แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๔๐ พยายามสมาทานตั้งใจ พระรัตนตรัยก็จะอยู่ที่เรา จิตใจเราจะได้มีความสุข ไม่ว้าเหว่
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกท่านทุกคนพากันรู้จักสภาวะธรรม ตามความเป็นจริง เราจะได้ใช้ธาตุ ใช้ขันธ์ อายตนะนี้ บำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ต้องมีอยู่กับเราในปัจจุบัน อดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ ต้องมีอยู่ที่ปัจจุบัน พระนิพพานนั้นอยู่ไม่ไกล อยู่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ต้องเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญา มาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ทุกท่านทุกคนอย่าไปหลงประเด็น ฝึกหายใจเข้าให้รู้ชัดเจน หายใจออกให้รู้ชัดเจน หายใจเข้าให้มัน หายใจออกให้มันสบายไว้ ทำอย่างนี้ทุกๆ อิริยาบถ การเดิน การเหิน การทำงาน ต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้มีสติ มีสัมปชัญญะ ไม่อย่างนั้นอารมณ์ความคิด อายตนะต่างๆ มันจะดึงเราไปหมด เหมือนกับเศษเหล็กน้อยๆ ถูกแม่เหล็กมันดึงไปหมด ไม่เหลืออะไร
ความดึงดูดของโลก ที่เป็นแม่เหล็กใหญ่ ที่ดึงดูดสัตว์โลกทั้งหลายที่ให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร ทุกๆ คนต้องรู้จัก สิ่งเหล่านั้นคืออบายภูมิก็คืออวิชชา คือความหลง คือความไม่รู้ ความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันเป็นอบายภูมิ อบายภูมิก็มาจากอบายมุข อบายมุขก็เริ่มต้นจากมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นไม่ถูกต้อง ความเข้าใจไม่ถูกต้อง การปฏิบัติเลยไม่ถูกต้อง ถูกอวิชชา ถูกความหลงมันดึงดูดไป เป็นทั้งแรงดึงดูด, แรงขับเคลื่อน, แรงเหวี่ยง, แรงโน้มถ่วง, แรงเสียดทาน และแรงขนาน เป็นต้น
พระพุทธเจ้าถึงให้เรามารู้จักสภาวะธรรม ว่าเราต้องทวนกระแสที่พระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ ได้เสวยภัตตาหารจากนางสุชาดา และก็อธิษฐานจิตลอยถาดทอง นี้เป็นบุคลาธิษฐาน ผู้ที่จะหยุดวัฏฏะสงสารก็ต้องหยุดตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกของตัวเอง คืออวิชชาความหลงที่มันดึงดูดเรา
แต่สติ สัมปชัญญะ อานาปานสตินี้ ช่วยเราทุกคนได้ ทุกคนนั้น สมาธิจะอยู่ได้ นาทีหนึ่ง สองนาที สามนาที มันก็ไม่มี ให้ทุกท่านทุกคนพากันจับหลักจับประเด็นไว้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ จิตใจของเราจะได้มีความสุข มีความอบอุ่น ใจของเราจะได้จัดการเรื่องอดีต เรื่องอนาคต มันจะได้เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เราไม่ต้องพากันวิ่งตามอารมณ์ ตามความคิด ความสุข ความดับทุกข์มันมีอยู่กับเราทุกๆคน ในชีวิตประจำวัน เราอย่าให้ความคิด ความปรุงแต่ง มันปรุงแต่งเรา ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป การฝึกเราอันนี้ถือว่าสุดยอด เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วต้องฝึกลมหายใจด้วย สติสัมปชัญญะด้วย แล้วก็ฝึกใจของเราให้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างว่าอันนี้มันเป็นสภาวะธรรม มันไม่มีอะไรแน่ ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันเป็นอย่างนี้ เราอย่าไปวุ่นวายมัน
ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เราก็คือคนตายแล้ว เราต้องพากันประพฤติ พากันปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนต้องหยุด ทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึกตัวเอง เอาพระนิพพานเป็นที่ตั้งแล้วดำเนินสู่อริยมรรคมีองค์แปด เราอย่าไปคิดว่า การปฏิบัติมันอยู่ที่ป่า ที่เขา อยู่ที่โน้น ที่นี้ มันไม่ใช่ มันอยู่ที่ปัจจุบันนี้แหละ พระพุทธเจ้าทางร่างกายท่านก็นิพพานจากเราไป พระอรหันต์ทางร่างกาย หลายร้อย หลายพันปีท่านก็จากเราไป แต่พระนิพพานที่เป็นอมตะก็อยู่กับเราทุกคนนี้ในชีวิตประจำวัน ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกท่านทุกคนให้ทำอย่างนี้นะ
อานาปานสติ เราต้องถือเป็นหลักไว้ ที่หลวงปู่มั่นบอกให้ท่องพุทโธๆ มันคืออันเดียวกันนี้แหละ คืออานาปานสตินี้แหละ จิตเราจะได้มีพลัง จิตเราจะได้มีกำลัง การปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องเหมือนไก่ฟักไข่ มันต้องใช้เวลา สามอาทิตย์มันถึงจะออกลูกออกตัว แต่เรานี้มันเก่งเยอะ มันฉลาดเยอะ มันต้องใช้เวลามากกว่านั้น เพราะเราไม่ได้เอาระดับไก่ เราเอาระดับมนุษย์ผู้ที่ประเสริฐ ทุกท่านทุกคนต้องทำอย่างนี้ เราไปพึ่งอะไรไม่ได้หรอก ต้องพึ่งการประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าของเราเอง เราไม่ต้องไปหาพระที่โน้น ที่นี้ ต้องหาที่ใจของเรา ในปัจจุบัน ให้พากันเข้าใจ
ประชาชนทุกคนก็เป็นพระอริยเจ้าได้ พระภิกษุ สามเณรที่มาบวชก็เป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือธรรมะ ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องพึ่งพระพุทธเจ้าในลักษณะอย่างนี้ ไม่อย่างนั้น อย่างพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไป พระอานนท์ก็หว้าเหว เป็นพระโสดาบันก็ยังร้องไห้ แต่พระอรหันต์ก็เฉยๆ เพราะท่านรู้จักสภาวะธรรม ทุกอย่างมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันแค่นั้นเอง ที่มันเป็นนี้มันเป็นอาการของจิตเราเฉยๆ ให้เราเข้าใจ
อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํ ว กลิงฺครํ
ไม่นานเลย กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน กายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณอันเขาทิ้งแล้ว ก็เหมือนท่อนไม้อันไร้ประโยชน์
กายนี้ ประกอบด้วยอายุ ไออุ่น และวิญญาณ จึงยังมีการเคลื่อนไหวทำนั่นทำนี่ได้อยู่ แต่เมื่ออายุสิ้น ไออุ่นดับ วิญญาณออกจากร่าง กายนี้ก็ไร้ประโยชน์ ทำอะไรไม่ได้ ส่งกลิ่นเหม็น เป็นที่รังเกียจ เพราะไม่มีสาระอะไร สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "อายุ อุสฺมา จ วิญฺญาณํ ยทา กายํ ชหนฺติมํ อปวิฏฺโฐ ตทา เสติ เอตฺถ ลาโร น วิชฺชติ
เมื่อใด อายุ ไออุ่น และวิญญาณและทิ้งกายนี้เสีย เมื่อนั้น กายนี้ก็ถูกทอดทิ้งนอนอยู่ สาระในกายนี้ไม่มีเลย"
ท่อนไม้ด้วยซ้ำไปยังมีสาระในการหุงต้ม หรือทำทัพพสัมภาระอย่างอื่น แต่กายนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่เป็นเหยื่อของหมู่หนอนและแร้งกา เมื่อตายแล้ว คนที่เคยรักก็ไม่ปรารถนาจับต้อง วิญญาณ หรือจิตจึงเป็นแกนสำคัญให้ร่างกายนี้พอมีค่าอยู่ปราศจากวิญญาณเสียแล้ว กายก็กลายเป็นของไร้ค่าทันที
พระศาสดาตรัสเทศนาเรื่องนี้ที่เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระปูติคัตตติสสเถระ (ผู้มีร่างเปื่อย) มีเรื่องย่อดังนี้ ;
ท่านเป็นชาวเมืองสาวัตถี ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วมีความเลื่อมใส ขอบรรพชาอุปสมบท ตั้งใจบวชตลอดชีวิต
ต่อมาโรคชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแก่ท่าน เป็นต่อมเล็กๆ เกิดขึ้นตามผิวหนังก่อน แล้วโตขึ้นเรื่อยๆ เท่าเมล็ดถั่วเขียว เมล็ดถั่วดำ เมล็ดกระเบา เท่าผลมะขามป้อม และเท่าผลมะตูมตามลำดับแล้วแตก น้ำเหลืองไหลทั่วกาย ร่างของท่านปรุพรุนไปด้วยรอยแผลจึงได้นามว่า "ปูติตัตตติสสะ" แปลว่า "พระติสสะผู้มีกายเน่า" ต่อมากระดูกของท่านแตกเจ็บปวดแสนสาหัส ผ้านุ่งผ้าห่มของท่านเปื้อนด้วยเลือดและหนอง พวกลัทธิวิหาริก อันเตวาสิกของท่านรังเกียจพากันทอดทิ้งท่านหมดสิ้น ท่านหมดที่พึ่ง นอนอยู่คนเดียว
เช้าวันหนึ่งพระศาสดา ทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ พระปูติคัตต์เข้าไปในข่ายพระญาณ ทรงทราบว่า ปูติคัตต์มีอุปนิสัยแห่งอรหัตผล และไม่มีใครเป็นที่พึ่ง นอกจากพระองค์เพียงผู้เดียว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ประหนึ่งเสด็จจาริกไปในวิหาร เสด็จไปที่กุฎีของพระปูติคัตต์ ทรงถามทราบความทั้งหมดแล้ว เสด็จไปสู่โรงไฟ ทรงติดไฟล้างหม้อ ใส่น้ำแล้วยกขึ้นสู่เตาไฟ ประทับยืนในโรงไฟเพื่อรอน้ำให้เดือด ทรงทราบว่าน้ำเดือดแล้ว เสด็จไปจับปลายเตียงข้างหนึ่งที่พระปูติคัตต์นอน มีพระประสงค์จะยกเตียงด้วยพระองค์เอง
ขณะนั้นภิกษุหลายรูป เห็นดังนั้น จึงขออาสาทำเสียเอง ช่วยกันยกเตียงของพระปูติคัตต์ไปยังโรงไฟ
พระศาสดาทรงให้นำรางมา ทรงเทน้ำร้อนใส่ แล้วสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นเปลื้องผ้าห่มของภิกษุป่วยออก ขยำด้วยน้ำร้อน แล้วให้ผึ่งแดดไว้
พระศาสดาประทับยืนอยู่ที่ใกล้เธอ ทรงรดน้ำอุ่นให้เอง ทรงถูสรีระของภิกษุป่วย ให้อาบน้ำอุ่น เมื่อผ้าห่มแห้ง ทรงให้เอาผ้าห่มนั้นนุ่ง ดึงเอาผ้านุ่งออกมาให้ขยำน้ำร้อนแล้วผึ่งแดดไว้ เมื่อตัวของเธอแห้ง ผ้านุ่งก็แห้ง พระศาสดาให้เธอนุ่งผืนหนึ่งและห่มผืนหนึ่ง
พระปูติคัตต์ได้รับปฏิบัติเช่นนั้นสรีระก็กระปรี้กระเปร่าขึ้น จิตหยั่งลงสู่เอกัคคตารมณ์ (มีอารมณ์เดียว ไม่วอกแวก)
พระศาสดา ทรงทราบว่าจิตของพระปูติคัตต์ พร้อมที่จะรับพระธรรมเทศนาแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า "อจิรํ วตยํ กาโย" เป็นอาทิ มีนัยและคำอธิบายดังได้พรรณนามาแล้วแต่ต้น
เมื่อจบเทศนา พระปูติคัตต์ได้บรรลุอรหัตผล แล้วปรินิพพาน คนเหล่าอื่นก็ได้สำเร็จอริยผลมีโสดาปัตติผล เป็นต้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดให้ทำฌาปนกิจศพแล้ว ทรงเก็บอัฏฐิธาตุแล้วโปรดให้ทำเจดีย์ไว้
ภิกษุทั้งหลายสงสัยทูลถามพระศาสดาว่า "ภิกษุผู้มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเช่นนี้ เหตุไรจึงมีร่างกายเปื่อยเน่า และกระดูกแตก?"
พระศาสดาตรัสตอบว่า เป็นผลอันเกิดแต่อดีตกรรม ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ พระติสสะเป็นพรานนก ฆ่านกบำรุงอิสรชน คือรับจ้างฆ่านกให้คนใหญ่คนโต นกที่เหลือก็เอาขาย นกที่เหลือจากขายก็หักปีกหักขาเก็บไว้ เพราะคิดว่า ถ้าฆ่าแล้วเก็บไว้มันจะเน่าเสียหมด ตนต้องการบริโภคเท่าใดก็ปิ้งไว้ นกที่เขาหักปีกหักขาไว้นั้นขายในวันรุ่งขึ้น
วันหนึ่ง เมื่อโภชนะอันมีรสดีของเขาสุกแล้ว เขากำลังเตรียมบริโภค พระขีณาสพองค์หนึ่งมาบิณฑบาตหน้าบ้าน เขาเห็นพระแล้วคิดว่า
"เราได้ฆ่าสัตว์มีชีวิตเสียมากมายแล้ว บัดนี้ พระมายืนอยู่หน้าเรือน โภชนะอันดีของเราก็มีอยู่ เราควรถวายอาหารแก่ท่าน"
เขาคิดดังนั้นแล้ว ได้รับบาตรพระใส่โภชนะอันมีรสเลิศจนเต็มบาตรแล้วถวายบิณฑบาตนั้น ไหว้พระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วว่า
"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ด้วยกุศลผลบุญนี้ ขอข้าพเจ้าพึงบรรลุธรรมที่ท่านบรรลุแล้วด้วยเถิด" พระเถระอนุโมทนาว่า "จงเป็นอย่างนั้นเถิด"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย" พระศาสดาตรัสในที่สุด "ผลทั้งหมดได้เกิดแก่ติสสะเพราะกรรมของเขาเอง เพราะทุบกระดูกนก จึงยังผลให้มีร่างกายเปื่อยเน่า กระดูกแตก อาหารบิณฑบาตที่ถวายแก่พระขีณาสพและอธิษฐานเพื่อธรรมยังผลให้เธอบรรลุธรรม คือพระอรหัตผล ภิกษุทั้งหลายกรรมที่บุคคลทำแล้วย่อมไม่ไร้ผล"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ เหล่านี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ คือ
๑. ควรพิจาณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
๓.ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง
๕. ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรม (การกระทำและผลแห่งการกระทำ) เป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น."
เหตุผลที่ควรพิจารณาฐานะ ๕ เนือง ๆ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนืองๆ ก็จะละความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้สิ้นเชิง หรือความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น จะลดน้อยลงไป..."
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมาในความไม่มีโรคของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจริตทางกายวาจาใจ. เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนืองๆ ก็จะละความเมาในความไม่มีโรคนั้นได้สิ้นเชิง หรือความเมาในความไม่มีโรคนั้นจะลดน้อยลงไป..."
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมาในชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ. เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนืองๆ ก็จะละความเมาในชีวิตนั้นได้สิ้นเชิง หรือความเมาในชีวิตนั้น จะลดน้อยลงไป..."
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความติดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ (ฉันทราคะ แปลว่า ความคิด ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ เพื่อให้มีความหมายกว้างกว่าความกำหนัด) ในสิ่งเป็นที่รัก ของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนืองๆ ก็จะละความคิดด้วยอำนาจแห่งความพอใจในสิ่งที่เป็นที่รักได้สิ้นเชิง หรือความคิดด้วยอำนาจแห่งความพอใจในสิ่งเป็นที่รักนั้น จะลดน้อยลงไป..."
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุจจริตทางกาย วาจา ใจ ของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนืองๆ ก็จะละทุจจริตได้สิ้นเชิง หรือทุจจริตนั้น จะลดน้อยลงไป..."
ทุกท่านทุกคนต้องพากันสมาทานนะ ศีลนี้เป็นยานพาหนะที่จะออกจากวัฏฏะสงสาร เราต้องสมาทาน แล้วก็ต้องปฏิบัติตาม ใจของเราหน่ะ เน้นความบริสุทธิ์อยู่ที่ใจ คนเราถ้าใจไม่บริสุทธิ์ ไม่เข้าถึง ไม่ละเสียตัวตนธรรมะมันเกิดไม่ได้ เพราะธรรมะมันเสียสละซึ่งตัวซึ่งตน เรานี้ไม่ได้เป็นผู้หญิง ผู้ชาย ไม่ได้เป็นคนแก่ คนหนุ่ม คนสาว ไม่ได้เป็นพระ เป็นโยมนะ เราคือธรรมะ คือสภาวะธรรม อยู่ว่างๆ ก็พิจารณาสภาวะธรรม กายสู่พระไตรลักษณ์ ร่างกายของเราทุกชิ้นส่วนเพื่อจะละลายพฤติกรรมแห่งการยึดมั่นถือมั่น พิจารณาเวทนาสู่พระไตรลักษณ์ เพราะอันนี้เป็นยาที่จะรักษาโรค รักษาการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร เพราะสมาธิเป็นเพียงสงบเย็นเฉยๆ เราต้องเข้าใจ ปัญหาต่างๆ ให้พากันรู้จักนะ ปัญหาเราที่เกิดเพราะคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี อากาศร้อน อากาศหนาว ปัญหามันอยู่ที่ใจของเราอยากให้มันเป็นอย่างโน้น อยากให้มันเป็นอย่างนี้ เราต้องรู้จัก เราต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ
ที่พระก็ดี แม่ชีก็ดี มันไม่มีทางไป เพราะมันเอาตัวตนไป จะไปที่ไหนได้ มันไปไม่ได้ ต้องเสียสละ มันจะได้ตัดเรื่องตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ ตายแล้วไปไหน มันจะตัดใจของเราในปัจจุบัน เราต้องมีความสุขในการเสียสละอย่างนี้ ทุกท่านทุกคนอย่าพากันขี้เกียจขี้คร้านนะ เพราะความขี้เกียจขี้คร้านนี้ มันเป็นความเห็นผิด เป็นความปล่อยวาง เพราะคิดอย่างนั้น มันว่างจริง ว่างจากมรรคผล ว่างจากพระนิพพาน มันเป็นอาการของอวิชชา เราจับประเด็นไม่ได้ หายใจเข้าให้มีความสุข หายใจออกให้มีความสุขไว้ คนเราอยู่กับตัวเองไม่ได้ เพราะว่าอานาปานสติมันไม่ทำงาน จิตใจยังเสื่อมอยู่ ยังกระท่อนกระแท่นอยู่ ต้องปรับตัวเข้าหาข้อวัตร กิจวัตร เราจะเคารพตัวเองก็เพราะตัวเองมีศีล มีข้อวัตร มีข้อปฏิบัติ เราจะเคารพตัวเองได้ คนอื่นจะเคารพเราได้ก็เพราะเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เสียสละ ไม่มีตัวไม่มีตน คนอื่นถึงจะเคารพนับถือเรา
เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปว่าให้เขา เราอย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ มันทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง มันมีแต่เซ่อๆ เบลอๆ ไปเรื่อย ต้องเข้าใจ ใครมันไม่ดี ใครไม่ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ พยายามสมาทาน พยายามตั้งใจ พระพุทธเจ้าก็จะอยู่ที่เรา พระธรรมก็จะอยู่ที่เรา จิตใจของเราจะได้มีความสุข ไม่หว้าเหว่
เราอย่าพากันหาแต่พระภายนอก ไปหาแต่พระสวยๆ วัตถุข้าวของ หรูหรา ฟุ่มเฟือย มันต้องหาพระภายใน พัฒนาใจตัวเอง เราต้องสงสารตัวเอง กรุณาตัวเอง เพราะปู่เราก็ตาย ย่าเราก็ตายไปแล้ว คนโน้น คนนี้ก็ตายไปแล้ว มันใกล้เข้ามาทุกทีๆ มันก็จะมาถึงเราแล้ว เราต้องพากันภาวนา พากันปฏิบัติ วันหนึ่งคืนหนึ่ง
ประธานสงฆ์ รองประธานสงฆ์นี้สำคัญ อย่าไปหมกมุ่นแต่เรื่องโทรศัพท์ อย่าไปหมกมุ่นแต่เรื่องคอมพิวเตอร์ ประธานสงฆ์อย่าไปหมกมุ่นแต่เรื่องสอนคนอื่น จัดการคนอื่น มันไม่ได้ มันต้องจัดการตัวเอง เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย มันจะไม่ได้เป็นสีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ การจัดการคนอื่นไม่ลำบาก ถ้าเราจัดการตัวเองได้ ไม่อย่างนั้นเราจะละเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องยึดมั่นถือมั่น เรื่องตัวเรื่องตน ระบบเวียนว่ายตายเกิดหรือระบบครอบครัว เราทุกคนจะได้พากันเป็นพระ ให้พากันเข้าใจ ทุกๆ คนประชาชน เขาก็พากันเป็นกองเชียร์ ให้ข้าว ให้อาหาร ให้เงิน ให้ตังค์ เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติเต็มที่ เราจะไม่ได้จำแต่คำเทศน์คำสอนที่ในพระไตรปิฎก หรือว่าที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน ธรรมะจะได้ออกจากใจของเรา อย่างนี้มันจะได้ดี ให้เราเคร่งครัด พิถีพิถันในการพัฒนาใจของเรา ที่ผ่านมาก็ถือว่ามันไม่ดี มันบกพร่องเยอะ หรูหราแต่ภายนอก ดีแต่ภายนอก จิตใจมันไม่ดี จิตใจมันยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่
เรื่องสติ สัมปชัญญะในปัจจุบันนี้มันสำคัญมาก ให้เรามีสติ อยู่กับเนื้อกับตัว รู้ว่าอันไหนผิด อันไหนถูก ใจของเรานี้อย่าให้มันคิดถึง สามครั้ง ครั้งที่หนึ่งสัญญาณ ครั้งที่สองเราก็ภาวนาเข้าสู่พระไตรลักษณ์ เรื่องหยุดมีเซกซ์ทางความคิด ทางอารมณ์นี้ ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญนะ อย่าไปปล่อยให้ตัวเองเสียเวลา อย่าปล่อยให้ตัวเองโง่ อย่าไปใจอ่อน อย่าไปขอโอกาสที่เสพกาม หลงในกามไปเรื่อย เพราะคนเราถ้าไม่ใช่เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางจิตใจ หรือเรื่องมีเซกซ์ทางจิตใจนี้ มันไม่ได้ อานาปานสติของเราต้องเด่นขึ้น โผล่ขึ้น สติสัมปชัญญะในปัจจุบันให้เรามีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการปรับตัวเข้าหาศีล เข้าหาธรรม ใจของเรามันจะกระอักเลือดเมื่อเคยกิน เคยบริโภค ประชาชน ผู้ที่มาบวชถึงปฏิบัติไม่ได้ เขาจะอดบุหรี่ อดเหล้าต้องอาศัย สามอาทิตย์ขึ้นไปหรือเป็นเดือนๆ เราจะข้ามสภาวะธรรมข้ามความคิดทางอารมณ์มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ เราต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เราจะอาลัยอาวรณ์อย่างนี้ไม่ได้ มันใจอ่อนนะ ทุกคนมันใจอ่อน มันเป็นประชาธิปไตยทำเหมือนกันหมดทั้งโลก ทั้งประเทศ
เราจะไปแก้สิ่งภายนอก ไปแก้สิ่งอื่นนั้นน่ะมันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะปัญหาของมนุษย์ส่วนใหญ่มันอยู่ที่ 'ใจ' ปกติทุกคนมันก็ไม่มีเรื่องอะไรมากอยู่แล้ว แต่มันพากันคิดมาก มีความต้องการมากเลยสร้างปัญหาให้กับตัวเอง กลายเป็น 'โลกธรรม' ครอบงำ กลายเป็นต้องมีครอบครัว
ถ้าเรามีครอบครัวแล้วทีนี้เราก็ต้องทุกข์กับสิ่งใหม่ๆ เป็น กระบวนการ ต้องแสวงหาทรัพย์สมบัติ แสวงหาวัตถุเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกสบายแก่ตัวเราและครอบครัว เราดูคนส่วนใหญ่เค้าเป็นอย่างนั้น สิ่งที่มันยากลำบาก นี้แหละเราลองมาคิดๆ ดู ใครเป็นคนสร้าง ใครเป็นคนก่อใครเป็นคนทำให้เกิดปัญหา...? "ตัวเรานี้แท้ๆ เป็นคนที่สร้างปัญหาให้กับตัวเอง ขุดหลุมพรางให้ตัวเองไปตก"
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรารู้จักใจ...รู้จักอารมณ์ อย่าพากันไปคิดมาก 'คิดมาก' มันก็ 'บาป' ถ้าเราไม่คิดอะไรเราก็ไม่มีทุกข์ ทุกคนก็ไม่อยากคิด เพราะคิดแล้วมันทุกข์แต่มันหยุด ความคิดตัวเองไม่ได้ มันทำใจให้สงบไม่ได้ ท่านว่า..."เราพากันชอบความวุ่นวายไม่ชอบความสงบ ว่าเรานี้ชอบสร้างปัญหา ไม่ใช่บุคคลที่แก้ปัญหา"
เวลานั่งสมาธิอย่างนี้ หรือทำวัตรสวดมนต์อย่างนี้ก็ว่า ไม่มีเวลา แต่เวลาดูละครดูโทรทัศน์ดึกดื่นก็ไม่ยอมนอน นี้มันหมายถึงทุกคนไม่ชอบความสงบ การฝึกใจนั้นน่ะ ถ้าเราฝึกเฉพาะนั่งสมาธิ ทำวัตร สวดมนต์นั้น "ยังไม่เพียงพอ" ต้องปฏิบัติในกิจวัตรในชีวิตประจำวันของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นที่ชอบ ไม่ชอบนั้นน่ะ เราต้องแก้ไจของเราให้สงบ...ให้มันระงับ... ให้มันหยุด...ให้มันเย็น กองไฟนิดเดียวถ้าเราไม่เติมเชื้อเพลิง เดี๋ยวเพลิงนั้นก็ดับไป "การเวียนว่ายตายเกิดนั้นมันเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เราทุกท่านทุกคนจำเป็นต้องพากัน ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน"
ชีวิตของเราทุกคนถือว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่มีค่า ถ้าเรามาหลงทางโลกทางวัตถุในอนาคตน่ะ เราต้องได้รับความยากลำบากแน่ เรามาดีเรามาสว่าง พระพุทธเจ้าท่านว่า เราต้องสว่างยิ่งๆ ขึ้นไป ฝึกจิตใจให้มันสงบ ให้มันเย็น ให้ตัวเองมันเข้าสมาธิให้ได้ ทำไปเรื่อยๆ มันอาจจะผิดบ้างถูกบ้างก็ทำไปเรื่อยๆ ถ้าเราเป็นคนมักง่ายน่ะ ศีลเราก็ไม่อยากรักษา สมาธิเราก็ไม่อยากเจริญ เราจะเอาเจริญปัญญาอย่างเดียวน่ะ"เราเป็นคนขี้เกียจนะถ้าคิดอย่างนั้น"
ถ้าใจของเราไม่ว่าง เราจะคิดว่ามันว่าง... คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเป็นคนติดสุขติดสบาย ไม่อยากประพฤติปฏิบัติแต่ก็อยากได้ อยากมีอยากเป็น เราต้องหยุดตัวเองให้ได้ เราต้องสงบตัวเองให้ได้ ทำใจของเราให้เย็นให้ได้ เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เวลาพ่อแม่เรา ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลเราจากไปเราจะไม่เป็นทุกข์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไปแสวงหาแต่สิ่งที่ชอบใจสิ่งไหนที่ข้าพเจ้าชอบข้าพเจ้าก็จะเอา สิ่งไหนที่ข้าพเจ้าไม่ชอบข้าพเจ้าก็ไม่เอาต้องทำใจให้มันสงบ ให้หยุด ให้เย็น ถ้าเราไปหาสิ่งที่ชอบใจน่ะเราคงได้รับอันตรายแน่แหละ
เพราะทุกท่านทุกคนน่ะ ได้มีสมบัติติดตัวมาแล้วตั้งแต่เกิด คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ต้องทำความสงบไว้ เมื่อสถานการณ์อะไรต่างๆ เกิดขึ้น เราจะไม่ได้ไปมีทุกข์ เราต้องทำนะ ต้องปฏิบัตินะ
พระพุทธเจ้าท่านพูดเรื่องเหตุเรื่องผล เรื่องรายรับ รายเสีย ท่านไม่ได้กดดันอะไรเรานะ คนจะเชื่อหรือไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรน่ะ ท่านก็สงสารพวกเราเมตตาเรา การรักษาศีลก็ให้มุ่งเข้าถึงพระนิพพานการทำสมาธิก็ให้มุ่งเข้าถึงพระนิพพาน การเจริญปัญญาก็ให้มุ่งเข้าถึงพระนิพพาน การเสียสละทั้งหลายทั้งปวง ก็ให้มุ่งเข้าถึงพระนิพพาน เพราะเรา 'มีตัวมีตน' นี้มีทุกข์มาก
คนที่เค้าเจริญก้าวหน้า เค้าก็ต้องคบกับคนดี คบกับบัณฑิต เมื่อเราไม่เป็นตัวอย่าง ลูกเรามันก็ต้องมาถ่ายทอดรับไม้ผลัด เหมือนกับวิ่งเล่นกีฬา มันก็วิ่งตามกัน มันก็เกี่ยวกับความดึงดูดของอวิชชา มันดึงดูดเรามาก เราต้องตั้งมั่นในยานวิเศษ ยานวิเศษก็คือศิลปะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘
ถ้าสิ่งไหนมันจะเป็นทุกข์ มันผุดคิดขึ้นมา พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักแล้วอย่าไปตามความคิดไป เห็นไหมที่เรากลัวในสิ่งต่างๆ สิ่งที่สมควรกลัว เพราะว่าเราตามความคิดไป คิดจนมันกลัวน่ะ
วิธีที่เราจะแก้ความกลัวแก้ความคิดนี้ ให้เรากลับมาหาตัวเอง ด้วยการหายใจเข้าหายใจออกให้มันชัดเจน รู้ตัวทั่วพร้อมให้มันชัดเจน รู้จนจิตใจเป็นหนึ่ง ไม่ส่งออก ไม่ตามอารมณ์ไป จิตใจเป็นตัวของตัวเอง
ผู้ที่ไม่มีความกลัวก็ได้แก่พระอรหันต์ เพราะว่าท่านไม่ได้วิ่งตามความคิด ไม่ได้วิ่งตามอารมณ์ ท่านรู้อยู่แล้วว่าความคิดอย่างนี้มันไม่มีประโยชน์ จะคิดมันทำไม คิดแล้วมันมีปัญหาเสียศักยภาพ ผู้ที่มีจิตใจกังวลมันมีความกลัวซ่อนอยู่
พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักตัวเองนะ เราไม่ต้องกลัวมันอีกแล้ว เราทำดีๆ เราพูดดีๆ เราคิดดีๆ ชีวิตของเรามันก้าวไปด้วยการกระทำ เราจะไปกลัวมันทำไม วิตกมันทำไม ถึงเวลานอนก็ให้เรานอนให้มีความสุข ตื่นขึ้นเราก็จะได้มีเรี่ยวแรง มีศักยภาพทั้งทางกาย ทั้งทางจิตใจ
ธรรมะที่ทำให้ใจเรามีกำลัง ได้แก่ความพอใจในการทำความดี พอใจในการเสียสละ พอใจในการละความเห็นแก่ตัว มีความสุขมาก มีความเบิกบานมากในการทำความดี มีความเพียร มีความบากบั่น มีความพยายามไม่ท้อแท้ ถือเอาอุปสรรคนั้นเป็นการสร้างความดี ให้ถือคติว่าถ้าไม่มีความยากลำบาก มันก็ไม่ได้สร้างบารมีนะ
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเป็นคนเหยาะแหยะไม่เอาจริง พระพุทธเจ้าท่านทรงอุปมาไว้ว่าถ้าเราจะทำอะไรต้องทำจริง เอาจริง ท่านเปรียบเหมือนบุรุษที่ถอนหญ้าคา การถอนหญ้าคาต้องกำให้แน่น ถ้ากำไม่แน่นแล้วมันถอนหญ้าคาไม่ขึ้น เพราะหญ้าคารากมันแน่นมันเหนียว ต้องจับให้แน่น ถ้ากำไม่แน่นแล้วดึงกำหลวมๆ พอเราดึงหญ้าคามันก็บาดมือ ถ้าเราไม่เอาจริงเอาจังสม่ำเสมอ นิสัยเก่า อนุสัยเก่าเดี๋ยวมันก็กลับมาเหมือนเดิม อินทรีย์บารมีทุกคนน่ะ ถือว่าบารมีของเรามันยังอ่อน เราจะเอาใจของเราเป็นใหญ่ไม่ได้ ต้องปรับเข้าหาทางสายกลาง ถือศีล มีความตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ เราใคร่ครวญดูแล้วว่า สิ่งเหล่านี้มันดี มันถูกต้อง มันไม่ผิด คือ ปัญญา
ให้เรารู้จักผีนะ รู้จักเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มันไม่อยู่ไกลหรอก มันอยู่ในใจของเรานี้แหละ มันคอยหลอกคอยหลอนเราอยู่ตลอดเวลา เราอย่าไปกลัวผีข้างนอก ผีไกลๆ อย่าไปกลัว “ความเห็นผิดความเข้าใจผิด มันกลัวความดี”
ชีวิตของเราต้องเอาความถูกต้องเป็นเดิมพัน เอาความเป็นธรรม เอาความยุติธรรม เอาพระวินัย เป็นเดิมพัน ต้องเสียสละ เพื่อพัฒนาสร้างอริยมรรค เพื่อตัดซึ่งตัวซึ่งตน ที่มันนำทุกๆ คนให้ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะสงสาร ให้เข้าถึงธรรม ถึงปัจจุบันธรรมให้ได้ในในปัจจุบัน เราไม่ต้องกลัว ปัจจุบันอย่างนี้เราต้องมีจิตใจที่โดดเด่น จิตใจที่ไม่มีอะไรครอบงำได้ มีแต่ธรรมะ มีแต่สภาวะธรรมที่ปราศจากตัวตน ให้ทุกท่านทุกคนพากันประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เราไม่ต้องไปหงอเหมือนแต่ก่อน ในโลกนี้เราไม่มีอะไรที่จะน่ากลัว เพราะว่าเราเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จิตใจของเราย่อมสง่างามโดดเด่นด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา