แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๖๖ เมื่อลดละการเพ่งโทษผู้อื่น หมั่นสำรวจโทษในตนเอง ย่อมมีชีวิตที่สงบเย็น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกคนมีความท้อเเท้ใจ เพราะมองเห็นเเต่คนอื่น เพราะการที่จะไปเเก้ไขคนอื่นมันเป็นเรื่องยาก เพราะคนอื่นมันไม่ใช่ตัวเรา พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า การที่จะไปเพ่งโทษคนอื่นมันบาป ถ้ามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องเเล้ว เราทุกคนไม่ต้องไปเเก้ที่คนอื่น มองมาภายในตัวเรา เมื่อตัวเองปฏิบัติได้ คนอื่นเค้าก็จะมองเห็นเราว่าเราทำได้ ศาสนานี้คือเป็นเรื่องเเก้ไขตัวเอง ไม่ใช่เรื่องเเก้ไขคนอื่น ถ้าเเก้ไขคนอื่นเค้าเรียกว่าระบบการเมือง ที่เรามีมหาเถรสมาคม จนไปถึงวัดต่างๆ มีสี่หมื่นกว่าวัด อันนี้มันเป็นระบบการเมืองของระบบที่ให้ยศให้ตำเเหน่ง
การปฏิบัติให้เน้นในการปฏิบัติของเราทุกคน ถ้าไม่อย่างงั้น เราจะมีทุกข์โดยไม่จำเป็น ที่เรามีทุกข์อยู่นี้ ก็ทุกข์เพราะคนอื่น อย่างครอบครัวอย่างนี้ ก็ทุกข์เพราะสามี ก็ทุกข์เพราะภรรยา ภรรยาก็ทุกข์เพราะคนอื่น ทุกข์ตัวเองก็มากอยู่เเล้ว เมื่อเราเป็นพระ เมื่อเรามีปัญญา เราปฏิบัติถูกต้อง ทุกอย่างมันจะค่อยๆ ดีขึ้น เรามีความเข้าใจผิด เรารักษาศีลก็เพื่อจะเอา นั่งสมาธิก็เพื่อจะเอา เจริญปัญญาก็เพื่อจะเอา มันจะเอาไม่ได้ มันต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติเพื่อเสียสละ เราถึงจะสบายอยู่ในท่ามกลางสิ่งเเวดล้อม
ที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ ที่เมืองไทย ที่ผ่านกันเป็นประชาธิปไตย มันก็เพราะอย่างนี้ มีปัญหาเพราะมีข้าราชการไม่เป็นข้าราชการ ทุกๆ คนไม่มีความสุขในการทำงาน มีความสุขที่จะได้รับเงินเดือน มีความสุขที่ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก นี้คือการคอร์รัปชั่น อย่างคอร์รัปชั่นโดยมิจฉาทิฏฐิยังไม่พอ มีใต้โต๊ะ ข้าราชการเราเลยเป็นขยะของประเทศ ไม่ได้เป็นศาสนา เป็นอย่างนี้ทุกคน สังเกตดูข้าราชการที่มีความสุขในการทำงาน ตั้งเเต่เช้าจนนอนหลับ เหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าจะมีไม่กี่คนในประเทศไทย เรามีนักการเมืองก็เหมือนกัน ไม่มีนักการเมืองคนไหนที่ไม่โกงไม่กิน ไม่คอร์รัปชั่น ไม่มีความสุขที่จะมาทำการเมือง มีความสุขที่จะมาโกงมากินคอร์รัปชั่น มาทำธุรกิจ ประเทศไทยเราถึงเป็นขยะของประเทศ เป็นขยะซึ่งกันเเละกัน ถ้าทุกท่านทุกคนต้องกลับมาดูตัวเอง เพราะเงินเดือนเราก็ดี การที่เราบริหารอย่างนี้ เราก็เอาเงินของคนอื่นไปบริหาร เเล้วก็ยังไม่มีความสุขในการทำงาน ยังไปโกงกินคอร์รัปชั่น มันเสียหายมาก ความคิดอย่างนี้ ความประพฤติอย่างนี้มันเป็นขยะ เป็นขยะของข้าราชการ เป็นขยะของนักการเมือง เป็นขยะใหญ่ เป็นมหาขยะ
พระสงฆ์องค์สามเณร ไม่เอามรรคผลพระนิพพาน ไม่มีใครเเก้ไขตัวเอง เเล้วไปท้อใจว่ามันจะเเก้ไขได้ยังไง ทุกคนไม่ต้องไปเเก้ไขคนอื่น มันต้องเเก้ไขตัวเอง สร้างพันธุ์เสียสละ พันธุ์ไม่โกงกินคอร์รัปชั่น น่าจะให้มันเป็นขยะขึ้นๆ เพราะอันนี้มันทำลายความมั่นคงของชาติศาสน์กษัตริย์ เป็นขยะยังไม่พอ ยังไปทะเลาะวิวาทกันอีก พวกสัตว์มันทะเลาะกัน พวกสัตว์มันยังไม่มีปืน มีระเบิด มันยังไม่กินเหล้า ไม่กินเบียร์ เล่นการพนัน พวกสัตว์ จะว่าเราเป็นผู้ประเสริฐ เราพูดเอาเอง มันก็ไม่ยุติธรรมเเก่พวกสัตว์เดรัจฉานนะ เราต้องมีความเห็นให้มันไปทางเดียวกัน พากันเเก้กันอย่างนี้นะ เพราะว่าตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์เเล้วมันผิด เเม้เเต่ทำตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เราก็ย่อมไม่ติดในความสะดวกความสบาย เพราะเรารู้ด้วยปัญญาว่า มนุษย์เราต้องมีสติมีปัญญา พัฒนาทั้งวิทยาศาตร์ทั้งจิตใจไปพร้อมๆ กัน ประเทศทุกประเทศ มันจะได้ไปในเเนวทางเดียวกัน ประเทศเค้าเหมือนประเทศเรา ประเทศเราก็เหมือนประเทศเค้า เค้าก็คือ ผู้ที่เกิดเเก่เจ็บตายเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกับเรา จะได้เข้าสู่ความเป็นธรรม ความยุติธรรมระบบของศาสนา ประเทศไทยถือว่าดีกว่าประเทศศรีลังกา ศรีลังกาแตกแยกถึง ๓ นิกาย ประเทศไทยเราแยกเป็น ๒ นิกาย ประเทศพม่า ๙ นิกาย
ประเทศไทยนี้ก็นิกายเถรวาทพึ่งเเตกเเยกชัดเจนมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ การแยกนิกายของพระสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ในวงศ์พระสงฆ์มอญ (รามัญนิกาย) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ และได้ทรงตั้ง คณะธรรมยุต ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุตสืบต่อมา
และใน พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พระราชบัญญัติฉบับนี้มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ. ๑๒๑” มีสาระสำคัญคือ ได้ยกสถานะคณะธรรมยุต ให้เป็นนิกายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้มีการแบ่งแยกเรียกนิกายของคณะสงฆ์ใหม่ ตามศัพท์บัญญัติของพระวชิรญาณเถระ ว่า "ธรรมยุติกนิกาย" และเรียกกลุ่มพระสงฆ์เถรวาทลังกาวงศ์พื้นเมืองที่มีมาอยู่แต่เดิมว่า "มหานิกาย" สืบมาจนปัจจุบันนี้
ความเเตกเเยกที่จริงก็มาจากที่เดียวกันคือมาจากเถรวาทเหมือนกัน เพียงเเต่มาปรับปรุงให้เคร่งครัดขึ้น มาเป็นธรรมยุติ เมื่อหลายปีก่อนที่ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานีก็รุนเเรง อำนาจเจริญ ยโสธร เข้ากันไม่ได้ ไม่ลงอุโบสถร่วมกัน ไม่รับกิจนิมนต์ร่วมกัน แม้กระทั่งการบรรพชาอุปสมบท ก็เถียงกัน ว่าสวดไม่ถูกต้องตามอักขระ สวดไม่ถูกตัวมคธ มันเป็นพระไม่ได้ มันจะไปสำคัญอะไรที่ว่าถูกไม่ถูก เพราะอันนี้มันไม่ใช่เรื่องการหมดกิเลสสิ้นอาสวะ ฝรั่งก็พูดอย่างนึง ไทยก็พูดอย่างนึง ลาวก็พูดอย่างนึง เขมรก็พูดอย่างนึง ยกตัวอย่าง พระพี่ชายบวชมหานิกาย พระน้องชายบวชธรรมยุต พ่อแม่ตายไปจัดงาน ก็ฉันข้าวด้วยกันไม่ได้ ต้องอาบัติ ไปว่าๆ ท่านไม่ได้เป็นพระ เป็นแค่เณร มาจับส่วนของผมไม่ได้เพราะตอนบวชคู่สวดผิดอักขระมคธ
อย่างตอนงานพระราชทานเพลิงหลวงปู่เทศน์ ก็ยังมีปัญหา เพราะเขาจัดโต๊ะอาหารไว้ สาม สี่ โต๊ะ กำหนดแถวนึงเป็นของมหานิกาย อีกแถวนึงเป็นของธรรมยุต พอพระมหานิกายมาดูอาหารของพระธรรมยุต ไม่ดูอย่างเดียวมาจับด้วยว่า ทำไมมีแต่ของดีๆ พอพระธรรมยุตเห็นก็ไปห้ามบอกว่าจับไม่ได้ จับแล้วต้องประเคนใหม่ เลยชุลมุน จะชกกัน การทะเลาะวิวาท เกือบจะวางมวยกัน
เพราะครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสายกรรมฐานส่วนใหญ่ก็จะเป็นธรรมยุต บางทีผู้ที่ไปศึกษาก็มีมหานิกาย มันต้องแยกฉันกัน คนละแถวกัน แต่ก็มีครูบาอาจารย์หลายท่านให้นั่งตามพรรษา แต่ก็ถูกติเตียน ทำไมต้องจัดเป็นคนละแถว แยกมหานิกาย ธรรมยุต มาบาดหมางกัน ก็ทำให้งานก็ไม่เป็นมงคล บางทีพระมหานิกายต้องไปฉันจากข้างนอกก่อนแล้วค่อยเข้ามาในงาน อย่างนี้มันไม่ใช่ศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธต้องเอาธรรมวินัย ไม่ใช่เอาแต่ทะเลาะวิวาทกัน พระพุทธเจ้าทรงเอาเรื่องสมัครสมานสามัคคีมากกว่า ดังในบทสรุปของพระภิกขุปาฏิโมกข์ที่ว่า เอตตะกันตัสสะ ภะคะวะโต สุตตาคะตัง สุตตะปะริยาปันนังอัน๎วัฑฒะมาสัง อุทเทสัง อาคัจฉะติ. ตัตถะ สัพเพเหวะ สะมัคเคหิ สัมโมทะมาเนหิ อะวิวะ ทะมาเนหิ สิกขิตัพพันติ. คำเท่านี้ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น นับเนื่องในสูตรแล้ว มาในสูตรแล้ว ย่อมมาสู่อุทเทส ทุกๆ กึ่งเดือน. อันภิกษุทั้งหลายทั้งปวง นั่นแล พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้ชื่นชมด้วยดีอยู่ เป็นผู้ไม่วิวาทอยู่ ศึกษาในพระปาฏิโมกข์นั้นดังนี้.
พวกนี้มันก็ไม่ยากหรอก เพียงเเต่ทุกคนปรับปรุงส่วนไหนไม่ดี มันไม่ได้ปรับปรุงใคร มันปรับปรุงตัวเอง ทุกคนอยากจะเอาเเต่ความรู้สึกตัวเอง ไม่อยากปรับปรุงตัวเอง จะเอาเเต่ความถูกใจเหนือความถูกต้อง เดี๋ยวนี้ทางจังหวัดอุบลก็ดีขึ้น เพราะว่าอาจารย์ชา ไปศึกษาธรรมะกับหลวงปู่มั่น ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ตามหลักเถรวาท เมื่อหลวงพ่อชาก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ธรรมยุติก็ยอมรับอาจารย์ชา อาจารย์ชาก็ดังขึ้น ประชาชนคนส่วนใหญ่ก็นับถืออาจารย์ชา ธรรมยุติกับมหานิกายเลยเชื่อมกันได้ เเล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องวัดบ้าน วัดป่าธรรมยุติ มันก็มีปัญหา ธรรมยุติวัดป่าก็ไม่อยากยุ่งกับธรรมยุติวัดบ้าน เพราะว่าธรรมยุติวัดป่าเค้ามีโทรทัศน์ย่อหย่อนอ่อนแอ มหานิกายก็เหมือนกัน วัดป่าวัดบ้านก็ทะเลาะกัน เพราะคนหนึ่งเคร่งครัดตามธรรมวินัย คนหนึ่งก็ไม่เคร่งครัด พอไปเยี่ยมกันไปหากันมันก็ไม่ได้ คนหนึ่งก็มีโทรทัศน์ พอไปเยี่ยมก็พลอยได้ดูโทรทัศน์ด้วย เพราะเรื่องโทรทัศน์ก็ผิดศีล ๘ อยู่เเล้ว เราไปโทษกันไปโทษกันมา โทษมหาเถระว่าเเก่เกิน พระผู้ที่จะเเก้ไขตัวเองมันน้อย อย่างสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ วัดราชบพิธฯ ท่านเป็นพระที่ดีมาก เป็นผู้ที่ทำงานเพื่อจะเปลี่ยนเเปลงพระในประเทศไทยให้ดีขึ้น ทุกท่านทุกคนรุ่นน้องพากันช่วยเหลือท่าน เพราะว่าเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา มาพูดให้หลวงพ่อฟังว่า ท่านเป็นผู้ให้กำลังใจของคณะรุ่นน้องลงมา ว่าเราต้องช่วยกันเหน็ดเหนื่อยยากลำบากเพื่อทดเเทนคุณเเผ่นดิน เพราะเรายืนอยู่ในที่ที่ทุกคนจะต้องมาเเก้ที่ตัวเอง ทีนี้มันก็แก้ไม่ยาก ใครทำผิดก็พากันแก้ที่ตัวของเราเอง ไม่ใช่ที่ตัวคนอื่น คนดีต้องเเก้ไข คนจัญไรถือทิฏฐิมานะเอาเเต่ตัวเเต่ตน ก็มักจะชอบแก้ตัว เพราะคนเราจะเป็นวัดบ้านวัดป่า มันต้องเเก้ที่ตัวเอง พระพุทธเจ้าไม่เเยกว่าวัดบ้านวัดป่า ไม่เเยกว่าใครเป็นกษัตริย์ ใครเป็นพราหมณ์ ใครเป็นคนจน คนรวยมันก็ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมาธิปไตยอย่างนี้
เราก็น่าจะมาเข้าใจกันง่ายๆ อย่างนี้ ทุกครอบครัว พ่อเเม่ทุกคนก็ต้องเเก้ไขที่พ่อที่เเม่ ลูกทุกคนเค้าเห็นพ่อเเม่เเก้ไข เค้าก็ต้องเเก้ไข คนเราจะเคารพคนอื่นได้ คนนั้นก็ต้องมีศีลมีธรรม มีคุณธรรม นี้เป็นหลักการที่เเก้ง่ายๆ ปฏิบัติง่ายๆ อย่าไปใจอ่อน อย่าไปเอาตัวตน เหมือนที่คณะสงฆ์บางกลุ่มพูดว่า ขับรถในวัดมันควรจะได้ เพราะว่ามันอยู่ในวัด ไม่ได้ออกนอกวัด มันไปคิดอย่างนั้นไม่ได้ เหมือนการกินเหล้า อยู่ที่วัดพระมันก็เมา โยมก็เมา กินที่บ้านมันก็เมา การทำความผิด มันก็ผิดหมด เพราะว่ามันผิด ผู้ที่มีความคิดเห็นอย่างนั้น ถือว่ายังไม่ถูกต้อง ยังไม่เป็นธรรม เป็นความยุติธรรม เหมือนผู้เลี่ยงบาลี ที่พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติพระวินัยตรงโน่นตรงนี้ ก็เพราะพวก “เลี่ยงบาลี”
คำว่า “เลี่ยงบาลี” คือ “พระบาลี” หรือพระธรรมวินัยที่ชาวพุทธนับถือปฏิบัติสืบกันมา ในส่วนที่เป็นพระวินัยอันภิกษุสงฆ์จะต้องปฏิบัติตาม ภิกษุบางรูปที่ไม่มีความละอาย หาทาง “เลี่ยง” คือไม่ละเมิดตรงๆ แต่ใช้เลศทางอ้อมทำให้เห็นว่าไม่ผิด หรือแม้ทำผิดจริงก็หาทางแก้ตัวไปต่างๆ ว่าที่ทำเช่นนั้นไม่ผิด ตัวอย่างพอให้เข้าใจง่าย เช่น -
ผู้ที่เลี่ยงบาลีเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาน่าจะได้แก่ พระชาวเมืองไพศาลีรูปหนึ่ง ซึ่งทราบดีอยู่ว่า มีพระบัญญัติห้ามมิให้พระภิกษุเสพเมถุน คือมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง พระรูปนั้นตีความแบบทนายว่า "แสดงว่ามีกับอย่างอื่นที่ไม่ใช่ผู้หญิงได้" จึงจับเอาลิงตัวเมียตัวหนึ่งมาเลี้ยงให้เชื่อง แล้วก็กระทำชำเราด้วยนางลิงนั้น จนมีพระรูปอื่นไปพบเข้า เมื่อสอบถาม พระไพศาลีรูปนั้นก็อ้างว่า "ข้าพเจ้าไม่ผิด เพราะไม่ได้นอนกับผู้หญิง แต่นี่เป็นเพียงลิงเท่านั้น พระพุทธเจ้ามิได้ห้ามไว้ ไม่มีในพระบัญญัติข้อไหนเลย ท้าให้เปิดตำราดูได้" นั่นจึงเป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทหรือศีลเพิ่มเติมเพื่อกันคนหัวหมอ เพราะรู้สึกว่าต่อๆ มาก็มีคนเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ภิกษุประสงค์จะดื่มสุรา เอาสุราใส่ในเภสัชบางชนิดที่เข้าสุราเป็นกระสาย แต่ใส่มากกว่าปกติ เมื่อฉันเภสัชนั้นก็อ้างว่าตนฉันเภสัช ไม่ได้ฉันสุรา
มีสิกขาบทบัญญัติว่า ภิกษุฉันอาหารหลังเที่ยงวันเป็นอาบัติ ภิกษุรูปหนึ่งเอาข้าวสุกผสมน้ำปั่นจนเป็นน้ำแล้วดื่ม อ้างว่าตนไม่ได้ฉันอาหาร แต่ดื่มน้ำปานะ
- อย่างนี้แหละคือ “เลี่ยงบาลี” “เลี่ยงบาลี” จึงหมายถึงหาวิธีทำผิดโดยไม่ให้จับได้ว่าผิดตรงๆ หรือทำผิดแล้วหาข้อแก้ตัวเพื่อให้เห็นว่าไม่ผิด
: เลี่ยงบาลีได้ : แต่เลี่ยงนรกไม่ได้
ทุกคนมันต้องทำได้ปฏิบัติได้ ถ้าทำไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ถ้าพูดเป็นพระเป็นสามเณรก็พากันสึกไปเสีย เพราะมันพากันทำลายส่วนรวม ถ้าไม่อยากสึกก็ต้องทำให้ได้ เพราะมันเอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่ได้ไม่ใช่ศาสนา เห็นไหมเราตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ว่ารับเงินไม่ได้ก็เออ รับใบปวารณาสิ เเล้วปวารณาให้โยมเก็บตังค์ เเต่ตัวเองก็คุมบัญชีธนาคารมันก็พอๆเก่า มันมีโทษสองชั้นนะ โทษอันหนึ่งเป็นเจ้าของเงิน โทษที่สอง หลอกลวงตัวเองว่าตัวเองไม่เอาเงินเอาปัจจัย เวลาตายมีเงินในธนาคารหลายล้าน ความไม่ดีก็โผล่ขึ้นมาในสังคมตลอด มันเลี่ยงบาลีไม่ดีหรอก ต้องปรับเองเข้าหาธรรมะ ไม่ใช่ปรับธรรมะเข้าหาตนเอง
ประชาชนถึงจะมีความสุข เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่เข้ามาเเก้ที่เรา ต้องพากันทำอย่างนี้มันเเก้ได้ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้อยู่เเล้ว เราอย่าพากันมาเป็นนักเลงโต ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่ออยากเด่นอยากใหญ่ไม่ใช่ความเห็นของพระพุทธเจ้า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อสะสมความเห็นเเก่ตัวไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงบาลี ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้มันเเก้ไม่ได้ ข้าราชการก็เเก้ไม่ได้ นักการเมืองก็ไม่ได้ นักบวชก็เเก้ไม่ได้ เพราะว่ามันโง่ ไปเเก้คนอื่น มันไม่ใช่ฉลาดอะไร พระพุทธเจ้าท่านเเก้ตัวเองจนได้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านถึงเเก้ประชาชน
การเบียดเบียนผู้อื่นที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการกล่าวโทษอีกฝ่ายเกินพอดี และการเฝ้าเพ่งเล็งในข้อบกพร่องของผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นเพียงการเบียดเบียนเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำร้ายตนเองอีกด้วย พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงเรื่อง กำลัง หรือ อำนาจ ดังนี้ “ทารกทั้งหลายมีการร้องไห้เป็นกำลัง, มาตุคาม (ผู้หญิง) ทั้งหลายมีความโกรธเป็นกำลัง, โจรทั้งหลายมีอาวุธเป็นกำลัง, พระราชาทั้งหลายมีอิสริยยศเป็นกำลัง, คนพาลทั้งหลายมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง, บัณฑิตทั้งหลายมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง, พหุสุตบุคคลทั้งหลายมีการพิจารณาเป็นกำลัง, สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีขันติเป็นกำลัง”
การเพ่งโทษ คือการคิดร้าย การหวังประทุษร้าย การกล่าวถึงผู้อื่นด้วยจิตอกุศล และการเฝ้าตำหนิหรือมองแต่แง่ลบของผู้อื่น คนพาลดังคำที่ท่านกล่าวถึงคือคนที่มีจิตใจต่ำทรามหรือยังถูกครอบงำด้วยกิเลสอยู่มาก มักเป็นผู้ชอบวิวาทและก่อความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น ย่อมใช้การเพ่งโทษคนอื่นเป็นการสร้างอำนาจให้กับตนเอง ย่อมเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการเพ่งโทษเขาอยู่เสมอๆ
ในทางกลับกัน ผู้เป็นบัณฑิต คือบุคคลที่มีปัญญาพาออกจากทุกข์ มีการไม่เพ่งโทษคนอื่นเป็นอำนาจของตนเอง ไม่เที่ยวเทียวให้ร้ายใคร ไม่คิดอกุศลต่อคนอื่น หรือเพ่งจับผิดข้อบกพร่องของใคร ย่อมมากด้วยความเคารพและมีจิตใจที่สงบมั่น แตกต่างจากบุคคลพวกแรกที่มิอาจหาความสงบร่มเย็นให้แก่จิตใจได้เลย เพราะมัวแต่ควานหาข้อผิดพลาดของผู้อื่น
การใช้ชีวิตของคนเรานั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องผูกพันกับโลกธรรมทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือการมีอำนาจ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสถานะหรือยศ การยอมรับหรือสรรเสริญ และลาภทั้งหลายที่เป็นสมบัติภายในคือศักยภาพ กับสมบัติภายนอกคือวัตถุต่างๆ จิตเรามักถูกผลักดันให้แสวงหาในอำนาจเหล่านี้เพื่อทำให้รู้สึกมั่นคงและมีตัวตน ซึ่งบ่อยครั้งที่การเสาะแสวงในโลกธรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม บางครั้งเราก็แสวงหาความมั่นใจตนเองด้วยการเพ่งโทษคนอื่น กลั่นแกล้งคุกคามเพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจชดเชยความขาดแคลนในจิตใจ บางครั้งเราก็ต้องการการยอมรับเพื่อรู้สึกถึงความมีตัวตน จึงร่วมขบวนการก่นด่าสาปแช่งผู้อื่น หรือแสดงความเห็นคล้อยตามไปกับคนอื่นๆ ให้เป็นที่รับรู้ หลายครั้งที่การเพ่งโทษคนอื่นเป็นกลไกของจิตที่หวังให้ตัวเราเองรู้สึกมีคุณค่าและความมั่นคงมากขึ้น แต่เป็นเหมือนเกราะกลวงๆ ที่ไว้บังหน้า มิอาจให้ความมั่นคงทางจิตใจที่แท้จริงได้เลย
พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่คอยจับผิดคนอื่น ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ “โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบแต่ปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ ฉะนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น”
ในพุทธกาล พระรูปหนึ่งเที่ยวแส่หาแต่โทษของภิกษุทั้งหลายเท่านั้นว่า "ภิกษุนี้ย่อมนุ่งอย่างนี้ ภิกษุนี้ย่อมห่มอย่างนี้." พวกภิกษุกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระชื่อโน้น ย่อมกระทำอย่างนี้."
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในข้อวัตรกล่าวสอนอยู่อย่างนี้ ใครๆ ไม่ควรติเตียน, ส่วนภิกษุใดแสวงหาโทษของชนเหล่าอื่น เพราะความมุ่งหมายในอันยกโทษ กล่าวอย่างนี้แล้วเที่ยวไปอยู่, บรรดาคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น คุณวิเศษแม้อย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น, อาสวะทั้งหลายเท่านั้น ย่อมเจริญอย่างเดียว" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อารา โส อาสวกฺขยา.
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ผู้คอยดูโทษของบุคคลอื่น ผู้มีความมุ่งหมายในอันยกโทษเป็นนิตย์, บุคคลนั้น เป็นผู้ไกลจากความสิ้นไปแห่งอาสวะ.
ยิ่งเพ่งโทษคนอื่นมากเพียงใด เรายิ่งหลงลืม “อาสวะ” หรือกิเลสหม่นหมองที่หมักหมมอยู่ในตนมากเท่านั้น จึงยิ่งโทษคนอื่นเพียงใด เราก็ยิ่งเป็นผู้น่าถูกกล่าวโทษมากเท่านั้น เพราะขณะที่เรากล่าวโทษคนอื่นอยู่ จิตก็ส่งออกไปนอกตัว จึงไม่ทันได้หันกลับมาแลเหลียวพิจารณาตนเองอย่างถี่ถ้วน จึงกล่าวว่าโทษคนอื่นเห็นง่าย โทษตนเองเห็นยาก เมื่อมีการส่งจิตออกไปข้างนอกตัวบ่อยๆ แล้วการจะพิจารณาหรือรู้เท่าทันข้อบกพร่องของตนเองก็เป็นไปได้ยาก มัวแต่มองผู้อื่นจนลืมตนอยู่นั่นเอง ดังพระตรัสของพระพุทธเจ้า การกล่าวโทษคนอื่นอย่างขาดสติปัญญา เป็นเหมือนการเอาแกลบมาปกปิดโทษหรือข้อบกพร่องของตนเองไว้ การโทษคนอื่นก็เป็นกลไกการปกป้องตนเองจากการยอมรับโทษที่ตนก่อ ความผิดพลาดที่กระทำ กิเลสและข้อเสียที่ตนมีอยู่ จิตใจเราอาจไม่อยากยอมรับ จึงโทษคนอื่นหรือเฝ้าเพ่งเล็งข้อบกพร่องของคนอื่นๆ ไม่สิ้นสุด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเราเองได้สบตากับด้านมืดภายใน
ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงอันตรายสองแบบ คือ อันตรายที่ปรากฏ กับ อันตรายที่ปกปิด
อันตรายที่ปรากฏ เช่น สัตว์ร้าย สัตว์มีพิษ โรคทางร่างกายทั้งหลาย อากาศร้อน อากาศหนาวจัด แดดร้อน ความหิวกระหาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย และสิ่งที่อาจเป็นอันตรายอันอยู่นอกตัวเราและเกี่ยวกับร่างกาย เป็นอันตรายที่สังเกตได้ง่าย
อันตรายที่ปกปิด เช่น กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต คือการกระทำไม่ดีทางกาย วาจา และใจ, นิวรณ์อันบดบังปัญญา ได้แก่ ความรัก ความชัง ความลังเล ความฟุ้งซ่าน และความห่อเหี่ยว, กิเลส ได้แก่ โลภ โกรธ หลง ความอาฆาตแค้น ความลบลู่คุณ การตีเสมอ อิจฉาริษยา ความตระหนี่ การหลอกลวงความโอ้อวด ความหัวดื้อ การแข่งดี การถือตัว การดูหมิ่นคนอื่น มัวเมาหลงใหล ความประมาท เป็นต้น รวมทั้งความกระวนกระวาย ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุศลธรรมทั้งปวง อันตรายเหล่านี้ เรียกว่าอันตรายที่ปกปิด เพราะสังเกตได้ยากและมักเผลอไผลไม่ระวัง
อันตรายในธรรมะของพระพุทธเจ้า หมายถึง สิ่งที่สามารถครอบงำ บั่นทอน ทำร้าย หรือย่ำยีตัวเรา มิว่าทางกายหรือทางใจ ให้เป็นไปในทางเสื่อม เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าอันตราย
หากเรามัวแต่โทษคนอื่น เพ่งเล็งข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของผู้อื่นอยู่บ่อยๆ เราก็จะไม่ทันระวังอันตรายที่ปกปิดไว้ในตัวเราเอง อกุศลที่หมักดองไว้ก็จะทำให้กาย วาจา และใจตนค่อยๆ เน่าเสีย เสื่อมลงช้าๆ เพราะไม่ระวังในอกุศล เช่น กิเลสทั้งหลายที่มีอยู่ ระหว่างที่มัวจับผิดคนอื่นเขา เราจึงค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ ในทางธรรมและการพัฒนาจิตใจตนเอง การเปรียบเทียบตนกับคนอื่น การแข่งดี การโอ้อวดตัวเอง การดูหมิ่นคนอื่น ต่างก็เป็นหนึ่งในอันตรายใกล้ตัวที่ปกปิดไว้ ด้วยความไม่รู้ตัว ด้วยเอาจิตส่งออกนอกไปใส่ใจสิ่งนอกกายเกินไป หรือด้วยการโปรยแกลบโทษของคนอื่นอำพลางไว้ ทำให้ตัวเราเองคือผู้ที่เบียดเบียนตนกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เป็นผู้ร้ายที่น่ากลัวที่สุดผู้หนึ่ง
ตราบใดที่ใจเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง และการแข่งดี เราก็สามารถทำร้ายตนเองและคนอื่นได้เสมอ มิว่าด้วยกาย วาจา หรือใจ ไม่เพียงแค่นั้นยังอาจชักชวนหรือเป็นปัจจัยให้ผู้อื่นก่ออกุศลกรรมตามตนเองอีกด้วย เป็นหนทางที่นำไปสู่ความทุกข์ มิอาจอยู่อย่างเป็นสุขและร่มเย็นในจิตใจ
หากเราพึงหวังให้ตนเองไม่เป็นผู้เบียดเบียน ปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขและร่มเย็น พึงปราบปรามหรือกำราบความโลภ ความโกรธ ความหลง และการแข่งดีในจิตใจตนเอง ไม่มัวเพ่งโทษของผู้อื่นจนหลงลืมตน บางครั้งเรารู้สึกว่าจำเป็นต้องเพ่งโทษคนอื่น เพราะสิ่งที่เขาเป็นหรือที่แสดงออกมาทำให้เราทุกข์ แต่การกระทำที่เขาแสดงเป็นความรับผิดชอบของเขา แต่อารมณ์ของเรา กิเลสของใจ ความขุ่นข้องรำคาญกับข้อผิดพลาดคนอื่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนอื่น แต่เป็นของตัวเราเอง
ขณะที่เราว่าร้ายหรือวิจารณ์คนอื่นนี้ จิตใจเราเองอาจทำลงไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง และการแข่งดี มีความอยากเด่น อยากมีคุณค่า อยากมีตัวตน อยากโอ้อวด อยากได้รับการยอมรับ และกิเลสน้อยใหญ่ที่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง ทำให้การกระทำนั้นๆ เป็นอกุศล ทำให้เกิดความเบียดเบียน ทำร้ายซึ่งกันและกัน การที่เราเฝ้าจับผิด คิดลบร้าย มองแต่ข้อบกพร่องของผู้อื่นและสิ่งทั้งหลาย แง่หนึ่งก็เป็นเพราะว่าตัวเราอยากมีคุณค่า อยากดีพอ หรืออยากเป็นที่ชื่นชมสรรเสริญ ความอยากดีพอที่ว่านี้ ย่อมทำให้จิตโลเล วุ่นวาย ไม่ตั้งมั่น ทำให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ตามมา เช่น การแข่งดี การโอ้อวดตนเอง และการดูหมิ่นผู้อื่น เป็นต้น
"คนทั่วไปอยู่บนยอดเขา ด้วยมุ่งหมายการแก่งแย่งกันเพื่อ 'คำว่าชนะ' ไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างเป็นสุข ย่อมโดดเดี่ยว ย่อมเย็นยะเยือกด้วยความหนาวเหน็บ สายตาที่สาดส่องไปเบื้องต่ำ มีแต่ความหวาดระแวงทุกวินาที ว่าจักมีผู้ใดไหมหนอ? ที่กำลังหมายจะมาแทนที่เรา... ส่วนทายาทแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่บนยอดเขา พึงมีใจดุจภูเขาศิลาล้วนเป็นแท่งเดียว ดั่งคำสอนแห่งองค์พระพุทธบิดร สามารถยืนอยู่ได้อย่างเป็นสุข ปราศจากความอ้างว้างโดดเดี่ยวและเหน็บหนาว มี 'ไตรลักษณ์' เป็นอารมณ์ สายตาที่สาดส่องไปเบื้องต่ำ มีแต่เมตตาอันประมาณมิได้ ปรารถนายิ่งยวดว่า มาเถิด ท่านทั้งหลาย จงขึ้นมายืนอยู่ตรงจุดนี้ร่วมกับเรา..."
บุคคลทั่วไปย่อมใช้ชีวิตไปตามกระแสการแสวงหาโลกธรรมทั้งหลาย อยากได้รับการยอมรับ คำชื่นชม และการมีตัวตน ย่อมอยากได้ใคร่มีในคำสรรเสริญเยินยอทั้งหลาย ย่อมเคลิ้มหรือหวั่นไหวไปกับคำสรรเสริญเยินยอทั้งหลาย แต่สิ่งนี้เป็นของน้อย ไม่ได้ทำให้เราขจัดปราบปรามอันตรายอันปกปิดในตัวเราเองได้เลย และอาจยิ่งส่งเสริมให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปด้วยความหลงอีกด้วย
การจะลดละการเพ่งโทษผู้อื่น เราต้องหมั่นสำรวจโทษในตนเอง รับฟังในคำตำหนิติเตียน ไม่เพลิดเพลินและแสวงหาแต่การสรรเสริญ พิจารณาและยอมรับในความผิดพลาดไปตามความเป็นจริง ย่อมทำให้อยู่บนทางของการระงับอกุศลทั้งหลายภายในจิตใจ แล้วนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขสงบอย่างแท้จริง