แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๕๙ มาดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจให้ดี เพื่อมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ขออำนวยอวยพรศาสนิกชน คนทั้งประเทศ คนทั้งโลก ทุกชาติ ทุกศาสนา ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือผู้ที่ประเสริฐผู้ที่มาพัฒนาใจพัฒนาวิทยาศาสตร์ พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ทุกคนเข้าสู่ความเป็นธรรมความยุติธรรม ไม่มีใครยกเว้น การบริจาคร่างกายเมื่อสมองได้ตายแล้ว ตายด้วยอุบัติเหตุ หรือตายด้วยสิ้นอายุขัย หลายท่านก็บริจาคหัวใจ บริจาคกระจกแก้วตา บริจาคปอด บริจาคตับ หรือบริจาคไต ข้างหนึ่ง ให้พ่อให้แม่หรือให้ญาติก็มี แต่สิ่งที่ทุกคนที่ยังไม่ตายนั้น จะบริจาคได้ทุกๆ ปี ปีหนึ่งก็ได้ถึงสี่ครั้ง คือ การบริจาคโลหิตซึ่งมีประโยชน์มาก บริจาคได้ตั้งเเต่อายุ ๑๗ ปี ถึง ๗๐ ปีบริบูรณ์ “โลหิต” หรือ “เลือด” เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญในการใช้รักษาผู้ป่วย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีผู้ที่สามารถคิดค้นสิ่งใดมาใช้ทดแทนโลหิตได้ จึงจำเป็นต้องมีการรับบริจาคโลหิตจากคน เพื่อให้ได้มาซึ่งโลหิตสำหรับใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย
“การบริจาคโลหิต” คือ การสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโลหิต เพราะร่างกายของแต่ละคนมีปริมาณโลหิตประมาณ ๑๗-๑๘ แก้วน้ำ ร่างกายจะใช้เพียง ๑๕-๑๖ แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ โดยสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก ๓ เดือน เมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุ
การบริจาคโลหิตนี้ทำให้สุขภาพเเข็งเเรง อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง อย่างมากก็ไม่เกิน ๔ ครั้ง คนที่บริจาคเลือดจะเเข็งเเรง เพราะเลือดเราที่เราทานอาหารต่างๆ เข้าไป เลือดเรามันไม่ได้ถ่ายเทออก เมื่อเราบริจาคไปเเล้ว ก็จะสร้างเลือดใหม่ขึ้น เปรียบเสมือนฝายกั้นน้ำที่ลำห้วย เมื่อฝนตกลงมาเเล้ว จะพัดเอาพวกขยะ พวกของปฏิกูลมา มันจะทำให้น้ำเน่าน้ำเสีย สิ่งที่ต้องการคือให้น้ำมันเต็มฝาย ให้มันล้นฝายน้ำหรือลำห้วย ถึงจะเป็นน้ำดี เหมือนร่างกายเรา ทานอะไรไป เลือดเรามันไม่ได้ถ่ายออก เพราะเลือดเราอยู่เต็มตัวพอดี เอาอะไรมาเพิ่มอีกไม่ได้ มันก็ต้องถ่ายออก เพื่อสร้างเม็ดเลือดใหม่ ผู้ที่เคยบริจาคเลือดเป็นประจำจะรู้ตัวเอง ถ้าหลายเดือนเเล้วไม่บริจาคเลือด จะมีการป่วยการไข้ เพราะเราไม่ได้ถ่ายเลือดออก เลือดใหม่ๆ ดีๆ ไม่ได้สร้างขึ้น บางคนถึงกับปวดหัวก็มี บางคนบางท่านอายุ ๓๐-๔๐ ปี บริจาคเป็นร้อยกว่าครั้ง เพราะบริจาคเลือดเเล้ว ทำให้ร่างกายดี ทุกคนอย่าไปตกใจ เเต่มีปัญหาว่า การบริจาคเลือด จะไปบริจาคเลือด ต้องนอนให้พอ อย่างน้อย ๕ ชั่วโมง ถ้างั้นเลือดมันลอย การคอร์รัปชั่นเวลานอนถือเป็นสิ่งที่ผิด ถึงเวลานอนไม่นอน งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย ๒๔ ชั่วโมง งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต ๑ ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี
อย่างสูตรรักษาไข้มาเลเรีย คุณหมอจังหวัดจันท์ เป็นการทดสอบทดลอง ถ้าเป็นไข้มาเลเรียมาก ต้องเอาเลือดที่มีมาเลเรียเต็มตัวออก เเล้วเอาเลือดใหม่มาถ่ายเข้าไป ถึงจะเเก้ไขมาเลเรียด้วยยาได้ ถ้าอย่างนั้นเม็ดเลือดจะเเตก ไตจะวาย เเต่ต้องยอมเสียเงินค่าเลือด สองหมื่นสามหมื่น ถึงเเม้เป็นมาเลเรียจะตายก็ช่วยได้ เเต่จังหวัดอื่น พระตายเพราะไข้มาลาเรีย เพราะว่าไม่ได้ถ่ายเลือด ยังไม่เข้าใจของดีกัน ไม่พากันบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนที่จำเป็น การบริจาคโลหิตนั้น ปัญญาชนทั้งหลายต้องพากันเข้าใจ ต้องให้ความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน เลือดคนนั้นมีหลายกรุ๊ป บริจาคให้กันได้ ถ้าเลือดนั้นไม่มีไวรัส ส่วนใหญ่ก็ใช้ได้ เพราะร่างกายของเรานี้ถ้าไม่ได้ถ่ายเลือดออก เลือดใหม่ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ การบริจาคเลือดนี้จึงทำให้ร่างกายทุกคนมีสุขภาพดี
ผู้ที่มีสุขภาพดี คือ การมีสุขภาพร่างกายดี คือ การมีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และมีอายุขัยยืนนาน ส่วนการมีสุขภาพจิตใจดี คือ การที่มีจิตใจบริสุทธิ์ ผ่องใสอยู่เสมอ จุดสูงสุดของการมีสุขภาพจิตใจดี คือ การกำจัดกิเลสอาสวะได้หมด หรือการเป็นพระอรหันต์นั่นเอง พระอรหันต์ทุกรูปจึงเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตใจดีเสมอเหมือนกันทุกรูป แต่สุขภาพทางด้านร่างกายนั้นแตกต่างกัน พระอรหันต์บางรูปมีอาพาธน้อย บางรูปมีอาพาธปานกลาง บางรูปมีอาพาธมาก เช่น พระปิลินทวัจฉะ เป็นต้น ในขณะที่บางรูปไม่มีอาพาธเลยซึ่งก็คือ พระพากุลเถระนั่นเอง "พระเถระครองเรือน 80 ปี อาพาธเจ็บป่วยไรๆ ก็มิได้มีตลอดกาล...แม้บวชแล้ว อาพาธแม้เล็กน้อยมิได้มีเลย" พระพากุลเถระจึงเป็นต้นแบบของผู้มีสุขภาพร่างกายดีคือ แข็งแรง ไม่มีอาพาธ และอายุยืนคือท่านมีอายุถึง 160 ปี เหตุที่ท่านมีร่างกายแข็งแรงและอายุยืนเช่นนี้ เพราะผลบุญที่ท่านได้ทำไว้ในอดีตชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะบุญจากการสร้างห้องน้ำ (เว็จกุฎี) ถวายยารักษาโรคแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น
เมื่อพระให้ศีลให้พรมักจะลงท้ายด้วย “อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” เพราะพรสี่ประการนี้เป็นสมบัติอันประเสริฐ เลิศยิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ
ในเรื่อง "อายุ" ท่านไม่ได้หวังให้เรามีอายุยืนนานแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ท่านมุ่งหวังให้เรามีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้อายุที่ยืนยาวนี้มีส่วนสร้างปัญญาหาทางพ้นทุกข์ให้แก่ตัว ไม่มัวเมากับสิ่งเร้าภายนอกทั้งหลาย
"วัณโณ" หรือผิวพรรณนั้น มีรากฐานสำคัญมาจากการเป็นผู้มีศีล ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หากมีศีลเป็นวัตรประจำใจ ผิวพรรณย่อมดีอยู่เสมอ เพราะเมื่อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทุกข์ร้อนจะไม่มากล้ำกราย เลือดลมจึงเดินสะดวก ทำให้ผิวพรรณผ่องใส
สำหรับ "สุขัง" การที่บุคคลจะมีสุขได้นั้น จำต้องมีองค์ประกอบหลักๆ คือ มีปัจจัยสี่พร้อม รวมทั้งมีสติและปัญญา รู้ตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา ไม่ปรุงจิตให้ขึ้นลงตามสิ่งที่มากระทบ และหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ในทางที่ถูกที่ควร
ส่วนท้ายสุด "พะลัง" มีอยู่สองอย่าง คือ กำลังกายและกำลังใจ ที่ต้องหมั่นฝึกฝนเตรียมพร้อมไว้รับมือกับความเปลี่ยนแปลง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายและหมั่นฝึกจิตให้เข้มแข็งอยู่เสมอ
แม้เราจะพยายามต้านทานความชราไว้เพียงใด แต่สุดท้ายแล้วเราทุกคนก็ต้องเดินไปบนเส้นทางเดียวกัน การใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท หมั่นดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอทั้งกายและใจ จะช่วยให้เราเป็นผู้มีอายุยืนอย่างมีความสุข และสามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้อย่างยาวนานที่สุด
อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพร่างกายในปัจจุบันชาตินี้ ก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืนได้เช่นกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสหลักการดูแลสุขภาพร่างกายไว้ ๕ ประการซึ่งปรากฏอยู่ในปฐมอนายุสาสูตรดังนี้ อนายุสสสูตรที่ ๑ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/125/130) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเป็นเหตุให้อายุยืน คือ (๑) บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง (๒) รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย (๓) บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (๔) เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร (๕) เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์” ในอนายุสสสูตรที่ ๒ (22/126/130) ลำดับที่หนึ่งถึงสามเหมือนกัน มีต่างกันที่ข้อที่สามและสี่ คือ (๔) เป็นผู้มีศีล (๕) มีมิตรดีงาม
๑) สัปปายการี ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ สัปปายะ แปลว่า สบาย หมายถึง ทำในสิ่งที่ทำให้มีความสบายต่อสุขภาพของตนเอง สัปปายะมี ๗ ประการ ได้แก่ อาวาส, โคจร, การสนทนา, บุคคล, โภชนะ, ฤดู และ อิริยาบถ สัปปายะทั้ง ๗ ประการนี้เป็นเครื่องสนับสนุนให้การเจริญ "สมถวิปัสสนา" มีความก้าวหน้าส่วนสัปปายะที่มีผลโดยตรงต่อการดูแลสุขภาพนั้นมี ๔ประการ คือ อาวาส, โภชนะ, ฤดู และ อิริยาบถ
อาวาส แปลว่า ที่อยู่อาศัย อาวาสเป็นที่สบายต่อสุขภาพ หมายถึง อาวาสที่มีสิ่งแวดล้อมดี มีอากาศบริสุทธิ์ ไม่มีมลภาวะเป็นพิษ ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป เป็นต้น การได้อยู่ในอาวาสเช่นนี้ก็จะทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและอายุยืน
โภชนะ แปลว่า อาหาร อาหารเป็นที่สบายต่อสุขภาพ หมายถึง อาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน และ ปลอดจากสารพิษ เป็นต้น
การทานอาหารก็ต้องทำไปตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ อาหารน่ะต้องไม่หวานเกิน แล้วก็ไม่เค็มเกิน ไม่มันเกิน พวกแป้งนี่ก็ต้องพอดี อย่าไปทานพวกแป้งมากเกิน พระพุทธเจ้าถึงจัดว่าให้ฉลาดในการรับประทานอาหาร อย่าเอาความอร่อยเป็นหลัก อาหารนั้นต้องอาหารที่สะอาด ย่อยง่าย อาหารที่เค้าปรุงแต่งเพื่อทำธุรกิจนี่ก็ถือว่ายังเป็นอาหารที่มอมเมา เพื่อสนองความหลงของผู้บริโภค มันทำให้หลงประเด็น พวกผักอย่างนี้ก็ต้องเป็นผักที่ปราศจากสารพิษ ยาฆ่าแมลง ในหลวงมหาภูมิพลอดุยเดชถึงสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ให้ผักผลไม้ปลอดสารพิษ อาหารที่เป็นผักผลไม้เป็นอาหารดีที่สุดของโลก “สามัญชนทั่วไปส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคอาหารที่มาจากสัตว์ อาหารที่มาจากสัตว์ทุกชนิดนี้ก็เป็นอาหารที่ย่อยยาก แล้วเป็นอาหารที่บาปกรรม ที่เอาความสุข เอาความแข็งแรงอยู่บนความทุกข์ของคนอื่น เป็นอาหารบาปเพราะสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อให้คนอื่นทานเป็นอาหาร ให้ทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้แหละ สิ่งไหนที่บาปน้อย สิ่งไหนไม่เบียดเบียนก็สมควรที่จะทานอันนั้น”
ฤดู หมายถึง ภูมิอากาศในแต่ละช่วงของปี โดยทั่วไปมีอยู่ ๓ ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน ฤดูนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุแห่งการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงฤดู หากร่างกายปรับตัวไม่ทันก็อาจจะเจ็บป่วย หรือ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ เหตุที่ช่วงเปลี่ยนฤดู มีคนไม่สบายมาก ส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่ได้ปรับความเป็นอยู่ให้ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป เช่น ในหน้าร้อน ก็ใส่เสื้อบางเบา กลางคืนก็ไม่ห่มผ้าหรือห่มผ้าห่มผืนบาง พอวันไหนมีอากาศหนาวขึ้นมาทันทีทันใด อุณหภูมิอาจลดลง 5-10 องศา แต่ยังเคยชินกับการใส่เสื้อผ้าบาง ห่มผ้าผืนบางอยู่ ก็มีโอกาสไม่สบายสูง เป็นต้น
อิริยาบถ หมายถึง อาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถนั้นก็มีความสำคัญต่อสุขภาพมาก ในแต่ละวันเราจะต้องผลัดเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอ ให้เกิดความสมดุลกัน เลือดลมในตัวจึงจะไหลเวียนได้สะดวก ไม่เกิดการเมื่อยล้าเพราะอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งนานเกินไป ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยได้ ในอรรถกถาอธิบายไว้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผ่อนคลายความปวดเมื่อยจากอิริยาบถหนึ่งด้วยอิริยาบถหนึ่ง ย่อมทรงบริหาร คือยังทรงอัตภาพให้เป็นไปมิให้ทรุดโทรม
กิจวัตรของพระภิกษุในสมัยพุทธกาลนั้นมีหลากหลายจึงทำให้ภิกษุได้ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เรื่อยๆ กล่าวคือ มีทั้งการนั่งสมาธิ บิณฑบาต เดินจงกรม กวาดลานวัด และนอนอย่างมีสติคือสำเร็จสีหไสยาสน์ เป็นต้น โดยเฉพาะการเดินจงกรมนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าช่วยให้ "อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อยได้ง่าย และทำให้มีอาพาธน้อย" อานิสงส์ของการเดินจงกรม ๕ ประการ (อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จังกมสูตร) ๑. อทฺธานกฺขโม โหติ ทำให้เป็นผู้เดินทางไกลได้ทน ๒. ปธานกฺขโม โหติ ทำให้เป็นผู้ทำความเพียรได้ทน ๓. อปฺปพาโธ โหติ ทำให้เป็นผู้มีความไข้เจ็บน้อย ๔. อสิตํ ปีตํ ขายิตํ สายิตํ สมฺมา ปริณามํ คจฺฉติ ทำให้อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ย่อยได้ดี ๕. จงฺกมาธิคโต สมาธิ จิรฎฺฐิติโก โหติ สมาธิที่บรรลุในขณะเดินจงกรมตั้งแน่วแน่อยู่ได้นาน
นอกจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอแล้ว ในแต่อิริยาบถจะต้องมีความถูกต้องอีกด้วย จึงจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งการนั่ง เดิน ยืน และนอน ในการนั่งโดยเฉพาะนั่งสมาธินั้นพระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำเสมอว่าจะต้องนั่งให้ "ตัวตรง" ดังพระดำรัสว่า "ภิกษุในธรรมวินัยนี้...นั่งคู้บัลลังก์ "ตั้งกายตรง" ดำรงสติบ่ายหน้าสู่กรรมฐาน..." ส่วนการนอนหรือจำวัดนั้นพระองค์ตรัสสอนให้นอนแบบราชสีห์คือนอนตะแคงขวา สาเหตุที่ต้องนอนตะแคงขวาเพราะจากการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ท่านอนตะแคงขวาเป็นท่าที่ถูกหลักอนามัยที่สุด เนื่องจากร่างกายจะไม่กดทับหัวใจ ช่วยให้หัวใจเต้นสะดวก ไม่ทำงานหนักจนเกินไป อาหารจากกระเพาะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ด้วย
๒) สัปปาเย มัตตัญญู รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะ ต้องรู้จักพอดีในสิ่งที่สบายนั้นด้วย ไม่ใช่ว่าสบายมากจนกลายเป็นนอนขี้เกียจอยู่ทั้งวัน รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะในที่นี้คือ การรู้จัก "ความพอดี" เช่น เรื่องอาหาร เมื่อเราจัดหาอาหารที่ดี มีประโยชน์ได้แล้ว อาหารนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นอาหารสัปปายะ แต่ในเวลารับประทานอาหารนั้นเราจะต้องรู้จักประมาณ ต้องรู้จักความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ดังที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า "ภิกษุ เมื่อฉันอาหารสดก็ตาม แห้งก็ตาม ไม่พึงฉันให้อิ่มเกินไป ไม่พึงฉันให้น้อยเกินไป พึงฉันแต่พอประมาณ พึงมีสติอยู่"
ความพอดีของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและเพศภาวะสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุในสมัยพุทธกาลนั้น ฉันภัตตาหารเพียงมื้อเดียว ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว เพราะหน้าที่ของนักบวชคือการปฏิบัติธรรมและสอนธรรมะ ไม่ได้ทำงานที่ใช้แรงงานหนักเหมือนฆราวาสบางอาชีพ จึงไม่จำเป็นต้องฉันภัตตาหารมาก พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์การฉันมื้อเดียวไว้ว่า "เราฉันอาหารมื้อเดียว...สุขภาพมีโรคาพาธน้อยกระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ"
สำหรับวิธีการรับประทานอาหารให้พอดีในแต่ละมื้อนั้น พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า "พึงเลิกฉันก่อนอิ่ม ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำเท่านี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน" เหตุที่ต้องเลิกก่อนฉันอิ่ม ๔-๕ คำนั้น ก็เพื่อสำรองพื้นที่ในกระเพาะไว้สำหรับอาหารที่อยู่ระหว่างเดินทางในหลอดอาหาร และน้ำที่จะดื่มหลังเลิกฉันอาหารแล้ว เมื่ออาหารในหลอดอาหารตกถึงกระเพาะ และดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็จะทำให้รู้สึกอิ่มพอดี
๓) ปริณตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วจะย่อยง่ายหรือย่อยยากขึ้นอยู่กับเหตุอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประเภทของอาหาร และ ความคุ้นเคยกับอาหาร โดยประเภทของอาหารนั้น หากเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์จะย่อยยาก แต่ถ้าเป็นผักผลไม้จะย่อยง่าย ส่วนความคุ้นเคยกับอาหารนั้นคือ คนแต่ละท้องถิ่นและแต่ละชาติจะคุ้นเคยกับอาหารแตกต่างกันไป
การที่อาหารไม่ย่อยหรือย่อยยากนั้นจึงมีโทษมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุในสมัยพุทธกาลจึงแก้ไขด้วยการฉันยาคูหรือข้าวต้มในเวลาเช้า เพราะยาคูมีอานิสงส์ ๕ ประการคือ "บรรเทาความหิว ระงับความกระหาย ให้ลมเดินคล่อง ชำระลำไส้ และเผาอาหารที่ยังไม่ย่อยให้ย่อย"
และก็พวกเหล้า พวกเบียร์ พวกไวน์ พวกยาอี ยาไอซ์ ประเภทนี้ถือว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันเป็นสิ่งระงับความคิด ระงับอารมณ์ หยุดความปรุงแต่งได้ระดับหนึ่ง ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่หลายๆ ประเทศ ประเทศที่กำลังเจริญทางวัตถุเอาเหล้า เอาเบียร์ เอาสรวลเสเฮฮา เอาคอนเสิร์ต เอาการบริโภคกามเป็นความสุข อันนี้ถือว่ามันไม่ใช่ มันเป็นการเพิ่มความหลง เติมเชื้อเพลิงให้กับตัวเอง ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นประชาธิปไตยที่หลายๆ ประเทศยอมรับกัน ออกกฏหมายรองรับ อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ศาสนาพุทธนี้ก็รับไม่ได้ ศาสนาอิสลามก็รับไม่ได้เรื่องนี้ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาซิกข์ หลายๆ ศาสนาก็ยอมรับไม่ได้ พระเจ้าทุกพระเจ้านี่ ไม่มีพระเจ้าไหนที่ยอมรับสิ่งที่กล่าวนี้ได้ แต่เป็นศาสนิกชนของศาสนานั้นๆ ที่พากันหลงเอง ที่หลายๆ ปีที่ผ่านมา คนเป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้น เป็นโรคฟุ้งซ่านก็มากขึ้น โรคซึมเศร้าก็มากขึ้น เป็นโรคที่ไม่มีความสุขใจ ไม่สงบใจมากขึ้น ก็เนื่องมาจากการบริโภคอาหารกาย และก็บริโภคอาหารทางจิตใจ คือใจของมนุษย์นี้ไม่สงบไม่มีปัญญา
ปัจจัยหลักที่ทำให้คนมีความสุข คือเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีคำแนะนำทางการแพทย์ว่า คนเราจะมีสุขภาพดี ต้องประกอบด้วย ๕ อ. คือ อาหาร อากาศ อารมณ์ อุจจาระ และออกกำลังกาย ซึ่งสามารถแยกแยะได้ ดังนี้
อาหาร ควรเป็นอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย กินแล้วให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่มีโทษหรือพิษภัย หรือมีผลข้างเคียงให้เกิดโรคภัยภายหลัง
อากาศ ที่ใช้หายใจเข้าออก ต้องเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษใดๆ เพราะหัวใจของคนต้องการอากาศเข้าไป เพื่อสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานตลอดเวลา อากาศบริสุทธิ์ทำให้รู้สึกสดชื่น มีความสุข
อารมณ์ ผู้ที่มีอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง จะมีความสุขกว่าคนที่มีอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิด ฉุนเฉียว นอกจากนั้นแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายอีกด้วย
ออกกำลังกาย เป็นการบริหารอวัยวะทั้งภายในและภายนอก ทำให้ได้รับการเคลื่อนไหว ช่วยให้เกิดการเสริมสร้างส่วนที่ขาด หรือลดส่วนที่เกิน ช่วยในการทำงานของหัวใจ ปอด ฯลฯ คนที่ไม่ออกกำลังกายจะเป็นคนอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทาน เจ็บป่วย เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
อุจจาระ คือ กากอาหาร หรือของเสียที่ร่างกายย่อยแล้ว นำส่วนที่ดีไปใช้ หลังจากนั้นก็จะขับถ่ายออกมา หากตกค้างอยู่ในร่างกายนานเกินไป จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ คนที่มีระบบขับถ่ายที่ดี จะมีหน้าตาสดใส มีน้ำมีนวล ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ค่อยขับถ่าย หรือที่เรียกว่า ท้องผูก
การทานอาหารของเรานี้ อย่างประชาชนนี้ก็ทานวันละสามครั้ง สำหรับนักบวชก็วันละหนึ่งครั้ง แต่ละวันก็จะถ่ายท้อง ถ่ายเทอาหารเก่าคือถ่ายท้องออก อาหารเก่านี่ถึงจะไม่กลับมาหมก หมุนเวียนเลี้ยงร่างกายอีก พวกคนที่พากันเป็นมะเร็ง เป็นโรคต่างๆ เยอะนี้ก็เพราะเกี่ยวกับท้องผูก อาหารเก่ามันกลับมาเลี้ยงร่างกายอีก เป็นการสะสมความเป็นมะเร็ง หรือเป็นโรคตับโรคไตสารพัด มันเกี่ยวกับอาหารเก่า ทางตะวันตกถึงได้คิดสูตรเรื่องการดีท็อกซ์ ดีท็อกซ์ด้วยน้ำผลไม้ พวกมะขาม มะนาว พวกกาแฟ ที่มันไม่หวานเกิน ไม่เค็มเกิน ไม่เปรี้ยวเกิน สวนทางทวารใช้น้ำประมาณ คนที่เป็นผู้ใหญ่ก็ประมาณ 1500 cc คนตัวเล็กก็ 1200-1300 cc เป็นต้น สูตรนี้จะเป็นการทำให้ระบายเชื้อโรคออกจากร่างกายได้ดี จะไม่ให้เกิดมะเร็ง ที่คนเป็นมะเร็ง หาสาเหตุยังไม่รู้ว่ามะเร็งมันมาจากอะไร ทำไมคนถึงเป็นมะเร็งกันทั่วโลกเลย ก็เกี่ยวกับเรื่องอาหารการรับประทาน มันกลับเอาอาหารเก่าไปย่อยใหม่ เค้าเรียกว่าอาการเก่าหรือว่าอุจจาระนี้เลี้ยงร่างกายด้วย อุจจาระไปเลี้ยงสมอง ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจนะ
เรื่องดีท็อกซ์ ประชาชนคนส่วนใหญ่ก็จะยังไม่รู้ ชื่อนี่ก็ยังไม่รู้เลย แต่ก็มีการทำกันมาแล้วหลาย ๑๐ ปีแล้ว อันนี้เป็นหลักเหตุผลหลักวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนต้องระบายของเสียออกจากร่างกาย ทำให้เชื้อโรคในร่างกายเจือจาง หรือว่าเกิดขึ้นไม่ได้ สำหรับผู้ที่มีโรคภัยไขเจ็บเยอะ ถ้าดีท็อกซ์ได้ทุกวันก็ยิ่งดี จะดีท็อกซ์เอง หรือว่าให้คนในครอบครัวช่วยทำให้ ทุกวันนี้ก็มีอุปกรณ์จำหน่ายอยู่ แต่ก็ต้องเรียนรู้วิธีทำทุถูกต้องและสะอาด บางคนก็พากันอาย ไม่กล้าให้เพื่อนทำ ให้หมอทำ หรือให้ลูกให้หลานทำ อาย แต่อย่างนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะน่าอาย ไม่ใช่การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม โกหกหลอกลวง กินเหล้าเจ้าชู้เล่นการพนัน ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย เพราะทุกคนก็ต้องละสักกายะทิฏฐิ ละตัวละตนอยู่แล้ว พวกนี้ต้องเข้าใจ การดีท็อกซ์อาหารเก่าทิ้งนี้แหละ เป็นสิ่งที่ดี เพราะอันนี้รักษาโรคได้ทุกอย่างเลย บางคนที่หน้าดำๆ หรือชอบมีโรคมีภัย หรือเป็นมะเร็งหรือเป็นอะไรต่างๆ นี้มันจะดี ดีจริงๆ ผู้ทำแล้วถึงจะรู้ด้วยตนเอง ให้สนใจ ต้องเรียนรู้ต้องศึกษา เพราะอันนี้มันเป็นสิ่งที่จำเป็นของเราทุกๆ คน อย่ารอให้มันเป็นมะเร็งเสียก่อน อย่ารอตับ ไต หัวใจ มันพังแล้ว ถึงค่อยมาแก้ไขอะไรอย่างนี้ เพราะอันนี้มันเป็นการดำเนินชีวิต ปฏิบัติชีวิตตัวเองในชีวิตประจำวัน
๔) กาลจารี เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร ใช้ชีวิตให้เหมาะสมในเรื่องเวลา ไม่เคร่งเครียดบังคับตัวเองมากเกินไป รู้จักจัดเวลาให้พอดี ไม่หักโหมเกินกำลัง ประเด็นนี้มุ่งการงดเที่ยวในเวลาไม่สมควรโดยเฉพาะการเที่ยวกลางคืน เพราะจะเป็นเหตุให้ต้องนอนดึก หรือบางครั้งไม่ได้นอนซึ่งจะทำให้ร่างกายทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไม่เที่ยวกลางคืน ก็จะมีโอกาสพักผ่อนได้เต็มที่สุขภาพก็จะสมบูรณ์แข็งแรง การแพทย์ในปัจจุบันพบว่า การนอนดึกจะทำให้ร่างกายอ่อนล้าเหมือนกับเครื่องยนต์ "overload" เป็นเหตุให้อายุสั้นการนอนดึกอย่างต่อเนื่องจึงเป็นการเร่งวันตายให้ตัวเอง การนอนของมนุษย์เรานี้ก็ต้องนอนให้เพียงพอ วันๆ หนึ่งนี้อย่างน้อย 6 ชม. อย่างมากสำหรับประชาชนคนทั่วไปก็อยู่ในไม่เกิน 8 ชม. พวกที่เป็นนักเรียน ถ้าเป็นเด็กๆ ก็น่าจะนอนวันหนึ่งก็ 8-9 ชม. ต้องบังคับตัวเองให้ได้ ถ้าอย่างนั้นมันเป็นการคอรัปชั่นเวลานอน เราเอาเวลานอนไปพูดไปคุยไปดูหนังฟังเพลง เล่นเกมส์ เล่นอะไรอย่างนี้เค้าเรียกว่าเป็นการคอรัปชั่นเวลานอน
๕) พรหมจารี ประพฤติพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์ตามความเหมาะสม รู้จักปล่อยวางบ้าง อย่าเคร่งเครียดเบียดตัวเองจนตกขอบ ปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ ถือศีล ๘ ตามสมควร และหมั่นขัดเกลาจิตใจให้กิเลสเบาบางลง การประพฤติพรหมจรรย์นั้นเป็นเหตุให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะไม่ต้องหมกมุ่นอยู่กับเรื่องกามราคะและไม่ต้องทนทุกข์กับปัญหาทางครอบครัวและสังคมแบบชาวโลก มุ่งหน้าศึกษาพระธรรมวินัยและประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นหลัก ส่วนคฤหัสถ์ก็สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้ ด้วยการรักษาศีล ๘ ในวันพระวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ เช่น หรือช่วงเข้าพรรษา เป็นต้น
ทุกๆ คนต้องมีความสุขในชีวิตประจำวัน เพราะเราจะได้พัฒนาวิทยาศาสตร์ พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาใจพร้อมๆ กัน เราทุกคนถึงจะเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ในปัจุบัน ทุกคนต้องมีธรรม ต้องมีคุณธรรม ต้องมีความยุติธรรม ตัวเองถึงจะเคารพตัวเองได้ แล้วลูกหลานญาติพี่น้องเพื่อนฝูงถึงจะเคารพได้ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่มีใครที่จะเคารพนับถือเราได้ นอกจากเค้าสงสารเราเฉยๆ
ทุกศาสนิกชนในโลกนี้ต้องเข้าใจศาสนา การประพฤติอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า “ศาสนา” อย่าง ทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลเดช ทั้งที่ประเทศไทยตั้งมาพร้อมกับศาสนาพุทธ ในหลวงมหาภูมิพลไม่เอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จะเอาประจำชาติ เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่เป็นไปได้ คือความประพฤติของศาสนิกชนในศาสนานั้นๆ เพราะศาสนาทุกศาสนาก็ดีอยู่แล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตัวเองให้เข้าถึงศาสนา ถือศาสนาของตนเองให้ถูกต้อง ถ้าเรามีการทะเลาะกันในครอบครัว หรืออยู่ในที่ทำงาน หรือระหว่างศาสนาอย่างนี้ ทุกศาสนาก็จะไม่มีตวามเป็นศาสนาอะไรเลย มีแต่ความเห็นแก่ตัว ท่านถึงบอกว่าศาสนานั้นไปแต่งตั้งให้เป็นศาสนาประจำชาติไม่ได้ เพราะอันนี้ขึ้นอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติ ถ้าเรามีศาสนาแล้ว เราก็จะมีความรัก ความเมตตา ความสงสาร เพราะทุกคนเป็นญาติเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เราถึงต้องเข้าสู่ธรรมมะ เข้าสู่ความไม่มีอคติ เพราะหลักศาสนาจนถึงศาสนาสูงสุดคือความดับทุกข์เป็นพระนิพพาน ที่หลายๆ ศาสนาแบ่งกันเป็นนิกายนู้นนิกายนี้ อันนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ศาสนาเป็นการแตกแยก มันเป็นสังฆเภทแตกแยก ไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่ความสมัครสมานสามัคคี
การรักษาศีลเราต้องมีความสุข เค้าเรียกว่ายิ่งกว่าความสุข การที่เราทำงานที่เรามีความสุขในการทำงาน ในการเสียสละยิ่งกว่าความสงบอีก เราเสียสละตัวตนทั้งหมดก็ยิ่งกว่าปัญญาอีก เพราะความสุขของเรามันอยู่ที่ปัจจุบัน ทุกอย่างมันจะลงตัวของมันเอง ทุกศาสนาก็เข้าถึงความสุขความดับทุกข์เหมือนกันทั้งหมด เพราะโลกนี้ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ ๘ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ไม่ว่างจากยอดคนเหนือโลกีย์ ไม่ว่างจากความสุขความดับทุกข์
ความเห็นแก่ตัว หรือความหลงนี้ เอาตัวตนเป็นใหญ่ ทำให้ทุกคนมีความทุกข์นะ เป็นอะไรก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น เป็นผู้หญิงก็มีความทุกข์ของความเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายก็มีความทุกข์ของความเป็นผู้ชาย เป็นข้าราชการก็เป็นความทุกข์แบบข้าราชการ เป็นนักการเมืองก็มีความทุกข์อย่างนักการเมือง เพราะจิตใจของเราเป็นมิจฉาทิฏฐิมีความหลง การที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราก็เสียสละ เราพากันประพฤติการปฏิบัติ ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ แต่ละคนแต่ละท่าน เราจะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราจะได้เป็นข้าราชการนักการเมืองที่สมบูรณ์ ทุกคนจะได้มีแต่ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ความเป็นธรรม ความยุติธรรม
การดูแลสุขภาพจิตใจ จิตใจนั้นมีความสำคัญมากกว่าร่างกาย เพราะจิตใจเป็นนายส่วนร่างกายเป็นบ่าว เมื่อจิตใจมีความสำคัญอย่างนี้ การดูแลสุขภาพจิตใจจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภาวะปกติของจิตใจมนุษย์จะประภัสสรคือ สว่างไสวบริสุทธิ์ แต่เพราะมีกิเลสเข้ามาห่อหุ้มทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่สว่างไสว และไม่เข้มแข็ง" เวลามีอะไรมากระทบใจเข้าหน่อยก็จะหวั่นไหวไปกับสิ่งนั้น เช่น ทำให้เกิดความโกรธบ้าง หรือบางครั้งก็เกิดความทุกข์เศร้าเสียใจในเรื่องต่างๆ จนเกินไป หรือมีความเครียดกับการทำงานบ้างสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เจ็บป่วยได้ทั้งสิ้น
การดูแลสุขภาพจิตใจให้กลับสู่ภาวะปกติคือบริสุทธิ์สว่างไสวนั้น ทำได้ด้วยการสั่งสมบุญด้วยการให้ทาน รักษาศีลสวดมนต์ ฟังธรรม เจริญสมาธิภาวนา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกิจวัตรประจำวันของศาสนิกชน ที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว บุญนั้นจะช่วยชำระล้างกิเลสในจิตใจให้เบาบางลงไปเรื่อยๆ ยิ่งกิเลสเบาบางลงไปมากเท่าไร ความบริสุทธิ์ของจิตใจก็มีมากเท่านั้น และจะกลับคืนสู่ภาวะปกติมากเท่านั้นเช่นกันโดยอาการแสดงออก คือความเป็นผู้มีใจตั้งมั่น หนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ จุดสูงสุดของภาวะปกติของจิตใจคือ การละกิเลสได้หมดหรือถึงความสงบเย็นเป็นพระนิพพานนั่นเอง