าพระองค์นั้นซึ่งนิพพานไม่เหลือแล้วยังมีตัวตนตามต้นไม้ หรือเสด็จอยู่ใน นิพพานที่มีความหมายของภพภูมิที่เป็นอัตตา บางพวกก็ทึกทักเอาว่าพระพุทธเจ้าสอนไม่หมดบ้างก็มี กล่าวกันว่าไตรลักษณ์ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดก็มี
หากเราพบพระพุทธเจ้าบนทางเดิน หรือ พบเจอว่าท่านกำลังนั่งอยู่ในศูนย์กลางกาย และในคติความคิดใดใด ก็จงฆ่าท่านเสีย คือฆ่าภาพลักษณ์และอัตตวาทุปาทานที่จิตตนคิดให้เสียสิ้น
พระพุทธเจ้าที่เห็นเป็นท่านก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ความว่างที่เราทึกทักเอาว่า “ว่าง” ก็มิใช่ความว่าง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ที่เราคิดว่า “ใช่” ก็ไม่ใช่อย่างที่ยึด หากจิตยื้อยุดว่าจะให้มัน “ใช่” นั่นก็เพราะภูเขามันบังตาเราอยู่อย่างนั้น
พระองค์ท่านใช้สรรพนามแทนตนว่า “ตถาคต” ผู้ใดเข้าใจซึ้งถึงความหมายแล้ว ย่อมฆ่าท่านที่เป็นอัตตาได้อีกก้าวหนึ่ง
“ตถาคต : (คำนาม) คำเรียกพระพุทธเจ้า, คำที่พระพุทธเจ้าใช้แทนพระองค์เอง. ตถาคต : พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย ๘ อย่าง คือ
(๑) พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น
(๒) พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชาสละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น
(๓) พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง
(๔) พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจจ์ 4 หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน
(๕) พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง
(๖) พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น
(๗) พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น
(๘) พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจ เป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ
หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวสรุปว่า “ฉะนั้น คําว่า “ตถาตา” จึงได้แก่ พระไตรลักษณ์ ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ อริยสัจ ๔. เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ทําไมจะไม่เรียกว่านี้คือหัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งสรุปเข้ามาเหลือเพียงคําคําเดียวว่า “ตถตา” คือความเป็นเช่นนั้น แม้จะใช้คําว่า “ตถาตา” ก็ยังเป็นคําที่มีความหมายอย่าง เดียวกัน จงจําคําว่า “ตถตา” หรือ ความเป็นเช่นนั้น ไว้ให้แม่นยํา อยู่กับเนื้อกับตัว ; เหมือนกับเอามาแขวนไว้ที่คออย่างพระเครื่อง ให้มันคล่องปาก คล่องใจ ว่า ตถตา เป็นเช่นนั้น จะพูดเป็นภาษาชาวบ้านสักหน่อยก็ได้ว่า มันเช่นนั้นเอง เพื่อเป็นภาษาคนธรรมดามากขึ้นกว่า เช่นนั้นเอง เอา เช่นนั้นเอง มาแขวนไว้ที่คอเป็นพระเครื่อง แล้วจะคุ้มครองทุกอย่าง แล้วก็จะส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้าเป็น ลําดับไป จนถึงการบรรลุมรรค ผล นิพพาน.”
ยิ่งยึดเอาพระสงฆ์เป็นของกูมากเท่าใด ความเป็นพระสงฆ์ยิ่งเสื่อมถอยลงเท่านั้น ยิ่งยึดเอาพระพุทธเจ้าตามใจกูมากเพียงใด ศาสนาพุทธยิ่งเสื่อมถอยลงมาเท่านั้น ยิ่งมองธรรมะเป็นไปเพื่อส่งเสริมตัวกูของกูเพียงใด ธรรมะยิ่งหมองลงเพียงนั้น บุญใดเอามาเสริมส่งตัวกูของกูแล้วบุญนั้นก็อกุศล วัดใดเอาอัตตาเป็นที่ตั้งแล้ว ย่อมเสื่อมความเป็นวัดลงไปฉันนั้น
เราทำอะไรก็เพื่อตัวเพื่อตน เราต้องเข้าใจนะ ถ้าเราเอาศีลเอาธรรม มีศีลเสมอกัน มีความตั้งมั่นเสมอกัน มีปัญญา เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกอย่างมันก็จะไม่มีปัญหา
มีพระมาถามหลวงพ่อว่า ทำไมวัดที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมุ่งมรรคผลพระนิพพาน มาเห็นคนชาวบ้าน คนท้องถิ่นไม่เข้าวัดกัน มีเเต่พากันทำบุญตักบาตร คนรวย คนมียศมีตำเเหน่ง มันมีตัวมีตนเยอะ มันมองอยู่ประชาชนคนชาวบ้าน มันเหยียดหยามเค้าว่า เค้าจน เค้ามีฐานะต่ำ การเรียนการศึกษาก็ไม่มีโอกาสเรียนศึกษา ลึกๆ มันมองกันอย่างนั้น เวลาคุยกันก็คุยกันไม่ได้ เพราะคนรวยคุยกันเรื่องร่ำรวย เรื่องยี่ห้อรถ ลูกไปเรียนที่ไหนประเทศไหน เพราะว่ามันมีตัวมีตนเยอะ มันคุยกับคนยากคนจนไม่ได้ สถานที่นั้นถึงไม่มีคนจน ไม่มีรากหญ้า เพราะว่า พวกที่เข้ามาวัด ยังไม่ได้เข้าถึงศาสนากัน ยังมาเข้าถึงความรวย ความมีหน้ามีตา ความหรูหรา ฟู่ฟ่า ยังไม่รู้จักศาสนาพุทธ
พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนพากันเข้าใจนะ จะได้ปรับตัวเอง พยายามกลับมามองตัวเองมากๆ อย่าไปมองเเต่คนอื่น ไปจัดการเเต่คนอื่น เพราะการเรียนการศึกษานี้ก็เรียนเพื่อตัวเพื่อตนเรียนเพื่อเอาไปใช้งานในธุรกิจ เพื่อร่ำเพื่อรวย ไม่ได้ไปเรียนไปเข้าใจไปปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านบอกให้ทุกพระ หรือผู้ปฏิบัติธรรม ให้ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ ต้องรักคนอื่นสงสารคนอื่น ตลอดจนสัตว์ทั้งหลาย ต้องรักเค้าสงสารเค้า เพราะเค้าไม่มีความรู้เท่าเรา เค้าไม่มีฐานะเท่าเรา ความสงสาร ต้องรู้จักให้กำลังใจเค้า คนเราสิ่งที่เรารู้ก็มาจากการเรียนการศึกษา เราเอามาจากการประพฤติการปฏิบัติ เพื่อที่จะได้เป็นตัวอย่างเเบบอย่างในทางที่ดี เหมือนที่กล่าวว่า การเรียนการศึกษายังไม่สมบูรณ์เท่ากับการประพฤติปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมะด้วย ถ้าไม่อย่างนั้น เราก็ไม่มีโอกาส ได้เป็นพ่อเป็นเเม่ที่ดี เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี ลูกของประชาชนเสียหาย เพราะว่า พ่อเเม่ไม่มีศีลไม่มีธรรม มีเเต่ความรู้ มีเเต่ความเข้าใจ เเล้วพากันหลงลูกเเบบโมหะ ไม่ได้บอก ไม่ได้สอน ไม่ได้เป็นตัวอย่างเเบบอย่าง ลูกทุกคนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่า พ่อเเม่มีความรู้ เเต่ไม่มีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าจะบอกลูกสอนลูกมันก็อาย
เหมือนครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน พร้อมบอกสอนด้วย แต่ถ้าตัวเองทำไม่ได้ อย่างนี้ใจก็กระดาก จะให้เค้ามาตั้งน้ำใช้น้ำฉัน จะให้เค้าซักผ้าจีวร รับบาตร อุปัฏฐาก อาบน้ำสรงน้ำให้ก็กระดากใจ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้มีศีล ไม่ได้เสียสละ การที่จะสอนลูกศิษย์ลูกหามันถึงทำไม่ได้ เหมือนพระวัดบ้านบอกสอนพระภิกษุสามเณรไม่ได้ เพราะทุกคนรู้เเก่ใจว่าตัวเองไม่ได้มีศีล ๕จะไปบอกลูกก็ยาก จะไปบอกหลานก็ยาก ตัวเองมีความเห็นเเก่ตัว จะไปบอกให้ลูกหลานเสียสละมันก็ทำไม่ได้ มันต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา เราถึงใช้วิธีตั้งเเต่ข่มลูกข่มหลาน ไม่รู้จักชมลูกชมหลาน ประการเเรกก็ต้องชมก่อน เราถึงจะบอกเค้าได้ ถ้าไม่อย่างงั้นเค้าก็จะตกใจก่อน ถ้าเราประพฤติเราปฏิบัติ เราถึงจะบอกด้วยเหตุด้วยผลให้เค้ารู้ ให้เข้าใจได้ ถ้าใจของเราไม่สงบ เรามองอะไรมันก็ไม่สงบหมด ถ้าเราพูดจากใจ พูดจากเมตตา จากกรุณา จากมุทิตา จากความบริสุทธิ์ ทุกคนก็ยอมรับได้ เพราะบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีทั้งความรู้ ทั้งความประพฤติ ทั้งความรัก ความเมตตา ความกรุณา เมื่อเรามีเเต่ความรู้ เราให้ความรู้เค้า เราไม่ได้ให้ทรัพย์เค้าไปลงทุน ความรู้คือ คำพูดที่บอกสอนให้เข้าใจ เเต่เราไม่มีอริยทรัพย์ คือความประพฤติประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่างเเบบอย่างให้เค้ารู้ให้เค้าเห็น ผู้ที่ฟังก็ทำตามไม่ได้
คนเราน่ะ คนเก่าๆ นิสัยเก่าๆ กามมันฝังลึกอยู่ในใจ มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ทุกคนต้องมาละสักกายทิฏฐิ ละอัตตาตัวตน ละตัวกูของกู ปัจจุบันต้องละอดีตให้เป็นศูนย์ อนาคตก็มาจากปัจจุบันธรรม จึงต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ประพฤติปฏิบัติจนตายไปข้างหนึ่ง ตายไปจากตัวตน ตายไปจากตัวกูของกู ตายไปจากความชอบ ไม่ชอบ ตายไปจากกิเลสตัณหาให้ได้ เราต้องกลับมาหาตนเอง มาหยุดตนเอง หยุดการทำบาปทั้งปวง
ถ้าเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่มีเลย ให้มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนี้ คนเรา ต้องกลับมาหางานหลักของเรา คืออานาปานสติ หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย นี่คืองานหลัก จะทำอะไรก็ทำให้มีความสุข ทำงานก็มีความสุข ปฏิบัติธรรมก็มีความสุขในปัจจุบัน จะไปหาพระนิพพานที่ไหน นี่แหละ คือ พระนิพพานจะเกิดขึ้นในปัจจุบันนี่แหละ