แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๔๒ วิธีทำบุญอย่างชาญฉลาด และลักษณะของผู้มีบุญที่แท้จริง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ธรรมะเปรียบเสมือนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เป็นถนนที่ดีที่สุดในโลก ถ้าเราออกจากธรรมแล้วก็ แสดงว่า เราเป๋แล้ว ทุกๆ คนต้องสมาทานไว้ในใจเลย ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่คิด เราจะไม่พูด เราจะไม่ทำ เราต้องขยัน เพราะความขยันนี้คือ ความสุข เรารับผิดชอบนี้คือ มีความสุข ทำให้มันออกมาชัดเจน ด้วยใจด้วยเจตนา เป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอนต่อพระนิพพาน ไม่ไปที่อื่น ศีลกับธรรม คือชีวิต ชีวิตคือศีลคือธรรม ถ้าเราตั้งใจและมีเจตนาอย่างนี้มันก็ง่าย เราได้ตั้งสินใจแล้ว เราได้ปลงใจแล้ว เราได้วางธาตุวางขันธ์ วางภาระหนัก ให้ขันธ์เป็นขันธ์บริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ ความปรุงแต่งหมดไป ยังไม่หมดก็เป็นเรืองกำลังเจริญมรรค ต้องวางใจไว้อย่างนี้
ธรรมะแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ มันก็อยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่เจตนา ตัวเราไม่มี บุคคลไม่มี มีแต่ธรรมะ เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า พรหมจรรย์ อย่างต้น อย่างกลาง อย่างละเอียด มันต้องไปตามทางที่ตั้งใจไว้ชอบอย่างนี้ เราไม่ต้องไปอาลัยอาวรณ์ อย่าไปไขว้เขว ให้มีความสุขในการเสียสละ ทุกอย่างมันจะอยู่ที่ปัจจุบัน เราต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน จนกว่าเราจะถึงที่สุดแห่งความทุกข์ คือ พระนิพพาน ถ้าเราเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นที่ตั้ง มันจะระเบิดวัฏฏะสงสารไปในตัว มันจะทำลายภพชาติไปในชีวิตประจำวัน การประพฤติการปฏิบัติมันก็ทำให้กิเลสลดน้อยลง เพราะมันขึ้นอยู่ที่เราตั้งใจไว้ชอบ
เหมือนกับผู้ที่มาบวชสมาทานไว้ว่าจะฉันมื้อเดียว ตั้งใจไว้ชอบ เมื่อใจนี้วาง ใจนี้ปล่อยแล้ว มันก็ไม่หิวข้าว เพราะใจนี้วางไปแล้ว เรื่องโลกธรรม เขานินทาสรรเสริญ มันก็ไม่มีอะไร มันก็ไม่ระแคะระคายเรา เพราะใจของเราไม่ชอบแล้ว เพราะมีความแข็งแรงแข็งแกร่งทางจิตใจ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ใช่จะไม่มีปัญญานะ ปัญญาจะยิ่งมีในปัจจุบันเรื่อยๆ ยิ่งเปลี่ยนฐานจากสามัญชนเป็นพระอริยเจ้า เราก็ยิ่งฉลาดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าจิตใจภูมิธรรมของเราเป็นสกทาคามี เราก็ยิ่งฉลาดขึ้น ถ้าเราเป็นอนาคามี เราก็ยิ่งฉลาดขึ้น เพราะว่ามันเป็นปัจจุบันธรรมชัดเจนขึ้น เมื่อเราเดินไปยังไม่ถึง เราก็อย่าไปสงสัย เพราะปลาก็ไม่รู้เรื่องของนกหรอก นกก็ไม่รู้เรืองของปลาหรอก มันจะเป็นปัจจุบันธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้จะรู้ได้เฉพาะตน ยิ่งเราประพฤติปฏิบัติไป เราจะยิ่งรู้จักพระพุทธเจ้ามากขึ้น ว่าพระพุทธเจ้าทำไมท่านประเสริฐแท้ สุดยอดแท้
ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ ไม่ตั้งมั่นอย่างนี้ เราเป็นพระภิกษุต้องอาบัติเยอะ ถ้าใจตั้งมั่นในพระธรรมในพระวินัย ก็ไม่มีอาบัติ พวกที่ตามใจตามอารมณ์ คือพวกอาบัติ นั่งก็ต้องอาบัติ คิดไปเรื่อยในสิ่งที่ไม่ดี มันไม่มีความตั้งมั่น จะยืนเดินนั่งนอน มันต้องแต่อาบัติ มันคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี วันนึงมันต้องแต่อาบัติ มันจะไปพระนิพพานได้ยังไง เพราะมันไม่ได้ตั้งมั่น ไม่ได้ตั่งในไว้ชอบ ความตั้งใจมั่นชอบหมายถึง มีสัมมาทิฐิ ไม่ได้ชอบอย่างโลกๆ ถ้าชอบอย่างนั้นเรียกว่ามีมิจฉาทิฏฐิ คำว่าชอบนี้ก็ยังเป็นกลางๆ อยู่ ถ้าตั้งใจชอบในพระธรรมวินัย ถ้าชอบธรรมดายังเป็นโลก เป็นวัฏฏะสงสาร เป็นโลกีย์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ว่า "กตเม จตฺตาโร ธมฺมา พหุการา ฯ จตฺตาริ จกฺกานิ ปฏิรูปเทสวาโส สปฺปุริสูปสฺสโย อตฺตสมฺมาปณิธิ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ฯ อิเม จตฺตาโร ธมฺมา พหุการา ฯ
ธรรม ๔ อย่างที่มีอุปการะมากเป็นไฉน คือ จักร ๔ ได้แก่ การอยู่ในประเทศอันสมควร การคบสัตบุรุษ การตั้งตนไว้ชอบ และความเป็นผู้มีบุญที่ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อน ธรรม ๔ อย่างนี้ มีอุปการคุณมาก"
คนไทยหายใจเข้าออกเป็นบุญ นึกถึงการทำบุญอยู่เสมอ ขาดบุญไม่ได้ แต่มักไม่เข้าใจความหมายของ "บุญ" อย่างเช่นเวลาพูดว่า "ทำบุญทำทาน" เรามักเข้าใจว่า ทำบุญ คือ ถวายข้าวของแก่พระสงฆ์ ส่วนทำทาน คือ ให้ข้าวของแก่คนยากคนจน และยังเข้าใจจำกัดแต่เพียงว่าต้องทำกับพระสงฆ์เท่านั้นจึงจะเป็นบุญ
บุญ แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด หรือ คุณสมบัติที่ทำให้บริสุทธิ์ คำว่า "ทาน" แปลว่า การให้ การสละ การเผื่อแผ่แบ่งปัน จะมอบของให้ใคร หรือจะถวายของให้ใครก็เป็นบุญทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่าได้บุญมากบุญน้อยเท่านั้นเอง
ฉะนั้น เวลาพูดว่า ไปทำบุญทำทาน จึงหมายความว่าไปชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการแบ่งปันสิ่งของ (ทานมัย) ซึ่งเป็นการแบ่งปันให้ใครก็ได้ และการทำบุญก็ไม่ได้มีความหมายแคบๆ แต่เพียงแค่การให้ทานบริจาคสิ่งของ แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
บุญ มาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า "ปุญญะ" แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ บุญเป็นเครื่องจำกัดสิ่งเศร้าหมองที่เรียกว่า กิเลส ดังนั้นการทำบุญจึงเป็นการช่วยลดละเลิกความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีใจคับแคบ ตระหนี่ถี่เหนียว หวงแหน ยึดติดลุ่มหลงในวัตถุสิ่งของ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของความทุกข์ให้ออกไปจากใจ ทำให้ใจเป็นอิสระ พร้อมจะก้าวต่อไปในคุณความดีอย่างอื่น หรือเปิดช่องให้นำเอาคุณสมบัติอันดีงามอื่นๆ มาใส่เพิ่มเติมแก่ชีวิต เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น
ขณะเดียวกันบุญก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะน่าบูชา คนที่ทำบุญมักเป็นคนน่าบูชา เพราะเป็นบุคคลผู้มีคุณธรรม มีความดี บุญทำให้เกิดภาวะน่าบูชา แก่ผู้ที่ทำบุญสม่ำเสมอและเมื่อได้ทำบุญแล้ว จิตใจก็อิ่มเอิบเป็นสุขที่ประณีตลึกซึ้งขึ้นไป เป็นความสุขที่ยั่งยืนยาวนาน และเป็นความสุขที่สงบประณีต
ท่านพุทธทาสภิกขุสอนเรื่องการทำบุญ เปรียบเหมือนเลี้ยงไก่
เราต้องทำบุญชนิดที่เป็นบุญ คือต้องเลี้ยงไก่ ไข่ออกมาแล้ว ต้องเอาไข่นั้นไปใช้เป็นเครื่องดับทุกข์ ให้เกิดความเยือกเย็น เป็นนิพพานขึ้นมาให้ได้ ไข่ของไก่คือเรื่องความเย็นในนามว่า “นิพพาน” ทำไม ท่านพุทธทาสภิกขุสอนเรื่องการทำบุญ เปรียบเหมือนเลี้ยงไก่ ?
บุญ = ล้างบาป เรื่องทำบุญนี้ก็ต้องระวังอีก อย่าทำบุญเป็นการค้ากำไรเกินควร นี่ดูหนาหูหนาตามาก ทำบุญแบบค้ากำไรเกินควรนี้ คือทำบุญบาทหนึ่ง เอาวิมานหลังหนึ่งก็มี หลายหลังก็มี ทำบุญตักบาตรช้อนเดียว จะให้เกิดสวยเกิดรวยอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีธนบัตรใบเดียวทูนหัวกันหลายคน ส่งกันแล้วส่งกันอีก นั่นมันค้ากำไรเกินควร ไม่ใช่เรื่องทำบุญ เพราะว่าทำบุญนี้เขาจะทำเพื่อล้างบาป ทีนี้ถ้าปรารถนามากเกินไปอย่างนั้นมันกลับเพิ่ม เพิ่มโลภะ โทสะ โมหะ เพิ่มอะไรเข้าอีก มันไม่ใช่ล้างบาป
บุญ = น้ำโคลน ทีนี้ทำบุญนี้มันมีหลายชั้น หรือว่าล้างบาปมันก็มีหลายชั้น เช่นเราจะล้างเท้าอย่างนี้ เอาน้ำโคลนล้างก็ได้ คิดดูให้ดีเท้ามันสกปรกด้วยมูลสุนัขด้วยอะไรนี้ เราเอาน้ำโคลนล้างก็ยังได้แต่มันไม่ใช่เป็นการล้างที่ดี
ทำบุญกันเดี๋ยวนี้เป็นบุญเหมือนน้ำโคลนนี้มีมากคือเอาเรื่องบุญ เรื่องวัดที่บังหน้า ไปทอดกฐินนี้ก็เพื่อไปเล่นไฟ ไปกินเหล้า ไปทำอะไรหลาย ๆ อย่างนี้ นี้มันเป็นเรื่องว่าทำบุญเหมือนกับน้ำโคลน มันแทบจะไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องล้างบาป แท้จริงแล้วบุญนี้ก็ต้องล้างบาป
บุญ = น้ำหอม ทีนี้ทำบุญเหมือนกับน้ำหอม นี้ก็คือหวังมากเกินไป เชื่อว่าทำถูกต้อง ทำอะไรหวังมาก หวังในด้านดีมากเกินไป เชื่อว่าทำถูกต้อง ทำอะไรหวังมาก หวังในด้านดีมากดีมากเกินไป ชื่นอกชื่นใจอย่างหลงใหล ไปขายบ้านขายเรือนมาทำบุญหมดเลยก็มี นั้นบุญเปรียบด้วยน้ำหอม
บุญ = น้ำสบู่ ถ้าทำบุญถูกต้องมันก็ต้องเหมือนกับสบู่ ดู ๆ แล้วไม่น่าสนใจเลย น้ำสบู่ หรือผงซักฟอก หรือน้ำด่าง อย่างที่มันล้างอะไรได้จริง แล้วน้ำสะอาดในที่สุด นี่เราต้องทำบุญเหมือนอย่างนี้ คือทำบุญเพื่อจะขัดเกลา ขูดเกลา ความยึดมั่นคือมั่นว่าตัวเราว่าของเรานี้ ให้จางออกไป ให้จางออกไป จนสะอาด นี่เรียกว่าทำบุญเหมือนกับน้ำสบู่
นี่ทบทวนว่าทำบุญเหมือนน้ำโคลน แล้วก็ทำบุญเหมือนกับน้ำหอม แล้วก็ทำบุญเหมือนกับน้ำสบู่ นี่แหละไปเลือกเอาเอง แต่รวมความแล้วก็ว่าต้องให้มันล้างบาป เรื่องทำบุญให้เหมือนน้ำสบู่ คงจะเห็นด้วยว่าเป็นบุญแน่ แต่แล้วก็ให้รู้จักใช้สบู่ให้ถูมันทั่วๆ อย่าเหมือนกับเด็กๆ ใช้ ให้ถูสบู่ก็ถูแต่ที่ท้องที่พุงนิดเดียว เคยเห็นคนที่ทำบุญ ก็มักจะมีอาการเหมือนอย่างนี้เหมือนกัน ฉะนั้นควรจะล้างให้ทั่วๆ ตัวให้รู้จักใช้สบู่ล้างให้ทั่วๆ ตัว อย่าให้เหมือนทารกที่รู้จักล้างแต่ที่ท้อง ลูบแล้วลูบอีก แล้วก็เลิก
อย่าให้หมากินไข่ รวมความแล้วก็คือว่า ขออย่าได้โปรดปล่อยทายก ทายิกา ไปตามบุญตามกรรม ให้ทำบุญชนิดที่ไม่เป็นสบู่นี้ ขอให้เลื่อนชั้นขึ้นมา เลื่อนชั้นขึ้นมา ให้เป็นการทำบุญที่ล้างบาปได้ ตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนา
นี่อุปสรรคข้อสุดท้ายที่ว่าเราต้องระวังในการเผยแผ่พุทธศาสนาก็ว่าอย่ามัวแต่เลี้ยงไก่ไว้ไข่ แล้วปล่อยให้สุนัขกิน ขอให้สนใจเรื่องที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา
ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย.
ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้, พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น, เพราะว่า ความสั่งสมบุญทำให้เกิดสุข.
ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ
๑. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทาน เป็นการช่วยขัดเกลา ความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไป ก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคล หรือชุมชนโดยส่วนรวม
๒. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิก ความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ
๓. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนา เป็นการพัฒนาจิตใจ และปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น
๔. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิดความเชื่อ และวิถีปฏิบัติ ของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย)
๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย)
๖. เปิดโอกาสให้คนอื่น มาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงาน ก็เปิดโอกาสให้คนอื่น มีส่วนร่วมทำ - ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญ ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย)
๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี (หรือทำบุญ) ของผู้อื่น เป็นการเปิดโอกาสร่วมใจอนุโมทนา ในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)
๘. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย)
๙. แสดงธรรม ให้ธรรมะ และข้อคิดที่ดี กับผู้อื่น แสดงธรรม นำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)
๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้อง และเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น - ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญก็เป็นบุญ (ทิฏฐุชุกรรม)
ทิฏฐุชุกรรม หรือ สัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิด และทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้นๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง
โดยสรุปแล้ว ปุถุชนคนเราทำบุญก็เพื่อ "ตัวเอง"
แต่คงดีกว่าถ้าเราทำบุญเพื่อ "พัฒนาจิต"
และคงดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราทำบุญเพื่อพัฒนา "สติปัญญา" ไปด้วย
และคงดีที่สุด ถ้าเราช่วยกันทำบุญทุกรูปแบบ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) เพื่อช่วยเหลือสังคมให้สงบสุข และดีไปด้วยพร้อมๆ กัน
๙ นิสัยของคนมีบุญมาก มีบุญสอนตนเองได้ เพราะมีกำลังบุญที่มากพอจิตของผู้มีบุญ
๑. ไม่บ่น เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นปัญญา ทำให้ยอมรับต่อความเป็นจริงของชีวิต ทำให้รู้เห็นและเข้าใจถึงระดับวาสนาของตนและบุคคลอื่น ความเป็น ไปของชีวิตนั้นขึ้นตรงต่ออำนาจบุญกรรมที่ทำไว้ บ่นไปก็แค่นั้นเอง ที่ได้มา ที่มีอยู่ ที่เสียใจ ที่ไม่ได้ดั่งใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น มันคือ “ผลแห่งกรรม” อันเป็นสมบัติของเราเอง
๒. ไม่กลัว เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความเข้มแข็ง กล้าหาญ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะมีความมั่นใจในความเป็นผู้บริสุทธิ์ ความเป็นผู้มีบุญของตน เมื่อจะคิด จะทำอะไรลงไป ล้วนมีกำลังบุญมารองรับทั้งหมดทั้งสิ้น
๓. ไม่ทำชั่ว เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นตัวควบคุม บริหารจัดการ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้เกิดความกลัว ความละอายต่อบาป ต่อกรรม ความผิดน้อยใหญ่ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เห็นถึงความเสียหาย หลายภพหลายชาติ เห็นถึง ผลกระทบต่อครอบครัว ต่อโลกต่อสังคม อย่างมากมายมหาศาล
๔. ไม่คิดมาก เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้เกิดพลังแห่งความสงบ แห่งจิตแห่งใจ ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่คิดเป็นทุกข์ ความคิดทุกความคิด ล้วนนำมาซึ่งความเบิกบานกายใจ ไม่คิดเบิกความทุกข์ มาใช้ก่อน
๕. รอได้ คอยได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความใจเย็น มีความยืดหยุ่น ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่ใจร้อน ใจเร็ว เห็นถึงจังหวะ และโอกาสของชีวิต
๖. อดได้ ทนได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นพลังงานเข้มแข็ง ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้มีความอดทน ที่เป็นหนึ่งเป็นเลิศ มีความคิดที่ไม่หวั่นไหว เห็นความสำเร็จทุกชนิดมาจากความอดทน อดทนอย่างมีความสุข
๗. สงบได้ เย็นได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะเป็นสภาพให้เป็นคนที่สงบได้ เย็นได้ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่เป็นคนที่ร้อนรน กระวน กระวาย สับส่าย วุ่นวาย ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ในสิ่งกำลังจะเกิดขึ้น แม้จะตกอยู่ใน เหตุการณ์ที่เลวร้าย ก็ทำใจได้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
๘. ปล่อยได้ วางได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นคนที่รู้จักการละ การวาง ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่เป็นคนที่แบกทุกอย่างที่ขวางหน้า ยึดทุกอย่างที่เกิดขึ้น
๙. รู้ได้ ตื่นได้ และเบิกบานได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความรู้ตื่น เบิกบาน ตามกำลังของบุญฤทธิ์ เป็นผู้รู้ ต่อความ เป็นจริงของชีวิต ไม่ปล่อยชีวิตให้ตกไปในกระแสของความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตใจมีความอิสระเต็มที่ ทุกวันทุกเวลาทุกนาที
มีบทความ คนมีบุญมากคือใคร?
คนที่มีบุญมาก คือคนที่สบายใจง่าย อยู่ที่ไหน ในเวลาใด ก็สุขง่าย ทุกข์ยาก มีแต่ความเบาจิตเบาใจ ปลอดโปร่งโล่งสบาย ท่านล่ะเป็นเช่นว่าหรือยัง คนที่สามารถจ่ายค่าอาหารแพงๆ ในร้านดีร้านดัง แต่ยังปล่อยให้ตัวเองหงุดหงิดกับบริการ หรือเรื่องอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ อาจเรียกได้ว่าเป็นคนมีสตางค์มาก แต่ยังไม่ใช่คนมีบุญมากจริงๆ
คนที่มีบุญมากจริงๆนั้น มักจะอยู่ง่ายกินง่าย ปรับตัวได้ง่าย ไม่ค่อยถือสาอะไรมากมายให้เป็นทุกข์ อะไรที่เป็นทุกข์ก็เพียงรู้ว่าเป็นทุกข์ แต่ไม่นำทุกข์มาแบก
คนที่มีบุญมากจริงๆ มักไม่ค่อยถือตัวถือตน เข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนถาวร มีเกิดแล้วตั้งอยู่ ในที่สุดก็ดับไป มีความรู้สึกปล่อยวางมากกว่าเอามาแบกทับถมตัวเองให้เป็นภาระหนักตลอดเวลา
คนที่มีบุญมากจริงๆ มักไม่คิดว่าตนเองพิเศษอะไรกว่าใคร ในทางตรงกันข้าม เขาจะรู้สึกขอบคุณเวลาที่ใครทำอะไรให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จนรู้สึกว่าตนเองเป็นคนโชคดี แม้ถึงคราวที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ใดๆที่ไม่ดี ก็ยังเห็นเป็นบทเรียน หรือยังพอเห็นด้านดีได้อยู่ หรือมักมองเห็นด้านบวกได้เสมอ
คนที่มีบุญมากจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพียบพร้อม หรือดีพร้อม ถึงกระนั้นเขาก็ไม่รู้สึกต่ำกว่า หรือสูงกว่าใคร ดีกว่าใคร หรือเลวกว่าใคร ฉลาดกว่าใคร หรือโง่กว่าใคร เพราะเขาให้เกียรติความเป็นคนของทุกคน รวมทั้งตนเอง จึงไม่นำตนเองไปเปรียบเทียบกับใคร หรือนำใครมาเปรียบเทียบกับตนเอง ถึงกระนั้นเขาก็ยินดีรับฟังคำแนะนำจากผู้อื่น โดยไม่หลงเป็นเหยื่อคำสรรเสริญและคำนินทา
คนมีบุญมากจริงๆ มองไปที่ไหน เมื่อใด ได้ยินอะไร ก็สบายอกสบายใจ เพราะเข้าใจความเป็นเช่นนั้นเองของทุกๆชีวิต เห็นคนได้ดี ก็รู้ว่าเขาคงเคยทำสิ่งดีๆมาก่อน เห็นคนลำบากที่พอช่วยเหลือได้ ก็ช่วยไปตามกำลัง อะไรที่เกินกำลังก็ไม่ปล่อยให้ตนเองว้าวุ่น กังวล ทุกข์ร้อนใจไปกับสิ่งนั้น เข้าใจดีว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง มีกรรมเป็นมรดก แต่ละคนย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ตนได้เคยกระทำ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี ละอายชั่ว กลัวบาป ทำสิ่งที่ดีๆ หาเวลาทำจิตให้ผ่องใสด้วยการมีสติในการปฏิบัติธรรม โดยทำในที่ใดๆก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัด หรือที่สำนักปฏิบัติธรรมใดๆ ทำที่บ้านก็ได้ ทำได้ในทุกแห่งด้วยความมีสติในปัจจุบันขณะ
ผู้ที่มีบุญเก่า บุญเก่าก็คือปัจจุบันนี้ เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบันนี้ เหมือนที่ว่าเดินไปที่ละก้าว ทานข้าวไปที่ละคำ เดี๋ยวอีกหลายเดือนข้างหน้า ตรงนี้ก็จะเป็นบุญเก่า มันเดินไปด้วยอย่างนี้ ที่เราเกิดมาเป็นล้านๆชาติก็แก้ไขไม่ได้ ให้เน้นที่ปัจจุบัน เข้าอริยมรรคมีองค์ 8 ในที่ปัจจุบัน เดี๋ยวอดีตมันก็จะดีขึ้น แล้วเราก็เป็นผู้ที่มีบุญเก่า อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิด เน้นที่ปัจจุบัน แล้วทุกอย่างก็จะดี เพราะอดีตแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เน้นที่ปัจจุบัน
การปฏิบัติเน้นที่ปัจจุบัน เพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ การปฏิบัติเน้นที่ปัจจุบัน เอาทั้งศีล เอาทั้งสมาธิ เอาทั้งปัญญามาใช้ที่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่ปฏิบัติตอนนี้ ไม่มีการปฏิบัติ ก็ต้องเน้นให้เกิด ถ้างั้นเป็นอันว่าเราประมาท เราปล่อยโอกาสเวลาให้ผ่านไป โดยที่ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ปฏิบัติ ก็เป็นโมฆบุรุษ
คนเราจะเก่งฉลาด เป็นธรรม มีคุณธรรม อยู่ที่ตรงนี้เอง ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เราต้องเสียสละ เพราะอนาคตอยู่ที่ปัจจุบัน จะเป็นฐานให้เราก้าวไป เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ปัจจุบันเราถึงมีสติมีสัมปชัญญะ มีทั้งศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบัน มันถึงทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ได้ ต้องมีพระพุทธเจ้า ต้องมีพระธรรม มีพระอริยสงฆ์ไปอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าเราทำอย่างนี้ก็เป็นของง่ายขึ้น แล้วก็ปฏิบัติได้ ถ้าใจเราจะเข้มแข็งมันจะเข้มแข็งตอนนี้แหละ ถ้าใจเราตั้งมั่น มันตั้งมั่นตอนนี้แหละ เราจะปล่อยให้ความเคยชินไปตามอัธยาศัยไปไม่ได้ เพราะธรรมะเป็นธรรมะ มันไม่ได้เป็นอย่างอื่น ทุกคนถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี ต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ยิ่งปฏิบัติไปมันก็เลื่อนตำแหน่งไป ตามที่เราประพฤติตามที่เราปฏิบัติไป เพราะว่ามันจะสัปปายะ หรือไม่สัปปายะ มันอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติของเรา คนเราไม่มีใครปฏิบัติให้ใครได้ เพราะว่าเราก็ต้องหายใจของเราเอง คนเราจะปล่อยให้ตัวเองคิดผิดไม่ได้ ปล่อยให้ตัวเองมีอัตตาตัวตนไม่ได้ ต้องสละคืน ต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ มันจะชัดเจน
แต่ก่อนเราคิดว่ามันไม่สำคัญ นี้เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องพากันจับหลักตรงนี้ให้ได้ ต้องเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ในการประพฤติการปฏิบัติ แล้วปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องในปัจจุบันไปเรื่อยๆ อานาปานสติของเราต้องมีอยู่กับเราทุกอิริยาบถ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย เอาศีลเอาสมาธิ เอาปัญญามาใช่ มาประพฤติ มาปฏิบัติ มาใช้ สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงเราไป เปลี่ยนจากอวิชชาเป็นปัญญา เปลี่ยนจากดำเป็นขาว จากชั่วเป็นดี มันเป็นการสร้างเหตุสร้างปัจจัย เป็นการเปลี่ยนฐาน เปลี่ยนภพภูมิ ทีนี้เราก็จะสว่างขึ้น ทุกคนก็อย่าไปหลงขยะ หลงเปลือก หลงกระพี้ เราต้องพัฒนาสัมมาทิฏฐิ ต้องพัฒนาพระพุทธเจ้า และพัฒนาการประพฤติการปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องไปหาธรรมะที่ไหนหรอก เพราะธรรมะอยู่ในตัวของเราที่เรายังมีชีวิตยังไม่ตายนี้ เพราะถ้าเราตายแล้ว เราก็หมดเวลา
โดยธรรมชาติ ทุกชีวิตเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็ต้องทนรับทุกข์กันไป มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรรมที่ตนทำไว้ เราเวียนเกิดเวียนตายกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ถ้ามีใครสามารถเอากระดูกของเราทุกชาติมากองรวมกันเข้าก็จะสูงท่วมภูเขา ถ้าเอาน้ำตาของเราที่หลั่งไหลออกมาเพราะความทุกข์ทุกๆ ชาติมารวมกัน ก็จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก ใครสามารถเข้านิพพานได้ก่อนก็หมดทุกข์ก่อน ที่ยังอยู่ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายในทะเลทุกข์แห่งวัฏฏสงสารต่อไป
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพวกเรา แต่พระองค์ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้อง คือตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดกิเลสในตัวให้หมดโดยเร็ว แล้วนำตนเองและผู้อื่นเข้านิพพานด้วย จากนั้นก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่มานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้มีอุปสรรคหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ไม่ย่อท้อ สละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาเป้าหมายที่จะเข้านิพพานไว้ไม่ให้คลอนแคลน ในที่สุดพระองค์ก็ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกำจัดกิเลสได้หมด เข้านิพพานอันบรมสุขได้
ส่วนพวกเรามัวเที่ยวเถลไถล เกะๆ กะๆ ไม่เอาจริง ไม่ตั้งใจมุ่งมั่นในการทำความดี บ้างก็ยังไม่รู้เป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่า คือการเข้านิพพาน บ้างก็รู้แล้ว แต่เกียจคร้านประพฤติย่อหย่อน ทำๆ หยุดๆ จึงต้องมาเวียนเกิดเวียนตายรับทุกข์อยู่อย่างนี้ ฉะนั้น ถ้าใครฉลาดก็ต้องรีบแก้ไขตนเอง ตั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิตไว้ให้มั่นคงไม่ประมาทในการสร้างความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกิเลสให้หมดจะได้พ้นทุกข์เข้านิพพาน ได้รับความสุขอันเป็นอมตะตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง
“จงอย่าประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ควรใส่ใจขวนขวาย”