แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๔๑ ทำความดีสม่ำเสมอไม่ประมาท ให้เหมือนกับวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ชีวิตของเราจะเป็นชีวิตที่ดีมาก ต้องตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ที่ได้รับพระธรรมคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาบอกให้รู้จักอริยสัจสี่ เพื่อให้เห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้มาประพฤติปฏิบัติเป็นวัยสุดท้าย เราต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ภาวนา ประพฤติปฏิบัติธรรม พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ครั้งหนึ่ง องค์หลวงพ่อใหญ่ท่านได้บอกพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากับคุณแม่ชีที่เป็นหัวหน้าแม่ชีวัดแพร่ธรรมาราม ว่า “คุณแม่ป่วยครั้งนี้ไม่หายนะ อีกไม่กี่วันข้างหน้า จะได้ละสังขารลาจากหลวงพ่อไป จากลูก ศิษย์ จากญาติธรรมไป ต้องมีเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง อย่าไปคิดไม่อยากแก่ อย่าไปคิดไม่อยากเจ็บ อย่าไปคิดไม่อยากตาย อย่าไปคิดไม่อยากพลัดพราก ความคิดอย่างนี้มันไม่ถูก มันจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นคนบ้า เป็นคนหลง
ให้ปรับจิตปรับใจ ปลงสังขาร ให้มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อสติสัมปชัญญะจะได้สมบูรณ์ อย่าให้ความปรุงแต่ง อย่าให้อวิชชาความหลงมันปรุงแต่งจิตใจเรา ที่ให้เราทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปไม่รู้จบสิ้น อดีตก็ให้เราลบออกจากใจเป็นศูนย์ อนาคตไม่ต้องไปคิดอะไร ให้รู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด เพราะอนาคตก็คือปัจจุบันนี้แหละ ปัจจุบันเราคิดยังไง อนาคตก็ไปอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันมีความสุข ให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง โดยหยุดตัวเองในปัจจุบัน อย่าไปตามสัญชาตญาณ อย่าไปตามความไม่รู้ อย่าไปตามความหลง ใจของเราอย่าให้มันคิดหลายครั้ง ครั้งที่ ๑ ให้รู้ว่ามันเป็นสัญชาตญาณ รู้ผิดรู้ถูก วาระจิตที่ ๒ ก็ให้เอาใจมาภาวนาวิปัสสนา ว่าทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ สภาวธรรม ให้เรารู้จัก ให้เอาองค์ภาวนามาพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ว่าทุกสิ่งมันไม่แน่ไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นกับกายของเรากับใจของเรา ให้ใจเราได้ปฏิบัติ เพื่อใจของเราจะได้เกิดวิปัสสนา เกิดปัญญา ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ชื่อว่าร่างกายเราตายแล้ว นี่คือ เทวทูตมาบอกมาสอนเราในชีวิตประจำวัน
ให้ถือเอาวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสได้ภาวนาจิตใจ ถ้าเราตามอารมณ์ไป ตามความคิดไป ก็เท่าเราฉายหนังม้วนเก่า ดูหนังม้วนเก่านี่เอง ดูไปดูมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ มรรคผลนิพพานก็ไม่มี พระนิพพานอยู่ไม่ไกล อยู่ที่ใจของเราในปัจจุบันนี่แหละ ไม่ต้องไปตามความคิดไปตามอารมณ์ ให้กลับมามาสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน ใจของเราจะได้มีพุทโธ มีผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน จะได้หยุดโลก หยุดปรุงแต่ง เราแก่เราเฒ่า เราเจ็บ เดี๋ยวนี้เรากำลังจะตาย เราอย่าไปโง่ หลงใหลอะไรอีกต่อไป ให้ปล่อยวาง ให้ปลง หยุดก่อน พอกันที นี่คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐ”
คนเราเกิดมาถ้าไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพราก มันคืนคนบ้า คนมีอวิชชา คนมีความหลง เรายังไม่ตายถือว่าโชคดี มัจจุราชให้โอกาสเราได้ภาวนา ได้เสียสละทางจิตใจ ที่ใจเรายังไม่เสียสละ ใจมันยังอาลัยอาวรณ์
ความสุขความดับทุกข์ของมนุษย์ที่แท้จริง คือเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน ไม่ทำบาปทางใจ คือไม่หลงไหลอีกต่อไป ความสุขความดับทุกข์อยู่ที่เรามาวางของหนัก อยู่ที่เราปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในปัจจุบันนี่แหละ ไม่ได้อยู่ที่การมีเงินมีสตางค์เยอะ ไม่ใช่อยู่ที่การไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย นั่นมันเป็นความหลง คือความยึดมั่นถือมั่นของเราและบุคคลอื่น ให้รู้จักนะ มันเจ็บมันป่วยมันทรมานอย่างนี้ ก็ต้องรู้ให้ชัดเจนว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นสภาวธรรม
ทุกท่านทุกคนน่ะ ต้องกลับมาหาธรรมะ ไม่ต้องไปวิ่งตามความคิดตามอารมณ์ ให้มีศีล ๕ มีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรม เพราะการทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมก็คือการทำงาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสอริยมรรคมีองค์แปดอย่าไปคิดไปเรื่อย ปรุงแต่งไปเรื่อย อยากเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายสิ่งเหล่านั้นมีความสุขชั่วคราว เพียงชั่วครู่ชั่วยาม มันก็เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน มันเป้นอยู่อย่างนั้น ถ้าเราวิ่งไปตามอารมณ์ ตามความคิด ก็จะยิ่งโง่ มหาโง่ บรมโง่ไปอีก ถ้าเราปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ให้ถือว่าวัตถุข้าวของ ลาภ ยศ สรรเสริญ มันเป็นเพียงยารักษาโรค เป็นเพียงของใช้ชั่วคราว เราเกิดมาเราก็มายืมโลกใช้แต่เพียงชั่วคราว เราลองดูตั้งแต่ชาติก่อน ไปจนถึงชาติหน้าสำหรับโลกนี้ เราเป็นเหมือนกับแขกผู้มาเยือน ไปพบปะคนนั้น คนนี้ มีวัตถุสิ่งของอันนั้น อันนี้ ได้ใช้อำนวยความสะดวก สบาย สุดท้ายก็ต้องโบกมือลาจากกันไป ไม่ว่าจะรักหวงแหนเพียงใด จะหามายากขนาดไหน มันก็ต้องจบกันทีแต่เพียงชาตินี้ อย่าพากันหลง ถ้าหลงมันจะรวยอย่างไม่ฉลาด
การเรียนการศึกษาการทำมาหากินของเรา ถ้าไม่เอาธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ถือว่าผิดพลาดเสียหาย ลูกหลานทุกคนต้องพากัน ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อต่อยอดชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐ เราอย่าพากันตามอวิชชา ตามความหลง พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญพุทธบารมีจนได้เป็นพระพุทธเจ้า มาบอกมาสอนพวกเราแล้ว เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ความดับทุกข์หรือพระนิพพาน ไม่ได้อยู่ไกล แต่อยู่ในปัจจุบัน เราปฏิบัติให้ติดต่อต่อเนื่อง อินทรีย์ของเราก็จะแก่กล้าไปเอง เหมือนไก่ฟักไข่ตามธรรมชาติมันใช้เวลา สามอาทิตย์ ฟักไข่อย่างต่อเนื่อง ฟูมฟักอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไข่ถึงจะออกมาเป็นตัว เราเป็นคนมันต้องใช้เวลาน่าจะมากกว่าไก่ ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 คือ พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ก็อยู่ในอริยมรรคมีองค์แปดนี้
ทุกท่านทุกคนต้องปฏิบัติให้สม่ำเสมอ สมาทานไว้ ตั้งใจไว้ คนเราจะบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์อยู่ที่เราสมานทาน อยู่ที่เราตั้งใจ เราจะเดินทางไกล ก็ต้องตั้งใจ ตั้งสมาทาน เหมือนเราจะไปต่างประเทศ ต้องตั้งใจไปขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมืองเป็นต้น ขึ้นเครื่องเราถึงจะไปได้ ศีลทุกข้อ พระวินัยทุกข้อ เราถึงต้องสมาทาน ต้องตั้งใจ ศีลถึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่มีโทษไม่มีภัย ถ้าเรามีศีล สมาทานศีล 100 เปอร์เซ็นต์ นับว่าใจของเราเป็นพระวินัยแล้ว สละคืนซึ่งทิฏฐิ มานะ อัตตา ตัวตน ไม่มีตัวตนมีแต่พระธรรมวินัย มีแต่เข้าสู่กระแสพระนิพพาน ที่ท่านว่า ตกกระแสพระนิพพานนั้นแหละ
เป็นการอบรมบ่มอินทรีย์เหมือนไก่ฟักไข่นั้นแหละ สมาธิของเราจึงจะเป็นสมาธิธรรมชาติ ความตั้งในมั่นชอบโดยธรรมชาติ เป็นอุปปจารสมาธิธรรมชาติในทุกอริยาบถ ปัญญาของเราก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติ จะเห็นทุกอย่างในชีวิตประจำวันโดยเป็นไตรลักษณ์ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันก็แค่นั้นเอง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งนั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้เลย ทุกท่านทุกคนจะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญ แต่กุศล ด้วยความไม่ประมาท ชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้เป็นมนุษย์เป็นแต่เพียงคน ใจสับสนวุ่นวาย คิดทั้งดีทั้งชั่ว ผสมปนเประคนกันไปหมด ท่านพุทธทาสถึงประพันธ์เอาไว้ว่า เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง..
เพราะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้แหละ จึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์เราทุกคนถือว่าโชคดี เกิดมาถือว่าเป็นผู้ประเสริฐ ได้มาประพฤติปฏิบัติเพื่อหยุดชาติ เราลองคิดดู ถ้าเราไปเกิดเป็นหมู หมา กา ไก่ เป็นสัตว์เดรัจฉาน บนบก ในน้ำ ตัวเล็ก ตัวน้อย ไม่มีโอกาสดีๆเช่นนี้นะ มีแต่ไปเสวยทุกข์ตามวิบากกรรม วนเวียนแต่เรื่องกินเรื่องนอน เรื่องหาอาหาร เรื่องสืบพันธุ์ มันวนอยู่แค่นั้นเอง ทุกท่านทุกคนร่างกายประเสริฐแล้ว แต่ถ้ายังปล่อยใจให้มันยังสาละวน อยู่แต่กับเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เรื่องนอน วนอยู่แค่นี้มันก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน ต่างแค่เพียงร่างกาย
ทุกท่านทุกคนต้องพากันตั้งมั่นในพระธรรม คือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังก็เป็นบุญ เป็นกุศล ยิ่งได้ประพฤติปฏิบัติตามพระองค์ก็ยิ่งเป็นบุญใหญ่ มหาอานิสงส์ใหญ่ เราเวียนว่ายตายเกิด ได้ถือกำเนิดได้มาพบพานกัน ได้มาคบค้าสมาคมกันถือว่าเป็นกรรม เป็นบุญสัมพันธ์ที่ดี ถือว่าได้เกี่ยวข้องได้มารู้จักมักคุ้นกันในฐานะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เป็นภรรยา เป็นบุตรธิดา เป็นคนรู้จัก หรือเป็นญาติธรรม ล้วนแต่เป็นบุญสัมพันธ์ทั้งสิ้น เพราะบุญชักใย ชักนำมาให้เจอกัน เราจึงสมควรต้องทำดีต่อกันให้มากๆ อย่าไปทะเลาะกัน อย่าไปแตกความสมัครสมานสามัคคีกัน มันขาดทุนชีวิต มันเสียเวลาชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์ เราเกิดมาได้มาพบพานกัน ได้มาคบค้าสมาคมกัน เป็นผู้รู้จักคุ้นเคยกันที่พระพุทธตรัสว่า วิสาสา ปรมา ญาตี ความคุ้นเคยเป็นยิ่งกว่าญาติ เพราะอะไร? เพราะญาติพี่น้องกันบางคน สายเลือดเดียวกันแต่ทะเลาะกันแย่งขยะกัน แย่งทรัพย์สมบัติ แย่งที่ดิน แย่งมรดกกัน โกรธกัน อาฆาตกันถึงขนาดว่าไม่เผาผีกัน นั้นไม่นับว่าเป็นญาติเลย แต่ถึงแม้ใครมารู้กัน คุ้นเคยกัน ถึงจะไม่ได้เป็นญาติทางสายเลือดแต่มีความคุ้นเคยกันอย่างยิ่ง เป็นยิ่งกว่าญาติเสียอีก
ดังนั้นให้ถือคติธรรมที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บอก ได้สั่งสอน ได้ให้ประทีบแสงสว่าง แม้พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ก่อนพระองค์จะหมดลมหายใจก็ยังได้ดำรัสตรัสว่า "...ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ..."...สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
การมีสติอยู่ทุกเมื่อ ไม่ให้ความทุกข์ร้อนใจอันเกิดจากอำนาจกิเลสเข้าครอบงำ กล่าวคือ ความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ อัปปมาทธรรม ความไม่ประมาท คือ การมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใด ๆ ไม่ยอมถลำลงไปในทางที่เสื่อม ในการก่อสร้างอาคารจำเป็นต้องมีเสาเป็นหลักค้ำจุนตัวอาคารไว้ฉันใด ในการสร้างความดีทุกชนิดก็จำเป็นต้องมีความไม่ประมาทเป็นแกนหลักรองรับฉันนั้น ผู้ที่ไม่ประมาท คือผู้มีความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ มีการดำเนินชีวิตที่อาศัยสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัวไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสำหรับความดีงามและสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลยการทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบ และรุดหน้าเรื่อยไป
สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง ๑. ไม่ประมาทในเวลา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า "วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่" อย่ามัวเมาทำในสิ่งไร้สาระ ให้เร่งรีบทำงานให้เต็มที่แข่งกับเวลา เพราะเวลามีน้อย เมื่อกลืนกินชีวิตไปแล้วก็เรียกกลับคืนไม่ได้
๒. ไม่ประมาทในวัย มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าตัวยังเป็นเด็กอยู่ จึงเที่ยวเล่นเพลิดเพลินไปวัน ๆ เพราะถ้านับอายุตั้งแต่เกิดจนถึงบัดนี้ แต่ละคนต่างมีอายุคนละหลายหมื่นวันแล้ว
๓. ไม่ประมาทในความไม่มีโรค มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเราจะแข็งแรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้ากรรมชั่วในอดีตตามมาทันอาจป่วยเป็นโรค หรือไม่ บายเมื่อไรก็ได้เพราะฉะนั้นในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่นี้ ต้องรีบขวนขวายสร้างความดีให้เต็มที่
๔. ไม่ประมาทในชีวิต มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่สุขสบายดี เราจะยังมีชีวิตอยู่อีกนาน เพราะจริง ๆ แล้วเราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ มัจจุราชไม่มีเครื่องหมายนำหน้า จึงเร่งรีบขวนขวายในการละความชั่วสร้างความดีและทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างเต็มที่ทุกรูปแบบ ทุกโอกาส
๕. ไม่ประมาทในการงาน มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะทำงานทุกอย่างที่มาถึงมือให้ดีที่สุด ทำอย่างทุ่มเทไม่ออมมือ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ท้อถอย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
๖. ไม่ประมาทในการศึกษา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะขวนขวายหาความรู้อย่างเต็มที่อะไรที่ควรอ่านควรท่องก็จะรีบอ่านรีบท่องโดยไม่แชเชือน ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ ซึ่งจะเป็นกุญแจไขปัญหาชีวิต
๗. ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อ โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้ ไม่ใช่รอจนแก่ค่อยเข้าวัด จะฟังเทศน์ก็หูตึงฟังไม่ถนัด จะนั่งสมาธิก็ปวดเมื่อยขัดยอกไปหมด ลุกก็โอยนั่งก็โอย เมื่อระลึกได้เช่นนี้จึงมีความเพียรใส่ใจในการปฏิบัติธรรม เพราะทราบดีว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ทำให้เกิดความสุขแก่ตนทั้งโลกนี้และโลกหน้า และเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดแห่งชีวิต คือ นิพพาน
ถ้าจะให้มีการก้าวหน้าไปตามทางธรรม ก็จะต้องพิจารณาธรรม จะต้องรู้จักธรรม รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรม แล้วก็รู้ได้ว่าตนเองกำลังมีธรรมหรือไม่มี กำลังเจริญไปในทางธรรมหรือไม่มี ทีนี้จะเอาอะไรเป็นเครื่องวัด ก็ยังคงใช้เวลานั่นเองเป็นเครื่องวัด ถ้าเราก้าวหน้า เวลาก็แพ้ ถ้าเราไม่ก้าวหน้า เวลาก็ชนะ สำหรับบุคคลทั่วๆไปในประเทศไทยเรา ซึ่งถือวัฒนธรรมอินเดียมาแต่โบราณกาลนั้น ก็น่าจะได้ใช้หลัก ๔ ประการของชาวอินเดียมาเป็นเครื่องวัดดูบ้างก็ได้ นั่นคือ หลักอาศรม ๔ หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินชีวิตของชาวฮินดู เฉพาะที่เป็นพราหมณ์วัยต่างๆ โดยกำหนดเกณฑ์อายุคนไว้ ๑๐๐ ปี แบ่งช่วงของการใช้ชีวิตไว้ ๔ ช่วง ช่วงละ ๒๕ ปี ช่วงชีวิตแต่ละช่วงเรียกว่า อาศรม (วัย) อาศรมทั้ง ๔ ช่วงนี้มีอยู่ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายแบ่งเป็น ๔ วัย ดังนี้
วัยที่ ๑ เรียกว่า พรหมจารี (อัตถะ) คือ เป็นเด็กขึ้นมาจนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาว ช่วงเวลาแห่งการศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนความชำนาญทางโลก ‘พรหมจรรย์’ ที่ไม่ได้มีความหมายอย่างที่คนทั่วไปว่ากัน หากหมายถึงการประพฤติอย่างพรหม คือบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ยังไม่มีสิ่งใดมาทำให้มัวหมอง เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตพร้อมซึมซับความรู้ ประสบการณ์ พร้อมบ่มเพาะเติมโตไปในทิศทางที่ถูกหล่อเลี้ยงในช่วงนี้
วัยที่ ๒ เรียกว่า คฤหัสถ์ (กามะ) คือ เป็นผู้ครองเรือน เป็นภรรยาสามี เป็นบิดามารดา ประกอบการงานเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างเต็มที่ ช่วงเวลาแห่งการครองเรือน สร้างฐานะ อาชีพการงาน ความรับผิดชอบที่เปลี่ยนไป มีบทบาทหน้าที่เป็นเงาติดตัวตามมา มีชีวิตอื่นที่ต้องดูแลนอกเหนือไปจากชีวิตของตนเอง เป็นคฤหัสถ์ที่ดี คือเป็นสามีภรรยาที่ดีที่น่าเสื่อมใส เป็นบิดามารดาที่ดี อย่างที่เรียกว่าน่าเสื่อมใส ในเวลาอันไม่นาน ก็ถือเอาประโยชน์จากความเป็นคฤหัสถ์นั้นได้สำเร็จ คือมีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีมิตรสหายบริวารพอตัว นี้เรียกว่า ชัยชนะของคฤหัสถ์ มีอยู่อย่างนี้และเพียงเท่านี้ คือมีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีมิตรสหายที่ดีงามแวดล้อมพอตัว ไม่ต้องมีอะไรมากไปกว่านี้ก็ถึงความเต็มเปี่ยมของความเป็นคนได้ในวัยคฤหัสถ์
วัยที่ ๓ เรียกว่า วนปรัสถ์ (ธรรมะ) คือ ผู้หลีกออกหาความสงบ รู้สึกว่าพอกันทีกับเรื่องธุระการงาน ก็หลีกออกหาความสงบอยู่ ตามตัวหนังสือแปลว่าอยู่ป่า แต่ตามความหมายแปลว่า หลีกออกหาความสงบ เป็นช่วงเวลาที่ปฏิบัติตน เพื่อสังคมและประเทศ เมื่อครอบครัวเป็นปึกแผ่น และบุตรได้ออกเรือนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจะออกป่า เพื่อแสวงหาความวิเวกและฝึกจิตของตน ซึ่งอาจกระทำเป็นครั้งคราวแล้วกลับสู่เรือนก็ได้ ซึ่งคล้ายกับชาวไทยในพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อแก่เฒ่าลง ก็จะหันหน้าเข้าหาวัด ช่วงชีวิตหลังเกษียณ ส่งต่อภาระทางเรือนให้แก่ผู้คนในรุ่นถัดไป แล้วค่อยๆ ถอนตัวออกจากชีวิตทางโลก หลีกออกหาความสงบ จะหลีกออกไปอยู่ตามกอกล้วยกอไผ่ ริมบ้านริมเขตบ้านก็ได้ หรือแม้แต่จะมีห้องพิเศษส่วนตัวพักอยู่ด้วยความสงบสงัดตลอดเวลา ไม่วุ่นวายด้วยผู้อื่นก็ยังได้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องออกไปอยู่ตามป่าตามเขาไปเสียทั้งหมด คนผู้เบื่อต่อกิจการงานของฆราวาสแล้ว หลีกออกไปหามุมสงบมุมใดมุมหนึ่งที่ตรงไหนก็ได้ เรียกว่าวนปรัสถ์ ทั้งนี้ก็เพื่อผลคือ จะได้พิจารณาสิ่งต่างๆ หรือชีวิตในหนหลังอย่างถูกต้อง แล้วมีจิตหยุดด้วยความเพียงพอ ด้วยความรู้จักอิ่มจักพอในเรื่องของโลกๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวาย
ที่พูดเป็นสำนวนโวหารเขาพูดว่า ไอ้เรื่องโลกนี้พอกันที ต้องการจะแสวงหาประโยชน์อย่างโลกอื่นหรือเหนือโลก จึงไม่สนใจเรื่องเงินเรื่องของ เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง อำนาจวาสนาอะไรต่อไป เป็นผู้หยุดตัวเองในเรื่องนั้น มุ่งหน้าหาแต่โลกแห่งความสงบ อย่างนี้ไม่กี่ปีก็เป็นผู้พบความสงบ ซึ่งเป็นความสุขที่สูงขึ้นไปกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ นี้เป็นวนปรัสถ์
วานปรัสถ์เป็นช่วงชีวิตแห่งการเปลี่ยนผ่านจากการมุ่งเน้นซึ่งอรรถะ และ กามะ ไปสู่การมุ่งเน้นยังโมกษะ (การหลุดพ้น) จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการปล่อยวาง ละทิ้งชานเรือน ออกไปอุทิศความรู้และประสบการณ์ที่สะสมไปทำงานให้แก่สังคม อาจารย์ประมวลเองก็ได้ออก ‘เดินสู่อิสรภาพ’ ในวันที่อยู่ในอาศรมนี้ โดยการใช้การเดินเพื่อสลัดความยึดติดจากสภาวะที่เป็นอยู่
ตอนที่ ๔ เรียกว่า สันยาสี (โมกษะ) คือ ทำตนให้เป็นแสงสว่างแก่ผู้อื่น เป็นระยะเวลาที่ (พราหมณ์) ทำเพื่อมนุษยชาติทั้งปวง เป็นการสละชีวิตคฤหัสถ์ ของผู้ครองเรือน เพื่อเข้าป่าออกบวช และเพื่อจุดหมายสูงสุดของชีวิต คือ โมกษะ อย่างน้อยก็เป็นที่ปรึกษาหารือของลูกของหลาน ของชาวบ้าน ของเพื่อนบ้านทั่วๆไป ในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหนทางผิดทางถูก อย่างนี้เป็นต้น นับเป็นช่วงชีวิตแห่งการละทิ้งความปรารถนาทางวัตถุและทางโลก โดยทั่วไปคือปราศจากสิ่งครอบครองรวมถึงที่อยู่ ใช้ชีวิตโดยมุ่งเน้นโมกษะ, ความสันติ และชีวิตทางจิตวิญญาณที่เรียบง่าย ทีนี้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ต่อไป แม้จะมีอายุตั้ง ๘๐ ปี ๙๐ ปีแล้วก็ตาม ก็ทำตนให้เป็นแสงสว่างแก่ลูกหลาน เป็นที่พึ่งทางจิตทางวิญญาณแก่เพื่อนมนุษย์รอบด้าน ใครมีปัญหาอย่างไรก็สามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี เป็นแสงสว่างของคนทุกคน ผู้ใดก็ตามที่สิ้นสุดระยะพรหมจรรย์แล้ว สามารถเข้าสู่ระยะนี้ได้ทุกเมื่อ
ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ตามอริยมรรคมีองค์แปด ยังไม่ล้าสมัย ยังไม่หมดสมัย เป็นอะกาลิโก คือทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยตกยุค มรรคผลนิพพานยังมีอยู่ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อมีผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด ให้เข้าใจอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ทุกคนจะเคารพตนเองได้ ก็เพราะตนเองเอามรรคผลนิพพาน ลูกหลานจะเคารพนับถือเราได้ก็เพราะเรามีศีลมีธรรม ดำเนินสู่พระนิพพาน ให้เข้าใจ อย่าไปลังเลสงสัย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติจิตใจในปัจจุบัน คำว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วศูนย์ มันก็จะลบไปเอง มันจะไม่มีความสงสัยอีก เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เราได้ลงมือทำ ลงมือปฏิบัติได้จัดการ ระบบความคิดความปรุงแต่ ง ความสงสัยให้มันหายไปสิ้น ทุกท่านทุกคนจะได้เข้าถึง มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ไปเรื่อยๆ ชีวิตของท่าจก็จะได้ปิดอบายมุข อบายภูมิ ท่านจะได้หยุดก่อน ลาก่อนวัฏฏะสงสาร ทุกท่านทุกคนต้องปฏิบัติเอง ไม่มีใครมาทำแทนได้
ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ของเราทุกคนก็พากันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มันก็มาจากใจเราที่มีอวิชชา ความหลง มันพาธาตุขันธ์ อายตนะ ระหกระเหินแร่ร่อน สับสนวุ่นวายยุ่งไปหมด เป็นชีวิตที่ไม่สงบร่มเย็นเหมือนกับตก นรก ทั้งเป็น ให้ทุกคนให้เราตั้งใจ ใจของเราจะได้เย็น เหมือนติดแอร์คอนดิชั่น จะได้ไม่เป็นคนพเนจร แร่รอร สัมภเวสี ประดุจคนไร้บ้าน คน homelessm ทุกข์นะ ใจคนเราถ้าล่องลอยฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ ตามความคิด ไม่รู้จักอยู่กับความสงบที่ใจ มันก็ไม่ต่างอะไรกับใจคนที่เป็น homeless มันพเนจรเป็นสัมภเวสีล่องลองไปเรื่อย
พระพุทธเจ้าให้เราพากันปฏิบัติไม่เกี่ยวกับใครจน ใครรวย จะจนจะรวยกว่ากันไม่เกี่ยวเลย อยู่ที่ความตั้งใจในปัจจุบัน เราจะไปทางไกล ก็ต้องอยู่ในยานพาหนะให้ชัดเจน จะไปปล่อยวางยานพาหนะก็ไม่ได้ ยานพาหนะก็คือศีล สมาธิ ปัญญา จิตใจของเรามีตัว มีตนพอมีตัว มีตนปุ๊บ มันจะปล่อยวาง ศีล สมาธิ ปัญญาหมด นั้นมันเป็นความว่างที่ไม่ถูกต้อง มันเพิ่มความบ้า เพิ่มอวิชชา เพิ่มความหลง สิกขาบทน้อยใหญ่ เราอย่าไปปล่อยวาง ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรารักลูก รักหลาน รักพ่อ รักแม่ เราต้องให้ลูกหลานพ่อแม่รู้จักของดี คือพระนิพพาน คือพระธรรมวินัย คือพระรัตนตรัย เราก็ต้องปฏิบัติเป็นตัวอย่างแบบอย่าง เรามองเห็นกันอยู่แล้ว เพราะตาก็มีดู หูก็มีฟังได้ อันไหนมันดี มันประเสริฐ ให้พากันกราบพระไหว้พระนั่งสมาธิ ทำงานหายใจเข้าออกให้รู้ชัดเจน สมาธิคือหายใจเข้าออกให้รู้ชัดเจนไปเลย ถ้าเราไปดูลมเหมือนดูเขาทำงาน ก็ไม่ได้ทำงานเองเราจะได้เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติใจเราจะได้ไม่เสื่อม เพราะเรามียานคือรู้ลมเข้า ลมออกชัดเจน และวิปัสสนาเห็นแจ้งในกาย ที่มันไม่มีส่วนไหนสวยงาม ไม่มีส่วนไหนจีรัง ยั่งยืน ไม่มีส่วนไหนเป็นตัว เป็นตน ให้เราภาวนาพากันปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง อย่าทำๆ หยุดๆ ต้องให้มันต่อเนื่องเป็นสายน้ำ อย่าให้เป็นหยดน้ำ ต้องให้มันเป็นสายน้ำที่ติดต่อต่อเนื่องไปอย่างนี้
พวกโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือมันมีไว้สำหรับให้บันเทิง เพลิดเพลินทั้งนั้น เราต้องบริโภคให้มีปัญญาอย่าไปหลง ในแต่ละวัน เราก็มีเซ็กซ์กับความคิด กับอารมณ์ ที่มันมาทางอายัตตนะ มันทางตา ที่เห็นรูปเห็นของสวยของงาม มาทางหูที่ได้ฟังเสียง มาทางจมูกที่ได้กลิ่น มาทางลิ้นที่ได้รู้รสอร่อย มาทางกายที่ได้ถูกต้องสัมผัส นุ่มนิ่ม ใจมันไปเสพสมไปมีเซ็กซ์กับมันทางอารมณ์ ทางความคิด อย่าให้มันคิด สองสาม ครั้ง ต้องจัดการสู่พระไตรลักษณ์ให้ได้ ให้เห็นแจ้งว่ามันไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ถ้าอย่างนั้น มันก็จะทำลายมรรคผลนิพพาน มีเทคโนโลยี มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทำลายมรรคผลนิพพาน เราต้องจัดการจิตใจไม่ให้หลง ไม่ค้างไม่คาในปัจจุบัน ต้องภาวนา พิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ถ้าไม่ทำ ทั้งพระทั้งโยมก็ผิดศีล ตกสู่อบายภูมิ ทุกท่านทุกคนพากันคิดดีๆ อย่าไปหลงในโทรศัพท์ โทรทัศน์ ต้องมีสติ สัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม ทิ้งให้มันได้ สละให้มันได้ มีความสุขในการปฏิบัติอย่างนี้ อานาปานสติเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้ทุกอิริยาบถ หายใจเข้าหายใจออกให้รู้ชัดเจน มีความสุข มีความเบิกบาน ยิ่งแก่ยิ่งเฒ่า เราก็จะยิ่งมีความสุข เราจึงต้องปล่อยวางให้ได้ ถ้าไม่ปล่อยวางก็ยังเป็นพระแท้ๆ ไม่ได้ ต้องเสียสละ ถ้าไม่เสียสละใจของเรามันก็เป็นเปรต ทุกคนก็ไม่อยาก เป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
เพราะฉะนั้นจึงต้องมาเสียสละทุกอย่าง โดยเฉพาะเสียสละความทุกข์ออกไป เสียสละทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตนออกไป พระพุทธเจ้าเป็นผู้เสียสละที่สุดในโลก จึงมีความสุขที่สุดในโลก ทรงเป็นโลกะวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก เมื่อทรงรู้แจ้งแล้ว ไม่ได้เก็บงำไว้เพียงพระองค์เดียว เอามาบอกมาสอนชี้ทางสว่าง เราจะได้เข้าถึงความเป็นพระ ด้วยการเดินทางอริยมรรคคือหนทางอันประเสริฐ เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เรื่อยไปจนไปถึงสัมมาสมาธิ คือมีจิตใจตั้งมั่นชอบ ไม่ใจอ่อนนี้แหละคือความสุข ความดับทุกข์ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ พึงจะได้รับ พึงไปให้ถึง เพราะฉะนั้นสำคัญมากเราต้องประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันให้ได้ ให้กิเลส ให้ความชั่วมันตายจากใจของเรา ก่อนที่ตัวเราจะตายจริงๆ ให้ทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ความโลภ ความหลงมันดับสูญตายไปจากใจของเรา ก่อนที่ตัวเราจะตายตริงๆ
เราต้องมีความสุข มีความเบิกบาน ยิ่งแก่ยิ่งเฒ่า ก็ยิ่งมีความสุขเบิกบาน พระพุทธเจ้าให้เราทำอย่างนี้ เราโชคดีที่ได้พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร อย่างใครจะได้ดีคือก้าวหน้าในมรรคผลพระนิพพาน ก็เพราะได้พระพุทธเจ้า ได้พ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นยอดกัลยาณมิตร เป็นผู้ชี้นำทาง ชี้ทางสว่างไสวชี้ทางไปที่ถูกต้อง จึงเป็นผู้สว่างไสวในวาระสุดท้าย