แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๕๗ ชีวิตนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าเป็นชีวิตที่ไม่ได้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คนเราเกิดมา ถ้าเรามาตามใจตัวเอง มาตามอารมณ์ตัวเอง ชีวิตนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นชีวิตที่ประโยชน์ตนก็ไม่ได้ ประโยชน์ส่วนรวมก็ไม่ได้ คำว่า “ประโยชน์” มาจากศัพท์ภาษาบาลีสันสกฤตว่า “อัตถ” หรือ “อรรถ” หมายถึงผลที่มุ่งหมาย ๓ ระดับขั้น คือ ๑. ประโยชน์หรือผลที่มุ่งหมายในปัจจุบันหรือในภพชาตินี้เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ
๒. ประโยชน์หรือผลที่มุ่งหมายในชาติหน้าหรือในภพชาติหน้าเรียกว่า สัมปรายิกัตถะ
๓. ประโยชน์หรือผลอย่างยิ่งหรือประโยชน์ สูงสุดคือพระนิพพานเรียกว่า ปรมัตถะ ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิตคือ การที่จิตใจสงบปราศจากกิเลสทั้งปวงคือบรรลุถึงสภาวะที่เรียกว่า “นิพพาน” นั่นเอง ประโยชน์ในที่นี้ หมายถึงสิ่งที่เป็นเป้าหมายหรือจุดหมายของชีวิตอัน หมายถึงจุดหมายของพรหมจรรย์ จุดหมายสูงสุดของพรหมจรรย์นี้ก็คือนิพพาน ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปรมัตถะคือประโยชน์อย่างยิ่งหรือจุดหมายสูงสุดของชีวิตนั่นเอง
ประโยชน์ตามความหมายของพระพุทธศาสนา นอกจากจะหมายถึงประโยชน์สุขของชีวิตที่เกิดจากการได้เสพวัตถุอย่างเต็มที่จากผลของการกระทำที่ถือว่าถูกต้องตามหลักศีลธรรมแล้ว การที่จิตใจสะอาดสว่างสงบเยือกเย็นเพราะปราศจากกิเลสนั้นถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดที่ควรกระทำ เช่น หลักคำสอนที่ถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเถรวาทคือ “การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว”
การไม่ทำความชั่ว คือไม่เบียดเบียนผู้อื่น และการกระทำคุณความดีต่างๆ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ประโยชน์ทั้งหลายนั้นเป็นผลสืบเนื่องกันเชิงเหตุและผล เหตุกับผลมีความสัมพันธ์กันเป็นปัจจยาการ คือ “เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่ มีสิ่งนี้จึงไม่มี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”
การทำเหตุที่ดีผลก็เป็นสิ่งที่ดีตามมาด้วย ทำเหตุเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น ดังพุทธพจน์ที่ว่า “บุคคลหว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว”
อัตถะประโยชน์ แบ่งออกได้ตามลักษณะของการแสวงหาและความรับผิดชอบหรือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลายเมื่อมองเห็นประโยชน์ตน สมควรแท้จริงเพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หรือบุคคลผู้เล็งเห็นประโยชน์ผู้อื่น สมควรแท้จริงเพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หรือว่าบุคคลผู้มองเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย สมควรแท้จริงเพื่อยังกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”
ลักษณะของประโยชน์และการแสวงหาประโยชน์ตามแนวของพระพุทธศาสนานั้นแบ่งออกได้เป็น ๓ ลักษณะดังนี้
๑. อัตตัตถะประโยชน์ คือ การแสวงหาและบำเพ็ญเพื่อบรรลุประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายแห่งชีวิตของตนเอง
๒. ปรัตถะประโยชน์ คือประโยชน์เพื่อผู้อื่น ได้แก่การช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนผู้อื่นให้บรรลุประโยชน์ให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้
๓. อุภยัตถะประโยชน์ คือประโยชน์ส่วนรวม ได้แก่ การช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและคนอื่นหรือส่วนรวม พระพุทธองค์สอนให้ทำประโยชน์ตนเองให้บริบูรณ์ก่อนแล้ว จึงช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้อื่นก็เพราะว่า “ไม่ควรพร่าประโยชน์ตนเอง เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น” แต่ก็มิใช่ทรงสอนให้เป็นคนเห็นแก่ตัวแต่อย่างใด แต่กลับทรงประณามว่า “คนที่เห็นแก่ประโยชน์ตน เป็นคนเห็นแก่ตัวเป็นคนไม่สะอาด”
การที่ทรงสอนให้คำนึงถึงและทำประโยชน์ตนเองให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนแล้ว จึงช่วยทำประโยชน์ผู้อื่นตามสมควรแก่กำลังของตนอย่างเต็มที่ภายหลัง เพราะว่าคนที่ทำประโยชน์ตนเองได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ย่อมไม่ต้องห่วงใยหรือคำนึงถึงประโยชน์ตนเอง จึงทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อย่างเต็มที่
คนเราเกิดมา ถ้าเรามาตามใจตัวเอง มาตามอารมณ์ตัวเอง ชีวิตนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นชีวิตที่ประโยชน์ตนก็ไม่ได้ ประโยชน์ส่วนรวมก็ไม่ได้ ทุกๆ คนก็รู้อยู่เเล้ว ว่ามันไม่ได้อะไร เเต่ก็พากันทำไปตามใจ เพราะว่ามันหยุดตัวเองไม่ได้ มันเบรคตัวเองไม่ได้ เพราะเราทุกคนได้ตั้งโปรเเกรมให้กับตนเอง เอาร่างกายนี้ว่าเป็นเรา ว่าใจนี้เป็นเรา เอารูปเอาเวทนา เอาสังขาร เอาวิญญาณ นี้เป็นเรา มันเป็นโปรเเกรมที่สมบูรณ์ในการเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พวกเราต้องรู้ ถ้าเราอยากละมันก็ละไม่ได้ ทุกคนก็รู้หมดว่ามันหยุดตัวเองไม่ได้ เพราะว่าพระนิพพานเป็นอสังขตธรรม ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าไปปรุงเเต่งได้ จะได้ไปก็ไม่ใช่ จะหยุดอยู่ก็ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่ว่างจากตัวตน เป็นสิ่งที่เราว่างจากความปรุงเเต่ง ยิ่งไปคิดก็ยิ่งเป็นธรรมะระดับสมาธิ ถึงกับหลงว่าสมาธิเป็นพระนิพพานไป เเต่เมื่อหมดกำลังสมาธิเมื่อไหร่ กิเลสมันก็เฟื่องฟูขึ้น
การเข้าออกสมาธิของพระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระพุทธองค์ทรงประทับสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาตั้งพระบาทเหลื่อมพระบาท) เพื่อพักผ่อนบรรเทาความไข้และความเจ็บป่วยแห่งพระวรกาย พระหฤทัยของพระพุทธองค์นั้นสงบ ไม่ทรงแสดงอาการกระสับกระส่ายแต่ประการใด การประทับนอนของพระพุทธองค์ในครั้งนี้เป็นการประทับ "ไสยยาอวสาน" คือ การนอนแบบมีสติเป็นครั้งสุดท้าย โดยไม่คิดจะลุกขึ้นต่อไปอีกแล้ว จากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงเข้าอนุบุพวิหารธรรม วาระจิตของพระพุทธเจ้าขณะปรินิพพาน ดังแสดงในพระไตรปิฎก มหาปรินิพพานสูตร สรุปความเป็นลำดับดังนี้ คือ
๑. ทรงเข้าปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) ซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ ในการปฏิบัติอยู่ ๕ ประการ ได้แก่
๑) วิตก คือ คิดอารมณ์ คิดเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคิดสิ่งใดก็ได้ หรือเรียกว่า “กังวล”
๒) วิจาร คือ เคล้าคลึงอารมณ์ นำสิ่งที่เรากังวล หรือนำอารมณ์ที่วิตกนั้นมาวิเคราะห์ วิจัย พิจารณา หรือนำข้อมูลที่วินิจฉัยมาเปรียบเทียบ เทียบเคียง วิเคราะห์ความแตกต่างกันว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิดประการใด ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ การคิดพิจารณาตั้งแต่ต้นเหตุไปถึงผล ผลไปถึงเหตุ ให้ครบวงจรตามภาวะจริงแท้แห่งธรรม
๓) ปีติ คือ ดีใจและความเอิบอิ่มใจ คือ การยอมรับความเป็นจริงแห่งธรรม มายาธรรม ธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามวิถีแห่งธรรม แล้วสรุปตามภาวะแห่งธรรมนั้นๆ จึงจะเกิดความเอิบอิ่มใจ ถ้าไม่มีการสรุปจิตของเราก็จะสืบเสาะ แสวงหา โหยหา ย่อมไม่เกิดปีติ และถ้ามีปีติก็จะส่งผลให้มีกำลังใจทำต่อ
๔) สุข คือ ความคิดว่า "ดี" หรือ "พึงพอใจแล้ว"
๕) เอกกัคคตา คือ ความแน่นอนและดำรงอารมณ์อยู่ ณ จุดนั้น เมื่อออกจากปฐมฌานแล้ว
๒. ทรงเข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ จะละวิตก วิจารไป เมื่อไม่สงสัยและเชื่อมั่น จึงเจริญต่อไปที่ ๑) ปีติ ๒) สุข ๓) เอกัคคตา เมื่อออกจากทุติยฌานแล้ว
๓. ทรงเข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) ซึ่งมีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ ละปิติ แล้วเจริญ ๑) สุข ๒) เอกัคคตา สาเหตุทำไมฌานที่ ๓ ถึงต้องละ วิตก วิจาร ปิติได้ เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา เพราะการจะเลื่อนระดับจิตให้ละเอียดถึงขั้นนี้ ต้องควบคุมจิตใจให้ได้ แต่ถ้าควบคุมจิตไม่ได้ ก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน เมื่อออกจากตติยฌานแล้ว
๔. ทรงเข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) ในฌานที่ ๔ นี้ มีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ ละสุขเสียได้แล้วเจริญ คือ ๑) อุเบกขา ๒) เอกัคคตา ถ้ายังไม่อุเบกขาก็จะยึดติดกับสิ่งต่างๆ อยู่เรื่อยหวั่นไหวไปเรื่อย สมมติว่า เราเอาเรือไปผูกติดกับแพ น้ำใหลลอยไปยังไงก็จะอยู่อย่างนั้น ถ้าเราให้เชือกหลุดออกจากแพ เราถึงจะเป็นตัวของตัวเองได้ ถ้าอย่างนั้น ฌาน ๑-๓ นี่ก็ใหลไปตามกระแสน้ำ ถึงบอกว่าเป็นตัวอะไรที่ยังใช้ไม่ได้ จึงต้องเป็นตัวของตัวเอง เพียงแค่รับรู้เฉยๆ เป็นบันไดให้ขึ้นถึงขั้นที่ ๔ ดังนั้นต้องอุเบกขา จึงสามารถหลุดจากสิ่งที่เป็นอยู่ เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว
๕. ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ คือ การกำหนดอากาศ ความว่าง ใช้อากาศเป็นตัวนให้เกิดความรู้สึกว่า "ว่าง" ฌานนี้นำเข้าสู่สุญญตา คือ ว่างจากรูป แล้วก็ไปว่างที่นาม พอว่างที่นามก็ไปว่างที่ข้างใน เมื่อออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
๖. ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ คือ กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ วิธีทำคือหารูป รูปมันต้องเปลี่ยนไปเรื่อย เจริญพระไตรลักษณ์ ตัวอนิจจัง กำหนดวิญญาณหาที่สุดไม่ได้ ก็คือวิญญาณ ซึ่งเป็นตัวรับรู้ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนหาที่สุดไม่ได้ เมื่อออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
๗. ทรงเข้าอากิญจักญายตนะ คือ กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ หมายถึง ไม่จับอารมณ์ตัวใดตัวหนึ่งให้ยึดมั่นถือมั่น แต่ไม่ใช่สุญญตา เป็นเพียงแต่เริ่มพิจารณา เพื่อนำไปสู่สุญญตา ทุกอย่างจะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ จนในที่สุดจิตยอมรับข้อเท็จจริงในนี้ว่ายึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ก็จะเข้าสู่ภาวะอนัตตาและสุญญตา เมื่อออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว
๘. ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ คือ การเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ หมายถึง ไม่ยึดมั่นถือมั่น เกี่ยวกับเรื่องสัญญา คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เพียงแต่ให้รู้ซึ้งถึงพระไตรลักษณ์ เข้าสู่การพิจารณาเข้าใจประจักษ์ซึ้งในหลักธรรมพระไตรลักษณ์ เมื่อออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
๙. ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติ ๙) สมาบัติ คือ เข้าไปพิสูจน์ความจริง ภาวะการณ์ตรงนั้น เรียกว่า สมาบัติ ซึ่งเป็นความรู้ ความเป็นปัญญา ต้องเข้าไปสู่ความเป็นปัญญาว่าตรงนั้นผิดถูกยังไง อย่างไร สมาบัติอีกอย่างหนึ่ง คือ นิโรธสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งละเอียดสุขุมกว่าอรูปฌาน เมื่อรวมกับ สมาบัติ ๘ ข้างต้น ก็เป็น ๙ มีคำเรียกต่างหากว่า อนุปุพพวิหารสมาบัติ
การที่พระพุทธเจ้าเข้าอนุบุพวิหารธรรม เข้าสู่รูปฌานและอรูปฌาน แล้วเข้านิโรธสมาบัติ เรียงลำดับไปตามจุติตามภาวะธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเฉพาะพระพุทธเจ้า ทรงแสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม ว่าก่อนพระพุทธเจ้าจะละสังขารเข้าสู่ปรินิพพาน ท่านต้องหมดจดบริสุทธิ์อย่างนี้ เพราะเมื่อเข้าสู่ปรินิพพานจะไม่มีสิ่งเช่นนี้อีก พระองค์เข้านิโรธสมาบัติถือว่าสูงสุดในระดับของการอยู่ในภาวะภูมิโลกนี้
การเข้านิโรธ คือ ดับสัญญาและเวทนา คำว่า "ดับ" คือ ไม่ไปยึดถือ ไม่อยู่ในสมอง นี่คือ การดับสัญญา ปล่อยวางอยู่ในธรรม สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในสมองก็ไม่ไปยึด เมื่อทำสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ เพื่อมาดับตรงนี้ เพื่อไม่ให้เหนี่ยวรั้งจากอารมณ์ต่างๆ เปรียบเหมือนการเป็นอิสระจากการเดินทาง ไม่แบกขนสัมภาระมากมาย จะทำให้เดินไม่ไหว
พอพระพุทธองค์เข้าสู่นิโรธดับสัญญาและเวทนา พระอานนท์มีข้อสงสัยว่าพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานหรือยัง จึงถามไปยังพระอนุรุทธะว่า พระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานหรือยัง พระอนุรุทธเถระผู้เชี่ยวชาญสมาบัติชี้แจงว่า บัดนี้พระพุทธองค์กำลังเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นต้น
จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ถอยเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่ ๙ ถอยมาเป็น ฌาน ๘ ฌาน ๗ ฌาน ๖ ฌาน ๕ ฌาน ๔ ฌาน ๓ ฌาน ๒ ฌาน ๑ แล้วเข้าสู่ ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ แล้วก็ออกจากฌาน ๔ เป็นลำดับสุดท้าย แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน
พระพุทธเจ้าเข้าเรียงลำดับไปตามจุติตามภาวะธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเฉพาะพุทธเจ้า ท่านแสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม ว่าก่อนพระพุทธเจ้าท่านจะละสังขารเข้าสู่ปรินิพพาน ท่านต้องหมดจดบริสุทธิ์อย่างนี้ ท่านต้องสรุปเรียบร้อย ไม่ใช่ไปอย่างไม่สรุป
แล้วทำไมพระพุทธเจ้าถึงเข้าอนุบุพวิหารธรรม ? และทำไมท่านเข้าสู่รูปฌานและอรูปฌาน แล้วเข้านิโรธสมาบัติถือว่าสูงสุดในระดับของการอยู่ในภาวะภูมิโลกนี้?
สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าท่านแสดง เพราะว่าเข้าสู่นิพพานจะไม่มีสิ่งเช่นนี้อีกต่อไป พระองค์ท่านเข้าสมาบัติแล้วออกจากสมาบัติอย่างหมดจดแล้วท่านก็คืนสู่ธรรม ท่านจึงหลุดจากภูมิโลก ถ้าท่านไม่ทำอย่างนี้ก็จะมีต่อ เพราะถ้าเข้าสู่นิพพานจะหมดเหตุแล้ว ไม่มีต่อแล้ว
แล้วพระพุทธเจ้าเข้าสมาบัติทำไม? พระพุทธเจ้าเข้าสมาบัติก่อนปรินิพพานเป็นการแสดงกรรม เพื่อเจริญธรรมและสำหรับโลกเรานี้จำเป็นต้องมีสมาบัติเพราะเราต้องทำงานอยู่ เพราะเรายังไม่เข้าสู่นิพพาน
พระพุทธเจ้าหมดแห่งเหตุแล้วก็ละนิโรธสมาบัติ ที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่สมาบัตินี้ พระพุทธเจ้าแสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านสละหมดแล้ว ไม่มีแล้ว หมดเหตุแล้ว แล้วท่านจึงเข้าสู่นิพพาน จึงไม่มีการกลับมาเกิด (พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์, 2561)
เพราะรูปฌานเเละอรูปฌานก็ยังมีความปรุงเเต่งอยู่ ยังไม่ใช่ปัญญา ในชีวิตประจำวันอริยมรรคมีองค์ ๘ ถึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง จิตใจของเราก็ย่อมหยุดความปรุงแต่ง ไม่เกี่ยวกับคนหนุ่มคนเเก่ คนรวย คนจน มันเเก้ มันดับปัญหาได้ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ถึงเป็นฐานประพฤติฐานปฏิบัติ จะทำให้อริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ เพราะใจจะได้อยู่กับเนื้อกับตัว ใจจะอยู่กับสติสัมปชัญญะ อยู่กับศีลสมาธิปัญญา มันจะได้สมบูรณ์ เนื่องจากว่าศีลก็อบรมสมาธิ สมาธิก็อบรมปัญญา ปัญญาก็อบรมสมาธิ ก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างท่านเจ้าคุณโชดก ไปฝึกที่พม่า เค้าให้อยู่เก็บอารมณ์ในห้องกรรมฐาน ไม่ให้ไปไหนมาไหนตั้งหลายเดือน ไม่ให้ใจออกจากห้องสี่เหลี่ยม สามเมตรคูณสามเมตร คนเราถ้ากายกับใจมันอยู่ด้วยกัน ใจของเราคงจะเย็นได้ ถ้าศีลสมาธิกับปัญญาอยู่ด้วยกัน ใจมันถึงจะเย็นได้ เพราะว่ามันเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ไม่ใช่สมาธิหินทับหญ้า ต้องตั้งใจตั้งเจตนา
ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนจะต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ เพราะว่าการปฏิบัตินั้นอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ มันต้องอยู่ที่ปัจจุบัน เราต้องเห็นความสำคัญของสติ สัมปชัญญะ การภาวนาของถึงจะเป็นการประพฤติ การปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงจะได้มารวมกัน ต้องมีเจตนา มีความตั้งใจ ตัวสัมปชัญญะคือตัวปัญญา ตัวที่เราต้องมีความตั้งมั่นในสัมมาสมาธิ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องว่า อันไหนมันทำให้เราเวียนว่ายตายเกิด เราต้องเสียสละ เราต้องตัดกรรมตัดเวรของเรา ใจของเราถึงจะมีสติปัฏฐาน ใจของเราถึงเข้าสู่กระบวนการปฏิจจสมุปบาทได้ เพราะว่าสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี เป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ ใหญ่ยิ่ง คือ สติสัมปชัญญะ
สติ-ความระลึกได้ สัมปชัญญะ-ตัวปัญญา การประพฤติการปฏิบัติของเรามันอยู่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน แสดงว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ ศีลก็ไม่เกิด สมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด ปฏิบัติที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เราต้องหยุดตัวเอง ไม่ทำตามใจตัวเอง ตามความอยาก การทำอย่างนี้เขาเรียกว่า ศีล ที่เราตั้งมั่น เรียกว่า สมาธิ การที่ทำอย่างนี้ เรียกว่า มีปัญญา ต้องปฏิบัติในปัจจุบัน ที่ว่าไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศล ไปตามหลักของธรรมะ ที่เรียกว่า พระรัตนตรัย นั่นไม่ใช่ตัวบุคคล พระรัตนตรัยเป็นธรรมะ เป็นพรหมจรรย์ที่สละคืนแล้วซึ่งตัวซึ่งตน พระพุทธเจ้าที่แท้จริงคือ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละ มนุษย์เราไม่อาจจะทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกไม่ได้ ต้องเสียสละ มันถึงจะแก้ปัญหาได้ มันถึงจะได้พัฒนาทั้งเทคโนโลยี พัฒนาทั้งจิตใจ เพราะเป็นความประเสริฐของเรา ที่เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติ เข้าถึงศาสนาพุทธแท้ๆ เข้าถึงความดับทุกข์ที่แท้จริง
เพราะทุกวันนี้ ที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิดคือ มันเอาอารมณ์ของสวรรค์ มันถึงต้องมีปัญหา ที่พากันดิ้นรนกระเสือกกระสน ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดทุกภพทุกชาติ เพราะไม่น่าปล่อยโอกาสให้พลาดไปอย่างนี้ ทุกคนต้องมีความรักธรรมะ รักศีล รักข้อวัตรปฏิบัติ รักสมาธิ คือความตั้งใจมั่น คนเราต้องใจเข้มแข็ง ใจไม่เข้มแข็งมันไม่ใช่ภาคปฏิบัติ เราจะข้ามมหาสมุทรอย่างนี้ เราต้องนั่งในเรือ หรือว่าขึ้นเครื่องข้ามมันไปเลย เราต้องอาศัยเทคโนโลยี อาศัยศีล อาศัยข้อวัตรข้อปฏิบัติ ความทุกข์ของเรามันอยู่ที่ความเห็นผิด เข้าใจผิด อยู่ที่เราไปหลงในสวรรค์ต่างหาก ทุกคนมีสิทธิที่จะประพฤติปฏิบัติได้พอๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นนักบวช หรือว่า เป็นประชาชน แต่นักบวชมีอุปกรณ์ทุ่นแรงมาก มีศีลมาก
วัตถุข้าวของเงินทองเป็นของใช้ชั่วคราวเป็นหนทางให้เราเดินผ่านไม่ใช่มาหลง ทุกคนจะได้รู้ว่า อ้อ...ความดับทุกข์มันอยู่ที่ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่มีสติสัมปชัญญะ เราจะไปหลงไปเพลิดเพลิน เราจะไปประมาทไม่ได้ เราประมาทกันจน เคยชินแล้ว
พระพุทธเจ้าเป็นห่วงเรา ก่อนที่จะทรงทิ้งร่างวางธาตุขันธ์ดับลมหายใจสุดท้าย เสด็จสู่มหาปรินิพพาน ได้ประทานพระพุทธโอวาทสั่งเสียครั้งสุดท้ายว่า “หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเรา เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
จะไปประมาทไม่ได้ เพราะความประมาทนี้ เป็นการทำให้เราเสียหาย ทำให้เราเนิ่นช้า ทำให้เราทุกคนต้องเสียเวลา เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติกันในปัจจุบัน เพราะพระพุทธเจ้าวางหลักไว้ดีอยู่แล้ว คำว่าพระ คือคำว่าเสียสละ เป็นผู้ที่ไม่ตามใจตัวเอง ประชาชนต้องมีศีล 5 เพื่อจะได้พัฒนาใจ ครั้งพุทธกาล วัน 7 ค่ำ 8 ค่ำ วัน 14 ค่ำ 15 ค่ำ เดือนนึง มีวันอุโบสถ 8 วัน ธาตุทั้ง 4 ต้องอาศัยอาหาร ขันธ์ทั้ง 5 ก็ต้องอาศัยอาหาร อาหารที่เราได้มา ก็ต้องมาจากการละความเห็นแก่ตัวของเรา อย่างหาเลี้ยงอาชีพได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในชีวิต มีความสุขมีความทุกข์ ให้เราได้ปฏิบัติธรรม
ธรรมชาติของจิตมีการนึกคิดตลอดเวลา การนึกคิดนี้ถ้าไม่มีสติกำกับ ก็จะกลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีสติกำกับแล้ว จะทำให้ไม่เผลอ ควบคุมความนึกคิดได้ ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไป ไม่ปล่อยอารมณ์ให้เป็นไปตามสิ่งที่มากระทบ
สติเสมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ คือคนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคิดในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นคิดไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดไตร่ตรองจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเปรียบสติเสมือนเสาหลัก
สติเสมือนนายประตู คือเพราะสติจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามากระทบใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นสติก็จะใคร่ครวญทันทีว่า ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ หรือควรหยุดไว้ก่อน ปรับปรุงแก้ไขให้ดีเสียก่อน
สติเสมือนขุนคลัง เพราะคอยตรวจตราอยู่ทุกเมื่อ ว่าของที่ได้เข้ามาและใช้ออกไปมีเท่าไร งบบุญงบบาปของเราเป็นอย่างไร ตรวจตราดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ยอมให้ตัวเองเป็นหนี้บาป
สติเสมือนหางเสือ เพราะสติจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่หลงไปทำในสิ่งที่ไม่ควรเหมือนคอยระมัดระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น
วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา
จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ
นิ้วเป็นสายระยาง สองเท้าต่างสมอใหญ่ ปากเป็นนายงานไป อัชฌาสัยเป็นเสบียง
สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา
ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ส่องดูแถวแนวหินผา เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม
ขี้เกียจคือปลาร้าย จะทำลายให้เรือจม เอาใจเป็นปืนคม ยิงระดมให้จมไป
จึงจะได้สินค้ามา คือวิชาอันพิสมัย จงหมั่นมั่นหมายใจ อย่าได้คร้านการวิชา
แต่งโดย : ฟ.ฮีแลร์ (หนังสือดรุณศึกษา)
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีสติรู้เท่าทันกาย ย่อมจะไม่พูดชั่ว และไม่กระทำชั่ว สามารถรักษาตนอยู่ใน ‘ศีล’ ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อมีสติรู้เท่าทันจิต ก็จะมี ‘สมาธิ’ ตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย และเมื่อมีสติรู้เท่าทันถึงเหตุผลอย่างชัดเจน ‘ปัญญา’ ก็จะเกิดขึ้น เป็นเครื่องดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง
สติจึงเป็น ‘ธรรมมีอุปการะมาก’ คือทำให้ตื่นจากความไม่รู้ เพียงนำมาใช้กับทางโลกก็ยังเกื้อกูลประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคล การจัดระบบความคิด อีกทั้งยังทำให้ไม่มักโกรธ ไม่มัวเมา ไม่ซึมเศร้า ไม่รู้สึกกดดัน และถ้าสั่งสมอบรมให้เจริญมากขึ้นจนเป็น ‘มหาสติ’ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรม เกื้อกูลต่อการเห็นประจักษ์ความจริงของกายและจิต สามารถตื่นจากกิเลสนิทราได้อยู่ทุกเมื่อ สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘สติ โลกสฺมิ ชาคโร’ ที่แปลว่า ‘สติเป็นเครื่องตื่นในโลก’ ทุกประการ
ในสติปัฏฐานถึงมีวิปัสสนาญาณ ๙ วิปัสสนาญาณ ๑๖ เห็นลมเข้าออกไม่เที่ยง มันจะพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ เราจะได้เห็นตัวดับทุกข์มันอยู่ที่ความคิดความเห็นความเข้าใจ เรื่องการปฏิบัติ เพราะเราได้ถูกตั้งโปรเเกรมให้เวียนว่ายตายเกิดจากอวิชชาจากความหลง ต้องอาศัยความวิเวก ความสงบ ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ถึงเข้าสู่กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก ถึงจะเข้าสู่หลักวิปัสสนา เราถึงจะไม่มีกายไม่มีใจ ไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย ไม่มีเกิดเเก่เจ็บตายพลัดพราก เพราะเราสามารถปฏิบัติได้ทุกอิริยาบถ เราคิดอย่างนี้ต้องให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เพื่อจะได้เป็นนิพพาน หลวงพ่อถามพระรูปหนึ่งว่า เป็นไงทำงานเกิดสมาธิไหม ยิ่งกว่าสมาธิอีก คนเราถ้ากำลังจะพูดจะอะไร ถ้าเรามีสมาธิ มีปัญญาในปัจจุบัน นั้นเเหละคือความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราหลง ถ้าเราหลงก็ยังมีความปรุงเเต่งอยู่ เพราะว่าเรื่องความหลุดพ้น มันต้องเหนือความปรุงเเต่ง เพราะใจทุกคนจะไม่ฟุ้งซ่าน ไม่มีอะไรเข้าไปปรุงเเต่ง อยู่กับปัจจุบันประกอบด้วยปัญญา เราจะได้ชัดเจน ต้องเข้าใจอย่างนี้
ผู้ปฏิบัติธรรมหมั่นประกอบความเพียร ย่อมทำให้เกิดผลคือ การมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ก็เป็นปัจจุบันกาล หรือการประกอบการงานทั้งทางโลกและทางธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เกิดผลดี เพราะทำให้อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เข้าใจผู้อื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ และทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาอินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้สมบูรณ์แบบ จนถึงขั้นทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป พบแต่บรมสุขคือ พระนิพพาน อันเป็นเป็นหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา