แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๖๕ ให้อยู่กับปัจจุบัน ใช้ชีวิตในแต่ละวันให้สงบเย็นเป็นประโยชน์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าสอนเราให้อยู่กับปัจจุบัน เพราะชีวิตของเราที่มีจริงคือปัจจุบัน อดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ ปัจจุบันที่เป็นสัมมาทิฏฐิ รู้เท่าทันความเป็นจริงของร่างกาย รู้จักอารมณ์ที่เกิดจากร่างกาย เกิดจากผัสสะ มีสติ มีสัมปชัญญะ ทิ้งทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้น ไม่หลง ไม่เพลิดเพลิน ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท พระพุทธเจ้า เราดูเเล้วก็เป็นผู้ที่ใจไม่มีอดีต ใจไม่มีอนาคต เเม้เเต่ปัจจุบันก็รู้เท่าทันตามความเป็นจริง ที่ต้องเสียสละ พระอรหันต์ก็ประพฤติตามพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน
การพัฒนาชีวิต พระพุทธเจ้าก็ให้เราพัฒนาตามหลักเหตุหลักผลหลักวิทยาศาสตร์ ไม่หลงงมงาย ในอิทธิปาฏิหารย์ พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีอิทธิปาฏิหารย์ ถ้าไม่จำเป็นพระพุทธเจ้าก็ไม่เอาอิทธิปาฏิหารย์มาใช้ พระโมคคัลลานะเป็นผู้มีอิทธิปาฏิหารย์เเต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สรรเสริญ เท่าผู้ที่มีปัญญา เหมือนพระสารีบุตร ชีวิตของพระเป็นชีวิตที่พอทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ต้องการอะไร เราดูเเล้วเป็นชีวิตที่สันโดษ เราดูพระพุทธเจ้าไม่สะสมอะไร ดูพระอรหันต์ไม่สะสมอะไร ทุกท่านทุกคนให้พากันเข้าใจ ถ้าเรารู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ ถ้าเรารู้จักร่างกาย ทุกท่านทุกคนก็ย่อมหยุดความปรุงเเต่ของตัวเองได้ อย่างเราหยุดทำบาปทางกาย หยุดทำบาปทางวาจาอย่างนี้ หยุดทำบาปทางความคิด มีความสุขในการเสียสละ พระพุทธเจ้าไม่มีขี้เกียจขี้คร้าน พระอรหันต์ไม่มีขี้เกียจขี้คร้าน
การที่เราจะฝึก เราจะปฏิบัติที่เปลี่ยนเเปลงตัวเอง ทุกคนต้องฝึก การฝึกก็ต้องใช้เวลาใช้ปฏิปทา ติดต่อต่อเนื่อง เพราะความรู้นี้คือ สัมมาทิฏฐิ การประพฤติการปฏิบัติก็เป็นมรรค เป็นหนทางในชีวิตประจำวัน การปฏิบัติเราไม่เอาอะไร เรามาเสียสละ เรามาเวียนว่ายตายเกิดเพราะเราจะเอาอะไร เรารักษาศีลเพื่อจะเอาอย่างนี้มันผิด เราทำสมาธิเพื่อจะเอามันก็ผิด เราเจริญปัญญาเพื่อจะเอาเราก็ผิด ไม่เอาเราจะปฏิบัติทำไม? เราปฏิบัติเพื่อมาเสียสละ ทุกคนถึงไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักใจตัวเอง ว่าตัวเองมันคิดอะไร ถ้าเราไม่รู้จักตัวเอง เราก็จะไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอะไร
ศีลนี้ก็คือ ตั้งใจ ตั้งเจตนา สมาทาน มันถึงจะเกิดสัมมาสมาธิ ถ้าเราเน้นมาหาตัวเองอย่างนี้ ชีวิตของเรามันก็สงบ ก็เย็น เราไม่ต้องไปถามใคร เพราะว่ามันเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ถ้าเรื่องคนอื่นก็ต้องไปถามคนอื่น เรื่องของเราเราต้องกลับมามองดูตัวเอง ถ้าสงสัยเอาธรรมตัดสินวินัยมาเทียบเคียงดู
“ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการนี้ มีมาใน “โคตมีสูตร” อังคุตตรนิกาย เป็นถ้อยคำที่ตรัสแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งออกบวชเป็นภิกษุณี ถือกันว่าเป็นหลักสำคัญ มีข้อความที่น่าสนใจเป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งคือ เป็นหลักธรรมที่ทรงเลือกสรรมา ในลักษณะเป็นเครื่องตอบแทนคุณแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นมารดาอีกส่วนหนึ่งด้วย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นว่า การปฏิบัติอย่างใดจะเป็นไปถูกต้องตามหลักแห่งการดับทุกข์หรือไม่ ก็ควรใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ เป็นเครื่องตัดสินได้โดยเด็ดขาด ฉะนั้น จึงเป็นหลักที่แสดงถึง ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาอยู่ในตัว หลักเหล่านั้น คือ...ถ้าธรรม (การปฏิบัติ) เหล่าใด...
๑. เป็นไปเพื่อ ความกำหนัดย้อมใจ ๒. เป็นไปเพื่อ ความประกอบทุกข์ (คือทำให้ลำบาก)
๓. เป็นไปเพื่อ สะสมกองกิเลส ๔. เป็นไปเพื่อ ความอยากใหญ่ (คือไม่เป็นการมักน้อย)
๕. เป็นไปเพื่อ ความไม่สันโดษ ๖. เป็นไปเพื่อ ความคลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อ ความเกียจคร้าน ๘. เป็นไปเพื่อ ความเลี้ยงยาก
พึงรู้ว่า ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ (สัตถุศาสน์ คือ คำสอนของพระศาสดา)
แต่ถ้าเป็นไปตรงกันข้ามจึงจะ เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ คือ...
๑. เป็นไปเพื่อ ความคลายกำหนัด ๒. เป็นไปเพื่อ ความไม่ประกอบทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อ ไม่สะสมกองกิเลส ๔. เป็นไปเพื่อ ความอยากน้อย
๕. เป็นไปเพื่อ ความสันโดษ ๖. เป็นไปเพื่อ ความไม่คลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อ ความพากเพียร ๘. เป็นไปเพื่อ ความเลี้ยงง่าย
คำว่า “ความกำหนัดย้อมใจ” ได้แก่ ความติดใจรักยิ่งขึ้นๆ ในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องหรือแวดล้อม ถ้าการปฏิบัติหรือการกระทำ หรือแม้แต่การพูด การคิดอย่างใด ทำให้บุคคลผู้นั้นมีความติดใจรักในสิ่งใดๆแล้ว ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิด ตัวอย่างเช่น การดูหนังดูละคร เป็นต้น มันทำให้เกิดความย้อมใจอย่างที่กล่าวนี้ ด้วยอำนาจของ ราคะ เป็นต้น ซึ่งจะเทียบดูได้กับจิตใจของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความสงบ หรือแม้แต่อยู่ในที่สงัด จะเห็นได้ว่าเป็นการแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม พึงอาศัยตัวอย่างนี้เป็นเครื่องเทียบเคียง จับความหมายของคำๆนี้ให้ได้ ทั้งในทารูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่สุด ตัวอย่างแห่งธรรมารมณ์ เช่น การชอบคิดฝัน ถึงสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ ก็ย่อมทำจิตให้ถูกย้อมด้วยราคะมากขึ้นๆ เป็นต้น
คำว่า “เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์” หมายถึงการทำตนเองให้ลำบากด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ ด้วยความเข้าใจผิด ในกรณีที่ไม่ควรจะมีความลำบากหรือลำบากแต่น้อยก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าพิศวงว่า คนเราไม่ชอบความลำบากด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้วทำไมจึงไปทำสิ่งที่ตนจะลำบาก ทั้งนี้ ก็เพราะอำนาจของ “โมหะ” คือ ความหลงเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความเข้าใจผิดกลับตรงข้าม แม้ในกรณีที่เป็นเรื่องของการอยากดี อยากเด่น อยากมีชื่อเสียง เป็นต้น ก็มีมูลมาจากโมหะอยู่นั่นเอง กรณีที่เป็นการประชดผู้อื่น หรือ ถึงกับประชดตัวเองก็ตาม ย่อมสงเคราะห์เข้าในข้อนี้ ซึ่งมีมูลอันแท้จริงมาจากความหลงสำคัญผิดอย่างเดียวกันนั่นเอง โดยส่วนใหญ่ได้แก่ การปฏิบัติที่เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” คือ การทรมานตนอย่างงมงาย
คำว่า “สะสมกองกิเลส” หมายถึง การเพิ่มพูน โลภะ โทสะ โมหะ โดยรอบด้าน ผิดจากความกำหนัดย้อมใจตรงที่ ข้อนี้หมายถึงเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องสนับสนุนการเกิดของกิเลสทั่วไป และให้ทวียิ่งขึ้นด้วย การสะสมสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลสอยู่เป็นประจำ ในกรณีของคนธรรมดาสามัญ บางอย่างอาจจะไม่จัดเป็นการสะสมกองกิเลส แต่จัดเป็นการสะสมกิเลสอย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์โดยตรง เช่น พวกบรรพชิต หรือในบางกรณีก็จัดว่า เป็นการสะสมกองกิเลส ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เช่น การมีเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้ชนิดที่ไม่มีความจำเป็นแก่การเป็นอยู่ แต่เป็นไปเพื่อความลุ่มหลง หรือความเห่อเหิมทะเยอทะยานประกวดประขันกันโดยส่วนเดียว เป็นต้น เป็นการขยายทางมาของกิเลส ให้กว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด
คำว่า “ความอยากใหญ่” หมายถึง การอยากเกินมาตรฐานแห่งภาวะ หรือสถานะ หรือกำลังสติปัญญาของตน เป็นต้น ส่วนความไม่สันโดษ ไม่ได้หมายถึงความอยากใหญ่ เช่นนั้น แต่หมายถึงความไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ได้มาแล้ว หรือมีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้มีความรู้สึกเป็น คนยากจนอยู่เนืองนิจ เป็นทางให้เกิดความอยากใหญ่หรือกิเลสอย่างอื่นต่อไปได้ หรือในทางตรงกันข้าม ทำให้เกิดการทำลายตัวเอง จนถึงกับฆ่าตัวตายก็ได้ โดยภาษาบาลี ความอยากใหญ่ เรียกว่า “มหิจฺฉตา” ความไม่สันโดษเรียก “อสันตุฎฐิ” โดยพยัญชนะหรือโดยนิตินัย เราอาจจะแยกได้ว่าเป็นคนละชั้น คนละตอน หรือคนละอย่าง แต่โดยพฤตินัยย่อมเป็นไปด้วยกัน จนถึงกับหลงไปได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
คำว่า “ความคลุกคลี” หมายถึง การระคนกันเป็นหมู่ เพื่อความเพลิดเพลินอย่างใดอย่างหนึ่งจากการกระทำอันนั้น ความเพลิดเพลิน จากการคลุกคลีนี้มีรสดึงดูดในทางธรรมารมณ์เป็นส่วนใหญ่ และก็มีความยั่วยวน ไม่แพ้อารมณ์ที่ได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะเหตุฉะนั้นเอง คนเราจึงติดใจรสของการที่ได้ระคนกันเป็นหมู่นี้ ทำให้จิตใจลุ่มหลง มีลักษณะเหมือนกับจมไม่ลง ทำให้ความคิดความอ่าน ดำเนินไปอย่างผิวเผิน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการคิดอย่างแยบคายหรือลึกซึ้ง แต่พึงทราบไว้ว่าการประชุมกันเพื่อศึกษาเล่าเรียน ปรึกษาหารือ กิจการงานอันเป็นหน้าที่ เป็นต้นนั้น ท่านไม่เรียกว่าการคลุกคลีกันเป็นหมู่ในที่นี้ แต่อีกทางหนึ่งท่านยังหมายกว้างไปถึงว่า การถูกกิเลสทั่วไปกลุ้มรุม ด้วยสัญญาอดีต ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เคยผ่านมาแล้วแต่หนหลัง แม้นั่งคิดฝันอยู่คนเดียว ก็กลับสงเคราะห์ไว้ในคำว่า การคลุกคลีในหมู่อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะมีมูลมาจากความอาลัยในการระคนด้วยหมู่
คำว่า “ความเกียจคร้าน” และคำว่า “เลี้ยงยาก” มีความหมายชัดเจนแล้ว การปฏิบัติทำความดับทุกข์เป็นเรื่องใหญ่และยึดยาว จึงต้องอาศัยความเพียร ความเลี้ยงง่าย จึงจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องมีภาระเรื่องอาหารมากกว่าที่จำเป็น ซึ่งทำให้เสียเวลา และเสียวัตถุมากไปเปล่าๆ โดยที่อาจจะนำไปใช้เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้
ลักษณะทั้ง ๘ นี้ แต่ละอย่างๆเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรงก็มี เป็นเพียงอุปสรรคก็มี และเป็นการปฏิบัติผิดโดยตรงก็มี จึงถือว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ ต่อเมื่อปฏิบัติตรงกันข้ามจาก ๘ อย่างข้างต้น จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ หรือเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ นี้นับว่าเป็นหมวดธรรมที่เป็นอุปกรณ์แห่งการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์อย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นหลักสำหรับยึดถือ หรือให้ดำเนินไปถูกทาง”
ถ้าสงสัยเอาธรรมตัดสินวินัยมาเทียบเคียงดู มันจะได้ง่ายๆ เข้าใจได้ง่ายๆ เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ชีวิตเราก็จะเป็นสติสัมปชัญญะ มันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ท่านเจ้าคุณพุทธทาสถึงบอกว่า เราต้องมองที่เราที่ตัวเรา เราต้องรู้เรื่องของเรา เราอย่าไปรู้เรื่องของคนอื่น ถ้าเราพยายามประพฤติพยายามปฏิบัติอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นพระอริยเจ้าท่านถึงพากันปฏิบัติอย่างนี้ เราดูเเล้วทุกคน มีเเต่คนสงบ มีเเต่คนเย็น มีเต่คนมักน้อยสันโดษ ไม่มีใครฟุ้งซ่านอะไร ชีวิตก็มีเเต่ความสงบสุข เรื่องอนาคตจะทำยังไง อนาคตก็อยู่ที่ปัจจุบันนี้แหละ มันก็จะไปของมันเอง สำหรับประชาชนก็ทำเหมือนกันนี้เเหละ เราก็ต้องทำงานให้มีความสุข ถ้าเราไม่มีความสุขในการทำงาน เราก็ตกอยู่ในอบายมุข อบายภูมิ เราต้องรู้ความสุข ความดับทุกข์ มันไม่ใช่เป็นเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐี ก็ทำไปปฏิบัติไป ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย มีศีลห้า มาที่ใจ ถ้าเราเน้นเรื่องจิตเรื่องใจ ความสงสัยของเรามันก็ไม่มี เพราะเราก็รู้เเก่ใจของเเต่ละบุคคลอยู่เเล้วว่า อันนี้ไม่ดี คิดอันนี้ไม่ดี พูดอันนี้ไม่ดี ก็ไม่ไปคิดไม่ไปพูด
อย่างเราเป็นฆราวาสเป็นผู้ครองเรือน เราต้องมีความสุขในการทำงาน ถ้าเราทำอย่างนี้ การใช้เงินใช้ตังค์เราต้องวางเเผน เราอย่าไปติดในสิ่งของ เราต้องปรับใจเข้าหาสิ่งของ ไม่ใช่ปรับสิ่งของเข้าหาจิตเข้าหาใจ คนเรามันก็ดีอยู่เเล้ว มีบ้าน มีที่อยู่อาศัย ความสุขมันอยุ่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เราไม่ต้องไปเทียบคนอื่นว่าคนนั้นเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ เราต้องเน้นที่ตัวเอง เราเป็นยังไง ลูกเราก็เป็นอย่างนั้น เพราะคนเรามันก็ดูกัน น้ำเราก็ประหยัด ไฟเราก็ประหยัด สิ่งของใช้เราก็ประหยัด เพราะอันนี้เป็นทรัพยากร เงินเราไปอันนี้เยอะ เราก็เบียดเบียนทรัพยากร พากันรักษาศีลห้าดีๆ ถ้าไม่อย่างนั้นมันเห็นเเก่ตัว พ่อเเม่ศีลห้าก็ต้องให้มันเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งด้านจิตใจ ด้านคุณธรรม เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ให้อยู่ในเหตุผล ให้อยู่ในกฏของวิทยาศาสตร์ ที่อยู่เหนือวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาใจก็คือ ตามพระพุทธเจ้า ทุกคนก็จะมีความสุข ไม่มีหนี้ไม่มีสินอะไร เราจะเดินอยู่หรือว่าไปเครื่องความสุขก็อยู่ที่ใจอย่างเก่า ใจที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ความสุขมันไม่ได้อยู่ที่ความหรูหราฟุ่มเฟือย ความสุขไม่ได้อยู่ที่สรรเสริญเยินยอ อันนั้นความโง่ของเราเฉยๆ อันนี้มันจะกลับมาหาปฏิปทา เพราะเราทุกคนเรื่องเศรษฐกิจต้องทำไปอย่างนี้ เรื่องจิตเรื่องใจต้องทำไปอย่างนี้เเหละ
๗ วิธีใช้ชีวิตให้สงบเย็น-เป็นประโยชน์
หนึ่ง : กินข้าวจานแมว เรื่อง กินข้าวจานแมว ซึ่งเป็นวัตถุแต่ความหมายมันเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ คำพูดเหล่านี้เป็นเพียงคำอุปมาว่า การอยู่ที่สวนโมกข์นี้มันกินข้าวจานแมว แต่ใจความมันไม่ได้อยู่ที่กินข้าวจานแมว มันอยู่ที่การอยู่เพื่อจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้ลุล่วงไปด้วยดี
กินข้าวจานแมวข้อแรกหมายความว่า อย่าไปมีปัญหายุ่งยากลำบากในเรื่องกินอาหารเลย กินง่ายๆ ด้วยข้าวราดแกงเหมือนที่แมวกินนั้นก็พอแล้ว นี่ก็หมายถึงการกินอย่างง่ายที่สุด ตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าจงกินแต่พอดีอย่าไปหวังว่าจะอยู่ดีกินดีให้วิเศษวิโสไปเลย กินอยู่เพียงเพื่อมันไม่ตายก็พอแล้ว
การกินอยู่แต่พอดีอย่างนี้เป็นองค์ประกอบองค์หนึ่งในโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในพระโอวาทนั้นในวันมาฆปุณมีโดยบทว่า มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคคือ กินอยู่แต่พอดี อย่าทะเยอทะยานเรื่องกินดีอยู่ดี เหมือนคนสมัยนี้ให้มากไปเลยมันเสียเวลาเปล่าๆ เพราะว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อกิน
แต่คนสมัยนี้เขาเห็นว่า เกิดมาเพื่อกิน เพื่อสนุกสนานเอร็ดอร่อยเต็มที่ แล้วมันก็จบกันเท่านั้นเอง มันมีดีที่สุดอยู่เพียงเท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้หมายไม่ได้ทรงมุ่งหมายแต่เพียงอย่างนั้น ทรงมุ่งหมายว่ากินนี้กินเพื่อไม่ให้ตาย เมื่อไม่ตายแล้วจะทำอะไรต่อไป ก็คือทำให้ได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ไม่ได้สิ้นสุดอยู่ที่ได้กินอร่อยๆ แต่ต้องได้ธรรมะอะไรชนิดที่เป็นความสุขอย่างแท้จริง เหลือที่จะบรรยายได้มาด้วย มันจึงจะเรียกว่าได้แล้วซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
ตรงนี้อยากจะเตือนให้ทุกคนจำไว้อย่าได้ลืมว่า อย่าให้พุทธบริษัทโง่หรือเลวกว่าพวกคริสเตียน คือ เรื่องของพระเยซูที่เคยเอามาเล่าให้ฟังหลายครั้งหลายหนแล้วว่า เมื่อพระเยซูถูกพระยามารล้อเลียนว่าถ้าเป็นลูกพระเจ้าก็จงเสกก้อนหินเหล่านี้ให้เป็นอาหารขึ้นมาสิ จะมัวทนหิวอยู่ทำไมไม่ได้กินข้าวมาตั้งสามสิบสี่สิบวันแล้ว พระเยซูตอบว่าชีวิตไม่ได้อยู่ได้ด้วยอาหาร ชีวิตอยู่ได้ด้วยพระธรรมของพระเจ้า นี่แหละลองไปคิดดูให้ดีเถิดว่าแม้ในหลักฝ่ายศาสนาคริสเตียนเขาก็ไม่ถือว่าชีวิตนั้นอยู่ได้ตรงที่มีอาหารกินแต่ว่าชีวิตนี้อยู่ได้เพราะว่ามีธรรมะหล่อเลี้ยง
อาหารนั้นกินเพียงไม่ให้ตายแล้วก็ แสวงหาธรรมะอันแท้จริงมาหล่อเลี้ยงชีวิตนี้ให้กลายเป็นชีวิตที่สมบูรณ์คือชีวิตที่สูงสุด ทำพอให้มีกินไปก็แล้วกัน แต่เมื่อมีกินแล้วจะต้องทำอะไรให้มันดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ก็คือการมีจิตใจที่ประกอบไปด้วยธรรม เช่นมีความสะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็นเป็นสุขแสนที่จะเย็นได้ จนกว่าร่างกายนั้นมันจะแตกดับไป
ร่างกายนั้นมันกินข้าวกินปลาเป็นอาหารไม่เท่าไรก็หมดเหตุหมดปัจจัยที่จะอยู่ได้มันก็ต้องดับไป แต่ส่วนจิตใจนั้นมันต้องการกินธรรมะคือความสะอาด สว่าง สงบก็มีความสุขอย่างยิ่ง เป็นต้นอยู่ มันคนละเรื่องกับร่างกาย เราอย่าได้ห่วงแต่เรื่องกิน และอย่าได้ยกเอาเรื่องกินมาเป็นเรื่องทั้งหมด กินเพื่อให้มันอยู่ได้ ตามสะดวกสบาย แล้วก็อาศัยโอกาสหรือเวลานั้นทำสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะทำ นี้เป็นข้อแรกที่ว่ากินเพื่ออยู่ แล้วกินเหมือนกับแมวก็ใช้ได้นี่ เรียกว่ากินข้าวจานแมว
สอง : อาบน้ำในคู คือ อย่าพิถีพิถันถึงกับจะต้องมีความสะดวกสบายอย่างนั้นอย่างนี้ อาบน้ำในคูหรือในลำธารลำห้วยในหนองในคลองในอะไรก็แล้วแต่ที่จะมีได้ตามธรรมชาติ เพื่อจะตัดปัญหาความยุ่งยากลำบากในการอยู่ ในการบริหารร่างกายต่างๆ ออกไปเสีย แต่เราเอามารวมไว้ในคำเพียงคำเดียวว่า อยู่อย่างอาบน้ำในคูคืออยู่อย่างธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เป็นเกลอกับธรรมชาติให้มากที่สุด
ให้อยู่อย่างง่ายๆ อยู่อย่างต่ำๆ เพื่อให้หัวใจมันสูง ถ้าอยู่อย่างที่เรียกกันว่าดีหรือสูงซะแล้ว หัวใจมันต่ำ ถ้าอยู่อย่างต่ำหัวใจมันก็สูง ฉะนั้นการกินการอยู่การอาบการอะไรก็ตามที่เป็นไปตามธรรมชาตินั้น ทำให้จิตใจฉลาดหรือเป็นไปในทางสูงทุกอย่างทุกประการนี้เราเอามาสรุปไว้ในคำว่าอาบน้ำในคูเป็นข้อที่สอง
สาม : เป็นอยู่อย่างทาส ก็หมายความว่าให้เป็นอยู่อย่างคนที่ยอมเป็นทาสนั้น คือ เป็นบ่าวเป็นขี้ข้าของเขามันก็ต้องยอม ถ้าอยู่อย่างเจ้าอย่างนายมันก็คือยกหูชูหางนั่นก็คือไม่ยอม เป็นอยู่อย่างทาสนี้คือเป็นอยู่ด้วยความยอมไม่ยกหูชูหาง เด็กๆ เกิดมาพ่อแม่ตามใจอยู่ตลอดเวลา จึงมีโรคยกหูชูหาง ฉะนั้นมาอยู่กันในระบอบใหม่เสียบ้างคือ เป็นอยู่อย่างทาส อยู่อย่างที่ไม่มีโอกาสจะยกหูชูหาง อยู่อย่างคนแพ้ อยู่อย่างคนยอม ไม่ด่าว่าใครไม่ตะเพิดใครไม่ดูถูกใครไม่ยกตนข่มท่าน แต่เป็นคนยอมแพ้เหมือนกับทาสเรียกว่าเป็นอยู่อย่างทาส เพื่อขัดเกลาจิตใจของตนที่มีอหังการ ที่มีตัวกู มีของกู ยกหูชูหางอยู่เรื่อยไป นั้นคือศัตรูที่ร้ายกาจของคนเรา เราจะทำลายมันเสียได้ ฆ่ามันเสียให้ตายได้ก็โดยมาสมัครเป็นอยู่อย่างทาส กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคูแล้วยังเป็นอยู่อย่างทาสคือไม่ปริปาก นี้นับว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง
คนที่ไม่เคยยอม ไม่รู้จักยอมมา หัดรู้จักยอมนี่ คือการปฏิบัติธรรมชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือทำลายตัวกูของกู หรือว่าอย่างน้อย ก็ควบคุมตัวกูของกูไม่ให้มันยกหูชูหาง แล้วเป็นอยู่อย่างทาสไม่ให้โอกาสที่ให้ตัวกูของกูมันยกหูชูหาง ไอ้ที่มันยกหูชูหางนั้นมันเป็นกิเลสหรือมันเป็นอวิชชา การที่เป็นอยู่ชนิดที่ไม่ให้มันได้มีโอกาสยกหูชูหางนั้นมันไม่มีอย่างอื่น มีแต่ทางเดียวคือการเป็นอยู่อย่างทาส ไม่ปริปากไม่ดื้อดึงไม่ยกตนเหนือผู้ใดแต่ว่าเป็นผู้ยอม
คำว่าเป็นทาสชนิดนี้มันไม่ได้หมายถึงเป็นทาสอย่างที่เขาเป็นๆ กัน เช่นเป็นหนี้เงินเขาหรือว่าในสมัยหรือในถิ่นที่กฎหมายให้คนมีทาสแล้วก็ใช้อย่างทาสนั้นมันเป็นทาสอีกอย่างหนึ่ง มันเป็นทาสทางวัตถุทางร่างกาย ในภาษาคน แต่ทาสอย่างนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่ได้เป็นหนี้เงินของใครไม่ใช่มีกฎหมายไหนมาบังคับให้เราต้องตกเป็นทาส แต่เรามี #อุบาย มีสติปัญญาอันฉลาดที่จะเข่นฆ่าเสียซึ่งกิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิโดยประการต่างๆ คือจะฆ่าตัวกูของกูนั่นเอง ไม่มีอาวุธอื่นดีกว่าที่จะสมัครมีระเบียบความเป็นอยู่อย่างทาสไม่เชื่อก็ลองดู พยายามทำตนเป็นอยู่เหมือนกับทาสรับใช้ผู้อื่นแล้วกิเลสของตนจะเบาบาง พระเยซูพูดถึงข้อนี้เหมือนกันว่าการรับใช้ผู้อื่นคือรับใช้พระเจ้า ขอให้คนทั้งหลายรับใช้ผู้อื่นเถิดจะกลายเป็นการรับใช้พระเจ้า มิฉะนั้นแล้วมันก็จะรับใช้ตัวเอง หาใส่ปากใส่ท้องของตัวเองเห็นแก่ตัวเองอร่อยเองสนุกสนานเองไม่รับใช้ผู้อื่น อย่างนี้คือมันรับใช้ภูติผีปีศาจ เราจึงสรุปความได้ว่า รับใช้ตัวเองนั้นคือรับใช้ภูติผีปีศาจ รับใช้ผู้อื่นนั้นคือรับใช้พระเป็นเจ้า
การที่เราจะมีความประพฤติเป็นอยู่ที่เรียกว่าเป็นอยู่อย่างทาสนี้ มันมีความหมายสำคัญอยู่ที่ #รับใช้ผู้อื่น อย่าได้นึกถึงตัวเลยคือลืมเสียก็ได้ แต่มุ่งแต่จะทำเพื่อรับใช้ผู้อื่น แล้วอะไรๆ มันก็จะเป็นผลดีที่สุดแก่ตัว คือทำลายตัวกูของกูเสียได้ ไม่มีตัวกูของกูมามัวยกหูชูหางอยู่เรื่อยไปเหมือนที่แล้วๆ มา การเป็นอยู่อย่างทาสมันดีอย่างนี้
สี่ : หมายมาดปล่อยวาง เป็นอยู่อย่างทาสชนิดนี้ก็มุ่งมาดการปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้โดยความเป็นตัวกูของกู หัวใจของทาสชนิดนี้มันมุ่งมาดปล่อยวางอยู่เสมอไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าอะไรมันมีวี่แววเข้ามาในลักษณะที่จะให้เกิดตัวกูของกูก็สกัดกั้นมันเสีย อย่าให้มันเกิดขึ้นมาได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการปล่อยวาง ถ้าพูดตามภาษาธรรมดาเค้าก็เรียกว่าวางสิ่งที่มันเกิดอยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงนั้นคือ การป้องกันไม่ให้เกิด มากกว่า มีความหมายมั่นที่จะทำให้มัน ว่าง ไม่ให้ปรุงแต่งเป็นตัวกูเป็นของกูขึ้นมา นี้เรียกว่ามุ่งหมายความปล่อยวาง
ห้า : อยู่อย่างตายแล้ว คือ จิตใจมันมุ่งมาดความปล่อยวางอยู่เสมอมันก็เท่ากับคนตายแล้วคือไม่มีตัวกูไม่มีของกู อยู่อย่างตายแล้วเช่นนี้เป็นความหมายในทางภาษาธรรม ไม่ใช่ความตายทางร่างกาย ในภาษาคน
ตายแล้วในภาษาธรรมหมายความว่าตัวกูของกูไม่ได้มีอยู่เลย อุปาทานหรืออัสมิมานะ อหังการ มมังการว่าตัวกูว่าของกูนี้ไม่มีอยู่เลย จึงเปรียบได้เหมือนกับว่าตายแล้ว เพราะมันไม่มีตัวเราเพราะมันไม่มีของเรา
หก : มีแก้วในมือ คือดวงจิตว่าง คนที่อยู่อย่างตายแล้วนี้เป็นคนที่มีดวงแก้วในมือ พูดว่าแก้วนี้ก็หมายถึงแก้วในภาษาธรรมอีกเหมือนกัน พวกเราก็ได้ยินได้ฟังกันมามากแล้วว่าแก้วนั้น คือ พระพุทธ คือพระธรรม คือพระสงฆ์ รัตนตรัยแก้วสามดวงนี้มีอยู่ในมือของเราแล้ว ใครลองเป็นอยู่อย่างตายแล้วไม่มีตัวกูของกูยกหูชูหางเถอะ คนนั้นจะมีจิตใจเหมือนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจิตใจเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือไม่มีกิเลสไม่มีความทุกข์
แก้วที่ในมือนี้เราเรียกสั้นๆ ว่ามีจิตว่าง จิตว่างคือดวงแก้ว จิตว่างคือไม่มีกิเลสไม่มีความทุกข์ มีความหมายเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเป็นอะไรทุกอย่างที่พุทธบริษัท มีแก้วในมือคือดวงจิตว่าง ไม่มีอะไรอีกเป็นปัญหา ก็แปลว่าสิ้นสุดในเรื่องส่วนตัวของบุคคลนั้น
เจ็ด : แจกของส่องตะเกียง เลี้ยงคนทั้งโลก เหลืออยู่ต่อไปก็คือ แจกของส่องตะเกียง ตัวเองไม่มีไม่ต้องพูดถึง ก็เที่ยวแจกของเที่ยวส่องตะเกียงให้ผู้อื่น ของในที่นี้ก็หมายถึงสิ่งที่จำเป็น ที่เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายเขาจะพึงได้ ในการที่จะกำจัดเสียซึ่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
คำว่าส่องตะเกียงในที่นี้ก็หมายถึง การให้แสงสว่าง ให้รู้จักหนทาง ที่จะช่วยตัวเองให้ได้ด้วยกันทุกคน แสงตะเกียงก็คือแสงของพระธรรมนั่นเอง เราส่องตะเกียงให้ผู้อื่นก็หมายความว่า ช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้มองเห็นธรรม ได้บรรลุธรรม ทีนี้ผู้อื่นก็แปลว่าทั้งหมดไม่ใช่แต่บางคน
เราจะมีการเผยแผ่ธรรมะที่นี่โดยวิธีใดก็ตาม มันเป็นเรื่องแจกของส่องตะเกียงด้วยเหมือนกัน ให้คนได้ความรู้ได้สติปัญญาสำหรับจะเอาชนะกิเลสหรือความทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องทางวิญญาณโดยตรง
วิญญาณของโลกก็หมายความว่า คนทุกคนหรือชีวิตทุกชีวิตที่กำลังมืด กำลังมืดมน กำลังไร้สมรรถภาพ เราให้แสงสว่างให้สมรรถภาพในการที่เขาจะช่วยตัวเองให้รอดพ้นได้ในทางจิตทางวิญญาณ
มุ่งหมายจะแจกของส่องตะเกียงเพื่อคนทั้งโลกอย่างนี้ เรียกว่าเป็นการเลี้ยงคนทั้งโลก ในทางวิญญาณให้อาหารในทางจิตทางวิญญาณแก่คนทั้งโลก เป็นข้อสุดท้ายเป็นฝ่ายสุดท้ายคือฝ่ายผู้อื่น ฝ่ายตัวเรานั้นทำเสร็จแล้วก็ทำเพื่อผู้อื่นต่อไป และยิ่งกว่านั้น การทำเพื่อผู้อื่นนั้นมันก็เป็นการทำเพื่อตัวเราด้วยเหมือนกัน
ดังที่กล่าวว่า รับใช้ผู้อื่นนั้นคือรับใช้พระธรรม ถ้ารับใช้ตัวเองนั้นก็คือรับใช้ภูติผีปีศาจหรือพญามาร การกระทำพร้อมๆ กันไปทั้งสองอย่าง คือช่วยผู้อื่นแล้วเป็นการช่วยตัวเองอยู่ในตัวนั้น เป็นวิธีที่ฉลาดและเป็นวิธีที่เรียกว่าเป็นธรรมเป็นวินัยในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ทำเพื่อตน ไม่ได้เห็นแก่ตน ฉะนั้นจงทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความรู้สึกที่ไม่เห็นแก่ตน แต่เห็นแก่ผู้อื่น แล้วมันจะเป็นการถูกต้องอยู่ในตัวมันเองโดยไม่ต้องมีใครมาสอน ในที่สุดเกิดมาทีหนึ่งก็ได้รับประโยชน์ครบทั้งสองคือประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ด้วยการกระทำอย่างเดียวกันพร้อมๆ กันไปในตัว พุทธทาสภิกขุ
คนเราถ้าประพฤติปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน มันไม่นานหรอก เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติมันติดต่อต่อเนื่อง คนเราเห็นรูปส่วนใหญ่จะมีใครพิจารณาให้เข้าสู่อนิจจัง สู่ทุกขัง สู่อนัตตา ส่วนใหญ่มีแต่ปล่อยไปตามสัญชาตญาณเฉยๆ พระพุทธเจ้าถึงให้เราพัฒนาจิตใจ เพราะตามสัญชาตญาณแล้ว ถ้าอันไหนมันไม่บาป มันจะไม่คิด อันไหนไม่บาป มันจะไม่พูด อันไหนไม่บาป มันจะไม่ทำ เพราะอันนี้มันเป็นอาหารของการเวียนว่ายตายเกิด เขาถึงเรียกว่า ตายแล้วไปไหน ก็ไปยังที่ชอบๆ มันก็ชอบคิดแต่ในสิ่งที่เป็นภพภูมิที่มันกำลังหลงอยู่ การประพฤติปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นงานของเราโดยเฉพาะ พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเดรัจฉานคาถา เดรัจฉานวิชา เข้าสู่ทางสายเอก สู่การเจริญสติปัฏฐาน ๔ คนเรามันก็ขาดตอนนี้แหล่ะ เช่นเอาเวลาที่เราจะเจริญสติสมาธิเจริญกรรมฐาน ไปเล่นโทรศัพท์ ไปเล่นไลน์ พระที่มีโทรศัพท์มือถือ มีอินเตอร์เน็ตเฟสบุ๊คนี้ ถึงไปมรรคผลนิพพานไม่ได้ เพราะเป็นเดรัจฉานกถา เพราะว่านี่มันไม่ใช่ทางเดินของพระอริเจ้า ทุกคนต้องเห็น ต้องมีปัญญา ต้องใจเข้มแข็งเพราะว่าการจะเอาสิ่งที่มันยากสุดออกจากจิตใจมันต้องอาศัยความเพียร เหมือนเขาผ่าตัดสมอง มันต้องอาศัยใจเย็น มือนิ่ง ทำช้าๆ คนฟุ้งซ่านมันทำไม่ได้นะ...
การรักษาพระวินัย มันก็เหมือนกับอุปกรณ์เครื่องบินถ้ามันขาดตัวใดตัวนึงมันก็บินไม่ได้ อุปกรณ์รถยนต์ก็เหมือนกันถ้ามันขาดตัวใดตัวนึงมันก็วิ่งไม่ได้ เพราะว่ามันต้องมีเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะได้ไม่เป็นเพียงนักปรัชญา ถ้างั้นไม่ได้ พระวัดป่าก็จะกลายเป็นพระวัดบ้าน พระวัดบ้านจะกลายเป็นประชาชน ประชาชนก็จะกลายเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะเราไม่ได้เอาธรรมเอาพระวินัย เราคิดดูดีๆ มันขาลง เราต้องเอาใหม่พระพุทธศาสนาไม่ใช่มันจะตกต่ำขึ้นลงเป็นทอดๆ มหาวิทยาลัยนาลันทาก็ถูกเผาถูกอะไรไป เพราะว่าความประพฤติมันเป็นขาลง ถ้างั้นไม่ได้ น่าจะต้องพัฒนา ถ้าพระเราดี พระก็คือทั้งประชาชนทั้งภิกษุมันจะดี การบ้านการเมืองก็จะดีไปพร้อมๆ กัน เทคโนโลยีก็จะมีประโยชน์ ต้องมีศีลเสมอกันภาพรวมของประเทศ ภาพรวมของทุกวัด ภาพรวมของทุกครอบครัว ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ การปฏิบัติของเราถึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เราทุกคนถึงต้องพากันมาเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของมหาชน เพื่อกตัญญูกตเวที ต่อยอดสืบทอดความถูกต้อง เพราะชีวิตของเรามันไม่จีรังยั่งยืน ไม่กี่สิบปีก็ต้องจากโลกนี้ไป เราจะมาหลงมาเพลิดเพลินอยู่อย่างนี้ไม่ได้นะ