แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๔๖ โรคเครียด ไม่เกรน นอนไม่หลับ จะหายไป เมื่อฝึกให้มีระเบียบในการนอนด้วยสติ สมาธิ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การประพฤติการปฏิบัติ เป็นหน้าที่ของเราทุกๆ คนในปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะเป็นพระเป็นเณรเป็นชีเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ที่อยู่ที่บ้านอยู่ที่ทำงาน เป็นหน้าที่ ทุกคนที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ให้ทุกคนพากันรู้ เรามีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีกายมีใจ ที่จะมาสัมผัส เมื่อสัมผัสเเล้ว เราต้องรู้โดยสัญชาตญาณที่ไปไม่เกี่ยวข้อง เพราะว่ามันเป็นเบื้องต้นสัญชาตญาณ ให้ทุกท่านทุกคนถือโอกาสนี้เป็นการประพฤติการปฏิบัติยกทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องกับเราสู่พระไตรลักษณ์ เพราะว่ารูปมันก็ไม่เที่ยง เสียงมันก็ไม่เที่ยง กลิ่น รส สัมผัส ความรู้สึกนึกคิดมันก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างมันไม่เที่ยง เค้าเข้ามาปรากฏการณ์ที่เรายังไม่ตาย เรายังมีลมหายใจอยู่ เราก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ
เพราะความเคยชินของเรานั้น เราเสพทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เรียกว่าเรามีเซ็กซ์ทางจิตใจ มีเซ็กซ์ทางอารมณ์ ทุกท่านทุกคนจะได้ประพฤติปฏิบัติธรรม เราพยายามทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ ปกติเรื่องราวทุกอย่าง ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันจะไม่มีปัญหา ที่เรามีปัญหาก็เพราะว่า เราไม่รู้อริยสัจสี่ เราตามสิ่งเเวดล้อม ตามความคิดไป ทุกท่านทุกคนต้องหยุดไว้เพียงเเค่นี้ เพื่อประพฤติปฏิบัติตัวเอง ทุกคนพากันไปว่าไปบ่นให้ลูกให้หลาน พระพุทธเจ้า ท่านไม่ให้เราบ่นหรอก
เราเกิดมาเป็นมนุษย์คือผู้ที่ประเสริฐเเล้ว เราต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ถ้าเราไม่เกิดมามันก็ไม่มีปัญหา เราทุกคนไปทุกข์เเต่เรื่องปลายเหตุ เรื่องหนี้เรื่องสินเรื่องลูกเรื่องหลาน เรื่องที่อยู่ที่อาศัย เรื่องเงินเรื่องสตางค์ ทุกอย่าง ไปบ่นไปเรื่อย เเต่ไม่ได้กลับมาหาตัวเอง สาเหตุเพราะเราไม่รู้จัก เพราะทำตามอารมณ์ทำตามความคิด เราพากันไปมีลูกมีหลาน เพราะเราไม่รู้อริยสัจสี่ สิ่งที่มันผ่านไปเเล้วให้มันเเล้วไป พระพุทธเจ้าให้เราเอาใหม่ ดีมันก็เเก้ไขไม่ได้เเล้ว ชั่วมันก็เเก้ไขไม่ได้เเล้ว สิ่งที่เป็นอดีตมันก็เเก้ไขไม่ได้เเล้ว ให้ทุกท่านทุกคนพากันประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน เราจะได้หยุดกงล้อกงกรรมกงเกวียนเวียนว่ายตายเกิด
มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้มันรู้ชัดเจน อิริยาบถทั้งสี่เดินนั่งนอนมันหยาบอยู่เเล้ว หายใจเข้าให้มันรู้ชัดเจน หายใจออกให้มันรู้ชัดเจนเลย เราจะได้ปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนพระพุทธเจ้าให้ทำอย่างนี้ ทุกท่านต้องเอาศีลเป็นหลัก เอาศีลเป็นที่ตั้ง เพราะศีลคือยานพาหนะให้เราออกจากวัฏฏะสงสาร เพราะศีลทุกข้อคือยานอันประเสริฐให้เราออกจากวัฏฏะสงสาร สมาธิความหนักเเน่นทำให้เราหยุดโลก หยุดความวุ่นวาย เริ่มจากปัจจุบันนี้เเหละ
มันเริ่มจากปัจจุบันอย่างนี้ ชีวิตเราก็จะสงบก็จะเย็น ชีวิตของเราวันหนึ่งคืนหนึ่งประชาชนทำงาน ต้องนอนวันละ ๖ ชั่วโมง อย่างมากก็ ๘ ชั่วโมง ให้บังคับตัวเอง ไม่อย่างนั้นมันขอโอกาสขอเวลาไปเรื่อย ตามโทรศัพท์ ตามคอมพิวเตอร์ ตามรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญไปไม่ได้ มันต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฏเเห่งกรรม กลางวันเราก็ทำงานให้มีความสุข ตั้งเเต่เช้าจนเย็น ให้มีความสุขในการทำงาน อย่าไปทำงานเเล้วใจมันไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ต้องอยู่กับงาน ถ้าอย่างนั้นใจมันจะไม่เย็น มันจะฟุ้งซ่าน กลางคืนกราบพระไหว้พระ นั่งสมาธิก็นอนสักสองทุ่มกว่าๆ ก็นอนเเล้ว ตีสี่ถึงพากันตื่นขึ้น เราอย่าพากันคอร์รัปชั่นเวลานอน ถึงเวลานอนเราต้องเสียสละ ไปคิดมากยิ่งยากจน ไปคิดมากยิ่งเป็นโรคจิต โรคประสาท สุขภาพกายก็ไม่สมบูรณ์ เพราะเราทำไม่ถูกต้อง มันไม่จบหรอก ต้องจัดการตัวเอง อย่าไปมั่วไลน์โทรศัพท์ ไปเด๋อๆ ด๋าๆ อะไร ไปเรื่อย อย่าติดละครติดหนังสำหรับประชาชนชาวบ้าน เพราะหนังประชาชนเค้าสร้างมาขายให้คนโง่ เราต้องรู้จัก
ประชาชนควรจะนอนวันนึงอย่างน้อย ๖ ชั่วโมง อย่างมากไม่เกิน ๘ ชั่วโมง เราตื่นขึ้น ตอนกลางคืน สำหรับคนเเก่ เราปวดปัสสาวะ เราต้องเตรียมกระโถน เตรียมภาชนะสำหรับปัสสาวะ เพื่อไม่ให้ประสาทมันตื่นตัวมาก เราไม่ต้องไปคิดไปปรุงเเต่งอะไร เดี่ยวมันจะนอนไม่หลับ ถ้าเราตื่นขึ้นตีหนึ่งตีสองหรือตีสาม มันจะเป็นสาเหตุให้เราเป็นโรคจิตโรคประสาท เป็นโรคกระเพาะ เพราะการนอนไม่พอ สำหรับนักบวชอย่างน้อยนอน ห้าชั่วโมง อย่างมากไม่เกิน หกชั่วโมง กลางวันเราไม่ควรจะนอน ถ้านอนกลางวันเดี๋ยวกลางคืนมันจะนอนไม่หลับ
เราจะเห็นคนเเก่ตื่นขึ้นตีหนึ่งตีสอง นอนไม่หลับ เพราะว่าปวดท้องปัสสาวะ เมื่อมาปัสสาวะแล้วคิดไปเรื่อย ก็ทำให้นอนไม่หลับ การนอนไม่หลับ จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม การทำงานวันต่อไปไม่ได้ศักยภาพเต็มที่ มันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระเพาะ โรคอะไรต่างๆ สติปัญญาจะไม่ฉลาด คล่องเเคล่วว่องไว ยิ่งสร้างปมด้อยให้กับตัวเอง เนื่องจากเราไม่รู้หลักการ เนื่องจากถึงเวลานอนไม่ยอมนอน
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเกี่ยวกับ การนอนอย่างพระอรหันต์ ไว้ว่า พระอรหันต์นอนเพียงวันละ ๔ ชั่วโมงเท่านั้น เพราะท่านเป็นผู้ที่ละแล้วซึ่งกิเลส
ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังรับรองด้วยว่า การทำจิตให้สงบเป็นสมาธินับเป็นการจัดระเบียบคลื่นสมองที่มีประสิทธิภาพที่สุด และถือเป็นการผ่อนคลายเชิงลึก ด้วยเหตุนี้สมองอันปราศจากข้อมูลขยะของพระอรหันต์จึงไม่ต้องการช่วงเวลาหลับลึกเพื่อฟื้นฟูสภาพสมองและจัดระเบียบเซลล์ประสาทมากเท่าคนทั่วไป จึงนอนเพีงแค่วันละ ๔ ชั่วโมงก็พอแล้ว
นอกจากนี้ความพิเศษของการนอนอย่างพระอรหันต์ยังไม่ได้จบอยู่เพียงแค่เรื่องของเวลาเพียงเท่านั้น วิธีการนอนของท่านก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย
พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงการบรรทมของพระองค์ไว้ว่า พระองค์บรรทมด้วยการสำเร็จสีหไสยา ซึ่งแปลว่า การนอนอย่างราชสีห์ คือการนอนตะแคงขวาอย่างมีสติสัมปชัญญะ ประกอบด้วยจิตอันบริสุทธิ์สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอุเบกขา ไม่ทุกข์และไม่สุข อยู่ในสมาธิขั้นสูง ไม่มีความยินดีในการนอนหลับ และพร้อมจะลุกขึ้นอยู่เสมอ
เหตุที่พระอรหันต์นอนน้อยกว่าคนทั่วไป ก็เพราะท่านเป็นผู้ที่ละแล้วซึ่งกิเลสและมีสติอยู่เสมอทุกขณะตื่น สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง โดยไม่เผลอนำสิ่งกระทบต่างๆ มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นอารมณ์ จึงไม่ต้องการเวลานอนมากนัก
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอานิสงส์ของการหลับอย่างมีสติไว้ ๕ ประการ ได้แก่ ๑. ทำให้หลับเป็นสุข ๒. ทำให้ตื่นเป็นสุข ๓. ทำให้ไม่ฝันร้าย ๔. ทำให้เทวดารักษา ๕. ทำให้มีสติไม่หลงใหลในกามซึ่งเกิดจากความฝัน
๗ ขั้นตอนสู่ การนอนอย่างพระอรหันต์
๑. หมั่นเจริญสติและฝึกสมาธิระหว่างวันเพื่อจัดระเบียบสมองและลดการปรุงแต่งอารมณ์
๒. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้สมองและร่างกายตื่นตัวก่อนนอน เช่น การดูหนังแอ๊คชั่น การออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน การคิดเรื่องงาน ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายพร้อมเข้าสู่การนอนอย่างสงบและมีสติ
๓. นอนอย่างปล่อยวาง ทำจิตให้ว่างก่อนเข้านอน ด้วยการสะสางงานและวางแผนสิ่งที่จะต้องทำในวันรุ่งขึ้นให้เรียบร้อย อาจวางกระดาษและดินสอไว้ข้างเตียงเพื่อจดสิ่งที่นึกขึ้นได้จะได้ไม่ต้องคิดวนไปเวียนมาเพราะความกังวล
๔ .นอนในที่เย็น เงียบ และมืด ปราศจากแสงเสียง และสิ่งรบกวนที่จะทำลายสมาธิในการนอน
๕. หลับไปด้วยจิตอันนิ่งสงบและเป็นกุศล แทนที่จะหลับไปอย่างเหนื่อยอ่อนเพราะคิดปรุงแต่งสารพัน
๖. จัดระเบียบการนอน มีกำหนดเวลานอนและตื่นที่ชัดเจนเพื่อสร้างวินัยให้ร่างกาย
๗. ลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉงทันทีที่ตื่น อย่ามัวโอ้เอ้งัวเงียพ่ายแพ้ให้ความขี้เกียจ เพราะการตื่นขึ้นเองโดยไม่มีใครปลุกเป็นการส่งสัญญาณให้คุณรู้ว่าสมองได้พักผ่อนเพียงพอแล้ว การนอนนานกว่านั้นจึงถือเป็นความขี้เกียจ
การนอนอย่างมีสติเป็นองค์ประกอบประการสำคัญที่ในการประพฤติปฏิบัติต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ เพื่อเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” อยู่ตลอดเวลาอย่างแท้จริง...
ท่านสัตยา นารยัน โกเอ็นก้า เกิดในครอบครัวนักธุรกิจ และท่านเองก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงตั้งแต่ยังหนุ่ม ตั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานทอผ้า โรงงานผ้าห่ม และเปิดบริษัทนำเข้า-ส่งออก โดยมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า รวมทั้งเป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิ หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่า สมาคมพาณิชย์และอุตสาหกรรมแห่งย่างกุ้ง
แต่พร้อมกับชื่อเสียง เกียรติยศ และความสำเร็จในชีวิตที่ได้มา ความตึงเครียดทางใจก็เพิ่มขึ้นเป็นเงา ท่านเล่าไว้ว่าทุกๆ คืนหากการเจรจาธุรกิจในวันนั้นล้มเหลว ท่านจะคิดใคร่ครวญหาข้อผิดพลาดและหนทางแก้ไข แต่ในวันที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ท่านก็ยังนอนไม่หลับเพราะมัวแต่ชื่นชมความสำเร็จของตัวเอง “ถึงแม้ข้าพเจ้าจะประสบกับความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขสงบในใจแต่อย่างใด ข้าพเจ้าพบว่าความสงบนั้นเกี่ยวพันกับความสุขอย่างมาก แต่ข้าพเจ้าก็มักจะไม่มีทั้งสองอย่างนี้ ทั้งๆ ที่มีเงินทองและตำแหน่งผู้นำชุมชน” ในที่สุดท่านก็เป็นโรคไมเกรนชนิดรุนแรง ถึงขั้นต้องพึ่งมอร์ฟีนและมีทีท่าว่าจะต้องเพิ่มปริมาณการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ และในการแสดงธรรมบรรยายคืนสุดท้ายของหลักสูตรการอบรม ๑๐ วัน ท่านได้เล่าประวัติตัวเองในช่วงนี้โดยละเอียดว่า หมอที่รักษาท่านเห็นแนวโน้มการใช้มอร์ฟีนที่สูงขึ้นแล้วก็แนะนำให้ท่านลองไปเสาะหาหมอในประเทศอื่นดูบ้าง เพราะเห็นว่าท่านคงมีช่องทางและฐานะพอจะทำเช่นนั้นได้ไม่ยาก
ท่านไปรักษาตัวในหลายประเทศ ตั้งแต่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ อเมริกา และในญี่ปุ่น แต่ไม่เกิดผลอย่างใด อย่าว่าแต่จะรักษาอาการปวดหัว แค่จะให้ท่านละเลิกจากการใช้มอร์ฟีน หมอทั่วโลกก็ยังหาวิธีการไม่ได้
แต่ท่านว่าทั้งหมดนั้นถือเป็นความโชคดี ที่เป็นเงื่อนไขชักนำให้ท่านได้มาพบธรรมะ หนุ่มโกเอ็นก้าในวัย ๓๒ ปี พากายที่เจ็บป่วยทรุดหนักกว่าเดิมกลับพม่า และได้ทราบเรื่องราวของท่านซายาจี อูบาขิ่น (๒๔๔๒-๒๕๑๔) ข้าราชการระดับสูงของพม่าที่เป็นนักวิปัสสนาและสอนวิธีปฏิบัติวิปัสสนา จากการแนะนำของเพื่อนคนหนึ่ง
และท่านอูบาขิ่นเองนั้นก็ได้รู้เรื่องการปฏิบัติวิปัสสนามาจากเพื่อนคนหนึ่งเช่นกัน เขามาเล่าถึงการเข้าร่วมฝึกปฏิบัติกับท่านซายาเท็ตจี (๒๔๑๖-๒๔๘๘) เรื่องการวิปัสสนาและวิธีการปฏิบัติอานาปานัสสติให้ฟัง ท่านอูบาขิ่นได้ฟังแล้วเกิดความสนใจจึงทดลองปฏิบัติ ก็พบว่าทำให้จิตมีสมาธิตั้งมั่นดี เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้ารับการอบรมเต็มหลักสูตรเพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนา
เริ่มแรกท่านโกเอ็นก้าไปพบอาจารย์อูบาขิ่น แจ้งความประสงค์เรื่องการจะใช้วิปัสสนารักษาโรคไมเกรน แต่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นบอกว่าธรรมะมีคุณมากกว่านั้น “ธรรมะไม่ใช่สิ่งที่มีไว้รักษาโรคทางกาย ถ้าเธอต้องการรักษาโรคทางกายก็ควรไปโรงพยาบาล แต่ธรรมะคือสิ่งที่จะช่วยชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายในชีวิต โรคของเธอเป็นเพียงส่วนที่เล็กมากในจำนวนความทุกข์ของเธอ มันย่อมจะหายไปเอง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการชำระจิตให้บริสุทธิ์เท่านั้น ถ้าเธอมาปฏิบัติเพราะต้องการรักษาโรคทางกายก็ถือว่าเธอประเมินคุณค่าของธรรมะต่ำเกินไป จงปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้น ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรคทางกาย”
แต่ด้วยความเป็นชาวฮินดูที่เคร่งครัด ตอนแรกท่านโกเอ็นก้าก็ยังลังเลที่จะเข้าอบรมในศูนย์วิปัสสนาของอาจารย์ชาวพุทธ กระทั่งผู้เป็นอาจารย์ให้คำยืนยันว่า “ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลงเธอให้หันมาถือพุทธหรอก แต่ฉันจะสอนวิธีการปฏิบัติที่ทำให้เธอเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้น”
ได้รับความกระจ่างเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติวิปัสสนาที่เน้นศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งไม่ขัดกับการเป็นศาสนิกชนของศาสนาใดท่านจึงตัดสินใจเข้ารับการอบรม แต่การฝึกวิปัสสนาในระยะเริ่มต้นของท่านโกเอ็นก้าไม่ราบรื่นอย่างอาจารย์
ท่านโกเอ็นก้าเล่าว่า ท่านคิดจะล้มเลิกความตั้งใจ เก็บกระเป๋ากลับบ้านเสียตั้งแต่วันที่ ๒ ของการฝึกปฏิบัติ หลังได้ยินเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติพูดให้ได้ยินว่าพวกเขาเห็นแสงนั่นนี่ ซึ่งตามคติฮินดูแล้วกล่าวกันว่านั่นคือแสงสวรรค์ แต่ท่านเองปฏิบัติแล้วยังไม่เห็นอะไรเลย และยังคิดเชื่อมโยงไปถึงคำกล่าวที่ว่า “เอาอูฐลอดรูเข็มยังง่ายเสียกว่าจะให้คนรวยได้ขึ้นสวรรค์” แล้วท่านเองเป็นนักธุรกิจเป็นคนรวยก็ยิ่งท้อแท้ เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเตรียมจะหนีกลับในเย็นนั้น แต่ก็มีสุภาพสตรีที่เป็นผู้ปฏิบัติเก่าขอร้องให้ลองอยู่ต่ออีกสักวัน เธอบอกกับเขาว่า “อีกวันเดียวเถิดน่า อยู่ต่ออีกสักวัน แค่วันแรกคุณก็เริ่มรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ได้ตั้งมากมาย คนอื่นเขากว่าจะรู้สึกได้ก็ตั้งวันที่ ๓ คุณทำได้ดีมาก ท่านอาจารย์เองก็พอใจกับการปฏิบัติของคุณ แล้วคุณจะหนีออกไปทำไม แล้วแสงนั่นก็ไม่ได้สำคัญอะไร ถึงแม้จะอยากเห็นก็อย่าไปให้ความสำคัญกับมันเลย อีกแค่วันเดียวเท่านั้น”
ท่านโกเอ็นก้าอยู่ฝึกปฏิบัติต่อจนจบหลักสูตร และอยู่ในสายธรรมสืบมาจนบัดนี้ หลังผ่านการปฏิบัติตามหลักสูตร ๑๐ วันครั้งแรก ความเครียดและอาการปวดไมเกรนของท่านบรรเทาลง ท่านโกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสาระคำสอนและการปฏิบัติในแนวทางนี้เป็นอย่างมาก จึงปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ท่านกล่าวว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้เข้ารับการอบรมวิปัสสนา ความสงสัยและความกลัวต่างๆ ก็หมดไป ข้าพเจ้าพบว่าวิปัสสนาคือคัมภีร์ภควัทคีตาในแง่ของการปฏิบัตินั่นเอง ความเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวจากวิปัสสนาก็คือการเปลี่ยนความทุกข์เป็นความสุข จากอวิชชาไปสู่ความรู้แจ้งจากพันธนาการที่ร้อยรัดไปสู่ความหลุดพ้น”
พวกที่เป็นพระ ต้องตัดสิ่งภายนอกออกหมด ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว นั่งสมาธิก่อนนอนเพื่อใจสงบ อย่างที่เรานั่งสมาธิทำวัตรสวดมนต์ส่วนรวม เรากลับกุฏิเราก็นั่งสมาธิอีก นั่งสมาธิ เราไม่คิดอะไร ไม่กี่นาทีมันก็อยากพักผ่อนเเล้ว สำหรับผู้ที่ปวดหัว ไม่ต้องเอาสติไว้ที่ลมเข้า หรือลมออก ให้ย้ายฐานมาอยู่ที่ท้องยุบ ท้องพอง เพื่อเราจะได้ใช้หัวใช้สมองน้อย เราไปใช้หัวใช้สมองเยอะ จนเจริญอานาปานสติไม่ได้ เราต้องเจริญที่ท้องพองยุบ ไม่งั้นก็ต้องท่องพุทโธเอา ไม่ต้องกำหนดอารมณ์ลมเข้าลมออก ท่องพุทโธๆ เหมือนเรานับ 1-2-3 พุทโธๆ หางานให้ใจมันอยู่ เดี๋ยวมันจะสงบเอง มันไม่มีงานก็ต้องจิตใจซัดเซพเนจร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย มหานิทเทส ว่า “ภิกษุไม่พึงทำความหลับให้มาก พึงมีความเพียร ทำความเป็นผู้ตื่นให้เคยชิน พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความลวง ความหัวเราะ การเล่น เมถุนธรรม อันเป็นไปกับด้วยการประดับ”
ว่าด้วยการแบ่งเวลา คำว่า ภิกษุไม่พึงทำความหลับให้มาก ความว่า ภิกษุพึงแบ่งกลางคืนและกลางวันให้เป็น ๖ ส่วนแล้ว ตื่นอยู่ ๕ ส่วน นอนหลับ ๑ ส่วน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุไม่พึงทำความหลับให้มาก.
คำว่า พึงมีความเพียรให้เคยชินในความเป็นผู้ตื่น ความว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องกางกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน พึงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องกางกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่ง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี พึงสำเร็จสีหไสยา (นอนเหมือนราชสีห์) โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำสัญญาในการตื่นขึ้นไว้ในใจ ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี กลับตื่นขึ้นแล้ว พึงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่องกางกั้น ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี.
คำว่า มีความเพียร ความว่า วิริยะเรียกว่าความเพียร ได้แก่การปรารภความเพียร ความก้าวออก ความก้าวหน้า ความย่างขึ้นไป ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความมั่นคง ความทรงไว้ ความก้าวหน้ามิได้ย่อหย่อน ความไม่ปลงฉันทะ ความไม่ทอดธุระ ความประคองธุระไว้ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ อันเป็นไปทางจิต ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงเข้าถึงพร้อม เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบแล้วด้วยความเพียรนี้ ภิกษุนั้นเรียกว่า มีความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงมีความเพียรให้เคยชินในความเป็นผู้ตื่น.
ว่าด้วยความเกียจคร้าน ชื่อว่า ความเกียจคร้าน ในคำว่า พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความหลง ความหัวเราะ การเล่น เมถุนธรรมอันเป็นไปกับด้วยการประดับ ได้แก่ความเกียจคร้าน กิริยาที่เกียจคร้าน ความเป็นผู้เกียจคร้าน ความเป็นผู้มีใจเกียจคร้าน ความขี้เกียจ กิริยาที่ขี้เกียจ ความเป็นคนขี้เกียจ นี้เรียกว่าความเกียจคร้าน. คำว่า ความลวง ความว่า ความประพฤติลวง เรียกว่าความลวง. บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจแล้ว ตั้งความปรารถนาลามกเพราะเหตุจะปกปิดทุจริตนั้น คือ ย่อมปรารถนาว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา (ว่าเราประพฤติชั่ว) ย่อมดำริว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา คิดว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา ดังนี้แล้ว กล่าววาจา (ว่าตนไม่มีความประพฤติชั่ว) คิดว่า ใครๆ อย่ารู้จักเรา ดังนี้แล้ว ก็บากบั่นด้วยกาย. ความลวง ความเป็นผู้ลวง กิริยาเป็นเครื่องปิดบัง กิริยาที่ซ่อนความจริง กิริยาที่บังความผิด กิริยาที่ปิดความผิด กิริยาที่เลี่ยงความผิด กิริยาที่หลบความผิด กิริยาที่ซ่อนความชั่ว กิริยาที่พรางความชั่ว กิริยาที่บังความชั่ว กิริยาที่ปกปิดความชั่ว ความทำให้ลับ ความไม่เปิดเผย กิริยาที่คลุมความผิด กิริยาที่ชั่ว นี้เรียกว่าความลวง.
ว่าด้วยการเล่น ๒ อย่าง คำว่า ความหัวเราะ ความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมหัวเราะเกินประมาณจนฟันปรากฏ. สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหัวเราะเกินประมาณจนฟันปรากฏนี้เป็นกิริยาของเด็ก ในอริยวินัย ชื่อว่า การเล่น ได้แก่การเล่น ๒ อย่าง คือ การเล่นทางกาย ๑ การเล่นทางวาจา ๑. การเล่นทางกายเป็นไฉน? ชนทั้งหลายย่อมเล่นช้างบ้าง เล่นม้าบ้าง เล่นรถบ้าง เล่นธนูบ้าง เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตาบ้าง เล่นหมากรุกแถวละ ๑๐ ตาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนบ่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่นฟาดให้เห็นรูปต่างๆ บ้าง เล่นสกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อยๆ บ้าง เล่นหกคะเมนบ้าง เล่นกังหันบ้าง เล่นตวงทรายบ้าง เล่นรถน้อยๆ บ้าง เล่นธนูน้อยๆ บ้าง เล่นเขียนทายกันบ้าง เล่นทายใจกันบ้าง เล่นเลียนคนขอทานบ้าง นี้ชื่อว่าการเล่นทางกาย.
การเล่นทางวาจาเป็นไฉน? เล่นตีกลองปาก เล่นพิณพาทย์ปาก เล่นรัวกลองด้วยปาก เล่นผิวปาก เล่นกะเดาะปาก เล่นเป่าปาก เล่นซ้อมเพลง เล่นโห่ร้อง เล่นร้องเพลง เล่นหัวเราะกัน นี้ชื่อว่าการเล่นทางวาจา.
ว่าด้วยเมถุน ชื่อว่าเมถุนธรรม ได้แก่ธรรมของอสัตบุรุษ ธรรมของชาวบ้าน ธรรมของคนเลว ธรรมชั่วหยาบ ธรรมมีน้ำชำระเป็นส่วนสุด ธรรมที่ทำในที่ลับ ธรรมเป็นความถึงพร้อมแห่งคนคู่ๆ กัน. เพราะเหตุไรบัณฑิตจึงกล่าวว่า เมถุนธรรม. ธรรมของคนคู่กันผู้กำหนัด กำหนัดนัก ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน เพราะเหตุดังนี้นั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่า เมถุนธรรม. คนสองคนทำความทะเลาะกัน เรียกว่าคนคู่กัน, คนสองคนทำความหมายหมั้นกัน เรียกว่าคนคู่กัน, คนสองคนทำความอื้อฉาว เรียกว่าคนคู่กัน, คนสองคนทำความวิวาทกัน เรียกว่าคนคู่กัน, คนสองคนก่ออธิกรณ์กัน เรียกว่าคนคู่กัน, คนสองคนพูดกัน เรียกว่าคนคู่กัน, ฉันใด ธรรมของคนคู่กันผู้กำหนัด กำหนัดนัก ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้ง ๒ คน เพราะเหตุดังนี้นั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่า เมถุนธรรม ฉันนั้น.
ว่าด้วยการประดับ ๒ อย่าง ชื่อว่าการประดับ ได้แก่การประดับมีอยู่ ๒ อย่าง คือ การประดับของคฤหัสถ์ ๑ การประดับของบรรพชิต ๑. การประดับของคฤหัสถ์เป็นไฉน? การแต่งผม การแต่งหนวด การทัดดอกไม้ การประพรมเครื่องหอม การย้อมผิว การแต่งเครื่องประดับ การแต่งเครื่องแต่งตัว การนุ่งห่มผ้าสวยงาม การประดับข้อมือ การทรงผ้าโพก การอบตัว การนวดตัว การอาบน้ำ การดัดตัว การส่องกระจก การแต้มตา การสวมพวงดอกไม้ การทาปาก การเจิมหน้า การผูกข้อมือ การเกล้าผม การใช้ไม้เท้า การใช้ทะนาน การใช้ดาบ การใช้ร่ม การสวมรองเท้าที่งาม การสวมเขียงเท้า การติดกรอบหน้า การปักปิ่น การใช้พัด การนุ่งห่มผ้าขาว การนุ่งห่มผ้าชายยาว นี้ชื่อว่าการประดับของคฤหัสถ์.
การประดับของบรรพชิตเป็นไฉน? การตบแต่งจีวร การตบแต่งบาตร หรือการตบแต่ง การประดับ การเล่นสนุกในการประดับ การเพลินในการประดับ การปรารถนาในการประดับ ความชอบในการประดับ กิริยาที่ประดับ ความเป็นแห่งการประดับ ซึ่งกายอันเปื่อยเน่านี้ หรือบริขารทั้งหลายอันเป็นภายนอก นี้ชื่อว่าการประดับของบรรพชิต.
คำว่า พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความลวง ความหัวเราะ การเล่น เมถุนธรรมอันเป็นไปกับด้วยการประดับ ความว่า พึงละเว้น บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความเกียจคร้าน ความลวง ความหัวเราะ การเล่น เมถุนธรรมอันเป็นไปกับด้วยการประดับ คือ ทั้งบริวารทั้งบริภัณฑ์ ทั้งบริขาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความลวง ความหัวเราะ การเล่น เมถุนธรรมอันเป็นไปกับด้วยการประดับ. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสว่า “ภิกษุไม่พึงทำความหลับให้มาก พึงมีความเพียร ซ่องเสพความเป็นผู้ตื่น พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความลวง ความหัวเราะ การเล่น เมถุนธรรม”
พระที่ไม่ได้ฝึกนี่หายนะ ไปพากันเล่นโทรศัพท์ พากันดูโทรทัศน์ พวกนี้เสียหายเอาเเต่รู้เเต่เรื่องภายนอก อย่างนี้เสียหาย ให้พากัน เข้าใจว่าตัวเองผิดพลาด ตัวเองเสียหาย ให้พากันมีสติมีสัมปชัญญะ ไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิ อย่าไปติดมัน พวกหนัง พวกละคร ข่าวการเมือง เรื่องชาวบ้านพวกนี้มันไม่จบหรอก เรามีอวิชชาเรามีความหลง เมื่อมีความหลงเเล้วก็มีความอยาก มันมีความหลงไม่หยุดก็เพราะเราให้อาหารมัน มันตามไปเรื่อย ตามไปจนเราหมดลมหายใจไม่ได้ เราต้องรู้จัก มาบวชไม่ได้ประพฤติปฏิบัติอะไร มาเปลี่ยนจากบ้านมาอยู่วัดเฉยๆ โกนผมห่มผ่าเหลือง ไม่เป็นไรเราอยู่วัดบ้านอยู่วัดป่าก็ปฏิบัติพอๆ กันนั้นเเหละ เพราะเรามันโชคไม่ดี บวชมาเเล้วได้มาอยู่วัดี่ไม่มีครูบาอาจารย์ เราต้องรู้ว่า ต้องพากันช่วยเหลือตัวเองนะ ครูบาอาจารย์นั้นก็หายาก เราอยู่วัดปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านบังคับเรา ท่านเคร่งครัด ถึงเเม้ขนาดนั้น มันก็ไม่ได้เป็นเหมือนอาจารย์ ดูตัวอย่างวัดที่มีครูบาอาจารย์ระดับโลก เมื่อครูบาอาจารย์ละธาตุละขันธ์ไปนิพพาน วัดนั้นก็เปรียบเสมือนวัดร้าง เช่น ท่านเจ้าคุณพุทธทาสลาละสังขาร จะหาใครเหมือนท่านเจ้าคุณพุทธทาสก็ไม่มี วัดมันก็มีอยู่ มีกุฏิ มีวิหาร มีอะไรทุกอย่าง เเต่ว่าเมื่อไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ มันก็เศร้าหมอง หลวงปู่มั่นท่านก็ดี ยุคของหลวงปู่มั่นมันเป็นขาขึ้น กุฏิอยู่กระต๊อบ กุฏิมุงหญ้ามุงจาก พระท่านก็อยู่ได้ระดับนึง ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติท่านได้เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ เมื่อท่านนิพพานไปเเล้ว วัดก็คือวัดร้าง คือร้างจากมรรคผล ร้างจากพระนิพพาน เกือบทุกวัดเลยในประเทศไทย หรือในโลกนี้ เพราะเราไม่ได้ต่อยอด เหมือนเค้าพัฒนาวิทยาศาตร์ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ความขลังค์ความศักดิ์สิทธิ์เป็นของพระพุทธเจ้า เป็นของพระอรหันต์ เป็นของครูบาอาจารย์ พวกนี้เลยพากันมากินขะ พากันมากินของครูบาอาจารย์เฉยๆ พากันมาบริโภคอวิชชา มาบริโภความหลงกัน วัดหลวงตามหาบัว วัดหลวงพ่อชา วัดหลวงปู่เเหวน หลวงปู่อะไรต่างๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ
ผู้ที่ปฏิบัติในที่ไม่มีครูบาอาจารย์มุ่งมรรคผลพระนิพพานมันก็ได้อยู่ ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในวัด เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ท่านเจ้าคุณนรฯ หลวงพ่อเจ้าคุณพุทธทาส เป็นต้น เราจะเอาความสุขแค่ระดับโลกียะนี้ไม่ได้ ระดับเป็นมนุษย์รวยหรูหรา เหมือนประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เค้าเป็นอยู่ เราไม่ได้จนเเบบไม่มีอะไร เราต้องพัฒนาอย่างเสียสละ เเล้วพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้หรอก เอารวยเเบบที่ดูหนังฟังเพลง เที่ยวในกามคุณ กามรมณ์ ดื่มเหล้าดื่มเบียร์ พวกนี้ถือว่าไม่ได้รับความสำเร็จในชีวิต ความคิดอย่างนี้ต้องพากันคิดใหม่ พระพุทธศาสนาที่เเท้จริง คือวิทยาศาสตร์ ที่เหนือวิทยาศาสตร์คือ เรามีความสุข มีความสบายเเล้ว เราไม่หลง พวกหัววิทยาศาสตร์เค้าเลยไม่เชื่อศาสนา เพราะศาสนาไปสอนงมงาย สอนเเต่เรื่องอภินิหาร สอนเเต่เรื่องนรก สอนเเต่เรื่องสวรรค์ที่เรามองไม่เห็น เพราะคนที่สอนยังไม่รู้ความเป็นจริงประการหนึ่ง ก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวผู้สอนเอง นักวิทยาศาสตร์ถึงยอมรับไม่ได้ เมื่อเราเน้นที่ใจ เน้นที่สิ่งเรานี้มันจะไม่มีความสงสัยหรอก เพราะสัมมาทิฏฐิมันจัดการระบบความคิดอย่างนี้ไปในตัว นักวิทยาศาสตร์ต้องมาศึกษาเรื่องจิตเรื่องใจพร้อมทั้งหลักวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน เราไม่ต้องไปหลงความคิด ไปหลงอารมณ์ไปเรื่อย