แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๓๕ เราต้องเห็นความงามในการประพฤติปฏิบัติในการเจริญปฏิปทาของเรา เพื่อทำให้สม่ำเสมอตลอดไป
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกๆ คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์คือผู้ที่ประเสริฐ ทุกๆ คนต้องปฏิบัติธรรม ไม่ว่าเราถือศาสนาพุทธ ถือศาสนาคริสต์ ถือศาสนาอิสลาม พรามหณ์ ฮินดู ซิกซ์ ศาสนาต่างๆ หรือว่า ผู้ไม่ได้ถือศาสนาอะไร ทุกคนต้องปฏิบัติธรรม เพราะทุกคนไม่มีสิทธิ์ที่จะทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ ทำตามความรู้สึก ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เอาธรรมในการดำรงชีวิต มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เเล้วปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้
ที่ทุกคนปล่อยให้ตัวเองไปตามสัญชาตญาณอันนี้ไม่ดีไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่เสียหาย เป็นการทำลายความมั่นคงเเห่งความเป็นมนุษย์ อันนี้มันเป็นเพียงสัญชาตญาณเเห่งการเวียนว่ายตายเกิด ชีวิตของเราก็จะไม่ต่างกับสัตว์เดรัจฉาน เปรต ยักษ์มาร อสูรกาย สัตว์นรก ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ ทุกวันนี้ก็มนุษย์เราพากันพัฒนาเทคโนโลยีมาไกลพอสมควร มีรถ มีเครื่องบิน มีสื่อสารมวลชน คอมพิวเตอร์อะไรต่างๆ มีการพัฒนาเครื่องจักรถือว่าดี ทุกคนเกิดมาต้องเข้าใจ ต้องมีการเรียนการศึกษา ที่ตามหลักเหตุผล การหลักวิทยาศาสตร์
หลักการของพระพุทธศาสนากับหลักวิทยาศาสตร์มีทั้ง “ส่วนสอดคล้องกัน” และ “ส่วนที่แตกต่างกัน” ดังต่อไปนี้
๑. ความสอดคล้องกัน ๑.๑ ในด้านความเชื่อ วิทยาศาสตร์ถือหลักว่าก่อนจะเชื่ออะไรนั้นจะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เสียก่อน วิทยาศาสตร์เชื่อในเหตุผล ไม่เชื่ออะไรลอย ๆ และต้องการหลักฐานมายืนยัน วิทยาศาสตร์ไม่อาศัยศรัทธาแต่อาศัยเหตุผล เชื่อการทดลองว่าให้ความจริงแก่เราได้ แต่ไม่เชื่อการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะทุกอย่างดำเนินอย่างมีกฎเกณฑ์ มีเหตุผล และวิทยาศาสตร์อาศัยปัญญาและเหตุผลที่ตัวตัดสินความจริง
พระพุทธศาสนาก็มีหลักความเชื่อเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ดังหลักคำสอนที่ปรากฏในการลามสูตร พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า การจะเชื่ออะไรแก่ไหนนั้นจะต้องทดลองพิสูจน์ด้วยตนเอง โดยอาศัยสติ ปัญญาและเหตุผล แต่อย่างเชื่อโดยวิธีดังต่อไปนี้ คือ (๑) อย่าเพิ่งปลงในเชื่อเพียงเพราะการฟังตามกันมา
(๒) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการถือสืบๆ กันมา
(๓) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการเล่าลือ
(๔) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการอ้างคัมภีร์
(๕) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะนึกคิดเอาเอง
(๖) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการคาดคะเนเอา
(๗) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการตรึกตรอง
(๘) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะตรงกับความเห็นของตน
(๙) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อ
(๑๐) อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะท่านเป็นครูของเรา
และพระองค์ทรงสอนต่อไปว่า เมื่อใดที่เราอาศัยปัญญาทดสอบด้วยตนเองแล้วเห็นว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่ดีมีคุณประโยชน์แล้วจึงค่อยเชื่อ ทรงสอนมิให้เชื่ออย่างงมงาย แต่เน้นการทดสอบและปฏิบัติ เมื่อทดสอบได้ผลทางปฏิบัติแล้วจึงเชื่อ
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องศรัทธาเหมือนกัน แต่ศรัทธามิใช่วิธีสุดท้ายที่จะตัดสินว่าความจริงคืออะไร ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงเครื่องชักจูงให้คนเข้าไปทดสอบความจริง แต่ตัวที่ตัดสินความจริงคือ “ปัญญา” ในคำสอนเรื่องมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางที่จะพามนุษย์ไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นความจริงอันสูงสุดนั้น ไม่ปรากฏว่ามีศรัทธาอยู่ด้วย ในการสอนหลักธรรมต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนนั้น หากในหลักธรรมใดมีศรัทธาอยู่อยู่จะต้องมีปัญญากำกับอยู่เสมอ เช่น พละ ๕ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ในหลักอริยทรัพย์มีศรัทธา ศีล หิริโอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา เป็นต้น
๑.๒ ในด้านความรู้ ทั้งวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนายอมรับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ “ประสบการณ์” หมายถึง การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ประสบกับความรู้สึกนึกคิดบางอย่างด้วย เช่น รู้สึกดีใจ รู้สึกอยากได้ เป็นต้น วิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากประสบการณ์ คือ จากการที่ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ แล้วเกิดความอยากรู้อยากเห็นก็แสวงหาคำอธิบาย วิทยาศาสตร์จะไม่เชื่อหรือยึดถืออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว แต่จะอาศัยการทดสอบด้วยประสบการณ์สืบสาวไปเรื่อยๆ จะไม่อ้างอิงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์และการทดลอง
พระพุทธองค์ก็ทรงเริ่มคิดจากประสบการณ์ คือ ประสบการณ์ที่ได้เห็นความเจ็บ ความแก่ ความตาย และที่สำคัญที่สุดคือ ความทุกข์ พระองค์มีพระประสงค์ที่จะค้นหาสาเหตุของทุกข์ ในการค้นหานี้พระองค์มิได้เชื่ออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว ไม่ทรงเชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่จะให้คำตอบได้ แต่ได้ทรงทดลองโดยอาศัยประสบการณ์ของพระองค์เอง ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มีส่วนหนึ่งที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยในเรื่องนี้ คือ วิทยาศาสตร์เน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ด้านประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ส่วนพระพุทธศาสนาเน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ทางจิตใจ
๒. ความแตกต่าง ๒.๑ มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
– วิทยาศาสตร์มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องการรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุอะไรเป็นผลที่ตามมา เช่น เมื่อเกิดฟ้าผ่าขึ้น ต้องรู้ว่าอะไรคือสาเหตุของฟ้าผ่า และผลที่ตามมาหลังจากฟ้าผ่าแล้วจะเป็นอย่างไร
– พระพุทธศาสนาก็มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์มากกว่ากฎเกี่ยวกับสิ่งที่ไร้ชีวิต จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาคือสอนให้คนเป็นคนดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น
๒.๒ ต้องการเรียนกฎธรรมชาติ
– วิทยาศาสตร์ต้องการเรียนรู้กฎธรรมชาติและหาทางควบคุมธรรมชาติหรือเอาชนะธรรมชาติ พูดอีกนัยหนึ่ง วิทยาศาสตร์เน้นการควบคุมธรรมชาติภายนอก
– แต่พระพุทธศาสนาสอนให้คนควบคุมภายในจิตใจตัวเอง ลำดับแต่ความสามารถที่ควบคุมธรรมชาติได้ ไม่อาจทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ มนุษย์ต้องรู้จักควบคุมตัวเองให้มีจิตใจดีงามด้วย สันติสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้
วิทยาศาสตร์มุ่งปรับธรรมชาติ แต่พระพุทธศาสนามุ่งปรับจิตใจคน
๓.๓ ยอมรับโลกแห่งสสาร
– วิทยาศาสตร์ยอมรับโลกแห่งสสารที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ว่ามีจริง โลกที่อยู่พ้นจากนั้นวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ (ซึ่งความจริงวิทยาศาสตร์มิได้ปฏิเสธ เพียงแต่ยังไม่ยอมรับ เพราะวิทยาศาสตร์เชื่อว่าประสาทสัมผัสเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่จะตัดสินความจริง
– ส่วนพระพุทธศาสนาชี้ว่ามีสัจธรรมสูงสุด (นิพพาน) ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหาไม่สามารถจะรับรู้ได้ พระพุทธศาสนาแบ่งสิ่งที่มีอยู่จริงสองพวกใหญ่ ๆ คือ “สังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง) และ “อสังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง) คือนิพพาน
วิทยาศาสตร์ยอมรับว่าสังขตธรรมนั้นมีจริง แต่อสังขตธรรมอยู่เหนือการรับรู้ของวิทยาศาสตร์
ส่วนสัจธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีทั้งที่สามารถแสดงให้ประจักษ์เป็นสาธารณะได้ และไม่สามารถแสดงให้ประจักษ์เป็นสาธารณะ แต่แสดงโดยการประจักษ์ใจตนเองได้ (หมายถึง มีทั้งที่เราสามารถรับรู้ด้วยตาและรับรู้ด้วยใจ) ความจริงระดับต้นๆ และรับกลาง ใครๆ ก็อาจเข้าใจและเห็นจริงได้ เช่น คนที่โลภมากๆ อิจฉาริษยาเขามากๆ ไม่มีความสงบสุขแห่งจิตใจอย่างไรบ้าง คนที่มีเมตตาไม่ปรารถนาร้ายต่อใครๆ มีความสุขไม่มีเวรไม่มีภัยอย่างไรบ้าง ความจริงเหล่านี้ล้วนสามารถแสดงให้ประจักษ์ได้ชี้ให้ดูตัวอย่างได้ แต่ปรมัตถธรรมอันสูงสุดนั้นผู้ที่ได้พบแล้วยากจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เป็นสภาวะที่ผู้รู้เองเห็นจะพึงประจักษ์เฉพาะตัว
๒.๔ มุ่งความจริงมาตีแผ่ วิทยาศาสตร์นั้นมิได้สนใจเรื่องศีลธรรมเรื่องความดีความชั่ว สนใจเพียงค้นเอาความจริงมาตีแผ่ให้ประจักษ์เพียงอย่างเดียว เช่น วิทยาศาสตร์ค้นพบเรื่องการระเบิด แต่ควรระเบิดอะไร ไม่ควรระเบิดอะไร ไม่อยู่ในขอบข่ายวิทยาศาสตร์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จึงมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์
ส่วนคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นเน้นเรื่องศีลธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุขเป็นลำดับขั้นไปเรื่องๆ จนถึงความสงบสุขอันสูงสุดคือนิพพาน
มนุษย์เราทุกวันนี้บางทีกำลัง “งมงายในเหตุผล” ที่มาพร้อมกับวิทยาศาสตร์และตรรกศาสตร์ ซึ่งมันน่ากลัวยิ่งเสียกว่าการงมงายในไสยศาสตร์เสียอีก
หลักการสำคัญของพุทธศาสนานั้น มันเลย “เวทนา ๖” ไปเสียอีก ซึ่งเป็นหลักสำคัญของปฏิจจสมุปบาท ความตอนหนึ่งว่า เมือมีอายตนะ ก็มีผัสสะ (การสัมผัส) ก็มีเวทนา ตัณหา อุปาทาน ...อุปาทานคือการยึดติด ในที่นี้ก็คือการยึดติดกับ “ความจริง” นั่นเอง
วิทยาศาสตร์นั้น เป็นเพียงบันไดขั้นแรกของพุทธศาสตร์เท่านั้นเอง คือ ในช่วงแรกศาสนาพยายามใช้เหตุผลชักจูง ชี้นำ เพื่อให้บุคคลเกิดศรัทธาในศาสนา พอมีศรัทธาแล้วก็จะปฏิบัติหนักขึ้นเรื่อยๆ จนหลุดพ้นในที่สุด สภาวะแห่งการหลุดพ้นนั้นมัน “นอกเหตุเหนือผล” (วลีเด็ดของหลวงพ่อชา) ฝรั่งอาจเรียกว่า transcendental หรืออะไรก็แล้วแต่ ท่านพุทธทาสภิกขุก็บอกว่า “จงหลุดพ้นเสียจากการหลุดพ้น” ส่วนหลวงพ่อโตวัดระฆังก็สอนนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งที่เข้ามาสอดแนมในสมัย ร.๕ แบบกลายๆ ว่า “โลกเรานี้มีอายุเท่าอาตมานี่แหละ”
มีเรื่องเล่ากันว่า การเจรจาไต่ถามและลองภูมิได้เป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะบาทหลวงคณะนั้นได้ศึกษาภาษาไทย และพูดไทยได้ดี ผลของการอภิปรายถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับศีล และการบำเพ็ญธรรมได้จบลงด้วยคณะบาทหลวงกล่าวคำสรรเสริญสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า “พระคุณเจ้าเป็นผู้ทรงคุณธรรมวิเศษในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง” แต่แล้วก็เหน็บเอาในตอนท้ายว่า “แต่ส่วนทางโลก พระคุณเจ้าไม่รู้อะไรเลย”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ย้อนตอบไปว่า “อย่าว่าแต่อาตมภาพจะไม่แจ้งโลกเลย แม้แต่พวกท่านก็อยู่ในลักษณะ ไม่แจ้งโลกเหมือนกัน”
บาทหลวงคนหนึ่งแย้งว่า “คณะกระผมแจ้งซิ พระคุณเจ้า คือ แจ้งว่า โลกนี้กลมไม่ใช่แบน แล้วหามีปลาอานนท์หนุนอยู่เหมือนคนไทยเข้าใจกันไม่
คำพูดของฝรั่งเท่ากับตบหน้าท่านเจ้าประคุณสมเด็จและคนไทยทั่วไปอย่างฉาดใหญ่ทีเดียว แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์กลับหัวเราะงอหายพลางว่า “เข้าใจกันไปคนละทางเสียแล้วละท่าน อาตมภาพคิดว่าเป็นการแจ้งโลกแบบโลกวิทู หาได้คิดไปถึงโลกกลม โลกแบนอย่างท่านกล่าวไม่ อ้ายเรืองโลกกลมอย่างท่านกล่าวนั้น อาตมภาพก็แจ้งเหมือนกัน ซ้ำแจ้งต่อไปอีกว่า ใจกลางของโลกนั้นอยู่ตรงไหนอีกด้วยซ้ำไป”
คณะบาทหลวงงุนงงด้วยคำเจรจาฉะฉานของสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นอันมาก ต่างแลดูตากัน ครั้นแล้วบาทหลวงผู้หนึ่งกราบนมัสการถามว่า “พระคุณเจ้า ทราบถึงที่ตั้งใจกลางโลกจริงๆ หรือขอรับ”
“ก็จริงนะซี อาตมภาพไม่เคยกล่าวมุสาวาทเลย” ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ตอบ
“ถ้าเช่นนั้นจะพาคณะกระผมไปดูที่ตั้งใจกลางโลกได้ไหมขอรับ?” พวกบาทหลวงรุมล้อมกันหมายต้อนสมเด็จให้จนมุมจนได้
“อ๋อได้ซิจะไปเมื่อไรล่ะ” สมเด็จพระพุฒาจารย์พูด
“เดี๋ยวนี้ได้ไหมขอรับ?” คณะบาทหลวงเร่งเร้าเพื่อจะดูทีว่าสมเด็จจะสามารถไปที่ใจกลางโลก ในทรรศนะของท่านอย่างไร
“ได้” สมเด็จตอบสั้นๆ พลางลุกขึ้นครองจีวรให้เป็นปริมณฑลตามสมณสารูป แล้วเอื้อมไปหยิบไม้เท้า และกล่าวกับฝรั่งว่า “ตามอาตมภาพมา”
บาทหลวงทั้งคณะลุกขึ้นพร้อมกัน แล้วตามท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ลงจากกุฏิ พากันออกมายืนอยู่ที่พื้นดินบริเวณหน้าบันไดเบื้องล่าง ณ ที่ตรงนั้นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้เอาไม้เท้าที่ถือปักลงไปในพื้นดินพลางชีมือให้คณะบาทหลวงดู แล้วกล่าวว่า “ใจกลางโลกอยู่ที่ตรงนี้”
คณะบาทหลวงทั้งหมดต้องตะลึกและงุนงงในเรื่องใจกลางของโลกตามทรรศนะของสมเด็จพระพุฒาจารย์อีกครั้งหนึ่ง ครั้นแล้วค้านเสียงหลงว่า “เป็นไปไม่ได้ดอกพระคุณเจ้าขอรับ ที่นี่มันหน้าบันไดกุฏิพระคุณเจ้าแท้ๆ”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ชี้มือไปที่ไม้เท้าพลางพูดยิ้มๆ ว่า “ก็ท่านกล่าวยืนยันว่าโลกกลมอยู่เมื่อครู่นี้เองมิใช่หรือ เมื่อโลกนี้กลมจริงอย่างท่านว่า ที่นี่ก็เป็นใจกลางโลก ถ้าท่านสงสัยก็ขอให้วัดดูเถิดว่าจากศูนย์กลางที่ไม้ปักนี้ อ้อมไปโดยรอบทุกด้าน แล้วที่ตรงนี้จะเป็นใจกลางโลกจริง”
คณะบาทหลวงเพิ่มความงุนงงกันเป็นครู่ใหญ่ ครั้นคิดออกก็ถอดหมวกคำนับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพร้อมกัน แล้วกล่าวว่า “จริงของพระคุณเจ้า ใจกลางโลกอยู่ตรงนี้ พระคุณเจ้าทรงคุณธรรมวิเศษจริงๆ” คณะบาทหลวงต่างชื่นชมในอัจฉริยะของสมเด็จโต ว่าแล้วคณะบาทหลวงก็รีบนมัสการลากลับทันที
วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ถูกต้องใช้ได้ เราต้องมีเหตุมีผลอย่างนี้ การเรียนการศึกษาถึงจำเป็นต่อหมุ่มวลมนุษย์ คนที่เกิดมาต้องพากันเข้าใจ พากันประพฤติพากันปฏิบัติ การปฏิบัติมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ตัวเอง มันเป็นสิ่งที่หยุดทำความเคยชินของเรา เพราะตาของเรามันก็ส่งออกข้างนอก หูของเรามันก็ส่งออกข้างนอก ทุกอย่างมันส่งออกข้างนอกหมด มันไม่ได้กลับมาปฏิบัติเอง มาเเก้ไขตัวเอง ถึงเราจะพัฒนาเทคโนโลยี เราก็สะดวกสบายเเบบไม่มีปัญญาที่สูงสุด เรารวยเเบบยังไม่มีปัญญาสูงสุด เหมือนเด็กเค้าก็มีปัญญาเท่ากับเด็ก ผู้ใหญ่ก็มีปัญญาเท่าผู้ใหญ่ ผู้ที่มีการเรียนการศึกษาก็มีความรู้เเต่ว่า มันพัฒนาตั้งเเต่ทางเทคโนโลยี คือการอยู่ดีกินดีสะดวกสบาย เเต่ว่าไม่ได้พัฒนาใจ เค้าเรียกว่า ยังไม่ใช่ทางสายกลาง พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมีมา เพื่อให้เรา พัฒนาทางสายกลาง พัฒนาทั้งเทคโนโลยี พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน
ทุกคนต้องรู้จัก ต้องรู้เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราต้องรู้อริยสัจสี่ให้ชัดเจน เพราะคนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในตำเเหน่งไหน ก็สามารถที่จะเป็นพระ เป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะเราต้องพากันเข้าใจ เพราะเราทุกคนไม่รู้จัก เพราะกันตกอบายมุข พากันทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง เค้าเรียกว่าอบายมุข มันเลยตกไปสู่อบายภูมิ คือภูมิที่ต่ำ ยังไม่ตายก็ตกนรกเเล้ว ทุกคนต้องพากันเข้าใจ พากันตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นตามความยุติธรรม ให้มันเป็นธรรม เป็นคุณธรรม อย่าให้มันเป็นนิติบุคคล เราทุกคนจะได้เข้าถึงศาสนา ศาสนาทุกศาสานก็ไปในทางเดียวกัน ไม่ได้ไปในเเนวทางอื่น เพราะมนุษย์ทุกคนก็ทานอาหารเหมือนกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนไม่ทานอาหาร มนุษย์คนไหนก็มีรูปเวทนาสัญญาณสังขารวิญญาณก็เหมือนกัน เราต้องทำให้ถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันถึงจะไปได้
ที่เกิดเป็นอยู่ทุกวันนี้ การเรียนการศึกษานี้เพื่อตัวเพื่อตน ไม่ได้เพื่อธรรมะ ไม่ได้เพื่อเสียสละ เราจะมีความสุขได้ยังไง เราจะมีความอบอุ่นได้ยังไง เพราะเรายังไม่เข้าใจ ทุกครอบครัวต้องพากันตั้งมั่นในพระศาสนา เค้าเรียกว่ารัตนตรัย ทุกท่านทุกคนพ่อเเม่ทุกคนต้องเป็นผู้มีศีลห้า ไม่มีศีลห้าจะเป็นพ่อเป็นเเม่คน เราจะเป็นพ่อเเม่คนยังไม่เพียงพอ เราต้องเป็นพ่อเเม่ของมนุษย์ มนุษย์คือผู้ที่มีศีลห้า พ่อเเม่ต้องเป็นตัวอย่างเเบบอย่าง ถ้าเราไม่มีศีล เราจะเคารพตัวเองได้ยังไง ถ้าเราไม่มีธรรม เราจะเคารพตัวเองได้ยังไง ถ้าเราไม่เสียสละซึ่งตัวซึ่งตน เราจะสมควรจะเป็นพ่อเป็นเเม่ได้ยังไง ถ้าเราเป็นพ่อแม่ เราก็ต้องเสียสละ เสียสละละสักกายทิฏฐิอะไรหมดอย่างนี้ ไม่ใช่เราจะเป็นเพียงภิกษุ ภิกษุไม่เอาพระนิพพาน ไม่เอาพระธรรมพระวินัย เราก็เป็นเปรตประจำบ้าน ประจำหมู่บ้าน ประจำสังคม หมู่บ้าน เค้าก็ให้ความสมดุลคือต้องมีวัด มีโรงเรียน
เรารู้จักเราต้องเป็นพระ เราอย่าพากันไปเป็นเปรต ที่มองๆ ดูเเล้ว มันไม่ได้เป็นพระกัน เป็นเพียงภิกษุเฉยๆ เป็นกาฝากของสังคม ถ้าพระเป็นผู้ที่มีศีลมากกว่าเค้าก็ย่อมพัฒนาใจไปได้ไกล ก็เพราะศีลนี้มันสละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ซึ่งความยึดมั่นถือมั่น เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม มาบวชมาเป็นผู้ปลงผมห่มผ้ากาสาวพัสต์ เราไม่เอามรรคผลนิพพาน เราจะมาบวชทำไม อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง เอาเปรียบส่วนรวม เอาเปรียบสังคม เพราะทุกคนผู้ที่เค้าเป็นประชาชนเค้าต้องพากันไหว้พระ ไหว้เณร อย่างนี้ต้องเข้าใจ พูดไปหลายวันเเล้ว วัดทุกวัด ถึงมีโทรทัศน์ประจำกุฏิไม่ได้ เพราะตำเเหน่งเราเป็นพระ เราต้องละ พวกโทรทัศน์อะไรหมด เเม้เเต่ศีล 8 ก็ผิดศีลอยู่เเล้ว มันเป็นการทำความผิดอย่างเปิดเผย ให้เข้าใจประชาชนที่ได้รับฟัง ก็ฟังเข้าใจ ประเทศไทยเราเสียหาย ทำผิดมาหลายสิบปีเเล้ว เจ้าอาวาสมีโทรทัศน์ พระที่อยู่หลายปีมีตังค์ มีเงิน มีโทรทัศน์อย่างนี้ไม่ถูก ให้เข้าใจ เเม้เเต่เรามีโทรศัพท์มือถือ มีคอมพิวเตอร์ เราก็ต้องระมัดระวัง เพราะมันอาจจะหนักกว่าโทรทัศน์อีก เพราะว่ามันยิ่งเข้าถึงรายละเอียดมากกว่า
พวกคุณครู ข้าราชการ อะไรต่างๆ มันต้องพากันมีศีลห้า ถ้าไม่มีศีลห้า ไม่ได้นะ พวกครู พวกข้าราชการทุกข้าราชการ มันต้องพากันมีศีลห้า ถ้าไม่มีศีลห้า มันไม่ได้หรอก ผู้ที่จะเป็นไวยาวัจกรที่เก็บเงินวัด เก็บเงินสงฆ์เค้ายังให้มีศีลห้า เค้าจึงเเต่งตั้งไวยาวัจกร ผู้ที่จะเป็นทหารเป็นตำรวจ เป็นข้าราชการทุกข้าราชการ ต้องพากันมีศีลห้า ถ้าเราไม่มีศีลห้า เราก็ไม่เคารพตัวเอง เราก็ไม่ไว้วางใจตัวเอง ถ้าพ่อเเม่ไม่มีศีล เค้าก็ไม่เคารพพ่อ ไม่เคารพเเม่ เราเพียงเเต่สงสารพ่อ สงสารเเม่เฉยๆ ต้องพากันเข้าใจ
การประพฤติการปฏิบัติ เราต้องเข้าใจในชีวิตประจำวัน เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง จนถึงความตั้งใจมั่น เป็นที่ตั้ง ชีวิตของเรามันต้องเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรมอย่างนี้ คือ ไม่ทำบาปทั้งกายทั้งวาจา ทั้งใจ เรียกว่าอริยมรรค ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ ไม่ปฏิบัติอย่างนี้ เราก็จะเสียหายไปมาก เราจะปล่อยให้ครอบครัวเรายากจนไปยังไง ยากจนยังไม่พอ มีหนี้มีสินยังไม่พอ คุณธรรมก็ไม่มี มันเป็นการดูเเล้ว ความไม่เข้าใจ เเล้วก็ปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เผ่าพันธุ์ของมนุษย์นะ มนุษย์เรามันน่าจะก้าวไกลไปกว่านี้ ให้ทุกคนรู้จักของดีนะ ของดีมันคือธรรมะ คือ ความดับทุกข์
ที่ให้เกรงทั้งตาทั้งกายทั้งใจ พวกนี้ไม่เห็นศีล ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นความถูกต้องสำคัญ มันก็เรียกว่า มันไม่มีธรรมนูญทางจิตใจเลย ไม่มีรัฐธรรมนูญทางภายนอกเลย อย่างนี้ไม่ได้เสียหาย ถ้างั้น เราก็จะมี สส.ไปหลายหมื่นคน มี สว.หลายเเสนคน มันก็เเก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่ามันต้องเอาธรรม เอาความถูกต้อง เอาประชาธิปไตย มันก็ถือว่าถ้าไม่เอาประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยธรรมะมันก็ไปไม่ได้ เพราะคอมมิวนิสต์มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเห็นเเก้ตัว ประชาธิปไตยคงไม่ได้ เพราะมันเห็นเเก่ตัว เราต้องพากันเข้าใจ พ่อเเม่ต้องเอาธรรม เจ้าอาวาสต้องเอาธรรม เพราะคนสำคัญ เราอย่าว่าเราเกิดมานาน เกิดนานหรือไม่นาน มันไม่สำคัญ สำคัญที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะการประพฤติปฏิบัติเค้าอยู่ที่ปัจจุบัน อย่างนี้นะ ให้พากันสมาทานตั้งใจ เอาใหม่ ตั้งใจใหม่
ครอบครัวเราที่มันไม่มีความสุขไม่มีความอบอุ่น อย่าไปยินดีในปาณาติบาต โลภ โกรธ หลง เหมือนที่เป็นกันอยู่นี้ ไม่ใช่ ไม่ใช่ทาง นี้เป็นทางเเห่งความชิบหาย เราอย่าพากันรวยอย่างไม่ฉลาด มีรถหรู มีบ้านหรู ผูกเนคไท มันก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่ผู้ทรงเกียรติอะไรหรอก ถ้าเราพูดถึงความเป็นธรรม ความยุติธรรม ให้พระพากันมีอานาปานสติชัดเจนขึ้นทุกๆ อิริยาบถ เพราะอิริยาบถเราเดินเราเหินเรานั่งนอน มันคืออิริยาบถที่หยาบๆ อยู่เเล้ว หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าก็สบาย ออกสบาย นี้เเหละ คือพุทโธ ที่เเท้จริง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เวลาเราไปนั่งสมาธิ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน จนมันสงบ เราก็ค่อยๆ ปล่อยดูลมเข้า ดูลมออกอย่างนี้ ในชีวิตประจำวัน เราต้องเจริญสติ เจริญปัญญา ในปัจจุบัน คนเรามันเห็นเเก่ตัวมากเลยเครียด มันคิดอะไรไม่ออก มันเห็นเเก่ตัวมาก เพราะมันเป็นคนบาป เป็นคนไม่มีศีล คนไม่มีธรรม ปัจจุบันมันเลยไม่ดี
ถ้าเราพิจารณาทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์นะ เพราะทุกอย่างมันเอาการประพฤติการปฏิบัติมาให้เราพัฒนาใจ ที่นี้ถ้าเราปฏิบัติอย่งนี้มันจะดี พระพวกที่สอนกัน ท่านจะไปสอนเค้าได้ยังไง เพราะท่านไม่ได้เอาพระนิพพาน ท่านก็มัวเเต่ไปบอกเค้าให้ทานอย่างโน่น ทานอย่างนี้ ได้บุญอย่างโน่น ได้บุญอย่างนี้ ตัวท่านก็ยังหลง ยังไปบอกให้เค้าหลงอีก ทีนี้การดำเนินชีวิตของเรามันไม่ได้ไปตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทายาศาสตร์ ตามหลักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่พอ ต้องเอาธรรมะนี้คือ เรามี เราเป็น เราได้ รู้จักน้อมใจสู่พระไตรลักษณ์ เสียสละไปให้ปัญญามันเกิดขึ้นเรื่อยๆอย่างนี้ การดำเนินชีวิตของเราถึงจะเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ ที่นี้นะ เราทำอย่างนี้ ใจของเรามันก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป เพราะร่างกายของเรามันเปลี่ยนไปทุกวันนะ เเต่ใจของเรามันก็สมควรที่จะเปลี่ยนไปในทางที่มันดี เพราะทุกอย่าง เอาเทวทูตมาให้เราดู มารู้มาเห็นอยู่เเล้ว ได้สัมผัสอยู่เเล้ว เราจะได้หยุดกรรม หยุดเวร หยุดภัย อย่างนี้ เราจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยอะไรอย่างนี้นะ เราอย่าไปคิดว่า มันปฏิบัติไม่ได้ ฮืมม!!!! ไม่ได้ก็อย่าหายใจสิ๊ ไม่ได้ก็อย่ากินข้าวซิ เราไปเห็นเเต่ความงามที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ เราต้องเห็นความงามคือ ในการประพฤติการปฏิบัติการเจริญปฏิปทาของเรา เพื่อทำให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่รู้อย่างเดียว
ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อชาไปเยี่ยมวัดชิตเฮิร์สท์ที่อังกฤษ มีอุบาสกคนหนึ่งที่เคยศึกษาธรรมะฝ่ายมหายานมาถามหลวงพ่อชา เรื่องการปฏิบัติว่า "คนที่ปฏิบัติเพื่อเป็นอรหันต์กับคนที่ปฏิบัติ เพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ อันไหนจะดีกว่ากัน อันไหนจะสูงกว่ากัน"
หลวงพ่อชา ตอบว่า "อย่าเป็นอะไรเลย พระอรหันต์ก็อย่าเป็นเลย พระโพธิสัตว์ก็อย่าเป็นเลย แม้พระพุทธเจ้าก็อย่าเป็นเลย เป็นอะไรแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ทันที"
นั่นคือ อย่าเป็นคนดี อย่าไปถึงระดับนั้น เพราะถ้าเป็นคนดี แล้วต้องรำคาญคนไม่ดี ทุกวันนี้คนที่ไม่ดีมากกว่าคนดีเยอะ ไปที่ไหนก็กลุ้มใจ มีแต่ความไม่พอใจ เหมือนกับคนที่สูบบุหรี่ เลิกแล้วก็ดูคนอื่นสูบ นี่เรียกว่า ติดดี ท่านไม่ให้ติด แม้จะเป็นความดี ท่านก็ไม่ให้เราติด เพราะว่าความติดเป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ใจ
ทำความดีเพื่อความดี... ทำความดีเพราะรักความดี... แต่ไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นคนดี เพราะถ้าเราเป็นคนดีแล้วจะเป็นทุกข์
เพียงแค่เห็นคำว่า "อย่าเป็นคนดี" ก็รู้สึกถึง ใช่หรือ ? แล้วสิ่งที่เราเพียรทำทุกวันนี้ล่ะ "การทำความดีเพื่อเป็นคนดี" กับ "การทำความดีเพื่อความดี"
คำแรก ... ทำให้เกิดคำว่า ติดดี คำหลัง ... เป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด ทำแล้วไม่ทุกข์ใจ ทำด้วยความสุขที่เต็มเปี่ยมหัวใจ
“เวลาในชีวิตของเรามีไม่มาก ให้สอนตนเอง ไม่ต้องพยายาม ไปสอนคนอื่น เดินไปเดินมาก็ ให้สอนตัวเอง เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น” การตั้งสมาทานไว้ในใจของผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ "ให้เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น" ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องพยายามสอนคนอื่นให้มากที่สุด เดินไปก็ให้สอนตัวเองทั้งนั้น นั่งก็ให้สอนตัวเองได้
ทุกอย่างให้มีในตัวของเราอยู่เสมอเรียกว่า สติ "สตินั่นแหละเป็นแม่บทของผู้เจริญกรรมฐาน" สติอันนั้นเมื่อมันมีความรู้สึกขึ้นปัญญาก็จะวิ่งมา "ถ้าสติไม่มีปัญญาก็เลิก ไม่มี"
ฉะนั้นจงพากันตั้งใจ "ถึงแม้ว่าเราจะมีเวลาน้อยก็ช่างมัน เวลาน้อยก็ยังเป็นอุปนิสัย ยังเป็นปัจจัย" อย่างอื่นจะหาเป็นที่พึ่งอย่างพุทธศาสนานี่ไม่มี มันจบอยู่ตรงนี้ไปไหนก็ไม่จบ แต่พุทธศาสนาทำให้มันจบอยู่ตรงนี้"