แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๕๘ การบริจาคอวัยวะเป็นทาน มีอานิสงส์ไพศาลกว่าการให้ทานตามปกติ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ขออำนวยพรศาสนิกชน ผู้คนทั้งประเทศ ผู้คนทั้งโลก ทุกศาสนา วันนี้จะได้บรรยายความรู้ความเข้าใจ ในการพัฒนา ในการประพฤติการปฏิบัติ ทั้งในส่วนวิทยาศาตร์ ทั้งพัฒนาทางจิตใจ ให้เข้าสู่ความรู้ความเข้าใจ สู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ทุกๆคนต้องควรรู้ ควรรับรู้ ว่ามนุษย์เราผู้ประเสริฐ ควรที่จะประพฤิตควรที่จะปฏิบัติ เป็นหน้าที่ของเราทุกๆ คน ที่จะต้องพากันปฏิบัติให้ดีให้ถูกต้อง ตามกฏของธรรมะ
ท่านทั้งหลายที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์คือ ผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ทางจิตใจ ดับทุกข์ทางร่างกาย ที่เรียกว่า พระนิพพาน ทุกท่านทุกคนถึงจะเป็นผู้ที่ประเสริฐ บรรพบุรุษเราได้ดำรงชีวิต พัฒนาทั้งเทคโนโลยี เพื่อความสะดวก ความสบาย เเล้วพัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน ทางสายกลางของเราก็คือ พัฒนาทั้งเทคโนโลยี เเล้วพัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าทางสายกลาง เราจะพัฒนาเเต่ภายนอกไม่ได้ ต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้มีสติปัญญา เพื่อไม่ให้หลง ระบบอย่างนี้เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่า ทางสายกลาง มีทั้งศีลสมาธิ ปัญญา เข้าถึงความหลุดพ้น คือ ความดับทุกข์ ทางจิตใจ เราเลยพัฒนามาหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นปี ได้อยู่กันทั่วโลก การพัฒนาเราก็พัฒนาจนถึงไปดวงดาวดวงจันทร์ ได้พัฒนายานพาหนะ พัฒนาการสื่อสาร ระบบคอมพิวเตอร์ พัฒนาเรื่องสุขภาพร่างกาย พวกหมอ พวกเเพทย์ พวกพยาบาล พัฒนาสมุนไพร พัฒนายาเเผนปัจจุบัน จนทุกวันนี้สามารถที่จะเปลี่ยนอะไหล่ของมนุษย์ได้ เปลี่ยนตับ เปลี่ยนไต เปลี่ยนตา ที่กล่าววันนี้เพื่อให้ทุกท่านทุกคนรับทราบ เมื่อเราละสังขารย์วายชนสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็คืออวัยวะที่ใช้งานได้ เช่นว่า ถ้าอายุไม่เเก่เกิน อยู่ระดับหนุ่มสาว จนถึง 17-70 ปี อวัยวะก็บริจาคได้ เพราะยังมีหลายท่านมีความเห็นว่า มันเป็นเรื่องยุ่งยากเรื่องลำบาก เป็นการเสียเวลา เมื่อละสังขารเอาไปฝังไปเผาให้มันเสร็จเรื่องเสร็จราว เพื่อนที่อยู่ในโลกกับเราไม่ใช่ใครอื่นไกล มีเเต่ญาติ มีเเต่พี่เเต่น้องกันหมด
ศาสนาทุกศาสนาคือเเนวทางอันเดียวกัน คือธรรมะ คือ ความเป็นธรรม ความยุติธรรม คือเมตตา กรุณา เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เราต้องสละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ที่ว่าความยุ่งยาก ความลำบาก เสียเวลา เราต้องเข้าใจ อันนี้เป็นความคิดความเห็นความเข้าใจ ความยึดมั่นถือมั่น การเสียสละคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลกนี้ มนุษย์เราคือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อมาเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละ เราจะไม่เข้าถึงธรรม ปัจจุบันธรรม มันจะเป็นระบบตัวตน เป็นระบบที่เเตกเเยก ไม่สมัครสมานสามัคคี การเสียสละนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพื่อเกื้อกูลต่อกัน ให้ศาสนิกชนคนทั้งโลกเข้าใจว่า วาระสุดท้ายของเราก็ยังมีการเสียสละได้ นั่นคือ บริจาคอวัยวะต่างๆ มันจะมีประโยชน์อะไรที่ตายเเล้วก็เอาไปฝังไปเผาเท่านั้น มันจะมีประโยชน์อะไรที่เอาขยะไปทิ้งเฉยๆ เเต่ขยะนั้นก็ยังมีส่วนที่รีไซเคิลได้ ก็คือ อวัยวะต่างๆ ให้ทุกท่านทุกคนรู้ว่า วาระสุดท้ายของชีวิตที่เป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือการบริจาคอวัยวะ เเล้วค่อยเอาสรีระอันนี้ไปประชุมเพลิง หรือ ไปทำตามพิธีของศาสนา ไม่ใช่ว่าไปเกิดใหม่เเล้วอวัยวะมันจะไม่ครบ ยิ่งจะทำให้สุขภาพดี สุขภาพเเข็งเเรง มนุษย์เราความสุขอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน งานนั้นคือความสุขที่สุดในโลก งานเป็นศิลปะที่เข้าถึงความสุขความดับทุกข์ ทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเรา คือการปฏิบัติธรรม ถ้างั้นเราจะไปหลงประเด็น เราจะเอาความสุขทางร่างกายอย่างนั้นมันก็จะเป็นมนุษย์ที่ยังไม่ฉลาด จะเป็นระดับเทวดาที่ยังไม่ฉลาด จะเป็นพรหมที่ยังไม่ฉลาด จึงต้องเข้าสู่ไลน์สู่เส้นทางของความสุขความดับทุกข์
การพัฒนามนุษย์ ได้ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย เจริญขึ้นเเล้วเสื่อมสลาย เเล้วก็เจริญขึ้น ทุกวันนี้เทคโนโลยีก็พัฒนามาไกล ด้วยการเรียนการศึกษาด้วยการค้นคว้าตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาตร์ ทั้งฝ่ายหมอ ฝ่ายพยาบาลก็ค้นคว้า ทุกมุมของโลกสื่อสารถึงกันภายในไม่กี่วินาที โรคภัยไข้เจ็บก็พัฒนา ไปตามเหตุตามปัจจัย ด้วยการศึกษาด้วยการประพฤติด้วยการปฏิบัติ โบราณก็ใช้สมุนไพร เเผนปัจจุบันก็ใช้วิทยาศาตร์ใช้เคมี มีการช่วยเหลือ ทุกวันนี้สามารถเปลี่ยนอวัยวะปลูกถ่ายอวัยวะได้ การปลูกถ่ายอวัยวะ คือ การผ่าตัดนำอวัยวะใหม่เปลี่ยนแทนอวัยวะเดิมที่เสื่อมสภาวะ จนไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ และการผ่าตัดนั้นจะเป็นการช่วยชีวิตในระยะสุดท้ายให้เขามีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของเขาในแต่ละสังคมอีกต่อไป การนำอวัยวะใหม่มาปลูกถ่ายนั้น เราจะได้จากผู้ที่มีเจตนารมณ์ในการบริจาคอวัยวะ หรือได้จากญาติที่มีความประสงค์ จะบริจาคอวัยวะของบุคคลนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
อวัยวะใหม่นั้น ได้มาจากที่ไหน คำตอบก็คือ อวัยวะใหม่นั้นได้มาจากผู้เสียชีวิต สมองตาย และได้อุทิศอวัยวะเป็นทาน ให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการประสานงาน โดยนำอวัยวะที่ได้รับบริจาคไปใช้ต่อชีวิตผู้ป่วยอย่างเป็นธรรม และเสมอภาคที่สุด อวัยวะที่สามารถนำไปปลูกถ่ายได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน กระจก แก้วตา เส้นเลือด และไขกระดูก เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยรอคอยรับการปลูกถ่ายอวัยวะมีจำนวนมาก ดังนั้น ปัญหาที่สำคัญคือ การขาดแคลนอวัยวะที่จะใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ เพราะอวัยวะมีจำนวนมาก ดังนั้น ปัญหาที่สำคัญคือ การขาดแคลนอวัยวะที่จะใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับจากการบริจาคนั้น ยังมีจำนวนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งจึงเปิดรับบริจาคอวัยวะของประชาชนทั่วไป เพื่อนำอวัยวะที่รับบริจาคทำการปลูกถ่ายเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การบริจาคของคน ๑ คน สามารถช่วยชีวิตคนได้สูงสุดถึง ๘ คน คือ สามารถใช้ได้หัวใจ ปอด ตับ ไต ๒ ข้าง (ข้างละ ๑ คน) และดวงตา
“คนไทยมีความเชื่อที่ผิด ๆ คิดว่าถ้าบริจาคอวัยวะไปแล้วชาติหน้าจะเกิดมาไม่ครบ ๓๒ ประการ จะเกิดมาพิกลพิการ แต่ที่ผ่านมาผมเป็นหมอศัลยกรรมเวลาผ่าตัดเอาเต้านมที่เป็นมะเร็งออกไป หรือเอาไส้ติ่งออกไป ไม่เห็นมีคนไข้คัดค้านไม่ให้ตัด เพราะกลัวว่าชาติหน้าจะไม่มีเต้านม หรือไม่มีไส้ติ่งบ้าง การบริจาคอวัยวะถือว่าเป็นทานบารมี คือ สละร่างกาย (อวัยวะ) แก่ผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทนใด”
จากคำกล่าวของ ผศ.นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กับความเชื่อที่ผิดๆ ของคนไทยในเรื่องของการบริจาคอวัยวะ ที่กลัวว่าหากบริจาคอวัยวะชาตินี้แล้วชาติหน้าจะเกิดมาเป็นคนพิการ ไม่ครบ ๓๒
ผศ.นพ.วิศิษฏ์ เล่าว่า ก่อนที่เราจะบริจาคอวัยวะได้นั้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ร่างกายของคนเราจะเริ่มมีความเสื่อมเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ทุกๆ 1 ปี ร่างกายจะมีความเสื่อมลงไป 1% อวัยวะของคนเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ ยิ่งใช้ไปนานเท่าไหร่ความเสื่อมก็มีตามมา ดังนั้นอวัยวะของหนุ่มสาวจึงเป็นอวัยวะทีมีคุณภาพที่ดีทีสุด ทางศูนย์ฯ จะรับแค่เพียงอายุสูงสุด 65 ปีเท่านั้น ส่วนหัวใจ 45 ปี ถ้าอายุมากกว่านั้นอวัยวะที่ได้รับบริจาคจะไม่คุ้มค่าแก่การปลูกถ่าย
ส่วนของอวัยวะที่ได้รับบริจาคต้องได้มาจากผู้ป่วยที่แพทย์ได้วินิจฉัยลงความเห็นแล้วว่า มีภาวะสมองตาย ซึ่งญาติจะเป็นผู้แสดงเจตจำนงในการบริจาคได้ หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ มีการแสดงตนแล้วว่าเมื่อตนเองเสียชีวิตอนุญาตให้นำอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายไปใช้ได้ นั่นคือ ขั้นตอนของการบริจาคอวัยวะ
การบริจาคอวัยวะเป็นการสร้างบารมีให้ตัวเอง พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า การที่ทรงมีพระเนตรดั่งตาเนื้อทรายก็เพราะในพระชาติหนึ่งได้ทรงควักพระเนตรบริจาคเป็นทาน ผลจากการทำมหาทานครั้งนั้นทำให้พระองค์ทรงได้อานิสงส์เป็นดวงพระเนตรที่งามแจ่มกระจ่าง ดั่งเนื้อทราย และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้สมันตจักษุ คือเป็นพระเนตรหรือดวงตาที่เป็นพิเศษสุดของพระพุทธเจ้า นี่คือตัวอย่างที่ยืนยันชัดเจนว่า การบริจาคอวัยวะเป็นการทำให้ตัวเองได้พบสิ่งที่ประเสริฐเลิศล้ำที่สุด
ในทางพระพุทธศาสนา ท่านชี้ให้เห็นว่า การบริจาคอวัยวะนั้นเป็นกิจอันเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง ดังมีระบุไว้ว่า ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์อย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องเคยบำเพ็ญทานบารมีที่สำคัญมาก่อนอย่างน้อยสามขั้น ขั้นแรกคือการบริจาควัตถุข้าวของ ขั้นที่สองคือการบริจาคอวัยวะ และขั้นที่สามหรือขั้นสูงสุด คือ การบริจาคได้แม้กระทั่งชีวิตของตนเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น
"บริจาค" แปลว่า การสละ แม้จะมีความหมายกว้างกว่า คำว่า "ทาน" (ซึ่งแปลว่า การให้) แต่ก็ใช้แทนกันและกันได้ ตามหลักการบำเพ็ญธรรมของพระโพธิสัตว์ (ซึ่งก็คือหลักพระพุทธศาสนานั่นเอง) การสละหรือการให้นี้มี ๓ ระดับ คือ (๑) ระดับต้น เรียกว่า ทานบารมี (๒) ระดับกลาง เรียกว่า ทานอุปบารมี (๓) ระดับสูง เรียกว่า ทานปรมัตถบารมี นัยแห่งการสละทั้ง ๓ ระดับ พอจะอธิบายให้เห็นภาพได้จากพุทธภาษิตนี้ “จเช ธนํ องควรสฺส เหตุ องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
องคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ จเช นโร ธมฺมมนุสสรนฺโต ฯ
พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เมื่อจะรักษาชีวิต พึงสละอวัยวะ เมื่อคำนึงถึงธรรม พึงสละได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต”
- การสละทรัพย์สมบัติ จัดเป็นระดับทานบารมี
- การสละอวัยวะ เลือดเนื้อ จัดเป็นระดับทานอุปบารมี
- การสละชีวิต จัดเป็นระดับทานปรมัตถบารมี
การบริจาคอวัยวะจึงเป็นทานอุปบารมี เป็นการสละระดับกลางซึ่งสูงกว่าระดับปกติธรรมดาทั่วไป
ถามว่า การบริจาคอวัยวะในชาตินี้ จะมีผลทำให้เกิดเป็นคนมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ในชาติหน้าหรือไม่?
อาการ ๓๒ คือ ผม (เกสา) ขน (โลมา) เล็บ (นขา) ตับ (ยกนํ) พังผืด (กิโลมกํ) ไต (ปิหกํ) ปอด (ปปฺผาสํ) ไส้ใหญ่ (อนตํ) เป็นต้น จัดเป็นองค์ประกอบภายนอก มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามกาลเวลา เมื่อชำรุดทรุดโทรมก็บำรุงให้อยู่ในสภาพดีได้ เมื่อถึงคราวชีวิตล้มหายตายลงก็เอาไปฝัง หรือเอาไปเผาตามประเพณีทางศาสนา ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน หรือถูกฝังเน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา อวัยวะทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้ตามไปเกิดในภพหน้าหรือในภพใหม่ชาติใหม่ ส่วนที่เป็นองค์ประกอบภายในคือ “จิต” นั่นคือ “ปฏิสนธิจิต” เท่านั้นที่จะทำหน้าที่ไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่
ถามว่า "อวัยวะที่จะเกิดมีในภพใหม่ชาติใหม่ได้มาจากไหน ถ้าไม่ได้เอาไปจากชาตินี้ ?"
คำถามนี้ตอบได้โดยการอธิบายและเปรียบเทียบ ดังนี้
ประการที่ ๑ อธิบายได้ว่า ในชีวิตของเรา มีจิตดวงหนึ่งทำหน้าที่เป็นองค์รักษาสืบต่อภพชาติ เรียกว่า "ภวังคจิต" โบราณาจารย์บางท่านเรียกว่า "จิตเดิมแท้" ทำหน้าที่เก็บสะสมพลังที่เกิดจากกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกเรื่องที่คิดย่อมเกิดผลทั้งสิ้น และผลเหล่านี้ไม่สูญหายไปไหน จะถูกเก็บสะสมไว้ในภวังคจิตหรือจิตเดิมแท้นี้ นานวันเข้ากลายเป็นพลังมหาศาล ที่พร้อมจะสร้างสรรค์ก่อให้เกิดอะไรก็ได้ตามความจำเป็นและตามเหตุปัจจัย เมื่อถึงคราวที่ภวังคจิตนี้ ทำหน้าที่ปฏิสนธิจิต (การเกิดในภพใหม่ มนุษย์มีความจำเป็นต้องมีอาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว และเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดอาการ ๓๒ คือ ธาตุดิน (ปฐวีธาตุ) และธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) ก็มีพร้อม อวัยวะทั้งหลายที่เรียกว่าอาการ ๓๒ ก็ถูกปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้นมา ในเรื่องนี้ท่านโบราณาจารย์บางท่านบอกว่า "อวัยวะที่เกิดมีขึ้นในภพใหม่ชาติใหม่แต่ละครั้ง เกิดจากรอยประทับ (Impressions-แม่พิมพ์หรือแบบ ? ที่ติดมากับปฏิสนธิจิตแล้วไปผนวกเข้ากับองค์ประกอบอีก ๒ ส่วนในภพใหม่ชาติใหม่คือ (๑) ความโน้มน้อม (Tendencies) และ (๒) ลักษณะเฉพาะ (Character) ที่ได้รับจากบิดา (Sperm) มารดา (Ovum Cell)
ประการที่ ๒ เปรียบเทียบได้ว่า จิตเมื่อจะทำหน้าที่เกิดในภพใหม่ (ปฏิสนธิจิต) ย่อมมีคุณสมบัติพิเศษมากกว่าจิตเมื่อทำหน้าที่อย่างอื่น เป็นจิตประกอบด้วยคุณสมบัติที่พร้อมจะสร้างสรรค์สิ่งอันเจริญเติบโตเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ เหมือนกับเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่น เมล็ดมะม่วง เมล็ดขนุน ซึ่งมีคุณสมบัติพร้อมที่จะงอกเป็นลำต้น กิ่งก้าน ใบ และก่อดอกออกผล เมื่อเรานำไปปลูก ย่อมจะงอกงามเป็นกิ่งก้านใบ และท้ายที่สุดก็ออกดอกออกผล แต่ในขณะที่เป็นเมล็ดอยู่นั้น บอกไม่ได้ว่าส่วนไหนของเมล็ดคือลำต้น กิ่งก้าน ใบ ของมะม่วงและขนุน กรณีของปฏิสนธิจิตก็เช่นเดียวกัน คือบอกไม่ได้ว่าส่วนไหนคือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
คราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาอินทกูฏ ซึ่งอินทกยักษ์ ครอบครองเขตเมืองราชคฤห์ อินทกยักษ์เข้าไปเฝ้า ทูลถามว่า "เมื่อท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า รูปหาใช่ชีพไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ สัตว์ทั้งหลายมีร่างกายขึ้นมาได้อย่างไร กระดูกและก้อนเนื้อมาจากไหน สัตว์ติดอยู่ในครรภ์ได้อย่างไร"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า.. "ปฐมํ กลลํ โหติ กลลา โหติ อพฺพุทํ
อพฺพุทา ชายเต เปสิ เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน ฆนา ปสาขา ชายนฺติ เกสา โลมา นขาปิ จ
ยญฺจสฺส ภุญฺชติ มาตา อนฺนํ ปานญฺจ โภชนํ เตน โส ตตฺถ ยาเปติ มาตุกุจฺฉิคฺคโต นโรติ
รูปนี้เป็นกลละก่อน ต่อมาจึงเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเป็นเปสิ จากเปสิเป็นฆนะ จากนั้นเป็น ๕ ปุ่ม (ปัญจสาขา) ต่อจากนั้น ผม ขน และเล็บ เป็นต้น เกิดขึ้น มารดาบริโภคข้าวน้ำและโภชนาหารอันใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์ ก็เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารนั้นอยู่ในครรภ์นั้น" (อินทกสูตร เล่ม ๑๕ ข้อ ๘๐๓)
กลละ นั้น ปัจจุบันใช้คำว่า เซล (cell) คือเริ่มต้นเป็นเซลชีวิต เมื่อเริ่มปฏิสนธิ (fertilization) เพราะการร่วมเพศแห่งชายหญิง
สมดังที่พระศาสดาตรัสในมหาตัณหาสังขยสูตรว่า "การก้าวลงสู่ครรภ์ย่อมมีได้ เพราะประกอบด้วยเหตุ ๓ อย่างคือ ๑. มารดาบิดาร่วม (เพศ) กัน ๒. มารดาอยู่ในวัยที่มีระดู (วัยเจริญพันธุ์) ๓. วิญญาณปรากฏ หรือมีสัตว์มาถือปฏิสนธิในครรภ์นั้น" (มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค พ. เล่ม ๑๒ ข้อ ๔๕๒)
คัมภีร์บาลีหลายแห่งพูดถึงกลละว่า เป็นสิ่งใสเหมือนน้ำมันงาหรือเนยใส ที่เอาขนสัตว์จุ่มลงไปแล้วสลัดหลายๆ ครั้ง ที่เหลืออยู่นั่นแหละคือกลละ
ชีวิตเริ่มต้นเป็นกลละอยู่ ๗ วัน แล้วเปลี่ยนเป็นอัพพุทะ
อัพพุทะ มีลักษณะข้นเข้าคล้ายน้ำล้างเนื้อ (สีน้ำล้างเนื้อ) เป็นอย่างนี้อยู่ ๗ วันจึงเปลี่ยนเป็นเปสิ
เปสิ นั้นท่านว่าคล้ายดีบุกเหลว เป็นเปสิอยู่ ๗ วัน แล้วเปลี่ยนเป็นฆนะ
ฆนะ คือก้อนเนื้อ ท่านว่าเท่าไข่ไก่ (สัปดาห์ที่ ๔) เป็นอยู่ ๗ วันก็เริ่มมี ๕ ปุ่ม (ปัญจสาขา)
ปัญจสาขา คือ มือ ๒ เท้า ๒ และหัว ๑ เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ ๕
แต่ผม ขน และเล็บ เกิดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้ว ๔๒ สัปดาห์
เด็กอาศัยอาหาร จากมารดาทางสายสะดือ จึงเจริญเติบโตขึ้น ท่านว่าสายสะดือนั้นมีลักษณะเหมือนก้านบัว (คือมีรู) รสอาหารแล่นไปตามสายสะดือนั้น ความเป็นมาเป็นไป แห่งทารกในครรภ์ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์บาลีนี้ เป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ว่าเป็นการถูกต้อง แสดงถึงพระสัพพัญญุตญาณอันลึกซึ้งของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
การบริจาคอวัยวะทำให้บางคนกังวลว่าศพจะไม่สวย นี่ป็นความกังวลที่ไร้สาระ เพราะเมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว สาระของร่างกายก็ไม่เหลืออยู่อีกต่อไป มีแต่จะถูกนำไปเผาหรือนำไปฝังเท่านั้น ลองคิดดูง่ายๆ ว่า ระหว่างปล่อยให้อวัยวะบางส่วนที่ยังใช้การได้ ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ยังอยู่ กับปล่อยให้ถูกเผาหรือฝังอย่างไร้ประโยชน์ สิ่งไหนจะดีกว่ากัน ดังนั้นการบริจาคอวัยวะ จึงเป็นการ "ถือเอาสาระจากสิ่งที่ไร้สาระ" ต่างหาก
ใครเป็นผู้บริจาค คนนั้นก็ได้ เพราะมันอยู่ที่เจตนาของผู้นั้น ในกรณีที่เป็น คนที่ตายไปแล้วและญาติบริจาค ในแง่นี้ คือ ญาติที่บริจาคนั้นต้องอุทิศกุศลไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ในทางธรรมถือว่าถ้าบริจาคในขณะที่ตัวยังเป็นอยู่ก็จะเป็นบุญขั้นสูง คนที่จะบริจาคอวัยวะให้คนอื่น ก็คือผู้ปรารถนาดีต่อเขา อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ หายเจ็บป่วย อยากให้เขาเป็นสุข จิตอย่างนี้ในตอนคิดก็เป็นจิตที่ดี คือจิตใจยินดีเบิกบาน คิดถึงความสุขความดีงาม ความเจริญ
ให้ประชาชนพากันเข้าใจ ผู้ที่วายชนม์ ผู้ที่ตายเเล้ว สามารถบริจาคอวัยวะต่างๆ ให้เป็นทาน ให้กับผู้ที่มีความจำเป็นผู้ที่ต้องการ นี้เป็นบุญ เป็นกุศล ประชาชนต้องพากันรู้ว่า เทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาก็ช่วยเหลือได้
เราต้องพัฒนาอย่างนี้ ถ้าเราไปเอาเเต่ทางวัตถุ ไปเอาเเต่ทางนี้ เราเป็นสามีภรรยาก็จะทะเลาะกัน ระบบที่จะเเย่งกัน มนุษย์เราก็จะเป็นมนุษย์ที่เป็นขยะของความเป็นมนุษย์ พูดเอาเรื่องขยะออกมาพูดก็ได้ เรามีชีวิตอยู่เราก็เอาศีลเอาธรรม เอาการประพฤติมาปฏิบัติ ทั้งศาสนิกชนที่เป็นนักบวช หรือเป็นประชาชน ทุกศาสนานั้น ไม่มีศาสนาใดมาทำให้ศาสนาของตนเสื่อม คือ ผู้ที่นับถือศาสนานั้นๆ ที่ไม่พากันปฏิบัติธรรม ชีวิตก็เลยเป็นชีวิตที่ทุกคนเห็นเป็นขยะไป ไม่เห็นประโยชน์ในศาสนา เพราะว่า ศาสนา ทุกศาสนาคือ ระบบของวิทยาศาสตร์ ที่เหนือกว่าวิทยาศาตร์คือพัฒนาจิตใจไม่ให้หลงไหลในร่างกายตนเอง ไม่หลงไหลในวัตถุที่สะดวกสบาย
เพราะร่างกายของทุกท่านทุกคนมันตั้งอยู่บนความอนิจจังคือไม่เเน่ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ในสภาวะธรรมที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่อยากเเก่ ก็เเก่ ไม่อยากเจ็บก็เจ็บ ไม่อยากตายก็ตาย ทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถึงต้องเจริญสติปัญญา ต้องมีสติสัมปชัญญะ ต้องอยู่กับปัจจุบัน เพราะเราไปหลงวิ่งตามความคิด วิ่งตามอารมณ์ วิ่งตามผัสสะไม่ได้ เพราะชีวิตของเราจะไม่สงบ จะไม่เย็น เพราะชีวิตที่สงบที่เย็นคือ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการทำงาน คนไม่มีความสุขในการทำงาน มันไม่ได้ ไม่มีความสุขในการเสียสละขยันรับผิดชอบไม่ได้ เพราะวันหนึ่งคืนหนึ่งมันมี 24 ชม. เวลาตื่นมันเกือบ 20 ชม. ถ้าเราไม่มีความสุขในการทำงาน ถือว่าไม่มีความสุขในการทำตามอริยมรรคมีองค์ 8 มันรวมอยู่ที่งานหมด งาน คือการประพฤติ คือการปฏิบัติทั้งกายวาจาใจ ด้วยความตั้งใจ ด้วยเจตนา เราจะเดินทางก็ต้องไปที่สนามบิน เราต้องขึ้นเครื่องบิน มันถึงจะไปไกลได้ ใจนี้ก็ไปด้วยญาณ คือความประพฤติของเรา เรียกว่าศีล คือความตั้งมั่น เรียกว่าสมาธิ เรียกว่าปัญญา เเต่เราต้องรู้โลกตามความเป็นจริง คือความเข้าใจอย่างนี้ๆ ต้องเสียสละอย่างนี้ ชีวิตของเราถึงมีความสุข
ทุกคนเกิดมาเพื่อมาเสียสละ เพื่อจะเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม จะได้เข้าถึงความสุขความดับทุกข์ตั้งเเต่ยังไม่ตาย ยังไม่ตายก็เข้าถึงความสุขความดับทุกข์ ระดับพื้นฐาน เเล้วอนาคตก็คือปัจจุบัน มันจะเลื่อนไปเอง เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี เพราะอันนี้มันจะไปตามกฏเเห่งกรรม เเห่งระบบความคิดการกระทำของเรา ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ถ้าไม่งั้นเราจะเป็นโมฆะบุรุษ โมฆะสตรี เราต้องพากันมาเสียสละอย่างนี้ ที่กล่าวมานี้ ก็อยากให้พวกท่านทั้งหลายที่เป็นศาสนิกชน คนทั้งประเทศเข้าใจว่า เมื่อละร่างกายสังขารวายชนม์นี้ บริจาคอวัยวะได้ ณ โรงบาลต่างๆ ของประเทศ เช่น ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โรงพยาบาลศิริราช โรงบาลจุฬาลงกรณ์ โรงบาลรามาธิบดี โรงบาลมหาราชสี่ภาคของประเทศไทย และโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ให้ทุกท่านรับรู้ เพื่อจะได้วางเเผนในการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ ตามพวกที่เป็นปัญญาชนทั้งหลายพากันเข้าใจ
ชีวิตคนเราไม่นานมันก็ตาย มันตายทางร่างกาย มันก็เป็นตามอายุขัย แต่จิตใจของเราถ้ามันไม่หมดกิเลสไม่สิ้นอาสวะ มันต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เพราะกิเลสเรามี วัฏสงสารมันจึงมี ถ้ากิเลสเราไม่มี วัฏสงสารก็ไม่มี
ทุกๆ คนต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครมาปฏิบัติแทนเราได้ เราถือว่าเราเป็นคนมีบุญ มีชีวิตอยู่ที่เรายังไม่ตาย มัจจุราชคือความตายยังให้โอกาสเราได้ทำความดี สร้างบารมี ด้วยเหตุนี้เราถึงต้องตั้งใจมั่น ปฏิบัติขัดเกลากายวาจาใจ เพื่อให้สงบเย็นเป็นประโยชน์ตลอดไป...