แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๔๘ พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์สูงสุด พึงสละทั้งอวัยวะและชีวิต เพื่อรักษาธรรมไว้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม ประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ กราบขอโอกาส พระมหาเถระมีท่านเจ้าคุณพระอุดมธีรคุณ รจจ.นครราชสีมา ท่านเจ้าคุณพระโสภณปริยัติวิธาน หลวงพ่อสมภาส วัดป่าเขาหินตัด เป็นต้น และพระเถรานุเถระทุกรูปด้วยความเคารพ
ขอเจริญพร นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธี นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รองผู้อำนวยการ ผู้บริหาร พร้อมคณะแพทย์พยาบาล ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ คหบดี พ่อค้า ประชาชน ทุกท่านทุกคน ได้พร้อมเพรียงกันเปิดอาคาร ๖๐ ปี อายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
โรงพยาบาลมหาราชนครนครราชสีมา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดนครราชสีมา และเป็นโรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่เดิมเป็นโรงพยาบาลสุขาภิบาล มาเป็นโรงพยาบาลสวนหม่อน, โรงพยาบาลเทศบาลเมืองนครราชสีมา, โรงพยาบาลเมืองนครราชสีมา เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ กระทรวงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา พระราชทานชื่อเป็น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๒๔ เป็น ๑ ใน ๓ โรงพยาบาลที่ได้รับพระราชทานนาม คือ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
คณะเเพทย์พยาบาลของโรงบาลมหาราชนครราชสีมา ถือว่าเก่งมาก ฉลาดมาก เป็นคนดี เป็นผู้ที่เสียสละ ทั้งผู้บริหาร ทั้งเเพทย์พยาบาล ต่างจากหลายปีก่อนไม่เป็นอย่างนี้ ผู้อำนวยการคนก่อนโน้น ก็ดีระดับนึง คนต่อมาก็ดีขึ้นมาอีก เเล้วคนต่อมาก็ดีขึ้นอีก คนปัจจุบันก็ยิ่งดี เพราะสาเหตุเข้าใจในธรรมะ เพราะความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องนี้สำคัญมาก เเต่ก่อนเป็นเเพทย์ เป็นหมอ คิดเเต่ความร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เเต่ปัจจุบันนี้เน้นจิตใจเน้นคุณธรรม คณะเเพทย์พยาบาล หลายๆ ปีที่ผ่านมา มีความสมัครสมานสามัคคีมากขึ้น ความเครียดในโรงพยาบาลก็น้อยลง มีความสมัครสมานสามัคคีเต็มที่เต็มกำลัง
การพัฒนามนุษย์ ได้ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย เจริญขึ้นเเล้วเสื่อมสลาย เเล้วก็เจริญขึ้น ทุกวันนี้เทคโนโลยีก็พัฒนามาไกล ด้วยการเรียนการศึกษาด้วยการค้นคว้าตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาตร์ ทั้งฝ่ายหมอ ฝ่ายพยาบาลก็ค้นคว้า ทุกมุมของโลกสื่อสารถึงกันภายในไม่กี่วินาที โรคภัยไข้เจ็บก็พัฒนา ไปตามเหตุตามปัจจัย ด้วยการศึกษาด้วยการประพฤติด้วยการปฏิบัติ โบราณก็ใช้สมุนไพร เเผนปัจจุบันก็ใช้วิทยาศาตร์ใช้เคมี มีการช่วยเหลือ ทุกวันนี้สามารถเปลี่ยนอวัยวะปลูกถ่ายอวัยวะได้ การปลูกถ่ายอวัยวะ คือ การผ่าตัดนำอวัยวะใหม่เปลี่ยนแทนอวัยวะเดิมที่เสื่อมสภาวะ จนไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ และการผ่าตัดนั้นจะเป็นการช่วยชีวิตในระยะสุดท้ายให้เขามีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของเขาในแต่ละสังคมอีกต่อไป การนำอวัยวะใหม่มาปลูกถ่ายนั้น เราจะได้จากผู้ที่มีเจตนารมณ์ในการบริจาคอวัยวะ หรือได้จากญาติที่มีความประสงค์ จะบริจาคอวัยวะของบุคคลนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
อวัยวะใหม่นั้น ได้มาจากที่ไหน คำตอบก็คือ อวัยวะใหม่นั้นได้มาจากผู้เสียชีวิต สมองตาย และได้อุทิศอวัยวะเป็นทาน ให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการประสานงาน โดยนำอวัยวะที่ได้รับบริจาคไปใช้ต่อชีวิตผู้ป่วยอย่างเป็นธรรม และเสมอภาคที่สุด อวัยวะที่สามารถนำไปปลูกถ่ายได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน กระจก แก้วตา เส้นเลือด และไขกระดูก เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยรอคอยรับการปลูกถ่ายอวัยวะมีจำนวนมาก ดังนั้น ปัญหาที่สำคัญคือ การขาดแคลนอวัยวะที่จะใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ เพราะอวัยวะมีจำนวนมาก ดังนั้น ปัญหาที่สำคัญคือ การขาดแคลนอวัยวะที่จะใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับจากการบริจาคนั้น ยังมีจำนวนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งจึงเปิดรับบริจาคอวัยวะของประชาชนทั่วไป เพื่อนำอวัยวะที่รับบริจาคทำการปลูกถ่ายเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การบริจาคของคน ๑ คน สามารถช่วยชีวิตคนได้สูงสุดถึง ๘ คน คือ สามารถใช้ได้หัวใจ ปอด ตับ ไต ๒ ข้าง (ข้างละ ๑ คน) และดวงตา
“คนไทยมีความเชื่อที่ผิด ๆ คิดว่าถ้าบริจาคอวัยวะไปแล้วชาติหน้าจะเกิดมาไม่ครบ ๓๒ ประการ จะเกิดมาพิกลพิการ แต่ที่ผ่านมาผมเป็นหมอศัลยกรรมเวลาผ่าตัดเอาเต้านมที่เป็นมะเร็งออกไป หรือเอาไส้ติ่งออกไป ไม่เห็นมีคนไข้คัดค้านไม่ให้ตัด เพราะกลัวว่าชาติหน้าจะไม่มีเต้านม หรือไม่มีไส้ติ่งบ้าง การบริจาคอวัยวะถือว่าเป็นทานบารมี คือ สละร่างกาย (อวัยวะ) แก่ผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทนใด”
จากคำกล่าวของ ผศ.นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กับความเชื่อที่ผิดๆ ของคนไทยในเรื่องของการบริจาคอวัยวะ ที่กลัวว่าหากบริจาคอวัยวะชาตินี้แล้วชาติหน้าจะเกิดมาเป็นคนพิการ ไม่ครบ ๓๒
ผศ.นพ.วิศิษฏ์ เล่าว่า ก่อนที่เราจะบบริจาคอวัยวะได้นั้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ร่างกายของคนเราจะเริ่มมีความเสื่อมเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ทุก ๆ 1 ปี ร่างกายจะมีความเสื่อมลงไป 1% อวัยวะของคนเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ ยิ่งใช้ไปนานเท่าไหร่ความเสื่อมก็มีตามมา ดังนั้นอวัยวะของหนุ่มสาวจึงเป็นอวัยวะทีมีคุณภาพที่ดีทีสุด ทางศูนย์ฯ จะรับแค่เพียงอายุสูงสุด 65 ปีเท่านั้น ส่วนหัวใจ 45 ปี ถ้าอายุมากกว่านั้นอวัยวะที่ได้รับบริจาคจะไม่คุ้มค่าแก่การปลูกถ่าย
ส่วนของอวัยวะที่ได้รับบริจาคต้องได้มาจากผู้ป่วยที่แพทย์ได้วินิจฉัยลงความเห็นแล้วว่า มีภาวะสมองตาย ซึ่งญาติจะเป็นผู้แสดงเจตจำนงในการบริจาคได้ หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ มีการแสดงตนแล้วว่าเมื่อตนเองเสียชีวิตอนุญาตให้นำอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายไปใช้ได้ นั่นคือ ขั้นตอนของการบริจาคอวัยวะ
การบริจาคอวัยวะเป็นการสร้างบารมีให้ตัวเอง พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า การที่ทรงมีพระเนตรดั่งตาเนื้อทรายก็เพราะในพระชาติหนึ่งได้ทรงควักพระเนตรบริจาคเป็นทาน ผลจากการทำมหาทานครั้งนั้นทำให้พระองค์ทรงได้อานิสงส์เป็นดวงพระเนตรที่งามแจ่มกระจ่าง ดั่งเนื้อทราย และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้สมันตจักษุ คือเป็นพระเนตรหรือดวงตาที่เป็นพิเศษสุดของพระพุทธเจ้า นี่คือตัวอย่างที่ยืนยันชัดเจนว่า การบริจาคอวัยวะเป็นการทำให้ตัวเองได้พบสิ่งที่ประเสริฐเลิศล้ำที่สุด
ในทางพระพุทธศาสนา ท่านชี้ให้เห็นว่า การบริจาคอวัยวะนั้นเป็นกิจอันเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง ดังมีระบุไว้ว่า ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์อย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องเคยบำเพ็ญทานบารมีที่สำคัญมาก่อนอย่างน้อยสามขั้น ขั้นแรกคือการบริจาควัตถุข้าวของ ขั้นที่สองคือการบริจาคอวัยวะ และขั้นที่สามหรือขั้นสูงสุด คือ การบริจาคได้แม้กระทั่งชีวิตของตนเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น
"บริจาค" แปลว่า การสละ แม้จะมีความหมายกว้างกว่า คำว่า "ทาน" (ซึ่งแปลว่า การให้) แต่ก็ใช้แทนกันและกันได้ ตามหลักการบำเพ็ญธรรมของพระโพธิสัตว์ (ซึ่งก็คือหลักพระพุทธศาสนานั่นเอง) การสละหรือการให้นี้มี ๓ ระดับ คือ (๑) ระดับต้น เรียกว่า ทานบารมี (๒) ระดับกลาง เรียกว่า ทานอุปบารมี (๓) ระดับสูง เรียกว่า ทานปรมัตถบารมี นัยแห่งการสละทั้ง ๓ ระดับ พอจะอธิบายให้เห็นภาพได้จากพุทธภาษิตนี้ “จเช ธนํ องควรสฺส เหตุ องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
องคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ จเช นโร ธมฺมมนุสสรนฺโต ฯ
พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เมื่อจะรักษาชีวิต พึงสละอวัยวะ เมื่อคำนึงถึงธรรม พึงสละได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต”
- การสละทรัพย์สมบัติ จัดเป็นระดับทานบารมี
- การสละอวัยวะ เลือดเนื้อ จัดเป็นระดับทานอุปบารมี
- การสละชีวิต จัดเป็นระดับทานปรมัตถบารมี
การบริจาคอวัยวะจึงเป็นทานอุปบารมี เป็นการสละระดับกลางซึ่งสูงกว่าระดับปกติธรรมดาทั่วไป
ถามว่า การบริจาคอวัยวะในชาตินี้ จะมีผลทำให้เกิดเป็นคนมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ในชาติหน้าหรือไม่?
อาการ ๓๒ คือ ผม (เกสา) ขน (โลมา) เล็บ (นขา) ตับ (ยกนํ) พังผืด (กิโลมกํ) ไต (ปิหกํ) ปอด (ปปฺผาสํ) ไส้ใหญ่ (อนตํ) เป็นต้น จัดเป็นองค์ประกอบภายนอก มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามกาลเวลา เมื่อชำรุดทรุดโทรมก็บำรุงให้อยู่ในสภาพดีได้ เมื่อถึงคราวชีวิตล้มหายตายลงก็เอาไปฝัง หรือเอาไปเผาตามประเพณีทางศาสนา ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน หรือถูกฝังเน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา อวัยวะทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้ตามไปเกิดในภพหน้าหรือในภพใหม่ชาติใหม่ ส่วนที่เป็นองค์ประกอบภายในคือ “จิต” นั่นคือ “ปฏิสนธิจิต” เท่านั้นที่จะทำหน้าที่ไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่
ถามว่า "อวัยวะที่จะเกิดมีในภพใหม่ชาติใหม่ได้มาจากไหน ถ้าไม่ได้เอาไปจากชาตินี้ ?"
คำถามนี้ตอบได้โดยการอธิบายและเปรียบเทียบ ดังนี้
ประการที่ ๑ อธิบายได้ว่า ในชีวิตของเรา มีจิตดวงหนึ่งทำหน้าที่เป็นองค์รักษาสืบต่อภพชาติ เรียกว่า "ภวังคจิต" โบราณาจารย์บางท่านเรียกว่า "จิตเดิมแท้" ทำหน้าที่เก็บสะสมพลังที่เกิดจากกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกเรื่องที่คิดย่อมเกิดผลทั้งสิ้น และผลเหล่านี้ไม่สูญหายไปไหน จะถูกเก็บสะสมไว้ในภวังคจิตหรือจิตเดิมแท้นี้ นานวันเข้ากลายเป็นพลังมหาศาล ที่พร้อมจะสร้างสรรค์ก่อให้เกิดอะไรก็ได้ตามความจำเป็นและตามเหตุปัจจัย เมื่อถึงคราวที่ภวังคจิตนี้ ทำหน้าที่ปฏิสนธิจิต (การเกิดในภพใหม่ มนุษย์มีความจำเป็นต้องมีอาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว และเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดอาการ ๓๒ คือ ธาตุดิน (ปฐวีธาตุ) และธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) ก็มีพร้อม อวัยวะทั้งหลายที่เรียกว่าอาการ ๓๒ ก็ถูกปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้นมา ในเรื่องนี้ท่านโบราณาจารย์บางท่านบอกว่า "อวัยวะที่เกิดมีขึ้นในภพใหม่ชาติใหม่แต่ละครั้ง เกิดจากรอยประทับ (Impressions-แม่พิมพ์หรือแบบ ? ที่ติดมากับปฏิสนธิจิตแล้วไปผนวกเข้ากับองค์ประกอบอีก ๒ ส่วนในภพใหม่ชาติใหม่คือ (๑) ความโน้มน้อม (Tendencies) และ (๒) ลักษณะเฉพาะ (Character) ที่ได้รับจากบิดา (Sperm) มารดา (Ovum Cell)
ประการที่ ๒ เปรียบเทียบได้ว่า จิตเมื่อจะทำหน้าที่เกิดในภพใหม่ (ปฏิสนธิจิต) ย่อมมีคุณสมบัติพิเศษมากกว่าจิตเมื่อทำหน้าที่อย่างอื่น เป็นจิตประกอบด้วยคุณสมบัติที่พร้อมจะสร้างสรรค์สิ่งอันเจริญเติบโตเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ เหมือนกับเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่น เมล็ดมะม่วง เมล็ดขนุน ซึ่งมีคุณสมบัติพร้อมที่จะงอกเป็นลำต้น กิ่งก้าน ใบ และก่อดอกออกผล เมื่อเรานำไปปลูก ย่อมจะงอกงามเป็นกิ่งก้านใบ และท้ายที่สุดก็ออกดอกออกผล แต่ในขณะที่เป็นเมล็ดอยู่นั้น บอกไม่ได้ว่าส่วนไหนของเมล็ดคือลำต้น กิ่งก้าน ใบ ของมะม่วงและขนุน กรณีของปฏิสนธิจิตก็เช่นเดียวกัน คือบอกไม่ได้ว่าส่วนไหนคือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
การบริจาคอวัยวะทำให้บางคนกังวลว่าศพจะไม่สวย นี่ป็นความกังวลที่ไร้สาระ เพราะเมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว สาระของร่างกายก็ไม่เหลืออยู่อีกต่อไป มีแต่จะถูกนำไปเผาหรือนำไปฝังเท่านั้น ลองคิดดูง่ายๆ ว่า ระหว่างปล่อยให้อวัยวะบางส่วนที่ยังใช้การได้ ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ยังอยู่ กับปล่อยให้ถูกเผาหรือฝังอย่างไร้ประโยชน์ สิ่งไหนจะดีกว่ากัน ดังนั้นการบริจาคอวัยวะ จึงเป็นการ "ถือเอาสาระจากสิ่งที่ไร้สาระ" ต่างหาก
ใครเป็นผู้บริจาค คนนั้นก็ได้ เพราะมันอยู่ที่เจตนาของผู้นั้น ในกรณีที่เป็น คนที่ตายไปแล้วและญาติบริจาค ในแง่นี้ คือ ญาติที่บริจาคนั้นต้องอุทิศกุศลไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ในทางธรรมถือว่าถ้าบริจาคในขณะที่ตัวยังเป็นอยู่ก็จะเป็นบุญขั้นสูง คนที่จะบริจาคอวัยวะให้คนอื่น ก็คือผู้ปรารถนาดีต่อเขา อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ หายเจ็บป่วย อยากให้เขาเป็นสุข จิตอย่างนี้ในตอนคิดก็เป็นจิตที่ดี คือจิตใจยินดีเบิกบาน คิดถึงความสุขความดีงาม ความเจริญ
ให้ประชาชนพากันเข้าใจ ผู้ที่วายชนม์ ผู้ที่ตายเเล้ว สามารถบริจาคอวัยวะต่างๆ ให้เป็นทาน ให้กับผู้ที่มีความจำเป็นผู้ที่ต้องการ นี้เป็นบุญ เป็นกุศล ประชาชนต้องพากันรู้ว่า เทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาก็ช่วยเหลือได้
มนุษย์เราเกิดมาต้องมีการเรียนการศึกษา ต้องมีงานทำ เพื่อมีบ้าน มีรถ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เพราะร่างกายที่เรามีธาตุมีขันธ์ จะได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข เป็นปัญหาที่จำเป็นรีบด่วน สิ่งที่จะมั่นคงก็คือเรื่องจิตเรื่องใจ ต้องพัฒนาไปเพื่อ เข้าถึงความสุขความดับทุกข์ที่เเท้จริง คือ หยุดเวียนว่ายตายเกิด การดำรงชีวิตของเราต้องพัฒนาสองอย่าง ต้องพัฒนาทั้งกาย พัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าทางสายกลาง ที่เรียกว่าศาสนา ก็คือ ธรรมะ ธรรมะก็คือ ศาสนา ศาสนา ย่อยมาเป็นศีล เป็นระเบียบเป็นพระวินัย เพื่อให้ทุกคนปรับใจ ปรับกายวาจา ใจกิริยามารยาทเข้าหาธรรมะ ทุกคนมีหน้าที่ปรับตัวเองเข้าสู่ธรรมะ เข้าสู่ระเบียบสู่วินัย เข้าสู่เวลา ไม่เอาตัวตนเป็นหลัก ไม่เอาตัวตนเป็นใหญ่ จะได้มีความเห็นเหมือนๆ กัน มีความตั้งมั่นเหมือนกัน มีระเบียบมีวินัย มนุษย์เราถึงจะอยู่ได้ร่มเย็นเป็นสุข เรียกว่า ธรรมะ คู่กับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ทุกคนต้องมีหน้าที่ทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้
ถ้าเอาเเต่ทางกาย ทางวิทยาศาสตร์ ทางเทคโนโลยีมันก็ยังไปไม่ได้อยู่เเล้ว ต้องพัฒนาเรื่องจิตเรื่องใจไปพร้อมๆ กัน เพราะร่างกายเค้าเปรียบเสมือนรถยนต์ ร่างกายเปรียบเสมือนบ้าน ใจเปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน ให้อาหารร่างกายให้ถูกต้อง เเล้วต้องให้อาหารใจให้ถูกต้อง ให้อาหารกายด้วย บ้านที่อยู่ที่อาศัย ทานอาหารให้ถูกต้อง ให้ได้เเคลอรี่ตามความต้องการของร่างกาย ทานอาหารก็ไม่หวานเกิน ไม่มันเกิน ไม่เค็มเกิน ไม่เปรี้ยวเกิน ที่อาศัยบ้านก็ให้อากาศถ่ายเท บ้านไม่สกปรก เเล้วความสุขต้องอยู่ที่ปัจจุบันตั้งเเต่เช้าจนนอนหลับ เราถึงจะไม่เสียสุขภาพจิต บางทีวันสองวันมันไม่เป็นไร ถ้าหลายวันมันจะสะสม เเล้วให้การนอนการพักผ่อน เพราะร่างกายคนเราถ้านอนไม่พอ มันต้องมีปัญหาเเน่นอน สติสัมปชัญญะก็จะไม่ค่อยดี อันนี้เป็นเหตุผลเป็นวิทยาศาตร์
ชีวิตของเราวันหนึ่งคืนหนึ่งประชาชนคนทำงาน ต้องนอนวันละ ๖ ชั่วโมง อย่างมากก็ ๘ ชั่วโมง ให้บังคับตัวเอง ไม่อย่างนั้นมันขอโอกาสขอเวลาไปเรื่อย ตามโทรศัพท์ ตามคอมพิวเตอร์ ตามรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญไปไม่ได้ มันต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฏแห่งกรรม กลางวันเราก็ทำงานให้มีความสุข ตั้งเเต่เช้าจนเย็น ให้มีความสุขในการทำงาน อย่าไปทำงานเเล้วใจมันไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ต้องอยู่กับงาน ถ้าอย่างนั้นใจมันจะไม่เย็น มันจะฟุ้งซ่าน กลางคืนกราบพระไหว้พระ นั่งสมาธิก็นอนสักสามทุ่มกว่าๆ ก็นอนเเล้ว ตีสี่ตีห้าถึงพากันตื่นขึ้น เราอย่าพากันคอร์รัปชั่นเวลานอน ถึงเวลานอนเราต้องเสียสละ ไปคิดมากยิ่งยากจน ไปคิดมากยิ่งเป็นโรคจิต โรคประสาท สุขภาพกายก็ไม่สมบูรณ์ เพราะเราทำไม่ถูกต้อง มันไม่จบหรอก ต้องจัดการตัวเอง
เราจะเห็นคนเเก่ตื่นขึ้นตีหนึ่งตีสอง นอนไม่หลับ เพราะว่าปวดท้องปัสสาวะ เมื่อมาปัสสาวะแล้วคิดไปเรื่อย ก็ทำให้นอนไม่หลับ การนอนไม่หลับ จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม การทำงานวันต่อไปไม่ได้ศักยภาพเต็มที่ มันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระเพาะ โรคอะไรต่างๆ สติปัญญาจะไม่ฉลาด คล่องเเคล่วว่องไว ยิ่งสร้างปมด้อยให้กับตัวเอง เนื่องจากเราไม่รู้หลักการ เนื่องจากถึงเวลานอนไม่ยอมนอน เราอย่าพากันคอร์รัปชั่นเวลานอน ถึงเวลานอนเราต้องเสียสละ ไปคิดมากยิ่งยากจน ไปคิดมากยิ่งเป็นโรคจิต โรคประสาท สุขภาพกายก็ไม่สมบูรณ์ เพราะเราทำไม่ถูกต้อง มันไม่จบหรอก ต้องจัดการตัวเอง
ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังรับรองด้วยว่า การทำจิตให้สงบเป็นสมาธินับเป็นการจัดระเบียบคลื่นสมองที่มีประสิทธิภาพที่สุด และถือเป็นการผ่อนคลายเชิงลึก ด้วยเหตุนี้สมองอันปราศจากข้อมูลขยะของพระอรหันต์จึงไม่ต้องการช่วงเวลาหลับลึกเพื่อฟื้นฟูสภาพสมองและจัดระเบียบเซลล์ประสาทมากเท่าคนทั่วไป จึงนอนเพีงแค่วันละ ๔ ชั่วโมงก็พอแล้ว
นอกจากนี้ความพิเศษของการนอนอย่างพระอรหันต์ยังไม่ได้จบอยู่เพียงแค่เรื่องของเวลาเพียงเท่านั้น วิธีการนอนของท่านก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย
พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงการบรรทมของพระองค์ไว้ว่า พระองค์บรรทมด้วยการสำเร็จสีหไสยา ซึ่งแปลว่า การนอนอย่างราชสีห์ คือการนอนตะแคงขวาอย่างมีสติสัมปชัญญะ ประกอบด้วยจิตอันบริสุทธิ์สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอุเบกขา ไม่ทุกข์และไม่สุข อยู่ในสมาธิขั้นสูง ไม่มีความยินดีในการนอนหลับ และพร้อมจะลุกขึ้นอยู่เสมอ
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอานิสงส์ของการหลับอย่างมีสติไว้ ๕ ประการ ได้แก่ ๑. ทำให้หลับเป็นสุข ๒. ทำให้ตื่นเป็นสุข ๓. ทำให้ไม่ฝันร้าย ๔. ทำให้เทวดารักษา ๕. ทำให้มีสติไม่หลงใหลในกามซึ่งเกิดจากความฝัน
๗ ขั้นตอนสู่ การนอนอย่างพระอรหันต์
๑. หมั่นเจริญสติและฝึกสมาธิระหว่างวันเพื่อจัดระเบียบสมองและลดการปรุงแต่งอารมณ์
๒. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้สมองและร่างกายตื่นตัวก่อนนอน เช่น การดูหนังแอ๊คชั่น การออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน การคิดเรื่องงาน ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายพร้อมเข้าสู่การนอนอย่างสงบและมีสติ
๓. นอนอย่างปล่อยวาง ทำจิตให้ว่างก่อนเข้านอน ด้วยการสะสางงานและวางแผนสิ่งที่จะต้องทำในวันรุ่งขึ้นให้เรียบร้อย อาจวางกระดาษและดินสอไว้ข้างเตียงเพื่อจดสิ่งที่นึกขึ้นได้จะได้ไม่ต้องคิดวนไปเวียนมาเพราะความกังวล
๔ .นอนในที่เย็น เงียบ และมืด ปราศจากแสงเสียง และสิ่งรบกวนที่จะทำลายสมาธิในการนอน
๕. หลับไปด้วยจิตอันนิ่งสงบและเป็นกุศล แทนที่จะหลับไปอย่างเหนื่อยอ่อนเพราะคิดปรุงแต่งสารพัน
๖. จัดระเบียบการนอน มีกำหนดเวลานอนและตื่นที่ชัดเจนเพื่อสร้างวินัยให้ร่างกาย
๗. ลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉงทันทีที่ตื่น อย่ามัวโอ้เอ้งัวเงียพ่ายแพ้ให้ความขี้เกียจ เพราะการตื่นขึ้นเองโดยไม่มีใครปลุกเป็นการส่งสัญญาณให้คุณรู้ว่าสมองได้พักผ่อนเพียงพอแล้ว การนอนนานกว่านั้นจึงถือเป็นความขี้เกียจ
การนอนอย่างมีสติเป็นองค์ประกอบประการสำคัญที่ในการประพฤติปฏิบัติต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ เพื่อเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” อยู่ตลอดเวลาอย่างแท้จริง...
ทุกคนได้รับการเเต่งตั้งให้เป็นโน่นเป็นนี่ ทำตามหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ด้วยการเสียสละ คนเราถ้าไม่เสียสละมันไม่มีความสุข ไม่มีความดับทุกข์ เราต้องพากันทำงานให้มีความสุข อันนี้เป็นอริยสัจ ๔ เป็นความจริง ให้ทุกคนรู้จัก ว่าเราไม่เสียสละ ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ได้ เราไม่เสียสละเราก็มีความผิด ถึงเเม้จะเป็นสิ่งที่ดี เราก็เสียสละทางจิตใจเพื่อไม่ให้เราหลง ถึงจะเป็นความเจ็บปวดทางร่างกาย เราก็ต้องเสียสละ เราไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากเเก่ ไม่อยากตาย เราก็คือคนบ้า เป็นคนหลง
ทุกท่านทุกคนก็จะเคารพเราได้ ก็เพราะเราเป็นคนมีศีลมีธรรมมีระเบียบมีวินัย เค้าถึงเคารพนับถือเรา เค้าเคารพนับถือเราก็เพราะเราเป็นคนที่เสียสละ ผู้ที่มาก่อนเกิดก่อนก็ต้องเสียสละ คนเสียสละเค้าถึงมีศีลมีระเบียบมีวินัย ไม่อยากเเก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ถึงปีเกษียณก็ต้องเกษียณ เกษียณเเล้ว เราต้องเสียสละต่อ เพราะคนเรามันอยู่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เกษียณเเล้วถ้าเราเป็นคนดี ทุกคนก็เคารพนับถือเราอยู่เเล้ว วัยเกษียณเป็นวัยที่เน้นทางจิตทางใจ เน้นทางพรหมจรรย์เเล้ว ตั้งใจตั้งเจตนา ศึกษาทางจิตใจ เพราะเราเป็นหมอเป็นเเพทย์เป็นพยาบาลเราช่วยเหลือคน ทีนี้เราต้องช่วยเหลือตัวเอง
ความสมัครสมานสามัคคี เป็นสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญ โลกนี้เสียหายก็เพราะว่าสงคราม ประเทศเราเสียหายก็เพราะว่า คณะรัฐบาลการปกครอง เกิดจากความเเตกเเยก ของรัฐบาลสังฆเภท ทำไมถึงเเตกเเยก เพราะไม่ได้เอาประโยชน์ส่วนรวม พากันไปเอาเงินเอาสตางค์ พรรคไหนก็ไม่มีเลย มีเเต่พรรคเงินไปหมด พวกสงฆ์อะไร เเตกเเยกก็เพราะผลประโยชน์ ความสมัครสมานสามัคคีเป็นสิ่งที่สำคัญ อยู่ในครอบครัวต้องเอาความสมัครสมานสามัคคีเป็นหลัก ในบ้าน ในโรงเรียน ความสมัครสมานสามัคคีจึงสำคัญ เราทะเลาะกันวิวาท ไม่พอใจ เราก็ไม่เเตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานที่มันเเย่งอาหารกัน ให้ทุกคนพากันเข้าใจ ลบสิ่งที่ทะเลาะวิวาทกันให้เป็นเลขศูนย์ ไม่สมควรจะโง่ไปอีก การเเบ่งพรรคเเบ่งพวกไม่ดี เราดูตัวอย่างเเบบอย่างของคณะสงฆ์ที่นครราชสีมา เดี๋ยวนี้ เจ้าคณะจังหวัด คณะธรรมยุติ รองเจ้าคณะจังหวัด เดี๋ยวนี้ท่านรักกัน สมัครสมานสามัคคีกัน หยุดสังฆเภทกัน ถือพรรคถือพวก อย่างนี้ดี เพราะการเเตกเเยก ไม่สมัครสมานสามัคคีเป็นสิ่งที่เสียหาย เป็นสิ่งที่เจ็บปวด เราจึงต้องเสียสละ
เราเกิดมาเป็นมนุษย์คือผู้ที่ประเสริฐเเล้ว เราต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ถ้าเราไม่เกิดมามันก็ไม่มีปัญหา เราทุกคนไปทุกข์เเต่เรื่องปลายเหตุ เรื่องหนี้เรื่องสินเรื่องลูกเรื่องหลาน เรื่องที่อยู่ที่อาศัย เรื่องเงินเรื่องสตางค์ ทุกอย่าง ไปบ่นไปเรื่อย เเต่ไม่ได้กลับมาหาตัวเอง สาเหตุเพราะเราไม่รู้จัก เพราะทำตามอารมณ์ทำตามความคิด เราพากันไปมีลูกมีหลาน เพราะเราไม่รู้อริยสัจสี่ สิ่งที่มันผ่านไปเเล้วให้มันเเล้วไป พระพุทธเจ้าให้เราเอาใหม่ ดีมันก็เเก้ไขไม่ได้เเล้ว ชั่วมันก็เเก้ไขไม่ได้เเล้ว สิ่งที่เป็นอดีตมันก็เเก้ไขไม่ได้เเล้ว ให้ทุกท่านทุกคนพากันประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน เราจะได้หยุดกงล้อกงกรรมกงเกวียนเวียนว่ายตายเกิด มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้มันรู้ชัดเจน อิริยาบถทั้ง ๔ ยืนเดินนั่งนอนมันหยาบอยู่เเล้ว หายใจเข้าให้มันรู้ชัดเจน หายใจออกให้มันรู้ชัดเจนเลย เราจะได้ปฏิบัติ พระพุทธเจ้าให้ทำอย่างนี้ ทุกท่านต้องเอาศีลเป็นหลัก เอาศีลเป็นที่ตั้ง เพราะศีลคือยานพาหนะให้เราออกจากวัฏฏะสงสาร เพราะศีลทุกข้อคือยานอันประเสริฐให้เราออกจากวัฏฏะสงสาร สมาธิความหนักเเน่นทำให้เราหยุดโลก หยุดความวุ่นวาย เริ่มจากปัจจุบันนี้เเหละ มันเริ่มจากปัจจุบันอย่างนี้ ชีวิตเราก็จะสงบก็จะเย็น
โลกเค้าพัฒนาเรื่องวัตถุ เรื่องเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์น่ะ "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็ถึงมี" เราก็มาพัฒนา 'อริยมรรค' พัฒนา 'ข้อวัตรปฏิบัติ' ให้มีในตัวในตน พยายามเชื่อมั่นในตัวเองให้มาก ชีวิตนี้จะไม่ได้งมงาย ไม่ได้เพ้อฝันไปหลงความสุข ที่จะทำให้เราตกนรกไปจนไม่รู้จักที่จบที่สิ้น เราประพฤติปฏิบัติไปก็ย่อมเข้าถึงความสงบ ความดับทุกข์ไปเรื่อยๆ ให้พากันตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ในสิ่งที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติที่ถูกต้อง ทุกท่านทุกคนจะได้เข้าถึงความประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เพื่อประสบความสำเร็จคือเดินตามอริยมรรคสู่มรรคผลพระนิพพาน
ขออนุโมทนากับ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธี นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รองผู้อำนวยการ ผู้บริหาร พร้อมคณะแพทย์พยาบาล ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ คหบดี พ่อค้า ประชาชน ทุกท่านทุกคน พร้อมทั้งคณะสงฆ์ ได้พร้อมเพรียงกันเปิดอาคาร ๖๐ ปี อายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อจะได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันนี้