แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คนเราเกิดมาต้องมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นสิ่งที่สำคัญเราจะได้ปฏิบัติถูกต้อง การเรียนการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนถึงได้เอาลูกของตัวเองเข้าโรงเรียนตั้งเเต่สองขวบ ความรู้ประการเเรกถึงต้องได้มาจากพ่อจากเเม่ พ่อเเม่ถึงเป็นผู้สำคัญ ผู้ที่จะมีคู่ครองถึงต้องดูสายพันธุ์ ถึงดูสายพันธุ์ทั้งฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย ถ้าพ่อเเม่ดีก็สายพันธุ์นั้นก็ดี เด็กที่เกิดมามีคุณครูดี คุณครูมีความรู้ดี เด็กจึงมีระเบียบ มีวินัย คู่สามีภรรยา คู่ครองเรือนต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง เอาพระศาสนาเป็นที่ตั้ง ถ้าพ่อเเม่ถือศาสนาอะไร เราก็ต้องเอาศาสนานั้นเป็นที่ตั้ง
ให้เข้าใจคำว่า ศาสนา ศาสนานี้คือ ธรรมะ คือความเป็นธรรม คือความยุติธรรม ไม่ได้ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ทุกๆ คนต้องพากันเสียสละ เพื่อปิดอบายมุขปิดอบายภูมิ ทุกท่านทุกคนพากันเดินตามอริยมรรค เรียกว่าปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ปรับเข้าหาความเป็นธรรม ความยุติธรรม ปรับเข้าหากฏหมายบ้านเมือง ถ้ากฏหมายบ้านเมืองอันไหนไม่เป็นธรรม ก็ถือว่ากฏหมายนั้นเป็นโมฆะ เช่น กฏหมายกินเหล้ากินเบียร์ เล่นการพนัน อย่างนี้ ก็ถือว่ากฏหมายนั้นเป็นโมฆะ ยังไม่ใช่ธรรมะ ศาสนาเป็นสิ่งที่สมบูรณ์เเบบกว่า สามีภรรยา ก็ต้องธรรมะเป็นหลัก ธรรมะเป็นใหญ่ สามีภรรยาถึงจะเคารพนับถือกันได้ สามีภรรยามีความเห็นที่ประกอบด้วยปัญญา สัมมาทิฏฐิ เหมือนกัน มีความประพฤติเหมือนกัน ลูกเราหลานเรา เค้าถึงจะเคารพเรา เราถึงจะเป็นตัวอย่างเป็นโมเดล ที่ว่า พ่อเเม่เป็นตัวอย่างเป็นเเบบพิมพ์
ทางฝ่ายโรงเรียนเรียกว่า คุณครู คือผู้บอกผู้สอนตามหนังสือ ตามหลักเหตุหลักผลที่ผู้ที่เกิดมาก่อนค้นคว้า ตามหลักเหตุหลักผล คือ หลักวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษา อ่านท่อง เพื่อจดจำ เเล้วเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ คุณครูผู้นำของนักเรียน ถึงต้องพากันมีศีล 5 ไม่กินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน ถึงจะเป็นคุณครู เป็นปูชนียบุคคล บุคคลมีความรู้ มีความประพฤติดี คุณครูทุกท่าน พ่อเเม่ทุกท่านไม่มีสิทธิ์ที่จะทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ต้องเอาความถูกต้อง เอาความเป็นธรรม เอาเเต่ความยุติธรรมให้กับลูกศิษย์ การเรียนการศึกษานี้เเหละเป็นสัมมาทิฏฐิ เพื่อที่จะรู้ เพื่อจะเข้าใจ คนที่เค้าไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ฟังคำอธิบาย ถึงจะอายุร่วม 100 ปี จะไม่มีความรู้ เพราะความรู้นี้ต้องได้มาจากการอ่าน การเขียน การฟัง การบรรยาย เเล้วได้รับเกิดจากภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่พ่อเเม่เป็นตัวอย่าง เเละ คุณครูเป็นตัวอย่าง เเละ ตัวนักเรียนเองต้องเป็นผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติ เราดูตัวอย่าง อย่างคนชนบทไปเป็นครูเป็นทหาร เป็นข้าราชการ พลเรือน เป็นตำรวจ เป็นอะไรต่างๆ ก็ล้วนแต่ได้มาจากการเรียนการศึกษา เเละภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันไม่ได้เกิดมาเอง เพราะอันนี้เป็นสิ่งที่เราพากันประพฤติพากันไปปฏิบัติ เเม้เเต่บุคคลนั้นจะละสังขารเเล้ว สิ่งที่เป็นเเบบเป็นตัวอย่างมันก็มีอยู่ประจำโลก เราอยู่ตัวอย่างอย่างพระ เป็นลูกคนรากหญ้า ลูกคนชนบท ไปเรียนนักธรรมตรีโทเอก มหาเปรียญธรรม ก็ต้องไปเรียนที่เเหล่งที่มีความรู้ จนได้เป็น ป.ธ.9 ความรู้สามัญเป็น ดร. มันต้องไปเรียน การที่จะพบกับคนเช่นใด ย่อมเป็นไปอย่างนั้น การที่เราได้คบพ่อที่ดี เเม่ที่ดี เเละ พบคุณครูที่ดี ทั้งฝ่ายสามัญชน เเละ ฝ่ายบรรพชิตก็เหมือนกัน เมื่อเราไม่มีการเรียนการศึกษา ไม่มีการปฏิบัติมันก็ไม่มีอะไรก้าวหน้า มีเเต่ย่ำอยู่กับที่ เหมือนเรามีวัดอยู่ในชนบท ก็ไม่มีอะไร ความรู้ก็ไม่มี ก็อยู่เป็นพื้นๆ ไป นอกจากไปเรียนในจังหวัด ไปเรียนในกรุงเทพ เราถึงจะได้บุคลากรที่ดี นี้ให้เราเข้าใจว่า การเรียนกับการปฏิบัติมันต้องไปพร้อมๆ กัน ถ้าไม่ไปพร้อมกัน เราเรียนเราศึกษาก็เพื่อจะมาเอาเปรียบคนที่ไม่ได้เรียนไม่ได้ศึกษา เราเรียนศึกษาเพื่อเอาเปรียบคนอื่น ส่วนใหญ่คนที่มีโอกาสได้เรียนได้ศึกษามีน้อย ผู้ที่ไม่ได้เรียนก็เป็นส่วนใหญ่ เรียนก็เรียนเพียงเเต่ภาคบังคับเท่านั้น เพราะเราไม่ได้เข้าสู่ความเป็นธรรม ความยุติธรรม เราพากันไปพัฒนาเเต่ทางวิทยาศาตร์ ทางหลักเหตุหลักผล เเต่เราไม่ได้พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน มันเก่งเเต่วิชา ขาดจรณะ ขาดการประพฤติการปฏิบัติ
เมื่อวันก่อนได้พูดเรื่องการพัฒนาตามหลักเหตุหลักผลตามหลักวิทยาศาตร์ เเละ พัฒนาความสะดวกสบายเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาเรื่องดูเเลสุขภาพ ถึงกับเปลี่ยนอะไหล่ของร่างกายได้ เเต่ก็ยังขาดเเคลน บุคคลที่บริจาคอวัยวะ เพราะว่าประชากรส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ เพราะกลุ่มเป้าหมายที่เข้าใจ คือ นิสิต นักศึกษา ครูบาอาจารย์ ระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังไม่เข้าใจอยู่ เพราะยังไม่ได้พัฒนาใจ เอาเเต่พัฒนาเเต่วิทยาศาสตร์เพื่อเอาอยู่ดีกินดี ลืมพ่อ ลืมเเม่ ลืมญาติพี่น้อง ลืมหลักพระศาสนา เพราะกลุ่มเป้าหมายที่จะบริจาคสรีระร่างกาย ก็จะรู้มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกมหาวิทยาลัยของประเทศ หรือมหาวิทยาลัยของโลก ต้องเข้าใจในเรื่องการเสียสละ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องเสียสละ มันเป็นการเรียนการศึกษาเพื่อความเห็นเเก่ตัว อย่างอำเภอหนึ่งอย่างนี้ เราไปประกาศไปโฆษณาให้มาบริจาคเลือด ได้ไม่กี่คนหรอก เพราะประชาชนเค้าไม่มีความรู้ เค้ายังไม่เข้าใจ พวกมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีความรู้นะ หรือหน่วยงานต่างๆ กรมประชาสัมพันธ์ พวกวิทยุ พวกโทรทัศน์ พวกสื่อต่างๆ ต้องเเทรกความรู้เพื่อให้มันสอดคล้องระหว่างจิตใจกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ถ้าอย่างนั้นมันจะล้มเหลว เพราะการบริจาคเลือดมันดีอยู่เเล้ว เพราะทำให้สุขภาพดี สำหรับคนหนุ่มสาว ไปถึงอายุ 40-50ปี อย่างนี้ ดีต่อทุกคน เเต่ทุกคนมันกลัว เพราะความเห็นเเก่ตัว มันกลัวสิ่งที่ดี กลัวการเสียสละ ไม่อยากเสียสละ ไม่รู้จักว่า การเสียสละ คือ ทำให้จิตใจของมนุษย์ดี เพื่อจะได้เข้าถึงธรรม ถึงปัจจุบันที่จิตใจของคนเราทุกคนที่มีคุณธรรม ความรักความสมัครสมานสามัคคี มันจะได้กลมกลืนกัน การดูเเลเป็นระบบครอบครัวก็ดีอยู่ เเต่ครอบครัวต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่เป็นครอบครัวมิจฉาทิฏฐิ การศึกษาต้องพากันเข้าใจ ถ้างั้นจะไม่เข้าถึงเป้าหมายในการเรียนการศึกษา ในการพัฒนาวิทยาศาตร์ สงครามล่าอาณานิคมมันไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือว่า สงครามระหว่างประเทศ ระหว่างสถาบันไม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้าเราเข้าใจในเรื่องการเรียนการศึกษา เเละ การพัฒนาของหมู่มวลมนุษย์
การศึกษาที่เอาแบบตะวันตกและมุ่งพัฒนาวัตถุนั้น เป็นการศึกษาที่เน้นความรู้เพื่อความรู้ ซึ่งมักให้ผลเป็นสภาพ “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” เป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีเป็นปรัชญา เป็นหลักการใช้เหตุผล แต่ไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม และทำให้ผู้เรียนพ้นทุกข์ได้ แม้แต่การเรียนพุทธศาสนาในปัจจุบันก็เป็นการเรียนแบบปรัชญา ไม่ใช่เรียนแบบศาสนา เป็นการฝึกการคิดเหตุผล และการพลิกแพลงทางภูมิปัญญาแต่ไม่ทำให้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง
แนวคิดทางการศึกษาของพุทธทาสภิกขุ หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ เป็นพระภิกษุที่เพียบพร้อมไปด้วยศีลาจารวัตรและภูมิปัญญาอันสูงยิ่งในสังคมไทย ท่านเป็นรูปหนึ่งที่รอบรู้ทางการศึกษาและมองเห็นข้อบกพร่องของการศึกษาของ ไทย และได้เรียกการศึกษาในโลกปัจจุบันว่า “การศึกษาหมาหางด้วน” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปัญญาชนและผู้เกี่ยวข้องในด้านการศึกษาทุกท่านมาช่วย กันต่อหางสุนัข ท่านพุทธทาสมองว่าการศึกษาตามแบบปัจจุบันละเลยบทเรียนทางศีลธรรม การศึกษาที่ปราศจากการปลูกฝังจริยธรรม จึงเปรียบเหมือนสุนัขหางด้วนที่พยายามหลอกผู้อื่นว่า สุนัขหางด้วนเป็นสุนัขที่สวยงามกว่าสุนัขมีหาง ท่านจึงพยายามชี้ให้เห็นว่าสุนัขที่มีหางเป็นสุนัขที่สวยงาม การศึกษาจึงต้องเน้นบทเรียนทางศีลธรรม การศึกษาที่ไม่มีบทเรียนทางศีลธรรม ไม่เน้นภาคจริยศึกษา ย่อมไร้ประโยชน์ และอาจจะเป็นอันตรายต่อสังคมอีกด้วย “การศึกษาในปัจจุบันนี้ ทั้งโลกก็ว่าได้ มักมีแต่เพียงสองอย่าง คือ รู้หนังสือกับอาชีพแล้วก็ขมักเขม้นจัดกันอย่างดีที่สุด มันก็ไม่มีผลอะไรมากไปกว่าสองอย่างนั้น มันก็ยังขาดการศึกษาที่ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องอยุ่นั้นเอง ดังนั้นอาตมาจึงเรียกการศึกษาชนิดนี้ว่า เป็นการศึกษาเหมือนกับหมาหางด้วน
ขอย้ำอีกที่หนึ่งว่า การศึกษาหมาหางด้วน มันรู้มาก รู้มาก แต่เรื่องหนังสือกับวิชาชีพ, แต่ไม่มีความรู้เสียเลย ว่าจะดับทุกข์ในจิตใจกันอย่างไร ฉะนั้นการศึกษาทั้วโลกเวลานี้เป็นการศึกษาหมาหางด้วน เพราะไม่ประกอบไปด้วยวิชชาที่ดับทุกข์, มีแต่วิชชาที่จะทำอะไรเพื่อปากเพื่อท้องเพื่ออาชีพ, พอเผลอเข้า ควบคุมไม่ได้,อันนั้นเกิดเป็นพิษขึ้นมา,เกิดปัญหาเกิดความทุกข์อะไรขึ้นมา เพราะวิชชาชนิดนั้น ไม่ควบคุมความโลภได้, ไม่ได้ควบคุมความโกรธได้, ไม่ควบคุมความหลงได้; นี้เราไม่เรียกว่าวิชชา, มีค่าเท่ากับอวิชชา. ตลอดเวลาที่เรายังไม่มีวิชชา เราก็ตกอยู่ใต้อำนาจสัญชาตญาณที่ปราศจากวิชชา, สัญชาตญานเดิมๆมีตัวตนแล้วก็เห็นแก่ตัวตน ยิ่งเห็นแก่ตัวตนก็ยิ่งไม่มีวิชชา ยิ่งมีอวิชชา อวิชชามาจากสัญชาตญาณแห่งการมีตัวตน ที่ไม่ได้รับการอบรม.”
ท่านพุทธทาสวิเคราะห์ว่า การศึกษาที่เอาแบบตะวันตกและมุ่งพัฒนาวัตถุนั้น เป็นการศึกษาที่เน้นความรู้เพื่อความรู้ ซึ่งมักให้ผลเป็นสภาพ “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” เป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีเป็นปรัชญา เป็นหลักการใช้เหตุผล แต่ไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม และทำให้ผู้เรียนพ้นทุกข์ได้ แม้แต่การเรียนพุทธศาสนาในปัจจุบันก็เป็นการเรียนแบบปรัชญา ไม่ใช่เรียนแบบศาสนา เป็นการฝึกการคิดเหตุผล และการพลิกแพลงทางภูมิปัญญาแต่ไม่ทำให้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง
แม้แต่การศึกษาของบรรพชิต ท่านพุทธทาสก็เห็นว่าเป็นการศึกษาที่สูญเปล่า เช่น การศึกษาของสามเณร ก็มิได้มุ่งพัฒนาจิตตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สามเณรเองก็ต้องการศึกษาเช่นเดียวกับนักเรียนฆราวาส ให้มีความรู้แบบฆราวาส ระบบสามเณรจึงสูญเปล่าเช่นเดียวกับการศึกษาของคนโดยทั่วไปซึ่งสรุปได้ว่าตามทัศนะของท่านพุทธทาส ระบบการศึกษาของไทยมุ่งส่งเสริมกิเลสตัณหาของมนุษย์ หากจะเป็นประโยชน์บ้างก็เพียงทำให้ประกอบอาชีพและมีรายได้ ซึ่งก็ได้มาเพื่อจับจ่ายสนองกิเลสตัณหาของมนุษย์เท่านั้น มิได้เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าทางสติปัญญาและเพื่อความเจริญของจิตใจ ดังที่ท่านได้กล่าวปรารภว่า “ดูการศึกษาชั้นอนุบาล ดูการศึกษาชั้นประถม ดูการศึกษาชั้นมัธยม ดูการศึกษาชั้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือถ้ามันจะมีอีก เป็นบรมมหาวิทยาลัยอะไรก็ตามใจ มันก็เป็นเรื่องให้ลุ่มหลง ในเรื่องกิน กาม เกียรติ ทั้งนั้น อย่างดีก็ให้สามารถในอาชีพ ก็ได้อาชีพแล้ว ได้เงินแล้ว ให้ทำอะไร? ให้ไปบูชาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้”
หลังจากที่ท่านได้วิจารณ์ระบบการศึกษาของโลกปัจจุบันแล้ว ท่านได้เสนอแนวทางการศึกษาที่ถูกต้อง อุดมการณ์ทางการศึกษาดังกล่าวอาจจะประมวลมาได้เป็นข้อๆ ดังนี้
๑. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องมีการพัฒนาจิตวิญญาณให้มีพลังสามารถควบคุมพลังทาง วัตถุ ทางร่างกายได้ กล่าวคือ ชีวิตมนุษย์ต้องมีความสมดุลทั้งทางด้านความสามารถทางวัตถุ ทางวิชาชีพ และความมีปัญญาและคุณธรรม เปรียบเสมือนชีวิตที่เจริญก้าวหน้าและมีความสุขจะต้องเทียมด้วยควาย ๒ ตัว คือ ตัวรู้ และตัวแรง โดยมีตัวรู้นำตัวแรงไปในทางที่ถูกต้อง
๒. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำลายสัญชาติญาณอย่างสัตว์ที่แฝงอยู่ในตัวมนุษย์ ให้ได้ ท่านเห็นว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับสัญชาติญาณอย่างสัตว์ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สติปัญญาของมนุษย์ก็เป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตัว ดังนั้น ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ร้ายกาจมาก “เพราะฉะนั้น การศึกษาของเราก็ควรมุ่งที่จะประหัตประหารสัญชาตญาณอย่างสัตว์นั้นให้สิ้นไป ให้มีการประพฤติกระทำอย่างมนุษย์ที่มีใจสูงเกิดขึ้นแทน”
๓. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องให้มนุษย์ได้สิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่มนุษย์ควรได้ รับ นั่นก็คือ การสามารถควบคุมกิเลสตัณหาและพลังทางวัตถุได้ ท่านเห็นว่าตามอุดมคติของพุทธศาสนานิยมอุดมคติ คือ นิยมสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิ่งนั้นมันจะกินได้หรือซื้ออะไรกินได้ หรือจะเป็นลาภสักการะหรือไม่ แม้เป็นนามธรรมแต่ก็ส่งผลทางจิตใจ “จิตใจสำคัญกว่าร่างกาย คือนำร่างกายให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของอุดมคติ”
๔. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำให้ผู้ศึกษามีจิตใจรักความเป็นธรรม มีความสำนึกที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องและเพื่อธรรมะ “การศึกษานั้นเพื่อธรรม เพื่อบรมธรรม เพื่อธรรมาธิปไตย ให้ธรรมะครองโลก ฉะนั้น การศึกษานี้ไม่ใช่เพื่อความรอด หรือความเอาตัวรอดเป็นยอดดี”
๕. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำลายความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นไปได้โดยวางแนวจริยศึกษา ให้สามารถน้อมนำผู้ศึกษาให้ควบคุมตนเองให้ได้ “จริยศึกษาต้องรีบทำลายความเห็นแก่ตัว อันนี้มันเป็นเมฆหมอกที่เข้ามากลบเกลื่อนหรือปิดบังตัวจริยศึกษา”
๖. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องส่งเสริมให้ผู้ศึกษา มีปัญญาหยั่งรู้สามารถเข้าใจโลกและตนเองอย่างถูกต้อง จนสามารถพ้นทุกข์ได้ ท่านอธิบายว่า ปัญญาที่เป็นคุณสมบัติของจิตเดิมแท้ เรียกว่าโพธิ (ธาตุรู้ปัญญานี้ทำให้เกิดศีลธรรมของจิต ทำให้จิตมีระเบียบและอยู่ในสภาวะปกติ เพื่อให้บุคคลมีชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข การศึกษาตามแนวนี้จึงต้องเน้นพุทธิศึกษาในแง่ที่ส่งเสริมปัญญาอย่างแท้จริง กล่าวคือ ทำให้ผู้ศึกษามีความรู้เรื่องที่สำคัญที่สุดของชีวิต
๗. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำให้ผู้ศึกษามีความสำนึกในหน้าที่ ถ้าทวงสิทธิ์ก็ทวงเพื่อจะทำหน้าที่ ไม่ใช่ทวงเพื่อต้องการเรียกร้องจะเอานั้นเอานี่ และหน้าที่ก็จะต้องเป็นความถูกต้อง บริสุทธิ์ ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว และการศึกษาที่ถูกต้องจะต้องอาศัยครูในอุดมคติ ผู้ที่อุทิศตนเพื่อให้การศึกษาและสร้างเสริมคุณธรรมแก่ผู้เรียน ในหัวใจของครูอุดมคตินั้น จะต้องมีปัญญากับเมตตาเต็มแน่นอยู่ในหัวใจ ปัญญาคือวิชาความรู้ ความสามารถในหน้าที่ที่จะส่องสว่างให้กับศิษย์ นี้เรียกว่าปัญญาอย่างหนึ่ง เมตตาคือความรัก ความเอ็นดู กรุณาต่อศิษย์ของตนเหมือนว่าเป็นลูกของตน”
การที่เราร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ไม่ได้ผิดอะไร แต่เราควรร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ด้วยการมีศีลธรรม กำกับด้วย เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่าง สุข สงบ และสันติ
ที่โลกเรายังคงวุ่นวาย ไม่ใช่เพราะเราขาดแคลน คนเรียนเก่ง คนมีความรู้ โลกเรามีคนแบบนั้นมากมาย คนที่เราขาดแคลนคือ... เราขาดคนที่ใช้คุณธรรมนำความรู้ต่างหาก จะไปเรียนเรื่องต่างๆ ได้ปริญญา มาไม่รู้กี่สิบปริญญาแต่ไม่มีเรื่องดับทุกข์เลย ในทางธรรมะไม่เรียกว่าวิชชา, ต่อเมื่อมันมีส่วนแห่งการดับทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่าวิชชา
ปัญญาจากเกิดขึ้นจากอะไร? การพัฒนาปัญญา นี้มาจากกรรมพันธุ์ ๕๐ % อีก ๕๐% มาจากสิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดู หลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้การพัฒนาปัญญานี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ องค์คุณของพหูสูต ๕
๑. พหุสสุตา อ่านมาก ฟังมาก คือมีนิสัยชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบค้นคว้า ยึดหลัก “เรียนจากครู ดูจากตำรับ สดับปาฐะ”
๒. ธตา จำได้แม่นยำ คือมีความจำดี รู้จักจับสาระสำคัญ จับหลักให้ได้ แล้วจำได้แม่นยำ คนที่ความจำไม่ดีเพราะภพในอดีตชอบพูดปด ดื่มสุรามาก ฯลฯ ดังนั้นถ้าในชาตินี้เลิกดื่มสุรา เลิกพูดปดและพยายามท่องบ่อยๆ หมั่นจดหมั่นเขียนบ่อยๆ ไม่ช้าก็จะเป็นผู้มีความจำดี
๓. วจสา ปริจิตา ท่องได้คล่องปาก คือต้องฝึกท่องให้คล่องปากท่องจนขึ้นใจ จำได้คล่องแคล่วจัดเจนไม่ต้องพลิกตำรา โดยเฉพาะพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง ควรท่องไว้ให้ ขึ้นใจทุกข้อกระทงความ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนวิชาการทางโลกยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่มีใครรู้จริง จึงควรท่องเฉพาะที่สำคัญและหมั่นคิดหาเหตุผลด้วย
๔. มนสานุเปกตา คือใส่ใจนึกคิดตรึกตรอง สาวเหตุสาวผลให้เข้าใจตลอด พิจารณาให้เจนจบ นึกถึงครั้งใดก็เข้าใจปรุโปร่งหมด
๕. ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา แทงตลอดด้วยปัญญา คือเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ความรู้กับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุณสมบัตรข้อนี้จะเกิดเต็มที่ได้ ต้องฝึกสมาธิอย่างจริงจังจนเกิดปัญญาสว่างไสว รู้เห็นสิ่งต่างๆ ไปตามความเป็นจริง
ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ เช่น มีความรู้เรื่องปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงาน หรือนำไปสร้างเป็นระเบิดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรมไว้คอยกำกับความรู้ทางโลกด้วย ความรู้ทางธรรมจะเป็น เสมือนดวงประทีปส่องให้เห็นว่า สิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร
ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลก แม้จะฉลาดร่ำรวย มีอำนาจสักปานใดก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคลประเภท เอาตัวไม่รอด “ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดๆ”
เราทุกคนจึงควรจะแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม และ รู้ให้ลึกซึ้งเกินกว่าการงานที่ตนรับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้ จะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้ทางเบื้องหน้านำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย
ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา (นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา) แสงอาทิตย์สว่างในกลางวัน แสงจันทร์สว่างในกลางคืน บางคืนก็ไม่สว่าง เช่นคืนข้างแรม แสงตะเกียง แสงไฟฟ้า เป็นต้น ล้วนแต่ไปจากปัญญาของมนุษย์ทั้งนั้น สัตว์โลกชนิดอื่นไม่มีปัญญาที่จะทำแสงสว่างให้เกิดขึ้นได้ คงอยู่ไปตามธรรมชาติ อาศัยแต่เฉพาะแสงอาทิตย์และแสงจันทร์เท่านั้น
อาศัยแสงสว่างคือปัญญา ทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากมาย ที่อำนวยความสุขความสะดวกสบายให้แก่หมู่มนุษย์ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย เหลือที่จะพรรณนาได้ ซึ่งสัตว์เหล่าอื่นไม่มี เคยอยู่กันมาอย่างไรเมื่อแสนปีล้านปีก่อน ก็คงอยู่กันไปอย่างนั้น ทั้งนี้เพราะไม่มีแสงสว่างคือปัญญา
แต่ปัญญาของมนุษย์ ก็ได้สร้างเครื่องมือสำหรับทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง และสัตว์อื่น มากมายเหมือนกัน เช่น อาวุธชนิดต่างๆ ตลอดถึงอาวุธสงคราม ระเบิดปรมาณูและขีปนาวุธเป็นต้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นได้พังพินาศไปแล้ว ด้วยฤทธิ์ระเบิดปรมาณูของทหารอเมริกัน มีผู้ถามอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ว่า สงครามโลกครั้งที่ ๓ มนุษย์จะรบกันด้วยอะไร ไอน์สไตน์ตอบว่าไม่รู้ แต่สงครามโลกครั้งที่ ๔ มนุษย์จะต้องใช้ก้อนหินปากัน นั่นหมายความว่า สงครามโลกครั้งที่ ๓ มนุษย์จะใช้อาวุธที่ร้ายแรงถึงขนาดล้างโลกทีเดียว มนุษย์ต้องถอยหลังไปสมัยหินอีก จะจริงหรือไม่ใครจะเป็นคนคอยดู แสดงให้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า ปัญญาของมนุษย์นี้สร้างสรรค์ก็ได้ทำลายก็ได้ สุดแล้วแต่ว่าได้รับการควบคุมด้วยศีลธรรม หรือมโนธรรมเพียงไร ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ ความทุกข์ในใจของมนุษย์นั้น จะเอาชนะได้ด้วยปัญญา บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ในการนี้ต้องใช้ปัญญา ๓ อย่างคือ
๑. โธนปัญญา ปัญญาในการพิจารณาปัจจัย ๔ คือใช้ปัจจัย ๔ มีอาหารเป็นต้นด้วยปัญญา ใช้ปัจจัย ๔ ตรงตามจุดมุ่งหมาย
๒. อุทยัตถคามินีปัญญา ปัญญารู้การเกิดการดับของนามรูป
๓. นิพเพธิกปัญญา ปัญญาแทงทะลุสัจจะคือ ความจริงต่างๆ เช่น เรื่องทุกข์และการดับทุกข์ เป็นต้น
ในนิพเพธิกปัญญสูตร - ธรรมเพื่อความเป็นผู้มีปัญญา “ธรรม ๔ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส คือ การคบสัตบุรุษ ๑ การฟังสัทธรรม ๑ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ ธรรม ๔ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส”
1.สัปปุริสสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) หมายถึงการคบคนดีมีความสามารถ “หาครูบาอาจารย์ที่ดีให้พบ” ครูผู้รู้ ผู้ทรงคุณงามความดี มีความประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ การเลือกครูดีนั้น ต้องพิจารณา 2 เรื่องใหญ่เป็นสำคัญ คือ ต้องพิจารณาจากการมีความรู้จริงและการเป็นคนจริง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าท่านจะสามารถสอนได้จริงทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนเพราะครูคือต้นแบบ และต้องเป็นต้นแบบที่ดี สมบูรณ์พร้อมในทุกด้านซึ่งหาได้ยากยิ่งนัก
2.สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม) หมายถึง “ฟังคำสอนครูบาอาจารย์ให้ชัด” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว สิ่งสำคัญอันดับที่สองก็คือ ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของท่าน เอาใจใส่เล่าเรียน
3.โยนิโสมนสิการ (ไตร่ตรองธรรม) หมายถึง “ตรองคำครูบาอาจารย์ให้ลึก” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว ได้ฟังคำครูชัดเจนทำใจโดยแยบคาย, รู้จักคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผลคุณโทษในสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังนั้น จับสาระที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
4.ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) หมายถึง “ทำตามครูบาอาจารย์ให้ครบ” ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฎิบัติธรรมถูกหลัก สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน, ปฏิบัติธรรมนั้นๆ ให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับธรรมข้ออื่นๆกลมกลืนกันในหลักใหญ่ที่เป็นระบบทั้งหมด, ดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรม
ปัญญา ๓ อย่างนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเอาชนะทุกข์ในใจ
มนุษย์เรามีปัญญาสามารถสารพัดอย่าง แต่บกพร่องหรือขาดปัญญาในการที่จะเอาชนะความทุกข์ ชาวโลกจึงระงมไปด้วยความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชาวโลกตั้งอยู่ในทุกข์ (ทุกฺเข โลโก ปติฏฺฐิโต) ทั้งนี้เพราะความเข้าใจผิด เพราะการถือผิด สมดังสุภาษิตในวิธุรชาดกว่า “ชาวโลกได้พากันวอดวายมามากแล้ว เพราะการถือผิด” คือ ถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ มีความคิดผิดเป็นทางดำเนิน มีปัญญาผิด จึงไม่พบสิ่งที่เป็นสาระ บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาย่อมประสบสุขได้ แม้ในเหตุการณ์ที่น่าจะทุกข์ หมายความว่า เปลี่ยนสิ่งร้ายให้กลายเป็นสิ่งดี เหมือนทำขยะมูลฝอยให้เป็นปุ๋ยเป็นต้น
ปรัชญาของชีวิตในการเรียนการรู้การศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยัง ไม่ยิ่งเท่ากับนำตัวเองมาประพฤติมาปฏิบัติ การเสียสละและรับผิดชอบ มีความตั้งมั่น อนาคตบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเข้าถึงความสุขความดับทุกข์แน่นอน ชื่อว่า 'เป็นบุคคลที่มีหลักของชีวิต'
เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเรื่องใดเกิดขึ้น ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่สงบเยือกเย็น ปัญหาทั้งหลายนั้นมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม จงแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา สติมาปัญญาจะเกิด สติเตลิด มักจะเกิดปัญหา ปัญญานี่แหละที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ยิ่งจิตว่างจิตละเอียด ปัญญายิ่งละเอียดลึกซึ้ง ความรู้ความเห็นกว้างไกล ทำให้การตัดสินใจถูกต้อง มีวินิจฉัยไม่ผิดพลาด ดังพระบาลีว่า "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอ ด้วยปัญญาไม่มี" ยิ่งกว่านั้นแสงสว่างแห่งปัญญานี้ ยังสามารถขจัดกิเลสอาสวะ และครอบงำอวิชชาที่ปิดบังใจของชาวโลกได้ ทำให้เปลี่ยนจากคนธรรมดา มาเป็นผู้รู้แจ้งโลกได้ในที่สุด